บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 465 หัวเรื่อง
จริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน
นิษฐา หรุ่นเกษม
(นักวิชาการอิสระ)
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชุดความรู้ทางจริยธรรม
แบบแผนทางจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน
นิษฐา
หรุ่นเกษม
(นักวิชาการอิสระ - สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 465
จากบทความเดิมชื่อ : แบบจำลองการตัดสินใจทางจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน
หมายเหตุ : บทความเดิมชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่
บนเว็ปไซท์ของ ม.เที่ยงคืน เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
22 หน้ากระดาษ A4)
แบบจำลองการตัดสินใจทางจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน
แบบจำลองการตัดสินใจทางจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน หรือ "SAD formula"
นี้ เรียบเรียงจากหนังสือเรื่อง Ethics in media communications : cases and
controversies ของ Louis A. Day แบบจำลองดังกล่าวพัฒนาขึ้นมาจากหลักปรัชญาและทฤษฎีทางจริยธรรมของสังคมตะวันตก
เพื่อใช้เป็นฐานในการตัดสินใจในสถานการณ์เชิงจริยธรรมซึ่งมีความขัดแย้งและต้องเลือกระหว่างอย่างใดอย่างหนึ่งของนักข่าว
ซึ่งการตัดสินใจเชิงจริยธรรมของนักข่าวหรือบรรณาธิการข่าวนั้นจะมีผลต่อการเลือกนำเสนอข่าวและเนื้อหาข่าวของสื่อมวลชน
ทั้งนี้ ก่อนที่จะกล่าวถึงองค์ประกอบในแบบจำลอง SAD นั้น จำเป็นจะต้องกล่าวถึง แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับหน้าที่ของสื่อมวลชนและหลักการทางจริยธรรมในเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในแบบจำลองได้มากยิ่งขึ้น
สถานการณ์ทางจริยธรรมที่บีบบังคับให้ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นสามารถเทียบได้กับกรณี Hientz dilemmas
Hientz ผู้ซึ่งภรรยาของเขากำลังทนทุกข์ทรมานกับโรคมะเร็ง ได้ใช้ความพยายามอย่าง ที่สุดเพื่อที่จะหาเงินให้ได้ $2000 มาซื้อยาเพื่อรักษาภรรยาของเขา แต่ Hientz หาเงินมาได้เพียงแค่ $1000 เท่านั้น และเภสัชกรไม่ยินยอมให้เขาค้างชำระไว้ก่อน ดังนั้นแล้ว Hientz ควรจะขโมยยาเพื่อที่จะรักษาภรรยาของเขาหรือไม่ เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมานี้นั้นเป็นกรณีตัวอย่างของ นักจิตวิทยาสังคม Lawrence Kohlberg เพื่อให้เห็นภาพของความขัดแย้งระหว่างค่านิยมทาง จริยธรรมกับความยุติธรรม ในด้านหนึ่งนั้น Hientz รักภรรยาของเขามากและนั่นดูเหมือนเป็น เหตุผลอันสมควรที่จะขโมยยาเพื่อมารักษาเธอ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการทำลายหลักการทางจริยธรรมของสังคมตะวันตก ซึ่งรังเกียจการขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น
Hientz dilemmas เป็นสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะเรื่องราวละเอียดอ่อน อย่างเช่น เรื่องของการทำแท้ง การพกอาวุธปืน การตัดสินประหารชีวิต การสอนเพศศึกษา และผลงานที่แสดงความลามกอนาจาร และถึงแม้ว่าหลายๆเรื่องราวจะไม่ได้เกี่ยวพันกับความเป็นและความตายดังเช่นกรณีของ Hientz แต่ในอีกหลายๆเหตุการณ์ ความยากลำบากในการตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของค่านิยมในสังคม ยกตัวอย่างเช่น นักประชาสัมพันธ์คนหนึ่งจะต้องตัดสินใจระหว่างการเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชนในเรื่องที่บริษัทของตนกำลังทำลายสิ่งแวดล้อม หรือเลือกที่จะเก็บความลับนั้นไว้ เพราะมีค่านิยมในด้าน ความซื่อสัตย์ต่อบริษัท
และในบางครั้ง ความขัดแย้งดังกล่าวได้เกิดขึ้นระหว่างค่านิยมทั่วไปของสังคมกับค่านิยมทางวิชาชีพของสื่อมวลชน ดังเช่นในโคลัมเบีย เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บในระหว่างการไล่ล่านักขโมยรถ แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นเรื่องบังเอิญ เนื่องจากเขากำลังอยู่ในระหว่างการปลอมตัวเพื่อสืบเรื่องยาเสพติด ดังนั้น นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จึงได้ขอร้องให้เหล่า นักข่าวช่วยกันปกปิดชื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นั้น ด้วยเกรงว่านายตำรวจคนนั้นและครอบครัวของเขาจะต้องตกอยู่ในอันตราย แต่การณ์กลับเป็นว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมิได้ยอมทำตามนั้น ทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์หลายคนต่างรู้สึกโกรธแค้นและเลิกบอกรับการเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าว แต่บรรณาธิการข่าว Gil Thelen ได้อ้างเหตุผลว่า เขาได้ชั่งน้ำหนักระหว่าง ผลประโยชน์ของสาธารณะในการรับรู้ข่าวสารกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นและครอบครัวแล้ว
กรณีดังกล่าวได้ขยายภาพให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างค่านิยมทางจริยธรรมในสังคม อาทิ ความจำเป็นที่จะต้องรับรู้ข่าวสารของสาธารณชนกับสิทธิของปัจเจกบุคคลในการรักษาความเป็นส่วนตัวหรือการรักษาความลับ ในขณะเดียวกัน ยังได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของ มุมมองทางจริยธรรมต่อการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างสื่อมวลชนกับผู้อ่าน ซึ่งสามารถ หยิบยกเหตุผลนานาประการมาสนับสนุนการตัดสินใจของฝ่ายตน
หน้าที่ของสื่อมวลชนในระบบจริยธรรม
สื่อมวลชนเป็นสถาบันหนึ่งที่ทรงพลังในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และเปรียบเสมือนการเป็นศูนย์กลางระหว่างประชาชนพลเมืองกับสถาบันในสังคมต่างๆ
เช่น สถาบันทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสถาบันทางสังคมอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว
สื่อมวลชนยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญของสังคมในการส่งผ่านค่านิยมทางวัฒนธรรม เป็นผู้จุดประเด็นว่าค่านิยมอันไหนที่สำคัญ
และบอกใบ้ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆเพื่อเป็นนัยยะถึงมาตรฐานความประพฤติของคนในสังคมที่ต้องการ
รวมไปถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของแต่ละบุคคล
กระบวนการดังกล่าวนั้นได้ดำเนินไปโดยผ่านหน้าที่ที่สำคัญ 3 ประการของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชน โดยเฉพาะในสังคมคนอเมริกัน คือ
(1) การเผยแพร่และแปลความข่าวสาร
(2) การผลิตและถ่ายทอดสารเพื่อการโน้มน้าวใจ และ
(3) การตลาดด้านความบันเทิงในสื่อมวลชน
แต่ละหน้าที่เหล่านี้ต่างได้รับการคาดหวังทางจริยธรรมที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานเกี่ยวกับความจริงและความถูกต้องแม่นยำระหว่างโฆษณากับข่าว หรือค่านิยมที่เป็นตัวมากำกับการผลิตรายการข่าวกับรายการสาระบันเทิง
ประการแรก สื่อมวลชนเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารแห่งแรกในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งถือกันว่า ความถูกต้องแม่นยำและความไว้วางใจได้ในข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นเสมือนเส้นเลือดหรือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม การต้องอยู่ภายใต้สังคมแบบทุนนิยม ทำให้ สื่อมวลชนจำเป็นจะต้องคำนึงถึงจำนวนของผู้อ่านหรือผู้ชมด้วย และทำให้ต้องนำเสนอเรื่องราวเบาๆ หรือเรื่องราวที่ตื่นเต้นสนุกสนาน ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นในหนังสือพิมพ์แบบ tabloid ซึ่งเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงหรือเรื่องราวทางเพศอย่างเปิดเผย รวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของคนดังในสังคม
แต่นักข่าวมิได้เป็นเพียงฝ่ายเดียวในการให้ข้อมูลข่าวสารในสังคมทุนนิยม การให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์จากฝ่ายโฆษณาหรือการสร้างภาพพจน์ของบริษัทจากฝ่ายประชาสัมพันธ์นั้น ต่างก็ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อผู้บริโภคเช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าใครจะเป็นแหล่งในการให้ข้อมูลข่าวสารก็ตาม สังคมนั้นมีสิทธิ์ที่จะคาดหวังถึงระดับของพฤติกรรมทาง จริยธรรมจากสถาบันสื่อมวลชน และเมื่อการปฏิบัติของสื่อมวลชนไม่เป็นไปตามที่ต้องการ วิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างสถาบันสื่อเหล่านั้นกับสาธารณชนย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ในระดับที่ต่ำที่สุดที่ผู้รับสารต้องการจากสื่อมวลชนนั้นก็คือ การนำเสนอข่าวสารที่ไม่จงใจโกหกหรือหลอกลวง ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะมาจากนักข่าวหรือเอเยนซี่โฆษณา แต่ความคาดหวังต่อพฤติกรรมทางจริยธรรมของสื่อมวลชนนั้นแตกต่างกันไปตามบทบาทและสถานะของนักข่าวหรือสื่อแต่ละประเภท ยกตัวอย่างเช่น เราต่างคาดหวังให้ผู้สื่อข่าวรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยกเว้นแต่จะมีเหตุผลบางประการที่ทำให้จำเป็นต้องปิดบังข้อมูลบางส่วนไว้เสียก่อน และเรายังคาดหวังให้สื่อมวลชนรับผิดชอบต่อการสร้างสมดุลในการนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ แต่ทว่าสังคมจะไม่คาดหวังในรูปแบบเดียวกันนี้กับนักโฆษณาหรือนักประชาสัมพันธ์ เนื่องจาก งานทั้งสองอย่างนั้นลูกค้าหรือผู้รับสารต่างตระหนักเป็นอย่างดีถึงบทบาทในฐานะของการเป็นแหล่งของข่าวสารข้อมูลที่ต้องการโน้มน้าวชักจูงใจ และการที่งานทั้งสองประเภทนั้นต่างคำนึงถึงผลประโยชน์ของหน่วยงานตนพอๆกับผลประโยชน์ของสาธารณะ
ประการที่สอง หน้าที่ที่สำคัญประการที่สองของสื่อมวลชนคือการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวชักจูงใจนี้ ต่างเป็นที่ยอมรับกันว่า บรรณาธิการข่าว นักวิจารณ์ นักโฆษณา และ นักประชาสัมพันธ์นั้นเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่สารเพื่อการโน้มน้าวชักจูงใจมากที่สุด
การสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจนี้สามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงยุคกรีกโบราณ ในรูปแบบของการสื่อสารเชิงวาทศิลป์ ทว่าเทคนิคการโน้มน้าวใจในปัจจุบันได้รับการพิจารณาว่าเป็น รูปแบบหนึ่งของศิลปะ โดยเฉพาะเมื่อมันได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีและแนบเนียน เพื่อ เปลี่ยนแปลงการรับรู้ ทัศนคติ หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการซื้อสินค้าของบุคคล ยกตัวอย่างเช่น การโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ซึ่งใช้ปัจจ้ยทางจิตวิทยามาเป็นแรงกระตุ้นพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค
ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รวมเอาหน้าที่ทางด้านการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เข้าไว้กับงานด้านการสื่อสารมวลชน อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงการรวมกันดังกล่าว ในด้านหนึ่งนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนงานด้านการโฆษณาและ การประชาสัมพันธ์ต่างใช้เหตุผลในการเป็นตลาดเสรีทางความคิด ที่เน้นหนักในด้านของ การแข่งขันของ "เสียง" ต่างๆที่หลากหลาย และอำนาจสูงสุดในความเป็นอิสระและความมีเหตุผลของผู้บริโภค รูปแบบที่สุดขั้วสำหรับหลักปรัชญานี้ก็คือ "ปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นผู้ระมัดระวังเอง" แต่ในฝ่ายของผู้คัดค้านและวิจารณ์นั้นมองว่า การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เป็นกระบวนการสื่อสารที่มีอิทธิพลและฉกฉวยผลประโยชน์จากผู้รับสารที่ยอมจำนนพร้อมตาม หรือผู้รับสารที่ ไร้ความสามารถในการจำแนกแยกแยะข่าวสารซึ่งเข้ามาควบคุมบงการต่างๆ
ดังนั้น สาธารณชนจึงจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากกลุ่มตัวแทนอิสระในการทำหน้าที่เป็น "consumer watchdog group" แต่เนื่องจากกลุ่มผู้วิจารณ์และผู้ปฏิบัติงานต่างก็มีมุมมองทางจริยธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานบางอย่างสำหรับพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับได้ (เช่น กฎข้อห้ามสำหรับการจงใจเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดหรือหลอกลวง) และจัดสรรแบ่งบันความรับผิดชอบทางศีลธรรมจริยธรรมสำหรับ ผู้ปฏิบัติงานที่แตกต่างกันออกไปในสายโซ่แห่งกระบวนการสื่อสาร จากผู้เผยแพร่ข่าวสารเพื่อการชักจูงใจไปถึงนายทวารข่าวสาร และผู้รับสาร
ประการที่สาม หน้าที่ในการผลิตและเผยแพร่การบันเทิงแบบมวลชน ซึ่งหน้าที่นี้เองที่ถูกท้าทายด้วยประเด็นทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก ประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ สื่อมวลชนนั้นมี พันธกิจในการยกระดับรสนิยมและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่มีคุณธรรม หรือมีพันธกิจในการ "ให้ในสิ่งที่ผู้รับสารต้องการ"
ในสังคมประชาธิปไตย ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนต่างผลิตวัตถุดิบที่คาดว่าจะตรงกับความต้องการของผู้รับสาร และผู้รับสารจะเป็นฝ่ายแสดงความคิดเห็นออกมาเองว่ายอมรับได้ หรือไม่ หากทว่าในสังคมซึ่งมีความหลากหลายนั้น แม้ว่าการผลิตแบบ mass production จะมี ข้อดีคือมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่ำ และให้ความบันเทิงกับผู้บริโภคที่มีระดับฐานะเศรษฐกิจทางสังคมที่หลากหลายกันไป แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ผลลัพธ์ที่ไม่เท่าเทียมของการผลิตแบบมวลชนก่อให้เกิดความตกต่ำทางด้านรสนิยม นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มผู้วิจารณ์ยังมีความเห็นอีกว่า การหวัง ผลประโยชน์ทางด้านการค้าไม่ควรเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิตความบันเทิง และการผลิตงานในลักษณะดังกล่าวควรจะมีความรับผิดชอบต่อการปรุงแต่งค่านิยมทางวัฒนธรรมให้ดียิ่งขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังเกิดขึ้นจากการค่อยๆผสมผสานกันระหว่างข่าว ความบันเทิง และการค้า ยกตัวอย่างเช่น การผสมผสานกันระหว่างสิ่งที่เคยแยกให้เห็น ความแตกต่างว่า อะไรคือข่าวและอะไรคือความบันเทิง เช่น รายการทอล์คโชว์ทางโทรทัศน์ การโฆษณาแบบ advertorial หรือเนื้อหาประเภท infomercial
ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านสื่อสารมวลชนควรจะคำนึงถึงอิทธิพลของตนในชีวิตของประชาชนผู้รับสาร โดยเฉพาะผู้รับสารที่ยังเป็นเด็กหรือเป็นวัยรุ่น เพราะผู้รับสารกลุ่มนี้ต่างรับเอาสื่อมวลชนเป็นแม่แบบในการประพฤติปฏิบัติทางจริยธรรม และหากว่าสื่อมวลชนล้มเหลวในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบดังกล่าวแล้ว ก็จะส่งผลถึงความไว้วางใจของสังคมต่อสื่อมวลชน
สิ่งที่จำเป็นสำหรับระบบทางจริยธรรม
เกณฑ์ 5 ประการดังต่อไปนี้เป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกๆระบบจริยธรรม
เกณฑ์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลักการทั่วไปของสังคมและข้อปฏิบัติซึ่งสะท้อนให้เห็นในมาตรฐานทางวิชาชีพของแต่ละองค์การ
1. shared values
