ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
310148
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 515 หัวเรื่อง
นิธิพูดถึงการเมืองเรื่องหมากัดกัน
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์.
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ยุทธวิธีทางการเมืองเรื่องเลือกตั้ง
การเมืองภาคพลเมืองเรื่อง"หมากัดกัน" (๑)
บทความถอดเทปในส่วนของ
นิธิ เอียวศรีวงศ์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันที่ 30 มกราคม 2548 / เวลา 9.30-12.00
สถานที่ : สมาคนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผู่ร่วมบนเวทีประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ, อรรถจักร สัตยานุรักษ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สมเกียรติ ตั้งนโม : พิธีกร


หมายเหตุ:
บทความถอดเทปนี้ จะทยอยนำเสนอต่อเนื่องกันตามลำดับ ตั้งแต่บทความลำดับที่ 515, 516, และ 517
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านคู่มือพลเมืองของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกไปอ่านได้ที่นี่

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)

 


การเมืองภาคพลเมืองเรื่อง"หมากัดกัน"
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
30 มกราคม 2548 / เวลา 9.30-12.00

เกริ่นนำ
สมเกียรติ ตั้งนโม : สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ในโอกาสที่ใกล้จะถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 48 นี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีเวทีการเมืองภาคพลเมืองขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ"หมากัดกัน"

ทั้งนี้สืบเนื่องจากปี 40 เป็นต้นมา หลังจากที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น ปัจจุบันก็ล่วงเลยมาถึง 7 ปี และมีรัฐบาลถึง 2 ชุดแล้ว ได้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาใช้ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแม้จะมีเนื้อหาสาระที่ดีพอสมควร ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของหลักนโยบายแห่งรัฐ หลักการบริหาร และหลักการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนสุดท้าย ถือว่ายังไม่บรรลุผล

ผมขอสรุปสั้นๆว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนยังมีส่วนที่ไม่บรรลุผลใน 3 อำนาจด้วยกันคือ

1. อำนาจการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งในส่วนขององค์กรอิสระและในฝ่ายประชาชน
2. อำนาจในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ
3. อำนาจการจัดการทรัพยากรในฝ่ายของประชาชน

การไร้ซึ่งอำนาจที่แท้จริงทั้ง 3 ส่วนนี้ ทำให้หลักนโยบายแห่งรัฐ หลักการบริหาร-การปกครองตามเจตนารมย์ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้วางไว้ไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร

ประกอบกับ เมื่อเราพิจารณาถึงการแก้ปัญหาต่างๆของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สรุปได้ว่า ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่มีคำตอบเบ็ดเสร็จไปที่"เงิน" และ"การใช้ความรุนแรง" ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาความยากจนก็มองความยากจนเพียงมิติเดียวคือ การไม่มีทุน และทุนก็คือเงิน โดยหามองไม่ว่า ความยากจนมีอยู่ด้วยกันหลายมิติ และทุนก็มีอยู่อย่างหลายหลากเช่นเดียวกัน

ในส่วนของการแก้ปัญหาสังคม-การเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามยาเสพติด กรณีกรือเซะ เหตุการณ์ที่ตากใบ ล้วนลงเอยด้วยวิธีการใช้ความรุนแรงทั้งสิ้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการผูกขาดในอำนาจการใช้สื่อ เพื่อยุยงปลุกปั่นและก่อกระแสความเข้าใจผิด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันมาโดยตลอด และมีการกำจัดเสรีภาพของสื่อและป้ายสีผู้ที่คิดเห็นในทางตรงข้ามตามระบอบประชาธิปไตย

ด้วยเหตุข้างต้นจึงสรุปได้ว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมาภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐบาลที่มีนโยบาย "หิงสา-ประชานิยม" ไม่ใช่รัฐบาลประชานิยมเฉยๆแบบที่เราเข้าใจกัน ดังนั้น ในโอกาสที่ใกล้จะถึงวันเลือกตั้งนี้ พวกเราในฐานะประชาชนที่จะต้องไปหย่อนบัตร ควรมีมาตรการและใช้วิจารณญานกันอย่างไร ก่อนที่ไปทำหน้าที่ดังกล่าว

สำหรับวันนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พร้อมทั้ง สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีการเมืองภาคพลเมืองขึ้นเรื่องหมากัดกันขึ้น ทั้งนี้เพื่อนำเสนอแนวทางหนึ่งสำหรับพี่น้องประชาชนชนไทยในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยวิทยากรบนเวทีประกอบด้วย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, อ.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มานำเสนอข้อคิดสำหรับการเลือกตั้ง

สำหรับวิธีการนำเสนอบนเวที จะให้นักวิชาการแต่ละท่านเสนอเนื้อหาที่เตรียมมาทั้งหมดภายในรอบเดียวทั้ง 4 ท่าน และหลังจากนั้นจะเปิดให้ผู้มีเกียรติทั้งหลายซักถาม ซึ่งจะเขียนขึ้นมาถามหรือลุกขึ้นมาถามก็ได้ แล้วแต่สะดวกครับ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาสำหรับทุกๆท่านผมขอเรียนเชิญท่าน อ.นิธิ ก่อนเลยครับ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เรื่องของการปกครองตนเอง เป็นเรื่องที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ดีต่างๆนาๆ แต่การปกครองตนเองโดยตรงนั้นทำไม่ได้ เพราะว่าเรามีคนมากเกินไป ไม่สามารถที่จะเข้าไปประชุมร่วมกันได้ จึงจำเป็นจะต้องเลือกคนซึ่งเป็นตัวแทนของเราเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้เราในสภา การปกครองตนเองโดยตรงหรือประชาธิปไตยทางตรงนั้น ทำได้เฉพาะในจังหวัดเล็กๆของสวิสเซอร์แลนด์หรืออะไรทำนองนั้น ที่คนจะสามารถเข้าไปลงมติหรือตัดสินใจทางการเมืองโดยไม่ต้องผ่านคนที่เป็นตัวแทน

ทั้งหมดเหล่านี้ ผมคิดว่ามันเป็นประชาธิปไตยโบราณ ซึ่งก็ถูกครึ่งหนึ่ง แต่ส่วนที่ผิดมันมีผลค่อนข้างร้ายแรงต่อสังคมไทยตลอดมา ที่เราเชื่อว่าเราไม่สามารถปกครองตนเองโดยตรงได้ ด้วยการยอาศัยตัวแทนเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงให้เรา หรือไปตัดสินใจทางการเมืองแทนเรา อันนี้ทำให้การเมืองไทยไปกระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อยนิด ซึ่งผมขอเรียกกว้างๆว่า กระจุกอยู่ในชนชั้นปกครองก็แล้วกัน

ประชาชนไม่มีส่วนตัดสินใจทางการเมืองเลย นอกจากเมื่อครบ 4 ปีทีหนึ่งก็ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง และการลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ถูกเน้นย้ำว่ามันสำคัญอย่างโน้นอย่างนี้ร้อยแปด แต่ว่าระหว่าง 4 ปีก่อนหน้าที่จะลงคะแนน พวกเองเฉยๆ พวกเองอย่ากระดุกกระดิกทำอะไร พอครบ 4 ปีแล้วพวกเองค่อยไปตัดสินใจด้วยการหย่อนบัตรทีหนึ่งเท่านั้น
บทบาทในแง่นี้ของการไปตัดสินใจของประชาชนจึงถูกละเลยไปโดยสิ้นเชิง

อันที่จริงในการเลือกตั้ง ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ไม่ว่าที่ไหนๆก็แล้วแต่ในโลก มันเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะอะไร เพราะว่า ไม่ว่าคุณจะเลือกตั้งที่ไหนก็แล้วแต่ มันจะไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์และสถานะของผู้เลือกตั้งเท่าไรนัก สิ่งซึ่งเราตั้งใจจะไปเลือกพรรค ก. พรรค ข. พรรค ค. แทบจะพูดได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ และสถานะของผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลย

นอกจากนั้นแล้ว การเลือกตั้งในโลกทุกวันนี้ยิ่งร้ายใหญ่ ทั้งนี้เพราะถูกชักนำโดยการโฆษณา อาศัยหลักจิตวิทยาสังคมในการชักจูงให้ไปเลือกหรือไม่ไปเลือกพรรคนั้นพรรคนี้มาก และอย่าไปประมาทว่าเราเป็นผู้รอบรู้ซึ่งคงไม่ถูกจิตวิทยาสังคมชักนำ อันนี้ไม่จริง ทุกคนถูกชักนำทั้งนั้น แต่มากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งสามารถใช้สื่อเก่งๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ เป็นต้น จะสามารถกำกับควบคุมการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งได้สูงมากๆ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เราไม่สามารถจะพูดได้ว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมือง เกือบจะเป็นการตัดสินใจจะชอบดาราคนนั้นคนนี้เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ นโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆเสนอนั้น เป็นการเสนอฝ่ายเดียว โอกาสที่เราจะเข้าไปกลั่นกรองตรวจสอบ ตลอดจนกระทั่งการมีส่วนร่วมในนโยบาย ไม่มี ยิ่งในเมืองไทยยิ่งไม่มีใหญ่ พรรคการเมืองกับประชาชนแทบจะเรียกได้ว่าต่างคนต่างอยู่ ไม่เกี่ยวข้องกัน นอกจาก 4 ปีที ก็มาเสนอหน้าครั้งหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยทางตรงหรือการเมืองภาคประชาชน จึงไม่มีในตำราตามประชาธิปไตยแบบไทย ที่เราเรียนกันมาทั้งหลายมันจึงไม่มีที่ของมันเลยในระบบประชาธิปไตยของเรา เพราะเราเรียนตำราประชาธิปไตยในแบบโบราณ

ที่จริงแล้ว ถ้าเราจะใช้คำว่าประชาธิปไตย มันหมายถึงประชาธิปไตยทางตรงเสมอ ถ้าเราพูดถึงการปกครองตนเองแล้ว ต้องหมายถึงการปกครองตนเองเสมอ จะหมายความว่าให้คนอื่นช่วยมาปกครองเราแทน 4 ปีครั้งไม่ได้ ต้องหมายถึงการปกครองตนเองเสมอ เพียงแต่ว่าการปกครองตนเองหรือประชาธิปไตย ไม่ได้มีความหมายแต่เพียงการไปลงมติในสภาเท่านั้น

อย่าไปนึกว่าคน 500 คนที่ไปยกมือในสภาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อันนี้ไม่ใช่ ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าการลงมติในทางการเมืองในสภา จะเป็นของประชาชนได้จริง ก็ต้องมีการแสดงออกซึ่งประชามติของประชาชนจากข้างล่างขึ้นไป ไม่ใช่ไปปล่อยให้คน 500 คนยกมือเอาเอง แต่ว่าคน 500 คนต้องยกมือตามประชามติของคนที่อยู่ข้างล่าง สส.มีหน้าที่เพียงสะท้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละเรื่องเท่านั้นเอง ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะไปคิดเอาเอง ยกมือเองตามใจชอบอย่างที่เป็นอยู่ หรืออย่างที่ทำตามคำสั่งของพรรคการเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้

ในประเทศไทยผมคิดว่า จะเกิดประชามติข้างล่างได้ จำเป็นที่เราในฐานะประชาชนจะต้องสามารถกำกับการลงมติของ สส. ในสภาได้อย่างแท้จริงด้วย และจะเกิดประชามติข้างล่างที่นำไปสู่การกำกับได้จริง ผมคิดว่าต้องประกอบด้วยปัจจัย 3-4 อย่างด้วยกัน

อย่างแรกสุดก็คือ ต้องมีเสรีภาพ หรือมีการเปิดพื้นที่ในสังคมสำหรับการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ พื้นที่สำหรับที่จะนำเราไปสู่การโต้เถียงหรืออภิปรายกันโดยใช้เหตุผล โดยใช้ข้อมูล และผมคิดว่าประเทศไทย พื้นที่ตรงนี้ยังเปิดไม่พอ ไม่ใช่ไม่เปิดเลย แต่มันยังเปิดไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพของสื่อก็ตาม เวลานี้เราแทบไม่มีทีวีที่อาจจะพูดได้ว่าทีวีเสรี เสรีจริงๆไม่มีเหลืออยู่เลย อันนี้ก็เท่ากับพื้นที่สำคัญอันหนึ่งของสังคมปัจจุบันถูกปิดลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อไม่มีพื้นที่อย่างนี้ จะเกิดประชามติจากข้างล่างได้อย่างไร

ปัจจัยอย่างที่ 2 ก็คือ แน่นอนต้องมีการสร้างความรู้ เพื่อจะได้ข้อมูล มุมมองที่หลากหลายป้อนมาให้แก่ประชาชนหรือสาธารณชน รับเอาข้อมูล รับเอาความรู้ มุมมองต่างๆที่หลากหลายมา สำหรับเป็นทางเลือกที่เราจะไปมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่เป็นอิสระเสรีจริงๆ ส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าก็ค่อนข้างล้มเหลวในการที่จะสร้างมุมมองที่หลากหลาย ป้อนข้อมูลที่หลากหลายเพียงพอ

คุณทำ 30 บาทรักษาทุกโรคในทุกวันนี้ ถามว่าสังคมเอาหรือไม่เอา เรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มีอยู่ก็น้อยมาก ไม่มีคนที่จะตามไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง 30 บาทมาป้อนให้สาธารณชนเข้าใจว่า เราควรจะทำอย่างไร ถ้าเราเอาเราควรจะปรับปรุงตรงไหน ควรจะแก้ไขอย่างไร อันนี้ไม่มี ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ โอกาสที่จะเกิดประชามติข้างล่างเพื่อจะไปกำกับมือของ สส.ในสภา ก็เกิดขึ้นได้ยาก

ปัจจัยต่อมาอีกอันหนึ่ง ก็คือว่า อยู่ๆถ้าเราทุกคนต่างๆเถียงกันวุ่นวายไปหมด ก็ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดประชามติขึ้นมาได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือก็จะต้องมีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่ได้ผลจริงๆ เพื่อที่จะทำให้เสียงของความต้องการ หรือความไม่ต้องการของประชาชนนั้น ดังพอที่จะได้ยินกันทั่วไป เมื่อได้ยินแล้วและไม่เห็นด้วยก็แล้วไป แต่ว่ามันจะต้องมีการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมทั้งการเคลื่อนไหวตามสิทธิของรัฐธรรมนูญด้วย

เช่นเป็นต้นว่า การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่ต้องมี เพราะการชุมนุมทั้งหมดนั้นก็คือการจัดตั้งชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้เสียงของคนกลุ่มต่างๆในสังคมนั้น ดังพอที่จะทำให้คนในสังคมกลุ่มอื่นๆได้ยินด้วย

อีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งคิดว่ามีความสำคัญมากก็คือ ในระบอบปกครองนั้น ประชาชนต้องมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรใกล้มือระดับหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดก็จริง แต่ว่าเขาต้องมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรระดับหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยแทบจะพูดได้ว่า ไม่ได้ให้อำนาจตรงนี้ในการจัดการทรัพยากรแก่ประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่ตัวเองใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำก็ตาม ป่าเขาก็ตาม ประชาชนต้องมีอำนาจในการจัดการระดับหนึ่ง อาจจะร่วมกันกับภาครัฐ อาจจะร่วมกันกับส่วนอื่นๆของสังคม พวกเขาต้องมีอำนาจตรงนี้ด้วย

อันนี้รวมตลอดไปจนถึงทรัพยากรซึ่งเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ เช่นเป็นต้นว่าการศึกษา ประชาชนต้องมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรทางการศึกษา วัฒนธรรม ของตนเองระดับหนึ่งด้วย ถ้าไม่มีตรงนี้ เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยก็ไร้ความหมาย ยิ่งประชาธิปไตยที่มีความหมายแต่เพียงการเลือกตั้ง 4 ปีครั้ง ยิ่งไร้ความหมาย

แน่นอน ถ้าหากว่าเราทำ 4 อย่างดังที่พูดถึง ถามว่ามันจะมีความขัดแย้งขึ้นในสังคมไหม? ผมว่าแน่นอน จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม แล้วมันมีสังคมอะไรในโลกที่มันไม่มีความขัดแย้ง มันต้องมีความขัดแย้งแน่นอน แต่กระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง ต้องอยู่ในสังคม ไม่ใช่อยู่ที่ภาครัฐ ไม่ใช่อยู่ที่เวทีสภาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น สังคมเป็นตัวสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้ง

ในเมืองไทยชอบแปลคำว่า conflict resolution ว่า "ระงับความขัดแย้ง" ผมว่าไม่ใช่ระงับความขัดแย้ง. Resolution ผมแปลง่ายๆว่า"แก้ไข"ก็แล้วกัน คือไม่ใช่ไปหยุดไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่มีที่ไหนในโลกที่คุณไปหยุดไม่ให้เกิดความขัดแย้งได้ แต่คุณสามารถแก้ไขมันได้ เช่นเป็นต้นว่าแก้ไขด้วยการเจรจา แก้ไขด้วยการต่อรองอย่างเท่าเทียมกันทุกฝ่าย แก้ไขด้วยการประนีประนอมระหว่างฝ่ายต่างๆที่มีความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่ไประงับ ถ้าระงับเมื่อไหร่ เราจะให้อำนาจรัฐในการปิดปากคนบางกลุ่มที่ต้องเข้ามาอยู่ในเวทีของความขัดแย้งเสมอ

ทั้งหมดเหล่านี้ถามว่าเมืองไทยพร้อมหรือไม่ ที่เราจะเป็นประชาธิปไตยทางตรง ผมคิดว่าพร้อม และถ้าดูในสังคมไทยให้ดี เราจะพบว่า พร้อมมากขึ้นแต่ก่อนนี้ด้วยซ้ำไป เพราะว่ามีคนจำนวนมากขึ้น ที่กำลังก้าวเข้ามาสู่การใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงเช่นนี้มากขึ้นๆทุกที เป็นแต่เพียงว่ารัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามจะปิดพื้นที่นี้ ไม่ให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยวิถีทางต่างๆตลอดมา เช่น ตีหัวเขาบ้าง เอากฎหมายเทศบาลมาจับเขาหรืออุ้มขึ้นรถไปบ้าง และอื่นๆอีกร้อยแปด ในการที่จะไม่ให้ประชาชนปกครองตนเองอย่างแท้จริง และผมขอย้ำว่าไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ หัวประชาชนนั้นเป็นเป้าหมายสำหรับการตีกระบาลของไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

ตำราประชาธิปไตยที่สอนกันมาผิดๆอย่างนี้ ผมคิดว่าทำให้นักการเมืองเข้าใจผิดหมด หรืออย่างน้อยก็แกล้งเข้าใจผิด คือจะยึดเอาการตัดสินใจทางการเมืองเอาไว้กับกลุ่มของตนเองแต่เพียงผู้เดียว ไม่พยายามที่จะเข้าใจว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง การตัดสินใจทางการเมือง เป็นกระบวนการที่ประชาชนเป็นตัวตัดสินเด็ดขาด ไม่ใช่คน 500 ที่เข้าไปสุมหัวกันแล้วตัดสินใจ อันนี้ไม่ใช่. ไม่ว่า 500 นั้นจะมีหัวหน้าแก๊งเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ใช่อย่างนั้น. กระบวนการตัดสินใจทางการเมืองเป็นกระบวนการที่อยู่ในสังคม นักการเมืองเข้าใจสิ่งนี้ผิด คือไม่เข้าใจเรื่องของประชาธิปไตยทางตรง

คุณทักษิณหาเสียงด้วยวิธีการบอกว่า "ขอแรงประชาชนในวันที่ 6 กพ. ช่วยออกมาเลือกเบอร์ 9 ขอวันเดียวเท่านั้นเอง แล้วผมจะทำงานให้คุณ 4 ปี" คือให้คุณอยู่เฉยๆ 4 ปี ขอวันที่ 6 ช่วยออกมาจากบ้านแล้วหย่อนคะแนนเบอร์ 9 ให้หน่อย แปลว่าอะไร แปลว่า 4 ปีนั้นประชาชนไม่ต้องทำอะไรเลยอย่างนั้นหรือ ประชาชนหย่อนบัตรทีเดียวแล้วปล่อยให้คุณทักษิณกดหัวอยู่ 4 ปีกระนั้นหรือ ผมว่าไม่ใช่ นักการเมืองเข้าใจผิดหรือแกล้งเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา

พรรคประชาธิปัตย์ก็พอๆกัน ไม่ได้ดีไปกว่าพรรคไทยรักไทย ประชาธิปัตย์เขาบอกเขาขอ 201 เสียง เพื่อจะถ่วงดุล แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ไม่เคยลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเสรีภาพ หรือปกป้องพื้นที่ของภาคประชาชนอย่างที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่นี้เลยสักครั้งเดียว เขาต้องล้มตายกันที่ตากใบอย่างชนิดว่ากลางเมือง, VCD ตัวเองก็เห็น แต่กลับนิ่งเฉย ไม่ลุกขึ้นขยับทำอะไรเลย

เสรีภาพของสื่อถูกคุกคามอย่างหนัก ประชาธิปัตย์ก็เฉย ไม่เคยทำอะไรอีกเหมือนกัน ไม่กระดุกกระดิกโดยสิ้นเชิง แปลว่าอะไร แปลว่าการถ่วงดุลเป็นหน้าที่ของ 201 เสียงเท่านั้น ประชาชนไม่เกี่ยว แทนที่จะคิดว่า 201 เสียงจะเป็นสื่อที่จะนำอำนาจของประชาชนไปสู่การถ่วงดุลที่แท้จริง กลับคิดว่า 201 เสียงเท่านั้นที่มีหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของรัฐ
ผมอยากจะพูดว่า พวกมึงถ่วงดุลกันเองไม่ได้หรอก เพราะมึงมันสันดานเดียวกันทั้งนั้น

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย คือการมองซึ่งไม่มีที่ของประชาธิปไตยทางตรงเลยอันนี้ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง คอลัมภ์นิสท์บางคนก็เข้าใจผิด ไปคิดว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งตลอดเวลา และไม่เข้าใจว่าหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยทางตรง คือการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยในประเทศไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงไม่ค่อยมีความหมายแก่คนทั่วไปเท่าไรนัก ทำไมคนไทยถึงไม่ต่อต้านเผด็จการตลอดมา ยกเว้นหลัง 14 ตุลาเราก็ต่อต้านมากขึ้น แต่เรายอมให้แก่เผด็จการตลอดมา เพราะอะไร? ก็เพราะว่า มันไม่เห็นจะต่างกันตรงไหนระหว่าง การเผด็จอำนาจของทหาร หรือการเผด็จอำนาจของนักการเมือง ไม่ว่าทหารหรือนักการเมืองก็เป็นคนส่วนน้อยทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับกู ประชาชนคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะอะไรก็เรื่องของมึงเถอะ ไม่เกี่ยวกับกูตลอดเวลา ประชาธิปไตยจึงไร้ความหมายและทำให้เรายอมต่อเผด็จการตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในรัฐสภา เผด็จการโดยกองทัพอะไรก็แล้วแต่ เราไปยอมรับมันตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องทำให้ประชาธิปไตยทางตรงหรือการเมืองภาคประชาชนเป็นจริงในเมืองไทยให้ได้ เพราะประชาชนต่างหากที่จะเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เพียงแค่เลือกตัวแทนไปนั่งในสภา

และถ้าเรามองจากแง่ประชาธิปไตยทางตรง การเลือกตั้งก็มีความสำคัญ แต่เราไม่ได้เลือกตัวแทนของเรา เราไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อเลือกเครื่องมือทางการเมือง ไม่ใช่เลือกผู้แทน เลือกเครื่องมือทางการเมืองของเรา คนที่เราสามารถสั่งได้ว่าไปกัดกับใคร คือเวลาที่เราพูดถึงหมากัดกันในสำนวนของภาษาไทย จะหมายความว่า ปล่อยหมาไปแล้วมันกัดกันตามใจชอบ แต่ไม่ใช่

หมากัดกันของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหมายความว่า กูสั่งให้มึงกัดใคร ไม่ใช่มึงกัดกันเองตามใจชอบ ฉะนั้นการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ แต่ว่าไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อเลือกเครื่องมือทางการเมืองของเรา ไม่ใช่เลือกตัวแทนของเรา คนที่เราสามารถสั่งได้ ไม่ใช่คนที่ไปคิดหรือทำอะไรแทนเราไปหมดทุกอย่าง

คำถามที่น่าจะคิดกันก็คือว่า แล้วมันมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่พร้อมจะมาเป็นเครื่องมือของประชาชนหรือยังในเวลานี้ คำตอบที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันแน่ๆก็คือ ไม่มี. ไม่มีพรรคการเมืองและไม่มีนักการเมืองที่พร้อมจะมาเป็นเครื่องมือของเราในเวลานี้ ฉะนั้นเราจึงต้องใช้ยุทธวิธีหมากัดกันไง

หมายความว่าอะไร หมายความว่าเราไม่สามารถที่จะมีในตอนนี้ สั่งให้หมากัดกันตามใจชอบของเราได้ มันมักจะกัดกันเพื่อแย่งอาหารของมันเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ฉะนั้นเราจะต้องใช้สันดานหมาที่มันกัดกันเพื่อแย่งอาหารให้เป็นประโยชน์ต่อการเมืองภาคประชาชน ยุทธศาสตร์ก็คือ คิดว่าเราไม่สามารถบังคับหมาได้ เมื่อปล่อยหมาออกไปแล้ว มันจะกัดกันเพื่อแย่งอาหารของมันเองเท่านั้น เราก็ต้องมียุทธศาสตร์ว่า เราจะปล่อยหมาออกไปอย่างไร เพื่อจะกัดกัน ถึงมันจะแย่งอาหารกันเองก็แล้วแต่ แต่ผลพลอยได้ฝ่ายประชาชนจะมากที่สุด
นี่คือยุทธศาสตร์ของการเลือกตั้งแบบหมากัดกัน

เราเลือกตั้งแบบนี้ก็เพื่อจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชนให้กว้างขึ้น คือ ป้องกันไม่ให้หมาตัวใดตัวหนึ่งคุมเวทีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่เวทีในสภานะครับ เพราะเวทีในสภาผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่หมายถึงเวทีในสังคม ถ้าคุณได้คะแนนเสียงท่วมท้นในสภา คุณเหลิงอำนาจแล้วคุณนำเอาอำนาจที่ได้ในสภานั้น มาคุมเวทีในสังคมให้คนอื่นขยับไม่ได้ ให้ประชาชนขยับไม่ได้ เราต้องเลือกตั้งแบบหมากัดกันเพื่อจะเปิดพื้นที่ในสังคม ไม่ใช่พื้นที่ในสภา แต่ว่ามันเกี่ยวข้องกัน

คือว่า ถ้าเราทำให้อำนาจในสภาของเขาไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนเกินไปนัก ก็จะทำให้เขาไม่กล้าที่จะมาปิดเวทีในสังคม เพื่อที่จะทำให้ประชาชนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเสรี ถูกคุกคามจากรัฐบาลที่เข้มแข็งได้น้อยลง

ผมไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลที่อ่อนแอคุกคามประชาชนไม่ได้นะครับ ได้อีกเหมือนกัน แต่เราก็จะสามารถตอบโต้กับมันได้ดีขึ้น ได้ถนัดมากขึ้น รัฐบาลที่อ่อนแอก็ตีหัวประชาชนมาตลอดเวลาเหมือนกัน แต่ว่าเราต้องการรัฐบาลที่มันไม่เข้มแข็งจนเกินไป เพื่อว่าพื้นที่ภาคประชาชนจะได้เปิดขึ้น

อย่างเดียวกันกับคนที่เล่นหมากรุก ทุกคนที่เล่นหมากรุกก็รู้ว่า จุดมุ่งหมายของการเล้นหมากรุกก็คือการเดินหมากที่จะเปิดพื้นที่ฝ่ายเรา เพื่อให้เราสามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก บีบอีกฝ่ายหนึ่งให้มันเคลื่อนที่ได้ลำบากนั่นเอง เวลาเราเดินเบี้ยเราไม่ได้รักเบี้ย เดินขุนเราไม่ได้รักขุน เดินโคนเราไม่ได้รักโคน เดินเรือเราไม่ได้รักเรือ เราพร้อมจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปแลกด้วยซ้ำไปเพื่อที่จะมีพื้นที่เคลื่อนไหวของฝ่ายเรามากขึ้น

ผมคิดว่าการเลือกตั้งแบบหมากัดกัน ก็คือการเดินหมากรุกของภาคประชาชน เดินอย่างไรให้เรามีพื้นที่สำหรับเคลื่อนไหวในกระดานการเมืองของประเทศไทยมากขึ้นนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ในการเลือกตั้ง เราควรจะเลือกพรรคใดก็ได้ ที่แน่ใจว่ามันจะไม่ไปรวมหัวกันกดขี่ข่มเหงเราอีก คือไม่ร่วมรัฐบาล พูดกันตรงไปตรงมาเราก็รู้แล้วว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ใครจะชนะ เราจะเลือกพรรคใดก็ได้ ที่แน่ใจว่ามันไม่ไปร่วมหัวกันที่จะมากดขี่ข่มเหงเรา ปิดพื้นที่เราในการที่จะมีโอกาสเคลื่อนไหว

เราไม่ได้ศรัทธาพรรคนั้น คือเราไม่ได้ศรัทธาตัวขุนตัวโคนอย่างที่เราพูดถึงเมื่อสักครู่นี้ แต่เราเล่นการเมืองของเราเอง เวลาเราพูดถึงเล่นการเมืองๆ ชอบนึกถึงคน 500 คนที่เล่นการเมือง อันนี้ไม่ใช่ ประชาชนคือผู้เล่นการเมืองประชาธิปไตย และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นการเล่นการเมืองอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ขอย้ำว่าเราชอบสากกระเบือ หรือเราชอบเสาไฟฟ้า เราไม่ชอบทั้งสากกระเบือและไม่ชอบทั้งเสาไฟฟ้า แต่จะทำอย่างไรที่จะสามารถเปิดพื้นที่กระดานหมากรุกของเราขึ้นมา ให้เราสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกมากขึ้น

ไม่ว่าเราจะทำสำเร็จหรือไม่ก็แล้วแต่ ภารกิจของเราที่เลิกไม่ได้ก็คือว่า ต้องเปิดพื้นที่ของภาคประชาชนให้กว้างที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อที่จะทำให้นัการเมืองเป็นแต่เพียงเครื่องมือทางการเมืองของประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนของเรา เราอย่าไปปล่อยให้คนเหล่านี้นึกว่าตัวเองเป็นตัวแทนของเรา แล้วผ่าขึ้นมานั่งบนหัวเรา ดังที่มันมานั่งบนหัวเราตลอดเวลา มันเป็นเพียงเครื่องมือของเราเท่านั้น

ผมว่าอันนี้เป็นเป้าหมาย ไม่ว่าครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
ขอบคุณมากครับ

บทความต่อเนื่อง คลิกไปอ่านบทความลำดับที่ 516



 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความถอดเทปเรื่อง การเมืองภาคพลเมืองเรื่องหมากัดกัน เฉพาะในส่วนของอาจารย์
นิธิ เอียวศรีวงศ (องค์กรร่วมจัด : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

หมากัดกันในสำนวนของภาษาไทย จะหมายความว่า ปล่อยหมาไปแล้วมันกัดกันตามใจชอบ แต่ไม่ใช่ หมากัดกันของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหมายความว่า กูสั่งให้มึงกัดใคร ไม่ใช่มึงกัดกันเองตามใจชอบ ฉะนั้นการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ แต่ว่าไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อเลือกเครื่องมือทางการเมืองของเรา ไม่ใช่เลือกตัวแทนของเรา คนที่เราสามารถสั่งได้ ไม่ใช่คนที่ไปคิดหรือทำอะไรแทนเราไปหมด

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ทั้งหมดเหล่านี้ถามว่าเมืองไทยพร้อมหรือไม่ ที่เราจะเป็นประชาธิปไตยทางตรง ผมคิดว่าพร้อม และถ้าดูในสังคมไทยให้ดี เราจะพบว่า พร้อมมากขึ้นแต่ก่อนนี้ด้วยซ้ำไป เพราะว่ามีคนจำนวนมากขึ้น ที่กำลังก้าวเข้ามาสู่การใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงเช่นนี้มากขึ้นๆทุกที เป็นแต่เพียงว่ารัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามจะปิดพื้นที่นี้ ไม่ให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยวิถีทางต่างๆตลอดมา เช่น ตีหัวเขาบ้าง เอากฎหมายเทศบาลมาจับเขาหรืออุ้มขึ้นรถไปบ้าง และอื่นๆอีกร้อยแปด ในการที่จะไม่ให้ประชาชนปกครองตนเองอย่างแท้จริง และผมขอย้ำว่าไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ที่หัวประชาชนนั้นเป็นเป้าหมายสำหรับการตีกระบาล

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
R