บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 578 หัวเรื่อง
การเรียนแพทย์-วิทยาศาสตร์อินเดีย
ดร.
ประมวล เพ็งจันทร์
คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The
Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
อุดมศึกษาทางการแพทย์
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
อายุรเวท วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในอุดมศึกษาของอินเดีย
ดร.
ประมวล เพ็งจันทร์
ภาควิชาปรัชญาศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ:
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี
เรื่อง
ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10 หน้ากระดาษ A4)
แพทย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
อุดมศึกษาทางด้านการแพทย์
การศึกษาทางด้านการแพทย์ในสังคมอินเดีย มีบรรยากาศแตกต่างไปจากเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง
คือ เงียบเหงา ไม่คึกคักเหมือนดังในประเทศไทย ทั้งนี้เป็นเหตุสืบเนื่องมาจากประชาชนชาวอินเดียไม่ได้เห่อสนับสนุนให้บุตรหลานของตัวเองใฝ่ฝันอยากจะเรียนเพื่อเป็นแพทย์
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะมีมูลเหตุหลักอยู่ 2 ประการ คือ
1. ค่านิยมตามจารีตประเพณี และ
2. โครงสร้างของงานอาชีพในสังคมอินเดียปัจจุบัน
ครั้นมาถึงยุคที่ผู้ประกาศศาสนาคริสต์เข้ามาสู่อินเดียในยุคล่าอาณานิคม
องค์กรทางศาสนาได้นำเอาวิธีการรักษาดูแลสุขภาพแบบตะวันตกเข้ามาสู่อินเดียด้วย
และต่อมาเมื่อระบบอาณานิคมของอังกฤษได้ถูกสถาปนาขึ้นบนแผ่นดินอินเดียได้สำเร็จแล้ว
แม้ผู้ปกครองชาวอังกฤษไม่ได้สนับสนุนการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แต่ก็ไม่ได้ห้ามการเผยแพร่ความรู้ทางด้านการแพทย์แบบตะวันตก
ทั้งนี้ก็เพราะผู้ปกครองชาวอังกฤษเองก็ไม่เชื่อถือความรู้เดิมของอินเดียทุก
ๆ สาขาอยู่แล้ว รวมทั้งความรู้ด้านการแพทย์ด้วย
ต่อมาเมื่อถึงยุคก่อตั้งวิทยาลัยให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย วิชาการแพทย์ได้ถูกบรรจุให้เป็นวิชาเรียนที่วิทยาลัยสันสกฤตพาราณสี
(Banaras Sanskrit College) และที่กัลกัตตามัดระซ่าห์ (Calcutta Madrasah)
ในปี ค.ศ.1826 จากข้อมูลเกี่ยวกับวิชาที่เปิดสอนในวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งนั้น
ทำให้ทราบว่า มีทั้งวิชาการแพทย์แบบตะวันตกและแพทย์แบบอินเดีย ที่เรียกว่า
"อายุรเวท" (Ayurvedic)
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าต่อมาในปี
ค.ศ.1835 ก็ได้มีการยกเลิกวิชาอายุรเวทด้วยข้ออ้างที่ว่า ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์
จึงไม่สมควรสอนในวิทยาลัยต่อไป ประกอบกับทางรัฐบาลมีนโยบาย ให้วิทยาลัยสอนความรู้ทางตะวันตกแก่ชาวอินเดียด้วยภาษาอังกฤษ
วิชาอายุรเวทที่เป็นภาษาสันสกฤตจึงต้องถูกยกเลิกไป เพราะเหตุว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นภาษาสันสกฤต
การศึกษาวิชาการแพทย์แบบอินเดีย ได้ถูกกำจัดออกไปจากสถาบันการศึกษานับตั้งแต่ปี
ค.ศ. 1835 เป็นต้นมา และได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกเมื่ออินเดียได้รับเอกราชทางการปกครอง
เมื่อคณะกรรมาธิการราธกฤษณัน ได้เสนอให้มีการรื้อปรับระบบการศึกษาวิชาการด้านการแพทย์
โดยบังคับให้นักศึกษาวิชาชีพแพทย์ ต้องศึกษาความรู้ทางด้านการแพทย์แผนอินเดีย
