ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
260248
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 533 หัวเรื่อง
การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬาลงกรณ์
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน และเคยเผยแพร่แล้ว เดิมชื่อ
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
กับการเยียวยารอยร้าวแห่งสัมพันธภาพอันเกิดจากความรุนแรงในครอบครัว

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)



บทนำ
" ความรุนแรงในครอบครัว" ที่เกิดจากการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่สามีทำร้ายภรรยา บิดาและ/หรือมารดาทำร้ายบุตร หรือ ผู้ที่แข็งแรงกว่าทำร้ายบุพการีที่มีความชราภาพ เป็นญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอทางสรีระ หรือเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจสังคม หรือในทางกลับกัน มีเพียงส่วนน้อยที่ภรรยาทำร้ายสามี นั้น เป็น "ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม" ที่มีจำนวนความถี่และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน

บ้างก็โด่งดังระดับลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เป็นข่าวทีวีทุกช่อง หรือ บ้างก็ปรากฏเพียงถ้อยคำซุบซิบจากเพื่อนบ้าน จากวงศาคณาญาติ และรับรู้กันเพียงระดับชุมชนหมู่บ้าน ขึ้นอยู่กับความมีชื่อเสียงทางสังคมของครอบครัวนั้นๆ โดยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้ เน้นเฉพาะคือเรื่องของ "การทำร้ายภรรยาโดยสามี" (domestic violence หรือ partner violence หรือ wife abuse) หรือ "การทำร้ายคู่สมรส" (spouse abuse)

ในอดีตที่ผ่านมา สังคมได้ใช้วิธีการจัดการกับปัญหาความรุนแรง อันเกิดจากสามีทำร้ายภรรยาหลายลักษณะหลากวิธีการ อาทิเช่น การปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเพียง "เรื่องภายในครอบครัว" ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดการแก้ปัญหากันเอง ไม่ใช่เรื่องของคนนอกครอบครัวจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งผลที่เกิดตามมา คือ ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าจะต้องยอมรับสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของฝ่ายที่ก้าวร้าวและแข็งแรงกว่าเสมอมา และส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายที่ต้องยอมรับสภาพการตกเป็นเบี้ยล่างและสั่งสมความรู้สึกหวาดกลัว เจ็บแค้น รวมทั้งเก็บกดความโกรธเคืองดังกล่าวไว้ตลอดเวลา รอการระเบิดทางอารมณ์ตอบโต้ หรือระบายต่อบุตรหลาน หรือสร้างบุคลิกภาพ สร้างตัวตนแห่งตนเองในภาพลักษณ์ใหม่ที่ชินชา หยาบกระด้างแตกต่างไปจากเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อ "สังคมไทย" มีลักษณะเป็นสังคมเปิดมากขึ้น และ "รัฐ" ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวมากขึ้น ดังปรากฏตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 53 ซึ่งกำหนดว่า

"เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ
จากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม"

การที่รัฐและสังคมไทยร่วมสมัย ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนด้วยการกำหนดไว้ในกฎหมายสูงสุดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ที่จะไม่ปล่อยเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวลักษณะใดๆก็ตามให้เป็นเพียง "เรื่องกระทบกระทั่งกันภายในครอบครัว" แต่ยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทางหนึ่ง หรือเมื่อผู้หญิงไม่สามารถอดทนต่อสภาพความรุนแรงดังกล่าว และได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐและสังคม รัฐและสังคมจึงได้ช่องแทรกตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอีกทางหนึ่งนั้น

ปรากฏว่า นับจาก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีการพัฒนามาตรการที่มีรูปแบบเฉพาะใดๆมารองรับการดำเนินการแก่ "คดีความรุนแรงในครอบครัว" ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมในเชิงของการบำบัดเยียวยา แต่ยังคงปล่อยให้คดีความเหล่านั้นดำเนินการไปตามครรลองปกติโดยวิธีการของ "กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก" ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่นเดียวกับการทำร้ายร่างกายโดยทั่วไปและคดีอาชญากรรมอื่นๆ นั่นคือ ภรรยาที่ตกเป็นเหยื่อดำเนินคดีผ่านทางกระบวนการของตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ตามลำดับ รวมทั้งกฎหมายบางมาตราที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ที่ระบุว่า

"ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ "ผู้ชายข่มขืนภรรยาของตน" แม้ว่าจะกระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ก็ตามนั้นเป็นการกระทำที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เป็นความผิดฐานข่มขืนแต่อย่างใด ทั้งๆที่ปัญหาความรุนแรงอันเกิดจากสามีทำร้ายภรรยานี้ เป็นปัญหาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแตกต่างไปจากปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาระบบ รูปแบบ วิธีการเพื่อบำบัดรักษาและปรับพฤติกรรมของสามีที่นิยมความรุนแรง และเยียวยาภรรยาและบุตรของครอบครัวที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ทั้งกายและใจ ต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว รวมทั้งการแก้กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิ่งจำเป็น อันควรค่าแก่การพิจารณาเพื่อยังให้เกิดการป้องกัน การสร้างเสริมปรับปรุง และการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ การเป็น "ครอบครัวที่เข้มแข็งและสมานฉันท์" อันเป็นฐานรากสำคัญของสังคมไทยต่อไป

ความรุนแรงในครอบครัว: ความหมายและขอบเขตของปัญหา
Merton นักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียง (อ้างถึงใน Joseph Julian & William Kornblum, 1983, p.82) กล่าวไว้ในทฤษฎีอะโนมี (Merton's Theory of Anomie) ของเขาว่า

"ที่ใดที่มีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเพศ ที่มีการให้ค่าแก่เพศทั้งสองแตกต่างกัน และการบรรลุถึงบทบาททางเพศดังกล่าวถูกยับยั้งหรือประสบอุปสรรค ที่นั่นก็จะมีอัตราการเกิดความรุนแรงทางเพศสูง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ถ้าสังคมใดส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้นเท่าใด อัตราการเกิดความรุนแรงทางเพศในสังคมนั้นย่อมจะลดลงเท่านั้น"

ความรุนแรงในครอบครัวในมุมมองของนักสังคมวิทยา มองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่มีผลกระทบต่อผู้คนและพฤติกรรมของคนในสังคม สังคมที่นิยมยกย่องพ่อเป็นใหญ่ (patriarchal society) คือสังคมที่กำหนดและควบคุมกฎเกณฑ์โดยชาย เช่น สังคมชาวอาเซีย นั้น จะสร้างสมาชิก "ผู้ชาย" ที่แสดงบทบาททางเพศเชิงอำนาจนิยม ขณะที่สร้าง "ผู้หญิง" ให้เป็นฝ่ายเก็บกดและยอมตามมากกว่าสังคมที่ถือว่าแม่เป็นใหญ่ (matriarchal society) และสังคมที่ถือว่าพ่อแม่เป็นใหญ่เท่ากัน (equalitarian society)

ขณะที่นักจิตวิทยามองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็นปัญหาที่ผู้กระทำการรุนแรงมีลักษณะบุคลิกภาพที่ผิดปกติเฉพาะบุคคล โดยให้เหตุผลว่า ผู้เป็นสามีในครอบครัวอื่นๆที่อยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมในระดับชนชั้นเดียวกัน ได้รับการขัดเกลาจากวัฒนธรรมทางสังคมแบบเดียวกัน มิใช่จะกระทำรุนแรงต่อภรรยาเช่นเดียวกันทุกครอบครัว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กระทำพฤติกรรมเช่นนี้

ส่วนความรุนแรงในมุมมองของ "ผู้หญิง" (feminism) มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของ "เพศ" และ "อำนาจ" ที่อยู่เบื้องหลังการถ่ายทอด ผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมที่ให้ค่าความสำคัญและชื่นชมชายมากกว่าหญิง โดยนิยามความรุนแรงในครอบครัวในมุมมองของผู้หญิงหมายรวมถึง การที่เหยื่อสูญเสียพื้นที่แห่งความเป็นส่วนตัว การถูกทำร้ายทางเพศ (ถูกข่มขืน) สูญเสียความเชื่อมั่น ถูกทำให้โดดเดี่ยว ถูกตามตื้อทำร้ายซ้ำๆ และรวมทั้งถูกข่มขู่คุกคามด้วย

วิเคราะห์ขอบเขตความหมายตามนัยของ "บุคคลผู้กระทำหรือตกเป็นเหยื่อการกระทำ"
เมื่อพิเคราะห์ถึงขอบเขตความหมายของคำจำกัดความที่ใช้ในที่นี้ พบว่า กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาในลักษณะนี้ ถ้าใช้คำว่า "ความรุนแรงต่อผู้หญิง" (violence against women) จะหมายถึง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในภาพรวมทั้งในและนอกความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ซึ่งกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มิใช่คู่สมรส หรือผู้ที่มีความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยานั้น จะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้กระทำ" กับ "ผู้ถูกกระทำ" จะเปลี่ยนไปเป็น "ผู้กระทำผิด" กับ "เหยื่ออาชญากรรม" แทน

คือมีการล่วงละเมิดทางเพศหรือทำร้ายร่างกายและชีวิตเกิดขึ้น ดังนั้น คำว่าความรุนแรงต่อผู้หญิง จึงมีนัยที่กว้างขวางมากโดยครอบคลุม ทั้งกรณีสามีทำร้ายภรรยา และกรณีที่ผู้ชายทำอันตรายแก่ชีวิตร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงอื่นๆไว้ด้วยทั้งหมด

สำหรับคำว่า "ความรุนแรงในครอบครัว" (family violence) หมายถึงความรุนแรงที่มีลักษณะเฉพาะที่เกิดการทำร้ายร่างกาย การทำร้ายทางเพศและจิตใจแบบต่างๆ ระหว่างสมาชิกที่มีความสัมพันธ์ฉันครอบครัวเดียวกัน ได้แก่ สามี-ภรรยา-บุตร-ญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ

ส่วนคำว่า "การทำร้ายภรรยา (โดยสามี)" (wife abuse) เป็นคำที่มีความรู้สึกในเชิงของเพศนิยมหรือสตรีนิยมแฝงเร้นอยู่ เพราะมีนัยของ "อำนาจ การต่อสู้ ความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างทางเพศ" ทับซ้อนอยู่ด้วย

ด้วยเหตุนี้ คำว่า "โรงซ่อมสามี" จึงมีนัยในเชิงของเพศนิยมแฝงอยู่เช่นกัน เพราะหมายถึงเฉพาะหน่วยงานหรือโครงการหรือมาตรการที่สร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการบำบัดฟื้นฟูเยียวยาบรรดา "ผู้ชาย" ที่ได้ชื่อว่าเป็น "สามี" ที่นิยมความรุนแรง ทั้งๆที่ความรุนแรงอันเป็นพฤติกรรมแสดงออกที่ปลายเหตุนั้น อาจเกิดจากบุคลิกภาพ หรือโครงสร้างทางสังคม หรืออารมณ์โกรธ หึงหวง ฯลฯ ที่ฝ่ายผู้หญิงอาจมีส่วนสำคัญในการยั่วยุอยู่ด้วยก็ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวฝ่ายหญิงก็เป็นผู้ที่สมควรต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู มากกว่าหรือพอๆกับฝ่ายชายด้วยซ้ำไป

ดังนั้น หากจะใช้คำว่า "การทำร้ายคู่สมรส" (spouse abuse) จะสามารถสื่อความหมายได้อย่างเป็นกลาง โดยคำดังกล่าวนี้หมายรวมทั้งการที่สามีทำร้ายภรรยา และภรรยาทำร้ายสามีด้วยเช่นกัน แม้กรณีหลังจะมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม ส่วนโครงการที่ทำการบำบัดฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงเหล่านี้ อาจใช้ชื่อว่า โครงการ "ครอบครัวสมานฉันท์" หรือ "คืนคนดีสู่ครอบครัว" ฯลฯ ตามคำขวัญของกรมคุมประพฤติก็ย่อมได้

วิเคราะห์ขอบเขตความหมายตามนัยของ "การกระทำ"
กรณีที่ควรพิจารณาต่อไป คือกรณีที่ว่า การทำร้ายที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะมาก-น้อย หนัก-เบา เช่นไร หรือมีระดับความรุนแรงเพียงไร จึงได้ชื่อว่าเป็นความรุนแรงที่สามารถเยียวยาได้ เช่น สามีเพียงแต่ทำร้ายร่างกาย หรือประทุษร้ายด้วยวาจา หรือกรณีใดที่หนักเกินกว่าจะเยียวยาได้ เช่น กรณีพยายามฆ่า หรือ ฆาตกรรม นั้น มีระดับความรุนแรงของพฤติกรรมแตกต่างกัน (cited in O'Leary, 1993, p.20) ดังนี้

แสดงการจำแนกระดับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในสัมพันธภาพระหว่างคู่สมรส
ความก้าวร้าวทางวาจา / ดูถูก เหยียดหยาม, ตะโกนใส่, ตั้งฉายา
อันเนื่องมาจากเหตุที่ต้องการควบคุม, แสดงพลังความเป็นชาย, อิจฉาริษยา, คู่สมรสไม่ปรองดองกัน

ความก้าวร้าวต่อร่างกาย / ผลัก ตบตี กระแทก, ยอมรับและนำเอาการควบคุมโดยวิธีการที่รุนแรงมาใช้, เลียนแบบการแสดงความก้าวร้าวรุนแรงต่อร่างกาย, ถูกกระทำทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก, มีบุคลิกภาพที่นิยมความก้าวร้าว, ติดสุรา

ความก้าวร้าวขั้นรุนแรง / ทุบตี, เตะต่อย, ทุบตีด้วยวัตถุหรืออาวุธ, มีบุคลิกภาพแปรปรวน เก็บอารมณ์ไม่อยู่, มีความยกย่องนับถือตนเองต่ำ

ฆาตกรรม /

จะเห็นได้ว่า ระดับความรุนแรงของพฤติกรรม เริ่มจากพฤติกรรมที่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่า ไปสู่ระดับความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งมีระดับความรุนแรงสูงที่สุด คือ เริ่มจาก ความก้าวร้าวทางวาจา ไปสู่ ความก้าวร้าวทางร้างกาย และพัฒนาไปสู่ ความก้าวร้าวขั้นรุนแรง ซึ่งบางกรณีระดับความก้าวร้าวที่สั่งสมต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเกิด ความก้าวร้าวรุนแรงสูงสุด ในระหว่างคู่สมรส คือ การฆาตกรรมคู่สมรส ได้แก่ สามีฆ่าภรรยาหรือภรรยาฆ่าสามี

อย่างไรก็ตาม คดีความที่อยู่ในขอบเขตซึ่งสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ คือคดีความในระดับที่สามีแสดงความก้าวร้าวทางร่างกาย และแสดงความก้าวร้าวขั้นรุนแรง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เยียวยาสมานฉันท์กันได้ ส่วนการพยายามฆ่า หรือฆาตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น จัดว่าเป็นความผิดต่อชีวิตร่างกายที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งสมควรใช้วิธีการของกระบวนการยุติธรรมก่อน ส่วนการบำบัดเยียวยา หรือการแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม ควรกำหนดขึ้นภายหลัง

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: กระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่เป็น "คำตอบสุดท้าย"
ภูมิหลังแห่งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสังคมโลกกับคดีความรุนแรงในครอบครัว: กรณีทำร้ายคู่สมรส

กล่าวได้ว่า กระแสที่นำมาสู่การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในระยะแรกเริ่มขึ้นเมื่อปีคริสต์ทศวรรษ 1960s และ 1970s ในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของเหยื่ออย่างจริงจัง จากการสนับสนุนเหยื่อในคดีสามีทำร้ายภรรยา (domestic violence) ซึ่งเป็นเรื่องที่บรรดาผู้หญิงทั้งหลายได้ทำการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ โดย Erin Pizzey ได้จัดตั้งบ้านพักพิงแห่งแรกขึ้นที่ Chiswick สำหรับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย ในปีค.ศ.1972 และมีการเลียนแบบกันข้ามประเทศเป็นกลุ่มเล็กๆโดยเงินสนับสนุนของกลุ่มผู้หญิง ด้วยการจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้แก่หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย ภายในปีเดียว (1977-8) มีผู้หญิงจำนวน 11,400 ราย และเด็กจำนวน 20,850 ราย เข้าพักพิงในบ้านพักฉุกเฉินจำนวน 150 แห่ง (Binny et al., 1985)

ในสหราชอาณาจักร องค์การที่เป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวให้แก่เหยื่อ คือ "Victim Support" เริ่มต้นกิจกรรมในปี ค.ศ.1974. ปัจจุบันมีโครงการในเครือข่ายทั่วประเทศ โดยมีอาสาสมัครประมาณ 12,000 คน ให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อมากกว่าปีละ 1 ล้านคน (Home Office, 1996, p.33)

ส่วนในสังคมไทยกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนทั้งหลาย ดูแลกันเอง ขณะที่ภาครัฐเพิ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรมขึ้นในกระทรวงยุติธรรม พร้อมๆกับการปฏิรูประบบราชการไทย พ.ศ.2545 นี้

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ยุทธศาสตร์ทางการยุติธรรมที่ลงตัว
เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าวิธีการของระบบงานยุติธรรมไทย ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับวิธีการที่ระบบกฎหมายตะวันตกทั้งหลาย ใช้รับมือกับอาชญากรรม นั่นคือ วิธีการที่ทำให้ "เหยื่อ" มีความ รู้สึกสูญเสียอำนาจ ครั้งแรกก็เสียอำนาจให้กับผู้กระทำผิด และต่อมาก็เสียอำนาจให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม โดยพวกเหยื่อต้องพยายามอดกลั้นความรู้สึกต่ำต้อยเหล่านี้ไว้

การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่นี้ จึงเป็นแนวคิดและวิธีการที่ทำให้เกิด "ความยุติธรรม" แก่ทุกฝ่าย โดยใช้ความสุขุมนุ่มนวลที่เหนือกว่า จัดการกับผลที่เกิดตามมาจากอาชญากรรม และป้องกันการกระทำผิดในทำนองเดียวกัน ที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าไปพร้อมๆกัน

การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อทำให้เกิดการเยียวยาชดเชยความเสียหาย และสร้างความสามัคคีปรองดองบนพื้นฐานความรู้สึกที่เชื่อว่า จะได้รับความยุติธรรม การเยียวยาเพียงอย่างเดียว โดยปล่อยให้ความอยุติธรรมยังคงลอยนวลอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ "การสมานฉันท์อย่างสมดุล" (restoring balance) จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวคิดหลักของการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Braithwaite, 1998. p.323-344) ถ้าเพียงแต่มีดุลภาพเกิดขึ้นระหว่าง ผู้กระทำผิดและเหยื่อที่เคยมีเกียรติมาก่อนที่จะเกิดอาชญากรรม หรือการกระทำผิดนั้นได้รับการปฏิบัติในสิ่งที่สมควรอย่างสมดุล โดย "การสมานฉันท์อย่างสมดุล" ระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำผิด จะเป็นไปได้ก็เมื่ออยู่ภายใต้บริบทที่ได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือกัน ระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยมีคนกลางจากชุมชนเข้ามาช่วยสนับสนุน และมีหน่วยงานของรัฐช่วยประสานการจัดการให้เกิดเวทีการพูดคุยสมานฉันท์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ได้แก่ ผู้กระทำผิด เหยื่อ ผู้แทนชุมชน หรืออาสาสมัคร และผู้ประสานงานโครงการซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก มีเพียงผู้กระทำผิดและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ โดยเหยื่อและชุมชนถูกกันไว้วงนอกของกระบวนการ ทำให้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆมากนัก และส่งผลให้ "เหยื่อ" กับ "ผู้กระทำผิด" หันหลังให้แก่กัน โดยปราศจากเวทีที่จะแสดงความรับผิดชอบ (accountability) เข้าใจถึงผลที่เกิดตามมาจากเหตุการณ์ครั้งนี้ (consequences) เยียวยาความเสียหายและสมานรอยร้าวแห่งสัมพันธภาพแก่กัน เช่นเดียวกับที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในโครงการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

ดังนั้นเมื่อผู้กระทำผิดพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม จึงเกิดการแปลกแยกไม่สามารถบูรณาการเข้าสู่สังคมเดียวกันได้อย่างสนิทใจเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะองค์ประกอบของความรับผิดชอบ หมายถึง การยอมรับว่าตนเป็นผู้ก่อเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้น เข้าใจถึง "ความเสียหายที่เกิดขึ้น" จากมุมมองอื่นๆ ตระหนักว่าตนมีทางเลือก สามารถดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อแก้ไขเยียวยาได้ และได้ลงมือกระทำการแก้ไขบรรเทาผลร้ายนั้น และองค์ประกอบแห่งความรับผิดชอบนี้ เป็นสิ่งที่เหยื่อในคดีการทำร้ายคู่สมรสต้องการ จากผู้กระทำซึ่งเป็นสามี/ภรรยาของตนมากกว่าสิ่งอื่นใด ในกรณีที่ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกันต่อไป

ความเป็นไปได้ในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
มาใช้ในการเยียวยาสามีที่นิยมความรุนแรงในสังคมไทย

"กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะ "เติมเต็ม" ส่วนที่ขาดหายไปของการแก้ปัญหา "ความรุนแรงในครอบครัว" ได้อย่างลงตัวอย่างไร เป็นคำถามที่บรรดานักวิชาการด้านสังคมวิทยาปัญหาสังคม นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม นักกฎหมาย บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และบรรดาองค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงทั้งหลาย จะต้องตอบคำถามนี้แก่สังคมไทยของเรา ซึ่งผู้เขียนขอวิเคราะห์สาระสำคัญเกี่ยวกับความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้กับคดีความรุนแรงในครอบครัว ดังนี้

ประการแรก การมีกฎหมายรองรับ
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นวิธีการใหม่ของรัฐและสังคมไทย ในการดูแลสมาชิกครอบครัวที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 53 ซึ่งกำหนดว่า "เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ จากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม..." จึงเป็นเรื่องที่มีกฎหมายสูงสุดกล่าวถึงและให้ความสำคัญอยู่แล้ว หากจะนำมาใช้ควรมีการกำหนดกฎหมายรองรับการปฏิบัติแก่หน่วยงานที่รับดำเนินการและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือกรมคุมประพฤติและพนักงานคุมประพฤติ ก็สามารถดำเนินการได้ทันทีที่มีความพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากรและงบประมาณ

ประการที่สอง วิธีการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีความเหมาะสม
วิธีการที่จะนำมาใช้กับคดีความรุนแรงในครอบครัวกรณีสามีทำร้ายภรรยา ซึ่งมีความละเอียดอ่อนนี้ ควรเป็นวิธีการที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากวิธีการทั่วไป โดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีลักษณะเฉพาะที่มีความเหมาะสม ดังนี้

2.1 กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จัดว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการปรับเปลี่ยนปรัชญาในการมองอาชญากรรมที่แตกต่างไปจาก "การให้ความหมายอาชญากรรมตามปกติแบบเหมารวม" และ "การแยกอาชญากรรมออกจากพฤติกรรมเบี่ยงเบน" คือ เป็นการมองและแยกวิธีการปฏิบัติต่อปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม ออกจากปัญหาอาชญากรรมทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วคดีสามีทำร้ายภรรยาเหล่านี้เมื่อเรื่องมาถึงโรงพัก ตำรวจมักจะทำการไกล่เกลี่ยประนีประนอมโดยมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ทำให้เหยื่อเสียเปรียบและคับข้องใจ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตครอบครัว ที่ไม่ได้รับการบำบัดเยียวยาแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันหากเรื่องดังกล่าวถูกดำเนินคดีแบบคดีทำร้ายร่างกาย ตามแบบวิธีที่ดำเนินการกับอาชญากรรมและการกระทำผิดทั้งหลายก็เป็นวิธีการที่ "ตึง" เกินไป ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน และความสัมพันธ์ของครอบครัวตามมาหลายประการ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงเป็น "ทางเลือก" ที่เหมาะสมสำหรับคดีที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้

2.2 รูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ กับคดีทำร้ายคู่สมรสนี้ จัดว่าเป็นรูปแบบที่ลงตัวและได้ดุลยภาพระหว่าง "การสั่งการจากข้างบนลงล่าง" (top-down) คือ การดำเนินการตามทิศทางตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กับ "การเคลื่อนไหวจากข้างล่างเพื่อผลักดันข้างบน" (bottom-up) คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องของบรรดากลุ่มผู้หญิงและองค์กรต่างๆ และยังเป็นเสมือนเวทีที่ "เหยื่อ" กับ "ผู้กระทำ" ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน ร่วมกับคนกลางและผู้ประสานงาน ซึ่งควรเป็น "พนักงาน คุมประพฤติ" ที่ได้รับการฝึกหัดอบรมแล้ว โดยผู้เขียนเห็นว่าเป็นความลงตัวที่มีลักษณะสมานฉันท์และสมดุลกันอย่างน่าสนใจ ดังภาพต่อไปนี้

ภาพที่ 1 แสดงความลงตัวที่มีลักษณะสมานฉันท์และสมดุลกัน
ในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับคดีความรุนแรงในครอบครัว กรณีสามีทำร้ายภรรยา


2.3 กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นวิธีการที่มีลักษณะของ "กระบวนการยุติธรรมทางเลือก" ที่รัฐและสังคมรับรู้และให้การยอมรับในความถูกต้องชอบธรรม ทั้งมีลักษณะ "กึ่งทางการ" ที่ไม่เป็นแบบแผนพิธีการมากเกินไป จนดูเหมือนเป็นการดำเนินคดีความที่มีข่าวครึกโครม ขณะเดียวกันก็มิใช่ทิ้งร้างให้เกิดช่องว่างทางสังคม ที่รัฐไม่เข้าไปดูแลรับรู้ปัญหาเหล่านี้ ทั้งๆที่สังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความเสมอภาคแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้กับกรณีสามีทำร้ายภรรยาได้เป็นรายกรณี โดยพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี และความยินยอมพร้อมใจของเหยื่อและผู้กระทำประกอบกัน ส่วนกรณีการกระทำที่มีลักษณะอุกฉกรรจ์มีโทษร้ายแรง ก็สามารถใช้วิธีการของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักตามปกติได้

ประการที่สาม เป็นเรื่องของลักษณะเฉพาะของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกรณีทำร้ายคู่สมรส
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกรณีการทำร้ายคู่สมรส หรือสามีทำร้ายภรรยานั้น มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ ดังนี้

3.1 เพราะความเป็นครอบครัวจะมีนัยของความสัมพันธ์พิเศษที่มีลักษณะเป็น "ความสัมพันธ์แบบสองทาง" ดังนั้น จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น พบว่าการที่โยนความผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวว่า มีความบกพร่องทางบุคลิภาพ การอบรมเลี้ยงดู ฯลฯ ด้วยการใช้มุมมองแบบใดๆก็ตามนั้นย่อมไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะบ่อยครั้งที่ภรรยาก็มีส่วนยั่วยุด้วยคำพูด ท่าทีและการกระทำบางอย่างเช่นกัน รวมทั้งขาดเทคนิควิธีการในการลดทอนความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น ให้แสดงออกอย่างเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ จึงเป็นความไม่ยุติธรรมและเป็นการละเลยความสำคัญของสัมพันธภาพที่มีลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งสามารถเยียวยาแก้ไขได้โดยอาศัย "คนกลาง" เข้าช่วยรับฟังและให้คำแนะนำในบางสถานการณ์

3.2 ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้ชื่อว่าเป็น "ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม" เนื่องจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างไปจากปัญหาสังคมทั่วไป และขณะเดียวกันก็แตกต่างไปจากปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ คือการทำร้ายร่างกายผู้อื่นซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งๆที่มีพฤติการณ์แห่งคดีทำนองเดียวกัน เช่น เตะ ต่อย ใช้อาวุธทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของผู้อื่น และข่มขืนคู่สมรส ฯลฯ ซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าและฆาตกรรมด้วย


ทั้งนี้เนื่องจากกรณีความรุนแรงในครอบครัว เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจสมาชิกคนใดคนหนึ่งของครอบครัว โดยบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่สร้างครอบครัวมาจากพื้นฐานของความรักใคร่ผูกพันต่อกัน และบ้างก็ทำร้ายกันด้วยความรักใคร่หึงหวงด้วยซ้ำไป ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าปัญหานี้เป็น "ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม" เพราะแตกต่างไปจากปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ทำนองเดียวกันที่เหยื่อมักจะเป็นบุคคลนอกครอบครัว

3.3 เหยื่อและผู้กระทำผิดในกรณีนี้ส่วนใหญ่เป็น "บุคคลคนเดียวกันตามกฎหมาย" กรณีที่ทำการจดทะเบียนสมรส หรือไม่ก็มีบุตรซึ่งเป็นบุคคลที่สามผูกพันโยงใยอยู่ด้วย และได้รับผลกระทบจากการทำร้ายร่างกายกัน ระหว่างคนสองคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันด้วย ก่อให้เกิดปัญหาลำบากใจที่ยากแก่การจัดการอย่างเด็ดขาด กับสามีผู้กระทำความรุนแรงแก่เหยื่อซึ่งเป็นภรรยาของตน เพราะเหตุที่ไม่สามารถสวมบทบาทสามี บิดา หรือผู้นำครอบครัวได้อย่างสมบทบาทตามที่ควรจะเป็น เพราะการพรากสามีและบิดาไปจากตนเองและบุตร ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวของตน แต่หากไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เหยื่อก็ต้องยอมทนทุกข์ทรมานต่อสภาพความรุนแรงต่อไปเช่นกัน

3.4 พฤติกรรมการกระทำผิดกรณีการทำร้ายคู่สมรสนั้น จัดว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัวที่มีลักษณะเป็น paradox คือ ขัดแย้งกันเองระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวซึ่งแฝงไว้ด้วยนัยแห่งการผนึกกำลัง การเป็นพันธมิตร การเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็ง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการมีความเมตตากรุณาต่อคนในกลุ่มเดียวกัน (in-group) มากกว่าที่มีต่อคนนอกกลุ่ม (out-group) ซึ่งเป็นธรรมชาติของพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ ดังนั้น การที่คนในครอบครัวทำร้ายร่างกายและจิตใจกันเอง นั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในบริบทของความเป็น "ครอบครัว" อย่างชัดเจนและมีความถี่เพิ่มขึ้นสูงมากในปัจจุบัน โดยประเด็นดังกล่าวมีงานวิจัยสนับสนุนมากมาย ดังเช่น

จากรายงานการวิจัยเรื่อง "ปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการประกอบอาชญากรรมทางเพศต่อผู้หญิงไทย" ของ จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (2544) พบว่า ร้อยละ 43 เหยื่อถูกข่มขืนโดยคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักกัน ร้อยละ 43.0 ถูกข่มขืนโดยคนรัก แฟน สามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และร้อยละ 7.2 ถูกข่มขืนโดยบิดา ลุง อา มีเพียงร้อยละ 20.5 ที่ถูกข่มขืนโดยคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ดังนั้น การที่คนแข็งแรงกว่าทำร้ายร่างกายและจิตใจคนที่อ่อนแอกว่าในครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รักใคร่สนิทสนมใกล้ชิดกัน คือเป็น "คนในกลุ่มเดียวกัน" มากกว่า "คนนอกกลุ่ม" นั้น วิเคราะห์ได้ว่าสังคมปัจจุบันมีการนำมโนทัศน์ที่ตรงกันข้ามมาใช้ผิดที่ผิดทางคือนำแนวคิด "การแข่งขัน" (competition) ซึ่งควรใช้กับคนนอกกลุ่ม (เพราะเป็นวิธีคิดและวิธีการที่ต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ในทุกวิถีทาง) มาใช้กับครอบครัวและคนในกลุ่มเดียวกันแทนแนวคิด "การร่วมมือร่วมใจ" (cooperation) ที่ทุกครอบครัวควรมีไว้เป็นพื้นฐานสำคัญ


3.5 ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากสามีทำร้ายภรรยานั้นมีลักษณะเป็น "ความรุนแรงสองชั้น" กล่าวคือในครอบครัวที่มีบุตรและบุตรทราบถึง หรือเห็นพฤติกรรมความรุนแรงที่บิดามารดากระทำโต้ตอบกันในลักษณะตบตี ทำร้ายร่างกาย ขว้างปาสิ่งของ หรือตะโกนใส่กันนั้น บุตรจะตกเป็น "เหยื่อโดยอ้อม" ในเหตุการณ์เหล่านี้ โดยเรียนรู้บทบาททางเพศควบคู่กับความรุนแรง ยอมรับความก้าวร้าวรุนแรงว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขายอมรับได้

ข้อมูลดังกล่าวมีงานวิจัยสนับสนุนอย่างชัดเจน คือ งานวิจัยของพรเพ็ญ เพชรสุขศิริ เรื่องการศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัว และความก้าวร้าวของเยาวชนไทย (2539) พบว่าเยาวชนกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา ซึ่งเป็นนักเรียนในโรงเรียนทั่วไป มีการยอมรับความรุนแรงในครอบครัวของเยาวชนสูงถึงร้อยละ 92.6 โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่สามีสั่งสอนภรรยาได้ และร้อยละ 11.2 ของเยาวชนยอมรับว่าเป็น เรื่องปกติที่สามีมีสิทธิ์ตีภรรยาได้ตามสมควร

และที่สำคัญ คือ เด็กเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อโดยอ้อมเหล่านี้ ได้ถูกบ่มเพาะนิสัยที่สามารถทนทานต่อความก้าวร้าวในระดับที่สูงขึ้นทีละขั้นๆ จากครอบครัวที่มีความรุนแรงจนมีขีดจำกัดแห่งความทนได้สูงมาก ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อครอบครัวที่จะเกิดใหม่ และสังคมไทยในอนาคต เมื่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

ประการที่สี่ ลักษณะสำคัญของโครงการปรับพฤติกรรมและหน่วยงานรองรับประสานการจัดการ
หลักการและวิธีการปรับพฤติกรรมผู้กระทำผิดที่ชอบทำร้ายคู่สมรสเหล่านี้ นอกจากจะเป็นมาตรการที่ต้องมีกฎหมายรองรับแล้ว ยังต้องมีหน่วยงานเหมาะสมรองรับการดำเนินการอีกด้วย แนวคิดการใช้พนักงานคุมประพฤติเพื่อการนี้ จึงเกิดขึ้น กล่าวคือ

4.1 แนวคิดการเยียวยาสัมพันธภาพที่แตกร้าวในครอบครัว โดยการปรับพฤติกรรมสามีและเยียวยาเหยื่อโดยวิธีการคุมประพฤตินี้ สามารถแสดงได้ ดังภาพที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการปรับพฤติกรรมคู่สมรส ใช้วิธีการคุมประพฤตินั้นจัดว่า เป็นมาตรการที่มีระดับความเข้มข้นของมาตรการแทนโทษจำคุกสูงสุด เท่าที่การกำหนดเงื่อนไขแห่งการคุมประพฤติจะควบคุมได้ คือการใช้วิธีการคุมประพฤติร่วมกับโปรแกรมการปรับพฤติกรรม และเป็นวิธีการที่ใช้กับคดีที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำสูง หากไม่มีการปรับพฤติกรรมหรือเยียวยาแก้ไขด้วยวิธีการใดๆ แม้แต่จะใช้วิธีการจำคุกไว้ระยะหนึ่งก็ตาม


ภาพที่ 2 แสดงระดับความเข้มของโครงการปรับพฤติกรรมคู่สมรสและอัตราเสี่ยงของการกระทำผิดซ้ำ

4.2 ความเหมาะสมของการใช้พนักงานคุมประพฤติเพื่อการนี้ สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีความเหมาะสม เนื่องจาก
- พนักงานคุมประพฤติมีความชำนาญทางเทคนิค ในการให้บริการเชิงสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และชำนาญงานด้านชุมชนอยู่แล้ว จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ประสานการจัดการโครงการดังกล่าว

- กรณีที่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข เพื่อคุมความประพฤติเพื่อความปลอดภัยของเหยื่อและครอบครัว ก็มีความพร้อมทางกฎหมายรองรับการดำเนินการนี้ได้ ทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนอีกชั้นหนึ่ง

- กรณีที่จำเป็นต้องให้บริการส่งต่อ "สามี" เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาทางการแพทย์ พนักงานคุมประพฤติก็มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ที่จะดำเนินการดังกล่าวได้เช่นกัน

4.3 ลักษณะสำคัญของโปรแกรมที่สร้างขึ้น เพื่อเยียวยาสามีที่ทำร้ายภรรยาของตนนั้น จำเป็นต้องมีลักษณะทั้งกว้างและทั้งเจาะลึก กล่าวคือ ชี้ให้เห็นภาพรวมและผลกระทบของปัญหาทั่วไป และเจาะจงที่พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะราย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมต่อไป รวมทั้งจำเป็นต้องกล่าวถึงธรรมชาติทั่วไปและลักษณะที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการปรับพฤติกรรมควรมีประเด็นหลักครอบคลุมสามประเด็นสำคัญ คือ การปรับพฤติกรรมผู้กระทำผิด, การเยียวยาเหยื่อ, และการให้การเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกต้องใหม่อีกครั้ง, อันเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและโลกทัศน์ในเรื่อง "ครอบครัว" แก่คู่สมรส

ข้อสังเกตการนำมาใช้

1. ถ้าขยายขอบเขตของโครงการให้ครอบคลุมความรุนแรงในครอบครัวกรณีอื่นๆด้วย ได้แก่ การทำร้ายทางเพศแก่บุตร/หลานในครอบครัว สำหรับผู้ต้องโทษจำคุกที่มีการคุมประพฤติในชั้นพักโทษ จะเกิดอานิสงฆ์แก่เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจจะกลับไปอยู่ร่วมครอบครัวเดียวกันกับเหยื่ออีกครั้ง โดยไม่ได้รับการปรับพฤติกรรมใดๆ

2. ควรมีการจำแนกกลุ่มคนที่เหมาะสมเข้ารับการบำบัดอย่างชัดเจน เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการทำร้ายคู่สมรสเกิดจากการเสพย์สุรา ยาเสพติด ซึ่งควรได้รับการแก้ไขปรับพฤติกรรมที่ต้นเหตุของปัญหามากกว่า

3. ควรจัดให้มีหรือประสานการจัดโปรแกรมการบำบัดเยียวยาเหยื่อด้วย เพราะเหยื่อบางคนมีส่วนยั่วยุให้สามีเกิดโทสะทำร้ายร่างกายตน

4. ควรนำทรัพยากรชุมชน เช่น อาสาสมัครบางคนที่เป็นครู นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ใหญ่ ฯลฯ มาช่วยเยียวยาเหยื่อด้วย

5. เมื่อเข้าสู่โครงการสมานฉันท์ ควรจัดให้มีบ้านพักพิงสำหรับผู้กระทำผิดที่แยกออกจาก ผู้หญิงและเด็ก เพราะหลักการสำคัญคือผู้หญิงและเด็ก จะต้องอยู่ที่บ้านมิใช่ผู้ชายที่เป็นผู้กระทำ ส่วนบ้านพักพิงสำหรับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย ควรมีไว้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุเฉพาะหน้า ขณะที่เหยื่ออยู่ระหว่างการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด

6. ควรพัฒนาหลักสูตรการอบรม และปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่เนื่องจากวิธีการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่นำมาใช้ในงานคุมประพฤตินั้น เน้นที่ "เหยื่อ" เหยื่อต้องได้รับการใส่ใจอย่างมากพอๆกับผู้กระทำผิด ขณะที่บางส่วนมองว่า ตนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะปฏิบัติเฉพาะต่อผู้กระทำผิดเท่านั้น

บทสรุป
เหล่านี้คือคำตอบต่อคำถามน่าสนใจที่เกิดขึ้นว่า "จะมีวิธีการอื่นใดซึ่งเป็น "ทางสายกลาง" หรือ "ทางเลือก" ในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอีกหรือไม่ ระหว่าง "การปล่อยให้เป็นเรื่องภายในครอบครัว ที่คู่สมรสต้องจัดการแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องกันเอง" กับ "การใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักอย่างเต็มรูปเข้าไปจัดการกับปัญหานี้"

ในฐานะที่เป็นเรื่องราวอันก่อให้เกิดความไม่สงบสุขแก่สังคมชุมชนส่วนรวมอย่างหนึ่ง ซึ่งหากจะมีวิธีการทางเลือกดังกล่าวเกิดขึ้นนั้น วิธีการนี้ควรมีลักษณะ "กึ่งทางการ" มี "ความยืดหยุ่น" ในการนำมาใช้ โดยคำนึงถึงผลลัพธ์เชิงเยียวยาสมานฉันท์ที่เสริมสร้างให้ความเป็น "ครอบครัว" กลับมาอีกครั้ง เพื่อดำเนินภารกิจหลักของตนแก่สังคมส่วนรวมได้อย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มากกว่าส่งเสริมให้เกิดความแตกร้าว แตกแยก ตัดขาด และลดทอนศักยภาพของทุกฝ่าย และวิธีการนั้น คือ การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับคดีความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเยียวยารอยร้าวแห่งสัมพันธภาพอันเกิดจากการกระทบกระทั่งเกินพอดี ของความรักที่ขาดความยืดหยุ่นเหล่านี้

ภาคผนวก
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ VS. กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทนกับคดีความรุนแรงในครอบครัว Block, Heather and Lichti, Chris (2002) ได้นำเสนอการเปรียบเทียบการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน กับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับความรุนแรงในครอบครัวไว้ ดังนี้

ก. กระบวนทัศน์เดิม กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน
1. นิยาม "อาชญากรรม" ว่าเป็น การกระทำผิดต่อรัฐ
2. เน้นที่การกระทำผิด ตำหนิต่อความผิดพลาดที่ได้กระทำไป
3. ใช้สัมพันธภาพและกระบวนวิธีแบบปฏิปักษ์ ในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
4. กำหนดให้ได้รับความเจ็บปวดหลาบจำด้วยการลงโทษ และเพื่อยับยั้งป้องกัน
5. "ความยุติธรรม" ถูกกำหนดโดยเจตนา และโดยการดำเนินกระบวนวิธีตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสม

6. ธรรมชาติของอาชญากรรม เป็นเรื่องของความขัดแย้งในสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ที่รัฐต้องยื่นมือเข้าจัดการ
7. หากสมาชิกสังคมคนใดได้รับความเสียหาย จะต้องมีผู้กระทำผิดมารับความเสียหายแทน
8. ชุมชนเป็นเพียง "ตัวประกอบ" ในการเป็นตัวแทนเชิงนามธรรมของรัฐ
9. กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เอาชนะ และสร้างค่านิยมในลัทธิปัจเจกบุคคล
10. รัฐดำเนินการโดยตรงต่อ ผู้กระทำผิด: ขณะที่เหยื่อถูกละทิ้งละเลย และ
ผู้กระทำผิดต้องรับกรรมโดยไม่อาจดิ้นรนต่อสู้

11. การแสดงความรับผิดชอบของผู้กระทำผิดถูกจำกัดวงอยู่เพียงการถูกลงโทษ
12. "ผู้กระทำผิด" เพียงแต่รับผิดชอบต่อการกระทำผิดตาม "กฎหมาย" เท่านั้น โดยปราศจากความรับผิด ชอบต่อมิติทางศีลธรรม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
13. ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ต่อรัฐและสังคมที่ตนล่วงละเมิด
14. ความรับผิดชอบ เน้นที่พฤติกรรมที่ได้กระทำในอดีตของผู้กระทำผิด
15. เกิดรอยมลทินที่ไม่อาจลบเลือนไปได้
16. ไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสำนึกผิดและให้อภัยกัน
17. อิสรภาพขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของมืออาชีพ

ข. กระบวนทัศน์ใหม่ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
1. นิยาม "อาชญากรรม" ว่าเป็นการกระทำผิดระหว่างบุคคลต่อบุคคล
2. เน้นที่การแก้ปัญหาและความรับผิดชอบที่ตามมา จากผลแห่งการกระทำ
3. ใช้การพบปะพูดคุยและการเจรจาไกล่เกลี่ย ในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
4. กำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย เพื่อเป็นวิธีเยียวยาสองฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการคืนดี สมานฉันท์กัน
5. "ความยุติธรรม" ถูกกำหนดโดยการมีสัมพันธภาพที่ถูกต้องเหมาะสม ตัดสินด้วยผลลัพธ์ที่ตามมา

6. ธรรมชาติของอาชญากรรมเป็นเรื่องของความขัดแย้งในสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หากทั้งสองฝ่าย ตระหนักถึงความขัดแย้งนั้น รัฐก็ไม่ต้องเกี่ยวข้อง
7. เน้นที่การเยียวยาสมานฉันท์สังคมที่ถูกประทุษร้าย ให้เกิดดุลยภาพอีกครั้ง
8. ชุมชนเป็น "ผู้สนับสนุนที่สำคัญ" ในการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
9. สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือช่วยเหลือ ต่างคนต่างมีซึ่งกันและกัน
10. เหยื่อและผู้กระทำผิดมีบทบาทในการรับผิดชอบต่อปัญหา และร่วมกันหาทางแก้ไข:
โดยเหยื่อตระหนักถึงสิทธิและสามารถแสดงความต้องการของตนออกมา ขณะที่ผู้กระทำผิดได้รับการกระตุ้นให้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

11. การแสดงความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด ถูกกำหนดจากความเข้าใจผลกระทบในทางเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน ยอมรับและมีส่วนช่วยตัดสินใจในการแก้ไขให้เกิดความถูกต้องขึ้น
12. เป็นที่เข้าใจกันว่า "ผู้กระทำผิด" ต้องรับผิดชอบต่อบริบททางศีลธรรม สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองรวมกันด้วย
13. ผู้กระทำผิดย่อมจะสำนึกผิด และมีพันธกรรม ชดใช้ต่อผู้เสียหายด้วย
14. ความรับผิดเน้นที่ความเสียหาย อันเป็นผลซึ่งเกิดตามมาจากการกระทำของผู้กระทำผิด
15. รอยมลทินที่เกิดขึ้น สามารถคลี่คลายลงด้วยการกระทำอันเป็นการสมานฉันท์
16. มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสำนึกผิดและให้อภัยกัน
17. การมีส่วนร่วมโดยตรงของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ค. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับความรุนแรงในครอบครัว
1. นิยาม "อาชญากรรม" ว่าเป็น การกระทำที่คุกคามทั้งต่อปัจเจกบุคคล และสัมพันธภาพระหว่างบุคคลโดยบุคคลอีกคนหนึ่ง
2. เน้นที่อดีตปัจจุบันและอนาคตที่ผู้กระทำ (abuser) ควรแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่กระทำลงไป โดยชุมชมส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนให้เกิดการปรับพฤติกรรม
3. ห่วงใยต่อการปกป้องคุ้มครองเหยื่อเป็นอย่างแรก สนับสนุนให้ผู้กระทำแสดงความรับผิดชอบเป็นประการต่อมา
4. กำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย เพื่อเป็นวิธีเยียวยาสองฝ่ายเข้าด้วยกัน การสมานฉันท์ทั้งด้านสุขภาพกาย-จิตจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ และอาจมีการพัฒนาไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรงระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำในอนาคตตามมา แต่ไม่จำเป็นนัก
5. "ความยุติธรรม" คือ บริบทของการที่บุคคลแสวงหาการฟื้นฟูสัมพันธภาพอย่างถูกต้อง และจัดหาสิ่งจำเป็นตามความต้องการของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งคือการป้องกันผู้กระทำมิให้ทำร้ายผู้อื่นต่อไป

6. ตระหนักว่าอาชญากรรมเป็นผลที่เกิดจากการผสมผสานกันของหลายปัจจัย รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องทางเพศที่หนักอกในสังคม การขัดเกลา ความไม่สามารถจัดการกับอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น และเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคลต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า เป็นผลกระทบมาจากสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เสมอภาคกันระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำ
7. เน้นที่การศึกษาเรียนรู้ การเยียวยาเหยื่อการบำบัดผู้กระทำและการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
8. ชุมชนเป็นผู้เข้ามาแทรกเมื่อเกิดการกระทำรุนแรงในครอบครัว โอบอุ้มคุ้มครองเหยื่อ เป็นกำลังใจในการเยียวยา และมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงคนทั้งคู่
9. ให้กำลังใจด้วยการเสริมพลังให้แก่เหยื่อและผู้กระทำที่จะใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปโดยปลอดจากการใช้ความรุนแรง
10. ตระหนักถึงบทบาทของเหยื่อและบทบาทของผู้กระทำ: โดยเหยื่อได้รับการปกป้องคุ้มครองและโอกาสในการเยียวยา ผู้กระทำได้รับการสนับสนุนให้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำและได้รับการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

11. การแสดงความรับผิดชอบของผู้กระทำพิจารณาจากผลกระทบของพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น ตกลงยินยอมเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบความเชื่อค่านิยม กระสวนพฤติกรรม และแสดงแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรม เหยื่อมีสิทธิมีเสียงในการแสดงความรับผิดชอบของผู้กระทำ ส่วนชุมชนแสดงความรับผิดชอบในการรับฟังความเห็นของผู้กระทำ และดึงเขา/เธอเข้ามารับผิดชอบ
12. ผู้กระทำผิดเข้าใจบริบททั้งหมด-ทั้งประวัติศาสตร์ ศีลธรรม สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
13. ผู้กระทำต้องชดใช้ต่อเหยื่อที่มีความอ่อนแอทางชีวภาพ
14. ความรับผิดชอบ เน้นที่ผลที่เกิดตามมาจากพฤติกรรมของผู้กระทำที่เป็นอันตราย
15. รอยมลทินจากอาชญากรรมถูกลบออกไป อันเนื่องมาจากการปรับพฤติกรรมและการกระทำเชิงสมานฉันท์
16. มีความเป็นไปได้ที่จะรับผิดชอบต่อความรุนแรง และเสียใจในความผิดที่ได้กระทำลงไปแล้ว การยกโทษให้ของเหยื่อไม่ใช่สิ่งที่คาดหวังว่าจะต้องเกิดขึ้น แต่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ในส่วนของเหยื่อเอง
17. การมีส่วนร่วมโดยตรงของเหยื่อและผู้กระทำ ซึ่งทั้งสองต่างร่วมกันใช้พื้นที่พูดคุยกันอย่างสันติ ผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (อาทิเช่น บุคลากรมืออาชีพ หรือ ผู้แทนจากชุมชน) จะต้องตระหนักว่า "ความรุนแรงในครอบครัวมีลักษณะเป็นพลวัต"


เอกสารอ้างอิง
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย รายงานการวิจัยเรื่อง "ปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย" ทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.

พรเพ็ญ เพชรสุขศิริ รายงานการวิจัยเรื่อง "การศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัวและความก้าวร้าวของเยาวชนไทย" กรุงเทพฯ: เอส แอนด์ จี กราฟฟิค, 2539.

Binny,V., Harkell, G., and Nixon, J. "Refuges and Housing for Battered Woman". In J. Pahl, ed., Private Violence and Public Policy. London: Routedge and Kegan Paul, 1985.

Block, Heather and Lichti, Chris. Restorative Justice with Respect to Domestic Violence & Sexual Abuse. Unitarian Universalistic Association, Boston, MA 02108 <uua.org/cde/csm/restorative.html> 2002.

Braithwaite, John. "Restorative Justice" The Handbook of Crime & Punishment. Michael Tonry (editor), Oxford: Oxford University Press, 1998. p.323-344

Home Office. Protecting the Public: The Government's Strategy on Crime in England and Wales. London: HMSO, 1996.

O'Leary, K. Daniel. Current Controversies on Family Violence. Richard J. Gelles and Donileen R. Loseke editors. Newbury Park: SAGE Publications. 1993.

Zedner, Lucia. "Victims." The Oxford Handbook of Criminology. Second edition, pp.578-612, Edited by Mike Maguire, Rod Morgan and Robert Beiner, Oxford: Oxford University Press, 1997.

 

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง"กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การเยียวยาความรุนแรงในครอบครัว" โดย จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความรุนแรงในครอบครัวในมุมมองของนักสังคมวิทยา มองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่มีผลกระทบต่อผู้คนและพฤติกรรมของคนในสังคม สังคมที่นิยมยกย่องพ่อเป็นใหญ่ (patriarchal society) คือสังคมที่กำหนดและควบคุมกฎเกณฑ์โดยชาย เช่น สังคมชาวอาเซีย นั้น จะสร้างสมาชิก "ผู้ชาย" ที่แสดงบทบาททางเพศเชิงอำนาจนิยม ขณะที่สร้าง "ผู้หญิง" ให้เป็นฝ่ายเก็บกดและยอมตาม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากสามีทำร้ายภรรยานั้นมีลักษณะเป็น "ความรุนแรงสองชั้น" กล่าวคือในครอบครัวที่มีบุตรและบุตรทราบถึง หรือเห็นพฤติกรรมความรุนแรงที่บิดามารดากระทำโต้ตอบกันในลักษณะตบตี ทำร้ายร่างกาย ขว้างปาสิ่งของ หรือตะโกนใส่กันนั้น บุตรจะตกเป็น "เหยื่อโดยอ้อม" ในเหตุการณ์เหล่านี้ โดยเรียนรู้บทบาททางเพศควบคู่กับความรุนแรง ยอมรับความก้าวร้าวรุนแรงว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขายอมรับได้ ข้อมูลดังกล่าวมีงานวิจัยสนับสนุนอย่างชัดเจน คือ งานวิจัยของพรเพ็ญ เพชรสุขศิริ ...พบว่าเยาวชนกลุ่มตัวอย่างมีการยอมรับความรุนแรงในครอบครัวของเยาวชนสูงถึงร้อยละ 92.6 โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่สามีสั่งสอนภรรยาได้

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