บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 555 หัวเรื่อง
รวมบทความการเมืองและเศรษฐกิจ
ที่เคยตีพิมพ์แล้วใน นสพ.
โดย
: นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมบทความของนิธิ
จากสิ่งพิมพ์
สมานฉันท์
ปักษ์ใต้ และน้ำมันดีเซล
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมผลงานที่เคยตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้ของ ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
1. สมานฉันท์กับสังคมไทย : จาก มติชน วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2548
2. ปักษ์ใต้บ้านเรา : จากมติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548
3. ความสามารถทางการเมือง : จากมติชน วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10 หน้ากระดาษ A4)
1. สมานฉันท์กับสังคมไทย
มติชน วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2548
รายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย ดังที่ท่านนายกฯพูดเองว่ามีความหลากหลาย อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของทุกฝ่ายที่ใส่ใจกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
แม้จะมีความแตกต่างกันในด้านการตีความเหตุการณ์และแนวทางแก้ปัญหา แต่เมื่อมีโอกาสนั่งลงอย่างเสมอภาคในคณะกรรมการ ก็คงทำให้ความแตกต่างดังกล่าวกลายเป็นจุดแข็ง นำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายในสังคมพอจะรับได้
แต่สิ่งที่น่ายินดีเสียกว่าการมีคณะกรรมการสมานฉันท์คือ บรรยากาศสมานฉันท์ ซึ่งมองเห็นได้ชัดขึ้นในสังคมเวลานี้ โดยเฉพาะท่าทีของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ยอมรับข้อเสนอของท่านประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่าความรุนแรงไม่อาจตอบโต้ด้วยความรุนแรงได้
วันรุ่งขึ้นหลังจากลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ ท่านนายกฯก็ประกาศจะใช้เงิน 30 ล้านบาท เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีตากใบ แต่เงินอย่างเดียวไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ได้ เหตุฉะนั้นท่านจึงสัญญาว่าจะเปิดเผยผลการสอบสวนกรณีตากใบ ในขณะเดียวกันก็สั่งให้ข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่ใช้ความนุ่มนวลกับราษฎรมากขึ้น
นี่เป็นสัญญาณสำคัญที่หัวหน้ารัฐบาลน่าจะส่งอย่างชัดเจนและแข็งขัน หากยังไม่เกิดผลก็จำเป็นต้องส่งสัญญาณให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อให้ข้าราชการในพื้นที่เข้าใจอย่างไม่มีทางคลาดเคลื่อนได้ว่า รัฐบาลได้เปลี่ยนนโยบายไปสู่แนวทางสมานฉันท์อย่างแท้จริงแล้ว
การเปิดเผยผลการสอบสวนทั้งกรณีกรือเซะและตากใบ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสมานฉันท์ เพราะสมานฉันท์(ถ้าเป็นคำบาลีแบบไทย) ก็น่าจะแปลว่าร่วมใจรักกัน จะร่วมใจรักกันได้ก็ต้องยอมให้อภัยแก่ความผิดพลาดที่แล้วมาของอีกฝ่ายหนึ่ง
การให้อภัยเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เริ่มจากการเปิดเผยความผิดพลาดของทุกฝ่ายอย่างไม่อำพราง เพราะรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งสำนึกว่าได้ทำผิดไปแล้ว จึงสามารถให้อภัยแก่เขาได้ ยิ่งกว่านี้ สมานฉันท์ยังต้องการพื้นฐานบางอย่างที่จะทำให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย และตรงนี้คณะกรรมการสมานฉันท์อาจมีส่วนช่วยให้สังคมไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่เอื้อต่อความสมานฉันท์ในพื้นที่ภาคใต้ได้มากทีเดียว
ความสมานฉันท์ไม่ว่าในสังคมใด หรือระหว่างกลุ่มใดๆ ในโลกนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียม(disparity) แต่เราไม่จำเป็นต้องมองความเหลื่อมล้ำในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกันเสมอไป อมรรตยะ เซน กล่าวว่า มีโอกาสหรือสิทธิ(ซึ่งเขาเรียกว่า entitlement) พื้นฐานสี่อย่างที่ชีวิตของทุกคนต้องการ
นั่นก็คือ มีโอกาสได้รับอาหารเพียงพอแก่การดำรงชีพ, ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน, ได้รับการศึกษาพออ่านออกเขียนได้และมีงานทำ, เข้าถึงสื่อและสามารถมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะได้
ฉะนั้นความเหลื่อมล้ำที่เกิดแก่ประชาชนในภาคใต้จึงมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งมักถูกตีความอย่างผิวเผินเพียงแค่รวย-จน แต่รวมถึงสิ่งอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างที่เซนพูดถึงด้วย
เช่นส่วนใหญ่ของประชากรอ่านออกเขียนได้ แต่การศึกษาของเขากลับไม่นำไปสู่การมีงานทำ(การจ้างงาน) เพราะระบบการจ้างงานไม่เปิดให้แก่ระบบการศึกษาแบบของเขา อันที่จริงชุมชนมลายูมุสลิมในภาคใต้ เป็นชุมชนเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศไทยที่สามารถจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลานได้ทั่วถึง(universal) โดยผ่านตาดีกาและปอเนาะ เป็นประสบการณ์ที่ชุมชนไทยในที่อื่นๆ ในประเทศน่าจะเรียนรู้ด้วยซ้ำ
หรือความไร้อำนาจทางการเมือง(ดังกรณีตากใบ) คือไร้สิทธิในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะนั่นเอง ก็เป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากเสียกว่ามีรายได้น้อย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเหลื่อมล้ำด้าน "อำนาจ" กีดขวางความสมานฉันท์เสียยิ่งกว่าความ "ยากจน" (ไม่มีเงินหรือมีเงินน้อย)
หนึ่งในภารกิจของคณะกรรมการสมานฉันท์ดังที่ท่านประธานได้ให้สัมภาษณ์ไว้ คือการวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูล ก็หวังว่าจะมีการศึกษาวิจัย เพื่อรู้สภาพที่เป็นจริงของสิทธิพื้นฐานสี่ประการดังที่กล่าว ของประชาชนในภาคใต้ด้วย (ถ้าใช้สำนวนของพระราชดำรัสตามความเข้าใจของผู้เขียน entitlement หรือสิทธิ-โอกาสดังกล่าวนี้ คือการ "เข้าถึง" นั่นเอง) และอะไรที่กีดขวางมิให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิ-โอกาสเหล่านี้ จะขจัดสิ่งที่กีดขวางนั้นได้อย่างไร
ผู้เขียนเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำนี่เองที่เป็นต้นเหตุสำคัญของสถานการณ์รุนแรงต่างๆ กลุ่มที่เป็นหัวหอกในการต่อสู้เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ เลือกใช้วิธีรุนแรงซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ต้องการร่วมมือด้วย แม้ว่ากลุ่มดังกล่าวใช้ศาสนาของคนส่วนใหญ่เป็นอุดมการณ์ก็ตาม
อันที่จริงผู้เขียนต้องการจะกล่าวด้วยซ้ำว่า อุดมการณ์ศาสนาซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงทั้งหลายใช้ในการเคลื่อนไหวของตน(ทั้งโลก)นั้น ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง แต่อาศัยศาสนาเป็นเครื่องมือหรืออุดมการณ์สนับสนุนความรุนแรงที่ตนเลือกมาเป็นยุทธวิธีเท่านั้น ผู้เขียนจึงหวังว่าคณะกรรมการสมานฉันท์จะไม่หลงประเด็นว่าความขัดแย้งในภาคใต้เป็นเรื่องของศาสนา(อย่างที่มักมีผู้กล่าวถึงเสมอ)
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับมุสลิม ไม่เกี่ยวกับอิสลาม แต่เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำของพลเมืองไทยซึ่งเป็นชาวมลายู และนับถือศาสนาอิสลามต่างหาก
ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการสมานฉันท์จึงเป็นพื้นที่ทางการเมือง นั่นก็คือเปิดให้การต่อสู้เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำสามารถทำได้ในทางการเมือง เพราะไม่มีความเหลื่อมล้ำใดๆ ในโลกนี้ถูกขจัดได้จากการอุปถัมภ์หรือสงเคราะห์ของคนอื่น การขจัดความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นจากการมีพลังอำนาจ(empowerment) ในทุกทาง นับตั้งแต่พลังอำนาจในการต่อรองกับตลาด(สหกรณ์, การผลิตโดยฐานชุมชน, วิสาหกิจชุมชน, สวนสมรม ฯลฯ) ต่อรองกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง, ต่อรองกับระบบการศึกษา, ต่อรองกับ ส.ส., ต่อรองกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและ อบต., ต่อรองกับโต๊ะครูและอิหม่าม, ต่อรองกับบริษัทธุรกิจ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือพื้นที่ "ทางการเมือง" ซึ่งรัฐจะต้องให้หลักประกันว่า พื้นที่ทางการเมืองของเขาจะมีอิสระเสรีและความปลอดภัย
ในทางปฏิบัติ จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนก็คือยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่เพิ่มประสิทธิภาพแม้แก่นโยบายปราบปรามด้วยความรุนแรงเลย
2. ปักษ์ใต้บ้านเรา
มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548
ทําไมคนใต้จึงไม่เลือกพรรคไทยรักไทย
?
มีคนตอบคำถามนี้แยะพอสมควร แต่คำตอบกลับเป็นแนวเดียวกัน นั่นก็คือคนใต้รักประชาธิปัตย์สุดใจขาดดิ้น
เพราะเลือกกันมากว่าสามทศวรรษแล้ว ประชาธิปัตย์เป็นพรรคท้องถิ่นของปักษ์ใต้
คนใต้ไม่เอาใครนอกจากคนใต้ด้วยกัน คำตอบทั้งหมดนี้ ในทัศนะของผม เถียงได้ทั้งนั้น
แต่จะไม่เถียงล่ะครับ
ด้วยเหตุใดแน่ผมก็ไม่ทราบ ผมมีเพื่อนเป็นคนใต้แยะมาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนใต้ ไม่เคยเรียนหนังสือในภาคใต้ และไม่เคยใช้ชีวิตในภาคใต้ ผมอยากเดาในเชิงยกย่องตนเองและคนใต้ไปพร้อมกันว่า คงเป็นเพราะเราพูดอะไรตรงๆ เหมือนกัน จนต่างฝ่ายต่างไม่รู้สึกสะเทือนใจต่อคำพูดของกันและกันเลย ดังนั้น ผมจึงอยากร่วมเดาคำตอบให้แก่คำถามข้างต้นบ้าง จากแง่มุมของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ด้วยถือว่าเป็นคนหนึ่งที่รู้จักคนใต้ดี
ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติ ผมคิดว่าปักษ์ใต้มีประสบการณ์ที่แตกต่างจากคนในภาคอื่นๆ ของไทยอย่างมาก คนใต้เองชอบพูดว่า ในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ปักษ์ใต้เป็นอิสระจากส่วนกลางค่อนข้างมาก เพราะอยู่ห่างไกล ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะตรงกันข้ามทะเลในปลายอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ คือทางด่วนพิเศษที่ทำให้เมืองหลวงในภาคกลางติดต่อกับภาคใต้ได้ใกล้ชิดกว่าภาคอื่นทั้งหมด จนกระทั่งเอาเข้าจริงแล้ว เราแยกวัฒนธรรมของภาคใต้กับภาคกลางออกจากกันแทบไม่ได้
ศิลปะการแสดง, คำในภาษา, วรรณกรรม, ประเพณีในชีวิต, ไปจนถึงแม้แต่อาหารของภาคใต้และภาคกลางนั้นร่วมรากเหง้าอันเดียวกัน (ผมไม่ใช้คำว่าหยิบยืมกันและกันด้วยซ้ำ) ฉะนั้น จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความแตกต่างฉาบอยู่ที่ผิวเท่านั้น)
จนผมชอบพูดสิ่งที่เพื่อนคนใต้ไม่ชอบฟังเสมอว่า ในขณะที่เรามีคนเหนือและคนอีสาน แต่เราไม่มีคนใต้หรอก เพราะคนใต้คือคนภาคกลางที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ (หรือกลับกันคนภาคกลางคือคนใต้ที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใกล้ชิดสนิทสนมกันแค่ไหน ในรัฐสมัยโบราณอย่างอยุธยาและตันรัตนโกสินทร์ รัฐไม่มีความจำเป็นหรือสมรรรถภาพที่จะควบคุมหัวเมืองใกล้ชิดนัก คงปล่อยให้ปกครองดูแลกันเองในเกือบทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะหัวเมืองในภาคใต้ แต่หัวเมืองในภาคอื่นๆ แม้แต่ในส่วนในของราชอาณาจักร เช่น พิษณุโลก เพชรบูรณ์, ฯลฯ ก็เป็นอิสระจากเมืองหลวงเหมือนๆ กัน
คิดง่ายๆ อย่างนี้ก็แล้วกันว่า รัฐบาลเพิ่งเก็บค่านาจากราษฎรเกินลพบุรีขึ้นไปถึงนครสวรรค์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง แล้วจะไปพูดอะไรถึงนครฯ สงขลา โคราช สุโขทัย หรือกุดลิง (วานรนิวาศ)
มีหลักฐานที่ส่อว่า จากเพชรบุรีลงไปเป็นที่หลบซ่อนของไพร่หนีนายและโจรไพร่ ไปตั้งซ่องหรือชุมชนอิสระขึ้นเยอะแยะ สภาพเช่นนี้ยังพบได้จนถึงเมื่อรวมศูนย์การปกครองใน ร.5 แล้ว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ภาคใต้ถูกผนวกเข้ามาสู่รัฐสมัยใหม่แตกต่างจากภาคอื่นๆ อย่างสำคัญ นั่นก็คือ ในขณะที่กรุงเทพฯ สถาปนาความเป็นศูนย์กลางของตนเองในทางการเมืองการปกครอง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมลงได้ในภาคอื่นๆ ทั้งหมด กรุงเทพฯ ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ในภาคใต้ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นธรรมดาที่ย่อมจะบ่อนทำลายความเป็นศูนย์กลางด้านอื่นของกรุงเทพฯ ให้อ่อนแอลงไปด้วย)
เพราะพืชเศรษฐกิจที่เข้ามาในช่วงนั้นของปักษ์ใต้คือยางพาราและดีบุก ต่างไม่ได้ส่งออกผ่านกรุงเทพฯ ทั้งตลาด, การกำหนดราคา, ข้อมูลข่าวสาร, หรือแม้แต่เทคโนโลยี ล้วนอยู่ที่ปีนังและสิงคโปร์ทั้งสิ้น แม้แต่ข้าวซึ่งมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกในภาคใต้เอง ก็ไม่ได้ส่งเข้ากรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งขายในภาคใต้เองและอีกส่วนหนึ่งส่งออกโดยตรง
ชาวบ้านที่ปลูกยางมองไปที่เถ้าแก่รับซื้อยาง ในขณะที่เถ้าแก่มองไปที่ปีนังและสิงคโปร์ เกิดกลุ่ม "ชนชั้นนำ" ใหม่ซึ่งไม่ได้ผูกพันกับระบอบใหม่ที่เกิดในกรุงเทพฯ กลุ่มคนนอกที่เป็นข้าราชการเสียอีกกลับถูกเรียกว่า "นาย" แม้เป็นคำยกย่อง แต่ก็เท่ากับกีดกันไว้ให้เป็นคนนอกตลอดไป
ฉะนั้น ภาษา "ต่างประเทศ" ที่สำคัญของชนชั้นนำใหม่จึงไม่ใช่ภาษากรุงเทพฯ แต่เป็นภาษาจีนหรืออังกฤษ เพราะต้องฟังการขึ้นลงของราคายางและดีบุกให้ได้ทุกวัน ผมเดาว่าในยุคเริ่มต้นวิทยุ คนใต้ครอบครองวิทยุต่อหัวสูงสุดในประเทศไทย เพราะเป็นเครื่องมือที่จะใช้แข่งขันกันในการรับซื้อยางและดีบุก และต้องฟังเป็นภาษาจีนหรืออังกฤษเท่านั้นด้วย
จากความจำเป็นด้านการค้า ก็ดึงไปสู่วัฒนธรรม ชนชั้นนำใหม่ของปักษ์ใต้ต้องส่งลูกหลานไปเรียนปีนัง เพราะนอกจากจะได้ภาษาแล้ว ยังได้และรักษาสายสัมพันธ์ (ทางเครือญาติหรือทางการค้าก็ตาม) กับตลาดสำหรับไว้สืบทอดธุรกิจของตระกูลต่อไปด้วย
แน่นอนว่าพลังของศูนย์กลางนอกประเทศเหล่านี้ย่อมมีต่อพื้นที่ต่างๆ ในปักษ์ใต้ไม่เหมือนกัน และมีต่อกลุ่มคนไม่เท่ากัน เช่น ทางฝั่งตะวันตกซึ่งชีวิตของผู้คนผูกพันอยู่กับการทำแร่มาก ก็จะถูกดึงมากเป็นธรรมดา เช่นว่ากันว่าคนภูเก็ตแต่ก่อนไม่ได้มองขึ้นเหนือเอาเลยตลอดชีวิต เพราะทุกอย่างในชีวิตของเขาอยู่ทางใต้ตลอด
กระบวนการที่ปักษ์ใต้ถูกผนวกเข้ามาสู่รัฐรวมศูนย์จึงเป็นเรื่องของการเมืองเท่านั้น (ซ้ำยังสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการเมืองระหว่างประเทศเสียอีก) ในขณะที่ศูนย์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกลับไปอยู่ที่อื่น ทำให้เกิดความต่างอีกอย่างหนึ่งแก่ปักษ์ใต้เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ อันมีนัยยะสำคัญเสียด้วยก็คือ
เมืองหรือชุมชนเมืองที่เกิดในปักษ์ใต้ในช่วงนั้น (และจะขยายตัวกลายเป็นเมืองใหญ่ อันเป็นที่สิงสถิตของชนชั้นนำในท้องถิ่นต่อมา) เป็นชุมชนที่โตมา "นอก" รัฐสยาม จริงอยู่หรอกครับหาดใหญ่โตมาได้เพราะเป็นชุมทางรถไฟซึ่งสยามไปสร้างขึ้นไว้ แต่ชุมทางรถไฟอย่างเดียวไม่พอจะอธิบายการเติบโตของหาดใหญ่ได้ หากเพราะหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราต่างหาก ที่ทำให้หาดใหญ่กลายเป็น "ชุมทาง" ของเศรษฐกิจปักษ์ใต้
เพราะชุมชนเมืองในปักษ์ใต้โตมา "นอกรัฐ" ผู้นำชุมชนจึงไม่วิ่งเข้าหารัฐ (เช่น ส่วนใหญ่ของบรรพบุรุษที่นามสกุล ณ ไอ้โน่น ณ ไอ้นี่) ตรงกันข้ามรัฐเองกลับเป็นฝ่ายวิ่งเข้าไปหาเขา ไม่ว่าจะเป็นนายเหมือง, นายหัว, พ่อค้าใหญ่ หรือหัวหน้าอั้งยี่ รัฐก็แต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์หมด
ลองเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ของภาคอื่นๆ สิครับ จะเห็นว่าเมืองเหล่านั้นเติบโตขึ้นก็เพราะเป็นนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางของมณฑลเทศาภิบาล หรือเพราะเป็นที่ตั้งของกองทหารส่วนกลาง หรือเป็นที่รวบรวมข้าวส่งกรุงเทพฯ
อีกข้อหนึ่งที่ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยก็คือ ในเขตชนบทของไทย เคยมีกลไกสำหรับการดูแลกันเองโดยพึ่งรัฐน้อยมาแต่โบราณ ครั้นเกิดการขยายตัวของรัฐส่วนกลางนับตั้งแต่ ร.5 เป็นต้นมา กลไกดังกล่าวนี้ถูกทำลายลงหรือกลับต้องพึ่งพิงรัฐมากขึ้น (เช่น แก่ฝ่าย, แก่วัด, แก่บ้าน ฯลฯ ในภาคเหนือ หมดบทบาทไป ในขณะที่กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเกิดใหม่กลายเป็นคนของรัฐมากขึ้นจนหมดตัว)
แต่ในปักษ์ใต้บ้านเราไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ กลไกดังกล่าวยังอยู่ต่อมาอีกนาน (แต่อยู่ได้อย่างไรผมก็ไม่ค่อยกระจ่างนัก) เพื่อนชาวใต้ที่ไปรับราชการ มอ. ตั้งแต่แรกเปิดเคยเล่าให้ฟังว่า วิทยาเขตหาดใหญ่สมัยนั้นอยู่ใต้อิทธิพลของกำนันคนดังคนหนึ่ง คนงานจำนวนมากเป็นคนที่กำนันเอามาฝาก และหากมหาวิทยาลัยมีปัญหากับชาวบ้านโดยรอบ หรือแม้กับคนงานของมหาวิทยาลัยเอง วิธีจัดการที่ดีที่สุดคือไปคุยกับกำนัน นั่นมันหลัง 2500 มาแล้วนะครับ และ มอ. ก็อยู่ชานเมืองหาดใหญ่แค่นั้นเอง
ผมอยากเดาส่งว่าลักษณะการตั้งถิ่นฐานของคนใต้เป็นลักษณะกระจายหรือที่เรียกว่า homestead ไม่เป็นกลุ่มก้อนหรือ cluster เหมือนคนภาคกลางและอีสาน ทำให้กลไกสำหรับการดูแลความสงบเรียบร้อยต้องแข็งมากกว่า ในขณะที่แต่ละครอบครัวก็ต้องดูแลปกป้องตนเองมากกว่า
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปักษ์ใต้เป็นภาคที่เข้าสู่เกษตรเชิงพาณิชย์ก่อนและกว้างขวางกว่าภาคอื่น ซ้ำเข้าไปก่อนที่รัฐส่วนกลางจะเข้มแข็งเสียอีก "ระเบียบใหม่" ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับการผลิตแบบใหม่นี้เป็นสิ่งที่คนใต้ต้องพัฒนาขึ้นเอง ไม่ได้ออกแบบและสร้างขึ้นจากส่วนกลาง (เช่น สิทธิในการเก็บขี้ยางย่อมเป็นของคนรับจ้างตัดยาง ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เป็นกฎหมายประเพณีที่ยอมรับกันทั่วไป ไม่งั้นเดี๋ยวพ่อตีทัดดอกไม้มันเสียนี่)
ผมคิดว่าโดยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้คนใต้ไม่ไว้วางใจรัฐ แม้แต่รัฐที่ชอบแจก และไม่ค่อยมองรัฐเป็นที่พึ่งในชีวิตของตัวนัก ชอบรัฐที่ตัวคุมได้ แม้จะคุมกันแบบชาวบ้านๆ เช่น ด่าแม่งมันบ้าง, ทำเซ่อบ้าง, ยิงหัวมันบ้าง, อ้างรัฐธรรรมนูญบ้าง, ฯลฯ
ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างก็ตาม แต่ก็ทำให้คนใต้ถูกรัฐมองว่าหัวแข็ง, หัวหมอ, ดุ, ดื้อ, ฯลฯ ซึ่งที่จริงล้วนเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ขาดไม่ได้ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั้งนั้น
โดยพื้นฐานทางวัฒนธรรมอย่างนี้แหละครับ พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนที่เหมาะเหม็งของรัฐในอุดมคติของชาวใต้เลย ชวนเชื่องช้าซึ่งเป็นที่รังเกียจของคนภาคอื่นนั่นแหละครับ ตรงกับที่คนใต้ต้องการเลย งุ่มง่ามๆ ก็ดีแล้ว จะได้ควบคุมได้ทัน
ข้างในของพรรคเองก็ค่อนข้างเละเป็นวุ้น แม้แต่ ส.ส. ในภาคใต้เองยังแบ่งออกเป็นหลายก๊กหลายแก๊ง คุณชวนซึ่งคนใต้รักนักรักหนาเองก็หาได้มีกำลังจะไปควบคุมก๊กแก๊งเหล่านี้ได้จริง แต่เพราะเละอย่างนี้แหละที่ตรงกับความต้องการของคนใต้ ไปเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลก็ดี จะได้รัฐที่ไม่เด็ดขาด, รัฐแหยๆ ที่ต่อรองได้ ถึงอย่างไรคนใต้ก็เคยชินที่จะไม่หวังพึ่งรัฐบาลอยู่แล้วนี่ครับ
ทำไมไทยรักไทยจึงพ่ายแพ้ในปักษ์ใต้ก็พอจะมองเห็นแล้วนะครับ ก็ไทยรักไทยนั้นมีมโนภาพที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากรัฐในอุดมคติของคนใต้ หัวหน้าพรรคคนเดียวมีอำนาจเด็ดขาดคุมได้ทุกก๊กทุกแก๊ง มี ส.ส.ทรท. ในพื้นที่จึงไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย พลังของหมอนั่นในการต่อรองกับหัวหน้าพรรคน่าจะน้อยกว่าใบปลิวเสียอีก ในขณะที่ชาวบ้านสามารถคุมใบปลิวได้เต็มร้อยด้วย เพราะเขียนเองกับมือ แจกเองกับมือ
ยิ่งสัญญาว่าจะเข้ามาทำโน่นทำนี่ นับตั้งแต่สอนการเลี้ยงลูกไปจนถึงคุมการตายให้เสร็จ ยิ่งน่ากลัวสำหรับคนใต้ คำสัญญาของผู้อุปถัมภ์นั่นแหละครับน่าระแวง เพราะแสดงว่าจะเข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตของคนใต้มากขึ้น จึงไม่เลือก ทรท. ไม่ใช่เพราะคนใต้รวยแล้ว แต่คนใต้กลัวรัฐอุปถัมภ์ต่างหาก
3. ความสามารถทางการเมือง
มติชน วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548
หลังจากเกร็งมานาน
ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอย่างก้าวกระโดด
ทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินใจครั้งนี้โดยดี ผู้ใช้รถดีเซลสรรเสริญว่าดีแล้วที่ขึ้นพรวดเดียวสามบาท
ดีกว่าขยักขึ้นทีละน้อย เข้าใจว่าเพราะผู้ใช้รถดีเซลก็อยากคำนวณต้นทุนของตัวได้เหมือนคนในเศรษฐกิจทันสมัยทั่วไป
พ่อค้าไม่บ่นอะไร เพราะถึงอย่างไรก็ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้อยู่แล้ว ซ้ำยังอาจผลักได้มากกว่าราคาน้ำมันด้วยซ้ำ
ส่วนผู้บริโภคก็ยอมรับว่าสินค้าอุปโภคบริโภคต้องขึ้นราคา ถึงไม่ยอมรับก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะตัวเป็นฝ่ายอ่อนแอทางการเมืองที่สุด ทางออกมีอยู่ทางเดียวคือกินใช้ให้น้อยลงเท่านั้น
รัฐบาลคงประหลาดใจ เพราะไม่รู้ว่าจะเกร็งทำไมอยู่ตั้งหลายเดือน ทั้งนักวิชาการและแม้แต่นักอุตสาหกรรมก็เคยเรียกร้องให้ขึ้นราคาน้ำมันดีเซลมานานแล้ว การอุดหนุนราคามีแต่จะเป็นผลร้ายในระยะยาว แต่รัฐบาลก็ไม่มีกึ๋นพอจะขึ้น เพราะใกล้เลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เมื่อขึ้นแล้วกลับได้รับความนิยมยกย่อง รู้งี้ขึ้นไปตั้งนานแล้ว
อันที่จริงในบรรดานักการเมืองไทยทั้งหมดในช่วงหลังๆ มานี้ ผมไม่คิดว่าจะมีใครที่มี "ความสามารถทางการเมือง" เกินหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สักคนเดียว "ความสามารถทางการเมือง" ที่ผมหมายถึง ไม่ได้แปลว่ามี ส.ส.ในสังกัดมากเพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญแก่ประเทศชาติที่สุดก็คือ สามารถแสวงหาความเห็นชอบกับนโยบายจากประชาชนได้กว้างขวาง โดยไม่ต้องฆ่าตัดตอน, ยัดทะนานผู้ต้องหาลงจีเอมซีเหมือนหมูเหมือนหมา, อุ้มฆ่า, คุมสื่อ, หรือมอมเมาประชาชนด้วยอบายมุขและของชำร่วย
แต่ก็เหมือนนักการเมืองไทยคนอื่นๆ ท่านกลับใช้ความสามารถนี้ไม่เต็มที่ หรือใช้ไปในทางเพิ่มคะแนนนิยมตัวท่านและพรรคของท่านมากกว่าเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของบ้านเมือง
เช่นเมื่อขึ้นราคาน้ำมัน ท่านก็ยอมรับว่าย่อมกระทบต่อจีดีพีบ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมากและมีผลเฉพาะในไตรมาสแรกเท่านั้น เหมือนซีอีโอของบริษัทปลอบใจผู้ถือหุ้นว่ากระทบต่อ "ผลประกอบการ" ของบริษัทไม่มาก แต่ผลประกอบการของประเทศนั้นมีมากกว่าจีดีพีมากนัก คนป่วยน้อยลง, เรียนหนังสือได้มากขึ้น, คนอดน้อยลง, ชั่วโมงที่รถใต้ดินหยุดวิ่งน้อยลง, สารคดีดีๆ ในโทรทัศน์มีมากขึ้น ฯลฯ ล้วนเป็นผลประกอบการที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าจีดีพีทั้งสิ้น
ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้ผมคิดไปถึง "การแข่งขัน" ทางเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิชาการและนักวางแผนเศรษฐกิจท่องเป็นคาถามานาน โดยไม่ค่อยใส่ใจกับกติกาของ "ลู่" การแข่งขัน เพราะถือง่ายๆ เพียงว่า เราไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงเหลือทางเลือกเพียงว่าเราจะลงหรือไม่ลง "ลู่" เท่านั้น
สมมุติว่าเราเห็นด้วยว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลกเป็นทางรอดทางเดียวของไทย ผมคิดว่าการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลไปจนถึงลอยตัวน้ำมันในที่สุดก็ยังไม่ใช่คำตอบด้านพลังงานอยู่ดี แม้รัฐบาลและพ่อค้าจะมีความเห็นตรงกันว่าราคาน้ำมันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของการแข่งขัน เพราะคู่แข่งของเราก็ต้องจ่ายแพงเหมือนๆ กัน แต่ปัญหาจริงๆ ของราคาพลังงานอยู่ตรงที่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ แม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน อัตราการใช้พลังงานต่อสินค้าหนึ่งหน่วยของไทยสูงมากอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ราคาเท่ากับการประหยัดพลังงาน รัฐบาลทำอะไรในด้านนี้น้อยมาก เพราะมาตรการประหยัดพลังงานมีผลที่จะก่อความไม่พอใจแก่ผู้คนได้มาก รัฐบาลจึงเลือกทำแต่เฉพาะด้านบวก เช่น กันเงินมา 800 ล้านบาท เพื่อช่วยให้โรงงานกู้ไปปรับปรุงด้านพลังงานให้ประหยัดลงด้วยเงื่อนไขการกู้ที่สะดวกสบาย
ถึงแม้มาตรการประหยัดพลังงานนั้นมีทั้งด้านบวกและลบ อันที่จริงทั้งบวกและลบนั้นสัมพันธ์กันด้วย เพราะการเอาเงินของรัฐมาใช้ในด้านบวก ก็คือดึงเอาเงินที่ควรใช้ในด้านอื่นมานั่นเอง ซึ่งเท่ากับบวกด้านนี้แต่ไปลบด้านโน้น และด้วยเหตุดังนั้นรัฐบาลจึงกันเงินเพื่อการนี้ไว้ได้เพียง 800 ล้านบาทต่อปี และไม่มีมาตรการอื่นใดอีกเพื่อทำให้อัตราการใช้พลังงานในการผลิตของอุตสาหกรรมไทยดีขึ้น
รัฐมนตรีบางคนเสนอว่า เมื่อน้ำมันราคาแพง จะทำให้ค่าขนส่งไม่ขึ้นราคาหรือขึ้นไม่มากได้ก็โดยการเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุกเป็น 26 ตัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือดึงเอาทรัพยากรสาธารณะมาชดเชยให้แก่บริษัทขนส่งนั่นเอง การดึงเอาทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวมหรือของประชาชนระดับรากหญ้ามาชดเชยให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันในระดับโลกเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยทำกันเป็นปรกติ เรียกผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมว่าผลประโยชน์ของชาติ
ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลลืมเรื่องลอจิสติกส์ซึ่งเคยพูดกันมากเมื่อปีที่แล้วนี้ไปหรือยัง เวลานี้รถบรรทุกส่วนใหญ่วิ่งรถเปล่าจากกรุงเทพฯ ไปรับสินค้าเพียบมาจากต่างจังหวัด นี่คือเหตุผลที่ถนนสี่เลนสายที่ออกจากกรุงเทพฯ ไม่ค่อยพัง ในขณะที่สายวิ่งเข้ากรุงเทพฯ จะพังจนซ่อมไม่ทัน เพียงแค่ทำให้รถบรรทุกไม่ต้องวิ่งรถเปล่าสักเที่ยวเดียว ค่าขนส่งก็ลดลงไป 50% แล้ว
นี่เป็นเรื่องลอจิสติกส์โดยตรงเลย แต่จะทำให้ได้ผลอย่างนี้ ไม่ใช่ง่าย ต้องใช้ "ความสามารถทางการเมือง" อย่างที่ผมว่าแยะมากทีเดียว เพราะลอจิสติกส์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ลอยๆ โดยไม่สัมพันธ์กับโครงสร้างอุตสาหกรรมและพานิชยกรรมของประเทศ การที่รถบรรทุกวิ่งรถเปล่าไปรับสินค้าจากต่างจังหวัด ก็สะท้อนความบิดเบี้ยวในเชิงโครงสร้างดังกล่าวของประเทศอยู่แล้ว
จะไปแก้อะไรทั้งในเชิงลอจิสติกส์และเชิงโครงสร้าง รัฐบาลจะต้องไปกระแทกไหล่กับอีกหลายกลุ่มในประเทศ ซึ่งต้องใช้ "ความสามารถทางการเมือง" ซึ่งท่านนายกฯ มี แต่ไม่ใช้มากทีเดียว
การดึงเอาทรัพยากรสาธารณะมาใช้เพี่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เป็นวิถีทางเดียวที่นักการเมืองไทยรู้จัก ที่อยากจะออก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ในเวลานี้ จุดมุ่งหมายสรุปลงแล้วก็คือจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชน และอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหมดที่ประชาชนมีอยู่ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไปสังเวยให้แก่ผู้ลงทุนนั่นเอง
ใครๆ ก็ยอมรับว่า เราต้องลงทุนด้านความรู้ให้มากกว่าที่ทำอยู่อีกมากทีเดียว กว่าอุตสาหกรรมไทยจะออกไป "แข่ง" กับคนอื่นได้จริง ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องแข่งเฉพาะในสนาม "รับจ้างทำของ" อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ตลอดไป แต่การท่องคาถาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาร์แอนด์ดี, การสร้างนักวิจัยต่อหัวประชากรให้เพิ่มขึ้น, การเพิ่มปริมาณของนักศึกษาในระดับสูง ฯลฯ ก็จะคงเป็นคาถาตลอดไป ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลได้
เพราะจะมีพ่อค้า "รับจ้างทำของ" ที่ไหนในโลกนี้ที่ต้องการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดี และตราบเท่าที่การ "รับจ้างทำของ" ยังให้กำไรได้อย่างดี และไม่มีกำไรในทางอื่นมาล่อ ก็ไม่มีพ่อค้า "รับจ้างทำของ" ที่ไหนอยากปรับเปลี่ยนกิจการ
ฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่จะสร้างเงื่อนไขที่ทำให้พ่อค้าต้องปรับเปลี่ยน เช่น ทำให้ค่าแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ เพราะส่วนใหญ่ของกำไรของพ่อค้า "รับจ้างทำของ" นั้นมาจากค่าแรงราคาถูก ทำให้ไม่คุ้มที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือเรียกร้องแรงงานคุณภาพมากนัก
แต่ตรงกันข้าม ฝ่ายการเมืองเองนั่นแหละที่มีส่วนช่วยกดค่าแรงเอาไว้ให้ขึ้นได้อย่างช้าๆ ยิ่งไปกว่านี้ยังช่วยต่ออายุแก่อุตสาหกรรมสนธยาทั้งหลายด้วยการนำเข้าแรงงานราคาต่ำกว่าตลาดจากเพื่อนบ้าน(ส่วนหนึ่งของการตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ก็คือเปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาได้อย่างสะดวกมากขึ้น) ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่หากินกับค่าแรงราคาถูกเช่นนี้เข้ามาเปิดโรงงานตามชายแดน
ในแง่การเมือง นี่เป็นความสะดวกเฉพาะหน้า(expediency) มากกว่าผลักดันให้นายทุนปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความรู้มากขึ้น ถ้าคิดให้เลยอะไรที่ "เฉพาะหน้า" ออกไป ความสะดวกตรงนี้ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระยะยาวแต่อย่างไร กลับจะทำให้อุตสาหกรรมไทยไม่ยอมปรับตัว และรางวัลที่รัฐตั้งไว้ให้แก่อาร์แอนด์ดีก็ตาม การพัฒนาฝีมือแรงงานก็ตาม ไม่ดึงดูดนักลงทุนเท่าไร
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เราขาดทั้งความรู้และคนมีความรู้ ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยไม่ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ แต่เป็นเหตุด้านเดียวเท่านั้น อีกด้านหนึ่งก็คือไม่มีเงื่อนไขรูปธรรมอื่นๆ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมอยากปรับตัวเป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้ด้วย
ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้ ฟังดูเหมือนมุ่งจะโจมตีท่านนายกฯ แต่ความจริงเป็นตรงกันข้าม ผมอยากให้กำลังใจมากกว่า เพราะผมยังเห็นด้วยความสุจริตใจว่าท่านนายกฯ เป็นนักการเมืองที่มี "ความสามารถทางการเมือง" จริง ท่านทำให้คนเชื่อถือได้เก่ง ท่านเจรจาต่อรองเก่ง ท่านมีพันธะทางการเมืองน้อยกว่านักการเมืองอื่น ฉะนั้น ท่านจึงสามารถทำสิ่งที่ยากได้ ท่านเป็นนักการเมืองที่อาจปรับเปลี่ยนประเทศถึงระดับโครงสร้างได้ โอกาสเช่นนี้ไม่เกิดบ่อยๆ นักในทุกสังคม
ท่านต้องเลือกเอาเองระหว่างผลสำเร็จแบบเบิร์ดๆ คือว่ากันเป็นอัลบั้มๆ หรือท่านอยากเป็นหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งวางแนวของดนตรีไทยไปอีกทางหนึ่งเลย และยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้(แต่ไม่รวยและไม่มีใครกรี๊ดนะครับ) ซึ่งก็คือเลือกว่าจะใช้ "ความสามารถทางการเมือง" ซึ่งท่านมีอย่างล้นเหลือนั้นไปเพื่ออะไร วันนี้พรุ่งนี้ หรือยุคนี้ยุคหน้า
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ความสมานฉันท์ในโลกนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะ ไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียม(disparity) ... อมรรตยะ เซน กล่าวว่า มีโอกาสหรือสิทธิ(ซึ่งเขาเรียกว่า entitlement) พื้นฐานสี่อย่างที่ชีวิตของทุกคนต้องการ นั่นก็คือ มีโอกาสได้รับอาหารเพียงพอแก่การดำรงชีพ, ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน, ได้รับการศึกษาพออ่านออกเขียนได้และมีงานทำ, เข้าถึงสื่อและสามารถมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะได้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการสมานฉันท์จึงเป็นพื้นที่ทางการเมือง
นั่นก็คือเปิดให้การต่อสู้เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำสามารถทำได้ในทางการเมือง
เพราะไม่มีความเหลื่อมล้ำใดๆ ในโลกนี้ถูกขจัดได้จากการอุปถัมภ์หรือสงเคราะห์ของคนอื่น
การขจัดความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นจากการมีพลังอำนาจ(empowerment) ในทุกทาง นับตั้งแต่พลังอำนาจในการต่อรองกับตลาด(สหกรณ์,
การผลิตโดยฐานชุมชน, วิสาหกิจชุมชน, สวนสมรม ฯลฯ) ต่อรองกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง,
ต่อรองกับระบบการศึกษา, ต่อรองกับ ส.ส., ต่อรองกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและ อบต.,
ทั้งหมดนี้คือพื้นที่ "ทางการเมือง" ซึ่งรัฐจะต้องให้หลักประกันว่า
พื้นที่ทางการเมืองของเขาจะมีอิสระเสรีและความปลอดภัย