บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 594 หัวเรื่อง
มองภาพยนตร์เข้าใจอุดมศึกษา
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
สาขาปรัชญาฯ คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The
Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มองอุดมศึกษาอินเดียผ่านภาพยนตร์
อโศกมหาราช
กับ วิวาห์มรสุม : ภาพสะท้อนอุดมศึกษาอินเดีย
ดร.
ประมวลเพ็งจันทร์ : ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
สมปอง เพ็งจันทร์ : ภาควิชาศิลปไทย
คณะมนุษยศาสตร์ และ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี
เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน
๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)
ขณะที่ผู้เขียนเดินทางไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2544 และต้นปี พ.ศ. 2545 นั้น หนังอินเดียเรื่อง "อโศกมหาราช" (Asoka) กำลังลงโรงฉายอยู่ทั่วอินเดีย มีประชาชนชาวอินเดียมาเข้าแถวเพื่อซื้อตั๋วดูหนังอโศกมหาราชกันอย่างมากมาย จนแถวหน้าห้องขายตั๋วยาวเหยียดในทุก ๆ เมือง
พร้อม ๆ กับที่อโศกมหาราชกำลังโด่งดังไปทั่วอินเดีย หนังอีกเรื่องหนึ่งคือ วิวาห์มรสุม (Monsoon Wedding) ก็กำลังฉายอยู่ในโรงหนังทั่วอินเดียเช่นกัน แม้แถวของชาวอินเดียที่เข้าคิวรอซื้อตั๋วดูหนังเรื่องวิวาห์มรสุม อาจจะไม่ยาวเท่ากับอโศกมหาราช แต่ก็นับว่ายาวพอดู จนดูเหมือนกับว่าหนังอินเดียทั้ง 2 เรื่องนี้กำลังประชันกันในสังคมอินเดีย
ผู้เขียนได้ดูหนังทั้ง 2 เรื่องนี้ด้วยแรงจูงใจที่แตกต่างกัน โดยได้เข้าไปดูหนังอโศกมหาราชด้วยชื่อของหนังที่อยากรู้ว่า เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่แห่งชาติอินเดีย จะถูกนำเสนอออกมาให้คนอินเดียปัจจุบันได้รับรู้อย่างไร ขณะที่เข้าไปดูหนังเรื่องวิวาห์มรสุมด้วยแรงจูงใจจากชื่อของผู้กำกับและสร้างหนังเรื่องนี้ คือ มิร่า แนร์ ที่เคยสร้างผลงานให้คนไทยได้ประจักษ์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สลัมบอมเบย์ หรือ กามสูตร
และแล้วการดูหนัง 2 เรื่องนี้ก็ได้กลายมาเป็นโจทย์และคำตอบของงานที่ผู้เขียนกำลังทำอยู่ คือ "ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย"
โจทย์ของอุดมศึกษาและกระบวนการแสวงหาคำตอบของนักอุดมศึกษาอินเดีย คือประเด็นที่ผู้เขียนพยายามจะค้นหาในการเดินทางไปอินเดียทั้ง 2 ครั้ง
"อโศกมหาราช" คือหนังอินเดียที่เชื่อว่าเป็นภาพยนตร์ที่น่าสนใจแห่งยุคปัจจุบัน ด้วยทุนสร้างที่มีจำนวนถึงหนึ่งพันกว่าล้านรูปี ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายทำภาพยนตร์สมัยใหม่ ด้วยความรู้ ความสามารถของผู้รับผิดชอบฝ่ายต่าง ๆ ที่สำคัญคือ ด้วยชื่อเสียงดารานำแสดงอันเป็นดาวรุ่งในวงการภาพยนตร์อินเดียปัจจุบัน
อโศกมหาราชปรากฏออกมาสู่สายตาผู้ชมด้วยความยิ่งใหญ่อลังการ ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ ทั้งจากภายในอินเดียและต่างชาติ อโศกมหาราช คือ ตำนานของชาติอินเดีย และเป็นมรดกทางจินตนาการของชาติอื่น ๆ อีกหลายชาติในเอเชีย
สำหรับชาวอินเดีย อโศกมหาราชคือตำนานแห่งความยิ่งใหญ่ของอินเดีย ปัจจุบันที่อินเดียประสบความตกต่ำ ชาวอินเดียก็หันไปหยิบเอาสัญลักษณ์และความเป็นอโศกมหาราชในอดีตมาเป็นเครื่องยืนยันความหมายแห่งอินเดีย ตราสัญลักษณ์ของรัฐบาลอินเดียจึงถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชเคยใช้คือ รูปหัวสิงห์ ตราแห่งชาติอินเดีย (บนธงชาติ) ก็กลับไปใช้ตราแห่งชาติอินเดียในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช คือ ตราธรรมจักร
