บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 603 หัวเรื่อง
การเมืองในลาตินอเมริกา
เรื่องยุ่งๆหลังบ้านสหรัฐ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The
Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การเมืองในแถบลาตินอเมริกา
เอกวาดอร์:
อีกโดมิโนของการแข็งข้อที่หลังบ้านสหรัฐฯ
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เรียบเรียงมาจาก
Green Left Weekly
http://www.greenleftweekly.org.au
The Guardian http://www.guardian.co.uk
Wikipedia, the free encyclopedia
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)
ข้อความ : ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าวทั่วโลกรายงานถึงวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศเอกวาดอร์ ในวันที่ 22-23 เมษายน ชาวเอกวาดอร์ในเมืองหลวงคีโต ลุกฮือขึ้นขับไล่ประธานาธิบดีลูซีโอ กูตีเยร์เรซ ที่ครองตำแหน่งจากการเลือกตั้งมาตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2003 จนกูตีเยร์เรซต้องขอลี้ภัยที่สถานทูตบราซิล และรองประธานาธิบดีอัลเฟรโด ปาลาเซียว ขึ้นรักษาการแทนชั่วคราว
สื่อมวลชนกระแสหลักรายงานว่า ชนวนของการลุกฮือครั้งนี้เกิดมาจากความลุแก่อำนาจของกูตีเยร์เรซเอง ปัญหาเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาเปิดพิจารณาคดีตามคำร้องขอของฝ่ายค้าน เพื่อหาหลักฐานว่าประธานาธิบดีกูตีเยร์เรซ มีความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงจริงหรือไม่ แต่ในเดือนธันวาคม กูตีเยร์เรซก็จัดการไล่คณะผู้พิพากษาออกทั้ง 31 คน และแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาใหม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจของตัวเองขึ้นมาแทน
สื่อมวลชนกระแสหลักยังระบุในทำนองว่า นายปาโค มอนคาโย นายกเทศมนตรีของเมืองคีโต และผู้นำของพรรคฝ่ายซ้ายประชาธิปไตย (ID) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านคือแกนนำของการประท้วง แม้การรายงานของสื่อกระแสหลักในกรณีของเอกวาดอร์อาจไม่ถึงขั้นบิดเบือน แต่มันก็ให้ภาพเพียงผิวเผิน ที่สำคัญ มันไม่ได้บอกกล่าวให้โลกรู้เลยว่า เอกวาดอร์คือพื้นที่อีกแห่งหนึ่งในละตินอเมริกา ที่ประชาชนกำลังประกาศขอแยกทางจากลัทธิเสรีนิยมใหม่และระบอบประชาธิปไตยผู้แทน
ตัวละครใหม่ในการแสดงชุดเดิม
กูตีเยร์เรซไม่ใช่ประธานาธิบดีคนแรกของเอกวาดอร์ ที่ถูกประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ออกจากตำแหน่ง
แต่เขาเป็นคนที่สามในรอบ 8 ปี กล่าวคือในปี ค.ศ. 1997. ค.ศ. 2000 และครั้งล่าสุดคือในปีนี้
ในปี ค.ศ. 1997 อดีตประธานาธิบดีอับดาลา บูคาราม ซึ่งมีฉายาว่า "El loco" ("ไอ้บ้า") ต้องหนีออกจากเอกวาดอร์ หลังจากนั่งบัลลังก์ประธานาธิบดีได้แค่ 7 เดือน เขาถูกข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง หลังจากสภาคองเกรสของเอกวาดอร์ถอดเขาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผล "ความบกพร่องทางจิต"
หลังจากลี้ภัยอยู่ในปานามานานถึง 8 ปี บูคารามคือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองของเอกวาดอร์ร้อนแรงขึ้นมา กูตีเยร์เรซนั้นเคยรับราชการในกองทัพสมัยที่บูคารามดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อกูตีเยร์เรซเดินทางไปเยี่ยมเขาในปานามาเมื่อเดือนกันยายน จึงมีการคาดหมายกันว่า บูคารามกำลังหาหนทางกลับคืนสู่ประเทศเอกวาดอร์ โดยอาศัยข้อแลกเปลี่ยนให้พรรคการเมืองของบูคาราม ช่วยสกัดไม่ให้พรรคฝ่ายค้านดำเนินการถอดถอนกูตีเยร์เรซออกจากตำแหน่ง
พอถึงเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีกูตีเยร์เรซก็อาศัยเสียงข้างมาก -ที่มากแค่เฉียดฉิว-- ในสภาคองเกรส ไล่คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาออก และแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาชุดใหม่ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด กูตีเยร์เรซยังแต่งตั้งกิลเยอร์โม คาสโตรเป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่ คาสโตรมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบูคารามมายาวนาน
ในวันที่ 31 มีนาคม คาสโตรก็จัดการให้บูคาราม พร้อมทั้งอดีตประธานาธิบดีอัลแบร์โต ดาฮิก และอดีตประธานาธิบดีกุสตาโว โนโบอา พ้นจากข้อหาคอร์รัปชั่นทั้งหมด เป็นการกรุยทางให้อดีตผู้นำทั้งสามสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศและหวนคืนมาเล่นการเมืองได้อีกครั้ง
เมื่อกลับคืนสู่ประเทศเอกวาดอร์ อดีตประธานาธิบดีบูคารามกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนราว 20,000 คน ที่เมืองท่าไกวอะคีล เขาเน้นไปที่ประเด็นการคอร์รัปชั่นและความยากจนในเอกวาดอร์ พร้อมกับประกาศว่า "ผมกลับมาเอกวาดอร์เพื่อเจริญรอยตามแบบอย่างของชาเวซ และการปฏิวัติในแนวทางโบลิวาร์อันยิ่งใหญ่" เป็นการสมอ้างถึงขบวนการฝ่ายซ้ายในเวเนซุเอลา ซึ่งมีแนวทางการปฏิรูป โดยนำทรัพยากรน้ำมันของประเทศมาใช้เป็นทุนสนับสนุนการปฏิรูปสังคม เช่น การศึกษาและสาธารณสุข
บูคารามยังแสดงจุดยืนต่อต้านข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา และประกาศว่าจะจัดการต่อกรณีที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพในเอกวาดอร์เพื่อสอดแนมและพ่นสารเคมีทำลายพืชโคคาทางตอนใต้ของประเทศโคลอมเบีย
แม้จะฟังดูน่าเลื่อมใส แต่คำปราศรัยแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองเอกวาดอร์
ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 2000 หลังจากประชาชนชาวเอกวาดอร์ที่มีสมาพันธ์ชาวพื้นเมือง สหภาพแรงงานและนักศึกษา ช่วยกันโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดียามีล มาหวัดลงได้สำเร็จ แต่การออกแรงของประชาชนครั้งนั้นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะทันทีที่รองประธานาธิบดีกุสตาโว โนโบอา ขึ้นรักษาการแทน เขาก็ประกาศว่าจะปฏิรูปเอกวาดอร์ให้เป็น "ระบบเศรษฐกิจแบบเงินดอลลาร์" ซึ่งมีความหมายถึง "ราคาสินค้าแบบโลกที่หนึ่ง ค่าจ้างแบบโลกที่สาม" รัฐบาลโนโบอากลายเป็นรัฐบริวารที่สหรัฐฯ หนุนหลังด้วยกำลังทหารอย่างเต็มที่ โนโบอานั้นมีชื่อเล่นที่วอชิงตันเรียกด้วยความเอ็นดูว่า "Nobody"
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สำหรับประชาชนระดับรากหญ้า ในการหาเสียงเลือกตั้งปลายปี ค.ศ. 2002 กูตีเยร์เรซ ซึ่งเคยเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการลุกฮือโค่นล้มประธานาธิบดีมาหวัด เป็นตัวเก็งในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ เขาเสนอตัวเป็น "ชาเวซแห่งเอกวาดอร์" สัญญาว่าจะกวาดล้างการคอร์รัปชั่น ถอนฐานทัพสหรัฐฯ ออกไปและนำพาประเทศถอนตัวจากลัทธิเสรีนิยมใหม่
เขาได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้น โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายซ้ายด้วย แต่พอได้รับเลือกตั้งเข้ามา กูตีเยร์เรซก็เปลือยโฉมหน้าให้เห็นว่า เขาเป็นแค่หุ่นเชิดของสหรัฐฯ อีกตัวหนึ่งเท่านั้นเอง เขาผูกสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐฯ แนบแน่นยิ่งขึ้น ก่อหนี้กับไอเอ็มเอฟมากกว่าเดิม สนับสนุนสงครามอิรัก แปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตกลงเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และอนุมัติให้มีการสำรวจน้ำมันในเขตคุ้มครองของชาวพื้นเมือง และเขตที่ควรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเอาไว้
ปัญหาคอร์รัปชั่นที่หมักหมมในเอกวาดอร์ยังคงเหมือนเดิม ประธานาธิบดีกี่คน ๆ ที่ประกาศตัวว่าต่อต้านคอร์รัปชั่น ล้วนแต่ "ตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้" ทั้งนั้น และประธานาธิบดีทุกคนที่ประกาศแนวทางนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม-สังคมนิยมระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อขึ้นสู่อำนาจ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมแนวทางเสรีนิยมใหม่เหมือนกันหมด
ฉากเก่าๆ : แผ่นดินมั่งคั่ง
ประชาชนยากจน
สาธารณรัฐเอกวาดอร์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ อยู่ระหว่างโคลอมเบียกับเปรู
ชื่อประเทศมาจากคำในภาษาสเปนที่หมายถึง "เส้นศูนย์สูตร" เพราะเอกวาดอร์ตั้งคร่อมเส้นศูนย์สูตร
บริเวณแห่งนี้ในสมัยโบราณเคยรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะอาณาจักรอินคา
ก่อนจะมาพินาศด้วยน้ำมือของชาวสเปนและตกเป็นเมืองขึ้นหลายร้อยปี
จนมาได้เอกราชในปี ค.ศ. 1822 และเข้าร่วมในสาธารณรัฐแกรนโคลอมเบีย (Republic of Gran Colombia) ซึ่งประกอบด้วย เวเนซุเอลา, ปานามา, โคมลอมเบีย และเอกวาดอร์ ภายใต้การนำของวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอเมริกาใต้ ซีโมน โบลิวาร์ (Simon Bolivar) ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐในปี ค.ศ. 1830 เอกวาดอร์ผ่านมาหมดแล้วทั้งรัฐบาลประชานิยม เผด็จการทหาร วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างภายใต้อิทธิพลของไอเอ็มเอฟ
เอกวาดอร์ก็เช่นเดียวกับเวเนซุเอลา คือเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ แต่รายได้ของรัฐบาลกลับตกหล่นสูญหายไปกับการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศ เศรษฐกิจของเอกวาดอร์อยู่ในภาวะย่ำแย่มายาวนาน ทั้ง ๆ ที่อุดมไปด้วยน้ำมันและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่จีดีพีประมาณ 50% กลับหมดไปกับการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ ตัวเลขการว่างงานของทางการอยู่ที่ 10% แต่ประชากรเกือบ 50% ดำรงชีพอยู่ในความยากจน
เอกวาดอร์คือหนูทดลองอีกตัวหนึ่งของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ภายใต้การอำนวยการของวอชิงตัน ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เอกวาดอร์ถูกบังคับให้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและเปิดเสรีทางการตลาด ผลลัพธ์ก็คือมาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำดิ่งเหว อัตราเงินเฟ้อถึง 60% ความถดถอยทางเศรษฐกิจ (ติดลบถึง 7% ในปี ค.ศ. 1999) วิกฤตการณ์ที่เกิดซ้ำซากทุกครั้งหมายถึงเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น การปรับโครงสร้างที่เข้มงวดขึ้น และการแปรรูปกิจการของรัฐมากกว่าเดิม
การเปิดตลาดเสรีหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และราคาสินค้าที่ตกต่ำลง อันเป็นผลมาจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาด ภาวะนี้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนชาวนาและชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง การนัดหยุดงานและการประท้วงของมวลชนกลายเป็นเรื่องชาชิน ประชาชนชาวเอกวาดอร์เริ่มสูญสิ้นศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทน ซึ่งมีทางเลือกแค่เปลี่ยนหน้าคนที่จะมาทำตัวเป็นบริวารรับใช้นโยบายจากวอชิงตัน
Que se vayan todos!
