ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
270348
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 546 หัวเรื่อง
ข้อเสนอทางการเมืองเกี่ยวกับ
สถานการณ์ภาคใต้
ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

WIN-WIN SITUATION เกี่ยวกับภาคใต้
ข้อเสนอทางการเมืองเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้
ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ: บทความทางวิชาการนี้ เดิมชื่อ
"ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์รุนแรงภาคใต้"
เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)




REALPOLITIK BEFORE MINIMAL JUSTICE
ความอิหลักอิเหลื่อของทางราชการและรัฐบาลเรื่องรับผิดชอบต่อกรณีผู้ชุมนุม ๘๕ คนเสียชีวิตที่ตากใบเป็นประเด็น REALPOLITIK หรือนัยหนึ่ง "การเมืองบนพื้นฐานความจริงหรือความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติของอำนาจ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือพวกพ้องแล้วแต่กรณี" มากกว่าจะเป็นประเด็นหลักการทางนิติธรรม ยุติธรรม หรือศีลธรรมเชิงอุดมคติใด ๆ

ในแง่หนึ่ง ท่ามกลางภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่ชายแดนภาคใต้ กองทัพอยู่แถวหน้าในการรับมือการก่อการร้าย ฉะนั้นจึงต้องพยายามตีวงจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบไว้ ไม่ให้กำลังพลเสียขวัญกำลังใจ

อีกแง่หนึ่ง ฝ่ายนำทางการเมืองผู้เป็นเจ้าของนโยบายส่งทหารเพิ่มกำลังจากต่างถิ่นลงไปประชิดกับมวลชนต่างชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่ เพื่อแปรชายแดนภาคใต้ให้เป็นแบบทหารหรือแบบอิรัก (MILITARIZATION หรือ IRAQIZATION) จนเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมขึ้นนั้น ย่อมสามารถอาศัยเสียงข้างมากในประเทศเป็นเกราะกำบังตัวเองจากความรับผิดชอบเชิงนโยบาย ขณะเดียวกันก็แบ่งรับแบ่งสู้แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนในพื้นที่และประชาคมระหว่างประเทศ (ได้แก่มาเลเซียและอินโดนีเซียในอาเซียน, กลุ่มประเทศอิสลาม, องค์กรและประเทศมหาอำนาจในระบอบพิทักษ์สิทธิมนุษยชนสากล) เท่าที่พอจะหาผู้ถูกกะเกณฑ์ให้เสียสละมารับผิดได้

น้ำหนักแห่งความรับผิดชอบที่ทางราชการและรัฐบาลแสดงออกต่อพลเมืองไทย ๘๕ ชีวิตที่สูญเสียไปจึงตกห่างจากความคาดหมายของชุมชนมลายูมุสลิมในพื้นที่ และเครือข่ายมุสลิมในประเทศจนยากจะรับได้ ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองภายใต้อำนาจเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดยังคงดำรงอยู่ต่อ ซึ่งจะยิ่งเป็นเชื้อไฟให้มวลชนญาติมิตรของผู้เสียชีวิตอุกอั่งคับแค้น ไม่เห็นหนทางอื่นในการทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ เท่ากับไปสร้างขยายแนวร่วมทางอ้อมและทางตรงให้ผู้ก่อการร้ายอีก

ความยุติธรรมขั้นต่ำสุด (MINIMAL JUSTICE) ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและยอมอยู่ด้วยอันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนจึงยังไม่บังเกิด การก่อการร้ายต่อต้านรัฐยังคงจะถูกถือเป็นทางเลือก ทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มอีก

THE SUCCESS & FAILURE OF PEACE BOMBS
ปฏิบัติการนกกระดาษที่สถานีวิทยุบีบีซีเรียกว่า "PEACE BOMBS" ช่วยปลุกกระแสชาตินิยมในระดับควบคุมได้ขึ้นมาในขอบเขตทั่วประเทศ และกลบเกลื่อนความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ไว้จากความรู้สึกและรับรู้ของคนนอกพื้นที่, แต่มันย่อมไม่อาจบรรเทาความรุนแรงและผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เองลงไป, ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านพ้นซึ่งกลับตาลปัตรกันระหว่างระดับประเทศ (รัฐบาลได้ ส.ส. ๓๗๗ จาก ๕๐๐ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร) กับระดับพื้นที่ (รัฐบาลได้ ส.ส. เพียง ๑ จาก ๕๔ ที่นั่งในภาคใต้) มีส่วนสะท้อนความจริงข้อนี้

RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER
เบื้องแรกสุด รัฐและสังคมไทยควรต้องคิดให้ชัดและแยกให้ออกว่าศัตรูคือ [ผู้ใช้วิธีก่อการร้าย ฆ่าฟันเจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ เพื่อเป้าหมายแยกดินแดน], ไม่ใช่ [ประชาชนมลายูมุสลิมที่ใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องอย่างสันติ เพื่ออำนาจปกครองตนเองในท้องถิ่น], ฝ่ายหลังเป็นมิตรและจะเป็นฐานพลังการรุกทางการเมืองเพื่อปฏิรูปการเมืองภาคใต้ไปสู่สันติสุข

น่าเสียดายที่รัฐบาลยังจำแนกมิตร/ศัตรูไม่เป็น, คละเคล้าสับสนปนเป [ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล] เข้ากับ [ผู้เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้ายแยกดินแดน], ขับไสมิตร เพิ่มศัตรู, ไม่ว่าจะเป็นกรณีนกกระดาษที่นายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล (ชุดก่อน) ใช้การเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากการรณรงค์นี้มาขีดเส้นแบ่งจำแนกมิตร/ศัตรู, กรณีหน่วยงานข่าวกรองราชการบางหน่วยโยงนักวิชาการที่วิพากษ์ วิจารณ์แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลและเรียกร้องวิถีมุสลิม-ปกครองตนเองว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้าย, กรณีนายกฯมีดำริจะใช้มาตรการแบ่งโซนพื้นที่มาเลือกปฏิบัติในการจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนบ่งส่อกลุ่มอาการอำนาจนิยมเอียงขวาไร้เดียงสา (RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER) ตามอารมณ์ชั่วแล่นที่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อผู้ก่อการร้าย

ความเป็นมลายูกับความเป็นมุสลิม
สังคมไทยยังมองปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้และคนในพื้นที่แบบแยกส่วน โดยเห็นและเน้นแต่มิติทางศาสนาเรื่อง [ความเป็นมุสลิม], ไม่ค่อยเห็นและละเลยมิติทางชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์เรื่อง [ความเป็นมลายู] ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งสองส่วนเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวแยกไม่ออกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และทำให้ชุมชนมลายูมุสลิมมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากมุสลิมภาคอื่น

การเลือกเข้าใจแบบไม่ครบถ้วนนี้สะท้อนออกในคำเรียกหาพี่น้องมลายูมุสลิมว่า "ชาวไทยมุสลิม" ตลอดเวลา, เรียกขานภาษา (language) ที่พวกเขาพูดว่า "ภาษายาวี" ทั้งที่เอาเข้าจริงเป็น "ภาษามลายู" ขณะที่ "ยาวี" เป็นชื่อเรียกอักขระหรือตัวอักษร (script หรือ alphabet) อาหรับที่พวกเขาใช้มาขีดเขียนภาษามลายูนั้น (เทียบกับมาเลเซียที่เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษามลายูแทน หรือเวียดนามที่เลิกใช้อักษรจีน เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษาเวียดนาม) เป็นต้น

การมองปัญหาที่เห็นแต่มิติศาสนา ละเลยมิติชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ ทำให้คับแคบ เห็นเฉพาะส่วน ประเมินต่ำ ผิดพลาด เบี่ยงเบน และอาจแก้ไม่ถูกจุดหรือไม่ครอบคลุมเพียงพอ

TRIPLE MINORITIES
ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาชนส่วนน้อยมลายูมุสลิมในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธเท่านั้น เพราะถ้ามองอย่างลึกซึ้งกว้างไกลแล้ว มันเป็นสถานการณ์ TRIPLE MINORITIES หรือ ชนส่วนน้อยซ้อนกันสามชั้น ต่างหาก กล่าวคือ

ชั้นแรก) ในระดับพื้นที่ ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในชายแดนภาคใต้
ชั้นสอง) ในระดับประเทศ ชาวมลายูมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทย
ชั้นสาม) ในระดับภูมิภาค ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของฟิลิปปินส์

ความสลับซับซ้อนหลายชั้นดังกล่าวทำให้ต้องคำนึงถึง [สิทธิของคนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตย] ให้มากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายจำต้องคิดเผื่อคนอื่นในเรื่องนี้ เพราะหากฝ่ายอื่นได้ ฝ่ายเราก็จะได้ด้วย เนื่องจากทั้งเราและเขา, ทั้งมลายูมุสลิมและไทยพุทธ ก็เป็นชนส่วนน้อยเหมือนกัน มีฐานะและประสบปัญหาชะตากรรมละม้ายคล้ายกัน เพียงแต่อยู่ในระดับต่าง ๆ กัน

เราควรยกระดับและเจาะลึกการคิดเรื่องสิทธิชนส่วนน้อยให้ลงไปในระดับชุมชนว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยภายในชุมชนพื้นที่ของเราอย่างไร? และขี้นไปในระดับภูมิภาคว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยในภูมิภาคอย่างไร? ได้เวลาที่ ASEAN จะต้องคิดเรื่องกฎบัตรสิทธิทางวัฒนธรรม (Charter of Cultural Rights) ในระดับภูมิภาคแล้ว

ประชาธิปไตยกับการก่อการร้าย, ความมั่นคงกับสิทธิมนุษยชน
ระบอบประชาธิปไตยควรจะรับมือการก่อการร้ายอย่างไร? เหมือนกันหรือไม่กับวิธีรับมือการก่อการร้ายของระบอบเผด็จการ?

คำถามนี้สำคัญเพราะประสบการณ์ในประเทศและสากลสองสามปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งกำลังเลือกใช้วิธีการของเผด็จการไปปราบปรามการก่อการร้าย โดยยินยอมกระทั่งจงใจละเลยและละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน นิติธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

นี่นับเป็นตลกร้ายที่เป็นโศกนาฏกรรม เพราะมันเท่ากับว่าในกระบวนการปกป้องประชาธิปไตยไว้จากการก่อการร้าย เรากลับกำลังทำลายสิ่งที่น่าหวงแหนที่สุด ทรงคุณค่าคู่ควรแก่การปกป้องที่สุดในระบอบประชาธิปไตยลงไปกับมือของเราเอง ทว่าหากปราศจากเนื้อหาที่เป็นแก่นสารของประชาธิไตยเหล่านี้เสียแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงเรากำลังปกป้องอะไร? ปกป้องไว้จากใคร? เพื่อสิ่งใด?

ฉะนั้น เราจำต้องช่วยกันคิดค้นหาลู่ทางรับมือการก่อการร้าย ที่เชื่อมโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับการธำรงรักษาและส่งเสริมประชาธิปไตย, ออกแบบวิธีเฉพาะตัวของประชาธิปไตยในการสู้ภัยก่อการร้าย, ผสมผสาน

๑) มาตรการทางการเมือง
๒) มาตรการความมั่นคง (ซึ่งครอบคลุมทั้งมาตรการด้านการทหารและกฎหมาย) และ
๓) มาตรการทางการพัฒนา เข้าด้วยกัน ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญในสัดส่วนที่เหมาะสม ยืดหยุ่นพลิกแพลงตามภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่เปลี่ยน แปลงไป, เพื่อนำระเบียบวาระต่อต้านการก่อการร้าย กับระเบียบวาระสิทธิมนุษยชนมาอยู่ร่วมในกรอบโครงเดียวกันให้จงได้

แน่นอนว่าลำพังประชาธิปไตยย่อมไม่สามารถกวาดล้างการก่อการร้ายให้หมดไป แต่มันก็สร้างบริบทเงื่อนไขที่ช่วยเหนี่ยวรั้งยับยั้งการก่อการร้ายไว้ ไม่ให้แผ่ขยายลุกลามและอาจนำไปสู่การเจรจาหาทางออกอย่างสันติได้ ในที่สุด แม้ว่าอาจจะต้องผ่านช่วงการทดสอบฝ่าฟันอันเจ็บปวดยาวนานก็ตาม ดังประสบการณ์การยุติสงครามประชาชนระหว่าง รัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างสันติในอดีตเป็นตัวอย่าง ปมเงื่อนคงอยู่ตรงจะจัดวางบทบาทของกองกำลังทหาร-ตำรวจ กับหน่วยงานข่าวกรองของรัฐให้เหมาะสมไม่มากไม่เกินอย่างไร เพื่อสามารถทั้งรับมือการก่อการร้ายและเสริมสร้างประชาธิปไตยไปพร้อมกัน?

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการก่อการร้าย
หากยึดสภาพความจริงทางการทหารเป็นที่ตั้ง อาจวิเคราะห์ได้ว่ายุทธศาสตร์การก่อการร้ายในชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นสงครามพร่ากำลังหรือ WAR OF ATTRITION กล่าวคือ ก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีไปเรื่อย ๆ ฆ่าฟันทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวบ้านไปเรื่อย ๆ, ถามว่าการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีดังกล่าว จะนำไปสู่ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารในชายแดนภาคใต้หรือไม่? เมื่อไหร่? อย่างไร?

คำตอบที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการทหารที่สุดคือไม่และเป็นไปไม่ได้

ลำพังสงครามพร่ากำลังด้วยการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธี โดยตัวมันเองจะไม่นำไปสู่การรุกทางยุทธศาสตร์การทหารจนถึงขั้นยึดเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรอก เพราะข้อจำกัดทางอาวุธยุทโธปกรณ์, ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารนั้น ต้องอาศัยอาวุธหนักประเภทรถถัง ปืนใหญ่ จรวดหรือปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งผลิตเองในป่าเขาหรือหมู่บ้านไม่ได้, อาวุธหนักขนาดนั้นผู้ก่อการร้ายไม่มี ต้องสั่งซื้อจากมหาอำนาจทางทหารภายนอกและลักลอบขนเข้ามา

ฉะนั้น ตราบใดที่ชายแดนภาคใต้ยังปิดต่อการขนส่งลำเลียงอาวุธหนัก รัฐบาลมาเลเซียไม่เปิดพรมแดนอำนวยความสะดวกเป็นทางผ่านให้ และกองทัพไทยยังสามารถผูกขาดอาวุธหนักในมือ, ตราบนั้นชัยชนะทางการทหารของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ดูเหมือนขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนจะคาดหวัง และรอคอยมากกว่าชัยชนะทางการทหารคือชัยชนะทางการเมืองเมื่อรัฐบาลหลงกลพลาดพลั้ง

หากมองแง่นี้ การก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีแบบสงครามพร่ากำลังก็น่าจะทำขึ้นเพื่อยั่วยุให้รัฐบาล over-react หรือใช้กำลังตอบโต้เกินกว่าเหตุ ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ส่งทหารลงไปเต็มพื้นที่ militarization ชายแดนภาคใต้ กระทั่งฝ่ายรัฐเลือดเข้าตาสติแตก ลงมือก่อการร้ายโดยรัฐเอง (state terrorism) เพื่อตอบโต้โดยไม่จำแนกผู้ก่อการร้ายกับประชาชนชาวมลายูมุสลิม

ถึงจุดนั้นสถานการณ์ก็อาจพลิกผัน กลายเป็นว่าฝ่ายรัฐดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานเชื้อชาติ-ศาสนา (racial or religious discrimination) เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์แพร่ขยายลุกลามในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง (ethnic conflict) จนรัฐล้มเหลวในการธำรงรักษาหลักนิติธรรมและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง (failed state) แบบที่เคยเกิดขึ้นในบอสเนีย และโคโซโวในอดีตยูโกสลาเวีย, หรือดาร์ฟูในซูดานปัจจุบัน

นี่ย่อมเปิดช่องให้มีการอ้างได้ว่าเกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ขึ้น เพื่อที่มหาอำนาจของโลก, องค์การระหว่างประเทศและแนวร่วมกลุ่มประเทศอิสลามในภูมิภาคและสากล จะจัดส่งกองกำลังนานาชาติเข้ามาแทรกแซงรักษาความสงบ ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นชัยชนะทางการเมืองของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดน

ถ้าข้อวิเคราะห์ข้างต้นฟังขึ้น ก็จะพบว่าที่ผ่านมารัฐบาลและตำรวจ-ทหารสายเหยี่ยวหลงกลเดินตามยุทธวิธีของผู้ก่อการร้ายแยกดินแดนเกือบตลอด จนพลาดพลั้งทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า มาถึงจุดที่ประเทศอิสลามใน ASEAN เองคือมาเลเซีย อินโดนีเซีย, องค์การการประชุมโลกอิสลาม (OIC - Organization of Islamic Conference) และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ-อเมริกา เริ่มลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและปฏิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลไทยในชายแดนภาคใต้ และยกประเด็นปัญหานี้เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ

ในทางกลับกัน ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยจะเป็นเดิมพันอันมีน้ำหนักคุณค่าสำคัญพอบนโต๊ะเจรจาแบ่งปันทรัพยากร และเขตอิทธิพลของบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลกที่จะให้พวกเขาเสี่ยงทุ่มต้นทุนอาวุธและชีวิตผู้คนเข้ามาเกี่ยวพันด้วย (หากเทียบกับจุดยุทธศาสตร์คับขันของโลกอย่างคาบสมุทรเกาหลี, ไต้หวัน, อ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลาง เป็นต้น)

ในกรณีที่ชายแดนภาคใต้ไม่สำคัญพอที่มหาอำนาจจะเข้ามาแทรกแซง, การก่อการร้ายพร่ากำลังเพื่อยั่วยุ VS การก่อการร้ายโดยรัฐเพื่อตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน บ้ามาก็บ้าไป ก็จะแข่งกันไต่บันไดขีดขั้นความรุนแรงขึ้นไปเป็นเกลียวอุบาทว์แบบมืดบอดไม่เห็นที่สิ้นสุด และชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ก็อาจจะล้มตายเปล่าเปลืองมากมาย

การแยกดินแดนกับการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่
ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป้าหมายและข้อเรียกร้อง "แยกดินแดน" (SECESSION) เป็นเสมือนประตูปิดตายที่ไม่เปิดช่องทางหรือพื้นที่ให้แก่การเจรจาต่อรองหรือประนีประนอมปรองดองใด ๆ ระหว่างคู่ขัดแย้ง

ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่า "ดินแดน" (TERRITORY) ย่อมมีอยู่ผืนเดียว ถ้าไม่ติดเป็นปลายด้ามของขวานประเทศไทย ก็มีแต่แยกหลุดออกไปเป็นของคนอื่น, เมื่อเดิมพันถูกผูกติดกับอุปลักษณ์ (METAPHOR) เรื่อง "ดินแดน" และจินตนากรรมผ่านแผนที่ (A COMMUNITY OF PLACE THAT IS IMAGINED THROUGH MAPPING) ความขัดแย้งย่อมกลายเป็นเกมแพ้/ชนะเด็ดขาด ที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ "ดินแดน" มา อีกฝ่ายก็ต้องเสีย "ดินแดน" ไป (ZERO-SUM GAME) เพราะผลประโยชน์ของสองฝ่ายที่ต่างก็อยากได้ "ดินแดน" นั้นมันขัดแย้งกันอย่างเป็นปฏิปักษ์ มีแต่ต้องสู้กันแตกหักไปข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

แต่เอาเข้าจริง "แยกดินแดน" แปลว่าอะไร? สมมุติว่าเกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า "ดินแดน" ผืนที่เป็นปลายด้ามขวานจะถูกบิแบะแยกออกแล้วยกย้ายไปตั้งไว้ต่างหากที่อื่นตรงไหน มันก็ยังจะติดตั้งอยู่ที่เก่านั่นแหละ เพียงแต่ตกอยู่ใต้สังกัดและการปกครองของอำนาจรัฐใหม่ ซึ่งมิใช่อำนาจรัฐไทย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งที่ผู้ก่อการคิดจะเปลี่ยนและแยกมิใช่ "ดินแดน" เท่ากับ "อำนาจรัฐ" (STATE POWER) พวกเขาต้องการรัฐที่จะพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกเขา (A PROTECTIVE STATE), เป็นตัวแทนของพวกเขา, เป็นรัฐแห่งชาติปัตตานี-มลายู-มุสลิมของเขาเอง (THEIR OWN NATIONAL STATE)

ข้อเรียกร้องและเป้าหมาย "แยกดินแดน" จึงสะท้อนสิ่งที่ไม่มีหรือพวกผู้ก่อการรู้สึกว่าตัวหาไม่พบใน [รัฐไทย - ชาติไทย - และเศรษฐกิจทุนนิยมไทย] ปัจจุบัน กล่าวคือ: - พวกเขาเรียกร้องรัฐใหม่ของตัวเองก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าตนไม่ได้รับการพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ด้วยความเสมอภาคและยุติธรรมจากรัฐไทย ตำรวจไทย ทหารไทย เจ้าหน้าที่ราชการไทย และรัฐบาลไทย

พวกเขาคิดฝันถึงชุมชนแห่งชาติของตัวเองบนผืนแผ่นดินของรัฐปัตตานีในอดีต ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่า ชาติไทยและความเป็นไทยของทางราชการ ไม่ได้ถูกจินตนากรรมมาให้เปิดกว้างและเป็นกลางทางภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์และศาสนา มากพอที่จะต้อนรับนับรวมความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของคนอย่างเขา ให้เข้ามาร่วมรวมเป็นหนึ่งอย่างเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความหลากหลายของชุมชนชาติไทยอย่างแท้จริง

พวกเขาพากันข้ามพรมแดนไปทำงานในมาเลเซียเป็นหมื่น ๆ ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าเศรษฐกิจทุนนิยมฟากไทยได้รุกล้ำฉวยใช้ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนท้องถิ่นของเขา บีบคั้นกดดันให้พวกเขาจำต้องเปลี่ยนหนทางทำมาหากิน และวิถีชีวิตอย่างเสียเปรียบและจนตรอก กระทั่งพวกเขาไม่สามารถดำรงชีวิตเศรษฐกิจที่มั่นคง พอเพียง ยั่งยืนและรักษาวิถีขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีทางเลือกได้

ฉะนั้น ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันปฏิรูปรัฐไทย - ปฏิรูปชาติไทย - และปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมไทยทั้งโดยทั่วไปและโดยเฉพาะในชายแดนภาคใต้ให้บำบัดบรรเทาความเดือดร้อน และตอบสนองข้อเรียกร้องที่ถูกต้องชอบธรรมดังกล่าวข้างต้นของพวกเขา ในฐานะเพื่อนพี่น้องพลเมืองร่วมประเทศที่ไม่เหมือนกัน แต่เท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่ใครจะต้อง "แยกดินแดน" และก่อการร้ายฆ่าฟันกันเพื่อสิ่งนั้นอีก

พูดให้ถึงที่สุด ปัญหาก่อการร้าย "แยกดินแดน" ชายแดนภาคใต้จึงเกิดจากจุดอ่อน ข้อบกพร่องและความไม่เป็นธรรมของรัฐไทย, ชาติไทยและเศรษฐกิจทุนนิยมไทยดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ ฉะนั้นมันจะแก้ไขได้ก็แต่โดยการปฏิรูปรัฐไทย - ชาติไทย - เศรษฐกิจทุนนิยมไทยครั้งใหญ่เท่านั้น

ที่น่าคิดยิ่งคือ ข้อเรียกร้องปฏิรูปเหล่านี้ก็สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยทั่วไปของประชาชนไทยทุกเชื้อชาติศาสนา และเป็นความต้องการขององค์กรชาวบ้านหลายกลุ่มหลายฝ่าย ในขบวนการเมืองภาคประชาชนทั่วประเทศด้วย, การผลักดันเปลี่ยนแปลงแนวทาง "แยกดินแดน" ให้กลายเป็นแนวทาง "ปฏิรูปรัฐไทย-ชาติไทย-ทุนนิยมไทยครั้งใหญ่" จะเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายให้กลายเป็น การต่อสู้ผลักดันทางการเมืองอย่างสันติวิธี, เปลี่ยนขบวนการทำลายคนอื่นและทำลายตัวเองของชนกลุ่มน้อยให้กลายเป็น ขบวนการสมานฉันท์สร้างสรรค์ร่วมกันของผู้คนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ, และเปลี่ยนสภาวะจุดอับ ZERO-SUM GAME ที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายต้องเสีย ให้กลายเป็น WIN-WIN SITUATION สำหรับทุกฝ่าย

เอาชนะการก่อการร้ายด้วยการรุกทางการเมือง
การรุกทางการเมืองด้วยการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ เพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจและปกป้องคุ้มครองสิทธิระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนมากกับชนส่วนน้อยด้วยกันเอง จึงเป็นกุญแจหัวใจที่จะเอาชนะการก่อการร้ายแยกดินแดนภาคใต้ด้วยการเมือง เพราะไม่มีการต่อต้านรัฐด้วยกำลังอาวุธของมวลชนแห่งใดในโลกที่ถูกพิชิตได้ด้วยการทหารล้วน ๆ มีแต่ต้องเอาชนะกันด้วยการเมืองทั้งนั้น

นอกจากนั้น การเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองท้องถิ่นของชายแดนภาคใต้ ยังเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกระบวนการเรียกร้องสิทธิทำนองเดียวกันของชุมชนทุกชาติพันธุ์ ทุกท้องถิ่นทั่วประเทศด้วย เพราะรัฐที่นิยมอำนาจรวมศูนย์แบบ CEO เป็นปัญหาของคนไทยทุกพื้นที่ในการพัฒนา ด้วยการเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรและรวบอำนาจตัดสินใจของคนในพื้นที่, ในกรณีชายแดนภาคใต้ ลักษณะเฉพาะและสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นมิติที่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งควรคำนึงแบบครอบคลุมทั้งคนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ และชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธในพื้นที่ด้วย

วิพากษ์ขบวนการก่อการร้ายและคำถามเรื่องอำนาจปกครองตนเองท้องถิ่น
กระบวนการเสวนาสาธารณะในสังคมการเมืองไทย เพื่อการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ควรต้องทำควบคู่กันไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการก่อการร้าย

พูดอย่างตรงไปตรงมา ขบวนการก่อการร้ายเป็นองค์การกึ่งรัฐ (QUASI STATE) ที่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารและข่มขู่คุกคามผู้เห็นต่าง, คนที่ถูกถือเป็นพวกอื่นและผู้บริสุทธิ์เยี่ยงศาลเตี้ย เลือกปฏิบัติและเลือกฆ่าคนบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์ อันนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ผลกระทบรุนแรงร้ายกาจของมันในสายตาและความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อและญาติมิตร ย่อมไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะประสบกับการก่อการร้ายโดยขบวนการในนาม "เพื่อการปลดปล่อย" และ "ญิฮาด", หรือประสบกับการก่อการร้ายโดยรัฐภายใต้ข้ออ้าง "เพื่อปราบโจร"

แล้วอำนาจรัฐประเภทใดเล่าที่ขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนในนามศาสนามุ่งจะสถาปนาขึ้นมา? มันจะเป็นรัฐเทวาธิปไตย (THEOCRATIC STATE) ที่ยึดศรัทธาศาสนาหนึ่งเป็นที่ตั้ง หรือรัฐโลกวิสัย (SECULAR STATE) ที่ถือหลักเป็นกลางและเปิดกว้างทางศาสนา? เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับศาสนาจะมีหรือไม่? และอยู่ตรงไหน? ในเมื่อพูดให้ถึงที่สุด ขึ้นชื่อว่ารัฐแล้วย่อมเป็นเรื่องของการบังคับขับไส (COERCION) ในขณะที่กิจทางศาสนาโดยแก่นแท้แล้วเป็นเรื่องของใจสมัคร (VOLITION)

ในอีกแง่หนึ่ง การปฏิรูปการเมืองชายแดนภาคใต้เพื่อการปกครองตนเองของท้องถิ่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีหลักประกันว่าอำนาจปกครองเสียงข้างมากของชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นที่จะสร้างขึ้น (MAJORITY RULE) จะเคารพสิทธิของชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธ (MINORITY RIGHTS), อำนาจนั้นจะไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม ไม่ทำซ้ำความผิดพลาดที่รัฐชาตินิยมคับแคบของไทยเคยทำต่อคนมลายูมุสลิม และชนเชื้อชาติศาสนาส่วนน้อยอื่น ๆ, เป็นองค์กรปกครองโลกวิสัยที่จะไม่ยัดเยียดข้อปฏิบัติพิเศษเฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่งต่อประชากรนานาศาสนิกทั้งหมด

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง"ข้อเสนอทางการเมืองเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้" โดย
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พวกเขาคิดฝันถึงชุมชนแห่งชาติของตัวเองบนผืนแผ่นดินของรัฐปัตตานีในอดีต ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่า ชาติไทยและความเป็นไทยของทางราชการ ไม่ได้ถูกจินตนากรรมมาให้เปิดกว้างและเป็นกลางทางภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์และศาสนา มากพอที่จะต้อนรับนับรวมความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของคนอย่างเขา ให้เข้ามาร่วมรวมเป็นหนึ่ง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

หากยึดสภาพความจริงทางการทหารเป็นที่ตั้ง อาจวิเคราะห์ได้ว่ายุทธศาสตร์การก่อการร้ายในชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นสงครามพร่ากำลังหรือ WAR OF ATTRITION กล่าวคือ ก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีไปเรื่อย ๆ ฆ่าฟันทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวบ้านไปเรื่อย ๆ, ถามว่าการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีดังกล่าว จะนำไปสู่ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารในชายแดนภาคใต้หรือไม่? เมื่อไหร่? อย่างไร? คำตอบที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการทหารที่สุดคือไม่และเป็นไปไม่ได้ เพราะลำพังสงครามพร่ากำลังด้วยการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธี โดยตัวมันเองจะไม่นำไปสู่การรุกทางยุทธศาสตร์การทหารจนถึงขั้นยึดเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรอก
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