สำหรับหลาย ๆ ชาติในเอเชีย อโศกมหาราช คือจินตนาการแห่งธรรมิกราชา เป็นความฝันถึงนักปกครองผู้ประกอบด้วยธรรม นักปกครองผู้จะสถาปนาสันติสุขขึ้นบนแผ่นดิน ให้อาณาประชาราษฎร์ได้สัมผัสเพื่อจะยังชีพไปให้บรรลุเป้าหมายแห่งธรรม อโศกมหาราช จึงเป็นความยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่เฉพาะต่อชาวอินเดียเท่านั้น แต่ต่อชาวเอเชียหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย
เมื่อผู้เขียนนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ที่มืดสลัว ภาพบนจอภาพยนตร์ที่นำพาจินตนาการของผู้เขียนไปสัมผัสกับอโศกมหาราช มุม(กล้อง)มอง ที่ส่องไปให้เห็นความเป็นอโศก จังหวะลีลาแห่งเสียงและภาษาแห่งอารมณ์ ทำให้ได้สัมผัสกับความเป็นอโศก อโศกที่ทำให้ผู้ชมเช่นผู้เขียนน้ำตาซึม
ผู้ชมจำนวนมากออกมาจากโรงภาพยนตร์ด้วยความซาบซึ้งในชีวิตอโศก แต่สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกได้ขณะเดินออกจากโรงภาพยนตร์คือ .. นี่ไม่ใช่อโศกของชาวอินเดียในอดีต นี่เป็นเพียงอโศกของชาวอินเดียยุคใหม่ในปัจจุบัน
พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียในอดีต เป็นอโศกที่ไร้ตัวตนอันเป็นปัจเจก เป็นอโศกของความเป็นอินเดียที่มุ่งทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เป็นพระราชาเพราะเกิดมาเป็นกษัตริย์ ความเป็นอโศกมิใช่เป็นเรื่องของคนคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่เป็นอโศกที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความเป็นอินเดีย ตำนานแห่งอโศกมหาราชจึงเป็นตำนานแห่งอินเดีย ที่ไม่ใช่อัตชีวประวัติของใครคนใดคนหนึ่ง และเพราะอโศกมหาราชไม่ใช่เป็นเรื่องของคนเป็นคน ๆ จึงทำให้ความเป็นอโศกขยายออกนอกอินเดียไปเป็นอโศกของไทย ของลังกา ของพม่า และอีกหลาย ๆ ประเทศที่ต่างมุ่งมั่นสร้างอโศกมหาราช ผู้เป็นธรรมิกราชของสังคมในประเทศต่าง ๆ ขึ้น
แต่มาวันนี้ อโศกมหาราชถูกทำให้เป็นปัจเจกบุคคล บุคลที่ก้าวไปตามจังหวะลีลาแห่งเสียงเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากเครื่องดนตรีตะวันตกมาบรรเลงเป็นบทเพลงแห่งอินเดียยุคใหม่ อโศกที่ถูกทำให้ปรากฏต่อสายตาผู้ชมด้วยแสงเงาแบบฮอลลีวูด ภาพของอโศกเป็นภาพของปัจเจกบุคคลที่ความกล้าหาญ ความองอาจ ความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งความล้มเหลว มีความหมายกลายเป็นความกล้าหาญของปัจเจกบุคคล ความสำเร็จของปัจเจกบุคคล และที่สำคัญคือ การทำให้ความรักกลายเป็นความรักของปัจเจกบุคคล
ภาพยนตร์เรื่องอโศกมหาราชทำให้น้ำตาผู้ชมซึมออก เพราะความเศร้าจากโศกนาฏกรรมของปัจเจกบุคคล อโศกที่ผู้เขียนได้สัมผัสผ่านภาพยนตร์เรื่องอโศกมหาราช แตกต่างอย่างมากจากอโศกที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาจากระบบการศึกษาเรียนรู้ในอินเดียที่ผ่านมา นี่เป็นอโศกของชาวอินเดียยุคใหม่ ไม่ใช่อโศกที่ชาวอินเดียเคยบอกเล่าผู้เขียนให้ได้รับรู้ก่อนหน้านี้ ไม่ใช่อโศกที่ฝากธรรมจักรไว้บนผืนธงชาติอินเดีย ไม่ใช่อโศกผู้ฝากสิงห์ไว้กับรัฐบาลอินเดียเลย
ส่วนเรื่องวิวาห์มรสุม เป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นค่านิยมของชาวอินเดีย ผ่านกระบวนการตระเตรียมงานแต่งงานลูกสาวของครอบครัวชนชั้นกลางอินเดียที่อยู่ในกรุงนิวเดลี ตัวละคอนทุกตัวถูกนำมาเสนอให้ผู้ชมได้รับรู้ ผ่านเหตุการณ์ของการตระเตรียมงานแต่งงานตามคตินิยมของสังคมอินเดีย งานแต่งงานคืองานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่ง เพราะเป็นงานของชุมชนวงศาคณาญาติ ทั้งฝ่ายเจ้าสาว (ผู้จัดงาน) และฝ่ายเจ้าบ่าว (ผู้มาร่วมงาน)
พิธีวิวาห์ เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว เพราะเป็นพิธีที่จะทำให้คุณค่าและความหมายของชีวิต (ปุรุษารถะ) ของคนที่เป็นคน ๆ หลอมรวมเป็นคุณค่าและความหมายของชุมชนและสังคม นับเริ่มต้นจากพิธีวิวาห์ เป็นงานของวงศาคณาญาติ ไม่ใช่งานของเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าว