ประชาชนเรียนรู้และไม่หลงลืม
ในขณะที่สื่อกระแสหลักให้ภาพว่า การประท้วงโค่นล้มประธานาธิบดีครั้งนี้ มีแกนนำคือนายปาโค
มอนคาโย นายกเทศมนตรีเมืองหลวงคีโต และนายกเทศมนตรีไฮเม เนบอทแห่งเมืองท่าไกวอะคีล
ซึ่งทั้งสองเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านในเอกวาดอร์ด้วย แต่หากมองจากสายตาของขบวนการประชาชน
นักการเมืองทั้งสองเป็นแค่เฟืองเล็ก ๆ ในการลุกฮือครั้งนี้
การประท้วงเมื่อวันที่ 13 เมษายน ซึ่งมอนคาโยเป็นแกนนำนั้น ไม่ใช่การประท้วงครั้งแรก แต่เป็นครั้งหนึ่งในคลื่นการประท้วงหลายต่อหลายครั้ง ในวันที่ 11 เมษายน กลุ่มผู้ประท้วงราว 100 คน จากขบวนการสังคมต่าง ๆ บุกเข้ายึดวิหารประจำนครหลวง แม้จะไม่ได้รับน้ำและอาหารเลย พวกเขาก็ยืนยันจะไม่ยอมออกจากวิหารจนกว่าอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาจะได้รับการแต่งตั้งคืนสู่ตำแหน่ง ในขณะที่สมาพันธ์ชนชาติพื้นเมืองแห่งเอกวาดอร์ (Confederation of Indigenous Nations of Ecuador-CONAIE) บุกเข้ายึดตึกกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนในการประท้วงเมื่อวันที่ 13 เมษายน แม้ว่านายกเทศมนตรีมอนคาโยสั่งหยุดการขนส่งมวลชน ปิดสำนักงานเทศบาลและโรงเรียนในเมืองหลวง พร้อมกับนำขบวนประท้วงออกมาตะโกนบนท้องถนนว่า "ลูซีโอออกไป! ประชาธิปไตย เอา! เผด็จการ ไม่เอา!" แต่ก็มีประชาชนทั่วไปมาร่วมประท้วงด้วยไม่มากนัก
แต่ชนวนสำคัญอยู่ตรงที่ประธานาธิบดีกูตีเยร์เรซกลับสั่งให้ตำรวจปราบจลาจล ปราบปรามขบวนประท้วงในวันนั้นด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุ มีการใช้แก๊สน้ำตาและจับกุมผู้ประท้วง เมื่อข่าวตำรวจใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมประท้วงแพร่ออกไป สถานีวิทยุอิสระแห่งหนึ่งในเมืองคีโต คือสถานีวิทยุลา ลูนา (LA LUNA) เชื้อเชิญผู้ฟังให้โทรศัพท์มาแสดงความคิดเห็นออกอากาศ ชาวเอกวาดอร์จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวและชนชั้นกลาง ยกหูมาพูดคุยออกอากาศกันอย่างเนืองแน่น พวกเขาแสดงความคับข้องใจต่อการคอร์รัปชั่นและลัทธิเครือญาติทางการเมืองที่หมักหมมมายาวนาน ผู้ฟังไม่ได้กล่าวหาแค่กูตีเยร์เรซ แต่ประณามการเมืองทั้งระบบ และเรียกร้องให้ชาวเมืองหลวงออกมาร่วมกันประท้วง
เย็นวันนั้นเอง ประชาชนมาชุมนุมกันราว 5000 คน เคาะหม้อและกระทะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในอาร์เจนตินาสมัยที่เกิดวิกฤตการณ์เมื่อปลายปี ค.ศ. 2001 ตกค่ำ ขบวนประท้วงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สถานีวิทยุอิสระกลายเป็นศูนย์กลางในการปลุกระดม ประชาชนจำนวนมากพูดออกอากาศเชิญชวนให้ผู้คนออกมาที่ท้องถนน และกระตุ้นให้คนที่ฟังวิทยุออกไปพูดคุยกับญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน เพื่อระดมพลังประชาชนออกมา
กูตีเยร์เรซพยายามประนีประนอมให้ผู้ประท้วงสงบลง เขาปลดคณะผู้พิพากษาศาลสูงชุดใหม่ออกในวันที่ 15 เมษายน และประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองคีโต แต่ต้องรีบยกเลิกในวันต่อมา การประท้วงขยายวงออกไปถึงเมืองรอบนอก นักศึกษามหาวิทยาลัยออกมาปิดถนน และปาหินกับระเบิดขวดใส่ตำรวจและรถถัง
