R
relate topic
260348
release date
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 544 หัวเรื่อง
เสนอคว่ำ พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ
นักวิชาการจากหลายสถาบันฯ
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท
(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ ...
midnightuniv@
yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง ...
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ(เท่านั้น)
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีบนเว็ปไซต์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาและสมาชิก
บทความลำดับที่ 544 ป้องกันนายทุนยึดสมบัติชาติ
นักวิชาการเสนอคว่ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ
รายงานจากหนังสือพิมพ์ และ FTA Watch

ข้อมูล-ข่าวสารชิ้นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาผ่าน email ของมหาวิทยาลัย
ปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อเหมาะสมกับการเผยแพร่บนเว็ปไซต์ วันที่ 26 มีนาคม 2548
รวบรวมจากเรื่อง ๑. นิธิ ชี้เปิดทางนายทุนยึดสมบัติชาติ
๒.
กรรมการสิทธิฯ เสนอคว่ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ-เอฟทีเอชี้เป็นนิติรัฐประหารเงียบการบริหารประเทศ
๓.
เวทีการประชุมวิชาการสาธารณะ "จับตาการเจรจา FTA ไทย - สหรัฐอเมริกา รอบที่ 3"
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4)

 

1. "นิธิ" ชี้เปิดทางนายทุนยึดสมบัติชาติ
นักวิชาการเตรียมล่าชื่อขวาง "พ.ร.บ.เศรษฐกิจพิเศษ" โดยมีอาจารย์นิติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแกนนำ ชำแหละยับเป็น ก.ม.สถาปนา "ทักษิณาจักร-ฮ่องเต้ปาร์ตี้" เปลี่ยนรากหญ้ากลายเป็นไพร่ เดินหน้าปฏิวัติเงียบ "นิธิ" ฟัด "รัฐบาลทุน" เขียนกติกา เปิดทางยึดสมบัติชาติ ชี้ถึงจุดปฏิวัติเศรษฐกิจรุนแรงที่สุด

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "ชำแหละร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษและข้อตกลงเขตการค้าเสรี" ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดขึ้นวานนี้ว่า…

ประเทศไทยเดินเข้ามาสู่ยุคทุนนิยมเต็มรูปแบบ ดูได้จากตัวเลขจีดีพี 10% จากภาคการเกษตร ขณะที่นอกภาคการเกษตรมีสูงถึง 90% โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศ ที่ในยุคปัจจุบันเป็นเสมือนยุคฮ่องเต้ปาร์ตี้ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปกครองประเทศ มีสมุนบริวารและขันทีคอยรับใช้ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าฮ่องเต้ และขันทีเหล่านี้จะนำพาประเทศชาติไปสู่ทิศทางใดในยุคโลกาภิวัตน์

นายณรงค์ กล่าวว่า ในระบบทุนนิยมนี้ ทุกอย่างทำเพื่อผลประโยชน์ และกำไรสูงสุดทั้งสิ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจการเมือง ที่พรรคการเมืองนักการเมือง มักอ้างว่านโยบายตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนและสังคม ดูได้จากการที่รัฐบาลปัจจุบันช่วยลดภาษีให้กับคนรวย แต่กลับมาขูดรีดภาษีกับคนชนชั้นกลาง คนทำงานนอกภาคการเกษตร แต่รัฐบาลกลับนำเงินที่เป็นภาระภาษีไปหาเสียงทางการเมือง ออกนโยบายประชานิยม เช่น กองทุนหมู่บ้าน แต่กลับปิดกั้นการตำหนิท้วงติงจากคนชนชั้นกลาง นักวิชาการ

"การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือว่าเป็นการสถาปนารัฐซ้อนรัฐ เพราะอำนาจรัฐเดิมจะถูกสลายลง สร้างอาณาจักรแห่งทุนชื่อ "ทักษิณาจักร" ปกครองโดยราชาแห่งทุน (Capitalist King ) นำไปสู่ยุคราชาธิปไตยแห่งทุน ลูกจ้างทั้งหลายถูกทำให้เป็นไพร่ทั้งหมดด้วยกองทุนเงินต่างๆ เช่น กองทุนต่างๆ ในนโยบายประชานิยม และหากประกาศจังหวัดใดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็เท่ากับว่าจังหวัดนั้นถูกครอบงำด้วยแผนเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีอำนาจสูงสุดอยู่ที่ซีอีโอประเทศ สามารถชี้นิ้วได้ว่าเขตนี้เป็นเขตลงทุนสหรัฐ หรือ ญี่ปุ่น เพราะกฎหมายบอกว่า ต่างชาติถือครองที่ดินได้ ระบบฮ่องเต้ปาร์ตี้เช่นนี้ ถ้าทำดีประเทศก็ดี แต่ถ้ามีขันทีสามานย์ก็จะทำให้ประชาติเสียหายล่มจม"

นายณรงค์ กล่าวว่า อยากจะท้าให้รัฐบาลเปิดเวทีถกเถียงถึงผลดีผลเสียของ พ.ร.บ.นี้ โดยให้เอานักกฎหมายที่เก่งที่สุดของรัฐบาลมาออกทีวีพร้อมกัน นอกจากนี้สำหรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และนักวิชาการ ต้องออกไปทำความเข้าใจกับกลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้าทำทั้ง 2 อย่างแล้วไม่สำเร็จ ต้องมีการกระชากคอเสื้อฮ่องเต้ปาร์ตี้

ด้านนายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากมีการออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เท่ากับว่าเป็นการกำจัด ยกเลิก เพิกถอนบรรดากฎหมายเก่าที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จึงมีผลทำให้หลักการ กฎเกณฑ์ กลไกต่างๆ ตามกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิม เป็นอันต้องถูกยกเลิกถอนไป โดยไม่จำเป็นต้องไปแก้กฎหมายเก่าทีละฉบับ เปรียบได้กับเป็นการรัฐประหารเงียบ และยกฐานะโดยการนำ แนวคิดวิธีการจัดการทางธุรกิจแบบซีอีโอ มาแทนที่โครงสร้างการใช้อำนาจรัฐใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างเปิดเวทีให้ผู้ร่วมฟังการสัมมนาเพื่อแสดงความเห็นนั้น นายแพทย์เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้เสนอให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกสถาบันร่วมกันล่ารายชื่อ ส่งถึงนายกฯ เพื่อยับยั้ง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างดี โดยนายบรรเจิด สิงหะเนติ คณะนิติศาสตร์ มธ. รับที่จะเป็นแกนนำล่ารายชื่อยับยั้ง พ.ร.บ.ต่อไป

จากนั้น ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวตอนหนึ่งว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ การยึดทรัพย์สมบัติสาธารณะมาให้กับนายทุนได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หรือ อากาศบริสุทธิ์ และขออ้างบทความของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ที่บอกว่าจุดมุ่งหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเสรีนิยม แต่สิ่งที่น่าประหลาดคือ เป็นการแข่งขันเอาชนะกันด้วยทรัพย์สมบัติของคนอื่น พยายามเอาสมบัติกลางของสังคมใช้เป็นเครื่องมือแข่งขันกัน การทำข้อตกลงเอฟทีเอก็เช่นเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายคือการใช้ทรัพย์สมบัติของส่วนรวมไปแข่งขัน

"นี่คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากร มีการออกกฎหมายเปลี่ยนความคิดคน แล้วประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขนาดนี้ ประชาชนจะรักษาความสัมพันธ์กับทรัพยากรได้หรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ ปล่อยให้นายทุนตักตวงแสวงหาผลประโยชน์ต่อไป ประชาชนสามารถจะขัดขวางและรักษาประเทศให้อยู่รอดได้หรือไม่" ศ.นิธิ กล่าว และว่า การล่ารายชื่อเพื่อยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าทำ ตนจะร่วมด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2548


2. "กก.สิทธิ"เสนอคว่ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ-เอฟทีเอชี้เป็นนิติรัฐประหารเงียบการบริหารประเทศ
22 มี.ค. 2548 มีสัมนาวิชาการเรื่อง ชำแหละร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ และข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดย ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดการสัมนา กล่าวว่า การที่รัฐบาลนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่พยายามผลักดันในการออกพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เรื่องการกระจายอำนาจ ปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้กับบริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งเป็นการครอบงำ ทำลายระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

"พ.ร.บ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เปิดเขตการค้าเสรีเปรียบเสมือนการที่รัฐบาลใช้อำนาจนิติรัฐรัฐประหารรัฐธรรมนูญ นี้คือเรื่องคอขาดบาดตายที่สังคมต้องตั้งคำถาม" นายเสน่ห์กล่าว

ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก อนุกรรมการทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกระทรวงกลาโหม ที่จะมีน้ำหนักมากที่สุด ที่ค้านให้รัฐบาลถอน มาตร 31, 62 และ 63 ที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิต่างชาติถือครองที่ดิน หรือการฮุบที่ดินที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ยกเลิกเป็นทรัพย์สินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ป่าสวงน โบราณสถาน วัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่สาธารณะ ที่ดินของรัฐ เป็นต้น และการเข้าออกอย่างเสรีของคนต่างด้าวที่ขัดกับ พ.ร.บ.ตรวจคน เข้าเมือง ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดช่องทางให้กระทำได้ ที่สำคัญถือเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศไทยอย่างชัดเจน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ซึ่งหมายถึงการดิ้นรนของระบบทุนนิยม เพราะต้องการหลุดพ้นจากสภาวะปกติของทุน และถูกใช้เป็นเครื่องมือทำให้ทุนขยายตัว พร้อมกับทำลายประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นอุปสรรคขวากหนามความเจริญของทุน ยกตัวอย่างประเทศจีน มีสภาพสังคมปกติ จึงทำให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จึงขีดกำหนดบางพื้นที่บางเขตให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ทุนนิยมไปกระทบกับภาวะปกติ จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ..

" แต่ประเทศไทยประหลาดมาก กล่าวคือ ขณะที่จีนพยายามรักษาการเมือง แต่ไทยกลับคิดว่าระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาระบบประชาธิปไตยบางเขต เพื่อการพัฒนาทุน" ศ.นิธิ กล่าว

นายเจริญ คัมภีรภาพ กล่าวว่าหากมีการออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เท่ากับว่าเป็นการจำกัด ยกเลิก เพิกถอนบรรดา กฎหมายเก่าที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จึงมีผลทำให้ หลักการกฎเกณฑ์ กลไกต่างๆ ตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่เดิม เป็นอันต้องถูกยกเลิกถอนไป โดยไม่จำเป็นต้องไปแก้กฎหมาย เก่าทีละฉบับ เปรียบได้กับเป็นการรัฐประหารเงียบประเทศไทย

ทั้งนี้นายบรรเจิด สิงหะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับที่จะเป็นแกนนำล่ารายชื่อห้าร้อยอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกสถาบันร่วมกันส่งรายชื่อถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อยับยั้งพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ให้เข้าสู่การพิจารณา

3. เวทีการประชุมวิชาการสาธารณะ
"จับตาการเจรจา FTA ไทย - สหรัฐอเมริกา รอบที่ 3"
วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2548 เวลา 8.30 - 16.00 น.
ห้องรับรอง 1 - 2 ชั้น3 อาคารรัฐสภา 2

08.30 - 09.15 น. ลงทะเบียน

09.15 - 09.30 น. ชี้แจงวัตถุประสงค์ โดย กิ่งกร นรินทรกุล
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

09.30 - 10.15 น. ปาฐกถาโดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
เรื่อง " การเจรจา FTA : จุดยืนประเทศไทยในสังคมโลก "

10.15 - 10.30 น. พักรับประทานอาหารว่าง

10.30 - 12.15 น. อภิปรายเรื่อง
"ข้อเสนอต่อกระบวนการเจรจา FTA ไทย -สหรัฐ "

นิตย์ พิบูลย์สงคราม - หัวหน้าการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ
อ.ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ - ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ - คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย *
อ.จอน อึ๊งภากรณ์ - คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ - ผู้อำนวยการโครงการนโยบายฐานทรัพยากรฯ
อ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ - ประธานหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาฯ
รศ.จักรกฤษณ์ ควรพจน์
ดำเนินรายการโดย - นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

12.15 - 12.30 แถลงจุดยืนและปฏิบัติการรณรงค์ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ
ครั้งที่ 3 ที่พัทยา ในระหว่างวันที่ 4 - 8 เมษายน 2548


กำหนดการเสวนาโต๊ะกลม
เรื่อง "ผลกระทบการเจรจาไทยกับสหรัฐ รอบที่ 3 ต่อผู้ป่วยเรื้อรัง"
วันที่ 31 มีนาคม 2548 เวลา 13.30 - 16.30 น.
ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 28
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาคารจัสมิน ถ.
แจ้งวัฒนะ อ. ปากเกร็ด อ.เมือง จ. นนทบุรี

ร่วมเสวนานำ โดย
อาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ สว. กรุงเทพมหานคร
นพ. วิชัย โชควิวัฒน์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและทางเลือก
ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ดร. เจษฎ์ โทณะวนิช นักวิชาการ
อาจารย์สำลี ใจดี นักวิชาการเภสัชศาสตร์
ดร.วัชราภรณ์ ผู้แทนผู้ป่วยมะเร็ง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จดหมายเปิดผนึกจากภาคประชาสังคม
เรื่องการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา


เนื่องด้วยในระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน พ.ศ. 2548 นี้ จะมีการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ( Free Trade Area : FTA ) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เมืองพัทยา การเจรจาในครั้งนี้ เป็นการเจรจาในรอบที่ 3

ภายหลังจากมีการเจรจาไปแล้วสองรอบ ณ มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐ ซึ่งทางสหรัฐได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นเอกสารต่อฝ่ายไทยแล้วหลายเรื่อง เช่น เรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เรื่องการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เรื่องการเปิดเสรีด้านการลงทุน เป็นต้น

ในการเจรจารอบที่ 3 นี้ เป็นที่คาดหมายว่า ทางสหรัฐจะยื่นข้อเรียกร้องที่เหลือให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตร ทั้งในประเด็นเรื่องการขยายเวลาการคุ้มครองให้มากกว่า 20 ปี , การคุ้มครองสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตทุกประเภท , การจำกัดการใช้มาตรการบังคับในสิทธิ ( Compulsory Licensing ) เป็นต้น
ซึ่งล้วนเป็นข้อเรียกร้องเพื่อการคุ้มครองผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทเอกชนของสหรัฐทั้งสิ้น

ในการนี้ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนดังที่มีรายชื่อปรากฏแนบท้ายจดหมายฉบับนี้
ได้ศึกษาและติดตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯและประเทศต่างๆ มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ให้หยุดการเจรจาครั้งที่ 3 เพื่อกำหนดจุดยืนและท่าทีในการเจรจา FTA กับสหรัฐอเมริกาอย่างถี่ถ้วน ดังนี้

1. ให้นำประเด็นเรื่องการขยายหรือการเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ออกจากการเจรจา FTA เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่เข้มงวดกว่าที่กำหนดในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก และ
การให้สิทธิผูกขาดสิ่งมีชีวิตตามระบบสิทธิบัตรเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการค้าเสรี และจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อประชาชนไทยในการเข้าถึงยารักษาผู้ป่วย ทำให้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์มีราคาสูงขึ้น สร้างปัญหาการผูกขาดปัจจัยการผลิตทางการเกษตรโดยอาศัยการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ฯลฯ

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในองค์การการค้าโลก ประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติตามอย่างสอดคล้องอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลชอบธรรมที่จะต้องมีการกำหนดข้อบังคับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมขึ้นอีกในข้อตกลง FTA โดยเฉพาะในประเด็นการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรและการผูกขาดข้อมูล (Data exclusivity)

2. ให้มีการจัดทำประชามติ (Referendum) ของประชาชนในการตัดสินใจว่าประเทศไทยจะลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ ไม่ เนื่องจากการลงนามข้อตกลง FTA เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในทุกสาขาอาชีพ ทั้งในวันนี้และในอนาคต การจัดทำประชามตินี้เป็นเรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกับคำประกาศของนายกรัฐมนตรีในสุนทรพจน์ที่ได้กล่าวใน โอกาสได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

ให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาชนในการเจรจา ทั้งในระดับการร่วมรับรู้ข้อมูล การร่วมแสดงความคิดเห็น และระดับการร่วมตัดสินใจ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคณะผู้เจรจาของไทย ทำให้ได้รับข้อมูล ข้อเสนอแนะเพื่อการเจรจาอย่างครบถ้วนรอบด้าน และยังเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองเจรจาได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ในกระบวนการเตรียมการเจรจาที่ผ่านมาของไทย เป็นการดำเนินการของคณะบุคคลที่อยู่ในวงจำกัดเป็นอย่างยิ่ง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอในจดหมายฉบับนี้ซึ่งจัดทำขึ้นบนพื้นฐานการรักษาปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จะได้นำไปสู่การพิจารณาและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

++++++++++++++++++++

ประชาสังคม
ยื่นปัญหาผลกระทบการทำเอฟทีเอไทยสหรัฐ ต่อ "นิตย์" หัวหน้าคณะเจรจา
ร้องให้เปิดเผยข้อตกลงก่อน และกระบวนต้องโปร่งใส
เท่าเทียมกับกระบวนการของสหรัฐ

(31 มีนาคม ) เมื่อเวลา 10.00 น. หน้ากระทรวงการต่างประเทศ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ ว็อทช์) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค และพันธมิตร จำนวน 60 คน ได้ชุมนุมที่หน้ากระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอยื่นจดหมายต่อนายนิตย์ พิบูลย์สงคราม หัวหน้าคณะเจรจาการค้าเสรีไทย -สหรัฐอเมริกา ซึ่งนายนิตย์ได้ส่ง นายศศิวัฒน์ ว่องสอนสวัสดิ์ เลขานุการของตนมารับจดหมายแทน

นายกมล อุปแก้ว ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ได้กล่าวว่า "เราเสียใจมาที่ท่านไม่มารับหนังสือด้วยตนเอง เพราะผลกระทบที่จะเกิดจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐนี้มันรุนแรงและกว้างขวางมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าท่านจะรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องที่พวกเราได้มายื่นในวันนี้"

โดยเนื้อความในจดหมายได้แสดงความกังวลใจต่อการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาที่ไม่โปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในการเจรจารอบที่ 3 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 4 - 8 เมษายน 2548 ณ เมืองพัทยา

ทั้งนี้ หากประเทศไทยต้องทำข้อตกลง FTA กับสหรัฐ จะก่อให้เกิดกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อประชาชนชาวไทยในทุกสาชาอาชีพ ทั้งในด้านการเกษตร ด้านการลงทุน ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสิ่งแวดล้อม
รวมถึงผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐ

ด้วยเหตุนี้ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชน จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะให้หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กำหนดจุดยืนและท่าทีของประเทศไทยในการเจรจากับสหรัฐฯ ดังนี้

1. ให้นำประเด็นเรื่องการขยายหรือการเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจา FTA เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องที่เข้มงวดกว่าที่กำหนดในข้อตกลง ทริปส์ขององค์การการค้าโลก ขัดแย้งกับปฏิญญาโดฮา ( Doha Declaration) ข้อเรียกร้องต่างๆ ของสหรัฐในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การคุ้มครองสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรและการผูกขาดข้อมูล (Data exclusivity) ฯลฯ ล้วนเป็นข้อเรียกร้องที่ขัดกับหลักการค้าเสรี และจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนไทยในการเข้าถึงยารักษาโรค ทำให้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์มีราคาสูงขึ้น สร้างปัญหาการผูกขาดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ฯลฯ

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในองค์การการค้าโลก ประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติตามอย่างสอดคล้องอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลชอบธรรมที่จะต้องมีการกำหนดข้อบังคับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมขึ้นอีกในข้อตกลง FTA

2. ให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อสาธารณะ เพื่อให้กระบวนการเจรจาเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นการเคารพและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลที่เป็นนโยบายสาธารณะ และก่อให้เกิดธรรมาธิบาล อันเป็นหลักการสำคัญในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

3. ให้มีการจัดทำประชามติ ( Referendum ) ของประชาชนในการตัดสินใจว่าประเทศไทยจะลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ เนื่องจากการลงนามข้อตกลง FTA เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในทุกสาขาอาชีพ ทั้งในวันนี้และในอนาคต การจัดทำประชามตินี้นับเป็นเรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกับคำประกาศของนายกรัฐมนตรีในสุนทรพจน์ที่ได้กล่าวในโอกาสได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

4. ให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาชนในการเจรจา ทั้งในระดับการร่วมรับรู้ข้อมูล การร่วมแสดงความคิดเห็น และระดับการร่วมตัดสินใจ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคณะผู้เจรจาของไทย ทำให้ได้รับข้อมูลข้อเสนอแนะเพื่อการเจรจาอย่างครบถ้วนรอบด้าน และยังเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองเจรจาได้อีกทางหนึ่ง

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า ระหว่างรอการยื่นจดหมาย ว่า "กระบวนการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ไม่มีความโปร่งใส่ ประชาชนไทยไม่ได้รับรู้ว่าเราจะต้องเสียอะไรเพื่อไปแลกกับอะไรก่อนการเจรจา ขณะที่สหรัฐเองมีการแจ้งข้อมูลล่วงหน้าว่าเขาต้องการอะไร และไม่ยอมเสียอะไร โดยมีกระบวนการผ่านทางรัฐสภา"

ก่อนที่เอฟทีเอ วอทช์และพันธมิตรจะยื่นจดหมาย ได้จัดกิจกรรมเพื่อสาธิตถึงผลกระทบของเอฟทีเอไทย-สหรัฐ
โดยนำโลงศพด้านในบรรจุสัญลักษณ์ของคนกลุ่มต่างๆที่จะได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ เช่น เกษตรกร ผู้ป่วย แรงงาน นักศึกษา ฯลฯ จากนั้น ได้นำสัญลักษณ์ของกลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์ เช่น ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม อุตสาหกรรมเกษตรส่งออก เช่น ไก่ กุ้ง และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ วางไว้บนโลงศพ เพื่อแสดงว่า กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ได้ประโยชน์จากซากศพของประชาชนกลุ่มต่างๆ

ทั้งนี้ ทางกลุ่มฯ ยืนยันว่า หากรัฐบาลและคณะผู้เจรจาฝ่ายไทย ไม่ดำเนินตามข้อเรียกร้องที่จัดทำขึ้นบนพื้นฐานการปกป้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้งนี้ จะพยายามใช้สันติวิธีในการหยุดยั้งการเจรจาที่จะมีขึ้น และในวันที่ 1 เม.ย. 48 เวลา 10.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือต่อสถานฑูตสหรัฐอเมริกา

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ
กรรณิการ์ 09-770-1872

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

เอฟทีเอ วอทช์ บุกสถานฑูตสหรัฐ ร้อง
"อย่ากดดันไทยให้รับทริปส์ ผนวก"

10.00 น. หน้าสถานฑูตสหรัฐอเมริกา - กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษา และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ออกมาประกาศจุดยืนของประชาชนว่าต้องการให้การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟีเอ) ไทย-สหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นเป็นรอบที่ 3 ที่ประเทศไทยในระหว่างวันที่ 4 - 8 เมษายนนี้ ที่พัทยา จะต้องมีความโปร่งใส่ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

ซึ่งก่อนหน้านี้ที่สหรัฐพยายามเข้ามาล็อบบี้ประชาสังคมกลุ่มต่างๆ โดยเชิญให้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัว และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งอีกประชาชนไทยไม่ต้องการให้สหรัฐใช้มาตรการต่างๆ มากดดันประเทศไทย เพื่อให้ยอมรับกรอบการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางทางปัญญมากเกินไปกว่ากรอบในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus) รวมทั้งยังณรงค์บนถนนให้ผู้สัญจรไปมา ได้รับทราบข้อมูล และร่วมลงชื่อคัดค้าน การนำชีวิตไปผูกติดกับการผูกขาดด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาผ่านทาง เว็บไซต์ www.ftawatch.org

ระหว่างที่มีการรณรงค์บริเวณหน้าสถานฑูตสหรัฐ พร้อมกับการกล่าวประณามท่าทีของสหรัฐ ที่ทำข้อตกลงกับประเทศไทยไว้ว่า ห้ามนำข้อมูลการเจรจาเปิดเผยต่อสาธารณะ และใช้บริษัททานความเป็นตัวแทนในการล็อบบี้คุยกับกลุ่มต่างๆ เพื่อลดกระแสกดดันนั้น นายเจม คารูโซ (Jame Carouso) ได้ออกมาพร้อมกับจดหมายเพื่อเชิญกลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ เจรจาในลักษณะเดิมอีกครั้งอย่างเป็นทางการ และชี้แจงว่าจะให้เปิดเป็นเวทีสาธารณะ

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่า "เราเห็นว่าการกระทำของสหรัฐในลักษณะเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐไม่มีความจริงใจ ต้องรอให้ประชาชนออกมาเรียกร้องก่อน แล้วจึงจะจัดให้มีเวทีสาธารณะ การที่เพิ่งจะมีเวทีสาธารณะเรื่องเอฟทีเอในไม่กี่วันนี้นั้น ทำให้เรา ประเทศไทยเราจะเตรียมข้อมูลได้ทันอย่างไร

ก่อนหน้านี้เราร้องขอข้อมูลจากสหรัฐมาโดยตลอดก็ไม่เคยได้รับข้อมูล" นางสาวกิ่งกรยังยืนยันต่ออีกว่า "เราจะไม่ยอมให้ สหรัฐมากดดันเพื่อให้เรายอมกรอบการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตามการชี้นำของสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องสื่อสารไปยังรัฐบาลของเรา เพื่อให้รัฐบาลยอมรับข้อเรียกร้องว่าเราไม่ต้องการให้เอาชีวิต ทั้งในเรื่องของยา เกษตรกรรม การศึกษา ไปแลกกับผลประโยชน์ทางการค้า เราต้องการให้เอาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจาเอฟทีเอ"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชีวิต - คน - ยา - การศึกษา มิได้เป็นเพียงสินค้า
Life is not for Sale.

ขอเชิญลงชื่อ "เอาทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจาเอฟทีเอ"
IPR OUT OF FTA Th-US
ที่ www.ftawatch.org


ประชาชน 1,500 คนย่ำเท้าในพัทยา ลั่น "ไม่เอาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ"
แขวนป้ายผ้าดำจากตึก ประจานสหรัฐบีบไทยรับข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา เผาพริกเกลือสาบส่งบุชตัวบงการ

5 เม.ย. 48 - พัทยา เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 7 กลุ่ม อันประกอบด้วยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์แห่งประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สมัชชาคนจน, นิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศ และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กว่า 1,500 คน เดินทางจากชายหาดจอมเทียนมุ่งหน้าไปชุมนุมหน้าโรงแรมรอยัลคลิฟบีช พัทยา อันเป็นสถานที่จัดประชุมหารือการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย - สหรัฐ รอบที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 8 เมษายนนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการนำประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาออกจากเจรจา เนื่องจากจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชนไทยทุกคน

หลังจากที่เครือข่ายฯ เดินทางมาถึงโรงแรมสถานที่จัดประชุม ได้มีการต่อรองเพื่อให้ตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ เข้าไปหารือและยื่นหนังสือต่อนายนิตย์ พิบูลย์สงคราม หัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย - สหรัฐ ซึ่งทางคณะเจรจาฝ่ายไทยได้เชิญตัวแทนจากองค์กรที่เข้าร่วมในเครือข่ายรวม 15 คน เข้าไปหารือเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

โดยทางเครือข่ายได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ควรนำประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาออกจากหัวข้อเจรจา เนื่องจากหากมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ประเทศไทยจะต้องยอมรับในการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะประเด็นการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่จะผูกขาดทำให้ยามีราคาแพงขึ้น ซึ่งเป็นการกีดกันการเข้าถึงยาของผู้ป่วยจากเชื้อเอชไอวีเอดส์ และการที่สหรัฐบังคับให้ไทยต้องรับรองสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่จะนำพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกในประเทศไทย สหรัฐจะขโมยพันธุกรรมของไทยไปจดสิทธิบัตร และการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรของไทย

ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมยกประเด็นเรื่องปัญหาที่จะเกิดจากการเปิดเสรีการค้าและบริการ ที่แอบแฝงเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น ในส่วนของเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานยกประเด็นเรื่องผลกระทบจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับเขตการค้าเสรี ว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการกดขี่แรงงานมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยไม่ได้รับปากทางเครือข่ายฯ ว่าจะนำประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจา เพียงบอกให้เครือข่ายฯ ไว้ใจตนเท่านั้น และยังย้ำว่า ตนเองเป็นเพียงผู้เจรจา ส่วนอำนาจในการตัดสินใจนั้นอยู่ที่ฝ่ายการเมือง

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ทางฝ่ายราชการซึ่งเป็นผู้เจรจา ไม่เพียงเป็นผู้รับคำสั่งแต่เป็นผู้ที่นำเสนอปัญหาของประชาชนให้รัฐบาลและฝ่ายสหรัฐรับรู้ นายนิตย์กล่าวต่อว่าถึงไม่มี FTA ยาก็แพงอยู่แล้ว ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า การพูดของหัวหน้าคณะเจรจาเช่นนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เหมือนไม่มีความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะระบบสิทธิบัตรที่ไม่เป็นธรรมอยู่แล้วในทุกวันนี้ ยาถึงแพง หากมีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรมากกว่านี้ตามเอฟทีเอ ยาก็จะแพงมากขึ้น

เมื่อเสร็จสิ้นการเจรจา ระหว่างที่ตัวแทนภาคประชาชนได้เดินออกจากโรงแรม มีป้ายผ้าสีดำ เขียนด้วยตัวหนังสือสีขาวถูกปล่อยลงมาจากชั้น 9 ของโรงแรม มีข้อความว่า "ต่างชาติยึดประเทศ เกษตรล่มสลาย คนไทยกินยาแพง NO FTA"

จากนั้น นายนิมิต เทียนสุวรรณ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตัวแทนเครือข่ายฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงผลการหารือว่า รู้สึกผิดหวังกับท่าทีที่ไม่สร้างสรรค์และการพูดคุยกับคณะผู้เจรจาฝ่ายไทย เพราะพยายามอ้างว่ามีหน้าที่เจรจาเท่านั้น แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง

ทางด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย กล่าวว่า เมื่อท่าทีของคณะเจรจาฝ่ายไทยไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นกับตัวแทนเครือข่ายต่างๆว่า จะนำประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจา หรืออย่างน้อยให้คงเนื้อหาเท่าที่ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลกกำหนดไว้ "ทางผู้ชุมนุมถือว่า นี่เป็นเพียงการเปิดตัวครั้งแรกเท่านั้น เราจะติดตามและกดดันต่อไป เพราะเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกคนอย่างแน่นอน"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

From: BIOTHAI [mailto:[email protected]]
Sent: Tuesday, April 05, 2005 9:31 PM
To: 0 Press
Subject: FW: Silence on Thai-US FTA Broken; 1,500 Peple Said NO TO FTA!


Silence on Thai-US FTA Broken; 1,500 Peple Said NO TO FTA!

April 5, 2005/Pattaya- It took over a thousand and five hundred people
blowing their whistle for the Thai government to come out and listen to
its people. But did Mr. Nitya Pibulsongkram, head of the Thai
negotiating team for the Thai-US Free Trade Agreement (FTA), actually hear them?
don't think he heard us, said Nimit Tienudom, from AID ACCESS
Foundation, member of FTA watch. We are so disappointed. Mr. Nitya just kept
telling us that we should trust him, and that he will protect the interest
of the Thai people. But how can he do that, when the Thai
negotiating team won't even give us information on the negotiations,
let alone have consultations with us. We even had to force our way here
in Pattaya to meet with him.

Mr. Nimit is one of the 15 representatives of the more than 1,500
protesters, allowed to get in the 5-star well-guarded hotel in Pattaya,
where the a?secret Thai-US FTA negotiations are being held, from April 4-8,
2005. An official from the government team came down after the
protesters simultaneously blew their whistle for one minute, so that the
Thai-US negotiating teams will hear them. As Mr. Nimit and the others went to
the hotel, the rest of the protesters remained outside, blocked by
local and Bangkok police and a fire truck.

The big group was raising issues on the expansion or increased
stringency of intellectual property rights protection, which is against the
spirit of free trade. US demands on intellectual property rights, such as
protection of
life forms, extension of paten protection periods, data exclusivity,
etc.

These demands, if agreed to, will have serious and widespread adverse
impact on the Thai people in terms of access to medicines, will make
plant and animal species more expensive, will create the problem of a
monopoly on
factors of agricultural production, the FTA watch statement said.

Mr. Nitya insisted that the Thai government has to continue the
negotiations. We asked why the issue of intellectual property rights cannot be
exempted when the banking and financial sector is, from the
negotiations? And he was just quiet. We asked who decides which sectors are to be
negotiated and which ones are not, but he was just quiet. He would not
give us answers to our questions, and then he asks us to trust him?
asks Saree Ongsomwang of Consumer Rights Foundation, also of FTA Watch.

Trust is something that is difficult to have now between the Thai
negotiating team and the public given the secrecy of this whole Thai-US
negotiating team. The Thai public is left in the dark, while Mr. Nitya and
his team are selling our lives to US President Bush, the protesters
were saying. But this is something that the representatives of the FTA
Watch vowed to break. As they ended the 4 hour protest action, they
committed to launch information campaign on the Thai-US FTA, and the
impacts it has on the lives of each and every Thai. And our voices will
be heard. We will go to the parliament, we will go to the Ministry of
Foreign Affairs, and to the Embassy of United States of America.

The protesters, coming from different sectors slum dwellers, farmers,
fisherfolk, persons living with HIV also performed Sabb Chang, where
salt and chili are put over the effigy of Bush, chanting, before burning.
This meant to put a curse on the spirit and send it away.

After a disappointing dialogue with Mr. Nitya, a black banner unfurled
from the 9th floor of the hotel, saying Foreigners conquer our country.
Agricultural sector has collapsed. Thai people are given expensive
drugs. NO TO FTA

FTAWatch is a coalition of 7 sectoral orgsanisations monitoring and
campaigning on FTA issues.

more information www.ftawatch.org

FTA WATCH [ 5 April 2005 ]

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอฟทีเอ วอทช์ แถลงโต้ ผลเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ "ผิดหวัง - สร้างผลกระทบรุนแรง"
วอนประชาชนจับตานโยบายนายกให้เจรจาทรัพย์สินทางปัญญา

16.00 น. - รอยัล คลิฟ บีช พัทยา

กลุ่มศึกษาเขตการ ค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) ได้เข้าร่วมรับฟังการแถลงผลการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รวมทั้งได้ซักถามในประเด็นต่างๆ ซึ่งต่างพากันแสดงความผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการและผลการเจรจา ทั้งนี้ในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การเจจาระบุเพียงแค่ "ให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามปฏิญญาโดฮา" ซึ่ง นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิการเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า

"ถ้ายึดตามปฏิญญาโดฮาแล้วนั้น ก็เห็นว่าควรจะเอาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกไปจากการเจรจาเสีย เพราะไม่มีประโยชน์อะไรจะไปพูดคุย แต่เมื่อเสนอความเห็นนี้ เขาก็ตอบคำถามไม่ชัดเจนโดยอ้างว่าในรอบเจรจาครั้งนี้ยังไม่ได้เสนอ text (ข้อความในการเจรจา) ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยในการเจรจารอบหน้า ซึ่งทำให้เราไม่สามารถไว้วางใจได้เลย"

ในประเด็นการเข้าถึงตลาด (Market access) ซึ่งเป็นข้อที่เราหวังว่าจะได้ตลาดเพิ่มขึ้น โดยมาตรการการลดภาษีให้เหลือ 0% ในบางรายการ ก็ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าเป็นสินค้าชนิดใด เมื่อสอบถามว่าสินค้าเกษตรสหรัฐซึ่งได้รับการอุดหนุนอย่างสูงและทุ่มตลาดอยู่ในปัจจุบันจะได้รับแก้ไขหรือไม่เมื่อทำเอฟทีเอ ทางคณะเจรจาฯ ทั้งสองประเทศกล่าวเพียงว่า ยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้

ส่วนประเด็นปัญหาที่สินค้าไทยถูกกีดกันโดยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีนั้น คณะเจรจาฯ บอกเพียงแค่จะมีโครงการความร่วมมือที่จะพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ตามมาตราฐานสุขอนามัย ซึ่งทำให้สรุปได้ว่ายังไม่มีการเจรจาเพื่อลดข้อกีดกันทางการค้าจากประเทศไทยไปสหรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อถามถึงเนื้อหาในเรื่องการบริหารที่ประเทศไทยหวังว่าจะได้จากสหรัฐ ก็ได้รับการชี้แจงสั้นๆ เพียงแต่ว่าเป็นระยะเวลาที่อยู่ในความสนใจ

ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธินักลงทุน ในการเจรจาได้มีการกำหนดให้มีกลไกระงับข้อพิพาทซึ่งให้สิทธินักลงทุนสามารถฟ้องรัฐไทยได้โดยไม่ต้องขึ้นศาลไทยแต่ใช้การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ ซึ่ง น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะทำงานโลกาภิวัตน์ กล่าวว่า

"เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่สหรัฐต้องการนั้นถูกตีความและใช้ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) แล้วเกิดผลกระทบทั้งในแคนาดาและเม็กซิโกนั้น ประชาชนไม่สามารถปกป้องสิทธิของชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมของตนเองได้เลย หลังจากทำเอฟทีเอ มาตลอด 10 ปี แคนาดาสามารถออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้เพียง 2 ฉบับ และกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ถูกฟ้องร้องโดยนักลงทุนเอกชนสหรัฐ ทำให้รัฐบาลแคนาดาจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าชดเชยผลกำไรที่เอกชนคาดว่าจะได้รับ"

เมื่อตัวแทนเอฟทีเอ วอทช์ ได้ขอให้มีการเปิดเผยเนื้อหาในการเจรจา ตัวแทนการเจรจาการค้าสหรัฐ นางบาบารา ไวส์เซล (BABARA Weizel) กล่าวว่า "เป็นความลับทางราชการ ซึ่งเปิดเผยไม่ได้และไม่ได้มีเจตนาที่ปิดบัง ซึ่งในวันข้างหน้าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือกฎหมายบังคับใช้แล้วก็จะได้ทราบกันเอง การมาครั้งนี้ถือว่ามาเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมาทางเราพยายามติดต่อกับเอฟทีเอ วอทช์หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และขอถือโอกาสนี้เชิญอีกครั้ง "

น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา แถลงว่า "เราเคยยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการไปตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการเจรจา แต่ไม่เคยมีการตอบกลับมา จนกระทั่งได้รับการติดต่อให้พูดคุย ซึ่งเราเรียกร้องมาตลอดว่าให้มีการเจรจาเปิดกับสาธารณะ ซึ่งก็ถูกปฏิเสธ จนกระทั่งเราไปเรียกร้องที่หน้าทำเนียบวันที่ 1 เม.ย. 48 จึงลงมาพบและบอกว่าให้เจรจาเปิดสาธารณะ และเมื่อวันที่ 5 เม.ย.นี้ USTR ได้เชิญกลุ่มต่างๆ ทั้งนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและโทรคมนาคม รวมถึงผู้ประกอบการด้านยา มาหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ ที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ สหรัฐเพียงแค่ต้องการแสดงความต้องการของตนเองตามมาตรฐานของตนเองเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงใจในข้อห่วงใยของประชาชนไทย จึงไม่เกิดประโยชน์อันใดที่จะต้องไปเจรจากับ USTR

นอกจากนี้สหรัฐยังแสดงท่าทีอย่างแข็งกร้าวในด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากการเจรจาบนโต๊ะด้วยก็คือ เช่น การออกแถลงการณ์ของ สมาคมผลิตยาสหรัฐ (The Phar maceutical Research and Manufacturers of America - PhRMA) ซึ่งได้จัดทำรายงานเสนอต่อ USTR ให้ดำเนินการกับประเทศไทยโดยอาศัยมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐ การกำหนดสถานะประเทศไทยให้อยู่ในรายการประเทศที่ต้องถูกจับตามมองอย่างใกล้ชิด (priority watch list หรือ PWL) ในปี 2548 (ประชาชาติธุรกิจ) หรือจดหมายของพรรคเดโมแครตที่ยื่นต่อประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อให้กดดันไทยต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ล้วนแต่ทำให้ประชาชนไทยตระหนักดีว่าสหรัฐต้องการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในการเจรจาเอฟทีเอกับไทย (The Nation)

การพบปะของตัวแทนกลุ่มข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและองค์กรพันธมิตรจำนวน 15 คน กับนายนิตย์ พิบูลสงคราม และตัวแทนเจรจาฝ่ายไทยที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีช พัทยา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 ท่ามกลางการชุมนุมต่อต้านเอฟทีเอของประชาชนมากกว่า 1,500 คน นั้น ทำให้เราได้รับทราบความเป็นจริงว่า การยอมรับที่จะเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ดูคำให้สัมภาษณ์สดของนายนิตย์ พิบูลสงครามทางวีดีโอได้จาก www.ftawatch.org) ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลไทยสามารถเอาเรื่องนี้ออกไปจากประเด็นการเจรจาก็ได้ เช่นเดียวกับการไม่ยอมเจรจาเรื่องการเปิดเสรีทางการเงิน นี่เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่มิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนและผลกระทบของผู้ป่วย เกษตรกรและรวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนในประเทศ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนขอวิงวอนและเรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้ทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการกดดันให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทบทวนนโยบายการเปิดเสรีการค้าที่เป็นไปเพื่อสนองตอบต่อกลุ่มทุน มากกว่าจะคำนึงถึงคนไทยทั้งประเทศมากกว่า 60 ล้านคน

การชุมนุมของประชาชนมากกว่า 1,500 คนที่พัทยา เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นคัดค้านเท่านั้น เราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ และแม้แต่ผู้ที่เคยลงคะแนนเลือกรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้าร่วมการคัดค้านเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ร่วมกับพวกเรา การชุมนุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และปกป้องอธิปไตยของชาติในครั้งต่อไปจะมีคนเข้าร่วมนับหมื่นนับแสนคน

หมายเหตุ
จดหมายถึงประธานรัฐสภา นายโภคิน พลกุล
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีของรัฐบาลไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา

แถลงการณ์จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
กรณีผลการเจรจาเอฟทีไทย-สหรัฐอเมริกา รอบ 3
ดู นโยบายการเจรจาเอฟทีเอมาจากนายกรัฐมนตรีได้ที่ วีดีโอความเร็วสูง 250 kb high speed http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=19&s_id=23&d_id=23

ดูคำสัมภาษณ์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ได้ที่ http://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=3845

ข่าว สมาคมสหรัฐใน ม.301 บีบไทย ที่ http://www.ftawatch.org/news/view.php?id=2566

ข่าว FTA TALKS: Bush urged to toughen US stance ที่ http://www.biothai.org/cgi-bin/content/news/show.pl?0492



 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


 

 

 

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
H
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ม.เที่ยงคืน) กล่าวตอนหนึ่งว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ การยึดทรัพย์สมบัติสาธารณะมาให้กับนายทุนได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หรือ อากาศบริสุทธิ์ และขออ้างบทความของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ที่บอกว่าจุดมุ่งหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเสรีนิยม แต่สิ่งที่น่าประหลาดคือ เป็นการแข่งขันเอาชนะกันด้วยทรัพย์สมบัติของคนอื่น พยายามเอาสมบัติกลางของสังคมใช้เป็นเครื่องมือแข่งขันกัน