H
01

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 616 หัวเรื่อง
การบริหารงานโดยสหกรณ์คนงาน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล

นักแปลและนักวิชาการอิสระ
ทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

R
relate topic
190748
release date
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 26000 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 - ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
The Midnight
University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์ (การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)

คนงานเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
ยึด ยืนหยัด ผลิต : สหกรณ์คนงานในบูเอโนสไอเรส
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้แปลมาจาก
Occupy, Resist, Produce
Worker Cooperatives in Buenos Aires
By Benjamin Dangl; March 03, 2005

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ A4)



ZNet
ระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2001 เมื่อนักการเมืองและธนาคารต่างล้มเหลว ชาวอาร์เจนตินาจำนวนมากจัดการปัญหาด้วยตัวเอง ความยากจน, ไร้บ้านและไร้งานทำ ถูกทดแทนแก้ไขด้วยระบบแลกเปลี่ยนสินค้าและโครงการกู้ยืมสินเชื่อรายย่อยระดับรากหญ้า มีการก่อตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนขึ้นมาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ จัดหาอาหารและความสนับสนุนในละแวกบ้านต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ

การริเริ่มที่น่าจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีมากที่สุด คงจะเป็นกรณีที่คนงานเข้ายึดโรงงานและธุรกิจที่ล้มละลายมากอบกู้และบริหารงานด้วยระบบสหกรณ์ มีโรงงานและธุรกิจประมาณ 200 แห่งในอาร์เจนตินาที่บริหารงานโดยคนงาน ส่วนใหญ่เริ่มต้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ในปี ค.ศ. 2001 มีประชาชนถึง 15,000 คน ทำงานอยู่ในสหกรณ์และสถานประกอบการแบบนี้ ซึ่งมีตั้งแต่โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไปจนถึงโรงงานผลิตลูกโป่ง

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของธุรกิจที่ถูกยึดมากอบกู้สองแห่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างของขบวนการนี้ นั่นคือ โรงแรมบาวเอน และ โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต

โรงแรมบาวเอน
โรงแรมบาวเอนเปิดกิจการครั้งแรกระหว่างยุคเผด็จการทหารในปี ค.ศ. 1978 เมื่อกรุงบูเอโนสไอเรสเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก นับจากนั้นเป็นต้นมา โรงแรมนี้ก็เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์สำหรับเจ้าของธุรกิจใหญ่ ๆ คนใหญ่คนโตที่มีเส้นสายกับรัฐบาลเผด็จการ รวมทั้งนักการเมือง อาทิเช่น อดีตประธานาธิบดีคาร์โลส เมเนม ของอาร์เจนตินา

เรื่องที่พลิกกลับตาลปัตรอย่างน่าขันก็คือ นับตั้งแต่ถูกคนงานเข้ายึดกิจการในปี ค.ศ. 2003 โรงแรมบาวเอนกลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์สำหรับกลุ่มนักกิจกรรมสังคม และสมาชิกสหภาพแรงงานที่เป็นฝ่ายซ้าย ไม่นานมานี้เอง เมื่อคนงานรถไฟใต้ดินของเมืองหลวงนัดหยุดงานประท้วง การตัดสินใจและจัดตั้งส่วนใหญ่ก็ประสานงานกันจากโรงแรมนี้เป็นหลัก

มาร์เซโล ลูร์โควิช บริหารโรงแรมแห่งนี้มาหลายปี จนกระทั่งปี ค.ศ. 1997 เมื่อเขาขายโรงแรมให้บริษัทสัญชาติชิลีชื่อ โซลารี ในปี ค.ศ. 2001 โรงแรมล้มละลาย และในวันที่ 21 ธันวาคม ผู้บริหารของโซลารีก็ไล่คนงานออกทั้งหมด คนงานทั้งหมดที่มีอยู่ 90 คน ส่วนมากไม่มีงานทำอยู่นานถึง 12-14 เดือน

"การที่เราตัดสินใจยึดโรงแรม ไม่ได้คิดทำตามอำเภอใจ" โอราซีโอ ลาลี สมาชิกคนหนึ่งของสหกรณ์คนงานโรงแรมอธิบาย "คนงานที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพ่อเป็นแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว พอไม่มีงานทำ เราต้องทำอะไรสักอย่าง ดังนั้น หลังจากประชุมกันนับครั้งไม่ถ้วน เราจึงตัดสินใจยึดโรงแรมมาบริหารเอง"

ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2003 หลังจากประชุมกันในโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานแห่งแรก ๆ ในเมืองหลวงที่คนงานยึดมาบริหารงานเอง คนงานของโรงแรมบาวเอนก็มารวมตัวกันตอนกลางคืนที่สี่แยกถนนคอร์ริเอนเตส ตัดกับถนนคาลัว ในย่านธุรกิจของเมืองบูเอโนสไอเรส พวกเขาเดินตัดข้ามระยะทางสั้น ๆ ไปที่โรงแรมและบุกเข้าไปในตัวตึก เสียงไชโยโห่ร้องดังก้อง คนงานเปิดสวิทช์ไฟ สวมกอดกันและกันและร้องไห้ พวกเขาประสบความสำเร็จก้าวแรกในกระบวนการกอบกู้แล้ว นั่นคือ การยึดกิจการ

แต่สภาพของโรงแรมยังห่างไกลจากการเปิดดำเนินการ เจ้าของโรงแรมคนเก่าขายเครื่องใช้ไม้สอยออกไปจำนวนมากหรือไม่ก็ถูกขโมยไป คนงานยังต้องเผชิญกับเวลาอีกหลายเดือนของการทำความสะอาดและซ่อมแซมเพื่อให้โรงแรมกลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ "ตลอดเวลาช่วงนี้ มีกิจการธุรกิจหลายแห่งและกลุ่มนักศึกษาในบูเอโนสไอเรสคอยช่วยเหลือเรา ด้วยการรวบรวมเงินมาให้เราพอได้ซื้ออาหารกิน" ลาลีเล่า "แต่เราก็ยังกลัวว่า เจ้านายเก่าเจ้าของโรงแรมอาจกลับมาไล่ตะเพิดพวกเราออกไป ช่วงเวลานี้มีแต่ความหวาดกลัว"

คนงานต้องใช้เวลาจนถึงเดือนสิงหาคม 2004 กว่าจะเปิดโรงแรมได้ จนถึงวันนี้ ยังไม่มีคำตัดสินออกมาและชะตากรรมของโรงแรมยังอยู่ในมือของผู้พิพากษา ลาลีบอกว่า ศาลอาจตัดสินให้คนงานต้องจ่ายค่าเช่าหรือซื้อกิจการจากเจ้าของเดิม

ในระหว่างนี้ โรงแรมกลับมาเปิดกิจการ แม้ยังเปิดใช้งานไม่ได้เต็มที่ แต่มันกลายเป็นศูนย์กลางที่คึกคักสำหรับการจัดกิจกรรมทางด้านการเมืองและวัฒนธรรม จนให้ผลกำไรมากพอที่กิจการจะเดินหน้าต่อไป คนงานบริหารธุรกิจในรูปแบบสหกรณ์ ถึงแม้เงินเดือนของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่การตัดสินใจสำคัญ ๆ ทั้งหมดจะลงมติกันในสมัชชาที่คนงานโรงแรมทุกคนเข้าร่วมประชุม

ฟาบิโอ เรซิโน ทำงานที่โรงแรมแห่งนี้ตั้งแต่คนงานเข้ายึดกิจการในปี ค.ศ. 2003 "ถ้าโรงแรมบริหารแบบสหกรณ์มาตลอด มันก็ไม่ล้มละลายแล้ว" เขาอธิบาย "ในสมัยที่เจ้าของคนเก่าบริหาร มีทั้งการยักยอกและบริหารจัดการที่แย่มาก คุณลองถามคนทั้ง 90 คนที่ทำงานที่นี่ตอนนี้ดูสิ พวกเขาจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบระบบการทำงานแบบนี้ มากกว่าการทำงานภายใต้เจ้านายคนเดียว ถึงแม้ว่าการทำงานแบบนี้ต้องใช้เวลามากกว่าเดิม ชั่วโมงทำงานมากขึ้น ในขณะที่มีทรัพยากรน้อยลง แต่มันก็คุ้มค่ามากกว่า"

"เมื่อก่อน เราทำงานให้เจ้านาย" เขากล่าวต่อ "เดี๋ยวนี้เราทำงานเพื่อตัวเอง แล้วพอเป็นสหกรณ์ คุณยิ่งอยากทำงานให้ดีขึ้น เพราะมันเป็นกิจการของตัวเอง เป็นกระบวนการของตัวเอง เมื่อก่อน คนงานเป็นแค่ตัวเลข แต่เดี๋ยวนี้ พวกเราเป็นคนที่มีตัวตน"

โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต
โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตตั้งอยู่ชานเมืองบูเอโนสไอเรสในย่านที่เงียบสงบ ด้านหน้าตึกเป็นภาพวาดฝาผนังสีสันสดใสเขียนคำขวัญของขบวนการยึดกิจการมากอบกู้ว่า: ยึด, ยืนหยัด, ผลิต

ในโรงงานแบ่งออกเป็นสำนักงาน, ครัว, ศูนย์วัฒนธรรม และพื้นที่กว้างที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ใช้ในการพิมพ์และเย็บหนังสือ เครื่องจักรมีอายุต่างกันไป บางเครื่องตกทอดมาตั้งแต่สมัยทศวรรษ 1950 ส่วนเครื่องที่ใหม่กว่าก็มีอายุมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ตอนที่ผมไปเยี่ยมชม มีคนทุกเพศทุกวัยอยู่ในโรงงาน บ้างก็กำลังทำงาน บ้างก็กำลังช่วยจัดกิจกรรมชุมชน

มีผู้หญิงคนหนึ่งทำงานอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมบนชั้นสอง อีกคนหนึ่งกำลังคัดบทความลงในวารสารที่ชีลาเวิร์ตตีพิมพ์ นักดนตรีคนหนึ่งแวะมาขอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์ เพื่อทำใบปลิวประชาสัมพันธ์งานแสดงคอนเสิร์ตของเขา กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เข้ามาฝึกหัดงานในโรงงาน ตั้งใจฟังคนงานคนหนึ่งอธิบายรายละเอียดในการออกแบบและจัดรูปเล่มหนังสือ ในช่วงเย็น มีคนหลายสิบคนมาเรียนเต้นระบำซัลซาในศูนย์วัฒนธรรม

โรงงานแห่งนี้มีบรรยากาศที่คึกคักมีชีวิตชีวาเหมือนศูนย์ชุมชน แต่งานก็ยังดำเนินไปไม่หยุด และเครื่องจักรพิมพ์หนังสือตลอดเวลา ระหว่างที่ผมอยู่ที่นั่น มีหนังสือรวมบทกวีกับตำราวิทยาศาสตร์กำลังอยู่บนแท่นพิมพ์

เมื่อตอนที่โรงพิมพ์แห่งนี้เปิดกิจการในปี ค.ศ. 1923 มันมีชื่อว่า กากลิอาโนเน ตามชื่อตระกูลของครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจนี้มาหลายทศวรรษก่อนที่คนงานจะเข้ายึด หลังจากยึดกิจการ คนงานตั้งชื่อโรงพิมพ์ใหม่ว่า ชีลาเวิร์ต ตามชื่อถนนที่เป็นทำเลที่ตั้งของโรงพิมพ์

โรงพิมพ์กากลิอาโนเนเป็นที่รู้จักในบูเอโนสไอเรส ในฐานะโรงพิมพ์ที่ผลิตหนังสือศิลปะคุณภาพสูงและสูจิบัตรสำหรับโรงละครใหญ่ ๆ ในเมืองหลวง แต่ในช่วงทศวรรษ 1990 กิจการกลับมีงานพิมพ์น้อยลงและอุปกรณ์เครื่องมือจำนวนมากถูกขายทิ้ง มีการลดเงินเดือนคนทำงานและไล่ออก ในเดือนเมษายน 2002 โรงพิมพ์ก็ปิดกิจการ

ด้วยความจำเป็นและต้องการให้สถานที่ทำงานเปิดดำเนินการต่อไป คนงานจึงตัดสินใจเข้ายึดโรงงาน ในช่วงต้นของการยึดกิจการ พวกเขาแอบพิมพ์หนังสือ (เนื่องจากยึดครองโรงงานอย่างผิดกฎหมาย การผลิตจึงผิดกฎหมายด้วย) หลังจากเสร็จเป็นรูปเล่มแล้ว คนงานจะส่งหนังสือออกทางช่องที่เจาะไว้บนผนังโรงงานและขนผ่านบ้านเพื่อนบ้าน แม้ว่าเดี๋ยวนี้ช่องบนผนังนั้นจะซ่อมปิดไปแล้ว แต่คนงานโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตติดกรอบไว้รอบอิฐที่อุดช่องบนผนังอย่างภาคภูมิใจ

