ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
070348
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 537 หัวเรื่อง
Roland Barthes และ มายาคติ
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

Roland Barthes กับวัฒนธรรมมวลชน
มายาคติ และ วัฒนธรรมสังคมร่วมสมัย
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


หมายเหตุ:
บทความทางวิชาการชิ้นนี้ เป็นการเรียบเรียงมาจาก Concept & Text : โดย Tony McNeill
The University of Sunderland, GB. Last Update 15-Apr-96 โดยวางลำดับหัวข้อสำคัญดังนี้
Roland Barthes: Mythologies (1957)
[Introduction] [What is Mythologies About?] [Interrogating the Obvious]
[Mass Culture, Myth and the Mythologist] [Myth and Ideology]
[Mythologies: A Postwar Text] [The Intellectual and Mass Culture]
[Mass Culture and the Intellectual] [The Politics of Mythologies]
[Barthes and Semiology]
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 29 หน้ากระดาษ A4)



(หมายเหตเพิ่มเติม ุ: บทความชิ้นนี้ได้คงภาษาฝรั่งเศสจากต้นฉบับไว้ บางส่วนเพื่อประกอบบทความและเพื่อความสมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ตามภาษาฝรั่งเศสในบทความนี้ อาจผิดพลาด คลาดเคลื่อน เนื่องจากการโอนย้ายภาษามาจัดรูปหน้าเว็ปเพจด้วยโปรแกรมที่มีข้อจำกัด
ดังนั้น จึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้)

ความนำ : Introduction
Roland Barthes นับเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของปัญญาชนนานาชาติ เขาเป็นหนึ่งในปัญญาชนซึ่งสำคัญที่สุดที่ปรากฏตัวขึ้นมาในฝรั่งเศสสมัยหลังสงคราม และงานเขียนต่างๆของเขา ได้มีอิทธิพลอย่างต่อเนื่องสำหรับการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันในทุกวันนี้

เมื่อตอนที่ Barthes ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1981 เขาได้ทิ้งผลงานสำคัญเอาไว้ ดังที่เพื่อนฝูงเป็นจำนวนมากและคนที่ชื่นชมเขาอ้าง ว่ายังจะมีผลงานชิ้นที่สำคัญกว่าจะทะยอยออกมา. ข้าพเจ้าไม่หวังว่า จะเป็นไปได้ที่จะตัดสินความหลากหลายเกี่ยวกับงานเขียนต่างๆของเขาในที่นี้ - เพียงแต่จะชี้ให้คุณเห็นถึงแนวคิดบางอย่าง ที่ซึ่งผู้อ่านจะค้นพบคำอธิบายดีๆเกี่ยวกับตัวเขา

ข้าพเจ้าจะย่ำตรงไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง Mythologies (มายาคติต่างๆ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานช่วงแรกสุดและได้รับการอ่านกันอย่างกว้างขวาง เรื่อง Mythologies เป็นงานชิ้นหนึ่งของ Barthes ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก เพราะว่าในผลงานชิ้นดังกล่าว เราจะเห็นถึงปัญญาชนในฐานะผู้สร้างความขบขัน, นักเสียดสี, นักเขียนที่มีสไตล์ในระดับปรมาจารย์ และนักเยาะเย้ยถากถางมายาคติที่แวดล้อมเราอยู่ในชีวิตประจำวัน

หนังสือเรื่อง Mythologies เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร?
What is Mythologies About?

Mythologies เป็นหนังสือที่ไม่ได้บรรจุเรื่องราวเรื่องเดียว แต่รวมเอาบทความหลายๆเรื่องเอาไว้ด้วยกัน หนังสือเล่มนี้มีบทความที่อยู่ในนั้นถึง 54 เรื่อง (เฉพาะงานแปลฉบับภาษาอังกฤษของ the Annette Lavers มีเพียง 28 เรื่อง) ทั้งหมดเป็นบทความสั้นๆ ซึ่งเขียนลงนิตยสารในหัวข้อที่หลากหลาย

เนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดที่บรรจุอยู่ภายในเล่ม ได้ถูกเขียนขึ้นช่วงระหว่างปี ค.ศ.1954 และ 1956 สำหรับนิตยสารของพวกฝ่ายซ้าย Les Lettres nouvelles และแน่นอนทั้งหมดนั้นมีชีวิตชีวา และมีพลังซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้คนในฐานะแบบอย่างงานเขียนที่ดี

อันที่จริงบทความ 54 เรื่อง ควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการพิจารณา ในฐานะที่เป็นการประพันธ์ในแบบสดๆโดยไม่มีการตระเตรียมล่วงหน้า ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวต่างๆในช่วงนาทีนั้น ยิ่งกว่าจะพิจารณามันในฐานะที่เป็นความเรียงเชิงทฤษฎีต่างๆ เนื่องจากการเป็นที่ถูกอกถูกใจซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นนำเสนอต่อผู้คนร่วมสมัย ด้วยภาพกว้างในลักษณะพานอราม่าเกี่ยวกับเหตุการณ์และแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1950s. ถึงแม้ว่าเรื่องราวทั้งหลายส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวันเวลาในช่วงดังกล่าว แต่มีไม่น้อยของเนื้อหาเหล่านั้น ซึ่งยังคงสอดคล้องกับผู้คนร่วมสมัยที่เปลี่ยนไปของพวกเราในทุกวันนี้

แม้ว่าจะมีบทความเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องของนักการเมือง แต่ส่วนใหญ่ของเนื้อหาทั้ง 54 เรื่องก็โฟกัสลงไปที่ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่แสดงออกมาอย่างหลากหลายของวัฒนธรรมมวลชน, la culture de masse: ภาพยนตร์, การโฆษณา, หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร, ภาพถ่าย, รถยนต์, ตุ๊กตาของเด็กๆ, เรื่องยอดฮิตในอดีต และอะไรทำนองนั้น อันนี้ถือว่าเป็นการเบิกหน้าดินหรือการเปิดพื้นที่ใหม่ๆในช่วงเวลานั้น. Barthes ได้แสดงให้เห็นว่า มันเป็นไปได้ที่จะอ่านสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวัน ในฐานะที่เป็นสิ่งซึ่งเต็มไปด้วยความหมาย

อย่างไรก็ตาม หนังสือเรื่อง Mythologies ไม่เพียงเป็นการรวบรวมบทความสั้นๆ 54 เรื่องเอาไว้เท่านั้น แต่ยังรวมเอาความเรียงในเชิงทฤษฎีที่สำคัญเอาไว้ด้วย ชื่อ `Le Mythe aujourd'hui' (Barthes: 1970 pp.193-247). `Le Mythe aujourd'hui' เป็นการสอดแทรกมุมมองกว้างๆในเชิงทฤษฎีในลักษณะปริทัศน์(ทัศนะโดยรวม, สรุปและการสำรวจ) ซึ่งเป็นพื้นที่ในทางทฤษฎีหรือระเบียบวิธีที่สำคัญอันหนึ่งในเนื้อหาของมัน และไม่ได้มีศูนย์กลางเพื่อสร้างความเข้าใจ และความซาบซึ้งเกี่ยวกับเรื่องราวอื่นๆในหนังสือ Mythologies เลย

ข้อเท็จจริงคือว่า มันถูกวางตำแหน่งเอาไว้หลังจากบทความสั้นๆ 54 เรื่องอย่างมีนัยสำคัญ อันนี้แสดงออกถึงว่า ไม่ได้มีการจัดเรียงลำดับอย่างมีแบบแผนง่ายๆธรรมดา สำหรับการที่มันถูกเขียนขึ้น แต่ Barthes ปรารถนาให้เราอ่านเรื่องราวดังกล่าว ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือทั้งหมด `Le Mythe aujourd'hui' มิได้ถูกตั้งใจให้มองเห็นในฐานะที่เป็นทฤษฎี เพื่อมาหนุนเสริมปฏิบัติการของบทความขนาดสั้นทั้ง 54 เรื่องให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งอันที่จริงบทความเหล่านั้น ค่อนข้างเป็นตัวของมันเองอยู่แล้วและเข้าใจได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ `Le Mythe aujourd'hui' ทำก็คือ สร้างความชัดเจนมากยิ่งขึ้นให้กับความเอาใจใส่บางอย่าง ซึ่งเสริมความแกร่งแก่ความเรียง 54 เรื่องในเล่ม ดังนั้น มันจึงเป็นการสรุปความหรือการทำให้เกิดความบริบูรณ์ในความต่อเนื่องระหว่างสองส่วนของหนังสือ Mythologies

การสอบสวนทวนความเพื่อความชัดเจน
Interrogating the Obvious

บ่อยครั้ง Barthes อ้างว่าได้ถูกทำให้รู้สึกตรึงตราและประทับใจ โดยความหมายของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน. ถ้าเผื่อว่ามันเป็นใจความสรุปเกี่ยวกับความต่อเนื่องของเรื่องราว ระหว่างสองส่วนของหนังสือ Mythologies หากเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ มันอยู่ตรงนี้ในการสอบสวนทวนความร่วมกันเกี่ยวกับความหมายต่างๆ ของสิ่งสร้างและปฏิบัติการทางวัฒนธรรมซึ่งแวดล้อมตัวเราอยู่

หลายต่อหลายครั้ง Barthes อ้างว่า เขาต้องการท้าทายความไร้เดียงสาและ"ความเป็นธรรมชาติ"ของข้อมูลและปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสามารถเกี่ยวกับการสร้างทุกสิ่งทางด้านความหมายที่ผนวกเข้ามาต่างๆ หรือ connotation(ความหมายแฝง). สำหรับคำว่า connotation ถือเป็นศัพท์คำหนึ่งซึ่ง Barthes ชอบนำมาใช้. แม้ว่าวัตถุต่างๆ, กริยาท่าทางและการปฏิบัติทั้งหลาย จะมีหน้าที่ประโยชน์ที่แน่นอนของมันอันหนึ่งก็ตาม แต่พวกมันก็ไม่ได้ต่อต้านต่อการแทรกตัวของความหมายแฝงต่างๆ

ไม่มีสิ่งใดที่มีความหมายเพียงโดดๆ เช่น รถยนต์ซึ่งเมื่อมองดูเผินๆ เป็นสิ่งที่มีหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยอย่างหนึ่ง ปราศจากความหมายแฝง และต้านทานต่อการแทรกแซงความหมาย. รถยนต์ BMW และ Citron 2CV ต่างๆก็มีส่วนในหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยคล้ายๆกัน โดยสาระแล้วมันทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่มันเป็นสิ่งซึ่งแฝงความหมายแตกต่างกัน เกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของรถยนต์สองคันนี้

กล่าวคือ รถยนต์ BMW มีสมรรถนะเกี่ยวกับแรงฉุดของเครื่องยนต์, แฝงนัยถึงผู้บริหารที่มีแรงขับที่จะส่งตัวเองให้มีหน้าที่การงานสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ Citron ซึ่งเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ค่อนข้างเงียบ ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม แฝงนัยถึงผู้ใช้รถว่าเป็นคนทันสมัย และมีความคิดเสรีนิยมเอียงซ้าย

เราสามารถพูดถึงรถยนต์ทั้งหลาย ในฐานะเครื่องหมายของการแสดงออกเกี่ยวกับความหมายแฝงต่างๆได้ ด้วยความหมายที่สองเหล่านี้ หรือความหมายแฝง ที่ Barthes ให้ความสนใจในการที่จะเปิดเผยมันออกมาในหนังสือ Mythologies. Barthes ต้องการยุติการทึกทักเอาเองเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เขาต้องการที่จะแขวนหรือยุติข้อพิจารณาเกี่ยวกับหน้าที่ประโยชน์ใช้สอยของพวกมัน และหันมาให้ความเอาใจใส่เกี่ยวกับสิ่งที่พวกมันหมายถึง และคอยตรวจตราดูว่า พวกมันมีหน้าที่ในฐานะเครื่องหมายอย่างไรมากกว่า

ในหลายๆแง่มุม สิ่งที่ Barthes กำลังทำเป็นการซักไซ้ไล่เลียงเรื่องความชัดเจน เขาได้เข้าไปมองใกล้ๆถึงสิ่งที่ได้รับการทึกทักหรือสมมุติ ทำให้มันชัดเจนออกมาในสิ่งที่ยังมีความหมายแฝงเร้นอยู่

พระคาธอลิครูปหนึ่งซึ่งอยู่ในความสนใจของสื่อ
ตัวอย่างธรรมดาๆอันหนึ่งของ Barthes ในการได้มาซึ่งสิ่งที่อยู่ใต้ผิวหน้าของสิ่งต่างๆคือ ความเรียงเรื่อง `Iconographie de l'abb Pierre' (Barthes: 1970 pp.54-6). The abb Pierre เป็นพระคาธอลิครูปหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในช่วงปีทศวรรษ 1950s (และในช่วงปีทศวรรษที่ 1980s และ 1990s ด้วยเช่นกัน)สำหรับภารกิจของท่านเกี่ยวกับคนซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยในกรุงปารีส

สิ่งที่กระตุ้นความสนใจของ Barthes คือ เรื่องที่ออกจะดูแปลกประหลาดสักหน่อย เกี่ยวกับชุดที่สวมใส่ของ the abb Pierre และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงผมของท่านนั่นเอง พวกเราต่างคาดหวังว่า ท่านจะเป็นคนที่ไม่แยแสเกี่ยวกับเรื่องแฟชั่น และพิจารณาความเป็นกลาง หรือ "tat zro"(tasteless)(Barthes: 1970 p.54)เป็นที่น่าเอาอย่าง

อย่างไรก็ตาม ไกลห่างไปจากภาวะกลางๆหรือไร้เดียงสานั้น เสื้อผ้าของ the abb Pierre และสไตล์ทรงผมได้ส่งสารต่างๆทั้งหมดออกมา นั่นคือ ความเป็นแคนาเดียนชนชั้นคนงานธรรมดาของ the abb Pierre และสไตล์ทรงผมที่ดูขึงขังเข้มงวด แฝงความหมายทั้งหมดถึงคุณสมบัติต่างๆที่เรียบง่าย, การอุทิศตนให้กับศาสนา และการเสียสละตนเอง

เสื้อผ้าต่างๆและทรงผมของเขาสร้างแฟชั่นอันหนึ่งเกี่ยวกับ - คล้ายๆกันมาก แม้จะไม่มากเกินไปนักกับเสื้อเชิ้ตโปโลของ Lacoste หรือสูทของ Armani - และนั่นมันอุดมไปด้วยความหมายแฝง. Barthes ไม่ได้อ้างว่า the abb Pierre จะมาจัดการควบคุมภาพลักษณ์ที่เป็นสาธารณะของท่านในเชิงเสียดสีถากถาง แต่เขากำลังสร้างประเด็นอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งค่อนที่จะไม่มีอะไรสามารถที่จะถูกละเว้นไปจากความหมายได้ (see Barthes: 1975 p.90)

วัตถุโดดๆใดๆก็ตาม หรืออากัปกริยาทุกอย่างเป็นสิ่งที่ไวต่อการแทรกแซงของความหมาย ไม่มีอะไรที่จะต่อต้านกระบวนการอันนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีอย่างเช่น the abb Pierre อันนี้คือกรณีหนึ่งซึ่ง เมื่อใครก็ตามกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสื่อ อย่างไรก็ตาม Barthes ได้ทำให้ข้ออ้างเหตุผลของเขาไปไกลอีกก้าวหนึ่ง

สื่อเน้นที่การอุทิศตัวของ the abb Pierre และงานต่างๆที่มีคุณธรรม - ซึ่งได้ถูกให้สัญลักษณ์ผ่านทรงผม! - อันนี้เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจใจไปจากรูปแบบอื่นๆของการสืบสาวและการสำรวจ เกี่ยวกับมูลเหตุแห่งปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัยและความยากจน. การเป็นตัวแทนที่ปรากฏบนสื่อของ the abb Pierre, Barthes อ้างว่า, งานสงเคราะห์อันศักดิ์สิทธิ์ ได้ไปปิดบังอำพรางที่มาทั้งหมดเกี่ยวกับมูลเหตุปัญหา ในทางเศรษฐกิจสังคมของการไร้ที่อยู่อาศัย และความยากจนในเมือง

สิ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาในความเรียงเรื่อง `Iconographie de l'abb Pierre' ก็คือ กลวิธีอันหนึ่งที่ถูกผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลาในหนังสือ Mythologies นั่นคือ Barthes จะเริ่มต้นขึ้นโดยสร้างความกระจ่างชัด ถึงความหมายเกี่ยวกับเนื้อหาหรือวัตถุทั้งหลายที่เป็นกลางๆภายนอก และถัดจากนั้น จะเคลื่อนคล้อยสู่การพิจารณาถึงเงื่อนไขทางสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งพวกมันปิดบังอำพราง หรือทำให้คลุมเครือ

วัฒนธรรมมวลชน, มายาคติและนักมายาคติ
Mass Culture, Myth and the Mythologist

ว่ากันตามรูปลักษณ์ภายนอก อย่างน้อยที่สุด หนังสือเรื่อง Mythologies เป็นหนังสือซึ่งตั้งชื่อเรื่องที่ออกจะสร้างความสับสน สำหรับการเป็นหนังสือที่เกี่ยวพันกับความหมายต่างๆของเครื่องหมายทั้งหลาย ซึ่งอยู่รายรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน

หากพิจารณากัน คำว่า"มายาคติ"(myth - ปกรณัม) คือเรื่องราวอันหนึ่งเกี่ยวกับอภิมนุษย์ในช่วงยุคต้นๆ, เกี่ยวกับอิยิปต์โบราณ กรีก หรือโรมัน. แต่คำว่า"มายาคติ"(myth)อาจหมายถึงเรื่องที่สรรค์สร้างขึ้น สิ่งที่อยู่เหนือการพิสูจน์หรือความเป็นมายา(illusory thing) อันนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับความหมายของ Barthes ที่ทำการสำรวจตรวจตราอยู่ในหนังสือ Mythologies

Barthes พัวพันอยู่กับการวิเคราะห์เรื่องของ"มายาคติ" ซึ่งไหลเวียนอยู่ในสังคมร่วมสมัย การเป็นตัวแทนที่ลวงหลอกและความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ในฝรั่งเศสในยุคหลังสงคราม. หนังสือเรื่อง Mythologies คือผลงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับมายาคติที่วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้ประกอบสร้างโลกใบหนึ่งสำหรับเราขึ้นมา และให้ภาพเกี่ยวกับที่ทางของเราบนโลกใบนี้

ธรรมชาติและมายาคติ
สิ่งที่มาเชื่อมร้อยบทความในนิตยสาร กับ ความเรียงเชิงทฤษฎีคือ ความเชื่อมั่นที่ว่า สิ่งซึ่งพวกเรายอมรับในฐานะที่เป็น"ธรรมชาติ" ตามข้อเท็จจริงแล้ว คือความจริงที่เป็นมายาที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อที่จะใส่หน้ากากหรืออำพรางโครงสร้างความเป็นจริงเกี่ยวกับอำนาจที่รับมา ซึ่งแพร่หลายอยู่ในสังคม

เรื่อง Mythologies - ทั้งในส่วนของบทความในนิตยสารและความเรียงเชิงทฤษฎี - คือการศึกษาเกี่ยวกับหนทางต่างๆ ซึ่งวัฒนธรรมมวลชน - วัฒนธรรมมวลชนซึ่ง Barthes มองมันในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมโดย la petite bourgeoisie (ชนชั้นกลางระดับล่าง-นายทุนน้อย) ที่ได้ประกอบสร้างความจริงที่เป็นมายาคติ(mythological reality )อันนี้ขึ้น และส่งเสริมให้มีการปรับตัวตามคุณค่าต่างๆของมัน. ตำแหน่งที่มั่นอันนี้แสดงอยู่ในเนื้อเรื่องต่างๆอย่างหลากหลาย ซึ่งได้สร้างหนังสือ Mythologies เล่มนี้ออกมา

พวกเราอาศัยอยู่บนโลกของเครื่องหมาย ซึ่งได้ให้การค้ำจุนการมีอยู่ของโครงสร้างอำนาจ และซึ่งอ้างว่ามีความเป็นธรรมชาติ บทบาทของนักมายาคติอย่างเช่น Barthes มองมัน และเปิดเผยเครื่องหมายต่างๆเหล่านี้ ในฐานะการประกอบสร้างกันขึ้นมาดังที่มันเป็น นอกจากนี้เขายังเผยให้เห็นการทำงานทั้งหลายของสิ่งเหล่านั้นด้วย และแสดงให้เห็นว่า …

"สิ่งซึ่งปรากฏว่าเป็นธรรมชาตินั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วคือการถูกกำหนดขึ้นมาโดยประวัติศาสตร์" แน่นอน อันนี้คือสิ่งที่ Barthes มองถึงบทบาทของการวิจารณโดยทั่วไป ในอัตชีวประวัติ Roland Barthes par Roland Barthes และความสอดคล้องของมันกับเรื่อง Mythologies อย่างชัดเจน

มายาคติและอุดมคติ
Myth and Ideology

มันเป็นไปได้ที่จะให้เหตุผลว่า "มายาคติ", ดังที่ Barthes ใช้ใน Mythologies, มีหน้าที่ในฐานะที่เป็นคำพ้องกับคำว่า"อุดมคติ"(a synonym of ideology) (สำหรับรายละเอียดการสนทนาเกี่ยวกับประเด็นที่ซับซ้อนมากกว่านี้ ดูใน Brown: 1994 pp.24-38) เช่นดังกับการสร้างทฤษฎี "อุดมคติ"(ideology) โดยทั่วไปอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ว่ายากที่จะนิยามความหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนิยามความหมายที่แพร่หลายเกี่ยวกับศัพท์คำนี้ ถือว่า มันเป็นการอ้างถึงเรือนร่างของความเชื่อและการเป็นตัวแทน ซึ่งยืนยงและสอดคล้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ยอมรับกันโดยทั่วไป. อุดมคติได้ให้การสนับสนุนคุณค่าต่างๆ และผลประโยชน์เกี่ยวกับกลุ่มที่ครอบงำในสังคม ข้าพเจ้าใคร่ที่จะอธิบายงานหนังสือเล่มหนึ่งของ Terry Eagleton ในเรื่อง Ideology: An Introduction: ดังนี้

อำนาจครอบงำอันหนึ่ง อาจถูกต้องในตัวของมันเอง โดยการสนับสนุนความเชื่อและค่านิยมต่างๆซึ่งเข้ากันได้กับมัน มันถูกทำให้เป็นธรรมชาติและทำให้เป็นสากลในความเชื่อนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้เกิดความแน่ชัดในตัวมันเอง และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
มันจะใส่ร้ายป้ายสีความคิดที่มีลักษณะท้าทายมัน กีดกันรูปแบบของความคิดที่เป็นคู่แข่ง บางทีโดยไม่ต้องพูดอะไร แต่โดยตรรกะในเชิงระบบ และสร้างความคลุมเครือเกี่ยวกับความจริงทางสังคม ในหนทางต่างๆที่เหมาะสมกับตัวของมันเอง
"ความลึกลับ"อันนั้น ดังที่มันเป็นที่รู้กันทั่วไป บ่อยครั้งอยู่ในรูปของหน้ากาก การอำพราง หรือการกดบีบความขัดแย้งต่างๆทางสังคม ซึ่งการเกิดขึ้นมาท่ามกลางแนวคิดอุดมคติ มันถือกำเนิดขึ้นในฐานะที่เป็นจินตนกรรมการแก้ปัญหา หรือ imaginary resolution เกี่ยวกับความขัดแย้งต่างๆที่เป็นจริง (Eagleton: 1991 pp.5-6)

จำเพาะนิยามอันนี้ เกี่ยวกับการทำงานของอุดมคติ มันเข้ากันได้กับเรื่อง Mythologies. ร่วมกันทั้งนิยามความหมายเกี่ยวกับอุดมคติของ Eagletons และความเข้าใจเกี่ยวกับมายาคติของ Barthes ต่างก็เป็นความคิดเกี่ยวกับการประกอบสร้างความจริงทางสังคม ซึ่งกระทำผ่านความเป็น"ธรรมชาติ"

ความคิดเห็นต่างๆและค่านิยมเกี่ยวกับชนชั้นทางประวัติศาสตร์และสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ ถูกยกชูไว้ในฐานะที่เป็น"ความจริงสากล"(universal truths). ความพยายามใดๆที่จะท้าทายความเป็นธรรมชาติ และความเป็นสากลอันนี้ของการประกอบสร้างความจริงทางสังคม (ซึ่ง Barthes เรียกว่า le cela-va-de-soi) จะถูกไล่ตะเพิดไปในฐานะที่ขาดเสียซึ่ง "bon sens"(good sense - สำนึกที่ดี) และด้วยเหตุดังนั้นจึงถูกกันออกไปจากการพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แท้จริงในสังคม (ระหว่างชนชั้น, ระหว่างเจ้าอาณานิคมกับคนในปกครอง, ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ฯลฯ) ถูกทำให้คลุมเครือ, การอ้างอิงถึงแรงตึงเครียดทั้งมวลและความยุ่งยากจะถูกสกัดออกไป, จะถูกขัดเกลา, การคุกคามทางการเมืองจะถูกถอดชนวน

นัยสำคัญของไวน์ต่อฝรั่งเศส
ขอให้ข้าพเจ้าได้สร้างความกระจ่างในประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยตัวอย่างจากหนังสือ Mythologies. ในเรื่อง `Le vin et le lait' (Barthes: 1970 pp.74-77) Barthes ได้ทำการสำรวจถึงนัยสำคัญของไวน์ต่อฝรั่งเศส. "ไวน์"คือแก่นแท้เชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญอันหนึ่งที่ชัดเจน เกี่ยวกับการแสดงออกของชาวฝรั่งเศสซึ่งชอบความสนุกสนานเฮฮา, เกี่ยวกับแรงขับทางเพศที่แข็งแกร่ง, ความเป็นชาย, และสำคัญยิ่งไปกว่านั้น เกี่ยวกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติ

ไม่มีอะไรที่สามารถแสดงออกได้เกี่ยวกับความเป็นชาวฝรั่งเศสโดยสาระ มากไปกว่า a ballon de rouge. ความอึกทึกครึกโครมของเรื่องนี้ มีมูลเหตุเริ่มต้นมาจากกรณีของประธานาธิบดี Monsieur Coty โดยการถ่ายรูปภาพของตัวท่าน ณ ที่ทำงานในบ้าน โดยมีขวดไวน์วางอยู่ด้วย ซึ่งขวดค่อนข้างออกเป็นสีแดง การประกอบกันนี้ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Barthes ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ในเชิงมายาคติเกี่ยวกับไวน์อย่างง่ายๆ โดยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของไวน์ ในฐานะสินค้าอีกตัวหนึ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อผลกำไร. เขาดึงความสนใจไปสู่การตักตวงผลประโยชน์ของผู้ผลิตไวน์ต่อประเทศโลกที่สาม โดยอ้างอิงประเทศอัลจีเรีย ในฐานะที่เป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศมุสลิมที่ยากจน ซึ่งได้ถูกบีบบังคับให้ใช้ผืนแผ่นดินของตนเพื่อเพาะปลูกผลผลิตที่ใช้ทำไวน์ - le produit d'une การบังคับเวนคืนที่ดิน (Barthes: 1970 p.77) - ซึ่งพวกเขาถูกห้ามไม่ให้ดื่มบนผืนแผ่นดินแห่งศาสนา(ศาสนาอิสลามห้ามดื่มของมึนเมา) และที่ซึ่งอาจจะเป็นการดีกว่าที่จะใช้ผืนแผ่นดินแห่งนี้ เพื่อการเพาะปลูกธัญพืชสำหรับใช้ในการผลิต

Barthes ได้สร้างความชัดเจนถึงความเชื่อมโยงกัน ระหว่าง"ไวน์"และ"เศรษฐศาสตร์สังคมเกี่ยวกับการผลิตนี้". และนี่คือส่วนทั้งหมดของจุดมุ่งหมายของเขา ในฐานะที่เป็นนักมายาคติคนหนึ่ง เขาจะต้องเปิดเผยความเป็นของเทียมเกี่ยวกับเครื่องหมายต่างๆเหล่านั้น ซึ่งได้ปลอมแปลงและอำพรางต้นกำเนิดในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมเอาไว้

มายาคติ: หนังสือหลังสงคราม
Mythologies: A Postwar Text

หนังสือเรื่อง Mythologies ของ Roland Barthes ได้ถูกนำไปผูกกับประเด็นต่างๆหลังสงครามเป็นจำนวนมาก(โปรดดู Les trente glorieuses: France 1945-75 สำหรับการมองภาพกว้างทั่วๆไปของยุคดังกล่าว). ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ เป็นทั้งเรื่องราวของชาวฝรั่งเศสเองโดยเฉพาะ - พิเศษจำเพาะต่อประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสในยุคนี้ - และประยุกต์ใช้ได้กับพัฒนาการหลังสงครามในประเทศยุโรปอื่นๆ ประเด็นเหล่านี้รวมถึง:
[France's Imperial Crises] [The Sexual Politics of the Domestic] [Changing Patterns of Cultural Consumption] [Technocratic Icons of Modernization] [Institutional Inertia]

วิกฤตของจักรวรรดิ์ฝรั่งเศส
France's Imperial Crises

ยุคสมัยที่ตามมาทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ปีแห่งการปลดปล่อยการเป็นอาณานิคม ซึ่งอำนาจของเจ้าอาณานิคมเก่าก่อนในอาณาเขตดินแดนทั้งหลายได้รับการปลดเปลื้อง. ฝรั่งเศส ในฐานะอำนาจจักรวรรดิ์ที่สำคัญหลังอังกฤษ ได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งในกระบวนการเหล่านี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (ส่วนใหญ่ในแถบอินโดจีนและแอฟริกาเหนือ)

ฝรั่งเศส ในช่วงเวลาที่ Barthes ได้เขียนหนังสือเรื่อง Mythologies ยังอยู่ในท่ามกลางคาวเลือด และขมขื่นกับสงครามอาณานิคม: la guerre d'Algrie. Mythologies ของ Barthes เป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งตอบสนองต่อการปลดปล่อยอาณานิคม และเป็นเรื่องทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับความเป็นฝรั่งเศส และอัตลักษณ์ของชาวฝรั่งเศส

มันเป็นการอ้างอิงต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น กับบรรดานักการเมืองฝ่ายขวา อย่าง Poujade และ Le Pen ผู้ที่ได้รับเอาความรู้สึกเชื้อชาตินิยมต่างๆมาอย่างตื่นเต้น ในความเรียงทั้งหลาย อย่างเช่น `Quelques paroles de M. Poujade' (Barthes: 1970 pp.85-7) และ `Poujade et les intellectuels' (Barthes: 1970 pp.182-90) เรื่อง `Bichon chez les n่gres' (Barthes: 1970 pp.64-67) ถือเป็นเนื้อหาที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเชื้อชาตินิยม(racism)

ภาษาที่อำพรางปัญหา กรณีอัลจีเรีย
หนึ่งในความเรียงต่างๆ ซึ่งเข้าถึงหรือคุยถึงได้ง่ายเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนทั้งหลายของอาณานิคมฝรั่งเศส - ด้วยการที่มันมีลักษณะสะท้อนถึงเรื่องราวร่วมสมัยกับทุกวันนี้มากกว่า - คือเรื่อง `Grammaire africaine' (Barthes: 1970 pp.137-144). ดังที่ชื่อเรื่อง `Grammaire africaine' เสนอแนะ มันเป็นความเรียงชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับภาษา โดยเฉพาะยิ่งไปกว่านั้น เกี่ยวกับภาษาซึ่งใช้กันในหนังสือพิมพ์และนิตยสารของพวกฝ่ายขวา ที่อธิบาย ประเมิน และวิเคราะห์ความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นในอัลจีเรีย

สิ่งที่ Barthes อ้างว่าได้ค้นพบทุกครั้ง เมื่อเขาอ่านหนังสือพิมพ์ หรือบทความในนิตยสารที่เกี่ยวกับอัลจีเรียคือ ภาษาที่ถูกสร้างขึ้นอย่างระมัดระวังและการใส่ระหัส เวลาที่มีการพูดหรือเขียนถึงความสัมพันธ์ต่างๆระหว่าง Franco-Algerian (กับ ข้อสันนิษฐานทั้งหลายที่ซ่อนเร้นและผลประโยชน์ต่างๆ. มายาคติ - ซึ่ง Barthes อธิบายในฐานะ`une parole d politise' (ภาษาทางการเมือง) (Barthes: 1970 p.230) - มันมีผลในที่นี้ และใน `Grammaire africaine' นั้น Barthes แสวงหาหนทางที่จะเปลือยหรือเปิดเผยมันออกมา โดยการยืนยันใน"การมีตำแหน่งแหล่งที่"ในสังคมและประวัติศาสตร์ของภาษาที่ถูกใช้

สิ่งซึ่งเรื่อง `Grammaire africaine' ได้ไปเกี่ยวข้องข้องจริงๆคือ หนทางที่วาระทางการเมืองแบบจักรวรรดิ์ ได้ถูกลักลอบนำเข้าไปในรายงานของเรื่องราวต่างประเทศ. Barthes ได้เผยถึงธรรมชาติที่บรรทุกความเป็นอุดมคติของคำศัพท์ ซึ่งถูกใช้อธิบายความขัดแย้งที่สำคัญของจักรวรรดิ์ฝรั่งเศส นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นถึงคำโกหกหลอหลวงต่างๆ(mendacious signifiers)ด้วย ซึ่งหน้าที่แต่เดิมของภาษาพวกนี้คือ การปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริงทั้งหลายเกี่ยวกับสงครามอัลจีเรีย

ผู้คนเหล่านั้นที่แสวงหาสันติภาพจากกฎข้อบังคับของฝรั่งเศส เป็นตัวอย่าง จะได้รับการอธิบายอย่างหลายหลาก ในฐานะ `une bande' (กลุ่มแก๊ง) หรือในฐานะ `hors-la-loi' (พวกนอกกฎหมาย) และด้วยเหตุดังนั้น ข้อเรียกร้องต่างๆของพวกเขาจึงถูกพิจารณาว่าผิดกฎหมาย

ศัพท์ต่างๆพวกนี้ไม่เคยถูกใช้กับพวกที่ตั้งรกรากทั้งหลาย บรรดาผู้ตั้งรกรากฝรั่งเศสจะได้รับการอธิบายอย่างสม่ำเสมอ ในฐานะ `communaut' (ชุมชน) การมีอยู่ของชุมชนถูกให้เหตุผลว่า มันเป็นพันธกิจพิเศษของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสิ่งผูกมัดที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในดินแดนนั้น

สิ่งที่เรียกว่า `destin' of Algeria (ชะตากรรมของอัลจีเรีย) คือบรรดาผู้อยู่ในบังคับของอาณานิคมฝรั่งเศส มากกว่าในฐานะที่เป็นประชาชาติที่เป็นอิสระ ในความขัดแย้งกับความเป็นจริงเกี่ยวกับการพังทลายลงของจักรวรรดิ์ฝรั่งเศส, "ชะตากรรม"(destin)นี้ได้รับการอ้างที่ตายตัวและไม่มีการเปลี่ยนแปลง

คำว่า `guerre'(war) หรือสงคราม ไม่เคยถูกนำมาใช้ - อัลจีเรียเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของสงครามที่ไม่มีชื่อเรียก(war without name) หรือ guerre sans nom, สงครามที่ไม่เคยประกาศ - เพียงศัพท์ต่างๆอย่าง `paix' (peace - ความสงบสันติ) และ 'pacification' (การทำให้สงบ)ได้ถูกนำมาใช้ . แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยมากหรือส่วนใหญ่แล้วคำศัพท์อย่างเช่น dchirement ซึ่งเสนอถึงลักษณะธรรมชาติ และเนื่องจากมันไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น - ความหายนะได้ถูกนำมาใช้เพื่อกำหนดหรือระบุถึงสถานการณ์ดังกล่าวในอัลจีเรีย

โทนเสียงทั้งหมดของการรายงานในหน้านิตยสารฝรั่งเศสส่วนใหญ่ เกี่ยวกับเรื่องอัลจีเรีย ได้รับการแสดงเครื่องหมายให้ปรากฏโดยความพยายามที่จะทำให้มันไม่ได้ยิน หรือปลอมแปลงซ่อนเร้นความจริงที่รุนแรงของสงครามเอาไว้ ภาษาในที่นี้มิใช่เครื่องมือการสื่อสาร แต่มันเป็นการข่มขู่ คุกคาม ซึ่งแสวงหาหนทางหลอกลวงเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์บางอย่างเอาไว้ (ยกตัวอย่างเช่น ที่เกี่ยวข้องกับรัฐฝรั่งเศส) ในฐานะที่เป็นการตีความข้างเดียว และเพื่อทำให้เรื่องราวชายขอบเหล่านั้นตรงกันข้ามไปเลย

บทความที่สำคัญอีกบทความหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์กับการวิจารณ์ของ Barthes เกี่ยวกับการเป็นตัวแทน(ที่ผิดพลาด)ของการเมืองในอัลจีเรียของนิตยสารฝรั่งเศส คือ `La Critique Ni-Ni' (Barthes: 1970 p.144-46). บทความดังกล่าว ได้ปลอกเปลือกบรรดานักเขียนนิตยสารเหล่านั้นออกจนเกลี้ยงเกลา ซึ่งมีศิลปะที่สมบูรณ์แบบของการเข้าข้าง โดยเสนอผลงานออกมาในลักษณะอำพรางว่าเป็นกลาง และเพียงการแสดงออกถึงสุ่มเสียงของสามัญสำนึกเท่านั้น

สามัญสำนึก Barthes เสนอว่ามันมีลักษณะที่เป็นอุดมคติค่อนข้างลึกซึ้ง มากกว่าการแสดงออกที่เป็นกลาง มันมีลักษณะความจริงที่แน่ชัดในตัวเอง แสดงออกถึงระเบียบโลก และทัศนียภาพของชนชั้นทางสังคมโดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์ชนชั้นหนึ่ง. ในงานเขียนชิ้นหลังๆของเขา Barthes ได้แทนที่ศัพท์ `bon sens'( good sense) หรือ `sens commun'(common sense) ด้วยศัพท์คำว่า doxa (doxastic - ความเชื่อของปัจเจก) ซึ่งเขาใช้เพื่อเป็นการระบุถึงความคิดทั้งหลายเหล่านั้น และค่านิยมต่างๆซึ่งอ้างถึงกำเนิดทั้งหลายของมันในสามัญสำนึก:

การเมืองเรื่องเพศในบ้าน(ฝรั่งเศส)
The Sexual Politics of the Domestic

การเมืองเรื่องเพศของปริมณฑลภายในประเทศ (ภาพลักษณ์ต่างๆของความเป็นผู้หญิง, บทบาทของผู้หญิง ฯลฯ) เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งได้รับการจับจ้องโดย Barthes. หลายปีมาโดยตลอดภายหลังสงครามทันที โลกตะวันตกเป็นเรื่องของโลก retour au foyer (การกลับบ้าน), เป็นการกลับมายืนยันเกี่ยวกับบทบาทต่างๆทางเพศในแบบขนบประเพณี (ดู Women in Postwar France: the Domestic Ideal สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้) [ผู้หญิงภายหลังสงครามในฝรั่งเศส: อุดมคติในฐานะแม่บ้าน]

แม้ว่าสถานการณ์ของผู้หญิงฝรั่งเศส ในช่วงระหว่างสงครามจะผิดแผกแตกต่างไปจาก บรรดาผู้หญิงทั้งหลายในอังกฤษและอเมริกาโดยทั่วไป ผู้หญิงฝรั่งเศสไม่ได้ถูกกะเกณฑ์เข้าสู่การทำงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกครอบครองโดยผู้ชาย ประสบการณ์ของพวกเธอหลังสงครามยังคงเป็นแบบเดิมเอามากๆ นั่นคือ มีความพยายามอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น ที่จะผลักดันให้ผู้หญิงหวนกลับเข้าไปสู่ขอบเขตต่างๆของงานบ้าน และบทบาททั้งหลายเกี่ยวกับความเป็นแม่และแม่บ้าน

หลังจากการปลดปล่อยหรือยุคแห่งเสรีภาพ สภานิติบัญญัติฝรั่งเศส พุ่งเป้าไปยังผู้หญิงโดยการวางพื้นฐานบทบาทของผู้หญิงในฐานะ mamans de France (แม่ของฝรั่งเศส). ดังที่กล่าวนี้ ได้มีการเสนอนโยบายครอบครัวขึ้นมา และพยายามที่จะเพิ่มอัตราการเกิดต่อจำนวนประชากร. ส่วนอีกกระแสหนึ่งที่คู่ขนานกับนิติบัญญัติที่เจาะจงนี้ ด้วยการสนับสนุนการกลับไปเป็นแม่บ้านแม่เรือนของผู้หญิง (e.g. les allocations familiales) ก็คือแรงกดดันในเชิงอุดมคติ ซึ่งมาจากศาสนาหรือโบสถ์, บรรดานักการเมืองทั้งหลาย, และที่สำคัญสุดคือมาจากสื่อ

เป็นที่น่าสนใจที่จะหมายเหตุลงไปว่า หนึ่งในพัฒนาการภายหลังสงครามคือ การเจริญเติบโตของบรรดานิตยสารรายสัปดาห์และรายเดือนซึ่งเป็นที่นิยมขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานิตยสารเหล่านั้นที่มีจุดมุ่งหมายพุ่งตรงไปยังผู้อ่านที่เป็นเพศหญิงก่อนอื่นใดทั้งหมด อย่างเช่น Elle (ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1945) รวมไปถึง Marie-France, Marie-Claire และ Femmes d'aujourd'hui ซึ่งเป็นการพิมพ์และโฆษณาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ที่ Barthes ให้ความสนใจและสร้างความระคายเคืองแก่เขามาก (see Barthes: 1981 pp.96-97)

เขาได้อรรถาธิบายนิตยสาร Elle ในฐานะที่เป็น คุณสมบัติที่แท้จริงของมายาคติ `veritable tresor mythologique' (Barthes: 1970 p.128). ในความเรียงเรื่อง `Conjugales' (เกี่ยวกับการสมรส)(Barthes: 1957 pp.47-50) ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจโดยเฉพาะสำหรับในที่นี้. Barthes เขียนถึงความหลงใหลและตราตรึงใจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ยอดนิยมในเรื่องการแต่งงานต่างๆ และหนทางทั้งหลายที่ทำให้องค์กรทางสังคม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอันหนึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

ของเล่น เรื่องเพศ และเธอกับหัวใจ
ในบทความเรื่อง `Jouets' (ของเล่น) (Barthes: 1970 pp.58-60), แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องเพศในบ้านอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ก็ไปเกี่ยวพันกับหนทางต่างๆที่ของเล่นทั้งหลาย ได้กระตุ้นสนับสนุนบรรดาเด็กๆที่จะรับเอาเรื่องเพศและฐานะทางชนชั้นต่างๆซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ล่วงหน้าไว้แล้ว

Barthes อ้างว่า พวกเด็กๆได้รับการกระตุ้นให้มีการแสดงความเป็นเจ้าของ มากกว่าจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้เล่นของเล่นต่างๆอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้เป็นผู้มีอำนาจในการผลิต แต่กลับกลายเป็นถูกกระตุ้นให้มีการยอมรับ

ในเรื่อง `Romans et enfants' (เรื่องของเด็กๆ)(Barthes: 1907 pp.56-8) นับเป็นความเรียงที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับทัศนคติที่ตายตัวเกี่ยวกับเพศสภาพ โดยให้การเอาใจใส่กับบรรดานักเขียนสตรีทั้งหลาย นักเขียนสตรีทั้งหลายถูกมองและให้การยอมรับ แต่พวกเธอจะต้องจ่ายด้วยราคาที่สูงลิ่วสำหรับการสร้างสรรค์งานของพวกเธอ โดยการไม่ให้ความสนใจต่อชะตากรรมของชีวิตของพวกเธอ

เรื่อง`Celle qui voit clair' ((Barthes: 1957 pp.125-8) ถือเป็นบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคอลัมภ์ต่างๆซึ่งสะท้อนถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานในนิตยสารทั้งหลายของผู้หญิง. คำแนะนำทั้งหลายซึ่งนำเสนอในคอลัมภ์เหล่านี้ ได้ประกอบสร้างเงื่อนไขความเป็นผู้หญิงขึ้นมา - ผู้หญิง - ไม่เหมือนกับผู้ชายที่ถูกนิยามโดยความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของพวกเธอกับหัวใจ - ซึ่งได้รับการอ้างว่าเป็นสิ่งชั่วนิรันดร์

ไม่มีการอ้างอิงใดๆ ที่เคยได้รับการสร้างขึ้นมา เพื่อเงื่อนไขหรือสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริงของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นขอบเขตปริมณฑลของพวกเธอ คือบ้านและหัวใจ(the home and the heart) ความคิดความเชื่อ - หรือมายาคติ - เกี่ยวกับผู้หญิงที่ประกาศใน le courrier du coeur (คอลัมภ์แห่งหัวใจ) คือ ผู้หญิงนั้นไม่มีบทบาทอื่นใด มากไปกว่าการถูกนิยามโดยผู้ชาย

วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน
The Changing Culture of the Working Class

สำหรับข้าพเจ้า การศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ที่จริงแล้วเริ่มต้นด้วยการถกเถียงหรืออภิปราย เกี่ยวกับธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ในช่วงหลังสงครามของอังกฤษ. ความพยายามอันหนึ่งที่จะพูดถึงการกระจัดกระจายที่ชัดเจนของวัฒนธรรมตามขนบจารีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จารีตเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางชนชั้น มันเกี่ยวข้องกับการบันทึกถึงผลกระทบเกี่ยวกับรูปแบบใหม่ของสังคมบริโภคและความหลากหลาย

บนโครงสร้างแบบปิรามิดและยึดถือความสูงต่ำหรือลำดับชั้นของสังคมอังกฤษ พยายามที่จะตกลงกันหรือสร้างการยอมรับเกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปไป และผลกระทบในเชิงทำลายทีละน้อยของสื่อสารมวลชน มันเป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรากฏตัวขึ้นมา ของสังคมมวลชนภายในสังคมชนชั้นแบบเก่าของยุโรป มันเป็นการบันทึกถึงการเคลื่อนตัวเข้ามาอย่างช้าๆของสหราชอาณาสู่โลกสมัยใหม่ (Hall: 1990 p.12)

30 ปีระหว่างเรื่อง liberation (เสรีภาพ) และ crise petrolire (วิกฤตการณ์น้ำมัน) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในฐานะ les trente glorieuses (ความรุ่งโรจน์สามสิบปี) คือช่วงปีต่างๆของความเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง และความงอกงามทางเศรษฐกิจที่มั่นคง สภาพเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชนชั้นแรงงาน ได้ก่อให้เกิดความมั่งคั่งรุ่งเรืองอย่างมาก และทำให้เกิด petit-bourgeois (lower middle class) ชนชั้นกลางระดับล่างมากมายในความเห็น Barthes

ทั้งนี้เนื่องมาจากมาตรฐานการครองชีพระดับสูงของช่วงหลังสงครามนั่นเอง ความทรงจำอันนี้ เป็นยุคสมัยซึ่งได้รับการเรียกว่า "แรงงานที่มั่งคั่ง"(affluent worker) ด้วยการมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อน อะไรคือสิ่งซึ่งแรงงานที่มั่งคั่งเหล่านี้ซื้อหา และอะไรคืออุปนิสัยทางวัฒนธรรมของพวกเขา?

หนึ่งในพัฒนาการต่างๆในช่วงเวลานั้น Barthes เอง กำลังเขียนหนังสือเรื่อง Mythologies, ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากวัฒนธรรมที่แท้จริงของปวงชน ซึ่งหยั่งรากลึกในวิถีชีวิตของผู้คนชนชั้นแรงงานธรรมดา สู่วัฒนธรรมมวลชนซึ่ง Barthes มองมันในฐานะที่เป็น ปรากฏการณ์ของชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ถูกกำหนดอยู่บนชนชั้นแรงงานใหม่ที่มั่งคั่งนั่นเอง

อันที่จริง ใครสักคนสามารถที่จะไปไกลกว่านี้และอ้างว่า อันนี้คือความน่าสนใจของหนังสือ กล่าวคือ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตายของ"วัฒนธรรมที่แท้ของปวงชน"อันหนึ่ง ในมือของ"วัฒนรรมมวลชนของชนชั้นกลางระดับล่าง"

รูปลักษณ์ต่างๆของเทคโนแครต
Technocratic Icons

สถานภาพเกี่ยวกับรูปลักษณ์ต่างๆของเทคโนแครต(technocratic - ในที่นี้หมายถึงเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี) ภายในสังคมร่วมสมัย (the Citron DS, the Eiffel Tower etc. - รถยนต์ซีตรองและหอไอเฟล) เป็นอีกแนวเรื่องหนึ่งในหนังสือ Mythologies ของ Barthes ในโลกยุคหลังสงคราม

สิ่งทั้งหลายกลายเป็นการเติมเต็มคุณค่าใหม่และการมีนัยสำคัญอันหนึ่ง เช่นดังสิ่งของต่างๆในการบริโภค กลายเป็นสิ่งซึ่งผู้คนทั้งหลายสามารถมีมันได้มากขึ้น และผู้คนเป็นจำนวนมากสามารถที่จะได้มาซึ่งการครอบครองสิ่งเหล่านั้น อาทิเช่น รถยนต์ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น

พลังและการมีอยู่ของการโฆษณา กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจและมองเห็นกันมากขึ้น ความเรียงต่างๆที่สำคัญ รวมถึงเรื่อง `Saponides et les detergents' (สบู่และผงซักฟอก)(Barthes: 1970 pp.38-40), `La nouvelle Citron'(เรื่องราวเกี่ยวกับรถซีตรอง)(Barthes: 1970 pp.150-2) และ `Publicite et profondeur'(การโฆษณาและความลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ข้างใต้) (Barthes: 1970 p.82)

วัตถุประสงค์สำคัญสุดเกี่ยวกับความเรียงทั้งหลายเหล่านี้ เป็นการเผยให้เห็นถึงชนชั้นกลางระดับล่าง ในฐานะการแสดงออกถึงความพึงพอใจในตนเอง ความลุ่มหลงเกี่ยวกับประโยชน์ในเชิงวัตถุของมัน และการได้รับการเรียกขานของมันว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

รถยนต์กับฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสหลังสงคราม รถยนต์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย อันนี้ได้ถูกสะท้อนออกมาในภาพยนตร์จำนวนมากของยุคสมัยดังกล่าว อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง Lola (1960), La Belle Americaine (1961) และ, ในเรื่องราวโศกนาฏกรรม อย่างเรื่อง Weekend ของ Jean-Luc Godard (1967)

อุตสาหกรรมรถยนต์กลายเป็นศูนย์กลางของการทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น ด้วยการที่มีโรงงานสมัยใหม่ขนาดใหญ่เกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ Renault ที่ Billancourt ดังที่มันเป็นสิ่งเตือนความทรงจำที่มองเห็นได้. บังเอิญที่ว่า โรงงานแห่งนี้ได้กลายเป็นฉากของภาพยนตร์เรื่อง Elise ou la vraie vie (1967) ของ Claire Etcherelli. ในเรื่อง `La nouvelle Citro๋n' (Barthes: 1970 p.150-2) Barthes เข้าใจเรื่องนี้อย่างดีและวิเคราะห์ถึงวิธีการต่างๆซึ่ง รถยนต์ได้กลายมาเป็นภาพลักษณ์เกี่ยวกับการทำให้เป็นสมัยใหม่ของฝรั่งเศส

เขาเปรียบเทียบรถยนต์กับโบสถ์ขนาดใหญ่ในสมัยกลาง นั่นคือ ทั้งคู่ต่างเป็นผลงานที่ได้รับการสร้างขึ้นโดยศิลปินที่ไม่ปรากฏนาม ซึ่งทำให้ผู้คนทั้งหลายรู้สึกลุ่มหลงและปลื้มปิติ

การโฆษณา การเชิญชวนที่ซ่อนเร้น
บทความอื่นๆอีกบนความสำคัญของการโฆษณา, "การเชิญชวนที่ซ่อนเร้น" (hidden persuaders) (Vance Packard) ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นในฝรั่งเศสช่วงหลังสงคราม เพื่อเติมเชื้อไฟให้กับการบูมหรือความเบ่งบานของการบริโภค อย่างเช่นงานภาพยนตร์ของ Jean-Luc Godard ใน Une femme marie (การแต่งงานของผู้หญิง)(1964), Deux ou trois choses que je sais d'elle (1966) and Masculin-fminin (ชาย-หญิง)(1966) เป็นการสำรวจตรวจตราถึงบทบาทของภาพลักษณ์ต่างๆ ที่ได้รับการผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมากในงานภาพยนตร์ของเขาในช่วงทศวรรษ 1960s แต่ Barthes ได้อยู่ ณ ที่นั้นแล้วก่อนเขา

การโฆษณาจะสร้างภาพลักษณ์แปลกแยกต่างๆอย่างถึงที่สุดเกี่ยวกับชนชั้นกลาง savoir-vivre ซึ่งทุกๆคนจะถูกกระตุ้นให้เกิดความต้องการ อย่างไรก็ตาม ยิ่งไปกว่านี้โฆษณาจะรับภาระในการส่งเสริมสนับสนุน"มายาคติ" เกี่ยวกับการมีอิสระในการเลือก หรือมีเสรีในการเลือก

ในเรื่อง 'Saponides et detergents'(สบู่และผงซักฟอก) (Barthes: 1970 pp.38-40) เขาได้พูดถึงการโฆษณาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีกับผงซักฟอก Omo และ Persil. การโฆษณาถึงสินค้าเหล่านี้ ส่งเสริมสินค้าที่ต่างกันสองชนิด ด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันสองอย่าง. ในความเป็นจริง สินค้าทั้งสองชนิดเกือบจะเหมือนกันทีเดียว และทั้งคู่ถูกผลิตโดยบริษัท the Anglo-Dutch multinational Unilver

ความเฉื่อยชาของสถาบัน
Institutional Inertia

ความแคระแกร็น และความอิ่มอกอิ่มใจ รวมถึงความไม่ซื่อสัตย์ และความเฉื่อยชาเกี่ยวกับสถาบันต่างๆของฝรั่งเศส(เช่น ระบบการศึกษา, ระบบตุลาการ ฯลฯ) เป็นบางสิ่งบางอย่างที่ครอบงำชาวฝรั่งเศส มากเท่าๆกันกับชาวอังกฤษในช่วงยุคหลังสงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Barthes ความผิดพลาดล้มเหลวของความยุติธรรม, ระบบการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อที่ไม่ข้อพิสูจน์ และอยู่นอกเหนือการสัมผัสจับต้องของคนหนุ่มสาว ชนชั้นทางการเมืองที่พึงพอใจและหยิ่งยโสชนชั้นหนึ่ง

ใน `Dominici ou le triomphe de la litterature' (Barthes: 1970 pp.50-53) Barthes ให้เหตุผลว่า ภาษาได้ถูกนำมาใช้เพื่อตำหนิประณาม Gaston Dominici ซึ่งบ่งนัยะถึงจิตวิทยาเกี่ยวกับสมมุติฐานของชนชั้นกลางระดับล่าง และความร้ายกาจของภาษา. เขาเป็นชาวชนบทที่เรียบง่ายคนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวโทษว่า เป็นคนฆ่าครอบครัวชาวอังกฤษครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว และต้องเผชิญหน้ากับภาษาทางกฎหมายที่เขาไม่รู้ไม่เข้าใจเลย

ในเรื่อง `Le Proc่es Dupriez' (Barthes: 1970 pp.102-105) Gerard Dupriez เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งซึ่งได้ฆ่าพ่อแม่ของเขาโดยปราศจากแรงกระตุ้น ชายคนดังกล่าวได้ถูกประณามและตัดสินลงโทษประหารชีวิต เพราะกฎหมายทำงานบนความคิดความเชื่อที่ตายตัว ซึ่งได้สร้างหรือสถาปนาจิตวิทยาเกี่ยวกับแรงจูงใจของมนุษย์ขึ้นมา

ปัญญาชนและวัฒนธรรมมวลชน
The Intellectual and Mass Culture

ผู้คนจำนวนมากอ้าง และด้วยเหตุผลที่ดีว่า หนังสือเรื่อง Mythologies เป็นหนึ่งในตำราที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย (Storey: 1992 p.77) และ Antony Easthope ถือเป็นหนึ่งในหนังสือสองเล่ม (อีกเล่มคือ Culture and Society เป็นของ Raymond Williams) ที่ริเริ่มนำเสนอการศึกษาทางวัฒนธรรมสมัยใหม่(Easthope: 1991 p.140)

Barthes เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย เพราะว่าเขาเป็นผู้ซึ่งอยู่ในหมู่ของคนแรกๆซึ่งให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อเรื่องของ"วัฒนธรรมมวลชน" และประยุกต์มันสู่ระเบียบวิธีต่างๆเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ที่แต่ก่อนสงวนเอาไว้สำหรับ"วัฒนธรรมชั้นสูง"เท่านั้น. สิ่งที่ทำให้ Barthes เป็นที่สนใจมากขึ้นก็คือ เขาได้ทำสิ่งนี้ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ช่วงที่ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมกำลังประสบกับภาวะความเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างสำคัญ

แน่นอน Mythologies ของ Barthes เป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นครั้งแรก ภายใต้ขอบเขตที่มันได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็น เรื่องราวเกี่ยวกับการไถ่ถามตรวจสอบทางสติปัญญา ถึงโลกของวัฒนธรรมมวลชน นั่นคือ ภาพยนตร์ กีฬา การโฆษณา สิ่งพิมพ์ยอดนิยม นิตยสารสำหรับผู้หญิง และอื่นๆ Barthes เป็นหนึ่งในนักวิจารณ์หรือนักตั้งข้อสังเกตคนแรกสุดต่อวัฒนธรรมมวลชน บนวัฒนธรรมการบริโภคสมัยใหม่ช่วงยุคหลังสงคราม

Barthes ได้ขยายนิยามเกี่ยวกับกิจกรรมทางปัญญาในฝรั่งเศส เขาได้ทำการสำรวจถึงเนื้อหาเรื่องราวที่น่าประทับใจต่างๆอย่างกว้างขวาง และรวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมทั้งหลายด้วย อย่างเช่น มวยปล้ำ ละครสัตว์ การช็อพพิ่ง ของเล่น รถยนต์ ผงซักฟอก อาหาร นิตยสารของผู้หญิง การแข่งขันประชันเรื่องความงาม ภาพถ่าย และนวนิยายยอดนิยม

Mythologies ของ Roland Barthes เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่โลดแล่นไป และเจาะเข้าไปถึงในร้านขายของเล่น มันเป็นตำราเล่มสำคัญซึ่งถลำลึกลงไปสู่ขุมทรัพย์ของภาพเกี่ยวกับวัฒนธรรม(image trove of culture) (see Rylance: 1994 pp.63-64) - และถูกทำความเข้าใจในหนทางที่ครอบคลุมกว้างขวางมากเท่าที่เป็นไปได้ - เพื่อค้นหาเรื่องราวใหม่ๆเกี่ยวกับการครุ่นคิดทางสติปัญญา

Mythologies ครอบครองรสชาติและมีความกระหายในการสำรวจตรวจค้นของมัน เกี่ยวกับสิ่งสร้างทางวัฒนธรรมและปรากฏการณ์ต่างๆ หนังสือเล่มนี้แสดงถึงลักษณะที่ผิดแปลกไปจากธรรมดา ในการอ่านเชิงจินตนาการและทีเล่นทีจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรม ในโลกมายาคติที่หนักหน่วง ซึ่งน่าจะล้มล้างการเล่นกับจินตนาการอันนั้น

วัฒนธรรมชั้นสูงและวัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์ กรณี "มวยปล้ำ"และ"โรงมหรสพ"
ในระดับหนึ่ง สิ่งที่ Barthes ดูเหมือนกำลังทำในหนังสือ Mythologies ก็คือ ทำให้พรมแดนระหว่าง"วัฒนธรรมชั้นสูง"กับ"วัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์"ไม่มั่นคงอีกต่อไปหรือไร้เสถียรภาพ. Barthes เห็นพ้องกับวัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์ว่ามีความสลับซับซ้อน มีความหนักแน่นและรุ่มรวยด้วยแก่นสารทางความคิด ซึ่งเป็นการปกปักรักษาวัฒนธรรมชั้นสูงเพียงสิ่งเดียวเอาไว้

ตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ การสนทนาถึงมวยปล้ำในบทความเรื่อง`Le monde ou l'on catche' (Barthes: 1970 pp.13-24). กีฬามวยปล้ำ บ่อยครั้ง ได้รับการคิดว่าเป็นสิ่งบันเทิงที่ใช้ฆ่าเวลาซึ่งเกี่ยวข้องกับสติปัญญาน้อยที่สุดในวัฒนธรรมของพวกเรา และไม่ถูกพิจารณาหรือให้ความสนใจใดๆ เพราะถือว่าเป็นหญ้าฟางสำหรับปศุสัตว์ธรรมดาของมวลชนที่ไร้การศึกษา

สิ่งที่ Barthes ทำ, ในท่าที อากัปกริยาอันน่าประทับใจและปลุกเร้า คือการอ้างว่า มวยปล้ำและผู้ดูกีฬาชนิดนี้ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ทุกๆบทบาทแม้จะเล็กน้อย มันเป็นความช่ำชองเทียบเท่ากับละครชั้นสูงหรือโอเปร่าเลยทีเดียว. มวยปล้ำเป็นความเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่อันหนึ่งของการละครคลาสสิค หรือของพิธีกรรมทางศาสนาโบราณ ซึ่งภาพที่ปรากฎอันน่าตื่นเต้นที่เราเห็น เป็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมานและความอัปยศอดสูที่ได้รับการแสดงออกมาตั้งแต่ต้นจนจบ

คล้ายๆกับรูปแบบต่างๆของวัฒนธรรมชั้นสูงเหล่านั้น มวยปล้ำเป็นภาพอันน่าตื่นเต้นเร้าใจที่เป็นทางการอันหนึ่ง ซึ่งถูกให้ข้อมูลโดยขนบธรรมเนียมปฏิบัติ ระหัสต่างๆที่กำหนดไว้แล้ว และได้รับการแสดงออกมาจนหมดในท่าทาง อากัปกริยา และความเคลื่อนไหวที่มีแบบแผนอันรัดกุม. ทุกๆท่าและบทบาทเป็นเรื่องของระหัส จารีตปฏิบัติ และมีการประพันธ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเช่นดั่งโศกนาฏกรรมคลาสสิค - โศกนาฏกรรมคลาสสิคประเภทนี้ Barthes ได้ยกมาเปรียบเทียบกับเรื่องของมวยปล้ำตลอดบทความเรื่องดังกล่าว

บทความที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนำเอาวิธีการศึกษาในทำนองเดียวกันนี้มาใช้ก็คือเรื่อง`Au Music-Hall' (Barthes: 1970 pp.176-179) เป็นเรื่องเกี่ยวกับชื่อเรื่องบทความนำเสนอนั่นเอง คือ โรงมหรสพ(music hall - ความหมายมากกว่าห้องแสดงดนตรี) ในบทความชิ้นนี้ Barthes ได้ปลุกนักกวีในคริสตศตวรรษที่ 19 ขึ้นมา, Charles Baudelaire เพื่ออธิบายถึงความงามที่ถูกทำให้เป็นแบบแผนของภาพอันน่าเร้าใจ

แม้ว่า Barthes จะได้ประเมินถึงปฏิบัติการทางวัฒนธรรมทั้งสองนี้ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดยที่อันหนึ่งนั้น แน่นอน ไม่ได้อธิบายว่าเป็นโลกของวัฒนธรรมชั้นสูง แต่บทความทั้งสองชิ้นนี้ก็เป็นข้อยกเว้น ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งมวยปล้ำและโรงมหรสพ(music hall) ต่างก็เป็นการแสดงออกของรูปแบบเกี่ยวกับ"วัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์" ในช่วงแรกสุดด้วยกันทั้งคู่ มากกว่าที่จะเป็น"วัฒนธรรมมวลชนสมัยใหม่"

Barthes ยินยอมให้มันเป็นอย่างเดียวกันกับรูปแบบต่างๆของวัฒนธรรมชั้นสูง เพราะพวกมันเป็นเรื่องของ และดีดตัวขึ้นมาจากขนบประเพณีที่เป็นรู้จักและยอมรับกันนั่นเอง การวิเคราะห์ของ Barthes เกี่ยวกับวัฒนธรรมมวลชน ได้ก่อให้เกิดพื้นฐานของหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ อีกด้านหนึ่ง มันได้ถูกสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาโดยวาทศิลป์ของการติเตียนอย่างจริงจัง

Barthes มองว่า"วัฒนธรรมมวลชนสมัยใหม่"ถูกควบคุมโดยอัตลักษณ์ทาง"วัฒนธรรมของยุคสมัยชนชั้นกลางระดับล่าง"(petite-bourgeosie - นายทุนน้อย). ชนชั้นแรงงานได้สูญเสียวัฒนธรรมทางชนชั้นของตนเองไป และได้ซื้อหาวัฒนธรรมใหม่อันหนึ่งมา - la culture petit-bourgeoise วัฒนธรรมของชนชั้นกลางระดับล่าง - ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมของตัวพวกเขาเอง

การมองโลกในแง่ร้ายและการหวนคำนึงถึงอดีต
บทความทั้งหลายซึ่งได้รับการรวบรวมอยู่ในหนังสือ Mythologies แสดงออกถึงการมองโลกในแง่ร้าย และการหวนคำนึงถึงอดีต(pessimism and nostalgia กล่าวคือ เป็นการมองโลกในแง่ร้ายถึงสภาวะทางวัฒนธรรมในฝรั่งเศส (ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่คิด) ว่าได้ถูกคุกคามโดยวัฒนธรรมมวลชนที่แสวงหาความเป็นเนื้อเดียวกัน และลบล้างความแตกต่างออกไป

ในส่วนของการคำนึงถึงอดีต เป็นเรื่องของสภาวะของวันเวลาที่ผ่านเลยไป(ก่อนหน้าความตกต่ำ) เมื่อชนชั้นแรงงานมีวัฒนธรรมอันน่าตื่นเต้น และมีชีวิตชีวาของพวกเขาเอง วัฒนธรรมปวงชนที่มีแก่นแท้ของมันอันหนึ่ง ซึ่งยืนยันถึงความแตกต่างอย่างน่าภาคภูมิ จากบรรทัดฐานทั้งหลายของชนชั้นกลางระดับล่าง. ด้วยเหตุผลบางประการ Barthes มองวัฒนธรรมดังกล่าวในฐานะที่เป็นความตกต่ำ ภายใต้อิทธิพลของชนชั้นกลางระดับล่าง-นายทุนน้อย(petty-bourgeoisie)

ฝรั่งเศส ประเทศที่ไร้วัฒนธรรม
ตรงข้ามกับความเห็น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในฝรั่งเศสในฐานะโรงผลิตพลังงานทางวัฒนธรรมของยุโรป (the powerhouse of European culture) Barthes มองฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นประเทศที่ไม่เอาใจใส่ในศิลปศาสตร์หรือไร้วัฒนธรรม(a deeply philistine country)อย่างลึกซึ้งประเทศหนึ่ง ด้วยการที่มีความเข้าใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือความซาบซึ้งเกี่ยวกับความสลับซับซ้อน ของชีวิตทางวัฒนธรรมและทางปัญญาไม่มากพอ

"หนังสือเรื่อง Mythologies เป็นการรวบรวมเนื้อหาข้อมูลที่ค่อนข้างยึดมั่น และปกป้องตัวเอง และบางทีอาจได้รับการอ่านในฐานะที่เป็นการขอโทษ หรือการปกป้องทางสติปัญญาต่อการโจมตีจากความโหดร้ายป่าเถื่อนของวัฒนธรรมมวลชน" นี่คือคำอธิบายของ Andrew Leak เกี่ยวกับทัศนคติที่รับเอามาโดย Barthes ในหนังสือ Mythologies ในฐานะที่เป็นท่าทีของการแยกตัวและความเป็นเอกเทศ (Leak: 1994 p.9) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอันหนึ่ง

ปัญญาชน กับการทิ้งระยะห่างจากวัฒนธรรมมวลชน
Barthes แสดงออกถึงการดูถูกในเชิงสติปัญญาในฐานะตัวตนที่มีสำนึก สำหรับวัฒนธรรมมวลชนเหล่านั้น. ตามความคิดของ Barthes ปัญญาชนจะต้องรักษาระยะห่างจากมวลชนเอาไว้ และจะต้องเป็นอย่างที่ Claude Duneton เรียกว่า "ร่าเริง-เบิกบาน-มีชีวิตชีวา"(rieur) และธำรงรักษาการเสียดสี เหน็บแนม หรือระยะห่างในเชิงประชดประชันต่อวัฒนธรรมมวลชน. ความเชื่อมั่นหรือสำนึกนี้ปรากฏอย่างเด่นชัด ตั้งแต่เริ่มต้นของหนังสือ Mythologies เลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าเขาอาจจะมีประเด็นหรือเหตุผลที่ใช้ได้ในการอ้างว่า "วัฒนธรรมมวลชน"ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาแทนที่"วัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์"ที่ด้อยค่าและเสื่อมทรามลง แต่เขาก็ไม่ได้ยอมรับว่า บรรดาผู้บริโภควัฒนธรรมมวลชนเหล่านั้น สามารถที่จะต้านทานสารต่างๆ(messages)ของมันได้. กล่าวอย่างสั้นๆ Barthes ได้ผลิตภาพของผู้บริโภคที่ให้การสนับสนุน ในฐานะผู้รับแบบยอมจำนน(passive recipient) คนที่ว่างเปล่า ภาชนะที่ไม่มีสิ่งใดบรรจุอยู่ ซึ่งกำลังรอให้ใครเอาอะไรมาใส่ - พวกเขาถูกบอกให้คิด และบอกว่าให้ทำอย่างไร

อันที่จริง หนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ถูกสร้างขึ้นในผลงาน Barthes ช่วงแรกๆ (อย่างเช่น ผลงานในช่วงทศวรรษที่ 1950s และช่วงต้นของ1960s) กล่าวคือ เขาออกจะค่อนข้างปรับตัว และไม่ใคร่สนอกสนใจว่า เนื้อหาข้อมูลต่างๆนั้นถูกรับรู้และบริโภคอย่างไร

คำอธิบายของ Barthes เกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน คือการบริโภคอย่างไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์(uncritically consuming) แปลกแยก และวัฒนธรรมที่แปลกแยกดูเหมือนเป็นเรื่องของขนบจารีตอันคุ้นเคยของปัญญาชน ซึ่งดูถูกทั้งตัววัฒนธรรมและผู้บริโภคมันไปพร้อมกัน

เพื่อสรุปในส่วนนี้ ข้าพเจ้าใคร่อ้างว่า ถึงแม้ Barthes มุ่งไปยังหนทางบางสายในลักษณะล้มล้าง ในสิ่งซึ่งนักสังคมวิทยาฝรั่งเศสเรียกว่า `la fronti่re sacre' (เขตแดนศักดิ์สิทธิ์)ในภายหลัง (Bourdieu: 1979 p.7) ระหว่าง"วัฒนธรรมชั้นสูง" กับ "วัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์", โดยที่วัฒนธรรมอย่างหลัง ความสลับซับซ้อนอันหนึ่งซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการพิจารณาว่า เป็นการทำหน้าที่ปกป้องวัฒนธรรมอันหน้าเอาไว้อย่างโดดเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม หนังสือเรื่อง Mythologies ได้ถูกให้ข้อมูลโดย ลำดับชั้นสูงต่ำที่แท้จริงอันหนึ่งของคุณค่าทางวัฒนธรรม. อย่างชัดแจ้ง วัฒนธรรมมวลชนถูกมองในฐานะที่เป็นสิ่งที่ด้อยกว่า"วัฒนธรรมชั้นสูง ซึ่งมันได้ลอกเลียนมา และด้อยกว่า"วัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์"ซึ่งมันได้เข้ามาแทนที่ด้วย. การดูถูกอันนี้ และการประณามหยามเหยียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมมวลชน ได้ดำเนินไปตลอดของหนังสือเล่มนี้

วัฒนธรรมมวลชน และปัญญาชน
Mass Culture and The Intellectual

ในเรื่อง Mythologies วัฒนธรรมมวลชนได้รับการมองว่า มีผลที่เป็นภัยอันตรายต่อชีวิตวัฒนธรรมและการเมืองไปพร้อมกัน เนื่องจากลักษณะความเป็นเนื้อเดียวกันในความต่าง และการสนับสนุนความหนึ่งเดียว ในบรรทัดฐานต่างๆทางสังคมของชนชั้นกลางระดับล่าง และวัฒนธรรมมวลชนนี้ยังถูกมองว่าเป็นปรปักษ์ต่อการตั้งคำถามหรือการสืบสวนของปัญญาชนด้วย

อันนี้อธิบายอยู่ในส่วนของฐานที่มั่นที่ยึดกุมไว้และปกป้องอยู่บ่อยๆ ซึ่ง Barthes รับมาในบทสนทนาของเขาเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนของปัญญาชนภายในวัฒนธรรมมวลชน ในงานชิ้นที่เขียนขึ้นสำหรับ Le Monde ในปี 1974 บนสถานภาพของปัญญาชนในฝรั่งเศส, Barthes ได้นำเสนอข้ออ้างว่า

ข้ออ้างของ Poujade ที่ว่า "ปลาตายนั้นเริ่มเน่าจากหัวลงไป" เป็นการบ่งชี้เกี่ยวกับความคลางแคลงใจชนชั้นกลางระดับล่างของปัญญาชนทั้งหลาย ความสงสัยซึ่ง Barthes พานพบโดยบังเอิญครั้งแล้วครั้งเล่าในการอ่านวัฒนธรรมมวลชน. เนื้อหาเป็นจำนวนมากในบทความอย่างเช่น `Le crivain en vacances' (Barthes: 1970 pp.30-33) ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้

`Le crivain en vacances' เป็นการให้ภาพโดยหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา (Le Figaro) ของบรรดานักเขียนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงวันหยุด. `La Critique Ni-Ni' (Barthes: 1970 pp.144-146) เป็นความเรียงอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิพลของ Barthes ด้วยการเป็นชายขอบของปัญญาชนในสังคมฝรั่งเศส โดยสิ่งพิมพ์ป๊อปปูล่าร์

`Critique muette et aveugle' (วิพากษ์ความใบ้บอด - เงียบงันและไม่พูด)(Barthes: 1970 pp.36-7) ได้ให้เหตุผลว่า รูปแบบร่วมกันอันหนึ่งเกี่ยวกับการต่อต้านปัญญาชนก็คือ การเสแสร้งไม่เข้าใจ ไม่มีการท้าทายเกี่ยวกับไอเดียหรือความคิดต่างๆที่ยุ่งยาก สิ่งเหล่านี้ได้ถูกปลดทิ้งไป และการคุกคามทางปัญญาของพวกเขาได้ถูกขจัดออกไป โดยการกล่าวหานักเขียนว่าแสดงความคลุมเครือและขาดเสียซึ่ง `le bon sens' (เหตุผลและความรู้สึกที่ดี) ใครคนหนึ่งสามารถที่จะหนีรอดข้อถกเถียงซึ่งจริงจังนี้ไปได้ และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ หลีกเลี่ยงที่จะสร้างความชัดเจนในฐานะตำแหน่งเชิงอุดมคติของตนเอง

พวกเขาแสวงหาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงการถกเถียงทางสติปัญญาที่จริงจัง โดยการเรียกร้องถึงสามัญสำนึกที่เป็นสากล แต่อย่างไรก็ตาม Barthes ยืนยันหนักแน่นต่อความคิดความเห็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของปัญญาชน ที่ท้าทายแบบแผนทางความคิดที่มีอิทธิพล และอิ่มอกอิ่มใจอันนั้น ดังที่เขาได้ทำให้มันชัดเจนในงานชิ้นหลังชิ้นหนึ่ง

การเมืองเกี่ยวกับหนังสือ Mythologies
The Politics of Mythologies

แน่นอน ความคิดในวิถีแบบมาร์กซิสม์ของ Sartre และ Brecht (Jean Paul Sartre 1905-1980 นักปรัชญาและนักเขียนบทละคร, Bertolt Brecht 1898-1956 นักการละครชาวเยอรมัน) คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขาเท่าๆกันกับตัวของมาร์กซ์เอง ทัศนคติของ Barthes ต่อการประกอบสร้างความคิดในเชิงทฤษฎีในหนังสือ Mythologies - และที่อื่นๆ - อาจได้รับการอธิบายในฐานะสุภาพบุรุษ ในความหมายที่ดีที่สุดของคำ กล่าวคือเขาหยิบเอาแนวคิดต่างๆขึ้นมา, ใช้มัน, และวางมันลง, เมื่อมันอยู่นานเกินไปแล้วสำหรับคำเชื้อเชิญ (Leak: 1994 p.38)

คำถามเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของ Barthes เป็นปัญหาหนึ่งที่มีมายาวนานต่อบรรดานักวิจารณ์ Barthes ทั้งหลาย. เขาเป็นคนที่กระฉ่อนมากว่า ยากจะนิยามให้ชัดเจนได้ - เขาภาคภูมิและลำพองในตัวเองต่อการเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง - บนสาระเกี่ยวกับความจงรักภักดีทางการเมืองทั้งอดีตและปัจจุบัน อันนี้ถกเถียงกันได้ว่า เขาเริ่มต้นและจบลงในอาชีพการงานทางสติปัญญาของเขาในฐานะชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างฝ่ายซ้าย แต่เขาไม่เคยเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสเลย Parti communiste francais (PCF) ซึ่งอันนี้ไม่เหมือนหรือต่างไปจากบรรดานักเขียน และปัญญาชนคนอื่นๆในช่วงยุคหลังสงคราม

แต่หนังสือ Mythologies ของ Barthes ก็เป็นการรวบรวมเนื้อหาต่างๆที่ถกเถียงกันมาไว้ เป็นการนำเอาประเด็นความจริงที่ทึกทักกันเองเกี่ยวกับวัฒนธรรมของฝรั่งเศสมาพูด ซึ่งผูกพันอยู่กับคำถามทางการเมืองที่สำคัญๆทั้งหมด. ในฐานะที่เป็นนักมายาคติคนหนึ่ง ซึ่งเขาได้เข้าไปค้นหาในที่ทุกหนแห่ง แม้แต่ในสถานที่ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้มากที่สุด มายาคติที่ซ่อนเร้นอำพรางซึ่งช่วยให้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่มั่นคง

ในทัศนะของ Barthes มายาคติได้เสริมเพิ่มพลังอุดมคติเกี่ยวกับสังคมทุนนิยม แก่นสารของมายาคติก็คือ มันปลอมแปลงซ่อนเร้นสิ่งซึ่งในข้อเท็จจริงเป็นตัวแทนต่างๆของชนชั้นกลาง เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติที่เป็นสากลอันหนึ่ง มายาคติก็คล้ายๆกันกับอุดมคติคือ อย่างที่เสนอมาโดยตลอดว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหนีรอดหรือหลบหลีกจากมายาคติไปได้ ในระดับของชีวิตประจำวัน

เรื่อง Mythologies เป็นการสำรวจถึงวิธีการที่ชนชั้นกลางระดับล่างหรือนายทุนน้อยในฝรั่งเศส คริสตศตวรรษที่ 20 ทำให้ค่านิยมของมันเองเป็นธรรมชาติและเป็นสากล ด้วยกลไกต่างๆบางอย่างโดยเฉพาะ - เช่น สิ่งพิมพ์, การโฆษณา, ระบบกฎหมาย และอะไรทำนองนี้

Barthes ได้ทำการสำรวจตรวจตราหนทางที่กิจกรรมต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน - อาทิ มวยปล้ำ, การท่องเที่ยวฝรั่งเศส, ระบำเปลื้องผ้า, การดื่มไวน์ และการกินสเต็กและมันเทศ - เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับฐานะตำแหน่งในเชิงอุดมคติบางอย่าง วัฒนธรรมฝรั่งเศสปรากฏตัวขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว มันเป็นเรื่องทางการเมืองและประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง

ชนชั้นกลางระดับล่างหรือนายทุนน้อยได้ฉายภาพสภาวะทั่วๆไปของสิ่งต่างๆ - สภาพของเหตุการณ์ทั่วๆไปในเรื่องผลประโยชน์ของพวกเขา - อย่างเป็นธรรมชาติด้วยจุดมุ่งหมายการทำให้มันเป็นปกติ ทำให้มันถูกต้องชอบธรรม โดยการทำให้มันปรากฏตัวออกมาแบบตายตัว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

Brian Rigby อ้างว่า "มันมีร่องรอยแบบมาร์กซิสท์อย่างเด่นชัดในหนังสือ Mythologies, และความเรียงทั้งหลายในหนังสือเล่มนี้ สามารถได้รับการมองได้ว่าเป็นความพยายามอันหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมมวลชนทั้งหมดนั้น เป็นท่าทีอันลึกลับซับซ้อนของทุนนิยมเกี่ยวกับความจริงทางวัฒนธรรมและสังคม(Rigby: 1991 p.177)

ความเรียงเรื่อง `Le Mythe aujourd'hui' (มายาคติของวันนี้) ได้เขยิบเข้าใกล้การเป็นทฤษฎีอันหนึ่งเกี่ยวกับอุดมคติ ในฐานะที่เป็นระบบหนึ่งของการเป็นตัวแทนต่างๆ ซึ่งชนชั้นปกครองได้ผลิตซ้ำ และสร้างการครอบงำของตนลงในระดับของประสบการณ์ ท่ามกลางความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน

Barthes และ สัญศาสตร์
Barthes and Semiology

Barthes เป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจว่า สิ่งต่างๆมันหมายความว่าอะไร(what things mean) เมื่อเปรียบเทียบกับความสนใจของเขาที่ว่า สิ่งต่างๆมันมีความหมายว่าอย่างไร(how things mean). หนึ่งในเหตุผลหลายหลากเกี่ยวกับ Barthes คือ เขาเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและมีชื่อเสียง ในด้านทักษะเกี่ยวกับการค้นหา จัดการ และใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ ในด้านที่ว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมันหมายความว่าอย่างไรเป็นอย่างดีก่อนคนอื่นๆ

ในฐานะที่เป็นปัญญาชนคนหนึ่ง Barthes ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับแนวโน้มต่างๆทางสติปัญญาเป็นจำนวนมาก (ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดโครงสร้างนิยม และหลังโครงสร้างนิยม - structuralism and post-structuralism) ในความเป็นไปของปัญญาชนช่วงหลังสงคราม แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาของหนังสือ Mythologies, ความสนใจหลักๆของ Barthes คือเรื่องของสัญศาสตร์(semiology) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"ศาสตร์ของเครื่องหมาย"(the `science of signs')

สัญศาสตร์(Semiology) เป็นความรู้ที่สืบทอดมาจากผลงานนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสส์ Ferdinand de Saussure. ทฤษฎีภาษาศาสตร์ของ Saussure ได้ถูกบรรยายอย่างละเอียดใน Cours de linguistique generale, ซึ่งเป็นการรวบรวมเกี่ยวกับคำบรรยายที่เขียนขึ้นมาในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1906 และ 1911 และได้รับการตีพิมพ์ภายหลังมรณกรรมในรูปของหนังสือในปี ค.ศ.1915

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องเบื้องต้นในเชิงปรัชญา เพราะมันถือว่า "ภาษา"เป็นเรื่อง"เกี่ยวกับแนวความคิด"(conceptual) ซึ่งค่อนข้างจะต่างๆไปจากขนบจารีตทางความคิดของตะวันตกทั้งหมด ที่ยึดถือว่า"ภาษา"คือเรื่อง"เกี่ยวกับการอ้างอิง"(referential). โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Saussure ปฏิเสธทัศนะที่ว่า โดยสาระแล้ว"ภาษา"คือ"ระบบชื่อ"(nomenclature) สำหรับชุดของความคิด ความเชื่อ และวัตถุสิ่งของต่างๆซึ่งมีมาก่อน

ภาษาไม่ใช่"ป้ายฉลาก"หรือ"การตั้งชื่อ"(does not 'label' or 'baptise') ซึ่งได้มีการแบ่งแยกหมวดหมู่มาแล้วก่อนภาษา แต่อันที่จริง"ภาษา"ทำหน้าที่แสดงออก หรือกล่าวถึงสิ่งเหล่านั้นออกมาอย่างชัดเจน(articulates them). ทัศนะเกี่ยวกับ"ภาษา"ว่าเป็น"การตั้งชื่อ" ไม่สามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่ถึงความยุ่งยากทั้งหลายเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศที่รู้ๆกัน และมิใช่ว่าความหมายต่างๆของคำมันมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา

Saussure ได้พลิกกลับทัศนียภาพซึ่งมีมุมมองว่า ภาษาเป็นสื่อกลางที่"ความจริง"ถูก"แทนที่ด้วยภาษา" และเน้นถึงบทบาทในการประกอบสร้างแทน นั่นคือ "ภาษามีบทบาทในการสร้างความจริงสำหรับพวกเรา". ประสบการณ์และความรู้, การตระหนักรู้ทั้งหมดถูกทำให้อยู่ระหว่างกลางโดยภาษา. ภาษาทำให้วัตถุสิ่งของทางกายภาพ, การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของเสียง, ความอึกทึกและการรับรู้, เป็นระบบและทำงานได้บนโลก และได้ประทานมันด้วยความหมายและคุณค่า

ภาษามักจะทำงานอยู่ในความเข้าใจและความหยั่งรู้ของเราเกี่ยวกับโลก ไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับภาษาที่ผ่านเลยไปสู่อาณาจักรของความเป็นอิสระทางภาษา สิ่งที่ได้รับการแบ่งแยกอย่างบริบูรณ์

แกนกลางผลงานของ Saussure ก็คือแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เขาบัญญัติศัพท์ขึ้นมาคือ signifier (ตัวอักษร - เสียง - ภาพ) และ signified (ความหมาย - มโนคติ). อันที่จริง "เครื่องหมาย"(sign)ในกรณีของ Saussure เป็นการรวมกันของ a signifier และ a signified ซึ่งได้สร้างเอกภาพที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ขึ้นมา คล้ายดังกับสองด้านของกระดาษแผ่นหนึ่งนั่นเอง

Saussure นิยามเครื่องหมายทางภาษาศาสตร์ในฐานะการประกอบกันของ a signifier หรือ signifiant และ a signified หรือ signifier. ด้วยเหตุนี้ ศัพท์คำว่าเครื่องหมาย จึงถูกใช้กำหนดหรือระบุถึงการเชื่อมโยงกันทั้งหมดของ signifier และ signified. สำหรับคำว่า signifier ก็คือ"เสียง"(sound) หรือ"ภาพตัวเขียน"(written image - ตัวอักษร) และคำว่า signified ก็คือ"แนวความคิด"(concept)ที่มันหมายถึง:

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า"แมว"เป็น signifier ของ signified "แมว"(แมวที่เป็นตัวตน - ตัวแมว - ภาพแมว)

Saussure อ้างว่า ความเชื่อมโยงระหว่าง signifier และ signified เป็นไปตามอำเภอใจหรือไร้เหตุผล - `Le lien unissant le signifiant au signifier est arbitraire' (Saussure: 1949 p.100), เพราะมันไม่มีความเชื่อมโยงภายในใดๆระหว่าง "เสียง" (sound-image) และ "มโนคติ-แนวคิด" (concept) เลย แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องหมายในทางภาษาศาสตร์, เช่นเดียวกันกับความอำเภอใจที่ไร้เหตุผล, เป็น"ความสัมพันธ์กันอันหนึ่ง"หรือ"ความแตกต่างกันอันหนึ่ง"

สำหรับ signifier ได้ผลิตความหมายขึ้นมาโดยการเกี่ยวกับตำแหน่งของมัน, (ความเหมือนหรือความต่าง - [similarity or difference]) ภายในระบบความสัมพันธ์ของ signifiers อื่นๆ. ในการนิยามความหมาย"เครื่องหมายทางภาษาศาสตร์" ในวิธีการนี้ Saussure ได้ตัดความสัมพันธ์กับขนบจารีตทางปรัชญา ซึ่งเข้าใจเกี่ยวกับภาษาในฐานะที่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง กับโลกที่พ้นไปจากหรือไม่เกี่ยวกับภาษา(extralinguistic world)

เนื้อหาสำคัญซึ่งเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับความสนใจของ Barthes ในการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับงานของ Saussure และ สัญศาสตร์(semiology)ก็คือเรื่อง `Le Mythe aujourd'hui'. `Le Mythe aujourd'hui' เป็นงานเขียนในเชิงย้อนหลังของ Barthes หรือพิมพ์เขียวสำหรับการอ่านมายาคติต่างๆ

ใน `Le Mythe aujourd'hui' Barthes จัดการยักย้ายและสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับเครื่องหมายและเกี่ยวกับ signification ของ Saussure ขึ้นมาใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้สนใจในเรื่องเครื่องหมายทางภาษาศาสตร์โดยตัวมันเอง มากเท่ากันกับในการใช้ประโยชน์ของภาษาศาสตร์กับเครื่องหมายต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับคำพูด(non verbal signs) ซึ่งมีอยู่รายรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับเขาก็คือ ความเป็นไปได้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีการอันนี้ ซึ่งได้รับมาจากภาษาศาสตร์แบบ Saussurean เข้ากับอาณาจักรของวัฒนธรรม ที่ถูกนิยามในความหมายซึ่งกว้างขวางที่สุดและครอบคลุมมากที่สุดของมัน

ความสัมพันธ์ของ Barthes กับผู้ซึ่งมีอิทธิพลทางสติปัญญากับเขา อย่างเช่น Marx, Brecht, Freud, Lacan ฯลฯ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกระฉ่อนและมีลักษณะพิเศษ. เขาแทบจะไม่ได้รับเอาไอเดียหรือความคิดทั้งหลายมาเลย แต่กลับมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเหล่านั้นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของเขาเอง มีการขยายมันออกไปและโยงไปถึงความเกี่ยวพันต่างๆ แน่นอน อันนี้เป็นจริงด้วยกับการหยิบยืมของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆของ Saussure มาใช้

แต่ Barthes ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทฤษฎีเรื่องเครื่องหมายและเกี่ยวกับ signification ของ Saussure อย่างไร? เมื่อตอนที่ Barthes อยู่ในร้านตัดผม และกำลังนั่งรอคนตัดผมอยู่ เขาได้หยิบหนังสือ Paris-Match ขึ้นมาดู บนปกของหนังสือเล่มดังกล่าว เขาเห็นภาพถ่ายภาพหนึ่งเป็นรูปของทหารผิวดำ กำลังแสดงความเคารพต่อธงชาติฝรั่งเศส เขาตระหนักขึ้นมาทันทีถึง"มายาคติ"ของภาพถ่ายที่กำลังนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม Barthes ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับระเบียบวิธีสำหรับ"การอ่าน"ในเชิงสหัชญาน(หยั่งรู้)โดยสาระเกี่ยวกับภาพถ่ายดังกล่าว วิธีการอันนี้ได้รับเอามาจากทฤษฎีเกี่ยวกับเครื่องหมายของ Saussure. Barthes มองภาพคนที่อยู่ในภาพถ่าย ซึ่งกำลังบอกอะไรบางอย่าง การจัดการเกี่ยวกับภาพและสีต่างๆบนพื้นขาวในฐานะการประกอบสร้าง signifier (ภาพที่ปรากฏ) และแนวความคิดเกี่ยวกับ ทหารผิวดำที่กำลังแสงความเคารพธงสามสี(ธงชาติฝรั่งเศส) ในฐานะที่เป็นการประกอบสร้าง signified (เนื้อหา - มโนคติ)ขึ้นมา

ทั้ง signifier และ signified ต่างก่อรูปเครื่องหมายขึ้นด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตาม Barthes ได้นำพาการอ่านก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง และให้เหตุผลว่า มันมีความหมายระดับที่สองอยู่ ซึ่งทาบทับอยู่บนเครื่องหมายอันแรก. เครื่องหมายอันแรก กลายเป็น signifier ระดับที่สอง สำหรับเครื่องหมายใหม่อันหนึ่งที่ signified หรือการให้ความหมายเกี่ยวกับความเป็นจักรวรรดิ์ฝรั่งเศส ยกตัวอย่างเช่น ไอเดียที่ว่า จักรวรรดิ์ฝรั่งเศสได้ปฏิบัติกับประชากรของตนทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน

แกนกลางการดัดแปลงทฤษฎีเกี่ยวกับเครื่องหมายของ Saussure ใน `Le Mythe aujourd'hui' ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความคิดปฐมภูมิ หรือ first-order signification และความคิดทุติยภูมิ หรือ second-order signification. อันนี้คือศูนย์กลางที่ยึดกุมความคิดของ Barthes อยู่ในหนังสือ Mythologies เพราะว่า ณ ระดับความคิดทุติยภูมิ หรือ second-order signification ที่มายาคติได้ถูกค้นพบ

ในเรื่อง `Le Mythe aujourd'hui' นั้น, Barthes พยายามที่จะนิยามมายาคติ โดยการอ้างอิงถึงทฤษฎีเกี่ยวกับระบบเครื่องหมายระดับที่สอง. สิ่งที่มายาคติกระทำ คือหยิบยืมเครื่องหมายในชั้นแรกมา(first-order sign) และใช้มันในฐานะเป็นแท่นฐานสำหรับ signifier ของมันเอง ในลำดับต่อมาได้นำเสนอ signified ของมันเอง ดังนั้นจึงเป็นการสร้างเครื่องหมายใหม่อีกอันหนึ่งขึ้น. ภาพปรากฏต่างๆซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ใช้เพื่ออธิบายกระบวนการอันนี้เกี่ยวกับการยักยอก, การทำให้ตกอยู่ใต้อำนาจ, การได้มาด้วยการละเมิด และความเป็นกาฝาก

นี่คือศูนย์กลาง และภาพทรงพลังโดยเฉพาะของมายาคติ ในฐานะสิ่งสร้างที่แปลกแยก ซึ่งอาศัยอยู่กับรูปลักษณ์มนุษย์และผลประโยชน์ จากการปรากฏตัวของมันในลักษณะที่ไร้เดียงสาและความเป็นธรรมชาติ ที่ได้ประกอบกิจอันชั่วร้ายของมัน คล้ายดังพวกปรสิตหรือกาฝากที่ต้องการเจ้าภาพเพื่อจะได้อาศัยเกาะกิน หรือสไตล์ภาพยนตร์เกรด B ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้รุกรานจากต่างดาว ต้องอาศัยร่างของซอมบี(zombie - ผีดิบ)เมื่อต้องมาอยู่บนโลก มายาคติเองก็ต้องอิงอาศัยเครื่องหมายชั้นแรก(first-order sign) เพื่อความอยู่รอด

มันต้องการ first-order sign ในฐานะที่เกาะกุมหรืออิงอาศัย แต่มันก็จะทำทีไขสือ(alibi - การอ้างว่าไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ): ฉันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอุดมคติ, มายาคติอาจอ้างแบบนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจ, ฉันอยู่ในที่บางแห่งและกระทำบางสิ่งที่ไร้เดียงสา

แบบจำลองของเขาเกี่ยวกับระบบเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นปรสิตหรือกาฝาก หรือฝังอยู่ในระดับที่สอง ยินยอมให้กับกระบวนการเกี่ยวกับการทำความเข้าใจเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยกระบวนการเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า การประกอบสร้างของเครื่องหมาย เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆที่ดูเป็นธรรมชาติของสังคมวัฒนธรรม

มายาคติได้ถูกค้นพบในระดับเครื่องหมายชั้นที่สอง หรือ ณ ระดับของความหมายแฝง(connotation). Barthes ได้แยกแยะความต่างๆอันหนึ่งขึ้นมาระหว่าง "ความหมายตรง"(denotation) และ"ความหมายแฝง"(connotation)

- denotation สามารถได้รับการอธิบาย ในฐานะที่มันมี"ความหมายตรง"สอดคล้องกับภาพโดยตรง ในฐานะที่เป็นความหมายตามตัวอักษรหรือตามที่มันเป็นจริง
- connotation ในอีกด้านหนึ่งนั้น เป็น"ความหมายแฝง"หรือความหมายแบบปรสิต หรือที่เกาะมาด้วยในชั้นที่สอง
เครื่องหมายในระดับแรก(first-order sign)เป็นอาณาเขตของความหมายตรง(denotation); ส่วนเครื่องหมายในระดับที่สอง(second-order sign) เป็นอาณาเขตของความหมายแฝง(connotation) และด้วยเหตุดังนั้น มันจึงเป็นมายาคติ


เพื่อนำเสนออย่างหยาบๆ บทเรียนที่สำคัญของ `Le Mythe aujourd'hui' ก็คือว่า วัตถุและเหตุการณ์ต่างๆมักจะบ่งถึงอะไรที่มันมากกว่าตัวของพวกมันเองเสมอ พวกมันมักจะถูกจับให้ไปเกี่ยวพันกับระบบต่างๆของการเป็นตัวแทน ซึ่งได้เพิ่มเติมความหมายให้กับพวกมัน

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถเข้าไปดูได้ในเว็ปไซต์ต่างๆอันมีประโยชน์ อย่างเช่น Daniel Chandler's Semiotics for Beginners ซึ่งถือว่าเป็นเว็ปไซต์ที่ดีสำหรับการเริ่มต้นในเรื่องของ"สัญศาสตร์" และยังมีเว็ป Media and Communications Studies Site ที่จะเชื่อมต่อกับเว็ปไซต์อื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสื่อและการศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสาร


หนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจ
Works by Barthes Cited

- Roland Barthes, Mythologies (Paris: Seuil, 1970)
- Roland Barthes, `Reponses' in Tel Quel, 47 (1971) 89-107
- Roland Barthes, Le Plaisir du texte (Paris: Seuil, 1973)
- Roland Barthes, Roland Barthes par Roland Barthes (Paris: Seuil, 1975)
- Roland Barthes, Le Grain de la voix: Entretiens 1962-1980 (Paris: Seuil, 1981)
- Roland Barthes, Le Bruissement de la langue (Paris: Seuil, 1984)

Works on Barthes

- E. T. Bannet, Structuralism and the Logic of Dissent: Barthes, Derrida, Foucault, Lacan (London: Macmillan, 1989)
- A. Brown, Roland Barthes: The Figures of Writing (Oxford: Clarendon Press, 1992)
- J-L. Calvet, Roland Barthes: un regard politique sur le signe (Paris: Payot, 1973)
- J. Culler, Roland Barthes (London: Fontana, 1983)
- A. de la Croix, Barthes: pour une ethique des signes (Brussels: Prisme, 1987)
- J.B. Fages, Comprendre Roland Barthes (Paris: Privat, 1979)
- A. Lavers, Roland Barthes: Structuralism and After (London: MacMillan, 1982)
- A. Leak, Roland Barthes: Mythologies (London: Grant & Cutler, 1994)
- M. Moriarty, Roland Barthes (Oxford: Polity, 1991)
- S. Nordhal Lund, L'Aventure du signifiant: une lecture de Barthes (Paris: PUF, 1981)
- P. Roger, Roland Barthes, roman (Paris: Grasset, 1986)
- R. Rylance, Roland Barthes (Brighton: Harvester, 1994)
- J. Sturrock (ed.), Structuralism and Since: From L้vi-Strauss to Derrida (Oxford: Oxford University Press, 1979)
- P. Thody, Roland Barthes: A Conservative Estimate (London: MacMillan, 1984) 2nd ed.
- S. Ungar, Roland Barthes: The Professor of Desire (Lincoln, Nebraska: 1983)
- G. Wasserman, Roland Barthes (Boston: Twayne Publishers, 1981)
- M. Wiseman, The Ecstacies of Roland Barthes (London: Routledge, 1989)

Works of Related Interest

- Pierre Bourdieu, La Distinction: critique sociale du jugement (Paris: Minuit, 1979)
- T. Eagleton, Ideology: An Introduction (London: Verso, 1991)
- A. Easthope, Literary into Cultural Studies (London: Routledge, 1991)
- J. Forbes & M. Kelly (eds), French Cultural Studies: An Introduction (Oxford: Oxford University Press, 1995)
- Stuart Hall, `The Emergence of Cultural Studies and the Crisis of the Humanities' in October, 53 (1990) p.11-23
- T. Hawkes, Structuralism and Semiotics (London: Methuen, 1977)
- C. Jenks, Culture (London: Routledge, 1993)
- Brian Rigby, Popular Culture in France: A Study of Cultural Discourse (London: Routledge, 1991)
- K. Ross, Fast Cars, Clean Bodies: Decolonization and the Reordering of French Culture (London & Cambridge, MA: The MIT Press, 1995)
- F. de Saussure, Cours de linguistique g้n้rale (Paris: Payot, 1949)
- John Storey, An Introductory Guide to Cultural Theory and Popular Culture (London: Harvester Wheatsheaf, 1993)

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง"มายาคติและวัฒนธรรมสังคมร่วมสมัย"เรียบเรียงจากงานของ Tony McNeill โดย สมเกียรติ ตั้งนโม, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ การสนทนาถึงมวยปล้ำในบทความเรื่อง`Le monde ou l'on catche' (Barthes: 1970 pp.13-24). กีฬามวยปล้ำ บ่อยครั้ง ได้รับการคิดว่าเป็นสิ่งบันเทิงที่ใช้ฆ่าเวลาซึ่งเกี่ยวข้องกับสติปัญญาน้อยที่สุดในวัฒนธรรมของพวกเรา และไม่ถูกพิจารณาหรือให้ความสนใจใดๆ เพราะถือว่าเป็นหญ้าฟางสำหรับปศุสัตว์ธรรมดาของมวลชนที่ไร้การศึกษา (คัดมาจากบทความ)

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

มีความพยายามอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น ที่จะผลักดันให้ผู้หญิงหวนกลับเข้าไปสู่ขอบเขตต่างๆของงานบ้าน หลังจากการปลดปล่อยหรือยุคแห่งเสรีภาพ สภานิติบัญญัติฝรั่งเศส พุ่งเป้าไปยังผู้หญิงโดยการวางพื้นฐานบทบาทของผู้หญิงในฐานะ mamans de France (แม่ของฝรั่งเศส). ดังที่กล่าวนี้ ได้มีการเสนอนโยบายครอบครัวขึ้นมา และพยายามที่จะเพิ่มอัตราการเกิดต่อจำนวนประชากร. ส่วนอีกกระแสหนึ่งที่คู่ขนานกับนิติบัญญัติที่เจาะจงนี้ ด้วยการสนับสนุนการกลับไปเป็นแม่บ้านแม่เรือนของผู้หญิง (e.g. les allocations familiales) ก็คือแรงกดดันในเชิงอุดมคติ ซึ่งมาจากศาสนาหรือโบสถ์, บรรดานักการเมืองทั้งหลาย, และที่สำคัญสุดคือมาจากสื่อ (คัดมาจากบทความ)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