ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
120248
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 523 หัวเรื่อง
สุนทรียศาสตร์แบบยูโรเซนทริค
สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปรัชญาศิลปะตะวันตก
ทฤษฎีความงาม-สุนทรียศาสตร์แบบยูโรเซนทริค (ตอนที่ ๒)
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: บทความวิชาการชิ้นนี้ เป็นเรื่องราวของทฤษฎีความงาม
ซึ่งจะให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านโดยกล่าวถึงเรื่องของความงาม นับตั้งแต่ยุคกรีกเป็นต้นมา จนถึงคริสตศตวรรษที่ 18 [เท่านั้น]
(เมื่อมาถึงคริสตศตวรรษที่ 18 ทฤษฎีความงาม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น"สุนทรียศาสตร์" ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำเดิม)

ผลงานชิ้นนี้ เป็นการตัดตอนมาจากงานวิชาการฉบับเต็มของผู้เรียบเรียง
อันเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารคำสอน กระบวนวิชา"ปรัชญาศิลปะตะวันตก"
สำหรับนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้สนใจในงานศิลปะกระแสหลักในทาง วรรณคดี ดนตรี ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมทางสายตาอื่นๆ
สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในเชิงทฤษฎีศิลปะ ปรัชญาศิลปะ และการวิจารณ์ศิลปะ ฯลฯ

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 29 หน้ากระดาษ A4)

 

 

(ต่อจากบทความลำดับที่ 522)

๔. คริสตศตวรรษที่ 18 : รสนิยม และความเสื่อมถอยเกี่ยวกับเรื่องความงาม
The Eighteen Century : Tatste and the Decline of Beauty

บรรยากาศโดยรวม
คริสตศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงยุคแห่งการวิจารณ์ในประวัติสุนทรียศาสตร์ ในช่วงเวลานี้บรรดานักคิดชาวบริติชเป็นจำนวนมาก ได้ผลิตผลงานซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องปรัชญารสนิยมกันอย่างคร่ำเคร่ง และได้เตรียมพื้นฐานสำหรับสุนทรียศาสตร์ในแบบสมัยใหม่ขึ้นมา

ประมาณกลางๆศตวรรษนี้ นักปรัชญาชาวเยอรมันรุ่นเยาว์คนหนึ่ง นามว่า Alexander Baumgarten (1714 -1762) ได้ประดิษฐ์คำว่า"Aesthetics"(สุนทรียศาสตร์)ขึ้นมา ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นชื่อของสาขาวิชานี้ต่อมา แต่อย่างไรก็ตาม ทัศนะของ Baumgarten มีอิทธิพลน้อยมาก ต่อพัฒนาการเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ที่สืบทอดกันมาภายหลัง

ขนบประเพณีทางด้านปรัชญา เกี่ยวกับการอธิบายเรื่องปรากฎการณ์ของพฤติกรรมและเรื่องจิต โดยให้เหตุผลปรากฎการณ์ต่างๆแต่ละชนิด ซึ่งเป็นเรื่องของความสามารถหรือสมรรถภาพเกี่ยวกับการจำแนกความแตกต่างดังกล่าว นับว่ามีอิทธิพลอย่างมากทั้งต่อนักเหตุผลนิยม(rationalists)ทั้งหลาย อย่างเช่น Baumgarten และต่อนักปรัชญาประสบการณ์เชิงประจักษ์ชาวบริติชทั่วไป

ลัทธิเกี่ยวกับสมรรถภาพทางจิต ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีรายละเอียดต่างๆมากมาย ในระหว่างช่วงกลางของยุคนี้สำหรับความเชื่อของลัทธิคำสอนดังกล่าว คือ

- จิต มีความสามารถในการเจริญเติบโต(vegetative faculty) ซึ่งอธิบายว่า มันมีการกำเนิด และการทำนุบำรุง
- จิต มีความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยอำนาจของตัวมันเอง(locomotive faculty) ซึ่งอธิบายว่าเป็นความเคลื่อนไหว
- จิต มีความสามารถในเชิงเหตุผล(rational faculty) ซึ่งอธิบายว่าเป็นพฤติกรรมของจิต
- จิต มีความสามารถทางด้านความรู้สึกสัมผัส(sensory faculty) ซึ่งอธิบายว่าเป็นการรับรู้ จินตนาการ และความชอบ

Baumgarten พยายามที่จะสร้างสุนทรียศาสตร์ขึ้นมา ในแบบแผนหรือความเชื่อข้างต้น โดยคิดเห็นเกี่ยวกับมันเหมือนดังกับว่ามันเป็นเรื่องราว "วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับขบวนการรับรู้ทางด้านความรู้สึกสัมผัส(the science of sensory cognition)" เขาคิดว่าศิลปะนั้น เป็นตัวกลางของขบวนการรับรู้ในระดับต่ำ นั่นคือ เป็นความรู้สึกที่บรรลุถึงได้ โดยสรุป Baumgarten คิดว่า ศิลปะนั้นตกอยู่ภายใต้"อาณาจักรของสมรรถนะในด้านความรู้สึก" และ"อาณาจักรของสมรรถนะทางด้านปัญญา"

ในทางตรงข้าม แนวโน้มสำคัญของปรัชญาเมธีชาวบริติชได้พยายามวิเคราะห์ประสบการณ์ทางความงาม ภายใต้เงื่อนไขสมรรถนะทางด้านความรู้สึก. สำหรับนักปรัชญาเหล่านี้ การรับรู้เกี่ยวกับความงามนั้น ไม่ใช่สาระของความรู้สึกภายนอก เช่นเดียวกับ การเห็น หรือ การได้ยิน

ในเชิงเปรียบเทียบข้อที่คล้ายคลึงกันกับทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้สึกภายใน (ความทรงจำ จินตนาการ และอื่นๆ) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบรรดาพวกนักปรัชญากลางๆ ปรัชญาเมธีชาวบริติชเป็นจำนวนมาก คิดว่าพวกเขาได้ค้นพบความรู้สึกภายในอันหนึ่ง นั่นคือความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม

ก่อนคริสตศตวรรษที่ 18 ได้มีการสันนิษฐานโดยบรรดานักปรัชญาว่า "ความงาม"ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางภววิสัยของสิ่งต่างๆนั้น คือคุณสมบัติที่อยู่เหนือโลกขึ้นไป(transcendental) หรือเป็นคุณสมบัติของประสบการณ์เชิงประจักษ์ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นทฤษฎีใด. บรรดาปรัชญาเมธิในยุคต้นๆเหล่านี้สรุปว่า การตัดสินในเชิงภววิสัยเกี่ยวกับความงาม สามารถที่จะกระทำได้ เท่าๆกับที่เราสามารถที่จะทำการตัดสินในเชิงภววิสัยเกี่ยวกับสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นสีแดง

แต่ทว่าการวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องความงาม ได้ถูกทำให้มีขึ้นมาโดยบรรดานักปรัชญาเกี่ยวกับรสนิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 ซึ่งได้เคลื่อนย้ายจุดศูนย์รวมความสนใจของทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ไป พวกเขาต้องการให้มีหลักการพื้นฐานอันหนึ่ง เพื่อที่จะตัดสินความงามในเชิงภววิสัย แต่พวกเขาพยายามที่จะทำเช่นนั้น โดยการเพ่งความเอาใจใส่ไปบนความสามารถของการวินิจฉัย หรือความสามารถต่างๆ ซึ่งมนุษย์มีปฏิกริยาต่อลักษณะเฉพาะบางอย่างเกี่ยวกับโลกของวัตถุ

เครื่องไม้เครื่องมือเกี่ยวกับรสนิยม ได้รับการคิดขึ้นมาจากความสามารถหรือสมรรถนะบางอย่าง ที่มีลักษณะเป็นความสามารถพิเศษโดดๆ (ความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม) ซึ่งสมรรถนะอันนี้ บางอย่างประกอบขึ้นมาจากความสามารถพิเศษที่หลากหลาย (ความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม ความรู้สึกเกี่ยวกับความสูงส่ง และอื่นๆ) อีกทั้งยังประกอบด้วยบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความสามารถเกี่ยวกับการรับรู้และอารมณ์ความรู้สึกง่ายๆธรรมดาๆ

กล่าวโดยสรุป บรรดานักปรัชญาทั้งหลายต่างให้ความสนใจในธรรมชาติของมนุษย์ และความสัมพันธ์ของธรรมชาตินี้กับโลกภววิสัย ความเคลื่อนไหวในด้านสุนทรียศาสตร์ดังกล่าว มิได้เป็นปรากฎการณ์ที่แยกตัวออกมาอย่างโดดเดี่ยว แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางทางด้านปรัชญา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาโดยความสนใจของนักปรัชญาคริสตศตวรรษที่ 17 ที่มีต่อธรรมชาติและข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์

มันได้ถูกคาดหวังเอาไว้ว่า สมรรถนะหรือความสามารถของรสนิยม จะเป็นพื้นฐานอันหนึ่งสำหรับการตัดสินในเชิงภววิสัย แต่ภายใต้อุ้งมือของบรรดานักปรัชญา มันได้กลายเป็นเรื่องในเชิงอัตวิสัย นั่นคือ พวกเขาได้หันไปให้ความสนใจลงไปที่ผู้คน(ภาวะความเป็นมนุษย์) และได้ทำการวิเคราะห์สภาวจิตของผู้คน และความสามารถต่างๆทางจิตของมนุษย์ด้วย

ความสำคัญของการพัฒนาในคริสตศตวรรษที่ 18 อีกอย่างหนึ่งคือ
การนำเสนอทฤษฎีทางสุนทรีย์ที่เกี่ยวกับความคิดเห็นอย่างอื่นๆที่ยิ่งไปกว่าเรื่องของความงาม - ยกตัวอย่างเช่น ความคิดเกี่ยวกับเรื่องความสูงส่ง[การทดเทิด](the notion of sublime) และเรื่องของความงดงามมีเสน่ห์ดุจดังภาพเขียน(the picturesque) พัฒนาการอันนี้ได้สร้างความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาและค่อนข้างทำให้ทฤษฎีดังกล่าวมีความเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น แต่มันก็ทำให้ทฤษฎีมีความยุ่งยากซับซ้อน และเป็นเอกภาพน้อยลงไปด้วย

ทฤษฎีความงามแบบประเพณีนิยมมีความเป็นเอกภาพสูงมาก เพราะมันไม่มีเหตุผลอื่นใดยิ่งไปกว่าเรื่องๆเดียว กล่าวคือ เรื่องของความงาม นั่นเอง. ความไม่มีเอกภาพเริ่มเกิดขึ้นมาในราวคริสตศตวรรษที่ 18 โดยชิ้นส่วนเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเรื่องความงามที่ได้เริ่มถูกดึงเข้ามา อันนี้ได้รับการแยกแยะนับเวลาเป็นแรมปี โดยพัฒนาการทางแนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นหรือเพื่อสิ่งที่เลวลงไม่ทราบแน่

การสถาปนาทฤษฎีทางด้านสุนทรียศาสตร์ให้เป็นทฤษฎีที่รวมเอาปัญหาต่างๆเกี่ยวกับทฤษฎีความงาม และปรัชญารสนิยมให้รวมเป็นหน่วยเดียวกัน ยังคงไม่สมบูรณ์ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 แต่อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของปรัชญาเมธีชาวเยอรมัน, Kant ซึ่งได้พิมพ์งานขึ้นในช่วงเกือบจะปลายๆคริสตศตวรรษที่ 18 ได้รวมเอาความเข้าใจของบรรดานักสุนทรียศาสตร์ชาวบริติชเข้าด้วยกัน และก้าวเข้าไปใกล้ที่จะเป็นทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ที่มีความเป็นเอกภาพมากขึ้นทุกที

นอกเหนือจากปรากฎการณ์เกี่ยวกับแนวความคิดต่างๆ ที่ชิงชัยหรือต่อสู้กันนี้แล้ว เหตุผลอีกประการหนึ่งสำหรับการล่มสลายของทฤษฎีความงามก็คือ คำจำกัดความที่เกี่ยวกับ "ความพึงพอใจ"ของความงาม (ในกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องของสัดส่วน เอกภาพในความหลากหลาย ความเหมาะสม หรืออะไรต่างๆทำนองนี้) ซึ่งไม่สามารถจะกำหนดออกมาได้

ทัศนะอีกอันหนึ่งที่ว่า ความงามเป็นสิ่งซึ่งค่อนข้างไม่แน่นอน และเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลก คือสิ่งที่ไม่อาจยอมรับกันได้ในหมู่นักปรัชญาชาวบริติช ซึ่งบรรดานักปรัชญาเหล่านี้ต่างก็ผูกพันอยู่กับเรื่องราวของโลกแห่งประสบการณ์ทั้งสิ้น ความเสื่อมถอยของทฤษฎีความงาม ยังเกี่ยวข้องกับเหตุผลอีกประการหนึ่งด้วย นั่นคือ ความเลื่อนลอยไปจากทฤษฎีต่างๆ ซึ่งเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับกลไกของรสนิยม ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกโดดๆ หรือเป็นชุดของความรู้สึกที่พิเศษ ซึ่งสัมพันธ์กับประเภทของวัตถุชนิดนั้นๆโดยเฉพาะ

จากช่วงประมาณกลางคริสตศตวรรษที่ 18 ทฤษฎีต่างๆได้เริ่มปรากฎว่า การรับรู้อย่างปกติธรรมดา และสมรรถนะในด้านอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้เพิ่มความสัมพันธ์เข้าไปเกี่ยวโยงกับเรื่องของกลไกรสนิยม ทฤษฎีที่สัมพันธ์กันต่างๆเหล่านี้เสนอว่า เกือบทุกสิ่ง มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสิ่งสวยงามได้ หากว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์จึงได้ตระเตรียมเครื่องมือหรือวิธีการอันหนึ่งขึ้นมา สำหรับการขยายตัวของลำดับการเกี่ยวกับสิ่งต่างออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งสามารถที่จะตัดสินความงามได้ และสามารถที่จะให้นิยามความหมายแบบประเพณีนิยม (ยกตัวอย่างเช่น โดยการค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่มีร่วมกันของสรรพสิ่ง แล้วแสดงออกมาโดยคำนิยาม)

แต่ทว่า มันเป็นไปไม่ได้ในกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องของความงาม ในทฤษฎีต่างๆเหล่านี้ ความงามเป็นสิ่งซึ่งพร่าเลือนเกินกว่าแนวความคิด ซึ่งแนวความคิดไม่อาจที่จะช่วยแบ่งแยก หรือจำแนกสิ่งๆหนึ่งออกมาจากอีกสิ่งหนึ่งได้ สถานการณ์เช่นนี้ก็คล้ายคลึงกับทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวกับทัศนคติทางสุนทรีย์ในทุกวันนี้ ซึ่งได้ธำรงรักษาสิ่งต่างๆที่สามารถเป็นเรื่องของสุนทรียะเอาไว้

Shaftesbury
เป็นเรื่องเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะเริ่มต้นพูดคุยกันถึงบรรดานักปรัชญาในคริสตศตวรรษที่ 18 โดยลากเส้นรอบนอกหลักๆทางความคิดของ ท่านเอิร์ลที่สามแห่ง Shaftesbury (1671-1713) แม้ว่าจะเป็นช่วงของหัวเลี้ยวหัวต่อก็ตาม แต่ทัศนะของเขาก็ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง

ทัศนะต่างๆของ Shaftesbury นั้น ค่อนข้างที่จะพร่าเลือน กระจัดกระจาย และออกจะไม่เป็นระบบเท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะเขาได้รับเอาทฤษฎีความงามของเพลโตมาใช้ และยังได้รับเอาข้อมูลหลักๆเกี่ยวกับทฤษฎีความสามารถของรสนิยม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในเวลานั้นมาผสมผสานด้วย ทฤษฎีทั้งสองนี้ค่อนข้างจะขัดกันในเชิงตรรก และไม่ค่อยจะสอดคล้องกันแต่ประการใด

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปรัชญาเมธีเป็นจำนวนมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 จะรับเอาเรื่องราวบางอย่างของทฤษฎีความสามารถทางรสนิยมมาก็ตาม แต่ก็มีบางส่วน(ซึ่งเพียงเล็กๆน้อยๆ)ที่ได้โน้มน้าวให้บรรดานักคิดทั้งหลาย ให้ยอมรับความคิดแบบเหนือโลกของเพลโต(Platonic transcendentalism)

Shaftesbury คิดว่า มันเป็นความสามารถโดดๆของรสนิยม ซึ่งสามารถทำหน้าที่เสมือนศีลธรรมที่ทำหน้าที่ตัดสินเกี่ยวกับพฤติกรรม ซึ่งในที่นี้เสมือนเป็นความรู้สึกในเรื่องของความงาม… ในการตัดสินเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ครอบครองคุณลักษณะหรือคุณภาพดังกล่าว นั่นคือ เรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินความงามนั้น เป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลกขึ้นไป

Shaftesbury เป็นหนึ่งในนักคิดคนแรกๆแห่งคริสตศตวรรษที่ 18 ที่ให้ความเอาใจใส่ในเรื่องของ"ความสูงส่ง"(the sublime - การทดเทิด) และอันนี้เป็นผลงานตีพิมพ์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างที่สองของเขาต่อทฤษฎีทางด้านสุนทรียศาสตร์

ความสนใจของเขาเกี่ยวกับเรื่องของ"ความสูงส่ง" น่าจะสืบเนื่องมาจากแนวความคิดของเขาเกี่ยวกับโลกที่ว่า โลกของเรานี้เป็นการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า; ความกว้างใหญ่ไพศาลและการที่ไม่อาจเข้าใจได้ของการสร้างสรรค์อันนี้ สามารถที่จะได้รับการอธิบายได้แต่เพียงเป็นเรื่องของ"ความสูงส่ง"เท่านั้น

Shaftesbury ได้จำแนกลำดับชั้นทางสุนทรีย์ขึ้นมาใหม่อันหนึ่ง เขาพยายามที่จะธำรงรักษาความเป็นเอกภาพของทฤษฎีเอาไว้ด้วย ซึ่งบางทีอาจดูไร้สติไปบ้าง โดยการจัดแบ่งประเภทของ"ความสูงส่ง"ออกเป็นหมวดหมู่ เสมือนกับเป็นชนิดหนึ่งของ"ความงาม"ฉนั้น

ทั้งคู่ คือ "ทฤษฎีเกี่ยวกับรสนิยม" และ "ความสูงส่ง" สำหรับเรื่องแรก(ทฤษฎีรสนิยม)มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 และเรื่องหลัง(ความสูงส่ง)ก็เริ่มจะเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา ทั้งนี้เป็นผลอันเนื่องมาจาก การก่อรูปก่อร่างของแนวความคิดเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น Shaftesbury ยังได้สร้างงานเขียนที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ผลงานดังกล่าวเขาได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับ "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" (the notion of disinterestedness) ซึ่งได้กลายมาเป็นแกนกลางของแนวความคิดเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์

Shaftesbury ยืนยันถึงความสำคัญในเรื่อง "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" (การวางตัวเป็นกลาง) นั่นคือ เพื่อว่าการกระทำจะได้มีความถูกต้องทางศีลธรรมอย่างเหมาะสม การกระทำของบุคคลจะต้องไม่ถูกกระตุ้นโดยแรงจูงใจอันเห็นแก่ตัว Shaftesbury ได้แนะถึง "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" เข้ามาในทฤษฎีความงามในวิธีการที่เกือบจะเป็นเรื่องของความบังเอิญ

ตัวอย่างที่มักจะนำมาอ้างในการสาธิตของ Shaftesbury เกี่ยวกับความจำเป็นของ "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" สำหรับความซาบซึ้งทางสุนทรีย์เกิดขึ้นกับบทความตอนหนึ่ง ตรงที่เขาได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันอย่างสำคัญ ต่อการพยายามปกป้องข้อสรุปของเพลโตที่ว่า "ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามในธรรมชาติที่มีความงามหรือมีเสน่ห์นั้น มันเป็นเพียงเงาสลัวลางของความงามแรกสุดเท่านั้น" (หมายถึงความงามของธรรมชาติซึ่งเลียนแบบมากจากความงามที่แท้ใน"โลกของแบบ" (that first beauty is the Platonic Form of Beauty)

Shaftesbury พยายามปกป้องผลงานของเพลโต โดยการสร้างข้อเปรียบเทียบอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่ง "การพิจารณาใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งสวยงาม" ในโลกของผัสสะ ขัดแย้งกับความปรารถนาที่จะครอบครองมันเอาไว้ ข้อเปรียบเทียบอันนี้ได้รับการสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นไปถึงความสัมพันธ์กันระหว่าง "สิ่งสวยงาม"(ซึ่งเป็นเพียงเงาอันสลัวลาง) กับ "แบบของความงาม" และได้แสดงให้เห็นถึงความเลิศล้ำเกี่ยวกับ"แบบของความงาม"

ได้มีการถกเถียงกันถึงข้อสังเกตอันนี้ของ Shaftesbury ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการโต้เถียงกันเลยทีเดียว แต่มันก็เป็นตัวอย่างของการเปรียบเทียบ ซึ่งมีความสำคัญต่อทฤษฎีทางด้านสุนทรียศาสตร์

Shaftesbury ได้ให้ตัวอย่าง 4 ข้อ ที่แยกจากกันในเชิงปฏิบัติทั้งหมด ใน"การพิจารณาใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งสวยงาม ซึ่งขัดแย้งกันกับความปรารถนาที่จะครอบครองมัน"
ตัวอย่างซึ่งมักนำขึ้นมาอ้างก็คือ เรื่องของ "การจินตนาการถึงคนๆหนึ่ง ถ้าต้องการที่จะครอบครองความงามแห่งท้องทะเลอันไพศาล…อันนี้จะเท่ากับว่า คนๆนั้นต้องการที่จะออกคำสั่งกับทะเล และก็เช่นเดียวกันกับนายพลเรือที่มีอำนาจบังคับการเรือในท้องทะเล มันจะไม่เป็นความเพ้อฝันหรือเหลวไหลไปหน่อยหรือ ?"

อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวอย่างทั้ง 4 ข้อ ข้อซึ่งยกมาอ้างในเครื่องหมายคำพูดข้างต้น ดูเหมือนว่าจะอ่อนแอมากที่สุด เพราะว่าความคิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ดูออกจะประหลาดชอบกลและคลุมเครือ ในทางตรงข้าม อีก 3 ตัวอย่างที่เกี่ยวพันกันอย่างสนิทแนบแน่นซึ่งค่อนข้างจะมีความชัดเจนกว่าก็คือ

ข้อแรก เป็นการพิจารณาใคร่ครวญถึงที่ดินผืนหนึ่ง มันตรงข้ามกับความปรารถนาที่จะครอบครองที่ดินผืนนั้น
ข้อที่สอง เป็นการพิจารณาใคร่ครวญถึงเรื่องของมวลหมู่พฤกษา ซึ่งตรงข้ามกับความปรารถนาที่จะได้ลิ้มรสผลไม้ของมวลหมู่พฤกษชาตินั้น
ข้อที่สาม เป็นการพิจารณาใคร่ครวญถึงเรื่องเกี่ยวกับความงามของเรือนร่างมนุษย์ ซึ่งตรงข้ามกับความปรารถนาที่จะครอบครองทางเพศ

อันที่จริง ตัวอย่างในข้อสุดท้ายค่อนข้างที่จะชัดมาก ซึ่งอันนี้ได้บรรลุถึงส่วนประกอบที่สำคัญ ที่ซึ่งต่อมาภายหลังได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในทฤษฎีทางด้านสุนทรียศาสตร์

นับแต่ยุคสมัยของ Shaftesbury เป็นต้นมา ทฤษฎีทางสุนทรีย์ได้มีเรื่องสำคัญหลักๆเกี่ยวกับเรื่องของ"ความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว" หรือ"ความปรารถนาที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ไ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่จะครอบครองเป็นกระบวนทัศน์หลัก สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้มีส่วนไปทำลายความซาบซึ้งทางสุนทรีย์หรือความงาม นักทฤษฎีบางคนได้สรุปเอาไว้ว่า ความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวหรือความปรารถนาในความเป็นจริงทั้งหมด ไม่อาจเข้ากันได้กับความซาบซึ้งทางสุนทรีย์ใดๆเลย

การพิจารณาใคร่ครวญเกี่ยวกับคุณภาพของวัตถุชิ้นหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของวัตถุนั้นๆ ซึ่งอันนี้คงเป็นที่ยอมรับกัน แต่ข้อเสนอของ Shaftesbury และข้อสรุปต่างๆที่เป็นการยืนยันของบรรดาสานุศิษย์ของเขาบางคน ต่างก็ทำกันอย่างลวกๆ มันเป็นความจริงที่ว่า ความปรารถนาที่จะครอบครองเป็นเจ้าของ อาจจะเป็นการฟั่นเฟือน บ้าๆบอๆ หรือการบีบบังคับ ซึ่งมันเข้ากันไม่ได้กับความซาบซึ้งในเรื่องของความงาม

อย่างไรก็ตาม จะเป็นการพลาดไปหากว่าจะพูดคลุมๆ โดยมาจากกรณีสุดขั้วอันใดอันหนึ่ง จากความจริงอันชัดเจนที่ว่า ความปรารถนาที่ไม่อาจควบคุมได้ เป็นเรื่องซึ่งเข้ากันไม่ได้เลยกับความซาบซึ้งในเรื่องความงาม อันนี้มิได้หมายความว่า ความปรารถนาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่สมควร หรือไม่เหมาะสมกับความซาบซึ้ง

ความล้มเหลวของ Shaftesbury ในเรื่องความซาบซึ้ง ซึ่งมีความสำคัญต่อระดับของความปรารถนา น่าจะได้รับการหยั่งรากลงในแนวความคิดที่สำคัญ 2 ประการที่สัมพันธ์กันคือ :

1. พวกเพียวริแทนนิสม(puritanism) ซึ่งได้กระทำกับเรื่องราวเกี่ยวกับความปรารถนาทั้งหมด ในลักษณะอย่างเดียวกันนี้ และ
2. พวกเพลโตนิสม(platonism) ซึ่งมองเรื่องของผัสสะและความปรารถนาอย่างสงสัยและมีความคลางแคลงใจตลอดเวลา

เป็นเรื่องจริงที่ว่า นับเวลาเป็นพันๆปี มนุษย์รู้จักซาบซึ้งในเรื่องความงามเกี่ยวกับศิลปะ ซึ่งมักแสดงออกมาในสัดส่วนที่เหมาะสมของสถาปัตยกรรมหรือที่พักอาศัย และมันก็ได้ชักชวนหรือทำให้เกิดความปรารถนา. การปรับปรัชญาของ Shaftesbury ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ ไม่น่าประหลาดใจอันใดกับการที่ เขาล้มเหลวในการที่จะสร้างความแตกต่างอันเด่นชัดขึ้นมาในเรื่องของความซาบซึ้ง แต่โชคไม่ดีที่ว่าขนบประเพณีในสุนทรียศาสตร์ทั้งหมด ต่างก็ดำเนินรอยตามเขาในประเด็นดังกล่าว

สำหรับความคิดที่กล่าวมาข้างต้น ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากต่อบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย จนกระทั่งเป็นทัศนคติทางสุนทรีย์ของบรรดานักทฤษฎีต่างๆ แม้ว่า มันจะไม่ถึงกับทำให้นักปรัชญาทุกคนดำเนินรอยตามเส้นทางแห่ง "การไม่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ที่สุดขั้ว" ก็ตาม

น่าจะต้องหมายเหตุต่อไปด้วยว่า ทฤษฎีของ Shaftesbury ซึ่งเกี่ยวกับความซาบซึ้งโดยไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องผลประโยชน์ของความงาม ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในเทอมต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องของแรงกระตุ้น: ซึ่งแรงกระตุ้นและกิจกรรมที่เกี่ยวกับความเห็นแก่ตัว หรือความสนใจในเรื่องของผลประโยชน์นี้ ได้รับการคิดว่า มันได้ตัดทอนเอาส่วนของความซาบซึ้งให้หลุดหายไป

แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักสุนทรียศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ ได้ขยายขอบเขตของ"การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์"ออกไป และยังได้พัฒนาทัศนะดังกล่าวให้เป็นเรื่องพิเศษอันหนึ่งของ"การรับรู้"ขึ้นมา และให้เป็นเรื่องของ"การรับรู้โดยไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับเรื่องของผลประโยชน์" (disinterested perception) - ซึ่งอันนี้ได้กลายมาเป็นการก่อตัวของประสบการณ์ทางสุนทรีย์

Hutcheson
บางที Francis Hutcheson (1694-1746) จะเป็นตัวแทนเพียงคนเดียวที่ดีที่สุด ในบรรดานักสุนทรียศาสตร์ในคริสตศตวรรษที่ 18 ก็ว่าได้ ส่วนตัวเขานั้น ภาวะการณ์ที่เป็นช่วงของหัวเลี้ยวหัวต่อที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ทฤษฎีซึ่งเป็นแบบฉบับเฉพาะในกลุ่มนี้ ดูออกจะค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียว

ไม่มีร่องรอยเกี่ยวกับความคิดเหนือโลกของเพลโต(platonic transcendentalism)หลงเหลืออยู่เลยในทฤษฎีของเขา เนื่องจากเขาได้เพ่งความสนใจลงไปที่เรื่องของ"ปรากฎการณ์เกี่ยวกับผัสสะ" และ "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" ซึ่งได้รับการบรรจงสร้างขึ้นมาอย่างงดงามในแนวความคิดของเขาเกี่ยวกับเรื่องของผัสสะ

ในทัศนะของ Hutcheson ไม่เพียงแต่คำว่า"ความงาม"ที่ไม่ระบุว่าเป็นวัตถุที่อยู่เหนือโลก มันยังไม่ระบุชื่อวัตถุใดๆที่มองเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสด้วย. "ความงาม"ระบุว่าเป็น"ความคิดที่ผุดขึ้นมาในตัวเรา" นั่นคือ มันแสดงถึงวัตถุอันหนึ่งในความสำนึกของเราที่เป็นส่วนตัว ซึ่งได้ถูกปลุกขึ้นมาโดยการรับรู้เกี่ยวกับชนิดของวัตถุภายนอกบางอย่าง. ความงามจึงเป็นเรื่องของอัตวิสัยอย่างสมบูรณ์

อีกครั้งที่ประสบการณ์เกี่ยวกับความงามได้รับการระลึกนึกถึง การสืบสาวราวเรื่องสามารถกระทำได้ สำหรับการที่มันเป็นรูปลักษณ์ของวัตถุต่างๆที่เกี่ยวกับการรับรู้ ซึ่งโดยปกติ มักจะกระตุ้นประสบการณ์เกี่ยวกับความงามขึ้นมา

คำตอบของ Hutcheson คือ "การที่มีลักษณะเหมือนกันหรือเป็นแบบเดียวกันในความหลากหลาย" บางครั้ง เขาจะอ้างอิงถึง"ลักษณะที่เหมือนกันในความหลากหลาย" ว่าเป็นความงาม สิ่งที่ Hutcheson หมายถึง "ความคิดเกี่ยวกับความงาม" อาจจะเป็นการดีที่สุดเมื่อได้รับการนำไปแปลหรือถอดความในวิชาคำศัพท์ทุกวันนี้ เป็น "ความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม" หรือ"ความรู้สึกในความงาม"

เมื่อ Hutcheson พูดถึงเรื่องของผัสสะเกี่ยวกับความงาม เขาหมายถึงพลังหรือความสามารถบางอย่างที่ไปปลุกเร้าในจิต ในความคิด หรือความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม. สำหรับ Shaftesbury ถือว่า มันมีความรู้สึกสัมผัสภายในซึ่งทำหน้าที่หลายอย่าง, ส่วน Hutcheson ถือว่า มันมีผัสสะอยู่เป็นจำนวนมาก ที่มีความผิดแผกแตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละผัสสะก็จะมีหน้าที่ของมันโดดๆโดยเฉพาะ

เช่น ผัสสะในเรื่องทางศีลธรรม ผัสสะในด้านความงาม ผัสสะในด้านความสูงศักดิ์ และอื่นๆ แต่สิ่งที่ Hutcheson มักจะอธิบายส่วนใหญ่นั้น เขาจะกระทำเพียงแต่ผัสสะทางด้านศีลธรรม และผัสสะทางด้านความงาม. ส่วนในเรื่องของผัสสะอื่นๆนั้น ได้มีการเอ่ยถึงเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

ผัสสะหรือความรู้สึกเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องภายใน หรือ internal sense ซึ่งหมายความว่า ความรู้สึกสัมผัสต่างๆพวกนี้อยู่ภายในจิตใจ อันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันกับความรู้สึกสัมผัสภายนอก หรือ external sense อย่างเช่น การเห็น และการได้ยิน. ความรู้สึกหรือผัสสะภายใน มีลักษณะที่ตอบโต้กับธรรมชาติมากกว่าการรับรู้ ; นั่นคือ ความรู้สึกสัมผัสภายใน ไม่ใช่เป็นวิธีการของการรับรู้โลกเหมือนดังเช่นการเห็น หรือการได้ยิน

ตามอย่าง Shaftesbury, Hutcheson พยายามที่จะหักล้างทฤษฎีทางจิตวิทยาของ Thomas Hobbes ที่ว่า พฤติกรรมทุกๆอย่างเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว. ข้อถกเถียงอันชาญฉลาดและแหลมคมของเขา ค้านกับทฤษฎี"ความรักตัวเอง"(self-love theory) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่ามันสัมพันธ์กับปรัชญาทางด้านศีลธรรม ทัศนะที่ต่อต้านพวก Hobbesian ได้ถูกเรียงร้อยสอดประสานเข้าไปในแนวความคิดของเขาเกี่ยวกับความรู้สึกสัมผัสในเรื่องความงาม

เหตุผลอันหนึ่งที่เรียกกันว่า"ความสามารถทางด้านความงาม"(faculty of beauty)อันเป็นผัสสะชนิดหนึ่ง ตามความคิดของ Hutcheson ก็คือ "ความรู้สึกรู้ทราบในเรื่องของความงาม"อย่างฉับพลันทันที เป็นเรื่องที่ไม่ผ่านสื่อกลางทางด้านความคิดแต่อย่างใด. ประสบการณ์ทางด้านความงามก็เหมือนกัน มันเป็นเช่นเดียวกันกับการสัมผัสรสเกลือหรือน้ำตาล นั่นคือ พอสัมผัสเข้าก็รู้รสขึ้นมาทันที

Hutcheson คิดว่า ถ้ามีประสบการณ์ทางด้านความงามหรือยอมรับบางสิ่งว่างดงามแล้ว
อันนี้มันเป็นเรื่องที่อิสระไปจากความคิดและการคำนวน ด้วยเหตุนี้ ความซาบซึ้งในสิ่งสุนทรีย์และการยอมรับในสิ่งเหล่านี้ จึงไม่อาจที่จะเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวไปได้

ถ้าหากว่า มีใครสักคนเปิดตาของตัวเองและมองไปยังดินสอสีแดงแท่งหนึ่ง ความรู้สึกรู้ทราบในความเป็นสีแดงของเขาคนนั้น ไม่ได้มีอิทธิพลมาจากความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวแต่ประการใด และแม้ว่า ถ้ามันจะมีความสนใจในทำนองที่เห็นแก่ตัวในขณะที่เห็นสีเขียวในชั่วขณะดังกล่าว มันก็ไม่อาจเป็นไปได้ กล่าวคือ ไม่มีใครที่จะกระทำเช่นว่านั้นได้

ทฤษฎีของ Hutcheson ได้รับการคิดขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างประสบการณ์ทางด้านความงาม และการตัดสินเกี่ยวกับภววิสัยของความงาม โดยผูกพันสิ่งเหล่านี้กับรากฐานและความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด(inborn faculty)ในองค์ประกอบของมนุษย์ และทำให้มันถูกเมินเฉยหรือไม่ให้ความสนใจ โดยการเก็บรักษาความสามารถเหล่านี้เอาไว้เป็นความรู้สึกสัมผัสต่างๆ และด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ถูกรบกวนจากอิทธิพลภายนอกใดๆ

ดังที่ Hutcheson ได้วางเอาไว้ ความรู้สึกสัมผัสเกี่ยวกับเรื่องของความงามเป็นผู้ถูกกระทำ(passive) นั่นคือ มันจะมีปฏิกริยาโต้ตอบไปอย่างง่ายๆ และความรู้สึกทางความงามก็ไม่ได้สืบเนื่องมาจาก"ความรู้ใดๆเกี่ยวกับหลักการ สัดส่วนต่างๆ มูลเหตุใดๆ หรือความมีประโยชน์ของวัตถุ

Edmund Burke
เอ็ดมันด์ เบิร์ค(Edmund Burke 1728-1797) ได้พิมพ์หนังสือของเขาเกี่ยวกับเรื่อง"ความงามและความสูงส่ง"(sublime and the beautiful)อย่างสั้นๆ หลังจากช่วงกลางของคริสตศตวรรษที่ 18. เรื่องซึ่งตีพิมพ์นี้ นับว่ามีความสำคัญมากที่สุดเกี่ยวกับหนังสือที่เป็นแนวทางในด้านประวัติศาสตร์ของทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่อง"ความสูงส่ง"(Theory of the Sublime)

เขาได้จำแนกลำดับชั้นของความสูงส่งโดยแยกมันออกมาจากความงาม การแบ่งแยกอันนี้ ได้ช่วยเพิ่มบางสิ่งบางอย่างเข้ามา ในความเป็นเอกภาพของทฤษฎีความงามในคริสตศตวรรษที่ 18

Burke ปฏิเสธทฤษฎีเกี่ยวกับ"ผัสสะภายในพิเศษ"(special internal sense) และพยายามที่จะสร้างปรากฎการณ์ธรรมดาเกี่ยวกับ"ความพึงพอใจ และความเจ็บปวด"(pleasure and pain)ขึ้น อันเป็นพื้นฐานในเรื่อง"ความงามและความสูงส่ง" เขาได้จำแนกระหว่าง "ความพึงพอใจด้านบวก" กับ "ความพึงพอใจสัมพัทธ์"(positive pleasure and relative pleasure) ซึ่งเขาได้เรียกมันว่า "ความปลื้มปิติ"(delight)

ความปลื้มปิตินี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก "การยักย้ายความเจ็บปวด"หรือ"การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความเจ็บปวด"ไปนั่นเอง ความพึงพอใจที่ประกอบด้วยความงาม คือความรัก(ความพึงพอใจเชิงปฏิฐาน) และโดยทั่วไปแล้ว ความพึงพอใจอันนี้สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง หรือตัณหาต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการธำรงรักษาสังคม(preservation of society)

ส่วน ความพึงพอใจที่ประกอบด้วย"ความสูงส่ง"(sublime) เป็นความปลื้มปิติ (ความพึงพอใจเชิงสัมพัทธ์) และภาวะอันนี้มีความสุขโดยการที่ได้ยักย้ายความเจ็บปวด หรือการคุกคามของความทุกข์ทรมาน - ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงหรือตัณหาต่างๆนั้นออกไป ซึ่งมีประโยชน์ต่อการปกป้องรักษาความเป็นปัจเจกเอาไว้(preservation of individual)

Burke กล่าวว่า "สำหรับความงาม ข้าพเจ้าหมายความถึง คุณภาพหรือคุณลักษณ์ต่างๆของวัตถุ ซึ่งมันคือมูลเหตุของความรัก หรือ อารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงบางอย่าง(ตัณหา)ที่คล้ายคลึงกับมัน"

โชคไม่ดีที่เขาได้นิยามต่อไปว่า"ความรัก" และข้อความในบรรทัดต่อมา "ความพึงพอใจ" ซึ่งเกิดขึ้นมากับจิตใจโดย"การพิจารณาใคร่ครวญสิ่งสวยงามบางอย่าง". ข้อความทั้งสองตอนได้ก่อให้เกิดวงวัฏฏ์ที่ย้อนกลับขึ้นมาอันหนึ่ง และ Burke ก็ถูกวิจารณ์สำหรับการให้เหตุผลของเขาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ข้อความในบรรทัดหลัง เขาได้ระบุถึงคุณลักษณะต่างๆของวัตถุ - ความเล็ก, ความราบรื่น, ภาวะอันประณีตละเอียดอ่อน, เส้นที่เบี่ยงเบนไปจากเส้นตรงโดยไม่รู้สึกตัว - ซึ่งกระตุ้นความรัก และบางที สิ่งที่ระบุชัดลงไปอันนี้ จะเพียงพอสำหรับการโยกย้ายออกมจากวงวัฏฏ์ที่หมุนวนนั้นได้

ความสูงส่ง เป็นอะไรที่ปลุกเร้า"ความปลื้มปิติ" ประสบการณ์เกี่ยวกับความสูงส่ง(the experience of the sublime)ได้ถูกโน้มนำโดย ตัวอย่างๆเช่น วัตถุต่างๆซึ่งมีความคลุมเครือ และวัตถุต่างๆที่มีขนาดใหญ่โตมากๆ วัตถุต่างๆเหล่านั้น ตามปกติแล้วมันคุกคามและข่มขวัญเรา แต่ถ้าหากว่าเราสามารถพิจารณาใคร่ครวญวัตถุนั้นได้ เราก็จะยังรู้สึกปลอดภัยและไม่ถูกมันคุกคาม ดังนั้น พวกมันจึงถูกประสบพบเห็น ในฐานะที่เป็น"ความสูงส่ง"(sublime)

ดูเหมือนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ"การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์"(disinterestedness) จะไม่ค่อยมีค่าหรือบทบาทอะไรมากนักในทฤษฎีความงามของเบิร์ค แต่อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของมัน (หมายถึง "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์")อันนี้ ก็ได้รับการอธิบายเอาไว้อย่างถูกต้องโดย Burke ยิ่งเสียกว่าที่มันได้รับการอธิบายโดย Shaftesbury หรือนักทฤษฎีเจตคติทางสุนทรีย์คนอื่นๆในช่วงหลังทั้งหลาย

เราอาจมีความปรารถนาในตัวผู้หญิงคนหนึ่งมากๆ ซึ่งหล่อนไม่ได้มีลักษณะเด่นอะไรที่น่าสังเกตเกี่ยวกับความงามเลยก็ได้: ในขณะที่ความงามอย่างถึงที่สุดนั้นมีอยู่ในตัวมนุษย์ หรือในสัตว์ต่างๆ แม้ว่ามันจะเป็นมูลเหตุของความรัก แต่มันไม่ได้ปลุกเร้าความปรารถนาแต่อย่างใด

สิ่งซึ่งแสดงถึงความงามและอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง(ตัณหา) มูลเหตุนั้นเนื่องมาจากความงาม ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า"ความรัก" และอันนี้มันแตกต่างไปจาก"ความปรารถนา" แม้ว่าความปรารถนา บางครั้งอาจเดินไปพร้อมๆกับมันก็ตาม

Burke ได้จำแนกระหว่างความรัก(ความซาบซึ้งในเรื่องความงาม[the appreciation of beauty] และความปรารถนาที่จะครอบครอง[desire for possession])ออกจากกัน ซึ่งกล่าวได้ว่า "ความรัก"เป็นเรื่องของ""การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์"(love is disinterested) แต่เขาพบว่ามันไม่มีความจำเป็นใดๆที่มันจะเข้ากันไม่ได้ ระหว่างสิ่งเหล่านี้ (หมายถึง"ความรัก"และ"ความปรารถนา" สิ่งเหล่านี้ บางครั้งมันอาจจะคลอเคลียไปด้วยกัน)

Gerard, Knight, and Steward
มีนักคิดอีกหลายคนที่เราควรจะกล่าวถึงก่อนที่เราจะไปพูดถึง Alison, Hume, และ Kant. หลายๆประเด็นในทฤษฎีความคิดของ Alexander Gerard น่าจะนำมาพูดถึงกันก่อน ณ ที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวลีที่เขานำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมที่ว่า "ความรู้สึกเกี่ยวกับการโต้ตอบ"(reflex sense) เพื่ออ้างอิงถึงสิ่งที่ปรัชญาเมธีรุ่นก่อนเรียกว่า"ความรู้สึกภายใน"(internal sense)

คำว่า"โต้ตอบ"(สะท้อนกลับ)(reflex) ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับผัสสะเหล่านั้น ซึ่งทำหน้าที่แสดงปฏิกริยาโต้กลับ(reactive function). ทฤษฎีของ Gerard เป็นบางสิ่งบางอย่างของเครื่องหมายสูงสุดในทฤษฎีเกี่ยวกับ"ความรู้สึกพิเศษ"(special sense)ด้วย ดังที่เขาได้จำแนกความแตกต่างของมันออกเป็น 7 ชนิดคือ

1. ความรู้สึกเกี่ยวกับความแปลกใหม่(the sense of novelty)
2. ความรู้สึกเกี่ยวกับความสูงส่ง(the sense of sublimity)
3. ความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม(the sense of beauty)
4. ความรู้สึกเกี่ยวกับการเลียนแบบ(the sense of imitation)
5. ความรู้สึกเกี่ยวกับความกลมกลืน(the sense of harmony)
6. ความรู้สึกเกี่ยวกับการเยาะเย้ย-หยอกเย้า(the sense of ridicule)
7. ความรู้สึกเกี่ยวกับคุณความดี(the sense of virtue)

ดูเหมือนว่าจำเป็นต้องมีการอ้างถึง หรือยืนยันถึงความสามารถพิเศษมากมายต่างๆเหล่านี้ - และทฤษฎีของ Gerard ก็มิใช่เป็นตัวอย่างอันเดียวที่โดดเดี่ยว - ดูเหมือนบรรดานักปรัชญาทั้งหลายจะเป็นพวกที่ไม่มีความสุข พวกเขากระหายในความเป็นเอกภาพ และความแตกต่างอันหลากหลายเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ

การกระตุ้นหรือสนับสนุนให้บรรดาปรัชญาเมธีทั้งหลาย ผันแปรไปสู่แนวความคิดใหม่ๆเหมือนกับทฤษฎีของ Gerard ข้อสังเกตของ Gerard นั้น ตัวของเขาเองได้ชี้ว่า ทำไมตัวเขาและทฤษฎีต่างๆที่สัมพันธ์กันนั้น จึงรู้สึกว่าไม่ค่อยน่าพึงพอใจ: "บางที มันคงไม่มีคำหนึ่งคำใดที่สามารถนำมาใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับ "ความรู้สึกหลวมๆ" อันหนึ่ง ได้ดียิ่งไปกว่าที่จะนำคำว่า"ความงาม"มาใช้ได้ ซึ่งอันนี้ได้ถูกประยุกต์ใช้กับสิ่งต่างๆเกือบทุกอย่างที่ทำให้เกิดความพึงพอใจกับเรา". มันเป็นการกระตุ้นเล็กๆน้อยๆเพื่อที่จะใช้แนวความคิดอันหนึ่ง ดังกับว่าอันนี้เป็นศูนย์กลางของทฤษฎี กระนั้นแนวความคิดดังกล่าวยังรู้สึกว่ามีความคลุมเครือ

ในช่วงสั้นๆภายหลังสิ้นสุดศตวรรษ Richard Payne Knight เขียนเอาไว้ว่า
ในห้วงอารมณ์หนึ่งซึ่งเตือนความทรงจำ เกี่ยวกับนักทฤษฎีทางอารมณ์ความรู้สึกต่างๆในทุกวันนี้ก็คือ คำว่า"ความงาม" ซึ่งคำนี้เป็นคำทั่วๆไป เกี่ยวกับความรู้สึกถูกอกถูกใจ(ความพึงพอใจ, approbation) และมันมีความหมายที่คลุมเครือและกว้างขวางมากที่สุด ประยุกต์ใช้โดยไม่เจาะจงกับสิ่งต่างๆเกือบทุกอย่าง ที่สร้างความอภิรมย์หรือความเพลิดเพลินเจริญใจขึ้นมา… หรือไม่ก็ใช้กับแก่นสารทางด้านวัตถุ หรือความล้ำเลิศทางศีลธรรม หรือหลักการความคิดทางด้านสติปัญญา

หลังจากนั้นต่อมาไม่กี่ปี Dugald Steward ได้ลุกขึ้นมาโต้ตอบแนวความคิดบางอย่างซึ่งคลุมไปถึงทัศนะเกี่ยวกับความงามด้วย ในทำนองที่ว่า มันไม่สามารถที่จะให้นิยามเรื่องเหล่านี้ในวิธีการแบบจารีตได้ โดยการกำหนดหรือระบุถึงบางสิ่งบางอย่างลงไปร่วมกัน ซึ่งจะครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดด้วยแนวความคิดนี้

การพิจารณาวัตถุ ก.ข.ค. และ ง. ซึ่งตกอยู่ภายใต้แนวความคิดเดียวกัน. ก. และ ข. อาจมีคุณภาพบางอย่างร่วมกัน, ข. และ ค. ก็มีคุณภาพบางอย่างร่วมกัน, และ ค. และ ง. ก็อาจมีคุณภาพบางอย่างร่วมกัน แต่มันอาจจะไม่เป็นคุณภาพบางอย่างที่สำคัญซึ่งวัตถุทั้ง ก.ข.ค. และ ง. มีส่วนร่วมกันอยู่

จุดนี้ของ Steward คล้ายคลึงกันกับประเด็นที่ Ludwig Wittgenstein ชี้ว่า วัตถุต่างๆที่ตกอยู่ภายใต้แนวความคิดหนึ่ง อาจเพียงแต่มีความคล้ายคลึงในตระกูลกับอีกอันหนึ่งเท่านั้น

Alison
Archibald Alison (1757-1839) ได้พิมพ์หนังสือผลงานของเขาในเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับรสนิยมขึ้นมาในปี ค.ศ. 1790. ทฤษฎีของเขาอาจได้รับการพิจารณาว่า เป็นงานที่ก้าวถึงจุดสุดยอดของการพัฒนา ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นมาในช่วงแรกๆของศตวรรษโดย Shaftesbury

แกนกลางของเขานั้น ผูกพันอยู่กับแผนภูมิความสามารถในเรื่องของรสนิยม แต่เขาก็ได้ละทิ้งเรื่องของ"ความรู้สึกพิเศษภายใน" เกี่ยวกับเรื่องของความงามและความสูงส่งไป โดยเขาไม่ให้การสนับสนุนทฤษฎีอันซับซ้อนดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความสามารถต่างในการรับรู้ และความสามารถทางอารมณ์

เขาคัดค้านอย่างชัดเจนต่อทัศนะดังกล่าวของบรรดานักปรัชญาอย่าง Hutcheson และ Gerard ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับความรู้สึกพิเศษ นอกจากนี้เขายังได้พัฒนาแนวคิดอันหนึ่งขึ้นมาอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับ""การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" (การวางเฉย - การวางตัวเป็นกลาง หรือ disinterestedness)

สำหรับ Alison แล้ว ความสามารถทางด้านรสนิยมก็คือ "อันนั้น…ที่เรารับรู้และเพลิดเพลินกับอะไรก็ตามที่สวยงามหรือสูงส่ง ในผลงานของธรรมชาติหรือในผลงานศิลปะ". การรับรู้, Alison หมายความถึง บางสิ่งบางอย่างที่กว้างออกไปกว่าความหมายในปัจจุบันเกี่ยวกับศัพท์คำนี้ กล่าวคือเขาหมายถึง บางสิ่งซึ่งคล้ายคลึงกับ"การรู้สึกรู้ทราบ"(awareness)

ด้วยเหตุที่เขายอมรับว่า มนุษย์นั้นประกอบขึ้นมาจากลักษณะบางอย่างของโลกวัตถุ. วัตถุต่างๆของธรรรมชาติหรือศิลปะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งประสบการณ์ของพวกเราที่ Alison เรียกขานว่า"อารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม(emotion of tatste)

แง่มุมอันหนึ่งซึ่งน่าสนใจสำหรับทฤษฎีของเขา ดูเหมือนจะได้รับการสันนิษฐานว่ามีการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า. เพื่อที่ว่า วัตถุอันหนึ่งซึ่งไปปลุกอารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม มันจะต้องเป็นเครื่องหมาย-สัญญาน หรือการแสดงออกของคุณภาพเกี่ยวกับจิต

สำหรับผลงานทางด้านศิลปะ, "จิต"(the mind)เป็นของ"ศิลปินไ และสำหรับวัตถุต่างๆทางธรรมชาติ "จิต"เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับ"เทพศิลปิน"(divine artist). สิ่งซึ่งน่าสนใจผิดไปจากธรรมชาติคือ มันมีส่วนประกอบที่สำคัญเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาอันหนึ่ง ซึ่งทันทีทันใดโดยไม่ได้มีการตั้งตัว ก็ได้มีการสมมุติเอาเรื่องทางด้านเทววิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ความผูกพันอันนี้อาจหลีกเลี่ยงได้โดยการกล่าวว่า "อารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม"ได้รับการปลุกเร้าขึ้น เมื่อวัตถุทางธรรมชาติได้ถูกนำมาเป็นเครื่องหมายหรือสัญญาน ของ"เทพศิลปิน"

การอรรถาธิบายของ Alison เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของความสามารถของรสนิยม ค่อนข้างจะซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร ทั้งนี้เพราะมันได้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก: อย่างเช่น วัตถุต่างๆของรสนิยม(objects of taste)(ผลงานทางด้านศิลปะ และ ธรรมชาติ). อารมณ์ความรู้สึกง่ายๆธรรมดา(simple emotion) อารมณ์ความรู้สึกที่สลับซับซ้อน(complex emotion) ความพึงพอใจธรรมดา(simple pleasure) ความพึงพอใจที่สลับซับซ้อน(complex pleasure) อันนี้คือขบวนแถวของความคิดในการจินตภาพที่ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการรวมมันเข้าด้วยกัน และความสับสนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆในท่ามกลางเรื่องราวเหล่านี้

ข้อแรก, เมื่อวัตถุอันหนึ่งของรสนิยมได้ถูกสัมผัสรับรู้ อารมณ์ความรู้สึกธรรมดาจะได้รับการสร้างขึ้นมาในจิตใจ. อารมณ์ความรู้สึกธรรมดาอันนี้ จะสร้างความคิดอันหนึ่งขึ้นมา(ในลักษณะหนึ่ง)ในจินตนาการ. ความคิดแรกนี้จะไปสร้างความคิดที่สองขึ้นในจินตนาการ และมันจะไปสร้างจินตนาการอันที่สาม. และจะมีการรวมเข้าด้วยกันทั้งหมดเป็นหน่วยเดียว โดยตลอดขบวนแถวของความคิดที่ถูกสร้างขึ้น

ขั้นตอนต่างๆในแต่ละส่วนของขบวนแถวทางความคิดนี้ ยังสร้างอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาขึ้นมาด้วย นอกเหนือจากนี้แล้ว อารมณ์ความรู้สึกเดิมๆธรรมดาซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นขบวนการทางความคิด มันเป็นชุดหนึ่งของของอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาที่จะไปสร้าง"อารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกของรสนิยมนี้คือ "อารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อน"

ข้อที่สอง, ในแต่ละ"อารมณ์ความรู้สึกธรรมดา" จะถูกชักนำไปโดย"ความพึงพอใจธรรมดา"(simple pleasure) และภาระหน้าที่ของจินตนาการจะสร้าง"ความพึงพอใจธรรมดา"อันนี้. จากนั้นชุดของ"ความพึงพอใจธรรมดา"จะประกอบตัวกันขึ้นมาเป็น"ความพึงพอใจที่ซับซ้อน"(complex pleasure) ซึ่งก็จะไปด้วยกันกับ"อารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม" ที่ Alison เรียกมันว่า"ความปลื้มปิติ"(delight)

ดูเหมือนว่าจะมีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ความคิดเกี่ยวกับแบบแผนโครงสร้างนี้กระจ่างชัดขึ้น โดยที่ผู้อ่านอาจจะต้องเขียนแผนผังเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาประกอบ เพื่อทำความเข้าใจมันได้อย่างชัดเจน

ทฤษฎีของ Alison ดูออกจะเหนือกว่าทฤษฎีต่างๆในช่วงแรกๆมาก ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีของ Hutcheson ซึ่งได้เป็นการเตรียมพื้นฐานอันหนึ่งสำหรับอธิบายถึงความสลับซับซ้อน และความรุ่มรวยเกี่ยวกับประสบการณ์ของศิลปะและธรรมชาติ. มันเป็นการยากที่จะอธิบายถึงประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะต่างๆที่มีอยู่อย่างมากมาย ในเทอมที่เป็นอย่างเดียวกันในความหลากหลายนั้น และทัศนะของ Hutcheson ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ผลและดูว่างเปล่า

ทฤษฎีของ Alison ได้รับการปรับปรุงให้มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเขาได้ปฏิเสธในเรื่อง "คุณภาพต่างๆธรรมดาของผัสสะ" ที่สามารถเป็นวัตถุต่างๆของรสนิยมได้. กลิ่นของดอกกุหลาบ, สีแดงสด, รสชาติของสับปะรด เมื่อพูดถึงแต่เพียงคุณภาพต่างๆ และเป็นนามธรรมจากวัตถุซึ่งมันถูกพบ การพูดเช่นนี้ ล้วนเป็นการพูดที่สร้างให้เกิดการรับรู้ทางด้านผัสสะต่างๆ แต่ไม่ได้สร้างการรับรู้ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา

เมื่อไม่มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ก็ไม่มีวัตถุของรสนิยม

ข้อถกเถียงหรือเหตุผลของ Alison อาจจะเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลอันหนึ่งเกี่ยวกับอคติที่มีอยู่เรื่อยมา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเรื่อง"คุณภาพธรรมดาของความรู้สึก" เพราะว่ามัน"ไม่ใช่เรื่องทางสุนทรียะ

การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง"การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์"ของ Alison มีหลักฐานในตอนที่เขาได้ยืนยันถึงสภาวจิตว่า เป็นสิ่งซึ่งอำนวยประโยชน์มากที่สุดต่ออารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม อันนี้เกิดขึ้นเมื่อเราเหลียวมองโดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อยกับวัตถุบางอย่างโดยเฉพาะ มันได้ปลดปล่อยเราให้เข้าไปสู่ความประทับใจทั้งมวล ซึ่งวัตถุต่างๆที่อยู่ต่อหน้าเราสามารถสร้างขึ้นมาได้

มันตั้งอยู่บนการไม่ต้องใช้ความคิดและไม่ต้องทำอะไร และไม่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ วัตถุต่างๆของรสนิยมจะสร้างความประทับใจขึ้นมาอย่างสูงสุด

ชาวนา และคนซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจ เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยได้คำนึงถึงเรื่องของความงามบางแง่มุมของธรรมชาติ เนื่องจากว่าคนเหล่านี้ สนใจแต่ในเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับจากธรรมชาติ และนักปรัชญาก็เป็นอีกพวกหนึ่งซึ่งหลงลืมที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของความงาม เพราะคนพวกนี้ได้หายเข้าไปในความคิดมากจนเกินไป

เนื่องจากว่า Alison ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆในเรื่องของ "สิ่งที่อำนวยประโยชน์มากที่สุดต่ออารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม" แต่ไม่ได้ตามมาว่า ผลประโยชน์เป็นเรื่องซึ่งเข้ากันไม่ได้กับอารมณ์ความรู้สึกของรสนิยม อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นที่กล่าวลอยๆของเขาได้มีส่วนช่วยให้ความสะดวกกับ พวกที่ปรารถนาจะแยกเรื่องของสุนทรียะออกจากเรื่องของผลประโยชน์

อันที่จริงแล้ว Alison สรุปว่า การวิจารณ์นั้น เป็นการทำลายความรู้สึกซาบซึ้ง ทั้งนี้เพราะมันเป็นการพิจารณาศิลปะในประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับกฎระเบียบ หรือเปรียบเทียบมันกับงานศิลปะชิ้นอื่นๆ. การวิจารณ์เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้ากันได้กับเรื่องของความซาบซึ้ง มันเป็นเคราะห์กรรมอันหนึ่ง และเป็นเรื่องของอคติที่มีอยู่ตลอด ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการด่วนให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวางตัวเป็นกลาง หรือนิ่งเฉยต่อเรื่องอารมณ์ความรู้สึก มากจนเกินไปนั่นเอง

Hume
โดยไม่ได้เป็นไปตามลำดับการของวันเวลา ในการที่เราเพิ่งจะมาพูดถึงเรื่องของ Hume เอาตอนนี้ หลังจากที่ได้กล่าวถึงความคิดของ Alison มาแล้ว ทั้งนี้เพราะ เรื่อง "เกี่ยวกับมาตรฐานของรสนิยม"(the Standard of Taste) ซึ่งเป็นงานของ Hume ได้รับการพิมพ์ขึ้นมาในช่วงกลางของคริสตศตวรรษที่ 18 (ก่อนผลงานของ Alison)

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะ การกำหนดหลักการขึ้นมาของ Hume เกี่ยวกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า"ทัศนะของบริติช"(the British view) ได้เป็นการนำเสนอทฤษฎีขึ้นมาทฤษฎีหนึ่งซึ่งค่อนข้างเข้มแข็งเท่าที่จะเป็นไปได้ และตรงข้ามกับทฤษฎีของปรัชญาเมธีชาวเยอรมัน นามว่า Kant นั่นเอง. (สำหรับทัศนะของ Kant จะมีการพูดถึงกันในหัวข้อต่อไป)

ในทฤษฎีของ Hume เรื่องราวอันเกี่ยวกับธรรมชาติของรสนิยม ไม่ได้เพิ่มเติมอะไรใหม่เข้าไปในเนื้อหาของทัศนะแบบบริติช - โดยพื้นฐาน มันเป็นเรื่องของ"รสชาติ"(flavor) ของพวกที่คิดแบบ Hutchesonian - แต่ทว่า Hume ได้ทำความเข้าใจลึกลงไปมากเกี่ยวกับประเด็นทางด้านปรัชญาที่ผูกพันกับการสร้างทฤษฎีรสนิยม ยิ่งกว่าบรรดานักสุนทรียศาสตร์ที่สนทนากันในเรื่องเหล่านี้

ตัวอย่างเช่น Hume ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องที่เขาตั้งสมมุติฐาน ดังที่นักสุนทรียศาสตร์เชื้อสายบริติชกระทำ ที่ว่า การสอบสวนเข้าไปในธรรมชาติของรสนิยม เป็นการสืบค้นทางประสบการณ์เชิงประจักษ์(empirical investigation)อย่างหนึ่ง เกี่ยวกับประเด็นบางอย่างของธรรมชาติมนุษย์

ในเรื่อง"เกี่ยวกับมาตรฐานของรสนิยม" อันนี้คือบทความสั้นๆ ซึ่ง Hume ได้เขียนขึ้นมาเพื่อพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับรสนิยมเท่านั้น เขาเริ่มต้นบทโดยการยอมรับว่า มันมีความหลากหลาย และการไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากท่ามกลางผู้คนทั้งหลาย ในปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของรสนิยม

หน้าที่ของบทความขนาดสั้นของเขาชิ้นนั้น คือต้องการที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยหรือประเด็นซึ่งยังไม่เป็นที่ตกลงกัน อันเนื่องมาจากลักษณะของความบังเอิญเกี่ยวกับกรณีแวดล้อม ที่มนุษย์ค้นพบตัวของพวกเขาเอง

Hume ได้สาธยายถึงทัศนะเกี่ยวกับความน่าสงสัยที่ว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมาโต้เถียงกันถึงเรื่องราวของรสนิยม และยังได้ยืนยันอีกว่า การถกเถียงกันถึงเรื่องเหล่านี้ มีแต่จะนำมาซึ่งความไร้สาระที่หาประโยชน์อันใดมิได้ ซึ่งมันไม่ทำให้เราสามารถประเมินค่าผลงานศิลปะใดๆขึ้นมาได้

ผู้ใดก็ตามที่ต้องการจะยืนยันถึงความเท่าเทียมกันของอัจฉริยภาพ และความเลอเลิศของผลงาน ระหว่าง Ogilby และ Milton, หรือของ Bunyan กับ Addison ก็จะต้องคิดถึงว่า จะต้องสิ้นเปลืองแรงงานไปมากเท่าใดในการจะปกป้องสิ่งเหล่านี้ ไม่น้อยไปกว่าที่การที่เขาพยายามที่จะปกป้องเนินดินที่ตัวตุ่นขุดรังอาศัยอยู่ให้มันสูงเท่ากับเกาะ Teneriffe (เกาะที่ใหญ่ที่สุดของ Canary ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา) หรือการพยายามจะปกป้องรักษาหนองน้ำให้กลายเป็นทะเลสาปหรือมหาสมุทร อย่างใดอย่างนั้น

เขาสรุปว่า ทัศนะเกี่ยวกับความสงสัยคลางแคลงใจเป็นเรื่องที่ผิดพลาด
Hume ปฏิเสธเหตุผลซึ่งมีมาก่อนหน้านี้เหตุผลหนึ่ง ดั่งกับว่ามันเป็นต้นตอหรือแหล่งที่มาของสิ่งซึ่งเขาเรียกมันว่า "กฎระเบียบขององค์ประกอบศิลป์"(the rule of composition) [มาตรฐานของรสนิยม - the standard of taste]. ทัศนะอันนี้เขาได้มีส่วนร่วมกับนักสุนทรียศาสตร์เชื้อสายบริติชอื่นๆที่เราได้พูดถึงไปแล้ว เว้นแต่ Shaftesbury

เขากำลังปฏิเสธว่า เรารู้และเข้าใจความงามหรือกฎระเบียบซึ่งควบคุมมันอยู่อย่างเป็นเหตุเป็นผล. Hume ยืนยันว่า การก่อรูปขึ้นมาของกฎระเบียบเกี่ยวกับองค์ประกอบเป็นเรื่องของประสบการณ์. กฎระเบียบเกี่ยวกับองค์ประกอบเป็น"การสังเกตการณ์ทั่วๆไป, เกี่ยวโยงกับสิ่งซึ่งให้ความพึงพอใจ ที่ถูกพบได้ในทุกๆท้องถิ่นและทุกยุคทุกสมัยอย่างเป็นสากล"

ข้ออ้างของเขานั้นคือ คำถามที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งที่มันถูกต้อง ซึ่งเรียกกันว่า"ความงาม" สามารถจะได้รับการอธิบายโดยการสำรวจตรวจตรา ด้วยความเข้าใจเชิงประสบการณ์เกี่ยวกับรสนิยมของมนุษย์. ลักษณาการณ์นี้ของทัศนะแบบบริติช เป็นสิ่งซึ่งตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับทฤษฎีของ Kant

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ Hume จะมีความคิดของตัวเขาเองเป็นภาพร่างคร่าวๆ เกี่ยวกับเส้นรอบวงของการสืบสวนเชิงประสบการณ์ เขาก็ยังแถลงว่า ไม่ใช่ทุกๆกรณีของภาวะความพึงพอใจของมนุษย์ ที่จะถือว่าเป็นหลักฐานสำหรับหลักการหรือกฎเกณฑ์ทั่วๆไป ที่เป็นกฎระเบียบขององค์ประกอบ. ในบางกรณีนั้นจะต้องไม่ถูกคิดว่าเป็นเช่นนั้น และ Hume ยังได้พยายามอย่างระมัดระวัง ที่จะชี้แจงเงื่อนไขบางอย่างออกมา ภายใต้การสอบทวนให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

เมื่อเราได้ทำการทดลองเกี่ยวกับธรรมชาติอันนี้ และพยายามทดลองถึงพลังอำนาจของความงามหรือความพิกลพิการ เราจะต้องเอาใจใส่เกี่ยวกับการเลือกเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม และส่งให้จินตนาการความคิดฝันไปสู่สถานการณ์และอารมณ์อันเหมาะสมนั้น

ความสงบเยือกเย็นที่สมบูรณ์ของจิตใจ การรวบรวมความคิดขึ้นใหม่ การเอาใจใส่ในวัตถุที่กำหนด: ถ้าหากว่ากรณีแวดล้อมต่างๆเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการ การทดลองของเราอาจจะเป็นเรื่องหลอกลวงหรือผิดพลาด และเราไม่สามารถที่จะตัดสินความงามที่เป็นสากลและกว้างขวางได้

เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้จะต้องถูกพบ เพื่อที่จะได้กำจัดกรณีเกี่ยวกับภาวะความพึงพอใจออกไป ซึ่งมันเป็นเรื่องของการเป็นไปตามความอำเภอใจที่ไม่แน่นอน และมันเป็นเรื่องของความผิดพลาดเกี่ยวกับความไม่รู้และความริษยา

นอกเหนือจากการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้แล้ว มันยังได้รับการวินิจฉัยในความจริง ซึ่งในที่นี้ Hume เรียกมันว่า"รสนิยมทางจิต"(mental tatste) มันเป็นสิ่งที่มีความเข้มข้นในคนบางคนยิ่งกว่าใครๆ. เทียบกันกับคนบางคน ที่สามารถแยกแยะได้ในกรณีของ"รสนิยมทางกายภาพ"(bodily taste)อย่างถูกต้องแม่นยำ - ยกตัวอย่างเช่น การจำแนกคุณภาพอันประณีต ละเอียดอ่อนของไวน์ - คนบางคน สามารถจำแนกได้ดีกว่าในเชิงคุณภาพ ซึ่งมันได้ไปกระตุ้นความสามารถหรือสมรรถนะของรสนิยม

มีเพียงบางคนเท่านั้นซึ่งเป็นผู้ครอบครองในสิ่งที่ Hume เรียกว่า"ความละเอียดอ่อนของรสนิยม"(delicacy of taste) คือคนที่เหมาะสมสำหรับ"ประสบการณ์"อันนี้ของเขา

การพินิจพิจารณาต่างๆด้วยวิธีการต่างๆของ Hume นี้ ได้มีการชี้แจงออกมา. ถ้อยคำหรือแก่นแท้ของเขา ดูเหมือนค่อนข้างจะเป็นนามธรรม ดังเราจะเห็นโดยสรุปจากข้อความที่คัดมาต่อไปนี้

"แม้จะเป็นที่แน่นอนว่า ความงามและความพิกลพิการ(beauty and deformity)ค่อนข้างจะหวานและขมขื่น แต่มันก็ไม่ใช่คุณสมบัติต่างๆ ทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกภายในหรือภายนอก: ต้องยอมรับว่า มันมีคุณสมบัติบางอย่างในวัตถุต่างๆ ซึ่งถูกทำให้เหมาะสมโดยธรรมชาติที่ได้สร้างความรู้สึกที่เฉพาะเหล่านั้นขึ้นมา"

สังเกตว่า "ความงาม"และสิ่งที่ตรงข้ามกับความงามคือ"ความพิกลพิการ"มิได้มีอยู่ในรูปวัตถุต่างๆ แต่มันมีอยู่ในความรู้สึก. อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกอันนี้ไม่เพียงแต่เป็นแค่ความรู้สึกเฉยๆเท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกที่เชื่อมต่อโดยธรรมชาติของการประกอบกันของ"มนุษย์"กับ"คุณสมบัติบางอย่างในตัววัตถุ" ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นไปได้ที่จะมีการตัดสินต่างๆในเชิงภววิสัยเกี่ยวกับความงามและความน่าเกลียด

หลังจากที่ได้มีการพัฒนาทฤษฎีที่เป็นปรนัยของรสนิยมขึ้นมาแล้ว ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนี้ ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงที่ยืนยันได้บางอย่างในธรรมชาติมนุษย์ ในตอนสุดท้ายเกี่ยวกับข้อเขียนของเขา ยังได้มีการพิจารณากันถึงเรื่องของความหลากหลายบางอย่าง ที่อาจยอมรับได้เกี่ยวกับรสนิยม อันเนื่องมาจากวัยและอารมณ์. ตัวอย่างเช่น

สำหรับผู้เยาว์หรือคนหนุ่มสาว มักจะชอบจินตภาพที่เกี่ยวข้องกับ"ความอ่อนหวาน ความนุ่มนวล ความละมุนละมัย ความรักและความเสน่หาต่างๆ" แต่สำหรับคนที่มีอายุมากขึ้นหรือคนแก่ มักจะชอบเรื่องราวที่เกี่ยวกับ"การสะท้อนถ่ายในเรื่องของความฉลาดในเชิงปรัชญา"

"ความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือความทุกข์ทรมานเจ็บปวด อารมณ์ความรู้สึก หรือการตอบโต้สะท้อนกลับ สิ่งเหล่านี้มักจะมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรามากที่สุด มันทำให้เรามีความสงสารเห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษไปพร้อมกับผู้เขียนซึ่งคล้ายคลึงกับเรา". ในกรณีเช่นนี้จะไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับรสนิยม ซึ่งจะนำมาใช้ในการประเมินคุณค่าได้อย่างเหมาะสม ว่า ความชอบของคนๆหนึ่งนั้นดีเหนือกว่าของอีกคนหนึ่ง

คำถามที่เกิดขึ้นมีว่า Hume เห็นพ้องกับการยอมรับความหลากหลายเช่นนั้นจริงหรือ? คำตอบคือ มันน่าจะเป็นเช่นนั้น. สำหรับความหลายหลากที่แตกต่างกัน มันมีบ่อเกิดมาจากเงื่อนไขเกี่ยวกับวัยและอารมณ์ เงื่อนไขต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถขจัดออกไปได้โดยสภาพการณ์เกี่ยวกับการทดลองของ Hume และมันไม่ได้เนื่องมาจากการขาดปัจจัยหรือความสามารถในการแยกแยะแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามว่า "วิธีการทดลองของ Hume นั้น มันเป็นวิธีที่ถูกต้องจริงหรือ ?" แน่นอน Kant ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น

Kant
อุปสรรคสำคัญในการทำความเข้าใจทฤษฎีเกี่ยวกับรสนิยม ได้ถูกนำเสนอขึ้นมาโดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน นามว่า Immanuel Kant (1724-1804) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบปรัชญาที่ใหญ่โตและมีอำนาจมาก ถ้อยแถลงของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ ได้รับการปกคลุมด้วยคำศัพท์ในเชิงเทคนิค และมันได้ถูกจัดระบบให้เป็นไปตามโครงสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งได้รับการผลิตและพัฒนาขึ้นมาในช่วงแรกของทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ของเขา

ตราบเท่าที่เป็นไปได้ ในที่นี้เราพยายามจะหลีกเลี่ยงแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องในเชิงเทคนิคของระบบปรัชญาของเขา สิ่งที่เราต้องการจะพูด เป็นเพียงแค่ทฤษฎีความงามของเขาเท่านั้น

Kant ได้ใช้ผลงานของบรรดานักคิดต่างๆที่ถกเถียงกันมาแล้ว และค่อนข้างชัดเจน ซึ่งได้สืบทอดกันมาทางปรัชญาเกี่ยวกับรสนิยมอย่างมีสำนึกมาเป็นพื้นฐาน เพื่อจะทำความเข้าใจทฤษฎีความงามของ Kant มีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับความคิดบางอย่างทางระบบปรัชญาของเขาเสียก่อน ซึ่งแตกต่างอย่างถึงรากไปจากระบบปรัชญาของ Hume เลยทีเดียว และยังผิดแผกไปจากระบบปรัชญาของนักสุนทรียศาสตร์ในเชิงประสบการณ์ชาวบริติชด้วย

ยกตัวอย่างเช่น Hume ถือว่า "ความรู้"ทั้งหมดสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ และผลที่ตามมา พวกเราไม่สามารถแน่ใจกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย. ส่วน Kant พยายามที่จะพัฒนาระบบอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มันเป็นไปได้สำหรับเราที่จะมีความรู้บางอย่างที่แน่นอนขึ้นมาได้อย่างไร? พูดสั้นๆก็คือ Kant ยืนยันว่า จิตใจโดยตัวของมันเองแล้ว ให้การสนับสนุนโครงสร้างที่ประสบการณ์ของเรามีอยู่ และสำหรับเหตุผลอันนี้ เราสามารถที่จะมีความรู้ที่แน่นอนขึ้นมาได้

ยกตัวอย่างเช่น เราทราบว่าทุกๆเหตุการณ์จะมีมูลเหตุอันหนึ่ง เนื่องจากจิตใจได้สร้างเหตุการณ์ต่างๆเกี่ยวกับประสบการณ์ของเรา ให้เชื่อมโยงกันเป็นร่างแหไปถึงมูลเหตุ. อันนี้คือข้อต่างๆระหว่างปรัชญาของ Kant กับนักประสบการณ์เชิงประจักษ์อื่นๆเหล่านั้น ซึ่งแสดงออกมาในปรัชญาเกี่ยวกับรสนิยมโดยลำดับ

บรรดานักปรัชญาประสบการณ์เชิงประจักษ์คิดว่า ปรัชญารสนิยมเป็นเรื่องของการสอบสวนวัตถุในเชิงประสบการณ์ ซึ่งมันได้ค้นพบหลักการหรือกฎเกณฑ์ทั่วๆไปทางด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์. Kant คิดว่าปรัชญารสนิยมเป็นเรื่องของการสืบค้นเข้าไปยังจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของความรู้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ทำไมการตัดสินเกี่ยวกับความงามจึงเป็นสากล และมีความจำเป็น

Kant ได้ใช้คำว่า"สุนทรีย์" ในความหมายที่กว้างมาก ซึ่งไม่เพียงผนวกเอาเรื่องของการตัดสินเกี่ยวกับเรื่อง"ความงาม" และ"ความสูงส่ง"เข้าไปเท่านั้น แต่ยังได้รวมไปถึงเรื่องของการตัดสินเกี่ยวกับ"ความพึงพอใจ"ทั่วๆไปเข้าไปด้วย. สำหรับ Kant การตัดสินทั้งหมดทางด้านสุนทรีย์ เพ่งเล็งไปยังประเด็นของความพึงพอใจ(focus on pleasure) ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของ"โลกอัตวิสัย" ยิ่งกว่าที่จะเป็นเรื่องของ"โลกภววิสัย"

การกล่าวว่า การตัดสินเป็นเรื่องของอัตวิสัย เนื่องจากว่าความพึงพอใจไม่ได้แสดงบทบาทในการรับรู้เกี่ยวกับโลกภววิสัย. หลักการอันนี้สะท้อนทัศนะของ Hutcheson ที่ว่า "ความงามเป็นความคิดที่ฟูขึ้นมาของเรา"(an idea rais'd in us). แต่ถ้าหากว่าการตัดสินทางด้านความงามเป็นเรื่องของอัตวิสัย, Kant ก็ยังได้คิดต่อไปด้วยว่า "การตัดสินทางความงามเป็นสิ่งมั่นคงและเป็นสากล" ซึ่งความพึงพอใจมิได้เป็นเช่นนั้น

นั่นคือ เขาได้ค้นหาทฤษฎีอันหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า แม้ความพึงพอใจในเรื่องรสชาติของช็อคโคแล็ตหรือปลาแอนโชวี่ จะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ความพึงพอใจในความงาม กลับกลายเป็นเรื่องที่เป็นสากลและความจำเป็น

Kant ได้แยกแยะคำสนทนาเกี่ยวกับทฤษฎีความงามของเขาออกเป็น 4 ส่วน และแต่ละส่วนก็จะมีความคิดหลักอันหนึ่ง แนวความคิดหลักอันนั้นก็คือ

1. การไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของผลประโยชน์(การวางตัวเป็นกลาง)(disinterestedness)
2) ความเป็นสากล(universality)
3) แบบของจุดมุ่งหมาย(the form of purpose) และ
4) ความจำเป็น(necessity)

ทฤษฎีดังกล่าวนี้อาจสรุปลงได้ในประโยคหนึ่งว่า: การตัดสินทางด้านความงามเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ เป็นสากล และการตัดสินจำเป็นต้องเกี่ยวพันกับความพึงพอใจ ซึ่งความพึงพอใจนี้ ทุกๆคนควรได้รับมาจากประสบการณ์เกี่ยวกับรูปทรงนั้นๆ


Kant ได้อธิบายถึงคุณลักษณะของเรื่องผลประโยชน์(interest) ในเทอมที่เกี่ยวกับ"ความปรารถนา"และ"การดำรงอยู่จริง"(desire and real existence); นั่นคือ การที่มีผลประโยชน์ในบางสิ่งบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดก็มีเรื่องความปรารถนาที่สิ่งนั้นดำรงอยู่ตามความเป็นจริง หรืออย่างน้อยก็มีความปรารถนาที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของมัน. แน่นอนที่ว่า ความสนใจอันหนึ่งอาจเป็นเรื่องของการเอาใจใส่ในผลประโยชน์ส่วนตัว หรือ ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง

Kant ได้ถกกับบรรดานักปรัชญาชาวบริติชว่า การตัดสินในเรื่องความงามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัว; กล่าวคือ พวกเขาจะต้องไม่สนใจหรือไม่แยแสต่อการดำรงอยู่จริงของวัตถุต่างๆพวกนั้น. จะต้องระมัดระวังที่จะหมายเหตุลงไปว่า Kant ไม่ได้กล่าวว่า ผู้ซึ่งทำหน้าที่ในการตัดสินความงาม จะต้องเมินเฉยหรือไม่แยแสต่อการดำรงอยู่ของวัตถุที่จะตัดสิน แต่การตัดสินในเรื่องความงามจะต้องเป็นอิสระไม่ขึ้นกับประโยชน์ในทางวัตถุที่ดำรงอยู่จริง

ตัวอย่างเช่น คนๆหนึ่งได้ทำการตัดสินความงามได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะต้องสมมุติเอาผลประโยชน์อันหนึ่งที่ดำรงอยู่ในวัตถุมาเป็นตัวแทน

ตัวอย่างอันหนึ่งของ Shaftesbury สามารถนำมาใช้แสดงภาพให้เห็นในจุดนี้ได้. ถ้าหากว่า ข้าพเจ้ามีความซาบซึ้งในคุณภาพของผลไม้ในด้านที่เกี่ยวพันกับการตัดสินทางความงาม ความซาบซึ้งใจ และการตัดสินของข้าพเจ้าจะตัดตรงลงไปที่คุณภาพของการเห็นทางสายตา ต่อผลไม้ลูกนั้นเลยทีเดียว(ไม่เกี่ยวกับรสชาติ) ข้าพเจ้ารู้สึกเกี่ยวกับวัตถุ และมันไม่ใช่เป็นเรื่องของการดำรงอยู่ของวัตถุ ซึ่งทำให้ความรู้สึกรู้ทราบอันนี้เป็นไปได้

Kant ยังได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ"ความเป็นสากล"และ"ความจำเป็น"ในโอกาสอื่นๆด้วย เขายืนยันว่า ความเป็นสากลเกี่ยวกับการตัดสินในเรื่องความงาม อนุมานหรือลงความเห็นจากธรรมชาติที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์. ถ้าหากว่า ใครสักคนพึงพอใจกับบางสิ่งบางอย่างในทางที่ไม่ข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ ความพึงพอใจนั้นก็ไม่สามารถที่จะสืบทอดมาจากบางสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัว และเป็นเรื่องพิเศษสำหรับบุคคล

ผลประโยชน์เป็นสิ่งซึ่งผลิตัวขึ้นมาจากความบ่ายเบนเอนเอียงของปัจเจกบุคคล ดังนั้นจะต้องไม่ใส่ใจในผลประโยชน์ และจะต้องขจัดเรื่องนี้ออกไป. ผลที่ตามมา ถ้าหากความพึงพอใจโดยไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มีความเป็นไปได้ มันก็จะต้องสืบทอดมาจากอะไรที่เป็นเรื่องของมนุษยชาติทั้งหมด และมันจะต้องไม่สืบเนื่องมาจากความพิเศษเพียงเพื่อสำหรับคนบางคนเท่านั้น

Kant กล่าวว่า เมื่อตอนที่เราประกาศตัดสินเรื่อง"รสนิยม" เราพูดออกมาว่า "ด้วยมติที่เป็นสากล". แต่เขายืนยันว่า การตัดสินทางด้านสุนทรีย์("กุหลาบนี้งดงาม")เป็นเรื่องอัตวิสัย ซึ่งนั่นหมายความว่า"ความงดงาม" มิได้เป็นแนวคิดอย่างเดียวกับ ตัวอย่างเช่น "สีแดง"เป็น

เมื่อใครสักคนกล่าวว่า กุหลาบดอกหนึ่งสีแดง แนวความคิดเกี่ยวกับคำว่า"แดง"กำลังถูกนำมาใช้กับ"กุหลาบดอกนี้" และแนวความคิดดังกล่าวได้เป็นการอ้างถึงลักษณะทางด้านภววิสัยของโลก. คนธรรมดาสามารถที่จะมองไปยังดอกกุหลาบและเห็นว่ามันมีสีแดง ซึ่งอันนี้เปรียบเทียบได้กับถ้อยคำที่มีความเป็นสากลว่า"กุหลาบนี้สีแดง". แต่จะทำอย่างไร หากว่า "ความงาม"นั้น ไม่ได้เป็นการอ้างถึงบางสิ่งที่เป็นภววิสัย ?

Kant ได้หวนกลับไปสู่ความคิดเห็นที่คุ้นเคย เกี่ยวกับเรื่องของความสามารถของรสนิยม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องราวอะไรพิเศษ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ปกติของสมรรถนะเกี่ยวกับการรับรู้ในทางที่ไม่ปกติธรรมดา. สิ่งแรกก็คือ สมรรถนะการรับรู้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคน และในกิจกรรมปกติ มันสามารถที่จะตัดสินได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับโลกภววิสัย

ในเรื่องของความซาบซึ้งทางด้านสุนทรีย์ มันเป็นสิ่งที่ยิ่งไปกว่าการทำงานอย่างปกติเช่นว่านั้น, ความสามารถในการรับรู้ต่างๆเกี่ยวกับความรู้สึกรู้ทราบทางด้านผัสสะ และความเข้าใจ(สมรรถนะของแนวคิดต่างๆ) ผูกพันกับ "การเล่นที่เป็นอิสระ"(free play)

การเล่นที่เป็นอิสระอันนี้ ได้แสดงความสัมพันธ์ที่กลมกลืนของสมรรถนะการรับรู้ และมันเป็นผลเนื่องมาจาก ความพึงพอใจที่รู้สึกได้จากความเข้าใจซาบซึ้งทางสุนทรีย์ ความพึงพอใจนั้นสามารถใช้ได้เป็นสากลเพราะว่า ตัวมันลำพังขึ้นอยู่กับความสามารถต่างๆที่เป็นสากล

การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์ ความเป็นสากล และความจำเป็น ต่างก็มีความผูกพันกันนับตั้งแต่ต้นกับเรื่องของประสบการณ์. แนวความคิดทั้ง 4 ซึ่ง Kant ได้พูดถึง - แบบของจุดมุ่งหมาย - ได้เพ่งความเอาใจใส่ลงไปยังวัตถุของความซาบซึ้ง. Kant กำลังยกเอาประเด็นที่ Hutcheson พยายามจะทำโดยเขาใช้คำพูดว่า "เอกภาพในความหลากหลาย"

ปรัชญาเมธีทางด้านรสนิยมแต่ละคน นอกเหนือจากการพยายามที่จะให้คำอธิบายของตัวเองเกี่ยวกับความสามารถของรสนิยมแล้ว พวกเขายังระบุชัดแจ้งลงไปถึงรูปลักษณ์หรือลักษณะของโลกภววิสัย ซึ่งมันได้ไปกระตุ้นความสามารถอันนั้นด้วย. ก็คล้ายคลึงกันกับ Hutcheson, Kant ซึ่งได้ให้ความเอาใจใส่ลงไปยังความสัมพันธ์ต่างๆที่เป็นเรื่องของรูปทรง เสมือนเป็นการกระตุ้นประสบการณ์ทางความงาม. แต่ที่ต่างออกไปจาก Hutcheson สำหรับเหตุผลอันหลายหลาก ที่ยุ่งยากมากที่สุดในการจะทำให้มันกระจ่างชัดขึ้นมาได้ก็คือ Kant ปรารถนาที่จะสร้างความคิดเกี่ยวกับ"แบบของความมุ่งหมาย"ในทฤษฎีของเขา

อย่างไรก็ตาม เขาจะต้องใช้ความระมัดระวังมากในการทำเช่นนั้น เพราะ การจดจำรับรู้บางสิ่งบางอย่าง มีจุดมุ่งหมายเกี่ยวพันกับการประยุกต์ใช้แนวความคิดอันหนึ่ง ซึ่งจะทำการตัดสินเกี่ยวกับสิ่งที่มีลักษณะเป็นภววิสัยยิ่งกว่าที่จะมีลักษณะเป็นอัตวิสัย และนำเอาการตัดสินนั้นผ่านไปถึงคุณภาพต่างๆของประสบการณ์อย่างฉับพลัน

ผลที่ตามมา เขายืนยันว่า มันเป็นการจดจำรับรู้เกี่ยวกับ"แบบของจุดมุ่งหมาย" ไม่ได้เป็นการจดจำรับรู้เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในตัวมันเอง ซึ่งมันทำให้เกิดประสบการณ์เกี่ยวกับความงามขึ้น

ตัวอย่างเช่น รูปแบบของผลงานศิลปะ การออกแบบผลงานจิตรกรรม หรือโครงสร้างเกี่ยวกับองค์ประกอบของเครื่องดนตรี เป็นผลเนื่องมาจากกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายของตัวแทนมนุษย์คนหนึ่ง. รูปแบบของธรรมชาตินั้นเป็น หรือสามารถถูกนำมาใช้เป็น ผลที่เนื่องมาจากกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายของพระผู้เป็นเจ้า. การตัดสินเกี่ยวกับรสนิยมได้เพ่งพินิจลงไปบนรูปแบบของตัวมันเองต่างๆเหล่านี้ โดยปราศจากการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ในความสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายที่มันเป็นจริง

Kant ยังได้ปฏิเสธด้วยว่า สีมีความงาม; เขากล่าวว่า มันเป็นที่ยอมรับกันอย่างนั้น. ความพึงพอใจซึ่งเป็นที่ตกลงกันเกี่ยวกับสี อาจถูกทำให้รู้สึกเพลิดเพลินเจริญใจไปตามรูปทรงที่นำพาสี แต่ทั้งสองนี้(สีและรูปทรง)แตกต่างกัน. เพียงรูปทรงเท่านั้นที่มีความงาม

ผู้คนทั้งหลายอาจไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับสีต่างๆที่พวกเขาพบว่าถูกใจ แต่พวกเขาควรจะเห็นด้วยกับเรื่องของรูปทรง. แน่นอน รูปทรงนั้นสร้างขึ้นมาโดยไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุธาตุของสี แต่รูปทรงต่างๆก็แตกต่างกันไป เช่นรูปทรงที่เป็นรูปธรรม และรูปทรงที่เป็นนามธรรม และวัตถุธาตุต่างๆของมัน

สรุป
ทฤษฎีเกี่ยวกับความสามารถของรสนิยม ในหลายๆเรื่องของ Kant ได้ดำเนินไปอย่างงดงามตามเส้นทางนั้น ปรัชญาต่างๆทางด้านรสนิยมในแต่ละสำนักซึ่งนำมาสนทนากันในที่นี้เป็นเรื่องของความงามเชิงอัตวิสัย แต่ก็มีบางส่วนเหมือนกันซึ่งยืนยันว่า ลักษณาการณ์บางอย่างที่ระบุมีความเป็นภววิสัย

แต่ละทฤษฎีต่างพยายามที่จะยึดหลักตัวของมันเองกับแง่มุมบางอย่างที่เป็นภววิสัยเกี่ยวกับโลก ซึ่งในที่นี้ ใคร่จะสรุปลักษณะบางอย่างของแต่ละทฤษฎีที่ได้กล่าวมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง

Shaftesbury.....................เสนอ แบบของความงาม(the Form of Beauty)
Hutcheson.......................เสนอ เอกภาพในความหลากหลาย(uniformity in variety)
Burke.................................เสนอ ความเล็ก, ความราบรื่น(smallness, smoothness)
Alison................................เสนอ เครื่องหมายเกี่ยวกับคุณภาพหรือคุณลักษณ์ของจิตใจ(a sign of a quality of mind)
Hume................................เสนอ คุณลักษณ์(คุณภาพ)ที่ไม่ระบุชัด(certain unspecified)
Kant...................................เสนอ แบบของจุดมุ่งหมาย(the Form of Purpose)

เหมือนกับวิธีการทางปรัชญาเกี่ยวกับรสนิยมกำลังจะถูกละทิ้งไป เนื่องจากทฤษฎีต่างๆทางสุนทรีย์เริ่มที่จะได้รับการยึดถือในฐานะที่เป็นเรื่องของอัตวิสัย. ข้อความซึ่งนำมาอ้างต่อไปนี้เป็นผลงานของนักปรัชญาชาวเยอรมันในคริสตศตวรรษที่ 19 คือ Arthur Schopenhauer นับว่าเป็นภาพประกอบที่ดีเกี่ยวกับทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ข้อความหนึ่ง

"เมื่อเราพูดว่าสิ่งหนึ่งมีความงาม เพราะเรายืนยันว่า มันเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งของการพิจารณาใคร่ครวญทางสุนทรีย์ของเรา(our aesthetic contemplation)... มันหมายความว่า สัญลักษณ์ของสิ่งนั้นมันสร้างลักษณะภววิสัยให้กับเรา กล่าวคือ ในการพิจารณาใคร่ครวญสิ่งนั้น เรามิได้สำนึกเกี่ยวกับตัวของเราเองในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล แต่ในฐานะที่เป็นเรื่องของความรู้อันบริสุทธิ์โดยไม่มีเจตนาใดๆทั้งสิ้น...."

ความสำคัญของคริสตศตวรรษที่ 18 สำหรับเรื่องของสุนทรียศาสตร์อาจได้รับการสรุปอย่างคร่าวๆได้ว่า ก่อนคริสตศตวรรษที่ 18 "ความงาม"ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางความคิดของสุนทรียศาสตร์; ในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 18 นั้น มันได้รับการแทนที่โดย"แนวความคิดเกี่ยวกับรสนิยม"; และในช่วงสิ้นสุดศตวรรษ แนวความคิดเรื่องรสนิยมได้ค่อยๆถูกทำให้อ่อนกำลังลง ทำให้ช่องทางเปิดให้กับ"แนวความคิดเกี่ยวกับสุนทรีย์"อย่างอื่นๆ

 

ย้อนกลับไปอ่านบทความลำดับที่ 522



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง "ทฤษฎีความงาม-สุนทรียศาสตร์แบบยูโรเซนทริค" เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม, สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เซนต์.โธมัส อไควนัส พยายามที่จะแยกคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความพึงพอใจออกมา. เขาได้สรุปว่า เงื่อนไขของความงามนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ 1). ความสมบูรณ์ หรือความไม่เสื่อมถอย (perfection or unimpairedness) 2). สัดส่วนหรือความกลมกลืน (proportion or harmony) และ 3). ความเจิดจ้าใสสว่างหรือความกระจ่างชัด (brightness or clarity) (คัดมาบางส่วนจากบทความ)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ความคิดเกี่ยวเรื่องของ "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" หรือ "the notion of disinterestedness" ได้ถูกรับเอามาเป็นจุดศูนย์กลางเกี่ยวกับการวิเคราะห์ต่างๆเหล่านี้ และถือว่าเป็นแกนหลักของแนวความคิดในเรื่องสุนทรียศาสตร์ ของบรรดานักปรัชญากลุ่มดังกล่าว ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ "ความงาม" ได้ถูกแยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และมันได้ถูกแทนที่โดยแนวความคิดทางด้านสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความสนใจของบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย.
หลังจากคริสตศตวรรษที่ 18 มีคำซึ่งพ้องกันกับคำคุณศัพท์ต่างๆเกี่ยวกับความสุนทรีย์มากมายในระดับเดียวกัน อย่างเช่นคำว่า"ความสูงส่ง"(sublime)คำว่า"งดงามมีเสน่ห์ดุจภาพเขียน"(picturesque)
ู้

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
R
Eurocentric aesthetics
(ย้อนกลับไปอ่าน บทความลำดับที่ 523)