บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 559 หัวเรื่อง
กฎความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
โดย
: สุธน หิญชีระนันทน์ : แปล
บทความบริการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
อารยธรรมของมนุษยชาติ
กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
พลเรือโทสุธน หิญชีระนันทน์ : แปล
จากงานของ Henry George เรื่อง
Progress and Poverty
Henry
George 1839-1897
เป็นชาวอเมริกัน : นักเศรษฐศาสตร์,
นักปฏิรูป, และนักเขียน
หมายเหตุ: บทความทางวิชาการชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับอนุญาตมาจากผู้แปล
ข้อความทั้งหมดในบทความนี้ นำมาจาก
ภาค 10 กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
บทที่ 1 ทฤษฎีปัจจุบันว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติ น. 475-489
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
14 หน้ากระดาษ A4)
กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติคืออะไร?
นี่เป็นคำถามซึ่งถ้าปราศจากเรื่องที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว
ข้าพเจ้าก็จะเกิดความลังเลในการที่จะตรวจสอบในพื้นที่เล็กน้อยเท่าที่จะเหลืออุทิศให้ได้นี้
ทั้งนี้เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับปัญหาที่สูงที่สุดบางประการเท่าที่จิตของมนุษย์จะขบคิดได้
จะโดยตรงหรือโดยปริยายก็ตาม แต่มันเป็นคำถามซึ่งปรากฏขึ้นตามธรรมชาติ ข้อยุติที่เราได้มาถึงนี้
จะสอดคล้องหรือไม่กับกฎอันยิ่งใหญ่ ซึ่งพัฒนาการของมนุษย์ดำเนินไปภายใต้กฎนั้น?
กฎนั้นคืออะไร? เราจะต้องหาคำตอบต่อคำถามนี้
เพราะว่าถึงแม้ปรัชญาปัจจุบันจะรับรองอย่างแจ่มแจ้งว่ามีกฎเช่นนี้อยู่ แต่ก็มิได้อธิบายกฎดังกล่าวให้เป็นที่น่าพอใจมากไปกว่าการอธิบายของวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน
ในปัญหาที่ว่าทำไมจึงยังคงมีความขาดแคลนอยู่ในท่ามกลางเศรษฐทรัพย์ที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้น
ขอให้เรายึดพื้นฐานอันมั่นคงแห่งข้อเท็จจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องสอบสวนว่ามนุษย์ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาจากสัตว์ใช่หรือไม่ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เท่าที่เรารู้จักเขา กับปัญหาที่เกี่ยวกับกำเนิดของเขาจะอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเพียงใดก็ตาม ปัญหาประการหลังจะกระจ่างแจ้งได้ก็ต้องอาศัยแสงสว่างจากปัญหาประการแรกเสมอ เราไม่สามารถจะทำการอนุมานจากสิ่งที่ไม่รู้ไปหาสิ่งที่รู้แล้วได้ จากข้อเท็จจริงที่เราทราบแล้ว
เท่านั้นที่เราจะสามารถอนุมานได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นก่อนสิ่งที่เราทราบนั้น
มนุษย์เราจะมีกำเนิดขึ้นมาอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเท่าที่เรารู้เกี่ยวกับเขาก็มีเพียงว่าเขาเป็นมนุษย์
- ดังเช่นที่จะพบได้ในขณะนี้ ไม่มีบันทึกหรือร่องรอยของเขาในสภาพที่ต่ำไปกว่าสภาพที่ยังจะพบได้ในพวกคนป่า
จะด้วยสะพานอะไรก็ตามที่เขาใช้ข้ามผ่านช่องว่างอันกว้างขวาง ซึ่งขณะนี้แยกมนุษย์ออกจากสัตว์
ยังคงไม่ปรากฏร่องรอยอยู่ดี ระหว่างคนป่าชั้นต่ำสุดเท่าที่เรารู้จักกับสัตว์ชั้นสูงที่สุด
ปรากฏว่ามีความแตกต่างอย่างที่จะปรองดองกันมิได้เลย - เป็นความแตกต่างซึ่งมิใช่เพียงในขนาดหรือระดับ
(Degree) เท่านั้น แต่ยังเป็นในด้านชนิด (Kind) อีกด้วย
มีลักษณะนิสัย กิริยาและอารมณ์ของมนุษย์หลายประการที่สัตว์ชั้นต่ำก็แสดงออก
แต่ไม่ว่ามนุษย์จะมีระดับมนุษยธรรมต่ำเพียงไร ก็ไม่เคยปรากฏว่าเขาจะขาดสิ่งหนึ่งซึ่งไม่มีร่องรอยอยู่ในสัตว์แม้เพียงเล็กน้อย
มันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ตระหนักกันได้ชัดเจน แต่แทบจะไม่สามารถนิยามกันได้
มันทำให้มนุษย์มีความสามารถในการปรับปรุง - ซึ่งทำให้เขาเป็นสัตว์ที่ก้าวหน้า
ตัวบีเวอร์สร้างทำนบ นกสร้างรังและผึ้งสร้างรวง แต่ในขณะที่ทำนบของตัวบีเวอร์ รังของนก และรวงของผึ้งสร้างขึ้นตามแบบเดียวกันเสมอนั้น บ้านของมนุษย์ก็เปลี่ยนจากกระท่อมหยาบ ๆ ทำด้วยใบไม้และกิ่งไม้มาเป็นอาคารอันโอ่อ่าเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งบำรุงความสุขทันสมัย สุนัขสามารถจะเชื่อมต่อเหตุกับผลเข้าด้วยกันได้บ้าง และอาจจะรับการฝึกสอนกลเม็ดบางประการได้ แต่ความสามารถของมันดังกล่าว ก็มิได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อยตลอดมานับแต่ได้เป็นมิตรกับมนุษย์ซึ่งปรับปรุงดีขึ้นเรื่อย ๆ และสุนัขของอารยชนก็มิได้มีความสามารถหรือสติปัญญามากกว่าสุนัขของคนป่าที่ที่เดินทางไปเรื่อย ๆ แม้แต่น้อย
เราไม่รู้จักสัตว์ที่ใช้เสื้อผ้า ที่ประกอบอาหาร ที่ประดิษฐ์เครื่องมือหรืออาวุธสำหรับตนเอง ที่บำรุงเลี้ยงสัตว์ อื่น ๆ ซึ่งตนต้องการจะกิน หรือที่มีภาษาพูด แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่าได้พบหรือได้ยินเกี่ยวกับมนุษย์ที่มิได้กระทำเช่นนั้น นอกจากในนิยาย นั่นคือ มนุษย์ไม่ว่าที่ใดที่เรารู้จัก ย่อมแสดงให้เห็นความสามารถนี้ - ในการเติมต่อสิ่งที่ธรรมชาติได้กระทำเพื่อเขา ด้วยสิ่งที่เขากระทำเพื่อตนเอง และที่จริงแล้วทายสมบัติทางกาย (physical endowment) ของมนุษย์ก็ด้อยอย่างยิ่ง จนไม่มีส่วนใดในโลกที่ เขาจะยังดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าปราศจากความสามารถเช่นนี้ อาจจะมียกเว้นบ้างก็เกาะเล็ก ๆ บางเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
ทุกแห่ง และตลอดเวลา
มนุษย์ได้แสดงให้เห็นความสามารถนี้ - ทุกแห่งและตลอดเวลาที่เราได้ทราบ มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์บางประการจากความสามารถนี้
แต่ระดับที่เขาใช้ความสามารถนี้แตกต่างกันไปอย่างมาก ระหว่างเรือคานูหยาบ
ๆ กับเรือเครื่องไอน้ำ ระหว่างบูเมอแรงกับปืนที่ยิงซ้ำได้ ระหว่างรูปไม้ที่สลักอย่างหยาบ
ๆ กับรูปหินอ่อนที่ดลใจตามศิลปะแบบกรีก ระหว่างความรู้ของคนป่ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
ระหว่างชาวอินเดียนแดงกับชนผิวขาวผู้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ระหว่างหญิงเผ่าฮอตเตนตอตกับสาวสวยแห่งสังคมที่ขัดเกลาแล้ว
เหล่านี้ ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล
ระดับที่แตกต่างกันในการใช้ความสามารถนี้
เราย่อมไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นเพราะความแตกต่างกันในสมรรถภาพตั้งแต่ดั้งเดิม - ประชาชาติที่เจริญสูงสุดในยุคปัจจุบันเคยเป็นคนป่ามาในระยะประวัติศาสตร์นี่เอง และเราจะพบความแตกต่างกันอย่างกว้างขวางที่สุดในบรรดาพลเมืองของเผ่าพันธุ์เดียวกัน ทั้งเราก็ไม่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นเพราะความแตกต่างกันในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติแต่ประการเดียว - แหล่งแห่งการศึกษาและศิลปะวิทยาการหลายแห่งในขณะนี้ ได้เคยถูกคนชาติป่าเถื่อนยึดครองอยู่ และภายในระยะไม่กี่ปี เมืองใหญ่ ๆ ก็เกิดขึ้นบนผืนดินถิ่นไล่ล่าของเผ่าคนป่า ย่อมเห็นได้ชัดว่าความแตกต่างกันเหล่านี้ทั้งสิ้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสังคม
บางทีอาจจะเป็นตั้งแต่พ้นขั้นต่ำสุด
ที่มนุษย์เราจะเจริญดีขึ้นได้ก็เฉพาะต่อเมื่อเขาอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เราจึงสรุปรวมความเจริญดีขึ้นในความสามารถ และสภาพของมนุษย์เช่นนี้ทั้งสิ้นเข้าไว้ในคำว่าอารยธรรม
(civilization) มนุษย์ปรับปรุงดีขึ้นเมื่อเขามีอารยธรรมสูงขึ้น หรือรู้จักร่วมมือกันในสังคม
กฎแห่งความเจริญนี้คืออะไร? เราจะอธิบายขั้นของอารยธรรมที่แตกต่างกันของประชาคมต่าง
ๆ ได้ด้วยหลักสามัญอะไร? ความก้าวหน้าของอารยธรรมมีสาเหตุเนื่องมาจากอะไรโดยแท้จริง
เราจึงจะกล่าวถึงการปรุงปรับของสังคมที่แตกต่างกันได้ว่าสิ่งนี้สนับสนุนอารยธรรม
สิ่งนั้นไม่สนับสนุน หรือจะได้อธิบายได้ว่าทำไมสถาบันหรือสภาพอันหนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งอาจจะทำให้อารยธรรมก้าวหน้านั้น
อีกครั้งหนึ่งกลับถ่วงรั้งความก้าวหน้า?
ความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ก็คือว่า
ความก้าวหน้าของอารยธรรมคือพัฒนาการหรือวิวัฒนาการ ซึ่งในระหว่างนี้ความสามารถของมนุษย์จะเพิ่มขึ้น
และคุณสมบัติของเขาจะสูงขึ้น ด้วยผลแห่งสาเหตุทำนองเดียวกันกับที่ได้ใช้เป็นเครื่องอธิบายกำเนิดของชนิดพรรณต่าง
ๆ (species) ของสัตว์และพืช - นั่นคือการอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด และการถ่ายทอดคุณสมบัติที่ได้มาทางพันธุกรรม
ในข้อที่ว่าอารยธรรมคือวิวัฒนาการอันหนึ่ง - ซึ่งถ้าใช้ภาษาของ Herbert Spencer ก็คือความก้าวหน้าจากความเป็นแบบเดียวกันที่ไม่เจาะจง ไม่สอดคล้องกัน มาเป็นความต่างแบบกันที่เจาะจงสอดคล้องกัน (from an indefinite, incoherent homogeneity to a definite, coherent heterogeneity) - ย่อมไม่มีข้อน่าสงสัย แต่การกล่าวเช่นนี้มิได้อธิบายหรือบ่งชี้สาเหตุซึ่งสนับสนุนหรือถ่วงรั้งวิวัฒนาการนั้น
คำกล่าวกวาดรวมของ
Spencer ซึ่งมุ่งจะอธิบายปรากฏการณ์ทั้งปวงไว้ภายใต้คำว่าสสารและพลังงาน
จะรวมถึงสาเหตุเหล่านี้ทั้งสิ้นด้วยเพียงไหนนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถจะกล่าวได้
แต่เท่าที่อธิบายมาตามหลักเกณฑ์นั้น ปรัชญาแห่งพัฒนาการยังมิได้ตอบปัญหานี้อย่างเจาะจง
และได้ทำให้เกิดความคิดเห็น หรือที่ถูกคือความกลมกลืนกันในความคิดเห็น ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงขึ้น
คำอธิบายถึงความก้าวหน้าอย่างสามัญนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าคล้ายคลึงกันมากกับทรรศนะตามธรรมดาของผู้หาเงิน ในเรื่องสาเหตุแห่งการวิภาคเศรษฐทรัพย์โดยไม่เท่าเทียมกัน ถ้าเขามีทฤษฎี โดยปกติทฤษฎีนั้นจะเป็นว่ามีเงินตราอยู่มากมาย ที่จะหาได้สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจและมีความสามารถ และความโง่เขลา ความเกียจคร้าน หรือความสุรุ่ยสุร่ายเป็นตัวทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน
และดังนั้นคำอธิบายสามัญในเรื่องความแตกต่างกันของอารยธรรมจึงเป็นความแตกต่างกันในเรื่องความสามารถไป ชนชาติอารยะ คือเชื้อชาติที่ประเสริฐกว่าและความก้าวหน้าแห่งอารยธรรม จึงเป็นเพราะความประเสริฐกว่านี้ - เช่นเดียวกับที่คนอังกฤษมีความเห็นโดยทั่วไปว่า ชัยชนะของตนเป็นเพราะคนอังกฤษมีคุณสมบัติตามธรรม-ชาติประเสริฐกว่าชาวฝรั่งเศสผู้กินกบ
และชาวอเมริกันโดยทั่วไปก็คิดว่าการปกครองโดยประชาชน การค้นคิดประดิษฐ์อย่างแข็งขัน และความสุขสบายโดยเฉลี่ยซึ่งสูงกว่าชนชาติอื่น เป็นเพราะ "ความเก่งของชาติแยงกี้"
ที่เหนือกว่าหลักคำสอนทางเศรษฐศาสตร์ ที่เราได้เผชิญและพิสูจน์หักล้างมาแล้วตั้งแต่เริ่มต้นการสอบสวนนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นโดยสามัญของมนุษย์ที่แลเห็นนายทุนเป็นผู้จ่ายค่าแรง และการแข่งขันทำให้ค่าแรงลดลง ฉันใด ทฤษฎีของแมลธัสสอดคล้องกับอุปาทานที่มีอยู่ทั้งของคนรวยและคนจน ฉันใด
คำอธิบายถึงความก้าวหน้าในฐานะการปรับปรุงเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ทีละเล็กละน้อย ก็สอดคล้องกับความคิดเห็นสามัญซึ่งถือว่าความแตกต่างในด้านอารยธรรม เป็นเพราะความแตกต่างกันในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ฉันนั้น มันทำให้เกิดความกลมกลืนและสูตรอันดูเหมือนจะถูกหลักเกณฑ์สำหรับความคิดเห็น ซึ่งปรากฏแพร่หลายอยู่แล้ว
การแผ่ขยายอย่างน่าประหลาดของมันนับแต่สมัยที่ดาร์วินทำความตื่นเต้นให้แก่โลกเป็นครั้งแรกด้วยหนังสือ
"Origin of Species" ของเขานั้นมิได้เป็นการพิชิตเท่ากับที่เป็นการผสมกลมกลืน
(assimilation) เลย
ทรรศนะซึ่งครอบงำโลกแห่งความคิดอยู่ในขณะนี้เป็นดังนี้คือ:
การดิ้นรนต่อสู้เพื่อความคงอย ู่ได้กระตุ้นให้มนุษย์ใช้ความพยายามใหม่ ๆ และค้นคิดประดิษฐ์มากขึ้นตามส่วนกับที่การดิ้นรนนั้นรุนแรงขึ้น ความเจริญดีขึ้นและความสามารถในการที่จะทำให้เกิดความเจริญขึ้นนี้ ถูกกำหนดด้วยการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และได้รับการขยายออกด้วยแนวโน้มของบุคคลผู้ที่ปรุงปรับตัวเองได้ดีที่สุด หรือที่ก้าวหน้าที่สุดในอันที่จะอยู่รอดและแผ่ขยายออกไปในบรรดาบุคคลต่าง ๆ และด้วยแนวโน้มของเผ่าชน ชาติ หรือเชื้อชาติที่ปรุงปรับตัวเองได้ดีที่สุดหรือที่ก้าวหน้าที่สุด ในอันที่จะอยู่รอดในการต่อสู้ระหว่างกลุ่มสังคมต่าง ๆ ทฤษฎีนี้ได้เป็นเครื่องอธิบายความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และความแตกต่างในความก้าวหน้าระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ด้วยความมั่นใจแต่มิได้เป็นการทั่วไปอยู่ในขณะนี้ เหมือนเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการอธิบายความแตกต่างดังกล่าว โดยอาศัยทฤษฎีแห่งการสร้างสรรค์เป็นพิเศษและการแทรกแซงของพระผู้เป็นเจ้า
ผลทางปฏิบัติของทฤษฎีนี้คือลัทธิชะตานิยม
(fatalism) ที่มีความหวังชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏแพร่หลายในวรรณกรรมปัจจุบัน*
(*ในรูปกึ่งวิทยาศาสตร์หรือรูปซึ่งทำให้เป็นที่นิยมทั่วไป
บางทีเราอาจจะแลเห็นข้อนี้ได้ในคำบรรยายที่ดีที่สุด เพราะว่ากล่าวตรงไปตรงมาที่สุด
ในเรื่อง "The Martyrdom of Man" โดย Winwood Reade นักเขียนที่เขียนได้แจ่มแจ้งอย่างประหลาดและทรงพลัง
ที่จริงแล้วหนังสือนี้คือประวัติศาสตร์แห่งความก้าวหน้า หรือที่ถูกก็คือเอกสารวิชาการเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการแห่งความก้าวหน้า และจะให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าแก่การพินิจพิจารณาภาพอันแจ่มชัดของมัน ไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็ตามเกี่ยวกับความสามารถของผู้ประพันธ์ในการกล่าวสรุปเป็นกฎทั่วไปทางปรัชญา เราอาจจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อเรื่องกับชื่อเรื่องได้จากข้อยุติที่ว่า:
"ข้าพเจ้าให้ชื่อเรื่องที่แปลกประหลาดแต่เป็นความจริงแก่ประวัติศาสตร์สากล
- ความเสียสละของมนุษย์ มนุษยชาติได้ยอมรับทุกข์ทรมานมาทุกรุ่นทุกสมัยเพื่อว่าลูก
ๆ ของตนจะได้รับผลประโยชน์จากความทรมานนั้น ความรุ่งเรืองในสมัยของเราเกิดขึ้นมาจากความปวดร้าวของอดีต
ดังนั้นจะเป็นการไม่ยุติธรรมหรือที่เราจะพึงรับทุกข์ด้วยเพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่จะเกิดมาภายหลัง?")
ตามทรรศนะนี้ ความก้าวหน้าคือผลแห่งพลังทั้งหลายซึ่งกระทำอย่างช้า ๆ มั่นคงและไร้ความเมตตา เพื่อยกมนุษย์ให้สูงส่งขึ้น สงคราม ระบบทาส การกดขี่ ความเชื่องมงาย ฉาตกภัย(ความอดอยากขาดแคลน) และโรคระบาด ความขาดแคลนและความทุกข์ยาก ซึ่งปรากฏอยู่ในอารยธรรมสมัยใหม่ คือสาเหตุที่ขับดันมนุษย์ต่อไปโดยการกำจัดประเภทที่ด้อยกว่าและขยายประเภทที่สูงกว่า และการถ่ายทอดทางพันธุกรรมคือพลังที่เป็นตัวกำหนดความก้าวหน้า และความก้าวหน้าในอดีตคือฐานสำหรับความก้าวหน้าใหม่ ๆ ดังนี้ บุคคลจึงเป็นผลแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งกระทำต่อบรรดาบุคคลในอดีตมาเป็นลำดับยาวนานไม่สิ้นสุด และการจัดสังคมก็ได้แบบมาจากบุคคลต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นสังคมนั้น
ดังนั้น แม้ทฤษฎีนี้ ตามคำของ Herbert Spencer (The Study of Sociology" - Conclusion.) - เป็น "แบบที่นิยมการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน (radical) เกินกว่าที่ลัทธินิยมการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนใด ๆ ในปัจจุบันจะนึกถึง"โดยเหตุที่มันมุ่งจะให้มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของมนุษย์เอง ในขณะเดียวกัน ทฤษฎีนี้ก็เป็น "อนุรักษ์นิยมเกินกว่าที่ลัทธิอนุรักษ์นิยมใด ๆ ในปัจจุบันจะนึกถึง" ด้วย เพราะทฤษฎีนี้ถือว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ในลักษณะของมนุษย์
ปราชญ์อาจจะสั่งสอนว่าข้อนี้มิได้ลดหน้าที่ ที่จะพยายามปฏิรูปการกระทำอันมิชอบ เช่นเดียวกับนักธรรมผู้สั่งสอนลัทธิที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ก่อนแล้ว ที่ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะดิ้นรนเพื่อความรอดพ้น แต่ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ผลก็คือลัทธิชะตานิยม - "ถึงแม้จะทำเท่าที่เราอาจทำได้ เครื่องบดของพระผู้เป็นเจ้าก็จะบดต่อไปโดยไม่คำนึงถึงการช่วยเหลือหรือการหน่วงเหนี่ยวของเรา"
ข้าพเจ้ากล่าวพาดพิงถึงข้อนี้เพียงเพื่อที่จะแสดงให้เห็นสิ่งที่ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความคิดเห็น ที่กำลังแผ่ขยายและแทรกซึมเข้าไปในความคิดโดยทั่วไปอย่างรวดเร็ว ในการค้นคว้าหาสัจธรรม เราไม่ควรจะยอมให้ข้อพิจารณาเกี่ยวกับผลลัพธ์ของมันมาทำให้ความคิดของเราบิดเบือนไป แต่ข้าพเจ้าถือว่าทรรศนะปัจจุบันเกี่ยวกับอารยธรรมเป็นดังนี้:
อารยธรรมคือผลแห่งพลังทั้งหลาย ซึ่งกระทำตามวิธีที่บ่งไว้ ซึ่งค่อย ๆ เปลี่ยนลักษณะของมนุษย์และปรับปรุงและยกระดับความสามารถของมนุษย์ขึ้นอย่างช้า ๆ ความแตกต่างระหว่างอารยชนกับคนป่าคือ ความแตกต่างในการศึกษาอบรมของเผ่าพันธุ์เป็นเวลานาน ซึ่งได้เข้าไปเกาะอยู่อย่างถาวรในจิตใจ และการปรับปรุงดีขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปสู่อารยธรรมที่สูงขึ้น ๆ เราได้มาถึงจุดที่ความก้าวหน้าดูเหมือนจะเป็นธรรมดาสำหรับเราแล้ว และเรามองไปข้างหน้าอย่างเชื่อมั่นในผลสัมฤทธิ์อันยิ่งใหญ่กว่าของมนุษยชาติที่จะเกิดมาภายหลัง
-บางคนถึงกับเชื่อว่าในที่สุดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร ์จะทำให้มนุษย์ไม่รู้จักตายและทำให้เขาสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังมิใช่แค่ดาวพระเคราะห์เท่านั้น แต่รวมถึงดาวฤกษ์ด้วย และจะทำให้เขาสามารถสร้างดวงอาทิตย์และจักรวาลให้แก่ตนเองได้ (Winwood Reade, "The Martyrdom of Man.")
แต่โดยมิต้องพุ่งขึ้นไปถึงดวงดาว ในทันทีที่ทฤษฎีความก้าวหน้าซึ่งดูเหมือนจะเป็นธรรมดาเหลือเกินสำหรับเรา ในท่ามกลางอารยธรรมที่กำลังก้าวหน้านี้มองออกไปรอบ ๆ โลกเท่านั้น มันก็จะได้เผชิญกับข้อเท็จจริงอันใหญ่ยิ่ง - นั่นคืออารยธรรมทั้งหลายที่หยุดชะงักแข็งทื่อ มนุษยชาติส่วนใหญ่ในปัจจุบันมิได้มีความคิดเกี่ยวกับความก้าวหน้า มนุษยชาติส่วนใหญ่ในปัจจุบันถือ (เช่นที่บรรพบุรุษของเราเองได้ถือมาจนกระทั่งชั่วระยะ 2 - 3 อายุคนนี้) ว่า ครั้งอดีตเป็นสมัยแห่งความสมบูรณ์แบบของมนุษย์
อาจจะมีผู้อธิบายความแตกต่างระหว่างคนป่ากับอารยชนได้ด้วยทฤษฎีที่ว่า คนป่ายังพัฒนามาอย่างบกพร่องเต็มที ซึ่งทำให้ไม่ค่อยปรากฏความก้าวหน้าของเขา แต่โดยอาศัยทฤษฎีที่ว่าความก้าวหน้าของมนุษย์ เป็นผลจากสาเหตุโดยทั่วไปอันต่อเนื่องนั้น เราจะอธิบายถึงอารยธรรมที่ก้าวหน้าไปไกลแต่แล้วก็หยุดชะงักได้อย่างไร?
เราไม่สามารถจะกล่าวถึงชนเผ่าฮินดูและชาวจีนได้ เช่นเดียวกับที่อาจจะกล่าวได้ถึงคนป่าว่า ความเหนือกว่าของเราเป็นผลจากการศึกษาอบรมที่นานกว่า หรือเราเป็นประดุจผู้ใหญ่แล้วสำหรับธรรมชาติ ในขณะที่พวกเขายังเป็นเด็กอยู่ ชาวฮินดูและชาวจีนเคยเป็นอารยะเมื่อเรายังเป็นคนป่าอยู่ พวกเขามีเมืองใหญ่ ๆ มีการปกครองที่จัดระบบอย่างดีและเข้มแข็ง มีวรรณกรรม ปรัชญา มารยาทที่ขัดเกลา มีการแบ่งงาน (division of labor) มากพอควร มีการพาณิชย์ขนาดใหญ่ และศิลปะอันประณีตบรรจง ในขณะที่บรรพบุรุษของเรายังเป็นคนป่าเถื่อนพเนจร อาศัยในกระท่อมและกระโจมหนังสัตว์ มิได้เจริญไปกว่าอินเดียนแดงเลยแม้แต่น้อย
ในขณะที่เราก้าวหน้าจากสภาพป่าเถื่อนนี้มาสู่อารยธรรมสมัยศตวรรษที่
19 ชาวฮินดูและจีนกลับหยุดนิ่งอยู่กับที่ ถ้าความก้าวหน้าเป็นผลแห่งบรรดากฎอันแน่นอน
หลีกเลี่ยงมิได้ และเป็นนิรันดร์ ซึ่งขับดันมนุษย์ให้ก้าวหน้าไป แล้วเราจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร?
ผู้อธิบายปรัชญาแห่งพัฒนาการที่มีผู้นิยมกันมากที่สุดผู้หนึ่ง คือ Walter Bagehot ("Physics and Politics") ได้ยอมรับพลังแห่งการคัดค้านนี้ และพยายามที่จะอธิบายด้วยวิธีนี้: สิ่งแรกที่จำเป็นในการทำให้มนุษย์เป็นอารยะก็คือทำให้เขาเชื่อง ชักนำให้เขาอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์โดยอยู่ภายใต้กฎ แล้วบรรดากฎหมายและขนบประเพณีทั้งหลายก็จะเพิ่มมากขึ้น รุนแรงขึ้นและขยายออกไปด้วยวิธีการเลือกตามธรรมชาติ
เผ่าชนหรือชาติที่รวมกันด้วยวิธีนี้จึงได้เปรียบกว่าเผ่าชนหรือชาติที่มิได้รวมกัน
กลุ่มประเพณีและกฎหมายนี้ในที่สุดก็เข้มข้นและแข็งตัวเกินกว่าที่จะทำให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้
ความก้าวหน้านี้จะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อ ได้เกิดสถานการณ์ที่ชักนำให้มีการอภิปราย
และยินยอมให้มีเสรีภาพและความคล่องตัว อันจำเป็นสำหรับการปรับปรุงเจริญขึ้น
คำอธิบายซึ่ง Bagehot ให้ไว้ด้วยความสงสัยบางประการ ตามที่เขากล่าวเองนี้
ข้าพเจ้าคิดว่าทำให้ทฤษฎีทั่วไปหมดความน่าเชื่อถือลงไป
แต่ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะกล่าวถึงข้อนั้น เพราะเราย่อมเห็นได้ชัดว่ามันมิได้อธิบายข้อเท็จจริง
แนวโน้มที่ทำให้เกิดการแข็งตัวซึ่ง Bagehot กล่าวถึง จะแสดงตัวเองออกตั้งแต่ระยะต้น
ของพัฒนาการ และตัวอย่างของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้แทบทั้งสิ้นได้มาจากชีวิตคนป่าหรือกึ่งคนป่า
แต่อารยธรรมที่หยุดชะงักเหล่านี้ได้ก้าวไปไกลก่อนที่จะหยุดลง จะต้องมีระยะหนึ่งที่อารยธรรมเหล่านี้เจริญไปไกลมากเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพที่ป่าเถื่อน
แต่ก็ยังคงมีความอ่อนตัว เสรี และก้าวหน้า อารยธรรมที่ชะงักเหล่านี้หยุดลง
ณ จุดซึ่งแทบไม่มีอะไรด้อยกว่า และมีหลายด้านที่เหนือกว่าอารยธรรมของยุโรปสมัยราวศตวรรษที่
16 หรืออย่างเลวที่สุดก็ศตวรรษที่ 15
ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดนั้นย่อมจะต้องมีการอภิปราย การต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ และกิจกรรมทางสมองทุกชนิด พวกเขามีสถาปนิกผู้ทำให้ศิลปะวิทยาการก่อสร้างเจริญขึ้นจนถึงระดับที่สูงมากด้วย นวัตกรรมหรือการปรับปรุงเป็นลำดับมา มีนักต่อเรือผู้ได้ต่อเรือที่ดีเช่นเรือรบของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ในที่สุดโดยนวัตกรรมมากมายโดยวิธีเดียวกัน มีนักค้นคิดประดิษฐ์ผู้ได้หยุดลงใกล้เคียงกับสิ่งปรับปรุงที่สำคัญที่สุดของเรา และเรายังสามารถจะเรียนรู้จากพวกเขาบางคนด้วยซ้ำไป
มีวิศวกรผู้ก่อสร้างข่ายชลประทานใหญ่และคลองเพื่อการเดินเรือ มีสำนักปรัชญาที่แข่งขันชิงดีกันและมีความคิดที่ขัดแย้งกันในทางศาสนา ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ศาสนาหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกับศาสนาคริสต์ในหลายประการ ได้เกิดขึ้นในอินเดีย เข้าแทนที่ศาสนาเก่า ผ่านไปสู่จีน แผ่ออกกว้างขวางทั่วประเทศนั้น แต่แล้วก็ถูกศาสนาอื่นเข้าแทนที่ ณ แหล่งเดิม ๆ ของตนเช่นเดียวกับที่ศาสนาคริสต์ถูกแทนที่ ณ แหล่งแรก ๆ ของตน
นับเป็นเวลานานหลังจากที่มนุษย์ได้รู้จักที่จะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน
ที่มีชีวิต และชีวิตที่แข็งขัน มีนวัตกรรมซึ่งทำให้เกิดการปรับปรุงก้าวหน้า
และยิ่งกว่านั้น ทั้งอินเดียและจีนต่างได้ซึมซับชีวิตใหม่จากชาติผู้พิชิต
ผู้มีขนบประเพณีและแบบอย่างความคิดแตกต่างออกไปด้วย
อารยธรรมที่หยุดชะงักอย่างมากที่สุด ในบรรดาอารยธรรมที่เรารู้จักกันก็คือ อารยธรรมของอียิปต์ ซึ่งแม้แต่ศิลปะก็กลับมาเป็นรูปธรรมดาและแข็งตัวในที่สุด แต่เรารู้ว่าเบื้องหลังระยะนี้จะต้องมีสมัยที่มีชีวิตชีวาและความกระปรี้กระเปร่า - มีอารยธรรมที่พัฒนาใหม่และขยายออกไปเช่นเดียวกับที่อารยธรรมของเราเป็นอยู่ในขณะนี้ - มิฉะนั้นแล้วศิลปะและศาสตร์จะไม่ขึ้นได้สูงถึงเพียงนั้นเลย
และการขุดค้นเมื่อเร็ว
ๆ นี้ได้ฉายแสงให้เห็นอียิปต์ที่โบราณกว่าจากเบื้องใต้สิ่งที่เรารู้กันมาแต่เดิมเกี่ยวกับอียิปต์
- จากรูปปั้นและรูปแกะสลักซึ่งแทนที่จะเป็นแบบแข็งกระด้างและเป็นพิธีการ
กลับเปล่งปลั่งไปด้วยชีวิตชีวาและความหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นศิลปะอันทรงพลัง
เป็นธรรมชาติ และเสรี อันเป็นเครื่องบ่งชี้แน่นอนถึงชีวิตที่แข็งขันและขยายออกไป
สำหรับอารยธรรมทั้งสิ้นซึ่งบัดนี้ไม่ก้าวหน้าแล้วก็จะต้องเคยเป็นเช่นเดียวกัน
แต่ไม่แต่เพียงอารยธรรมที่หยุดชะงักเหล่านี้เท่านั้นที่ทฤษฎีปัจจุบันว่าด้วยพัฒนาการอธิบายมิได้ มิใช่เป็นเพียงว่ามนุษย์ได้เดินไปตามวิถีทางแห่งความก้าวหน้าถึงแค่นั้นแล้วก็หยุดลงเท่านั้น แต่มนุษย์ได้เดินไปไกลตามวิถีทางแห่งความก้าวหน้าแล้วก็ถอยหลังกลับด้วยซ้ำ
สิ่งที่เผชิญกับทฤษฎีนี้ดังกล่าวมิได้มีเพียงกรณีเดียวโดด
ๆ เท่านั้น - มันเป็นกฎสากลเลยทีเดียว อารยธรรมทุกอารยธรรมที่โลกได้เคยเห็นมาย่อมมีระยะที่เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง
ระยะชะงักงัน ระยะเสื่อมโทรมและตกต่ำลง ในบรรดาอารยธรรมทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นและเจริญรุ่งเรือง
บัดนี้ยังคงเหลือแต่อารยธรรมที่ชะงักงันไป และอารยธรรมของเราเองซึ่งยังไม่มีอายุมากเท่าพีระมิดในขณะที่อับราฮัมมองดู
- เบื้องหลังพีระมิดนั้นคือระยะ 20 ศตวรรษแห่งประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึก
เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยที่ว่าอารยธรรมของเรามีฐานกว้างขวางกว่า
เป็นแบบที่ก้าวหน้ามากกว่า เคลื่อนตัวรวดเร็วกว่า และพุ่งขึ้นสูงกว่าอารยธรรมทั้งสิ้นที่มีมาแล้ว
แต่ในแง่เหล่านี้ก็ดูมันจะไม่ก้าวหน้าไปกว่าอารยธรรมกรีก-โรมัน มากกว่าที่อารยธรรมกรีก-โรมันจะก้าวหน้าเกินกว่าอารยธรรมของเอเชีย
และถ้าหากว่ามันก้าวหน้ามากกว่า นั่นก็มิได้พิสูจน์อะไรเกี่ยวกับความถาวรและความก้าวหน้าในอนาคตของมัน
เว้นเสียแต่จะแสดงให้เห็นได้ว่า มันเหนือกว่าในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเหตุแห่งความล้มเหลวสิ้นเชิงของอารยธรรมรุ่นก่อน
ๆ ทฤษฎีปัจจุบันมิได้แสดงข้อนี้
อันที่จริงแล้ว ถ้านับจากการอธิบายข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์สากล ไม่มีทฤษฎีใดที่จะไปได้ไกลกว่าทฤษฎีนี้ ที่ว่า อารยธรรมเป็นผลแห่งวิธีการเลือกของธรรมชาติ ซึ่งกระทำเพื่อปรับปรุงและยกความสามารถของมนุษย์ การที่อารยธรรมได้เกิดขึ้นในเวลาต่าง ๆ กัน สถานที่ต่าง ๆ กันออกไป และก้าวหน้าไปด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างกันนั้น มิใช่ว่าจะไม่สอดคล้องกับทฤษฎีนี้ เพราะนั่นอาจจะเป็นผลจากการถ่วงดุลไม่เท่าเทียมกันระหว่างพลังที่ผลักดันและที่ต่อต้านก็ได้
แต่การที่ความก้าวหน้าได้เริ่มต้นขึ้นทุกแห่ง (เพราะแม้แต่ในบรรดาเผ่าชนที่ต่ำที่สุด เราก็ยังถือว่ามีความก้าวหน้าบางประการ) โดยไม่มีแห่งใดเลยที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่กลับหยุดหรือถอยหลังเสียทุกแห่งนั้น ย่อมเป็นการไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิงทีเดียว
ทั้งนี้เพราะถ้าความก้าวหน้ากระทำเพื่อนำการปรับปรุงเข้ามาติดไว้ในธรรมชาติของมนุษย์
และก่อให้เกิดความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว ถึงแม้จะมีการสะดุดหยุดลงบ้างเป็นครั้งคราว
กฎทั่วไปก็จะเป็นว่าความก้าวหน้าจะต้องต่อเนื่อง - ความก้าวหน้าจะต้องนำไปสู่ความก้าวหน้า
และอารยธรรมจะพัฒนาไปสู่อารยธรรมที่สูงส่งยิ่งขึ้น
มิใช่เพียงกฎทั่วไปเท่านั้น หาก กฎสากล ด้วย ที่เป็นตรงกันข้ามกับข้อนี้
โลกคือหลุมฝังศพของจักรวรรดิที่ตายไปแล้วไม่น้อยไปกว่าที่เป็นหลุมฝังศพของคนตาย แทนที่ความก้าวหน้าจะทำให้มนุษย์มีความเหมาะสมสำหรับความก้าวหน้ามากขึ้น อารยธรรมทุกอารยธรรมที่เข้มแข็งและก้าวหน้าในสมัยของตนเองพอ ๆ กับอารยธรรมของเราในสมัยนี้กลับหยุดลงด้วยตนเอง
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ศิลปะได้เสื่อมโทรมลง วิทยาการจมดิ่ง ความสามารถลดถอย ประชากรเบาบางลง จนกระทั่งประชาชนที่ได้สร้างวิหารใหญ่ ๆ และเมืองอันทรงอำนาจ เปลี่ยนทางแม่น้ำและเจาะภูเขา บำรุงพื้นโลกเหมือนเป็นสวน และนำเอาความละเอียดประณีตอย่างที่สุดเข้ามาสู่กิจการย่อยที่สุดของชีวิตนั้น กลับเหลือแต่คนป่าเถื่อนที่น่าสมเพชจำนวนเล็กน้อย ผู้สูญเสียแม้กระทั่งความทรงจำในสิ่งที่บรรพบุรุษของตนได้กระทำไว้ และนับถือว่าชิ้นส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ของสิ่งที่ใหญ่โตสูงส่งนั้นเป็นผลงานของอัจฉริยบุคคล หรือของชนชาติที่ทรงอำนาจก่อนน้ำท่วมใหญ่ ข้อนี้นับเป็นความจริงอย่างยิ่ง จนกระทั่งเมื่อเราคิดถึงอดีต จะดูเหมือนว่า มันเป็นกฎที่ไม่รู้จักผ่อนปรนซึ่งเราไม่อาจจะหวังได้รับการยกเว้นได้มากไปกว่าที่ชายหนุ่มผู้ "รู้สึกถึงชีวิตของเขาไปทั่วทุกแขนขา" จะพึงหวังได้รับการยกเว้นจากการแตกดับอันเป็นชะตาร่วมกันของทุกคน
Scipio คร่ำครวญกับซากปรักหักพังแห่งนครคาร์เธจว่า
"แม้เช่นนี้ โอ้กรุงโรม วันหนึ่งก็จะต้องเป็นชะตาของเจ้า!" และภาพของ
Macaulay ที่มีชาวนิวซีแลนด์พินิจพิจารณาส่วนโค้งที่หักพังของสะพานลอนดอน
ก็ดึงดูดจินตนาการแม้แต่ของผู้ที่ได้เห็นเมือง ต่าง ๆ เกิดขึ้นในป่าและช่วยวางรากฐานของจักรวรรดิแห่งใหม่
เช่นเดียวกัน เมื่อเราสร้างอาคารสาธารณะ เราก็ทำโพรงเอาไว้ที่ศิลาฤกษ์และผนึกสิ่งอนุสรณ์ในสมัยของเราไว้ภายในอย่างบรรจง
เฝ้าคอยเวลาที่ผลงานของเราจะพินาศลงและตัวเราเองถูกลืม
ทั้งการขึ้นสูงสลับกับการต่ำลงของอารยธรรมนี้ การถอยหลังซึ่งเกิดขึ้นภายหลังความก้าวหน้าอยู่เสมอนี้ จะเป็นหรือไม่เป็นการเคลื่อนไหวตามจังหวะตามเส้นที่เฉียงขึ้นก็ตาม (และข้าพเจ้าคิด ถึงแม้จะไม่ตั้งคำถาม ว่าการที่จะพิสูจน์ว่าเป็นนั้น จะยากยิ่งกว่าที่คิดกันโดยทั่วไปมาก) มันก็ไม่แตกต่างกันประการใด ทั้งนี้เพราะทฤษฎีปัจจุบัน ได้ถูกพิสูจน์หักล้างแล้วในทั้งสองกรณี อารยธรรมได้ตายไปโดยมิได้มีเครื่องแสดงแต่อย่างใด และความก้าวหน้าที่ได้มาโดยยากก็สูญหายไปจากเชื้อชาตินั้นตลอดกาล
แต่ถึงแม้หากจะยอมรับเสียว่า ความก้าวหน้าแต่ละคลื่น ทำให้เกิดคลื่นที่สูงกว่าขึ้นได ้และอารยธรรมแต่ละอารยธรรมส่งผ่านคบเพลิงไปสู่อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าก็ตาม ทฤษฎีที่ว่าอารยธรรมก้าวหน้าไปโดยการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นในธรรมชาติของมนุษย์ ก็มิได้อธิบายข้อเท็จจริงเหล่านี้
เพราะว่าในทุกกรณี เชื้อชาติที่เริ่มอารยธรรมใหม่นั้นจะมิใช่เชื้อชาติที่ได้รับการศึกษาอบรม และได้รับการปรุงแต่งทางพันธุกรรมจากอารยธรรมเดิม หากเป็นเชื้อชาติใหม่ที่มาจากระดับต่ำ คนป่าเถื่อนแห่งยุคหนึ่งกลับมาเป็นอารยชนแห่งยุคต่อไป แต่แล้วก็ถูกแทนที่อีกต่อหนึ่งด้วยคนป่าเถื่อนพวกใหม่ ทั้งนี้เพราะเป็นจริงตลอดมาเสมอในข้อที่ว่า มนุษย์ภายใต้อิทธิพลแห่งอารยธรรมนั้น ถึงแม้ในขั้นแรกจะเจริญก้าวหน้าขึ้น แต่ภายหลังก็จะต้องเสื่อมทรามลง
อารยชนสมัยนี้มีลักษณะเหนือกว่าอนารยชนมาก
แต่ในระยะที่มีความเข้มแข็งสูงสุดนั้น อารยชนก็มีลักษณะเหนือกว่าทุกอารยธรรมที่ตายไปแล้ว
แต่มีสิ่งต่าง ๆ เช่นความชั่วร้าย คอร์รัปชั่น และการทำความอ่อนแอให้แก่อารยธรรม
ซึ่งได้แสดงตัวเองออกตลอดมาเสมอเมื่อขึ้นสูงเลยจุดหนึ่งไปแล้ว อารยธรรมทุกอารยธรรมที่ถูกคนป่าเถื่อนพิชิตนั้น
แท้ที่จริงแล้วได้สลายตัวลงเพราะความเสื่อมภายในตัวเอง
ในทันทีที่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสากลนี้ มันก็จะลบล้างทฤษฎีที่ว่าความก้าวหน้าดำเนินไปโดยการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
เมื่อพิจารณาดูตลอดประวัติศาสตร์ของโลกจะเห็นได้ว่า เส้นแนวแห่งความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมิได้ซ้อนทับกับเส้นแนวพันธกรรมใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาใดก็ตาม
ดูเหมือนว่าความเสื่อมถอย
จะเกิดขึ้นติดตามความเจริญก้าวหน้าไปเสมอบนทุกเส้นแนวแห่งพันธุกรรม
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะกล่าวหรือว่ามีชีวิตแห่งชาติหรือแห่งเชื้อชาติ ดังที่มีชีวิตของแต่ละบุคคล
- จะกล่าวหรือว่าสังคมส่วนรวมทุกสังคมเสมือนว่าจะมีพลังงานอยู่จำนวนหนึ่ง
ซึ่งเมื่อใช้หมดเปลืองไปก็จะทำให้เกิดความเสื่อมขึ้น?
นี่เป็นความคิดที่ดั้งเดิมและแพร่หลายซึ่งยังคงมีผู้ยึดถือกันอยู่มาก และจะได้เห็นปรากฏออกมาอย่างไม่สมเหตุผลอยู่เป็นนิจ ในงานเขียนของบรรดาผู้อธิบายปรัชญาแห่งพัฒนาการ โดยแท้จริงแล้ว ข้าพเจ้ามองไม่เห็นเหตุผลเลยว่า ทำไมเราจะกล่าวถึงสังคมในฐานะสสารและอาการเคลื่อนไหวมิได้ ทั้งนี้เพื่อให้มันเข้าอยู่ภายในกฎทั่วไปของวิวัฒนาการให้เห็นได้ชัด
เพราะเมื่อคิดว่าแต่ละบุคคลในสังคมเป็นประดุจแต่ละปรมาณู ความเจริญเติบโตของสังคมก็คือ "การรวมตัวกันของสสารและการที่อาการเคลื่อนไหวลดลงไปพร้อมกัน ซึ่งในระหว่างนี้ สสารจะผ่านจากฐานะความเป็นเนื้อเดียวกันอันไม่เจาะจงไม่สอดคล้องกัน มาเป็นความต่างแบบกันอันเจาะจงและสอดคล้องกัน และระหว่างนี้อาการเคลื่อนไหวที่ยังคงมีอยู่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงคู่ขนานกันไป" (Herbert Spencer's definition of Evolution, "First Principles," p. 396)
เช่นนี้เราก็อาจจะแสดงให้เห็นความคล้ายคลึงกัน ระหว่างชีวิตของสังคมกับชีวิตของสุริยจักรวาล ตามสมมติฐานในเรื่องกลุ่มหมอกเพลิง (nebular hypothesis)ได้ ความร้อนและแสงสว่างของดวงอาทิตย์เกิดขึ้น เนื่องจากการรวมตัวกันของปรมาณูซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งในที่สุดก็หยุดลงเมื่อปรมาณูเข้าสู่ดุลยภาพและเกิดสภาพอยู่นิ่งต่อมา
ซึ่งจะเคลื่อนไหวใหม่อีกก็ต่อเมื่อมีแรงจากภายนอกมากระทบ อันจะทำให้ย้อนกรรมวิธีของวิวัฒนาการ ทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวมากขึ้นและสลายสสารออกไปเป็นแก๊ส ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่งด้วยการรวมตัวกันของแก๊ส
เช่นเดียวกัน เราก็อาจกล่าวได้ว่าการรวมกันของแต่ละบุคคลในประชาคม
จะทำให้เกิดพลังอันก่อให้เกิดแสงสว่างและความอบอุ่นแห่งอารยธรรม แต่เมื่อกรรมวิธีนี้หยุดลงและแต่ละบุคคลอันเป็นองค์ประกอบเข้าสู่ดุลยภาพอยู่
ณ ที่ประจำของตน ความชะงักงันก็เกิดตามมา และการกระจัดกระจายเนื่องจากการบุกรุกของคนป่าเถื่อน
นับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นกรรมวิธีและความเจริญเติบโตของอารยธรรมใหม่อีกครั้งหนึ่ง
แต่การเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันนับเป็นวิธีการคิดที่มีอันตรายที่สุด มันอาจจะเชื่อมต่อความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังซ่อนพรางหรือปิดบังความจริงเสีย และความคล้ายคลึงกันที่กล่าวแล้วทั้งสิ้นก็เป็นแต่เพียงผิวเผิน เมื่อสมาชิกของประชาคมเกิดขึ้นใหม่เรื่อย ๆ ในสภาพเด็กที่มีพลังใหม่ ประชาคมย่อมไม่แก่ลงด้วยความเสื่อมพลังความสามารถดังเช่นมนุษย์
เมื่อพลังของส่วนรวมจะต้องเท่ากับผลรวมของพลังของแต่ละบุคคลอันเป็นองค์ประกอบ
ประชาคมย่อมจะไม่สูญเสียพลังอันสำคัญยิ่งไป นอกจากพลังอันสำคัญยิ่งขององค์ประกอบของมันจะลดลง
แต่ ทั้งในการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันอย่างสามัญระหว่างพลังชีวิตของชาติกับของแต่ละบุคคล
และในการเปรียบเทียบตามที่ข้าพเจ้าเสนอ ย่อมมีการตระหนักถึงความจริงอันเด่นชัดข้อหนึ่งแฝงอยู่
- นั่นคือความจริงที่ว่า อุปสรรคที่ทำให้ความก้าวหน้าหยุดลงในที่สุดนั้น
เกิดขึ้นเนื่องจากความก้าวหน้านั้นเอง และสิ่งที่ได้ทำลายอารยธรรมทั้งสิ้นที่แล้วมาก็คือ
เงื่อนไขที่เกิดขึ้นเนื่องจากความเจริญเติบโตของอารยธรรมนั้นเอง
นี่เป็นสัจธรรมซึ่งปรัชญาในปัจจุบันได้ละเลยเสีย แต่มันเป็นสัจธรรมที่มีความหมายสำคัญที่สุด ทฤษฎีว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติจะมีเหตุผลฟังขึ้นก็ต้องอธิบายสัจธรรมข้อนี้ด้วย.
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้าพเจ้าให้ชื่อเรื่องที่แปลกประหลาดแต่เป็นความจริงแก่ประวัติศาสตร์สากล - ความเสียสละของมนุษย์ มนุษยชาติได้ยอมรับทุกข์ทรมานมาทุกรุ่นทุกสมัยเพื่อว่าลูก ๆ ของตนจะได้รับผลประโยชน์จากความทรมานนั้น ความรุ่งเรืองในสมัยของเราเกิดขึ้นมาจากความปวดร้าวของอดีต ดังนั้นจะเป็นการไม่ยุติธรรมหรือที่เราจะพึงรับทุกข์ด้วยเพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่จะเกิดมาภายหลัง?
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
แต่อารยธรรมที่หยุดชะงักเหล่านี้ได้ก้าวไปไกลก่อนที่จะหยุดลง จะต้องมีระยะหนึ่งที่อารยธรรมเหล่านี้เจริญไปไกลมากเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพที่ป่าเถื่อน แต่ก็ยังคงมีความอ่อนตัว เสรี และก้าวหน้า อารยธรรมที่ชะงักเหล่านี้หยุดลง ณ จุดซึ่งแทบไม่มีอะไรด้อยกว่า และมีหลายด้านที่เหนือกว่าอารยธรรมของยุโรปสมัยราวศตวรรษที่ 16 หรืออย่างเลวที่สุดก็ศตวรรษที่ 15 ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดนั้นย่อมจะต้องมีการอภิปราย การต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ และกิจกรรมทางสมองทุกชนิด พวกเขามีสถาปนิกผู้ทำให้ศิลปะวิทยาการก่อสร้างเจริญขึ้นจนถึงระดับที่สูงมากด้วย นวัตกรรมหรือการปรับปรุงเป็นลำดับมา มีนักต่อเรือผู้ได้ต่อเรือที่ดีเช่นเรือรบของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ่และเรายังสามารถจะเรียนรู้จากพวกเขาบางคนด้วยซ้ำ