บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 589 หัวเรื่อง
การปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์
ประมวล เพ็งจันทร์ และ
สุชาดา จักรพิสุทธิ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
(การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)
การปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์
การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ประมวล เพ็งจันทร์ - สุชาดา จักรพิสุทธิ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 589
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๘ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4)
ก่อนหน้าสังคมไทยจะมีระบบการศึกษาภาคบังคับ นับจากรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ร. 5 วัดหรือสถาบันศาสนาเคยเป็นเสาหลักในการจัดการศึกษา แก่เยาวชนทั้งทางโลกและทางธรรม และแม้เมื่อระบบโรงเรียนและการศึกษาสมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ จนสถาบันศาสนาหมดหน้าที่ลงเกือบจะสิ้นเชิง วัดและการศึกษาในสถานะสงฆ์ ก็ยังคงเป็นที่พึ่งและเป็นทางเลือกแก่การศึกษาของลูกหลานคนยากคนจนอยู่จวบจนทุกวันนี้
เราคงเข้าใจกันทั่วไปว่า
การศึกษาของสงฆ์หมายถึง การศึกษาของนักบวชในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระภิกษุและสามเณร
ที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบการศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์ รวมถึงการศึกษาตามคตินิยมทางพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นการศึกษานอกระบบ แยกออกจากการศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งหลาย
ในความเป็นจริง สงฆ์หรือสังฆะ คือชุมชนของการศึกษาเรียนรู้ที่ยึดถือว่า การศึกษา
(สิกขา) เป็นการฝึกฝนอบรมให้มนุษย์พัฒนาแปรเปลี่ยนตนเอง ทั้งในส่วนของพฤติกรรม
จิตใจ และอารมณ์ จากความเป็นบุคคลดิบ ๆ เถื่อน ๆ (ปุถุชน) ไปเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ
(อริยบุคคล) ดังนั้น จุดมุ่งหมายของการบวชก็คือ การศึกษา ชีวิตของพระภิกษุสามเณร
เป็นชีวิตของการศึกษาเพื่อพัฒนาพฤติกรรม (ศีล) ความคิด (สมาธิ) และอารมณ์ (ปัญญา)
สิกขาบทแต่ละบทที่พระภิกษุสามเณรสมาทาน ล้วนเป็นบทเรียนเพื่อการก้าวไปสู่ความเป็นอริยบุคคลตามอริยมรรค
เพื่อให้หยั่งเห็นความเป็นอริยสัจ
บทเรียน (สิกขาบท) ทุก ๆ บท มีเป้าหมายอยู่ที่การกำจัดความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และความหลง (โมหะ) ให้ลดน้อยลง หรือหมดสิ้นไปในที่สุด และพร้อม ๆ กันนั้นก็เป็นบทเรียนเพื่อให้เกิดความเสียสละ (จาคะ) ความเอื้ออาทร (เมตตา) และความรู้แจ้งแทงตลอดอารมณ์ในสภาวะธรรมต่าง ๆ (ปัญญา) เพราะเป็นชีวิตเพื่อการศึกษาเรียนรู้เช่นนี้ สังคมไทยในอดีตจึงมีศรัทธาเชื่อมั่นว่า การบวชเป็นพระภิกษุสามเณร คือ การเรียนรู้เพื่อการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ประเพณีการบวชเรียนจึงเกิดขึ้นในสังคมไทยสืบมา จนกล่าวได้ว่า การบวชเรียนเป็นกระบวนการสร้างพลเมืองของประเทศที่สำคัญที่สุด
แต่ปัจจุบัน
ไม่เพียงแต่การศึกษาในหมู่สงฆ์ที่มีอยู่ จะเป็นการศึกษที่เลื่อนไหลตามกระแสโลก
มิได้เป็นการฝึกฝนอบรมเพื่อกำจัดอกุศลธรรมและเพื่อเจริญกุศลธรรมดังเช่นที่เคยเป็นมา
หากแต่การศึกษาของสงฆ์ยังมีปัญหาตั้งแต่ระดับของเป้าหมาย เนื้อหาหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน
ไม่ต่างไปจากปัญหาความล้มเหลวในสถาบันการศึกษาทั่วไป โดยที่การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาตลอด
6 ปี ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกระทั่งไม่เข้าใจว่า การศึกษาของสงฆ์บนฐานพุทธธรรมนี้เป็นเครื่องมืออันวิเศษแก่การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ
ที่จะรื้อสร้างจิตสำนึกและคุณภาพใหม่แก่ผู้เรียนได้ ด้วยเนื้อหาและกระบวนการที่ควรจะบูรณาการ
หลอมละลายเข้าสู่ทุกสาระวิชาทางโลกได้
ระบบการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในยุคสมัยแห่งการปฏิรูปการศึกษา จึงเป็นเหมือนบ้านเก่าๆ
ที่ต่อเติมส่วนใหม่เข้าไปโดยไม่ได้รื้อส่วนเก่าที่ทรุดโทรมอยู่ทิ้งไป ทำให้ของเก่าและของใหม่ปะปนกันจนเป็นปัญหาทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ
การศึกษาในระบบของสงฆ์ หมายถึงการศึกษาที่มีหลักสูตร มีการวัดและประเมินผลอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันนี้มีอยู่ 4 ระบบ คือ 1) ปริยัติธรรมแผนกธรรม 2) ปริยัติธรรมแผนกบาลี 3) ปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา และ 4) มหาวิทยาลัยสงฆ์
ในการศึกษาทั้ง 4 ระบบนั้น ปริยัติธรรมแผนกธรรมและปริยัติธรรมแผนกบาลี เป็นระบบการศึกษาแบบเก่าที่คณะสงฆ์ไทยจัดขึ้น ตามจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมาหลายร้อยปีแล้ว ส่วนปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาและมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นระบบการศึกษาแบบใหม่ที่จัดขึ้นตามกระแสของการศึกษาทั่วไป
การศึกษาปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกว่า"เรียนนักธรรม" เป็นการศึกษาเบื้องต้นของพระภิกษุสามเณรมาแต่โบราณ โดยแบบแผนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นรูปแบบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เนื้อหาของการเรียน แบ่งการเรียนออกเป็น 3 ชั้น คือนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก แต่ละชั้นใช้เวลาเรียน 1 ปี มีการสอบปีละครั้ง หลักสูตรประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 4 วิชา คือ วิชากระทู้ธรรม วิชาธรรม วิชาพุทธประวัติ และวิชาวินัย พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาใหม่จะต้องเริ่มการศึกษาแผนกธรรมนี้เป็นลำดับแรก
ส่วนการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลี เป็นการศึกษาพระพุทธวจนะ เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า"เรียนบาลี" แต่เนื่องจากพระบาลีเป็นภาษามคธ การเรียนบาลีจึงเริ่มต้นที่การเรียนภาษามคธ เพื่อจะได้เข้าใจความหมายของพระพุทธวจนะ ซึ่งโดยความมุ่งหมายแท้จริงแล้วก็คือ การศึกษาพระพุทธวจนะให้เข้าใจความหมาย เพื่อจะเข้าถึงแก่นธรรมและปฏิบัติตามให้ถูกต้อง
แต่มาถึงปัจจุบันดูเหมือนจะเข้าใจกันคลาดเคลื่อนว่า การเรียนบาลีคือการเรียนภาษามคธในแนวภาษาศาสตร์ เพื่อให้แปลภาษาได้เป็นสำคัญ ปัจจุบันแบ่งออกเป็นชั้นที่เรียกว่าประโยค มี 9 ประโยค ใช้เวลาเรียนชั้นละ 1 ปี โดยที่ชั้นประโยค 1-2 เรียน 2 ปี แล้วสอบครั้งเดียว ส่วนประโยค 3-9 เรียนชั้นละปี สอบปีละครั้ง ผู้สอบได้แต่ละชั้นจะเรียกว่าผู้สอบได้เปรียญธรรม พระภิกษุผู้สอบผ่านประโยค 3 มีสิทธิใช้คำนำหน้า"พระมหา"
การศึกษาแผนกสามัญศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาแบบใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2514 เป็นต้นมา โดยที่การศึกษาแผนกนี้ เกิดขึ้นเพราะค่านิยมการศึกษาของประชาชนเปลี่ยนไป วิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นมาก คณะสงฆ์จึงได้จัดให้มีการศึกษาแผนกนี้ขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสามเณร ได้ศึกษาวิชาสามัญทั่วไปตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหลักสูตรที่นำเอาวิชานักธรรม และวิชาบาลีมาผสมกับวิชาต่าง ๆ ในระดับมัธยมศึกษาของกระทรวงศึกษาฯ การแบ่งชั้นเรียนก็แบ่งตามเกณฑ์ของโรงเรียนทั่วไปเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี เมื่อจบแล้วก็มีศักดิ์และสิทธิเท่ากับจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทุกประการ
ระบบการเรียนของปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษานี้ เหมือนกับการศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทั่วไป ต่างแต่เพียงมีวิชาธรรมวินัย วิชาบาลี วิชากิจสงฆ์ เพิ่มเข้ามา เพื่อให้เหมาะกับผู้เรียนที่เป็นพระภิกษุสามเณร เท่านั้น
สำหรับการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกในสังคมไทย ปี พ.ศ. 2432 มีการจัดตั้งมหาธาตุวิทยาลัยให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และในเวลาใกล้เคียงกัน คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกายก็มีการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น แต่ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อมหาธาตุวิทยาลัยเป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ทั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัย เรียกกันทั่วไปว่า"มหาวิทยาลัยสงฆ์" เพราะเป็นการศึกษาในระดับปริญญาตรี ผู้จบการศึกษาจากมหามกุฏราชวิทยาลัย จะได้รับปริญญาศาสนศาสตร์บัณฑิต (ศน.บ.) ขณะที่ผู้จบการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะได้รับปริญญพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) ในระยะแรก ๆ ใช้เวลาศึกษานานประมาณ 7-8 ปี ทั้งนี้ เพราะต้องศึกษาวิชาสามัญต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานของการศึกษาระดับปริญญาตรีเสียก่อน
ดังที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ต้องจัดหลักสูตรบุรพศึกษา และเตรียมศาสนศาสตร์ศึกษาให้กับพระภิกษุสามเณรผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาในระดับศาสนศาสตร์บัณฑิต เหมือนกับที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ต้องมีบาลีอบรมศึกษา และบาลีเตรียมอุดมศึกษา ให้แก่ผู้ประสงค์จะศึกษาในระดับพุทธศาสตรบัณฑิต
ต่อมาเมื่อมีการศึกษาแผนกสามัญศึกษาของพระภิกษุสามเณรขึ้นแล้ว และผู้สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคขึ้นไปถูกรับรองว่า เทียบเท่าการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงทำให้พระภิกษุสามเณรผู้ผ่านการศึกษาเหล่านั้นมา สามารถเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้ โดยไม่ต้องผ่านการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีดังที่เคยมีมาแต่แรกเริ่ม
ดังที่ว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นการศึกษาเลียนแบบมหาวิทยาลัยทั่วไป รูปแบบการศึกษาก็เป็นไปตามรูปแบบของมหาวิทยาลัยทั่วไป เช่นจัดให้มีวิชาเอกต่าง ๆ ดังเช่นที่มหาวิทยาลัยทั่วไปเขามีกัน มหาวิทยาลัยสงฆ์เลียนแบบมหาวิทยาลัยทางโลกเสียจนกระทั่งว่า เมื่อจบการศึกษา แล้ว ก็มีพิธีประสาทปริญญาเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วไป
แท้จริงแล้วการศึกษาของสงฆ์ตามความหมายดั้งเดิม คงไม่สามารถจัดให้เป็นระบบที่แน่ชัดได้ เพราะพระภิกษุสามเณรทุกรูป เมื่อใดที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพระอริยบุคคลขั้นอรหัตต์ ก็ยังต้องเป็นนักศึกษา(เสขบุคคล)อยู่ตลอดเวลา มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นผู้จบการศึกษาแล้ว (อเสขบุคคล) ด้วยความเชื่อเช่นนี้ การศึกษาตลอดชีวิตตลอดเวลาของสงฆ์ อันเป็นการศึกษาตามคตินิยมเดิม จึงยังมีอยู่ในชื่อของ "การศึกษาวิปัสสนา"
การศึกษาวิปัสสนาเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ไม่มีการบังคับและไม่มีหลักสูตรตายตัว แต่มีการศึกษาแบบนี้กระจายอยู่ทั่วไปในหมู่สงฆ์ โดยมีตัวครูบาอาจารย์เป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ เมื่อมีพระภิกษุรูปใด สามารถสั่งสอนอบรมให้ลูกศิษย์มีความก้าวหน้าในปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรมได้ ก็จะมีผู้ไปมอบตัวเป็นศิษย์ ดังตัวอย่างของพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ชา พระอาจารย์พุทธทาส เป็นต้น
วัดหรือที่พำนักของพระอาจารย์เหล่านี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยมิต้องมีองค์กรหรือสถาบันใดไปประกาศจัดตั้ง ในปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้แบบนี้มีอยู่ทั่วประเทศไทย และเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเรียนรู้ของพระภิกษุสามเณรเท่านั้น หากเป็นศูนย์การเรียนรู้ของฆราวาสและประชาชนทั่วไปด้วย โดยแต่ละสำนักต่างมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป แต่มีเป้าหมายของการเรียนรู้เหมือนกัน ตรงที่เน้นการฝึกฝนอบรมตนเพื่อให้เกิดคุณงามความดี
การศึกษาเรียนรู้แบบนี้มีผลกระทบต่อชุมชนและการพัฒนาปัจเจกชนสูงมาก
โดยเฉพาะในหมู่สงฆ์เอง เครือข่ายการเรียนรู้นอกระบบนี้มีพลังขับเคลื่อนต่อสังคมสูงมาก
ดังกรณีสำนักสวนโมกข์ สำนักวัดพระธรรมกาย สำนักสันติอโศก และต่างๆ อีกมากมาย
เราคงเข้าใจร่วมกันว่า คนทุกคนคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน การรู้ดีรู้ชั่วหรือกระทำดีกระทำชั่วย่อมส่งผลกระทบแก่กันและกัน
การศึกษาอบรมบุคคลก็ย่อมไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หากแต่เป็นปัญหาร่วมของสาธารณะ
ดังเช่นที่การแสวงหาสัมมาสัมโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ เป็นเรื่องส่วนรวมที่ก่อคุณูปการแก่ผู้คนมหาศาล
การทำความเข้าใจกับปัญหาด้านการศึกษาของสงฆ์ เพื่อนำไปสู่หนทางแก้ไข จึงเป็นความจำเป็นของเราร่วมกัน
ปัญหาการศึกษาของสงฆ์ อาจเป็นปัญหาในมุมมองของคนนอกวงการ โดยที่คณะสงฆ์เองอาจจะไม่เห็นเป็นปัญหา จุดประสงค์ของการชี้ให้เห็นปัญหาในที่นี้ จึงมิใช่การแสดงว่าใครผิดใครถูก หากแต่เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันว่า สังฆศึกษาเป็นเนื้อนาบุญอันแยกไม่ออกจากวิถีวัฒนธรรมและการศึกษาของชาติ
กล่าวได้ว่าปัญหาการศึกษาของสงฆ์มีอยู่ทั้งในระดับหลักการและระดับวิธีการ ระดับหลักการเป็นปัญหาพื้นฐานที่ว่าด้วยความหมายและเป้าหมายของการศึกษา ทั้งนี้เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมภายนอก รวมถึงค่านิยมด้านปัจเจก ที่ทำให้เป้าหมายของการบวชเรียนเปลี่ยนไปสู่การเคลื่อนย้ายสถานภาพส่วนตัว และการแสวงหาลาภสักการ เมื่อความหมายและเป้าหมายของการศึกษาของสงฆ์เปลี่ยน เนื้อหาและวิธีการศึกษาก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย
การศึกษาของสงฆ์ซึ่งเป็นการศึกษาในระบบทั้ง 4 รูปแบบ จึงมีปัญหาไม่เว้นแม้กระทั่งการศึกษานักธรรมและบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาแก่นพระพุทธศาสนาโดยตรง ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการศึกษาแผนกสามัญและการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่ห่างไกลออกไปจากความหมายและเป้าหมายของการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาออกไปทุกขณะ
ดังนั้น ปัญหาที่เผชิญหน้าคณะสงฆ์ไทยอยู่ในปัจจุบันคือ การจัดการศึกษาสงฆ์ให้คงมีความหมายและเป้าหมายตามหลักพุทธศาสนา ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเสื่อมทรุดของสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และอำนาจเงินตรา การทำให้ชีวิตการศึกษาอย่างสงฆ์ ถูกถือเป็นอุดมคติและเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่เป็นจริงได้แก่ผู้คนทั่วไป รวมถึงการทำให้การศึกษาพุทธธรรมเป็นการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ไม่แยกออกจากชีวิตฆราวาส สามารถตอบสนองปัญหาใหม่ๆของสังคม และทำให้"วัด" กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่แผ่ขยายกว้างขวางถึงระดับที่สังคมชาวพุทธจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ชั่วชีวิตได้
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่เพียงแต่คณะสงฆ์ต้องขบคิดและรับมือ
หากแต่รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบต้องคิดและครอบคลุมไปถึง
เมื่อแก้ปัญหาในเชิงหลักการไม่ได้ ปัญหาเชิงวิธีการก็มีนานัปการ
ดังที่กล่าวแล้ว
การศึกษาของสงฆ์เป็นการศึกษาที่ลอกเลียนแบบทางโลก ตามกระแสนิยมของสังคมสมัยใหม่
โดยไม่ได้พัฒนาปรับปรุงวิธีการศึกษาให้เหมาะสม การปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ จึงเริ่มต้นจากการจับประเด็นให้ได้ว่า
อะไรเป็นหลักการและอะไรเป็นวิธีการ
การศึกษาของสงฆ์ เป็นกิจกรรมที่มีหลักการอันเป็นความหมายและเป้าหมายของการศึกษาที่แท้อย่างชัดเจน
และมีกรอบกำหนดด้านวิธีการเอาไว้ให้เป็นแนวทางอยู่แล้ว กระบวนการปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์จึงควรทบทวนประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
- หลักการศึกษาของสงฆ์ หมายถึง การฝึกฝนอบรมตนในทางพฤติกรรม ( ศีล )
ความคิด(จิต ) และอารมณ์( ปัญญา ) การศึกษาดังกล่าวนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การละ ( ปหาน ) อกุศลธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง พร้อมๆ ไปกับการบ่มเพาะ (ภาวนา ) กุศลธรรม คือ ความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ความเป็นมิตรไมตรีต่อสรรพสิ่ง และความเฉลียวฉลาด รู้แจ้งแทงตลอดอารมณ์ในสภาวธรรมต่างๆ นี่เป็นหลักการศึกษาของสงฆ์ที่นักการศาสนาทั่วไปรู้จักกันในชื่อว่า หลักไตรสิกขา อันได้แก่ สีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา- วิธีการหรือรูปแบบที่จะทำให้การศึกษามีความหมายเป็นการฝึกอบรมตน เพื่อจะให้
บรรลุผล เป็นการละอกุศลธรรม และเจริญกุศลธรรมนั้น พระพุทธศาสนาได้กำหนดกรอบวิธีไว้ให้เป็นแบบอย่างคือ กระบวนการศึกษาเรียนรู้ ต้องประกอบด้วยกระบวนการครุ่นคิดพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน (ปริยัติธรรม) กระบวนการฝึกฝนปฏิบัติในการควบคุมกาย วาจา และใจ ให้สุจริต (ปฏิบัติธรรม) และกระบวนการรู้ให้แจ้งแทงตลอดอารมณ์ในสภาวธรรมต่างๆ (ปฏิเวธธรรม)ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะต้องประสานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยที่ไม่ได้แยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไป กระบวนการศึกษาแบบนี้ เป็นรูปแบบของกระบวนการศึกษาที่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนายึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ในสังคมใดยังมีการศึกษาเรียนรู้แบบนี้อยู่ พระพุทธศาสนาก็จะยังคงรุ่งเรืองอยู่ในสังคมนั้น
การปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงส่วนนี้ และต้องช่วยกันพิจารณาว่า จะปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์อย่างไร ที่จะทำให้หลักไตรสิกขายังคงศักดิ์สิทธิ์อยู่ พร้อมๆ กับที่ผู้ศึกษาได้เล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่ด้วย อาทิ การใช้ระบบคู่ขนานในการจัดการศึกษาของสงฆ์ โดยทำให้มีทั้งการศึกษาพุทธธรรม และการศึกษาสงเคราะห์ควบคู่กันไป
ข้อเสนอข้างต้นนี้ ควรจะได้มีการกำหนดเป้าหมายและทิศทางให้ชัดเจนโดยยึดหลัก
1) เป็นการศึกษาวิชาการสมัยใหม่ในแนวพุทธ
2) เป็นระบบการศึกษาที่เป็นวิทยาทาน
3) เป็นระบบการศึกษาทางเลือก
หลักข้อที่หนึ่งคือ การจัดการศึกษาในวิชาการต่างๆตามยุคสมัยนิยม ภายใต้หลักการศึกษาแบบพุทธ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้วิชาต่างๆ ตามหลักพุทธธรรม เช่น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ รัฐศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ
หลักข้อที่สองคือ การทำให้การศึกษาวิชาการเป็นการเอื้อเฟื้อแบ่งปันที่เรียกว่า"วิทยาทาน" ระบบการศึกษาวิชาการสมัยใหม่ของการศึกษาสงฆ์ จะต้องไม่ทำให้เป็นสินค้าเพื่อการซื้อขายหวังกำไร ไม่แปลงความรู้ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสมบัติส่วนตัว ที่มีไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น ระบบการศึกษาของสงฆ์ในส่วนนี้ เป็นการให้ความรู้เป็นทาน และทำความรู้ให้เป็นสมบัติส่วนรวม
หลักข้อที่สามคือ การทำการศึกษาของสงฆ์ให้เป็นการศึกษาทางเลือกสำหรับสังคมไทย ที่ปลอดจากการผูกขาดการศึกษาโดยระบบทุนนิยม และใช้ระบบกลไกตลาดมาควบคุมการศึกษา ดังนั้น การศึกษาของสงฆ์ในส่วนนี้ จะต้องเป็นการศึกษาทางเลือกใหม่ให้กับสังคมไทย ที่มีความแปลกแตกต่างทางด้านเนื้อหา และกระบวนการเรียนไปจากการศึกษาในกระแสหลัก รวมถึงเป็นทางเลือกแก่ผู้ใฝ่เรียนรู้หรือผู้ด้อยโอกาส ที่เข้าไม่ถึงการศึกษาซึ่งเป็นบริการจากรัฐและธุรกิจเอกชน
การปฏิรูปการศึกษาในส่วนนี้ จะต้องทำให้การศึกษาของสงฆ์หยุดการก้าวตามระบบการศึกษากระแสหลักของทางโลกให้ได้ ทั้งนี้เพราะการศึกษากระแสหลัก เป็นการศึกษาเพื่อตอบสนองโลกทุนนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งขัดแย้งและสวนทางกับการศึกษาแนวพุทธ โดยการศึกษาสงเคราะห์นี้ หากเป็นไปได้ คณะสงฆ์อาจเปิดรับให้คฤหัสถ์เข้ามาศึกษา โดยที่ไม่ต้องบวชเป็นพระภิกษุสามเณรก็ได้ ดังที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ได้เปิดรับคฤหัสถ์เข้าศึกษาในระดับปริญญาโทได้แล้ว
ในส่วนการศึกษาปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี ควรจะปฏิรูปให้เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ ทั้งในส่วนของหลักการและวิธีการ นั่นคือ จะต้องทำให้เป็นกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เพื่อสร้างชุมชนและปัจเจกชนชาวพุทธที่มีค่านิยมต่อต้านกระแสความโลภ ความโกรธ และความหลง และสร้างวิถีชีวิตที่มีการเอื้อเฟื้อแบ่งปันด้วยมิตรไมตรีต่อกันและกัน และมีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันความเป็นจริงต่างๆ
ทั้งนี้การศึกษาในส่วนนี้
ไม่ควรมีระบบและรูปแบบที่ตายตัว คณะสงฆ์หรือผู้มีหน้าที่ในทางการศึกษา เป็นแต่เพียงผู้อำนวยการให้มีพื้นที่ทางการศึกษาแบบนี้กระจายออกไปในทุกๆ
ภาคส่วนของสังคม เพราะฉะนั้น การศึกษาแผนกธรรมและบาลี ควรจัดการประสานให้เกื้อกูลต่อการศึกษาของสงฆ์นอกระบบที่มีอยู่แล้ว
ให้เป็นระบบการศึกษาที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
แม้ว่าพรบ.ปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ จะไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษาโดยสถาบันศาสนา
นอกจากที่ได้พาดพิงถึงแต่เพียงในมาตรา 18(3) ว่าสถาบันศาสนามีสิทธิจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนได้
กับมาตรา 52(2) ที่ระบุให้สถาบันศาสนาระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา แต่อย่างไรก็ดี
ประเด็นสำคัญของปัญหาทั้งมวลอยู่ที่องค์กรคณะสงฆ์ ที่บริหารปกครองชุมชนสงฆ์และการศึกษาของสงฆ์อยู่ในเวลานี้
ที่ประกอบไปด้วยความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ขององค์กรสงฆ์ ทำให้ขาดความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ
และยังมีระบบริหารจัดการ ลำดับชั้นการปกครองเสมือนระบบราชการ
กระนั้นก็ตาม การจัดการศึกษาของสงฆ์และความคาดหวังต่อการปฏิรูปการพระศาสนา เป็นสิ่งซึ่งต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายในเป็นสำคัญ นั่นหมายความว่า คณะสงฆ์ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน ซึ่งน่าจะใช้โอกาสของกระแสการปฏิรูปหลายๆด้านที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองจะต้องมีวิสัยทัศน์เล็งเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาของสงฆ์อย่างขนานใหญ่ชนิดพลิกกะลาที่คว่ำให้หงายขึ้นเลยทีเดียว แม้ความสนับสนุนนี้จะหมายถึงงบประมาณแผ่นดินที่เพิ่มขึ้น
และเพื่อที่จะทำให้การศึกษาของสงฆ์เป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐ จึงควรให้การอุดหนุนในรูปของกองทุนเพื่อการศึกษา อาจจะโดยการจ่ายสะสมไปจนกว่าจะเพียงพอ หรือให้คณะสงฆ์จัดหาผลประโยชน์เพื่อการนี้ได้ รวมถึงการอุดหนุนการศึกษาพิเศษที่สถาบันสงฆ์จะจัดขึ้นเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
วัดจะกลับมาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้ใหม่ ด้วยการจัดการร่วมกันของคณะสงฆ์ พระภิกษุ คณะกรรมการวัด และศรัทธาชาวบ้าน เนื่องด้วยวัดกลับมามีบทบาทเป็นสมบัติส่วนรวมที่ให้บริการด้านความดี ความงามแก่ชุมชนท้องถิ่น และเป็นผู้นำทางปัญญาได้เหมือนดังที่เคยเป็นในอดีต
ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กำลังท้าทายการคงอยู่ของสรรพสิ่งจำนวนมาก และการท้าทายนี้ยิ่งคุกคามการคงอยู่ของสถาบันที่ไม่สามารถปรับตัว ไม่สามารถค้นหาทางเลือกและตอบสนองการท้าทายในหนทางที่สร้างสรรค์และพัฒนาได้ นี่เป็นข้อพิสูจน์สัจธรรมอมตะของพุทธธรรมตามหลักไตรสิกขาและอริยสัจ 4 นั่นเอง
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 540 เรื่อง หนากว่า 6700 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com