ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
200548
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 577 หัวเรื่อง
อุดมศึกษากับการศึกษาของสตรี
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ และ
สมปอง เพ็งจันทร์

คณะมนุษยศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

อุดมศึกษากับการศึกษาของผู้หญิง
ภารตมาตา ปรัชญาอุดมศึกษาของผู้หญิง
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ และ สมปอง เพ็งจันทร์
ภาควิชาปรัชญาศาสนาและภาควิชาศิลปไทย
คณะมนุษยศาสตร์และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี
เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)


อุดมศึกษากับการศึกษาของผู้หญิง

ในระบบอุดมศึกษาของอินเดีย การศึกษาของผู้หญิงถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง จนถึงกับต้องจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตรี (Women's University) ขึ้นเป็นเอกเทศ แยกต่างหากไปจากมหาวิทยาลัยทั่ว ๆ ไป การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตรีขึ้นในสังคมอินเดียมีมิติทางวัฒนธรรมเจือปนอยู่มิใช่น้อย

สถานภาพของผู้หญิงในสังคมอินเดียถูกมองในแง่ลบจากสังคมภายนอกมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะภาพของผู้หญิงอินเดียในสายตาของนักล่าอาณานิคมตะวันตก เป็นภาพด้านลบที่ถูกนำมาอ้างเพื่อยืนยันความเป็นอนารยะของสังคมอินเดียตลอดมา

ความเป็นหญิง-ชายในวัฒนธรรมอินเดีย เป็นความลี้ลับอีกประเภทหนึ่งที่สังคมภายนอกยากที่จะเข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำเอาความเป็นหญิงออกมาจากความสัมพันธ์กับเรื่องอื่น ๆ ในภาพรวมของวัฒนธรรมอินเดียแล้ว ความเป็นหญิงอินเดียก็มีความน่ารังเกียจเดียดฉัน ซึ่งคล้ายกับการที่หมอฟันถอนฟันซี่หนึ่งออกมาจากปาก แล้วนำออกมาวางตั้งไว้นอกปากซึ่งเป็นที่อยู่เดิมของฟัน ฟันซี่ที่ถูกถอนออกมานั้นย่อมน่ารังเกียจ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย แม้แต่เจ้าของฟันเดิมก็อดจะรู้สึกสะอิดสะเอียนกับความสกปรกของฟันซี่นั้นไม่ได้

ภาพของผู้หญิงอินเดียในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา เป็นภาพด้านลบของความเป็นอินเดีย เหมือน ๆ กับภาพของระบบวรรณะที่ถูกมองเป็นความชั่วร้ายในสังคมอินเดีย

ความหมายที่แท้จริงของความเป็นหญิงอินเดียในอดีตเป็นเช่นไรยากที่จะเข้าใจได้ ไม่เฉพาะต่อชาวต่างประเทศเท่านั้น แม้แต่ชาวอินเดียเองก็ยากที่จะเข้าใจ ทั้งนี้ก็เพราะชาวอินเดียยุคปัจจุบันเมื่อต้องการอธิบายความหมายแห่งความเป็นหญิง ก็ยังต้องอธิบายตามความหมายที่ชาวตะวันตกบอกให้รู้ หรือแม้เมื่อต้องการจะยกระดับความเป็นหญิงที่ตกต่ำลงไป ก็ต้องดำเนินกิจกรรมไปตามกระแสสตรีนิยม (Feminism) จากโลกตะวันตก ที่วางตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องปัจเจกภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค

ด้วยกรอบคิดเรื่องปัจเจกภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค ทำให้ภาพและความหมายของผู้หญิงในสังคมอินเดียเป็นภาพแห่งความเลวร้ายดังที่รับรู้กันอยู่ในปัจจุบัน

