ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
270148
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 514 หัวเรื่อง
นิติรัฐศาสตร์ในโลกหลังสมัยใหม่
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ มธ.
สมชาย ปรีชาศิลปกุล มช.

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นิติรัฐศาสตร์ในโลกหลังสมัยใหม่
Quasi-citizens / Cyber Soldiers
บทความนำมาจากคนละแหล่ง จำนวน ๒ ชิ้น
เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


หมายเหตุ:
บทความทั้ง ๒ ชิ้นที่ปรากฎบนเว็ปเพจนี้ เคยตีพิมพ์และเผยแพร่แล้ว
เรื่องที่ ๑. ชิ้นนี้นำมาจากเรื่อง
พลเมืองพันธุ์ใหม่: Quasi-citizens เขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล
เรื่องที่ ๒. จากองครักษ์พิทักษ์นาย ถึง Cyber Soldiers เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ในที่นี้นำมารวมกัน เพื่อให้ภาพทางด้านนิติรัฐศาสตร์ที่สะท้อนสังคมร่วมสมัย

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

 


๑. พลเมืองพันธุ์ใหม่: Quasi-citizens
สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สถานะของการเป็นพลเมืองของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง (ผ่านการถือสัญชาติ) ดูจะเป็นปรากฏการณ์สามัญที่บุคคลทุกคนซึ่งดำรงอยู่ร่วมกันภายในแต่ละสังคมควรจะต้องมี

ทั้งนี้นอกจากการแสดงถึงความเป็นเอกภาพของผู้คนหรือความเป็นพวกเดียวกันแล้ว การเป็นพลเมืองของรัฐยังมีผลต่อการเข้าถึงหรือได้รับสิทธิบางอย่างของสังคมนั้น เช่น การมีส่วนร่วมในทางการเมือง การศึกษา การถือครองที่ดิน การประกอบธุรกิจการค้า เป็นต้น และตรงกันข้ามบุคคลที่ไม่ได้มีสถานะเป็นพลเมืองของรัฐก็อาจถูกจำกัดหรือห้ามไม่ให้ได้รับสิทธิที่พลเมืองของรัฐได้รับ

การแบ่งแยกผู้คนบนพื้นฐานของการเป็น/ไม่เป็นพลเมืองของรัฐ เป็นกรอบการมองประชาชนที่แม้จะมีความสำคัญต่อการบ่งบอกสังกัดของผู้คน และความเป็นตัวตนของผู้คนในรัฐ แต่การแบ่งแยกแบบเด็ดขาดระหว่าง การ"เป็น"หรือ"ไม่เป็น"ในแบบขาวหรือดำ กำลังมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก

เนื่องจากข้อเท็จจริงของการอพยพย้ายถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกับประชาชนในยุคโลกาภิวัฒน์ มีผู้คนแปลกหน้าแปลกตา ต่างผิวสี พูดกันคนละภาษาและมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกันจากสังคมอื่นแทรกตัวเข้าไปในดินแดนต่างๆ

ชาวฟิลิปปินโนเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นและฮ่องกง คนเม็กซิกันหลั่งไหลเข้าไปในสหรัฐอเมริกา แรงงานจากเอเชียทะลักเข้าไปในตะวันออกกลางจากหลากหลายประเทศ บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย ไทย ตัวเลขประมาณการของแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมายจากกลุ่มประเทศในเอเชีย เมื่อ ค.ศ. 1994 มีประมาณ 2.1 ล้านคน

ระหว่าง ค.ศ. 1980 ถึง 1995 มีผู้ยื่นขอสถานะของผู้ลี้ภัยประมาณ 5 ล้านคนในประเทศต่างๆ ของยุโรป การล่มสลายของสหภาพโซเวียต มีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไพศาลในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอดีตประเทศยูโกสลาเวีย

สังคมของแต่ละประเทศในปัจจุบันจึงเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาผสมปนเปกัน ลักษณะของสังคมเช่นนี้ จึงต่างไปจากจินตนาการเรื่องความบริสุทธิ์ในเผ่าพันธุ์ของคนชาติเดียวกัน ที่จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรม และบรรดา "ผู้มาใหม่" เหล่านี้เป็นจำนวนไม่น้อยเข้ามาสู่สังคมใหม่ในลักษณะของการลงหลักปักฐาน ทำมาหากิน และมีชีวิตอยู่โดยยากจะหวนกลับคืนสู่ดินแดนดั้งเดิมของตน ด้วยเหตุผลนานัปการ เช่น สงครามกลางเมือง ความยากแค้น ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อย่างรุนแรง เป็นต้น

ในอดีต การพิจารณาถึงสถานะของบุคคลเหล่านี้มักเป็นการขีดเส้นแบ่งเฉพาะระหว่างการเป็น/ไม่เป็นพลเมืองของรัฐ หากผู้ใดที่ไม่ถูกจัดว่าเป็นคนของรัฐนั้นๆ ก็จะถูกกีดกันออกจากสังคมรวมถึงอาจมีการส่งกลับมาตุภูมิ อย่างไรก็ตาม การแบ่งพื้นที่ของการเป็นและไม่เป็นพลเมืองเริ่มมีพื้นที่ใหม่ๆ เกิดขึ้น

ผู้อพยพยุคใหม่ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ กำลังได้รับสิทธิหรือสถานะพิเศษจากแต่ละรัฐเพิ่มมากขึ้น ด้วยการพิจารณาถึงช่วงระยะเวลาที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ในดินแดนของตน การทำงานและการผสมกลมกลืนในทางสังคม ในสวิสเซอร์แลนด์มีการอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐาน (settlement permits) หรือในเยอรมันเรียกว่า Aufenthaltberechtigungen (residence entitlements)

สิทธิที่รัฐแต่ละรัฐจะให้ อาจมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ที่มักจะปรากฏให้เห็นก็จะมีสิทธิในการพำนักอาศัยอย่างถูกต้องเป็นการถาวร, การได้รับการปกป้องจากการเนรเทศหรือส่งกลับ, สิทธิในการทำงานและการประกอบธุรกิจ, การได้รับบริการทางด้านสุขภาพและการศึกษาจากรัฐ

แม้จะได้รับสิทธิในด้านต่างๆ แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการสำหรับคนกลุ่มนี้ คือสิทธิในทางการเมือง หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงหมายถึงสิทธิในการลงคะแนน และลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนของประชาชน เนื่องจากมีความเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่เป็นพลเมืองที่แท้จริง การจะมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของสังคมหรือส่วนรวม จึงไม่ได้รับอนุญาต

แต่สิทธินี้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปในหลายประเทศ ในสวีเดน ค.ศ. 1995 และเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1985 ได้ให้สิทธิแก่ชาวต่างชาติที่มีสิทธิพักอาศัยในประเทศตนสำหรับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น. ในสหรัฐอเมริกา Arnold Schwarzenegger ดาราดังจาก "คนเหล็ก" ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ไม่ได้ถือกำเนิดในประเทศสหรัฐแต่อย่างใด ภูมิหลังของเขาเป็นคนออสเตรีย ที่มีบิดาเป็นอดีตนายทหารชาวเยอรมัน

(ยิ่งไปกว่านั้น Arnold กำลังเริ่มการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะลงรับสมัครเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันกำหนดว่า ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องมีสัญชาติอเมริกันจากการเกิด ให้เป็นเพียงบุคคลนั้นถือสัญชาติอเมริกันก็เพียงพอ ทั้งนี้จะมาจากการแปลงสัญชาติก็ได้)

สถานะที่ต่างไปจากเดิมของกลุ่มคนผู้มาใหม่จึงเป็นการสร้างพลเมืองพันธุ์ใหม่ของรัฐขึ้น พลเมืองพันธุ์ใหม่แม้มีสิทธิหลายประการที่ดีกว่าคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติ แต่ก็จะน้อยกว่าพลเมืองพันธุ์แท้ของรัฐ

นักวิชาการที่สนใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงของพลเมืองเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Quasi-citizens (Stephen Castles & Alastair Davidson. Citizenship and Migration. London: M acMillan Press Ltd., 200) หรือบางคนก็ใช้คำว่า denizen (Hammar T. Democracy and the Nation-state: Aliens, Denizens and Citizens in a World of International Migration. Aldershot: Avebury, 1990) โดยให้มีความหมายถึงชาวต่างชาติ ที่มีสิทธิในการพักอาศัยอย่างถาวรภายในรัฐอื่นๆ

การเกิดขึ้นและขยายตัวในการรับรองสถานะของพลเมืองพันธุ์ใหม่ที่มีแพร่หลายขึ้น ในด้านหนึ่งแม้จะเป็นการรับรองสิทธิที่กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อผู้อพยพทั้งที่เป็นผู้อพยพรุ่นแรกและรุ่นถัดมา แต่สิทธิดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในสถานะซึ่งต่ำกว่าบุคคลที่มีสถานะเป็นพลเมืองพันธุ์แท้ของรัฐ จึงอาจทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพลเมืองทั้ง 2 ประเภทขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่มากขึ้นของกลุ่มคนรุ่นที่สองจากผู้อพยพ (second generation immigrants) เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีความแตกต่างไปจากบรรพบุรุษของตน โดยที่ไม่ได้เป็นผู้อพยพมาจากสังคมอื่น หากเป็นผู้ที่ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของผู้อพยพที่อยู่ในดินแดนแห่งใหม่

ดังเช่น ค.ศ. 1993 ในฝรั่งเศส มีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายสัญชาติ (Nationality Code) เพื่อให้สิทธิทางการเมืองเพิ่มขึ้นแก่ชนกลุ่มน้อย แรงผลักดันที่สำคัญมาจากพวก Beurs (เป็นกลุ่มคนรุ่นที่สองหรือถัดจากนั้น จากผู้อพยพที่มีเชื้อสายแอฟริกันซึ่งอาศัยและดำรงชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) การเรียกร้องสิทธิในฐานะของพลเมืองจึงไม่ได้อยู่บนฐานคิดของการสืบเชื้อสายมาจากพลเมืองดั้งเดิมของรัฐ หากเป็นการยืนยันถึงสิทธิของกลุ่มตนจากการมีส่วนร่วมและการมีตัวตนอยู่ภายในรัฐ

การรองรับสิทธิต่อพลเมืองพันธุ์ใหม่มีความหมายอย่างสำคัญต่อการเผชิญหน้ากับสังคมแบบพหุวัฒนธรรม (multi-cultural society) ของแต่ละรัฐในโลกยุคปัจจุบันที่เส้นแบ่งของความเป็นพลเมืองและคนต่างด้าวแบบชัดเจน ยากที่จะนำมาปรับใช้กับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่

การยอมรับ Quasi-citizens เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้หลุดพ้นจากข้อจำกัดของการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของรัฐชาติกับประชาชนในแง่มุมแบบเดิมๆ


๒. จากองครักษ์พิทักษ์นาย ถึง Cyber Soldiers
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ / 17 พฤศจิกายน 2547 18:38 น.
นำมาจาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9470000083642

องครักษ์พิทักษ์นาย ซึ่งปรากฏโฉมตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 บัดนี้กลายเป็นสถาบันหนึ่งของสังคมการเมืองไทย และมีพัฒนาการดุจเดียวกับสถาบันการเมืองทั้งปวง ในประการสำคัญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีผลอย่างสำคัญต่อพัฒนาการของสถาบันการเมืองดังกล่าวนี้

ในขณะที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่มักจะมีนายทหารคนสนิทหรือที่เรียกย่อๆ กันว่า "ทส." องครักษ์พิทักษ์นายมีสถานะเป็น "ทส.การเมือง" ของผู้นำนักการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยมีหน้าที่เป็นโล่กำบังผู้เป็นนาย มิให้รับความระคายเคืองจากวจีกรรมของปรปักษ์ทางการเมือง และตอบโต้ปรปักษ์ทางการเมืองโดยใช้วาจาเป็นอาวุธ

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระบบองครักษ์พิทักษ์นาย ก่อเกิดในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ในฐานะโฆษกรัฐบาล ทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์พลเอกเปรมด้วย และสามารถสร้าง "ชื่อเสียง" จากการทำหน้าที่ดังกล่าว

ในยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (2531-2534) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์พลเอกชาติชาย และประสบความสำเร็จในการสร้างความระคายเคือง มิจำเพาะแต่ปรปักษ์ทางการเมืองเท่านั้น หากยังรวมถึงผู้นำฝ่ายทหารด้วย เมื่อเกิดการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ร.ต.อ.เฉลิม เป็นเป้าที่ผู้นำ รสช.มุ่งเล่นงานจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ระบบองครักษ์พิทักษ์นายมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างน้อย 2 ด้าน ด้านหนึ่ง ระบบองครักษ์ทางการเมืองมิได้จำกัดเฉพาะการพิทักษ์นายเท่านั้น หากยังขยายปริมณฑลไปสู่การพิทักษ์พรรคด้วย ในอีกด้านหนึ่ง ระบบองครักษ์ทางการเมืองถูกใช้เป็นกลไกในการทอนกำลังทางการเมืองอย่างสำคัญ

พรรคการเมืองตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป ล้วนสถาปนาระบบองครักษ์ทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่า ระบบองครักษ์ทางการเมืองให้ประโยชน์ทางการเมืองแก่ผู้นำทางการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มิฉะนั้นระบบนี้จะไม่เติบโตมากถึงเพียงนี้

พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำในการ "พัฒนา" ระบบองครักษ์ทางการเมือง และขยายปริมณฑลจากองครักษ์พิทักษ์นายไปสู่องครักษ์พิทักษ์พรรค เมื่อพรรคประชาธิปัตย์สถาปนาระบบองครักษ์ทางการเมืองพรรคอื่นๆ ก็ต้องเดินตาม มิฉะนั้นจะขาดกลไกและองค์กรในการต่อกรกับปรปักษ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำสงครามวจีกรรม

องครักษ์ทางการเมืองมิได้มีเฉพาะแต่โฆษกพรรค และโฆษกรัฐบาล หรือ ทส.ผู้นำพรรคเท่านั้น หากยังมีการจัดตั้งสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ให้ทำหน้าที่องครักษ์ทางการเมืองอีกด้วย คุณสมบัติสำคัญขององครักษ์ทางการเมือง ก็คือ ต้องมีทักษะและความช่ำชองในการใช้วาจาเป็นอาวุธ มีความรอบรู้ระดับหนึ่ง และต้องรู้ใจผู้นำพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรค

องครักษ์ทางการเมืองต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกรัฐสภา ในรัฐสภา องครักษ์ทางการเมืองต้องอภิปรายตอบโต้ปรปักษ์ทางการเมือง ในยามที่มีการอภิปรายพาดพิงพรรคและผู้นำพรรค แต่ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ การขัดจังหวะการอภิปรายของปรปักษ์ทางการเมืองเพื่อทอนประสิทธิภาพในการอภิปราย ทั้งนี้โดยการใช้ระเบียบการประชุมรัฐสภาให้เป็นประโยชน์ นอกรัฐสภา องครักษ์ทางการเมืองต้องทำหน้าที่ตอบผู้ที่วิจารณ์พรรคและผู้นำพรรค มิจำกัดเฉพาะนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หากครอบคลุมผู้นำขบวนการประชาชน ปัญญาชน และประชาชนโดยทั่วไปด้วย

พรรคไทยรักไทยจัดตั้งระบบองครักษ์ทางการเมืองดุจเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลต้นปี 2544 ระบบองครักษ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก ฐานองครักษ์ทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยใหญ่โตกว่าพรรคประชาธิปัตย์มาก ทั้งนี้เป็นผลจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี ด้วยเหตุดังนี้ สมาชิกพรรคไทยรักไทยที่ต้องการตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าระดับใด จักต้องทำงานให้เข้าตานายกรัฐมนตรี การแสดงตนเป็นองครักษ์พิทักษ์พรรค และองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี เป็นหนทางหนึ่งในการได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวนี้

ประการที่สอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ตนเอง พร้อมๆ กับการเป็นองครักษ์พิทักษ์พรรคไทยรักไทยด้วย การณ์ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่าองครักษ์ทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยทุกคน นายกรัฐมนตรีในอดีตแม้จะมีการตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ไม่มีนายกรัฐมนตรีท่านใดที่ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคารมอันเผ็ดร้อน และอารมณ์อันฉุนเฉียวเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นมาจากปรปักษ์ทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม บางครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงกับใช้รายการวิทยุเช้าวันเสาร์ในการตอบโต้ผู้ที่วิจารณ์ตนหรือพรรคของตน

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศมีผลแปรเปลี่ยนระบบองครักษ์ทางการเมืองอย่างสำคัญ เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ Cyberspace กลายเป็นสนามรบทางการเมืองที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ ผลก็คือนักการเมืองและพรรคการเมืองในยุคสังคมสารสนเทศมิอาจละเลย Cyber Politics ได้

ความก้าวหน้าและการขยายตัวของ Cyber Politics ทำให้ระบบองครักษ์ทางการเมืองถูกยกขึ้นไปไว้ใน Cyber Space การต่อสู้ทางการเมืองบน Cyber Space แม้จะมีความเข้มข้นและความสำคัญไม่เท่าการต่อสู้ทางการเมืองในมนุษยพิภพ แต่เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ความเข้มข้นและความสำคัญจะเพิ่มพูนตามกาลเวลา

องครักษ์ทางการเมืองใน Cyber Space ปรากฏโฉมในรูป Cyber Soldiers ซึ่งมี Cyber Bullets เป็นอาวุธ ในขณะที่องครักษ์ทางการเมืองในมนุษยพิภพปรากฏตัวตนที่จับต้องได้ และเป็นเป้าแห่งการโจมตีได้ Cyber Soldiers ไม่มีตัวตนที่จับต้องได้ หากแต่อำพรางตนประดุจ "อีแอบ"

Cyber Soldiers มีทั้งที่เป็นองครักษ์ทางการเมืองโดยพฤตินัย และโดยนิตินัย ประชาชนใน Cyber Space บางคนอาจมีความชื่นชมผู้นำการเมืองคนหนึ่งคนใด และพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใด หากมีการวิพากษ์ผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ ก็อาจแปลงเป็น Cyber Soldier ยิงกราด Cyber Bullets ใส่ผู้ที่บังอาจวิจารณ์ผู้นำทางการเมืองหรือพรรคการเมืองของตน คนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ทางการเมืองโดยพฤตินัย

องครักษ์ทางการเมืองโดยนิตินัยเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากพรรคหรือผู้นำพรรค ให้ทำหน้าที่เป็น Cyber Soldiers คนเหล่านี้เป็น "ทหารอาชีพ" ใน Cyber Space มีหน้าที่ทำสงครามกับปรปักษ์ทางการเมืองใน Cyber Space ภารกิจหลักก็คือ การเข้าไปตรวจ Web Sites ต่างๆ ที่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หากปรากฏว่ามีความเห็นต่อต้านพรรคและผู้นำพรรคของตน ก็ต้องกราด Cyber Bullets ใส่คนเหล่านั้น

สังคมการเมืองในมนุษยพิภพมีอารยลักษณ์มากกว่าสังคมการเมืองใน Cyber Space โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นกฎกติกาที่กำกับสังคมการเมือง มนุษยพิภพถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายมหาชนนานาฉบับ ในรัฐสภา ยังมีระเบียบการประชุมที่กำกับการทำสงครามวจีกรรม Cyber Space น่าจะถูกกำกับโดยกฎกติกาเหล่านี้ด้วย

แต่โดยเหตุที่ขาดกฎกติกาเฉพาะในการกำกับ ตรวจสอบและควบคุม Cyber Space และการบังคับใช้กฎหมายต้องเสียต้นทุนสูงกว่าปกติ สงครามการเมืองใน Cyber Space จึงเป็นสงครามของคนเถื่อน เว้นแต่ Web Master จะทำหน้าที่เป็น ผู้คุ้มกฎ" เพื่อเพิ่มอารยลักษณ์ของ Cyber Politics

การเติบโตของ Cyber Politics มิได้เป็นผลจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หากแต่เป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ พรรคการเมืองที่จะอยู่รอดในสังคมการเมืองไทย นอกจากจะต้องมีความสามารถในการนำเสนอเมนูนโยบาย (Policy Menu) ที่ถูกใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการหาประโยชน์จาก Cyber Politics อีกด้วย




 

 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความ ๒ เรื่องเกี่ยวกับนิติรัฐศาสตร์ในโลกหลังสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพลเมืองพันธุ์ใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ และสงครามวจีกรรมทางการเมืองบนไซเบอร์สเปซ

ค.ศ. 1993 ในฝรั่งเศส มีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายสัญชาติ (Nationality Code) เพื่อให้สิทธิทางการเมืองเพิ่มขึ้นแก่ชนกลุ่มน้อย แรงผลักดันที่สำคัญมาจากพวก Beurs (เป็นกลุ่มคนรุ่นที่สองหรือถัดจากนั้น จากผู้อพยพที่มีเชื้อสายแอฟริกันซึ่งอาศัยและดำรงชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) การเรียกร้องสิทธิในฐานะของพลเมืองจึงไม่ได้อยู่บนฐานคิดของการสืบเชื้อสายมาจากพลเมืองดั้งเดิมของรัฐ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ความก้าวหน้าและการขยายตัวของ Cyber Politics ทำให้ระบบองครักษ์ทางการเมืองถูกยกขึ้นไปไว้ใน Cyber Space การต่อสู้ทางการเมืองบน Cyber Space แม้จะมีความเข้มข้นและความสำคัญไม่เท่าการต่อสู้ทางการเมืองในมนุษยพิภพ แต่เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ความเข้มข้นและความสำคัญจะเพิ่มพูนตามกาลเวลา องครักษ์ทางการเมืองใน Cyber Space ปรากฏโฉมในรูป Cyber Soldiers ซึ่งมี Cyber Bullets เป็นอาวุธ ในขณะที่องครักษ์ทางการเมืองในมนุษยพิภพปรากฏตัวตนที่จับต้องได้ และเป็นเป้าแห่งการโจมตีได้ Cyber Soldiers ไม่มีตัวตนที่จับต้องได้ หากแต่อำพรางตนประดุจ "อีแอบ" การทำสงครามวจีกรรม Cyber Space น่าจะถูกกำกับโดยกฎกติกา

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