ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
070748
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 608 หัวเรื่อง
บทสัมภาษณ์ ดร.วัน กาดีร์ เจ๊ะมัน คัดลอกมาจาก นสพ.มติชน
วันที่ 21-22 มิถุนายน 2548
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 21,878 สูงสุด 32,795 สำรวจเมื่อเดือน พ.ค. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รัฐศาสตร์ไทยกับประชาชนชายขอบ
บทสัมภาษณ์ ดร.วัน กาดีร์ เจ๊ะมัน ประธานเบอร์ซาตู
คัดลอกมาจาก นสพ.มติชนรายวัน

ฉบับวันที่ 21-22 มิถุนายน 2548

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540
หมวดที่ว่าด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่มาตรา 282-290 มารวมไว้
เนื่องจากมีการอ้างถึงในบทสัมภาษณ์

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)




บทสัมภาษณ์ ดร.วัน กาดีร์ เจ๊ะมัน ประธานเบอร์ซาตู
"สิ่งที่เราเห็นอยู่คือผลของการฝึกและเตรียมการเมื่อ 10 ปีก่อน"

หมายเหตมติชน
- บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้มีผู้อ่านท่านหนึ่งส่งมายังกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน จากการตรวจสอบพบว่า เป็นบทสัมภาษณ์ที่ ดร. ฟาริช เอ. นูร์ นักวิชาการและนักวิจัยชาวมาเลเซีย ซึ่งทำงานในฐานะนักวิจัยอยู่ที่สถาบันเซนทรุม โมเดิร์นเนอร์ โอเรียนต์ ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ดร.ฟาริชเข้าพบและสัมภาษณ์ ดร.วัน กาดีร์ เจ๊ะมัน(หรือในสำเนียงท้องถิ่นว่า วัน กาเดร์ เจ๊ะมัน) ประธานกลุ่มเบอร์ซาตูซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมของหลายขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย (อาทิ พูโล,บีอาร์เอ็น,บีไอพีพีและจีไอเอ็มพี) ที่ประเทศสวีเดนเมื่อไม่นานมานี้

จากการตรวจสอบของ "มติชน" พบด้วยว่า บทสัมภาษณ์ดังกล่าวยังไม่มีการตีพิมพ์ แต่ถูกจัดส่งให้กับเว็บไซต์ส่วนตัว(เว็บล็อค หรือ บล็อค) ของ "แม็ก ซุลกีฟลี" ชาวมาเลเซียชื่อเว็บไซต์ "แบรนด์นิวมาเลเซีย" เป็นผู้เผยแพร่และมีการเชื่อมโยง(ลิงค์)ไปยังอีกหลายเว็บไซต์ เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา

"มติชน" ถือว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกมุมมองของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทย จึงขอนำเสนอโดยละเอียดดังต่อไปนี้


ถาม : ปัตตานีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเงียบสงบ แต่ตอนนี้เราได้เห็นเหตุการณ์รุนแรงกลับมาทั่วไปหมดอีกครั้ง สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ตอบ : ผมไม่เคยเชื่อว่าเรามี "สันติ" ที่แท้จริงในพื้นที่นั้น และในห้วงเวลาเดียวกันทั้งนโยบายและวิธีการของรัฐบาลไทยในกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน. 10 ปีที่เงียบไปนั้นจริงๆ แล้วเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ซึ่งนิยมแนวทางรุนแรงใช้เป็นเวลาสำหรับการฝึก เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่มีการเผาโรงเรียนมากกว่า 30 โรง โดยฝีมือของกลุ่มติดอาวุธ บรรดาผู้นำของกลุ่มเหล่านี้อ้างกับผมเป็นการส่วนตัวว่า ในช่วงเวลา 10 ปี พวกเขาจะยกระดับความรุนแรงให้สูงขึ้นไปสู่ระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ตอนนี้อีก 10 ปีให้หลัง เราได้เห็นความรุนแรงกลับมาในพื้นที่ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่นี้เป็นผลจากการฝึกและการเตรียมการระยะยาวที่ว่านั้น กลุ่มเหล่านี้คือกลุ่มที่ไม่เคยเห็นพ้องกับข้อเสนอที่ว่าเราสามารถเปิดการเจรจาอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลไทยได้ และไม่เคยยกเลิกจับอาวุธขึ้นสู้อย่างแท้จริง
นายฟาริช เอ. นูร์ ผู้สัมภาษณ์

ถาม : ถ้าหากความรุนแรงเลวร้ายลง และกำลังจะขยายตัวลุกลามออกไป อะไรคือความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเร็วๆ นี้ที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงถึงขนาดนั้น? บทบาทของรัฐบาลในเรื่องเหล่านี้คืออะไร?

ตอบ : อย่างที่พูดไปแล้ววิธีการและยุทธศาสตร์ของชนชั้นนำทางการเมืองและการทหารของไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงจริงๆ เอาแค่มองกรณีตากใบที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ที่มีคน 86 คน เสียชีวิตเมื่อถูกยัดทะนานอยู่ในรถบรรทุกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีนั้นเป็นเพียงแค่การชุมนุมประท้วงที่เลยเถิดควบคุมไม่ได้แค่นั้นเอง แต่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องใช้วิธีการกดขี่ข่มเหงกันในระดับนั้น ซึ่งผลของมันก็คือ ยิ่งก่อให้เกิดความเกลียดชังและความโกรธในหมู่ประชาชนมากขึ้นไปอีก

รัฐบาลไทยเชื่อและยังคงเชื่อว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสร่างซาลง และหายสาบสูญไปแล้ว และยังมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และคิดว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองในส่วนของชาวมุสลิมปัตตานีนั้น หมายถึงการสิ้นสุดของยุคแห่งการจับอาวุธสู้ นอกจากนั้นยังมีความเชื่อด้วยว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถ "ซื้อ" ได้โดยใช้โครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่เคยปรากฏเป็นความจริงขึ้นมา

แต่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นไม่อาจกำจัดได้ เนื่องเพราะนี่เป็นประเด็นทางการเมืองเชิงวัฒนธรรม องค์ประกอบในทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลไทยรู้สึกเสมอว่านี่เป็นปัญหาของการผสมผสานทางเชื้อชาติ และคนมาเลย์จะต้องถูกกลืนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันในระบบและ "ทำให้เป็นคนไทย" อย่างที่พูดกัน แต่คนมาเลย์ในปัตตานีตระหนักว่าพวกเขาไม่ใช่คนต่างถิ่น และตระหนักว่าดินแดนนี้ถูกครอบงำเป็นอาณานิคม โดยคนไทยซึ่งเนื้อแท้แล้วก็คืออำนาจต่างชาติ

สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หนุ่มสาวปัตตานีในทุกวันนี้ดูเหมือนจะผูกพันเข้ากับการเมืองเชิงวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานทางศาสตร์มากยิ่งขึ้นทุกที ระหว่างที่ผมเป็นหนุ่ม ผู้คนในยุคของผมเป็นพวกชาตินิยม นี่คือแก่นสำคัญของ(ขบวนการเมื่อ)ทศวรรษ 1970 แต่ทุกวันนี้มีการลุกฮือขึ้นต่อต้านจากบรรดามุสลิมทั่วโลก ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้รับแนวความคิดเชิงศาสนาเพิ่มมากขึ้น และเราก็เห็นพวกอิสลามิสต์ทำงานกับพวกเนชั่นแนลลิสต์ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม พูดอีกอย่างก็คือ ลัทธิแบ่งแยกดินแดนในปัตตานีที่แข็งแกร่งมากขึ้นในทุกวันนี้ เป็นเพราะการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดเรื่องศาสนาและการเมืองเข้าด้วยกัน

ถาม : แนวนโยบายของรัฐบาลทักษิณในปัจจุบันมีผลกระทบต่อทุกสิ่งอย่างไร?

ตอบ : ความผิดพลาดของ(พ.ต.ท.) ทักษิณ (ชินวัตร-นายกรัฐมนตรี) เป็นความผิดพลาดเชิงยุทธวิธีและแสดงให้เห็นถึงความกระด้าง ไม่ละเอียดอ่อนของเขา เขาทำหลายอย่างผิดพลาดในพื้นที่ที่นั่น ทักษิณเดินทางไปเยือนปัตตานีแค่ 2 ครั้ง และทั้งสองคราวเขาแทบไม่เคยแสดงความห่วงใยต่อมุสลิมในปัตตานี ทั้งๆ ที่พูดกันจริงๆ แล้วเขาเข้ามายังพื้นที่ของเรา พื้นที่ของมาเลย์

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทักษิณทำตอนที่เขาอยู่ในปัตตานี? เขาเคยไปเยี่ยมชุมชนมุสลิมหรือพูดจากับบรรดาผู้นำของเราหรือไม่? เขาเคยไปเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ เพื่อได้เห็นกับตาว่าคนเหล่านั้นยากจนอย่างไร และเคยถามหรือไม่ว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือพวกเขาได้ยังไงบ้าง?

ไม่ ไม่เคย เขากลับไปเยี่ยมเยียนวัดพุทธที่นั่น และกระทั่งยังนอนที่นั่นอีกต่างหาก เขาพูดเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมของไทย-พุทธ และพูดถึงว่าเอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมไทยคืออย่างไร และอะไรควรจะเป็นรากฐานของการเมืองของชาติไทย แต่ไม่เคยทำอย่างเดียวกันนี้ในพื้นที่มุสลิม-มาเลย์ และไม่เคยใส่ใจกับความอ่อนไหวของพวกเราเลยแม้แต่น้อย

ทำไมพวกเราชาวมาเลย์ถึงควรจะกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมไทย เรียนรู้ภาษไทย กินและแต่งกายเหมือนคนไทย เมื่อจริงๆ แล้วเราอยู่อาศัยในดินแดนของเราเอง และในดินแดนที่เป็นของพ่อของปู่ของเรา? ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นดินแดนของมาเลย์เสมอมายาวนาน ตราบเท่าที่สามารถสืบสาวประวัติศาสตร์ไปถึง และเป็นมากระทั่งก่อนที่จะมีการก่อร่างสร้างกรุงเทพฯด้วยซ้ำไป กระนั้นประวัติศาสตร์ของเราก็ถูกละเลยและลบทิ้งไป ในขณะที่ทักษิณกลับมาเน้นย้ำความจำเป็นที่เราจะต้องกลมกลืนเข้ากับกระแสหลัก - กระแสหลักของสังคมไทยที่ไม่เคยรับเอาเราเข้าไปใคร่ครวญพิจารณาเลยแม้แต่น้อย

ถาม : การดูดกลืนที่ว่ามีขอบเขตแค่ไหนและเป็นไปอย่างไร?

ตอบ : นโยบายที่เรียกว่า "ทำให้เป็นไทย" นี้ย้อนหลังกลับไปได้หลายศตวรรษ และเราถูกกำชับเป็นมาเวลายาวนานว่า เราไม่สามารถแม้แต่จะพูดภาษามาเลย์ของพวกเราเองได้ หรือแม้แต่จะใช้คัมภีร์คำสอนของมาเลย์เอง แต่ในปัตตานีก็ยังมีโรงเรียนจีนที่มีการสอนภาษาจีน และใช้ตำรับตำราภาษาจีนในการสอน ในแต่ละเมืองหลวงของมณฑลปัตตานี ยะลา นราธิวาส อย่างน้อยต้องมีโรงเรียนจีนอยู่หนึ่งโรงที่ใช้ภาษาจีนสอน ถ้าหากคนจีนได้รับอนุญาตให้มีสำนึกเชิงเอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมของตัวเองได้ ทำไมเราถึงทำไม่ได้?