การลุกฮือครั้งนี้จึงมีแกนนำที่แตกต่างไปจากการลุกฮือในสมัยปี ค.ศ. 2000 ในครั้งนั้น แกนนำคือสมาพันธ์ CONAIE ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่เกิดจากการจับมือกัน ขององค์กรชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองราว 10 องค์กรในเอกวาดอร์ สมาพันธ์สามารถจับมือกับองค์กรชาวนา สหภาพแรงงาน ทหารชั้นผู้น้อย และพระระดับรากหญ้าของคริสตจักร ปลุกระดมประชาชน จนสามารถบุกยึดตึกรัฐสภา กระทรวงยุติธรรมและทำเนียบรัฐบาลไว้ได้
พวกเขาจัดตั้งคณะปกครองประเทศสามฝ่ายที่ประกอบด้วยผู้นำของ CONAIE, พลเรือนที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง และทหารชั้นผู้น้อย แต่ความพยายามครั้งนี้ถูกแทรกแซงจากสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีคลินตัน สหรัฐฯ ขู่ว่าจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเอกวาดอร์ คณะปกครองประชาชนจึงถูกโค่นล้ม และรองประธานาธิบดีโนโบอาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตามมาด้วยการกวาดจับผู้นำชาวนา และสหภาพแรงงานไปเป็นจำนวนมาก
แต่หลังจากนั้น ความนิยมในสมาพันธ์เริ่มเสื่อมถอยลง ทั้งนี้เพราะประธานสมาพันธ์คนก่อนออกมาประกาศสนับสนุนกูตีเยร์เรซในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าประธานคนนั้นจะถูกขับออกจากสมาพันธ์ทันที แต่เขาก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นมาในองค์กรของชาวพื้นเมือง บทบาทของสมาพันธ์ในการลุกฮือครั้งล่าสุดจึงอ่อนแรงลงไป
อย่างไรก็ตาม มีบางสาขาของสมาพันธ์ CONAIE ออกมาชุมนุมปิดถนนในหลายพื้นที่ของเอกวาดอร์ ประธานสมาพันธ์คนปัจจุบันเรียกร้องให้ระดมมวลชนระดับประเทศ มีการปิดถนนและประท้วงในหลายเมืองเล็ก เพื่อสนับสนุนการประท้วงใหญ่ในเมืองหลวง
ในเมืองคีโต สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา ในวันที่ 19 เมษายนนักหนังสือพิมพ์ชาวชิลี ฮูลิโอ การ์เซีย เสียชีวิตจากอาการขาดอากาศหายใจเนื่องจากสำลักแก๊สน้ำตา
คืนนั้นเอง การประท้วงก็บานปลาย ประชาชนกว่า 30,000 คน ออกมาสู้รบกับตำรวจบนท้องถนนจนตีสาม บ่ายวันรุ่งขึ้น ขบวนประท้วงที่นำโดยนักเรียนนักศึกษาและประชาชนกว่าแสนคน ออกมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับตะโกนว่า "ลูซีโอออกไป" และ "Que se vayan todos"
"Que se vayan todos" คำขวัญที่เป็นหัวใจในการประท้วงที่อาร์เจนตินา ตามตัวอักษรนั้นแปลว่า "พวกมันจงไสหัวไปให้หมด" พวกมัน ที่ว่านี้หมายถึง ชนชั้นนักการเมือง ทั้งชนชั้น ทุกคน ทุกพรรค ประชาชนไม่ต้องการชนชั้นนี้อีกแล้ว ประชาชนจะตัดสินใจนโยบายทุกอย่างในประเทศเอง
หลังจากกูตีเยร์เรซต้องหนีออกจากทำเนียบด้วยเฮลิคอปเตอร์และไปขอลี้ภัยที่สถานทูตบราซิล รองประธานาธิบดีปาลาเซียว ออกไปปราศรัยต่อหน้าประชาชนหลายร้อยคน เรียกร้องให้ประชาชนในประเทศลงประชามติเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เขาไม่ยอมให้เลื่อนการเลือกตั้งจากเดิมที่กำหนดไว้ในปลายปี 2006
มวลชนตอบโต้เขาด้วยเสียงตะโกนสะท้านก้องว่า "สมัชชาประชาชน!" "ยุบสภาโจรทิ้งเดี๋ยวนี้!" และ "ไสหัวไปให้หมด!"
