ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
250448
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 566 หัวเรื่อง
ระเบียบวิธีการแปลที่แตกต่างกัน์
โดย: ภัควดี / แปล

บทความบริการฟรีสำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ทฤษฎีการแปล : ฟรีดริช ชไลเออร์มาเคอร์
ความต่างระหว่างการแปล การถอดความ และการเลียนแบบ
"On the Different Methods of Translating"(1)
Friedrich Schleiermacher
ภัควดี : แปล

หมายเหตุ: ต้นฉบับนำมาจาก
http://www.nokkrob.org/index.php?appl=&obj=Topic.View(cat_id=c002,id=9)
แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย
Waltraud Bartscht


เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)

 

 

การที่คำพูดถูกแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง เป็นเรื่องที่เราพบเจอทุกหนแห่งในรูปแบบต่าง ๆ กันไป ในด้านหนึ่ง การแปลช่วยให้ผู้คนที่เคยถูกขวางกั้นจากกันด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นโลกมาติดต่อกันได้ หรืออาจช่วยดูดซับเอาผลิตผลของภาษาที่สาบสูญไปแล้วหลายศตวรรษมาไว้ในอีกภาษาหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องก้าวออกไปนอกพรมแดนของภาษาใดภาษาหนึ่งเพื่อพบกับปรากฏการณ์ของการแปล เพราะภาษาพูดของชนเผ่าที่แตกต่างกันภายในหนึ่งชนชาติ และพัฒนาการที่แตกต่างกันของภาษาเดียวกันหรือภาษาท้องถิ่นในแต่ละศตวรรษ หากจะกล่าวอย่างเข้มงวดแล้ว ย่อมถือเป็นภาษาที่แตกต่างกัน บ่อยครั้งต้องอาศัยการแปลโดยสิ้นเชิง

แม้กระทั่งคนร่วมยุคสมัยเดียวกัน ไม่ได้ถูกขวางกั้นด้วยภาษาท้องถิ่น แต่มาจากคนละชนชั้นทางสังคมที่มีการติดต่อกันน้อยมาก และมีช่องว่างทางการศึกษา ก็มักสื่อสารกันได้รู้เรื่องต่อเมื่ออาศัยกระบวนการแปลเช่นกัน

จะว่าไปแล้ว มิใช่มีบ่อยครั้งหรือที่เราต้องแปลคำพูดของคนอีกคนหนึ่งให้ตัวเราเองฟัง แม้ว่าคน ๆ นั้นจะดูใกล้เคียงกับเรา แต่มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างจากเรามาก? เวลาที่เรารู้สึกว่า คำพูดเดียวกัน ถ้าออกมาจากปากของเรา น่าจะมีความหมายแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง หรือมีน้ำหนักแข็งกว่าหรืออ่อนกว่าเมื่อออกมาจากปากของเขา และเราคงใช้ถ้อยคำสำนวนที่แตกต่างออกไป หากเราต้องการสื่อสารในสิ่งเดียวกับที่เขาตั้งใจจะพูด เมื่อเรานิยามความรู้สึกนี้ให้แก่ตัวเองอย่างแจ่มชัดมากขึ้น และเมื่อมันกลายเป็นความคิดในใจเรา นั่นเท่ากับเรากำลังแปลนั่นเอง มีบ้างบางครั้งด้วยซ้ำไปที่เราต้องแปลคำพูดของตัวเราเอง เมื่อเราต้องการทำให้คำพูดนั้นเป็นของเราจริง ๆ

อีกครั้งหนึ่ง ทักษะการแปลไม่ได้ใช้เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะโยกย้ายสิ่งที่ภาษาหนึ่งสร้างขึ้นในทางวิชาการและวาทศิลป์มาปลูกลงบนพื้นดินต่างประเทศ เพื่อขยายขอบเขตของพลังความคิดเท่านั้น แต่ยังใช้ในการติดต่อค้าขายทางธุรกิจระหว่างบุคคลต่างชนชาติ รวมทั้งการติดต่อสื่อสารทางการทูตระหว่างรัฐบาลอธิปไตย ซึ่งต่างฝ่ายต่างนิยมเจรจากับอีกฝ่ายด้วยภาษาของตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันว่าต่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่ตายแล้ว(2)

แน่นอน ในการอภิปรายครั้งนี้ เราไม่คิดจะพูดครอบคลุมหมดทุกเรื่องที่อยู่ในขอบเขตกว้างใหญ่ของหัวข้อนี้ ความจำเป็นที่ต้องมีการแปล แม้แต่ภายในภาษาและสำนวนพูดของตัวเอง --ซึ่งเป็นความจำเป็นทางด้านอารมณ์ความรู้สึกเฉพาะหน้าไม่มากก็น้อย-- ในแง่ของความสำคัญแล้ว ถือว่าไม่จำเป็นต้องมีการชี้แนะมากไปกว่าปัจจัยทางด้านอารมณ์ความรู้สึก หากต้องมีการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแปลประเภทนี้ มันก็คงเป็นแค่กฎเกณฑ์ที่วางจุดยืนทางด้านจริยธรรมล้วน ๆ เพื่อให้คนเปิดใจกว้างต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกันมากนัก

แต่ถ้าหากเรายกการแปลประเภทนี้ออกไปก่อน และว่ากันเฉพาะการแปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาของเรา เราสามารถแบ่งการแปลประเภทนี้ออกเป็นสองระเบียบวิธี ซึ่งมิใช่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะมันมักจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่แตกต่างกันด้วยเส้นแบ่งที่เหลื่อมซ้อนกันมากกว่า กระนั้นก็ยังถือว่าเป็นระเบียบวิธีที่ต่างกันอยู่ดี หากพิจารณาถึงเป้าหมายสุดท้ายของแต่ละวิธี หน้าที่ของล่ามอยู่ในโลกของธุรกิจ ส่วนหน้าที่ของนักแปลที่แท้จริงอยู่ในด้านวิชาการและศิลปะ หากท่านใดเห็นว่าคำนิยามนี้ใช้ตามอำเภอใจ โดยถือตามความเข้าใจทั่วไปว่า ล่ามหมายถึงการถ่ายทอดระหว่างภาษาด้วยปาก และการแปลคือการถ่ายทอดทางลายลักษณ์อักษร ข้าพเจ้าก็ต้องขออภัยที่ใช้คำสองคำนี้ เพราะมันยังใช้ได้ดีในกรณีนี้และคำนิยามทั้งสองแบบก็ยังไม่แตกต่างกันจนเกินไป

การเขียนเหมาะกับงานวิชาการและศิลปะ เพราะการเขียนทำให้ผลงานดำรงคงทน การถ่ายทอดผลงานวิชาการและศิลปะด้วยปากย่อมไร้ประโยชน์พอ ๆ กับที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในการติดต่อทางธุรกิจ การเขียนเป็นแค่เครื่องมือที่เหมือนอุปกรณ์อย่างหนึ่ง ในกรณีนี้ การสื่อสารด้วยปากเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด และโดยพื้นฐานแล้ว เราควรถือว่า งานล่ามที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นแค่การจดบันทึกงานล่ามด้วยปากเท่านั้นเอง

การแปลมีความแตกต่างจากการเป็นล่ามมาก เมื่อไรก็ตามที่คำไม่ได้ผูกอยู่กับวัตถุที่จับต้องได้หรือข้อเท็จจริงภายนอก (ซึ่งคำทำหน้าที่เพียงพาดพิงถึงเท่านั้น) เมื่อไรก็ตามที่ผู้พูดคิดอย่างเป็นเอกเทศไม่มากก็น้อยและต้องการสื่อสารออกมาตามนั้น เมื่อนั้น ผู้พูดย่อมมีความสัมพันธ์ที่คลุมเครือกับภาษา และคำพูดของเขาจะเป็นที่เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็ต่อเมื่อเข้าใจความสัมพันธ์นั้นอย่างถูกต้องด้วย

ในแง่หนึ่ง มนุษย์ทุกคนอยู่ใต้อำนาจของภาษาที่ตนพูด ตัวเขาและการคิดทั้งหมดของเขาเป็นผลผลิตของภาษา เขาไม่สามารถคิดอะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือขีดจำกัดของภาษาโดยยังคงไว้ซึ่งความแน่ชัดแจ่มแจ้ง รูปแบบความคิด ลักษณะและวิธีเชื่อมโยงความคิด มีเค้าโครงวางไว้ให้เขาอยู่แล้วจากภาษาที่เขาเกิดมาและเรียนรู้
ปัญญาและจินตนาการถูกผูกมัดด้วยเงื่อนภาษา แต่ในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์ทุกคนที่มีความคิดอิสระและมีสติปัญญาย่อมสร้างรูปแบบภาษาเฉพาะตัวขึ้นมา เพราะจะมีวิธีอื่นใดอีกเล่า หากมิใช่จากอิทธิพลดังกล่าวนี้ ภาษาจึงก่อรูปก่อร่างและเติบโตจากภาวะดิบเถื่อนเริ่มแรก ไปสู่ภาวะที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทางวิชาการและศิลปะ

ดังนั้น ในแง่นี้ พลังอันมีชีวิตชีวาของปัจเจกบุคคลนั่นเองที่สร้างรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาในภาษาที่เปรียบเสมือนวัตถุดิบอันยืดหยุ่นได้ แรกเริ่มเดิมทีก็ทำไปเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ชั่วคราว ที่จะสื่อสารถึงความตระหนักรู้ที่ผ่านวาบเข้ามา แต่ทว่ารูปแบบที่สร้างขึ้นใหม่ทิ้งค้างอยู่ในภาษามากบ้างน้อยบ้าง และมีคนอื่นมารับช่วงเผยแพร่ต่อไป เราสามารถกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่า บุคคลต้องมีอิทธิพลต่อภาษาถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เขาจึงสมควรเป็นที่รับฟังในวงกว้างนอกเหนือไปจากแวดวงที่ใกล้ชิดกับตัวเขา

