ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
050348
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 535 หัวเรื่อง
นักการเมืองขายตัว-ประชานิยมโลก
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ผาสุก พงษ์ไพจิตร
บทความเคยตีพิมพ์แล้วใน นสพ.
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๒ นักเศรษฐศาสตร์พูดเรื่องการเมือง
นักการเมืองในฐานะสินค้า และประชานิยมโลก
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผาสุก พงษ์ไพจิตร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หมายเหตุ:
รวบรวมบทความทางวิชาการ ๒ ชิ้น เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง สำหรับนักศึกษาและสมาชิก
บทความทั้งสองเคยตีพิมพ์แล้วในนิตยสารผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์มติชน
1. นักการเมืองในฐานะสินค้า โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2547
2. ประชานิยมในเมืองไทยจะไปทางไหน? โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร มติชนรายวัน 2 มีนาคม 2548

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)




1. นักการเมืองในฐานะสินค้า
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ - นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2547

นักการเมืองกลายเป็นสินค้าในตลาดการเมืองไทยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 เมื่อกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยจำต้องเล่นเกมเลือกตั้ง และพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดูดนักการเมืองไปใช้งาน

ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย เมื่อขุนศึกไทยจำต้องเล่นเกมการเลือกตั้ง การกว้านซื้อนักการเมืองเข้าคอกก่อเกิดเป็นระลอก ดังจะเห็นได้จากกรณีพรรคชาติสังคม และพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อต้นทศวรรษ 2500 พรรคสหประชาไทยของกลุ่มถนอม-ประภาส เมื่อต้นทศวรรษ 2510 และพรรค สามัคคีธรรมของคณะ รสช. เมื่อกลางทศวรรษ 2530

การที่นักการเมืองย้ายเข้าคอกของ กลุ่มขุนศึกที่ทรงอำนาจทางการเมือง แสดง ให้เห็นว่า อำนาจทางการเมืองเป็นแรงดูดนักการเมืองที่ทรงพลัง เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นที่มาของทรัพย์ศฤงคาร

ภายใต้ระบอบยียาธิปไตย นักการเมืองยังคงย้ายเข้าคอกของพรรคการเมืองที่ทรงพลังทางการเมือง พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในอดีต ล้วนมีประสบการณ์ในการดูดนักการเมือง แต่การดูดนักการเมือง มิได้กระทำอย่างโจ่งแจ้ง เพราะตระหนักดีว่า ประชาสังคมไทยต่อต้านนักการเมืองขายตัว ในยามที่พรรคประชาธิปัตย์ 'ดูด' นักการเมือง พรรคประชาธิปัตย์กระทำด้วยอาการกระมิดกระเมี้ยน ตรงกันข้ามกับพรรคไทยรักไทยที่ 'ดูด' อย่างเปิดเผย แม้จะไม่โปร่งใส เพราะมิได้แจ้งราคาที่จ่าย

พรรคไทยรักไทยเติบใหญ่เป็นอภิมหาพรรค ด้วยวิธีการที่วงการธุรกิจเรียกว่า M&A (Merger and Acquisition) เมื่อพรรคไทยรักไทยตั้งเป้าที่จะมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร 400 คน ในการเลือกตั้งปี 2547 พรรคไทยรักไทยกระทำการ 'ดูด' และกว้านซื้อนักการเมืองเข้าคอกขนานใหญ่

เมื่อนักการเมืองในสังกัดพรรคต่างๆ ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ผู้นำพรรคต้นสังกัดล้วนไม่พอใจ และมักจะเก็บอาการความไม่พอใจไม่อยู่ เมื่อ ส.ส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยจำนวนมาก ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ต่างดาหน้าออกมาก่นประณามพรรคไทยรักไทยว่าเป็น 'ไอ้ตัวดูด' หลงลืมวีรกรรมของตนเองในอดีตอันรุ่งเรืองที่ 'ดูด' ส.ส.จากพรรคอื่นเฉกเช่นเดียวกัน

ผู้นำสังคมและคอลัมนิสต์จำนวนมาก ประณาม ส.ส.ที่ย้ายพรรคว่าขายตัว แท้ที่จริงแล้ว การย้ายพรรคเป็นพฤติกรรมของสัตว์เศรษฐกิจ ไม่ต่างจากการตัดสินใจย้ายบริษัทของพนักงาน หรือการตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การตัดสินใจย้ายงาน หรือเปลี่ยนอาชีพจะเกิดขึ้นเมื่อ งานใหม่หรืออาชีพใหม่ให้ผลตอบแทนดีกว่างานเดิมหรืออาชีพเดิม ผลตอบแทนดังกล่าวนี้ ครอบคลุมทั้งผลตอบแทนในรูปตัวเงิน (Pecuniary Returns) และผลตอบแทนที่มิใช่ตัวเงิน (Non-Pecuniary Returns)

ในทำนองเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ นักการเมืองย่อมต้องการย้ายจากพรรค ที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่พรรคที่ให้ผลตอบแทนสูง ผลตอบแทนดังกล่าวนี้มีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ค่าตัวที่ได้รับจากการย้ายพรรค เงินค่าตัวนี้มักจะจ่ายเป็นก้อน มีสภาพเสมือนหนึ่งรายจ่ายสำหรับ Goodwill หรือ 'ทุนยี่ห้อ' (Brand Name Capital)ของนักการเมือง 'ทุนยี่ห้อ' ต้องใช้เวลาสั่งสม นักการเมืองแต่ละคนมี 'ทุนยี่ห้อ' แตกต่างกัน นักการเมืองคนใดสามารถอำนวยการให้ประชาชนมีภักดีต่อ 'ทุนยี่ห้อ' (Brand Loyalty) นักการเมืองคนนั้นย่อมมีโอกาสชนะการเลือกตั้งสูง ค่าตัวของนักการเมืองจะสูงต่ำมากน้อย เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับฐาน 'ทุนยี่ห้อ' และความภักดีของประชาชนในเขตการเลือกตั้ง

ส่วนที่สอง ได้แก่ เงินช่วยเหลือการใช้จ่ายในการรณรงค์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองย้ายพรรค ก็คือ พรรคต้นสังกัดเดิมกระสุนหมด ดังนั้น จึงต้องแสวงหาพรรคการเมืองที่สามารถฝากอนาคตได้

ส่วนที่สาม ได้แก่ เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำเดือน การจ่าย 'เงินเดือน' ให้ ส.ส. มิได้กระทำกันทุกพรรค โดยทั่วไปมีเฉพาะพรรคที่มีฐานะดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรครัฐบาลที่สามารถดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจ

ส่วนที่สี่ ได้แก่ ตำแหน่งทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงเลขานุการรัฐมนตรี นักการเมืองย่อมหวังตำแหน่งทางการเมือง เพราะนอกจากจะเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล และได้รับเงินประจำตำแหน่งแล้ว หากตำแหน่งนั้นมีอำนาจที่ให้คุณให้โทษได้ ย่อมมีโอกาสดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการใช้อำนาจได้

ส่วนที่ห้า ได้แก่ คะแนนนิยมทางการเมืองที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจาก Goodwill หรือทุนยี่ห้อของพรรคที่ต้องการย้ายเข้า พรรคดังกล่าวอาจประสบความสำเร็จในการผลิตนโยบายสนองความต้องการของประชาชน และสามารถสะสมทุนยี่ห้อจนมั่นคง โดยที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีความภักดีต่อยี่ห้อพรรคเพิ่มขึ้นตามลำดับ การย้าย เข้าพรรคไทยรักไทยขนานใหญ่ในปี 2547 นับเป็นอุทาหรณ์ของความข้อนี้

แต่การย้ายพรรคมิได้มีแต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้เท่านั้น ยังมีต้นทุนที่ต้องสูญเสียอีกด้วย ต้นทุนที่ประจักษ์แจ้งก็คือ บรรดาผลตอบแทนที่ได้รับจากพรรคเดิม ย่อมต้องอันตรธานไปเมื่อมีการย้ายพรรค ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะไม่สามารถได้ประโยชน์จากฐานเสียงและเครือข่ายทางการเมืองของพรรคเดิมอีกต่อไป

ต้นทุนที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ การต้องทนรับการประณามว่าเป็นนักการเมืองขายตัว หรือไร้อุดมการณ์ การย้ายพรรคเป็น 'อาชญากรรม' ทางการเมืองหรือไม่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แต่นักการเมืองที่ย้ายพรรคย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองในสังคมการเมือง เพราะแสดงให้เห็นถึงการขาดความภักดีต่อพรรคและการขาดความสำนึกในการร่วมเป็นร่วมตายกับพวกพ้อง

ผู้นำพรรคใหม่ที่เข้าสังกัด ก็ต้องระแวดระวังว่า หากพรรคอยู่ในภาวะ ตกต่ำ คนเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะย้ายออกจากพรรคในอนาคตเพราะมีประวัติปรากฏมาแล้วว่า ไม่มีความภักดีต่อพรรค หากแต่ย้ายพรรคตามสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ และสิ่งจูงใจทางการเมือง

ในขณะที่ต้นทุนที่ต้องแบกรับจากการย้ายพรรคปรากฏอย่างชัดแจ้ง ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ มีสภาวะความไม่แน่นอนอย่างสูง ผลตอบแทนที่ได้รับทันทีก็คือ การใช้ยี่ห้อของพรรคใหม่ในการหาเสียง หากพรรคใหม่เป็นประชานิยม ผู้ย้ายพรรคย่อมได้รับประโยชน์จากกระแสประชานิยม ของพรรคด้วย

ผลตอบแทนอีกประเภทหนึ่งที่อาจได้รับทันที ก็คือ ค่าตัวในการย้ายพรรค แต่ผลตอบแทนประเภทนี้จะได้รับก็ต่อเมื่อมีการยื่นหมูยื่นแมว ส่วนผลตอบแทนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนการใช้จ่ายในการหาเสียง เงินอุดหนุนประจำเดือน และตำแหน่งทางการเมือง เป็นผลตอบแทนที่มีความไม่แน่นอนอย่างสูง พรรคใหม่ที่ย้ายเข้าไปสังกัดอาจรักษาสัญญาบางเรื่อง แต่อาจมิได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาเต็มตามข้อตกลง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

นักการเมืองที่มีเหตุมีผล ย่อมต้องประเมินประโยชน์และต้นทุนอันเกิดจากการย้ายพรรค ดังที่พรรณนาข้างต้นนี้ การย้ายพรรคจะเกิดขึ้น หากผลการประเมินปรากฏว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการย้ายพรรคมีมากกว่าต้นทุนที่ต้องเสียไป ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่พรรคที่ต้องการย้ายเข้า 'เบี้ยว' สัญญาด้วย

การซื้อนักการเมืองของพรรคการเมืองไทย แม้ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้ สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ยี่ห้อและนโยบายพรรคการเมืองไม่เพียงพอแก่การยึดเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องอาศัยยี่ห้อและฐานการเมืองของนักการเมืองด้วย พรรคการเมืองที่ต้องการซื้อนักการเมืองต้องทำแบบฝึกหัด Cost-Benefit Analysis ไม่แตกต่างจากนักการเมืองที่ต้องการย้ายพรรค

พรรคการเมืองย่อมต้องการนักการเมืองที่มีทุนยี่ห้ออันมั่นคง นักการเมืองแต่ละคนย่อมมีทุนยี่ห้อแตกต่างกัน
ทุนยี่ห้อทางการเมืองมิอาจก่อเกิดโดยฉับพลัน หากแต่ต้องมีการสะสมระยะยาว เพราะต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายทางการเมืองในเขตการเลือกตั้ง รวมทั้งการกระชับสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

นักการเมืองผู้เป็นที่ต้องการของพรรคการเมือง มักเป็นผู้ที่ประชาชนในเขตการเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อ นักการเมืองจะประสบความสำเร็จ ในการสร้างความภักดีของประชาชนในเขตการเลือกตั้ง ที่มีต่อยี่ห้อของตนก็ต่อเมื่อพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า สามารถส่งมอบ 'บริการความสุข' แก่ประชาชนในเขตการเลือกตั้งของตน นักการเมืองประเภทนี้ที่อภิมหาพรรค อย่างไทยรักไทยต้องการซื้อ เพราะยี่ห้อของพรรคเครดิตของพรรคและนโยบายของพรรค ไม่เพียงพอแก่การเจาะเขตการเลือกตั้งเหล่านี้ได้

พรรคการเมืองจะตัดสินใจซื้อนักการเมืองก็ต่อเมื่อผลการประเมินปรากฏว่า นักการเมืองที่ต้องการซื้อช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางการเมือง (Political Value-Added) ของพรรค และช่วยให้พรรคยึดพื้นที่ในรัฐสภาได้มากขึ้น
ราคานักการเมืองที่พรรคการเมืองต้องจ่ายขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองระหว่างพรรคการเมืองที่ต้องการซื้อกับนักการเมืองที่ต้องการย้ายพรรค

นักการเมืองที่ไม่มีทุนยี่ห้อหรือมีทุนยี่ห้อน้อย ย่อมหวาดหวั่นต่อกระแสประชานิยมของพรรคไทยรักไทย หากมิได้ยี่ห้อไทยรักไทยช่วยเสริม อาจต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง นักการเมืองกลุ่มนี้ย่อมต้องตะกายเข้าพรรคไทยรักไทย

นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทุนยี่ห้อ และประชาชนในเขตการเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อของตนอย่างมั่นคง อาจไม่มีความจำเป็นในการย้ายพรรค นักการเมืองกลุ่มนี้ที่ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยก็ด้วยเหตุผลของสัตว์เศรษฐกิจโดยแท้ เพราะไม่ต้องการเหนื่อยยากในการรณรงค์สู้กับพรรคไทยรักไทย มิหนำซ้ำยังสามารถแปลงทุนยี่ห้อให้เป็นเงินสดในราคาสูงอีกด้วย

กระบวนการแปลงนักการเมืองให้เป็นสินค้า ซึ่งเริ่มต้นในปลายทศวรรษ 2490 บัดนี้มีพลวัตอันสูงยิ่ง


2. ประชานิยมในเมืองไทยจะไปทางไหน?
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร -
มติชน วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2548

นักวิชาการหลายคนรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย เคยวิเคราะห์ว่าการขึ้นสู่อำนาจของนายกฯทักษิณนั้นเกี่ยวโยงกับภาวะเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 กล่าวคือ ผู้คนคาดหวังให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าไม่อาจจัดการได้เป็นที่น่าพอใจอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยประสบชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ได้สำแดงให้เห็นถึงความนิยมต่อตัวนายกฯ และทำให้อำนาจยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก และก็เป็นช่วงที่ภาวะวิกฤตหมดความหมายไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นการโยงคุณทักษิณกับภาวะวิกฤตจะทำให้เราละเลยไปว่า ยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งในโลก ซึ่งมีผู้นำทางการเมืองในลักษณะคล้ายๆ กับกรณีนายกฯทักษิณ กล่าวคือ ภาวะผู้นำแบบประชานิยมที่เกิดในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นเอกลักษณ์แต่อย่างใด กลับเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศในโลกเสียอีก โดยเฉพาะในละตินอเมริกาและประเทศอื่นๆ

ผู้นำแบบประชานิยมในละตินอเมริกาที่เราคุ้นเคยก็คือ กรณีของประธานาธิบดีเปรอน ที่อาร์เจนตินา เมื่อทศวรรษ 1950 (ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกว่า คลาสสิค ป๊อปปูลิสม์- classic populism) ลักษณะเด่นของรัฐบาลประชานิยมในสมัยนั้นคือ ลักษณะเฉพาะของตัวผู้นำจับใจประชาชน (เช่น มีความเด็ดขาด ปราศรัยเก่ง ฯลฯ) ว่าสามารถนำความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศหรือนำประเทศให้พ้นภาวะวิกฤต คือความนิยมผู้นำพรรคเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ ฐานเสียงสนับสนุนของเปรอน มาจากกลุ่มคนงานอุตสาหกรรมที่รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานเป็นหลัก นโยบายประชานิยมมุ่งไปที่การเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการให้กับกลุ่มสหภาพแรงงานเหล่านี้ และรัฐบาลเปรอนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ทดแทนการนำเข้า โดยใช้การปกป้องอุตสาหกรรม เศรษฐกิจแบบนั้นมักประสบกับปัญหาหนี้สาธารณะบานปลาย และมีภาวะเงินเฟ้อสูง เพราะว่ารัฐบาลพยายามเอาใจทั้งคนงานและฝ่ายนายจ้าง

รัฐบาลประชานิยมรุ่นต่อมาในทศวรรษ 1980 และ 1990 นักวิชาการเรียกว่า ประชานิยมใหม่(neo-populism) กรณีของประธานาธิบดีฟูจิโมริที่เปรู เมื่อทศวรรษ 1990 เป็นตัวอย่างของรัฐบาลประชานิยมใหม่ที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก มีความแตกต่างไปจากประชานิยมแบบเก่า(เปรอน)อย่างสิ้นเชิง

ฟูจิโมริเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ เขาสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง โดยเสนอตัวเป็นผู้แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของเปรู รัฐบาลของเขายกเลิกยุทธศาสตร์ทดแทนการนำเข้า และรับเอานโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เน้นให้ตลาดเป็นตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และลดบทบาทของรัฐ นโยบายดังกล่าวนำเสถียรภาพมาสู่เศรษฐกิจเปรูในระยะปานกลาง หลังจากนั้นก็นำเอานโยบายประชานิยมหลายอย่างเข้ามาใช้ เช่น ก่อตั้งธนาคารเพื่อทำธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม รวมทั้งหาบเร่ แผงลอย เพิ่มโบนัสให้กับข้าราชการ ประกาศ "สงครามกับความจน" แจกเครื่องคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียน ฯลฯ

นโยบายประชานิยมเหล่านี้ มุ่งไปที่กลุ่มคนระดับล่างในเศรษฐกิจนอกระบบ(หาบเร่ แผงลอย คนขับแท็กซี่ คนสลัม ธุรกิจขนาดย่อม) ไม่ได้มุ่งไปที่กลุ่มสหภาพแรงงานเหมือนในกรณีของเปรอน เนื่องจากกลุ่มคนจนในภาคเศรษฐกิจนอกระบบของเปรู เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อพวกเขาได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของฟูจิโมริ พวกเขาจึงสนับสนุนฟูจิโมริ ให้คะแนนกับฟูจิโมริกลับเข้าเป็นประธานาธิบดีครั้งที่ 2 อย่างถล่มทลาย

ผู้นำแนวประชานิยมใหม่ที่ดำเนินรอยแบบเดียวกับฟูจิโมริในทศวรรษ 1990 ก็มีอีก เช่น เมเนนที่อาร์เจนตินา เดอ เมลโลที่บราซิล และในระยะเร็วๆ นี้ ก็มีตัวอย่างของประธานาธิบดีลูลาที่บราซิล และชาเวซที่เวเนซุเอลา ปี 2004 นี้เอง ที่ตุรกี เออร์โดวานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็มาจากพรรคการเมืองซึ่งมีฐานเสียงอยู่ที่ผู้ผลิตรายย่อย ชาวนารายย่อย และคนหาเช้ากินค่ำในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และคนสลัม เออร์โดวานสนับสนุนนโยบายเสรีนิยมใหม่บางระดับ และดำเนินนโยบายประชานิยมแบบลด แลก แจก แถม คล้ายๆ กับกรณีของฟูจิโมริ

ลักษณะเด่นประการสำคัญประการหนึ่งของผู้นำแนวประชานิยมใหม่ คือ การฉีกตัวเองออกจากกลุ่มนักการเมืองรุ่นเก่า พวกเขาจะโจมตีนักการเมืองรุ่นเก่าและ "กลุ่มอำนาจเก่า" ว่าเป็นอุปสรรค หรือเป็นศัตรูตัวสำคัญที่ปิดกั้น ไม่ให้พวกเขาดำเนินนโยบายเพื่อประชาชน ทั้งๆ ที่พวกเขาได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากประชาชน ผู้นำแนวประชานิยมใหม่จะเป็นญาติดีกับกลุ่มทหาร พยายามทำลายสถาบันทางการเมืองแนวประชาธิปไตย ปราบปรามกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และควบคุมสื่อสารมวลชนด้วยยุทธวิธีต่างๆ

นักวิชาการของละตินอเมริกาวิเคราะห์ว่า ผู้นำแนวประชานิยมใหม่หาเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนที่แตกต่างไปจากผู้นำแนวประชานิยมเก่าแบบเปรอน เขาไม่สนใจคนงานภาคอุตสาหกรรม หรือกลุ่มสหภาพแรงงาน แต่จะมุ่งไปที่ชาวนารายย่อยและคนทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ กลุ่มคนเหล่านี้คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ พวกเขามักถูกละเลยจากรัฐบาลยุคก่อนๆ และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคก่อนๆ ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับคนชั้นกลาง หรือคนงานในภาคเศรษฐกิจทางการ(โรงงาน ข้าราชการ คนงานนั่งโต๊ะ ฯลฯ)

ในระบบการเมืองประชาธิปไตยที่พึ่งการเลือกตั้ง กลุ่มชาวนารายย่อยและคนงานในเศรษฐกิจนอกระบบ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่กุมคะแนนเลือกตั้ง ดังนั้นพรรคการเมืองที่หวังจะชนะการเลือกตั้ง เพื่อเข้าเป็นรัฐบาลจำเป็นต้องฟังเสียงพวกเขา

ดังนั้น เราจึงพบว่าที่ละตินอเมริกาและที่อื่นๆ ซึ่งรัฐบาลแบบประชานิยมใหม่พุ่งขึ้นสู่อำนาจ และดำเนินนโยบายประชานิยมต่างๆ เป็นไปได้ เพราะว่ารัฐบาลเหล่านี้ตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มาจากชาวนารายย่อยและคนในภาคเศรษฐกิจนอกระบบในเมืองทั้งสิ้น

ที่เมืองไทยก็เช่นเดียวกัน จากการสำรวจเศรษฐกิจนอกระบบของทางการเมื่อกลางทศวรรษ 1990 ได้ข้อมูลว่าผู้ผลิตรายเล็กรายย่อยในภาคชนบท และคนทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ(หาบเร่ แผงลอย ธุรกิจขนาดย่อม คนทำงานส่วนตัว) รวมกันแล้วคิดเป็นประมาณสามในสี่ของแรงงานทั้งหมด

ขณะที่คนชั้นกลาง ผนวกกับคนงานโรงงานในภาคเศรษฐกิจทางการ รวมกันมีเพียงร้อยละ 25 หรือหนึ่งในสี่

โครงสร้างของสังคมเช่นนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ภายใต้ภาวะของโลกาภิวัตน์สมัยปัจจุบัน ซึ่งมีฐานหลักอยู่ที่บทบาทและการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติของต่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติลงทุนโดยใช้เทคนิคการผลิตที่ใช้คนงานน้อย แต่ใช้เครื่องจักรมาก ดังนั้นจึงจ้างคนทำงานได้น้อยไปด้วย คนทำงานในภาคเศรษฐกิจทางการเหล่านี้ จึงขยายตัวอย่างเชื่องช้า คนงานกลายเป็นคนส่วนน้อยของแรงงานทั้งหมด ต่างจากที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่นที่ญี่ปุ่น

นายกฯทักษิณเมื่อเริ่มเข้าสู่การเมืองไม่ได้ตั้งตัวเป็นผู้นำแนวประชานิยมแต่อย่างใด
เมื่อทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทยปี พ.ศ.2541 นั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อช่วยนักธุรกิจที่ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และเพื่อนำเศรษฐกิจไทยให้รุ่งเรือง เช่น อดีตสมัยเศรษฐกิจฟองสบู่อีกครั้งหนึ่ง แม้เมื่อเข้าเป็นรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2544 นายกฯทักษิณยังอธิบายว่านำนโยบายประชานิยมเข้ามาใช้ ก็เพื่อลดทอนปัญหาสังคมที่เกิดจากช่องว่างของคนรวยและคนจนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายกฯทักษิณลื่นไถลเข้าสู่ผู้นำแนวประชานิยมใหม่อย่างรวดเร็ว ทั้งจากแนวทางของนโยบาย การใช้ถ้อยคำโวหาร ที่สามารถเข้าถึงผู้คนระดับล่างได้อย่างถึงอกถึงใจ (ดูการปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นตัวอย่าง) ล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายหาแรงสนับสนุนจากคนระดับล่าง ดังที่กล่าวมาตามแบบอย่างของผู้นำประชานิยมที่ละตินอเมริกา

นอกจากนั้นเขายังแสดงความไม่เชื่อถือหลักการประชาธิปไตย หลักการสิทธิมนุษยชน หลักการนิติรัฐ(rule of law) อย่างโจ่งแจ้ง โดยกล่าวว่าหลักการเหล่านี้ไม่สำคัญแต่อย่างใด รังแต่จะปิดกั้นไม่ให้ผู้นำทำงานให้กับประชาชนที่เลือกเขามาเท่านั้นเอง ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับทัศนคติของผู้นำแนวประชานิยมที่เปรู และที่อื่นๆ ในทศวรรษ 1990 ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าประชานิยมใหม่ที่เมืองไทย ก็เกิดจากการพยายามตอบสนองความต้องการของสังคมเช่นกัน เป็นสังคมที่เป็นผลจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมในสมัยของโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ที่น่าสนใจก็คือ ประสบการณ์ของรัฐบาลแนวประชานิยมใหม่ ที่ละตินอเมริกาและที่อื่นๆ บอกให้เราเห็นช่องทางการพัฒนาการของประชานิยมใหม่ในเมืองไทยอย่างไรบ้าง?

ผู้เขียนขอพิจารณาไปได้สี่แนวทาง

หนึ่ง ในบางประเทศรัฐบาลแนวประชานิยมใหม่ เผชิญกับปฏิกิริยาจากกลุ่มชนชั้นกลางอย่างรุนแรง เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่า ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลประเภทนี้น้อย และอาจจะมีฐานะตกต่ำลงไปเสียอีก ตัวอย่างสำคัญก็คือ เสียงต่อต้านประธานาธิบดีชาเวซ ที่เวเนซุเอลลา

สอง มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดความขัดแย้งระหว่างสองนโยบายที่ขัดกันในกรณีของพรรคไทยรักไทย คือ นโยบายที่สนับสนุนนักธุรกิจขนาดใหญ่ และนโยบายที่สนับสนุนคนระดับล่าง ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในโครงการประชานิยมต่างๆ มาถึงจุดหนึ่ง นโยบายประชานิยมอาจจะขัดแย้งกับนักธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการใช้เงินเพื่อการขยายตัวของธุรกิจมากกว่า

สถานการณ์นี้จะถึงจุดเสี่ยงเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ทำให้การแก่งแย่งงบประมาณเป็นประเด็นขัดแย้งที่สำคัญ นักธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะต้องการหันเหพรรคไทยรักไทยออกจากประชานิยม แล้วเดินเข้าสู่แนวทางการพัฒนาเป็นพรรคเพื่อนักธุรกิจขนาดใหญ่อย่างแท้จริงตามแนวทาง เช่น ของพรรครีพับลิกันที่สหรัฐอเมริกาก็ได้

สาม มีความเป็นไปได้ว่าภาวะวิกฤตอาจจะก่อตัวขึ้น จากองค์ประกอบของความล้มเหลวด้านนโยบายเศรษฐกิจ ผนวกกับเรื่องอื้อฉาวด้านคอร์รัปชัน ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของประธานาธิบดีฟูจิโมริที่เปรู จนทำให้ฟูจิโมริต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น และถูกข้อหาคอร์รัปชั่น ฆาตกรรมและค้ายาเสพติดร่วมกับหัวหน้าตำรวจลับของเขา คือ มองเตสชิโน

เรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นเพราะว่า แนวโน้มของการใช้อำนาจจากตำแหน่งแสวงหารายได้จากการคอร์รัปชั่น(คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายด้วย) นอกจากนั้นยังเกิดจากความจำเป็นที่จะต้องหาเงินจำนวนมาก เพื่อเอามาใช้จ่ายในการบริหารจัดการการเมืองแนวประชานิยม

ในกรณีของฟูจิโมริเขาใช้เงินจ่ายสินบนเพื่อซื้อ ส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้พิพากษา เจ้าของโทรทัศน์ และสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ (ด้วยราคาที่แพงมาก) เพื่อที่ว่าจะไม่มีใครคัดค้านเขา(ทำให้การเมืองนิ่ง) ทำให้เขาอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน(อยู่ได้ประมาณ 10 ปี)

ในเมืองไทยวิธีการจัดการกับสื่อไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่เปรู ที่เปรูฟูจิโมริต้องจ่ายสินบนให้กับสื่อโทรทัศน์เป็นเงินมหาศาล เพราะว่าที่นั่นโทรทัศน์เป็นของเอกชนทั้งสิ้น ในเมืองไทยไม่ต้องเพราะว่าส่วนใหญ่อยู่ในมือของรัฐอยู่แล้ว หรือไม่ก็ดำเนินการโดยธุรกิจครอบครัวของรัฐมนตรีในพรรครัฐบาลอยู่แล้ว

ถ้าหากรายงานเกี่ยวกับว่า ส.ส.ได้รับเงินอุดหนุนจากพรรครัฐบาลเป็นประจำจำนวนเท่าไรเป็นจริง ต้นทุนในการบริหารจัดการ ส.ส.ในพรรครัฐบาล ก็ไม่เกินปีละประมาณสองพันล้านบาท แต่นี่ก็ไม่ใช่จำนวนเงินที่เหลือบ่ากว่าแรง ที่กำไรของบริษัทในพรรครัฐบาลจะช่วยจ่ายไม่ได้

สี่ ความเป็นไปได้แนวทางที่สี่คือ นายกฯทักษิณท้าทายให้เกิดการแข่งขันกันเป็นผู้นำประชานิยม แล้วมีการก่อตัวของผู้นำประชานิยมที่มาจากคนชั้นล่างจริงๆ และสามารถทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศจับใจได้อย่างแท้จริงว่า ผู้นำคนนี้เป็นตัวแทนของเขาได้

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
(รวม)บทความวิชาการเรื่อง"นักการเมืองในฐานะสินค้า-ประชานิยมโลก" เป็นผลงานของ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร (รวมผลงานที่เพิ่งตีพิมพ์)

นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทุนยี่ห้อ และประชาชนในเขตการเลือกตั้งมีความภักดีต่อยี่ห้อของตนอย่างมั่นคง อาจไม่มีความจำเป็นในการย้ายพรรค นักการเมืองกลุ่มนี้ที่ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทยก็ด้วยเหตุผลของสัตว์เศรษฐกิจโดยแท้ เพราะไม่ต้องการเหนื่อยยากในการรณรงค์สู้กับพรรคไทยรักไทย มิหนำซ้ำยังสามารถแปลงทุนยี่ห้อให้เป็นเงินสดในราคาสูงอีกด้วย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ฟูจิโมริเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ เขาสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง โดยเสนอตัวเป็นผู้แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของเปรู รัฐบาลของเขายกเลิกยุทธศาสตร์ทดแทนการนำเข้า และรับเอานโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เน้นให้ตลาดเป็นตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และลดบทบาทของรัฐ นโยบายดังกล่าวนำเสถียรภาพมาสู่เศรษฐกิจเปรูในระยะปานกลาง หลังจากนั้นก็นำเอานโยบายประชานิยมหลายอย่างเข้ามาใช้ เช่น ก่อตั้งธนาคารเพื่อทำธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม รวมทั้งหาบเร่ แผงลอย เพิ่มโบนัสให้กับข้าราชการ ประกาศ "สงครามกับความจน" แจกเครื่องคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียน ฯลฯ นโยบายประชานิยมเหล่านี้ มุ่งไปที่กลุ่มคนระดับล่างในเศรษฐกิจนอกระบบ หาบเร่ แผงลอย คนขับแท็กซี่

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