เหตุการณ์ระทึกใจเกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2002 เมื่อรถตำรวจ 8 คัน เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนาย รถจู่โจมอีก 8 คัน รถพยาบาล 2 คัน และรถดับเพลิงอีก 1 คัน ยกขบวนมาล้อมโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตเพื่อไล่คนงานออกไป แม้ว่ามีคนงานยึดอาคารอยู่เพียง 8 คน แต่พวกเขามีประชาชนมาสนับสนุนเกือบสามร้อยคน มีทั้งเพื่อนบ้าน นักศึกษาและคนงานจากสหกรณ์อื่น ๆ มาช่วยกันปกป้องโรงพิมพ์ กลุ่มคนจำนวนมากทำให้ตำรวจขวัญเสีย และเมื่อเห็นชัดแล้วว่า ถ้าบุกโจมตีคงต้องเกิดเหตุนองเลือดทั้งสองฝ่ายแน่ ตำรวจก็ยอมล่าถอยกลับไป คนงานเป็นฝ่ายชนะ

ยึด, ยืนหยัด, ผลิต
คันดิโด กอนซาเลซ ทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์แห่งนี้มานานถึง 42 ปี ก่อนเข้าร่วมกับคนงานคนอื่นๆยึดกิจการ หลังจากโรคหัวใจกำเริบเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเขาบอกว่าเกิดจากความเครียดและทำงานมากเกินไป เขาบอกว่าเขาตั้งใจจะพักผ่อนให้มากขึ้น แต่นั่นไม่อาจหยุดยั้งไม่ให้เขาไปร่วมงานเวทีสังคมโลกครั้งที่ 5 ในบราซิล และเข้าร่วมในการหยุดงานประท้วงของคนงานรถไฟใต้ดินเมื่อเร็ว ๆ นี้

ตลอดเวลาที่ผมไปเยี่ยมชมโรงพิมพ์ เขาพูดหยอกล้อกับคนงานหลายคนในอาคาร และดูเหมือนมีความสามารถพิเศษในการพูดคุยไม่สิ้นสุด การสัมภาษณ์กินเวลาสองสามชั่วโมง และแม้ว่าเขาจะเน้นที่เรื่องของโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต แต่เขาก็พูดคุยถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย ตั้งแต่เรื่องแผ่นดินไหวไปจนถึงวิสกี้

"ยึด, ยืนหยัด และผลิต นี่คือบทสังเคราะห์สิ่งที่เรากำลังทำอยู่" คันดิโดกล่าว พร้อมกับส่งชาเย็นให้ผมแก้วหนึ่ง "และชุมชนคือผู้ที่ทำให้ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ เมื่อเราปกป้องที่ทำงานแห่งนี้ มีรถจู่โจมถึง 8 คันและตำรวจ 30 นายแห่กันมาเพื่อไล่เราออกไป แต่พวกเราพร้อมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในชุมชน ยืนหยัดอยู่ที่นี่และปกป้องโรงพิมพ์เอาไว้"

เขาน้ำตาคลอเบ้าเมื่อหวนนึกถึงการต่อสู้ครั้งนั้น "มันเป็นเรื่องธรรมดาถ้าคุณต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เมื่อคนอื่นต่อสู้เพื่อคุณ มันเป็นความรู้สึกที่ตื้นตันมาก"

กิจการท้องถิ่นบางส่วนในละแวกนี้ช่วยปกป้องชีลาเวิร์ตด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ "เราใช้การขนส่ง, หมึกพิมพ์, อาหาร, กาแฟและกระดาษ จากธุรกิจในละแวกนี้ทั้งหมด มีโรงงานกระดาษอยู่ห่างไปแค่ 15 ช่วงตึก โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตมีส่วนช่วยในด้านธุรกิจและถ้าโรงพิมพ์ปิดตัวลง ธุรกิจในย่านนี้ก็พลอยได้รับผลกระทบกระเทือนไปด้วย"

มีคนงาน 12 คนทำงานที่โรงพิมพ์ และสิ่งที่แตกต่างจากสหกรณ์คนงานอื่น ๆ ในเมืองก็คือ ทุกคนมีเงินเดือนเท่ากันหมด การตัดสินใจใหญ่ ๆ จะลงมติกันในสมัชชา และกิจกรรมชุมชนมีบทบาทสำคัญในตารางเวลาของแต่ละสัปดาห์ บนชั้นสองของอาคารเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งใช้เป็นห้องเรียนเต้นรำ, ฉายหนัง, สัมมนา, อ่านบทกวี, จัดงานเลี้ยงและนิทรรศการศิลปะ

