ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
170648
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 592 หัวเรื่อง
บทสัมภาษณ์นอม ชอมสกี - Jan 05
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นักแปลอิสระ
บทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 21,878 สูงสุด 32,795 สำรวจเมื่อเดือน พ.ค. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี (มกราคม 2005)
หน้าที่ของปัญญาชนคือการวิจารณ์การเมือง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง

จาก :Noam Chomsky interviewed by David McNeill
The Independent, January 24, 2005


หมายเหตุ : บทความนี้เดิมอยู่ที่กระดานข่าวขนาดยาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชื่อหัวข้อ
"สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี (มกราคม 2005)"

นำมาเผยแพร่บนเว็ปเพจนี้ เพื่อนักศึกษาและสมาชิกผู้สนใจทุกท่านที่ไม่นิยมอ่านกระดานข่าว
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)





สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี (มกราคม 2005)
ข้อความ : เมื่อดูจากคำยกย่องที่สรรเสริญเขาจนเลิศลอย "นักคิดที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20" (เดอะ นิวยอร์กเกอร์) "กล่าวได้ว่าเป็นปัญญาชนที่สำคัญที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่" (นิวยอร์กไทมส์) ช่างคาดเดาได้ยากเหลือเกินว่า เราจะได้พบกับอะไรเมื่อนอม ชอมสกีเดินเข้ามาในห้อง อาจจะเป็นรัศมีขาวบริสุทธิ์ หรือมาดนักวิชาการขาใหญ่มากบารมี หรือกลิ่นไอกำมะถันของมารร้าย เพราะนอกจากคำยกย่อง เขายังเคยถูกบริภาษว่าเป็นคนที่ "ดูหมิ่นความจริงอย่างลึกซึ้ง" (หนังสือ The Anti-Chomsky Reader) และมีใจให้พวกฟาสซิสต์อิสลาม (คริสโตเฟอร์ ฮิทเช่นส์)

ดังนั้น จึงน่าประหลาดใจไม่น้อย เมื่อชายหลังค่อมเล็กน้อย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส บุคลิกเรียบร้อยขี้อาย เดินเข้ามาในห้องทำงานที่สถาบัน MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์) ในเมืองบอสตัน รินกาแฟให้ตัวเองถ้วยหนึ่งและเอ่ยขอโทษที่ทำให้ผมต้องนั่งรอ

ตรงตามเสียงร่ำลือที่เคยได้ยินมา ศาสตราจารย์ชอมสกีเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัว พูดเสียงเบาและให้เวลาเต็มที่แก่คนทุกคน เขาอดทนตอบอีเมล์เป็นพัน ๆ ฉบับที่ส่งมาถึงทุกสัปดาห์ อันเป็นงานหนักที่กินเวลาไปถึงวันละ 7 ชั่วโมง โดยลงชื่อในจดหมายทุกฉบับอย่างเรียบง่ายว่า "นอม" "เขาไม่เคยแบ่งแยกว่าใครเล็กใครใหญ่" เบฟ สโตล ผู้ช่วยที่ทำงานกับชอมสกีมานานบอก "เขาเป็นอย่างที่คนที่รักเขาบอกว่าเขาเป็น คือเป็นคนที่ใส่ใจในคนอื่น ๆ อย่างลึกซึ้ง"

ในบรรดาถ้อยคำทั้งหมดที่มีคนพูดถึงชอมสกี สมญานามที่โบโนแห่งวงยูทูขนานนามแก่เขาว่า "ขบถโดยไม่เคยหยุดพัก" ("rebel without a pause") น่าจะเป็นฉายาที่เหมาะที่สุด ในวัย 76 ปี และทั้งที่เพิ่งต่อสู้กับโรคมะเร็งมาหมาด ๆ แต่ดูเหมือนชอมสกียิ่งทำงานหนักกว่าเดิม จากที่เดิมก็มีผลงานมากมายอยู่แล้ว หิ้งหนังสือทั่วโลกคำรามด้วยงานเขียนทางการเมืองของเขา เสียงของเขาถ่ายทอดให้ได้ยินจากการสัมภาษณ์สดทางวิทยุทุกสัปดาห์ นอกจากอีเมล์และการเขียนบล็อกจำนวนมากแล้ว เขายังแสดงปาฐกถาอีกหลายร้อยครั้งในหลายสิบเมืองทุก ๆ ปี

"มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11" เขากล่าว "เหตุการณ์นั้นมีผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาอย่างซับซ้อน ซึ่งผมคิดว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกไม่ค่อยเข้าใจดีนัก ภาพที่ออกมาก็คือ ดูเหมือนชาวอเมริกันทุกคนกลายเป็นพวกคลั่งชาตินิยมที่เอาแต่โบกธงรบ ภาพนั้นมันไร้สาระ ความจริงก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้เปิดหูเปิดตาคนเป็นจำนวนมากและทำให้ชาวอเมริกันมากมายต้องหยุดคิดว่า 'ฉันควรค้นคว้าดูว่าเรามีบทบาทอย่างไรและทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น' "

ทัศนะของชอมสกีที่มีต่อบทบาทของอเมริกาเป็นที่ทราบกันดีทั่วโลก ตลอดเวลาถึงสี่สิบปีที่เขาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยคอยรื้อทำลายวาทกรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาตบตาชาวโลก นับตั้งแต่สงครามเวียดนาม ซึ่งเขาตีแผ่ให้เห็นว่า เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ใช่การเอาชนะสงครามและยึดครองเวียดนาม เวียดนามนั้นไม่มีความหมายทางเศรษฐกิจอะไรเลยสำหรับสหรัฐฯ

เป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ คือการทำลายเวียดนามลงให้ราบคาบ ไม่ให้ประเทศนี้มีโอกาสฟื้นตัวได้อีกหรือฟื้นตัวได้ยาก เพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อบอกแก่ประเทศเล็ก ๆ อื่น ๆ ให้รู้ว่า หากประเทศไหนคิดจะสร้างแนวทางการพัฒนาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางชาตินิยมอิสระหรือคอมมิวนิสต์หรืออะไรก็ตาม หากประเทศไหนคิดจะแตกแถวออกจากอิทธิพลของสหรัฐฯ ไม่ว่าประเทศนั้นจะเล็กจ้อยร่อยและไร้ความสำคัญขนาดไหน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะทุ่มเทงบประมาณและชีวิตพลเมืองของตนเองเพื่อขยี้ประเทศนั้นให้ย่อยยับเป็นผุยผง เพราะการแข็งข้อของประเทศเล็ก ๆ เป็นเสมือนเชื้อไวรัสที่อาจติดลามไปสู่ประเทศอื่น และหากการพัฒนาของประเทศนั้นเกิดประสบความสำเร็จขึ้นมา มันอาจกลายเป็น "แอปเปิลเน่า" ให้ประเทศอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

เมื่อเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมตึกแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เขาออกมาเตือนสติรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า เหตุน่าสลดนี้มีรากเหง้าอยู่ที่ "ความโกรธแค้นและสิ้นหวัง" ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เอง การหลับหูหลับตาใช้ความรุนแรงตอบโต้ รังแต่จะกระตุ้นให้การก่อการร้ายขยายวงออกไปมากขึ้น รวมทั้งคำกล่าวหาอันลือลั่นของเขาที่บอกว่า ประธานาธิบดี อเมริกันทุกคนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สมควรถูกตัดสินประหารชีวิตภายใต้กฎหมายอาชญากรสงคราม

ดังที่อรุณธาตี รอย เคยกล่าวถึงชอมสกีไว้ว่า เขามี "สัญชาตญาณแบบนักอนาธิปไตยที่ไม่เคยไว้วางใจอำนาจ" เขาเปรียบเสมือนกรดในกระเพาะของสัตว์ป่าสหรัฐฯ ที่คอยบ่อนทำลายอาการวางก้ามของตัวมันเอง

ในกรณีของอิรักนั้น ชอมสกีวิจารณ์มานานแล้วว่า สหรัฐฯ สร้างภาพของซัดดัม ฮุสเซนและอิรักให้น่ากลัวเกินจริง เพื่อสร้างความกลัวให้เกิดแก่สังคมอเมริกัน (เขาเคยกล่าวว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ถูกกระตุ้นด้วยความกลัวตลอดเวลา) ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงนั้น อิรัก "ถูกทำลายไปตั้งนานแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุดในภูมิภาคนี้ ไม่อย่างนั้น สหรัฐฯ ก็ไม่กล้าไปบุกหรอก นั่นคือเหตุผลที่ไม่มีประเทศไหนในโลกกลัวอิรักเลย นอกจากประชาชนในสหรัฐอเมริกา

ประชาชนในประเทศที่เกลียดชังซัดดัม ฮุสเซน เช่น อิหร่านและคูเวต ก็ไม่เคยกลัวเขา เพราะรู้ว่าอิรักอ่อนแอจนแทบหลุดเป็นชิ้น ๆ และคงอยู่ได้เหมือนเอาสก๊อตช์เทปแปะเอาไว้ การคว่ำบาตรอิรักฆ่าประชาชนไปหลายแสนคน และบีบให้ประชาชนต้องจำใจพึ่งพิงซัดดัมเพื่อความอยู่รอด ไม่อย่างนั้น ชาวอิรักคงโค่นล้มซัดดัมลงจากอำนาจตั้งนานแล้ว..."

"แต่ดังที่อดีตผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลืออิรักของสหประชาชาติ เดนิส ฮัลลิเดย์ และฮันส์ ฟอน ชโปเนค พยายามชี้ให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง การคว่ำบาตรที่ผ่านมาต่างหากที่ทำให้ชาวอิรักต้องพึ่งพิงซัดดัม การคว่ำบาตรต่างหากที่ทำให้ซัดดัมเข้มแข็ง ส่วนชาวอิรักต้องพินาศ ประเทศนี้ไม่มีกำลังทหารแล้ว ผมหมายความว่า แค่ผลักเบา ๆ ประเทศนี้ก็ล้มทั้งยืน"

ตอนแรกชอมสกีเชื่อว่า การรุกรานอิรัก "น่าจะเป็นการยึดครองทางทหารที่ง่ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์" เขาบอกว่า "ผมนึกว่าสงครามน่าจะจบลงในสองวันและการยึดครองน่าจะสำเร็จลุล่วงในทันที" แต่แล้วเขาต้องประหลาดใจกับผลของการรุกรานที่ออกมา สงครามอิรักกำลังกลายเป็นหนามยอกอกสหรัฐฯ อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้ง ๆ ที่ "ฝ่ายต่อต้านสหรัฐฯ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก อาจจะมีบ้างเล็กน้อย แต่ก็แทบไม่มีความสำคัญอะไรเลย แต่ผลที่ออกมาก็คือ การยึดครองอิรักดูเหมือนยากลำบากยิ่งกว่าเยอรมันยึดครองยุโรปในสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพนาซียังไม่เจอปัญหาขนาดนี้ในยุโรป"

"สหรัฐฯ ทำอีท่าไหนก็ไม่รู้ แต่ดันทำให้มันกลายเป็นความหายนะอย่างเหลือเชื่อไปจนได้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะวิธีการที่กองทัพปฏิบัติต่อประชาชนชาวอิรัก พวกเขาปฏิบัติต่อประชาชนในแบบที่รังแต่จะก่อกวนให้เกิดการต่อต้าน ความเกลียดชังและความกลัว"

ชอมสกีเล่าว่า "ราวหนึ่งปีก่อน ผมบังเอิญเจอเพื่อนคนหนึ่งที่ผมบอกไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่เขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กรบรรเทาทุกข์ที่ใหญ่มากองค์กรหนึ่ง เขามีประสบการณ์มาทั่วโลกและเคยทำงานในสถานที่ที่เลวร้ายมาก สิ่งที่เขาบรรยายเกี่ยวกับกรณีอิรักก็คือ เขาไม่เคยเห็นอะไรที่ไหนในโลกที่รวมไว้หมดทั้งความยะโสโอหัง ความงี่เง่าและความไร้ประสิทธิภาพ (เหมือนอย่างกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก)"

