บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 586 หัวเรื่อง
เกี่ยวกับเรื่องการอ่านวัฒนธรรม
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความมหาวิทยาลยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
(การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)
บทความขนาดสั้น 2 เรื่อง
ในนาฏกรรมชั้นต่ำและวัฒนธรรมสอดแทรก
สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 586
รวบรวมผลงานที่เคยตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ๒ เรื่อง
เซกเชิน"เรือนเพาะความคิด"
๑. ในนาฏกรรมชั้นต่ำมีความสูงส่ง ๒. การสอดแทรกทางวัฒนธรรม
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๘ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4)
1. ในนาฏกรรมชั้นต่ำมีความสูงส่ง
ค่านิยมอันหนึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมชั้นสูงและวัฒนธรรมชั้นต่ำ
ซึ่งยังคงมีอยู่ในสำนึกของผู้คนร่วมสมัย เกิดมาจากการแบ่งแยกกันระหว่างศิลปะชั้นสูงและศิลปะชั้นต่ำ(High
Art / Low Art) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกค้างมาจากประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่(ค.ศ.1890-1960)
โดยศิลปกรรมชั้นสูง หมายถึงศิลปะบริสุทธิ์ที่เสพกันในหมู่ผู้มีการศึกษา หาชมกันได้ตามพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ
และโรงละครชั้นสูง ส่วนศิลปะชั้นต่ำก็คือ งานพาณิชย์ศิลป์และรายการบันเทิงต่างๆ
ซึ่งถูกตีค่าว่าไร้รสนิยม ไม่มีคุณค่าทางสุนทรีย์ และหาชมได้ทั่วไป
สำหรับ Roland Barthes (นิกคิด-นักเขียนคนสำคัญของฝรั่งเศส ค.ศ.1915-1980) ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกกันแบบง่ายๆเช่นนี้ โดยเขาได้ทำการวิเคราะห์กีฬามวยปล้ำที่ผู้คนทั้งหลายชอบดูกันตามทีวี และมองว่า มวยปล้ำไม่ใช่รายการบันเทิงที่ใช้ฆ่าเวลา ซึ่งเกี่ยวข้องกับสติปัญญาในวัฒนธรรมของพวกเราน้อยที่สุด เพราะถือว่าเป็นหญ้าฟางสำหรับปศุสัตว์ธรรมดา หรือความบันเทิงสำหรับมวลชนที่ไร้การศึกษา
สิ่งที่ Barthes วิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องมวยปล้ำนั้น(ราวปี ค.ศ.1970)เป็นเรื่องซึ่งฮือฮากันมาก เขาอ้างว่า มวยปล้ำและผู้ดูกีฬาชนิดนี้โดยข้อเท็จจริงแล้ว ทุกๆบทบาทแม้จะเล็กน้อยที่เราเห็น มันเป็นความช่ำชองเทียบเท่ากับละครชั้นสูงหรือโอเปร่าเลยทีเดียว มวยปล้ำเป็นความเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่อันหนึ่งของละครคลาสสิค หรือของพิธีกรรมทางศาสนาโบราณ ซึ่งภาพที่ปรากฎอันน่าตื่นเต้นที่เราเห็น เป็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมานและความอัปยศอดสูที่ได้รับการแสดงออกมาตั้งแต่ต้นจนจบ คล้ายๆกับรูปแบบต่างๆของวัฒนธรรมชั้นสูง
มวยปล้ำได้ให้ความรู้สึกอันน่าตื่นเต้นเร้าใจ
มันมีขนบธรรมเนียมปฏิบัติ มีระหัสต่างๆที่กำหนดไว้แล้ว และได้รับการแสดงออกมาในท่าทีอากัปกริยาและความเคลื่อนไหวที่มีแบบแผนอันรัดกุม
ทุกๆท่าและบทบาทในการต่อสู้เป็นเรื่องของแบบแผน และมีการประพันธ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
เช่นดั่งโศกนาฏกรรมคลาสสิค
นอกจากกีฬามวยปล้ำแล้ว ละครสบู่เน่า(soap opera)ซึ่งดูกันจนติดงอมแงมตามรายการทีวีหลังข่าว ซึ่งปัจจุบันแทรกเข้ามาในเวลาข่าว ก็ได้รับการมองว่าเป็นพวกนาฏกรรมชั้นต่ำ เป็นเรื่องที่ไร้สาระ เนื่องจากละครน้ำเน่าถูกเข้าใจว่าเป็นการหนีห่างไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะว่าผู้คนทั้งหลายที่จ้องดูมัน ไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้ากับโลกที่เป็นอยู่ และนั่นเท่ากับว่าพวกเขากำลังหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆของสังคม
ความบันเทิงในลักษณะที่เป็นการหนีห่างจากความเป็นจริง บ่อยทีเดียวได้ถูกนำเสนอในลักษณะที่ตรงข้ามกับเรื่องราวสัจจะ ซึ่งเรื่องราวสัจจะนั้นเป็นเรื่องของการสำรวจถึงความจริงที่เคร่งขรึมของชีวิต และด้วยเหตุนี้มันจึงถูกเชื่อว่ามีคุณค่าและคุ้มค่ามากกว่า
ในประเด็นนี้ Richard Dyer ผู้เขียนเรื่อง Entertainment and Utopia ไม่เห็นด้วย เพราะเขาคิดว่า ผลผลิตต่างๆทางวัฒนธรรมจำนวนมากมีแก่นของยูโทเปียอยู่ ผลผลิตทางวัฒนธรรมเหล่านั้นได้ชี้ไปยังความเป็นไปได้ต่างๆเกี่ยวกับโลกที่ดีกว่า อันนี้คือขนบประเพณีที่มีมายาวนาน และเป็นที่นับถือในงานเขียนเกี่ยวกับทัศนะแบบยูโทเปีย
ทัศนะแบบยูโทเปียเกี่ยวกับโลกที่สมบูรณ์แบบ สามารถที่จะให้แรงดลใจเราได้เกี่ยวกับความหวังและการมองโลกและสังคมในแง่ดี และสามารถเป็นพิมพ์เขียวให้กับเราว่า เราปรารถนาที่จะอยู่อย่างไร ? มันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ดำเนินไปข้างหน้า มันเสนอความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในทางที่ตรงข้ามกับเรื่องเล่าความเป็นจริงจำนวนมาก ซึ่งยืนยันว่าชีวิตที่น่ากลัวนั้นเป็นอย่างไร มากกว่าที่จะจัดวางทางเลือกอันหนึ่งขึ้นมาเพื่อพิจารณา
การดูละครทีวี สามารถนำเสนอคุณค่าต่างๆในเชิงอุดมคติ และหนทางที่เป็นอุดมคติของการเป็นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งโดยตรงกับความเป็นจริงทั้งหลายในชีวิตประจำวัน ขอให้เรามาลองพิจารณาการแยกแยะต่อไปนี้ : ซ้ายมือคือยูโทเปีย ส่วนขวามือคือโลกของความเป็นจริง
ความอุดมสมบูรณ์ / ความขาดแคลน
พลังงาน / ความเหนื่อยอ่อน และหมดเรี่ยวหมดแรง
ชุมชน / ความโดดเดี่ยว และความแปลกแยก
ความโปร่งใสในความสัมพันธ์ของมนุษย์ / ความคดเคี้ยวของมนุษย์
ความเข้มข้นของประสบการณ์ / ความเป็นอยู่ที่ซึมเศร้า และความเบื่อหน่าย
(ละครทีวีได้ให้ในบางสิ่งที่อยู่ซ้ายมือ และเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนหนึ่งใฝ่ฝันถึง)
Joseph Campbell (นักเขียนชาวอเมริกัน ค.ศ.1904-1987) เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งให้การสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาเห็นว่าการที่ผู้คนทั้งหลายชอบฟังเรื่องเล่า ดูละครทีวี หรืออ่านเรื่องราวปกรณัมทั้งหลายก็เพราะ ต้องการที่จะค้นหาความเป็นพระเอกของตน
Campbell ได้สำรวจตรวจตราปกรณัมต่างๆ, ตำนาน, และความเชื่อทั้งหลายในทางศาสนาซึ่งพบได้ทั่วโลก เขาพบว่ามันมีความคล้ายคลึงกันในเชิงเนื้อหาที่เป็นแกนกลาง และเรื่องเล่าทั้งหลายสามารถได้รับการมองในฐานะที่เป็นแบบแผนอันหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่า เราจะกระทำการอย่างไรในโลกใบนี้ เพื่อค้นหาความสว่างหรือความเข้าใจ, ความสมปรารถนา, และการบรรลุถึงศักยภาพความเป็นมนุษย์ของพวกเรา
โครงสร้างอันนี้ดำเนินรอยตามสิ่งที่เขาเรียกว่า "การเดินทางของวีรบุรุษ" หรือ the hero's journey อันนี้เกี่ยวพันกับตัวเอกของเรื่องซึ่งต้องผ่านการทดสอบ, การต่อสู้ดิ้นรน, และผ่านปัญหาต่างๆในวิถีทางที่บรรลุถึงเป้าหมายของเขา
ตามความคิดของ Campbell พวกเราทั้งหมด(ทั้งชายและหญิง)ต่างเป็นวีรชน โดยศักยภาพที่จะค้นพบความสมปรารถนาในความเป็นวีรชนในตัวของพวกเรา เพื่อที่จะทำสิ่งนี้ เราจะต้องดำเนินไปบนหนทางของวีรชนคนหนึ่ง โดยดำเนินรอยตามความปิติสุข
เขายังบันทึกต่อไปด้วยว่า แรงกดดันของสังคมร่วมสมัย อย่างเช่น ความจำเป็นหรือภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับความรอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจต่างๆ และความกดดันที่มีต่อเราทำให้เราต้องดิ้นรนขวนขวายอย่างไม่หยุดนิ่ง ที่จะทำตัวให้เข้ากับสังคมหรือลงรอยกับมันได้ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงเผชิญหน้ากับความท้าทายเกี่ยวกับการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระทำในสิ่งที่สังคมกดดันเราให้กระทำ หรือดำเนินรอยตามจิตวิญญานของตัวเราเองอย่างใดอย่างหนึ่ง
Campbell ให้เหตุผลว่า ในช่วงแรกซึ่งเรียกกันว่าสังคมในยุคบุพกาลต่างๆ ค่อนข้างสามารถจะกระตุ้นให้ผู้คนกระทำสิ่งนี้ได้มากกว่าสังคมในยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งมีลักษณะสังคมแบบฆราวาส เป็นสังคมทุนนิยม, ซึ่งสังคมในยุคหลังๆได้สูญเสียความสามารถอันนี้ไป
ภาพยนตร์ ละครทีวีต่างๆ ได้เข้ามาทำหน้าที่นี้ในฐานะที่เป็นปกรณัมสมัยใหม่ ซึ่งพวกมันได้นำเสนอภาพโครงสร้างต่างๆเกี่ยวกับตัวเอก ในลักษณะเดียวกันกับเรื่องเล่าในครั้งโบราณนำเสนอ ตามความคิดของ Campbell การวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ จะเผยให้เห็นความจริงในลักษณะเดียวกันที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เกี่ยวกับการแสวงหาความเป็นวีรชน(heroism) และเกี่ยวกับเส้นทางต่างๆที่นำไปสู่ความสว่างและความงอกงามเต็มที่
อย่างไรก็ตาม Campbell ก็ได้ถูกวิจารณ์สำหรับฐานคิดเช่นนี้ของเขา และหนทางที่ทฤษฎีต่างๆดังกล่าวสามารถถูกนำไปอยู่ในแนวเดียวกันกับอุดมคติอันหนึ่งเกี่ยวกับลัทธิปัจเจกชนนิยม แง่มุมต่างๆที่เป็นสากลเกี่ยวกับทฤษฎีทั้งหลายของ Campbell ถูกมองว่าได้รับอิทธิพลมาจากทัศนียภาพแบบตะวันตก การโฟกัสหรือเพ่งความสนใจลงไปที่ตัวเอกนั้น ได้ไปสนับสนุนอุดมคติอันเป็นแบบฉบับของคนอเมริกันเกี่ยวกับพลังอำนาจของปัจเจก ยิ่งกว่าที่จะให้การยอมรับความสำคัญของสังคมในฐานะที่เป็นชุมชน
ในส่วนของความเห็นแย้งอื่นๆโดยภาพรวมเกี่ยวกับ"นาฏกรรมชั้นต่ำ" มีนักวิจารณ์หลายคนที่นิยมและเลื่อมใสศิลปกรรมชั้นสูงได้แสดงความเห็นว่า การทำให้ผู้คนทั้งหลายลุ่มหลงอยู่กับเรื่องราวเมโลดราม่า หรือการผจญภัยเหล่านี้ เป็นการกล่อมประสาทสังคม ทำให้สังคมเซื่องซึม ซึ่งการทำเช่นนี้มิได้แตกต่างไปจากการแสดงต่างๆภายในสนามกีฬารูปวงกลม(circus)ซึ่งตระเตรียมขึ้นโดยบรรดาจักรพรรด์โรมัน ในฐานะที่เป็นเครื่องเล่นที่จะทำให้ผู้คนมีความสุขและทำให้เขวไปจากปัญหาทางการเมืองและสังคม
และหากจะกล่าวพาดพิงไปถึงรายการเกมโชว์ และรายการเกมชิงรางวัลเงินล้านแล้ว ยิ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขรมไปใหญ่ ทั้งนี้เพราะมันมีลักษณะเหมือนกับการหลอกล่อด้วยเหล้าไวน์ และขนมปัง กล่าวคือ ทำให้เกิดอาการมัวเมาและอยากอิ่ม ซึ่งมักจะจบลงด้วยเรื่องเศร้า กล่าวคือ
มีงานวิจัยบางชิ้นยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลจากรายการเกมชิงโชคเงินล้าน มักมีสภาพไม่ต่างไปจากคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ นั่นคือ คนที่ถูกล็อตเตอรี่ส่วนใหญ่ ตามข้อเท็จจริง มักจะจบลงด้วยการสูญเสียมิตรสหาย และการทะเลาะเบาะแว้งกับครอบครัวของพวกเขา อีกทั้งความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
2. การสอดแทรกทางวัฒนธรรมด้วยปัญญา
การสอดแทรกทางวัฒนธรรม(Cuture Jamming) เป็นวิธีการหนึ่งของการต่อต้านบรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมของวัฒนธรรมมวลชน
ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะเป็นปรปักษ์กับโครงสร้างต่างๆทางอำนาจที่อยู่ข้างใต้การสื่อสารต่างๆ
บรรดาผู้สอดแทรกทางวัฒนธรรม ได้ใช้ความสามารถเกี่ยวกับรูปแบบโฆษณาและการรณรงค์ต่างๆ เพื่อทอดข้ามเข้าไปในการสร้างความหมายใหม่ด้วยการเหน็บแนม และทำการขูดผิวหน้าของข้อมูลต่างๆออกมาให้เห็น ทั้งนี้เพื่อต้องการล้มล้างความหมายต่างๆที่ตั้งใจ และดูเป็นธรรมชาติของสาร(message)นั้นๆ โดยทำให้เราสังเกตหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับสารที่อยู่ข้างใต้ ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่าง 2 เรื่องคือ 1. การโต้ตอบกันทางอีเมล์ และ 2. การสอดแทรกด้วยกราฟฟิตี
สำหรับเรื่องแรกนั้นพัฒนาขึ้นมาบนระบบออนไลน์
โดยการต่อสู้กับนโยบายการจ้างงานของบริษัท Nike ในเรื่องเกี่ยวกับโรงงานผลิตสินค้าในเขตการค้าเสรีของเอเชีย
นักกิจกรรมสื่อ Jonah Peretti ได้ทำจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งเพื่อทวนกระแสนโยบายต่างๆเกี่ยวกับการจ้างงานของ
Nike. สำหรับเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นตรงที่บริษัท Nike มีแนวคิดที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
50 เหรียญจากลูกค้า ซึ่งต้องการจะให้ทางบริษัทผลิตรองเท้าที่เป็นของตัวลูกค้าเอง
โดยการปักคำหรือวลีใต้ตราสัญลักษณ์ Nike "swoosh" logo ตามที่ลูกค้าต้องการ
บริการอันนี้เรียกว่า "iD" เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการติดตราประทับที่บอกว่า Nike ให้อิสรภาพในการเลือก และให้อิสรภาพในการแสดงออก (freedom of choice and freedom of expression) โดยการกระตุ้นบรรดาลูกค้าทั้งหลายเพื่อสร้างรองเท้าของตัวพวกเขาเองขึ้นมา
จากบันทึกที่ดูเหมือนจะตรงข้ามหรือไม่ลงรอยกับสโลแกนอันนี้ตามเงื่อนไขต่างๆ นั่นคือ บรรดาลูกจ้างบริษัท Nike ซึ่งตามความเป็นจริงได้ทำรองเท้า Nike ขึ้น ตามที่รายงาน คนงานเหล่านั้นต้องทนทำงานอยู่ในเขตการค้าเสรีต่างๆด้วยค่าแรงที่ถูกมาก, Peretti จึงได้เลือกคำว่า "sweatshop"(หมายถึง โรงงานซึ่งมีคนทำงานด้วยชั่วโมงที่ยาวนาน แต่ได้ค่าแรงต่ำ)ปักลงบนรองเท้าของเขา
ในการโต้ตอบกันทางอีเมล์ที่ตามมา, บริษัท Nike ปฏิเสธคำขอของ Peretti เนื่องจากได้มีการอ้างถึงว่า ทางบริษัทมีข้อจำกัดเกี่ยวกับ"ภาษาแสลงที่ไม่เหมาะสม". แต่ Peretti ได้ถกเถียงกับประเด็นนี้ และสนับสนุนข้อความที่ตนต้องการให้ปักลงบนรองเท้าของตนเอง โดยการเปิดพจนานุกรมอ้างอิง
การโต้ตอบกันทางอีเมล์ทั้งสองฝ่ายนี้ ได้แพร่กระจายออกไปเองอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ Peretti ได้ส่งต่อจดหมายฉบับนี้ไปสู่เพื่อนๆของเขา จากนั้นมันก็กระจายออกไปทั่วโลก ต่อไปนี้คือข้อความที่คัดมาจากจดหมายโต้ตอบ
Nike iD
ที่รัก,
ขอบคุณสำหรับการตอบกลับอย่างรวดเร็วในการสอบถามของผม ในฐานะลูกค้ารองเท้าวิ่งรุ่น
ZOOM XC USA. แม้ว่าผมจะได้ชื่นชมคุณสำหรับเรื่องการบริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วก็ตาม
แต่ผมไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างที่ว่า iD ส่วนตัวของผมเป็น"ภาษาแสลงที่ไม่เหมาะสม"
หลังจากที่ผมได้ค้นคว้าในพจนานุกรม Webster แล้วพบว่า คำว่า"sweatshop"(ซึ่งผมต้องการให้ปักลงไปที่รองเท้า) ในข้อเท็จจริง คำนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาษาอังกฤษมาตรฐาน และไม่ใช่ภาษาแสลง. คำนี้หมายความว่า "ร้านค้าหรือโรงงานซึ่งคนทำงานถูกว่าจ้างให้ทำงานด้วยชั่วโมงที่ยาวนาน แต่ได้รับค่าจ้างที่ต่ำ และอยู่ภายใต้สภาพเงื่อนไขที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และกำเนิดของคำดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นจากปี ค.ศ.1892. ดังนั้น iD ส่วนตัวของผมจึงไม่ขัดแย้งกับบรรทัดฐานซึ่งได้ให้รายละเอียดในอีเมล์ฉบับแรกของคุณ
โฆษณาบนเว็ปไซค์ของคุณที่ว่าโครงการ the Nike iD เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ"อิสรภาพที่จะเลือก และอิสรภาพที่จะแสดงออกว่าคุณคือใคร". ผมเป็นหุ้นส่วนในความรักเกี่ยวกับอิสรภาพและการแสดงออกส่วนตัวของ Nike
บนหน้าเว็ปไซค์ของ Nike ยังพูดอีกว่า "ถ้าคุณต้องการ ใช่เลย สร้างมันด้วยตัวของคุณเอง". ผมถูกทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่จะสามารถสร้างรองเท้าของตัวเองขึ้นมาได้ และ iD ส่วนตัวของผมที่อยากได้คือ ทำเป็นเครื่องหมายเล็กๆเกี่ยวกับการตระหนักรู้ถึงคนเหล่านั้น ที่ทำงานใน sweatshop เพื่อที่จะช่วยให้ผมเข้าใจและสำนึกถึงความรู้สึกของตนเอง
ผมหวังว่าคุณคงจะเห็นคุณค่าต่ออิสรภาพเกี่ยวกับการแสดงออกของผม และลองพิจารณาการตัดสินใจของคุณใหม่อีกครั้งที่ปฏิเสธใบสั่งสินค้าของผม
ขอบคุณครับ
Jonah Peretti
จดหมายตอบจาก:
"Personalize, Nike iD"
ถึง: "Jonah Peretti"
เรื่อง: ใบสั่ง Nike iD ของคุณ หมายเลข 016468000
เรียนลูกค้า Nike iD ที่รัก
เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆสำหรับการทำรองเท้าให้เป็นส่วนตัว ซึ่งได้มีการพูดถึงบนเว็ปไซค์ Nike iD ที่ว่า "Nike จะสงวนสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหรือยกเลิก iD ส่วนตัวใดๆ ซึ่งจะดำเนินการใน 24 ชั่วโมง หลังจากมันได้ถูกเสนอมาเพื่อพิจารณา
นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า "ขณะที่เราเคารพและให้เกียรติ iDs ที่เป็นส่วนตัวของคนจำนวนมากที่สุด แต่เราไม่สามารถที่จะเคารพหรือให้เกียรติกับทุกๆคนได้ เพราะมีบางคนอาจต้องการให้ปักเครื่องหมายการค้าอื่นๆลงไป หรือชื่อทีมกีฬาอาชีพบางทีม, ชื่อนักกีฬา, หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียง, ซึ่ง Nike ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ชื่อต่างๆเหล่านั้น. ส่วนบางคนอาจต้องการให้ปักข้อความที่เราพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือพูดง่ายๆคือไม่เป็นที่ต้องการให้ปักลงบนผลิตภัณฑ์ของเรา
โชคไม่ดี บางครั้งอันนี้ได้บีบบังคับเราให้ปฏิเสธ iDs ส่วนตัวต่างๆ ซึ่งอาจดูเหมือนไม่อาจปฏิเสธได้. ในภาวะใดก็ตาม เราจะให้คุณรู้ถ้าเราปฏิเสธ iD ส่วนตัวของคุณ และเราจะให้โอกาสคุณเสนอคำอื่นเข้ามาใหม่. "ด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้ในใจ เราจึงไม่สามารถยอมรับใบสั่งของคุณได้ดังที่เสนอมา. ถ้าคุณปรารถนาที่จะมีใบสั่งใหม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Nike iD ด้วยการปักข้อความที่เป็นส่วนตัว ขอได้โปรดแวะเข้ามาหาเราอีกครั้งที่ www.nike.com
ด้วยความขอบคุณ
Nike iD
จดหมายจาก
Peretti ถึง Nike iD ที่รัก
ขอบคุณสำหรับเวลาและพลังงานที่ทุ่มเทไปต่อความต้องการของผม ผมได้ตัดสินใจที่จะสั่งรองเท้าใหม่ด้วย
iD ที่แตกต่างไปจากอันแรก แต่ผมต้องการที่จะทำให้ภาพความต้องการของผมมีขนาดเล็ก
โปรดกรุณาช่วยส่งภาพสีที่ถ่ายเกี่ยวกับภาพเด็กผู้หญิงชาวเวียดนามที่อายุ 10
ปี ซึ่งเป็นคนที่ทำรองเท้าของผมมาให้ดูได้ไหมครับ?
ขอบคุณครับ
Jonah Peretti
(หมายเหตุ: ไม่มีจดหมายตอบกลับจากบริษัท Nike)
ตัวอย่างเรื่องที่สอง การสอดแทรกด้วยกราฟฟิตี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในออสเตรเลีย โดยการส่งเสริมสนับสนุนคุณค่าเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้คน ในเรื่องการช่วยปฐมพยาบาลฉุกเฉิน มีการทำป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ ที่รูปบนแผ่นป้ายได้แสดงให้เห็นภาพของผู้ชายคนหนึ่งซึ่งล้มลงหมดสติ. คำอธิบายภาพนี้เขียนให้อ่านว่า: เมื่อสามีคุณล้มลงหมดสติ คุณจะทำอย่างไร?" ภาพดังกล่าวแสดงนัยะถึงอุดมคติเกี่ยวกับการช่วยเหลือของครอบครัว ระหว่างสามีภรรยา
ร่องรอยของกราฟฟิตี้ที่พ่นทับลงบนแผ่นป้ายแผ่นหนึ่ง เขียนว่า "ล้วงกระเป๋าสตางค์ของเขา"
ข้อความที่เพิ่มเติมเข้าไปในเชิงขบขันนั้น ได้ทำลายอุดมคติของครอบครัว และเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในความไม่เสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ที่ประสบในชีวิตการแต่งงานและครอบครัวในออสเตรเลีย
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 540 เรื่อง หนากว่า 6700 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com