นับตั้งแต่คนงานยึดกิจการ โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตผลิตหนังสือจำนวนมากเกี่ยวกับประเด็นทางด้านสังคมและการเมือง อาทิเช่น ขบวนการแรงงานไร้งานทำ, สมัชชาชุมชนคืออะไร? และ ศักดิ์ศรีของชาวปีเกเตโร (ขบวนการปิดถนนในอาร์เจนตินา)

"ทุกการตัดสินใจ ทุกสมัชชา หนังสือทุกเล่มที่ตีพิมพ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งนั้น" ฮูลีเอตา กาเลรา คนงานคนหนึ่งในโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต อธิบาย "เรามีแนวคิดที่จะผลิตหนังสือและผลงานทางศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ทางการเมืองของเรา มีคนจำนวนมากที่มีอคติต่อต้านการยึดโรงงานมากอบกู้ในบูเอโนสไอเรส พวกเขาคิดว่าเราไม่ขยัน ไม่ทำงานหนัก แต่โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตสร้างผลงานชั้นเยี่ยมไม่น้อยในธุรกิจนี้"

แม้ว่าโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตเป็นหนึ่งในการยึดกิจการมากอบกู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด แต่เรื่องราวของมันยังไม่เป็นที่รับรู้มากนักในหมู่ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ "เราแทบไม่เคยเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือรายการทีวี เพราะเราไม่ได้อยู่ฝ่ายรัฐบาล" คันดิโดอธิบาย "มีกิจการที่ยึดมากอบกู้ด้วยระบบสหกรณ์คนงานราว 200 แห่งในอาร์เจนตินา แต่จำนวนนี้ไม่มากเลยเมื่อเทียบกับกิจการอื่น ๆ ที่ไม่ได้บริหารงานด้วยวิธีนี้"

คันดิโดไม่ฝากความหวังไว้มากนักกับประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์คนปัจจุบัน และยืนยันว่าโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะนักการเมืองคนไหน "เราไม่ติดตราพรรคการเมืองพรรคไหนไว้ในโรงพิมพ์ เพราะเรายึดกิจการด้วยตัวเราเอง นักการเมืองสารพัดประเภทเคยมาที่นี่เพื่อขอให้เราสนับสนุน แต่เมื่อสหภาพแรงงานล้มเหลว เมื่อรัฐล้มเหลว คนงานต้องเริ่มต่อสู้ในวิถีทางที่ต่างไปจากเดิม ถ้าคุณต้องการยึดอำนาจ แต่ยึดอำนาจรัฐไม่ได้ อย่างน้อยคุณก็ต้องยึดปัจจัยการผลิต"

คันดิโดชี้ไปที่ตู้เซฟขนาดมหึมาที่ตั้งอยู่ตรงมุมห้อง บนตู้เซฟมีป้ายติดไว้ว่า กากลิอาโนเน เขาหัวเราะและส่ายหน้า "เมื่อก่อนเจ้านายเก่าคงเก็บเงินไว้ในตู้เซฟนี้ แต่เดี๋ยวนี้..." คันดิโดพูดพลางหยิบขวดออกขวดหนึ่ง "นี่เป็นตู้ที่เราใช้เก็บวิสกี้"

Benjamin Dangl ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียนอิสระในละตินอเมริกา เขาเป็นบรรณาธิการของ www.UpsideDownWorld.org ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง




 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

การริเริ่มที่น่าจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีมากที่สุด คงจะเป็นกรณีที่คนงานเข้ายึดโรงงานและธุรกิจที่ล้มละลายมากอบกู้และบริหารงานด้วยระบบสหกรณ์ มีโรงงานและธุรกิจประมาณ 200 แห่งในอาร์เจนตินาที่บริหารงานโดยคนงาน ส่วนใหญ่เริ่มต้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ในปี ค.ศ. 2001 มีประชาชนถึง 15,000 คน ทำงานอยู่ในสหกรณ์...

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เว็ปไซต์นี้ สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้... โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle@yah
oo.com พร้อมเขียนประวัติส่วนตัวเล็กน้อย