ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
060448
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 554 หัวเรื่อง
โรงเรียนแห่งเสรีภาพและจินตนาการ

สมชาย บำรุงวงศ์
นักวิชาการอิสระ
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

โรงเรียนในจินตนาการแบบคนเพ้อเจ้อ
พ้นไปจากโรงเรียนขยะสู่โรงเรียนเสรีภาพ
สมชาย บำรุงวงศ์
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ: บทความเรื่อง "โรงเรียนในจินตนาการแบบคนเพ้อเจ้อ"ชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เผยแพร่ครั้งแรก
บนเว็ปไซต์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)




ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมเคยเชื่อว่า การศึกษาในแบบที่ผมได้ประสบมานั้น เป็นดั่งความจริงแท้ มีมาตั้งแต่โลกกำเนิด จะมีและเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนถึงวันที่โลกดับสูญ ผมไม่เชื่อว่าจะมีแบบแผนอื่นใดต่างไปจากนี้อีกแล้ว นอกจากที่ผมปฏิบัติอยู่ ต้องแต่งชุดนักเรียน ไปให้ถึงโรงเรียนทันเคารพธงชาติ ต้องเรียนตามตารางเรียน ต้องสอบวัดผล ต้องไม่ไว้ผมยาว ต้องและต้อง.........

นานมาแล้วเช่นกัน มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับกรอบคิดแบบเดิมๆนั้น จึงได้สร้างทางเลือกใหม่ๆของการศึกษาขึ้นมาตามแนวทางที่ตนเชื่อ เพื่อพิสูจน์ว่าการศึกษาไม่จำต้องมี "แบบนั้น" เพียงแบบเดียว

ลองมาวาดภาพโรงเรียนอีกแบบหนึ่ง อีกแบบที่ต่างไปจากแบบเดิมๆนั้น

......เริ่มจากตื่นนอนในตอนเช้า คุณไม่ต้องแต่งตัวตามสูตรสำเร็จว่า ถ้าวันนี้ใส่ชุดนักเรียน ถ้าเป็นอีกวันเป็นชุดลูกเสือ(เนตรนารี) หรือชุดพละ คุณเลือกชุดได้ตามสบายอย่างที่อยากใส่ (หวังว่าคุณคงไม่ถึงกับใส่ชุดเปลือยอกไปโรงเรียน) คุณไม่ต้องกังวลว่าผมออกจะยาวเกินระเบียบแล้วจะถูกทำโทษ เพราะโรงเรียนนี้ไม่ยุ่งเรื่องบนหัวใคร(และอีกหลายๆเรื่อง) ถ้าเรื่องนั้นไม่ไปสร้างภาระเดือดร้อนให้กับใคร

คุณจึงออกจากบ้านด้วยความรู้สึกปลอดโปร่งสบายใจ โรงเรียนของคุณอยู่ชานเมือง ทัศนียภาพร่มรื่นด้วยต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและที่ปลูกเสริมบางส่วน ทั้งห้องเรียน อาคารใช้สอยประโยชน์อื่นๆก็ปลูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่มั่นคงแข็งแรง ดูกลมกลืนกับภูมิทัศน์รอบๆ ไม่มีอาคารแข็งทื่อหลายๆชั้นอย่างโรงเรียนในเมืองทั่วไป เพราะที่นี่มีนักเรียนไม่ถึงร้อยคน ทั้งไม่มีนโยบายรับนักเรียนมากๆอย่างที่อื่น ที่นี่ความสำเร็จไม่ได้วัดจากจำนวนนักเรียน แต่จากสิ่งอื่น......

บางวันคุณอาจมาถึงโรงเรียนสายไปบ้าง แต่ก็สบายใจได้ว่าจะไม่ต้องวิ่งตาลีตาเหลือก เพื่อให้ทันเข้าแถวเคารพธงชาติ เพื่อแสดงออกถึงความรักชาติแบบปลอมๆ ไม่ต้องสวดมนต์แบบที่เคยต้องทำกันทุกวี่ทุกวัน จนดูจะเป็นหุ่นยนต์มากกว่าเป็นมนุษย์

คุณเดินผ่านประตูโรงเรียนเข้าไปได้เลย คุณคงเดินสวนกับครูสักคนสองคน และคุณก็ยกมือไหว้สวัสดี อันเป็นธรรมเนียมทักทายปกติที่ปฏิบัติกัน แต่ก็ใช่ว่าตลอดวันทุกครั้งที่คุณเดินสวนกับครู คุณต้องทำอย่างนั้นทุกครั้ง มันไม่ใช่ธรรมเนียมของที่นี่ การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติและให้เกียรติกันต่างหาก ที่สถานที่นี้ให้ความสำคัญ และเพราะคนเรามีวิธีทักทายกันหลายวิธี

บางครั้งคุณอาจกระเซ้าครูด้วยเรื่องทรงผมที่เปลี่ยนไป, เสื้อหรือกางเกงที่สวยเลิศเข้ากัน คุณรู้ว่าคุณทำอย่างนั้นได้ เพราะครูที่เป็นกันเองกับเด็กๆ ทั้งยังชอบกระเซ้าเย้าแหย่หรือพูดอะไรขำๆกับเด็กๆเป็นธรรมดาอยู่แล้ว

เช้านี้คุณจะเริ่มด้วยการทำอะไรดี? นี่เป็นคำถามที่คุณต้องถามและตอบเอง ไม่ใช่รอให้ใครมากำหนด หรือรับคำสั่งจากใครอย่างโรงเรียนอื่น เด็กที่อยู่ที่นี่มาระยะหนึ่งแล้วมักข้ามคำถามนี้ไป เพราะรู้ว่าตนกำลังสนใจเรื่องใดอยู่ เว้นแต่ว่าเขาหมดความสนใจในเรื่องนั้นๆแล้ว และกำลังหาความสนใจใหม่มาแทน เด็กที่นี่หลายคนจึงเริ่มวันใหม่ด้วยการทำโน่นทำนี่ต่อจากเมื่อวานที่ทำค้างไว้ เด็กบางคนยังไม่รู้ว่าตัวสนใจอะไร ก็จะจับนั่นนิดแล้ววาง แล้วไปจับอย่างอื่น ดูวุ่นวายคล้ายคนจับจด แต่ที่นี่ไม่เรียกสิ่งนี้ว่าจับจด แต่เรียกว่า "การค้นหาสิ่งที่สนใจ"

เด็กคนหนึ่งเห็นเพื่อนๆกำลังวาดรูปกัน จึงเข้าไปวาดด้วย แต่ไม่ทันไรก็วางดินสอ แล้วไปห้องช่างไม้เอาไม้มาเลื่อยๆตอกๆแล้วทิ้งไปอีก ไม่ว่าจะจับทำแล้ววางอีกกี่ครั้ง ก็จะไม่มีใครมาตำหนิ อาจมีเด็กบางคนมีบุคลิกแปลกออกไป(มักเคยอยู่ในโรงเรียนที่เข้มงวดมาก่อน) คือไม่มีทีท่าว่าจะสนใจค้นหาสิ่งที่ตัวสนใจอะไรเลย เขาอาจนั่งเฉยๆอยู่ได้ทั้งวัน ไม่ชอบเข้าพวก หรือนอนทั้งวันโดยไม่สนใจอะไรเลยกระทั่งเรื่องเล่น (ที่นี่เราไม่เชื่อว่าจะมีใครไม่สนใจอะไรเลยอย่างแท้จริง การอยู่เฉยๆจึงน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งของการพยายามค้นหาสิ่งที่ตนสนใจนั่นเอง) อย่างไรก็ตามจะไม่มีใครมาแทรกแซงการต้องการอยู่เฉยๆนั้น

เด็กบางคนเป็นเด็กประเภทที่ถูกตราว่าเป็น "เด็กเหลือขอ" "เด็กล้มเหลว" ในสายตาของสังคม ในสายตาของระบบโรงเรียนแบบเดิมๆ ในสายตาของพ่อแม่บางประเภท เมื่อหมดหนทางจึงคว้าเอาที่นี่เป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" เด็กเหล่านี้ถูกกระทำมาคล้ายๆกัน คือถูกทำให้เป็นเด็กที่เป็นโรคขาดความสุข ขาดความสุขเพราะถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆนานาที่ขัดกับสัญชาตญาณและธรรมชาติของความเป็นเด็ก-ความเป็นมนุษย์ และที่นี่เชื่อว่า การมอบเสรีภาพให้จะรักษาให้เด็กเหล่านั้นหายจากโรคดังกล่าวได้ ที่นี่เด็กๆจึงมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ภายใต้ขอบเขตของเสรีภาพดังที่กล่าวมา ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งเด็กเหล่านี้ก็จะค้นพบสิ่งที่ตนสนใจ ถนัด รัก และได้มุ่งไปตามทางที่ตนเลือก โดยไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางหรือทำให้ช้าลง เพราะไม่ถูกบังคับให้ต้องเรียน "วิชาการขยะ" หรือวิชาการที่เกินความจำเป็นต่อความต้องการของเขา

เด็กบางคนเอาแต่เล่นและเล่น และที่นี่ไม่เห็นอย่างที่ใครๆเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ แต่กลับเห็นว่าเป็นสาระอย่างยิ่งของเด็ก ไม่ว่าการเล่นจะเป็นหรือไม่เป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็กหรือไม่ นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย การเรียนไม่ได้หมายถึงการนั่งที่โต๊ะเรียงเป็นแถวๆในห้องเรียน เด็กที่วิ่งเล่น ถีบจักรยาน ทำของเล่นในโรงฝึกงาน ปีนป่ายต้นไม้หรือนอนเฉยๆก็อาจอยู่ในข่ายของการเรียนรู้ได้ ไมเคิลเอนเจโลก็นอนเฉยๆก่อนจะลุกขึ้นมาเขียนภาพในโบสถ์ซิสติน ที่เซนต์ปีเตอร์ นักวิทยาศาสตร์หลายๆคนก็คิดทฤษฎีใหม่ๆออกตอนอยู่บนเตียง หรือขณะกำลังเดินเล่นในสวน

ปรัชญาของที่นี่มีสั้นๆเพียงคำเดียวคือ "เสรีภาพ" เรื่องอื่นๆล้วนเป็นเรื่องปลีกย่อย การจะดูว่าหลักคิดหรือการกระทำใดอยู่ในแนวทางหรือไม่ ก็เพียงแต่ดูว่ามันขัดกับหลักการแห่งเสรีภาพหรือไม่เพียงเท่านั้น จึงแน่นอนว่าที่นี่จะไม่มีการบังคับหรือออกคำสั่งใดๆ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนก็คือชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่ง จึงย่อมต้องมีกฎข้อบังคับของการอยู่ร่วมกัน กฎในเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องเข้าใจด้วยว่า เสรีภาพในที่นี้หมายถึง ใครจะคิดจะทำอะไรก็ได้ ตราบใดที่สิ่งนั้นไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร และไม่ไปทำลายกฎของการอยู่ร่วมกัน

ในเรื่องการเรียนการสอน ที่นี่ยึดหลักทุกคนจะได้เรียนในสิ่งที่ตนสนใจ เท่าที่ความสามารถของโรงเรียนจะจัดหาให้ได้ นักเรียนเลือกเรียนสิ่งที่ตนสนใจ ครูเป็นผู้สนองความต้องการนั้น หากเด็กคนใดยังไม่มีความสนใจที่จะเรียนวิชาใดเลย แต่ยังสนุกกับการเล่นทั้งวัน ทั้งปี ก็เป็นสิทธิ์ของเด็กคนนั้น จะไม่มีการแทรกแซงใดๆจากครู ครูไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปกระตุ้น โน้มน้าว จูงใจหรือหลอกล่อใดๆ เพื่อให้เด็กสนใจเรียน

ที่เป็นดังนี้ เพราะความเชื่อที่ว่า ความสนใจไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบยื่นให้กันได้จากภายนอก แต่เป็นสิ่งที่คนๆนั้นจะต้องหาให้พบด้วยตัวเอง เมื่อพบสิ่งที่ตนสนใจ แรงกระตุ้นที่จะเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นเอง เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ยอมรับกันทั่วไป แต่แปลกที่โรงเรียนแบบเดิมๆไม่ตระหนักในความจริงนี้ ด้วยยังเชื่อว่า ความสนใจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้จากภายนอก ยัดเยียดให้กันได้ สูตรสำเร็จของมันก็คือการบังคับ โดยขั้นแรกอาจต้องใช้รางวัลเข้าล่อก่อน แต่หากยังไม่สำเร็จ ก็จะใช้วิธีสุดท้ายคือการลงโทษ

สำหรับที่นี่ วิธีการเช่นนี้ถูกนับเป็นประหนึ่งอาชญากรรมเลยทีเดียว ด้วยเห็นว่าแม้เด็กคนนั้นจะผ่านขั้นตอนการล่อด้วยรางวัลไปได้ โดยไม่ต้องเจอกับการลงโทษ แต่จากประสบการณ์นั้นเด็กคนนั้นย่อมได้เรียนรู้ว่า "ถ้าอยากให้ฉันทำอะไรบางอย่างที่ฉันไม่ชอบให้ ก็จงเอารางวัลมาก่อน" การใช้วิธีการเช่นนี้ซ้ำๆนานวันเป็นเดือนเป็นปี ในที่สุด เด็กคนนั้นจะไม่พบสิ่งที่ตนสนใจจริงๆ โตขึ้นก็จะจมอยู่แต่กับการต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบเพื่อแลกกับรางวัลไปวันๆ โดยที่ไม่เคยได้ลิ้มรสของความสุขอันเกิดจากการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริง ไม่ต่างอะไรกับม้าในคณะละครสัตว์ ที่หวังแต่จะได้รับก้อนน้ำตาลเป็นรางวัล หลังการแสดง

ช่วงนี้คุณกำลังสนใจการถ่ายภาพและการอัดรูปในห้องมืด คุณผ่านการเรียนทฤษฎีพื้นฐานมาบ้างแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงการปฏิบัติอันน่าตื่นเต้นสนุกสนาน คุณพบว่าไม่เพียงเทคนิคในการถ่ายภาพและการอัดรูปเท่านั้นที่สนุกและน่าสนใจ เรื่องราวที่ถ่ายก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน คุณชอบถ่ายเรื่องราวของคน ชีวิตความเป็นอยู่ การงานอาชีพ วิถีชุมชน คุณได้ท่องเที่ยวและพบปะผู้คนอย่างที่คุณชอบ คุณได้แง่คิดและแรงบันดาลใจจากช่างภาพที่มีชื่อเสียงหลายคน คุณอยากค้นต่อไปกับบางคนที่คุณสนใจเป็นพิเศษ แต่ติดตรงที่หนังสือเหล่านั้นส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ คุณทนรอให้ใครสักคนแปลออกมาไม่ไหว คุณจึงตัดสินใจเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม คุณสนใจความเป็นมาของชุมชน ผู้คน ภูมิประเทศที่คุณถ่าย และคุณเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้จากผู้คนจริง จากเอกสาร-ตำรา จากการสอบถามผู้รู้

คุณไม่จำเป็นต้องเรียนตามรายวิชา อย่างที่โรงเรียนทั่วไปเรียนกันตามเกณฑ์ คุณไม่ต้องเรียนคณิตศาสตร์ในระดับที่ซับซ้อน คุณเรียนเพียงระดับพื้นฐานเท่าที่คุณเห็นว่าเอาไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง วิชาเคมีของคุณก็คือชื่อของผงเคมีและสูตรในการผสมน้ำยาล้างฟิล์ม-อัดรูป ชีว-ฟิสิกซ์คุณยังนึกไม่ออกว่าคุณต้องการอะไรจากมันไปเพื่ออะไร(คุณยังไม่คิดเป็นนักวิทยาศาสตร์) ไม่แน่วันหนึ่งข้างหน้าคุณอาจสนใจในแง่ของตัววิชาโดยตรง หรือเพียงบางแง่บางมุมเพื่อไปเสริมอีกสิ่งที่คุณสนใจอยากรู้

ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน ความจริงความสนใจในวิถีชุมชน-ผู้คน มันมีนัยของสองวิชานี้อยู่แล้ว เว้นแต่ว่าคุณเกิดอยากรู้เรื่องทุ่งแพร์รี่, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, การปกครองสมัยอยุธยา ฯลฯ ตำรับตำราเหล่านั้นก็มีรอให้คุณเลือกศึกษามากมาย ดังนั้นจึงไม่มีการบังคับว่าคุณต้องรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร

เพื่อนๆของคุณต่างก็มีความสนใจที่เหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง ที่สนใจในเรื่องเดียวกันก็จับกลุ่มกัน ที่นี่ไม่มีการแบ่งนักเรียนเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ หรืออาชีวะ ด้วยความเชื่อที่ว่าคนไม่อาจถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆอย่างนั้นได้ ทั้งยังไม่อาจจัดระดับสูงต่ำของความเป็นคนตามการแบ่งอย่างนั้นด้วย หมอหรือวิศวกรไม่ได้มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าช่างไม้หรือคนทำสวน เพราะที่นี่ไม่ได้วัดศักดิ์ศรีของคนด้วยอาชีพหรือรายได้ ศักดิ์ศรี(หากจะมี)น่าจะหมายถึงความเท่าเทียมกันอย่างไม่มีข้อจำกัดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่นี่เราเคยพูดกันเล่นๆว่า เราอยากเห็นครูกับคนกวาดถนนได้เงินเดือนเท่ากัน

ความคิดที่ให้ค่าของการใช้ "หัว" เหนือกว่าการใช้ "มือ" ไม่ใช่บัญชาของพระเจ้าจากสรวงสวรรค์ แต่เป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้นมาเอง ส่วนที่ว่าอะไรคือจุดที่ก่อให้เกิดความคิดนี้ขึ้นยังไม่รู้แน่ บางคนที่นี่สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดมาจากระบบนายกับทาสในสังคมยุคทาส ที่เชื่อว่า คนบาง(ชาติพันธุ์) เหนือกว่าคนอีกพวก ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่คนพวกหนึ่งจะยกตนเป็นนายและกดคนอีกพวกลงเป็นทาส ฝ่ายหนึ่งออกคำสั่ง ฝ่ายหนึ่งรับคำสั่ง ฝ่ายหนึ่งเป็นพวกชั้นสูง อีกฝ่ายเป็นพวกชั้นต่ำ มีพวกสูงค่า มีพวกด้อยค่า ไม่ว่าข้อสันนิษฐานนี้จะน่าสนใจหรือไม่ แต่เราพบว่าระบบโรงเรียนระบบการศึกษามีแบบแห่งความเชื่อนี้อย่างไม่อาจปฏิเสธ

ที่นี่ให้ความสำคัญกับ "หัว" เท่าๆกับ "มือ" แม้ว่าบางคนถนัดใช้หัวสร้างสรรค์มากกว่า แต่ก็รักการใช้แรงกายและชอบทำอะไรกับมือตนเองด้วยเช่นกัน และกับคนที่ถนัดการใช้มือสร้างสรรค์ก็ใช่ว่าเขาจะใช้หัวไม่เป็น ที่นี่จึงไม่มีการแบ่งเด็กเป็น เด็กวิทย์ เด็กศิลป์ เด็กอาชีวะ เหนืออื่นใดสิ่งหนึ่งที่สำคัญเสมอกัน ทั้งยังนับเป็นประธานของทั้งสองสิ่งดังกล่าว นั่นคือ "หัวใจ" อันหมายถึงภาวะสมดุลของจิตใจ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นการมองโลกในแง่ดี มีเสรีภาพ มีความสุขและรู้คุณค่าในการงานที่ทำ มีอารมณ์ขัน จริงใจ รู้จักรัก รู้จักการให้และการรับ......

ที่นี่ครูไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆกว่าเด็กนักเรียน กระนั้นการอยู่ร่วมกันย่อมต้องมีกฎข้อบังคับ และการลงโทษในกรณีที่สมาชิกฝ่าฝืนกฎอยู่ด้วย แต่การออกกฎข้อบังคับและการลงโทษไม่ใช่เอกสิทธิ์ของใครกระทั่งครู ที่จะตราขึ้นตามใจชอบได้ แต่เกิดจากมติในที่ประชุมที่เรียกกันว่า "สภาโรงเรียน" ซึ่งมักจะจัดให้มีขึ้นหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อชำระสะสางปัญหาข้อขัดแย้งที่มี หรือเพื่อเสนอแก้ไข-ปรับปรุงกฎข้อบังคับบางข้อหรือออกกฎใหม่เพิ่มเติม และเนื่องจากจำนวนนักเรียนและครูรวมกันไม่ถึงร้อยคน จึงไม่ต้องใช้ตัวแทน แต่ใช้วิธีประชาธิปไตยแบบทางตรงได้เลย มีประธานในที่ประชุม(ผลัดเปลี่ยนไปในแต่ละคราว-ไม่ให้ผูกขาด) ในการออกเสียงแสดงมติ ครูมีหนึ่งเสียงเท่ากับนักเรียน

การเอาวิธีประชาธิปไตยมาใช้จริงของที่นี่ เพราะเชื่อว่าการสอนประชาธิปไตยไม่ใช่เกิดจากการท่องตำรา หรือแค่จำลองการเลือกตั้งในรูปของการเลือกประธานนักเรียน อย่างที่ทำกันเป็นครั้งคราว จบแล้วก็จบกันไป สำหรับที่นี่ประชาธิปไตยเป็นหลักการที่ปฏิบัติกันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครตัดสินเรื่องส่วนรวมด้วยตัวคนเดียวได้ และเพราะทุกคนเท่าเทียมกันจึงไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะละเมิดสิทธิ์ของใครได้

การที่โรงเรียนส่วนใหญ่จำลองการหาเสียง การเลือกตั้งขึ้นมา ด้วยเหตุผลสวยหรูว่าเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ประชาธิปไตยจากการปฏิบัติจริงนั้น เป็นเพียงกิจกรรมปาหี่ ทั้งยังเป็นการตอกย้ำแบบอ้อมๆให้นักเรียนเข้าใจว่า ประชาธิปไตยมีความหมายแค่การเลือกตั้งเพียงเท่านั้น เลือกเสร็จก็จบกันไป คนที่ได้รับเลือกจะไปทำอะไรก็เรื่องของเขา ผู้เลือกไม่ต้องไปยุ่งอะไรอีก

เราต่างเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด เพราะเป็นระบอบเพียงระบอบเดียวที่ให้เกียรติมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และโรงเรียนก็คือแบบจำลองของโลกอย่างที่เราเชื่อ ดังนี้การจัดบรรยากาศในโรงเรียนจึงควรเป็นไปเพื่อการนี้

ที่นี่ไม่มีป้ายประกาศความสามารถเด็กเรียนดี-มารยาทงาม เพื่อโฆษณาสรรพคุณของโรงเรียนอย่างที่ที่อื่นๆชอบทำกัน ครูที่นี่บางคนพูดถึงเรื่องนี้อย่างมีอารมณ์ขันว่า ทางโรงเรียนได้จ่ายค่าตัวให้เด็กที่เอามาโฆษณาหรือเปล่า? บ้างก็กัดปนเสียงหัวเราะ(ไม่มีนัยของการดูหมิ่น)ว่า แล้วเมื่อไหร่เด็กที่เอาดีไม่ได้จะได้ขึ้นป้ายบ้างล่ะ

อีกอย่างคือคำขวัญหรูๆประจำโรงเรียนประเภท วิชาการเลิศ คุณธรรมเยี่ยม อะไรทำนองนั้น ที่นี่เห็นว่าเป็นแค่คำอวดโอ่กลวงๆที่ไม่มีวันจะทำได้จริง คำขวัญของที่นี่มีเพียงคำเดียวสั้นๆ เสรีภาพ! และทำได้จริง

ความจริงยังมีประเด็นอื่นๆอีกมากที่น่านำมาพูดถึง อันล้วนแต่ก่อเกิดมาจากรากต้นแห่งคำว่า "เสรีภาพ" เพียงคำเดียว แต่จะขอละไว้เพียงเท่านี้ และใครก็ตามที่คิดว่า นี่มันโรงเรียนของคนบ้าหรืออย่างไร หรือเพ้อเจ้ออย่างนี้ยังจะเรียกว่าเป็นโรงเรียนได้อีกหรือ หรือถ้าโรงเรียนแบบนี้มีอยู่จริงก็ดี

นี่คือจุดสำคัญที่ผมต้องการจะบอกว่า โรงเรียนแบบนี้มีอยู่จริง และก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือในความฝันของใคร แต่ก่อกำเนิดมาร่วมเจ็ดสิบแปดสิบปีแล้ว

ความคิดที่เขียนเรื่องนี้ ผมได้มาจากการอ่านหนังสือชุด "ซัมเมอร์ฮิล" ของเอ.เอส. นีล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชื่อเดียวกันนี้ กับหนังสือชื่อ "โรงเรียนรู้ใจเด็ก" ของเดวิด กริบเบิล อันเกิดจากการตะเวนเยี่ยมเยียนโรงเรียนทางเลือก ที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ ทั้งสองเล่มตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก

ผมเชื่อว่าไม่มีเด็กคนใดไม่ชอบโรงเรียนในลักษณะนี้ เพราะมันไม่ฝืนสัญชาตญาณและธรรมชาติของเขา พูดอย่างถึงที่สุดก็คือ นี่คือโรงเรียนที่ทั้งสอดคล้องและเคารพในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าในแง่ของการเรียนรู้ ตัวตน และการปกครองตนเอง อาจมีคำถามว่า แล้วคุณภาพของเด็กที่ผ่านโรงเรียนแบบนี้มาจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ท่านอาจหาคำตอบได้จากหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม "คุณภาพ" ย่อมขึ้นอยู่กับว่าเราใช้เกณฑ์อะไรในการชี้วัด ซึ่งแน่นอนว่าที่นี่ย่อมต่างไปจากโรงเรียนแบบเดิมๆ และหากท่านยังกังวลว่า ในแง่เปรียบเทียบแล้ว อะไรจะดีกว่ากัน นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้ง่ายๆเช่นกัน แต่จากการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการเอง ซึ่งได้ประเมินมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว พบว่าเด็กไทยอ่อนวิชาภ.ไทย ภ.อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พูดง่ายๆก็คือเด็กไทยอยู่ในภาวะล้มเหลวทางการศึกษานั่นเอง

เด็กที่โชคดีคือเด็กที่ได้อยู่ในโรงเรียนที่ไม่ทำลายความเป็นเด็ก ไม่ทำลายความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญคือไม่ทำลายการแสวงหาความสุข อันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาโดยธรรมชาติ เขาย่อมเป็นเด็กที่โชคดีถ้าได้เกิดมาในครอบครัวที่เข้าใจ ได้อยู่ในโรงเรียนที่เข้าใจ และจะดียิ่งขึ้นถ้าได้อยู่ในสังคมที่เข้าใจ คงไม่ต้องบอกว่าเด็กที่โชคร้ายคือเด็กที่ตกอยู่ในสภาพเช่นไร และนั่นคือความจริงของสังคมเรา ประเทศของเรา

ครั้งหนึ่งเพื่อนผมคนหนึ่งได้พูดวิจารณ์ระบบการศึกษาว่า เป็นระบบแห่งการทำลายไม่ใช่สร้างสรรค์ คร่ำครึ บ้าอำนาจ ฝึกคนให้เป็นทาสทางความคิด เป็นระบบปลิงดูดเลือดในหลายๆระบบปลิงดูดเลือดที่มีอยู่ในสังคม เป็นเครื่องมือของนักการเมือง พวกผู้มีอำนาจ ในการผลิตคนออกมารับใช้ระบบที่เป็นฐานอำนาจของพวกตน

พอผมเอ่ยถึง "การปฏิรูป" เขาก็สวนขึ้นนุ่มๆว่า เรื่องนี้ถ้าไม่ใช่เรื่องของคนตาบอดก็ต้องเป็นเรื่องของคนกะล่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่น่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า เป็นงานของบรรดาพวกที่ได้ชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งก็คือปลิงดูดเลือดที่รับใช้ปลิงดูดเลือดระดับสูงขึ้นไป เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบปลิงดูดเลือดสืบไป.......

การปฏิรูปแบบคนตาบอด คือการพยายามแก้ไขความล้มเหลวภายใต้กรอบคิดเดิม(กรอบคิดแห่งความล้มเหลว) ซึ่งในที่สุดย่อมต้องพบกับความล้มเหลวซ้ำซากไม่จบสิ้น

เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะประณามระบบใดระบบหนึ่งอย่างเป็นเอกเทศ โดยไม่เชื่อมโยงไปถึงระบบอื่นๆ การที่ระบบการศึกษาล้มเหลว นั่นย่อมแสดงว่า ระบบอื่นๆอันประกอบขึ้นเป็นองคาพยพของสังคมย่อมมีความบกพร่อง-ล้มเหลวของมันอยู่ด้วย โดยปริยายย่อมหมายความว่า การพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบใดระบบหนึ่ง(แม้จะรู้ต้นตอของปัญหาแล้ว)อย่างโดดๆ โดยไม่เชื่อมโยงถึงระบบอื่นๆอย่างเป็นองค์รวม ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับการเพ้อฝัน

ขณะเดียวกันก็ช่างเป็นเรื่องน่าสิ้นหวัง เมื่อพบว่าการพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างเป็นองค์รวม ก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่งอีกเช่นกัน! นี่ยังไม่พูดถึงวิธีการแก้ปัญหา(แบบกะล่อน)ของระบบในแต่ละระบบที่เรามักพบว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาให้แก้กันไปเป็นทอดๆไม่จบสิ้น(แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แก้ไม่ถึงรากไม่ถึงต้นตอ)

ถ้าระบบมันพูดได้มันคงพูดว่า ด้วยการแก้ปัญหานั่นเองจึงสร้างอีกปัญหาหนึ่งขึ้นมา เพราะปัญหาเป็นดั่งเลือดที่ระบบต้องใช้สูบกิน ปราศจากเลือดนี้แล้วตัวมันก็ไม่อาจคงอยู่และขยายตัวสืบไป พูดอีกอย่างได้ว่า กรอบคิดทั้งหมดที่ระบบการศึกษาได้ประดิษฐ์สร้างขึ้นมานั่นเอง คือต้นเหตุของความล้มเหลวที่ตามมา เมื่อคิดผิด ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะทำผิด

อาจเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้นีลซึ่งเคยเป็นครูอยู่ในระบบโรงเรียนแบบจารีต แต่มีความคิดขบถ ถอนตัวออกจากระบบ ไปก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลตามความเชื่อของตน แทนที่จะไปคัดง้างกับระบบเดิม ซึ่งเกินกว่ากำลังของเขาที่จะไปทำอะไรได้

ผมขอจบบทความนี้ด้วยวาทะของไอน์สไตน์ที่ว่า "สิ่งเดียวที่ขัดขวางการเรียนรู้ของข้าพเจ้าคือระบบการศึกษา"

25 มีนาคม 48

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด

เด็กบางคนเอาแต่เล่นและเล่น และที่นี่ไม่เห็นอย่างที่ใครๆเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ แต่กลับเห็นว่าเป็นสาระอย่างยิ่งของเด็ก ไม่ว่าการเล่นจะเป็นหรือไม่เป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็กหรือไม่ นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย การเรียนไม่ได้หมายถึงการนั่งที่โต๊ะเรียงเป็นแถวๆในห้องเรียน เด็กที่วิ่งเล่น ถีบจักรยาน ทำของเล่นในโรงฝึกงาน ปีนป่ายต้นไม้หรือนอนเฉยๆก็อาจอยู่ในข่ายของการเรียนรู้ได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ความสนใจไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบยื่นให้กันได้จากภายนอก แต่เป็นสิ่งที่คนๆนั้นจะต้องหาให้พบด้วยตัวเอง เมื่อพบสิ่งที่ตนสนใจ แรงกระตุ้นที่จะเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นเอง เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ยอมรับกันทั่วไป แต่แปลกที่โรงเรียนแบบเดิมๆไม่ตระหนักในความจริงนี้ ด้วยยังเชื่อว่า ความสนใจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้จากภายนอก ยัดเยียดให้กันได้ สูตรสำเร็จของมันก็คือการบังคับ โดยขั้นแรกอาจต้องใช้รางวัลเข้าล่อก่อน แต่หากยังไม่สำเร็จ ก็จะใช้วิธีสุดท้ายคือการลงโทษ สำหรับที่นี่ วิธีการเช่นนี้ถูกนับเป็นประหนึ่งอาชญากรรมเลยทีเดียว... การใช้วิธีการเช่นนี้ซ้ำๆนานวันเป็นเดือนเป็นปี ในที่สุด เด็กคนนั้นจะไม่พบสิ่งที่ตนสนใจจริงๆ โตขึ้นก็จะจมอยู่แต่กับการต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบเพื่อแลกกับรางวัล

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