บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 571 หัวเรื่อง
คอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์การเมือง
กำพล
จำปาพันธ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ
สมาชิก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แด่ชาวนา
กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยาก
คณะคอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
[email protected]
หมายเหตุ:
ผลงานวิชาการชิ้นนี้เดิมชื่อ
แด่ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยาก คณะคอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
๒๔๗๕
เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
14 หน้ากระดาษ A4)
ข่าวคราวเกี่ยวกับการรื้อฟื้น พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ผนวกกับความพยายามในรอบหลายปีที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ โดยกลุ่ม กปร. (กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน) ชวนให้นึกถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วการดำรงอยู่ของการเคลื่อนไหวดังกล่าว สะท้อนระดับความเป็นประชาธิปไตยของรัฐเอง พอ ๆ กับที่สะท้อนลักษณะเผด็จการไปด้วยในตัว
ไม่เพียงแต่หลัง ๒๔๙๐ และ หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เท่านั้น ที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ขึ้นสู่กระแสสูง อันที่จริงแม้แต่ครั้ง ๒๔๗๕ กิจกรรมการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ก็มีบทบาทสำคัญอันจะละเลยไปไม่ได้ ดังจะชี้ให้เห็นต่อไป
ภายหลังจากเหตุการณ์ยึดอำนาจโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ผ่านพ้นไปไม่นาน จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๔, ๗ และ ๑๓ ตุลาคมของปีเดียวกันนั้นเอง ก็ปรากฏมีข่าวที่ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งทำการแจกใบปลิวตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เช่น ที่ธนบุรี นครราชสีมา อุบลราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ เพชรบุรี พิษณุโลก ( ดูข้อมูลใน เออิจิ มุราชิมา. การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙), น. ๑๐๒. )
ใบปลิว / แถลงการณ์ที่แจกมีลักษณะพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง เขียว บางส่วนก็สีดำ แบ่งเป็น ๓ ภาษาด้วยกัน คือ ไทย จีน และอังกฤษ ระบุวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ลงนาม "คณะคอมมูนิสต์สยาม" และ "คณะคอมมูนิสต์หนุ่มสยาม" ( สะกดตามคำเดิมในเอกสาร )
เนื่องจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสยาม เป็นที่จับตามองของรัฐบาลมาตั้งแต่ครั้งสมบูรณญาสิทธิราชย์ เอกสารข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับ "กิจการของคอมมูนิสต์ในสยาม" รัฐบาลใหม่หลังเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็ได้รับตกทอดมาจากรัฐบาลพระปกเกล้าฯ ทั้งยังได้เรียนรู้คุณประโยชน์ในวิธีการปราบปรามของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ อีกต่อหนึ่งด้วย
เบื้องต้นโดยจุดใหญ่ใจความที่สำคัญ ๆ คณะราษฎรก็มองการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วยการผสมโรงเข้าเป็นการก่อความไม่สงบของพวกคนจีนอพยพ ฉะนั้น การตอบโต้หรือปราบปราม จึงเน้นไปที่กลุ่มคนจีนเป็นหลักและพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาเชิงเชื้อชาตินิยม (Racism) และด้วยเหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุคแรกยังทำงานฝังตัวอยู่แต่ในหมู่คนงาน การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ยุคแรกเมื่อต้องเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายรัฐบาล พวกเขาจึงถูกลดทอนลงเป็นเพียงปัญหาการก่อความไม่สงบของคนงานจีน
อย่างไรก็ตามท่าทีของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ นั้น พบว่ายังเป็นไปโดยละมุนม่อม กล่าวคือมักใช้วิธีการเนรเทศกลับไปประเทศจีนเสียโดยมาก แม้แต่กรณีชาวญวนอพยพก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า ขบวนการคอมมิวนิสต์ในสยามขณะนั้น เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอื่น เช่น จีน และ เวียดนาม เป็นต้น ไม่ได้เน้นที่การเปลี่ยนแปลงภายในของประเทศสยามแต่อย่างใด ( โปรดดู สุวดี เจริญพงศ์. ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการเคลื่อนไหวตามแนวความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต เสนอต่อแผนกวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๙. )
กรณีเวียดนามซึ่งเคลื่อนไหวเน้นหนักไปในทางชาตินิยม ยังปรากฏท่าทีว่ารัฐบาลสยามมีความเห็นอกเห็นใจอยู่ด้วย เพราะต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ชาติเดียวกับที่เคยคุกคามสยามเมื่อครั้ง ร.ศ. ๑๑๒ มานั่นเอง
การวิเคราะห์ดังกล่าวมีส่วนถูกเพียงครึ่งเดียว กล่าวคือนอกจากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมการเมืองในประเทศอื่นแล้ว ต่อกรณีสยามคณะคอมมิวนิสต์ก็หาได้ละเลยไม่ ในจำนวนแถลงการณ์ที่แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลัง ๒๔๗๕ มีแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสยามรวมอยู่ด้วย ทั้งก่อนหน้านั้นยังปรากฎมีการออกเอกสารวิเคราะห์สรุปความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการ "แยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามกับวิธีการของสมาคม" เป็นการจำแนกชนชั้นต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมสยามขณะนั้น รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของคณะฯ ( ดูรายละเอียดเนื้อหาเอกสารนี้ได้ในภาคผนวกของ เบนจามิน เอ. บัทสัน. อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราฯ, ๒๕๔๓), น. ๔๔๖ - ๔๕๕. )
นอกเหนือจากที่มักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองทั้งในประเทศอื่นและระหว่างประเทศในทางสากล การจัดรำลึกวันสำคัญคณะฯ เช่น วันที่ ๑ พฤษภาคม ( May Day ) และ วันปฏิวัติรัสเซีย การชักธงแดงรูปค้อนเคียวในที่สำคัญต่าง ๆ เดินขบวนย่อย ๆ ร้องเพลง International เป็นต้น
ข่าวการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้ทำให้คณะราษฎรนิ่งนอนใจ มีการส่งสายลับออกไปติดตามดูอยู่เป็นระยะ ๆ ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็เช่นกัน จะด้วยเหตุเพราะก่อนหน้านั้นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับฝ่ายคอมฯ เป็นไปอย่างครึกโครมหรืออย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด รัฐบาลจึงส่งตัวแทนออกไปสืบราชการ และ พร้อมกันนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปด้วย เพื่อสบโอกาสจะได้จับกุมตัวมาดำเนินคดียังกรุงเทพฯ
แต่ปรากฏว่าตัวแทนที่ส่งไปส่วนใหญ่เรียกได้ว่าพบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากสมาชิกคณะคอมมิวนิสต์ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แล้ว ตัวแทนที่อาจกล่าวได้ว่าทำงานได้ผลอยู่บ้างก็คือ พลโท ประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคณะราษฎร (เป็นตัวแทนในจำนวนไม่กี่คนที่มีดีกรีเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วย) รายงานที่ได้มาจากประยูร และคณะ (ประกอบด้วย พระยาสัจจาภิรมย์, พันตรีหลวงประจักษ์, และ ร้อยตำรวจเอกขุนนาม เป็นต้น) มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ฝ่ายรัฐบาล และ เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา (ปัจจุบันรายงานนี้จัดเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เทเวศร์ ใน หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ )
เนื่องจากประยูรได้นำเอกสารแถลงการณ์ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึง วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แนบกับรายงานดังกล่าวติดตัวกลับมาด้วย เหตุที่ประยูรได้แถลงการณ์นั้นมาก็เนื่องจากข้าราชการ (ไม่ระบุนามไว้) ในพื้นที่จังหวัดที่ประยูรไปตรวจราชการ (แต่ความจริงโดยเจตนาคือ ไปสืบหาคอมฯ และ จับตัวมาดำเนินคดี) คือที่จังหวัดนครราชสีมา ได้เก็บเอาไว้และตั้งใจจะจัดส่งไปให้กับคณะราษฎรคนใดคนหนึ่งเพื่อหาความดีความชอบอยู่แล้ว ก็ประจวบเหมาะที่ประยูรได้ไปพบพอดี
ตามรายงานของประยูรพบว่า ผู้ที่เห็นแถลงการณ์คนแรก ๆ คือ นายสถานี (รถไฟ) นครราชสีมา ในเวลาราวตี ๕ เศษ รายงานยังระบุถึงความดีความชอบของนายสถานีผู้นี้ว่า เป็นผู้ที่ทำการเก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ไปทิ้งเสียก่อนที่ประชาชนที่ผ่านสัญจรไปมาในสถานีจะพบเข้าในเวลารุ่งสาง แม้จะไม่ระบุนามก็จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่านายสถานีผู้นี้นั่นเองที่เป็นผู้เก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ดังกล่าวไว้ให้ประยูรได้กลับมา
อย่างที่กล่าวแล้วว่าเอกสารใบปลิวดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน ๓ ภาษา แต่ละแบบ / ภาษา มีความยาว ๑ หน้ากระดาษพิมพ์ ซึ่งประยูรได้ครบทั้ง ๓ ฉบับภาษาอังกฤษได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และ มุราชิมา (ในเล่มที่อ้างข้างต้น) ก็ได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในงานของเขา ซึ่งเป็นการแปลมาเพียงบางส่วนพร้อมกับตีความสรุปตามแนวการศึกษาของเขา ส่วนในภาคภาษาไทยนั้นเอกสารมีเนื้อความทั้งหมดดังนี้
ชาวนา กรรมกร ทหาร และ คนทุกข์ยากของประเทศสยาม!.
รัฐบาลของประชาธิปก ซึ่งเต็มไปด้วยความชั่วร้ายต่าง ๆ เช่น กดขี่ข่มเหง ปิดหูปิดตา และสูบเลือดของราษฎร ก็ได้ถูกโค่นลงแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ซึ่งมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนี้จะทำประโยชน์อะไรแก่ชาวไทยเราบ้าง ขอให้พิจารณาต่อไป
ก. คณะราษฎรซึ่งถือบังเหียนการปกครองแผ่นดินในเวลานี้ ล้วนเป็นข้าราชการของรัฐบาลเก่า ซึ่งได้รับความข่มเหงจากพวกเจ้า ทำให้หนทางทำมาหากินไม่ได้สดวกเหมือนแต่ก่อนจึงเอาชื่อราษฎร ใช้กำลังทหารเพื่อแย่งอำนาจจากพวกเจ้ามาหาประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น หาใช่หวังดีอะไรต่อพวกเราไม่ ในจำนวนผู้แทนคณะราษฎร ๗๐ คนนั้นส่วนมากเป็นขุนหลวง พระ พระยาทั้งนั้น จะหาคนยากจนสักคนเดียวก็ไม่ได้
ข. เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย เช่น พระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์ฯ และพรรคพวก เป็นต้น พวกนี้ได้ตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น ชั้นผู้ที่เป็นสมาชิกต้องสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อคณะในการที่สืบข่าวจากราษฎรและปกครองราษฎรอย่างเด็ดขาด
ฆ. คณะราษฎรปลอมได้ประกาศว่า จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ และทำให้ราษฎรมีงานทำทุกคนให้ราษฎรมีความเสมอภาค และมีเสรีภาพ เป็นต้น แต่ขอให้พวกเราดูประเทศที่มีการปกครองอย่างราชาธิปตัย เช่น ญี่ปุ่น และ อังกฤษ กับประเทศที่มีการปกครองอย่างประชาธิปตัย เช่น ฝรั่งเศส และ สหปาลีรัฐอเมริกา เป็นต้น ประเทศเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรืองกว่าสยามเราหลายเท่า แต่พลเมืองที่ไม่มีงานทำนับเป็นจำนวนหลายล้านคน บางคนถึงกับไม่ได้กินอิ่ม ไม่มีเสื้อใส่พอ ไม่มีที่พักอาศัย ถึงฤดูหนาวในเวลากลางคืนไม่มีไฟผิง ต้องเดินไปเดินมาตามถนนตลอดคืนยันรุ่ง เพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่นดังนี้เป็นต้น ดังนั้นราษฎรของประเทศต่าง ๆ จึงต่อสู้กับรัฐบาลมิได้หยุด เพื่อจะแย่งอำนาจการปกครองของประเทศไว้ในกำมือของราษฎรโดยแท้
ค. คณะราษฎรปลอมทำคุณอันเล็กน้อยเพื่อซื้อเอาน้ำใจของพวกเรา กล่าวคือยกเลิกอากรนาเกลือ และ ภาษีสมพัตสร ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากเพื่อแสดงว่าคณะเขารักพวกเรามากกว่ารัฐบาล แต่เงินรัชชูปการซึ่งเก็บปีหนึ่งเป็นจำนวนตั้ง ๑๐ ล้าน ก็หาได้ยกเลิกไม่ พวกเราฆ่าหมูตัวหนึ่งต้องเสียเงิน ๕ บาท ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งต้องเสียเงิน ๓ บาท และ ภาษีอากรอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเงินที่พวกเราหาได้มาแทบเลือดตากระเด็นนั้นยังเก็บอยู่เรื่อยไป เงินนี้ใช้บำรุงข้าราชการซึ่งมีเงินเดือนนับตั้งหลายร้อยบาท ส่วนชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากอื่น ๆ จะได้รับผลประโยชน์ในการออกน้ำพักน้ำแรงทำงาน วันยันค่ำก็พอเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ง. ชาวไทยเรามิใช่แต่ได้ถูกพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมกดขี่ข่มเหงเท่านั้น ชาวต่างประเทศก็มาสูบเอาเลือดของเราไปด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้แย่งเอาดินแดนของเราไปและได้มีสิทธิพิเศษในการป่าไม้ การขุดบ่อแร่ และการค้าขาย เป็นต้น
พี่น้องเอ๋ย ถ้าเราไม่ช่วยตัวของเราเอง แล้วใครจะมาช่วยพวกเราได้ เราจะหวังพึ่งพวกคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้มียศศักดิ์ อำนาจ และมีความมั่งคั่งสมบูรณ์นั้นไม่ได้ เพราะเขาไม่ทำให้เรายากจนลง เขาจะได้ความมั่งคั่งผาสุกนั้นมาแต่ไหน
เวลานี้ในโลกนี้มีแต่ชาวรัสเซียเท่านั้นที่มีความสุข และ มีความเสรีภาพโดยแท้ เพราะเขาได้กำจัดพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมเสียจนสิ้น และ ได้ยึดอำนาจการปกครองในประเทศไว้ในกำมือของเขาเอง
ให้พวกเราสามัคคีกันเข้า รวมกำลังกันเพื่อจะกำจัดพวกเจ้าคณะราษฎรปลอม และ พวกเศรษฐี และชาวต่างประเทศที่สูบเลือดเราเสียให้สิ้น ตั้งรัฐบาลโซเวียดสยามขึ้นรวมทรัพย์และอำนาจไว้ในมือของพวกเรา คือ ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากทั่วไป เราและลูกหลานเหลนของเราจึงจะมีความสุขทั่วหน้ากันตลอดไปเป็นนิจ.
คณะ คอมมูนิสต์สยาม
คณะ คอมมูนิสต์หนุ่มสยาม
วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕.
พวกเขาปฏิเสธแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม การจัดตั้งรัฐสภา และ การปกครองระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความเห็นว่า " ทางที่จะหนีให้พ้นทุกข์ก็มีแต่ต้องกำจัดพวกจักรพรรดิ์กับพวกที่เป็นเครื่องมือของเขาเสีย และต้องคัดค้านการตั้งรัฐสภากับกฎธรรมนูญซึ่งเป็นการหลอกลวงมหาชนนั้นด้วย " (จากเอกสารร่างแยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามฯ, อ้างแล้ว.) ไม่มีปัญหาว่าแนวคิดดังกล่าวจะไม่ถูกต้านทานจากหลายฝ่ายแม้แต่กับกลุ่มก้าวหน้าต่าง ๆ เวลานั้น
แต่กรณีที่นับเป็นปัญหาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก็กลับเป็นปัญหาที่เกิดจากทัศนะ / จุดยืนต่อคณะราษฎร และ ๒๔๗๕ ซึ่งก็สืบเนื่องจากจุดยืนต่อ "การปฏิวัติประชาธิปไตยฯ" การวิพากษ์ทั้งพระยาพหลฯ และ ปรีดี ซึ่งต่างเป็นตัวแทนสำคัญของฝ่ายทหารและพลเรือนในคณะราษฎร เบื้องต้นนั่นสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คณะคอมมิวนิสต์กับนายปรีดี ไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันแต่อย่างใด แม้ว่าภายหลังฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จะใช้เป็นเหตุผลกล่าวอ้างว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม ดูเหมือนเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันน้อยกว่าที่คิด และอาจกล่าวได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ได้
หลายปีจากนั้น ปรีดีก็พูดถึงเรื่องนี้อย่างไม่สู้จะยินดีเท่าไรนัก (สำหรับการข้องเกี่ยวกับคณะคอมมิวนิสต์โดยที่ตนไม่ล่วงรู้ และไม่เต็มใจ) ตรงข้ามต่อคณะคอมฯ ปรีดีก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นกัน (ดูคำให้สัมภาษณ์ของปรีดีตามที่ปรากฎถึงเรื่องนี้ในหนังสือ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ. (กรุงเทพฯ : โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526). )
ในทางกลับกันนั่นก็สะท้อนว่า คณะคอมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใดในเหตุการณ์วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และ ดูเหมือนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่พยายามจะมีอำนาจโดยไม่อ้างความชอบธรรมจากการเป็น "ผู้กระทำ" (Acter) จาก ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญจะเกิดจากการพระราชทานหรือโดยยึดอำนาจกดดันจากเบื้องล่างจึงไม่เป็นปัญหาเป็น - ตาย สำหรับคณะคอมฯ ทั้งน้ำเสียงวิจารณ์ก็สะท้อนอยู่ในตัวว่าถึงที่สุดแล้วคณะคอมฯ ก็ไม่ได้คาดหวังอันใดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากวันนั้น (๒๔ มิถุนาฯ)
การกดขี่หาได้หมดสิ้นไป ภารกิจสำคัญของคณะฯ ยังคงต้องดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง ตรงข้ามอย่างสุดขั้วทีเดียวในประเด็นสะท้อนที่ว่า "เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย" ภายหลังตรรกะนี้พระปกเกล้าฯ ก็ทรงใช้วิจารณ์คณะราษฎรเช่นกัน ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของพระองค์ แต่นั่นก็เป็นคนละบริบทกัน !!!
ต่อกรณีปรีดีนั้นก็น่าพิจารณาเป็นอีกประเด็น เพราะสะท้อนแง่มุมความคิดและความเข้าใจของคณะคอมฯ ที่มีต่อคณะราษฎร แม้ว่าขณะที่คณะคอมฯ มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังไม่มีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ อันเป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนอิทธิพลความคิดสังคมนิยมในการเมืองไทยยุคใหม่ แต่ในแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็มีเนื้อหาระบุถึงแนวทางของคณะราษฎรเอาไว้ก่อนแล้วว่า "จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก" ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยการให้ความหวังแก่ราษฎรอย่างมีนัยสำคัญ เช่นว่า "ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐที่เรียกกันเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"
ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดนักว่าคณะคอมฯ จะได้รู้เห็นหรือติดตามการทำงานของคณะราษฎรมากน้อยเพียงใด ลักษณะที่มีความเป็นจีนอย่างสูง (Lukjin Communist) บวกกับที่ศัพท์ "ศรีอาริย์" ขณะนั้นยังไม่มีการอธิบายเทียบเคียงกับ Socialism เท่าที่ควร ตรงข้ามสังคมนิยมแบบไทยที่แพร่หลายก็กลับเป็น "อุตตรกุรุ" ตามแนวคำอธิบายที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ ร. ๖ ด้วยเหตุง่ายดายเพียงเท่านี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคณะจีนคอมมิวนิสต์ในสยามไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอันใดต่อศัพท์ "ศรีอาริย์" และด้วยเหตุอันเดียวกันนี้ แนวร่วมระหว่างคณะคอมฯ กับปีกก้าวหน้าในคณะราษฎรจึงเกิดขึ้นไม่ได้ และ กระทั่งมีท่าทีที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อกันเท่าใดนัก
กรณีปรีดีอาจพิจารณาได้อีกแง่หนึ่ง ตรงที่ภายหลังเขาเองถูกคุกคามจากฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จนต้องผ่อนปรนข้อเสนอของตน และ การปกป้องตัวเองก็แสดงออกโดยง่ายว่าตนไม่ได้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ นั่นยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับคณะคอมฯ ดูห่างไกลกันมากขึ้น กระทั่งไม่อาจติดต่อประสานการทำงานร่วมกันได้เลย กรณีนายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรผู้ซึ่งแสดงท่าทีว่านิยมแนวคิดสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ ด้วยมีผลงานแปลที่สำคัญและไม่มีชนักปักหลังเช่น ปรีดี แต่ปรากฏว่าต่อคณะคอมฯ สงวนกลับมีท่าทีที่ดู "แย่" กว่าปรีดีเสียอีก
ในคราวที่สงวนได้รับหน้าที่ติดตามดูการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ รวม ๖ แห่ง ได้แก่ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ย่านบางลำภู กลาโหม ทุ่งพระสุเมรุ และพระบรมรูป (ลานหน้าพระที่นั่งอนันตฯ) ในจดหมายลายมือลงชื่อ สงวน ตุลารักษ์ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นรายงานการสืบราชการลับ) สงวนกลับรายงานต่อรัฐบาลว่าหัวหน้าคณะฯ ดังกล่าวได้รับค่าจ้างจากหม่อมเจ้านิทัศน์ (บู้) เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐ บาท ให้ยิงพระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎร โดยให้สังเกตว่าคนที่จะยิงนั้น "ไว้จอนหูยาว" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓). กอปรกับขณะนั้นเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าคณะราษฎรจะมองการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ ว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจ้านายเดิมที่สูญเสียประโยชน์จากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ฝ่ายพระยาพหลฯ เองก็มีจดหมายอีกฉบับส่งตรงมาถึงเขา แจ้งความว่ามีผู้คิดการร้ายต่อเขากับคณะ(ราษฎร) โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง "คณะเจ้า"(ตามคำในเอกสาร) ข้าราชการที่ถูกดุลในคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ และชาวจีนกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่คลองดำเนินสดวก จดหมายระบุชัดว่า ชาวจีนกลุ่มดังกล่าว "เป็นขี้ข้าตัวโปรดของกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ (๘) - (๙).) แม้ว่าจดหมายทั้งสองฉบับจะมีข้อความที่เป็นเท็จ เพราะไม่ปรากฏมีการลอบทำร้ายพระยาพหลฯ ดังที่แจ้งมา
กรณีรายงานของสงวน มีหลักฐานยืนยันว่ามีการทิ้งใบปลิวที่มีเนื้อหาวิจารณ์คณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยลงนาม "คณะคอมมูนิสต์" จริง แต่ก็ไม่ปรากฏมีการลอบยิงพระยาพหลฯ แต่อย่างใด ผู้ที่รู้วิธีการของขบวนการคอมมิวนิสต์ย่อมทราบกันโดยทั่วไปว่า นั่นไม่ใช่แนวทางของคอมมิวนิสต์ กระนั้นก็ตามต่อข้อมูลที่ผิดพลาดนี้อาจไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของสงวน หากแต่เป็น "สาย" ของคณะราษฎรเองที่ให้ข้อมูลมาผิด (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้จัดตั้งสายลับขึ้นเป็นจำนวนมาก ให้คอยติดตามดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ (ทั้งทหารและพลเรือน) เศรษฐีในเมือง (ยังไม่ถูกเรียกว่า "นายทุน") และกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มกรรมกร ชาวจีน และคอมมิวนิสต์ ต่อมาหน่วยงานนี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยรวมสังกัดอยู่ในหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เป็นต้น)
และ มีความเป็นไปได้มากว่ารายงานของสงวนจะเป็น Secondary Sources ที่อาศัยข้อมูลจาก Primary Sources อย่างรายงานของสายสืบที่ทำงานเกาะติดคณะคอมฯ อยู่ก่อนที่จะได้ให้ข้อมูลต่อตัวแทนคณะราษฎร ซึ่งในที่นี้ก็คือ สงวน บางครั้งถ้าเป็นรายงานลับที่ไม่มีการเปิดเผยหรือผ่านการ กลั่นกรองเท่าที่ควรก็จึงเป็นเรื่องง่ายที่อาจมีการรายงานผิดพลาดทางข้อมูลกันได้ ส่วนชีวิตคนที่อาจถูกคุกคามจากผลลัพธ์ของข้อมูลในรายงานเหล่านี้ สำหรับสายที่ไม่ได้ผ่านการอบรมมาดีพอ ก็อาจเห็นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าจำนวนเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากการปฏิบัติงานก็ได้
กรณีหลังก็เป็นธรรมดา อันที่จริงพระยาพหลฯ และ คณะราษฎร มักจะได้รับจดหมายลักษณะนี้ทั้งจากผู้หวังดีทั้งข้าราชการและประชาชนอยู่เป็นประจำ บางฉบับที่มีความสำคัญ (ในความเห็นของคณะฯ และ ผู้ได้รับ) พระยาพหลฯ ก็ตอบกลับไป แต่ในกรณีนี้ไม่ปรากฏมีการตอบขอบคุณจากพระยาพหลฯ แต่นั่นก็ไม่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระยาพหลฯ (รวมทั้งคณะราษฎร) จะไม่เชื่อ แม้จะดูเป็นจดหมายที่มีเนื้อหาแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้นำใหม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเชื่อตามข้อความในจดหมายดังกล่าวหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ในทางปฏิบัติคณะราษฎรก็แสดงท่าทีคุกคามต่อคณะคอมฯ และกลุ่มอื่น ๆ ที่สงสัยว่าต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะกลุ่ม "เจ้า" เท่านั้น
อย่างไรก็ตามท่าทีดังกล่าวมีผลทำให้การโจมตีคณะราษฎรของฝ่ายคอมมิวนิสต์ดูสมเหตุสมผล ไม่เพียงแต่กับคอมมิวนิสต์เท่านั้น การนัดหยุดงานของกรรมกร การประท้วงของนักเรียนอัสสัมชัน การเคลื่อนไหวของกองทหารบางซื่อ หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และหลักเมือง เป็นต้น คณะราษฎรก็จัดการแก้ไขได้ไม่ดีเท่าที่ควร ภาษีรัชชูปการอันเป็นมรดกอย่างหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่ถูกยกเลิก ฯลฯ
ต่ออิทธิพลของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" ในทัศนะของคณะคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์ฯ หรือ ปรีดี พนมยงค์ นั้นไซร้ก็กลับทำคุณเพียงเล็กน้อย การแก้ไขสนธิสัญญาที่รัฐบาลเก่าเคยทำไว้ถูกมองว่าเป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ทั้งของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" และ ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเกียรติประวัติของชนชั้นปกครองของไทยสมัยสมบูรณาฯ อีกด้วย
ฉากแรกของการท้าทายต่อระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมาย, นักศึกษาประวัติศาสตร์บางท่านอาจมองว่าจุดเริ่มสำคัญนั้นอยู่ที่การฟ้องพระปกเกล้าฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยนายถวัติ ฤทธิเดช เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเหมือนก้าวแรกที่จะพิสูจน์ว่ากษัตริย์ใต้กฎหมายนั้นจักเป็นจริงเพียงใด แต่อันที่จริงกลุ่มคนที่มีบทบาทในการต่อสู้คัดค้านระบอบดังกล่าวโดยตรงนั้นไม่ใช่ใครอื่น หากอ่านดูใบปลิวต่าง ๆ ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ครั้งนั้นก็จะพบประเด็นดังกล่าว แต่อาจเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าที่คิด เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลหลักฐานอยู่ ณ เวลานี้
จากเนื้อหาข้อความที่ปรากฏในใบปลิว "ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากฯ" สะท้อนความคิดเห็นที่เป็นข้อสรุปสำคัญในหมู่พวกเขาว่า รัฐบาลใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความต่อเนื่องบางอย่างร่วมกับรัฐบาลเก่า ท้ายสุดก็ไม่ได้สร้างหลักประกันแก่ความมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง มองจากจุดยืนของคนชั้นล่าง เช่น ชาวนา กรรมกร และคนทุกข์ยาก (ขณะนั้นยังไม่มีศัพท์บัญญัติ เช่น "กรรมาชีพ") แง่นี้รัฐบาลใหม่จึงอาจไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาลเก่า อีกทั้งยังเห็นว่าคณะราษฎรไม่ได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของ "ราษฎร" อย่างแท้จริง หากเป็นแต่เพียง "คณะราษฎรปลอม" เท่านั้น
ขณะเดียวกันแม้ว่ามีความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองเดิมของระบบศักดินากับนายทุนนายหน้า และ ขุนศึก แต่ไม่ปรากฏข้อเสนอเรื่องการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย ตรงข้ามนั่นเป็นแนวทางที่เคยถูกปฏิเสธมาก่อนแล้ว ดังที่สะท้อนข้างต้น การที่ชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ดูจะไม่ขัดแย้งกับรากฐานของแนวคิดเดิม เนื่องจากเห็นว่าท้ายสุด ชาวนาก็จะล้มละลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นคนงานผู้ไร้ปัจจัยการผลิต คณะคอมฯ จึงมีจุดยืนเน้นกลุ่มคนที่เรียกกันภายหลังคือ "ชนชั้นกรรมาชีพ"
ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง "โซเวียดสยาม" นี้ ที่จริงต้องนับว่าเป็นข้อเสนออันเก่าแก่ตามแบบฉบับของ Classical Marxist เพราะยังไม่ปรากฏอิทธิพลจากความคิดสายสตาลิน - เหมา ความจริงแม้คณะคอมมิวนิสต์ในสยามจะมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานสากลที่ ๓ ( Comminturn III ) แต่ก็นับว่ายังห่างไกลจากความขัดแย้ง ระหว่างแนวทางปฏิวัติตลอดกาลของทรอตสกี กับ แนวทางสังคมนิยมประเทศเดียวของสตาลิน
ลัทธิเหมายิ่งยังไม่เป็นปัญหา อย่างที่ทราบคือขณะนั้นเหมาเจอตุง กับแนวทางชนบทล้อมเมืองของเขา กว่าจะเป็นกระแสหลักภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานนัก "โซเวียดสยาม" ที่จริงจะเป็นข้อเสนอของขบวนการฝ่ายซ้ายภายใต้อิทธิพลของสากลที่ ๓ ไม่ได้เท่าไร เพราะดังที่ทราบกันคือภายหลังจากที่สตาลินกับพวกขึ้นสู่อำนาจก็มีการทำลายสภาคนงาน (หรือที่เรียกเป็นภาษารัสเซียว่า "Soviet" (โซเวียต)) ลง โดยหันมาเชิดชูพรรคให้เป็นอำนาจรัฐรวมศูนย์เพียงขั้วเดียว
การให้ความสำคัญกับ "ทหาร" ในฐานะบทบาทหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นมรดกอันหนึ่งที่ได้จากการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 เพราะทหารเปลี่ยนข้าง การปฏิวัติจึงสัมฤทธิ์ผล ในสยามเองก่อนหน้านั้น คณะ ร.ศ.๑๓๐ ก็เป็นกรณีหนึ่ง และ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง การสไตรค์ของกองทหารบางซื่อ ดูเหมือนจะให้ความหวังใหม่แก่คณะคอมฯ การณ์นี้ทหารถูกผนวกรวมเป็นมวลชนพื้นฐานของคณะฯ ด้วย แต่นั่นไม่ง่ายดังหวัง เพราะการณ์ปรากฏออกมาคือ ทหารกลับกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับฝ่ายคณะราษฎร
การใช้ "ชาวไทยเรา" สำหรับเรียกผู้รับสารในใบปลิว สะท้อนให้เห็นพัฒนาการสำคัญของขบวนการและปัญหาบางประการอันเกิดขึ้นควบคู่กับแนวคิดที่ยังยึดถือ กล่าวคือ แม้ว่าหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะคอมฯ จะได้สมาชิกที่เป็นคนไทยรวมอยู่ด้วย แต่โดยสัดส่วนแล้วจำนวนคนไทยในคณะฯ ก็ยังน้อยนักเมื่อเทียบกับจำนวนชาวจีนและญวน และ แม้จะมีข่ายการปฏิบัติงานที่กว้างขวาง เช่น นอกจากแกนนำในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีคณะกรรมการประจำภาคอีสาน, เหนือ, ใต้ และ ในพระนครเอง ก็มีคณะกรรมการประจำเทศบาลพระนคร
นอกนั้นก็เป็นคณะกรรมการประจำจังหวัด รวมทั้งมีกองอำนวยการฉุกเฉินที่เรียกว่า "กองบรรเทาทุกข์คนใหญ่" ( คน สะกด คะ - นะ ) สำหรับให้ความช่วยเหลือกรรมกรที่นัดหยุดงาน ภายใต้กรรมการใหญ่ในสยามยังประกอบด้วย คณะสาขา กองย่อย และ กิ่งสาขา แต่ละหน่วยมีกรรมการดำเนินงานและติดต่อประสานกับคณะกรรมการใหญ่ และ แต่ละหน่วยงานนั้น ๆ ปรกติจะมีสมาชิกตั้งแต่ ๘ คนขึ้นไป มีกรรมการประจำกิ่งสาขาประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและความเหมาะสม
แม้จะถูกพิจารณาบ่อยครั้งว่าเป็นเพียงส่วนย่อยหนึ่งของข่ายการปฏิบัติงานของคณะจีน แต่ความจริงปรากฏว่า "สหาย" จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาปฏิบัติงานในสยามยังต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของคณะทำงานในสยาม ขณะเดียวกันหากสมาชิกคณะคอมฯสยามเดินทางกลับเข้าสู่เขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์จีน ก็ยังต้องสมัครขึ้นทะเบียนต่อสำนักอำนาจรัฐของคณะคอมมิวนิสต์ที่นั่น ปลายสมัยสมบูรณาฯ จึงปรากฎว่าคณะคอมมิวนิสต์ในสยามมีสถานภาพเป็นอีกคณะหนึ่งแยกออกจากคณะคอมมิวนิสต์ในจีน มีอิสระ และ ดำเนินแนวทางที่เป็นของตนเองอยู่พอสมควร
กระนั้นก็ตามการอ้างถึง "ชาวไทยเรา" ก็ไม่น่าเกิดขึ้นขณะเดียวกับที่วิจารณ์คณะราษฎรอย่างรุนแรงว่า เป็น "คณะราษฎรปลอม" เพราะการอ้างดังกล่าว (ชาวไทยเรา) มีนัยไม่ผิดแปลกไปจากการอ้างเป็นตัวแทนรูปแบบอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างที่ครอบคลุมผู้คนทั่วประเทศ การมีข่ายการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมอาณาเขตอำนาจของรัฐอย่างกว้างขวางไม่เป็นเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอสำหรับการอ้างเป็นตัวแทน พูดแทน และ กระทำการต่าง ๆ ในฐานะตัวแทน !!!
การสะท้อนว่า "ความสุข... และเสรีภาพโดยแท้" เกิดขึ้นที่รัสเซียหลังการปฏิวัติก็มีผลทำให้คณะคอมมิวนิสต์สยามกระทำความผิดพลาดอีกคราว นั่นแสดงว่าพวกเขาไม่ล่วงรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมการเมืองของรัสเซียหลังการปฏิวัติมากนัก หรือไม่ก็อาจมีคำอธิบายแก้ต่างกันอีกชุดหนึ่ง (เช่น การโทษว่าเป็นเพราะ Stalinism เป็นต้น) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนั้นมีข้อจำกัดและไม่อาจเป็นหลักประกันอันใดได้เลย สำหรับระบอบสังคมอย่างใหม่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็นั่นแหล่ะ !! มาร์กซิสต์เชื่อมั่นต่อความขัดแย้งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะความขัดแย้งหลักระหว่าง ๒ ขั้วที่ตรงกันข้าม และ ๒ ขั้วที่ว่านั้น ก็อาจนำไปสู่วิถีทางของการทำลายกันมากกว่าการสร้างสรรค์ แต่นั่นอาจไม่ใช่อะไรอื่นอีกนั่นแหล่ะ !! เอกภาพของสิ่งตรงข้ามที่ยากแก่การจัดการอย่างลงตัว...
อย่างไรก็ตามหากการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์จะกลับมาอีกครั้ง ก็คงต้องกลับมาในรูปแบบใหม่ (เช่นเดียวกับที่ในอดีตภายใต้เงื่อนไขหนึ่งเคยเป็นอีกแบบหนึ่ง) ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ลักษณะความขัดแย้งก็ยังคงเป็นโจทก์สำคัญ และ ก็ด้วยการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดในบางจุดที่สำคัญ ๆ นั้นเอง คณะคอมมิวนิสต์สยามจึงแทบไม่เหลือที่ทางของตน แม้กระทั่งในแง่ความทรงจำและการเมืองอุดมการณ์
ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเท่าไรที่ในคำให้สัมภาษณ์ของ ธง แจ่มศรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ปรากฏมีการพูดถึงข้อเสนอในอดีตเช่น "โซเวียดสยาม" แม้จะพูดถึงคณะคอมมิวนิสต์สยามอยู่บ้างก็ตาม แต่ดูเหมือนคณะฯ ที่ว่านั้นไม่ได้สร้างคุณูปการอะไรไปมากกว่าที่เป็นรากกำเนิดให้กับอีกองค์กรหนึ่ง (คือ พคท.) แม้แต่ในเอกสารประวัติ พคท. โดยวิรัช อังคถาวร ที่เคยเผยแพร่ในวารสารของสายงานพรรคเมื่อหลายปีก่อน (และ ตีพิมพ์ซ้ำในฟ้าเดียวกัน ฉบับแรก เมื่อไม่นานมานี้) ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรในส่วนนี้ แต่ไม่ใช่ความผิดของคนตายไปนานอย่างวิรัช กับท่านผู้เฒ่าอย่างธงหรอก ปัญหามันละเอียดอ่อนกว่านั้น...
การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ที่จะกลับมาใหม่นั้น จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับสังคมการเมืองไทยได้หรือไม่ ยังคงต้องรอดูกันต่อไป พวกเขายังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก มีอดีต มีที่ทาง และมีบทเรียนกันพอสมควร ขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งมองเป็นเรื่องตลก หรือเรื่องเพ้อฝันกันมากนัก ประวัติศาสตร์ทั้งหมดไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน!!!
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คณะราษฎรปลอมทำคุณอันเล็กน้อยเพื่อซื้อเอาน้ำใจของพวกเรา กล่าวคือยกเลิกอากรนาเกลือ และ ภาษีสมพัตสร ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากเพื่อแสดงว่าคณะเขารักพวกเรามากกว่ารัฐบาล แต่เงินรัชชูปการซึ่งเก็บปีหนึ่งเป็นจำนวนตั้ง ๑๐ ล้าน ก็หาได้ยกเลิกไม่ พวกเราฆ่าหมูตัวหนึ่งต้องเสียเงิน ๕ บาท ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งต้องเสียเงิน ๓ บาท และ ภาษีอากรอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเงินที่พวกเราหาได้มาแทบเลือดตากระเด็น
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
เบื้องต้นโดยจุดใหญ่ใจความที่สำคัญ ๆ คณะราษฎรก็มองการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วยการผสมโรงเข้าเป็นการก่อความไม่สงบของพวกคนจีนอพยพ ฉะนั้น การตอบโต้หรือปราบปราม จึงเน้นไปที่กลุ่มคนจีนเป็นหลักและพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาเชิงเชื้อชาตินิยม (Racism) และด้วยเหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุคแรกยังทำงานฝังตัวอยู่แต่ในหมู่คนงาน การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ยุคแรกเมื่อต้องเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายรัฐบาล พวกเขาจึงถูกลดทอนลงเป็นเพียงปัญหาการก่อความไม่สงบของคนงานจีน อย่างไรก็ตามท่าทีของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ นั้น พบว่ายังเป็นไปโดยละมุนม่อม กล่าวคือมักใช้วิธีการเนรเทศกลับไปประเทศจีนเสียโดยมาก แม้แต่กรณีชาวญวนอพยพก็ใช้วิธีเดียวกันนี้