บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 575 หัวเรื่อง
ทักษิณวิจารณ์พาดหัว นสพ.
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์
แห่งประเทศไทย
บทความมหาวิทยาลยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
(การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)
แถลงการณ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
นายกทักษิณวิจารณ์พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 575
หมายเหตุ : แถลงการณ์และบทความชิ้นนี้ได้รับมาจาก
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ประกอบด้วย
1. แถลงการณ์กรณีที่นายกรัฐมนตรีวิจารณ์การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์
2. สถานการณ์สื่อมวลชนไทย
ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
ยุคแห่งการบั่นทอนความน่าเชื่อถือสื่อมวลชนไทย
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
4 หน้ากระดาษ A4)
1. แถลงการณ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
กรณีที่นายกรัฐมนตรีวิจารณ์การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์
การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนพุ่งเป้าไปที่การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์"มติชน"เนื่องจากไม่พอใจที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 ว่า "ธรรมภิบาลรัฐบาลไทยเสื่อม สอบตก คุมโกงธนาคารโลกให้แค่ 49 %" โดยได้ติเตียนว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พาดหัวไม่สร้างสรรค์พาดหัวข่าวไม่ถูกต้องนั้น
การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนดังกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นการให้เหตุผลเพื่อพยายามสร้างหลักการใหม่ขึ้นมาในสังคมว่า สื่อมวลชนไม่ควรจะเสนอข่าวด้านลบของรัฐบาลและการเสนอข่าวเช่นนั้นเท่ากับไม่มีวุฒิภาวะเพราะไม่รู้จักให้เกียรติรัฐบาลของประเทศตัวเอง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เกรงว่าข้ออ้างเช่นนั้นของนายกรัฐมนตรีจะทำให้ผู้ที่ไม่เฉลียวหลงเข้าใจผิดคิดไปว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องรัฐบาลโดยไม่ต้องใยดีต่อข้อเท็จจริง
การที่หนังสือพิมพ์ "มติชน"ได้พาดหัวข่าวดังกล่าวเนื่องจากธนาคารโลกได้เปิดเผยระบบใหม่ในการวัดค่าธรรมาภิบาลของรัฐบาลต่างๆทั่วโลกซึ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าหรือถอยหลังของระบบธรรมาภิบาลในแต่ละประเทศได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของธนาคารโลกซึ่งชี้ให้เห็นว่า นับจากช่วงปี 2539-2547การทำงานของรัฐบาลไทยด้อยประสิทธิภาพลงจากระดับ 74.3% เหลือเพียง 62.9% ในปี2543 และเพิ่มขึ้นเป็น 66.7% ในปี 2545 และ 65.4% ในปีที่แล้ว
ขณะที่ความเป็นนิติรัฐหรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองโดยเสมอหน้าได้ลดลงจากระดับ 71.4% เหลือเพียง 51.7% ในปีที่แล้ว
สำหรับการควบคุมระบบไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น มีเพียงปี 2541ที่รัฐไทยได้คะแนนเกิน 50% ในปี 2539 ได้ 42% และเพิ่มเป็น 49.3%ในปีที่ผ่านมา
หากพิจารณาข้อมูลนี้อย่างรอบคอบด้วยใจเป็นกลางจะพบว่า ถ้อยคำที่ใช้พาดหัวข่าว "ธรรมภิบาลรัฐบาลไทยเสื่อม สอบตก คุมโกง ธนาคารโลกให้แค่ 49 %"นั้นมิได้คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในเนื้อข่าวเลยโดยเฉพาะการที่ธนาคารโลกระบุว่าการควบคุมไม่ให้เกิดคอร์รัปชั่นของไทยทำได้เพียง 49.3 %ซึ่งน้อยกว่า ปี 2541ซึ่งสูงเกินกว่า 50%
แทนที่จะสร้างหลักการใหม่ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนว่า ต้องไม่เสนอข่าวด้านลบต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรีน่าจะเร่งตรวจสอบปมการทุจริตที่กำลังผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดไม่ว่าเรื่องการทุจริตโครงการจำนำข้าวหอมมะลิ การจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดสนามบินสุวรรณภูมิ การจัดซื้อกล้ายางมูลค่านับพันล้านบาท ฯลฯ ให้ได้ความกระจ่างเพื่อสถาปนาธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจริงในการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่า
ในฐานะสมาคมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวฯรู้สึกเสียใจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้ท่าทีในทางที่ไม่สร้างสรรค์มาบั่นทอนเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพสื่อมวลชนโดยตลอดไม่ได้ใช้และไม่ได้ส่งเสริมกระบวนการที่มีอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งๆที่สื่อมวลชนได้พยายามพัฒนาระบบตรวจสอบและควบคุมกันเองมาอย่างต่อเนื่องโดยได้ร่วมจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติซึ่งปฏิบัติงานได้ผลและก้าวหน้ามาตามลำดับ
สมาคมฯขอให้สาธารณะชนพิเคราะห์การใช้เหตุผลของพ.ต.อ.ทักษิณ อย่างถี่ถ้วน ขณะเดียวกันก็ขอให้สมาชิกมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นในอาชีวะปฏิญาณต่อไปไม่นำเหตุผลซึ่งไร้สาระใดๆมาบั่นทอนการทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อประชาชน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
12 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
Download file : www.tja.or.th
2. สถานการณ์สื่อมวลชนไทย
ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
ยุคแห่งการบั่นทอนความน่าเชื่อถือสื่อมวลชนไทย
สื่อมวลชนไทยในยุครัฐบาลทักษิณ ยังตกอยู่ในภาวการณ์การแทรกแซงจากอำนาจรัฐและรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2547 ย่างก้าวเข้าสู่ปี 2548 ท่าทีของรัฐบาลทักษิณที่มีต่อสื่อมวลชนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์ แม้ในการไปเป็นองค์ปาฐก ในงานไทยแลนด์ เพรส แฟร์ เมื่อเดือนกันยายน 2547 ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ปวารณาว่า จะเคารพความเป็นอิสระของสื่อ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้สื่อทำงานอย่างอิสระสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความรอบรู้และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ คำแนะนำต่าง ๆ จากสื่ออย่างเต็มที่
ในท้ายที่สุดรัฐบาลไม่ได้กระทำดังที่สัญญาไว้ใด ๆ แต่กลับใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการแทรกแซงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน อย่างที่ทำมาโดยตลอดไม่ว่าการใช้วิธีการขู่ตัดโฆษณา การแทรกแซงผ่านผู้บริหารสื่อ ความพยายามในการซื้อกิจการสื่อ การเข้าไปถือหุ้นในกิจการสื่อที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การขู่ว่าจะฟ้องหมิ่นประมาทหรือฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายมูลค่าสูงเกินจริง เพื่อให้คู่ความแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้วิธีการโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบและกลยุทธ์ใน 3 ลักษณะคือ แทรกแซง กวาดต้อน และพยายามแบ่งแยก แต่เมื่อไม่บรรลุผลเด็ดขาด ระยะหลังจึงนำวิธีการราคาถูก เช่น กล่าวหาป้ายสีสื่อมวลชนต่างๆนานา ตั้งแต่ กล่าวหาว่า สื่อมวลชนบ่อนทำลายความมั่นคงในชาติ หรือสื่อมวลชน "เต้าข่าว" หรือสร้างข่าวขึ้นมาเอง ซึ่งปรากฏการณ์ข้อหลังนี้เริ่มถี่มากขึ้นในช่วงนี้
นายกรัฐมนตรีได้สร้างแบบอย่างของการกล่าวร้ายสื่อมวลชน จนกลายเป็นเยี่ยงทำให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐหลายคนเอาอย่าง ทำให้การกล่าวหาสื่อมวลชนแพร่ระบาดไปมากยิ่งขึ้น
การกล่าวร้ายดังกล่าวไม่อาจจะแปลเจตนาเป็นอื่นได้ นอกจากจะเป็นความพยายามทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเห็นว่า สื่อเป็นผู้บิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นการชี้ให้สาธารณชนเกิดทัศนคติในทางลบ เพื่อหวังลดความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
นอกจากจะไม่ส่งเสริมให้สื่อมวลชนได้แสดงบทบาทอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของชาติแล้ว รัฐบาลยังไม่สนับสนุนให้สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่กลับเลือกให้ข้อมูลข่าวสาร ซ้ำร้ายการมีรัฐบาลเสียงข้างมากและเป็นรัฐบาลพรรคเดียว กลับไม่เป็นปัจจัยเอื้อในการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง
การแปรเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยหลักประกันในเรื่องอิสรภาพในการทำงานของสื่อมวลชนที่ตราไว้ในหลายมาตรา ก็ยังไม่มีผลปรากฎออกมาเป็นรูปธรรมทั้งๆที่การได้มาซึ่งเสียงข้างมากนั้น เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
บทบาทของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและเป็นอยู่ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ตระหนักถึงปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งมีบทบัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองไว้แล้ว
ความไม่ตระหนักนี้ทำให้ไม่เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะการสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างเสรีนั้น จะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใส และปัญหาต่างๆไม่ว่าปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมก็จะลดน้อยลง
ช่วงรอยต่อของปี 2547 ตลอดจนถึงปี 2548 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการบริหารงานรัฐบาลทักษิณ 1 ที่สิ้นสุดลงและก้าวสู่การเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 สามารถนำ ส.ส. เข้าสภาผู้แทนราษฎรได้มากถึง 377 คน และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จตามที่ได้ประกาศไว้ ส่งผลให้ฝ่ายค้านมีเสียงไม่มากพอที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เรื่องทุจริตคอร์รัปชันได้
ขณะเดียวกันองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็ได้ถูกแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง จนไม่อาจทำหน้าที่ตรวจสอบได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อมวลชนตระหนักดีว่า เป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้เต็มกำลัง แม้ว่า ท่าทีของรัฐบาลทักษิณที่มีต่อสื่อมวลชนจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์ก็ตาม
ในภาวะเช่นนี้
สื่อมวลชนไทยจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไปโดยยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพราะเชื่อมั่นว่า
นี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ไม่แปดเปื้อนข้อกล่าวหา และเป็นเหยื่อการบ่อนทำลายที่กำลังเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันก็จะไม่เพิกเฉยต่อการตรวจสอบกันเอง เพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมแห่งวิชาชีพและความเชื่อถือของสังคม
เพราะสื่อมวลชนเป็นสถาบันแห่งวิชาชีพที่ต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบรัฐบาล และสังคมแทนประชาชน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2548
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 540 เรื่อง หนากว่า 6700 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com