เสียงที่เปล่งออกมาทุกเสียง ถ้าเปล่งออกมาเป็นพัน ๆ ครั้ง ก็ยังคงผลิตซ้ำในแบบเดียวกันเสมอ เสียงนั้นย่อมเลือนหายไปในไม่ช้า มีเพียงเสียงที่กระตุ้นชีพจรใหม่ ๆ เข้าไปในชีวิตของภาษาเท่านั้นที่ยืนยงได้เนิ่นนานกว่า ด้วยเหตุนี้เอง ถ้อยคำที่เป็นอิสระและสูงค่าทุกถ้อยคำ จึงต้องการเป็นที่รับรู้ในสองลักษณะ กล่าวคือ

- ในด้านหนึ่ง เป็นการรับรู้จากจิตวิญญาณของภาษาซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ภาษาซึ่งผูกพันและนิยามด้วยจิตวิญญาณและสำแดงออกอย่างแจ่มชัดในตัวผู้พูด

- ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการรับรู้จากอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด ในฐานะการกระทำที่เป็นของตัวเขาเอง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นและอธิบายได้ด้วยลักษณะเฉพาะในตัวเขาเท่านั้น

อันที่จริง การเข้าใจถ้อยคำเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นชัดเจนว่า ทั้งสองแง่มุมนี้มีความสัมพันธ์ที่แท้จริงต่อกันเช่นไร กระทั่งรู้ว่าแง่ไหนในสองแง่ที่มีอิทธิพลในส่วนทั้งหมดหรือในแต่ละส่วนประกอบ

เราสามารถทำความเข้าใจถ้อยคำที่พูดออกมาในฐานะการกระทำของผู้พูดได้ ก็ต่อเมื่อทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันว่า อำนาจของภาษาครอบงำผู้พูดตรงไหนและอย่างไร ความคิดวิ่งลงมาตามสายล่อตรงจุดไหน จินตนาการอันเลื่อนลอยจับตัวเป็นรูปร่างตรงไหนและอย่างไร

นอกจากนั้น คำพูดในฐานะผลิตผลของภาษาและในฐานะการสำแดงออกของจิตวิญญาณแห่งภาษา สามารถเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเป็นดังตัวอย่างเช่น ผู้อ่านรู้สึกว่ามีแต่คนกรีกเท่านั้นที่คิดและพูดแบบนี้ มีแต่ภาษากรีกเท่านั้นที่สามารถทำงานในจิตมนุษย์แบบนี้ และคนคนนี้เท่านั้นที่สามารถคิดและพูดภาษากรีกในแบบนี้ มีแต่คนคนนี้เท่านั้นที่สามารถเข้าใจและสร้างรูปร่างให้ภาษาในแบบนี้ และมีแต่แบบนี้เท่านั้นที่ความร่ำรวยของภาษาที่เขาครอบครองอยู่อย่างมีชีวิตชีวาได้สำแดงออกมา กล่าวคือ ประสาทสัมผัสอันละเอียดอ่อนที่มีต่อจังหวะและความไพเราะ ความสามารถที่จะคิดและสร้างสรรค์ที่เป็นของตัวเขาคนเดียว

ถ้าหากความเข้าใจในภาษาเดียวกันก็ยากอยู่แล้ว ทั้งยังต้องอาศัยเงื่อนไขเบื้องต้นของความเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ต่อจิตวิญญาณของภาษาและลักษณะเฉพาะตัวของผู้เขียนแล้วไซร้ มันจะไม่ยิ่งเป็นศิลปะที่พัฒนาจนถึงขั้นสูงดอกหรือ เมื่อต้องนำมาใช้กับผลงานของคนต่างชาติและต่างภาษาที่ห่างไกลตัวเรา!

แน่นอน ใครก็ตามที่บรรลุถึงศิลปะแห่งความเข้าใจ ด้วยความมุมานะใฝ่ใจในภาษา ด้วยความรอบรู้ในชีวิตทางประวัติศาสตร์ของชนชาติหนึ่ง และด้วยการตีความผลงานแต่ละชิ้น และตัวผู้ประพันธ์อย่างเข้มงวดกวดขันที่สุด แน่นอน ย่อมมีเพียงคนคนนี้และตัวเขาเท่านั้น ที่สามารถตั้งความปรารถนาที่จะเผยความเข้าใจอันเดียวกันนี้ ที่มีต่อผลงานชั้นเยี่ยมทางศิลปะและวิชาการแก่เพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมยุคสมัย

อย่างไรก็ตาม ข้อกังขาย่อมบังเกิดขึ้น ทันทีที่เขาก้าวเข้ามาสู่ภารกิจนี้ ทันทีที่เขาต้องการนิยามเป้าหมายของตนให้แจ่มชัดกว่าเดิม และเริ่มประเมินวิธีการไปสู่เป้าหมายของตน เขาควรพยายามนำทั้งสองฝ่ายเข้ามาหากัน ทั้งที่สองฝ่ายแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือนักเขียนฝ่ายหนึ่ง กับเพื่อนร่วมชาติของเขาซึ่งไม่รู้ภาษาของนักเขียนเลยอีกฝ่ายหนึ่ง โดยดึงให้เข้ามามีความสัมพันธ์ต่อกันโดยตรง เหมือนดังนักเขียนกับผู้อ่านในภาษาเดียวกันหรือเปล่า?

หรือหากว่าเขาต้องการเปิดทางต่อนักอ่านให้รับรู้เพียงแค่ความสัมพันธ์ และความรื่นรมย์แบบเดียวกับที่ตัวเขาประสบ โดยยังทิ้งร่องรอยให้เห็นความยากลำบากและคงไว้ซึ่งรสชาติของความเป็นต่างด้าว เขาจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไรด้วยวิธีการเท่าที่มีอยู่? หากต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจ ก็ต้องทำให้ผู้อ่านหยั่งซึ้งถึงจิตวิญญาณของภาษาที่เป็นภาษาดั้งเดิมของนักเขียน และผู้อ่านยังต้องสามารถแลเห็นวิธีการเฉพาะตัวของนักเขียนทั้งความคิดและความรู้สึกด้วย

เพื่อบรรลุเป้าหมายสองประการนี้ นักแปลไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะนำเสนอต่อผู้อ่าน นอกจากภาษาของตน ซึ่งไม่มีตรงไหนที่สอดคล้องต้องตรงกับภาษาต้นฉบับเลย บวกกับตัวนักแปลเอง ซึ่งความเข้าใจในแง่ของการตีความที่มีต่อนักเขียนมีความชัดเจนมากบ้างน้อยบ้าง และความนิยมชมชื่นที่มีต่อตัวนักเขียนก็มีมากบ้างน้อยบ้างเช่นกัน หากพิจารณาในแง่นี้แล้ว หรือเราต้องถือว่า การแปลช่างเป็นภารกิจที่โง่เขลาเหลือเกิน?

ด้วยเหตุนี้เอง ในความท้อแท้ว่าไม่มีทางบรรลุถึงเป้าหมาย หรืออีกแง่หนึ่งคือ ก่อนจะมาถึงจุดที่ตระหนักถึงความสิ้นท่าอย่างชัดเจน มีวิธีการสองอย่างถูกคิดค้นขึ้น มาเพื่อหาทางสร้างความคุ้นเคยกับผลงานของภาษาต่างด้าว (ไม่ใช่เพื่อสัมผัสถึงตัวงานศิลปะหรือภาษาอย่างแท้จริง แต่เพื่อความจำเป็นทางภูมิปัญญาในด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือเพื่อเป็นศิลปะประเทืองปัญญา) โดยปัดอุปสรรคบางอย่างทิ้งไปเสีย ส่วนอุปสรรคบางอย่างก็หาทางหลีกเลี่ยงอย่างแยบยล แต่แนวความคิดเกี่ยวกับการแปลที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ถูกโยนทิ้งไปโดยสิ้นเชิง วิธีการสองอย่างที่คิดค้นขึ้นมาก็คือ

- การถอดความ (paraphrase หรือเรียบเรียง) และ
- การเลียนแบบ (imitation)
การถอดความ (paraphrase)
คือการหาทางเอาชนะความไร้เหตุผลของภาษา เพียงแต่อาศัยวิธีทื่อ ๆ โดยบอกตัวเองว่า "ถึงแม้ฉันไม่พบคำในภาษาของฉันที่สอดรับกับคำในภาษาต้นฉบับ ฉันก็ยังหาวิธีคงคุณค่าของต้นฉบับไว้ได้ด้วยโดยเพิ่มคำจำกัดความหรือคำขยายความเข้าไป" ดังนั้น การถอดความจึงแก้ปัญหาด้วยการรวบรวมรายละเอียดที่นิยามอย่างหลวม ๆ แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองขั้วของ "ความมากเกินไป" ที่เยิ่นเย้อรุงรัง กับ "ความน้อยเกินไป" อย่างน่าเสียดาย

ด้วยวิธีการนี้ มันอาจถ่ายทอดเนื้อหาบางส่วนออกมาได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรงในขอบเขตจำกัด แต่ละทิ้งความประทับใจของต้นฉบับไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะภาษาอันมีชีวิตชีวาถูกฆ่าอย่างไม่มีทางกู้ชีพ ทุกคนรู้สึกได้ว่า ต้นฉบับไม่มีทางเป็นแบบนี้ และไม่มีทางกลั่นออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง นักถอดความจัดการกับองค์ประกอบของทั้งสองภาษา ราวกับมันเป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่สามารถลดทอนจนเหลือค่าเท่ากันได้ด้วยการบวกหรือลบ แต่จิตวิญญาณของภาษาที่แปลงมาหรือภาษาต้นฉบับย่อมไม่มีทางสำแดงออกมาได้ด้วยกระบวนการแบบนี้

ยิ่งกว่านั้น ถ้าการถอดความพยายามค้นหาร่องรอยทางจิตวิทยาของการเชื่อมโยงทางความคิด ซึ่งมักคลุมเครือและเลื่อนลอย โดยใช้อนุประโยคต่าง ๆ เสริมเข้ามา ย่อมเท่ากับว่าการถอดความนั้นพยายามทำตัวเป็นงานอรรถกถาพร้อม ๆ กันไปด้วย โดยเฉพาะในงานเขียนยาก ๆ การถอดความจึงยิ่งห่างไกลจากแนวความคิดของการแปลออกไปอีก

การเลียนแบบ (imitation)
คือการยอมจำนนต่อความไร้เหตุผลของภาษา ยอมรับว่าไม่มีทางสร้างแบบจำลองของผลงานศิลปะการประพันธ์จากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยที่แต่ละส่วนของภาษาปลายทางสอดรับกับแต่ละส่วนของภาษาต้นทางอย่างเที่ยงตรง ดังนั้น ด้วยความแตกต่างของภาษา (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความแตกต่างอื่น ๆ ที่สำคัญอีกเป็นจำนวนมาก) จึงไม่มีทางทำอะไรได้ นอกจากเขียนเลียนแบบขึ้นมาใหม่ โดยที่ผลงานทั้งหมดประกอบขึ้นมาจากส่วนต่าง ๆ ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นฉบับ แต่กระนั้นก็ตาม มันยังให้ผลลัพธ์สุดท้ายที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับโดยรวม เท่าที่ความแตกต่างในวัตถุดิบจะเอื้อให้เกิดขึ้นได้

การสร้างใหม่แบบนี้ย่อมไม่ใช่ผลงานดั้งเดิมอีกต่อไป ทั้งยังมิได้มุ่งหมายที่จะเป็นตัวแทนและสำแดงถึงจิตวิญญาณของภาษาต้นทางอย่างแท้จริงด้วย ความเป็นต่างด้าวที่มีอยู่ในต้นฉบับถูกเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือซาก เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของภาษา ศีลธรรมและการศึกษา ผลงานประเภทนี้คาดหมายที่จะทำปฏิกิริยาต่อผู้อ่าน เช่นเดียวกับที่ต้นฉบับทำปฏิกิริยาต่อผู้อ่านในภาษาดั้งเดิมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ในการพยายามรักษาปฏิกิริยาเดียวกันนี้ไว้ มันจึงต้องบูชายัญเอกลักษณ์ของผลงานนั้นเสีย

ด้วยเหตุนี้เอง นักเลียนแบบจึงไม่มีเจตนาแม้แต่น้อยนิดที่จะชักนำทั้งสองฝ่ายเข้ามาหากัน กล่าวคือ ผู้เขียนภาษาต้นฉบับกับผู้อ่านผลงานเลียนแบบ ทั้งนี้เพราะนักเลียนแบบไม่เชื่อว่า ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างสองฝ่ายนี้เป็นไปได้ เขาเพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่านได้รับความประทับใจคล้ายกับที่ผู้อ่านร่วมภาษากับต้นฉบับได้รับเท่านั้นเอง

การถอดความมักใช้ในงานวิชาการ ส่วนการเลียนแบบมักใช้ในงานศิลปะ และดังที่ทุกคนยอมรับว่า ผลงานศิลปะย่อมสูญเสียน้ำเสียง ความงามและเนื้อหาทางศิลปะทั้งมวลไปกับการถอดความ ในทำนองเดียวกัน คงไม่มีใครโง่พอที่จะคิดหาทางเลียนแบบผลงานชิ้นเอกทางวิชาการโดยเขียนเนื้อหาขึ้นมาใหม่ตามอำเภอใจเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งสองแบบนี้ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจแก่ใครก็ตาม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณค่าของผลงานชิ้นเอกในภาษาอื่น และต้องการถ่ายทอดพลังของผลงานนั้น ให้แก่ผู้อ่านที่พูดภาษาเดียวกับเขา อีกทั้งเขายังมีแนวความคิดเกี่ยวกับการแปลที่เข้มงวดกว่านั้นอยู่ในใจด้วย ในที่นี้ เราไม่สามารถประเมินค่าการถอดความและการเลียนแบบให้ละเอียดกว่านี้ เพราะมันอยู่นอกเหนือแนวความคิดเกี่ยวกับการแปล เราเพียงแต่หยิบยกขึ้นมา เพื่อตีกรอบให้เห็นถึงขอบเขตของสิ่งที่เราสนใจ

แต่เมื่อนักแปลที่แท้จริง ซึ่งต้องการชักนำสองฝ่ายที่แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงให้เข้ามาหากัน กล่าวคือผู้ประพันธ์กับผู้อ่าน และช่วยให้ผู้อ่านได้รับความเข้าใจและความรื่นรมย์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ทำได้จากผู้ประพันธ์ โดยไม่ต้องบังคับให้ผู้อ่านก้าวออกมาจากพรมแดนของภาษาแม่ มีหนทางใดบ้างที่เปิดแก่นักแปลผู้มีวัตถุประสงค์เช่นนั้น?

ในทัศนะของข้าพเจ้า มีเพียงสองหนทางเท่านั้น

- หนทางหนึ่งคือนักแปลปล่อยให้นักเขียนเป็นอย่างที่เป็นอยู่ให้มากที่สุด และดึงผู้อ่านให้เป็นฝ่ายเข้ามาหานักเขียน
- ส่วนอีกหนทางหนึ่งคือปล่อยให้ผู้อ่านเป็นอย่างที่เป็นอยู่ให้มากที่สุด และดึงนักเขียนให้เป็นฝ่ายเข้ามาหาผู้อ่าน

สองหนทางนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากว่าใช้หนทางใด ก็ควรยึดถือหนทางนั้นให้เข้มงวดที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะหากผสมสองหนทางนี้เข้าด้วยกัน ย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ลักลั่นอย่างยิ่ง และอาจกลายเป็นว่าทั้งผู้ประพันธ์และผู้อ่านไม่ได้ขยับเข้ามาใกล้กันเลย

ความแตกต่างระหว่างสองวิธีการนี้ และในข้อที่ว่ามันมีความสัมพันธ์กันแบบนี้ ย่อมเห็นได้ชัดทันที สำหรับในกรณีแรก นักแปลใช้ผลงานแปลของตนเองชดเชยให้แก่การขาดความเข้าใจในภาษาต้นทางของผู้อ่าน นักแปลพยายามถ่ายทอดต่อผู้อ่านถึงภาพพจน์เดียวกัน ความประทับใจเดียวกันกับที่ตัวนักแปลเองได้รับจากผลงานประพันธ์นั้น โดยอาศัยความรู้ที่เขามีต่อภาษาต้นทาง และพยายามดึงผู้อ่านให้ขยับเข้ามาสู่จุดยืนเดียวกับเขา ซึ่งเป็นจุดยืนที่แปลกแยกจากผู้อ่านอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น

ถ้างานแปลพยายามทำให้ผู้ประพันธ์ชาวโรมัน พูดและเขียนอย่างชาวเยอรมันต่อชาวเยอรมัน ย่อมเท่ากับงานแปลนั้นไม่ได้ดึงผู้ประพันธ์ให้ก้าวเข้ามาสู่จุดที่นักแปลยืนอยู่ เพราะผู้ประพันธ์ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันกับนักแปล แต่พูดภาษาละตินต่างหาก ในทางตรงกันข้าม นี่เป็นการดึงผู้ประพันธ์ให้ก้าวเข้ามาอยู่ในโลกของผู้อ่านชาวเยอรมันโดยตรงและเปลี่ยนผู้ประพันธ์ให้กลายเป็นหนึ่งในหมู่ผู้อ่าน และนี่คือวิธีแปลแบบที่สองต่างหาก

การแปลแบบแรกจะสมบูรณ์แบบตามวิธีการของมัน หากเราพูดได้ว่า ถ้าผู้ประพันธ์เรียนรู้ภาษาเยอรมันได้ดีเท่ากับที่นักแปลเรียนรู้ภาษาละติน ผู้ประพันธ์ย่อมแปลงานของตนเองที่เดิมเขียนเป็นภาษาละติน ไม่แตกต่างไปจากที่นักแปลแปลออกมา แต่การแปลแบบที่สอง ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ประพันธ์จะแปลงานของตนเองอย่างไร แต่แสดงให้เห็นว่าหากผู้ประพันธ์เป็นชาวเยอรมัน เขาจะเขียนต้นฉบับออกมาเป็นภาษาเยอรมันอย่างไร

การแปลแบบที่สองจึงมีบรรทัดฐานของความสมบูรณ์แบบอยู่ที่การรับประกันว่า หากผู้อ่านชาวเยอรมันทุกคนสามารถแปลงกายเป็นผู้เชี่ยวชาญและบุคคลร่วมสมัยกับนักเขียน ผลงานต้นฉบับย่อมก่อให้เกิดความประทับใจต่อผู้อ่านแบบเดียวกับผลงานแปล ทั้งนี้เพราะผู้ประพันธ์ถูกแปลงเป็นชาวเยอรมันไปแล้ว

เห็นได้ชัดว่า วิธีการนี้อยู่ในใจของบรรดานักแปลที่ใช้สูตรว่า ควรแปลให้เสมือนหนึ่งผู้ประพันธ์เขียนเป็นภาษาเยอรมันเอง จากการเปรียบเทียบ ทำให้เห็นชัดทันทีว่า กระบวนการทั้งสองแบบย่อมแตกต่างกันในทุกรายละเอียดเพียงไร และทุกสิ่งทุกอย่างจะออกมาผิดเพี้ยนและล้มเหลวเพียงไรหากใช้สองวิธีการนี้สลับกันไปมาในโครงการแปลเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า นอกเหนือจากสองวิธีการนี้แล้ว ไม่มีวิธีการที่สามที่มีเป้าหมายแน่ชัดอีก อันที่จริง ไม่มีวิธีการอื่นอีกแล้วที่เป็นไปได้ สองฝ่ายที่แยกจากกันต้องมาพบกันที่จุด ๆ หนึ่ง ซึ่งจุด ๆ นั้นย่อมเป็นตัวนักแปลเสมอ หรือไม่ก็อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อมโยงกับอีกฝ่ายโดยสมบูรณ์ ในความเป็นไปได้สองประการนี้ มีเพียงประการเดียวเท่านั้นที่อยู่ในขอบเขตของการแปล

ส่วนอีกประการอาจเกิดขึ้น เช่นในกรณีที่ผู้อ่านชาวเยอรมันเกิดเข้าใจภาษาละตินขึ้นมาโดยสมบูรณ์ หรือภาษาเกิดครอบงำผู้อ่านโดยสมบูรณ์ จนถึงขั้นที่เปลี่ยนผู้อ่านไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น สิ่งที่เคยพูด ๆ กันมาเกี่ยวกับการแปลตามตัวอักษรกับการแปลตามความหมาย เกี่ยวกับการแปลอย่างซื่อสัตย์และการแปลแบบอิสระ (รวมทั้งไม่ว่าจะใช้สำนวนเรียกอย่างไรต่อไปข้างหน้าก็ตามที) ต่อให้อ้างว่าเป็นวิธีการที่แตกต่างกันแค่ไหน ถึงที่สุดแล้ว มันต้องตกอยู่ในสองวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นเสมอ

แต่ถ้าหากจะถกเถียงกันถึงข้อผิดพลาดและข้อดีโดยอยู่ในบริบทนี้ ถ้าอย่างนั้น การแปลที่ผลิตซ้ำความหมายอย่างซื่อตรง หรือการแปลที่ตรงตามตัวอักษรเกินไปหรืออิสระเกินไปในวิธีการหนึ่ง ๆ ก็คงถือได้ว่ามีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ความตั้งใจของข้าพเจ้า โดยมิพักกล่าวถึงคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับหัวข้อนี้ที่ผู้สันทัดกรณีได้ปราศรัยกันไปบ้างแล้ว ข้าพเจ้าต้องการพิจารณาเฉพาะลักษณะโดยรวมกว้าง ๆ ของสองวิธีการนี้เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อเสีย (รวมทั้งข้อจำกัดของการนำมาประยุกต์ใช้) ของแต่ละวิธีการ และแต่ละวิธีการสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการแปลได้สูงสุดในระดับไหน จากมุมมองของการสำรวจความคิดอย่างกว้าง ๆ การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นบทเกริ่นนำเท่านั้น

ยังมีประเด็นอีกสองประการที่ควรทำต่อไปข้างหน้า นั่นคือ สำหรับแต่ละวิธีการ ควรมีการวางกฎเกณฑ์ โดยคำนึงถึงประเภทของงานประพันธ์ที่แตกต่างกันไป และควรมีการเปรียบเทียบและประเมินค่าผลงานแปลที่ดีที่สุดที่ทำตามในแต่ละวิธีการ นี่จะทำให้เราสามารถหาความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอฝากโครงการทั้งสองนี้ไว้ให้ผู้อื่นสานต่อ หรืออาจเก็บไว้ในโอกาสต่อไป

วิธีการแปลที่มีเป้าหมายต้องการให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ เช่นเดียวกับผู้แปลที่เป็นชาวเยอรมันได้รับจากการอ่านงานชิ้นนั้นในภาษาต้นฉบับ ต้องกำหนดให้แน่ชัดลงไปเสียก่อนว่า ความเข้าใจต่อภาษาต้นฉบับแบบไหนที่งานแปลต้องการเลียนแบบ เพราะมีความเข้าใจแบบหนึ่งที่ไม่ควรเลียนแบบ และมีความเข้าใจอีกแบบหนึ่งที่เลียนแบบไม่ได้

ความเข้าใจแบบที่ไม่ควรเลียนแบบคือ ความเข้าใจแบบเด็กนักเรียนที่ก้มหน้าก้มตาทำงานให้เสร็จ ๆ อย่างติด ๆ ขัด ๆ จนเกือบจะน่าทุเรศและตัดต่อรายละเอียดต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างมักง่าย ทั้งไม่มีตรงส่วนไหนเลยที่แสดงถึงความเข้าใจชัดเจนต่อผลงานทั้งหมด ไม่มีความเข้าใจที่กระจ่างแจ่มชัดต่อบริบทของผลงานนั้น ตราบที่แวดวงของผู้มีการศึกษาในชนชาติหนึ่ง ยังขาดไร้ประสบการณ์ในการทำความเข้าใจภาษาต่างประเทศอย่างทะลุปรุโปร่ง กลุ่มคนที่ก้าวล้ำหน้ากว่าไม่ควรทำงานแปลแบบนี้เสียเลยจะดีกว่า เพราะถ้ายึดถือความเข้าใจของตัวเองเป็นไม้วัด ก็คงแทบหาคนเข้าใจไม่ได้และคงทำอะไรสัมฤทธิ์ผลได้น้อยเต็มที แต่ถ้าหากงานแปลของพวกเขาเป็นตัวแทนของความเข้าใจที่มีร่วมกัน ผลงานอันรุ่มร่ามนั้นย่อมเลือนหายไปจากเวทีอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาแบบนั้น การเลียนแบบอย่างอิสระจะช่วยปลุกและขัดเกลาความนิยมให้มีต่องานต่างด้าว และการถอดความอาจช่วยเตรียมความเข้าใจกว้าง ๆ เพื่อกรุยทางให้แก่การแปลในอนาคต...

ดังนั้น การแปลจึงหมายถึงสถานการณ์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสองขั้ว และเป้าหมายของนักแปลคือ ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์และความพึงพอใจ เช่นเดียวกันกับการอ่านงานในภาษาต้นฉบับทำให้เกิดแก่คนที่มีการศึกษา ซึ่งเรามักจะเรียกว่านักอ่านหรือนักเลงหนังสือ สำหรับนักแปลประเภทนี้ เขามีความคุ้นเคยกับภาษาต่างชาติอยู่บ้าง แต่ภาษานั้นก็ยังเป็นภาษาต่างชาติอยู่ดี เขาไม่เหมือนนักเรียนที่ต้องนึกคิดทุกรายละเอียดเป็นภาษาของตัวเองเสียก่อนจึงจะเข้าใจความหมายทั้งหมด แต่เขายังสำนึกถึงความแตกต่างระหว่างภาษาต่างด้าวกับภาษาแม่ของตัวเองเสมอ แม้ในขณะที่หยั่งซึ้งถึงความงามของต้นฉบับก็ตาม

แน่นอน วิธีการและคำนิยามการแปลในลักษณะนี้คงไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับเราอยู่ดี แม้ว่าเราจะยอมรับประเด็นเหล่านี้ก็ตาม เราเห็นแล้วว่า แนวโน้มของการแปลเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความสามารถในการใช้ภาษาต่างชาติแพร่หลายในแวดวงผู้มีการศึกษาในระดับหนึ่ง ศิลปะการแปลจะเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกัน และเป้าหมายจะตั้งสูงขึ้น ๆ เรื่อย ๆ แต่นี่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรสนิยมและความรู้ในผลงานทางปัญญาของต่างชาติ แพร่หลายและเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้มีการศึกษาที่คอยขัดเกลาและยกระดับการรับรู้ของตน แต่มิได้ถือว่าความรู้ทางภาษาเป็นกิจธุระของตนอย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกัน เราไม่อาจละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งมีผู้อ่านตอบรับงานแปลมากเท่าไร การทำงานแปลก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราพิจารณาถึงผลงานทางด้านศิลปะและวิชาการที่โดดเด่นที่สุดของชนชาติหนึ่ง ซึ่งย่อมเป็นเป้าหมายสำคัญในการนำมาแปลของนักแปลอยู่แล้ว ในเมื่อภาษาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราจึงไม่มีทางเข้าใจความหมายของภาษานั้นอย่างเที่ยงตรง หากปราศจากการเข้าใจความหมายที่ฝังแนบแน่นกับประวัติศาสตร์ ภาษามิใช่สิ่งที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แต่มันค่อย ๆ ถูกค้นพบ และการทำอะไรกับภาษาและในภาษาตามอำเภอใจเป็นสิ่งที่โง่เง่า งานวิชาการและศิลปะคือพลังสองประการที่ส่งเสริมและช่วยให้การค้นพบนี้ลุล่วง

คนที่มีจิตปราดเปรื่อง ซึ่งรับรู้ถึงลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นของชนชาติตน ไม่ว่าโดยอาศัยศิลปะหรืองานวิชาการ และกลายเป็นผู้มีบทบาทในภาษาประจำชาติ ผลงานของเขาย่อมบรรจุไว้ด้วยประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของชนชาตินั้น ๆ นี่ย่อมสร้างความยากลำบากอย่างใหญ่หลวงต่อนักแปลงานวิชาการ จนบ่อยครั้งที่ไม่อาจก้าวข้ามความยากลำบากนี้ไปได้

เพราะใครก็ตามที่มีความรู้เพียงพอ เมื่อได้อ่านผลงานอันยอดเยี่ยมประเภทนี้ในภาษาต้นฉบับ อิทธิพลที่มันมีต่อภาษาย่อมไม่คลาดจากสายตาเขา เขาย่อมสังเกตเห็นว่า ถ้อยคำไหน การผูกประโยคใด สำแดงให้เห็นความแปลกใหม่อันงดงามน่าทึ่ง เขาย่อมมองเห็นว่า ถ้อยคำและการผูกประโยคนั้นแทรกซึมเข้าไปในภาษาตามความต้องการพิเศษในจิตของผู้ประพันธ์ และพลังในการใช้ถ้อยคำของเขา การสังเกตนี้ย่อมกำหนดความประทับใจที่ผู้แปลได้รับ ดังนั้น มันจึงเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของการแปลที่ต้องสื่อสารความประทับใจนี้แก่ผู้อ่านให้ได้ มิฉะนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดที่มุ่งหมายให้เกิดแก่ผู้อ่านย่อมตกหล่นหายสูญไป

แต่จะทำให้สำเร็จได้ด้วยวิธีการใด? กล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ มีบ่อยครั้งทีเดียวที่คำเก่า ๆ เชย ๆ ในภาษาของเรา เป็นคำเพียงคำเดียวที่สอดรับกับคำใหม่ในภาษาต้นฉบับ ดังนั้น หากนักแปลต้องการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของผลงานชิ้นนั้นว่า มีอิทธิพลต่อรูปแบบภาษาอย่างไร เขาก็ต้องนำเนื้อหาที่ผิดแผกออกไปอย่างสิ้นเชิงมาใส่ไว้แทน ซึ่งเท่ากับหาทางออกด้วยวิธีการเลียนแบบ! แม้ในจุดที่เขาสามารถใช้คำใหม่ต่อคำใหม่ คำที่มีนิรุกติศาสตร์และรากศัพท์ใกล้เคียงที่สุดก็ไม่มีทางผลิตซ้ำความหมายได้โดยสมบูรณ์ และจำเป็นต้องสร้างคำเชื่อมโยงอื่น ๆ ขึ้นมา ถ้าไม่อยากทำลายบริบทที่แวดล้อมอยู่!

