ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
170348
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 542 หัวเรื่อง
การเมืองและวัฒนธรรมไทย
อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเมืองและวัฒนธรรมไทย
เก็บเล็กผสมน้อยบทความอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์
รวบรวมโดย กองบรรณาธิการ
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ:
บทความทางวิชาการชุดนี้ รวบรวมมาจากผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว
จากหนังสือพิมพ์มติชน และมติชนสุดสัปดาห์ จำนวน ๔ เรื่อง

๑. โลกของนักกฎหมาย. ๒. ชาตินิยมมลายู. ๓. คนไทยขี้อิจฉา. ๔. สังคมที่พจนานุกรมสร้างขึ้น

เผยแพร่บนเว็ปไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครั้งแรกวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)

 



๑. โลกของนักกฎหมาย
ผมนึกบอกตัวเองเสมอว่าโชคดีที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย เพราะโลกของนักกฎหมายเป็นโลกที่ผมไม่มีวันเข้าถึง เราใช้ตรรกะกันคนละชุด พลังงานที่ขับเคลื่อนให้โลกอันสงบสุขหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามวิถีของมันก็เป็นพลังงานคนละตัว

เมื่อไม่นานมานี้ นักกฎหมายคิดจะออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการประชุม ครม. โดยกำหนดองค์ประชุมของ ครม.ว่าต้องมีเท่าไร และในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนมีรัฐมนตรีร่วมประชุมกับนายกฯคนเดียว ก็นับเป็นองค์ประชุมได้แล้ว เหตุผลที่ท่านยกขึ้นมาสนับสนุนมาตรการนี้ก็คือ ท่านบอกว่าเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดองค์ประชุมเอาไว้

ผมนึกในใจว่า การที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้ก็แสดงอยู่แล้วว่าไม่ต้องกำหนดล่ะสิครับ เพราะอะไรหรือ ก็เพราะถึงไม่กำหนด การบริหารจัดการรัฐก็ยังดำเนินไปได้เป็นปกติดี ซ้ำยังเปิดช่องให้พลิกผันไปตามสถานการณ์ได้ตามความจำเป็นอีกด้วย

นักกฎหมายยังชี้ให้เห็นกรณีตัวอย่างในอดีตว่า เคยมีการประชุม ครม.สองคน แล้วผ่านมติออกมาเป็นมติ ครม.มาแล้ว เช่น กรณีเมษาฮาวาย และกรณีนายกรัฐมนตรีออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองก่อนอำลาตำแหน่ง เป็นต้น

ในโลกที่ใช้ตรรกะชุดเดียวกับผม กรณีที่ยกเป็นตัวอย่างทั้งสองยิ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีกฤษฎีกากำหนดองค์ประชุมของ ครม.ต่างหาก ก็เพราะไม่มีจึงทำได้ไงครับ

ผมเข้าใจเสมอมาว่า กฎหมาย (ที่เป็นทางการ) คือกติกาสำหรับสังคมในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ฉะนั้นกฎหมายจึงต้องว่าด้วยอำนาจ, ว่าด้วยภาระหน้าที่, และว่าด้วยสิทธิ) แต่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไหนในโลกที่ถูกกำกับด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีวัฒนธรรมประเพณี, ศีลธรรม, แรงกดดันของสังคม, สำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ อีกร้อยแปดอย่างที่คอยกำกับพฤติกรรมของมนุษย์อยู่

กฎหมายเสียอีกกลับมีกำลังในการกำกับน้อยกว่าอะไรอื่นๆ เหล่านั้น เช่นคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่ลักขโมย ไม่ใช่เพราะเกรงว่าผิดกฎหมาย แต่เห็นว่าผิดศีลธรรม ผิดความนับถือตัวเอง หรือผิดคำสั่งสอนของพ่อแม่ เป็นต้น

สังคมใดที่ไม่มีอะไรอื่นกำกับเลย นอกจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว สังคมนั้นต้องออกกฎหมายห้ามฉี่ในลิฟต์อย่างสิงคโปร์ (ซึ่งนักการเมืองและสื่อชอบวางเป็นเป้าหมายของการพัฒนาสังคมไทย)

แต่ในโลกของนักกฎหมาย การไม่มีกฎหมายใดกำกับอยู่เลย ผู้คนก็อาจเอาโอกาสนั้นไปใช้ในทางเสียหาย เช่นในกรณีองค์ประชุมของ ครม. นายกฯอาจใช้โอกาสนี้เรียกประชุมกับรัฐมนตรีคนเดียว แล้วผ่านมติ ครม.พิกลพิการออกมา โลกอย่างนี้ผมเข้าไม่ถึง เพราะในโลกของผมนั้น อย่างที่บอกแล้วว่าถึงไม่มีกฎหมายกำกับ ก็ยังมีอะไรอื่นคอยกำกับพฤติกรรมอยู่ดี

แม้ไม่ได้ศรัทธาท่านนายกฯคนปัจจุบัน ผมก็ยังไม่เชื่อว่าท่านจะทำอย่างนั้นได้อยู่ดี เพราะในฐานะบุคคลสาธารณะท่านย่อมต้องแสวงหาความชอบธรรมจากการกระทำของท่านด้วย และความชอบธรรมในโลกนี้ไม่ได้เกิดจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว มติ ครม.ที่ฉ้อฉลพิกลพิการย่อมทำลายความชอบธรรมของตัวท่าน

มติ ครม.ในกรณีเมษาฮาวาย คนส่วนใหญ่คงเห็นว่ามีความชอบธรรม ในท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนั้น ก็สมควรแล้วที่จะต้องออกมติ ครม.ด้วยองค์ประชุมเล็กกระจิ๋วหลิวเช่นนั้น ตรงกันข้ามกับมติ ครม.ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตัวเอง ผมยังได้ยินคนก่นด่ามาจนถึงทุกวันนี้ ผมไม่ทราบว่ามีผลมากน้อยเพียงไรต่อความนับถือที่บางคนเคยมีต่อนักกฎหมายที่ร่วมกันเสนอมตินี้ไปสู่ ครม.ด้วยลายเซ็น

สังคมทุกสังคมย่อมมีมาตรฐานของตัวเอง ไม่ว่าจะมีกฎหมายรองรับมาตรฐานนั้นหรือไม่ แล้วเราจะไม่ปล่อยให้มาตรฐานเหล่านั้นทำงานของมันโดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับบ้างหรือ

ตรงกันข้าม สิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ยิ่งกลับนำไปสู่ความไม่ชอบธรรมได้ง่าย ถ้าเนติบริกรที่แวดล้อมผู้มีอำนาจ เพียงแต่เปิดกฎหมายดูว่า อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้าม ก็ทำได้เลย โดยไม่ต้องเหลียวไปดูมาตรฐานความชอบธรรมซึ่งมาจากอะไรอื่นอีกมากกว่ากฎหมาย ก็อย่างที่พูดแหละครับ กฎหมายอย่างเดียวรองรับความชอบธรรมไม่ได้ ซ้ำตรงกันข้ามด้วย ถ้ามีกฎหมายเพียงอย่างเดียวเสียอีก ที่ความชอบธรรมจะไม่เหลืออีกเลย

อย่างพระราชกฤษฎีกาที่ว่านี่แหละครับ ทำให้ผ่านมติ ครม.ด้วยองค์ประชุมกระจิ๋วหลิวได้ง่ายกว่าไม่มีกฎหมายรองรับเสียอีก เพราะเมื่อไม่มีกฎหมาย ก็ยิ่งต้องคิดหนักมากขึ้นว่าจะผ่านมติ ครม.ที่ไม่ชอบธรรมได้อย่างไร

โลกของนักกฎหมายดำเนินไปเพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ถ้าไม่มีกฎหมายโลกของเขาอาจหยุดหมุน ผิดหรือถูกมีความหมายแต่เพียงจะตีความจักเส้นผมบัญญัติของกฎหมายกันอย่างไร เพราะผิดหรือถูกที่ไม่มีกฎหมายรองรับนั้นไม่มีในโลกของนักกฎหมาย

ผมคิดว่ากรณีสติ๊กเกอร์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เฉพาะในโลกของนักกฎหมายเท่านั้น ไม่มีสาระในโลกที่มนุษย์คนอื่นมีชีวิตอยู่ตามปกติธรรมดา

ผมไม่ทราบหรอกว่าใครเป็นคนทำสติ๊กเกอร์ หรือใครเป็นคนไม่ได้ทำสติ๊กเกอร์ เพียงแต่ความรู้อันจำกัดของผมเกี่ยวกับกฎหมายทำให้เชื่อว่า การอ้างพระราชดำรัสไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย ยกเว้นแต่อ้างในบริบทที่เจตนาจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่องค์พระมหากษัตริย์ ประเด็นปัญหาก็คือ การอ้างพระราชดำรัสในการโจมตีคู่ต่อสู้ทางการเมือง ในบรรยากาศการแข่งขันของการเลือกตั้ง มีเจตนาจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่องค์พระมหากษัตริย์หรือไม่

ผมคิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่าจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียได้อย่างไร การยกพระราชดำรัสก็แสดงอยู่แล้วว่าให้ความสำคัญแก่พระราชดำรัส แม้มีเจตนาจะทำให้ความนิยมของคู่แข่งทางการเมืองเสียหาย ก็ไม่ใช่การหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่คำถามที่สำคัญกว่าก็คือสมควรกระทำหรือไม่ เพราะถ้าสติ๊กเกอร์นั้นทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าองค์พระมหากษัตริย์ไม่โปรดคู่แข่งทางการเมือง ก็ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางการเมือง

บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้ไม่มีใครรับได้สักฝ่ายเดียว

คนที่อยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามว่า ทำเช่นนี้แล้วจะดีแก่ระบอบประชาธิปไตยหรือ? เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเนปาลเวลานี้ น่าจะชี้ให้เห็นได้อยู่แล้ว

คนที่อยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามว่า ทำเช่นนี้แล้วจะดีแก่สถาบันพระมหากษัตริย์หรือ? เพราะยิ่งอยู่เหนือขึ้นไปมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องอิงอาศัยฐานความชอบธรรมที่สังคมยอมรับมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าไม่อาศัยแต่กฎหมายเป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าฝ่ายกระทำ หรือฝ่ายที่ชิงความได้เปรียบทางการเมืองจากการกระทำนั้น ล้วนทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น ผิดแน่ๆ แต่ไม่ใช่ผิดกฎหมาย หากผิดความชอบธรรมทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแน่นอน

(ขอนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ผมไม่ได้ใช้ราชาศัพท์ผิด เพราะพระมหากษัตริย์ในที่นี้หมายถึงสถาบัน ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ จึงไม่ต้อง "ทรง" เป็น ส่วนประมุขนั้นหมายถึงประมุขของประเทศไทยซึ่งไม่ใช่เจ้า จึงไม่ควรใช้ "พระ" ประมุข… นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ทางภาษาตามวิธีคิดในโลกของนักกฎหมาย ทั้งๆ ที่ภาษาทุกภาษาในโลกย่อมเป็นไปตามปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างนอกจากกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์และหลักภาษา)

นี่แหละครับ ผมถึงนึกว่าโชคดีที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย ไม่อย่างนั้นป่านนี้คงยังไม่จบปริญญาตรี

๒. ชาตินิยมมลายู
ชาตินิยมมลายู
มลายูเป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งอยู่อาศัยอยู่บางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร ผมเรียกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็เพราะว่า ความเป็นมลายูเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ มีผู้คนที่โดยเผ่าพันธุ์แล้วสัมพันธ์กับคนมลายูอย่างใกล้ชิดอีกมาก เช่น ชาวชวา, ชาวมินังกะเบา, ชาวบาตัค, ชาวอัดแจ ไล่ไปได้จนถึงชาวฟิลิปปินส์ แต่คนเหล่านี้ไม่เคยนับตัวเองว่าเป็นมลายู ฉะนั้น มลายูจึงเป็นเพียงอัตลักษณ์ นั่นก็คือใครนับตัวเองว่าเป็นมลายู เขาก็เป็นมลายู

ไม่เหมือนชื่อไทย (หรือไท-ไต) ทีเดียวนะครับ เพราะชื่อไทยเป็นผลผลิตทางวิชาการมากกว่า หมายความว่าคนลื้อ คิดว่าเขาเป็นลื้อ ไม่ใช่ไต คนผู้ไทคิดว่าเขาเป็นผู้ไทไม่ใช่ไทย คนอะหมคิดว่าเขาเป็นสยามไม่ใช่ไทยอีกเหมือนกัน ฯลฯ จนกระทั่งนักวิชาการในภายหลังมาบอกว่า คนเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันทั้งนั้นต่างหาก อัตลักษณ์ความเป็นไท-ไตจึงเกิดขึ้นมา

แม้แต่คนอยุธยาคงคิดว่าตัวเป็นคนไทย ไม่เกี่ยวกับไตที่ไหนแน่ สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงตีเมืองลุมเมืองคังซึ่งเป็นของไทยใหญ่โดยไม่มีใครตะขิดตะขวงใจอะไร และแม้จนถึงทุกวันนี้ คนลาวก็ยืนยันเสมอว่าเขาเป็นลาว ไม่ใช่ไทย แม้ไม่ปฏิเสธว่าลาวกับไท-ไตนั้นสัมพันธ์กัน

แต่อัตลักษณ์มลายูไม่ได้ถูกนักวิชาการผลิตขึ้น ผมไม่กล้ายืนยันว่าคำนี้ปรากฏในหลักฐานเก่าสุดเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยก็มีคำนี้ในเอกสารภาษามลายูนับตั้งแต่ประมาณต้นอยุธยามาแล้ว ส่วนตัวภาษาเก่าไปกว่านั้นเสียอีกเพราะปรากฏในจารึกที่สุมาตราตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12

แปลว่าเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว (ก่อนที่นักวิชาการฝรั่งจะเข้ามาสร้างโน่นสร้างนี่ขึ้นในภูมิภาคนี้) มีคนกลุ่มหนึ่งนับวัฒนธรรมและภาษาชนิดหนึ่ง รวมทั้งนับตัวเองว่าเป็นมลายู ถิ่นที่อยู่ของคนที่มีอัตลักษณ์มลายูก็คือคาบสมุทรมลายู และฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา

แม้จะเก่าแก่มากแค่ไหนก็ตาม คนที่นับตัวเองเป็นมลายูทั้งหมดเหล่านี้ไม่เคยรวบรวมกันอยู่ภายใต้อำนาจปกครองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ในมหาอาณาจักรศรีวิชัย คงมีคนมลายูอยู่ในนั้นมากจนถึงอาจเป็นชนชั้นปกครองของอาณาจักรนั้นก็เป็นได้ แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในมหาอาณาจักรนั้นอีกมาก บางยุคบางสมัยอาจรวมชาวชวาด้วยก็ได้ อาณาจักรมะละกา, ยะโฮร์ และอาณาจักรมลายูอื่นๆ เคยขยายอำนาจไปได้กว้างขวางทั้งในคาบสมุทรและบนฝั่งสุมาตรา แต่ก็ไม่ครอบคลุมถิ่นที่อยู่ของชาวมลายูทั้งหมด เช่นไม่เคยครองปัตตานีเป็นต้น

อันที่จริง จะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องประหลาดก็ไม่เชิงนัก เพราะเราอาจพูดอย่างนี้กับอาณาจักรและรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หมด หรือทั่วทั้งโลกเลยก็อาจจะได้ด้วย เพราะไม่มีรัฐโบราณที่ไหนที่วางรากฐานอยู่บนเผ่าพันธุ์ของประชาชน

กษัตริย์ฝรั่งเศสในสมัยกลางอาจได้ดินแดนซึ่งมีประชาชน (เผ่าพันธุ์อื่น) อาศัยอยู่ในนั้นมาแคว้นหนึ่ง เป็นสินสอดทองหมั้น เนื่องจากทรงยกพระราชธิดาให้เป็นราชินีของกษัตริย์ของอีกรัฐหนึ่ง ประชาชนในรัฐของพระองค์ประกอบขึ้นด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์และเผ่าพันธุ์เป็นธรรมดา พระเจ้าแผ่นดินไทยสมัยอยุธยาทรงภาคภูมิพระทัยด้วยซ้ำที่ทรงมีข้าราชฎร "สิบสองภาษา" คือยิ่งร้อยพ่อพันแม่มากก็ยิ่งแสดงพระราชอำนาจของผู้ปกครอง

แต่ว่าเฉพาะมลายู ส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์ของเขา คือการตั้งรัฐเล็กรัฐน้อย ซึ่งอาจมีอำนาจจากภายในหรือภายนอกมาดึงเอารัฐเหล่านั้นไปเป็นเมืองขึ้น แต่ก็มักจะมีอำนาจแต่เพียงในนามเท่านั้น ไม่สามารถและไม่ใส่ใจจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับกิจการภายในของรัฐเล็กรัฐน้อยเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นศรีวิชัย, มัชปาหิน, มะลากา, ยะโฮร์, นครศรีธรรมราช, สงขลา, อยุธยาและรัตนโกสินทร์ แม้แต่ลอนดอนในสมัยหลัง ก็เข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวเฉพาะในเขตที่ต้องการผลประโยชน์โดยตรง (ฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร) เท่านั้น ปล่อยรัฐมลายูที่ตัวไม่ได้กำไรให้ปกครองตัวเองภายใต้ "ที่ปรึกษา" ฝรั่ง

ผมเล่าเรื่องอดีตของมลายูมายืดยาวก็เพื่อนำมาสู่ประเด็นสำคัญคือ ไม่มีเรื่องราวของอดีตที่มลายูสามารถใช้เป็นฐานสำหรับสร้างชาติมาลายูขึ้นได้ง่ายๆ ในสมัยใหม่ เช่นถ้าปลุกปั่นให้สร้างความยิ่งใหญ่ของมะละกากลับคืนมาใหม่ เห็นจะต้องรบกับอินโดนีเซีย เพราะบางส่วนของมะละกานั้นรวมถึงฝั่งตะวันออกของสุมาตราด้วย

เรื่องราวในอดีตจริงๆ ไม่มีก็ไม่เป็นไรนะครับ ไม่มีก็สร้างขึ้นมาได้ (อย่างเดียวกับที่เราสร้างสุโขทัยขึ้นมา) แต่ด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม เขาไม่ได้สร้าง จึงไม่มี

อีกข้อหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ ความเป็นรัฐที่ไม่มีรากฐานอยู่บนเชื้อชาติเป็นประสบการณ์ที่คนมลายูคุ้นเคย ความเป็นมลายูด้วยกันไม่ได้หมายความว่า ดังนั้นจึงควรจะอยู่ในรัฐเดียวกัน แม้แต่ชาติมาเลเซียในปัจจุบัน ถึงจะให้ความสำคัญแก่อัตลักษณ์มาลายูหลายอย่าง แต่เขาก็ไม่สับสนระหว่างความเป็นมาเลเซียและมลายู ก็ประชากรเกือบครึ่งไม่ใช่มลายู เขาจึงตั้งชื่อชาติของเขาว่ามาเลเซีย ไม่ใช่มลายู เป็นชาติที่คนอื่นๆ อันไม่ใช่มลายูก็สามารถถือเป็นสมบัติร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสำนึกความเป็นมลายูจะหายไป ไม่ว่าคนมลายูจะอยู่ที่ไหน เขาก็ยังมีสำนึกว่าเขาเป็นมลายูอยู่นั่นเอง แม้ว่าเขาจะเป็นพลเมืองของมาเลเซีย หรือไทย หรืออินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์ ก็ตาม เพียงแต่สำนึกนั้นไม่ใช่สำนึกชาตินิยม เพราะแม้ว่าชาตินิยมเป็นสำนึก แต่ไม่ใช่สำนึกทุกอย่างจะนำไปสู่ชาตินิยมได้

ชาตินิยมเป็นสำนึกร่วมกัน ซึ่งถูกสร้างขึ้นในสมัยไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมานี่เอง แพร่หลายจากโลกตะวันตกไปสู่ทั่วทุกมุมโลก จนทำให้เราอาจเข้าใจผิดว่าเป็นสำนึกธรรมชาติที่ควรเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนโดยอัตโนมัติ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ชาตินิยมเกิดขึ้นได้โดยมีกระบวนการสร้างมันขึ้นมา จะโดยมีคนตั้งใจสร้างขึ้นหรือเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมก็ตามที แต่มีกระบวนการอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น

และสำนึกความเป็นมลายูนั้น ขาดกระบวนการที่จะสร้างสำนึกนี้ให้กลายเป็นสำนึกชาตินิยม ฉะนั้นอัตลักษณ์มลายูก็เป็นอัตลักษณ์มลายู ไม่ใช่อัตลักษณ์ของชาติใดชาติหนึ่ง

ภาษามลายู (ซึ่งที่จริงเป็นภาษากลางของความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศของภูมิภาคนี้มาหลายร้อยปี) นั้น เมื่อถูกใช้เป็นภาษาประจำชาติมาเลเซีย ได้ชื่อว่าภาษามาเลเซีย แต่ภาษเดียวกันนี้เมื่อถูกใช้เป็นภาษาประจำชาติอินโดนีเซีย กลับได้ชื่อว่าภาษาอินโดเนเซีย แม้ว่าทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียใช้อักษรโรมันเขียนภาษาของตัว แต่ภาษามลายูในประเทศไทยยังใช้ตัวอักษรอาหรับอยู่เหมือนสมัยโบราณ

มองตัวอักษรของภาษามลายูแล้ว ไม่มีใครขนลุก ไม่มีเทพารักษ์ประจำตัวอักษรเหมือนไทยนะครับ

ภาษานั้นเป็นเรื่องใหญ่มากในบรรดาอัตลักษณ์ที่ "ชาติ" ใช้เป็นสัญลักษณ์ สำนึกชาตินิยมหลายชาติของยุโรปตะวันออกเกิดจากพจนานุกรม แต่เมื่อเราย้อนกลับไปดูประวัติของภาษามลายูที่กลายเป็นภาษาประจำชาติของสองชาตินี้แล้ว แทนที่ภาษานั้นจะดึงเอาคนที่มีอัตลักษณ์มลายูมาร่วมกัน กลับไม่เกี่ยว อันที่จริงอินโดนีเซียเลือกภาษานี้เพราะมีคนพูดภาษานี้น้อยนิดเดียวในหมู่ประชากรของตัว จึงไม่เป็นที่น่ารังเกียจไงครับ ภาษามลายูกลับเป็นสัญลักษณ์สำหรับดึงคนที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์มลายูให้เข้ามาร่วมกันภายใต้สัญลักษณ์ "อินโดนีเซีย" (ซึ่งไม่ใช่มลายู)

ว่าเฉพาะมลายูในประเทศไทย ผมมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวทางชาตินิยมของมลายูเอาเลย ความพยายามของเจ้าครองเมือง (และเชื้อสาย) ในอดีตซึ่งทางฝ่ายไทยเรียกว่า "กบฏ" นั้น ไม่เกี่ยวกับการสร้าง "ชาติ" แต่เป็นการดิ้นรนจากการครอบงำที่หนาแน่นเกินไปของมหาอำนาจเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐมลายูทำอย่างนี้กับใครที่มีอำนาจนอกที่มาปกครองตัวตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็นมลายูด้วยกันหรือเป็นคนอื่นก็ตาม

ระบบการศึกษาของชาวมลายูอาจไม่เน้นสำนึกชาติไทยมากเท่าโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาฯ แต่ก็ไม่ได้เน้นหรือแม้แต่พูดถึงสำนึก "ชาติ" มลายูเลย

เราต้องแยกให้ถูกนะครับ สำนึกทางวัฒนธรรมถึงรากเหง้าของตัวนั้น ใครๆ ก็มีได้ และจะสืบทอดแก่ลูกหลานอย่างไรก็ได้ เจ๊กชอบไหว้เจ้าก็ไหว้ไป ไม้ได้กระทบต่อความเป็นพลเมืองไทยของเจ๊ก เช่นเดียวกับมลายู อยากพูดหรืออ่านภาษามลายู ก็พูดไปอ่านไป ไม่เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองของชาติอื่นใด นอกจากไทย

มลายูในประเทศไทย ไม่ได้สร้างหรือปรับแปรงศิลปวัฒนธรรมของมลายูสำหรับโลกสมัยใหม่ด้วยซ้ำ เช่นไม่มีนวนิยายในภาษามลายูท้องถิ่นสักเล่มเดียว (เท่าที่ผมทราบ) ไม่มีรองเง็งสมัยใหม่ และไม่มีอะไรอื่นที่ควรจะมีสำหรับความเป็น "ชาติ" ของโลกปัจจุบันเอาเลย

เราจะพูดถึงรัฐชาติที่ไม่มีการศึกษาแผนใหม่สำหรับสร้างสำนึกใหม่, ไม่มีสัญลักษณ์ใหม่ที่สร้างขึ้นสำหรับการยึดเหนี่ยวร่วมกัน, ไม่มีศิลปะร่วมสมัยที่แสดงอัตลักษณ์ของตนเอง และไม่มี "บริขาร" อีกเยอะแยะได้อย่างไร

โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่าไม่มีชาตินิยมมลายูในโลกนี้ครับ ฉะนั้น เลิกพูดเรื่องการแยกดินแดนเสียทีเถิด มันฟังไม่ขึ้น และไม่แก้ปัญหาอะไรเลย

ในโลกปัจจุบัน ใครจะแยกดินแดนเพื่อเอาไปทำอะไรครับ แยกไปก็เพื่อจะไปสร้างชาติใหม่ขึ้นมา แต่มันไม่มีฐานสำหรับชาติใหม่ที่ว่า (ยังไม่พูดถึงฐานความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีอยู่เลย) และด้วยเหตุดังนั้น ส่วนใหญ่ของชาวมลายูจึงไม่ได้คิดเรื่องนี้ และไม่ได้ร่วมมือกับฝ่ายตรงข้ามมากไปกว่าความกลัว เรื่องการแยกดินแดนเป็นเพียงการปลุกปั่นคนไทยในส่วนอื่นของประเทศ ให้จำนนต่อนโยบายไร้ประสิทธิภาพและไร้ความยุติธรรมของรัฐบาลเท่านั้น ผู้คนรวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องพลีชีพให้แก่นโยบายนี้มานานแล้ว

ชาติไทยที่แท้จริง ต้องมีพื้นที่สำหรับคนมลายู, คนกะเหรี่ยง, คนเขมร, คนมอญ ฯลฯ สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนได้อย่างเสรี ไม่ใช่มีได้แต่อัตลักษณ์ของไทยและเจ๊กกับปาหี่ไว้ขายนักท่องเที่ยวเท่านั้น

ข้อความเพิ่มเติมบนกระดานข่าว ม.เที่ยงคืน
โดย การุณ ยะศิริ - - อ่าวอุดม ศรีราชา

ชาติพันธุ์วรรณาของชาวมลายู สัญนิฐานว่ามีเชื้อสายมาจาก"นิกิโต"(ซาไก)ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผสมกับชาวมองโกลที่อพยพมาจากภาคพื้นทวีปบ้าง พวกโคเคซอยจากชมพูทวีปบ้าง จากเซเมติก(อาหรับ)บ้าง ปัจจุบันที่ยังเหลือเค้าว่าเป็นคนดั้งเดิมในภูมิภาคนี้คือภาษาที่ใช้พูด คือตระกูลภาษาอินโด-แปซิฟิกที่ใช้พูด ตั้งแต่ ชาว มอร์แกน ในทะเลอันดามัน ในประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ชาวเรือในอ่าวฮ่องกง ชนพื้นเมืองในโอกินาวา หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด ชาวอบอริจิ้น ชาวเมารี ภาษาตระกูลนี้ยังใกล้ชิดกับตระกูลภาษามอญเขมร(มอญ เขมร ละว้า ขมุ ชอง)นียังไม่นับรวมกับพวกที่เข้าไปปนกับชนเผ่าอื่นที่ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ทางภาษาไป

ลักษณะทางกายภาพ กระโหลกศรีษะกลม ผิวละเอียด ผมหยิก หน้าผากเล็กหลิม ร่างกายเล็กกว่าชาวเผ่ามองโกล อารยัน และ เซเมติก ด้วยความที่เป็นชนชาติเก่าแก่ มีการปะปนในสายเลือดตั้งแต่แคว้นอัสสัม บังคลาเทศ แคว้นทมิฬ ชาวเกาะตั้งแต่สุมาตรา เกาะใหญ่น้อยในมหาสมุทร แปซิฟิก ทะเลจีน คาบสมุทรเกาหลี ทำให้คนทวีปเอเชียมีสายเลือดชาวมลายูเกือบทั้งสิ้น

อย่างคนที่พูดภาษาตระกูลอูราล-อัลไตติก เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น บางคนมีกลีบจมูกใหญ่ ผมหยิกบ้าง ผิวเหลืองบ้าง ผิวคล้ำบ้าง ผิดกับคนเผ่านั้นแท้ ๆ เช่น ชนเผ่าคาซัค คนไซบีเลีย คนมองโกเลีย(นอก) เป็นต้น ชาวจีนแผ่นดินใหญ่มักมีรูปกระโหลกศรีษะกลม ผมอ่อน(ไม่สาก) หน้าผากเล็ก-หลิม มีขนตามลำตัวน้อย จึงเชื่อได้ว่าแผ่นดินจีนเคยเป็นที่อยู่ของคนอินโด-แปซิฟิกมาก่อน ก่อนถูกคนในเอเชียกลาง ชาวเตอร์ก ชาวบัก ชาวฮั่น มองโกล มาลุกลาน จนมีการผสมผสานทางเผ่าพันธุ์-วัฒนธรรมกลายเป็นอัตลักษณ์จีนขึ้นมา


๓. คนไทยขี้อิจฉา
คนไทยขี้อิจฉา ครูฝรั่งของผมคนหนึ่งซึ่งศึกษาชาวนาไทยเคยตั้งข้อสังเกตกับผมว่า คนไทยนั้นขี้อิจฉา แน่นอน ผมย่อมแปลกใจ แต่ไม่ใช่แปลกใจที่คนไทยขี้อิจฉาในสายตาฝรั่ง แต่แปลกใจว่า อ้าวแล้วฝรั่งไม่ขี้อิจฉาบ้างหรือ

อันที่จริงในประสบการณ์ส่วนตัว ผมไม่เคยพบการอิจฉาริษยาของใครเลย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือไทย นอกจากของตัวเอง คืออย่างนี้นะครับ คงไม่มีใครอธิบายการกระทำของตัวว่ามาจากความอิจฉา ฉะนั้นทุกครั้งที่เราพบใครอิจฉาใคร ที่จริงแล้วเป็นคำอธิบายของเราเองต่อพฤติกรรมของเขาต่างหาก เราจะรู้จักความอิจฉาที่จริงได้ก็ต่อเมื่อมันเกิดในใจเราต่างหาก เราก็อาจบอกตัวเองไม่ให้ดังพอที่คนอื่นจะได้ยินว่า เออกูอิจฉามันว่ะ

ผมคิดว่าความอิจฉาเป็นความรู้สึกที่อยู่ลึก กว่ามันจะโผล่พ้นขึ้นมาเหนือสำนึกได้ มันคงถูกปรุงแต่งบิดเบี้ยวไปเพราะใครๆ ก็ถูกสอนมาว่าความอิจฉาเป็นสิ่งไม่ดี ฉะนั้น จึงหาแรงจูงใจอื่นที่ดูดีกว่าทับถมลงไปจนแม้แต่ตัวเองอาจไม่สำนึกก็ได้ว่านี่คือความอิจฉา

ฉะนั้น จึงไม่น่าสงสัยอะไรที่ข้อสังเกตของครูฝรั่งผมคงมาจากการตีความของท่านเอง ในฐานะนักมานุษยวิทยา (โดยเฉพาะสายที่สนใจศึกษาบุคลิกภาพเสียด้วย) ท่านมีหน้าที่ให้ความหมายแก่พฤติกรรมของคนที่ท่านศึกษา แล้วท่านก็คงอธิบายพฤติกรรมของคนไทยหลายประการว่ามาจากความอิจฉา

ความอิจฉาย่อมเกิดจากใจที่ไม่อยากเห็นคนอื่น "ได้ดี" ไปกว่าตัว แต่ "ได้ดี" เองก็มีความหมายหลายอย่าง แล้วแต่ใครจะนึกว่า "ดี" คืออะไร เช่น ได้ทรัพย์สมบัติ, ได้ชื่อเสียงเกียรติยศ, ได้เมียสวย, ได้ความนิยมของคนหมู่มาก ฯลฯ ส่วนที่เขาได้นั้น เขาสมควรจะได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะแล้วแต่ใครจะวิเคราะห์เอาเอง คนอิจฉาที่ไหนๆ ก็ย่อมคิดเหมือนกันว่าเขาไม่สมควรจะได้

ในฐานะคนที่ยังตัดความอิจฉาริษยาออกไปจากใจไม่ได้หมด ผมจะไม่พูดอะไรเกี่ยวกับความอิจฉามากไปกว่านี้ล่ะครับ แต่ผมอยากจะพูดว่า ไม่ว่าในสังคมใดหรือในยุคสมัยใด คนไม่เคยเสมอภาคกันจริงในทุกเรื่อง ฉะนั้นย่อมมีบางคน "ได้ดี" กว่าคนอื่นเป็นธรรมดาเสมอ ในวัฒนธรรมของชุมชนในประเทศไทย เขาจัดการกับความรู้สึกอิจฉาริษยาอย่างไร

ผมคิดว่าในวัฒนธรรมชุมชนแต่ก่อนนี้ มีกลไกทางสังคมบางอย่างที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดจากความแตกต่างทางสังคม เพราะแม้ในชุมชนเกษตรกรรมยังชีพ ก็ยังมีความแตกต่างของสถานะทางเศรษฐกิจ, การเมือง และเกียรติยศอยู่นั่นเอง เช่นคนมีที่ดินไม่เท่ากัน กลุ่มตระกูลที่ย้ายมาลงหลักปักฐานในหมู่บ้านก่อนคนอื่น มักเป็นตระกูลใหญ่ จับจองที่ดินไว้มาก เป็นเหตุให้มีสถานะทางการเมืองสูงกว่าชาวบ้านทั่วไป เช่น สืบทอดตำแหน่งนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน สืบมาในสายเครือญาติ แม้แต่สมภารของวัดประจำหมู่บ้านบางแห่ง ยังสืบสายเครือญาติมาจนถึงปัจจุบันด้วยซ้ำ

แต่ในท่ามกลางความแตกต่างทางสถานภาพเช่นนี้ มีกลไกทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้คนจนพอเอาตัวรอดไปได้หลายอย่าง เช่นในภาคเหนือ มักมีพื้นที่ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ "หน้าหมู่" หรือเป็นสมบัติของชุมชน ซึ่งชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน สามารถเอาไปใช้เพาะปลูกได้ ในภาคอีสาน พื้นที่บุ่งทามก็เป็นเหมือนพื้นที่ "หน้าหมู่" มีหน้าที่อย่างเดียวกัน

จริงอยู่ คนรวยก็มีสิทธิ์ใช้พื้นที่เหล่านี้เหมือนกัน และมักใช้อย่างได้กำไรมากกว่าคนจนด้วย แต่อย่างน้อยคนจนก็พอมีรูหายใจ คือพอมีข้าวไว้กรอกหม้อไปจนครบปีได้ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงสมบัติสาธารณะอีกหลายอย่าง เช่น ปลาในห้วยหนองคลองบึง พืชผักผลไม้และสัตว์ในป่า บรรดาสิ่งทั้งหลายซึ่งมีมาเองตามธรรมชาติ โดยไม่มีใครไปลงแรงปลูกสร้างขึ้น ย่อมถือเป็นสมบัติสาธารณะของชุมชนทั้งสิ้น

ความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจทิ่มตำให้ผู้คนเจ็บปวดก็จริง แต่ไม่แหลมคมเกินไปนัก เพราะอย่างน้อยก็พอดิ้นรนเอาตัวรอดไปได้ ยอมรับว่าแข่งเรือแข่งพายพอได้ แต่จะไปแข่งวาสนาบารมีนั้นทำไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในชุมชน คือการที่คนรวยคนจน (หรือคนมีอำนาจกับคนไร้อำนาจ) จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน แม้เป็นความสัมพันธ์ที่ (ถ้าใช้มาตรฐานการแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดเป็นเกณฑ์) ย่อมมีฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ แต่ก็มีความผูกพันที่มีอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันอยู่ในนั้นด้วย

อีกทั้งยังมีพิธีกรรมอีกหลายอย่างที่ช่วยดึงเอาผู้คนที่มีความแตกต่างนี้ลงมายืนในพื้นที่เสมอภาคกันได้เป็นครั้งคราว เช่นแห่นางแมวขอฝน ก็เป็นพิธีกรรมที่ตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ให้ความเคารพต่อความแตกต่างทางสถานภาพลงเสีย ในบางท้องที่ งานสงกรานต์ ก็ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน

ในภาคเหนือ มีประเพณี "ทานทอด" คือทอดผ้าป่าโดยเฉพาะอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่คนจน โดยทำเหมือนทอดผ้าป่าให้สงฆ์ คือแอบเอาของเหล่านั้นไปวางใกล้ที่อยู่ของคนจน แล้วส่งสัญญาณให้เขามาเอาไป โดยผู้ให้หลบไปเสียไม่ให้เห็นหน้า

มองจากแง่บุคคล แต่ละคนพอจะหาที่ยืนในชุมชนได้ เพราะเกณฑ์ของสถานภาพไม่ได้ผูกติดกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เช่น คนจนแต่บังเอิญเชี่ยวชาญด้านการรักษาพยาบาล ก็อาจเป็นหมอยาที่ได้รับความนับหน้าถือตา หมอผีก็เหมือนกัน หรือพายเรือเก่ง ไปจนถึงเป็นหมอลำได้ดี เป็นศิษย์โนราดัง เป็นต้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จนแล้วมีเกียรติก็ได้ มีอำนาจก็ได้ เพียงแต่เป็นอำนาจในบางกรณี ความมีหน้ามีตาถูกกระจายออกไปยังคนนานาประเภทในชุมชน

แต่กลไกทางวัฒนธรรมเหล่านี้สิ้นสลายลง หรือเปลี่ยนความหมายไปเสียมากแล้ว ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่นำสังคมไทยมาสู่สังคมสมัยใหม่ ความแตกต่างทางสถานภาพนานาประการนำเอาความเจ็บปวดมาทิ่มแทงผู้คนให้บาดลึกลงไปในบุคลิกภาพ ผู้คนจึงมองการ "ได้ดี" ของคนอื่นด้วยความสะดุ้งหวั่นไหวว่า สถานภาพของตัวยิ่งตกต่ำลงไปกว่าเดิมเมื่อคนอื่นกระเถิบสูงขึ้น ยากที่จะให้รู้สึก "พลอยยินดี" ไปกับเขาได้

ครูฝรั่งของผมเข้ามาทำงานเกี่ยวกับชาวนาไทยแถบบางชัน ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่คืบ ชุมชนกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สถานภาพและความผูกพันที่เคยมีมากำลังแปรเปลี่ยนไป ถ้าแถบบางชันเคยมีสมบัติสาธารณะใดๆ มาก่อน ก็กำลังร่อยหรอลง เพราะคนมือยาวกว่าเข้าไปช่วงชิงใช้สอยแต่ผู้เดียว หรือเสื่อมสภาพเพราะไม่มีการบำรุงรักษา ในสภาพอย่างนี้แหละครับที่ผมคิดว่า นักมานุษยวิทยาอาจตีความพฤติกรรมของผู้คนได้ว่าขี้อิจฉา คือไม่อยากเห็นใคร "ได้ดี" ไปกว่าตัว

และในภายหลัง สภาพอย่างนี้ไม่ได้เกิดที่บางชันแห่งเดียว แต่ระบาดไปทั่วประเทศไทย ฉะนั้นถ้าพูดถึงความใจแคบของคนอันเกิดจากการที่ถูกพรากจากความสัมพันธ์ในชุมชน กลายเป็นปัจเจกที่ไร้ความมั่นคงใดๆ ในชีวิต ว่าคือความขี้อิจฉา เราก็อาจพูดได้ว่าคนไทยขี้อิจฉากระมัง

อันที่จริง กลไกทางวัฒนธรรมที่ผมยกมากล่าวข้างต้นล้วนทำงานไม่ได้ผลไปแล้วทั้งนั้น เพราะเมื่อเป็นกลไก มันก็ต้องทำงานโดยอิงอาศัยกัน จะหยิบเอาบางชิ้นส่วนขึ้นมาให้ทำงานเหมือนกันย่อมไม่ได้

ผมมีกรณีตัวอย่างที่เคยได้ฟังจากนักมานุษยวิทยาอีกท่านหนึ่ง คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ท่านเล่าด้วยความสลดใจว่า ท่านเองมีส่วนสำคัญในการทำลายบารมีของผู้นำสลัมคนหนึ่งลงโดยไม่ได้ตั้งใจ เรื่องของเรื่องก็คือ มีองค์กรอะไรอันหนึ่งเอาผ้าห่มไปแจกชาวสลัมผ่านผู้นำคนนั้น ท่านผู้นำก็โชคร้ายที่มาพบท่านอาจารย์อคินเสียก่อนจะได้แจกผ้าห่ม

ท่านผู้นำถามท่านอาจารย์ว่าจะแจกอย่างไรดี เพราะมีไม่ครบคน ในฐานะนักเรียนอังกฤษนะครับ ท่านอาจารย์อคินก็แนะนำว่า ควรแจกตามความจำเป็น คือใครจนไม่มีผ้าห่มก็ควรแจกคนนั้น ด้วยความสนิทสนมและเคารพนับถือกันมานาน ท่านผู้นำก็เชื่อจึงแจกผ้าห่มตามหลักสังคมนิยมเฟเบียนเป๊ะเลย

ผลก็คือ เหล่าบริวาร โดยเฉพาะที่เป็นมือขวามือซ้ายของผู้นำพากันโกรธเคืองลูกพี่อย่างไม่เคยมาก่อนเลย รองหัวหน้าซึ่งเคยเป็นมือขวาบ่นให้ท่านอาจารย์อคินฟังว่า ผมกับมันร่วมหัวจมท้ายกันมาตลอด ช่วยเหลือเป็นธุระของมันมาทุกอย่าง ดูสิ แทนที่จะแจกผ้าห่มให้ผม กลับเอาไปแจกคนอื่นหมด ไม่แจกผมเลยสักผืน ตั้งแต่นั้นมาก็เลิกนับถือเป็นลูกพี่อีกต่อไป

ท่านอาจารย์อคินสรุปว่า หลักสังคมนิยมเฟเบียนใช้กับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่ได้ เพราะคนควรเข้าถึงทรัพยากรตามลำดับความสัมพันธ์ในโครงสร้างของการอุปถัมภ์ ไม่ใช่ความจำเป็นในชีวิต

อย่าลืมนะครับว่า ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์คือการแลกเปลี่ยน ฉะนั้น การอดได้ผ้าห่มจึงเท่ากับโดนโกง ไม่ใช่เรื่องที่ไม่รู้จักการเสียสละให้แก่คนที่ขาดแคลน นั่นมันเรื่องทำบุญ คนละเรื่องกัน

ความเข้าใจของท่านอาจารย์อคินต่อกรณีนี้คงใช่แน่ แต่ผมอดตะขิดตะขวงใจไม่ได้ว่า แล้วในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ของไทยนั้นไม่มีการจัดการให้ทรัพยากรถึงมือคนที่เข้าไม่ถึงเลยหรือ นอกจากต้องเข้าไปอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์เท่านั้น ถ้าอย่างนั้น คนที่มีอยู่แล้วมิยิ่งมีกันมากขึ้นจนล้นเหลือหรือ

ผมคิดในใจของผมเองว่า สมมติว่าลูกพี่เชื่อท่านอาจารย์อคิน แต่ใช้วิธีดำเนินงานอีกอย่างหนึ่ง คือประชุมสมุนของตัว บอกหลักการให้ทราบ แล้ววานให้สมุนชั้นนำของตัวนำผ้าห่มไปแจกแทน ก็จะไม่มีใครกบฏต่อลูกพี่ ไม่ใช่เพราะสมุนต่างพากันโกงด้วยการเก็บผ้าห่มไว้เองโดยไม่แจกนะครับ แต่เป็นเพราะลูกพี่เปิดโอกาสให้สมุนได้ใช้ทรัพยากรผ้าห่มไปขยายเครือข่ายอุปถัมภ์ของตัวเอง พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ถึงแม้สมุนจะไม่ได้ผ้าห่มไว้เอง แต่ก็ได้สร้างบารมีของตัวกับชาวบ้าน ถ้าพูดภาษาชาววัดก็คือ ได้ร่วมทำบุญจนได้หน้าไม่น้อยไปกว่ากัน ทุกคนได้หมด รวมทั้งสังคมนิยมเฟเบียนด้วย

แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องอาศัยกลไกทางวัฒนธรรมอีกหลายอย่างในชุมชนซึ่งผู้นำเข้าไม่ถึงเสียแล้ว


๔. สังคมที่พจนานุกรมสร้างขึ้น
ความคิดที่จะทำพจนานุกรมภาษาเดียว คือแปลไทยเป็นไทย หรือแปลฝรั่งเศสเป็นฝรั่งเศส เป็นความคิดที่ประหลาดอยู่นะครับ อยู่ๆ คนจะลุกขึ้นมาบอกคนอื่นซึ่งพูดภาษาเดียวกับตัวว่า คำนั้นคำนี้มีความหมายว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ในเมื่อก็รู้ๆ อยู่แล้วว่าคนอื่นเขาก็รู้แล้วละว่าคำนั้นๆ มีความหมายว่าอะไร ไม่อย่างนั้นเขาจะพูดภาษานั้นๆ ได้คล่องปากหรือ

ฉะนั้น พจนานุกรมภาษาเดียวในระยะแรกๆ จึงไม่ใช่พจนานุกรมแท้ เพราะมักทำเป็นเหมือนคู่มือหรือเครื่องมือสำหรับอ่านภาษาโบราณ, อ่านวรรณคดี, อ่านตำราลี้ลับบางอย่างที่มีความหมายซ่อนเงื่อน หรือมิฉะนั้นก็บอกวิธีสะกดคำบางคำที่อาจจะสับสนสำหรับเด็กหัดเรียน เช่นคำที่มีเสียงพ้อง เป็นต้น

ส่วนพจนานุกรมที่รวบรวมคำในภาษาหนึ่ง แล้วให้คำแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งนั้น ไม่ค่อยประหลาดเท่าไร เพราะมันมีประโยชน์ใช้สอยอย่างชัดเจน อย่างน้อยก็ใช้เรียนภาษานั้นๆ ได้ ยังไม่พูดถึงประโยชน์ในการใช้ภาษานั้นสำหรับสอนศาสนาหรือทำการค้า

ผมจึงคิดว่า ก่อนที่ใครจะลุกขึ้นมารวบรวมคำในภาษาใดภาษาหนึ่ง แล้วให้ความหมายไว้ในภาษาเดียวกันนั้น (หรือลุกขึ้นมาทำพจนานุกรมภาษาเดียว) น่าจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นก่อนและอะไรบางอย่างที่ว่านั้นเป็นเรื่องของสังคม ไม่ใช่เรื่องของหมอนั่นที่ลุกขึ้นมารวบรวมคำ

ผมอยากจะพูดถึงอะไรบางอย่างนั้น เท่าที่จะมีสติปัญญาพอจะพูดได้

สำนึกว่าภาษาเป็นอะไรก้อนหนึ่งที่มีลักษณะชัดเจนพอจะบรรยายออกมาให้คนอื่นเห็นได้นี้ (เนื่องจากคำเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของภาษา พจนานุกรมจึงเป็นการ "บรรยาย" ภาพของภาษานั้นๆ อย่างหนึ่ง) ไม่ได้มีมาก่อนนะครับ เพราะภาษาที่คนโบราณพูดกันนั้นมันเหมือนเส้นสืบเนื่องอันหนึ่ง ซึ่งค่อยๆ แปรจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง กลายเป็นอีกภาษาถิ่นหนึ่ง ถ้าไกลออกไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นอีกภาษาหนึ่งไปเลย โดยผู้ใช้ภาษาไม่เคยนึกสังเกตเห็นภาษาเป็น "ก้อน" ที่ตายตัวแต่อย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างนี้นะครับว่า คำว่า "ฮ่วย" (ภาษาอีสาน) นั้น คนทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์ เขาคิดว่ามันเลยเขตของภาษาไทย (กลาง) ที่เขากำลังรวบรวมอยู่ แต่คนทำพจนานุกรมฉบับมติชนไม่ได้คิดอย่างนั้น จึงรวมคำนี้ไว้ด้วย ใครจะถูกจะผิดไม่สำคัญหรอกครับ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่ามี "เขต" ของภาษาไทยอยู่นี่สิครับ แสดงว่าภาษามันเป็นก้อนชัดเจน จึงสามารถลากเส้นขอบของมันได้ คำนี้ยังอยู่ในเขต คำนี้อยู่นอกเขต

กว่าคนเราจะคิดว่าภาษาเป็น "ก้อน" ที่มีลักษณะชัดเจนได้ ผมคิดว่าเขาคิดถึงสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่างว่าเป็น "ก้อน" เหมือนกัน โดยสรุปคือมองเห็นความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมร่วมกันบางอย่าง (ซึ่งแตกต่างจากการร่วมกันทางศาสนาซึ่งเคยมีมาก่อน) แน่นอนว่าในบรรดาวัฒนธรรมที่ร่วมกันนั้น ภาษามองเห็นได้ชัดที่สุด (ในยุโรป ว่ากันว่าการพิมพ์แบบใหม่ทำให้เกิดสำนึกนี้) แล้วก็เลยไปยังเครื่องแต่งกาย, อาหาร, เพลง ฯลฯ

ฉะนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่พจนานุกรมภาษาเดียวฉบับแรกที่เกิดขึ้นในโลกจะเป็นภาษาจีน เพราะวัฒนธรรมจีนถูกทำให้เป็น "มาตรฐาน" ก่อนหน้าใคร และที่จริงแล้วชัยชนะของพวกฮั่นเหนือชนเผ่าและชนชาติมากมายที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินซึ่งปัจจุบันเรียกว่าจีนนั้น ไม่ได้มาจากอะไรอื่นเลยนอกจากวัฒนธรรมที่เป็นมาตรฐานและแข็งแกร่งของตน (ถ้าผมจำไม่ผิดดูเหมือนพจนานุกรมฉบับแรกของจีนรวบรวมขึ้นตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น แต่อย่าเพิ่งเชื่อผมนะครับ เพราะไม่ได้ไปเปิดตำราตรวจสอบความจำของคนแก่)

ผมออกจะรู้สึกอัศจรรย์ใจอย่างมากกับพจนานุกรมของหมอบรัดเลย์ ซึ่งในทัศนะของผมถือว่าเป็นพจนานุกรมภาษาเดียวฉบับแรกของภาษาไทย (ส่วนของหมอคาสเวลและแชนด์เลอร์นั้นผมคิดว่าเป็นแค่ประมวลศัพท์ที่ให้คนไทยรวบรวมขึ้นสำหรับการเรียนภาษาของมิชชันนารีเท่านั้น) หมอบรัดเลย์คิดอะไรจึงคิดทำพจนานุกรมเอาไว้เกินกว่าที่งานของมิชชันนารีจะใช้ประโยชน์

ทำไมฝรั่งคนหนึ่ง (ไม่ว่าจะรักหรือไม่รักประเทศไทยแค่ไหนก็ตาม) จึงลงทุนลงแรงทำพจนานุกรมภาษาไทยแล้วให้คำแปลเป็นไทย ท่านคิดว่าคนไทยจะเอาไปทำอะไร หรือยิ่งไปกว่านั้น ท่านคิดว่าคนไทยจะเกิดสำนึกใหม่อะไรจากพจนานุกรมของท่านหรือไม่ ?

ผมเดาไม่ถูกหรอกครับ เพียงแต่นึกอัศจรรย์ใจเท่านั้น เพราะสังคมไทยที่ท่านประสบในตอนนั้นยังไม่มีสำนึกของ "วัฒนธรรมไทย" ที่เด่นชัดนัก ("วัฒนธรรมไทย" มีหรือยังคงเถียงกันได้ แต่สำนึกว่ามีหรือไม่นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แล้วท่านคิดว่าคนจะซื้อพจนานุกรมของท่านไปทำอะไร

ผมคิดถึงเรื่องนี้เพราะนึกถึงยุโรปตะวันออก ชนชาติต่างๆ ในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 มักจะถูกจักรวรรดิใหญ่อื่นๆ ครอบครอง สำนึกเรื่องภาษาและการทำพจนานุกรมนี่แหละครับ ที่ทำให้เกิดสำนึกชาตินิยมขึ้นมา เพราะรู้สึกถึงความร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนของชนชาติตัวเอง ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากคนอื่น และแตกต่างจากผู้ปกครองจักรวรรดิที่ครอบครองตัวอยู่

ประจักษ์พยานอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคนไทยไม่ได้เอาพจนานุกรมของหมอบรัดเลย์ไปทำอะไรก็คือ ไม่ค่อยมีใครอ้างถึงพจนานุกรมเล่มนี้ ไม่ว่าจะในแง่ตัวสะกดหรือในแง่ความหมายอีกนาน จนมันกลายเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับภาษาไทยโบราณในระยะหลังแล้ว จึงมีคนใช้อ้างอิง

ยิ่งกว่านั้น พจนานุกรมของหมอบรัดเลย์ไม่ได้ทำให้เอกชนไทยคิดทำพจนานุกรมของตัวขึ้นมาบ้าง ราชการไทยเองยังต้องใช้เวลาอีก 12 ปี หลังจากที่ฉบับของหมอบรัดเลย์พิมพ์จำหน่ายแล้วจึงคิดทำพจนานุกรมของตัวขึ้นมาบ้าง กว่าจะเสร็จจนได้พิมพ์ก็ต้องใช้เวลาต่อมาอีก 7 ปี ซ้ำไม่ใช่พจนานุกรมชนิดที่รวมคำทั้งหมดในภาษาไทยด้วย แต่รวมจากสิ่งพิมพ์และค่อนข้างเน้นหนักไปในทางศัพท์ยากๆ ที่พบได้ในวรรณคดี

ตามความคิดแบบไทยที่เริ่มปรากฏมาตั้งแต่จินดามณีในสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมของทางการไทยนี่แหละครับที่ถูกพัฒนามาจนกลายเป็นปทานุกรมสำหรับนักเรียนของกระทรวงธรรมการ 2463 ห่างจากการวางตลาดของฉบับหมอบรัดเลย์ถึง 47 ปี หรือเกือบครึ่งศตวรรษ

ถ้ามองพจนานุกรมในแง่สังคมและการเมือง ฉบับของหมอบรัดเลย์นั้นเป็นกระสุนด้านครับ แต่ถ้าพจนานุกรมของท่านมีส่วนในการกระตุ้นให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ไทยสร้างพจนานุกรมของตัวเองขึ้นมา กระสุนก็ไม่ด้านเสียทีเดียว เพราะโดยอาศัยภาษาไทยบางกอกที่ท่านรวบรวมคำไว้เป็นคนแรกนี่แหละครับ ที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์จะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรัฐแบบใหม่ (ก็คือรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ไงครับ) ที่รวบรวมคนหลากหลายภาษาและสำเนียงไว้ภายใต้อำนาจของตัวในนามของผู้อยู่ในอาณัติของภาษา "ไทย" หรือ ภาษา "สยาม"

ในทางตรงกันข้าม ลองจินตนาการดูนะครับว่า พจนานุกรมของท่านบันดานใจให้คนไทยอื่นๆ นอกภาครัฐ คิดสร้างพจนานุกรมของตัวขึ้นมาบ้าง ก็คงจะเกิดพจนานุกรมภาษาสุพรรณ, ภาษาเพชรบุรี, ภาษาเมืองสิงห์ ฯลฯ และป่านนี้เราก็ไม่อาจพูดได้ว่าสำเนียงเหล่านี้เป็นสำเนียง "เหน่อ" แต่จะรู้สึกว่าเป็นอีกสำเนียงหนึ่งของภาษาไทยที่มีศักดิ์ศรีเท่ากับภาษา "ไทย"

แล้วถ้าคิดเลยไปถึงภาษาเมือง "ภาษาอีสาน และภาษาใต้ หรือภาษากะเหรี่ยง, ชอง, เขมรสูง, กูย, แสก, มลายู ฯลฯ บางที่ชาติไทยอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้ก็ได้

และเพราะพจนานุกรมของรัฐเป็นเครื่องมืออันสำคัญของรัฐแบบใหม่ดังที่กล่าวแล้ว พจนานุกรมของรัฐสืบมาจนฉบับ พ.ศ.2493 จนถึง 2525 ล้วนมีความพยายามจะ "กำหนด" ภาษาไทยตลอดมา คือสั่งว่า สะกดอย่างไร, ออกเสียงอย่างไร และต้องมีความหมายอย่างไร จึงจะถือว่าถูกต้อง

ผมถึงพูดว่ารวบรวมคนหลายภาษาและสำเนียงไว้ภายใต้อาณัติของภาษาไทย แทนที่จะพูดว่ารวบรวมคนให้เข้ามาเป็นเจ้าของภาษาไทยร่วมกัน ท่าทีอย่างนี้ปรากฏในพจนานุกรมภาษาเดียวของไทยสืบมา แม้ฉบับที่เอกชนเป็นผู้จัดทำก็ตาม บางฉบับตั้งชื่อว่า "สะกดให้ถูกตามพจนานุกรม" เสียด้วย

ฉะนั้น ผมจึงค่อนข้างยินดีที่เห็นว่าพจนานุกรมฉบับมติชนแสดงความประสงค์จะเก็บคำและความหมายที่เจ้าของภาษาไทยใช้กันจริง มากกว่าสั่งเจ้าของภาษาให้พูดและเขียนตามความเห็นของตัว แม้กระนั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธหลักการ "ความถูกต้อง" ของราชบัณฑิตเสียด้วย เช่นยึดหลักสะกดการันต์ตามที่ท่านวางเอาไว้ตั้งแต่ 2493 เป็นต้น

แม้ว่ามีเอกชนไทยเคยทำพจนานุกรมมาหลายฉบับแล้ว แต่ผมถือว่าฉบับของมติชนเริ่มก้าวไปยังอีกทิศทางหนึ่ง คือทิศทางของการเก็บคำที่คนไทยใช้จริงๆ ไม่ใช่การอนุญาตให้ใช้คำนั้นคำนี้ได้หรือไม่ได้

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
รวมบทความวิชาการของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าด้วยการเมืองและวัฒนธรรมไทย ผลงานเหล่านี้เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน และมติชนสุดสัปดาห์

ผมเข้าใจเสมอมาว่า กฎหมาย (ที่เป็นทางการ) คือกติกาสำหรับสังคมในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ฉะนั้นกฎหมายจึงต้องว่าด้วยอำนาจ, ว่าด้วยภาระหน้าที่, และว่าด้วยสิทธิ) แต่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไหนในโลกที่ถูกกำกับด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีวัฒนธรรมประเพณี, ศีลธรรม, แรงกดดันของสังคม, สำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ อีกร้อยแปดอย่างที่คอยกำกับพฤติกรรมของมนุษย์อยู่

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ในโลกปัจจุบัน ใครจะแยกดินแดนเพื่อเอาไปทำอะไรครับ แยกไปก็เพื่อจะไปสร้างชาติใหม่ขึ้นมา แต่มันไม่มีฐานสำหรับชาติใหม่ที่ว่า (ยังไม่พูดถึงฐานความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีอยู่เลย) และด้วยเหตุดังนั้น ส่วนใหญ่ของชาวมลายูจึงไม่ได้คิดเรื่องนี้ และไม่ได้ร่วมมือกับฝ่ายตรงข้ามมากไปกว่าความกลัว เรื่องการแยกดินแดนเป็นเพียงการปลุกปั่นคนไทยในส่วนอื่นของประเทศ ให้จำนนต่อนโยบายไร้ประสิทธิภาพและไร้ความยุติธรรมของรัฐบาลเท่านั้น ผู้คนรวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องพลีชีพให้แก่นโยบายนี้มานานแล้ว ชาติไทยที่แท้จริง ต้องมีพื้นที่สำหรับคนมลายู, คนกะเหรี่ยง, คนเขมร, คนมอญ ฯลฯ สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนได้อย่างเสรี ไม่ใช่มีได้แต่อัตลักษณ์ของไทย

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