มิร่า แนร์ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องวิวาห์มรสุม ได้นำเอาภาพงานวิวาห์ของครอบครัวชนชั้นกลางของอินเดียยุคใหม่มาเสนอต่อสายตาของผู้ชม ด้วยมุม(กล้อง)มอง ที่ทำให้ได้พบเห็นระบบคุณค่าที่แตกต่างกันระหว่างชาวอินเดียยุคใหม่และอินเดียเดิม
เจ้าสาว พ่อ แม่ พี่ น้อง ของเจ้าสาวเป็นตัวอย่างของชาวอินเดียชนชั้นกลาง ที่ความหมายและคุณค่าของชีวิตอยู่ที่ได้แสวงหาเงินมาแล้วใช้เงินไป เพื่อแสดงสถานะแห่งตัวตนผ่านการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ตามคตินิยมของสังคมบริโภค ภายในครอบครัวนี้ มีสาวใช้ที่เป็นเด็กสาวจากรัฐพิหาร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย ชาวพิหารกลายเป็นสัญลักษณ์ของความยากจน คนยากจนที่มาเป็นคนใช้อยู่ในบ้านของคนรวยในเมืองหลวง นี่คือภาพของชาวอินเดียที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการให้ผู้ชมมองเห็น
เนื่องจากงานแต่งงานเป็นงานใหญ่ และสำคัญต่อชีวิตและชุมชนเป็นอย่างมากในอดีต ภาระในการตระเตรียมงานต้องเป็นภาระของญาติฝ่ายเจ้าสาวที่ต้องมาช่วยกันจัดเตรียม แต่ในสังคมอินเดียปัจจุบัน การตระเตรียมสถานที่และสิ่งประกอบต่าง ๆ มีบริการจัดให้ลูกค้าเลือกซื้อได้ ตัวละคอนสำคัญอีกตัวหนึ่งของวิวาห์มรสุม คือชายหนุ่มชาวโอลด์เดลี ที่อาศัยอยู่ในย่านจามามัสยิด
ข้อมูลอันเป็นฉากหลังของละคอนตัวนี้ สำคัญมากต่อความหมายของภาพยนตร์เรื่องนี้ จามามัสยิดเป็นเขตชุมชนชาวมุสลิม เพราะเคยเป็นจุดศูนย์กลางแห่งอำนาจเมื่อยุคราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดีย ปัจจุบัน ย่านนี้เป็นย่านของคนระดับล่าง ชาวฮินดูที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ในย่านจามามัสยิด จะมีบุคลิกพิเศษคือเป็นคนอ่อนในแข็งนอก เพราะต้องรักษาความเป็นฮินดูในตนเองไว้ พร้อม ๆ กับต้องตอบโต้กับความเชื่อต่างลัทธิ ตัวละคอนตัวนี้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนชาวอินเดียที่เป็นฮินดู ซึ่งต้องซ่อนความเป็นอินเดียที่งดงามไว้ภายในบุคลิกภาพที่แข็งกร้าว และเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว
บรรยากาศของการเตรียมงานแต่งงาน เต็มไปด้วยความตื่นเต้น เมื่อบรรดาญาติ ๆ ที่ไปอยู่ต่างประเทศกลับมาสู่บรรยากาศแห่งความเป็นอินเดีย ที่แต่ละฝ่ายต่างแสดงออกมาให้ ปรากฏต่อกันและกัน
พิธีวิวาห์ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาด้วยเงินทุนจำนวนมาก ซึ่งต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายเพื่อรักษาภาพที่สวยงามของครอบครัว แต่เบื้องหลังภาพที่สวยงามนั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวดของแต่ละคน แต่ละฝ่าย พิธีวิวาห์ควรจะเป็นพิธีที่อบอวลไปด้วยความรักของทุกฝ่าย แต่ความเป็นจริงคือ เป็นพิธีการที่จะหลอกล่อเอาประโยชน์จากกันและกัน
แต่ในบรรยากาศแห่งความสับสนวุ่นวายของการเตรียมงานนั้น ความรัก ความเห็นใจซึ่งกันและกันกลับงอกงามขึ้นในใจของหนุ่มจามามัสยิด และสาวรัฐพิหาร แม้ทั้งคู่จะมาปรากฏอยู่ในเหตุการณ์แห่งความสับสนอลม่าน แต่จิตของทั้งคู่ต่างมองเห็นความงดงามของกันและกันอย่างเงียบ ๆ เริ่มจากการที่หญิงสาวนำน้ำดื่มจากตู้เย็นของเจ้านายมาให้ชายหนุ่มได้ดื่มดับกระหาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ นำพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับคุณค่าและความหมายแห่งการกระทำของแต่ละกิจกรรมที่มนุษย์แต่ละคนต่างกระทำต่อกันและกัน การแต่งงานของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะความมุ่งหวังความสุขความสำเร็จของชีวิตของคนแต่ละคน ถูกเทียบเคียงให้เห็นความต่างที่เกิดขึ้นในใจของหนุ่มสาวอีกคู่หนึ่ง หนุ่มจามามัสยิดเกิดความรักขึ้นเพราะสำนึกในความเป็นลูกผู้ชายที่มีแม่ แม่ที่ชีวิตของท่านผ่านไปด้วยความสำนึกในความเป็นแม่ ที่ต้องดูแลลูก เพื่อให้ลูกได้แต่งงานแล้วมีลูกต่อ