นักแปลอาจปลอบใจตัวเองว่า ในจุดอื่น ๆ ที่ผู้ประพันธ์ใช้คำเก่าที่รู้จักกันดี เขาคงชดเชยข้อบกพร่องได้บ้าง และคงสามารถบรรลุผลสำเร็จในผลงานโดยรวม แม้ว่าไม่อาจบรรลุผลสำเร็จในแต่ละส่วนย่อยได้ แต่ถ้าหากเราพิจารณาถึงการสร้างคำของผู้ประพันธ์ที่เป็นเอตทัคคะทางภาษาอย่างทั่วถ้วนแล้ว ดูทั้งการใช้ถ้อยคำที่สัมพันธ์กันและรากคำภายในงานเขียนต่าง ๆ ที่มีสหสัมพันธ์กันอย่างมากมายมหาศาล นักแปลจะบรรลุความสำเร็จได้อย่างไร ในเมื่อระบบของมโนทัศน์และสัญญะต่าง ๆ ในภาษาของนักแปลแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากภาษาต้นฉบับ และแทนที่รากคำจะต้องตรงกันในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มันกลับตัดข้ามกันไปมาในทิศทางที่แปลกประหลาดที่สุด ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่นักแปลจะใช้ภาษาได้คงเส้นคงวาเหมือนกับภาษาของผู้ประพันธ์

ในแง่นี้ เขาจำต้องพอใจที่จะบรรลุผลสำเร็จในแต่ละส่วนย่อย ๆ แม้ว่าไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จในผลงานโดยรวมได้ เขาจำต้องขอร้องผู้อ่านให้เข้าใจว่า ผู้อ่านไม่สามารถนึกพาดพิงถึงงานเขียนอื่น ๆ ได้ชัดเจนเหมือนผู้อ่านภาษาต้นฉบับ แต่ผู้อ่านฉบับแปลจำต้องพิจารณางานแต่ละชิ้นเป็นรายชิ้นไป ผู้อ่านควรเต็มใจชมเชยนักแปลด้วยซ้ำ หากนักแปลสามารถรักษาความคล้ายคลึงไว้ได้ในงานชิ้นสำคัญ ๆ (หรือแม้กระทั่งแค่ในแต่ละส่วนของงานเหล่านั้น) ในแง่ที่ไม่มีคำหนึ่งคำใดถูกแปลโดยใช้คำต่างกันไปร้อยแปดอย่าง หรือไม่มีความแตกต่างลักลั่นเปรอะเปื้อนไปหมดทั้งงานแปล ในขณะที่ต้นฉบับมีการใช้สำนวนคงเส้นคงวาอย่างต่อเนื่อง...

ยังมีความยากลำบากประการอื่น ๆ อีก เมื่อนักแปลต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่เขามีต่อภาษาที่เขาเขียน และความสัมพันธ์ของงานแปลที่มีต่อผลงานอื่น ๆ ของตัวเขาเอง ถ้าเราตัดบรรดาบรมครูผู้โดดเด่นที่เชี่ยวชาญหลายภาษาราวกับเป็นภาษาเดียวกันทั้งหมดออกไป หรือคนที่ช่ำชองในภาษาที่สองยิ่งกว่าภาษาแม่ของตน (สำหรับคนประเภทหลังนี้ ดังที่เรากล่าวมาแล้วว่าเขาเป็นนักแปลไม่ได้) ในส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือนั้น ไม่ว่าจะอ่านภาษาต่างประเทศได้คล่องแคล่วเพียงไร ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นต่างด้าวของภาษาอยู่ดี นักแปลควรถ่ายทอดความรู้สึกถึงความเป็นต่างด้าวนี้อย่างไร ให้ผู้อ่านที่เขากำลังเสนอผลงานแปลเป็นภาษาแม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกัน?

แน่นอน เราอาจบอกว่า คำตอบต่อปริศนานี้มีมาตั้งนานแล้ว และใช้คำตอบนี้แก้ปริศนากันมาจนมากเกินพอเสียอีก กล่าวคือ ยิ่งงานแปลใช้สำนวนลีลาตามต้นฉบับมากเท่าไร มันก็ยิ่งให้ความรู้สึกต่างด้าวแก่ผู้อ่านมากเท่านั้น นี่ก็อาจเป็นความจริง และโดยทั่วไปเราก็มักหัวเราะเยาะความคิดนี้กันง่าย ๆ แต่ถ้าหากเราไม่ต้องการได้ความรื่นรมย์มาในราคาถูก ถ้าเราไม่ต้องการตีขลุมงานแปลที่ยอดเยี่ยมที่สุดกับงานแปลแบบเด็กนักเรียนที่แย่ที่สุดไว้ในประเภทเดียวกัน ถ้าอย่างนั้น เราต้องยอมรับว่า เงื่อนไขที่เป็นหัวใจสำคัญของวิธีการแปลแบบนี้คือจุดยืนต่อภาษา ที่มิเพียงไม่ใช่เรื่องดาษดื่นที่เห็นกันทั่วไป แต่ยังบอกให้เรารู้ด้วยว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นมาเองอย่างสะเปะสะปะ แต่จงใจแสวงหาความคล้ายคลึงที่แปลกแยก

เราต้องยอมรับว่า การทำเช่นนี้ได้อย่างแนบเนียนและพอเหมาะพอดี โดยไม่สร้างผลเสียต่อภาษาของตนเองและต่อตัวเอง น่าจะเป็นความยากลำบากที่สุดที่นักแปลคนหนึ่งต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ความพยายามนี้ดูเหมือนเป็นรูปแบบของความอัปยศที่แปลกประหลาดที่สุดที่นักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่นักเขียนไร้ฝีมือเลยแม้แต่น้อย กลับต้องมาทำร้ายตัวเอง ใครบ้างไม่อยากให้ภาษาประจำชาติของตัวเองไพเราะงดงามจับใจในทุก ๆ ประโยค ในทุก ๆ รูปแบบทางวรรณคดีเท่าที่ทำได้? ใครบ้างไม่อยากให้กำเนิดลูกที่เหมือนตัวเองแทนที่จะเป็นลูกนอกคอก? ใครบ้างอยากนำเสนอตัวเองในลีลาที่มีเสน่ห์และสง่างามน้อยกว่าความสามารถที่แท้จริง มิหนำซ้ำบางครั้งยังต้องยอมทำตัวกระด้างแข็งทื่อและสร้างความอิหลักอิเหลื่อแก่ผู้อ่านตามความจำเป็น เพื่อคอยเตือนให้ผู้อ่านตระหนักตลอดเวลาว่านักแปลกำลังทำอะไร?

ใครบ้างที่ยินดีถูกตราหน้าว่าบัดซบ โดยเพียรพยายามรักษาความใกล้เคียงกับภาษาต่างประเทศเท่าที่ภาษาของตัวเองจะทำได้ และยอมถูกประณามที่เอาภาษาแม่มาบิดเบือนด้วยภาษาต่างด้าวอันผิดธรรมชาติ ประดุจดังพ่อแม่ที่ยอมยกลูก ๆ ให้อยู่ในมือของนักกายกรรม แทนที่จะฝึกฝนกายกรรมในภาษาของตนเองทั้ง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว? ในประการสุดท้าย ใครบ้างที่อยากถูกยิ้มเยาะด้วยความสมเพชจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญและปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งคอยกระแนะกระแหนว่า พวกเขาไม่มีทางเข้าใจภาษาเยอรมันที่บางทีงุ่มง่ามบางทีรวบรัดนี้ หากมิใช่เพราะมีความรู้ในภาษากรีกกับภาษาละตินเป็นทุนเดิมอยู่ก่อน!

นี่คือสิ่งที่นักแปลทุกคนต้องยอมเสียสละ นี่คืออันตรายที่เขาต้องยอมเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง หากเขาไม่คอยระวังเส้นแบ่งอันเล็กละเอียดที่สุดเพื่อรักษาน้ำเสียงต่างด้าวของภาษาเอาไว้ อันตรายที่เขาไม่มีทางหนีรอดโดยสิ้นเชิง เพราะทุก ๆ คนขีดเส้นแบ่งนี้แตกต่างกันออกไปเล็กน้อยในแต่ละครั้ง ยิ่งกว่านั้น หากเขาคำนึงถึงอิทธิพลของความเคยชินอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาก็ต้องวิตกกังวลอีกว่า การทำงานแปลอาจทำให้มีสิ่งแปลกปลอมแอบแฝงเข้ามาในการทำงานเขียนอิสระและสร้างสรรค์ของตน และสัมผัสอันละเอียดอ่อนที่เขามีต่อภาษาประจำชาติอันแข็งแรงของตัวเองอาจตีบตันลงไปบ้าง

และหากเขาคิดเลยไปถึงกองทัพนักเลียนแบบที่มีอยู่เกลื่อนกล่น รวมทั้งความเฉื่อยชาและความสามัญดาษดื่นที่ครอบงำวงการวรรณกรรม เมื่อนั้นเขาย่อมตระหนกเมื่อเห็นว่า ตัวเองต้องรับผิดชอบต่อความหละหลวมและไร้กฎเกณฑ์ ความงุ่มง่ามและความแข็งกระด้าง ความวิบัติของภาษามากขนาดไหน เพราะคงมีแต่คนที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดเท่านั้นที่จะไม่พยายามหาข้อดีจอมปลอมจากความพยายามของเขา

เรามักได้ยินเสียงบ่นว่า การแปลแบบนี้สร้างผลเสียต่อความบริสุทธิ์ของภาษา และความงอกงามของภาษาภายในชาติที่ราบรื่นต่อเนื่อง แม้เราจะเก็บเสียงบ่นนี้ไว้เสียก่อน โดยปลอบใจตัวเองว่า ไม่ใช่เวลาเอาข้อดีมาวางเปรียบเทียบกับข้อเสีย และในเมื่อทุกสิ่งที่ดีย่อมต้องมีสิ่งที่แย่แฝงอยู่ ปัญญาย่อมอยู่ตรงที่รู้จักตักตวงเอาสิ่งที่ดีออกมาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และขจัดสิ่งที่แย่ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับภารกิจอันยากลำบากในการนำเสนอสิ่งที่เป็นต่างด้าวในภาษาประจำชาติของตนเอง...

ทั้งหมดนี้คือความยากลำบากที่เป็นขวากหนามในวิธีการแปลแบบนี้ รวมทั้งข้อบกพร่องที่แฝงอยู่ในหัวใจสำคัญของวิธีการด้วย แต่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยข้อบกพร่องดังกล่าว เราก็ยังต้องยอมรับหนทางอันขรุขระและไม่อาจปฏิเสธคุณูปการของมันได้ วิธีการนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขสองประการคือ ความเข้าใจในงานเขียนต่างด้าวเป็นที่แพร่หลายและมีสภาพที่น่าพึงพอใจ กับอีกประการหนึ่งคือภาษาประจำชาติต้องมีความยืดหยุ่นได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อไรที่เงื่อนไขเหล่านี้มาบรรจบพบกัน การแปลรูปแบบนี้ย่อมกลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา เนื่องจากมันมีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการทางภูมิปัญญาโดยรวม และมีคุณค่าบางอย่าง อีกทั้งยังสร้างความอภิรมย์อย่างเห็นได้ชัด แต่จำเป็นหรือไม่ที่ต้องกล่าวถึงวิธีการตรงกันข้าม ซึ่งผู้อ่านไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความยากลำบากแต่ประการใดเลย

วิธีนี้ต้องการเนรมิตให้ผู้ประพันธ์ต่างชาติมาปรากฏอยู่ตรงหน้า และนำเสนอผลงานอย่างที่ควรจะเป็น หากว่าผู้ประพันธ์คนนั้นเขียนต้นฉบับเป็นภาษาของผู้อ่าน เรามักได้ยินข้อเรียกร้องนี้อยู่บ่อย ๆ ว่าเป็นสิ่งที่นักแปลที่แท้จริงพึงปฏิบัติ และเป็นวิธีการที่เหนือกว่าและสมบูรณ์แบบมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแรก มีการทดลองกระทำกันมาบ้างแล้วด้วย อาจถือเป็นผลงานชิ้นเอกด้วยซ้ำไป ซึ่งต่างมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ เราลองประเมินวิธีการนี้สักหน่อยและดูซิว่ามันเหมาะสมหรือไม่หากใช้วิธีการนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวิธีการที่ใช้กันน้อยกว่า เกลือกว่าจะนำมาใช้กันให้มากขึ้นและอาจแทนที่วิธีการแรก ซึ่งยังมีข้อน่ากังขาและไร้ประสิทธิภาพในหลาย ๆ แง่

เราเห็นได้ในทันทีว่าภาษาของนักแปลไม่มีอะไรต้องกริ่งเกรงจากวิธีการนี้เลย กฎประการแรกของนักแปลในวิธีการนี้ก็คือ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลงานของเขากับภาษาต่างชาติแล้ว นักแปลต้องไม่ทำสิ่งใดที่ไม่พึงกระทำ ในผลงานต้นฉบับประเภทเดียวกันที่เขียนเป็นภาษาประจำชาติของตน เช่นเดียวกับนักเขียนคนอื่น ๆ นักแปลมีหน้าที่ต้องคอยเอาใจใส่อย่างถี่ถ้วนในการรักษาความบริสุทธิ์และความสมบูรณ์แบบของภาษา เพื่อพยายามบรรลุถึงลีลาอันงามสง่า และเป็นธรรมชาติดุจเดียวกันกับที่ผู้ประพันธ์ได้รับการยกย่องในภาษาต้นฉบับของเขา

แน่นอน หากเราต้องการสาธิตให้เพื่อนร่วมชาติของเรารับรู้อย่างชัดเจนว่า นักเขียนคนนั้น ๆ มีความหมายต่อภาษาของเขาอย่างไร ย่อมไม่มีทางใดดีไปกว่าหาทางทำให้นักเขียนคนนั้นพูดในแบบที่เราจินตนาการว่า เขาคงจะพูดแบบนั้น ๆ ในภาษาของเรา วิธีการนี้ยิ่งเหมาะสมหากระดับของพัฒนาการในภาษาต้นฉบับมีความใกล้เคียงกับระดับที่ภาษาของเราเป็นอยู่พอดี

ในแง่หนึ่ง เราสามารถจินตนาการได้ว่า แทซิตัส (Tacitus รัฐบุรุษและนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน-ผู้แปล) จะพูดอย่างไรหากเขาเกิดเป็นชาวเยอรมัน หรือให้เที่ยงตรงยิ่งกว่านี้ก็คือ ชาวเยอรมันที่มีความสำคัญต่อภาษาของเราเยี่ยงเดียวกับที่แทซิตัสมีความสำคัญต่อภาษาของเขา ควรจะพูดเช่นนี้ ๆ และความปีติจงบังเกิดแก่นักแปลที่จินตนาการได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งถึงขนาดที่สามารถทำให้แทซิตัสพูดออกมาได้จริง ๆ!

แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้หรือไม่กับการทำให้แทซิตัสชาวเยอรมันพูดอย่างเดียวกับแทซิตัสชาวโรมันพูดเป็นภาษาละติน เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ใช่ว่าจะตอบว่าทำได้กันง่าย ๆ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิงในการทำความเข้าใจอย่างถูกต้องถึงอิทธิพลที่คน ๆ หนึ่งมีต่อภาษาของเขากับการหาทางแสดงมันออกมาโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง และเป็นคนละเรื่องกันอีกนั่นแหละในการคาดเดาว่า ความคิดกับสำนวนลีลาของเขาจะปรากฏออกมาอย่างไร หากว่าผู้ประพันธ์คนนั้นคิดและถ่ายทอดความคิดในอีกภาษาหนึ่ง!

ใครก็ตามที่เชื่อว่า ความคิดกับการถ่ายทอดความคิดมีคุณสมบัติภายในที่เป็นแก่นแท้เดียวกัน และศิลปะในการทำความเข้าใจวาทกรรมอันหนึ่ง (ซึ่งหมายรวมถึงการแปลทั้งหมดด้วย) ตั้งอยู่บนความเชื่อนี้ ใครคนนั้นสามารถแยกแยะบุคคลจากภาษาประจำชาติของเขา และเชื่อว่าตัวเขา หรือแม้เพียงแค่ห่วงโซ่ความคิดของเขา สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันและเหมือนกันในทั้งสองภาษาได้หรือไม่?

และถ้าหากความคิดย่อมแตกต่างกันในบางแง่มุม ใครคนนั้นกล้าถอดรื้อวาทกรรมนั้นไปจนถึงแกนกลาง เพื่อแยกเอาส่วนที่เป็นภาษาออก แล้วใช้กระบวนการทางเคมีบางอย่างผสมส่วนที่เป็นแกนในสุดเข้ากับสาระและพลังของอีกภาษาหนึ่งหรือไม่? แน่นอน เพื่อแก้ปัญหานี้ ย่อมจำเป็นต้องรื้อเอาทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่รายละเอียดปลีกย่อยที่สุด ที่เป็นผลสะท้อนจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ประพันธ์เคยพูดและได้ยินในภาษาแม่นับตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นมา ออกไปจากงานเขียนของเขาให้หมด จนผู้ประพันธ์เหลือแต่ตัวล่อนจ้อนกับแนวความคิดเฉพาะบางอย่างซึ่งมีต่อเนื้อหาบางประการ หลังจากนั้น จึงป้อนทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรเป็นผลสะท้อนของสิ่งที่เขาน่าจะพูดและได้ยินในภาษาต่างประเทศนับแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต หรือนับจากวินาทีแรกที่เขาทำความรู้จักกับภาษาต่างชาตินั้นกลับเข้าไปใหม่ จนกระทั่งเขาสามารถคิดและเขียนในภาษาต่างชาติได้เหมือนภาษาดั้งเดิมของตัวเอง สิ่งนี้จะเป็นไปได้ก็คงต้องรอไปจนถึงวันที่เราสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากกระบวนการทางเคมีเทียมกระมัง(3)

อันที่จริง เป้าหมายของการแปลแบบนี้ กล่าวคือแบบที่จินตนาการว่าผู้ประพันธ์น่าจะเขียนต้นฉบับด้วยภาษาของนักแปล เป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงแต่ไม่มีทางบรรลุถึง แต่ยังไร้แก่นสารและกลวงเปล่าในตัวมันเอง เพราะใครก็ตามที่ตระหนักถึงพลังสร้างสรรค์ของภาษา โดยที่ภาษานั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลักษณะเฉพาะของชนชาติ ย่อมต้องยอมรับด้วยว่าสำหรับผู้ประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ความรู้ทั้งหมดของเขา รวมทั้งการถ่ายทอดความคิด เป็นสิ่งที่ก่อรูปขึ้นในภาษาและผ่านภาษา

ดังนั้นจึงไม่มีบุคคลใดที่ผูกพันกับภาษาเพียงแค่เป็นกลไก ราวกับภาษาเป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวตัวเขาไว้แต่เพียงภายนอก เปรียบเหมือนเราสามารถเปลี่ยนม้าเทียมรถได้ง่าย ๆ ฉันใด คนเราก็เลือกสวมบังเหียนภาษาอีกภาษาหนึ่งให้ความคิดของตนได้ง่าย ๆ ฉันนั้นก็หาไม่ ทว่านักเขียนทุกคนย่อมสามารถผลิตงานต้นฉบับได้ด้วยภาษาแม่ของตนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ แม้แต่เพียงหยิบยกคำถามที่ว่าเขาสามารถเขียนงานเป็นภาษาอื่นได้หรือไม่ ก็เป็นคำถามที่เป็นไปไม่ได้แล้ว...(4)

การประยุกต์ใช้วิธีการนี้ทำได้จำกัดขนาดไหน --อันที่จริง ในสาขาการแปลแทบจะเท่ากับศูนย์-- เราคงเห็นได้ชัดขึ้น หากพิจารณาถึงอุปสรรคที่ไม่มีทางข้ามพ้นได้ในแต่ละสาขาทางศิลปะและวิชาการ พึงต้องกล่าวว่าแม้กระทั่งการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน มีเพียงแค่ไม่กี่คำในภาษาหนึ่งที่มีคำในอีกภาษาหนึ่งซึ่งต้องตรงกันอย่างสมบูรณ์ จนถึงขั้นที่ว่าคำ ๆ นั้นสามารถใช้แทนกันได้ในทุกกรณี และสามารถให้ความหมายเดียวกันในบริบทเดียวกันได้เสมอ ยิ่งเป็นมโนทัศน์ยิ่งหาได้ยาก (โดยเฉพาะถ้ามันแฝงไว้ด้วยเนื้อหาทางปรัชญา) ยิ่งอย่าไปพูดถึงแนวความคิดทางปรัชญาทั้งหมด ในสาขาปรัชญายิ่งเป็นมากกว่าสาขาอื่นใด

แม้ว่าในทุก ๆ ภาษาจะมีทัศนะที่แตกต่างกันอยู่ในเวลาเดียวกันหรือสืบช่วงเป็นลำดับก็ตาม แต่ภายในภาษานั้นก็ยังมีระบบของมโนทัศน์ ซึ่งมีการบรรจบ เชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกันในภาษาเดียวกัน ทำให้ภาษานั้นเป็นองค์รวมเพียงหนึ่งเดียวซึ่งส่วนย่อย ๆ แต่ละส่วนไม่สอดคล้องต้องตรงกับระบบใด ๆ ในภาษาอื่นเลย แม้กระทั่งมโนทัศน์ของพระเจ้าและภาวะ ซึ่งเป็นคำนามมูลฐานและคำกริยามูลฐาน ก็อาจไม่ใช่ข้อยกเว้นด้วยซ้ำ เพราะกระทั่งสิ่งที่เป็นสากล แม้ตั้งอยู่นอกขอบเขตของคุณสมบัติที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจง ก็ยังถูกแต่งแต้มสีสันด้วยภาษา

ปัญญาของทุกผู้คนย่อมปรากฏเป็นจริงในระบบภาษาดังกล่าว ทุกคนย่อมดึงมาจากสิ่งที่มีอยู่ ทุกคนช่วยกันสำแดงให้เห็นสิ่งที่ยังไม่มี แต่มีศักยภาพที่เป็นไปได้ มีเพียงวิถีทางนี้เท่านั้นที่ปัญญาของปัจเจกบุคคลจึงมีชีวิตชีวาขึ้นมา และสามารถเป็นใหญ่เหนือการดำรงอยู่ของเขาอย่างแท้จริง แน่นอนว่าเขาย่อมหลอมรวมตัวเองเข้าไปในภาษาอย่างสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น ถ้านักแปลที่แปลผลงานของนักเขียนทางปรัชญา ไม่ยอมโอนอ่อนภาษาในการแปลให้คล้อยตามภาษาต้นฉบับบ้างเท่าที่ทำได้ เพื่อเสนอให้เห็นแนวคิดของระบบมโนทัศน์ที่พัฒนาขึ้นมาในภาษาต้นฉบับ และถ้าหากนักแปลพยายามทำให้ผู้เขียนพูด ราวกับผู้เขียนก่อรูปความคิดและสำนวนลีลาขึ้นมาในอีกภาษาหนึ่งตั้งแต่ต้น นักแปลจะทำเช่นไรต่อองค์ประกอบที่แตกต่างกันในสองภาษา นอกจากอาศัยการถอดความ ซึ่งเท่ากับนักแปลย่อมไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะการถอดความย่อมไม่มีทางมีอะไรเหมือนผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาในภาษาของผู้ประพันธ์ หรือไม่ก็แปลงปัญญาและความรู้ทั้งหมดของผู้ประพันธ์ให้กลายเป็นระบบความคิดในภาษาของนักแปลและเปลี่ยนส่วนประกอบย่อย ๆ ทั้งหมดไปเสียเลย?

หากทำเช่นนี้ นักแปลไม่มีทางบอกได้ว่า การเปลี่ยนแปลงตามใจชอบนี้มีขอบเขตจำกัดอยู่แค่ไหน อันที่จริง เราต้องขอกล่าวว่า ใครก็ตามที่มีความเคารพแม้เพียงน้อยนิดต่อการคิดค้นทางปรัชญา ไม่สมควรพาตัวเองเข้ามาพัวพันในเกมที่มีกติกาหละหลวมแบบนี้เลย

เพลโต โปรดอภัยให้ข้าพเจ้าด้วยที่ขอกระโดดจากนักปรัชญาไปหานักเขียนสุขนาฏกรรม หากคำนึงในแง่ของภาษา รูปแบบงานเขียนชนิดนี้มีความใกล้เคียงกับบทสนทนาจริง ๆ ในสังคมมากที่สุด การถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดผูกพันอยู่กับค่านิยมของยุคสมัยและของชนชาตินั้น ๆ ซึ่งย่อมสะท้อนออกมาได้แจ่มชัดสมบูรณ์ที่สุดในภาษา ความมีเสน่ห์และเป็นธรรมชาติคือคุณค่าสูงสุดในงานเขียนประเภทนี้ และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมความยากลำบากของการแปลตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น จึงมีมากมายมหาศาล เพราะการพยายามทำให้ใกล้เคียงกับภาษาต่างประเทศมากที่สุดย่อมทำลายคุณค่าในการนำเสนอไปสิ้น

ครั้นหากนักแปลต้องการให้ผู้ประพันธ์บทละครพูดราวกับเขาเขียนขึ้นมาเป็นภาษาของนักแปลเอง ย่อมมีอะไรมากมายหลายอย่างที่พูดไม่ได้ เพราะมันไม่มีอยู่ในชนชาติอื่นและจึงไม่มีสัญลักษณ์ในภาษานั้น ๆ ในกรณีแบบนี้ นักแปลต้องตัดบางส่วนทิ้งไปเลย ซึ่งเท่ากับทำลายรูปแบบและพลังของผลงานโดยรวม หรือไม่นักแปลก็ต้องหาอย่างอื่นมาแทนที่

ในสาขานี้ สูตรสำเร็จที่มักนิยมใช้กันคือการเลียนแบบล้วน ๆ หรือไม่ก็ใช้ส่วนผสมของการแปลกับการเลียนแบบที่สับสนและลักลั่นอย่างน่าเกลียด รังแต่จับผู้อ่านเหวี่ยงโยนไปมาอย่างไร้ความปรานีราวกับลูกบอล ระหว่างโลกของเขากับโลกต่างด้าว ระหว่างพลังสร้างสรรค์และปฏิภาณของผู้ประพันธ์กับนักแปล ผู้อ่านย่อมหาความรื่นรมย์ไม่ได้ ลงท้ายจะมีแต่ความปวดเศียรเวียนเกล้าและคับข้องใจเสียมากกว่า

ในทางตรงกันข้าม นักแปลที่ยึดมั่นในอีกวิธีการหนึ่ง ย่อมไม่มีความตั้งใจแม้แต่น้อยที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรตามใจชอบ อีกทั้งผู้อ่านพึงตระหนักอยู่ในใจเสมอว่า ผู้ประพันธ์มีชีวิตอยู่ในอีกโลกหนึ่งและเขียนในอีกภาษาหนึ่ง นักแปลมีข้อผูกมัดเพียงแค่ใช้ศิลปะอันยากลำบาก เพื่อนำเสนอความรับรู้ที่มีต่อโลกต่างด้าวนี้ด้วยวิธีการที่กระชับที่สุดและเหมาะสมที่สุด แล้วปล่อยให้ความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าของต้นฉบับเปล่งประกายออกมา

ตัวอย่างทั้งสอง ซึ่งยกมาจากสองขั้วในศิลปะและวิชาการ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการแปล กล่าวคือการชื่นชมผลงานต่างชาติอย่างไม่มีอะไรเจือปนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ย่อมบรรลุถึงได้น้อยมากหากใช้วิธีการที่ต้องการเสกวิญญาณของภาษาที่แปลกแยกจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิงเข้าไปไว้ในงานแปล ยิ่งกว่านั้น ภาษาทุกภาษามีจังหวะจะโคนเฉพาะตัวทั้งในร้อยแก้วและร้อยกรอง ทันทีที่ใช้สมมติฐานว่า ผู้ประพันธ์ควรเขียนด้วยภาษาของนักแปล เราก็ต้องทำให้ผู้ประพันธ์ใช้จังหวะจะโคนของภาษานั้นด้วย ในแง่นี้ ผลงานของเขาย่อมบิดเบี้ยวไปยิ่งกว่าเดิม และการตระหนักถึงลีลาเฉพาะตัวของผู้ประพันธ์ที่งานแปลควรนำเสนอ ย่อมทำได้จำกัดลงไปอีก

อันที่จริง งานเขียนซึ่งตั้งอยู่บนทฤษฎีของนักแปลที่กล่าวถึงในที่นี้ อยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของเรา เมื่อมองจากจุดยืนแรก การแปลเป็นความจำเป็นสำหรับชนชาติหนึ่ง ซึ่งคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศในระดับใช้การได้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่มีความนิยมที่จะเสพย์งานต่างชาติ เมื่อไรก็ตามที่คนกลุ่มหลังกลายเป็นคนกลุ่มแรกไปหมด เมื่อนั้นรูปแบบการแปลเช่นนี้ย่อมไร้ประโยชน์ และคงแทบไม่มีใครยินดีรับภารกิจอันไม่น่ายินดีนี้

ส่วนจุดยืนที่สองนั้นแตกต่างออกไป มันไม่เกี่ยวกับความจำเป็นแม้แต่น้อย แต่เป็นงานที่เกิดจากความอยากทำและอยู่ไม่สุข ความรู้ในภาษาต่างชาติควรแพร่หลายในระดับกว้าง และการเข้าถึงผลงานอันเลอเลิศควรเปิดกว้างแก่ทุกคนที่มีความสามารถ การแปลยังคงเป็นกิจกรรมที่น่ากังขา โดยมีผู้ชมที่กระตือรือร้นเข้ามาล้อมวงรับฟัง เมื่อมีคนอาสาจะนำเสนอผลงานของซิเซโรหรือเพลโต ในแบบที่นักปราชญ์เหล่านี้น่าจะเขียนผลงานเป็นภาษาเยอรมันร่วมสมัยโดยตรง

และถ้าหากมีใครสักคนก้าวไปไกลถึงขั้นที่ไม่เพียงนำเสนอในภาษาของตนเองเท่านั้น แต่ยังนำเสนอเป็นภาษาต่างชาติอีกภาษาหนึ่งด้วย เราย่อมถือว่าเขาเป็นปรมาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศาสตร์และศิลป์ของการผสานรวมจิตวิญญาณของต่างภาษาเข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งยากเย็นและแทบเป็นไปไม่ได้ เราย่อมเห็นว่าผลงานที่ปรากฏออกมา หากกล่าวอย่างเข้มงวดแล้ว หาใช่การแปลไม่ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การชื่นชมผลงานดั้งเดิมที่แท้จริง มันน่าจะเข้าใกล้ไปข้างการเลียนแบบมากกว่า และมีแต่คนที่คุ้นเคยกับนักเขียนอยู่ก่อนแล้ว จึงจะได้รับความรื่นรมย์อย่างแท้จริงจากผลงานเทียมหรือผลงานทางศิลปะนั้น เป้าหมายจึงน่าจะอยู่ที่การสาธิตให้เห็นความสัมพันธ์อันคล้ายคลึงกันระหว่างการถ่ายทอดและการผูกประโยคบางอย่าง รวมทั้งรูปแบบเฉพาะตัวของภาษาที่แตกต่างกัน อีกทั้งประเทืองภาษาให้รุ่มรวยขึ้นด้วยจิตวิญญาณเฉพาะตัวของบรมครูชาวต่างชาติ แต่แยกขาดจากภาษาของเขาอย่างสิ้นเชิง...

ต่อจากนี้เราจะไปไหน? เราเห็นร่วมในทัศนะดังกล่าวและปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นหรือเปล่า? เห็นได้ชัดว่า ผลงานยุคโบราณถูกแปลออกมาในแบบนี้น้อยมาก และคนสมัยใหม่ส่วนใหญ่ ซึ่งท้อใจกับความยากของการแปลที่แท้จริง มักพึงพอใจแค่การเลียนแบบหรือการถอดความ ใครสามารถอ้างได้ว่า มีผลงานคลาสสิกหรือภาษาเยอรมันชิ้นไหนบ้างที่เคยถูก แปล เป็นภาษาฝรั่งเศส? แต่แม้ว่าเราชาวเยอรมันอาจพอใจฟังคำแนะนำนี้มากก็ตาม เราก็คงไม่ปฏิบัติตาม

ความจำเป็นซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนในภารกิจอันแปลกประหลาดของชนชาติเรา ผลักดันให้พวกเราจำนวนมากทำงานแปล เราไม่สามารถถอยกลับและต้องก้าวต่อไป เช่นเดียวกับที่ผืนดินของเราน่าจะรุ่มรวยและอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งภูมิอากาศของเราคงสดชื่นยิ่งขึ้น หลังจากนำพืชพรรณต่างชาติเข้ามาปลูกมากขึ้น ฉันใดฉันนั้น เราย่อมรู้สึกว่าภาษาของเรา ซึ่งเราฝึกปรือกันน้อยลงเพราะความเฉื่อยชาตามแบบชาวยุโรปเหนือ มันคงงอกงามและคลี่คลายพลังที่สมบูรณ์แบบออกมาได้ โดยอาศัยการปะทะสังสรรค์กับสิ่งที่เป็นต่างชาติอย่างหลากหลายที่สุดเท่านั้น ในขณะเดียวกัน

ดูเหมือนชนชาติเราจะถูกสาปเพราะความเคารพที่มีต่ออะไรก็ตามที่เป็นต่างด้าว และเพราะความนิยมในการทำตัวเป็นสื่อกลาง ทำให้เราเข้าแบกรับเอาขุมทรัพย์ของศิลปะและวิชาการต่างชาติ รวมทั้งขุมทรัพย์ของตัวเองในภาษาของตัวเอง เพื่อนำมาผนึกประสานกันในองค์รวมทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งจะได้เก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยในใจกลางของยุโรป บัดนี้ ด้วยความช่วยเหลือของภาษาของเรา ทุก ๆ คนจึงได้ชื่นชมขุมทรัพย์จากต่างยุคต่างสมัยอย่างบริสุทธิ์เที่ยงแท้เท่าที่เป็นไปได้สำหรับชาวต่างชาติ นี่แหละที่น่าจะเป็นเป้าหมายทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของการแปล ดังที่มันกลายเป็นลักษณะประจำชนชาติเราไปแล้ว...

 

+++++++++++++++++
ฟรีดริช ชไลเออร์มาเคอร์ (Friedrich Schleiermacher) (1768-1834) ชาวเยอรมัน ชไลเออร์มาเคอร์ศึกษาเทววิทยาและเป็นศาสตราจารย์ทางด้านเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินเมื่อปี ค.ศ. 1810 จนตลอดชั่วชีวิต เขาสอนวิชาเทววิทยา การวิจารณ์ การตีความ (hermeneutics) ประวัติปรัชญา จริยศาสตร์และวิภาษวิธี เขามีความสนใจเป็นพิเศษในการสร้างระบบปรัชญาเกี่ยวกับวัฒนธรรม และบทบาทของภาษาในวัฒนธรรม เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งเทววิทยาของนิกายโปรเตสแตนท์สมัยใหม่

(1) ชไลเออร์มาเคอร์อ่านความเรียงทางวิชาการในหัวข้อ "Methoden des ?bersetzens" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1813 ณ Royal Academy of Sciences ในกรุงเบอร์ลิน ตีพิมพ์ซ้ำใน Friedrich Schleiermachers s?mmtliche Werke, Dritte Abtheilung: Zur Philosophie , vol. 2 (Berlin: Reimer, 1938), pp. 207-45.

(2) ชไลเออร์มาเคอร์คงหมายถึงภาษาละตินที่เคยใช้เป็นภาษากลางระหว่างชนชาติต่าง ๆ ในยุโรปในยุคกลาง (ผู้แปล)

(3) โปรดอย่าลืมว่าชไลเออร์มาเคอร์เป็นนักปราชญ์ในต้นศตวรรษที่ 19! แต่แม้ว่าปัจจุบันเราอาจสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาด้วยกระบวนการทางเคมีเทียมได้ก็ตาม แต่การสร้างความคิดจำลองขึ้นมาอย่างที่ชไลเออร์มาเคอร์บรรยายไว้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร (ผู้แปล)

(4) แต่ในชั่วรุ่นถัดมา หลังจากที่ชไลเออร์มาเคอร์เสียชีวิตไปแล้ว โจเซฟ คอนราดกลายเป็นตัวอย่างหักล้างความคิดนี้อย่างสิ้นเชิง! กระนั้นก็ตาม ตัวอย่างแบบนี้มีน้อยอย่างยิ่ง (ผู้แปล)


โดย ภัควดี / เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2546 14:24:52 น.

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H

เรามักได้ยินเสียงบ่นว่า การแปลแบบนี้สร้างผลเสียต่อความบริสุทธิ์ของภาษา และความงอกงามของภาษาภายในชาติ แม้เราจะเก็บเสียงบ่นนี้ไว้เสียก่อน โดยปลอบใจตัวเองว่า... ปัญญาย่อมอยู่ตรงที่รู้จักตักตวงเอาสิ่งที่ดีออกมาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และขจัดสิ่งที่แย่ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับภารกิจอันยากลำบากในการนำเสนอสิ่งที่เป็นต่างด้าวในภาษาประจำชาติของตนเอง...

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

หากพิจารณาถึงเป้าหมายสุดท้ายของแต่ละวิธี หน้าที่ของล่ามอยู่ในโลกของธุรกิจ ส่วนหน้าที่ของนักแปลที่แท้จริงอยู่ในด้านวิชาการและศิลปะ หากท่านใดเห็นว่าคำนิยามนี้ใช้ตามอำเภอใจ โดยถือตามความเข้าใจทั่วไปว่า ล่ามหมายถึงการถ่ายทอดระหว่างภาษาด้วยปาก และการแปลคือการถ่ายทอดทางลายลักษณ์อักษร ข้าพเจ้าก็ต้องขออภัยที่ใช้คำสองคำนี้ เพราะมันยังใช้ได้ดีในกรณีนี้และคำนิยามทั้งสองแบบก็ยังไม่แตกต่างกันจนเกินไป การเขียนเหมาะกับงานวิชาการและศิลปะ เพราะการเขียนทำให้ผลงานดำรงคงทน การถ่ายทอดผลงานวิชาการและศิลปะด้วยปากย่อมไร้ประโยชน์พอ ๆ กับที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในการติดต่อทางธุรกิจ การเขียนเป็นแค่เครื่องมือที่เหมือนอุปกรณ์อย่างหนึ่ง

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด