ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
240148
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 512 หัวเรื่อง
ปรัชญากฎหมายอำนาจนิยม
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
นิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

อำนาจนิยมกับกฎหมาย
ปรัชญากฎหมายอำนาจนิยมแบบไทยๆ
(ตอนที่ ๑-๒)

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้ได้ตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร a day weekly
นำมาปรับปรุงเพื่อเผยแพร่บนเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

 


๑. ปรัชญากฎหมายอำนาจนิยมแบบไทยๆ
"เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุวิทย์ พรพาณิชย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาพร้อมองค์คณะอ่านคำสั่งคดี นางยุพดี กิตติธนบดี น้องสาวนายเพ้งหรือองอาจ แซ่แต้หรือกิตติธนบดี อายุ 53 ปี ผู้ต้องขังคดียาเสพติดตั้งแต่ปี 2520 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวนายเพ้ง เนื่องจากถูกคุมขังตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อหลักนิติธรรมและประเพณีการปกครอง ให้ยกคำร้อง

คำร้องบรรยายสรุปว่าระหว่างวันที่ 10-16 มิถุนายน 2521 นายเพ้งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนหนัก 92 กิโลกรัมเศษ มอร์ฟีนหนัก 58 กิโลกรัม และฝิ่นสุกหนัก 81 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ต่อมานายเพ้งถูกคณะรัฐมนตรีโดยรัฐบาลพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติ (ขณะนั้น) มีคำสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต โดยมิผ่านกระบวนการยุติธรรมหรือใช้อำนาจศาลพิจารณาพิพากษา โดยใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2520 ลงนามเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี

ศาลพิเคราะห์เห็นว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีเป็นคำสั่งตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และสภานโยบายแห่งชาติที่อาศัยอำนาจธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2520 มาตรา 27 และภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 169 บัญญัติให้ศาลพิพากษาอรรถคดีแล้ว แต่ไม่เคยมีการตรากฎหมายเพื่อยกเลิกอำนาจการออกคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นผลที่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ก็ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ให้อำนาจศาลรื้อฟื้นการใช้ดุลพินิจการออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่จำเป็นต้องยกประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ขึ้นมาพิจารณาอีก ให้ยกคำร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังรับฟังคำสั่งแล้ว นางยุพดี บุตรชาย บุตรสาวนายเพ้ง รวมทั้งญาติพี่น้องถึงกับร่ำไห้" (มติชนรายวัน 28 กรกฎาคม 2547 หน้า 13)

คำพิพากษาในคดีของ น.ช.เพ้ง นับเป็นภาพสะท้อนที่แจ่มชัดอันหนึ่ง ของปรัชญากฎหมายอำนาจนิยมแบบไทยๆ ที่ยังมีอิทธิพลอยู่อย่างมากในกระบวนการยุติธรรมของไทย

ข้อโต้แย้งหลักของผู้ต้องขังในคดีนี้ก็คือ การใช้อำนาจสั่งการของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น แม้จะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 แต่ก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะเป็นการลงโทษบุคคลโดยไม่ได้มีการพิจารณาตามครรลองของกระบวนการยุติธรรม

ข้อพิพาทถึงการใช้อำนาจในการบัญญัติและสั่งลงโทษบุคคลต่างๆ อันเป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรขึ้นใช้บังคับเพียงบุคคลไม่กี่คน โดยมิได้มีกระบวนที่เปิดกว้างต่อสาธารณะ เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502, 2515, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เป็นต้น

หรือการใช้อำนาจออกคำสั่งริดลอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรง เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 (2 พฤศจิกายน 2501) ให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการควบคุมตัวบุคคลที่เห็นว่าประพฤติตนเป็นอันธพาลได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่จำเป็นต้องตั้งข้อกล่าวหา สืบสวนสอบสวน, ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 (10 มกราคม 2502) ให้อำนาจพนักงานส่งตัวบุคคลที่ประพฤติตัวเป็นอันธพาลไปควบคุมยังสถานอบรมและฝึกอาชีพ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาควบคุมไว้แน่นอน ฯลฯ

คำสั่งหรือกฎเกณฑ์ที่ออกโดยผู้ทำการยึดอำนาจไม่ว่าภายใต้ชื่อของคณะปฏิวัติ, คณะรัฐประหาร หรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อันเป็นผลมาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในทางการเมืองเช่นนี้ ควรถูกยอมรับว่ามีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่

คำถามนี้มีความสำคัญเนื่องจาก เป็นการค้นหาถึงหลักการในการยอมรับความเป็นกฎหมายของกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านองค์กรนิติบัญญัติ และกระบวนการบัญญัติกฎหมายตามปกติที่ต้องมีผู้แทนของประชาชน ร่วมในการพิจารณาแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจ ก่อนลงมติว่าจะบัญญัติเป็นกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้น

กฎเกณฑ์จากคณะผู้ยึดอำนาจโดยกำลัง นอกจากไม่ได้อาศัยกระบวนการและองค์กรนิติบัญญัติแล้ว ยังเป็นเพียงความต้องการของคณะผู้ทำการยึดอำนาจเท่านั้น จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ได้มีฐานความชอบธรรมจากตัวแทนของประชาชนรองรับ ฐานในการสร้างกฎเกณฑ์มาจากการใช้อำนาจในทางการเมืองเท่านั้น

ผลกระทบที่รุนแรงประการหนึ่งคือกฎเกณฑ์จากผู้ยึดอำนาจ มักมีเนื้อหาและกระบวนการที่ขัดกับหลักการสำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ (Modern Law)

การออกคำสั่งลงโทษนายเพ้งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เป็นรูปธรรมของการใช้อำนาจที่ขัดกับหลักการของระบบกฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ และหากจะมีการลงโทษก็ต้องภายหลังจากถูกพิจารณาและไต่สวนอย่างเป็นธรรมโดยองค์กรตุลาการ คำสั่งตามมาตรา 27 นี้ทำลายทั้งหลักการและกระบวนการของกฎหมายอาญาลงอย่างสิ้นเชิง

ได้เคยปรากฏข้อโต้แย้งถึงสถานะความเป็นกฎหมายของคำสั่งจากคณะบุคคลที่ทำการยึดอำนาจเกิดขึ้น ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทกันก็คือว่าการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติ, รัฐประหารที่ได้ทำสำเร็จมีสถานะความชอบด้วยกฎหมายเพียงใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 "ใน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก และออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้ มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งอยู่ด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์"

คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 "เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกด้วยคำแนะนำ หรือยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม"

แนวคำพิพากษาที่เกิดขึ้นได้ให้การยอมรับว่า คำสั่งของผู้ที่ยึดอำนาจได้เป็นผลสำเร็จมีสถานะเป็นกฎหมายที่สามารถใช้บังคับได้ จึงเท่ากับเป็นการวางหลักการในการยอมรับว่า อำนาจคือธรรม (Might is Right) ไม่ใช่ธรรมคืออำนาจ แนวคิดเช่นนี้ไม่ได้ให้ความสนใจต่อการจะพิจารณาลงไปถึงเนื้อหาของคำสั่งว่า มีความชอบธรรมหรือเหตุผลใดประกอบอยู่หรือไม่
(น่าคิดต่อว่าใช่หรือไม่หากจะกล่าวว่า แนวความคิดแบบอำนาจนิยมที่ได้รับการยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต นอกจากปัจจัยทางการเมืองอื่นที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว)

คำสั่งที่แม้มีเนื้อหาละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนรุนแรงเพียงใด ก็ยังคงมีสถานะเป็นกฎหมายในสายตาของสถาบันตุลาการของไทย

มักเป็นที่เข้าใจและเชื่อกันว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นองค์กรและกระบวนที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดขึ้น ในฐานะของสถาบันที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ อย่างเป็นธรรม จนทำให้ลืมไปว่าการตัดสินข้อขัดแย้งนั้น ตัวสถาบันตุลาการก็ต้องอยู่ภายใต้อุดมการณ์ความเชื่อต่างๆ เช่นเดียวกัน ดังที่ได้หยิบยกมาแสดงให้เห็นถึงการยอมรับต่อลักษณะของอำนาจนิยมที่เกิดขึ้น และยังคงสืบทอดมาจนกระทั่งในคดีของ น.ช. เพ้ง

ตราบเท่าที่ยังไม่สลัดหลุดไปจากปรัชญากฎหมายอำนาจนิยม ตราบนั้นกระบวนการยุติธรรมของไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับคำถามว่า จะเป็นองค์กรที่ช่วยผดุงความเป็นธรรมในสังคมตามที่มักกล่าวอ้างและเชื่อสืบต่อกันมาได้จริงหรือ?

หมายเหตุ : มาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ

๒. ปรัชญากฎหมายอำนาจนิยมแบบไทยๆ
แนวความคิดทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมของไทยมีที่มาจากไหน?
สามารถกล่าวได้ว่าปรัชญากฎหมายอำนาจนิยมแบบไทยๆ เริ่มปรากฏให้เห็นพร้อมกับการปฏิรูประบบกฎหมายของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 การปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายที่เกิดขึ้น เป็นการนำเข้าความคิดของตะวันตกครั้งสำคัญ อันมีผลต่อการสร้างระบบกฎหมาย ซึ่งรวมถึงระบบการศึกษากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นหนึ่งในท่ามกลางบุคคลหลายคนที่มีบทบาทอย่างมากต่อการวางรากฐานของระบบกฎหมายสมัยใหม่ขึ้นในสยาม ภายหลังจากที่พระองค์สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมายังสยามในขณะนั้น ก็ได้ริเริ่มให้มีการปฏิรูประบบงานศาลและการก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย เพื่อจัดการเรียนการสอนทางด้านกฎหมายตามแบบสมัยใหม่ขึ้น

ในฐานะผู้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายและในฐานะผู้สอน พระองค์ได้จัดพิมพ์หนังสือ คำอธิบายว่าด้วยกฎหมาย ร.ศ. 118 โดยให้คำอธิบายว่า…

"กฎหมายนั้นคือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้องโทษ

เราจะต้องระวังอย่าคิดเอากฎหมายไปปะปนกับความดีความชั่วฤาความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่งแบบที่เราจะต้องประพฤติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็จะชั่วได้ฤาไม่เป็นยุติธรรมได้ ความคิดว่าอะไรดี อะไรชั่ว ฤาอะไรเป็นยุติธรรม อะไรไม่เป็นยุติธรรม มีบ่อจะเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ตามศาสนาต่างๆ แต่กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียวคือจากผู้ปกครองแผ่นดิน ฤาที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น"

คำอธิบายของพระองค์เจ้ารพีฯ ที่มีต่อกฎหมายด้วยการให้ความหมายว่าคือคำสั่งของผู้มีอำนาจรัฐ หากใครไม่ปฏิบัติตามแล้วต้องได้รับโทษ เป็นคำสอนที่มีอิทธิพลความคิดต่อนักกฎหมายไทยไม่น้อย ดังเห็นได้จากตำราทางกฎหมายเป็นจำนวนมากในรุ่นถัดมาจากพระองค์ ก็ล้วนให้คำอธิบายถึงความหมายของกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันกับที่พระองค์ได้สั่งสอนเอาไว้

ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับการที่พระองค์เจ้ารพีฯ ได้รับการยกย่องในหมู่นักกฎหมายของไทยให้มีสถานะเป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" มาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยิ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพนับถือที่มีต่อพระองค์อย่างสูงล้น ซึ่งรวมไปถึงคำสอนที่ได้รับการสืบทอดต่อมาในภายหลัง

แต่แนวความคิดนี้มิใช่เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นโดยพระองค์เอง หากเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยืมมาจากความรู้ที่ถูกสร้าง และแพร่หลายในตะวันตกก่อนเข้ามาสู่สังคมไทย โดยที่พระองค์เจ้ารพีฯ ได้ไปศึกษากฎหมายที่ประเทศอังกฤษที่วิทยาลัยไครส์เชิช ในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ. 2436

ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคสมัยที่แนวความคิดทางปรัชญากฎหมายแบบสำนักบ้านเมือง (Legal Positivism) ของจอห์น ออสติน (John Austin) กำลังมีอิทธิพลอย่างมากในระบบการศึกษากฎหมายของอังกฤษ จึงย่อมหลีกไม่พ้นที่จะได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในประเทศอังกฤษขณะนั้น

จอห์น ออสติน ได้ให้คำอธิบายถึงความหมายของกฎหมายว่ามีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก กฎหมายเป็นคำสั่งของผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง บังคับกับผู้ที่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชา
ประการที่สอง การพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของกฎหมายกับหลักศีลธรรม เป็นเรื่องที่แยกต่างหากจากกัน
(the existence of law is one thing, it merit or demerit is another)

จากคำอธิบายที่มีต่อกฎหมายดังที่กล่าวมา ทำให้แนวความคิดของออสตินถูกเรียกว่าเป็น Command Theory หรือทฤษฏีอำนาจบังคับ น้ำเสียงของการให้ความหมายต่อกฎหมายจึงเป็นการให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจในทางการเมือง ในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ มาบังคับใช้กับประชาชนที่อยู่ใต้อำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปพิจารณาถึงเนื้อหาของกฎหมายว่าจะมีลักษณะอย่างไร เพราะการดำรงอยู่ของกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง ขณะที่ความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมของกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องแยกต่างหาก

กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ เนื้อหาของกฎหมายจะดีหรือเลวร้ายอย่างไร ก็ไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ของกฎหมาย กฎหมายอย่างไรก็ยังคงเป็นกฎหมาย

เพราะฉะนั้น หากเปรียบเทียบระหว่างคำสอนของพระองค์เจ้ารพีฯ และออสติน (ซึ่งควรมีสถานะเป็น "พระอาจารย์ของบิดาแห่งกฎหมายไทย") ก็อาจกล่าวได้ว่า เนื้อหาสาระก็อยู่ในกรอบความคิดทฤษฎีอำนาจบังคับซึ่งออสตินเป็นผู้เผยแพร่ความคิดดังกล่าว

แม้ความคิดของบุคคลทั้งสองจะเป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาจนทำให้ดูราวกับว่าเป็นแนวความคิดที่ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมของสังคมอังกฤษและสยามในห้วงเวลานั้น ก็จะพบว่า แนวความคิดที่ได้สั่งสอนและเผยแพร่มีผลติดตามมาซึ่งแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

สำหรับออสติน คำอธิบายเรื่องกฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ระบบรัฐสภาได้มีการพัฒนาพร้อมกับระบบตัวแทน การยืนยันถึงอำนาจสูงสุดของรัฐในการบัญญัติกฎหมาย จึงเป็นการสนับสนุนระบบรัฐสภา ที่มีตัวแทนของประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองให้มีอำนาจสูงสุด

ขณะที่ในสังคมสยาม การอธิบายว่ากฎหมาย คือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินของพระองค์เจ้ารพีฯ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังก่อตัวขึ้น คำอธิบายในลักษณะนี้จึงเป็นการเพิ่มอำนาจความชอบธรรมแก่กษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้นำของระบบในการออกกฎหมายหรือบัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นใช้บังคับ

ผลที่ติดตามมาต่อระบบการเมือง จากความคิดชุดเดียวกัน(ที่บริบทคนละอย่าง)จึงให้ความหมายในความเป็นจริงไปในทิศทางที่แตกต่างกัน

แต่นอนว่าไม่ใช่เพียงความคิดของพระองค์เจ้ารพีฯ อย่างเดียวที่ทำให้ปรัชญากฎหมายอำนาจนิยมงอกงามขึ้นในระบบกฎหมายของไทย ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการประกอบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า คำสอนของพระองค์เจ้ารพีฯ มีส่วนอย่างสำคัญต่อการวางรากฐานความคิดนี้เอาไว้

ผลที่สำคัญก็คือ ความคิดนี้ได้เปลี่ยนให้กฎหมายกลายมาเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการบรรลุสู่เป้าหมายตามที่รัฐหรือผู้ปกครองต้องการ อันต่างไปจากความคิดทางกฎหมายแบบดั้งเดิมของไทย ที่กฎหมายต้องมีความสอดคล้องกับหลักศีลธรรม และการใช้กฎหมายก็ต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

การลดทอนกฎหมายให้มีสถานะเป็นเพียงเครื่องมือ จึงทำให้กฎหมายสามารถจะมีลักษณะเช่นใดก็ได้ ขอให้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจในทางการเมืองเป็นสำคัญ นับเป็นแนวทางการพิจารณากฎหมายที่สืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังกรณีของ น.ช. เพ้ง ที่ถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้จำคุกโดยแม้จะไม่มีการไต่สวนใดๆ จากกระบวนการยุติธรรม ก็สามารถมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ โดยไม่เกิดความตะขิดตะขวงใจแม้แต่น้อยในกระบวนการยุติธรรม

กฎหมายแม้มีเนื้อหาขัดต่อหลักนิติธรรม หรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรง อย่างไร ก็ยังคงมีสถานะเป็นกฎหมายในระบบกฎหมายของไทยไม่เปลี่ยนแปลง

 

 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง "ปรัชญากฎหมายอำนาจนิยมแบบไทยๆ" เขียนโดย ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(๒๔๐๐๑๔๘)

จอห์น ออสติน ได้ให้คำอธิบายถึงความหมายของกฎหมายว่ามีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก กฎหมายเป็นคำสั่งของผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง บังคับกับผู้ที่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชา. ประการที่สอง การพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของกฎหมายกับหลักศีลธรรม เป็นเรื่องที่แยกต่างหากจากกัน (the existence of law is one thing, it merit or demerit is another) (คัดมาจากบทความ)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

นายเพ้งถูกคณะรัฐมนตรีโดยรัฐบาลพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติ (ขณะนั้น) มีคำสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต โดยมิผ่านกระบวนการยุติธรรมหรือใช้อำนาจศาลพิจารณาพิพากษา โดยใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2520... ศาลพิเคราะห์เห็นว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีเป็นคำสั่งตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และสภานโยบายแห่งชาติที่อาศัยอำนาจธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2520 มาตรา 27 และภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 169 บัญญัติให้ศาลพิพากษาอรรถคดีแล้ว แต่ไม่เคยมีการตรากฎหมายเพื่อยกเลิกอำนาจการออกคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นผลที่ชอบด้วยกฎหมาย (???)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