การกลับไปค้นหาความหมายแห่งความเป็นหญิงอินเดีย ผ่านระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ไม่สามารถจะค้นพบอะไรได้มากนัก เพราะระบบการศึกษาที่อินเดียขับเคลื่อนไป ก็เป็นไปตามแนวนิยมแบบตะวันตกไปเสียแล้วคือ เป็นไปตามกรอบของความเป็นปัจเจกภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค ผู้เขียนเองเข้าใจว่า มายาภาพแห่งความเป็นหญิงที่ปรากฏผ่านความคิด ความเข้าใจแบบลัทธิปัจเจกนิยมนั้น มีปมปัญหาเหมือน ๆ กับการมองเรื่องอื่น ๆ ของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องอื่น ๆ

ในตอนคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย เพื่อจะกำหนดเป็นสถาบันตัวอย่างในการไปสังเกตการณ์ ผู้เขียนกำหนดให้มหาวิทยาลัยสตรีเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มหนึ่งด้วย เพราะคาดหวังว่าน่าจะมีอะไรเป็นลักษณะะเฉพาะของอินเดียให้ได้เรียนรู้แน่ ๆ แต่เมื่อไปศึกษาเรียนรู้ในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วกลับพบว่า มหาวิทยาลัยสตรี (Women's University) ก็เป็นเพียงแค่การทำให้วิทยาลัยสตรี (Girl's College) ยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยสตรีเท่านั้นเอง

ซึ่งวิทยาลัยสตรีในอินเดียนั้นก็เกิดขึ้นจากระบบความคิดแบบอังกฤษ ที่แยกโรงเรียนออกเป็นโรงเรียนชาย โรงเรียนหญิง แล้วปรับให้สูงขึ้นเป็นวิทยาลัยชาย วิทยาลัยหญิง ซึ่งปัจจุบันนี้ทั่วโลกดูเหมือนจะยกเลิกระบบโรงเรียนแบบนี้ไปแล้ว โดยการทำให้โรงเรียนชาย โรงเรียนหญิง เปลี่ยนเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษากันไปหมดแล้ว

มหาวิทยาลัยสตรี 2 แห่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปสังเกตและเก็บข้อมูลคือ
1. มหาวิทยาลัยสตรี เอส.เอ็น.ดี.ที. (S.N.D.T. Women's University)
2. มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์เทเรซ่า (Mother Teresa Women's University)

มหาวิทยาลัยสตรีเอส.เอ็น.ดี.ที. ถูกเลือกเพราะเป็นมหาวิทยาลัยสตรีแห่งแรกของอินเดีย ส่วนมหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์เทเรซ่า ถูกเลือกเพราะชื่อมหาวิทยาลัยเป็นชื่อของแม่ชีที่เป็นนักบุญของโลกยุคปัจจุบัน ชื่อแม่ชีเทเรซ่า เป็นชื่อที่มีพลังอำนาจให้โลกปัจจุบันได้ตระหนักถึงความหมายและคุณค่าแห่งความรัก ที่เป็นสายใยยึดโยงให้มนุษย์สัมพันธ์กัน

มหาวิทยาลัยเอส.เอ็น.ดี.ที. (S.N.D.T. Women's University)
มหาวิทยาลัยสตรีแห่งนี้เรียกชื่อย่อ ๆ ว่า เอสเอ็นดีที (SNDT) และเป็นชื่อย่อที่ชาวอินเดียทั่วไปรู้จักชื่อมหาวิทยาลัยในคำย่อนี้ แต่ชื่อเต็มๆคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก ชื่อเต็มของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ "มหาวิทยาลัยสตรี ศรีมาตี นทีไบ ธัมโมธร เธคเกอร์เซย์ (Shreemathi Nathibai Damodar Thackersey)