ควบคู่ไปกับการศึกษาวิชาการแพทย์แบบตะวันตก ดังข้อเสนอที่ระบุว่า
- สถาบันการศึกษาทางด้านวิชาการแพทย์ จะต้องสนับสนุน ส่งเสริม ให้มีการศึกษาวิชาการแพทย์แบบอินเดีย
- ในวิชาประวัติศาสตร์การแพทย์ จะต้องมีการสอนให้นักศึกษารู้-เข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าของวิชาแพทย์แบบอินเดีย
จากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการราธกฤษณัน
ทำให้มีการรื้อฟื้นการศึกษาวิชาการแพทย์แบบอินเดียขึ้นมาอีก และมีความก้าวหน้าดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จากการที่อาชีพแพทย์ในยุคอาณานิคมตอนต้นตกไปอยู่ในมือของหมอสอนศาสนา ทำให้อาชีพแพทย์ปรากฏในสังคมอินเดียแบบการให้บริการ
ไม่ใช่การซื้อ-ขายระหว่างหมอกับผู้ป่วย คณะหมอสอนศาสนาทำให้ความเป็นหมอ คือผู้ให้
ผู้ช่วยเหลือ แม้ต่อมาอาชีพแพทย์จะถูกสถาปนาขึ้นมาเป็นอาชีพอิสระไม่เกี่ยวกับผู้สอนศาสนาแล้วก็ตาม
แต่ในความรู้สึกของชาวอินเดียก็ยังมองว่า หมอเป็นผู้ให้อยู่นั้นเอง
ความเป็นอาชีพให้บริการของแพทย์ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้นมาอีก เมื่ออินเดียได้รับเอกราชทางการปกครอง และประกาศให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย คือ ในทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางสังคมให้เป็นสังคมนิยม และหนึ่งในความเป็นสังคมนิยมคือ การให้สวัสดิการทางด้านการแพทย์แก่ประชาชน
ด้วยแนวคิดที่ว่า การแพทย์เป็นการให้บริการ ทำให้สถาบันการศึกษาวิชาการแพทย์ต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์ออกมาเพื่อรับใช้สังคม ในสังคมอินเดีย แพทย์ไม่มีสิทธิ์ไปแสวงหารายได้จากผู้ป่วยในลักษณะของการขายบริการ แพทย์ที่รับราชการอยู่แล้วอาจจะไปเปิดคลีนิค เพื่อให้บริการแก่ประชาชนนอกเวลาราชการได้ แต่ไม่มีสิทธิขายยาหรือเวชภัณฑ์อื่น ๆ ทำได้เพียงแค่ตรวจโรคแล้วเขียนใบสั่งยาให้ผู้ป่วยไปซื้อยาจากร้านขายยาด้วยตัวผู้ป่วยเอง และอัตราค่าบริการตรวจโรค ที่แพทย์จะเรียกเก็บจากผู้ป่วยนั้นก็ถูกรัฐกำหนดไว้ในราคาที่ต่ำมาก
ในสมัยเมื่อผู้เขียนเป็นนักศึกษาอยู่ในอินเดียเมื่อ
20 กว่าปีมาแล้ว อัตราค่าบริการตรวจโรคและเขียนใบสั่งอยู่ที่ราคา 5 รูปี
ซึ่งเป็นราคาเดียว ไม่ว่าผู้ป่วยจะป่วยเป็นอะไร หนักเบาแค่ไหน ค่าหมอก็ 5
รูปีเท่ากัน ทราบว่าปัจจุบันเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ในชนบททั่ว ๆ ไปก็ยังเพิ่มไม่มากคือ
ตกราคาประมาณ 10-15 รูปี
ด้วยอัตราค่าบริการถูก ๆ การเปิดคลีนิคของหมอจึงไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแค่มีห้องเล็ก
ๆ ภายในมีโต๊ะ-เก้าอี้ 1 ชุด พร้อมอุปกรณ์พื้นฐานของแพทย์ก็เปิดเป็นคลีนิคได้แล้ว
ในเขตชนบทบ้านนอก บางที่ไม่จำเป็นต้องมีห้องสำหรับเป็นคลีนิค เพียงแค่มีร่มไม้กลางหมู่บ้านก็เปิดเป็นคลีนิคได้แล้ว
รวมความแล้วไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไร ไปหาหมอแต่ละครั้งพร้อมทั้งซื้อยาก็จะไม่เกิน
30 บาทแน่นอน
จากโครงสร้างทางสังคมในเชิงอาชีพแบบนี้ อาชีพแพทย์จึงไม่มีมนต์เสน่ห์เชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้สนใจมาเรียนแพทย์
เหมือนในสังคมอื่น ๆ ที่วิชาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีรายได้สูง และมีความมั่นคงในแง่เศรษฐกิจ
ในสังคมอินเดียปัจจุบัน ครอบครัวที่นิยมส่งบุตร-หลานไปศึกษาทางด้านการแพทย์ส่วนใหญ่แล้วยังเป็นครอบครัวชาวคริสต์ที่มีความเชื่อว่าอาชีพแพทย์-พยาบาล เป็นอาชีพที่มีเกียรติคุณสูง เพราะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก จากมูลเหตุคือค่านิยมตามจารีตของอินเดียเดิม และโครงสร้างงานอาชีพที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากนัก จึงทำให้การศึกษาด้านวิชาการแพทย์ในประเทศอินเดียไม่คึกคักเหมือนในสังคมอื่น ๆ
ในการเดินทางไปสังเกตการศึกษาระดับอุดมศึกษาทางการแพทย์นี้ ผู้ศึกษาได้เลือกสถาบันตัวอย่าง 2 แห่ง คือ
1. สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งอินเดีย กรุงนิวเดลี
2. สถาบันบัณฑิตศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ เมืองจันดิการ์ห
ทั้ง 2 แห่งที่ได้ไปเยี่ยมชมนี้มีบรรยากาศคล้าย ๆ กันคือ มีประชาชนพลุกพล่าน เพราะเป็นสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานสูง มีผู้ป่วยมาเข้ารับการบริการเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ต่างมีภารกิจในการให้บริการแก่ผู้มารับบริการ นักศึกษาทุก ๆ ระดับต่างต้องฝึกฝนทดลองอยู่ในห้องปฏิบัติการ และฝึกปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลของสถาบันการศึกษา
ถ้าจะบอกเล่าให้เห็นภาพก็ต้องพูดว่า
การศึกษาวิชาการทางการแพทย์ของอินเดียในสถาบันการศึกษาทั้ง 2 แห่งที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชม
มีบรรยากาศและองค์ประกอบต่าง ๆ เหมือน คณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยทุกประการ
ความน่าสนใจในการศึกษาวิชาการแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียกลับอยู่ที่การศึกษาวิชาการแพทย์แบบอินเดียที่เรียกว่า
"อายุรเวท" ซึ่งได้จัดให้มีระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่ในหลาย
ๆ มหาวิทยาลัยของอินเดีย เช่น ที่มหาวิทยาลัยฮินดู-พาราณสี วิชาการแพทย์แบบอินเดีย
เป็นวิชาการชั้นสูงที่ผู้ผ่านการศึกษาวิชาการแพทย์แบบตะวันตกมาแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าศึกษาต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในวิชาการแพทย์แบบอินเดียได้
ด้วยความน่าสนใจในการศึกษาวิชาการแพทย์แบบอินเดีย ผู้เขียนจึงได้ติดต่อขอเยี่ยมชมกิจกรรมการเรียนการสอน และการให้บริการประชาชนของวิทยาลัยอายุรเวท (Government Ayurveda College) ซึ่งอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยเกราล่า ตั้งอยู่ที่เมืองติรุวนันทปุรัม เมืองหลวงของรัฐเกราล่า
ในการเข้าเยี่ยมชมนั้นต้องขออนุญาตจากท่านอธิการของวิทยาลัยอายุรเวท และท่านก็ได้อนุญาตให้เข้าชมได้ โดยได้สั่งให้นักศึกษาเป็นผู้นำพาผู้เขียนไปชมกิจการฝ่ายต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ในส่วนแรกที่เข้าชม เป็นการเรียนการสอนภายในห้องเรียน ซึ่งก็เป็นกระบวนการเรียนการสอนเหมือนวิชาการอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งการศึกษาภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ตามหลักวิชาการแพทย์ของอินเดียโบราณ
จากการเยี่ยมชมห้องเรียนของนักศึกษาวิชาการแพทย์อายุรเวท ทำให้ทราบว่ามีการเรียนสรีระวิทยา หรือกายวิภาคศาสตร์(Anatomy) คือ การเรียนส่วนต่างๆ เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ เช่นเดียวกับวิชาการแพทย์อื่นๆ ส่วนถัดมา ต่อจากห้องเรียนก็ได้ไปเยี่ยมชมฝ่ายผลิตและปรุงยาสมุนไพรแบบอินเดีย ท่านผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและปรุงยาไม่ค่อยเต็มใจให้ชาวต่างชาติเช่นผู้เขียนเข้าชม แม้จะได้รับการยืนยันจากนักศึกษาที่นำไปว่า ท่านอธิการอนุญาตแล้ว ท่านผู้อำนวยการยังต้องโทรศัพท์ไปสอบถามให้แน่ชัด
เมื่อเห็นท่าทีวิตกกังวลของท่านผู้อำนวยการ ผู้เขียนจึงต้องชี้แจงอธิบายให้ท่านทราบว่าแม้ผู้เขียนจะเป็นชาวต่างชาติ หากแต่เป็นผลผลิตของสังคมอินเดีย และมีความสำนึกในคุณค่าแห่งความเป็นอินเดีย เมื่อได้ฟังคำอธิบายของผู้เขียนแล้วดูเหมือนท่านผู้อำนวยการจะเข้าใจ จึงได้บอกเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า มีชาวต่างชาติจำนวนมากต้องการจะเรียนรู้เพื่อนำเอาความรู้ที่ได้ไปทำเป็นธุรกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไร
ตัวท่านเองไม่ต้องการให้ความรู้ด้านอายุรเวทเป็นเรื่องของการค้า
เพราะวิชาอายุรเวทเป็นวิชาแห่งการเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ
หากมนุษย์มีความเคารพในธรรมชาติ ธรรมชาติก็ย่อมเกื้อกูลต่อมนุษย์ พืชทุกชนิดล้วนแต่เกิดมาจากธรรมชาติเช่นเดียวกับมนุษย์
หากมนุษย์มีจิตคารวะต่อธรรมชาติแล้ว ก็ย่อมจะมองเห็นหนทางแห่งการอิงอาศัยกันระหว่างธรรมชาติส่วนต่าง
ๆ และมนุษย์
หลังจากได้พูดคุยกันเป็นที่เข้าใจแล้ว ท่านผู้อำนวยการจึงได้พาผู้เขียนไปชมแผนกต่าง
ๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการผลิตและปรุงยาจากวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติต่าง
ๆ โดยเฉพาะคือพืชสมุนไพร ท่านได้อธิบายให้ฟังว่าพืชแต่ละชนิดนำมาจากที่ใด
และเพาะปลูกขึ้นมาโดยวิธีใด
จากการรับฟังคำอธิบายทำให้ได้ทราบว่า
ความสำคัญของยาสมุนไพรประเภทต่าง ๆมิได้อยู่ที่ผลผลิตที่สำเร็จแล้วเท่านั้น
หากแต่อยู่ที่กระบวนการต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากจิตสำนึกของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติด้วยความเคารพ
เพราะฉะนั้น ในการเพาะปลูกพืชสมุนไพรจึงต้องแสดงความเคารพธรรมชาติ ด้วยการไม่ละเมิดวิถีแห่งการงอกงามตามธรรมชาติของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด
ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ย เพื่อเร่งการเจริญเติบโต พืชชนิดใดเจริญงอกงามได้ในที่ใด
ก็ให้เจริญงอกงามอยู่ ณ ที่นั้น
ท่านผู้อำนวยการบอกว่า วิชาการด้านอายุรเวทจะเสื่อม ถ้าเมื่อใดที่มนุษย์นำเอาความรู้นี้ไปใช้เพื่อทำการค้า
เพราะเมื่อใดที่เรียนรู้สิ่งนี้เพื่อแสวงหากำไร เมื่อนั้นจิตของมนุษย์ก็เสื่อม
และวิชาการนี้ก็จะเสื่อมตามไปด้วย ผู้เขียนจากลาท่านผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและปรุงยาสมุนไพรมาด้วยความขอบคุณ
ส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายที่ได้ไปเยี่ยมชมคือ ฝ่ายโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนให้บริการของวิทยาลัยอายุรเวทที่มีให้แก่ประชาชนทั่วไป ภาพที่ปรากฏก็เป็นเหมือนโรงพยาบาลทั่วไปคือ เต็มไปด้วยประชาชนที่มารับบริการ ต่างแต่เพียงว่ากระบวนการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษาเป็นไปในวิถีแบบอินเดีย ยาที่ได้รับก็เป็นยาสมุนไพรอินเดีย ที่ผลิตขึ้นมาจากฝ่ายผลิตและปรุงยานั้นเอง
การเข้าเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยอายุรเวท ทำให้มองเห็นความเป็นอินเดียที่ยังมีชีวิตชีวา และมีความหวังว่าสังคมอินเดียคงจะยังรักษาความเป็นอินเดียของเขาไว้ได้แน่นอน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับกระแสโลกที่พัดกระหน่ำมาอย่างรุนแรงสักเพียงใดก็ตาม
อุดมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แม้ว่าระบบอุดมศึกษายุคใหม่ของอินเดีย จะเริ่มต้นขึ้นด้วยข้ออ้างของชาวอังกฤษว่า
ตะวันตกมีความเจริญทางวิทยาศาสตร์มากกว่าอินเดีย และต้องการให้ชาวอินเดียเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก
แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ระบบการศึกษายุคใหม่ของอินเดียเป็นไปในลักษณะของการจดจำความรู้ที่ผู้อื่นค้นพบแล้วเท่านั้น
การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของอินเดียในช่วงแรกของยุคอาณานิคม จึงมีผลเพียงแค่ว่าความรู้ใหม่ (ของตะวันตก) ก็ไม่ลึกซึ้ง ความรู้เก่า(ของอินเดียเอง) ก็เลือนหายไป ระบบจดจำความรู้ของผู้อื่นจากที่อื่น ทำให้องค์ความรู้ในสังคมอินเดียยุคอาณานิคมหดแคบลง จนสังคมอินเดียสูญเสียพลังแห่งความรู้ของชุมชนไปเกือบหมดสิ้น
ความรู้ใหม่ที่ระบบอุดมศึกษาแบบอังกฤษสร้างให้ก็เป็นความรู้ของปัจเจกบุคคลเป็นคน
ๆ มิใช่ความรู้ของชุมชนดังเช่นในชุมชนอินเดียแต่เก่าก่อน และความรู้ที่เป็นของส่วนบุคคลนี้ก็เป็นความรู้ที่ผู้ปกครองอังกฤษสร้างขึ้น
เพื่อผลประโยชน์ตามความประสงค์ของผู้ปกครองเป็นหลัก การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกรณีตัวอย่างของความจริงข้อนี้
การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย ปรากฏเป็นจริงเป็นจังขึ้นในช่วงสงครามโลก
ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลอังกฤษได้ประจักษ์ว่า กำลังคนในการต่อสู้ทำสงครามเป็นสิ่งจำเป็น
โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อรักษาอาณานิคมของตนเองไว้ ด้วยข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งเช่นนี้
รัฐบาลอังกฤษจึงสนับสนุนให้ชาวอินเดียเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นการสร้างกำลังคนเพื่อการทำสงคราม เช่น สาขาวิศวไฟฟ้า
วิศวโยธา ซึ่งเป็นบุคลากรที่จำเป็นสำหรับกองทัพ
แม้เมื่อสงครามยุติลงไปแล้วความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นนี้ ก็มีคุณประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะเมื่อสังคมเมืองของอินเดียเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ทรัพยากรบุคคลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ
ในช่วงปลายยุคอาณานิคม กระแสความนิยมในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แพร่กระจายไปในหมู่ชนชั้นกลางของอินเดียอย่างรวดเร็ว แทนที่กระแสความนิยมในการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่อังกฤษสร้างไว้ในตอนต้นยุคอาณานิคม แรงผลักในการสร้างสถาบันอุดมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ มาจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคเอกชน
ดังเช่น กรณีของ นัสเซอร์วันยี ตาต้า (Nusserwantji Tata ค.ศ.1839-1904) นักอุตสาหกรรมผู้วางรากฐานให้กับเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมตาต้า ซึ่งเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียในปัจจุบัน นัสเซอร์วันยี ตาต้า ได้พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นที่เมืองแบงกาลอร์ แคว้นไมซอร์ ซึ่งได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างอาคารของสถาบันวิทยาศาสตร์ที่เมืองแบงกาลอร์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
ต่อมาเมื่อได้รับเอกราชแล้วรัฐบาลอินเดียก็ได้ยกระดับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย
(Indian Institute of Science) มีสถานะเทียบเท่ามหาวิทยาลัย
ทันทีที่ได้รับเอกราช รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของท่านบัณฑิตยวาหระ ลาล เนห์รู
ก็ได้เปิดไฟเขียวให้กับการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณเพื่อมหาวิทยาลัย
(University Grants Commission = UGC) ได้รับมอบนโยบายให้สนับสนุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่
เพื่อสร้างอินเดียใหม่ให้ก้าวทันโลก
เมื่อรัฐบาลอินเดียยุคประชาธิปไตยมีการประกาศใช้แผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ฉบับที่ 1 (ค.ศ.1951-56) การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านวิชาชีพเชิงเทคนิค ได้ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายของการพัฒนาทางด้านการศึกษา
การพัฒนาการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 3 (1951-66) มีเป้าหมายอยู่ที่ส่งเสริมการศึกษาเพื่อปริญญาบัตรทางด้านวิชาชีพเป็นหลัก ทั้งนี้ก็เพราะเป็นช่วงที่สถาบันอุดมศึกษา มีภาระหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากโลกตะวันตกสู่สังคมอินเดียเป็นหลัก
ความเปลี่ยนแปลงในทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรากฏขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ฉบับที่ 4 (ค.ศ.1969-74) ในแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 4 นี้ มีการประกาศแนวทางในการยกระดับการศึกษาทางด้านเทคโนโลยี ด้วยการศึกษาค้นคว้าที่เป็นการแสวงหาความรู้ทางด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ของอินเดียเองขึ้น โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ 3 ขั้นตอน คือ
1. เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอก ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายอยู่ที่การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่
2. จัดตั้งหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ในการวางแผนและจัดทำหลักสูตร เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสังคมอินเดียและก้าวทันโลกปัจจุบัน
3. จัดทำโครงการถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้แก่ภาคผลิตทั้งในทางทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
นับจากแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 4 เป็นต้นมา การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วได้เปิดคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ทั้งนี้โดยการสนับสนุนส่งเสริมด้านงบประมาณผ่าน UGC
นอกจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จะจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างเป็นอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัยแล้ว กระทรวงการศึกษาของอินเดียยังได้สนับสนุนให้มีสถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยี ให้มีลักษณะแบบเดียวกับสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย ที่จัดตั้งขึ้นที่เมืองแบงกาลอร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1911
ในปี ค.ศ.1951 รัฐบาลอินเดียโดยกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institute of Technology = IIT) ขึ้นที่เมือง Kharagpur รัฐเบงกอลตะวันตกในปี ค.ศ.1951 และสถาบันเทคคโนโลยีแห่งอินเดียในรูปแบบเดียวกัน ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางด้านเทคโนโลยีของประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือในปี ค.ศ.1958 ที่เมืองบอมเบย์ ค.ศ.1959 ที่เมืองมัทราส ค.ศ.1960 ที่เมืองกานปูร์ ค.ศ.1963 ที่กรุงนิวเดลี และค.ศ.1994 ที่เมืองกุวาหตี รัฐอัสสัม ปัจจุบันมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียอยู่ 6 แห่ง กระจายไปทั่วอินเดียโดยแต่ละแห่งจะรับผิดชอบในเขตพื้นที่การศึกษาตามที่กำหนด
สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institute
of Technology)
สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า IIT เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของอินเดียในขณะนี้
ทั้งนี้ดูได้จากจำนวนผู้สมัครขอแอ็ดมิสชันในแต่ละปี ที่มีจำนวนสูงสุดเมื่อเทียบเคียงกับสถาบันการศึกษาอื่น
ๆ ในลักษณะเดียวกัน
IIT เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาลแห่งอินเดีย (รัฐบาลกลาง) สถาบัน IIT ทั้ง 6 แห่งจะแบ่งพื้นที่ให้การศึกษาออกเป็น 6 เขตพื้นที่ แล้วให้แต่ละแห่งรับผิดชอบการศึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับประชาชนในเขตการศึกษาของตนเอง
หากนับความสำเร็จของสถาบันการศึกษาจากความนิยมของประชาชนในสังคม ก็สามารถกล่าวได้ว่าสถาบัน IIT ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง มีข้อมูลที่บอกเล่าจากนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบัน IIT เดลี ว่า ในแต่ละปีจะมีผู้สำเร็จการศึกษาจาก IIT ได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนแล้วประมาณ 25 % ของผู้จบการศึกษาจาก IIT ได้ไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอเมริกาและในยุโรป หากข้อมูลบอกเล่านี้เป็นจริงก็แสดงว่า IIT ได้เป็นสถาบันผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้กับวงการอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการในระดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว
นอกจากการผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานโลกแล้ว ปัจจุบัน IIT โดยการสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย ได้มีนโยบายเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาที่สถาบัน IIT ทั้ง 6 แห่ง เพื่อเป็นการขยายบริการทางด้านการศึกษาให้กับลูกค้าต่างชาติ และมีการประมาณตัวเลขไว้ว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปี IIT แต่ละแห่งจะมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาเป็น 15 % ของนักศึกษาทั้งหมด
ถ้าการประมาณตัวเลขนี้เป็นจริงก็แสดงว่า อินเดียได้เปิดประตูสู่การแข่งขันด้านธุรกิจการศึกษาอย่างเต็มตัว เพราะนั่นหมายความว่า จะต้องมีการแข่งขันในระดับสถาบันอุดมศึกษากับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และอินเดียจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อคุณภาพการศึกษาของอินเดีย จะต้องไม่ด้อยกว่าของประเทศอื่น ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่จุดเด่นของสินค้าทางการศึกษาของอินเดียคือ ราคาที่สามารถขายได้ในราคาถูกกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะต้นทุนในการผลิตของอินเดียต่ำกว่าของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในขณะที่อินเดียกำลังผลักดันให้ IIT เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการค้า ทั้งในส่วนที่ขายผลผลิต (บัณฑิตที่จบแล้ว) และขายบริการการศึกษา (รับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียน) อินเดียก็ผลักดันให้มีสถาบันการศึกษาเพื่อคนอินเดียขึ้นมารองรับความต้องการของสังคมอินเดีย โดยการยกระดับวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering College) ที่มีอยู่ทั่วอินเดีย ให้เป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Technology = NIT)
รูปแบบการบริหารจัดการของ NIT ใช้ระบบเดียวกับ IIT ทุกประการ ไม่ว่าในแง่ของการจัดแบ่งพื้นที่ให้การศึกษาและรูปแบบขององค์กร รวมทั้งหลักสูตรการศึกษา ต่างแต่เพียงว่า NIT มีเป้าหมายอยู่ที่การศึกษาของชาวอินเดียระดับกลางลงไป ขณะที่ IIT มีเป้าหมายอยู่ที่ระดับกลางขึ้นไปและต่างชาติ
ปัจจุบันรัฐบาลแห่งอินเดียได้จัดตั้งสถาบัน NIT ขึ้นมาแล้ว 8 แห่ง และแบ่งเขตรับผิดชอบเหมือน IIT ทุกประการ
เมื่อมองดูความเคลื่อนไหว ของอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของอินเดียแล้วพบว่า อินเดียกำลังนำระบบการตลาดมาใช้ กับการบริหารจัดการอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ การจัดวางสินค้าคือการศึกษาให้มีระดับต่างกัน เป็นกลยุทธ์ของระบบการตลาดที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพื่อความสะดวกในการทำตลาด
ปรากฏการณ์ของ IIT และ NIT ของอินเดียนั้น มีนัยส่อแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวครั้งสำคัญของระบบอุดมศึกษา อินเดียที่ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อกระแสโลกได้อีกต่อไป และนี่ก็เป็นอีกภาพหนึ่งของความเคลื่อนไหวในระบบอุดมศึกษาอินเดีย ที่ไทยเราสามารถมองดูเพื่อศึกษาและเรียนรู้ได้
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าต่อมาในปี ค.ศ.1835 ก็ได้มีการยกเลิกวิชาอายุรเวทด้วยข้ออ้างที่ว่า ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงไม่สมควรสอนในวิทยาลัยต่อไป ประกอบกับทางรัฐบาลมีนโยบาย ให้วิทยาลัยสอนความรู้ทางตะวันตกแก่ชาวอินเดียด้วยภาษาอังกฤษ วิชาอายุรเวทที่เป็นภาษาสันสกฤตจึงต้องถูกยกเลิกไป เพราะเหตุว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นภาษาสันสกฤต
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
ความรู้ใหม่ที่ระบบอุดมศึกษาแบบอังกฤษสร้างให้ก็เป็นความรู้ของปัจเจกบุคคลเป็นคน ๆ มิใช่ความรู้ของชุมชนดังเช่นในชุมชนอินเดียแต่เก่าก่อน และความรู้ที่เป็นของส่วนบุคคลนี้ก็เป็นความรู้ที่ผู้ปกครองอังกฤษสร้างขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของผู้ปกครองเป็นหลัก การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวอย่างของความจริงข้อนี้ ในช่วงสงครามโลก ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลอังกฤษได้ประจักษ์ว่า กำลังคนในการต่อสู้ทำสงครามเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อรักษาอาณานิคมของตนเองไว้ ด้วยข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งเช่นนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงสนับสนุนให้ชาวอินเดียเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นการสร้างกำลังคนเพื่อการทำสงคราม