สาวพิหารที่มาเป็นสาวใช้มองเห็นงานแต่งงานของเจ้านายเป็นสัญญาณให้หวนระลึกถึงความหมายและคุณค่าแห่งชีวิต
ที่ต้องทำหน้าที่เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตใหม่ ไม่ใช่เพื่อตัวเธอเอง แต่เพื่อเธอจะได้เป็นแม่ที่จะได้มีโอกาสทำหน้าที่แม่ผู้เลี้ยงดูลูก
พิธีวิวาห์ของครอบครัวอินเดียที่อยู่ในเขตมรสุม แล้วมาจัดงานช่วงฤดูมรสุม
งบประมาณจำนวนมากที่ต้องจ่ายไป เพื่อเป็นค่าติดตั้งเต๊นท์ที่มีสีเป็นมงคล
และสามารถกันฝนในหน้าฤดูมรสุมได้ดีด้วย เมื่อพิธีวิวาห์เริ่มขึ้น ฝนหน้ามรสุมก็ตกลงมาอย่างหนัก
บ่าว-สาวคู่หนึ่งที่แต่งงานกันด้วยระบบคุณค่าแห่งประโยชน์ที่จะได้จากกันและกัน
มีทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งถูกเนรมิตรขึ้นด้วยอำนาจเงินจำนวนมหาศาล บ่าว-สาวคู่นี้ไม่เปียกฝน
เพราะเป็นไปภายใต้ร่มเงาของเต๊นท์ที่หามาด้วยเงิน
แต่ในขณะเดียวกันนั้น
หนุ่มจามามัสยิดผู้สร้างเต๊นท์อันงดงามก็ได้วิวาห์กับสาวพิหาร ท่ามกลางสายฝน
สายฝนที่ไม่ใช่อุปสรรคของชีวิต เพราะเป็นประเทศมรสุม ประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะวรุณเทพ
(เทพแห่งสายฝน) ได้มีเมตตาต่อมวลมนุษยชาติ ประทานความชุ่มเย็นและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่หมู่สัตว์ทั้งปวง
ผู้เขียนเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความชุ่มเย็นอย่างไม่รู้จะพรรณนาอย่างไร
ขอบคุณผู้ร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทุก ๆ คน ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานอันสวยงามเช่นนี้ออกมา
โดยเฉพาะมิร่า แนร์ ผู้กำกับที่ได้แสดงความเป็น "แนร์" ให้ปรากฏผ่านงานสร้างสรรค์ของเธอ
ความเป็นแนร์ ที่แปลความหมายว่า ผู้นำ (แนร์ = นายก ซึ่งแปลว่า ผู้นำ) และความเป็นแนร์
ที่แปลความถึง คนกล้าหรือผู้ประเสริฐ (แนร์ = นาค ที่แปลว่า มนุษย์ผู้มีความกล้าหาญเป็นสมบัติอันประเสริฐ)
เมื่อผู้เขียนเป็นนักศึกษาอยู่ในอินเดียและได้ศึกษาถึงบทบาทของโคตรสกุลแนร์ ที่ได้ต่อสู้กับนักล่าอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ ในอดีต โคตรแนร์ที่เป็นวรรณกษัตริย์ ได้ทำหน้าที่ปกครองป้องกันแว่นแคว้นของตนเองให้ปลอดพ้นจากภัยที่รุกราน มาถึง ณ วันนี้ คนจากโคตรสกุลแนร์ ก็ได้มาปกป้องคุ้มครองความเป็นอินเดีย ด้วยเครื่องมือแห่งการปกป้องคุ้มครองตนเอง คือ ภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่อง "วิวาห์มรสุม" เป็นเสมือนภาพแห่งความเป็นอินเดียในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังก้าวมาสู่ทางแยกที่จะต้องตัดสินเลือกว่า จะก้าวเดินไปในทิศทางใด ด้วยจังหวะก้าวอย่างไร
การที่ภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ "อโศกมหาราช" และ "วิวาห์มรสุม" ลงโรงฉายทั่วอินเดียพร้อม ๆ กันในช่วงเวลาเดียวกัน ช่างเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่างเป็นความบังเอิญเสียเหลือเกิน ที่ทำให้คนต่างวัฒนธรรมอย่างผู้เขียน ได้มีโอกาสเดินทางไปอินเดียในห้วงเวลาแห่งการประชันโรงกันระหว่างอโศกมหาราชและวิวาห์มรสุม เมื่อชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้แล้ว ทำให้ผู้เขียนมองเห็นภาพของอุดมศึกษาอินเดียในปัจจุบันได้ชัดขึ้น และเมื่อครุ่นคิดพิจารณาแล้วก็ไม่ลังเลที่จะกล่าวกับผู้อ่านทุกท่านว่า ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ คือภาพสะท้อนการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียในขณะปัจจุบันนี้
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้มีความเหมือนกันในหลาย ๆ ประการ เช่น สร้างโดยคนรุ่นใหม่ของอินเดีย โดยความร่วมมือกับชาวต่างประเทศ และเพื่อให้ผู้ชมทั้งชาวอินเดียและชาวต่างประเทศได้ชมภาพยนตร์ที่สร้างขึ้น แต่ในท่ามกลางความเหมือนกันนั้นก็มีความแตกต่างอยู่มากมายหลายประการ
ภาพยนตร์เรื่องอโศกมหาราช
ถูกสร้างขึ้นมาจากฐานคิดเรื่องธุรกิจภาพยนตร์ ที่มองภาพยนตร์เป็นสินค้าที่ต้องผลิตเพื่อการขายในตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์
"กำไร" คือเม็ดเงินเป็นเป้าหมายแห่งความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้
เม็ดเงิน 1 พันกว่าล้านรูปี เป็นต้นทุนที่ทุ่มลงไปเพื่อให้ได้เม็ดเงินกลับมามากกว่าเงินทุนที่เสียไป
เพราะฉะนั้น โจทย์ของผู้สร้างจึงถูกตั้งขึ้นมาว่าอะไรบ้างที่จะทำให้ผู้ชมตัดสินใจจ่ายสตางค์เพื่อเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้
และด้วยความมุ่งหวังเรื่องเงินอันเป็นกำไร กระบวนการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกกำหนดขึ้น
หลังจากมีการศึกษาวิจัยตลาดแล้ว
ด้วยเป้าหมายเพื่อกำไร คือ เงิน ความยิ่งใหญ่ของ "อโศกมหาราช"
จึงถูกสร้างขึ้น ดาราที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ เทคนิคการถ่ายทำที่ทันสมัย การตัดต่อ
ดนตรีประกอบที่เป็นแบบต่างชาติ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการผลิตเพื่อการตลาด
ที่สำคัญที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งตอบสนองรสนิยมของตลาดการค้า ที่ผู้คนในตลาดซึ่งแม้จะมีจำนวนมากมาย
แต่คนจำนวนมากในวัฒนธรรมตลาดนั้นดำรงอยู่เป็นคน ๆ
ความเป็นมนุษย์แต่ละคนถูกสร้างขึ้นด้วยเป้าหมายเชิงปัจเจก เหมือนมนุษย์ที่เดินกันขวักไขว่ในตลาด แม้จะมีจำนวนมาก แต่มนุษย์เหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่นั้นด้วยเป้าหมายที่เป็นส่วนตัว ความสัมพันธ์ของคนในตลาดก็เป็นความสัมพันธ์แบบแม่ค้า - ลูกค้า ที่มุ่งเอาประโยชน์จากกันและกัน หากลูกค้าจะมีความสัมพันธ์กันเอง ก็สัมพันธ์แบบผู้บริโภคที่มีอารมณ์ตรงกันในส่วนที่กลัวแม่ค้าจะเอาเปรียบ จึงรวมตัวกันปกป้องผลประโยชน์ของตน
ในวัฒนธรรมตลาดแบบนี้เอง
ที่มนุษย์แต่ละคนกลายเป็นปัจเจก ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความรัก ความชัง
ความรู้ ความไม่รู้ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นไปในความหมายของปัจเจก ดังนั้นการจะให้ผู้ชมในวัฒนธรรมตลาดนี้รับรู้อะไรต้องรับรู้แบบปัจเจก
อโศกมหาราช ได้เสนอมุมมองของปัจเจกอย่างสมบูรณ์แบบ เหตุการณ์ทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่องนี้
เป็นเพียงแค่ฉากแสดงเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจความเป็นอโศกแบบปัจเจก ความรัก ความชัง
ความกตัญญู ความแค้น ความสำเร็จ ความล้มเหลว ทั้งหมดทั้งสิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของบุคคลเป็นคน
ๆ เป็นส่วน ๆ ตำนานแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นเพียงฉากให้เรามองเห็นความเป็นอโศกในคนเพียงคนหนึ่ง
ซึ่งก็เหมือนผู้ชมเมื่อชมภาพยนตร์เรื่อง
"ไททานิค" ของฮอลลีวูด ตำนานและประวัติศาสตร์ของเรือไททานิคเป็นเพียงแค่ฉากเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งเท่านั้น
ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องไททานิคไม่ได้ร้องไห้เพราะเรือไทนานิคล่ม แต่ร้องให้เพราะชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งต้องพรากจากกัน
ความเป็นปัจเจกเช่นนี้ก็มีให้เห็นอย่างดาดดื่นในภาพยนตร์ไทย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง
"ตะลุมพุก" ความเป็นตะลุมพุกที่ถูกเสนอผ่านภาพยนตร์ ไม่มีความเจ็บปวดของชาวประมงที่อาศัยอยู่ที่แหลมตะลุมพุกแล้วประสบวาตภัยสูญหายไปหมดสิ้นทั้งชุมชน
ภาพของตะลุมพุกในความรู้สึกของคนไทยที่มีในความทรงจำกับเหตุการณ์วาตภัยในปี
พ.ศ. 2505 เป็นความรู้สึกเจ็บปวดกับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ชาวแหลมตะลุมพุก
แต่วันหนึ่ง เมื่อภาพของตะลุมพุกถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ไทย ตะลุมพุกมีความหมายเพียงแค่ฉากบอกเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งเท่านั้น
อโศกมหาราช ก็มีนัยความหมายเหมือนไททานิคและตะลุมพุก และนี่คือภาพยนตร์อินเดียที่ได้แปรเปลี่ยนไปจากอดีต อดีตของภาพยนตร์อินเดียที่คนไทยได้เคยชมธรณีกรรแสง (Mother India) ของเมห์บูบ (Mehboob) หรือภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของ สัตยา จิต เรย์ (Satya Jit Ray) ที่ทำให้มองเห็นภาพของความเป็นมนุษย์ ภาพยนตร์ในอดีตเหล่านั้นทำให้ผู้ชมมองเห็นความหมายและคุณค่าของมนุษย์ในสังคมและชุมชน
มนุษย์คนหนึ่งจะไม่มีคุณค่าและความหมายใดถ้าปราศจากชุมชน
ความเป็นแม่ในภาพยนตร์เรื่องธรณีกรรแสง ไม่ใช่แม่ของลูกคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นแม่ที่เหนือปัจเจก
ความเป็นลูกของแม่ก็ไม่ใช่ลูกของแม่คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นลูกของแม่ธรณี (ความเป็นอินเดีย)
ผู้ชมร้องให้หลั่งน้ำตากับภาพยนตร์เรื่องธรณีกรรแสง เป็นการร้องให้กับความเป็นแม่
ความเป็นแม่ที่ไม่ติดอยู่กับฉากใด ฉากหนึ่ง แต่เป็นแม่ที่มนุษย์ทุกคนพึงสัมผัสได้
ไม่ว่าเป็นใคร มาจากไหน และนี่แหละคือความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์อินเดีย
"อโศกมหาราช" แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเรื่องราวของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่
แต่เป็นความยิ่งใหญ่ในเชิงการตลาด ที่ทำให้ความเล็ก ความใหญ่ อยู่ที่ตัวเลขปริมาณ
ตัวเลขที่ทำให้มนุษย์ถูกนับเป็นคน ๆ แล้วความยิ่งใหญ่ถูกกำหนดขึ้นจากฐานของปริมาณอันเป็นตัวเลข
ดังคำโฆษณาที่ว่า ภาพยนตร์เรื่องอโศกมหาราช ทุ่มทุนสร้างเป็นจำนวนเงินถึง
1,000,000,000 รูปี
"วิวาห์มรสุม" แตกต่างไปจากอโศกมหาราช แม้จะมีชาวต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้สร้างชาวอินเดีย
แต่เข้ามาร่วมมือกันสร้างเพื่อเปิดเผยความเป็นอินเดียให้ชาวอินเดียได้สัมผัส
และให้ชาวโลกได้รับรู้ โจทย์ของวิวาห์มรสุมไม่ได้อยู่ที่กำไร คือ เม็ดเงิน
หากแต่อยู่ที่กำไรคือ อารมณ์อันงดงาม ที่ผู้สร้างทุ่มลงไปในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
แล้วงอกงามขึ้นในใจของผู้ชม
ความเป็นอินเดียที่งดงาม คือ เป้าหมายของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ความงดงามแห่งอินเดียสถิตอยู่ ณ จิตใจที่เบิกบาน แม้ยามเผชิญกับอุปสรรคและปัญหานานาประการ
เป้าหมายของชีวิตอยู่ที่ได้ทำให้อาตมันที่มาปรากฏในชีวิต (ชีวาตมัน) แล้วถูกทำให้แยกเป็นส่วน ๆ เป็นคน ๆ หวนกลับคืนไปเป็นอาตมันที่ผสานกับสิ่งอื่น ๆ ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ พืช และสรรพสิ่ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ปรมาตมัน) ความเป็นปรมาตมันนี้ จะไม่มีความเป็นอื่นเหลืออยู่อีกเลย นอกไปจากความเป็นหนึ่งเดียว (พรหมัน)
ภาวะดังกล่าวนี้จะบรรลุถึงได้ก็ด้วยการทำให้ความเป็นจริง (สัตย์) การรับรู้ (จิต) และความเบิกบานบันเทิง (อานันท์) เป็นสภาวะเดียวกัน นั่นคือ ต้องรู้ความเป็นจริงด้วยจิตใจที่เบิกบานบันเทิง
ชีวิตที่จะเป็นไปเพื่อให้รับรู้อย่างเบิกบานบันเทิงได้ ต้องตระหนักรู้ความเป็นตนเองที่ต้องทำหน้าที่ (ธรรมะ) เพื่อชุมชนส่วนรวม ผ่านการครอบครอง (อรรถ) และมีความพึงพอใจ (กาม) ในความเป็นตัวตนที่สัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อจะผสานตนเองและผู้อื่นให้เป็นหนึ่งเดียว เช่น สามี ผสานตนเองให้เป็นหนึ่งเดียวกับภรรยา พ่อแม่ ผสานตนเองให้เป็นหนึ่งเดียวกับบุตร - บุตรี พี่ ผสานให้เป็นหนึ่งเดียวกับน้อง ฯลฯ ที่สุดก็คือ ทำตนเอง (ชีวาตมัน) ให้ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง (ปรมาตมัน) และนั่นคือ การบรรลุโมกษะ (การหลุดพ้นไปจากความเป็นปัจเจก)
ภาพยนตร์เรื่อง "วิวาห์มรสุม" ได้เสนอให้ผู้ชมได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ที่ยึดโยงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาด การยกเอาพิธีวิวาห์มาเป็นสื่อกลางก็เพียงจะแสดงให้เห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีวิวาห์จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยวงศาคณาญาติมารวมอยู่ด้วยกันในพิธีกรรมนี้ ภาพของพ่อเจ้าสาวที่ต้องยกมือไหว้อ้อนวอนให้หลานสาว ซึ่งเป็นลูกผู้พี่ของเจ้าสาวให้อยู่ร่วมในพิธีวิวาห์ เป็นภาพของความรู้สึกที่บ่งบอกให้รู้ว่า ความหมายที่แท้จริงของพิธีวิวาห์อยู่ตรงไหน และพ่อของเจ้าสาวก็มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะไล่ญาติผู้มีแต่เงิน (เพราะไปทำงานต่างประเทศ) แต่ไร้ธรรมะ (การทำหน้าที่ของญาติ) ออกไปจากพิธีวิวาห์
ภาพทุกภาพ ฉากทุกฉากของภาพยนตร์เรื่อง
วิวาห์มรสุม ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ซึ่ง "ความเป็นอินเดีย" ความเป็นอินเดียที่มีพลังมากพอที่จะมองเห็นความหมายของวิวาห์มรสุม
(Monsoon Wedding) ว่า เป็นได้ทั้งงานวิวาห์ที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านที่เป็นปัญหา
(มรสุม = ปัญหาอุปสรรค) และขณะเดียวกัน วิวาห์มรสุมก็มีความหมายว่า เป็นงานวิวาห์ที่ชุ่มเย็นสนุกสนาน
(มรสุม = สายฝนที่ชุ่มเย็น) เป็นวิวาห์ที่วรุณเทพมาร่วมอวยพรให้มนุษย์ผู้หนึ่ง(เจ้าบ่าว)
ได้ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์อีกผู้หนึ่ง (เจ้าสาว)
วิวาห์มรสุมจะมีความหมายเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ชม (คือตัวเรา)
"ความเป็นอินเดีย" คือ ความเป็นตัวเราที่มองเห็นมรสุมเป็นความชุ่มเย็นอุดมสมบูรณ์
ไม่ใช่ปัญหาอุปสรรค
ในความเป็นจริงทางสังคม
ภาพยนตร์อินเดียและสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย ทำหน้าที่คล้าย ๆ กันทางสังคม
กล่าวคือ ทำหน้าที่กล่อมเกลาอารมณ์ จิตใจของประชาชน ให้ชื่นชม ยินดี พอใจ
ในระบบคุณค่าแบบอินเดีย
ระบบคุณค่าแบบอินเดีย
เป็นระบบคุณค่าที่ทำให้ชีวิตมีความหมายสัมพันธ์อยู่กับเป้าหมาย 4 ประการคือ
ธรรมะ อรรถะ กามะ และโมกษะ
การศึกษาเรียนรู้เพื่อให้ตระหนักถึงหน้าที่แห่งตน เป็นหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติไม่ใช่เพื่อเงินทอง
แต่เพื่อการธำรงอยู่ของสรรพสิ่งที่ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่คือ
ธรรมะ
การศึกษาเรียนรู้เพื่อแสวงหาและครอบครองทรัพย์สินอันจะก่อให้เกิดอรรถประโยชน์ต่อตนเองและบุคคลอื่น
คือ อรรถะ
การศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเสพบริโภคอย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทัน
คือ กามะ
ทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ว่าการปฏิบัติหน้าที่
(ธรรมะ) การแสวงหาครอบครองทรัพย์ (อรรถะ) และการเสพบริโภค (กามะ) ล้วนแต่เป็นไปเพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตคือ
โมกษะ
คัมภีร์โบราณของอินเดีย
ไม่ว่าเป็นในหมวดธรรมศาสตร์ (ศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำหน้าที่) อรรถศาสตร์ (ศาสตร์ที่ว่าด้วยการแสวงหาและครอบครองทรัพย์สิน)
และกามศาสตร์ (ศาสตร์ที่ว่าด้วยการเสพเสวยบริโภค) ล้วนแล้วแต่เป็นคัมภีร์เพื่อการฝึกฝนอบรมให้ผู้ศึกษาได้ทำชีวิตให้เป็นไปในหนทางอันมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่โมกษะ
สถาบันอุดมศึกษาในยุคโบราณของอินเดีย
ต่างมีภารกิจในการฝึกฝนอบรมกุลบุตร กุลธิดาแห่งอินเดีย ให้เป็นไปในครรลองแห่งคุณค่าทั้ง
4 ประการที่กล่าวมานี้
เมื่อสถาบันอุดมศึกษาแบบอินเดียเสื่อมพลังลงเพราะการรุกรานทางวัฒนธรรมจากต่างแดน
การศึกษาอบรมกุลบุตรกุลธิดาแห่งอินเดีย ให้ซึมซับเอาคุณค่าเหล่านี้ไว้ ได้ทำผ่านจารีต
ประเพณีและสิ่งบันเทิงต่าง ๆ ในสังคมอินเดีย
ภาพยนตร์อินเดีย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อินเดียได้พัฒนามาจากศิลปะการบันเทิงแบบโบราณของอินเดีย
ศิลปะการบันเทิงที่มุ่งกล่อมเกลาให้ชาวอินเดียปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเบิกบานบันเทิง
ไม่ว่าหน้าที่นั้นจะต่ำต้อยสักเพียงใด แสวงหาและครอบครองทรัพย์ด้วยจิตคารวะต่อธรรมชาติและกฎกติกาของสังคม
เสพเสวยบริโภคเครื่องอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ ด้วยความสำนึกรู้ในคุณค่าและความหมายของสิ่งต่าง
ๆ อย่างรู้เท่าทัน
เมื่อศิลปะบันเทิงของอินเดียพัฒนามาเป็นภาพยนตร์
ภาพยนตร์อินเดียก็ยังทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาให้ชาวอินเดียเป็นไปในวิถีแห่งอินเดีย
ตามระบบคุณค่าที่ถ่ายทอดกันมานานหลายพันปี
สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียที่ถูกมอบหมายภารกิจให้ทำหน้าที่ฝึกฝนอบรมกุลบุตร
กุลธิดาอินเดีย ก็มีหน้าที่ทำให้กุลบุตรกุลธิดาเหล่านั้น ดำเนินไปบนวิถีแห่งอินเดียดังที่กล่าวมา
สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียได้เพียรพยายามทำหน้าที่ให้กุลบุตร กุลธิดาแห่งอินเดีย
ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเป็นอินเดีย
มาถึงวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียได้มีความเป็นไปไม่แตกต่างไปจากภาพยนตร์อินเดีย
สถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง
ดำเนินกิจการไปตามแนวทางของภาพยนตร์ "อโศกมหาราช"
สถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง ดำเนินกิจการไปตามทางของภาพยนตร์ "วิวาห์มรสุม"
ในสังคมอินเดีย ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ยังมีผู้ชมมากพอ ๆ กัน ในส่วนของสังคมไทยไม่แน่ใจว่าจะมีใครสักกี่คนที่จะมีความเบิกบานบันเทิงกับการชมภาพยนตร์แบบวิวาห์มรสุม และ จะมีสักกี่คนที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยไทยทำหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา ในการสร้างสรรค์สติปัญญาของสังคมมากกว่าการทำหน้าที่เพียงแค่ผลิตช่างป้อนตลาดแรงงานภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
พิธีวิวาห์ เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว เพราะเป็นพิธีที่จะทำให้คุณค่าและความหมายของชีวิต (ปุรุษารถะ) ของคนที่เป็นคน ๆ หลอมรวมเป็นคุณค่าและความหมายของชุมชนและสังคม นับเริ่มต้นจากพิธีวิวาห์ เป็นงานของวงศาคณาญาติ ไม่ใช่งานของเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าว. ภาพยนตร์เรื่อง "วิวาห์มรสุม" เป็นเสมือนภาพแห่งความเป็นอินเดียในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังก้าวมาสู่ทางแยก
พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียในอดีต เป็นอโศกที่ไร้ตัวตนอันเป็นปัจเจก เป็นอโศกของความเป็นอินเดียที่มุ่งทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เป็นพระราชาเพราะเกิดมาเป็นกษัตริย์ ความเป็นอโศกมิใช่เป็นเรื่องของคนคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่เป็นอโศกที่ถูกสร้างขึ้นมาจากความเป็นอินเดีย ตำนานแห่งอโศกมหาราชจึงเป็นตำนานแห่งอินเดีย ที่ไม่ใช่อัตชีวประวัติของใครคนใดคนหนึ่ง และเพราะอโศกมหาราชไม่ใช่เป็นเรื่องของคนเป็นคน ๆ จึงทำให้ความเป็นอโศกขยายออกนอกอินเดียไปเป็นอโศกของไทย ของลังกา ของพม่า และอีกหลาย ๆ ประเทศที่ต่างมุ่งมั่นสร้างอโศกมหาราช ผู้เป็นธรรมิกราชของสังคมในประเทศต่าง ๆ ขึ้น แต่มาวันนี้ อโศกมหาราชถูกทำให้เป็นปัจเจกบุคคล บุคลที่ก้าวไปตามจังหวะลีลา
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์