ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
010648
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 580 หัวเรื่อง
สิทธิเสรีภาพสื่อในมือธุรกิจการเมือง
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจาก
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

จากบทนำหนังสือเรื่อง
ยุคปิดหู ปิดตา ปิดปาก : สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ
โครงการการสื่อสารแนวราบ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทนำชิ้นนี้ได้รับมาจากอาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

หมายเหตุ: บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหา ๒ ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นบทนำจากหนังสือ
ยุคปิดหู ปิดตา ปิดปาก : สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ
ส่วนที่สองเป็นหลักการและเหตุผลการประชุมวิชาการเรื่องเดียวกันนี้
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)



ส่วนที่หนึ่ง : บทนำ
นักวิชาการ ปัญญาชน สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพไทยและต่างประเทศ ได้แสดงความห่วงใยว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่มากน้อยขนาดไหน บรรยากาศแห่งความกลัว และความอึมครึมจะแผ่ปกคลุมหนาทึบขึ้นอีกหรือไม่

เวลานี้เรากำลังถูกท้าทายจากคำถามหลายคำถาม เช่น
เราจะอยู่กันอย่างไรในสังคมที่ไม่มีกระจกสะท้อนความจริง ?
เราจะทนอยู่ในสภาพที่อึดอัด ขาดอากาศ ไปได้ขนาดไหน ?
เราจะกลายสภาพไปเหมือนสังคมการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์หรือไม่ ?

มองย้อนไปก่อนหน้านี้ ประชาชนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในหลายด้านและหลายรูปแบบ ทั้งจากโครงสร้างของรัฐและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ การใช้ความรุนแรงในการสังหารประชาชนและผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิด โดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรม เช่นกรณีวิสามัญฆาตกรรมผู้ค้ายาเสพติด เรื่องการยิงชาวบ้านที่มัสยิดกรือเซะ และ อ.สะบ้าย้อย จ.ปัตตานี และที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (๒๕๔๗) ยังได้ชี้ให้เห็นสภาพว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นหนึ่งในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่รัฐบาลได้ละเมิดอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๔-๒๕๔๗ ด้วยการใช้อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองควบคุมและแทรกแซงสื่อมวลชน

อำนาจรัฐปิดหู ปิดตา ปิดปากสื่อและประชาชน
หนังสือ "ยุคปิดหู ปิดตา ปิดปาก : สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ" ประสงค์จะวิเคราะห์สภาพการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา ให้เห็นเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าการควบคุมสื่อในระบอบอำนาจนิยม มีวิธีการอย่างไร กฎหมายถูกบิดเบนแบบไหน เพื่อรับใช้ใคร การสร้างข่าวใหญ่และข่าวใหม่มีกลเม็ดที่เกี่ยวพันกับการกำหนดวาระทางการเมืองอย่างไร ทำไมประชาชนจึงเห็นว่าภาพลวงตาเป็นภาพจริง และเหตุใดพลังของการโฆษณาชวนเชื่อ จึงเข้ามาบิดเบือนตรรกะของเราให้ผิดเพี้ยนไป เห็นผิดเป็นถูกได้

ในหนังสือเล่มที่ท่านถืออยู่นี้ ผู้อ่านจะพบว่าทุก ๆ บทความเขียนขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าและประสบการณ์อันยาวนานของผู้เขียนแต่ละท่าน สะท้อนมุมมองจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และสื่อมวลชนอย่างเฉียบคม ตรงไปตรงมา เนื้อหาในเล่มมีทั้งการวิพากษ์ระบบ การชี้ชวนให้คิดตริตรอง และการเสนอทางออกจากสภาพที่ดูเหมือนตีบตัน เช่น

กรณีศึกษาจากประเทศเปรูที่ใช้การจัดการกับสื่อให้เงียบเสียงเพื่อให้การเมืองนิ่ง ทำให้รู้ว่ารัฐบาลไทยใช้วิธีการควบคุมและคุกคามสื่อคล้าย ๆ กับประเทศในอเมริกาใต้ และทำให้รู้ต่อไปด้วยว่าที่เปรูนั้น รัฐบาลควบคุมสื่ออย่างที่ต้องการไม่ได้เพราะอะไร แม้ว่ารัฐบาลจะจ่ายสินบนให้กับสื่อมวลชน (โดยเฉพาะโทรทัศน์) มากกว่ากลุ่ม ส.ส. และศาล ถึง ๑๐๐ เท่า ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร เล่าตัวอย่างจากเปรูเพื่อเน้นย้ำว่าสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนในสังคมไทยคือการนำเรื่องการปฏิรูปสื่อขึ้นสู่วาระแห่งชาติ

หลายคนสงสัยว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องแทรกแซงสื่อ แทนที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และทำไมรัฐบาลที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในการบริหารประเทศ จึงกลัวเกรงเสียงวิพากษ์วิจารณ์นัก เรื่องนี้ข้อเขียนของรองศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ มีคำตอบแบบฟันธงตรงประเด็นว่า

ระบอบทักษิณไม่ได้ยึดถือแนวทางการเมืองแบบประชาธิป ไตยแต่อย่างใด แต่เป็น "ระบอบปฏิปักษ์ปฏิรูป" เพราะได้เลือกเอาการปฏิรูปการเมืองเพียงด้านเดียวขึ้นมาใช้คือ ด้านการรวมศูนย์อำนาจรัฐ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธด้านที่เป็นการปฏิรูปเสรีนิยมที่มุ่งหมายให้มีการจำกัดอำนาจรัฐ และด้านที่เป็นการปฏิรูปประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจรัฐ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองทั้ง ๓ ด้านเพื่อให้มีการถ่วงดุล หนุนเสริม และตรวจสอบซึ่งกันและกัน แต่ระบอบทักษิณได้ลดทอนการปฏิรูปด้านอื่น ๆ จนหมด เหลือแต่เพียงการรวมศูนย์อำนาจรัฐเท่านั้น ผลที่ปรากฏก็คือระบบการเมืองที่ปิดหูปิดตาปิดปากฝ่ายค้าน และปิดเสียงของความเห็นที่แตกต่างจากอำนาจรัฐ

ในระบอบทักษิณสื่อจึงถูกผูกขาดตัดตอน มีการสร้างเสียงข้างมากและผลประโยชน์ส่วนรวมในรูปแบบเสมือนจริง (manufacturing of virtual majority and virtual public interest) เพื่อปิดกั้น ปฏิเสธและบดขยี้เสียงข้างน้อยหรือเสียงคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ในนามของเสียงข้างมาก

สื่อในอุ้งมือทุน
สื่อที่อิงกับระบบทุนอย่างเต็มที่ใช้วิธีการทำงานอย่างไรจึงครอบงำสังคมอย่างได้ผล
คำอธิบายแบบกะทัดรัดเข้าใจง่ายก็คือ ใช้อำนาจและตรรกะของทุน ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวของ "สื่อภายใต้รัฐที่เป็นเครื่องมือของทุน" ว่า ภัยคุกคามอันใหม่ที่ควบคุมประชาชนได้ยิ่งกว่ารัฐ คืออำนาจเถื่อนของทุน การคุกคามเสรีภาพสื่อของทุนนั้นทำได้เด็ดขาดกว่าและแนบเนียนกว่าการคุกคามและควบคุมโดยรัฐ

เราจึงเห็นสื่อหลีกเลี่ยงเรื่องความขัดแย้งและปัญหาลึก ๆ ของชุมชนและสังคม ไม่สนใจเจาะลึกเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือประสิทธิผลของโครงการเอื้ออาทรทั้งหลาย หรือนโยบายการใช้ความรุนแรง เช่น ในกรณีวิสามัญฆาตกรรมผู้ค้ายาบ้า และความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อมวลชนและองค์กรสื่อในระบบนี้ไม่นำพาต่อความเป็นพลเมืองของประชาชนหรือการกำกับของสังคม ต่างพากันเดินเข้าสู่ระบบทุนเก็งกำไรของตลาดหลักทรัพย์ เสมือนหนึ่งเป็นปรากฎการณ์ปกติธรรมดา

กลวิธีการจัดการให้สื่อมวลชนให้กลายเป็น "สื่อของทุน" มีมากมายหลายวิธี ตั้งแต่การซื้อนักข่าว พิธีกร ผู้ดำเนินรายการเป็นรายบุคคล หรือให้เงินโฆษณาก้อนโตแก่สื่อ ไปจนถึงการยึดและย้ายกรรมสิทธิ์คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ไปเป็นของธุรกิจเอกชน และธุรกิจในเครือที่ใกล้ชิดกับนักการเมือง เช่น กรณีของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕, วิทยุและโทรทัศน์ในเครือ อ.ส.ม.ท., สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

แต่ละช่องหรือเครือข่ายล้วนมีวิธีการที่แยบยลในการหลบเลี่ยงกฎหมาย หรือเงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในท้ายที่สุด คือการกลายสภาพเป็นสื่อของทุน กรณีเหล่านี้ได้บันทึกรวมไว้ในส่วนภาคผนวกของหนังสือ เพื่อให้เห็นภาพการละเมิดหลักนิติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทุนจัดการกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างไร
การทำสื่อให้กลายเป็นสื่อของทุนในระบอบทักษิณ ไม่ได้หมายความเฉพาะการทำให้สื่อของรัฐกลายพันธุ์เท่านั้น ทว่ายังมีวิธีการอีกมากมายหลายวิธีที่ถูกนำมาใช้จัดการกับสื่อมวลชน เพื่อให้พูดตามใบสั่งของระบบทุนด้วย วิธีการเหล่านี้มีตั้งแต่การขอร้อง การเซ็นเซอร์ การสั่งย้ายผู้ดำเนินรายการหรือปิดรายการ การข่มขู่ให้สยบยอม ไปจนถึงการปลดบรรณาธิการ วิธีหลังเป็นมาตรการที่รุนแรงมาก เปรียบเสมือนคำสั่งประหารทีเดียวสำหรับนักวิชาชีพสื่อมวลชน เช่นกรณีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่ถูกฝ่ายบริหารปลดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเป็นตัวอย่าง (ดูรายละเอียดในภาคผนวก)

เทพชัย หย่องได้สะท้อนไว้ในบทความของเขาว่าสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน หวงแหนอิสรภาพแห่งวิชาชีพ ถูกทำให้กลายเป็นสุนัขรับใช้ที่ว่านอนสอนง่ายไปแล้ว คติที่ถูกยกขึ้นมาอ้างคือ "ให้รัฐบาลบริหารประเทศไทยไปก่อน อย่าเพิ่งวิจารณ์" หรือ "ชาวบ้านชื่นชอบรัฐบาลมาก อย่าไปขวางกระแส"

ทว่า สังคมที่เชื่อในวิถีประชาธิปไตยย่อมไม่อาจหลีกหนีหรือกลบเกลื่อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยามใดที่เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นพร้อม ๆ กันจากสื่อมวลชนและสังคม เช่นความเห็นคัดค้านนโยบายประชานิยมหรือเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ ปฏิกิริยาที่วิญญูชนสามารถคาดเดาได้ไม่ยาก ก็คือถ้อยคำบริภาษจากผู้นำรัฐบาลที่บันดาลโทสะ เป็นวิธีของนักอำนาจนิยมที่ใช้จัดการกับเสียงคัดค้านกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังคงยืนหยัดรักษาสิทธิเสียงส่วนน้อยไว้อย่างเหนียวแน่น

หากว่าสื่อมวลชนและสังคมยังคงดื้อรั้น กลไกของทุนและรัฐที่ผนวกกันอย่างแนบแน่นก็จะใช้วิธีการที่เฉียบขาดยิ่งขึ้นไปอีก คือการตรวจสอบทรัพย์สิน การฟ้องหมิ่นประมาท และการจับกุมดำเนินคดี ดังจะเห็นได้จากกรณีที่รัฐบาลสั่งให้ ปปง. ตรวจสอบทรัพย์สินของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และตรวจสอบทรัพย์สินของเอ็นจีโอ นักการเมืองฝ่ายค้านบางคนและนักธุรกิจบางคน หรือกรณีการจับกุมผู้ประสานงานวิทยุชุมชนจังหวัดอ่างทอง ก็ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างขั้นเด็ดขาด ในการใช้กฎหมายปิดปากสื่อภาคประชาชนให้เงียบ (ดูภาคผนวก)

สำหรับการฟ้องคดีหมิ่นประมาทก็มีสถิติเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ในคดีเหล่านี้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมากเพื่อข่มขู่และกดดันให้สื่อต้องยุติการรายงาน "ความจริง" และการวิพากษ์วิจารณ์ นับว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลชะงัดในยุคที่สื่อเป็นส่วนหนึ่งของทุนอย่างแยกกันไม่ออกเช่นนี้