คุณจะเห็นว่าเราไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษอะไรเลย แล้วเราก็ไม่ได้พูดด้วยว่ามีความวิเศษวิโสเหนือกว่าคนไทย เราเพียงแต่ต้องการการยอมรับคนของเรา อย่างที่พวกเขาควรจะเป็น ยอมรับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเราด้วย นี่หรือคือภัยคุกคามต่อรัฐไทยหรือ(ความเป็น)ชาติไทย? ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ เราเพียงแค่เรียกร้องขอการยอมรับและความนับถือ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติทั่วๆ ไปและเป็นไปได้ในสังคมประชาธิปไตย

ถาม : หลังเกิดเหตุ 11 กันยายน กลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มทั่วโลกถูกตีตราว่าเป็นกลุ่ม "ผู้ก่อการร้าย" โดยรัฐบาลของพวกเขา บางครั้งเป็นการทำไปเพื่อได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากตะวันตก บางครั้งเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมในทางกฎหมาย ให้กับการดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของพวกคุณอย่างไรบ้าง?

ตอบ : จริงๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่ารัฐบาลทักษิณใช้การตีตรา "ผู้ก่อการร้าย" ต่อพวกเขามากมายนักจนถึงตอนนี้ แต่นี่อาจเปลี่ยนไปก็ได้ในภายหลัง แต่ตอนนี้พวกเขาดูเหมือนมีเจตนาจะประณามเราเป็นแค่ภัยคุกคามในท้องถิ่นและเป็นปัญหาภายใน การต่อสู้ในสายตาของเขาอย่างน้อยที่สุดเป็นการก่อกบฏเท่านั้นเอง พวกนี้กล่าวหาเราบ่อยครั้งมากกว่าว่าเป็นพวก "ไม่รักชาติ" และไม่มีความเป็นชาตินิยมในทรรศนะของพวกเขา แต่น้อยครั้งที่เราจะถูกตราว่าเป็นภัยจากกลุ่ม "ผู้ก่อการร้าย"

เหตุผลที่ว่าทำไมทักษิณถึงระมัดระวังนั้น ผมรู้สึกว่าเป็นเพราะไทยยังคงอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2541 และรัฐบาลไทยรู้ดีว่าเศรษฐกิจเปราะบางอย่างไร ในหลายๆ ส่วนของประเทศเศรษฐกิจในท้องถิ่นขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวและรายได้จากชาวต่างชาติ ทั้งจากกลุ่มนักท่องเที่ยวของชาติอาเซียนและนักท่องเที่ยวตะวันตก

ถ้าหากทักษิณเล่นไพ่ "ผู้ก่อการร้าย" ผลกระทบโดยทันทีก็คือ การส่งสัญญาณผิดพลาดออกไปว่าไทยเป็นเครือข่ายหรือเป็นสวรรค์สำหรับกองกำลังติดอาวุธของผู้ก่อการร้าย สิ่งนี้จะสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของไทย และอาจเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการนำเงินเข้ามาใช้จ่ายมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในท้องถิ่น ดังนั้น ถึงแม้กองกำลังความมั่นคงของไทยอยากที่จะกำจัดพวกเราอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ แต่พวกเขาก็ยังเป็นกังวลอยู่กับผลกระทบในทางลบ และการตกเป็นข่าวคราวในทางลบที่จะคงอยู่ยาวนานอยู่ด้วย ในแง่นี้จะพูดว่าพวกเขาถูกมัดมืออยู่ก็ได้เหมือนกัน

ถาม : ในทรรศนะของคุณทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องของท้องถิ่นโดยสิ้นเชิงใช่ไหม? ผมถามอย่างนี้เพราะเหตุผลง่ายๆ ที่ว่ามีสื่อจำนวนมากนำเสนอข้อกล่าวหาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า เหตุยุ่งยากทางภาคใต้ของไทยเกิดจากอิทธิพลต่างชาติ มีบ้างถึงกับเสนอว่ามันมีส่วนเกี่ยวโยงกับกลุ่มติดอาวุธอาหรับอย่างเช่น อัลเคด้า

ตอบ : นั่นเป็นการขยายความจนเกินเลย คุณต้องจดจำปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งไว้ให้ดี สำหรับชาวมุสลิม-มาเลย์ในปัตตานีแล้ว สำนึกแห่งความภาคภูมิและเอกภาพแห่งดินแดนนั้นยืนอยู่บนแนวความคิดที่ว่า พวกเขาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้อิสลามโดยตัวเอง คนมุสลิมปัตตานีถือว่าตัวเองเป็นหนึ่งในกลุ่มมุสลิมแรกสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกลุ่มที่เคร่งครัดที่สุด มีมรดกทางด้านวัฒนธรรมอิสลามเป็นของตัวเอง มีขนบประเพณีเป็นของตัวเอง พวกเขาไม่ต้องการให้มรดกเชิงอิสลามที่ว่านี้ถูกบั่นทอนไม่ว่าจะโดยอิทธิพลของรัฐบาลไทย หรือโดยอิทธิพลของอาหรับต่างแดน

นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนมาเลย์ปัตตานีถึงมีความโน้มเอียงที่จะปฏิเสธกลุ่มผู้เผยแผ่ศาสนาจากอาหรับหรืออินเดียที่จะเข้ามาสอนอิสลามให้กับเรา และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมชาวปัตตานีถึงไม่ใช่ผู้ขานรับอิทธิพลของอาหรับ-วะห์บี หรือแม้กระทั่งสำนักคิดอื่นๆ อย่างเช่น ชีอะห์ เป็นต้น

ชาวมุสลิมปัตตานีมีปฏิกิริยาเชิงวัฒนธรรมที่แรงกล้าต่อบุคคลภายนอก และเราไม่ชอบที่จะถูกปฏิบัติต่อเยี่ยงมุสลิมชั้นสองโดยมุสลิมต่างชาติอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มอาหรับ จากพื้นฐานที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนภายนอกที่จะเข้ามาและมีอิทธิพลเหนือพวกเราในเรื่องของอิสลาม หรือความเชื่อเรื่องการต่อสู้ของเรา

เคยมีความพยายามทำนองดังกล่าวอยู่บ้างในอดีต เช่น พวกวะห์บี พยายามที่จะสร้างสุเหร่าและให้ทุนกลุ่มผู้เผยแผ่ศาสนา แต่ว่าล้มเหลวไปทั้งหมด

ไม่-ผมขอย้ำอย่างชัดแจ้งไว้ว่า สถานการณ์ในปัตตานีถูกชี้ขาดและก่อรูปขึ้นโดยปัจจัยภายในเสมอมา และปัจจัยที่ว่านี้ ก็รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองภายในด้วยเช่นกัน ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 80 เมื่อตอนที่กลุ่มพูโลกำลังต่อสู้เพื่อการปกครองตนเอง หรือกระทั่งเพื่ออิสรภาพนั้นมีการสนับสนุนในทางการเมืองอยู่บ้างจากประเทศมุสลิมโพ้นทะเลบางประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์และไม่มีนัยสำคัญเทียบเท่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับปัตตานี

ถาม : ถ้างั้นขอถามต่อเกี่ยวกับข้อกล่าวหาถึงความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค หรืออย่างที่กลุ่มซึ่งถูกเรียกว่า "ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง" อ้างว่าสถานการณ์ในปัตตานีเลวร้ายลงเนื่องจากอิทธิพลของรัฐเพื่อนบ้าน ทักษิณเองยังเคยอ้างด้วยว่า กบฏปัตตานีได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเพื่อนบ้าน ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานเบอร์ซาตูมาตั้งแต่ปี 2541 คุณแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ได้หรือไม่?

ตอบ : ตราบเท่าที่ผมเป็นผู้นำของเบอร์ซาตู(บอกได้ว่า) เราไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ผมขอย้ำอย่างหมดจดไว้ในตอนนี้ว่า เราไม่เคยได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ ทั้งอาวุธ เสบียง การวางแผน การฝึก หรือการเงินจากประเทศหนึ่งประเทศใดในภูมิภาคนี้

ข้ออ้างที่ว่ามีประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ในทางภาคใต้ของไทยเป็นข้ออ้างที่ผิดโดยสิ้นเชิง ผมสามารถพูดได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแน่นอนชัดเจนเหมือนๆ กับการที่ผมเป็นผู้นำของกลุ่มพันธมิตร และผมรู้ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครช่วยเหลือเรา

ถ้าหากมีใครช่วยหรือให้การสนับสนุน ผมจะเป็นคนแรกที่ได้รู้ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำของเบอร์ซาตู แต่ผมบอกคุณได้ชัดแจ้งและหนักแน่นว่าไม่มีการสนับสนุนใดๆ มาให้พวกเรา การต่อสู้ของพวกเราเป็นเรื่องภายในของเราเสมอมา และไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความพยายามระหว่างประเทศใดๆ

ถาม : แล้วกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ากลุ่มปัตตานีไปฝึกอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน?

ตอบ : นี่ก็ผิดอีกนั่นแหละ ผิดด้วยน่าขันด้วยอีกต่างหาก แรกสุดก็คือเป็นเรื่องยากมากที่จะขนอาวุธแล้วข้ามไปฝึกกันในประเทศอย่างมาเลเซีย เพราะมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลักลอบขนอาวุธข้ามแดนเข้าไป กรณีของอินโดนีเซียก็เหมือนกัน ไม่เคยเป็นทางเลือกสำหรับเรื่องนี้มาก่อนเลย เหตุผลง่ายๆ ก็เพียงแค่ว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างนั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะเรามีที่ว่างและพื้นที่ลับมากเกินพอในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งกองกำลังติดอาวุธสามารถเข้าไปฝึกฝนการต่อสู้ได้

การฝึกในปัตตานีนั้นโดยตัวของมันเองแล้วง่ายกว่ามาก พื้นที่ที่มีเพียงมุสลิมรายล้อมอยู่โดยรอบเท่านั้นมีอยู่มากมายทั้งในปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการฝึก พวกวัยรุ่นติดอาวุธที่คุณเห็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้งหมดได้รับการฝึกฝนในประเทศไทย อยู่ภายใต้ระบบโรงเรียนปอเนาะ(โรงเรียนสอนศาสนา) ส่วนใหญ่ของพวกนี้ได้รับการฝึกในท้องที่ของตัวเองนั่นแหละ หลายคนไม่เคยแม้แต่จะเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านมาก่อนในชีวิต อย่างเช่น มะสะแอ นู เซ็ง ที่ถูกทางการไทยประกาศจับ ก็ประกาศอย่างเปิดเผยว่าไม่เคยไปมาเลเซียมาก่อนเลยในชีวิต

ถาม : ถ้าทั้งหมดนี่เป็นเรื่องภายในที่จำกัดอยู่เฉพาะภาคใต้ของไทยเรื่อยมา คุณมีความคาดหวังอะไรสำหรับอนาคตและคุณจะเลือกหนทางแบบไหนดำเนินการ?

ตอบ : โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าความรุนแรงไม่เคยได้ผลและจะไม่ได้ผลอีกต่อไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงเรียกร้องต่อกลุ่มทั้งหลายให้เข้ามาร่วมกัน มากำหนดยุทธศาสตร์ร่วมและหาหนทางที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อสู้ของเราต่อไป

พื้นฐานของการต่อสู้ที่ว่านี้ก็คือความต้องการให้ได้รับการยอมรับและนับถือต่อประวัติศาสตร์ในอดีตของเรา อัตตลักษณ์แห่งเรา และความต้องการทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่จำเพาะของเรา สถานการณ์รุนแรงอย่างที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ารัฐบาลไทยยังไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ หรือทำให้ประชาชนในปัตตานีสงบราบคาบได้

ที่เป็นอย่างนี้เพราะยุทธวิธีแบบสายตาสั้นและวิธีการโหดร้ายที่นำมาใช้ของพวกเขาเอง รวมไปถึงอาการลังเลที่จะยอมรับว่า ประชาชนในภาคใต้ใช้ชีวิตของเขามาอย่างนั้นยาวนานนับศตวรรษ และเราไม่ใช่ผู้ต่ำต้อยหรือชนชั้นสองที่ไม่มีสิทธิมีเสียงแต่อย่างใด

ผมกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์รุนแรงที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นในขอบเขตและในระดับที่ดุดันร้ายกาจเท่านี้มาก่อน ที่แย่ที่สุดก็คือ เหยื่อก็คือพลเรือนสามัญธรรมดา ทั้งชาย หญิง เด็ก ครู อิหม่าม และพระสงฆ์ สิ่งนี้ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ และในที่สุดก็จะเป็นอันตรายต่อทั้งเราและชาติไทยพร้อมกันไปด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องการก็คือ เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้นำเอามาตรา 282 จนถึง 290 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประจำปี พ.ศ.2540 มาบังคับใช้อย่างแท้จริงและอย่างมีประสิทธิภาพ (โปรดดูรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวท้ายบทความ - บรรณาธิการ) มาตราดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งฝ่ายบริหารในท้องถิ่นได้ และให้มีอำนาจในการควบคุมตัวเองโดยจำกัด นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เรื่อยมาจนถึงขณะนี้

มาตรา 282-290 เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลท้องถิ่น การจัดสรรอำนาจและอำนาจบังคับบัญชาให้กับเขตปกครองท้องถิ่น, การจัดการเลือกตั้งในท้องถิ่น ฯลฯ วัตถุประสงค์ของมาตราเหล่านี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในรูปแบบบางอย่างของผู้แทนการเมืองท้องถิ่นในระดับภูมิภาค, ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และเป็นส่วนเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง นี่เป็นสิ่งจำเป็นถ้าหากจะให้ประชาชนในระดับจังหวัดอย่างเช่น ปัตตานี ได้มีโอกาสรื้อฟื้นความเคารพนับถือในตัวเอง และเกียรติศักดิ์แห่งตัวเองกลับคืนมาอีกครั้ง

นี่ยังเป็นหนทางเดียวที่จะเปิดโอกาสให้บรรดาผู้นำอย่างเช่น ตัวผมสามารถโน้มน้าวให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ยกเลิกการต่อสู้ด้วยอาวุธและหันมาดำเนินการผ่านกระบวนการทางการเมืองภายใน และที่สำคัญที่สุดนี่เป็นวิธีการที่จะทำให้การต่อสู้ของเราถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ดร.วัน กาดีร์ เจ๊ะมัน ประธานเบอร์ซาตู
( ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์มติชน)

+++++++++++++++++++


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐

หมวด ๙
การปกครองส่วนท้องถิ่น


มาตรา ๒๘๒
ภายใต้บังคับมาตรา ๑ รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลัก
แห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

มาตรา ๒๘๓ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิได้รับจัดตั้งเป็น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ
แต่ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศ
เป็นส่วนรวม ทั้งนี้ จะกระทบถึงสาระสำคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของ
ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิได้

มาตรา ๒๘๔ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีความเป็นอิสระในการ
กำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมี
อำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ

การกำหนดอำนาจและหน้าที่ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่าง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยคำนึงถึงการ
กระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ

เพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ให้มีกฎหมายกำหนด
แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

(๒) การจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย
คำนึงถึงภาระหน้าที่ของรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นด้วยกันเองเป็นสำคัญ

(๓) การจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ตาม (๑) และ (๒) ประกอบด้วยผู้
แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง
มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีจำนวนเท่ากัน

ในกรณีที่มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่และการจัดสรรภาษีและอากรตาม (๑) และ
(๒) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดแล้ว คณะกรรมการตาม (๓) จะต้องนำเรื่องดังกล่าว
มาพิจารณาทบทวนใหม่ทุกระยะเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่
หรือวันที่มีการจัดสรรภาษีและอากร แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของการ
กำหนดอำนาจและหน้าที่ และการจัดสรรภาษีและอากรที่ได้กระทำไปแล้ว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึง
การกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ

การดำเนินการตามวรรคสี่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรายงาน
รัฐสภาแล้ว ให้มีผลใช้บังคับได้

มาตรา ๒๘๕ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหาร
ท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง

คณะบริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น

การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มา
จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรง
ตำแหน่งคราวละสี่ปี

คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือ
เงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการ
ส่วนท้องถิ่น มิได้

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หลักเกณฑ์และวิธีการ
เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่
กฎหมายบัญญัติ

ในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น หรือในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งทั้ง
คณะตามมาตรา ๒๘๖ และต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการ
ชั่วคราว มิให้นำบทบัญญัติวรรคสอง วรรคสาม และวรรคหก มาใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามที่
กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๘๖ ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่
น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่น
หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป
ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การลงคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่งต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่ง
หนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

มาตรา ๒๘๗ ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่
น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีสิทธิเข้าชื่อ
ร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้

คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นเสนอมาด้วย

หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อรวมทั้งการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๘๘ การแต่งตั้งและการให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น
และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นก่อน ทั้งนี้ ตามที่
กฎหมายบัญญัติ

คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของ
หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีจำนวนเท่ากัน

การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษพนักงานและ
ลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๒๘๙ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีต
ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตาม
ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
อบรมของรัฐ แต่ต้องไม่ขัดต่อมาตรา ๔๓ และมาตรา ๘๑ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นตามวรรคสอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้อง
คำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของ
ท้องถิ่นด้วย

มาตรา ๒๙๐ เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่

(๒) การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอก
เขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน

(๓) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่ง
อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

สำหรับผู้สนใจอ่านรัฐธรรมนูญทุกฉบับสามารถคลิกไปอ่านได้ที่
http://www.parliament.go.th/files/library/t-b05.htm

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

นโยบายที่เรียกว่า "ทำให้เป็นไทย" นี้ย้อนหลังกลับไปได้หลายศตวรรษ และเราถูกกำชับเป็นมาเวลายาวนานว่า เราไม่สามารถแม้แต่จะพูดภาษามาเลย์ของพวกเราเองได้ หรือแม้แต่จะใช้คัมภีร์คำสอนของมาเลย์เอง แต่ในปัตตานีก็ยังมีโรงเรียนจีนที่มีการสอนภาษาจีน และใช้ตำรับตำราภาษาจีนในการสอน ...ถ้าหากคนจีนได้รับอนุญาตให้มีสำนึกเชิงเอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมของตัวเองได้ ทำไมเราถึงทำไม่ได้?

ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องการก็คือ เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้นำเอามาตรา 282 จนถึง 290 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประจำปี
พ.ศ.2540 มาบังคับใช้อย่างแท้จริงและอย่างมีประสิทธิภาพ มาตราดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งฝ่ายบริหารในท้องถิ่นได้ และให้มีอำนาจในการควบคุมตัวเองโดยจำกัด นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ มาตรา 282-290 เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลท้องถิ่น การจัดสรรอำนาจและอำนาจบังคับบัญชาให้กับเขตปกครองท้องถิ่น, การจัดการเลือกตั้งในท้องถิ่น ฯลฯ วัตถุประสงค์ของมาตราเหล่านี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในรูปแบบบางอย่างของผู้แทนการเมืองท้องถิ่น

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง