บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 584 หัวเรื่อง
เวทีชาวบ้านในยุคโลกาภิวัตน์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นำมาจากกระดานข่าวขนาดยาวของ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The
Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รายงานเวทีสังคมโลกที่เมืองปอร์โตอาเลเกร
เวทีสังคมโลก
เวทีชาวบ้านยุคโลกาภิวัตน์
ภัควดี
วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก
"The Last Porto Alegre: Discerning the
state of the World Social Forum after five years"
Mark Engler,
February 14, 2005.
มาร์ค อิงเลอร์ เป็นนักเขียนจากเมืองนิวยอร์กซิตี
เขาเขียนทัศนะวิจารณ์ให้ Foreign Policy in Focus (www.fpif.org)
และมีเว็บไซท์ของตัวเองอยู่ที่ www.democracyuprising.com)
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้นำมาจากกระดานข่าวขนาดยาวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
http://board.dserver.org/m/midnightuniv/00001308.html
เวทีสังคมโลกครั้งที่ 5: ก้าวสู่แอฟริกา อำลาปอร์โตอาเลเกร - ภัควดี [30/05/2005
14:35] (0)
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4)
เวทีสังคมโลก เวทีชาวบ้านยุคโลกาภิวัตน์
เวทีสังคมโลกครั้งที่
5 : ก้าวสู่แอฟริกา อำลาปอร์โตอาเลเกร
ไม่ใช่ปารีสหรือโตเกียว ปักกิ่งหรือนิวยอร์ก ไม่ใช่เซาเปาลูหรือรีโอเดจาเนโร แต่ชาวเมืองปอร์โตอาเลเกรจะบอกคุณอย่างมั่นใจว่า เมืองขนาดกลางที่มีประชากร 1.5 ล้านคน ซึ่งตั้งอยู่เกือบใต้สุดของประเทศบราซิลนี่แหละที่เป็น "ป้อมปราการด่านสุดท้ายของสังคมนิยมและร็อคแอนด์โรล"
ไม่ผิดนักหรอก ซุ้มขายของที่เต็มไปด้วยเสื้อยืดสีดำสกรีนภาพวงดนตรี Iron Maiden ตั้งอยู่ดาษดื่นตามตลาดนัด และเทศบาลของเมืองนี้เป็นที่มั่นมานานของพรรค PT ซึ่งเป็นพรรคแรงงานของบราซิล แต่วันนี้ เมืองปอร์โตอาเลเกรมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ผู้คนที่มีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม, บรรษัทข้ามชาติ และการรุกรานทางทหารของสหรัฐอเมริกา เพราะเมืองนี้เป็นบ้านเกิดของ เวทีสังคมโลก (World Social Forum)
ห้าปีก่อน หลังจากการประท้วงองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเติ้ลในปลายปี ค.ศ. 1999 ซึ่งกลายเป็นตำนานการเปิดตัวของขบวนการสังคมใหม่ นักกิจกรรมหลายพันคนหลั่งไหลมาร่วมงานเวทีสังคมโลก เพื่อถกถึงปัญหาสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล้มละลายของบริษัทเอนรอนไปจนถึงไอเอ็มเอฟ การจัดงานดำเนินติดต่อกันมาทุกปีจนครบปีที่ 5
แนวคิดหลักที่สำคัญ
แนวคิดหลักเบื้องหลังคือ การสร้างสมัชชาประชาชนขนาดใหญ่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม
เพื่อให้ภาพและแนวทางที่ขัดแย้งแตกต่างจาก"เวทีเศรษฐกิจโลก"(World
Economic Forum) ซึ่งบรรดาผู้นำทางเศรษฐกิจโลกมาประชุมกันทุกปีที่เมืองดาวอส
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เวทีสังคมโลกดึงดูดผู้มาร่วมงานที่แตกต่างหลากหลาย มีตั้งแต่ประมุขระดับประเทศไปจนถึงนักทวนกระแสวัฒนธรรมที่เร่ร่อนไปอย่างเสรี ในบรรดาฝูงชนถึง 155,000 คน ที่มาร่วมงานในปีนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคม 48 ที่ผ่านมา (ตัวเลขประเมินของผู้จัดงาน) กลุ่มที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวมากที่สุด น่าจะเป็นบรรดาสื่อมวลชนที่แห่มาทำข่าว และนั่งอ้าปากค้างตามวงประชุมที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน
ปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการจัดงานเวทีสังคมโลกก็จริง แต่มีเค้าลางหลายอย่างว่ามันอาจจะเป็นปีสุดท้ายที่จัดงานกันที่ปอร์โตอาเลเกร ความเป็นเมือง "หัวก้าวหน้า" ของปอร์โตอาเลเกร ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เวทีสังคมโลกมาจัดงานที่นี่ตั้งแต่แรก กำลังถูกตั้งคำถาม หลังจากในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งกลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามของพรรค PT แต่ในเมื่อการจัดเวทีสังคมโลกสร้างผลดีทางเศรษฐกิจแก่เมืองนี้อย่างมิอาจประเมินได้ นายกเทศมนตรีคนใหม่จึงต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง จากที่เคยวิจารณ์มหกรรมนี้ว่าเป็น "ดิสนีย์แลนด์ทางอุดมการณ์"
กระนั้นก็ตาม เมืองอื่น ๆ กำลังเรียกร้องขอเป็นเจ้าภาพจัดงานบ้าง (การจัดงานที่ผ่านมาทั้ง 5 ครั้ง มีเพียงปีที่แล้ว คือ ค.ศ. 2004 เท่านั้น ที่ย้ายไปจัดงานที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย) แต่โอกาสการเป็นเจ้าภาพดูจะค่อนข้างยากขึ้นกว่าเดิม เพราะนับแต่นี้ไป การจัดงานจะมีขึ้นทุกสองปี ส่วนในปีหน้าที่ว่างเว้นงานใหญ่ นักเคลื่อนไหวทั้งหลายจะหันไปเน้นการจัดสมัชชาในระดับภูมิภาคแทน
ประธานาธิบดีบราซิล
ลูอิส อีนาเซียว "ลูลา" ดา ซิลวา
"ผมเป็นนักรบทางการเมือง" ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิส อีนาเซียว
"ลูลา" ดา ซิลวา ในเสื้อแจ๊กเก็ตสีขาว กล่าวปราศรัยในสนามกีฬา
ที่มีประชาชนมาชุมนุมกันอย่างแน่นขนัดในวันแรกของการเปิดงาน "ผมเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่"
แต่เสียงโห่ร้องกระหึ่มของผู้สนับสนุนพรรค PT กลับถูกกลบด้วยเสียงของสื่อมวลชนที่ช่วยกันกระพือข่าวของผู้ประท้วงกลุ่มไม่ใหญ่นัก
ซึ่งออกมาตำหนิลูลาที่ยังชำระหนี้ต่างประเทศของบราซิลต่อไป และไม่ยอมสลัดหลุดจากนโยบายทางเศรษฐกิจตามใบสั่งของไอเอ็มเอฟ
กระนั้นก็ตาม เป็นความจริงที่ประธานาธิบดีลูลา อดีตคนงานโรงงานเหล็กและผู้นำสหภาพแรงงาน ซึ่งหลายคนเคยฝากความหวังว่าจะเป็นวีรบุรุษฝ่ายซ้าย เมื่อตอนที่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อสองปีก่อน แต่การบริหารประเทศที่ผ่านมาของลูลา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตามเวทีอภิปรายต่าง ๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ เช่นเดียวกับปีก่อน ๆ ลูลาไปร่วมงานเวทีเศรษฐกิจโลกที่ดาวอสในปีนี้ด้วย โดยกล่าวว่า มันเป็นภารกิจที่เขาต้องไปเผชิญหน้ากับผู้นำโลกที่มั่งคั่ง เพื่อเรียกร้องให้ขจัดความยากจนและบุกเบิก "ภูมิศาสตร์ใหม่" ทางการเมืองที่ประเทศในซีกโลกใต้ไม่จำเป็นต้องยอมทนเป็นเบี้ยล่าง
ประธานาธิบดีอูโก
ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา
เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ลูลาไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งที่เวทีสังคมโลก
เมื่อเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นคนปราศรัยปิดงานในสนามกีฬาที่แออัดยัดทะนานพอ
ๆ กัน เขาใส่เสื้อยืดรูปเช เกวาราสีแดงสดใสพอ ๆ กับสีหมวกเบเรต์ของกอง รปภ.
ประจำตัว ชาเวซไม่ค่อยพูดถึง "ความเป็นหุ้นส่วน" กับซีกโลกเหนือเหมือนลูลา
และมีลีลาออกไปทางป่าวประณาม "ลัทธิจักรวรรดินิยม" มากกว่า
ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนการปราศรัย ชาเวซประกาศว่า เวทีสังคมโลกเป็นหนึ่งใน "มหกรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในรอบปีบนโลกใบนี้" เขาเอ่ยอ้างถึง "การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์" (วีรบุรุษที่เป็นผู้นำการปลดปล่อยหลายประเทศในละตินอเมริกาจากอาณานิคม) และกล่าวหาการรัฐประหารที่พยายามโค่นล้มตัวเขาในปี ค.ศ. 2002 ว่า "สั่งตรงมาจากยูเอสเอ" แถมยังเหน็บต่ออีกว่า "คุณนาย 'คอนโดเลนเซีย' ไรซ์ อาจพูดว่า อูโก ชาเวซเป็นพลังด้านลบในละตินอเมริกา ผมขอบอกว่า รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาคือพลังด้านลบที่เลวร้ายที่สุดในโลกทุกวันนี้!"
การจัดงานแบบประชาธิปไตยรากหญ้า
แม้ในขณะที่สองประธานาธิบดีปราศรัยปิดหัวปิดท้ายงาน วิทยากรคนอื่น ๆ อีกหลายสิบคนก็เปิดวงอภิปรายพร้อม
ๆ กันในกระโจมและโกดังว่าง ที่กระจายตลอดระยะทางเกือบสามไมล์ริมฝั่งแม่น้ำไกวบาของเมืองปอร์โตอาเลเกร
ในเวทีสังคมโลกครั้งก่อน ๆ การจัดงานมีขึ้นที่มหาวิทยาลัยคาทอลิก และในตอนเช้าจะมีการประชุมใหญ่ที่เปิดให้ผู้ร่วมงานทุกคนเข้าฟังองค์ปาฐกพิเศษ
ส่วนในปีนี้ มหกรรมทั้งหมดดำเนินไปในรูปแบบของการประชุมเชิงปฏิบัติการย่อย
ๆ ที่ "จัดการกันเอง" แม้จะได้รับคำชมว่าเป็นการจัดงานแบบประชาธิปไตยรากหญ้า
แต่มันก็ทำให้ความสำนึกถึงวัตถุประสงค์ส่วนรวมขาดหายไปไม่น้อย และตอกย้ำความรู้สึกว่า
มีการประชุมมากมาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ดำเนินไปพร้อมกันหมด
"สามปีก่อน ทุกคนพูดถึงแต่แผนโคลอมเบีย (Plan Colombia เป็นแผนการฟื้นฟูประเทศโคลอมเบียที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนทางการเงิน ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือสงครามต่อต้านยาเสพย์ติด ที่ใช้วิธีให้เครื่องบินพ่นยาฆ่าต้นโคคา แต่ไปทำลายพืชที่เป็นอาหารและก่อมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง) สองปีก่อนก็พูดถึงแต่อิรัก" นักกิจกรรมคนหนึ่งที่เคยร่วมงานปอร์โตอาเลเกรหลายครั้งบอก มาปีนี้เธอระบุว่า สิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาดในฐานะสาธารณูปโภคส่วนรวม กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของเวทีสังคมโลก
แต่เมื่อดูตารางการอภิปรายที่หนาถึงหลายร้อยหน้า ว่าด้วยสารพัดประเด็นตั้งแต่ปัญหาความยากจน, การค้า, สงครามและหนี้สิน ไปจนถึงเรื่องซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส, การค้าผู้หญิงและเด็กหญิง รวมทั้งผลกระทบของวัฒนธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพยายามชี้เจาะจงลงไปว่า ประเด็นไหนเป็นประเด็นหลักของงาน ไม่น่าจะทำได้เลย
เค้าลางแห่งความขัดแย้ง
การมาปรากฏตัวของลูลาและชาเวซเองก็กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียง และชี้เป็นนัย
ๆ ถึงทิศทางที่เวทีสังคมโลกอาจกำลังต่อยอดไปถึง นั่นคือ"อำนาจรัฐ"
ความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งในละตินอเมริการะยะหลังคือ
การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลเอียงซ้าย ไม่เฉพาะในบราซิลและเวเนซุเอลา ยังรวมถึงอาร์เจนตินา,
อุรุกวัย, เอกวาดอร์และชิลี เพียงแต่เอียงมากเอียงน้อยต่างกันไปเท่านั้นเอง
ความเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับขบวนการสังคมใหม่ ซึ่งมีความสัมพันธ์อิหลักอิเหลื่อกับรัฐเสมอมา ในด้านหนึ่ง กลุ่มที่คัดค้านอำนาจและความไม่โปร่งใสของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ มักยอมรับหลักการอำนาจอธิปไตยของรัฐโดยไม่มีข้อแม้ ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรตัดสินใจด้วยตัวเองได้ว่า จะใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบไหน จุดยืนของคนกลุ่มนี้กลับกลายเป็นปัญหาสำหรับกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้ภายในประเทศที่ปกครองโดยผู้นำขวาจัด
ในอีกด้านหนึ่ง ความหวาดระแวงที่กลุ่มอนาธิปไตยมีต่อรัฐ กลายเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาทางออกที่นอกเหนือไปจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ ความสำเร็จของโครงการกระจายสวัสดิการสังคมในเวเนซุเอลา และการที่อาร์เจนตินาตัดสินใจแข็งข้อต่อไอเอ็มเอฟ และพักชำระหนี้เกือบทั้งหมด ถูกหยิบยกมาเป็นบทพิสูจน์ว่าอำนาจรัฐยังมีประโยชน์อยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม กฎบัตรของเวทีสังคมโลกที่ไม่ยินยอมให้พรรคการเมืองใด ๆ มาร่วมงานอย่างเป็นทางการ ยังคงยึดถือกันอย่างเคร่งครัด ผู้ร่วมงานที่สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปสังคมของชาเวซกล่าวว่า ความสำเร็จในด้านดีที่สุดของรัฐบาลเวเนซุเอลาคือ การเปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา และแม้กระทั่งกลุ่มคนที่พยายามปกป้องลูลาก็ยังกล่าวว่า ประชาชนต้องกดดันรัฐบาลต่อไปเพื่อให้รัฐหันมาสนใจความต้องการของผู้ยากไร้ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในบราซิล
ระหว่างที่สองประธานาธิบดีปราศรัย ด้านนอกมีวงอภิปรายหลายสิบวงกำลังวางกลยุทธ์ว่าจะสร้างแรงกดดันอย่างไร เพื่อนำมาใช้กับทุกรัฐบาลอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอียงซ้ายหรือเอียงไปทางไหนก็ตาม
ดาวเด่นบนเวทีสังคมโลก
"นี่ถ้าฉันอายุน้อยสักหน่อย" นักกิจกรรมผู้คร่ำหวอดคนหนึ่งบ่น
"ฉันคงทนความร้อนได้ดีกว่านี้" ฤดูร้อนปลายเดือนมกราคมในปอร์โตอาเลเกรไม่ปรานีใคร
ยามเช้าวันใหม่อาจนำความสดชื่นมาให้ใจชื้นว่า เมล็ดพันธุ์ของสังคมใหม่คงกำลังเพาะให้งอกงามในการประชุมร้อยแปดของวันนั้น
แต่พอตกบ่าย รังสีร้อนแรงของดวงอาทิตย์แผดเผาชอนไชจนทำให้ใคร ๆ ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า
ทั้งหมดนี้มันคุ้มกันหรือเปล่า
แม้จะได้ลูลามาช่วยออกสตาร์ท แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีความชัดเจนว่า มีใครอีกที่จะทำให้งานเทศกาลร้อนระอุครั้งนี้มีความหมายขึ้นมา ชื่อบางชื่อในรายการที่คุ้นหูชาวอเมริกันซีกโลกเหนืออย่าง อรุณธาตี รอย, โนอัม ชอมสกี, นาโอมี ไคลน์ แม้กระทั่งโคฟี อันนัน กลับไม่เห็นวี่แววของตัวจริงในสถานที่และเวลาตามหมายกำหนดการ ไม่เคยมีการยืนยันแน่นอนว่า พวกเขาจะมาปรากฏตัวในบราซิล กระนั้น ยังมีดาวเด่นดวงอื่น ๆ พอทดแทนกันได้บ้าง
ในการประชุมใหญ่ที่มีชื่อหัวข้อว่า "ดอนกีโฮเตในวันนี้: ยูโทเปียและการเมือง" โฮเซ ซารามาโก นักเขียนรางวัลโนเบล และเอดัวร์โด กาเลอาโน นักเขียนชื่อดังชาวอุรุกวัย (บนเวทีอภิปรายที่มีแต่ผู้ชายอีกแล้ว) แสดงความคิดเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับความใฝ่ฝันแบบดอนกีโฮเตกับนักกิจกรรมในสมัยนี้ ท่ามกลางผู้ฟังแน่นขนัดเต็มทุกม้านั่งในหอประชุมใหญ่
กาเลอาโนพรรณนาถึงสภาวะขัดแย้งของโลกที่นวนิยายซึ่งได้รับการเชิดชูมาหลายศตวรรษ แต่กลับมีจุดเริ่มต้นในคุก "เพราะเซร์บันเตสเป็นหนี้ เช่นเดียวกับพวกเราในละตินอเมริกา" เขากล่าวว่าความใฝ่ฝันถึงสังคมอุดมคติคือพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยอ้างถ้อยคำของเชในจดหมายฉบับสุดท้ายที่เขียนไปถึงพ่อแม่ว่า "อีกครั้งที่ผมรู้สึกเหมือนส้นเท้ากำลังสัมผัสกับซี่โครงของโรซินันเต" (โรซินันเตเป็นชื่อม้าของดอนกีโฮเต)
ซารามาโกไม่เห็นด้วย "ผมคิดว่า สังคมอุดมคติเป็นแนวคิดที่ยิ่งกว่าไร้ประโยชน์" เพราะ "สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกไม่ใช่อุดมคติ แต่คือความจำเป็นต่างหาก" และ "เวลาและสถานที่เดียวที่การลงแรงของเราจะก่อให้เกิดผล ผลที่เรามองเห็นและประเมินได้ นั่นคือวันพรุ่งนี้...อย่ามัวรอสังคมอุดมคติเลย"
"แถลงการณ์ปอร์โตอาเลเกร"
บรรยากาศของเวทีสังคมโลกน่าจะโน้มเอียงไปทางทัศนะของกาเลอาโน แต่คำโต้แย้งของซารามาโกก็ได้รับการยืนปรบมือ
ในตอนปลายสัปดาห์ กลุ่มคนดังผู้เข้าร่วมงานรวม 19 คน รวมทั้งสองนักเขียนข้างต้น
ออกแถลงการณ์ที่มีชื่อว่า "แถลงการณ์ปอร์โตอาเลเกร" สาระสำคัญคือข้อเรียกร้อง
12 ข้อ มีอาทิเช่น ยกเลิกหนี้สิน, เก็บภาษีจากการโอนถ่ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไรระหว่างประเทศ,
ท้องถิ่นมีอำนาจในการควบคุมจัดการอาหารของตนเอง และปรับปรุงสถาบันการเงินระหว่างประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
นักวิจารณ์หลายคนออกมาโจมตีทันทีว่า แถลงการณ์ของกลุ่มคนดังเป็นการกระทำที่ขัดกับบุคลิกที่เน้นประชาธิปไตย "แนวระนาบ" ของเวทีสังคมโลก ผู้ลงนามในแถลงการณ์บางคนพยายามอธิบายว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ เป็นแค่ข้อเสนอหนึ่งในจำนวนมากมายที่จะตามออกมา (การแถลงข่าวปิดงานของเวทีสังคมโลกระบุว่า มีถึง "352 ข้อเสนอ" ที่ได้รับการยอมรับ) ส่วนผู้ลงนามคนอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นชัดเจนว่า การมีเค้าโครงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือหัวใจสำคัญ ที่จะผลักดันให้เวทีสังคมโลกก้าวไปข้างหน้าในฐานะพลังทางการเมือง
นี่คือประเด็นที่เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของเวทีสังคมโลก และขบวนการสังคมใหม่มาแต่ไหนแต่ไร การปักหลักอยู่กับกระบวนการประชาธิปไตยในแนวระนาบที่ไม่มีผู้นำชัดเจน ช่วยสร้างให้เกิดเครือข่ายของขบวนการทางสังคมที่เข้มแข็งและดึงดูดคนรุ่นใหม่ ๆ "ผู้เบื่อหน่ายปูชนียบุคคล" เข้ามาได้มาก แต่ในขณะเดียวกัน การไม่มีผู้นำหรือแม้กระทั่งคณะผู้แทนอย่างเป็นทางการ ทำให้ข้อเสนอของขบวนการมีมากมายจนท่วมท้นและดูเหมือนสับสนยุ่งเหยิงไปหมด
ลงท้ายสื่อมวลชนที่ต้องการอะไรสักอย่างมาพาดหัวข่าว จึงมักหันไปหาเอ็นจีโอใหญ่ ๆ ที่มาร่วมงาน เช่น Oxfam หรือ Save the Children ซึ่งใช้เวทีสังคมโลกเป็นสถานที่ประกาศโครงการรณรงค์ระดับโลก เพื่อต่อต้านความยากจน
แม้จำนวนผู้มาร่วมงานจะน่าประทับใจ แต่ความหลากหลายยังคงมีไม่มากนัก 85% ของผู้ร่วมงานในปีนี้เป็นชาวละตินอเมริกา โดยมีชาวบราซิลเจ้าภาพครองอันดับหนึ่ง รองลงมาคือชาวอุรุกวัยและอาร์เจนตินาที่เป็นเพื่อนบ้านติดกัน ส่วนนักกิจกรรมในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ราคาค่าเดินทางยังเป็นปัญหาสาหัส ตัวแทนสหภาพแรงงานใหญ่ ๆ ยังมาร่วมงานน้อยเหมือนเดิม จำนวนเอ็นจีโอก็ไม่เพิ่มขึ้นไปกว่าปีก่อน ๆ
แต่ใช่ว่าเวทีสังคมโลกจะไม่มีวาระที่เป็นรูปธรรมออกมาให้เห็น กลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านสงครามลงมติให้วันที่ 19-20 มีนาคม เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อต่อต้านสงคราม (การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์เมื่อสองปีก่อน มีจุดกำเนิดที่เวทีสังคมโลกเช่นกัน) และทางฝ่ายกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมก็ช่วยกันวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
บรรยากาศเวทีสังคมโลก
ย้อนกลับไปสมัยที่เวทีสังคมโลกจัดกันในมหาวิทยาลัย ฝ่ายคาทอลิคมักหาทางขัดขวางการขายเสื้อยืดที่มีเครื่องหมายการปฏิวัติ
แต่ในเมื่อปีนี้ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาเหนี่ยวรั้งการทำมาค้าขายอีก ซุ้มขายอาหารและของที่ระลึกจึงผุดขึ้นตลอดแนวฝั่งแม่น้ำ
และลามเข้าไปในพื้นที่จัดการประชุม การตั้งค่ายเยาวชนไว้ตรงกลางพื้นที่จัดงานเวทีสังคมโลก
ยิ่งสร้างบรรยากาศเหมือนงานเทศกาลวู้ดสต็อก เมืองกระโจมที่รองรับคนหนุ่มสาวถึง
35,000 คน ครึกครื้นไปด้วยการแสดงและเสียงกลอง การละเล่นรอบกองไฟในยามดึกดื่น
ไปจนถึงวัฒนธรรมฮิปฮอป และศิลปะกราฟิตี(แบบพ่นสีบนฝาผนัง)
ไม่น่าแปลกใจที่บรรยากาศแบบงานคาร์นิวัลจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเหน็บแนม หรือถึงขั้นตำหนิติเตียนจากฝ่ายที่ไม่อยากเห็นการจัดเวทีสังคมโลก แต่พื้นที่เปิดเช่นนี้แหละที่ผู้ร่วมงานรากหญ้าได้เตร็ดเตร่ พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและค้นพบแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะการปะทะสังสรรค์กันระหว่างนักกิจกรรมจากซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
ผู้นำสตรีคนหนึ่งจากศูนย์แรงงานไมอามี ได้ไปเยี่ยมชมไร่นาที่เคยรกร้างแห่งหนึ่งใกล้เมืองปอร์โตอาเลเกร ที่ดินผืนนี้ในปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การยึดครองของขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (MST) ของบราซิล เธอกล่าวว่า "เราได้พบขบวนการของชาวบราซิลที่มีการจัดตั้งแบบเดียวกับเรา...นั่นช่วยให้เราทั้งสองฝ่ายต่างมีกำลังใจ"
การเดินเล่นไปเรื่อย ๆ อาจให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไม่รู้ลืม เหมือนนักกิจกรรมชาวอเมริกันคนหนึ่งเล่าว่า ขณะที่เธอเดินไปด้วยความ "เหนื่อย ร้อน นอนไม่พอ" เธอบังเอิญไปเจอการประชุมเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและ "วรรณะจัณฑาล" ของอินเดีย ข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ของความไร้บ้าน และไร้ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างปลุกเธอให้ตื่นเต็มตา และเมื่อชาวอินเดียกลุ่มนั้นเปล่งเสียงร้องเพลงหรือสวดอะไรสักอย่าง เธอเล่าว่า "มันเป็นการป่าวร้องที่จริงใจและไร้การปรุงแต่งที่สุดที่ฉันเคยพบเห็นมา... ฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรถึงความรู้สึกพิเศษที่ได้ยืนอยู่ตรงหน้าพวกเขา"
ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและคุรุด้านฟรีซอฟต์แวร์ ลอเรนซ์ เลสสิก เขียนไว้ในบล็อกของตน เล่าถึงการเดินผ่านค่ายเยาวชนไปกับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของบราซิล จิลเบร์ตู จิล อดีตนักร้องนักดนตรีชื่อดัง จิลได้รับการต้อนรับจากคนหนุ่มสาวสลับกันไประหว่างการประท้วงอย่างมีอารมณ์เพื่อเรียกร้องวิทยุเสรี (จิลชอบและสนุกกับการวิวาทะ) กับการขอให้ร้องเพลงพ็อพยอดนิยมของตน (โดยมีคนร้องตามเป็นกลุ่มใหญ่)
"นี่คือรัฐมนตรีของรัฐบาล เผชิญหน้าตรง ๆ กับผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน" เลสสิกเขียน "ไม่มีปืน ไม่มีคนในชุดดำ ไม่มีความตื่นเต้นโกลาหล ไม่มีสื่อมวลชนห้อมแหน ลองวาดภาพดูเองก็แล้วกัน"
ในอีกที่หนึ่ง เราได้เห็นนักเรียนไฮสกูลกลุ่มหนึ่งกำลังลากเก้าอี้มานั่ง ท่ามกลางฝูงชนล้นหลามหน้าโกดังที่แน่นขนัด ซึ่งเป็นสถานที่จัดอภิปรายของนักทฤษฎีหลายคน เรามองไม่เห็นผู้ร่วมอภิปราย แต่จากลำโพงที่กระจายเสียงผู้อภิปรายออกมาด้านนอกที่ร้อนระอุ ไม่ว่าใครก็ต้องฉุกคิดได้ว่า นี่คือภาพเหตุการณ์เรียบง่ายที่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำ
การได้มองดูกลุ่มวัยรุ่นที่ทนนั่งกลางแดดเปรี้ยง
ตั้งอกตั้งใจฟังคำบรรยายทางทฤษฎีนามธรรมที่ฟังแทบไม่รู้เรื่อง จากตัวจริงเสียงจริงของไมเคิล
ฮาร์ดท์ ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Empire อันลือลั่น ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น
"แถลงการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ยุคใหม่" มันเป็นภาพที่ทำให้เกิดศรัทธาแช่มชื่นในความอดทนและอุทิศตัวของเยาวชนรุ่นต่อไป
เวทีสังคมโลก เวทีชาวบ้านยุคโลกาภิวัตน์
คงมีนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าไม่กี่คนที่กล้าพูดว่า เวทีสังคมโลกเป็นมหกรรมที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
แต่ก็มีน้อยคนเช่นกัน รวมทั้งบรรดานักวิจารณ์ปากกล้าทั้งหลาย ที่จะกล้าออกมาฟันธงว่า
เวทีสังคมโลกไม่มีคุณูปการอะไรเลย หากประเมินมหกรรมของนักเคลื่อนไหวด้วยสายตาที่ไม่ลำเอียง
ผลลัพธ์ที่ออกมาคงมีทั้งดีและไม่ดีผสมปนเปกันไปเป็นสีเทา ๆ
ถ้ามองย้อนกลับไปดูเวทีสังคมโลกทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา เรามีข้อสรุปและความคาดหวังอะไรบ้าง?
แนวคิดเบื้องต้นของการจัดมหกรรมแบบนี้ยังถือว่าใช้ได้ เราต้องยอมรับว่า การมีสถานที่สักแห่งให้ขบวนการสังคมใหม่ได้มาปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนกัน สถานที่รวมพลของบรรดาผู้คนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาในโลกโลกาภิวัตน์ เป็นสิ่งที่มีคุณูปการหาน้อยไม่ ยิ่งเมื่อนึกถึงความมั่งคั่งหรูหราที่เมืองดาวอส เรายิ่งสมควรมีสถานที่สักแห่งไว้คอยเตือนสติ และเรียกร้องความชอบธรรมให้โลกอีกใบหนึ่งที่ไม่เหมือนกับโลกที่เป็นอยู่
ในฐานะพื้นที่สร้างสรรค์ในเชิงบวก ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ประท้วงของมวลชนในการประชุมองค์การการค้าโลกหรือไอเอ็มเอฟ เวทีสังคมโลกเปิดโอกาสล้ำค่าในการแสวงหาเส้นทางเลือกใหม่ ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ อิทธิพลที่มันส่งผลกระทบต่อดาวอส จนเดี๋ยวนี้บรรดาผู้นำทั้งหลายต้องออกมาถ่ายรูปวางท่าใคร่ครวญปัญหาเกี่ยวกับความยากจนและโรคเอดส์ เป็นข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้
เวทีสังคมโลกมีการเติบโตและขยายตัวตลอดมา งานในแต่ละปีใหญ่กว่าปีที่แล้วเสมอ ในแง่นี้ มันไม่ได้หยุดนิ่งหรือถอยหลังเลย ผู้นำขบวนการสังคมต่าง ๆ ให้ความสนใจกับมันมากขึ้น พอ ๆ กับนักกิจกรรมรากหญ้าที่ดั้นด้นมาด้วยตัวเอง มันยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างจากวงอภิปรายในมหาวิทยาลัยแบบเดิม ๆ
แต่เวทีสังคมโลกก็ต้องสลัดตัวให้หลุดจากความซ้ำซาก การเปลี่ยนไปจัดงานสองปีครั้งถือเป็นการตัดสินใจที่เฉียบแหลม แม้ว่าการย้อนกลับมาจัดงานที่เมืองปอร์โตอาเลเกรอีกจะถือเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง เพราะครั้งที่แล้วที่มันย้ายไปจัดที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ช่วยสร้างผลดีให้มันมากมาย หากเวทีสังคมโลกจะก้าวต่อไปข้างหน้า มันต้องดึงการมีส่วนร่วมจากภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกเข้ามาให้มากขึ้น การจัดเวทีสังคมโลกในปี ค.ศ. 2007 ในแอฟริกา จึงส่งสัญญาณที่ดีในแง่นี้
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หากใครเดินเล่นริมแม่น้ำไกวบาในเย็นวันสุดท้ายของการจัดงาน ในสายลมอ่อนที่พัดโบกมาจากแม่น้ำ ผู้คนมากหน้าหลายตายังอ้อยอิ่งกลางแสงสนธยา คนกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อตราสหภาพนั่งเล่นอยู่ริมถนน คุยกับพ่อค้าขายเนื้อย่าง
ชาวบราซิลคณะหนึ่งแสดงศิลปะการต่อสู้ของทาสอยู่กลางถนน กลุ่มต่อต้านบุชยืนแจกใบปลิวเชิญชวนให้เข้าเยี่ยมเว็บไซท์ มีการแสดงระบำเป็นวงกลมหน้ากระโจมเรียกร้องสิทธิของชาวพื้นเมือง ชั่วขณะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมืองปอร์โตอาเลเกรคงใจหายและอาลัยอาวรณ์เหมือนกันที่ต้องเห็นเวทีสังคมโลกโบกมืออำลา
ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก
Mark Engler, "The Last Porto Alegre: Discerning the state of the World Social Forum after five years"
February 14, 2005.
(มาร์ค อิงเลอร์ เป็นนักเขียนจากเมืองนิวยอร์กซิตี เขาเขียนทัศนะวิจารณ์ให้ Foreign Policy in Focus (www.fpif.org) และมีเว็บไซท์ของตัวเองอยู่ที่ www.democracyuprising.com)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แนวคิดเบื้องต้นของการจัดมหกรรมแบบนี้ยังถือว่าใช้ได้ เราต้องยอมรับว่า การมีสถานที่สักแห่งให้ขบวนการสังคมใหม่ได้มาปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนกัน สถานที่รวมพลของบรรดาผู้คนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาในโลกโลกาภิวัตน์ เป็นสิ่งที่มีคุณูปการหาน้อยไม่ ยิ่งเมื่อนึกถึงความมั่งคั่งหรูหราที่เมืองดาวอส เรายิ่งสมควรมีสถานที่สักแห่งไว้คอยเตือนสติ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
"สามปีก่อน ทุกคนพูดถึงแต่แผนโคลอมเบีย (Plan Colombia เป็นแผนการฟื้นฟูประเทศโคลอมเบียที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนทางการเงิน ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือสงครามต่อต้านยาเสพย์ติด ที่ใช้วิธีให้เครื่องบินพ่นยาฆ่าต้นโคคา แต่ไปทำลายพืชที่เป็นอาหารและก่อมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง) สองปีก่อนก็พูดถึงแต่อิรัก" นักกิจกรรมคนหนึ่งที่เคยร่วมงานปอร์โตอาเลเกรหลายครั้งบอก มาปีนี้เธอระบุว่า สิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาดในฐานะสาธารณูปโภคส่วนรวม กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของเวทีสังคมโลก แต่เมื่อดูตารางการอภิปรายที่หนาถึงหลายร้อยหน้า รวมทั้งผลกระทบของวัฒนธรรม การพยายามชี้เจาะจงว่า ประเด็นไหนเป็นประเด็นหลักของงาน ไม่น่าจะทำได้เลย