ในยุคนี้ คดีที่นับว่าสั่นสะเทือนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากที่สุดคือคดี บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ฟ้องหมิ่นประมาทคดีอาญาและคดีแพ่งต่อสื่อมวลชนและแหล่งข่าวเมื่อปี ๒๕๔๖ จำเลยคือ นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โจทก์เรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง ๔๐๐ ล้านบาท จากมูลเหตุที่ นางสาว สุภิญญา แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น (ไทยโพสต์, ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖)

คดีประวัติศาสตร์คดีนี้มีที่มาจากข้อมูลในรายงานเรื่อง 'ระบบสื่อสารครบวงจรภายใต้อาณาจักรชินคอร์ป ผลประโยชน์ทับซ้อนที่มิอาจปฏิเสธ' ซึ่งชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเชิงธุรกิจ (Conflict of Interest) หรือมีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างผลประโยชน์ครอบครัวกับผลประโยชน์ของประเทศอย่างชัดเจน และนำไปสู่ความคลางแคลงใจของสังคม

การฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยบริษัทเอกชน ด้วยการอ้างเหตุเพื่อปกป้องชื่อเสียงและเกียรติยศของบริษัท นับเป็นมิติใหม่ของการฟ้องหมิ่นประมาทในยุคนี้ที่ต้องจับตามองว่าคดีจะลงเอยอย่างไร การสืบพยานทั้งสองฝ่ายในคดีอาญาจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ ท่านผู้อ่านสามารถพลิกไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้องของ บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น และคำให้การของนางสาว สุภิญญา ได้ในภาคผนวก

จับตายวาทกรรมนักมายากลโฆษณาชวนเชื่อ
ก่อนอื่น เราต้องอย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ใช้หลักกาลามสูตรในการไตร่ตรองว่าอะไรจริง อะไรลวง เสาะหาความจริงจากหลายแหล่ง แล้วช่วยกันบอกต่อ เพื่อสร้างขบวนการ "เปิดหู เปิดตา เปิดปาก"

ตัวอย่างของการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มคัดค้านเขื่อนปากมูน กลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า และกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย กลุ่มปฏิรูปสื่อและกลุ่มวิทยุชุมชน ล้วนได้บทเรียนในเรื่องการที่รัฐใช้อำนาจและสื่อในการหลอกลวง ตบตา การเมินเฉย การกำราบ การจับกุมฟ้องร้องคดีไปจนถึงการทำร้าย

ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี ชี้ให้เห็นว่ารัฐตัดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนและยึดกุมสื่อเพื่อครอบงำและโฆษณาชวนเชื่อ เพราะรัฐมีทัศนคติทางลบต่อคนจนและประชาชน หน่วยงานของรัฐทำงานอย่างขาดจิตสำนึก ขาดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาของประชาชน ขาดคุณธรรมและจริยธรรม และรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง

แต่กลุ่มประชาชนเหล่านี้ก็ไม่ท้อถอย ทั้งยังสามารถวิเคราะห์วิจารณ์สภาพการณ์ของอำนาจรัฐและอำนาจทุนที่หนุนหลังและครอบงำสื่อได้อย่างแหลมคม การศึกษาทำความเข้าใจกับวาทกรรมของทุนและรัฐจึงเป็นการฝึกสมองเพิ่มศักยภาพในการต่อสู้ แสวงหาพันธมิตร และรอคอยจังหวะว่า เมื่อใดอำนาจของประชาชน จะมีพลังมากพอที่จะผลักดันให้เกิดการพลิกกลับของสถานการณ์ที่อึมครึม อึดอัด กดทับ (จนเริ่มขาดอากาศ!) ไปสู่สภาพที่อิสระ สว่าง และปลอดโปร่งเปิดหู เปิดตา เปิดปากได้เต็มที่

บทความของ สุภิญญา กลางณรงค์ ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี และบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและสื่อภาคประชาชน ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าที่ใดมีการคุกคามสิทธิเสรีภาพ ที่นั่นมีการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้สิทธิเสรีภาพ ที่ใดมีการคุกคามมาก ที่นั่นจิตสำนึกรักในสิทธิเสรีภาพจะถูกหว่านเพาะ และที่ใดมีการปิดหูปิดตา ปิดปากมาก ที่นั่นมีการดื้อแพ่งคัดค้านและการวิพากษ์วิจารณ์มาก

จงเชื่อมั่นเถิดว่าข้อมูล ความจริง และสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างอิสระเสรี คืออำนาจและพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่อาจทะลายอาณาจักรแห่งความกลัวและความสยดสยอง (kingdom of fear and reign of terror) ลงได้ นั่นคือ ถ้อยคำที่ภาคประชาชนฝากไว้ในสายลม และกระแสธารการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ เป็นข้อคิดความหวังที่จักเติบโตกล้าแกร่งไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ

ในส่วนท้าย หนังสือ "ยุคปิดหู ปิดตา ปิดปาก" ได้เสนอให้เห็นว่ายุคนี้ ไม่ใช่คนจนหรือกลุ่มที่ต่อสู้คัดค้านโครงการหรือนโยบายของรัฐเท่านั้นที่ถูกหลอก ประชาชนทุกคนถูกหลอกอย่างเท่าเทียมกันผ่านสื่อมวลชนที่เป็นเครื่องมือของรัฐและทุน ทั้งการการกำหนดวาระทิศทางข่าว และการสร้างข่าวใหญ่กลบข่าวลบ

ในบทความเรื่อง "การกำหนดวาระข่าวสารของรัฐบาล" ของจรรยา เจริญอภิวันท์, จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์, ธิติพร ดนตรีพงษ์ และรุจน์ โกมลบุตร ชี้ให้เห็นวิธีการที่รัฐบาลใช้เบี่ยงเบนวาระข่าวสาร ด้วยการสร้างเหตุการณ์ (create event) การใช้ภาษาและลีลาที่กระทบใจ (use emotional language and style) และการสร้างข่าวใหม่ (make new agenda) เช่น เรื่องไข้หวัดนกระบาด ใช้การสร้างภาพกินไก่โชว์ เรื่องข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่วและการสอบเข้าหลักสูตรภาษาอังกฤษคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ใช้ภาษาลีลาที่กระทบใจ ด้วยการไหว้และพูดวิงวอนผู้สื่อข่าวให้ยุติการเสนอข่าว หรือใช้การสร้างข่าวเรื่องการซื้อทีมฟุตบอลสโมสรลิเวอร์พูล ที่เป็นข่าวดังไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่โด่งดังไปทั่วโลก มากลบข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยนัยเดียวกัน เมื่อมีข่าวผู้เสียชีวิตจากการถูกจับกุมที่หน้า สภอ. ตากใบ ๘๕ คน ก็มีข่าวเรื่องการจับกุมนายรักเกียรติ สุขธนะ นักการเมืองที่หนีคดีทุจริตยาขึ้นมาเบี่ยงเบนความสนใจของสื่อ แต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องตากใบได้ ก็หันไปโหมข่าวเรื่องการพับนกกระดาษให้ใหญ่โตเป็น media event จัดฉากและแสดงการพับนกและโปรยนกแบบอภิมหาเทศกาลให้คนทั้งประเทศช่วยรัฐบาลกลบข่าวคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างทำนองนี้ คงไม่ใช่ตัวอย่างสุดท้ายอย่างแน่นอน

นอกจากจะรู้เท่าทันกลยุทธ์การสร้างวาระข่าวแล้ว เรายังต้องทำตัวเป็นคนขี้สงสัยและหมั่นตั้งคำถามถึงความสอดคล้องต้องกัน ของสาระในข่าวสารที่รัฐบาลพร่ำบอกว่าเป็นความสำเร็จ มิเช่นนั้นแล้ว เราก็อาจหลงเข้าไปอยู่ในกับดักของความลวงได้โดยง่าย

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ได้นำเอาตรรกะที่ขัดแย้งกันเองของรัฐบาล ในข่าวที่เกี่ยวกับกรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาชี้ให้เห็นว่า ใครกันแน่ที่ไม่รักชาติ หรือกรณีการเล่นกลกับตัวเลขของรัฐบาลจนใหญ่โตผิดสังเกต เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลมีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของคนจน หรือการเติบโตของสินค้าโอท็อป ก็ตรวจสอบได้ว่าเป็นเพียงการพูดแบบตบตา รัฐบาลทำงานได้ ๑๐% โฆษณาว่าทำได้ ๑๐๐% การประโคมตัวเลขจำนวนนับหมื่นล้าน ถูกใช้เพื่อสร้างภาพลวงตาว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ และการแก้ปัญหาความยากจนรัฐบาลทำสัมฤทธิ์ผลแล้ว

บทความของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ชี้ลึกเข้าไปที่วิธีคิดและตรรกะของรัฐ ที่ใช้ในการบิดเบือนข่าวสารและความเชื่อของเรา

ข้อแรก การโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลทำอย่างเข้มข้นทุกเวลา ทุกรูปแบบนั้นกลายเป็นสิ่งแวดล้อมทางสื่อที่บิดเบนตรรกะของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่นายกรัฐมนตรีและนักการเมืองพูดใส่หูใส่สมองถี่ยิบจนกลายเป็นข่าวที่ปฏิเสธไม่ได้

ข้อสอง การใช้นักกฎหมาย "เนติบริกร" มาออกแบบกฎหมายเสียใหม่ ทำสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก จนตรรกะแบบธรรมดาเพี้ยนไป แล้วเราก็จะเชื่อโดยดุษณีว่า "ความบกพร่องโดยสุจริต" เป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นเรื่องธรรมดา

ข้อสาม การพลิกแพลงวิธีการล้างสมองให้เกิดความสับสน ยุคนี้การเก็บความลับด้วยวิธีปกปิดความจริง หรือซ่อนไว้ในกล่องดำอาจจะใช้ได้ในบางกรณี ทว่ามีหลายกรณีที่รัฐบาลใช้วิธีการตรงกันข้าม คือใช้วิธีการเสนอความจริงในที่สว่าง ทำให้แลดูโปร่งใส แต่แสงสว่างจัดจ้าที่ส่องมาจนคนดูตาพร่านั้น เป็นการสร้างภาพลวงตาอีกแบบหนึ่งที่ทำให้เราตาลายจนมองไม่เห็นความจริง

ฉะนั้น เราต้องไม่ลืมกลับมาใช้สามัญสำนึกและตรรกะในการคิดด้วยการตั้งคำถามอยู่เสมอ ไม่หลงเข้าไปในหลุมพรางของตรรกะที่บกพร่อง


เปิดหู เปิดตา เปิดปาก : ทางออกที่เป็นไปได้
ถ้าเราเชื่อว่าการปิดหูปิดตาเป็นภาวะชั่วคราว เราก็จะเชื่อว่าการเปิดหูเปิดตาได้มายืนรออยู่ตรงหน้า เพียงเราช่วยกันผลักสิ่งที่ปิดอยู่ออกไปเท่านั้น

กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพภาคประชาชน ปัญญาชน นักวิชาการ ล้วนมองว่าทางออกอยู่ที่การพึ่งตนเอง ในด้านการสร้างสรรค์ช่องทางการสื่อสารใหม่ ๆ ดังนั้น สื่อทางเลือกคือทางออกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ในสังคมประชาธิปไตยที่เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศมีความแพร่หลาย เช่นเว็บไซต์ สื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชน เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวีท้องถิ่น เว็บเรดิโอและทีวี กระทั่งการใช้เครือข่ายข่าวสารทางอีเมล์, โทรศัพท์, เอสเอ็มเอส รวมทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะใหม่ ๆ เช่น เวทีการแสดงที่ฝ่ายศิลปิน ผู้สื่อสารและผู้ชมมีโอกาสสื่อสารกันโดยตรง ตลอดจนการเสวนารูปแบบต่าง ๆ และการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนให้เข้มแข็ง

สื่อทางเลือกจะเกิดขึ้นมากและมีพลังมากในสังคมที่ประชาชนถูกปิดหู ปิดตา ปิดปากมาก ปมเงื่อนใหญ่อยู่ที่ว่า เราทุกคนต้องไม่นิ่งเฉย และไม่หวาดกลัว แต่รู้สึกรักและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของเรา

ถ้าสังคมไทยมีสื่อทางเลือกและเครือข่ายการสื่อสารที่เข้มแข็งจำนวนมาก ประชาชนมีสิทธิพูดแสดงความคิดเห็นตามสถานะแห่งพลเมืองในวัฒนธรรมสังคมการเมืองประชาธิปไตย ถึงตอนนั้น ภาวะปิดหู ปิดตา และเสียงแห่งความเงียบจะหายไป ความจริงปรากฏ ประชาชนหูตาสว่าง

 

ส่วนที่สอง : หลักการและเหตุผลการประชุมวิชาการ

การประชุมวิชาการเรื่องปิดหู ปิดตา ปิดปาก: สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ
วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘
จัดโดย โครงการ UNESCO Chair in Freedom of Expression
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ ห้องประชุมศูนย์สารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการและเหตุผล
การแสดงความคิดเห็นเป็นหนึ่งในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลยุคไทยรักไทย นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ - ๒๕๔๗ ได้ละเมิดอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นสภาพที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในหลายด้านและหลายรูปแบบ (๒๕๔๗) จากโครงสร้างของรัฐและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ การใช้ความรุนแรงในการสังหารประชาชนและผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดโดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองควบคุมและแทรกแซงสื่อมวลชน กรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนครอบคลุมหลายระดับและขยายขอบเขตกว้างขวาง จากระดับบุคคล ไปสู่องค์กร และเครือข่ายองค์กร จนถึงระดับนโยบายและโครงสร้างของระบบสื่อสารมวลชน

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นภาวะการครอบงำและผูกขาดความคิดเห็นของผู้กุมอำนาจรัฐ สิทธิเสรีภาพในการที่จะเชื่อ ที่จะคิดและเห็นแตกต่างไปจากรัฐ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความเชื่อ ความคิดและความเห็นเหล่านั้น กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งรัฐบาลสนับสนุนนโยบายการแปรรูปสื่อโทรทัศน์ของรัฐให้เป็นกิจการในตลาดหลักทรัพย์ โดยปราศจากการประชาพิจารณ์ตามหลักนิติรัฐ ยิ่งแสดงให้เห็นความไม่ชอบธรรมของการยึดเอาสิทธิเสรีภาพและคลื่นวิทยุโทรทัศน์ของประชาชน ไปแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจและประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะตัว

ปัจจุบัน สื่อมวลชน"อิสระ" ขาดอิสระเสรี กลายเป็นองค์กรที่ไม่มีปากเสียง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนสื่อของรัฐที่เป็นกลไกในการควบคุมประชาชน ถูกใช้ในการแสวงหากำไรเกื้อหนุนอำนาจรัฐควบคู่กันไป ส่งผลให้สภาพการคอรัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกด้านถูกปกปิด และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การปิดปากสื่อมวลชนและการปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง กำลังนำไปสู่ทางตันของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ในจังหวะที่รัฐบาลเร่งรัดแปรรูปสื่อของรัฐไปเป็นของเอกชนทั้งหมด หากทำสำเร็จวิทยุและโทรทัศน์ในกำกับของรัฐจะพลิกผันไปเป็นของผู้ใกล้ชิดรัฐบาล โครงสร้างใหม่นี้จะขาดการถ่วงดุลย์ เนื่องจากการปฏิรูปสื่อที่ล้มเหลว สังคมไม่มีสื่อภาคบริการสาธารณะ และสื่อภาคประชาชนยังไม่มีโอกาสได้รับการจัดสรรความถี่ตามกฎหมาย(1)

การเปลี่ยนระบบที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นการดำเนินการยึดคลื่นที่เป็นทรัพยากรสาธารณะ ไปให้แก่พรรคพวกในระบอบที่เรียกว่าญาติกาธิปไตย หรือ Thaksinocrony โดยประชาชนไม่รับรู้และไม่ได้ยินยอมพร้อมใจด้วย จะเห็นได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญจะให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้อย่างกว้างขวาง แต่สภาวะการยึดคลื่นแบบมโหฬาร เบ็ดเสร็จ และซับซ้อนหลบเลี่ยงกฎหมายกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

การจัดการประชุมวิชาการเรื่อง "ปิดหู ปิดตา ปิดปาก: สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ" จึงเกิดขึ้นจากสภาพปัญหาที่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง การประชุมวิชาการนี้เป็นการระดมความรู้และทัศนะของนักวิชาการและปัญญาชน เพื่อเสนอข้อเท็จจริง แนววิเคราะห์ และการวิพากษ์ วิจารณ์ และหาทางออกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันรับรู้ปัญหาในวงกว้าง และร่วมกันแสวงหาวิธีการรักษาสิทธิการสื่อสารของประชาชน ไม่ให้ถูกกลุ่มธุรกิจการเมืองสื่อยึดไปซึ่ง ๆ หน้า

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อตรวจสอบสภาวะการยึดครองสื่ออย่างเบ็ดเสร็จของกลุ่มธุรกิจการเมืองสื่อ
๒. เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริง แนววิเคราะห์ และการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างเป็นระบบในปัญหาสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของสื่อมวลชนและประชาชน
๓. เพื่อแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ผู้รับผิดชอบ

โครงการ UNESCO Chair in Freedom of Expression
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วัน-เวลา และสถานที่
วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ เวลา ๘.๓๐ - ๑๒.๓๐ น.
ห้องประชุมศูนย์สารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการประชุมวิชาการ
เรื่องปิดหู ปิดตา ปิดปาก: สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ
วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘
ณ ห้องประชุมศูนย์สารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
--------------------------------------

๘.๓๐ - ๙.๐๐ น. ลงทะเบียน

๙.๐๐ - ๙.๓๐ น. พิธีเปิดการประชุมวิชาการ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระ จิรโสภณ
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๙.๓๐ - ๑๑.๐๐ น. การเสนอรายงานวิชาการเรื่อง "ปิดหู ปิดตา ปิดปาก"
- สื่อกับประชาธิปไตย : บทเรียนจากกรณีมองเตสซิโนแห่งเปรู
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษไพจิตร

- การกำหนดวาระข่าวสารของรัฐบาล : ไม่สร้างข่าว ก็แทรกแซงข่าว
โดย อาจารย์ รุจน์ โกมลบุตร และคณะ

- การแปรรูปสื่อของรัฐ
โดย คุณสุภิญญา กลางณรงค์

- สื่อกับสมัชชาคนจนในยุครัฐบาลทุนนิยม
โดย คุณประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี
ดำเนินการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร

๑๑.๐๐-๑๑.๑๕ น. พักรับประทานน้ำชา

๑๑.๑๕-๑๒.๓๐ น. การเสนอรายงานวิชาการเรื่อง "สิทธิเสรีภาพในมือประชาชน"
- วิทยุและโทรทัศน์สาธารณะ : สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
และแสดงความคิดเห็นของประชาชน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์

- สื่อชุมชน : วิทยุของประชาชน
บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี

-"ปุจฉา-วิสัชนา": การทำลายความลวงของข้อมูลข่าวสาร
โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
ดำเนินการโดย อาจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H

กลวิธีการจัดการให้สื่อมวลชนให้กลายเป็น "สื่อของทุน" มีมากมายหลายวิธี ตั้งแต่การซื้อนักข่าว พิธีกร ผู้ดำเนินรายการเป็นรายบุคคล หรือให้เงินโฆษณาก้อนโตแก่สื่อ ไปจนถึงการยึดและย้ายกรรมสิทธิ์คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ไปเป็นของธุรกิจเอกชน และธุรกิจในเครือที่ใกล้ชิดกับนักการเมือง เช่น กรณีของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕, วิทยุและโทรทัศน์ในเครือ อ.ส.ม.ท. สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

กรณีศึกษาจากประเทศเปรูที่ใช้การจัดการกับสื่อให้เงียบเสียงเพื่อให้การเมืองนิ่ง ทำให้รู้ว่ารัฐบาลไทยใช้วิธีการควบคุมและคุกคามสื่อคล้าย ๆ กับประเทศในอเมริกาใต้ และทำให้รู้ต่อไปด้วยว่าที่เปรูนั้น รัฐบาลควบคุมสื่ออย่างที่ต้องการไม่ได้เพราะอะไร แม้ว่ารัฐบาลจะจ่ายสินบนให้กับสื่อมวลชน (โดยเฉพาะโทรทัศน์) มากกว่ากลุ่ม ส.ส. และศาล ถึง ๑๐๐ เท่า ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร เล่าตัวอย่างจากเปรูเพื่อเน้นย้ำว่าสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนในสังคมไทยคือการนำเรื่องการปฏิรูปสื่อ... ระบอบทักษิณไม่ได้ยึดถือแนวทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เป็น "ระบอบปฏิปักษ์ปฏิรูป" เพราะได้เลือกเอาการปฏิรูปการเมืองเพียงด้านเดียวขึ้นมาใช้คือ ด้านการรวมศูนย์อำนาจรัฐ

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด