บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 511 หัวเรื่อง
ทรัพย์สินทางปัญญากับศีลธรรม
สมชาย
ปรีชาศิลปกุล
นิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กฎหมายกับจริยธรรม
ทรัพย์สินทางปัญญามิใช่หลักศีลธรรม
ตอน ๑-๒
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ได้ตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร
a day weekly
นำมาปรับปรุงเพื่อเผยแพร่บนเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)
๑. ทรัพย์สินทางปัญญามิใช่หลักศีลธรรม
การให้ความสำคัญต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญา เป็นทิศทางสำคัญอันหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดในโลกปัจจุบัน
ในการทำข้อตกลงระดับระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างประเทศต่างๆ กับองค์กรโลกบาล
หรือในการเจรจาทางเศรษฐกิจการค้าทั้งแบบพหุภาคและทวิภาคี ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งจะถูกเรียกร้องให้มีการเจรจาตกลงกัน
ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกามีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเรียกร้องเพื่อให้มีการเจรจา สร้างระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐในประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด
หากประเทศใดที่ละเลยไม่สนใจ และปล่อยให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแพร่หลายในประเทศของตน ก็อาจถูกขึ้นบัญชีจับตามอง รวมถึงอาจเผชิญกับมาตรการตอบโต้ทางการค้าเพื่อกดดันประเทศนั้นๆ ให้ปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายของตนต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญา
ในการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA (Free Trade Area) ที่สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการไปกับหลายประเทศก่อนหน้าที่จะทำกับประเทศไทย ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการเจรจา ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาหยิบยกขึ้นมากับประเทศคู่สัญญา เพื่อให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น
เช่น การให้ความคุ้มครองต่อพันธุ์พืชและสัตว์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ ในระดับที่เข้มงวดกว่าที่ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า (TRIPS) กำหนดไว้, จำกัดไม่ให้รัฐต่างๆ นำมาตรการการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory License) หรือการนำเข้าซ้อน (Parallel Import) มาใช้บังคับได้โดยสะดวก, การกำหนดให้การกระทำความผิดในฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น
ประเทศต่างๆ ที่จัดทำ FTA กับสหรัฐอเมริกาก็ล้วนแต่ต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องตามที่ได้กล่าวมา สำหรับประเทศไทยเองก็คาดหมายว่าเนื้อหาของ FTA ที่กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการเจรจาก็ไม่น่ามีความแตกต่างไปมากนัก
(ที่ต้องใช้คำว่า
"คาดหมาย" ก็เนื่องจากในขั้นตอนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
และรวมถึงที่ได้ทำกับประเทศอื่นไปแล้ว ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาหรือกรอบของการจัดทำข้อตกลงนี้(ให้โปร่งใส)แต่อย่างใด
ทั้งหมดเกือบเป็นการปิดลับของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ภายใต้การยืนยันของท่านผู้นำแห่งประเทศไทยว่า
การทำข้อตกลงนี้จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทย)
การยอมรับมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและอำนาจในการเจรจาต่อรองของแต่ละประเทศ
แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากก็คือ ความเข้าใจที่มีต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญาว่า
เป็นสิ่งที่มีความเป็นธรรมและควรให้ระดับของการคุ้มครองมากน้อยเพียงใด
มักเป็นที่เข้าใจกันว่า การให้ความคุ้มครองต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมที่ควรต้องมีการปฏิบัติตาม คำอธิบายที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ต่อการสนับสนุนกฎหมายในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาก็ด้วยเหตุผลว่า การปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้คนต่างขวนขวายผลิตคิดค้น และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้น ซึ่งจะนำความรุ่งเรืองมาสู่สังคมในที่สุด
ตรงกันข้ามถ้าไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
เช่น หากมีผู้ผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นแล้ว มีการลักลอบใช้โดยไม่จ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้คิดค้น
ก็อาจทำให้ต่อไปในอนาคตไม่มีผู้ใดลงทุนลงแรง เพื่อสร้างความรู้และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้น
คำอธิบายเช่นนี้มีแนวโน้มจะทำให้เข้าใจว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่ต้องได้รับการปกป้องจากกฎหมาย
การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงอาจไม่แตกต่างไปจากการลักทรัพย์อันเป็นข้อห้ามในทางศาสนา
หรืออาจกล่าวได้ว่า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาก็คือหลักศีลธรรมประการหนึ่ง
แต่เอาเข้าจริงระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเสมือนหลักศีลธรรมจริงหรือ?
เมื่อมีการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้น ในระยะเริ่มต้นมีการนำเอาวรรณกรรมและความรู้ของยุโรปเข้าไปตีพิมพ์จำหน่ายอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากยังไม่มีฐานความรู้ที่เข้มแข็งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และโดยที่ผู้อพยพส่วนใหญ่ก็มาจากดินแดนทวีปยุโรป การตีพิมพ์งานทั้งหมดแทบไม่มีการกล่าวถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดังที่ถูกกล่าวอ้างกันในปัจจุบันเลย
ในการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ ที่เกิดขึ้นจากการประดิษฐ์คิดค้นใหม่จากพันธุ์พืชและสัตว์ ที่เป็นข้อเรียกร้องใน FTA เช่น ยารักษาโรค พันธุกรรมทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้น ต่างอาศัยฐานความรู้ที่มีมาแต่เดิมในท้องถิ่นต่างๆ
เช่น ในอินเดีย มีการนำเอาต้นสะเดาอินเดีย (Neem) มาสกัดเป็นสารในการกำจัดเชื้อราบนพืช บริษัทเอกชนของสหรัฐอเมริกาพยายามจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาชนิดนี้ และนำไปแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ไม่มีการกล่าวถึงเลยว่า ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้บนฐานความรู้ของชุมชนในอินเดีย ซึ่งสั่งสมกันมาอย่างยาวนานถึงสรรพคุณ และประโยชน์ของต้นสะเดาอินเดียอันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป
วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) นักวิทยาศาสตร์หญิงชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัล Alternative Nobel Peace Prize คำนวณว่า ร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์ยาที่บรรษัทข้ามชาติผลิตขึ้นโดยอาศัยความรู้ของท้องถิ่นเป็นฐานความรู้ ขณะที่เรียกร้องให้มีการยอมรับกระบวนการผลิตของธุรกิจเอกชน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่ความรู้ของท้องถิ่นที่ถูกนำมาต่อ ยอดกลับไม่ถูกนับเป็นทรัพย์สินทางปัญญาแต่อย่างใด
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการนับเอาว่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ และความรู้ของท้องถิ่นเป็นมรดกของมวลมนุษย์ชาติที่ควรเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี
สาเหตุของการแบ่งแยกถึงการเป็นและไม่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงว่าประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ มีความรู้ด้านเทคโนโลยีแต่ขาดแคลนฐานทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ตรงกันข้ามประเทศในซีกโลกใต้ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศยากจน จะมีฐานทางด้านทรัพยากรที่ไพศาล และรวมถึงความรู้ของท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร แต่ปราศจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดการผลักดันของสหรัฐอเมริกาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จึงมุ่งที่จะให้การคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชและสัตว์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ โดยไม่สนใจต่อการให้ความคุ้มครองทรัพยากรท้องถิ่น
มองในมุมนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาจึงมิใช่หลักศีลธรรม เพราะในตัวการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด มาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบางภาคของบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับธุรกิจเอกชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงมิใช่หลักศีลธรรมแต่อย่างใด ดังนั้น การปฏิบัติตามระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามกลายเป็นผู้ทรงศีล หากกลายเป็นการปล้นชิงโดยอาศัยระบบกฎหมายสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ และเช่นกัน การฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญา ก็จึงมิใช่อาชญากรรมต่ำช้าสามานย์ที่ทำให้สังคมจมดิ่งสู่ความทุศีลแต่อย่างใด
๒. ทรัพย์สินทางปัญญามิใช่หลักศีลธรรม
นอกจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่ใช่หลักศีลธรรมแล้ว การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด
ก็ยังอาจสร้างผลในด้านลบให้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงด้วย
ดังกรณีของยารักษาโรคเอดส์ที่ถูกผลิตและกำหนดราคาโดยธุรกิจเอกชน เฉพาะอย่างยิ่งบรรษัทข้ามชาติ ทำให้ยามีราคาสูงจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ไม่สามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้ ระบบการคุ้มครองที่เข้มงวดจึงอาจมีความหมายถึงชีวิตของผู้คนจำนวนไพศาลซึ่งต้องล้มหายตายจากไป เพียงเพราะไม่มีเงินจะซื้อหายาจากผู้ผลิตที่ถือสิทธิบัตรไว้
มาตรการต่างๆ เพื่อผ่อนคลายความเข้มงวดของระบบทรัพย์สินทางปัญญาจึงเกิดขึ้น เช่น ระบบการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory License) อันเป็นกรณีที่เกิดปัญหาว่า ประชาชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากมีราคาแพงและเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิต เช่น ยารักษาโรค
รัฐก็อาจอนุญาตให้บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ทรงสิทธิทำการผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นๆ แทนผู้ถือสิทธิบัตร ซึ่งจะช่วยให้ได้สินค้าที่มีราคาถูกลง เป็นผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าได้กว้างขวางกว่าเดิม
การพยายามสร้างมาตรการเพื่อทำให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา มีความเข้มงวดในระดับที่ลดลง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากแง่มุมของความเป็นธรรมหรือมนุษยธรรมแล้ว ย่อมทำให้เห็นได้ว่าระบบทรัพย์สินทางปัญญาโดยตัวของมันเองแล้ว มิใช่เป็นระบบที่ตั้งอยู่บนฐานของความชอบธรรมอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในระบบทรัพย์สินทางปัญญา ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะถูกจำกัดวงให้แคบลง อันเนื่องมาจากในกรอบการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) สหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้เนื้อหาส่วนหนึ่งของ FTA ที่ตนทำกับประเทศอื่น มีการกำหนดให้ประเทศคู่สัญญาต้องแก้ไขให้มาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
เช่น มาตรการการบังคับใช้สิทธิ รัฐจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเอกชนผู้ทรงสิทธิได้ให้ความเห็นชอบต่อการกระทำนั้น อันเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่ายากที่จะมีธุรกิจเอกชนรายใดยินยอม เพราะไม่ต่างอะไรจากการทุบหม้อข้าวตนเองทิ้ง
การกำเนิดและความเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จึงเกี่ยวพันกับผลประโยชน์และสถานะของประเทศ หรือกลุ่มทุนธุรกิจในฐานะผู้ที่พยายามสร้างกรอบของระบบ ด้านหนึ่ง, อาจเป็นผลมาจากอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่เหนือกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่ง, ก็เป็นผลมาจากการสร้างให้ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีความ "ศักดิ์สิทธิ์" จนไม่มีการตั้งคำถามถึงแง่มุมอื่นนอกจากผลประโยชน์ ของผู้ถือสิทธิไว้ตามกฎหมายเท่านั้น
ทั้งที่ในการประกอบธุรกิจของเอกชน แม้ว่าการแสวงหากำไรสูงสุดจะเป็นเป้าหมายของธุรกิจเอกชนก็ตาม แต่ก็มีการวางกรอบว่า เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรม หรือปล่อยให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกันผ่านระบบตลาด จึงมีการออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการผูกขาดของเอกชนรายหนึ่งรายใด หรือการป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม
การกำหนดให้สินค้าบางประเภทเป็นสินค้าที่ต้องถูกควบคุมจากรัฐ การขึ้นราคาในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐจึงจะสามารถกระทำได้ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าต้นทุนการผลิตได้ขยับเพิ่มขึ้นไป และเช่นเดียวกัน หากมีการขายสินค้าที่เกินกว่าราคาควบคุม ก็จะถือว่าเป็นการค้ากำไรเกินควร เช่น การขายน้ำตาลทรายเกินราคาควบคุม ก็อาจถูกดำเนินการตามกฎหมาย
ขณะที่การขายน้ำตาลทรายเกินราคาควบคุมแม้เพียงกิโลกรัมละ
1 หรือ 2 บาท ก็มีความผิด แต่ตรงกันข้ามสำหรับสินค้าภายใต้การคุ้มครองของระบบทรัพย์สินทางปัญญา
กลับไม่เคยมีการคิดถึงการควบคุมราคาแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของที่มีความจำเป็นต่อชีวิต
หรือเป็นของฟุ่มเฟือยก็ตาม
ฉะนั้นจึงไม่ใช่ยารักษาโรคเอดส์เท่านั้นที่มีราคาแพง หากยังรวมถึงราคาของแผ่น
VCD, DVD ทั้งที่เป็นภาพยนตร์และเพลง สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงราคาของ
VCD และ DVD อาจมีราคาถึงหลายร้อยบาทต่อแผ่น และไม่เคยมีการตั้งคำถามเลยว่าราคาต้นทุนของทรัพย์สินทางปัญญาประเภทนี้
มีมูลค่าเท่าไร
ว่ากันว่าที่เมืองยอน ใกล้ชายแดนด้านอำเภอแม่สาย สามารถผลิตหนังแผ่น VCD ได้ในราคาต้นทุนไม่เกิน 10 บาทต่อแผ่น
การครอบงำของความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มีผลสำคัญต่อการทำให้ระบบธุรกิจแบบหน้าเลือดกลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาๆ ที่ไม่มีคำถาม ข้อโต้แย้ง ข้อสงสัย คนส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะเช่นนี้ เป็นความถูกต้องตามสามัญสำนึกที่ควรต้องยอมรับโดยดุษฎี
ไม่ใช่เพียงการผลักดันของบรรษัทข้ามชาติหรือประเทศมหาอำนาจเท่านั้น ธุรกิจเอกชนภายในประเทศที่แสวงหาประโยชน์จากระบบทรัพย์สินทางปัญญา ก็มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองสินค้าภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัท แกรมมีและอาร์เอส ซาวน์ซึ่งเป็นคู่แข่งกันในอุตสาหกรรมบันเทิงจะสามารถจับมือกันได้หลายครั้งในการจัดเวทีดนตรีอันมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านเทปผีซีดีเถื่อน
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยสร้างความชอบธรรม แก่ระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมากก็คือ สถาบันการศึกษาที่เพียงแต่ลอกเอาความคิดของฝรั่งมาสอน ถึงประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยปราศจากการตั้งคำถามจากแง่มุมของสังคมในประเทศที่ล้าหลังทางด้านเทคโนโลยี
ท่าทีในการเผชิญหน้ากับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือ การหันมาตรวจสอบความเชื่อที่เป็นสามัญสำนึกของผู้คนว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด ควรมีเงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างไรหรือไม่ ในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา
หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญากลับเป็นเพียงเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ ของผู้ที่ถือสิทธิไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทยด้วยกันเอง โดยไม่ได้มีความชอบธรรมใดๆ กำกับเอาไว้เลย
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ ที่เกิดขึ้นจากการประดิษฐ์คิดค้นใหม่จากพันธุ์พืชและสัตว์ ที่เป็นข้อเรียกร้องใน FTA เช่น ยารักษาโรค พันธุกรรมทางการเกษตร... ต่างอาศัยฐานความรู้ที่มีมาแต่เดิมในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ในอินเดีย มีการนำเอาต้นสะเดาอินเดีย (Neem) มาสกัดเป็นสารในการกำจัดเชื้อราบนพืช บริษัทเอกชนของสหรัฐอเมริกาพยายามจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาชนิดนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
มองในมุมนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาจึงมิใช่หลักศีลธรรม เพราะในตัวการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด มาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบางภาคของบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับธุรกิจเอกชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงมิใช่หลักศีลธรรมแต่อย่างใด ดังนั้น การปฏิบัติตามระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามกลายเป็นผู้ทรงศีล หากกลายเป็นการปล้นชิงโดยอาศัยระบบกฎหมายสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ และเช่นกัน การฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญา ก็จึงมิใช่อาชญากรรมต่ำช้าสามานย์ที่ทำให้สังคมจมดิ่งสู่ความทุศีลแต่อย่างใด (คัดจากบทความ)