"ตอนแรก สหรัฐฯ ตั้งใจจะบริหารอิรักเหมือนอาณานิคมสมัยก่อน สหรัฐฯ พยายามเปิดระบบเศรษฐกิจของอิรักทั้งหมดให้ต่างชาติเข้าไปเทคโอเวอร์ ไม่พยายามแม้แต่จะเสแสร้งว่ามีจุดประสงค์ทางการเมืองใด ๆ แต่แล้วสหรัฐฯ กลับถูกต้อนจนมุมด้วยการต่อต้านของชาวอิรัก ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงระเบิดพลีชีพ แต่หมายถึงประชาชนภายใต้การนำของซิสตานี (อยาตุลเลาะห์ อาลี อัล-ซิสตานี ผู้นำทางศาสนานิกายชีอะห์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอิรัก) ซึ่งดื้อแพ่งไม่ยอมรับคำบัญชาใด ๆ จากรัฐบาลยึดครอง สหรัฐฯ ถูกต้อนให้ต้องถอยไปตั้งรับทีละก้าว ๆ และในที่สุดก็ต้องจำยอมให้จัดการเลือกตั้งและไม่กล้าใช้มาตรการแบบสุดขั้ว"

ต่อการเลือกตั้งในอิรักนั้น การพูดถึงอำนาจอธิปไตย เอกราชและระบอบประชาธิปไตยในอิรักนั้น ชอมสกีบอกว่ามันเป็นแค่ "คำพูดขำขันที่น่าทุเรศ" เขายืนยันว่า

"ผมมองไม่เห็นความเป็นไปได้เลยที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา จะยอมให้อิรักมีอำนาจอธิปไตยเป็นเอกเทศของตนเอง แค่คิดยังแทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ คุณลองคิดดูสิว่า ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ อิรักจะดำเนินนโยบายแบบไหน กระนั้นก็ตาม อังกฤษและสหรัฐฯ ยังล้มเหลวอย่างไม่น่าเชื่อ มันไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายดั้งเดิมของการทำสงคราม นั่นคือ การขัดขวางไม่ให้ชาวอิรักปกครองอิรัก ถ้าหากต้องการให้ชาวอิรักปกครองอิรักจริง ๆ สหรัฐฯ คงไม่สนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน ในสมัยที่เขาบทขยี้กลุ่มกบฏชีอะห์เมื่อปี ค.ศ. 1991 และคงไม่ดำเนินการคว่ำบาตรที่ทำให้ซัดดัมไม่กระเด็นตกเก้าอี้เหมือนทรราชย์คนอื่น ๆ แต่ดูเหมือนเป้าหมายนี้กลับไม่บรรลุผล มันเหลือเชื่อจริง ๆ"

การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งในอิรัก ชอมสกีทำนายผลการเลือกตั้งไว้ว่า ชีอะห์จะเป็นฝ่ายได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมายืนยันการวิเคราะห์ของเขา (ชอมสกีคงไม่ชอบคำว่า ทำนาย-ผู้แปล) ชอมสกีเห็นว่า สหรัฐฯ และอังกฤษคงไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งแบบนี้ แต่มันไม่มีทางเลือกอื่น "รัฐบาลอิรักจะมีเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชีอะห์ นี่อาจเป็นก้าวแรกที่อิรักจะพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอิหร่าน ไม่ใช่ว่าชาวอิรักนิยมชมชอบ Khamenai (ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน) อิรักต้องการเป็นอิสระ แต่มันเป็นความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แม้แต่ตอนที่ซัดดัมยังครองอำนาจ เขาก็เริ่มรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอิหร่านบ้างแล้ว"

"มันอาจปลุกปั่นให้เกิดการปกครองตนเองในระดับหนึ่งขึ้นในพื้นที่ที่ชาวชีอะห์เป็นประชากรส่วนมากของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบังเอิญเป็นพื้นที่ที่มีน้ำมันมากที่สุดด้วย คุณสามารถวาดภาพต่อไปได้ว่า ในอนาคตอันไม่ไกลนัก มันเป็นไปได้ที่จะมีพื้นที่ที่ชาวชีอะห์ครองความเป็นใหญ่ ซึ่งครอบคลุมทั้งอิหร่าน อิรัก และพื้นที่ผลิตน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย เท่ากับชาวชีอะห์ผูกขาดแหล่งน้ำมันหลักของโลก สหรัฐฯ จะยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้หรือ? ไม่มีทาง

ยิ่งกว่านั้น หากอิรักเป็นอิสระ มันย่อมพยายามฟื้นฟูฐานะของการเป็นผู้นำในโลกอาหรับ นั่นหมายถึงอิรักจะพยายามสะสมอาวุธและตั้งป้อมประจันหน้ากับศัตรูใกล้ตัว ซึ่งก็คืออิสราเอล อิรักอาจหาทางพัฒนาอาวุธทำลายล้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านอิสราเอล ดังนั้น จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ กับอังกฤษจะยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น"

ชอมสกีเชื่อว่า การเปรียบเทียบอิรักกับเวียดนามเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะเวียดนามไม่ใช่จุดชี้เป็นชี้ตายในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ "ทรัพยากรในเวียดนามไม่มีความสำคัญสักเท่าไร ส่วนอิรักนั้นแตกต่างออกไป มันเป็นมุมสุดท้ายในโลกที่มีแหล่งน้ำมันดิบมหาศาล อาจใหญ่ที่สุดหรือเกือบใหญ่ที่สุดในโลก กำไรจากตรงนั้นต้องไหลเข้ากระเป๋าให้ถูกใบ นั่นคือ บรรษัทด้านพลังงานของสหรัฐฯ รองลงไปก็คืออังกฤษ และการควบคุมแหล่งพลังงานนั้นไว้ได้ จะทำให้สหรัฐฯ อยู่ในฐานะมหาอำนาจที่มีอิทธิพลครอบงำทั้งโลก"

หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยคือการที่ชอมสกีแตกคอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายบางส่วน โดยเฉพาะคอลัมนิสต์ชื่อดังอย่าง คริสโตเฟอร์ ฮิทเช่นส์ ซึ่งกล่าวหาชอมสกีว่า "แก้ตัวให้พวกฟาสซิสต์คลั่งศาสนา" และสร้างภาพให้ผู้ก่อการร้าย 9/11 และลัทธิจักรวรรดินิยมของสหรัฐอเมริกาจน "ไม่มีใครเลวกว่าใคร" ฮิทเช่นส์วิจารณ์ว่า "ความเห็นใจที่ชอมสกีมีให้แก่หมาจนตรอก กลับกลายเป็นการให้ท้ายแก่หมาบ้า"

ชอมสกีโต้แย้งว่า "ผมไม่สนใจเสียงโวยวายด่าว่าของคนเหล่านั้นหรอก มันหมายความว่าอะไรที่ว่าเปรียบเทียบ 9/11 กับอาชญากรรมของสหรัฐอเมริกา? คุณเปรียบเทียบ 9/11 กับสิ่งที่เรียกว่า 9/11 อีกเหตุการณ์หนึ่งในอเมริกาใต้ไม่ได้ด้วยซ้ำ ในวันที่ 11 กันยายน 1973 ในชิลี ประธานาธิบดี (อัลเยนเด) ถูกฆ่าตาย ระบอบประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในละตินอเมริกาถูกทำลายสิ้นซาก

ตัวเลขที่เป็นทางการของประชาชนที่ถูกสังหารคือ 3,000 คน ตัวเลขจริง ๆ อาจมากกว่านั้นถึงสองเท่า ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกา มันเทียบเท่ากับคนถึง 100,000 คน มันก่อตั้งระบอบเผด็จการที่โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด เป็นไวรัสที่แพร่ระบาดไปทั่วทั้งภูมิภาคละตินอเมริกา และก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ของภัยสยองโดยน้ำมือรัฐ" (การรัฐประหารในชิลีและประเทศอื่น ๆ ในละตินอเมริกา ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและซีไอเอ)

"นั่นเอามาเปรียบเทียบกับ 11 กันยายน 2001 ได้อย่างไร? ถ้านับเป็นตัวเลขและผลพวงทางสังคมที่ตามมา มันเลวร้ายยิ่งกว่าหลายเท่า แต่มันไม่เข้าท่าเลยที่เอามาเปรียบเทียบกัน มันต่างก็เป็นความโหดร้ายรุนแรงทั้งนั้น และความโหดร้ายที่เราต้องใส่ใจเป็นอันดับแรก คือความโหดร้ายที่เราสามารถยับยั้งได้"

ชอมสกีถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วว่า เขาจับผิดแต่สหรัฐอเมริกา โดยละเลยความผิดของประเทศอื่น ๆ เขาตอบโต้และยืนยันเสมอมาว่า หน้าที่อันดับแรกของการเป็นปัญญาชนอเมริกัน คือการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศของตัวเอง เพราะยังมีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปเที่ยววิพากษ์วิจารณ์ประเทศอื่น นั่นเป็นหน้าที่ของปัญญาชนในประเทศนั้น ๆ

"เมื่ออังกฤษกับสหรัฐฯ บุกอิรัก มีการคาดการณ์กันแล้วว่า มันจะกระตุ้นภัยคุกคามของการก่อการร้าย ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น นี่หมายความว่า อังกฤษกับสหรัฐฯ สนับสนุนให้เกิดการก่อการร้ายแบบ 9/11 ที่อาจโจมตีสหรัฐฯ อีก ไม่ช้าก็เร็ว การก่อการร้ายในแบบญิฮาดกับการมีอาวุธทำลายล้างจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกันจนได้ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคงเลวร้ายสุดคาดคิด ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากให้มีการก่อการร้ายจริง ๆ เราก็ต้องไม่ไปกระตุ้นให้มันเกิดขึ้น"

ในการจัดการกับการก่อการร้าย ชอมสกีเชื่อว่า ควรใช้วิธีเดียวกับที่อังกฤษใช้เป็นผลสำเร็จระดับหนึ่งในการจัดการกับขบวนการไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ "การหยุดยั้งการก่อการร้ายไม่ได้ยากเย็นจนทำไม่ได้...ทันทีที่อังกฤษให้หน่วยข่าวกรองหันมาสนใจกับความคับแค้นของประชาชน แทนที่จะตอบโต้ด้วยความรุนแรงกว่าเดิม มันก็เกิดความก้าวหน้าในการคลี่คลายปัญหาได้จริง ๆ ทุกวันนี้ ไอร์แลนด์เหนืออาจไม่ถึงกับเป็นสวรรค์ แต่เมืองเบลฟาสต์ก็ไม่ได้เป็นอย่างเมื่อ 10 ปีก่อน..."

วิธีการที่อังกฤษจัดการกับการก่อการร้ายอย่างได้ผลคือ ถือว่า "การก่อการร้ายคือคดีอาชญากรรม ดังนั้น คุณก็ตามจับตัวคนผิด ใช้กำลังบ้างเท่าที่จำเป็น แล้วนำตัวคนผิดมาดำเนินคดีในศาลอย่างยุติธรรม...ถ้าเราต้องการลดภัยคุกคามลงจริง ๆ ก็ต้องใช้มาตรการอย่างที่อังกฤษทำ คือให้ความสนใจต่อความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้รับ หนังสือของผู้เชี่ยวชาญทุกเล่มที่ผมอ่านและหน่วยข่าวกรองทุกหน่วยที่ผมรู้จัก ก็พูดอย่างนี้เหมือนกันหมด"

"การใช้ความรุนแรงตอบโต้ทุกชนิดคือของขวัญที่มอบให้แก่ผู้ก่อการร้าย การตอบโต้ด้วยความรุนแรงโดยพลเรือนโดนลูกหลงไปด้วย ก็เท่ากับคุณมอบของขวัญให้โอซามา บินลาดิน คุณกำลังให้เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่เขากำลังต้องการอยู่พอดี เขาจะได้พูดว่า 'เราต้องปกป้องอิสลามจากพวกตะวันตกที่พยายามทำลายเรา เรากำลังต่อสู้ในสงครามป้องกันตัว' "

ต่อคำถามเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่สะพัดอยู่ในอินเตอร์เน็ตนับตั้งแต่เกิดวินาศกรรม 9/11 ซึ่งกล่าวหาว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีส่วนพัวพันที่ทำให้เกิดเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ ชอมสกีบอกว่า เราไม่ควรไปเสียเวลากับทฤษฎีพวกนี้

"ผมเคยอ่านเจอมาบ้างและถูกถามอยู่บ่อย ๆ มีสมมติฐานแบบอ่อนที่อาจเป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงในความคิดของผม กับสมมติฐานแบบรุนแรงที่เกือบจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ สมมติฐานแบบอ่อนก็คือ รัฐบาลสหรัฐฯ รู้ว่าจะเกิดเรื่องและไม่พยายามหาทางหยุดยั้ง สมมติฐานแบบรุนแรงคือพวกเขามีส่วนพัวพันโดยตรงเลยทีเดียว ในทัศนะของผม หลักฐานที่พยายามหามาสนับสนุนทฤษฎีพวกนี้เกิดมาจากความไม่เข้าใจในเบื้องต้นว่า หลักฐานคืออะไร ไม่เข้าใจว่าอะไรคือคุณสมบัติของการเป็นหลักฐานและมองประเด็นไม่ออก แม้แต่ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีการควบคุมเข้มงวด เราก็จะพบปรากฏการณ์ที่อธิบายไม่ได้เต็มไปหมด ความบังเอิญแปลก ๆ ความขัดแย้งโดยเปลือกนอก ฯลฯ

ถ้าลองอ่านงานเขียนในวารสารทางวิทยาศาสตร์ คุณจะพบตัวอย่างแบบนี้มากมาย ในโลกความเป็นจริง ความไร้ระเบียบยิ่งท่วมท้น และปรากฏการณ์แบบนี้อาจมีมากทะลุฟ้า นอกจากนั้น คนในรัฐบาลต้องเป็นบ้าแน่ ๆ หากพยายามทำอะไรแบบนั้น เพราะมันต้องเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก มันต้องมีข่าวรั่วออกมาแน่ ๆ อย่างรวดเร็วด้วย แล้วพวกเขาคงถูกจับไปยิงเป้าและพรรครีพับลิกันคงดับสนิทไปชั่วกาลนาน มันคงเป็นแบบนี้ไม่ว่าแผนการจะสำเร็จหรือล้มเหลว และโอกาสที่จะทำสำเร็จมีริบหรี่มาก"

"อีกส่วนหนึ่งคือบอกว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้โศกนาฏกรรมครั้งนี้รับใช้จุดประสงค์ของตนเอง นี่เป็นความจริงแน่นอนและเห็นกันอยู่ชัด ๆ ผมพูดมาตั้งแต่ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่กี่ชั่วโมงว่า ระบบอำนาจนิยมทุกประเทศในโลกนี้จะทำแบบนั้นแน่ รวมทั้งวอชิงตัน ซึ่งพวกเขาก็ทำจริง ๆ --นั่นเป็นการคาดการณ์ที่ง่ายที่สุด จนแทบไม่มีความหมายเลย"

ภัควดี วีระภาสพงษ์ เรียบเรียงจาก

Noam Chomsky interviewed by David McNeill
The Independent, January 24, 2005

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

ชอมสกีถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วว่า เขาจับผิดแต่สหรัฐอเมริกา โดยละเลยความผิดของประเทศอื่น ๆ เขาตอบโต้และยืนยันเสมอมาว่า หน้าที่อันดับแรกของการเป็นปัญญาชนอเมริกัน คือการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศของตัวเอง เพราะยังมีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปเที่ยววิพากษ์วิจารณ์ประเทศอื่น นั่นเป็นหน้าที่ของปัญญาชนในประเทศนั้น ๆ

ในการจัดการกับการก่อการร้าย ชอมสกีเชื่อว่า ควรใช้วิธีเดียวกับที่อังกฤษใช้เป็นผลสำเร็จระดับหนึ่งในการจัดการกับขบวนการไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ "การหยุดยั้งการก่อการร้ายไม่ได้ยากเย็นจนทำไม่ได้...ทันทีที่อังกฤษให้หน่วยข่าวกรองหันมาสนใจกับความคับแค้นของประชาชน แทนที่จะตอบโต้ด้วยความรุนแรงกว่าเดิม มันก็เกิดความก้าวหน้าในการคลี่คลายปัญหาได้จริง ๆ ทุกวันนี้ ไอร์แลนด์เหนืออาจไม่ถึงกับเป็นสวรรค์ แต่เมืองเบลฟาสต์ก็ไม่ได้เป็นอย่างเมื่อ 10 ปีก่อน..." วิธีการที่อังกฤษจัดการกับการก่อการร้ายอย่างได้ผลคือ ถือว่า "การก่อการร้ายคือคดีอาชญากรรม ดังนั้น คุณก็ตามจับตัวคนผิด ใช้กำลังบ้างเท่าที่จำเป็น แล้วนำตัวคนผิดมาดำเนินคดีในศาลอย่างยุติธรรม...

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความที่ผ่านมา หากนักศึกษาและสมาชิกสนใจให้คลิกไปอ่านได้จากที่นี่...