มหาวิทยาลัยเอสเอ็นดีที เป็นเหมือนภาพสะท้อนความเป็นหญิงในสังคมอินเดียปัจจุบัน ที่ถูกปั้นแต่งขึ้นในช่วงปลายยุคอาณานิคม มหาวิทยาลัยแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นจากความปรารถนาของมหาฤษี ธัณโด เกศว การวี (Maharshi Dhondo Keshav Karve) ที่ต้องการให้มีโรงเรียนสำหรับฝึกอาชีพให้หญิงหม้าย และต้องการยกระดับการศึกษาของผู้หญิงให้สูงขึ้น จึงได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ ต่อมาได้กลายเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และจากความสำเร็จในการสร้างโรงเรียนให้ผู้หญิงนี้ ทำให้ท่านมหาฤษี ธัณโด เกศว การวี ได้เริ่มโครงการสร้างมหาวิทยาลัยสตรีอินเดีย (Indian Women's University) ขึ้นในปี ค.ศ.1916 ที่เมืองปูนา

มหาวิทยาลัยสตรีอินเดียที่ท่านมหาฤษีธัณโด เกศว การวี สร้างขึ้น ได้ก้าวมาสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทมากขึ้นเมื่อได้มหาเศรษฐีผู้ใจบุญคือ เซอร์ วิธาลทาส เธคเกอร์เซย์ (Sir Vithaldas Thackersey) ให้การสนับสนุนด้านการเงิน ทำให้กิจการของมหาวิทยาลัยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตั้งไว้ ด้วยความตระหนักถึงคุณูปการของท่านเศรษฐีวิธาลทาส เทคเกอร์เซย์ มหาวิทยาลัยสตรีแห่งนี้จึงรู้จักกันในชื่อว่า มหาวิทยาลัยสตรี ศรีมาตี นทีไบ ธัมโมธร เทคเกอร์เซย์ อันเป็นชื่อมารดาของท่านเศรษฐีวิธาลทาส เทคเกอร์เซย์ ตั้งแต่นั้นมา

ในปี ค.ศ.1936 สำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยได้ย้ายจากเมืองปูนา มาตั้งยังเมืองบอมเบย์ อันเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้ชื่อ "SNDT" (เอสเอ็นดีที) ได้กลายเป็นชื่อที่มีความหมายถึงการศึกษาของผู้หญิงอินเดีย ไม่เฉพาะในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้น แต่หากหมายถึงการศึกษาเพื่อผู้หญิงในที่อื่น ๆ ด้วย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสตรี เอสเอ็นดีที ได้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการศึกษา วิจัย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ใน 11 คณะ คือ
1. คณะศิลปศาสตร์ (Faculty of Arts)
2. คณะศึกษาศาสตร์ (Faculty of Education)
3. คณะบรรณรักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ (Faculty of Library and Information Science)
4. คณะเทคโนโลยี (Faculty of Technology)
5. คณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine Arts)
6. คณะคหกรรมศาสตร์ (Faculty of Home Science)
7. คณะพาณิชยศาสตร์ (Faculty of Commerce)
8. คณะวิทยาศาสตร์ (Faculty of Science)
9. คณะสังคมศาสตร์ (Faculty of Social Science)
10. คณะพยาบาล (Faculty of Nursing)
11. คณะบริหารจัดการ (Faculty of Management Studies)

มหาวิทยาลัยสตรี เอสเอ็นดีที มีพื้นที่ให้การศึกษาครอบคลุมอินเดียทั้งประเทศ (All India Jurisdiction) ปัจจุบันมีนักศึกษาสตรีในทุกระดับมากกว่า 45,000 คน

ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในเมืองศูนย์กลางธุรกิจอุตสาหกรรม สภาพบรรยากาศทางการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยก็เป็นเช่นมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ทั่ว ๆ ไป ต่างแต่เพียงว่า ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีเฉพาะนักศึกษาผู้หญิงเท่านั้น

 

มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า (Mother Teresa Women's University)
มหาวิทยาลัยสตรีแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามของสตรีนักบุญแห่งอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ คือ แม่ชีเทเรซ่า (Mother Teresa)

มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งได้สถาปนาขึ้นในปี ค.ศ.1984 เพื่อการศึกษาและวิจัยในปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสตรี และเพื่อสร้างพลังแห่งสตรีให้มีบทบาทในการแก้ปัญหาของสังคมและมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองโกไดกานัล(Kodaikanal) อันเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่บนยอดเขาที่อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี

ในตอนเลือกมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยตัวอย่างนั้น ความน่าสนใจนอกจากชื่อของแม่ชีเทเรซ่าแล้ว ก็เห็นจะเป็นขนาดของมหาวิทยาลัยที่เล็กๆ มีงบประมาณปีละ 10 กว่าล้านรูปี มีการเรียน การสอนไม่กี่สาขาวิชา มีนักศึกษาประมาณ 200 กว่าคน และไปตั้งอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ที่การเดินทางไปมาค่อนข้างลำบาก และเป็นการเดินทางที่ไปถึงแล้วก็ต้องย้อนกลับมาทางเดิม จึงทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมาก แต่ผู้เขียนทั้งสองก็มีความเห็นตรงกันว่า เราควรจะได้ไปชมกิจการของมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ แห่งนี้ด้วยความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ แห่งนี้ น่าจะมีอะไรที่งดงามให้ดูชม

การเดินทางไปเมืองโกไดกานัล ต้องไปเริ่มต้นที่เมืองมาฑูไร (Madurai) ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่และยิ่งใหญ่ ในฐานะเป็นศูนย์กลางทางศาสนาฮินดูของอินเดียใต้ ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เมืองโกไดกานัลอยู่ห่างจากเมืองมาฑูไร 120 กม. เส้นทางไปเป็นเส้นทางที่ลาดชันขึ้นสู่ยอดเขา

จากเมืองมาฑูไร ยามสายที่อากาศร้อนอบอ้าว รถประจำทางพาผู้เขียนทั้งสองไปบนถนนที่แสนขรุขระและคับแคบ เพราะมีช่องทางรถวิ่งเพียงแค่ช่องทางเดียว เมื่อมีรถสวนกันแต่ละครั้งจึงทุลักทุเลน่าดู ในที่สุดผู้เขียนก็ไปถึงเมืองโกไดกานัลในเวลาบ่ายแก่ๆ ใกล้เย็น ที่ไม่ใช่เย็นแต่เวลาเท่านั้น แต่ยังเป็นอากาศเย็นชนิดแทบไม่น่าเชื่อว่าในเวลาวันเดียวกัน ด้วยระยะทางห่างมาเพียงแค่ 120 กม. จะมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันมากมายถึงเพียงนี้

จากที่พักที่อยู่ในย่านการค้าของเมือง เจ้าหน้าที่โรงแรมได้ชี้ให้ดูว่า มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า อยู่ตรงไหน ผู้เขียนเลยตกลงใจเดินไปดู เพราะเห็นว่าไม่ไกลเกินไป และตั้งใจว่าจะเดินไปสังเกตดูสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเท่านั้น เนื่องจากเป็นเวลาเย็นแล้ว คงไม่สามารถจะดูอะไรที่เป็นลักษณะอย่างเป็นทางการได้

การเดินทางช่วงขาไปใช้เวลาไม่นาน เพราะเป็นการเดินทางลงจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ เมื่อไปถึงบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยแล้วพบว่า มหาวิทยาลัยตั้งอยู่บนเนินเขาที่ลาดชันที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,144 เมตร อาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัยเป็นอาคารชั้นเดียวที่ลดหลั่นกันไปตามสภาพพื้นที่ซึ่งลาดชัน ดูแล้วน่ารักมาก เพราะมีลักษณะเหมือนบ้านพักส่วนตัวมากกว่าจะเป็นสถานศึกษา

แม้ว่าไม่ตั้งใจที่จะพบปะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเพราะเป็นเวลาเย็นมากแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมาสอบถามเพราะเห็นผู้เขียนเป็นคนแปลกหน้า และพอเขาทราบว่าผู้เขียนเป็นชาวต่างชาติ จากประเทศไทย เดินทางมาเยี่ยมชมกิจการมหาวิทยาลัย เขาก็ได้ไปแจ้งให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งออกมาเชื้อเชิญผู้เขียนให้เข้าไปดื่มน้ำชาในห้องพักรับรอง และก็ได้ทราบว่าสุภาพสตรีที่ออกมาต้อนรับคือ ดร.ราเชสวารี หัวหน้าภาควิชาสตรีศึกษา ซึ่งเป็นภาควิชาที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยสตรีแห่งนี้ ได้แจ้งให้ ดร.ราเชสวารี ทราบถึงวัตถุประสงค์ของผู้เขียนในการเดินทางมาอินเดีย และจำเพาะเจาะจงคือการมาเพื่อเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยของเธอ

แทบไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่เธอรับทราบวัตถุประสงค์ที่แจ้งให้ทราบเท่านั้น เธอได้รับปากที่จะประสานกับผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย เพื่อจะให้ได้พบปะกับผู้เขียนในวันรุ่งขึ้น คำพูดและท่าทีอันแสดงออกซึ่งความเป็นกันเองอย่างมีมิตรไมตรีของ ดร.ราเชสวารี ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสถึงความแปลกแตกต่างของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่ไม่ค่อยจะได้พบจากมหาวิทยาลัยใหญ่ในที่อื่น ๆ ที่ผ่านมา

ในเช้าวันถัดมา ผู้เขียนทั้งสองได้กลับไปที่มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า อีกครั้ง ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้ผู้เขียนได้พบปะกับผู้บริหารและคณาจารย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้หญิงทั้งนั้น การสนทนาเป็นไปอย่างเป็นกันเอง เหมือนกับสมาชิกในครอบครัวออกมาต้อนรับแขกที่คุ้นเคย

บรรยากาศของการสนทนาเป็นไปในทำนองเล่าสู่กันฟัง แม้ว่าผู้เขียนจะพยายามซักถามปัญหาที่ดูเหมือนกับช่วยให้เจ้าของบ้านวิพากย์วิจารณ์สังคมอินเดีย เช่น การถามถึงบทบาทและสถานภาพของสตรีในสังคมอินเดีย แต่ท่าทีที่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสตรีแห่งนี้แสดงออกมา ทำให้ผู้เขียนได้ประจักษ์ว่า บุคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีมุมมองที่แตกต่างไปจากที่ผู้เขียนมองอยู่

เมื่อมีคำถามถึงสิทธิสตรีและความเป็นหญิงที่ดูเหมือนจะต่ำต้อยในสังคมอินเดีย อาจารย์หลาย ๆ ท่านที่ร่วมสนทนากันอยู่ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า เธอไม่ได้สนใจ "สิทธิ" ของเธอเท่าไหร่ ความสนใจของเธออยู่ที่ "หน้าที่ " ซึ่งเธอและสตรีอินเดียควรปฏิบัติต่อบุคคลรอบข้าง และต่อสังคมโดยส่วนรวม มหาวิทยาลัยแห่งนี้มุ่งมั่นที่จะศึกษาค้นคว้าเพื่อให้รู้ว่า ที่สตรีทำหน้าที่ยังไม่สมบูรณ์นั้นเป็นเพราะเหตุใดบ้าง และถ้าจะต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปควรจะต้องมีองค์ความรู้อะไรบ้าง ภารกิจของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงอยู่ที่การสร้างองค์ความรู้ที่จะทำให้สตรีได้ทำหน้าที่ แม่ของแผ่นดินอินเดีย (ภารตมาตา) ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

คำอธิบายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเบิกบานของอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ทำให้ผู้เขียนได้ประจักษ์ว่า ความรู้ที่งอกงามขึ้นมาจากการเรียนรู้ของที่นี้ เป็นความรู้ ความสำนึกของสตรี สมกับเป็นมหาวิทยาลัยสตรีอย่างแท้จริง

ด้วยเวลาซึ่งกำหนดไว้สำหรับการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในแต่ละที่มีจำกัด จึงทำให้การสนทนากับผู้บริหารและคณาจารย์มีไม่มากนัก ประกอบกับอาจารย์หลาย ๆ ท่านที่มาจากภาควิชาต่าง ๆ ได้เชิญชวนให้ผู้เขียนทั้งสองไปเยี่ยมชมภาควิชาของเธอ ผู้เขียนได้ตอบรับคำเชิญชวนนั้นด้วยความยินดี

ทุก ๆ ภาควิชาที่ไปเยี่ยมชม มีบรรยากาศที่น่าประทับใจ เพราะเป็นเหมือนการไปชมห้องต่าง ๆ ภายในบ้านหลังหนึ่ง และที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ เป็นการเยี่ยมชมภาควิชาดนตรีอินเดีย (Department of Indian Music) เพราะที่ภาควิชานี้ไม่มีการอธิบายเพื่อให้ข้อมูลใด ๆ หากแต่เป็นการดีดวีณาที่ไพเราะและมีมนต์ขลัง โดยอาจารย์สุภาพสตรี ได้ทำให้ผู้เขียนได้รู้อะไรมากมายเกินกว่าจะบรรยายออกมาเป็นถ้อยคำใด ๆ ได้ ความรู้นี้แตกต่างไปจากการไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้เขียนได้รู้ข้อมูลและความก้าวหน้าทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

เสียงวีณาได้สะกดให้ผู้เขียนยืนนิ่งเงียบ ต่อหน้าอาจารย์ผู้นั่งดีดวีณาอย่างมีอารมณ์สุนทรีย์ เสียงวีณาจบลง ผู้เขียนปรบมือด้วยความรู้สึกที่บอกตัวเองว่า นี่คือ "ความรู้" ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยสตรีนี้ เป็นความรู้ที่บ่งบอกให้รู้ได้ว่าเป็น "ความรู้แบบหญิง" (Female Knowledge) ซึ่งแตกต่างไปจาก "ความรู้แบบชาย" (male knowledge) ที่ครอบงำโลกอยู่ ณ ปัจจุบันนี้

ความรู้แบบชายเป็นความรู้ที่มีรากเหง้ามาจากเหตุผล (Rationality) ขณะที่ความรู้แบบหญิง มีรากเหง้ามาจากอารมณ์ความรู้สึก สังคมปัจจุบันได้ยกย่องบูชาความรู้แบบชาย จนไม่มีพื้นที่ให้กับความรู้แบบหญิง และทำให้คนในสังคมดูหมิ่นดูแคลนความรู้แบบหญิงว่าเป็นสิ่งเหลวไหลไร้สาระ

การมาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า เป็นเหมือนการมาสัมผัสความรู้แบบหญิงที่ผู้เขียนเองก็ลืมไปแล้วว่า มีความรู้แบบนี้อยู่ในสังคมมนุษย์ และเป็นความรู้ที่สังคมมนุษย์ยุคปัจจุบันขาดแคลนอย่างยิ่ง

ลักษณะการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า มีลักษณะคล้าย ๆ "คุรุกุล" อันเป็นสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียยุคโบราณ มีบรรยากาศเป็นการศึกษาแบบครอบครัว มีเป้าหมายหลักเพียงเป้าหมายเดียว แล้วทำให้มีวิชาการสาขาต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบเป้าหมายหลักนั้น ดังที่มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของผู้หญิง ให้มีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาขาวิชาต่าง ๆ ที่เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงถือหลักว่า เปิดสอนวิชาที่มีส่วนสร้างองค์ความรู้ที่ส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง ดังนั้น การพิจารณาว่าจะเปิดสอนกระบวนวิชาหรือสาขาวิชาอะไรบ้าง ก็พิจารณาจากหลักการว่า เป็นชุดความรู้ที่สนับสนุนความเป็นหญิงตามคตินิยมแบบอินเดียที่เชื่อว่า หญิงคือ "ภารตมาตา" หรือไม่

ด้วยหลักการที่มีเป้าหมายอยู่ที่องค์ความรู้เพื่อเป็นหญิง มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์เทเรซ่า จึงเปิดสอนสาขาวิชาต่าง ๆ เพียงแค่ 11 สาขา เท่านั้นคือ
1. สตรีศึกษา (Women's Studies)
2. วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science)
3. เศรษฐศาสตร์ (Economics)
4. ภาษาอังกฤษ (English)
5. ประวัติศาสตร์ศึกษาและการจัดการ (Historical Studies and Mangement)
6. การบริหารจัดการชีวิตครอบครัว (Family Life Management)
7. สังคมวิทยา (Sociology)
8. ดนตรีอินเดีย (Indian Music)
9. ทมิฬศึกษา (Tamil Studies)
10. สารสนเทศศึกษา (Information Studies)
11. วิชาเลขานุการองค์การสหกิจ (Corporate Secretaryship)

วิชาการทุก ๆ สาขานี้ ล้วนมุ่งไปสู่การสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง

การเยี่ยมชมฝ่ายต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า จบลงในเวลาเที่ยง มีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาเดินออกมาส่งผู้เขียนทั้งสองเหมือนเจ้าของบ้านมาส่งแขก ขณะที่กำลังร่ำลากันอยู่นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งมาแจ้งให้ทราบว่า ทางมหาวิทยาลัยจะนำรถของมหาวิทยาลัยไปส่งผู้เขียน ณ ที่พัก เมื่อทราบเช่นนั้น ผู้เขียนรีบปฏิเสธการบริการนั้นทันที เพราะรู้สึกว่าจะเป็นการรบกวนมากเกินไป แต่เมื่อได้รับฟังคำชี้แจงว่าไม่เป็นการรบกวนอะไรเลย เพราะรถคันนี้มีกำหนดการจะนำคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไปปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามอยู่แล้ว ที่สุด ผู้เขียนก็ได้อาศัยรถของมหาวิทยาลัยออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อกลับที่พัก


ขณะที่นั่งอยู่บนรถเพื่อกลับที่พัก จึงได้รับทราบว่าคณาจารย์และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นกำลังเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างออกไปที่มีสมาชิกของหมู่บ้านติดเชื้อ HIV (เอดส์) ผู้เขียนได้ซักถามว่าทางมหาวิทยาลัยช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้ออย่างไร อาจารย์ท่านที่เป็นหัวหน้าคณะได้อธิบายให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นการส่วนบุคคล เพราะมหาวิทยาลัยก็ไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์มากพอ ที่จะไปบำบัดดูแลผู้ป่วยในทางกายภาพได้ แต่การช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยอยู่ที่การช่วยเหลือชุมชนซึ่งเกิดปัญหา

เมื่อมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งกลายเป็นผู้ป่วยเอดส์ ความกลัว ความกังวล ความรังเกียจ เป็นปัญหาที่หนักยิ่งกว่าปัญหาทางด้านภูมิคุ้มกันบกพร่องในร่างกายของคนๆ หนึ่งที่ติดเชื้อ ทั้งนี้ก็เพราะความกลัว ความรังเกียจ ซึ่งเป็นเหตุให้ทำลายสายสัมพันธ์ที่ดีงามในชุมชนและครอบครัว ทางคณะผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยจึงออกไปอยู่กับชุมชน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้ครอบครัวและชุมชนของผู้ป่วยเกิดความเข้าใจ เห็นใจ ต่อชะตากรรมของผู้ป่วย แล้วแปรความกลัว ความรังเกียจให้เป็นความรัก ความเห็นใจต่อกันและกันมากยิ่งขึ้น

คำอธิบายของอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าคณะต้องหยุดลง เมื่อรถนำผู้เขียนมาส่ง ณ ที่พัก เราทั้งสองลงจากรถโบกมือให้คณะผู้ปฏิบัติงานภาคสนามของมหาวิทยาลัย เสียดายว่าเวลาบนรถช่างแสนสั้น จึงทำให้ได้รับฟังคำอธิบายเพียงบางส่วน แต่แม้จะเป็นเพียงบางส่วนของความคิด ความรู้ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีให้กับชุมชน ช่างเป็นความรู้ที่งดงามยิ่งนัก เป็นความรู้ที่ตอกย้ำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าโลกของเราต้องการความรู้แบบผู้หญิง ดังเช่นที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้

ความรุนแรงบนโลกใบนี้เกิดขึ้นจากการที่เรามีความรู้แบบผู้ชายมากเกินไป พร้อม ๆ กับที่มีความรู้แบบผู้หญิงน้อยเกินไป พวกเราที่อยู่บนโลกใบนี้เป็นเหมือนเด็กที่ขาดแม่ กำพร้าแม่ กระแสโลกที่ครอบงำทุก ๆ ส่วนของโลกอยู่จึงเป็นกระแสของความรู้ที่นำไปสู่ความรุนแรง เบียดเบียนต่อกันและกัน เพราะมุ่งแต่แข่งขันเอาชนะแบบผู้ชาย

มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์เทเรซ่า มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่แสนงดงาม เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสมหวังกับการมาเยี่ยมชม เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำให้ผู้เขียนหลุดออกจากวังวนของการครุ่นคิดถึงความหมายแห่งความเป็นหญิงตามคติอินเดียโบราณว่า มีความหมายเช่นไร ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้พบปะสนทนากับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า แม้จะยังไม่มีคำตอบต่อประเด็นความหมายของความเป็นหญิง แต่ประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า ทำให้ข้อสงสัยในใจผู้เขียนลดน้อยลง จนเกือบจะหมดสิ้น

คำอธิบายของคณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า ที่ว่า มุ่งศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะทำให้ผู้ศึกษาเป็น "ภารตมาตา" เป็นคำสั้น ๆ แต่เมื่อมาบวกเข้ากับภารกิจที่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ออกไปอยู่กับชุมชนเพื่อแปรความกลัวความรังเกียจ ในตัวผู้ป่วยเอดส์ให้เป็นความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันและกัน ได้ทำลายความเคลือบแคลงสงสัย เกี่ยวกับความหมายของความเป็นหญิงในสังคมฮินดูโบราณให้หมดสิ้นไป แม้จะไม่มีคำอธิบายเชิงเหตุผล (แบบผู้ชาย) ให้กับใครอื่นได้ แต่ผู้เขียนก็ไม่มีข้อสงสัยอีกแล้ว

ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ แต่มีความงดงามที่ยิ่งใหญ่


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H

โลกของเราต้องการความรู้แบบผู้หญิง ดังเช่นที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัส ความรุนแรงบนโลกใบนี้เกิดขึ้นจากการที่เรามีความรู้แบบผู้ชายมากเกินไป พร้อม ๆ กับที่มีความรู้แบบผู้หญิงน้อยเกินไป พวกเราที่อยู่บนโลกใบนี้เป็นเหมือนเด็กที่ขาดแม่ กำพร้าแม่ กระแสโลกที่ครอบงำทุก ๆ ส่วนของโลกอยู่จึงเป็นกระแสของความรู้ที่นำไปสู่ความรุนแรง เบียดเบียนต่อกันและกัน เพราะมุ่งแต่แข่งขันเอาชนะแบบผู้ชาย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ลักษณะการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า มีลักษณะคล้าย ๆ "คุรุกุล" อันเป็นสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียยุคโบราณ มีบรรยากาศเป็นการศึกษาแบบครอบครัว มีเป้าหมายหลักเพียงเป้าหมายเดียว แล้วทำให้มีวิชาการสาขาต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบเป้าหมายหลักนั้น ดังที่มหาวิทยาลัยสตรีมาเตอร์ เทเรซ่า มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของผู้หญิง ให้มีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การพิจารณาว่าจะเปิดสอนกระบวนวิชาหรือสาขาวิชาอะไรบ้าง ก็พิจารณาจากหลักการว่า เป็นชุดความรู้ที่สนับสนุนความเป็นหญิงตามคตินิยมแบบอินเดียที่เชื่อว่า หญิงคือ "ภารตมาตา" หรือไม่ (ประมวล เพ็งจันทร์ และคณะ)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด