ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
090348
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 539 หัวเรื่อง
อารยธรรม และชาติพันธุ์ ???
สุธน หิญชีระนันทน์ : แปล
สมาชิกอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

อารยธรรมแตกต่างกันเพราะเหตุใด
อารยธรรม-ชาติพันธุ์ และความโหดร้าย
พลเรือโทสุธน หิญชีระนันทน์ : แปล
จากงานของ Henry George เรื่อง
Progress and Poverty

Henry George 1839-1897
เป็นชาวอเมริกัน : นักเศรษฐศาสตร์, นักปฏิรูป, และนักเขียน
หมายเหตุ:
บทความทางวิชาการชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับอนุญาตมาจากผู้แปล
ข้อความทั้งหมดในบทความนี้ นำมาจาก
ภาค 10 กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
บทที่ 2 ความแตกต่างกันในอารยธรรมเป็นเพราะอะไร น. 489-506
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)

 

ความแตกต่างกันในอารยธรรมเป็นเพราะอะไร
ในการพยายามที่จะค้นให้พบกฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษย์นั้น ขั้นแรก เราจะต้องกำหนดหาลักษณะอันสำคัญของความแตกต่างเหล่านี้ ซึ่งเรากล่าวว่าเป็นความแตกต่างกันในอารยธรรม

เราได้เห็นแล้วว่า ปรัชญาปัจจุบันซึ่งอ้างว่าความก้าวหน้าของสังคม เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติของมนุษย์นั้น มิได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และถ้าเราพิจารณา เราจะเห็นได้ด้วยว่าความแตกต่างระหว่างประชาคมในขั้นต่าง ๆ ของอารยธรรม มิใช่เป็นเพราะความแตกต่างกันภายในตัวแท้ ๆ ของบุคคลผู้ประกอบกันเป็นประชาคมเหล่านี้ เป็นความจริงที่มีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ และก็เป็นจริงอย่างปราศจากข้อสงสัยที่ว่าย่อมมีสิ่งจำพวกการถ่ายทอดลักษณะจำเพาะทางพันธุกรรม แต่เราจะไม่สามารถอธิบายความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างมนุษย์ในสภาพสังคมต่าง ๆ กันได้ด้วยวิธีนี้

อิทธิพลแห่งพันธุกรรม ซึ่งเดี๋ยวนี้นิยมนับถือกันว่ามีอิทธิพลสูงยิ่งนั้น มีค่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับอิทธิพลที่หล่อหลอมมนุษย์ภายหลังจากที่เขาเกิดมาในโลกแล้ว มีอะไรที่ฝังเข้าไปแนบแน่นในนิสัยความเคยชินยิ่งกว่าภาษา ซึ่งมิได้เพียงแต่กลายเป็นการใช้กล้ามเนื้อโดยอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อแห่งความคิดอีกด้วย? มีอะไรที่ยั่งยืนอยู่นานกว่า หรือจะแสดงสัญชาติได้เร็วกว่า? แต่เราก็มิได้เกิดมาโดยมีแนวโน้มไปทางภาษาหนึ่งภาษาใด ภาษาแม่ของเราเป็นภาษาแม่ของเราก็เพียงเพราะเราเรียนกันมาตั้งแต่เป็นทารกเท่านั้น ถึงแม้บรรพบุรุษของเขาจะคิดและพูดกันมาด้วยภาษาหนึ่งไม่รู้กี่ชั่วอายุคน แต่เด็กซึ่งไม่ได้ยินภาษาอื่นมาตั้งแต่แรก ก็จะเรียนภาษาหนึ่งภาษาใดได้ด้วยความง่ายพอ ๆ กัน

และเป็นเช่นเดียวกันสำหรับลักษณะจำเพาะอื่น ๆ แห่งชาติ แห่งท้องถิ่น หรือแห่งชั้นวรรณะ ดูเหมือนมันจะเป็นเรื่องของการศึกษาอบรมและนิสัยความเคยชิน มิใช่เรื่องถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตัวอย่างเด็ก ๆ ผิวขาวที่ถูกพวกอินเดียนแดงจับเอาไปตั้งแต่เป็นทารก และเติบโตขึ้นมาในกระโจมของพวกอินเดียนแดงย่อมแสดงข้อนี้ เขากลายเป็นอินเดียนแดงไปทุกประการ และข้าพเจ้าก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกันสำหรับเด็ก ๆ ที่พวกยิปซีเลี้ยงเติบโตขึ้นมา

การที่ข้อนี้ไม่เป็นความจริงทีเดียวนักสำหรับเด็ก ๆ ชาวอินเดียนแดงหรือเผ่าอื่น ที่มีลักษณะแตกต่าง ซึ่งคนผิวขาวเป็นผู้เลี้ยงดูนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเพราะเด็กเหล่านี้มิได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นเด็กผิวขาวด้วยอย่างแท้จริง สุภาพบุรุษผู้หนึ่งซึ่งสอนที่โรงเรียนสำหรับเด็กผิว
สีเคยบอกข้าพเจ้าว่าเด็ก

มีสติปัญญาดีกว่า และเรียนได้เร็วกว่าเด็กผิวขาวจนถึงอายุ 10-12 ปี แต่หลังจากนั้นดูเหมือนพวกเขาจะโง่ทึบลงและกลายเป็นคนไม่เอาใจใส่ เขาคิดว่านี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงความด้อยกว่าอันมีประจำอยู่ในเชื้อชาติ และข้าพเจ้าก็คิดเช่นเดียวกันในขณะนั้น

แต่ภายหลังข้าพเจ้าได้ฟังสุภาพบุรุษนิโกรที่มีสติปัญญาสูงผู้หนึ่ง (Bishop Hillery) กล่าวข้อความซึ่งสำหรับความคิดของข้าพเจ้าแล้ว ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายที่ดีเพียงพอ ท่านกล่าวว่า "เมื่อเด็กของเรายังเล็กอยู่ เขามีสติปัญญาดีเต็มที่เท่า ๆ กับเด็กผิวขาวและเรียนได้เร็วเท่า ๆ กัน แต่เมื่อเขามีอายุมากพอที่จะตระหนักถึงฐานะของตน - เมื่อประจักษ์ว่า พวกเขาถูกถือว่าเป็นชนเชื้อชาติที่ต่ำกว่า และไม่สามารถจะหวังได้เลยว่าจะเป็นอย่างอื่นได้นอกจากคนครัว คนรับใช้ หรืออื่น ๆ ทำนองเดียวกันนี้ เขาก็หมดความทะเยอทะยานและหยุดขวนขวายหาความก้าวหน้า"

และท่านอาจจะกล่าวเพิ่มเติมได้ว่า โดยที่เป็นลูกของพ่อแม่ที่ยากจน ที่มิได้รับการอบรมและปราศจากความทะเยอทะยาน อิทธิพลทางบ้านจึงมีผลร้ายต่อเขา ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่ามันเป็นเรื่องการสังเกตอย่างธรรมดาที่ว่า ในการเรียนระยะต้น ๆ ลูก ๆ ของพ่อแม่ที่โง่เขลาก็มีสมองรับรู้ได้พอ ๆ กับลูก ๆ ของพ่อแม่ที่ฉลาด แต่เมื่อนานไป ๆ เด็กจำพวกหลังก็มักขึ้นหน้าและกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดที่สุด เหตุผลปรากฏชัดแจ้ง สำหรับสิ่งแรก ๆ ง่าย ๆ ซึ่งเขาเรียนแต่ที่โรงเรียนเท่านั้น

เด็กเหล่านี้มีระดับไล่เลี่ยกัน แต่เมื่อการศึกษาของพวกเขามีความสลับซับซ้อนขึ้น เด็กซึ่งเมื่ออยู่ที่บ้านได้คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษที่ดี ได้ฟังการสนทนาที่ประเทืองปัญญา ได้เข้าถึงหนังสือ เมื่อมีคำถามก็สามารถหาคำตอบได้ ฯลฯ ก็ย่อมมีความได้เปรียบ ซึ่งแสดงผลออกมา

เราอาจจะได้เห็นเรื่องทำนองเดียวกันในชีวิตในภายหลัง ตัวอย่างผู้ที่ได้ยกตนเองขึ้นมาจากระดับคนงานสามัญ เมื่อเขาได้คบหาสมาคมกับผู้มีวัฒนธรรมและผู้คล่องธุรกิจ เขาก็จะมีสติปัญญาสูงขึ้น และมีความเป็นผู้ดีขึ้น

ตัวอย่างพี่น้องสองคนบุตรชายของพ่อแม่ที่ยากจน ถูกเลี้ยงดูเติบโตมาในบ้านเดียวกันและโดยวิธีเดียวกัน คนหนึ่งต้องประกอบอาชีพที่หยาบ ไม่เคยได้รับเงินเกินกว่าที่จำเป็นในการครองชีพโดยต้องทำงานหนักเป็นประจำวัน อีกคนหนึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กรับส่งของ หันเหชีวิตไปอีกทิศหนึ่งและในที่สุดก็ได้เป็นนักกฎหมาย พ่อค้าหรือนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ เมื่ออายุ 40 - 50 ปี ความแตกต่างระหว่างพี่น้องทั้งสองจะปรากฏเด่นชัด และผู้ที่ไม่คิดก็จะถือว่ามันเป็นเพราะความสามารถตามธรรมชาติอันสูงกว่า ที่ทำให้คนหนึ่งสามารถผลักดันตนเองให้ก้าวหน้าไปมากกว่าได้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ มีความแตกต่างเด่นชัดเช่นเดียวกันในกิริยามารยาท และสติปัญญาจะแสดงออกระหว่างสตรีสองพี่น้อง คนหนึ่งแต่งงานกับชายซึ่งต่อมาก็ยังยากจนอยู่คงเดิม ต้องทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ และไร้โอกาสต่าง ๆ อีกคนหนึ่งแต่งงานกับชายซึ่งภายหลังได้มีฐานะตำแหน่งที่ทำให้เธอเข้าสู่สังคมที่ดี และทำให้มีโอกาสซึ่งขัดเกลารสนิยมให้ดีขึ้น และขยายสติปัญญาออกไป และเราก็อาจจะได้เห็นความเสื่อมเช่นเดียวกัน คำกล่าว "evil communications corrupt good manners" เป็นเพียงแสดงถึงกฎโดยทั่วไปที่ว่า ลักษณะนิสัยของมนุษย์ย่อมจะถูกปรุงแต่งอย่างมากด้วยเงื่อนไขและสิ่งแวดล้อม

ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งในท่าเรือริมฝั่งทะเลของบราซิล ข้าพเจ้าได้เห็นชายนิโกรคนหนึ่ง แต่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพยายามให้ทันสมัยที่สุด แต่ไม่มีรองเท้าและถุงเท้า ลูกเรือคนหนึ่งในกลุ่มที่ข้าพเจ้าร่วมไปด้วย ซึ่งมีส่วนร่วมในการค้าทาส มีทฤษฎีอยู่ว่านิโกรมิใช่มนุษย์ แต่เป็นลิงชนิดหนึ่ง และได้อ้างกรณีนี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ โดยยืนยันว่าเป็นการผิดธรรมชาติของนิโกรที่จะสวมรองเท้า และว่าในขั้นป่าเถื่อน เขาจะไม่สวมเสื้อผ้าเลย

ภายหลังข้าพเจ้าได้ทราบว่าที่นั่นเขาถือกันว่าเป็นการไม่ "บังควร" ที่ทาสจะสวมรองเท้า เช่นเดียวกับที่ในอังกฤษก็ถือกันว่า ไม่เป็นการบังควรที่หัวหน้าคนรับใช้ซึ่งแต่งกายถูกต้องจะสวมเครื่องเพชร ถึงแม้ว่านับแต่นั้นมา ข้าพเจ้าจะได้เห็นคนผิวขาวผู้มีเสรีที่จะแต่งตัวตามใจชอบ กลับแต่งตัวไม่กลมกลืนกันเช่นทาสแห่งบราซิลก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ยกกันขึ้นมา เพื่อแสดงถึงการถ่ายทอดพันธุกรรมก็ไม่มีผลกระทบมากไปกว่าข้อเท็จจริงอันนี้ของลูกเรือชาวลัทธิดาร์วินของเรา

ยกตัวอย่างเช่น การที่ปรากฏว่าอาชญากรและผู้รับการบรรเทาทุกข์สาธารณะจำนวนมากในนิวยอร์ก สืบเชื้อสายมาจากยาจกคนหนึ่งย้อนหลังไป 3 - 4 ชั่วอายุคนนั้น ได้ถูกยกเป็นตัวอย่างอย่างกว้างขวางเพื่อแสดงถึงการถ่ายทอดพันธุกรรม แต่มันก็มิได้แสดงอะไรในทำนองนั้นเลย โดยที่การอธิบายข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอประการหนึ่งปรากฏใกล้เคียงกว่า ยาจกจะทำให้เกิดยาจก ถึงแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะมิใช่ลูกของพวกเขาก็ตาม เช่นเดียวกับที่การคบหาใกล้ชิดกับอาชญากรก็จะทำให้ลูกของพ่อแม่ที่ดีกลายเป็นอาชญากรไปด้วยนั่นเอง การใช้วิธีพึ่งพาการกุศลย่อมจะทำให้หมดความนับถือตนเองและความเป็นอิสระอันจำเป็นสำหรับการพึ่งตนเองเมื่อการดิ้นรนรุนแรงยิ่งขึ้น

ข้อนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง จนกระทั่งการกุศลมีผลทำให้ความต้องการในกิจการกุศลมีมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี และปัญหาที่ว่า การบรรเทาทุกข์สาธารณะและการให้ทานของเอกชน จะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีหรือไม่ก็กลายเป็นปัญหาที่ลงเอยกันไม่ได้ และเป็นเช่นเดียวกันในปัญหาแนวโน้มของเด็กที่จะแสดงความรู้สึก รสนิยม อคติ หรือความสามารถพิเศษเช่นเดียวกับบิดามารดาของตน เด็กเหล่านี้จะรับแนวโน้มดังกล่าวเช่นเดียวกับที่รับจากเพื่อน ๆ ที่สนิท และข้อยกเว้นย่อมพิสูจน์กฎ โดยที่ความไม่ชอบหรือความขยะแขยงอาจจะเกิดขึ้นแทนก็ได้

และข้าพเจ้าก็คิดว่ายังมีอิทธิพลอีกประการหนึ่งที่ละเอียดลึกล้ำยิ่งกว่า ซึ่งมักจะอธิบายถึงสิ่งที่ถือกันว่าเป็นการกลับปรากฏลักษณะของบรรพบุรุษที่ขาดหายไปหลายชั่วอายุคน (atavism) - นี่เป็นอิทธิพลทำนองเดียวกันกับที่ทำให้เด็กผู้อ่านนวนิยายเล่มละสิบสตางค์ต้องการเป็นโจรสลัด

ข้าพเจ้าเคยรู้จักสุภาพบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งมีสายเลือดของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง เขาเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงประเพณีที่เรียนรู้มาจากปู่ของเขา ที่แสดงให้เห็นสิ่งที่คนผิวขาวยากที่จะเข้าใจได้ - นั่นคือนิสัยความคิดของอินเดียนแดง ความกระหายเลือดอันรุนแรง ทว่าอดทน ในการตามล่าตลอดจนความอดทนต่อการถูกทรมาน

จากลักษณะที่เขาฝังใจอยู่กับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าในสถานการณ์บางอย่าง ถึงแม้เขาจะได้รับการศึกษาสูง มีอารยธรรมดี เขาก็จะแสดงลักษณะนิสัยซึ่งจะมีผู้ถือว่าเนื่องมาจากเลือดอินเดียนแดงของเขา แต่ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจะอธิบายได้เพียงพอด้วยการที่เขาเฝ้าแต่ครุ่นคิดคำนึงถึงการกระทำของบรรพบุรุษของเขา

เราจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างชนชั้นและกลุ่มต่าง ๆ ในประชาคมใหญ่ ๆ ทุกแห่งชนิดเดียวกันกับที่มีอยู่ระหว่างประชาคมต่าง ๆ ซึ่งเรากล่าวว่ามีอารยธรรมแตกต่างกัน - นั่นคือ ในหมู่ประชาชนเชื้อชาติเดียวกัน อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน ความแตกต่างด้านความรู้ ความเชื่อ ประเพณี รสนิยม และคำพูด ซึ่งในระดับที่รุนแรงที่สุดจะแสดงให้เห็นความแตกต่างกันอย่างมากมายเกือบพอ ๆ กับความแตกต่างในระหว่างประชาคมอารยะกับประชาคมที่ป่าเถื่อน

เรายังจะได้พบขั้นของพัฒนาการทางสังคมทุกขั้น นับแต่ยุคหินเป็นต้นมา ในประชาคมต่าง ๆ ที่ร่วมสมัยกันในปัจจุบัน ฉันใด ฉันนั้น ในประเทศเดียวกันและในเมืองเดียวกัน เราก็จะได้พบกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งแสดงความแตกต่างทำนองเดียวกันอยู่เคียงข้างกัน

ในประเทศเช่นอังกฤษและเยอรมนี เด็กเชื้อชาติเดียวกัน เกิดและได้รับการเลี้ยงดูในที่แห่งเดียวกัน จะเติบโตขึ้นมาโดยพูดภาษาเดียวกันอย่างแตกต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน ถือขนบประเพณีต่างกัน และแสดงรสนิยมต่างกัน และแม้แต่ในประเทศเช่นสหรัฐฯ เราก็จะได้เห็นความแตกต่างชนิดเดียวกันในระหว่างพวกหรือกลุ่มต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่รุนแรงถึงขนาดเดียวกัน

แต่เป็นที่แน่นอนว่าความแตกต่างเหล่านี้มิได้เกิดติดตัวมา ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาเป็นเมธอดิสต์หรือคาทอลิก ที่จะเว้นเสียงตัว h หรือเปล่งเสียง ความแตกต่างกันเหล่านี้ทั้งสิ้นซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มหรือพวก เกิดขึ้นมาจากการร่วมสังคมกันในกลุ่มของตน

กองทหาร Janissaries (กองทหารเดินเท้าของตุรกี) ประกอบด้วยคนหนุ่มที่ถูกพรากมาจากบิดามารดาชาวคริสต์ตั้งแต่ยังเยาว์ แม้กระนั้นพวกเขาก็ยังเป็นมุสลิมที่คลั่งศาสนาและแสดงออกซึ่งลักษณะนิสัยของพวกตุรกีทุกประการ พระเยซูอิตและพระในนิกายอื่น ๆ แสดงให้เห็นลักษณะที่แตกต่างออกไป แต่เป็นที่แน่นอนว่ามิได้สืบทอดกันตลอดไปด้วยการถ่ายทอดพันธุกรรม และแม้แต่สังคมเช่น โรงเรียน หรือหน่วยทหาร ซึ่งสมาชิกแต่ละคนเข้าร่วมเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ และเปลี่ยนสมาชิกไปเรื่อยๆ ก็ยังแสดงออกซึ่งลักษณะเฉพาะทั่ว ๆ ไป อันเป็นผลแห่งความประทับใจที่สังคมนั้น ๆ สืบทอดกันมา

ปัจจัยสำคัญที่กำหนดลักษณะประจำชาติ ตามความเชื่อของข้าพเจ้า ก็คือองค์รวมของประเพณี ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม กฎหมาย นิสัยและการร่วมสังคมนี้เอง ซึ่งเกิดขึ้นในประชาคมทุกประชาคมที่ล้อมรอบแต่ละบุคคลอยู่ - ซึ่ง Herbert Spencer เรียกว่า "super-organic environment" สิ่งเหล่านี้เอง หาใช่การถ่ายทอดพันธุกรรมไม่ ที่ทำให้คนอังกฤษแตกต่างไปจากคนฝรั่งเศส คนเยอรมันแตกต่างจากคนอิตาลี คนอเมริกันแตกต่างจากคนจีน และอารยชนแตกต่างจากคนป่าเถื่อน โดยวิธีนี้เองที่ทำให้ลักษณะนิสัยประจำชาติดำรงอยู่ แผ่ขยายออก หรือเปลี่ยนแปลงไป

การถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาจจะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติได้ภายในขอบเขตจำกัดบางประการ หรือ ถ้าท่านพอใจ จะว่าไม่มีขอบเขตจำกัดในตัวเองเลยก็ได้ แต่ข้อนี้เป็นจริงในด้านร่างกายมากยิ่งกว่าในด้านจิตใจของมนุษย์ และเป็นจริงในกรณีสัตว์เดรัจฉานมากกว่าแม้แต่ในด้านร่างกายของมนุษย์

การนิรนัย (deductions) จากการผสมพันธุ์นกพิราบหรือวัวควายจะนำมาใช้กับมนุษย์มิได้ และเหตุผลย่อมแจ่มชัด ชีวิตของมนุษย์ แม้แต่ในสภาพที่หยาบที่สุดก็ยังสลับซับซ้อนกว่าอย่างไม่สามารถจะประมาณได้ เขาถูกอิทธิพลจำนวนมากกว่าอย่างสุดคณานับกระทำอยู่เป็นนิจ ซึ่งในท่ามกลางอิทธิพลเหล่านี้ อิทธิพลโดยสัมพัทธ์เนื่องจากพันธุกรรมจะน้อยลง ๆ

ข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าเชื้อชาติของมนุษย์ที่ไม่มีกิจกรรมทางความคิดมากไปกว่าสัตว์ - มนุษย์ที่เพียงแต่กิน ดื่ม นอน และสืบพันธุ์เท่านั้น - ถ้าได้รับการปรนนิบัติอย่างดีและเลือกผสมพันธุ์แล้ว ในระยะต่อไปก็จะทำให้ปรากฏความหลากหลายในด้านรูปร่างและลักษณะได้มากพอ ๆ กับที่วิธีการเช่นเดียวกันได้ทำให้เกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยง แต่มนุษย์เช่นนี้ไม่มีอยู่ และภายในตัวมนุษย์เช่นที่เขาเป็นอยู่นั้น อิทธิพลทางความคิดซึ่งกระทำต่อร่างกายโดยทางจิต จะสอดแทรกขัดขวางกรรมวิธีนี้อยู่เสมอ

ท่านจะไม่สามารถขุนเลี้ยงบุคคลหนึ่งให้อ้วนได้ โดยการขังเอาไว้และให้อาหารแก่เขาดังเช่นที่กระทำในการขุนหมู ถ้าจิตใจของเขามีความตึงเครียด

มีความน่าจะเป็นในทุกทางว่ามนุษย์ได้อยู่มาในโลกนี้นานกว่าสัตว์มากชนิด เขาต้องอยู่แยกจากกันภายใต้ความแตกต่างกันของลมฟ้าอากาศ ที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันอย่างมากที่สุดในสัตว์ แต่ความแตกต่างทางร่างกายระหว่างชนเชื้อชาติต่าง ๆ ก็ยังไม่ค่อยจะมีมากไปกว่าความแตกต่างระหว่างม้าขาวกับม้าดำ

เป็นที่แน่นอนว่าความแตกต่างทางร่างกายเหล่านี้ระหว่างมนุษย์ไม่มีมากเหมือนระหว่างสุนัขในพันธุ์ย่อย (subspecies) เดียวกัน ตัวอย่างเช่นพันธุ์ย่อย ต่าง ๆ กันของพันธุ์ terrier หรือ spaniel และแม้แต่ความแตกต่างกันทางร่างกายเหล่านี้ระหว่างมนุษย์เชื้อชาติต่าง ๆ ผู้ที่ถือว่าเป็นเพราะการเลือกตามธรรมชาติและการถ่ายทอดพันธุกรรมก็ยังเชื่อว่าจะปรากฏขึ้นเมื่อมนุษย์มีสภาพใกล้สัตว์มาก - นั่นคือ เมื่อเขามีความคิดจิตใจน้อยลง

และถ้าข้อนี้เป็นความจริงในด้านร่างกายของมนุษย์ มันจะเป็นความจริงมากยิ่งขึ้นเพียงไรในด้านจิต? ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งสิ้นของเรานั้น เรานำเข้ามาในโลกกับเราด้วย แต่ความคิดจิตใจพัฒนาขึ้นภายหลัง

ในการเจริญเติบโตของอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมมีอยู่ขั้นหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถจะกล่าวได้ว่ามันจะเป็นอะไร คือจะเป็นปลาหรือเป็นสัตว์เลื้อยคลาน จะเป็นลิงหรือเป็นคน ทั้งนี้ยกเว้นไว้แต่โดยดูจากสภาพแวดล้อม เช่นเดียวกันสำหรับทารกที่เกิดใหม่ จิตใจที่รอการตื่นเข้าสู่ความสำนึกและความสามารถที่จะคิด จะเป็นแบบอังกฤษหรือเยอรมัน อเมริกันหรือจีน - จะเป็นจิตใจของอารยชนหรือจิตใจของคนป่าเถื่อน - ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมของตนโดยสิ้นเชิง

จงเอาทารกจำนวนหนึ่งที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีอารยธรรมสูงสุดลำเลียงไปไว้ ณ ดินแดนที่ไม่มีใครอาศัยอยู่ สมมติว่าเด็กเหล่านี้มีชีวิตรอดอยู่ได้โดยอภินิหารบางประการ จนกระทั่งมีอายุถึงขั้นที่ดูแลตนเองได้ เด็กเหล่านี้จะเป็นอย่างไร? พวกเขาจะเป็นคนป่าเถื่อนที่ช่วยตัวเองไม่ได้มากยิ่งกว่าชนเผ่าใดที่เราเคยรู้จัก เขาจะมีไฟที่ให้ค้นพบ มีเครื่องมือและอาวุธหยาบที่สุดที่จะให้คิดประดิษฐ์ มีภาษาที่จะให้สร้างขึ้นมา กล่าวสั้น ๆ พวกเขาจะต้องล้มลุกคลุกคลานไปตามวิถีทางไปสู่ความรู้ในขั้นที่ง่ายที่สุด ซึ่งเผ่าชนที่ต่ำสุดในขณะนี้รู้อยู่

เสมือนเด็กที่สอนเดิน ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยแม้แต่น้อยในข้อที่ว่าในไม่ช้าพวกเขาก็จะกระทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพราะว่าความเป็นไปได้เหล่านี้ทั้งสิ้นมีแอบแฝงอยู่แล้วในจิตใจของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ความสามารถในการเดินมีแอบแฝงอยู่ในโครงร่างของมนุษย์ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเขาจะกระทำได้ดีกว่าหรือเลวกว่า ช้ากว่าหรือเร็วกว่าลูก ๆ ของพ่อแม่ที่ป่าเถื่อนที่ถูกจับเอาไปไว้ในสภาพเดียวกัน ถึงแม้จะมีพลังความคิดสูงสุดเท่าที่บุคคลพิเศษได้เคยแสดงออก

แต่ถ้ามนุษย์รุ่นหนึ่งถูกแยกออกจากรุ่นต่อไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังเช่นฝูงจักจั่นที่อยู่ในสภาพดักแด้เกือบตลอดอายุ 17 ปีของมัน (seventeen-year locusts) มนุษยชาติจะเป็นอย่างไร? ระยะเวลาช่วงหนึ่งเช่นนั้น จะลดมนุษยชาติลงสู่ภาวะที่ยิ่งกว่าป่าเถื่อน ถึงขนาดที่เมื่อเทียบกับภาวะป่าเถื่อนเท่าที่เรารู้จักกันแล้ว ภาวะป่าเถื่อนนี้จะดูเสมือนเป็นอารยธรรมเลยทีเดียว

และโดยกลับกัน สมมติว่ามีการเปลี่ยนตัวทารกของคนป่าเถื่อนจำนวนหนึ่ง กับเด็กอารยะจำนวนเท่ากันได้โดยเหล่ามารดามิได้ล่วงรู้ (เพราะว่าแม้แต่ข้อนี้ก็จำเป็นเพื่อให้การทดลองเป็นไปอย่างยุติธรรม) เราจะกล้าคิดได้หรือว่า เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะแสดงความแตกต่างใด ๆ ออกมา? ข้าพเจ้าคิดว่าจะไม่มีผู้ใดที่เคยอยู่ร่วมกับชนชาติและชนชั้นอื่น ๆ มามากแล้วจะคิดเช่นนั้น บทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับรู้เช่นนี้ก็คือ "ธรรมชาติของมนุษย์ก็คือธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตลอดทั่วโลก" และบทเรียนนี้ก็อาจเรียนได้จากห้องสมุดด้วย

ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงเรื่องราวของนักเดินทางมากนัก เพราะว่าเรื่องราวของคนป่าเถื่อนที่อารยชนผู้เขียนหนังสือให้ไว้ มักจะเป็นทำนองเดียวกับเรื่องราวที่คนป่าจะเขียนเกี่ยวกับพวกเรา ถ้าเขาจะบังเอิญได้บินผ่านมาแล้วเขียนหนังสือขึ้น แต่ข้าพเจ้าหมายถึงของที่ระลึกแห่งชีวิตและความคิดของสมัยอื่นและชาติอื่น ๆ ซึ่งเมื่อแปลมาสู่ภาษาปัจจุบันของเราแล้ว ก็เหมือนกับแสงแห่งชีวิตและความคิดของเราเอง ความรู้สึกที่มันก่อให้เกิดขึ้นก็คือความรู้สึกแห่งความคล้ายคลึงกันของมนุษย์ในสาระสำคัญ

Emanuel Deutsch กล่าวว่า - "นี่เป็นอันจบการสืบสวนทั้งหลายในเรื่องประวัติศาสตร์หรือศิลปะ พวกเขาก็เป็นเหมือนกับที่พวกเราเป็นอยู่"

มีชนชาติหนึ่งที่เราจะพบได้ในทุกส่วนของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ดีว่าลักษณะเฉพาะเช่นไรเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และลักษณะเฉพาะเช่นไรเกิดจากการถ่ายทอดโดยการร่วมกันทางสังคม พวกยิวได้ดำรงรักษาความบริสุทธิ์แห่งเลือดของตนไว้อย่างกวดขันกว่า และเป็นเวลานานกว่าเชื้อชาติยุโรปชาติใด ๆ แต่ข้าพเจ้าก็สมัครใจจะคิดว่า ลักษณะประการเดียวที่ถือได้ว่าเป็นเพราะข้อนี้ก็คือรูปร่างหน้าตา และตามความจริงแล้ว ลักษณะเช่นนี้ก็ปรากฏน้อยกว่าที่คาดกันไว้ตามธรรมดามาก ซึ่งผู้ใดก็ตามที่ยอมลำบากสังเกตดูจะได้เห็น ถึงแม้พวกยิวจะแต่งงานในระหว่างกันเองอยู่เรื่อยมา เขาก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทุกแห่งเนื่องจากสภาพแวดล้อม

- ยิวอังกฤษ ยิวรัสเซีย ยิวโปแลนด์ ยิวเยอรมัน และยิวแห่งตะวันออก มีลักษณะหลายประการที่แตกต่างกันมากเสมือนความแตกต่างระหว่างคนในประเทศเหล่านั้นเอง แต่เขาก็ยังมีลักษณะร่วมกันอยู่หลายประการ และได้รักษาปัจเจกภาพ (individuality - ความเป็นแต่ละบุคคล) ของตนไว้ทุกแห่ง เหตุผลปรากฏชัดเจน นั่นคือลัทธิศาสนาของพวกฮีบรู - และแน่นอน ลัทธิมิได้ถ่ายทอดโดยกำเนิด แต่โดยการร่วมกันทางสังคม - ที่ได้ธำรงรักษาลักษณะพิเศษของชนเชื้อชาติฮีบรูไว้

ทุกแห่ง ลัทธินี้ ซึ่งเด็ก ๆ ได้รับมา มิใช่โดยวิธีเดียวกับที่รับลักษณะทางร่างกาย แต่โดยคำสั่งสอนและการร่วมกันทางสังคม มิใช่เพียงแต่คำสั่งสอนจะมีลักษณะเฉพาะเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความระแวงและความเกลียดชัง ทำให้เกิดความกดดันอันทรงพลังจากภายนอก ซึ่งทำให้เกิดมีประชาคมของยิวซ้อนขึ้นภายในประชาคมทุกแห่ง สภาพแวดล้อมอันมีลักษณะเฉพาะบางประการจึงเกิดสะสมขึ้นและคงอยู่ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งทำให้เกิดลักษณะอันเด่นชัดแตกต่างออกไป

การแต่งงานระหว่างชาวยิวด้วยกันเองเป็นผล มิใช่เป็นสาเหตุของข้อนี้ สิ่งที่การล้างทำลายที่ยังไม่ถึงขั้นพรากเอาเด็กชาวยิวออกไปจากพ่อแม่ และเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตขึ้นมาภายนอกสภาพแวดล้อมอันมีลักษณะเฉพาะนี้ไม่ทำให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้น จะสัมฤทธิ์ผลได้ ด้วยการที่ความเชื่อทางลัทธิคลายตัวลง ดังที่ประจักษ์ชัดแล้วในสหรัฐฯ ซึ่งความแตกต่างระหว่างยิวกับพวกคริสเตียนกำลังสูญสิ้นไปอย่างรวดเร็ว

และสำหรับข้าพเจ้า ดูเหมือนว่าอิทธิพลแห่งตาข่ายสังคม หรือสภาพแวดล้อมนี้จะอธิบายถึงสิ่งที่เชื่อกันบ่อย ๆ ว่าเป็นข้อพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ - นั่นคือความยากลำบากที่เชื้อชาติด้อยอารยธรรมแสดงออกในการรับอารยธรรมที่สูงกว่า และลักษณะซึ่งเชื้อชาติเหล่านี้บางเชื้อชาติสูญสิ้นไปต่อหน้าอารยธรรมใหม่ เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่งยังดำรงคงทนอยู่ มันก็จะทำให้ลำบากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะรับสภาพแวดล้อมอย่างอื่น

ลักษณะของชาวจีนจะคงที่แน่นอนถ้าลักษณะของชนชาติอื่น ๆ เป็นเช่นเดียวกัน แต่ชาวจีนในแคลิฟอร์เนียก็รับเอาวิธีของอเมริกันในการทำงาน ค้าขาย การใช้เครื่องจักร ฯลฯ ได้อย่างง่ายดายพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า พวกเขามิได้ขาดความยืดหยุ่น(flexibility) หรือ ความสามารถตามธรรมชาติ

การที่ชาวจีนเหล่านี้มิได้เปลี่ยนแปลงไปในด้านอื่น ๆ นั้นเป็นเพราะสภาพแวดล้อมแบบจีน ซึ่งยังคงดำรงอยู่และยังคงล้อมรอบพวกเขาอยู่ ในฐานะที่พวกเขามาจากเมืองจีน เขาก็มุ่งหวังที่จะกลับไปสู่ประเทศจีนอีก และในระหว่างที่อยู่ ณ ที่นี้ ก็ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองจีนขนาดเล็กของตนเอง เช่นเดียวกับที่ชาวอังกฤษในอินเดียทำให้เกิดเมืองอังกฤษเล็ก ๆ ขึ้นในอินเดีย มิใช่จะเพียงเพราะว่า ตามธรรมชาตินั้นเราย่อมหาทางสังคมกับผู้ที่มีลักษณะพิเศษ

เช่นเดียวกับเรา (และฉะนั้นจึงทำให้ภาษา ศาสนา และประเพณีมีแนวโน้มที่จะยืนยงอยู่ในที่ซึ่งแต่ละบุคคลมิได้แยกกันอยู่อย่างสิ้นเชิง) เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าความแตกต่างกันเหล่านี้ก่อให้เกิดความกดดันจากภายนอกขึ้นด้วย ที่บังคับให้มีการสังคมกันเช่นนี้

หลักการอันแจ่มชัดเหล่านี้ จะอธิบายได้อย่างเต็มที่ถึงปรากฏการณ์ทั้งหลาย ซึ่งเห็นจากการมาพบกันระหว่าง วัฒนธรรมขั้นหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง กับ วัฒนธรรมอีกขั้นหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ต้องหันไปหาทฤษฎีที่ว่าด้วยความแตกต่างกันอันฝังอยู่ภายในเลย

ยกตัวอย่าง ดังที่การศึกษาภาษาเปรียบเทียบแสดงให้เห็น ชาวฮินดูมีเชื้อชาติเดียวกับชาวอังกฤษผู้พิชิตตน และกรณีต่าง ๆ แต่ละกรณีก็ได้แสดงให้เห็นมากมายแล้วว่า ถ้าสามารถนำเขาเข้าไปไว้ในสภาพแวดล้อมของอังกฤษได้อย่างสมบูรณ์และเด็ดขาดแล้ว (ซึ่งดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว จะกระทำได้จริงก็เฉพาะต่อเมื่อ นำทารกเข้าไปไว้ในครอบครัวของชาวอังกฤษ โดยวิธีที่ตัวเขาเองเมื่อเติบโตขึ้น หรือผู้ที่อยู่ล้อมรอบจะไม่สำนึกถึงความแตกต่างใด ๆ เลย) การปลูกฝังอารยธรรมยุโรปให้แก่เขาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้น

แต่ความก้าวหน้าแห่งความคิดและนิสัยความเคยชินแบบอังกฤษในอินเดีย ย่อมจะก้าวหน้าได้ช้ามาก เพราะที่นั่นพวกเขาต้องได้พบกับสายใยแห่งความคิด และนิสัยความเคยชินอันยังคงดำรงอยู่เป็นนิจในประชากรจำนวนมหาศาล และเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตในทุกทาง

Bagehot ("Physics and Politics") ได้พยายามอธิบายเหตุผลว่า ทำไมคนป่าเถื่อนจึงสาบสูญหายไปต่อหน้าอารยธรรมของเรา แต่ไม่สาบสูญไปต่อหน้าอารยธรรมสมัยโบราณ ทั้งนี้โดยการตั้งสมมติฐานว่า ความก้าวหน้าของอารยธรรมได้ทำให้เรามีลักษณะร่างกายเข้มแข็งขึ้น หลังจากที่กล่าวเป็นนัยถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดานักเขียนคลาสสิกไม่ได้แสดงความเศร้าสลดใจสำหรับพวกคนป่าเถื่อน แต่คนป่าเถื่อนทุกหนทุกแห่ง กลับทนทานต่อการกระทบกับชาวโรมันและชาวโรมันกลับเข้าเป็นพันธมิตรกับคนป่าเถื่อน เขาก็กล่าว (หน้า 47, 48) ว่า:

"คนป่าเถื่อนในปีที่ 1 ของคริสต์ศักราช มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับในปีที่ 1800 และในเมื่อพวกเขาทนทานต่อการกระทบกับอารยชนโบราณ แต่ไม่ทนทานต่อการกระทบกับพวกเรา จึงเป็นอันสันนิษฐานได้ว่า เชื้อชาติของเราเข้มแข็งกว่าคนโบราณ เพราะเราต้องทนทาน และได้ทนทานต่อเชื้อโรคจำนวนมากมายกว่าชนโบราณ บางทีเราอาจจะใช้คนป่าเถื่อนซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไป เป็นมาตรวัดความเข้มแข็งของร่างกายของผู้ที่คนป่าเถื่อนจะต้องติดต่อด้วย"

Bagehot มิได้พยายามที่จะอธิบายว่าทำไมเมื่อ 1800 ปีมาแล้ว อารยธรรมจึงมิได้ทำให้อารยชนได้เปรียบเหนือคนป่าเถื่อนเช่นที่เป็นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ หรือเรื่องการขาดข้อพิสูจน์ที่ว่าร่างกายของมนุษย์เข้มแข็งขึ้น สำหรับผู้ใดก็ตามที่ได้เห็นว่าการสัมผัสกับอารยธรรมของเรากระทบกระเทือนชนเชื้อชาติที่ด้อยกว่าอย่างไร คำอธิบายก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่ามากถึงแม้จะทำให้พึงพอใจน้อยกว่าก็ตาม

มิใช่เพราะร่างกายของเราตามธรรมชาติมีความเข้มแข็งกว่าคนป่าเถื่อน จึงทำให้โรคภัยซึ่งดูไม่มีอันตรายสำหรับเรา กลับเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับพวกเขา หากเป็นเพราะว่าเรารู้และมีหนทางบำบัดโรคภัยเหล่านี้ได้ แต่เขาขาดความรู้และวิธีบำบัดเชื้อโรคอันเดียวกัน ซึ่งเศษของอารยธรรมที่ล่องลอยไปในความก้าวหน้า ทำให้เกิดความต้านทานแก่คนป่าเถื่อนจะเป็นอันตรายร้ายแรงเท่ากันต่ออารยชน ถ้าเขาไม่รู้จะทำอะไรนอกจากจะปล่อยให้มันแสดงฤทธิ์เดชไป เช่นเดียวกับที่คนป่าเถื่อนต้องปล่อยให้มันแสดงฤทธิ์เดชไปเพราะความไม่รู้ และที่จริงมันก็เป็นอันตรายร้ายแรงมาแล้วจนกระทั่งเราได้ค้นพบวิธีบำบัด

และใช่แต่เพียงเท่านี้ หากการกระทบของอารยธรรมต่อคนป่าเถื่อน ยังมีผลทำให้ความสามารถของเขาลดลง ด้วยโดยมิได้นำเขาเข้าสู่สภาพเช่นเดียวกับที่ทำให้อารยชนเกิดความสามารถขึ้น ในขณะที่นิสัยความเคยชินและประเพณีของเขายังมีแนวโน้มที่จะดำรงอยู่ และได้ดำรงอยู่ตราบเท่าที่จะคงอยู่ได้ สภาพแวดล้อมซึ่งพวกเขาปรับตัวเคยชินอยู่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป

เขากลายเป็นพรานในแผ่นดินซึ่งไม่มีสัตว์หลงเหลืออยู่ เป็นนักรบที่ไร้อาวุธ และต้องถูกเรียกมาแก้ฟ้องซึ่งต้องใช้เทคนิคทางกฎหมาย เขาไม่เพียงแต่ถูกวางไว้ระหว่างกลางวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ดังที่ Bagehot กล่าวถึงคนลูกครึ่งยุโรปในอินเดีย เขายังถูกวางอยู่ระหว่างกลางหลักจริยธรรมของทั้งสองฝ่าย และได้เรียนรู้ถึงความชั่วร้ายของอารยธรรม โดยไม่รู้ถึงคุณความดีของมัน

เขาต้องสูญเสียวิธีการหาเลี้ยงชีวิตตามแบบที่เขาเคยชิน เขาสูญเสียความนับถือในตัวเอง เขาสูญเสียหลักศีลธรรม เขาเสื่อมโทรมลงและตายไป สัตว์โลกผู้น่าสมเพช ซึ่งเราอาจจะได้เห็นเกะกะอยู่ตามเมืองชายแดนหรือสถานีรถไฟ พร้อมเสมอที่จะขอทาน หรือขโมย หรือเสนอขายสิ่งชั่วช้านั้น มิใช่ผู้แทนที่แท้จริงของอินเดียนแดง ก่อนที่คนผิวขาวจะบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ล่าสัตว์ของเขา

พวกเขาได้สูญเสียพลังและคุณค่าแห่งสถานะดั้งเดิมของตน โดยมิได้รับพลังและคุณค่าแห่งสถานะที่สูงกว่า อันที่จริงแล้ว อารยธรรมดังที่ผลักไสคนผิวแดงออกไปนั้น หาได้แสดงถึงคุณความดีไม่ สำหรับพวก แองโกล-แซกซันทางชายแดนแล้ว ตามปกติคนพื้นเมืองหาได้มีสิทธิซึ่งคนผิวขาวจะต้องเคารพไม่ เขาต้องยากจนข้นแค้น ถูกเข้าใจผิด ถูกฉ้อโกงและถูกกดขี่ พวกเขาละลายหายสูญไป ซึ่งพวกเราก็จะละลายหายสูญไปถ้าต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เขาสาบสูญไปต่อหน้าอารยธรรม ดังเช่นที่ชาวบริตันผู้ถูกครอบด้วยอิทธิพลโรมัน ได้สาบสูญไปต่อหน้าสภาพป่าเถื่อนของพวกเแซกซัน

เหตุผลอันแท้จริงว่าทำไมบรรดานักเขียนคลาสสิก จึงไม่แสดงความเสียใจสำหรับคนป่าเถื่อนที่อารยธรรมของโรมันใช้วิธีผสมกลมกลืนหรือสมานลักษณ์ (assimilate) แทนที่จะทำลายนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จะมิใช่เพียงเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าอารยธรรมโบราณมีลักษณะคล้ายคลึง อย่างมากกับสภาพป่าเถื่อนที่มันได้พบเท่านั้น

แต่ยังเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่สำคัญยิ่งกว่าที่ว่า อารยธรรมนี้มิได้ขยายออกไปแบบที่เราขยาย การแผ่ขยายอารยธรรมนี้มิใช่ด้วยแบบการบุกรุกของพวกนักล่าอาณานิคม แต่ด้วยการพิชิตซึ่งเพียงแต่ลดฐานะของมณฑลใหม่ ๆ ลงอยู่ใต้บังคับโดยทั่วไป คงปล่อยให้การจัดทางสังคม และทางการเมืองของประชาชนเป็นไปตามเดิมเป็นส่วนมาก ทำให้กรรมวิธีผสมกลมกลืนดำเนินไป โดยไม่ล้างผลาญทำลายหรือทำความเสื่อมโทรมให้ ดูเหมือนว่าขณะนี้อารยธรรมของญี่ปุ่นกำลังผสมกลมกลืนตนเองเข้ากับอารยธรรมของยุโรป โดยวิธีการที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันนี้

ในอเมริกา พวกแองโกล-แซกซัน ได้ทำให้พวกอินเดียนแดงหมดสิ้นไป แทนที่จะทำให้เป็นอารยะ ทั้งนี้เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้นำเอาอินเดียนแดงเข้าสู่สภาพแวดล้อมอันเดียวกับพวกเขา และการติดต่อกันก็มิได้เป็นในลักษณะที่จะชักนำ หรือยินยอมให้สายใยแห่งนิสัยความคิด และประเพณีของอินเดียนแดงเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วพอ เพื่อให้เข้ากับสภาพใหม่ ๆ ซึ่งเข้าล้อมรอบพวกเขาเนื่องจากความอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านใหม่ที่ทรงอำนาจ

มีกรณีต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าอนารยชนเหล่านี้หาได้มีเครื่องหน่วงเหนี่ยวในตัวเองที่จะรับอารยธรรมของเราไม่ และเท่าที่การทดลองจะเป็นไปได้ ก็ปรากฏตัวอย่างทำนองเดียวกันจากพระในนิกายเยซูอิตในปารากวัย พระในนิกายฟรานซิสกันในแคลิฟอร์เนีย และคณะสอนศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในหมู่เกาะแปซิฟิกบางแห่ง

สมมติฐานในเรื่องที่ร่างกายของมนุษย์เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าในสมัยใดเท่าที่เรารู้จัก ย่อมไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง และในช่วงเวลาที่ Bagehot กล่าวถึงนั้น สมมติฐานนี้ก็ถูกพิสูจน์หักล้างอย่างสมบูรณ์ เราได้ทราบจากรูปปั้นโบราณ จากสัมภาระที่ทหารโบราณเอาติดตัวไป และจากการเดินทัพของทหาร จากสถิติของนักวิ่งและความสำเร็จของนักกายกรรมว่า มนุษย์มิได้มีร่างกายใหญ่โตขึ้นหรือมีกำลังเข้มแข็งขึ้นแต่ประการใดภายในระยะ 2,000 ปีมานี้

แต่สมมติฐานในด้านความเจริญขึ้นทางความคิดจิตใจ ซึ่งกล่าวด้วยความเชื่อมั่นยิ่งกว่าและกล่าวโดยทั่วไปมากกว่า ก็น่าประหลาดยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับพวกกวี ศิลปิน สถาปนิก นักปรัชญา นักวาทศิลป์ รัฐบุรุษ หรือทหารนั้น อารยธรรมสมัยใหม่จะสามารถแสดงตัวบุคคล ผู้ที่มีความสามารถทางความคิดยิ่งใหญ่ไปกว่าสมัยโบราณได้หรือ?

ไม่มีประโยชน์ที่จะมานึกกันใหม่ถึงชื่อของท่านเหล่านี้ - เด็กนักเรียนทุกคนย่อมรู้จักดีอยู่แล้ว เราหันกลับไปยังสมัยโบราณ เพื่อหาตัวอย่างในด้านความสามารถทางสมอง และถ้าเราสามารถจะคิดเพียงชั่วครู่ ถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่เชื่อถือกันมาช้านานที่สุด และกว้างขวางที่สุดในบรรดาความเชื่อทั้งหลาย - คือความเชื่อซึ่ง Lessing ประกาศว่า มีทางเป็นจริงอย่างที่สุดด้วยเหตุผลเช่นนี้ ถึงแม้เขาจะยอมรับมันโดยเหตุผลทางอภิปรัชญาก็ตาม

และสมมติว่าถ้า Homer หรือ Virgil, Demosthenes หรือ Cicero, Alexander, Hannibal หรือ Caesar, Plato หรือ Lucretius, Euclid หรือ Aristotle กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกในศตวรรษที่ 19 นี้ เราจะคิดได้หรือว่าท่านเหล่านี้จะแสดงความด้อยกว่ามนุษย์ในปัจจุบัน?

หรือถ้าเราจะพิจารณาระยะใดสมัยใดก็ตาม นับแต่ยุคคลาสสิก แม้แต่สมัยที่มืดที่สุดหรือสมัยก่อนหน้านี้เท่าที่เราจะรู้ไปถึง เราจะไม่ได้พบผู้ที่แสดงความสามารถทางสมองสูงเท่าที่มนุษย์ในปัจจุบันแสดง เมื่อคิดถึงในสภาพและระดับความรู้ในยุคนั้น ๆ หรือ? และในปัจจุบัน ในชนชาติที่ก้าวหน้าน้อยกว่า เมื่อเราเกิดความสนใจในตัวเขาขึ้นมา เราจะมิได้พบเห็นผู้ที่แสดงคุณภาพทางความคิดตามสภาพของเขายิ่งใหญ่เท่าเทียมกับที่อารยธรรมจะแสดงได้หรอกหรือ?

การคิดประดิษฐ์ทางรถไฟตามที่เกิดขึ้นนั้น แสดงถึงความสามารถในการคิดค้นยิ่งใหญ่กว่าการคิดประดิษฐ์รถเข็นล้อเดียว ในเมื่อยังไม่มีรถเข็นล้อเดียว กระนั้นหรือ? พวกเราแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ได้รับการยกสูงขึ้นมากเหนือบุคคลรุ่นก่อนเรา และเหนือชนชาติที่ก้าวหน้าน้อยกว่าที่เกิดมาร่วมสมัยเดียวกับเรานี้ แต่มันเป็นเพราะเรายืนอยู่บนพีระมิด มิใช่เพราะเราตัวสูงกว่า สิ่งที่ระยะเวลานับศตวรรษกระทำต่อเรานั้น มิใช่การเพิ่มความใหญ่โตให้แก่ร่างกายของเรา แต่เป็นการสร้างเสริมโครงสร้างที่รองรับตัวเราต่างหาก

ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำ: ข้าพเจ้ามิได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถอย่างเดียวกัน หรือมีสมองมีความคิดเหมือน ๆ กัน เช่นเดียวกันข้าพเจ้าก็มิได้หมายความว่า เขามีความเหมือนกันในด้านร่างกาย ในบรรดาคนหลายล้านที่มาสู่โลกนี้แล้วก็ออกไปนั้น อาจจะไม่เคยมีคู่ใดที่จะเหมือนกันอย่างแท้จริงไม่ว่าจะทางร่างกายหรือความคิด

ทั้งข้าพเจ้าก็มิได้หมายความว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเชื้อชาติในด้านความคิด เท่ากับที่มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเชื้อชาติในด้านร่างกาย ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธอิทธิพลของพันธุกรรมในการถ่ายทอดลักษณะเฉพาะแห่งความคิดโดยวิธีเดียวกับ (และอาจจะเป็นในขนาดเดียวกันด้วยกับ) การถ่ายทอดลักษณะเฉพาะทางกาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าพเจ้าดูเหมือนว่าจะมีมาตรฐานร่วมกัน และความเหมือนกันตามธรรมชาติอันหนึ่งในด้านความคิดจิตใจ ดังที่มีอยู่ในด้านร่างกาย ซึ่งการเบี่ยงเบนผิดไปทั้งหลาย ย่อมมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาสู่มาตรฐานนี้เสมอ ภาวะที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ อาจจะก่อให้เกิดความบิดเบือนไป ดังเช่นที่ชาวอินเดียนแดงเผ่า Flathead ก่อให้เกิดขึ้นโดยการอัดศีรษะของทารกของตน หรือดังเช่นที่ชาวจีนรัดเท้าของบุตรี

แต่เมื่อทารกของอินเดียนแดงเผ่า Flathead ยังคงเกิดมาโดยมีศีรษะเป็นรูปตามธรรมชาติ และทารกชาวจีนยังคงเกิดมาโดยมีเท้าเป็นรูปตามธรรมชาติฉันใด ก็ดูเหมือนว่า ธรรมชาติจะหันกลับไปสู่แบบของความคิดจิตใจตามปกติฉันนั้น

เด็กมิได้สืบมรดกความรู้แห่งบิดาตน มากไปกว่าที่เขาจะสืบมรดกนัยน์ตาแก้วหรือขาเทียมของบิดา บุตรของบิดามารดาที่โง่ทึบที่สุด อาจจะกลายเป็นผู้บุกเบิกในด้านวิทยาศาสตร์หรือเป็นผู้นำในด้านความคิดก็ได้

แต่นี่คือข้อเท็จจริงอันยิ่งใหญ่ซึ่งเราเกี่ยวข้องด้วย: ความแตกต่างระหว่างประชาชนของประชาคมต่าง ๆ ในสถานที่และเวลาต่าง ๆ กัน ซึ่งเราเรียกว่าความแตกต่างกันในด้านอารยธรรมนั้น มิใช่ความแตกต่างกันอันมีฝังอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล หากเป็นความแตกต่างกันอันมีฝังอยู่ในสังคม มันมิใช่ความแตกต่างกันอันเนื่องจากความแตกต่างกันของแต่ละหน่วย ดังที่ Herbert Spencer กล่าว แต่มันเป็นความแตกต่างกันอันเนื่องจาก ภาวะที่แต่ละหน่วยเหล่านี้เข้ามารวมกันอยู่ในสังคม

กล่าวสั้น ๆ ข้าพเจ้าถือว่าคำอธิบายถึงความแตกต่างซึ่งทำให้ประชาคมต่าง ๆ แตกต่างกันไป เป็นดังนี้: สังคมแต่ละสังคม จะใหญ่หรือเล็กก็ตาม ย่อมจะทอสานสายใยแห่งความรู้ ความเชื่อ ประเพณี ภาษา รสนิยม สถาบัน และกฎเพื่อตนเอง บุคคลแต่ละคนจะเกิดเข้ามาสู่ข่ายสายใยนี้ซึ่งสังคมแต่ละสังคมสร้างขึ้นมา หรือที่ถูก บุคคลแต่ละคนจะเกิดเข้ามาสู่บรรดาข่ายสายใยหลาย ๆ ข่ายเหล่านี้ (เพราะประชาคมแต่ละประชาคมที่สูงกว่าระดับที่ง่ายที่สุด ย่อมจะประกอบไปด้วยสังคมเล็ก ๆ หลายสังคมซึ่งซ้อนทับกันและเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน) และจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะตาย

มันเป็นแม่พิมพ์อันเป็นแหล่งเจริญเติบโตของจิตใจ และเป็นที่ก่อให้เกิดอัตลักษณ์แก่ความคิด นี่เป็นลักษณะที่ประเพณี ศาสนา อคติอุปาทาน รสนิยม และภาษาเติบโตขึ้นมา และดำรงอยู่ต่อไป นี่เป็นลักษณะวิธีในการถ่ายทอดฝีมือความชำนาญและในการสะสมความรู้ และในการที่การค้นพบของยุคหนึ่งกลายเป็นสมบัติร่วมกัน และเป็นบันไดสำหรับยุคต่อไป ถึงแม้มันเองมักจะเป็นอุปสรรคอันร้ายแรงที่สุดที่ขัดขวางความก้าวหน้าอยู่บ่อย ๆ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นได้

สิ่งนี้แหละที่ทำให้เด็กนักเรียนในสมัยของเราสามารถเรียนรู้เรื่องของเอกภพได้มากกว่าที่ Ptolemy รู้ โดยใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น สิ่งนี้แหละที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่โง่ที่สุดอยู่สูงกว่าระดับของความคิดอันยิ่งใหญ่ของ Aristotle ขึ้นไปมาก สำหรับเชื้อชาติหนึ่ง ๆ มันเป็นเสมือนความทรงจำของบุคคลหนึ่ง ๆ ศิลปะการช่างอันน่าทึ่ง วิทยาศาสตร์อันก้าวหน้าไปไกล การคิดประดิษฐ์อันมหัศจรรย์ของเรา - เหล่านี้ ล้วนแต่เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีนี้ทั้งสิ้น

ความก้าวหน้าของมนุษยชาติย่อมจะดำเนินต่อไป ในเมื่อความเจริญก้าวหน้าที่มนุษย์รุ่นหนึ่งกระทำไว้ ได้กลายมาเป็นสมบัติร่วมกันของคนรุ่นต่อไปโดยวิธีนี้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการก้าวหน้าใหม่ ๆ.

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชากา เรื่อง "อารยธรรม ชาติพันธุ์ และความโหดร้าย" แปลโดย พลเรือโท
สุธน หิญชีระนันทน์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เป็นตอนๆ)

นิโกรที่มีสติปัญญาสูงผู้หนึ่ง (Bishop Hillery) กล่าว..."เมื่อเด็กของเรายังเล็กอยู่ เขามีสติปัญญาดีเต็มที่เท่า ๆ กับเด็กผิวขาวและเรียนได้เร็วเท่า ๆ กัน แต่เมื่อเขามีอายุมากพอที่จะตระหนักถึงฐานะของตน - เมื่อประจักษ์ว่า พวกเขาถูกถือว่าเป็นชนเชื้อชาติที่ต่ำกว่า และไม่สามารถจะหวังได้เลยว่าจะเป็นอย่างอื่นได้นอกจากคนครัว คนรับใช้ หรืออื่น ๆ เขาก็หมดความทะเยอทะยานและหยุดขวนขวายหาความก้าวหน้า"

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งในท่าเรือริมฝั่งทะเลของบราซิล ข้าพเจ้าได้เห็นชายนิโกรคนหนึ่ง แต่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพยายามให้ทันสมัยที่สุด แต่ไม่มีรองเท้าและถุงเท้า ลูกเรือคนหนึ่งในกลุ่มที่ข้าพเจ้าร่วมไปด้วย ซึ่งมีส่วนร่วมในการค้าทาส มีทฤษฎีอยู่ว่านิโกรมิใช่มนุษย์ แต่เป็นลิงชนิดหนึ่ง และได้อ้างกรณีนี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ โดยยืนยันว่าเป็นการผิดธรรมชาติของนิโกรที่จะสวมรองเท้า และว่าในขั้นป่าเถื่อน เขาจะไม่สวมเสื้อผ้าเลย ภายหลังข้าพเจ้าได้ทราบว่าที่นั่นเขาถือกันว่าเป็นการไม่ "บังควร" ที่ทาสจะสวมรองเท้า เช่นเดียวกับที่ในอังกฤษก็ถือกันว่า ไม่เป็นการบังควรที่หัวหน้าคนรับใช้ซึ่งแต่งกายถูกต้องจะสวมเครื่องเพชร (ข้อความบางส่วน คัดมาจากบทความ)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