บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 560 หัวเรื่อง
บทอ่านการเมืองและวัฒนธรรม
โดย
: นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ ม.เที่ยงคืน
บทความบริการฟรีสำหรับนักศึกษา
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทอ่านการเมือง-วัฒนธรรม
การเมืองและวัฒนธรรมไทยรายสัปดาห์
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ:
บทความทางวิชาการชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว
ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และรายสัปดาห์ ประกอบด้วย
๑. ระเบิดนโยบาย, ๒. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม, ๓. ลามกอนาจาร
เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๔ เมษายน ๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10 หน้ากระดาษ A4)
๑.
ระเบิดนโยบาย
(จากมติชนรายวัน /๑๑ เมษายน ๔๘)
ระเบิดที่สงขลามุ่งหมายจะระเบิดอะไร?
คำตอบที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ ระเบิดนโยบายสมานฉันท์ของท่านนายกรัฐมนตรี
โดยกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์เนื่องจากการเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้
แม้จะเห็นพ้องต้องกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องชี้นิ้วไปยังคนกลุ่มเดียวกัน เพราะกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ดังกล่าวมีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม มีทฤษฎีอย่างน้อยสองอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทฤษฎีแรกเป็นสิ่งที่คนภาคใต้เคยชิน ได้แก่ กลุ่มที่เป็นอำนาจรัฐ-ข้าราชการ, ทหาร, ตำรวจ, รวมถึงพ่อค้าวาณิชทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่เข้าถึงอำนาจรัฐส่วนนี้ - ซึ่งเคยได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางฉ้อฉลจากความไม่สงบและนโยบายปราบปรามอย่างรุนแรง ร่วมกันก่อวินาศกรรมเพื่อให้รัฐบาลเปลี่ยนกลับนโยบายไปเป็นแบบเดิม
อีกความเห็นหนึ่งซึ่งน่าจะรวมอยู่ในทฤษฎีเดียวกันคือ เป็นการกระทำของซีไอเอ
ทฤษฎีที่สองคือ กลุ่มที่ก่อความไม่สงบในภาคใต้เวลานี้ และโดยที่ไม่มีข้อมูลละเอียดลึกซึ้งไปกว่าคนอื่น ผมมีอคติที่จะเชื่อทฤษฎีที่สอง จึงขออธิบายทฤษฎีนี้อย่างยืดยาวสักหน่อย
นโยบายสมานฉันท์คือการเปิดเกมรุกทางการเมือง เพราะน่าจะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัด มิติทางการเมือง(ในท้องถิ่น) เป็นมิติที่กลุ่มก่อความไม่สงบอ่อนแอที่สุด เห็นได้ชัดว่าตลอดเวลาที่ผ่านมากว่าปี กลุ่มก่อความไม่สงบแทบจะไม่ได้ใส่ใจกับมิตินี้เอาเลย พวกเขาก่อความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หรือเป็นเหตุนำความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาให้แก่ประชากร ซึ่งพวกเขาเองมุ่งหวังจะให้เป็นประชากรของรัฐใหม่ที่เขามุ่งจะสร้างให้เกิดขึ้น(ไม่ว่าจะเป็นรัฐเอกราชหรือรัฐในสหพันธรัฐไทย)
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การดำเนินงานของกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่มุ่งแสวงหามิตรและไม่ได้มิตรจากประชาชนทั่วไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมลายูมุสลิมหรือไม่ใช่ก็ตาม ทั้งๆ ที่ประชาชนเหล่านั้นไม่พอใจรัฐไทยในหลายเรื่องอยู่แล้ว
เพราะยุทธศาสตร์สำคัญที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อแยกดินแดนหลายต่อหลายกลุ่มเห็นพ้องและร่วมมือกันในครั้งนี้ก็คือ การใช้ความรุนแรงเพื่อดึงให้รัฐไทยตอบโต้ด้วยความรุนแรงเหมือนกันหรือยิ่งกว่า ด้วยความหวังว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของรัฐไทย จะดึงให้เกิดการแทรกแซง(ในระดับต่างๆ) จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมุสลิมด้วยกันหรือสหประชาชาติ แรงกดดันจากต่างประเทศนี่แหละที่จะทำให้รัฐไทยต้องยอมอ่อนข้อ นับตั้งแต่เปิดการเจรจาอย่างเท่าเทียมกัน ไปจนถึงยอมให้อิสรภาพแก่สามจังหวัดภาคใต้ในระดับใดระดับหนึ่ง
และในหนึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่มก่อความไม่สงบประสบความสำเร็จในการล่อหลอกให้รัฐไทยตอบโต้ตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ตลอดมา อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว ผมคิดว่ายุทธศาสตร์นี้ไม่มีทางนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ สถานะของไทยในการเมืองระหว่างประเทศแข็งแกร่งเกินกว่าจะนำไปสู่จุดหมายดังกล่าวได้
และด้วยเหตุดังนั้น นโยบายสมานฉันท์จึงคุกคามกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างยิ่ง ผมเดาว่าการวางระเบิดที่สงขลาคือการขยายความรุนแรงจากสามจังหวัดภาคใต้ เข้าไปสู่ส่วนอื่นของประเทศไทย จุดมุ่งหมายของการกระทำนี้คือการสร้างความเจ็บแค้นให้สังคมไทย มากพอที่จะทำให้คนไทยพากันกดดันรัฐบาลให้กลับไปใช้ความรุนแรงตอบโต้อย่างเดิม
น่าสังเกตด้วยว่า จุดที่วางระเบิดทั้งสามจุดในสงขลานั้นล้วนมุ่งหมายต่อความปลอดภัยของชีวิต เพราะล้วนเป็นที่ "ประชุมชน" ทั้งสิ้น แตกต่างจากการวางระเบิดเพื่อแสดงอำนาจและศักยภาพ เช่น ระเบิดศูนย์โทรคมนาคม, ชุมสายใหญ่ของไฟฟ้า, สถานีโทรทัศน์หรือวิทยุ, หรือแม้แต่คลังแสงของทหาร ฯลฯ
ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุสองประการ หนึ่ง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีศักยภาพทำได้เพียงแค่นี้ เอาระเบิดไปวางในที่พลุกพล่านของสนามบิน(หน้าเคาน์เตอร์สายการบินซึ่งผู้คนต้องเข้ามาเช็คอิน) ในถังขยะภายนอกห้างสรรพสินค้า และภายนอกอาคารโรงแรม ทั้งหมดนี้ไม่ต้องอาศัยพลังของการจัดองค์กรหรือการจัดตั้งมากนัก
เหตุประการที่สองก็คือ การก่อวินาศกรรมนอกพื้นที่สามจังหวัดขัดกับยุทธศาสตร์ของผู้ก่อความไม่สงบโดยตรง เพราะจะทำให้นานาประเทศมองเห็นภาพของฝ่ายตนเป็น "ผู้ก่อการร้าย" อย่างชัดเจน กลายเป็น "ความชอบธรรม" ให้แก่การใช้ความรุนแรงของรัฐในสายตานานาชาติไปโดยปริยาย(อย่างที่สหรัฐกระทำอยู่) การกระทำในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อยั่วยุ ไม่ใช่การเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทั้งหมด
สองเหตุนี้คือเหตุผลที่ทำให้กว่าปีที่ผ่านมา ความรุนแรงไม่เคยขยายออกมานอกพื้นที่สามจังหวัด(ยกเว้นบางส่วนของชนบทสงขลาตอนล่าง) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ของซินน์ เฟนและไออาร์เอ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ
(ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับท่านนายกฯ ชวน หลีกภัย เลย ที่เรียกร้องให้ กอ.สสส.จชต. ขยายพื้นที่ปฏิบัติงานมาคลุมสงขลาและสตูลด้วย)
หากถามว่า ยุทธวิธียั่วยุเช่นนี้กลุ่มก่อความไม่สงบจะกระทำต่อไปหรือไม่? ผมคิดว่าอาจเป็นได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าพวกเขามีศักยภาพที่จะปฏิบัติการเช่นนี้ได้ไม่มากนัก และถ้ามีการเฝ้าระมัดระวังกันอย่างเข้มงวดมากขึ้นแล้ว การปฏิบัติการจะทำได้ยากขึ้น จนในที่สุดก็ต้องปฏิบัติการในที่ "ประชุมชน" ซึ่งไม่ถูกตรวจตราระมัดระวังเพียงพอ เช่น ตลาดสด, โรงภาพยนตร์, ป้ายรถเมล์, สถานีบ.ข.ส., หรือโรงเรียนอนุบาล
แต่ยิ่งมีการปฏิบัติการเช่นนี้มากเท่าไร ยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มก่อความไม่สงบก็จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น เช่น หากมีการวางระเบิดโรงเรียนอนุบาลที่ใดที่หนึ่งขึ้น มีเด็กบาดเจ็บล้มตาย ภาพเหตุการณ์ซึ่งกระจายไปทั่วโลกยิ่งจะทำให้จุดมุ่งหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบในอันที่จะดึงการแทรกแซงจากนานาประเทศเป็นไปไม่ได้มากขึ้น
ด้วยอคติความเชื่อทฤษฎีที่สองนี้เอง
ที่ทำให้ผมอยากเชียร์คนสองกลุ่ม
กลุ่มแรกคือรัฐบาล โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่เขียนบทความนี้(6
เมษายน) ปฏิกิริยาของท่านนายกฯต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความสุขุมนุ่มนวล
ท่านให้สัมภาษณ์ว่าท่านขอประณามผู้ก่อเหตุการณ์ โดยไม่ได้ระบุว่าผู้ก่อเหตุการณ์เป็นใคร
เพราะยังไม่รู้ชัดด้วยพยานหลักฐาน ในขณะเดียวกันท่านก็ไม่ลุแก่โทสะ ประกาศการตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบด้วยนโยบายตาต่อตา
ฟันต่อฟัน อย่างที่เคยเป็นมา
เพราะท่าทีอันสุขุมรอบคอบของท่านนายกฯ ราชการจึงตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างที่ควรเป็น ได้แก่ การเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเป้าหมายถูกโจมตีได้ ไม่เฉพาะในภาคใต้ แต่ทั่วประเทศ อันที่จริงราชการฝ่ายที่มีประสบการณ์กับการก่อวินาศกรรมในลักษณะมุ่งทำร้ายชีวิตผู้คนเช่นนี้ ยังสามารถประมวลประสบการณ์ของตนออกมาเป็นคำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไปได้ด้วย เช่น ควรปฏิบัติอย่างไรในกรณีที่พบเห็นสิ่งผิดปกติ เพื่อทำให้ตนเองและคนอื่นได้รับความปลอดภัย ส่วนการจับตัวคนร้ายนั้นยังสำคัญเป็นรอง เพราะสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ในช่วงนี้ คือการช่วยกันรักษาความปลอดภัยของกันและกันไว้ก่อนเป็นเบื้องแรก
กลุ่มที่สองคือสังคมไทยเอง จนถึงวันนี้ สังคมไทยก็ยังรับรู้ข่าวด้วยอาการสงบ ไม่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะตอบโต้ฝ่ายก่อการด้วยความรุนแรง(แบบเอาระเบิดไปปูพรมมันเลย) ไม่มีใครจัดเดินขบวนแสดงความรักชาติแบบบ้าบิ่น สังคมที่สงบ มีสติและใช้ปัญญาเช่นนี้ เป็นฐานรองรับนโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลได้อย่างดี
ตราบจนถึงวันนี้ นโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลและสังคมไทยยังแข็งแรงดี ไม่ว่าผู้วางระเบิดจะเป็นกลุ่มใดในสองทฤษฎี พวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จที่จะบ่อนทำลายนโยบายสร้างสรรค์อันนี้ไปได้ การเปิดพื้นที่ทางการเมืองรุกเข้าไปสู่มิติที่อ่อนแอที่สุดของฝ่ายก่อความไม่สงบยังสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องหันกลับไปใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงอีก หรือยิ่งไม่จำเป็นจะเปิดให้มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงด้วยนโยบายประกาศสงครามกับการก่อการร้ายสากล
น่าเสียใจที่กลุ่มเดียวซึ่งกระเหี้ยนกระหือรือที่สุดในการตกเป็นเหยื่อของการยั่วยุครั้งนี้คือ สื่อ ไม่ว่าจะดูจากสำนวนที่ใช้หรือแม้แต่คำถามนำที่ผู้สื่อข่าวป้อนให้แก่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผมได้แต่หวังว่าทั้งรัฐบาลไทยและสังคมไทยจะไม่ตกเป็นเหยื่อแก่ธุรกิจสื่อ ซึ่งมองเห็นความรุนแรงเป็นสินค้าบันเทิงอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น
๒. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
(มติชนสุดสัปดาห์ / ๘ เมษายน ๔๘)
แม้เมืองไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง แต่แบบเรียนไม่ถือเป็นลักษณะสำคัญที่จะแนะนำให้เด็กไทยรู้จักนัก
ทว่าในชีวิตจริง ไม่ว่าจะถูกสั่งสอนในโรงเรียนมาอย่างไร คนไทยก็ได้เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่เต็มตาตลอด
เพียงแต่ว่าคำสอนจากโรงเรียนทำให้คนไทยมองความแตกต่างนี้ว่าเป็นความเพี้ยน
หรือการแปรเปลี่ยนของวัฒนธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกันเท่านั้น
เรียกให้ฟังขลังๆ ว่า "อนุวัฒนธรรม" เป็นแค่เมียน้อยของวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่ใช้กันในคนบางกลุ่มบางเหล่า แต่ก็ยังร่วมสังกัดในครอบครัววัฒนธรรมกระแสหลักนั่นเอง
เมื่อผมเป็นเด็ก มีเพื่อนคนหนึ่งเขาไปเที่ยวอีสานมา แล้วกลับมาบอกผมว่าคนอีสานพูดภาษาไทยไม่ชัด นั่นคือภาษาลาวถูกถือเป็นภาษาไทยที่บิดเบี้ยวไป ไม่ใช่ภาษาถิ่นต่างหาก อีกภาษาหนึ่ง เหมือนกับภาษากรุงเทพฯ ก็เป็นภาษาถิ่นอีกภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาไทย
การกลืนความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนี้เริ่มจะแค้นคอมากขึ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับ "ชาวเขา" หรือชาวเขมร (สูง) และกูยในอีสานล่าง, หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในตระกูลภาษาไทย แต่จะถือว่ารัฐไทยโชคดีก็ได้ เพราะความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมช่วงนี้ โผล่มาพร้อมกันกับการท่องเที่ยว หรืออาจเป็นไปได้ด้วยว่าการท่องเที่ยวนั่นแหละที่ไปดึงเอาความหลากหลายแตกต่างเหล่านี้ให้ปรากฏขึ้นในสังคม
สังคมไทยยอมรับอย่างไม่ยากนักว่า ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นความมั่งคั่ง... แหะๆ ก็มีบางคนได้เงินจากการเอาชาวเขามาเต้นระบำให้ดูจริงๆ นี่ครับ...
พูดกันอย่างไม่ประชดก็คือ เป็นการยอมรับปลอมๆ เพราะไม่ได้ยอมรับแบบให้เกียรติให้คุณค่า (ไม่ใช่ให้มูลค่า) แก่วัฒนธรรมที่แตกต่าง ในขณะที่ชื่นชมกับการแข่งรถไม้ลงภูเขาของชาวม้ง, หรือการเต้นรำฉลองของชาวอาข่า หรือการเล่นดนตรีประกอบ "ทา" ของชาวกะเหรี่ยง แต่เราไม่ยอมรับวิถีชีวิตที่เป็นจริงของเขา เรามองการทำไร่หมุนเวียนของเขาเท่ากับการทำไร่เลื่อนลอย จึงบีบบังคับให้เขาหยุดด้วยการทำไร่บนพื้นที่กรรมสิทธิ์เฉพาะบุคคล เหมือนกับวิชาทำไร่ของพวกเราชาวพื้นราบ เรากวาดต้อนชาวม้งจำนวนมากมาอยู่ในค่ายกักกันบนพื้นราบ โดยไม่ใส่ใจกับการจัดองค์กรทางสังคมของเขา หรือช่องทางทำมาหากินที่เขารู้จักและชำนาญ
แม้แต่การละเล่นและการเต้นรำของเขาก็ถูกเราดัดแปลงให้เหมาะกับการเป็นมหรสพ เพื่อขายนักท่องเที่ยว
ความตระหนักในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยจึงแปลกๆ อยู่ เพราะเป็นการนำเอาวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายนั้นมาอยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมเดียว ไม่ใช่วัฒนธรรม "ไทย" นะครับ แต่อยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมพานิชยนิยมต่างหาก (รวมทั้งวัฒนธรรม "ไทย" เองก็ถูกนำไปอยู่ใต้ร่มเดียวกันด้วย อยากดูโขนหรือครับ โน่น โรงแรมห้าดาวเขาจัดแสดง "โขนเคล้าข้าว" ให้แขกของเขาได้ชมทุกมื้ออาหารเย็นแหละ)
สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ครั้งนี้ นำเอาความแตกต่างทางวัฒนธรรมในสังคมไทยให้ปรากฏขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ เอาไปขายให้นักท่องเที่ยวไม่ได้ ซ้ำปรากฏตัวในรูปของความ "ไม่ไทย" อย่างชัดเจน อันที่จริงออกจะมีความระแวงสงสัยคำว่า "ไทย" ที่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อแต่ไม่ชัดเจนด้วย
ถ้า "ไทย" แปลว่าพุทธ ชาวมลายูในภาคใต้ประกาศชัดเจนว่าเขาไม่ใช่ ถ้า "ไทย" แปลว่าต้องพูดไทยได้ อ่านภาษาไทยออก ดูโขนเป็น หรือนุ่งโจงกระเบน แล้วร้องเพลงไทย (เดิม) เขาก็ทำไม่เป็นและคงไม่อยากทำด้วย เพราะเขายังอยากเป็นมลายูเหมือนเดิม
"ไทย" ในเงื่อนไขเดียวที่เขารับได้ก็คือความเป็นพลเมืองของรัฐที่เรียกตัวเองว่าไทย และพึงได้รับสิทธิทุกอย่างตามที่รัฐธรรมนูญของประเทศนี้กำหนดไว้ให้แก่พลเมืองของตัว
เวลาคนไทยทั่วๆ ไปพูดถึง "ไทย" ไม่ชัดว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ฉะนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่าคำขวัญประเภท "รักกันไว้ เราไทยด้วยกัน" ในทัศนะของชาวมลายูในภาคใต้ ปลุกความสามัคคีหรือความแตกแยกกันแน่
ความเป็นมลายูอย่างที่เขาเป็น ซึ่ง "ไม่ไทย" และเอาไปขายนักท่องเที่ยวไม่ได้ จึงเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างซึ่งชาติไทย (และคนไทยอื่นๆ) ต้องกลืนลงไปให้ได้ ถ้าอยากรักษาความเป็นประชาชาติไทยของเราไว้
นักวิชาการจำนวนมากชี้ประเด็นความอิหลักอิเหลื่อทางวัฒนธรรมตรงนี้ออกมา หลายคนเสนอว่าควรปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา (ซึ่งต้องหมายรวมถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชนด้วยไม่ใช่เฉพาะห้องเรียน) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนไทยว่า คนที่แตกต่างจากเราทางวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิงนั้น ก็มีสิทธิในชาติเท่าเทียมกับเรา
วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายล้วนมีรากเหง้าฝังลึกอยู่ในแผ่นดินนี้ พัฒนาคลี่คลายมาตามลำดับ มีความลุ่มลึกและมีปัญญาญาณอันลึกซึ้งอยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ ทั้งสิ้น และนี่คือความ "มั่งคั่ง" ที่แท้จริงของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพราะจะเอาไปขายใครได้ แต่เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมให้ทางเลือกที่หลากหลายแก่สังคมไปพร้อมกัน
เช่นในขณะที่กลไกทางวัฒนธรรมที่ช่วยพยุงให้คนจนพออยู่ได้ในวัฒนธรรมไทยเสื่อมสลายไปเกือบหมดเช่นนี้ เราอาจเรียนรู้และปรับใช้กลไกทำนองเดียวกันนี้ซึ่งยังค่อนข้างมีชีวิตชีวาอยู่ในสังคมมลายูมุสลิมได้ การจัดการศึกษาที่ทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการควบคุมโรงเรียนระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวตาม พ.ร.บ.การศึกษา (ซึ่งกำลังถูกทำให้เป็นหมันอยู่เวลานี้) เราอาจเรียนรู้การจัดการตาดีกาและปอเนาะในชุมชนมลายูมุสลิม ซึ่งทำให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่างชาวบ้านและโต๊ะครูได้
นี่แหละครับคือความมั่งคั่งที่แท้จริงของความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ถ้าเกิด "สำนึก" ใหม่ในสังคมไทยอย่างที่นักวิชาการผลักดันอยู่เวลานี้ ก็ต้องถือว่าเป็นก้าวที่สร้างสรรค์อย่างสำคัญเพราะ เราจะเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมอันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างไม่ต้องยกตนข่มท่านอย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการปลูกฝัง "สำนึก" ใหม่ผ่านการศึกษา (ในความหมายกว้างกว่าโรงเรียน) ผมคิดว่ายังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกมิติหนึ่งซึ่งสังคมไทยน่าจะเรียนรู้ไปด้วย
น่าสังเกตนะครับว่า ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พูดถึงกันมากในสังคมไทย ไม่ว่าจะมองว่าเป็นปัญหาหรือมองว่าเป็นพลังก็ตาม ล้วนเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีการยกขึ้นมาให้ความสำคัญอยู่เวลานี้ แม้ในวงวิชาการเอง ก็เป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์...มอญ, เขมร, กุย, เจ๊ก, และมลายู
แต่ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งวงชีวิตของแต่ละคนต้องเข้าไปสัมพันธ์กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่กว้างขวางทั้งสิ้น ทำให้เราต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้โดยไม่สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างอีกหลายอย่าง ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราทุกคนเผชิญอยู่ก็ได้ครับ วัฒนธรรมเกย์ไงครับ
เรามักจะนึกถึงความแตกต่างของเกย์เพียงด้านเดียวคือรสนิยมทางกามารมณ์ แต่จะเป็นเพราะรสนิยมนี้ไม่เป็นที่ยอมรับหรือเพราะอะไรก็ตาม มันไปมีผลต่อระบบความสัมพันธ์ของเขากับมนุษย์คนอื่นด้วย นั่นก็คือทำให้เขาอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้เหมือนกับคนอื่น และผมเรียกว่าวัฒนธรรมเกย์
ตราบเท่าที่เราไม่เข้าใจ หรืออย่างน้อยมีใจที่ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของเขา ก็ยากที่เราจะยอมรับเกย์อย่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเราได้ ทำนองเดียวกับการไม่ยอมรับให้กะเหรี่ยงเป็นกะเหรี่ยง, เย้าเป็นเย้า, มลายูเป็นมลายูแหละครับ ผลก็คือ เกย์ถูกรังเกียจ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือแม้แต่ถูกรังแกในรูปแบบต่างๆ ไม่มีใครมีความสุขเลย เกย์ก็ไม่มีความสุข คนอื่นก็ไม่มีความสุข (ยกเว้นนักจิตวิทยาที่หากินกับการหลอกลวงคนอื่นว่าสามารถรักษาเกย์ได้)
ถ้ามองให้กว้างไปกว่าเกย์ ยังมี "อนุวัฒนธรรม" ที่คนไทยไม่ยอมทำความเข้าใจในแง่นี้อีกเยอะแยะนะครับ ผู้ติดเชื้อ, ชาวสลัม, คนเร่ร่อน, ขอทาน, เด็กเร่ร่อน, คนติดยา, หาบเร่, ซาเล้ง, หรือแม้แต่กรรมกร, ชาวนา, พระ, วัยรุ่น, นักศึกษา, อาชีวะ, กะปี๋, โชเฟอร์สิบล้อ ฯลฯ แล้วก็ได้ผลอย่างเดียวกันกับเกย์ คือไม่มีความสุขสักฝ่ายเดียว แม้แต่จะแก้ไขอะไรที่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคมก็ทำไม่ได้
ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีเพียงสองสถาบันที่ให้ความสนใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้อย่างจริงจัง
สถาบันแรก คือศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาหรือส่งเสริมให้ผู้ศึกษาได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ
"อนุวัฒนธรรม" เหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานประเภท
"บุกเบิก" ที่มีนัยะสำคัญทั้งสิ้น
อีกสถาบันหนึ่งคือ "การตลาด" ของพ่อค้าครับ ความรู้เกี่ยวกับ "อนุวัฒนธรรม" เหล่านี้ ทำให้พ่อค้าวางสินค้าได้ตรงเป้า ลงทุนกับการตลาดน้อยลงเมื่อเทียบกับผลกำไรที่ได้คืนมา สรุปง่ายๆ ก็คือ หาความรู้และมีความรู้เพื่อเอาไปทำกำไร เพราะเป็นคุณค่าของความรู้เพียงอย่างเดียวที่พ่อค้ารู้จัก... แต่ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับไม่มี
คราวนี้สังคมไทยก็ต้องเลือกเอาเองล่ะครับว่า อยากให้การสร้างสรรค์ความรู้ในสังคมของเรานั้นควรทำเพื่ออะไร
๓. ลามกอนาจาร
(มติชนสุดสัปดาห์ / ๑ เมษายน ๔๘)
วันหนึ่ง อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม มาตั้งข้อสังเกตกับผมว่า ภาพเปลือยในศิลปะประเพณีของเอเชียคือภาพการร่วมเพศ
(ระหว่างสองเพศหรือเพศเดียวกันก็ตาม) ในขณะที่ภาพเปลือยของศิลปะประเพณีตะวันตกคือภาพผู้หญิงคนเดียวหรือหมู่
เออ จริงแฮะ ผมเพิ่งสำนึกได้ ไม่ว่าจีน, ญี่ปุ่น, ไทย, เปอร์เซีย ฯลฯ ล้วนมีภาพ "อย่างว่า" ทั้งนั้น แต่ไม่มีภาพสรีระเปลือยเปล่ายั่วยวนของผู้หญิงโดดๆ เลย
ผมประทับใจกับความรู้ใหม่นี้มาก แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะเอาไปทำความเข้าใจกับอะไรได้อีกบ้าง ใจกลับไปหวนคิดถึงภาพ "อย่างว่า" ซึ่งปรากฏในผนังโบสถ์วิหารของไทย แต่เป็นภาพประเภทที่เขาเรียกว่า "ภาพกาก" คือซุกอยู่ตามเชิงหรือมุมที่ไม่ชิงสายตาของใคร นอกจากตาที่สัปดนจะค้นหา
ภาพเหล่านี้ไม่มีอารมณ์ "อุจาด" หรือ "อนาจาร" แม้บางภาพจะเห็นอะไรต่อมิอะไรโล่งโจ้งแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากอารมณ์ตลกหรือทะลึ่งกลบอารมณ์อื่นไปหมด ชัดเจนว่าไม่เจตนาจะก่อกำหนัดแก่ผู้พบเห็น
ผมไม่รู้ว่าจะเปรียบกับภาพตามฝาผนังห้องน้ำได้หรือไม่ เพราะบางภาพของฝาผนังห้องน้ำคงสนองกำหนัดของผู้เขียนเอง ในขณะที่ไม่ชัดว่าภาพเขียนฝาผนังตามโบสถ์วิหารสนองกำหนัดของผู้เขียน
เพราะมันไม่ "อุจาด" หรือ "อนาจาร" ใช่ไหม ที่ทำให้มันเข้าไปอยู่ในโบสถ์วิหารได้ เพราะถ้าใครขืนไปทำอย่างนั้นจริงๆ ในโบสถ์วิหาร ทุกคนก็เห็นว่า "อุจาด" หรือ "อนาจาร" ทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ใครทำอย่างนั้นในห้องนอนสองต่อสอง ก็ไม่มีใครคิดว่า "อุจาด" หรือ "อนาจาร"
แสดงว่าความคิดเรื่องอุจาดหรือลามกอนาจารในวัฒนธรรมไทยนั้นสัมพันธ์กับพื้นที่และการกระทำ โบสถ์วิหารเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงห้ามการกระทำบางอย่างที่ไม่เหมาะกับพื้นที่เช่นนั้น ใครขืนทำก็ถือว่าอุบาทว์ (เช่นเด็กรุ่นผมจะได้ยินเรื่อง "ติดกัน" จนต้องห้ามส่งโรงพยาบาลทั้งคู่มาบ่อยมาก)
แต่ตัวภาพ "อย่างว่า" ไม่ใช่ แม้เป็นการกระทำอย่างเดียวกัน ก็ไม่ถือว่าอุบาทว์แต่อย่างใด
ผมอยากเดาว่า แต่เดิมมาความคิดเรื่องอุจาด, อนาจาร, หรือลามก ของสังคมอื่นๆ ก็คงหมายถึงการกระทำและพื้นที่เหมือนกับในวัฒนธรรมไทย แต่ความคิดว่ามีวัสดุอื่นๆ นอกการกระทำและพื้นที่ ซึ่งอาจลามกอนาจารหรืออุจาดได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่เกี่ยวกับการกระทำหรือพื้นที่เลย เช่นภาพ, เสียง, ภาพยนตร์ หรือวัตถุ เป็นต้น เป็นความคิดใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในระยะหลัง
อย่างที่เราปราบปรามภาพยนตร์ "ลามก", หนังสือ "ลามก", อุปกรณ์ "ลามก", ภาพ "ลามก" กันอยู่ในทุกวันนี้ คนในสมัยอยุธยาน่าจะไม่เข้าใจ เพราะทั้งหมดเหล่านี้คนอยุธยาคงคิดว่าจะ "ลามก" หรือไม่ขึ้นอยู่กับคนทำ, ทำอย่างไร, ทำที่ไหน ฯลฯ มากกว่า ไม่มีอะไร "ลามก" ในตัวของมันเองอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน
แน่นอนว่า สังคมไทยก็เอาคติ "อุจาด", "อนาจาร", "ลามก" แบบที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลและพื้นที่นี้มาจากสังคมอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย และสังคมที่ไทยรับเอาคตินี้มาน่าจะเป็นสังคมฝรั่ง เพราะสังคมเอเชียไม่ได้มีอคติอย่างนี้เหมือนกับที่ไทยไม่มีเหมือนกัน
เวลาฝรั่งจะอธิบาย obscenity ฝรั่งอธิบายยากมาก โดยไม่เอามันไปเกาะกับวัสดุอะไรอื่น เช่นสิ่งพิมพ์ที่ obscene หรืออุจาด-ลามกอนาจาร ทั้งนี้ เพราะคำนิยามว่าลามกอนาจารนั้นไม่เคยชัดเจน ขึ้นอยู่กับทัศนคติของยุคสมัยซึ่งวัดไม่ได้ เช่นศาลสูงของสหรัฐนิยามหนังสือโป๊ว่าคือหนังสือที่บรรยายเรื่อง "อย่างว่า" โดย "ปราศจากคุณค่าทางสังคม, วิทยาศาสตร์, ศิลปะ หรือวรรณศิลป์" อย่างสิ้นเชิง คำใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลยนะครับ แต่กว่าจะยอมรับว่าแปลว่าอะไรคงเถียงกันตาย
อันที่จริงสังคมฝรั่งเองก็ไม่เคยคิดถึง obscenity ในรูปของวัสดุที่แยกออกมาโดดๆ มาก่อน คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสสมัยกลางว่า obscenus แล้วก็เดาว่าคำฝรั่งเศสนี้จะสัมพันธ์กับคำละติน caenum, cenum แปลว่าสกปรกเลอะเทอะเท่านั้น
ทำให้ผมนึกถึงคำว่า "ลามก" ในภาษาบาลี มีความหมายว่าเลวทราม, ชั่วช้า ส่วน "อนาจาร" แปลว่าไม่ (ควร) ประพฤติ ดูจากรากศัพท์แล้ว ทั้งฝรั่งและไทยก็คิดเหมือนกันว่าต้องสัมพันธ์กับการกระทำของคน ไม่ใช่คุณลักษณะเฉพาะของวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใด
อังกฤษไม่เคยมีกฎหมายห้ามสิ่งพิมพ์ "ลามกอนาจาร" เลย แต่ห้ามสิ่งพิมพ์ที่ต่อต้านศาสนาและสิ่งพิมพ์กบฏ จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศาลจึงเริ่มพิพากษาลงโทษการผลิตสิ่งที่ถือว่าลามกอนาจารเป็นครั้งแรก แต่ต้องใช้เวลาอีกร้อยปี ต่อมาคือกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ช่วงที่เจ้าชายเมืองไทยพากันไปเรียนหนังสือทื่นั่นพดี) จึงเริ่มมีกฎหมายลงโทษผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ลามกอนาจารตรงๆ)
ผมเลยเพลินกับการเปิดพจนานุกรมที่อยู่ใกล้มือ
คำว่า "ลามก" ไม่มีในพจนานุกรมภาษาไทยดำ-ก็ไม่น่าแปลกใจนักนะครับ เพราะเป็นคำบาลีซึ่งไทยดำไม่เคยยืมไปใช้ เช่นเดียวกับภาษาเขมรถิ่นไทย ก็ไม่มีคำนี้ ที่น่าแปลกกว่าคือ ไม่มีในพจนานุกรมศัพท์ล้านนาเฉพาะคำที่ปรากฏในใบลาน แม้ว่าคนล้านนารู้จักบาลีดีไม่น้อยไปกว่าหรือน่าจะดีกว่าคนภาคกลางด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้ยืมคำนี้จากบาลีมาใช้เช่นเดียวกับคำไทยถิ่นใต้ก็ไม่มี
พจนานุกรมภาษามลายูของอ๊อกซ์ฟอร์ดแปลคำ obscene ว่า lucah ไปดูคำแปลในพจนานุกรมของ KBSM (คล้ายราชบัณฑิตยสภาบ้านเรา) ให้ไว้ว่า ไม่รู้จักอาย ไม่เหมาะสม คำเดียวกันนี้พจนานุกรมภาษาอินโดนีเซียสะกดแบบเดิมว่า lutjas (หรือ lucas ในปัจจุบัน) แปลว่าผิดหรือบกพร่อง
น่าสนใจนะครับที่เมื่อไรภาษาในเอเชียต้องแปลคำว่า obscene ก็จะไปดึงเอาคำเก่าที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเกี่ยวกับกระทำของบุคคลมาเป็นคำแปล ตรงกับทฤษฎีของผมที่ว่า สิ่งที่อุจาดหรือลามกอนาจารของเอเชียนั้น คือการกระทำของบุคคลในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสมหรือต้องห้าม ไม่ใช่คุณลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ติดกับภาพ, เสียง, หรือวัสดุอุปกรณ์ใดๆ
ผมไม่ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนะเกี่ยวกับอุจาดหรือลามกอนาจารจากการกระทำที่ติดพื้นที่ มาเป็นคุณลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดดๆ นั้นก่อให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคมไทย ที่พอจะทราบแน่ก็คือ ถ้าถือว่าการร่วมเพศเป็นเรื่องลามกอนาจารอันไม่ควรกล่าวถึงในที่สาธารณะ ส่วนหนึ่งของศิลปกรรมตามแบบประเพณีของไทยก็กลายเป็นเรื่องลามกอนาจารไป
ภาพกากตามฝาผนังโบสถ์วิหารนั้นก็อย่างหนึ่ง ผมเคยเห็นไกด์กิตติมศักดิ์บางคนเลี่ยงๆ ที่จะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้พบเห็น เพราะเห็นว่าน่าอาย ครูที่สอนวรรณคดีไทยของผมเลี่ยงที่จะอ่านบทอัศจรรย์ในชั้นเรียน บางท่านก็บอกนักเรียนให้กลับไปอ่านเอาเอง บางท่านก็ยิ้มอายๆ แล้วบอกว่าตรงนี้ขอข้ามไป
เรื่องอย่างนี้มักจะขาดไม่ได้ในการเล่นเพลงปฏิพากย์ของชาวบ้าน แต่ลำตัด, เพลงฉ่อย, เพลงอีแซว ฯลฯ ที่นำมาออกทีวีกลับไม่กล้าเล่น หรือถูกห้ามเล่น แม้แต่ลำตัดที่ผู้ดีจ้างให้ไปเล่นในงานเลี้ยงของตัว ยังต้องขอโทษแขกเหรื่อกันหลายยก กว่าจะเล่นบทอย่างนี้สักที หมดอารมณ์ หมดบรรยากาศของการดูลำตัด แม้แต่แห่นางแมวก็ไม่มีการหามอวัยวะเพศชายไปในกระบวนเสียแล้ว (ไม่มีเรื่องนี้ แล้วฝนจะตกได้อย่างไร)
ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนไม่ถือว่าอุจาดหรือลามกอนาจารในวัฒนธรรมเดิมทั้งสิ้น เพราะเป็นการกระทำในพื้นที่ซึ่งถือว่าต้องกระทำตามประเพณีบ้างหรือตามขนบทางศิลปะบ้าง
อย่างที่กล่าวแล้วแหละครับว่า ลากมอนาจารขึ้นอยู่กับว่าการกระทำนั้นๆ ทำอยู่ในพื้นที่อะไร หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ทำถูกกาละเทศะหรือไม่ หาได้ขึ้นอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดดๆ ไม่ ในขณะที่เราถือคติลามกอนาจารคล้ายฝรั่ง แต่เราพัฒนานิยามของคำนี้น้อยกว่าฝรั่งแยะ ทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่เป็น "ตำรวจศีลธรรม" ทั้งหลาย ยึดมาตรฐานลามกอนาจารที่ตายตัวเกินไปจนยากที่ใครจะทำงานทางศิลปะทางด้านนี้ออกมาได้ ถึงมีคนทำก็ไม่มีสิ่งใดกล้ารองรับ
แม้แต่คุณค่าในเชิงวิชาการก็ยังอาจไม่ราบรื่นด้วย เช่น ความพยายามจะผลักดันให้มีการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนไม่เคยประสบความสำเร็จ ครั้งล่าสุดเป็นการผลักดันของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งก็ไม่กล้าทำอย่างแข็งขันนักเหมือนกัน ผมก็เดาไม่ถูกว่าในที่สุดแล้วจะลงเอยอย่างไร
บางคนพูดว่าคนไทย "หน้าไหว้หลังหลอก" กับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งผมก็ยอมรับว่าจริง แต่ที่เราเป็นอย่างนี้อาจเป็นเพราะ "หลัง" ของเรามันไม่จริงกระมัง นั่นก็คือ "หลัง" ของเราเคยถือคติลามกอนาจารมาอย่างหนึ่ง แต่มาเปลี่ยนเป็นลามกอนาจารแบบฝรั่ง หน้าของเราจึงต้อง "ไหว้" ไปเรื่อยๆ เพราะหาพื้นฐานที่เป็นจริงข้าง "หลัง" ไม่ได้... ฝรั่งก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีเพียงสองสถาบัน
ที่ให้ความสนใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้อย่างจริงจัง สถาบันแรก คือศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาหรือส่งเสริมให้ผู้ศึกษาได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ
"อนุวัฒนธรรม" เหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานประเภท
"บุกเบิก" ที่มีนัยะ
สำคัญทั้งสิ้น อีกสถาบันหนึ่งคือ "การตลาด" ของพ่อค้าครับ เพื่อทำกำไร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
เวลาฝรั่งจะอธิบาย obscenity ฝรั่งอธิบายยากมาก โดยไม่เอามันไปเกาะกับวัสดุอะไรอื่น เช่นสิ่งพิมพ์ที่ obscene หรืออุจาด-ลามกอนาจาร ทั้งนี้ เพราะคำนิยามว่าลามกอนาจารนั้นไม่เคยชัดเจน ขึ้นอยู่กับทัศนคติของยุคสมัยซึ่งวัดไม่ได้ เช่นศาลสูงของสหรัฐนิยามหนังสือโป๊ว่าคือหนังสือที่บรรยายเรื่อง "อย่างว่า" โดย "ปราศจากคุณค่าทางสังคม, วิทยาศาสตร์, ศิลปะ หรือวรรณศิลป์" อย่างสิ้นเชิง อันที่จริงสังคมฝรั่งเองก็ไม่เคยคิดถึง obscenity ในรูปของวัสดุที่แยกออกมาโดดๆ มาก่อน คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสสมัยกลางว่า obscenus แล้วก็เดาว่าคำฝรั่งเศสนี้จะสัมพันธ์กับคำละติน caenum, cenum แปลว่าสกปรกเลอะเทอะเท่านั้น