ระบบของจริยธรรมจะต้องถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของค่านิยมของสังคม ถึงแม้ว่า ปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่างๆในสังคมอาจจะประยุกต์ใช้มาตรฐานเหล่านี้แตกต่างกันไปตาม สถานการณ์ของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แต่อย่างน้อยก็จะต้องมีข้อตกลงร่วมกันสำหรับในบางมาตรฐานจริยธรรมเช่น การที่สมาชิกในสังคมบางคนเลือกที่จะพูดโกหกในบางสถานการณ์นั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำลายหลักการขั้นพื้นฐานของข้อตกลงร่วมในการยึดถือค่านิยมด้านความจริง และบางครั้งการเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมอาจเป็นสิ่งที่สามารถยกเว้นได้ หากมีเหตุผลอันสมควร แต่การยกเว้นดังกล่าวจะไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม
การยอมรับต่อค่านิยมร่วมในสังคมนั้นได้สะท้อนออกมาให้เห็นในบรรทัดฐานของสังคม ยกตัวอย่างเช่น บัญญัติสิบประการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อปฏิบัติทางจริยธรรมที่สืบต่อกันมาของชาวยิวและคริสเตียน เป็นต้น สถาบันสื่อมวลชนหลายแห่งได้สร้างหลักการทางจริยธรรมขึ้นมาเป็นของตนเอง เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสำหรับนักข่าวมือใหม่ จะได้รู้ว่าพฤติกรรมใดที่สามารถยอมรับได้และพฤติกรรมใดที่ไม่เป็นที่ยอมรับ
2. wisdom
มาตรฐานทางจริยธรรมควรจะสร้างขึ้นจากเหตุผลและประสบการณ์ ระหว่างสิทธิและผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลกับพันธกิจต่อสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่า บรรทัดฐานทาง จริยธรรมนั้นควรจะมีความเหมาะสมหรือสมเหตุสมผลยกตัวอย่างเช่น คงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรหากว่านักข่าวจะหลีกเลี่ยงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของชุมชนเนื่องด้วยแรงกดดันบางประการ เพราะในบางครั้ง การที่นักข่าวเข้าไปร่วมในกิจกรรมของชุมชนนั้นอาจจะทำให้ตนเองมีความเข้าใจในเรื่องราวที่ต้องรายงานมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม wisdom ในที่นี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นตัวที่คอยบอกเกี่ยวกับวิธีที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหานั้นๆ เพราะในบางครั้งการตัดสินใจทางจริยธรรมจำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไข แต่ในบางครั้งอาจจะต้องใช้ทางสายกลาง เช่น ประเด็นที่กำลังโต้แย้งกันถึงความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมโฆษณาต่อผลลัพธ์ที่ร้ายแรงของการบริโภคแอลกอฮอล์
ในด้านหนึ่งนั้นมีเสียงเรียกร้องให้ระงับการออกอากาศโฆษณาสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การอยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพ เจ้าของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็ควรจะได้รับอนุญาตให้โฆษณาสินค้าของตนผ่านทางสื่อมวลชนได้ ดังนั้น วิธีการประนีประนอมระหว่างขั้วทั้งสองข้างคือ การยินยอมให้มีโฆษณาได้แต่ต้องมีการแจ้งเตือนผู้บริโภคให้เห็นถึง ผลเสียต่อสุขภาพอันเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
3. justice
ความยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และมีความสำคัญต่อแนวทางในการแก้ไขข้อโต้แย้งทางด้านจริยธรรม แนวความคิดนี้มีความเกี่ยวพันกับความถูกต้องและความเป็นธรรม ซึ่งปัจเจกบุคคลทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติในแบบเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่า ไม่ควรมี double standards ยกเว้นไว้สำหรับเหตุผลในบางกรณีที่ทำให้จำเป็นจะต้องมีการแบ่งแยกหลักการในข้อนี้มีความสำคัญสำหรับสื่อมวลชนในการประยุกต์ใช้งานป็นอย่างมาก นักข่าวอาจประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนเหตุผลของตนที่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการที่หลอกลวง เพื่อสร้างและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ซึ่งเป็นความลับส่วนบุคคล ตลอดจนการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของบุคคล ยกตัวอย่างเช่น หลักการทางด้านความยุติธรรมต้องการให้ผู้ที่เป็น นักข่าวรายงานเรื่องราวพฤติกรรมเสื่อมเสียของบุคคล ทั้งที่เป็นคนของสังคมและบุคคลธรรมดา ด้วยเหตุผลที่สมควรที่มากไปกว่าเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่านเท่านั้น
4. freedom
ระบบของจริยธรรมควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีอิสระที่จะเลือก สังคมที่ ไม่อนุญาตให้บุคคลมีเสรีภาพ เป็นสังคมที่จริยธรรมของบุคคลจะค่อยๆเสื่อมลง ปัจเจกบุคคลหรือนักข่าวแต่ละคนควรจะมีทางเลือกในหลากหลายรูปแบบ และควรจะได้ใช้เหตุผลในการเลือกของตนโดยปราศจากการขู่เข็ญหรือบังคับ การตัดสินใจเลือกทางจริยธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอดัมและอีฟ เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจกินผลไม้ต้องห้ามและถูกเนรเทศให้ออกจากสวรรค์ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทางจริยธรรมส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลที่ร้ายแรงเช่นนี้และหากปราศจากเสรีภาพแล้ว จะไม่สามารถมีการตัดสินใจทางจริยธรรมได้เลย เนื่องจาก การตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นจำเป็นจะต้องมีตัวเลือกมาให้เลือก และมีการตัดสินใจเลือกด้วย เหตุผลหรือข้อสนับสนุนต่างๆ ดังที่จะได้กล่าวต่อไปเมื่อพูดถึงแบบจำลองของการตัดสินใจทาง จริยธรรม
5. accountability
ในฐานะของปัจเจกบุคคลที่มีความเป็นอิสระในสังคม เราต่างต้องมีความรับผิดต่อการกระทำทางจริยธรรมของตนเอง ความรับผิดชอบนั้นอาจเกิดขึ้นได้หลากหลายประเภทจากการกำหนดบทลงโทษทั้งแบบไม่เป็นทางการและเป็นทางการ เช่น การเพิกถอนสิทธิการเป็นทนายหรือการไล่นักข่าวซึ่งทำผิดกฎของบริษัทออก ฯลฯระบบจริยธรรมที่ปราศจากความรับผิดชอบนั้น ก่อให้เกิดการมีเสรีภาพที่ไร้ซึ่งความ รับผิดชอบเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลต่อการขาดพลังที่จะกระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรมที่ดีมีคุณธรรมอีกด้วย
เหตุผลเชิงจริยธรรมและการตัดสินใจทางจริยธรรม
เหตุผลเชิงจริยธรรมเป็นระบบซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการตัดสินใจทางจริยธรรม และการใช้เหตุผลนั้นมีความคล้ายคลึงกับกิจกรรมทางปัญญาในรูปแบบอื่นๆ
คือ ใช้รูปแบบของ การโต้แย้งด้วยเหตุผลและใช้การโน้มน้าวใจ และเมื่อการตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นมีความ
เกี่ยวข้องกับสิทธิและผลประโยชน์ของบุคคล ดังนั้น การตัดสินใจทางจริยธรรมจึงจำเป็นจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมนั้นจะประกอบไปด้วยสิ่งที่มากกว่าความเชื่อ ความคิดเห็น และการกระทำ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ แต่ละเหตุผลไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกปัญหา
การตัดสินใจทางจริยธรรมเป็นกระบวนการที่มีโครงสร้าง เป็นวิธีการทางปัญญาเพื่อใช้สนับสนุนหรือปกป้องการตัดสินใจของตนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลอื่น แต่ข้อที่ควรคำนึงก็คือ เมื่อการตัดสินใจทางจริยธรรมเป็นกระบวนการที่จะต้องกระทำอย่างสุขุมรอบคอบ อีกทั้ง การคิดและการวิเคราะห์ต่างก็เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ดังนั้น จะคาดหวังให้นักข่าวซึ่งต้องปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันของเวลาและ deadline จะประยุกต์ใช้กระบวนการนี้ได้อย่างไร
คำตอบอยู่ที่ การยกระดับทางมโนธรรมและการฝึกฝนการตัดสินใจต่อกรณีต่างๆ อยู่เสมอๆ จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชนนั้นสามารถเผชิญกับสถานการณ์ทางจริยธรรมที่บีบบังคับให้ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น
แม้ Stephen Klaidman and Tom Beauchamp ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The virtuous journalist" จะเคยกล่าวไว้ว่า "ไม่มีระบบจริยธรรมอันหนึ่งอันใดที่จะให้หนทางในการแก้ไขปัญหาต่อปัญหาทางจริยธรรมที่มาเผชิญหน้ากับเราทั้งในชีวิตจริงและในการทำงานข่าวได้ทุกครั้ง" และถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางจริยธรรมนั้นจะมีความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ แต่การตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นก็สามารถกระทำได้ หากว่าบุคคลนั้นจะมีความรู้หรือความสามารถในขอบเขตดังต่อไปนี้ คือ
(1) ปริบททางจริยธรรม
(2) หลักปรัชญาพื้นฐานของทฤษฎีทางจริยธรรม และ
(3) การคิดเชิงวิพากษ์
ซึ่งในแต่ละขอบเขตดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในแบบของตนเอง และมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการแบบจำลองของการตัดสินใจทางจริยธรรมที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
(1) ปริบททางจริยธรรม
การตัดสินใจทางจริยธรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากความว่างเปล่า แต่นักข่าวหรือผู้ที่จำเป็นจะต้องตัดสินใจดังกล่าวนั้น
จะต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ซึ่งเกิดมีความขัดแย้งให้ต้องเลือกกระทำ ต้องเข้าใจประเด็นหรือเรื่องราว
ต้องรู้ข้อเท็จจริง และมีความรู้ในหลักการ ขั้นพื้นฐานของค่านิยมในสังคม ในทางอีกทางหนึ่งนั้น
ปริบทดังกล่าวประกอบไปด้วยปัจจัย ทั้งหมดซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล
ตัวอย่างเช่น เมื่อเลขานุการฝ่ายข่าวของทำเนียบขาวจำเป็นจะต้องเผยแพร่ข่าวสาร
บางอย่างในลักษณะของ "disinformation" (information which is intended
to mislead)
เพื่อป้องกันนโยบายต่างประเทศรั่วไหล การเผยแพร่ในลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะมีลักษณะคล้ายการโกหกหลอกลวง
แต่เขายังต้องตระหนักด้วยว่า สังคมนั้นรังเกียจการโกหก ทว่าการจะปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมในกรณีนี้นั้น
จำเป็นจะต้องตระหนักถึงลักษณะของการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่มากำหนดพฤติกรรมเชิงจริยธรรมด้วย
ปริบทในสถานการณ์ทางจริยธรรมซึ่งล่อแหลมต่อการตัดสินใจนั้นมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลและการประพฤติปฏิบัติในทางวิชาชีพ อย่างเช่น การโกหกเพื่อนนั้นเกี่ยวข้องกับระดับของการตัดสินใจที่แตกต่างกันไป มากกว่าการใช้วิธีการที่หลอกลวงเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งเนื้อหาข่าว
และบ่อยครั้งที่ปัจจัยทางปริบทนั้นมีวัฒนธรรมของบุคคลหรือหน่วยงานเป็น ตัวกำหนด เช่น ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มของเพื่อนสนิทหรือภายในห้องข่าว และระบบค่านิยมของหน่วยงานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะละเลยได้ในระหว่างการตัดสินใจทางจริยธรรม ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะสัญญากับแหล่งข่าวในการปกปิดความลับ นักข่าวจำเป็นจะต้องคำนึงถึงนโยบายของหน่วยงานเสียก่อน เช่นเดียวกับการที่จะต้องตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ซึ่งต้องมีการแข่งขัน หรือความกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดาของสถาบันสื่อมวลชน
ดังนั้น ก่อนที่นักข่าวหรือสื่อมวลชนผู้ตกอยู่ในสภาพการณ์ที่จะต้องตัดสินใจจะสามารถให้เหตุผลในการตัดสินใจทางจริยธรรมได้
เขาจะต้องรู้หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม อันได้แก่ ปริบททางสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ
โดยเฉพาะภายใต้ปริบทการทำงานของตนเอง
(2) หลักปรัชญาพื้นฐานของทฤษฎีทางจริยธรรม
ในการระบุหรือแจกแจงทฤษฎีทางจริยธรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประกอบสร้าง แบบจำลองการตัดสินใจทางจริยธรรมนั้น
จำเป็นจะต้องทบทวนหลักปรัชญาซึ่งมีอิทธิพลอย่าง ลึกซึ้งในสังคมตะวันตกเสียก่อน
ได้แก่
หลักปรัชญาของกรีกโบราณ
การศึกษาด้านจริยธรรมนั้นสามารถย้อนไปได้ถึงยุคกรีกโบราณ โดยเฉพาะของ Socrates ซึ่งมีความเชื่อว่า คุณธรรมของบุคคลนั้นสามารถจำแนกแยกแยะหรือปฏิบัติได้ รวมถึง Plato ซึ่งมีความเชื่อว่า ความยุติธรรมนั้นจะบรรลุผลผ่านทางความฉลาดรอบคอบ การควบคุมหรือบังคับตนเอง และความกล้าหาญ เมื่อแปรหลักการดังกล่าวมาเป็นการกระทำ อาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคล อิงอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในโลกนี้ รวมถึงการปฏิบัติแบบเดินสายกลางAristotle หลักปรัชญาของอริสโตเติ้ลนั้นเทียบได้กับหลักจริยธรรมศีลธรรม ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของทฤษฎีของวิธีการที่ดี หรือ golden mean เขามีความเชื่อว่าคุณธรรมนั้นเกิดขึ้นระหว่างขั้วตรงข้ามกัน หรือ overdoing กับ underdoing ยกตัวอย่างเช่น ความกล้าหาญเป็นบริเวณตรงกลางระหว่างความขี้ขลาดตาขาวกับความกล้าบ้าบิ่น
ซึ่งในลักษณะของการทำงาน สื่อมวลชนร่วมสมัยนั้น แนวความคิดดังกล่าวสามารถเทียบได้กับความสมดุลและความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง "วิธีการที่ดี" ในทำนองเดียวกัน การห้ามโฆษณาบุหรี่ทางวิทยุและ โทรทัศน์และการแปะฉลากคำเตือนบนซองบุหรี่ก็เป็นวิธีการประนีประนอมระหว่างการประกาศให้บุหรี่เป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือการไม่ทำอะไรเลย เพื่อป้องกันผลร้ายที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว
แต่อริสโตเติ้ลก็ยอมรับว่า ไม่ใช่ว่าทุกการกระทำจะถูกมองในลักษณะของการเป็น "วิธีการที่ดี" เสมอไป เนื่องจาก การกระทำบางอย่างนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ดีเสมอและไม่มีหนทางใดที่จะแก้ไขได้ เช่น ความอิจฉาริษยา การผิดลูกผิดเมียผู้อื่น การขโมย หรือการฆาตกรรม เป็นต้น
หลักจริยธรรมของอริสโตเติ้ลนั้นเน้นหนักไปที่คุณสมบัติหรือุปนิสัยของบุคคล อริสโตเติ้ลเชื่อว่าคุณธรรมจะบรรลุผลผ่านทางการกระทำ หรือที่กล่าวกันว่า "practice makes perfect" การกระทำพฤติกรรมที่ดีซ้ำๆกันนั้น จะก่อให้เกิดการสั่งสมความคิดเกี่ยวกับความดีขึ้นในระบบ ค่านิยมของปัจเจกบุคคล และอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า คุณธรรมจริยธรรมเป็นวิธีในการคิด เช่นเดียวกับวิธีในการกระทำ
หลักปรัชญาของยิว-คริสเตียน
หลักพื้นฐานของการกระทำของชาวยิวและคริสเตียนนั้น คือ ประโยคที่บอกว่า "จงรักเพื่อนบ้านของท่านเหมือนดั่งที่ท่านรักตัวเอง" หลักจริยธรรมของชาวยิวและคริสเตียนถูกกำหนดด้วยความรักที่มีต่อพระเจ้า และความรักในมนุษยชาติทุกเผ่าพันธุ์ ซึ่งตามความคิดนี้แล้ว การจะตัดสินใจทางจริยธรรมใดๆจำเป็นจะต้องให้ความเคารพต่อเกียรติของความเป็นมนุษย์ เสมือนหนึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด มากกว่าการเป็นเพียงแค่วิธีการที่จะนำพาไปสู่จุดหมาย ต้องให้ความเคารพต่อความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะยากจนหรือร่ำรวย ไม่ว่าจะผิวดำหรือ ผิวขาว เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังหรือเป็นเพียงคนธรรมดา
ถึงแม้ว่าหลักจริยธรรมของชาวยิวและคริสเตียนดังกล่าวจะดูเหมือนเป็นอุดมคติ มากเกินไป แต่ก็ยังให้แนวทางในการปฏิบัติสำหรับพฤติกรรมจริยธรรมได้ นั่นคือ ไม่ว่าเราจะใช้แนวทางใดเพื่อตัดสินใจที่จะแสดงพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของเราออกมา เราจะต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเราด้วยความเต็มอกเต็มใจและที่สำคัญก็คือ หลักปรัชญาของการเคารพในความเป็นมนุษย์นั้น ควรจะเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางจริยธรรมของบุคคลทุกครั้ง นอกจากนั้นแล้ว หลักดังกล่าวนี้ยังเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของนักข่าว ผู้ซึ่งจะต้องตรวจสอบพินิจพิจารณา และรายงานการกระทำกิจกรรมของบุคคลที่ตกเป็นข่าว ด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ของบุคคลผู้นั้น
Kant และหน้าที่ทางจริยธรรม
นักปรัชญาชาวเยอรมัน Immanuel Kant เป็นนักจริยธรรมสมัยใหม่ ซึ่งทฤษฎีของเขามีพื้นฐานความคิดอยู่ที่ "หน้าที่" และสิ่งที่เขาเรียกว่า "สิ่งที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วน"สิ่งที่ผู้ที่จะต้องตัดสินใจทางจริยธรรมจะต้องกระทำก็คือ ตรวจสอบหลักการทางจริยธรรมที่อยู่ภายใต้การกระทำของตนเอง และตัดสินใจว่าจะประยุกต์ใช้ในแบบสากลทั่วไปหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น หลักการดังกล่าวก็จะกลายเป็นระบอบจริยธรรมของสาธารณะ ซึ่งจะผูกมัดสมาชิกในสังคมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน
ทฤษฎีของ Kant เน้นหนักไปที่หน้าที่ของมนุษย์ และบางครั้งอาจเรียกว่า duty-based moral philosophy อาจกล่าวได้ว่า "บุคคลมีหน้าที่ที่จะต้องพูดความจริง ถึงแม้ว่ามันอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายแก่บุคคลอื่นก็ตาม" นอกจากนั้นแล้ว Kant ยังต้องการให้เราเคารพความเป็นมนุษย์ของบุคคลผู้อื่นด้วย และไม่ควรปฏิบัติต่อคนอื่นเสมือนว่า เขาเป็นวิถีทางที่จะนำพาเราไปสู่จุดมุ่งหมาย ทว่าเราจะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพได้อย่างไร หากว่าการพูดความจริงของเราเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นต้องบาดเจ็บ และนั่นหมายถึงว่า Kant รู้ดีว่า การจะปฏิบัติตามหลักจริยธรรมสากลนั้นอาจส่งผลร้ายต่อบุคคลอื่นได้
Kant เชื่อว่า แรงจูงใจในการกระทำของบุคคลนั้น ขึ้นอยู่กับการยอมรับหน้าที่ที่จะต้องกระทำ มากกว่าเพียงแค่จะแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องออกมาเท่านั้น ดังนั้น ความตั้งใจใน การกระทำจึงมีความสำคัญมากกว่าการกระทำ ยกตัวอย่างเช่น หากพิจารณาตามทัศนะของ Kant แล้ว การที่บริษัทโฆษณาหลีกเลี่ยงโฆษณาที่หลอกลวง เพื่อป้องกันการตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐบาล ไม่ถือว่าการกระทำตามหน้าที่เชิงจริยธรรม
นักปรัชญาที่ดำเนินรอยตาม Kant เชื่อกันว่าหลักการจริยธรรมสากล อย่างเช่น การพูดความจริง ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ ยังเป็นสิ่งที่จะบุคคลต้องปฏิบัติตาม ยกเว้นแต่จะมี เหตุผลอันจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถกระทำได้เท่านั้น
ลัทธิถือผลประโยชน์เป็นสำคัญ (utilitarianism)
แนวทางหนึ่งในการศึกษาจริยธรรมในสังคมอเมริการ่วมสมัยคือแนวคิดที่ว่าด้วย utilitarianism โดยนักปรัชญา Jeremy Bentham and John Stuart Millแนวความคิดของหลักการนี้คือ การให้ความสำคัญต่อผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการ ตัดสินใจทางจริยธรรมของบุคคล มากกว่าจะค้นหาความตั้งใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำเช่นเดียวกับหลักปรัชญาของ Kant
ตัวอย่างจากหลักปรัชญาดังกล่าวอาจพิจารณาได้จาก กรณีที่เกิดขึ้น ณ Juneau, Alaska ซึ่งมีนักข่าวเข้าไปคุ้ยถังขยะของเลขานุการศาล และพบเศษกระดาษที่ทำให้ได้รู้ถึงการตัดสินใจในคดีที่กำลังพิจารณาอยู่ของคณะลูกขุน นักข่าวคนนั้นเสนอเรื่องราวนั้นให้กับหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ แต่หนังสือพิมพ์ 3 ฉบับปฏิเสธที่จะลงพิมพ์เรื่องดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือการตัดสินใจของคณะลูกขุน เนื่องจากการพิจารณาคดีนั้นๆยังไม่เสร็จสิ้น ทว่ามีหนังสือพิมพ์อีก 1 ฉบับที่ตัดสินใจจะลงพิมพ์ บรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คิดว่า หน้าที่ของเขา นอกเหนือจากการจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาแล้ว เขาจะต้องบอกความจริงกับผู้อ่าน โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับมา
นอกจากนั้นแล้ว นักข่าวที่ใช้วิธีการที่หลอกลวงเพื่อเปิดเผยความเลวร้ายของสังคมก็ถือว่าเป็นการใช้หลักการผลประโยชน์เป็นสำคัญเช่นเดียวกัน และในระยะยาว ผลลัพธ์ที่ได้นั้นอาจ ส่งผลต่อพฤติกรรมจริยธรรมในสังคมที่นักข่าวผู้นั้นปฏิบัติงานอยู่ก็เป็นได้ อาจกล่าวได้ว่า ผลลัพธ์ที่เป็นบวกหรือผลที่ดีสำหรับสังคม เป็นสิ่งที่ทำให้วิธีการในการหาข้อมูลที่ไม่ตรงไปตรงมานั้นสามารถยอมรับได้
ลัทธิความเท่าเทียมกันในสังคม (eqalitarianism)
eqalitarianism วางอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่าปัจเจกบุคคลทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยหลักคิดดังกล่าวทำให้แนวความคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับหลักจริยธรรมของชาวยิว-คริสเตียนความคิดที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันนี้เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปเป็นร่างโดยนักปรัชญา John Rawls ในหนังสือชื่อ "A theory of justice" Rawls มีความคิดว่า ทุกคนควรอยู่ในฐานะที่เขาเรียกว่า "original position" ไม่ว่าจะเป็นเพศใด อายุเท่าไร มาจากเชื้อชาติหรือเผ่าพันธ์ใด และมีสถานะทางสังคมอยู่ในระดับใดก็ตาม ทัศนะจากเสียงส่วนน้อยในสังคมควรได้รับการยอมรับ เท่ากับทัศนะของเสียงส่วนใหญ่ เพื่อทำลาย "ม่านแห่งอคติ" หรือม่านแห่งความรังเกียจเดียดฉันท์ให้หมดไป
ตามแนวคิดนี้การตัดสินใจทางจริยธรรมของบุคคลใดก็ตามควรจะกระทำโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบุคคล โดยปราศจากอคติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างกัน หรือความแตกต่างทางสังคม ทางการเมือง และความแตกต่างในด้านอื่นๆ และที่สำคัญคือ ไม่ควรจะปล่อยให้มี double standards เกิดขึ้น นอกเสียจากว่าจะมีเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ หลักการดังกล่าวนี้ เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของนักข่าว ในส่วนของการตัดสินใจที่จะลงเรื่องราวต่างๆของ ปัจเจกบุคคลที่มาจากภูมิหลังที่หลากหลาย รวมถึงไม่ว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะเป็นเรื่องของบุคคลที่มี ชื่อเสียงโด่งดังหรือเป็นเพียงบุคคลธรรมดา
relativism
Bertrand Russell and John Dewey เป็นนักปรัชญาที่สำคัญของแนวคิดนี้ และบางครั้งอาจเรียกแนวคิดนี้ว่า "progressivism"แนวคิด Relativism นี้มีความเชื่อว่า สิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ดีสำหรับบุคคลหนึ่งนั้นอาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ดีสำหรับบุคคลอื่น แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ สถานการณ์เดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งนั้น ผู้ที่จะต้องตัดสินใจทางจริยธรรมจะต้องตัดสินใจว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ดีจากมุมมองของตนเอง แต่จะต้องไม่ตัดสินมุมมองหรือการตัดสินใจทางจริยธรรมของผู้อื่น แนวคิดนี้มีทัศนคติว่า "ฉันจะตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับตัวฉัน และ คุณตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับคุณ" อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้อาจนำไปสู่สภาพที่ ไร้ระเบียบได้ เนื่องจากปัจเจกบุคคลแต่ละคนต่างยึดถือจริยธรรมของตนเอง ทำให้ไม่มีบรรทัดฐานทางจริยธรรมร่วมของสังคม
ขณะเดียวกัน อาจเรียกแนวคิดนี้ได้ว่า "situation ethics" ตามหลักการนี้ ลักษณะของผู้ที่จะต้องตัดสินใจจะเป็นแบบ case-by-case แม้ว่าสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้วนั้นจะเบี่ยงเบนไปจากกฎของสังคม อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วย และมองว่ามันมีลักษณะของ "non-ethics" และใช้เป็นแบบจำลองสำหรับพฤติกรรมทางจริยธรรมไม่ได้
ทฤษฎีทางจริยธรรม
นอกเหนือจากหลักปรัชญาพื้นฐานทางจริยธรรมดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ทั้งของ Aristotle Mill และ Kant นั้น นำมาใช้ประกอบในแบบจำลองการตัดสินใจทางจริยธรรมได้เป็นอย่างดี และทั้ง 3 แนวความคิดนั้นสามารถจำแนกเป็นหลักทฤษฎีทางจริยธรรมได้ดังนี้ คือ(1) ทฤษฎี deontological (duty-bases)
(2) ทฤษฎี teleological (consequence-bases) และ
(3) ทฤษฎี virtue ตามแนวคิดของอริสโตเติ้ลในเรื่องของ "วิธีการที่ดี"
(1) deontological (duty-bases)
แนวคิดนี้ได้รากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกว่า "deon" หรือ "duty" และในบางครั้ง อาจใช้เพื่อหมายถึง "nonconsequentialists" เนื่องจากตามหลักการของ deontological แล้ว มันจะ เน้นหนักไปที่การกระทำ หลักการ หรือหน้าที่ทางจริยธรรมตามหลักสากล โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์จากการกระทำนั้นว่าจะออกมาดีหรือไม่อย่างไร นักทฤษฎีนี้ที่โด่งดังคือ Kant และ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า หลักการทางจริยธรรมของ Kant นั้นอิงหลักในการประยุกต์ใช้ได้อย่างสากลและเคารพในความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นหากยึดตามหลักการของทฤษฎี duty-bases นี้แล้ว พฤติกรรมบางอย่างจะไม่สามารถกระทำได้ แม้ว่าผลที่เกิดตามมาจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม และทฤษฎีนี้ไม่อนุญาตให้บุคคลใช้วิธีการที่สกปรกหรือผิดกติกาเพื่อให้บรรลุผล (แม้จะได้รับผลบวกก็ตาม) เนื่องจากแรงจูงใจของบุคคลผู้ที่จะต้องตัดสินใจทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า และตามหลักการของ Kant ก็คือ ประชาชนจะต้องถูกปฏิบัติด้วยความเคารพและในฐานะที่เป็นจุดมุ่งหมาย มิใช่เป็นเพียงวิธีการเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ อาจกล่าวได้อย่างง่ายๆว่า "the ends do not justify the means"
และเนื่องจากทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญมายังกฎหรือข้อผูกมัดต่อหน้าที่ของตน ทำให้อาจเรียกนักทฤษฎีนี้ได้ว่า "absolutists" และหลักการของทฤษฎีนี้ก็คือ จะไม่ยอมรับข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น นักข่าวที่ใช้ทฤษฎีนี้ในการตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นจะไม่สามารถใช้วิธีการหาข่าวหรือสืบเสาะเรื่องราวที่หลอกลวงใดๆได้
ข้อดีของทฤษฎี duty-bases นี้ก็คือ ช่วยลดความกดดันทางจริยธรรมในการทำงานของนักข่าวและคาดการณ์ล่วงหน้าถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นตัวช่วยสนับสนุนในการทำงานอีกด้วยว่า "นี่คือหน้าที่ของนักข่าวที่จะต้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร" นอกจากนั้นแล้ว บุคคลที่ยึดถือและปฏิบัติตามทฤษฎีนี้ ยังได้รับความไว้วางใจอีกด้วยว่า เป็นบุคคลที่พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง
ทว่าในสถานการณ์ซึ่งจำเป็นจะต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ทฤษฎีนี้ไม่สามารถให้คำตอบที่พึงพอใจได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่นักข่าวปฏิเสธที่จะบอกชื่อของแหล่งข่าวในศาล แม้ว่าการบอกชื่อแหล่งข่าวนั้นจะสามารถช่วยเหลือรูปคดีของตำรวจและฝ่ายจำเลยได้ เนื่องจากกฎของทฤษฎีนี้บังคับให้ต้องใช้กับทุกสถานการณ์ โดยไม่คำนึงผลลัพธ์ใดๆทั้งสิ้น ดังนั้น ปัญหาของทฤษฎีนี้ก็คือ กฎบางอย่างที่ยึดถือนั้นอาจจะขัดแย้งกับหลักการในด้านอื่นๆได้ อย่างเช่นพันธกิจในการรักษาสัญญาของบุคคล
และแม้ว่าจะไม่มีความขัดแย้งในหลักการทางจริยธรรมเกิดขึ้น ก็ยังอาจเป็นการยากที่จะปฏิบัติตามกฎในสถานการณ์เฉพาะบางอย่าง ดังตัวอย่างของนักข่าวทางโทรทัศน์ที่ได้รับการ ขอร้องมิให้เปิดเผยชื่อของตัวประกันเพื่อป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้น หากว่าเป็นเราก็คงจะยินดีที่ได้ทำตามนั้น แต่ตามหลักการของทฤษฎีนี้แล้ว อาจทำให้เราต้องเลือกทำอย่างอื่นแทน
ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีนี้ยังอาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่า การทำหน้าที่ทางจริยธรรมนั้น ไม่สามารถจะแยกออกอย่างสิ้นเชิงได้จากผลที่จะเกิดตามมาในภายหลัง ดังเช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าหน้าที่ที่จะต้องพูดแต่ความจริงนั้น เป็นหลักการขั้นพื้นฐานว่า การพูดความจริงจะก่อให้เกิด ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเหมือนว่าทฤษฎีนี้จะค่อนข้างยุ่งยากเมื่อต้องนำมาประยุกต์ใช้กับโลกที่ซับซ้อนของเราในปัจจุบัน แต่เราก็สามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้ได้ โดยยึดหลักการที่ว่า เราทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎ ยกเว้นไว้แต่ว่าจะมีเหตุจำเป็นบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถจะปฏิบัติตามกฎนั้นได้
(2) teleological (consequence-bases)
teleological หรือทฤษฎีที่ว่าด้วยสาเหตุสุดท้ายของการกระทำเป็นที่นิยมใช้อย่างมากในปัจจุบัน ทฤษฎีนี้มีหลักการว่า การตัดสินใจทางจริยธรรมที่ถูกต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะก่อให้เกิดผลที่ดี ทฤษฎีนี้จะแตกต่างจากทฤษฎี duty-bases ตรงที่ว่า จะไม่สนใจในวิธีการปฏิบัติว่าดีหรือถูกต้องหรือไม่ แต่จะดูว่าวิธีการดังกล่าวจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่เท่านั้นแต่การปฏิบัติตามทฤษฎีนี้ก็แยกออกไปอีกหลายสาย เช่น กลุ่มของ "egoists" ที่เชื่อว่า บุคคลจะต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตนเอง หรือ "look out for number one" แต่แนวคิดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับกันนัก เพราะคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น หรืออีกสายหนึ่งของทฤษฎีนี้ได้แก่ กลุ่มของ utilitarian ซึ่งเชื่อว่า เราจะต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้เกิดผลที่น่าพึงพอใจมากที่สุด แนวคิดนี้น่าสนใจตรงที่ว่า มันสามารถเป็นแบบปฏิบัติสำหรับการตัดสินใจทางจริยธรรมได้ เนื่องจาก เมื่อบุคคลจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องบีบบังคับให้เลือกทำนั้น เขาสามารถจะวิเคราะห์ได้ว่า อะไรที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่ดีหรือก่อให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลอื่นและต่อตัวเองจากการตัดสินใจเลือกกระทำของตัวเขา และตัดสินใจเลือกการกระทำที่จะก่อให้เกิดผลที่เป็นที่น่าพึงพอใจมากที่สุด
นอกจากนั้นแล้ว การใช้ผลประโยชน์สาธารณะมาเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจยังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในการทำงานข่าวปัจจุบัน ในบางครั้ง นักข่าวอาจใช้เหตุผลประกอบในการตัดสินใจทางจริยธรรมของตนด้วยความเชื่อว่า แม้ว่าวิธีการหาข่าวนั้นจะไม่ดีหรืออาจถูกตั้งคำถามได้ แต่ถ้าสังคมจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น นักข่าวที่ยอมให้มีการ ตีพิมพ์เรื่องราวที่ได้มาโดยวิธีการขโมยข้อมูลด้วยเหตุผลว่า "เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะได้รับรู้"
และอีกมุมมองหนึ่งของทฤษฎีนี้ที่มักจะถูกมองข้ามเสมอๆ ก็คือ การระมัดระวังให้เกิด ผลร้ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ กรณีตัวอย่างตามแนวคิดนี้ คือ การที่ผู้จัดการสถานีขอให้นักข่าวเป็นฝ่ายที่ลาออกไปเองแทนที่จะไล่นักข่าวคนนั้นออก
ทฤษฎีผลลัพธ์สุดท้ายนี้มีความยืดหยุ่นมากกว่าทฤษฎี duty-bases อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ทฤษฎีนี้ให้ความไว้วางใจต่อผลที่ยังไม่เกิดขึ้นและความสามารถในการ คาดทำนายของบุคคลมากเกินไป นอกจากนั้นแล้ว ทฤษฎีนี้ยังอาจจะมองข้าม "เสียง" ของบุคคลกลุ่มเล็กๆในสังคม ตัวอย่างเช่น นักข่าวที่ตั้งใจจะผลิตรายการที่ดีที่สุดสำหรับคนในสังคม แต่การ มุ่งคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ในสังคม อาจทำให้ความต้องการของกลุ่มคนชายขอบถูกละเลยหรือเพิกเฉยไปได้
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ก็เป็นเครื่องมือที่มีค่าสำหรับการตัดสินใจทางจริยธรรม ด้วยเหตุที่ว่า มันผลักดันให้เราต้องชั่งน้ำหนักในการกระทำของตัวเราเองต่อบุคคลอื่น ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้เราพ้นจากความสับสนเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างหลักการทางจริยธรรมสองอย่างที่บังคับให้เราต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และยังช่วยให้กระบวนการในการตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นมีความลึกลับและซับซ้อนน้อยลง
(3) virtue: Aristotle's golden mean
ถึงแม้ว่าทฤษฎี duty และ consequence-based จะมีบางมุมที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองทฤษฎีดังกล่าวมีสิ่งที่ร่วมกัน ก็คือ การให้ความสำคัญกับบรรทัดฐานหรือหลักการในการประเมินพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคล และเน้นในสิ่งที่เราจะต้องทำ มิใช่เน้นในการเป็นคนในแบบที่เราควรจะเป็น แต่ตามแนวคิดของอริสโตเติ้ลแล้วนั้น จะให้ความสำคัญกับการสร้างอุปนิสัยหรือ คุณลักษณะของบุคคลมากกว่าอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทฤษฎีของอริสโตเติ้ลนี้จะมุ่งหวังผลในระยะยาวด้วยการสร้าง คุณลักษณะทางจริยธรรมให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล แต่ทฤษฎีนี้ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ด้วยการเป็น "วิธีการที่ดี" หรือการเดินทางสายกลาง โดยเฉพาะในกรณีที่มีทางเลือกหลายทาง แต่ไม่มีทางใดที่ดูเหมือนว่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีได้
แม้ว่าทฤษฎีนี้จะมีลักษณะของการเป็นทางสายกลาง แต่วิธีการที่ใช้นั้นไม่จำเป็นจะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างขั้วสุดทั้งสองข้างเสมอไป ดังที่ Clifford Christian และคณะ ได้กล่าวไว้ว่า "วิธีการนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่มันเกิดขึ้นถูกเวลา ถูกบุคคล ถูกเหตุผล และถูกวิธี"
ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจห้ามออกอากาศเนื้อหาที่ไม่สมควรทางโทรทัศน์และวิทยุในช่วงเวลาที่คาดว่าเด็กจะเปิดรับสื่อดังกล่าว แทนที่จะเลือกระหว่างปล่อยให้ออกอากาศเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมงหรือการเซ็นเซอร์รายการทั้งหมดไปเลย
(3) การคิดเชิงวิพากษ์
ความเข้าใจในปริบทที่เกิดเหตุการณ์ทางจริยธรรมและหลักปรัชญาพื้นฐานหรือทฤษฎีทางจริยธรรมนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถตัดสินใจทางจริยธรรมได้
บุคคลที่จะต้องตัดสินใจดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีความคิดเชิงวิพากษ์ต่อเหตุการณ์นั้นๆ
ขณะเดียวกัน ความคิดเชิงวิพากษ์นั้นยังเป็นทักษะที่คนเราสามารถฝึกฝนกันได้
การคิดเชิงวิพากษ์ เริ่มต้นจากการมีบางสิ่งหรือมีเหตุการณ์บางอย่างที่จะมาให้วิพากษ์ ในด้านหนึ่งนั้น เราจำเป็นจะต้องมีความรู้ในสิ่งที่เราจะวิพากษ์ โดยเฉพาะนักข่าวที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและปริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการรู้ในหลักทฤษฎีทางจริยธรรมและหลักปฏิบัติในวิชาชีพของตนเองด้วย
นอกจากนั้นแล้ว นักคิดเชิงวิพากษ์ยังจะต้องสามารถแจกแจกปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นได้ เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมา และมีความสามารถที่จะตั้ง ข้อสมมติฐานในสิ่งที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่จะต้องตัดสินใจเลือกทำ
ในท้ายที่สุด นักคิดเชิงวิพากษ์ยังต้องการทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อเป็นเหตุผลประกอบในการตัดสินใจของตนเอง ในการกระทำดังกล่าว นักคิดเชิงวิพากษ์จะต้องตรวจสอบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินใจเลือกในแต่ละทางเลือกเหล่านั้น
อาจสรุปได้ว่า องค์ประกอบของการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อที่จะตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ
(1) การได้รับข้อมูลและการมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ทางจริยธรรมนั้นๆ
(2) นำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์และพิจารณาทางเลือกทั้งหมดที่มี และ
(3) ตัดสินใจบนพื้นฐานของทางเลือกทั้งหมดนั้น
แบบจำลองการตัดสินใจทางจริยธรรม
ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า การตัดสินใจทางจริยธรรมนั้นเป็นกระบวนการที่มีระบบ
และประกอบด้วยข้อที่ควรคำนึงถึงหลายประการ ที่สามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้คือ
(1) การให้นิยาม สถานการณ์ (the situation definition)
(2) การวิเคราะห์สถานการณ์นั้นๆ โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางจริยธรรม (the analysis of the situation, including the application of moral theories) และ
(3) การตัดสินใจหรือการตัดสินใจทางจริยธรรม (the decision, or ethical judgment)
กระบวนการดังกล่าวในข้างต้นอาจเรียกได้ว่า SAD formula ดังแผนภาพและรายละเอียดต่อไปนี้
situation definition
description of facts
identification of principles and values
statement of ethical issue or question
analysis
weighing of competing principles and values
consideration of external factors
examination of duties to various parties
discussion of applicable ethical theories
decision
rendering of moral agent's decision
defense of that decision based on moral theory
(1) การให้นิยามสถานการณ์
การนิยามสถานการณ์ในที่นี้ คือ การแจกแจงประเด็นทางจริยธรรมและเขียนรายละเอียดหรือพรรณนาการกระทำ
หลักการ และค่านิยมทางจริยธรรมที่จะมีความสำคัญต่อกระบวนการ การตัดสินใจทางจริยธรรมในครั้งนี้
ขั้นตอนแรก คือ การบรรยายข้อเท็จจริง และแจกแจงหรือระบุให้เห็นถึงค่านิยมทาง จริยธรรมที่มีความขัดแย้งในสถานการณ์ทางจริยธรรม ซึ่งจำเป็นจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบางครั้งความขัดแย้งในหลักการทางจริยธรรมดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ว่า ในบางครั้งก็ต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้ที่จะต้องตัดสินใจ
ยกตัวอย่างเช่น หลักการทางจริยธรรมต่อไปนี้ คือ การพูดความจริง สิทธิส่วนบุคคล ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของบุคคล สิทธิของสาธารณชนในการรับรู้ข่าวสาร ความถูกต้อง ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือของ สื่อมวลชน การก่อให้เกิดผลร้ายผู้อื่น และการรักษาความลับของบุคคล
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชนจะต้องคำนึงถึงในระหว่างการ ตัดสินใจทางจริยธรรมของตนอีกก็คือ ปัจจัยด้านการแข่งขันระหว่างสื่อด้วยกัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสภาพที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันของเวลา
ในขั้นตอนที่สอง สิ่งที่จะต้องทำคือ การตั้งข้อสมมติฐานเกี่ยวกับปัญหาหรือประเด็นทางด้านจริยธรรมดังกล่าว การตั้งข้อสมมติฐานนี้จะต้องเขียนแบบระบุเฉพาะเจาะจง มิใช่เขียนแบบประโยคธรรมดาทั่วๆไป ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นที่เกิดปัญหาทางจริยธรรมว่า นักข่าวควรจะปลอมตัวเองเข้าไปสมัครงานในโรงพยาบาลเพื่อให้ได้ข่าวหรือไม่ จากที่มีการลือกันว่าสภาพการณ์ภายในโรงพยาบาลแห่งนี้มีบรรยากาศที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ข้อสมมติฐานต่อกรณีนี้ควรเขียนในลักษณะดังนี้คือ
"เป็นสิ่งที่ถูกจริยธรรมสำหรับนักข่าวที่จะปิดบังสถานภาพที่แท้จริงของตนเอง (หรือโกหก) หรือไม่ เพื่อให้ได้เข้าทำงานในโรงพยาบาล โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะสืบสวนข่าวลือเกี่ยวกับสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะภายในโรงพยาบาล" หรืออาจตั้งข้อสมมติฐานในอีกลักษณะหนึ่งเช่น "เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ หากว่านักข่าวจะใช้เทคนิคหรือวิธีการที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของข่าว"
อย่างไรก็ตาม การตั้งข้อสมมติฐานดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หากว่าเราไม่มีความเข้าใจในประเด็นปัญหาทางจริยธรรมนั้นอย่างเพียงพอ
(2) การวิเคราะห์สถานการณ์นั้นๆ
โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางจริยธรรม
ขั้นตอนของการวิเคราะห์นี้ เป็นหัวใจสำคัญที่แท้จริงของกระบวนการตัดสินใจทาง
จริยธรรมในแบบจำลอง SAD ในขั้นตอนนี้ ผู้ที่จะต้องตัดสินใจในปัญหาทางจริยธรรมจะต้องใช้
ข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกันกับการใช้จินตนาการเข้าช่วยในการตรวจสอบสถานการณ์
ตลอดจนการประเมินทางเลือกทางจริยธรรมอื่นๆด้วย
ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางจริยธรรมซึ่งเป็นปัญหานั้น ประกอบไปด้วยข้อที่ควรคำนึง 4 ประการ คือ
ประการแรก ควรมีการอภิปรายถึงข้อดีและข้อเสีย ตลอดจนถึงการชั่งน้ำหนัก ความขัดแย้งของหลักการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขั้นนี้จำเป็นจะต้องใช้จินตนาการเข้าช่วยในการคิดหรือตัดสินใจเป็นอย่างมาก
ประการต่อมา สำหรับข้อนี้ คือ การตรวจสอบปัจจัยภายนอกที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจทางจริยธรรม เช่น นโยบายของหน่วยงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ลักษณะของประชากรภายในชุมชนซึ่งอาจจะเป็นตัวกำหนดปฏิกิริยาโต้ตอบของชุมชนต่อ การตัดสินใจทางจริยธรรมของสื่อมวลชนได้
ประการที่สาม นักข่าวหรือผู้ที่จะต้องตัดสินใจทางจริยธรรมจะต้องตรวจสอบบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจดังกล่าว อันได้แก่ มโนธรรมของผู้ที่จะต้องตัดสินใจ บุคคลหรือสิ่งที่เป็นปัญหาในการตัดสินใจ กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเงิน หน่วยงานหรือองค์กรที่สังกัด และ เพื่อนร่วมวิชาชีพ เป็นต้น ในการตัดสินใจนั้น จะต้องนำบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้มาชั่งน้ำหนัก หรือมาประเมิน โดยคำนึงถึงความสำคัญและอิทธิพลที่จะมีต่อการตัดสินใจในเหตุการณ์ทาง จริยธรรม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเงิน อย่างกลุ่มผู้โฆษณา ผู้ถือหุ้น หรือกลุ่มสมาชิกบอกรับ กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจ หากปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินหรือการลงทุนของเขา
ประการสุดท้าย คือ การนำทฤษฎีทางจริยธรรมที่ได้กล่าวถึงในขั้นต้นมาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจ โดยตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจากมุมมองของทฤษฎีที่คำนึงถึงผลลัพธ์หรือสาเหตุสุดท้ายของการกระทำ (teleology) จากมุมมองของทฤษฎีหน้าที่ทางจริยธรรม (deontological) และจากทฤษฎีวิธีการที่ดีของอริสโตเติ้ล (Aristotle's golden mean)
(3) การตัดสินใจหรือการตัดสินใจทางจริยธรรม
ในส่วนสุดท้ายนี้คือการตัดสินใจหรือการป้องกันการตัดสินใจของเราด้วยเหตุผลจากการประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางจริยธรรมดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น
และสิ่งสำคัญที่จะต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ ทฤษฎี deontological และทฤษฎี teleology
นั้น อาจจะทำให้ได้ข้อตกลงใจที่เหมือนกัน แต่ทว่าเหตุผลที่ใช้นั้นแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น หากว่าเราจะใช้ทฤษฎี deontological ในประเด็นที่เกี่ยวกับการปลอมตัวของนักข่าวในระหว่างการหาข่าว
วิธีการแบบนี้ไม่สามารถยอมรับได้ แต่หากเราประยุกต์ใช้ทฤษฎี teleology สิ่งที่เราจะต้องทำคือ
การชั่งน้ำหนักถึงผลร้ายและผลดีของผลที่จะเกิดตามมาจากการตัดสินใจของเรา โดยไม่คำนึงว่าวิธีการการโกหกหรือหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของข่าวนั้นเป็นวิธีการที่ไม่ดี
ในท้ายที่สุด การตัดสินใจในสถานการณ์เชิงจริยธรรมซึ่งมีความขัดแย้งและต้องเลือกระหว่างอย่างใดอย่างหนึ่งของนักข่าว โดยอาศัยแบบจำลองการตัดสินใจทางจริยธรรมนี้จะช่วยให้นักข่าวหรือบรรณาธิการ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในสายโซ่ของกระบวนการสื่อสารมวลชน ซึ่งต้องเผชิญกับสถานการณ์ของปัญหาทางจริยธรรมจะนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี อาทิ ปัญหาเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล การรักษาความลับและผลประโยชน์ของสาธารณะ ความขัดแย้งทางด้าน ผลประโยชน์ ความกดดันทางเศรษฐกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมฯลฯ และได้ผลลัพธ์ที่ น่าพึงพอใจ เนื่องจาก การเลือกที่จะตัดสินใจเชิงจริยธรรมของนักข่าวหรือบรรณาธิการข่าว อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นจะมีผลต่อการเลือกนำเสนอข่าว และคุณภาพของข่าวของสื่อมวลชน
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ทฤษฎีของ Kant เน้นหนักไปที่หน้าที่ของมนุษย์ และบางครั้งอาจเรียกว่า duty-based moral philosophy อาจกล่าวได้ว่า "บุคคลมีหน้าที่ที่จะต้องพูดความจริง ถึงแม้ว่ามันอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายแก่บุคคลอื่นก็ตาม" นอกจากนั้นแล้ว Kant ยังต้องการให้เราเคารพความเป็นมนุษย์ของบุคคลผู้อื่นด้วย และไม่ควรปฏิบัติต่อคนอื่นเสมือนว่า เขาเป็นวิถีทางที่จะนำพาเราไปสู่จุดมุ่งหมาย
ความคิดที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันนี้เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปเป็นร่างโดยนักปรัชญา
John Rawls ในหนังสือชื่อ "A theory of justice" Rawls มีความคิดว่า
ทุกคนควรอยู่ในฐานะที่เขาเรียกว่า "original position" ไม่ว่าจะเป็นเพศใด
อายุเท่าไร มาจากเชื้อชาติหรือเผ่าพันธ์ใด และมีสถานะทางสังคมอยู่ในระดับใดก็ตาม
ทัศนะจากเสียงส่วนน้อยในสังคมควรได้รับการยอมรับ เท่ากับทัศนะของเสียงส่วนใหญ่
เพื่อทำลาย "ม่านแห่งอคติ" หรือม่านแห่งความรังเกียจเดียดฉันท์ให้หมดไป
ตามแนวคิดนี้การตัดสินใจทางจริยธรรมของบุคคลใดก็ตามควรจะกระทำโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบุคคล
โดยปราศจากอคติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างกัน หรือความแตกต่างทางสังคม
ทางการเมือง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์