บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 522 หัวเรื่อง
สุนทรียศาสตร์แบบยูโรเซนทริค
สมเกียรติ
ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ปรัชญาศิลปะตะวันตก
ทฤษฎีความงาม-สุนทรียศาสตร์แบบยูโรเซนทริค
(ตอนที่ ๑)
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ:
บทความวิชาการชิ้นนี้ เป็นเรื่องราวของทฤษฎีความงาม
ซึ่งจะให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านโดยกล่าวถึงเรื่องของความงาม นับตั้งแต่ยุคกรีกเป็นต้นมา
จนถึงคริสตศตวรรษที่ 18 [เท่านั้น]
(เมื่อมาถึงคริสตศตวรรษที่ 18 ทฤษฎีความงาม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น"สุนทรียศาสตร์"
ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำเดิม)
ผลงานชิ้นนี้ เป็นการตัดตอนมาจากงานวิชาการฉบับเต็มของผู้เรียบเรียง
อันเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารคำสอน กระบวนวิชา"ปรัชญาศิลปะตะวันตก"
สำหรับนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้สนใจในงานศิลปะกระแสหลักในทาง
วรรณคดี ดนตรี ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมทางสายตาอื่นๆ
สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในเชิงทฤษฎีศิลปะ ปรัชญาศิลปะ และการวิจารณ์ศิลปะ
ฯลฯ
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12 หน้ากระดาษ A4)
ความนำ
ปัญหาต่างๆที่รวมอยู่ในวิชาปรัชญาศิลปะนั้น มีอยู่อย่างมากมายกระจัดกระจายไปทั่ว
และเท่าที่สำรวจ ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยสอดคล้องกันเท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การศึกษาเกี่ยวกับผลงานทางด้านปรัชญาศิลปะ
ค่อนข้างจะมีเนื้อหาที่สับสนวุ่นวายเอามากๆ
สำหรับเป้าหมายหลักของ"สุนทรียศาสตร์แบบยูโรเซนทริค" ส่วนแรกนี้จะนำเสนอภาพกว้างที่เป็นขอบเขตเกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งปัญหาต่างๆทางด้านปรัชญาศิลปะได้ค่อยๆปรากฏตัวขึ้นมา ขอบเขตอันนี้จะช่วยให้เราได้เข้าใจถึงปัญหาต่างๆอันหลากหลายว่า มันมีความสัมพันธ์ในทางประวัติศาสตร์และตรรกวิทยาอย่างไร
คำถามต่างๆที่รวมอยู่ในปรัชญาทางด้านศิลปะ ได้พัฒนาขึ้นมาจากความเกี่ยวพันกันคู่หนึ่งในประวัติศาสตร์ความคิด: นั่นคือ ทฤษฎีความงาม และ ทฤษฎีศิลปะ (โปรดดู Aesthetics an Introduction ของ George Dickie / น. 1) ความเกี่ยวพันกันทางด้านปรัชญาของความคิดทั้งสองนี้ ได้รับการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันเป็นครั้งแรกโดยเพลโต แม้ว่าบรรดาปรัชญาเมธีทั้งหลายจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับทฤษฎีศิลปะ หรือนิยามความหมายของคำว่าศิลปะอย่างเป็นเอกภาพก็ตาม
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ บรรดานักปรัชญาทั้งหลายก็ยังคงโต้เถียงกันถึงเรื่องของทฤษฎีความงามของศิลปะ ซึ่งอันนี้เป็นหัวข้อที่เกือบจะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่เพลโตได้กระทำมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเกี่ยวกับความงามเหล่านี้ ได้ผ่านขั้นตอนความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18
ทั้งนี้เพราะบรรดานักปรัชญาในช่วงแรก ได้เพียงแต่ถกเถียงกันถึงเรื่องธรรมชาติเกี่ยวกับความงามเท่านั้น แต่พอมาถึงคริสตศตวรรษที่ 18 บรรดาปรัชญาเมธีทั้งหลายได้เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องแนวความคิดต่างๆกว้างออกไปมากขึ้น เช่น
แนวคิดเกี่ยวกับคำว่า sublime ซึ่งแปลว่า "ความสูงส่ง การทดเทิด ความประเสริฐ ความน่าอัศจรรย์" หรือคำว่า picturesque ซึ่งแปลว่า "ความงดงามดุจดั่งภาพเขียน" และคำอื่นๆอีกในทำนองเดียวกันนี้ คำศัพท์ใหม่ๆข้างต้นอาจเป็นไปได้ว่า มันเป็นคำซึ่งแตกตัวออกมาจาก"ความงาม"(beauty)นั่นเอง หรือเป็นเรื่องของแนวความคิดเกี่ยวกับความงามที่เสริมเข้ามา
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้(ราวคริสตศตวรรษที่ 18) แนวความคิดเกี่ยวกับความงาม ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาอีกกระแสหนึ่ง กล่าวคือ แนวความคิดทางด้านสุนทรียศาสตร์ได้มีการกำหนดขึ้นมา ในกลุ่มของบรรดานักคิดและนักปรัชญาทั้งหลาย อย่างเช่น Shaftesbury, Hutcheson, Burke, Alison และ Kant
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว บรรดานักปรัชญาเหล่านี้ ต่างก็ผูกพันอยู่กับการพัฒนาเรื่อง"ทฤษฎีรสนิยม"(theory of taste) ทำให้บุคคลเหล่านี้สามารถที่จะวิเคราะห์เกี่ยวกับประสบการณ์ในเรื่องความงาม และปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กัน ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาทั้งในทางธรรมชาติและในทางศิลปะ
ความคิดเกี่ยวเรื่องของ "การไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์" หรือ "the notion of disinterestedness" ได้ถูกรับเอามาเป็นจุดศูนย์กลางเกี่ยวกับการวิเคราะห์ต่างๆเหล่านี้ และถือว่าเป็นแกนหลักของแนวความคิดในเรื่องสุนทรียศาสตร์ ของบรรดานักปรัชญากลุ่มดังกล่าว ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ "ความงาม" ได้ถูกแยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และมันได้ถูกแทนที่โดยแนวความคิดทางด้านสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความสนใจของบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย
หลังจากคริสตศตวรรษที่ 18 คำว่า"ความงาม"ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นคำซึ่งมีความหมายพ้องกันกับคำว่า"การมีคุณค่าทางสุนทรีย์"(having aesthetic value) หรือเป็นคำซึ่งพ้องกันกับคำคุณศัพท์ต่างๆเกี่ยวกับความสุนทรีย์มากมายในระดับเดียวกัน อย่างเช่นคำว่า"ความสูงส่ง"(sublime) และคำว่า"งดงามมีเสน่ห์ดุจภาพเขียน"(picturesque) อันนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงผลงานทางด้านศิลปะ และธรรมชาติ
และนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่
18 เป็นต้นมา คู่ของความสนใจของบรรดาปรัชญาเมธีทั้งหลายได้เปลี่ยนจาก "ทฤษฎีความงาม"
และ "ทฤษฎีศิลปะ" มาเป็น "ทฤษฎีสุนทรียภาพ" กับ "ทฤษฎีศิลปะ"(theory
of aesthetic and theory of art)
สิ่งที่จะสนทนากันต่อไปเกี่ยวกับเรื่อง"ความงาม" ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์
และปรัชญาทางด้านศิลปะข้างหน้านี้ ส่วนมากแล้วได้รับการพัฒนามาจากข้อสรุปในทางทฤษฎีที่เป็นไปตามลำดับการณ์ทางประวัติศาสตร์
ซึ่งจะได้ดำเนินไปเป็นขั้นตอนตามทฤษฎี ตัวอย่างเช่น นับจาก Plato, Aristotle,
ไล่เรียงมาจนถึง Shaftesbury และ Kant โดยจะนำเสนอแนวทางเกี่ยวกับปัญหาต่างๆและทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ขึ้นมาพิจารณาว่า
ได้มีการพัฒนามาตลอดประวัติศาสตร์อย่างไร
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ ได้ใช้หนังสือหลายเล่มด้วยกันมาเป็นแนวทางการเรียบเรียง ทั้งงานแปล และงานเขียนตำราที่เคยทำกับกระบวนวิชาอื่นๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยพยายามที่จะทำให้ทุกๆส่วนมีความสัมพันธ์กันอย่างสอดคล้อง ทั้งนี้โดยอิงอาศัยโครงสร้างหลักจากงานเขียนเรื่อง Aesthetics an Introduction ของ George Dickie มาเป็นแกนดำเนินเรื่อง (หนังสือที่กล่าวถึงนี้ได้มีการตีพิมพ์ถึง 6 ครั้ง จึงค่อนข้างแน่ใจได้ระดับหนึ่งว่าเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง)
สำหรับงานชิ้นนี้ของ
George Dickie ก็ได้ใช้ผลงานเขียนจากหนังสือเล่มอื่นๆมาประกอบด้วยมากมายเช่นกัน
ยกตัวอย่าง งานเขียนของ Monroe Beardsley ในเรื่อง Aesthetics from Classical
Greece to Present. และผลงานเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ในคริสตศตวรรษที่
18 ของบรรดานักปรัชญา โดยอาศัยงานเขียนชุดการศึกษาในเรื่องดังกล่าวของ Jerome
Stolnitz ในเรื่อง On the Significance of Lord Shaftesbury in Modern Aesthetic
Theory, และเรื่อง Beauty: Some Stage in the History of an Idea, และ On
the Origins of Aesthetic Disinterestedness. ด้วยความหลากหลายดังที่กล่าวมานี้ยังมีผลงานของ
W.J.Hipple ด้วย อย่างเช่น The Beautiful, The Sublime, and the Picturesque
in 18th Century British Aesthetic Theory.
(หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ ตัดตอนมาบางส่วนจากงานวิชาการฉบับเต็ม ซึ่งในบทความลำดับที่
522 และ 523 จะนำเสนอแต่เพียง"ทฤษฎีเกี่ยวกับความงาม" เท่านั้น)
ทฤษฎีเกี่ยวกับความงามแบบยูโรเซนทริค
๑. ปรัชญาเมธีกรีก
เพลโต : Plato
ข้อพิจารณาในลำดับแรกสุดในเรื่องเกี่ยวกับ "ทฤษฎีความงาม" ซึ่งนำเสนอโดย
Plato (428-348 ก่อน คริสตศักราช)นั้น มีอยู่ในเรื่อง Symposium. สำหรับแนวเรื่องโดยทั่วไปของ
Symposium เป็นเรื่องของ"ความรัก". ตัวละครแต่ละตัวในบทสนทนาดังกล่าว
ได้มีการพูดถึงเรื่องของ "ความรัก" และคำถามเกี่ยวกับ "ความงาม"
และความงามได้รับการสรุปว่า "ความงามคือวัตถุธรรมของความรัก"นั่นเอง(beauty
is the object of love)
Socrates ได้แสดงทัศนะของตนในลักษณะอ้อมๆโดยได้สนทนากับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีชื่อว่า Diotima แห่ง Mantineia ซึ่งการสนทนากันนั้น Diotima ได้ให้เค้าโครงเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะ"รักในความงาม". คำสอนอันนี้(รักในความงาม) จะเริ่มต้นขึ้นนับแต่วัยรุ่งอรุณ(หรือในวัยเยาว์) และจนกระทั่งไปถึงวัยหนุ่มสาว คำสอนเกี่ยวกับการรักในความงามนั้น จะได้รับการสอนให้รู้จักรักในเรือนร่างที่งดงาม
เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น จะสังเกตเห็นว่า เรือนร่างของคนๆหนึ่งได้แบ่งแยกจากความงามกับเรือนร่างอื่นๆที่งดงาม. ซึ่งอันนี้เป็นการเตรียมพร้อมที่จะนำไปสู่พื้นฐานสำหรับความรักในเรือนร่างที่งดงามทั้งหมด ไม่เพียงแต่ความรักในเรือนร่างของตนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น (อันนี้จัดเป็นความงามในระดับวัตถุ)
ผู้ที่เรียนรู้จะต้องตระหนักว่า ความงามของวิญญานต่างๆ(beauty of soul) เป็นสิ่งที่สูงส่งกว่าความงามในระดับของเรือนร่าง(ระดับกายภาพ) ที่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องที่สูงขึ้นไป เรียกว่าเป็นระดับของจิตวิญญาน(spiritual stage) ในระดับนี้คือ การเรียนรู้ที่จะรักใน"การปฏิบัติ"และ"ขนบประเพณีที่งดงาม"(love beautiful practices and custom) (อันนี้จัดเป็นความงามในระดับจิต)
ในขั้นต่อไปต้องตระหนักถึง ความงามในความหลากหลายของความรู้(the beauty in the various of knowledge) (อันนี้จัดเป็นความงามในระดับสติปัญญา)
และในขั้นสุดท้าย คือ ประสบการณ์ความงามในตัวของมันเอง(experience beauty itself) ซึ่งไม่ได้เป็นตัวตนหรือรูปร่าง มันมีลักษณะที่เป็นนามธรรม (อันนี้จัดเป็นความงามในระดับสูงสุดหรือระดับนามธรรมสมบูรณ์)
จะสังเกตว่า กระบวนการของความรัก ค่อยๆกลับกลายไปเป็นลักษณะนามธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุดของความรักที่เป็นนามธรรมอย่างสมบูรณ์ - แบบของความงาม(the Form of beauty)
วิธีการของเพลโตเกี่ยวกับเรื่องของความงามในที่นี้
เป็นตัวอย่างทฤษฎีของเพลโตเองในเรื่องเกี่ยวกับ"แบบ"(forms). ในคำต่างๆอย่างเช่น
"ความงาม", "ความดี", "ความยุติธรรม", และ"ความเป็นสามเหลี่ยม"
คำต่างๆเหล่านี้จะมีความหมายโดยธาตุแท้ที่เป็น"นามธรรม"
สำหรับ"สิ่งเฉพาะ"(particular)คือขั้นที่ต่ำลงมาจากโลกของแบบ.
"สิ่งเฉพาะ"ในทฤษฎีของเพลโตหมายความถึง วัตถุหรือสิ่งของทางกายภาพ
หรือการกระทำต่างๆที่มองเห็นได้ในโลกของเรา อย่างเช่น "ความงาม",
"ความดี", "ความยุติธรรม", ที่เป็นปรากฏการณ์บนโลก.
โลกที่เป็นวัตถุ สิ่งของ การกระทำต่างๆ ล้วนมีส่วนร่วมใน"แบบของความเป็นนามธรรม"
ทั้งนี้เพราะเพลโตได้วาดเส้นแบ่งที่ชัดเจนขึ้นมาระหว่าง:
1). สิ่งสวยงามต่างๆซึ่งถูกรวมอยู่ในระดับของวัตถุที่เราเห็นได้ ได้ยินเสียง(เช่น ความไพเราะ)
หรือที่เราสัมผัสได้ในโลกของความรู้สึก (สิ่งเฉพาะ)
2). ความงามโดยตัวของมันเอง ซึ่งดำรงอยู่พ้นไปจากโลกของการเห็นและการได้ยินเสียงหรือเหนือโลกแห่งกายสัมผัสต่างๆ
อย่างที่เพลโตเรียกว่า "ในโลกที่สามารถเข้าใจได้"(the intelligible world) (โลกของแบบ)
โลกของ"แบบ"(Forms)นั้น ไม่ต้องอาศัยเรื่องของกาลเวลา ไม่ต้องอาศัยเรื่องของที่ว่าง (คือไม่ต้องดำรงอยู่ในกาละและเทศะ)(the nontemporal, nonspatial Form) มันเป็นความจริงและเป็นเนื้อหาต่างๆของความรู้ที่เป็นนิรันดรกาล. ปรัชญาของเพลโตไม่ค่อยให้ความเอาใจใส่หรือสนใจที่จะนำมาใช้ในโลกแห่งผัสสะ และยังได้พิจารณาว่า "โลกแห่งผัสสะ" เป็นเรื่องของมายาการ
ปรัชญาของเพลโตที่นำเสนอมาข้างต้น มิได้ทำหน้าที่เป็นพื้นฐานสนับสนุนทฤษฎีทางด้านความงาม หรือทฤษฎีศิลปะดังที่เข้าใจกันในทุกวันนี้. สำหรับเพลโตแล้ว ความงามเป็นเรื่องที่อยู่เหนือขึ้นไปจากโลกของประสบการณ์ทางด้านผัสสะ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับความงาม(ซึ่งไม่ใช่วัตถุหรือสิ่งของที่มีความงาม)นั้น ไม่เหมือนกับสิ่งที่ได้รับการอธิบายว่าเป็นประสบการณ์ทางสุนทรีย์ในทุกวันนี้
ปรัชญาของเพลโต ปกติแล้วไม่ได้เอาใจใส่หรือพิจารณาเรื่อง"การเห็น"หรือ"การได้ยิน" เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงมายาการเท่านั้น และไม่ได้มีทัศนะที่เห็นอกเห็นใจกับเรื่องของศิลปะด้วย แต่อย่างไรก็ตาม มีบ้างที่เพลโตได้ให้ความสนใจในสิ่งต่างๆที่งดงามในโลกของผัสสะ แม้ว่าความสนใจนี้จะเจือปนไปด้วยความไม่แน่ใจก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น เพลโตพยายามที่จะค้นหาคุณสมบัติต่างๆในสิ่งที่สวยงามว่ามีอะไรเป็นปกติวิสัย สิ่งสวยงามที่เป็นธรรมดาง่ายๆ เช่น สีที่บริสุทธิ์ และสิ่งสวยงามซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สิ่งธรรมดาๆเหล่านี้มีเอกภาพของมันเป็นปกติ และสิ่งต่างๆที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นมา มันก็จะมีจังหวะและสัดส่วนที่เป็นปกติอันเป็นรูปแบบหนึ่งของความมีเอกภาพ
อย่างไรก็ตาม เพลโตมิได้มีความมุ่งหมายที่จะพิสูจน์ในเรื่อง"ความงาม"และ"ความมีเอกภาพ" กล่าวคือ เขาไม่ได้คิดว่า"ความงาม"และ"เอกภาพ"เป็นคำซึ่งมีความหมายเดียวกัน. บางสิ่งบางอย่างที่มีความงามเป็นคุณสมบัติของตัวมันเอง ซึ่งจะมีส่วนร่วมอยู่ใน"แบบของความงาม"(Form of beauty) และมันเป็นสิ่งที่สามารถค้นพบได้ อันนี้เป็นการยืนยันว่า สิ่งซึ่งมีความงามทั้งหมดได้ถูกทำให้มีความเป็นหน่วยเดียวกัน
"เอกภาพ"นั้น มักจะมีคุณลักษณะที่สอดคล้องเป็นอย่างเดียวกันเสมอ อันที่จริงในทัศนะของเพลโตนั้น ดูเหมือนว่า "ความงาม"จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาอันหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่อาจที่จะวิเคราะห์แยกแยะได้ อันนี้หมายความว่า คำๆนี้ไม่สามารถที่จะนิยามได้นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น "สีแดง" บ่อยครั้ง คำที่เกี่ยวกับสี อย่างเช่น "สีแดง" เป็นคำที่ไม่อาจจะนิยามได้ และคำว่า "แดง" นี้ พวกเราสามารถเรียนรู้ความหมายของคำดังกล่าว หรือจะใช้คำดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม เพียงแต่ในประสบการณ์ตรงเท่านั้น โดยที่อาจมีใครบางคนชี้นิ้วไปที่สีๆหนึ่ง และเปล่งเสียงออกมาเป็นคำที่เหมาะสมกับสีๆนั้น
ด้วยเหตุนี้ "ความงาม" จึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นคุณสมบัติที่ธรรมดาอันหนึ่ง ซึ่งได้ครอบครองคุณสมบัติบางอย่างไว้; ถ้าหากว่าสิ่งๆหนึ่งครอบครอง"ความงาม"อยู่ มันก็มักจะมีคุณสมบัติอีกอันหนึ่งเสมอด้วย นั่นคือ"ความมีเอกภาพ"
เพลโตได้เน้นในเรื่องของ การวัด มาตรส่วน และเรื่องของสัดส่วน ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก่อนนักปรัชญาคนอื่นๆ นักปรัชญาบางคนได้ดำเนินรอยตามความคิดของเขาอันนี้ และได้นำเอาผลงานบางส่วนของเขาที่เกี่ยวกับเรื่อง"ทฤษฎีแบบ"มาใช้ รวมไปถึงเรื่องความคิดเกี่ยวกับความงาม ซึ่งโดยธาตุแท้แล้ว เป็นเรื่องที่อยู่เหนือโลกขึ้นไปมาใช้ด้วย ในขณะที่ปรัชญาเมธีบางคนก็พยายามที่จะพิสูจน์เรื่องของ"ความงาม" กับ"จังหวะสัดส่วน" ดังที่พวกเราจะพบเห็นได้จากประสบการณ์ทางด้านผัสสะของเรา
โพลตินุช : Plotinus
ปรัชญาเมธีคนต่อมา ที่ได้พัฒนาทฤษฎีทางด้านความงามอย่างค่อนข้างสมบูรณ์อีกคนหนึ่ง
ก็คือ โพลตินุส (คริสตศักราช 204-269). ปรัชญาของโพลตินุสเป็นเรื่องราวอันหนึ่งของลัทธิเพลโต
โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องของความลึกลับซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในปรัชญาเพลโต
ที่ได้ถูกนำมาพัฒนาและขยายกว้างออกไปอย่างเต็มที่
ธรรมชาติที่แท้จริงเกี่ยวกับความลึกลับนั้น เป็นไปได้ที่จะถูกทำให้ชัดเจนขึ้นมาได้ ด้วยการใช้ภาษาที่เข้าไปเกี่ยวพันกับทัศนะอันนั้น. ความลึกลับได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่อาจพรรณาหรืออธิบายได้ จุดศูนย์รวมอันดับแรกของปรัชญานี้ก็คือ องค์เอกภพ(the One - พระเจ้า)อันเป็นบ่อเกิดแห่งสรรพสิ่ง
ในเรื่อง"ความลึกลับ"ของโพลตินุส ได้เน้นถึงเรื่องของมายาการในโลกแห่งผัสสะ ยิ่งเสียกว่าปรัชญาของเพลโตอีก โพลตินุสยอมรับ"ทฤษฎีแบบ"ของเพลโต และถือว่าโลกแห่งผัสสะหรือโลกที่เราสัมผัสจับต้องได้นั้น มีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ นั่นคือ มันเป็นเพียง"ภาพสะท้อน"เท่านั้น และการสะท้อนนี้ได้เผยให้เห็นถึง"โลกของแบบ" โดยวิธีการใคร่ครวญไตร่ตรอง(contemplation - การเข้าญาน)
โพลตินุสก็เช่นเดียวกับเพลโต ตรงที่ถือว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับความงาม โดยตัวของมันเองนั้น ไม่ได้เป็นประสบการณ์ของผัสสะ แต่เป็นเรื่องของสติปัญญา. บางทีผลของทฤษฎีต่างๆ ทั้งของเพลโตและโพลตินุส ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปและสำคัญที่สุดก็คือ การเสนอความคิดเกี่ยวกับการพิจารณาใคร่ครวญ(contemplation - การเข้าญาน) ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นแก่นแกนทางความคิดในทฤษฎีเกี่ยวกับความงามเลยทีเดียว
และติดตามมาด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับประสบการณ์ทางสุนทรีย์ ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ต่างๆเกือบทั้งหมดได้ธำรงรักษาหนทางอันหนึ่งเอาไว้ กล่าวคือ "ประสบการณ์เกี่ยวกับความงาม" หรือโดยทั่วไปเรียกว่า "ประสบการณ์ทางสุนทรีย์" ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการพิจารณาใคร่ครวญ(contemplation - การเข้าญาน)
เมื่อตอนที่นักปรัชญาอย่าง เพลโตและโพลตินุส ได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ"การพิจารณาใคร่ ครวญ(contemplation - การเข้าญาน) พวกเขาหมายถึง "การไตร่ตรองหรือการทำสมาธิชนิดหนึ่ง(a kind of meditation) แน่นอนที่ว่า มันเป็นแนวทางของการพิจารณาใคร่ครวญ ซึ่งคล้ายกับการเอาใจใส่อย่างจดจ่อต่อวัตถุบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งในโลกแห่งผัสสะก็ได้
ทฤษฎีทางด้านสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความสงสัยในเจตนาอันคลุมเครือสำหรับแนวทางอย่างหลังอันนี้ในเรื่องของการพิจารณาใคร่ครวญ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า กลิ่นไอบางอย่างของแนวคิดแบบโพลติเนี่ยน คงมีผลให้มีการติดเชื้อของการใช้คำว่า"การพิจารณาใคร่ครวญ(contemplation - การเข้าญาน) ในทฤษฎีสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่ต่างๆ
"การพิจารณาใคร่ครวญ(contemplation - การเข้าญาน) เป็นหนึ่งในคำเหล่านั้นที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ซึ่งบางครั้งได้ปิดบังสิ่งสำคัญบางอย่างเอาไว้. ประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติและศิลปะ บางครั้งเรียกว่าเป็นเรื่องของการพิจารณาใคร่ครวญได้อย่างเหมาะสม - ตัวอย่างเช่น การฟังดนตรีทางศาสนา หรือการจ้องมองไปยังพระพุทธรูป เป็นต้น
แต่อันที่จริง ประสบการณ์ของพวกเราส่วนใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและศิลปะนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาใคร่ครวญหรือการทำสมาธิแต่อย่างใด - แต่กลับกลายเป็นเรื่องของความสนุกสนาน ความร่าเริง และความมีชีวิตชีวา ความพอใจ ความขบขัน ความโกลาหล และอะไรต่างทำนองนี้มากกว่า
ด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนว่า ถ้าปรารถนาที่จะให้คำๆหนึ่ง อธิบายถึงคุณลักษณะของประสบการณ์ทางสุนทรีย์ของพวกเราทั้งหมดได้อย่างถูกต้อง คำว่า"การพิจารณาใคร่ครวญ(contemplation - การเข้าญาน) ดูออกจะไม่เป็นการเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทั้งนี้เพราะมันค่อนข้างที่จะคับแคบเกินไปนั่นเอง
แต่ในความคับแคบเช่นนั้น ดูออกจะไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเลย เมื่อพวกเราพิจารณาว่า ความคิดเห็นดังกล่าว มันมีกำเนิดขึ้นมาในทัศนะของปรัชญาเมธีต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของทางโลกทั้งหลายอย่างพวกเรา
๒. ปรัชญาเมธียุคกลาง
เซนต์. โธมัส อไควนัส : St. Thomas Aquinas
ปรัชญาของเพลโตนั้นได้ส่งอิทธิพลต่อมาอีกหลายศตวรรษ ยกตัวอย่างเช่น เซนต์.ออกัสติน
(ค.ศ.354-430) ซึ่งถือว่าเป็นทั้งปรัชญาเมธีและนักเทววิทยาคนสำคัญ และเป็นบุคคลที่ได้ธำรงรักษาทฤษฎีความงามของเพลโต
เช่นเดียวกับคำสอนอื่นๆของเพลโตไม่ให้สูญสลายไป
เป็นเวลาเกือบ 900 ปีหลังจากยุคสมัยของ เซนต์.ออกัสติน, อิทธิพลของอริสโตเติล(384-322 ก่อนคริสตศักราช) สานุศิษย์คนหนึ่งของเพลโตที่ร่วมสมัยกัน ได้เข้ามามีอิทธิพลแทนที่ความคิดของเพลโตในหมู่นักคิดคริสเตียนทั้งหลาย อริสโตเติลปฏิเสธทัศนะของเพลโตที่ว่า "แบบ"มีอยู่เหนือโลกแห่งประสบการณ์ และดำรงอยู่ในอาณาจักรของตัวมันเองที่แยกตัวออกไป
แต่อย่างไรก็ตาม ปรัชญาของอริสโตเติล ยังคงรักษาแนวความคิดเกี่ยวกับ"แบบ"เอาไว้ และยืนยันว่า พวกมันได้ถูกทำให้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในธรรมชาติ ดังที่พวกเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับมัน และ"แบบ"นั้นมิได้ดำรงอยู่อย่างอิสระ
สำหรับอริสโตเติลแล้ว ไม่มีโลกสองโลกอย่างที่เพลโตเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น มันมีเพียงโลกเดียว และเป็นโลกซึ่งสามารถเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ อริสโตเติลเชื่อว่า "โลกแห่งผัสสะ"หรือที่เรามีประสบการณ์สัมผัส โดยพื้นฐานแล้ว มันไม่ได้เป็นเรื่องของมายาการแต่อย่างใด และปรัชญาของเขาได้เตรียมรากฐานอันหนึ่งขึ้นมา สำหรับการที่จะให้ความสนใจในปรากฎการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติและศิลปะ
ภายในแวดวงเทววิทยาของคริสเตียน ปรัชญาอริสโตเตเลี่ยนนั้น ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ และเต็มไปด้วยพลังซึ่งส่อให้เห็นถึงอิทธิพลที่มีอยู่อย่างมากมายในงานเขียนของ เซนต์.โธมัส อไควนัส(ค.ศ.1225-1274)
สำหรับแนวความคิดของอไควนัสเกี่ยวกับเรื่อง"ความงาม"นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องซึ่งอยู่เหนือโลกขึ้นไป; เขาได้ให้นิยามความหมายเกี่ยวกับเรื่องของความงามว่า เป็น"สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน พอใจ เมื่อได้เห็น". ความงามยังได้สัมพันธ์กับความปรารถนาตรงที่ "ความงามเป็นสิ่งซึ่งทำให้ความปรารถนาสงบลง เมื่อได้เห็นหรือได้รู้จักมัน"
แน่นอนที่ว่า ไม่ใช่ทุกๆสิ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ หรือทำให้ความปรารถนาสงบลงโดยการมองเห็นหรือรู้จักกับสิ่งนั้นๆ และ เซนต์.โธมัส อไควนัส พยายามที่จะแยกคุณสมบัติเพียงลำพังโดดๆของวัตถุต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจออกมา. เขาได้สรุปว่า เงื่อนไขของความงามนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ
1). ความสมบูรณ์ หรือความไม่เสื่อมถอย (perfection or unimpairedness)
2). สัดส่วนหรือความกลมกลืน (proportion or harmony)
3). ความเจิดจ้าใสสว่างหรือความกระจ่างชัด (brightness or clarity)
อไควนัสได้เน้นในเรื่องแง่มุมเกี่ยวกับ "การรับรู้ในประสบการณ์ของความงาม" ซึ่งอันนี้หมายความว่า ในประสบการณ์เกี่ยวกับความงาม จิตได้จับเอาแบบอันหนึ่งซึ่งถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในวัตถุที่ประสบ ดูเหมือนอไควนัสจะเสนอว่า มันไม่มี"แบบ"หรือคุณสมบัติของความงามโดดๆซึ่งเป็นธรรมดาในสิ่งสวยงามทั้งหมด แต่ค่อนข้างจะเป็นว่า จิตได้จับหรือสะกัดเอา"แบบ"ออกมา ซึ่งมันเป็นมูลเหตุให้วัตถุอันหนึ่งเป็นอย่างที่มันเป็น ตัวอย่างเช่น จิตได้ยึดจับ"แบบของความเป็นม้า"ได้ เมื่อประสบกับวัตถุซึ่งเป็นม้าตัวหนึ่ง
มันมีเงื่อนไขทางด้านภววิสัยอยู่ 3 ประการด้วยกันเกี่ยวกับเรื่องของความงาม ซึ่งจะต้องพบ(ความสมบูรณ์, ความกลมกลืนได้สัดส่วน, ความชัดเจน) และยังมีเงื่อนไขทางด้านอัตวิสัยเกี่ยวกับภาวะของความพึงพอใจด้วย เกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเห็นหรือรับรู้
ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของความงาม เป็นเรื่องของการรับรู้อย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นอะไรซึ่งมากไปกว่านั้นอีก และวัตถุที่มาเกี่ยวข้องกับการรับรู้ของประสบการณ์ ก็มิได้เป็นเรื่องที่อยู่พ้นไปจากโลก และมันไม่ใช่"แบบของความงาม". (ซึ่งอันนี้เท่ากับเป็นการปฏิเสธทฤษฎีของเพลโต)
๓. ปรัชญาเมธียุคเรอเนสซองค์
สมัยเรอเนสซองค์ : Renaissance
สำหรับคำว่า Renaissance หมายถึง rebirth (เกิดใหม่) และได้รับการให้นิยามในฐานะที่เป็น
"การฟื้นฟูทางด้านศิลปะและวรรณคดี โดยการเลียนแบบยุคคลาสสิคกรีก"
เป็นยุคแห่งการเคลื่อนไหวทางด้านมนุษยนิยม ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นใหม่ๆในฐานันดรและความมีเกียรติของมนุษย์
และมีการยืนยันอย่างมั่นใจเกี่ยวกับบทบาทของมนุษย์ในโลกธรรมชาติที่แวดล้อม
ยุคสมัยเรอเนสซองค์นี้
ถือกำเนิดขึ้นในอิตาลีตั้งแต่ราวคริสตศตวรรษที่ 14 จนถึง 16
ในปี ค.ศ.1550 Vasari ได้ใช้คำว่า rinascita เพื่ออธิบายสิ่งที่เขารู้สึกว่า
เป็นพัฒนาการเกี่ยวกับชีวิตในงานจิตรกรรม นับจาก Giotto จนกระทั่งถึง Michelangelo
แต่อย่างไรก็ตาม การนำเอาศัพท์คำว่า Renaissance มาใช้อย่างกว้างขวางจริงๆ เกิดจากอิทธิพลของ Jacob Burckhardt ในงานเขียนที่ชื่อว่า Civilization of the Renaissance in Italy (1860) ซึ่งบางส่วนของงานชิ้นนี้ออกจะโรแมนติค กล่าวคือ เขาได้พิจารณาถึงยุคสมัยดังกล่าวทั้งหมด ในฐานะที่เป็นยุคสมัยแห่งความสุกงอมทางวัฒนธรรม และความเบ่งบานขึ้นมาของคุณค่าต่างๆเชิงสุนทรีย์ (The Random House Dictionary of Art and Artist. p.438)
ฟิสิโนและอัลเบอตี
: Ficino and Alberti
มาถึงสมัยเรอเนสซองค์ ได้มีการกลับไปให้ความสนใจต่อเรื่องราวเกี่ยวกับสติปัญญาที่เจริญขึ้นมาก่อนหน้านั้น
ในช่วงนี้ถือว่าเป็นยุคสมัยที่ผู้คนได้หันไปให้ความเอาใจใส่อย่างมากกับเรื่องราวของปรัชญากรีกโบราณ
และความเคลื่อนไหวที่สำคัญอันหนึ่ง ได้แก่ การฟื้นคืนมาของปรัชญาเพลโต "นีโอเพลโตนิสม"(Neoplatonism):
มาร์สิลีโอ ฟิสิโน(Marsilio Ficino - 1433-1499)เป็นบุคคลหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของขบวนการเคลื่อนไหวอันนี้ กล่าวกันว่า ถ้าจะมีอะไรใหม่ขึ้นมาบ้างเล็กน้อยที่ผนวกเข้าไปในทฤษฎีเกี่ยวกับความงามแล้วละก็ ก็คือผลงานของฟิสิโนผู้นี้ เขาได้เน้นทฤษฎีเกี่ยวกับการพิจารณาใคร่ครวญ(theory of contemplation - การเข้าญาน) ซึ่งนับว่าเป็นการธำรงรักษาเรื่องจิตวิญญานของลัทธิเพลโตเอาไว้
ในการพิจารณาใคร่ครวญ(การเข้าญาน), วิญญานได้ถอนตัวออกจากร่างกายและจากความสนใจในด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเนื้อหนังมังสา และ มันยังได้ถอนตัวออกจากวัตถุต่างๆที่ใช้ในการพิจารณาใคร่ครวญด้วย ดังที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วใน"โลกของแบบ"ของเพลโต ในทัศนะของฟิสิโนนั้น การพิจารณาใคร่ครวญมิได้มีแต่เฉพาะเรื่องของประสบการณ์ทางด้านศิลปะเท่านั้น
นอกจากนี้แล้ว การเก็งความจริงทางปรัชญา(philosophical speculation)ก็ได้รับความสนใจอย่างมากในยุคสมัยเรอเนสซองค์ ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น กล่าวคือ อย่างเช่น ทฤษฎีเกี่ยวกับงานจิตรกรรม และทฤษฎีเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม เป็นต้น. ผลงานของ ลีออน แบทิสต้า อัลเบอตี(Leon Battista Alberty : 1409-1472) นับเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางด้านประสบการณ์เชิงประจักษ์ที่สอดคล้องกับเรื่องนี้
ทฤษฎีความงามของอัลเบอตีเป็นเรื่องธรรมดาง่ายๆและตรงไปตรงมา เขาได้นิยาม"ความงาม"ในขอบเขตของ"ความกลมกลืน"ของส่วนต่างๆ ซึ่งถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม จะทำให้มันเลวลงไปทันทีได้ ดูเหมือนว่าคำนิยามนี้ จะนำมาซึ่งความหมายที่ว่า"ความงาม"เป็นระดับเดียวกันกับ"ความกลมกลืน" ยิ่งกว่าที่"ความกลมกลืน"จะเป็นเงื่อนไขของ"ความงาม"
คำจำกัดความของอัลเบอตีเป็นเรื่องของภววิสัยอันหนึ่ง เพราะภววิสัยอ้างถึงเพียงแต่ คุณ-สมบัติ(อย่างที่ปรากฎ)ของวัตถุต่างๆ มันไม่ใช่ภาวะของจิตที่เกี่ยวกับอัตวิสัย(ของแต่ละบุคคล)แต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม เขาได้ยืนยันถึงความรู้สึกพิเศษเกี่ยวกับความงามในตัวบุคคลในวิธีการที่ความงามได้ถูกรับรู้. ความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านความงาม(ภายใต้ชื่ออันหลากหลาย)เป็นแนวความคิดอันหนึ่ง ซึ่งได้ยอมรับโดยทั่วไปในวิชาสุนทรียศาสตร์คริสตศตวรรษที่ 18
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เซนต์.โธมัส อไควนัส พยายามที่จะแยกคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความพึงพอใจออกมา. เขาได้สรุปว่า เงื่อนไขของความงามนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ 1). ความสมบูรณ์ หรือความไม่เสื่อมถอย (perfection or unimpairedness) 2). สัดส่วนหรือความกลมกลืน (proportion or harmony) และ 3). ความเจิดจ้าใสสว่างหรือความกระจ่างชัด (brightness or clarity) (คัดมาบางส่วนจากบทความ)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
สำหรับคำว่า Renaissance
หมายถึง rebirth (เกิดใหม่) และได้รับการให้นิยามในฐานะที่เป็น "การฟื้นฟูทางด้านศิลปะและวรรณคดี
โดยการเลียนแบบยุคคลาสสิคกรีก" เป็นยุคแห่งการเคลื่อนไหวทางด้านมนุษยนิยม
ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นใหม่ๆในฐานันดรและความมีเกียรติของมนุษย์ และมีการยืนยันอย่างมั่นใจเกี่ยวกับบทบาทของมนุษย์ในโลกธรรมชาติที่แวดล้อม.
ยุคสมัยเรอเนสซองค์นี้ ถือกำเนิดขึ้นในอิตาลีตั้งแต่ราวคริสตศตวรรษที่ 14 จนถึง
16
ในปี ค.ศ.1550 Vasari ได้ใช้คำว่า rinascita เพื่ออธิบายสิ่งที่เขารู้สึกว่า
เป็นพัฒนาการเกี่ยวกับชีวิตในงานจิตรกรรม นับจาก Giotto จนกระทั่งถึง Michelangelo