แม้ว่าปาลาเซียวจะถือเป็นฝ่ายซ้ายที่อยู่ตรงข้ามกับกูตีเยร์เรซมาตลอด และย้ำสัญญาว่าจะนำพาประเทศออกจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ แต่บทเรียนที่ประชาชนต้องผิดหวังกับนักการเมืองคนแล้วคนเล่า ทำให้พวกเขาไม่ยอมไว้วางใจนักการเมืองคนไหนง่าย ๆ สภาคองเกรสของเอกวาดอร์นั้นถูกมองว่าฉ้อฉล และขวาจัดยิ่งกว่ากูตีเยร์เรซเสียอีก
ผู้ประท้วงไม่ยอมให้ปาลาเซียวหนีหน้าไปไหน พวกเขาเรียกร้องให้สภาคองเกรสลาออก ตะโกนว่าจะไม่ยอมถูกหลอกอีก พวกเขาบุกเข้ายึดตึกรัฐสภาและเปิดประชุมสภาประชาชนเพื่อหาทางออกต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองและกฎหมายของประเทศ ลงมติให้สร้างสภาประชาชนแบบนี้ทั่วทั้งประเทศเพื่อนำไปสู่สมัชชาระดับชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลพักชำระหนี้ต่างประเทศเป็นเวลา 10 ปี และไล่กองทัพสหรัฐฯ ออกไป
ในอีกด้านหนึ่ง สมาพันธ์ CONAIE และขบวนการสังคมอื่น ๆ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเลิกให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้ง และหันมาสร้างขบวนการมวลชนขนาดใหญ่แทน ประธานสมาพันธ์ CONAIE ลูอิส มาคัส เรียกร้องให้ประชาชนชาวเอกวาดอร์ออกมาต่อสู้ทุกวัน จนกว่าจะได้ "ประชาธิปไตยที่แท้จริง" มาคัสแสดงท่าทีชัดเจนว่า CONAIE จะไม่ผูกพันธมิตรกับพรรคการเมืองกระแสหลักพรรคไหนทั้งนั้น แต่มีแนวทางที่จะสร้างขบวนการของพลเรือน เพื่อหาทางออกจากความโสมมของการเมืองและวาระของลัทธิเสรีนิยมใหม่
CONAIE จัดการประชุมร่วมกันของตัวแทนจากกลุ่มขบวนการกว่า 60 กลุ่ม ที่ประชุมมีมติให้สร้าง "ขั้วอิสระ" โดยมีกลุ่มการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองจับมือเป็นพันธมิตรกัน เป้าหมายคือล้มล้างระบอบคณาธิปไตยที่ฉ้อฉล และสร้างสรรค์ "รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นตัวแทนชาวเอกวาดอร์ทั้งมวลอย่างแท้จริง"
ชาวเอกวาดอร์แสดงออกถึงความต้องการที่จะปรับเปลี่ยน และสร้างเสริมสถาบันประชาธิปไตยให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องย้อนกลับไปอยู่ในวงจรชั่วร้ายอีก พวกเขาเรียนรู้แล้วว่า เพียงแค่การลุกฮือครั้งใหญ่เพื่อโค่นล้มรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย วีรชนที่ต้องทิ้งชีวิตไปในการต่อสู้เป็นสิ่งที่แย่ วีรชนที่ยังมีชีวิตอยู่อาจแย่ยิ่งกว่า และวีรชนที่เข้าไปเล่นการเมืองคือสิ่งที่แย่ที่สุด
ประชาชนไม่ควรฝากความหวังไว้กับใครอีกนอกจากตัวเอง ปฏิบัติการทางการเมืองที่มีความหมาย ไม่ใช่การเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่การลุกฮือขึ้นก่อจลาจล แต่การดำเนินการทางการเมืองในชีวิตประจำวันทุก ๆ วันต่างหาก ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ละตินอเมริกาเลี้ยวซ้าย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเอกวาดอร์คือคลื่นอีกลูกหนึ่งในกระแสเลี้ยวซ้ายของภูมิภาคละตินอเมริกา
บราซิลได้ประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน เวเนซุเอลามีประธานาธิบดีชาเวซที่มีฐานเสียงจากประชาชนรากหญ้า
และพยายามนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปสังคมตามแนวทางโบลิวาร์
ปลายปีที่แล้ว อุรุกวัยได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือนายทาบาเร วาซเควซ จากพรรคสังคมนิยม และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอุรกวัยที่มาจากพรรคฝ่ายซ้าย ในชิลี พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายเริ่มชนะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น และมีแผนการที่จะจับมือเป็นแนวร่วมพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อเตรียมลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ ในโบลิเวีย แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ใช่ฝ่ายซ้าย แต่ขบวนการประชาชนชาวพื้นเมืองสร้างความเข้มแข็งจนสามารถกดดันรัฐบาล และล้มคว่ำกฎหมายแปรรูปได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ละตินอเมริกาที่เป็น "หลังบ้าน" ของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและพื้นที่ทดลองลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างเข้มข้นที่สุด กำลังกลายเป็นภูมิภาคที่ต่อต้านการแปรรูป การค้าเสรีและระบบทุนนิยมอย่างเข้มแข็งที่สุด รวมทั้งกำลังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และทดลองแนวคิดปฏิบัติใหม่ นั่นคือ แนวทางประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่อาจเป็นการทะลวงกรอบทฤษฎีการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน
ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก
Green Left Weekly http://www.greenleftweekly.org.au
The Guardian http://www.guardian.co.uk
Wikipedia, the free encyclopedia
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เย็นวันนั้นเอง ประชาชนมาชุมนุมกันราว 5000 คน เคาะหม้อและกระทะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในอาร์เจนตินาสมัยที่เกิดวิกฤตการณ์เมื่อปลายปี ค.ศ. 2001 ตกค่ำ ขบวนประท้วงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สถานีวิทยุอิสระกลายเป็นศูนย์กลางในการปลุกระดม ประชาชนจำนวนมากพูดออกอากาศเชิญชวนให้ผู้คนออกมาที่ท้องถนน และกระตุ้นให้คนที่ฟังวิทยุออกไปพูดคุยกับญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน เพื่อระดมพลัง
ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์เมื่อปี
ค.ศ. 2000 หลังจากประชาชนชาวเอกวาดอร์ที่มีสมาพันธ์ชาวพื้นเมือง สหภาพแรงงานและนักศึกษา
ช่วยกันโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดียามีล มาหวัดลงได้สำเร็จ แต่การออกแรงของประชาชนครั้งนั้นก็ไม่มีอะไรดีขึ้น
เพราะทันทีที่รองประธานาธิบดีกุสตาโว โนโบอา ขึ้นรักษาการแทน เขาก็ประกาศว่าจะปฏิรูปเอกวาดอร์ให้เป็น
"ระบบเศรษฐกิจแบบเงินดอลลาร์" ซึ่งมีความหมายถึง "ราคาสินค้าแบบโลกที่หนึ่ง
ค่าจ้างแบบโลกที่สาม" รัฐบาลโนโบอากลายเป็นรัฐบริวารที่สหรัฐฯ หนุนหลังด้วยกำลังทหารอย่างเต็มที่
โนโบอานั้นมีชื่อเล่นที่วอชิงตันเรียกด้วยความเอ็นดูว่า "Nobody"
(คัดลอกมาบางส่วนจากบทความ : ภัควดี วีระภาสพงษ์ เรียบเรียง)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์