R
relate topic
150148
release date
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 506 หัวเรื่อง
วิภาษวิธี-ความเป็นกลางของความรู้
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท
(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ ...
midnightuniv@
yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง ...
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีบนเว็ปไซต์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาและสมาชิก

บทความทางปรัชญา-รัฐศาสตร์
วิภาษวิธีว่าด้วยความเป็นกลางทางความรู้
(ฉบับสมบูรณ์)

รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในหัวข้อ "ความเป็นกลางทางความรู้ ศีลธรรมและการเมือง"
ในโครงการงานฉลอง ๑๐๐ ปีสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
กลุ่มสัมมนาปรัชญา ศาสนาและจริยธรรม ณ สยามสมาคม ซอยสุขุมวิท
๒๑, ๒๐ พ.ย. ๒๕๔๗

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

 


กระทู้เรื่อง "ความเป็นกลางทางความรู้ ศีลธรรมและการเมือง" ผมเข้าใจว่าหมายถึงปัญหา จุดยืน มุมมอง และความสัมพันธ์ กับระเบียบทางความรู้ ระเบียบทางศีลธรรม และระเบียบการเมืองที่ดำรงคงอยู่ในโลก

จะขอเริ่มพูดที่ "ความเป็นกลางทางความรู้" ซึ่งค่อนข้างยากและซับซ้อนกว่าเป็นลำดับแรก โดยแบ่งเป็น ๔ ตอน คือ
๑) บทยืน (THESIS)
๒) บทแย้ง (ANTI-THESIS)
๓) บทสรุปยืน (SYNTHESIS) และ
๔) ข้อสังเกตส่งท้าย

๑) บทยืน (THESIS)
ในนิยายเรื่อง การิทัตผจญภัย: นิยายปรัชญาการเมือง ของ Steven Lukes ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองและสังคม (เขียน ค.ศ. ๑๙๙๕ ผมแปลเป็นไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑) มีข้อเปรียบต่างสำคัญในบทที่ ๓ ระหว่างทรรศนะของศาสตราจารย์การิทัต ผู้เชื่อในความเป็นกลางทางความรู้ กับ จัสติน นักปฏิวัติซ้ายจัดแห่งขบวนการมือที่มองเห็น ผู้เชื่อว่าความรู้ต้องไม่เป็นกลาง พอเรียบเรียงเป็นตารางได้ดังนี้: -

จัสติน: ความรู้ไม่เป็นกลาง
๑) ปัดปฏิเสธงานเชิงวิชาการทั้งปวงอย่างดูหมิ่นถิ่นแคลนจนออกนอกหน้า ว่ามันก็ไอ้แค่ลัทธิหนีปัญหาของพวกปัญญาชน
๒) เข้าใจตัวเองว่าเป็นนักปรัชญาผู้เปลี่ยนแปลงโลก ไม่ใช่แค่ตีความมัน
๓) ถือว่าความคิดความรู้เป็นเครื่องมือหรืออาวุธ
๔) สิ่งเดียวในงานวิชาการที่น่าสนใจคือมีเนื้อหาข้อมูลอะไรในนั้นบ้างที่จะหยิบมาใช้พูดไฮด์ปาร์คหรือชูเป็นคำขวัญอย่างได้ผล

การิทัต: ความเป็นกลางทางความรู้
๑) ไม่ควรปล่อยให้การเลือกจุดยืนเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาเป็นตัวกำหนดการวิเคราะห์ล่วงหน้าแต่ต้น
๒) พึงระวังการมองอะไรแบบแบ่งแยกเป็นสองข้างสองขั้วง่าย ๆ
๓) แนวทางการใช้เหตุผลนั้นแตกต่างกันไปได้ร้อยแปดพันเก้าชนิดที่ไม่โน้มมาบรรจบเป็นหนึ่งเดียวกัน
๔) ความคิดของศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดมีค่าควรแก่การนำมาพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจัง
๕) การใช้เวลาตีความบรรดาความคิดที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโลกทั้งหลายเป็นสิ่งที่คุ้มค่าควรทำ

แน่นอน คำขวัญประจำใจของจัสตินย่อมมาจาก Thesis XI ในงานเขียนเรื่อง "Theses on Feuerbach" (1845) ของ คาร์ล มาร์กซ กล่าวคือ "นักปรัชญาได้แต่ตีความโลกไปต่าง ๆ กัน ทว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก" ("Philosophers have only interpreted the world in various ways: the point is to change it.")

ขณะที่คำขวัญประจำใจของการิทัตย่อมจะเหมือนกับของท่านศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เคยกล่าวในที่สัมมนาต่อหน้าอดีตลูกศิษย์ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (อย่างผม) กลางพุทธทศวรรษ ๒๕๒๐ ว่า: - "ก่อนจะเปลี่ยนแปลงโลกน่ะ อธิบายโลกให้ได้เสียก่อน" และก็คงเหมือนของศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา ที่เคยกล่าวไว้ว่า: -

"ปกติผมไม่ชอบโน้มน้าวหรือไม่ชอบสั่งสอน และหลายคนก็พูดเสมอว่า ผมมักจะวิเคราะห์โลกในเชิง positivist เสมอ คือดูว่าโลกมันหมุนอย่างไร ซึ่งผมขอเท้าความไปถึงประโยคสำคัญของคาร์ล มาร์กซ ที่ว่า "ปราชญ์นั้นได้พยายามอธิบายหรือตีความโลกในรูปแบบต่าง ๆ แต่หัวใจคือการที่จะเปลี่ยนโลกอันนั้น"

ผมคิดว่าปราชญ์นั้นพยายามที่จะเปลี่ยนโลกมาหลายอย่าง แต่ส่วนที่สำคัญคือความพยายามอธิบายและเข้าใจโลกอันนั้น (ขออนุญาตแปลว่า "Philosophers have tried to change the world in various ways: the point is to explain and understand it." - ผู้เขียน) และเพราะเราพยายามเปลี่ยนโลกโดยไม่เข้าใจโลกนั้น ผมถือว่าบาป และนี่คือความเชื่อจากใจจริงของผม ผมถึงพยายามเลี่ยงที่จะมีนโยบาย มีอะไรต่ออะไรออกมาอย่างรวดเร็ว และผมก็หวังงว่าจะมีส่วนร่วมในการช่วยอธิบายอะไรต่าง ๆ "

(อ้างใน "๖๐ ปีคุรุเศรษฐสยาม ผู้เป็นแบบอย่างนักวิชาการบริสุทธิ์," เนชั่นสุดสัปดาห์, ๘: ๓๖๕ (๓-๙ มิ.ย. ๒๕๔๒), ๙)


สรุปก็คือเป็นความเชื่อที่ว่ามีปริมณฑลแห่งการปฏิบัติของมนุษย์ที่เป็นอิสระ (autonomous sphere of human practice) ที่เรียกว่าโลกแห่งความรู้หรือวิชาการ ดำรงอยู่เคียงข้างแต่แยกต่างหากจากโลกศีลธรรมและโลกการเมือง, ในโลกนั้นควรต้องมีความเป็นกลางทางความรู้ หรือนัยหนึ่งความเป็นภาววิสัยหรือความเป็นอิสระทางวิชาการอยู่ (neutrality = objectivity = autonomy)

ฐานของความเชื่อเรื่อง "ความเป็นกลางทางความรู้" ดังกล่าวมาจากปรัชญายุครู้แจ้ง (the Enlightenment) ของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ดังที่ Voltaire (นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๖๙๔-๑๗๗๘) แถลงไว้ในงานเขียนเรื่อง Treatise on Metaphysics ว่า: -

"ฉันเสนอที่จะศึกษาคนเหมือนดังเราศึกษาการโคจรของดาวเคราะห์ทุกอย่างทุกประการ คือราวกับมองจากจุดยืนที่อยู่พ้นลูกโลกนี้ออกไป มีแต่จากจุดยืนดังกล่าวเท่านั้นที่เราจะสามารถเปรียบเทียบการโคจรที่ปรากฎแก่ตาซึ่งเราเห็นจากโลกนี้ กับการโคจรที่แท้จริงซึ่งเราอาจเห็นได้หากเราอยู่ในดวงอาทิตย์...

"ในการศึกษาคน ก่อนอื่นฉันจะพยายามเอาตัวออกห่างจากปริมณฑลของเขาและผลประโยชน์ และขจัดความเดียดฉันท์ทั้งปวงอันเกิดแต่การศึกษา ประเทศชาติ และเหนือสิ่งอื่นใดคือความเดียดฉันท์ที่เกิดแต่ปรัชญา"

มันเป็นความทะเยอทะยานที่จะแสวงหาทรรศนะในการมองโลกที่หลีกหนีจากโลกทรรศน์ของชุมชนตัวเอง และปลอดจากอคติอัตวิสัยจำกัดคับแคบและเฉพาะส่วนทั้งปวง - อยากมองโลกจากมุมที่ไม่อยู่ในโลกนั้นเลย หรือนัยหนึ่งเป็นทรรศนะที่ไม่ได้มองจากมุมไหนของโลกเลย และ ฉะนั้นจึงอ้างได้ว่ามีลักษณะสากลและสอดคล้องกับภาววิสัย (universal & objective) ฯลฯ เหล่านี้เป็นจริตแบบฉบับของนักคิดยุครู้แจ้งที่ลอกมาจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพราะอยากทำให้สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์เป็นเหมือนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, ทำให้การศึกษาสังคมและมนุษย์เหมือนการศึกษาก้อนหิน ดวงดาว อ๊อกซิเจน ฯลฯ

น่าเสียดายที่มนุษย์มีจิตสำนึกและพอจะเรียนรู้ได้, ขี้เหม็นเห็นแก่ตัวหรือขี้โกงได้, คือทั้งชั่วและดีเกินกว่าที่จะเป็นก้อนหิน ดวงดาว หรืออ๊อกซิเจนได้, ความเข้าใจ "ความรู้" และ "ความเป็นกลางทางความรู้" แบบยุครู้แจ้งดังกล่าวมานี้จึงง่ายไปหน่อยและตื้นไปหน่อย

๒) บทแย้ง (ANTI-THESIS)
เมื่อพูดถึงก้อนหินกับมนุษย์, ผมอยากนำท่านไปเที่ยวสวนหินวัดเรียวอันจิ กรุงเกียวโตอันลือชื่อ... สวนหินปริศนาธรรมของวัดนิกายเซ็นแห่งนี้ประกอบไปด้วยก้อนหินขนาดรูปร่างต่าง ๆ นานา ๑๕ ก้อน วางปะปนกันอยู่เป็นกอง ๆ กองละ ๒ - ๓ ก้อนกลางลานโล่งแจ้งขนาดสนามย่อม ๆ อยู่หน้าศาลาไม้กว้างใหญ่ ที่เปิดให้ผู้มาเยือนทยอยเข้าไปนั่งทอดตาทอดใจนิ่งชมจากระเบียงไม่ขาดสาย

ชมดูสักพัก ผมก็ชักคับข้องใจขึ้นมาตงิด ๆ พลิกหนังสือไกด์บุ๊คออกอ่าน ลุกย้ายที่นั่งเปลี่ยนมุมไปมา ก็ไม่ยักหายหงุดหงิดสักที จนต้องหันไปถามอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ที่เป็นตัวการพาผมไปเที่ยวและนั่งอยู่ข้างๆ ว่า "อาจารย์ ไหนไกด์บุ๊คว่ามี ๑๕ ก้อน ผมมองไปมองมาหลายมุมแล้ว ไม่เห็นครบสักที..."

แกไม่ตอบ เอาแต่อมยิ้มเจ้าเล่ห์ ผมก็เลยเดาต่อเองว่า...

หรือว่าไม่มีมุมมองไหนในวิสัยสายตามนุษย์ปุถุชนที่เห็นหินครบ ๑๕ ก้อน หรือนัยหนึ่งเห็นสัจธรรมทั้งหมดอย่างรอบด้านสัมบูรณ์ในทีเดียว ถ้าจะมองให้เห็นครบ ๑๕ ก้อนทั้งสวน ก็ไม่สามารถมองจากมุมหนึ่งมุมใดรอบสวนได้ มีแต่ต้องเหาะขึ้นไปมองลงมาจากกลางอากาศเหนือสวนเท่านั้น แต่นั่นเป็นมุมมองของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ของมนุษย์ซึ่งเหาะค้างกลางอากาศไม่ได้

หรืออีกนัยหนึ่ง ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ขี้เหม็นย่อมไม่สามารถเห็นสัจธรรมสัมบูรณ์จากมุมมองเดียว ความพยายามที่จะมองให้เห็นสัจธรรมทั้งหมดโดยองค์รวมจากมุมเดียวเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว เพราะสัจธรรมก็คือผลรวมหรือองค์รวมรวบยอดของหลายมุมมองนั่นเอง ซึ่งเราย่อมมองไม่เห็นเพราะขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ - มนุษย์ที่มองได้จากทีละมุมเท่านั้น

มีแต่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เปลี่ยนมุมมองไปเรื่อย ๆ ทีละมุม ๆ แล้วเอามาประมวลประกอบกันในความคิด จึงจะพอขยับเข้าใกล้สัจธรรมขึ้นบ้าง แม้ว่าเราจะไม่มีวันได้ "เห็น" มันทั้งหมดก็ตาม...

หากตีความปริศนาธรรมของสวนหินเซ็นเรียวอันจิแบบนี้ (ถูกหรือผิดไม่ยืนยัน แต่เท่ห์ดี) ก็หมายความว่า เราทุกคนจะมากจะน้อยล้วนแต่ ethnocentric หรือนัยหนึ่งถือชาติพันธุ์วัฒนธรรมชุมชนตนเองเป็นที่ตั้งศูนย์กลางทั้งนั้น ไม่ว่าจะยอมรับหรือรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม, ไม่มีใครมีมุมมองเป็นสากล (universalist) แต่ต้น, ในฐานะมนุษย์ขี้เหม็น เราท่านล้วนเริ่มต้นตรงนี้ อย่างนี้, คือเริ่มแบบ ชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนของกูเป็นศูนย์กลางโลกแหละวะ, และกูก็มองโลกจากมุมนี้ (หรือโลกทัศน์), จากจุดยืนแห่งชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนของกูนี่ ไปสัมพันธ์กับโลกส่วนอื่น คนอื่น, ถึงกูจะกระแดะอยากสะเออะทำท่า "เป็นสากล" แค่ไหนก็ตาม

ความรู้ทั้งหลายแหล่ของคนเราจึงตั้งอยู่บนฐานโลกทัศน์ (ชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชน ฯลฯ) หนึ่ง ๆ เสมอ, ในความหมายนี้ "ความรู้ที่เป็นกลาง" จากโลกทัศน์, ปลอดโลกทัศน์, ปลอดเปล่าจากการเลือกมองโลกจากมุมใดมุมหนึ่ง - จึงไม่มี

๓) บทสรุปยืน (SYNTHESIS)
โชคดีที่ในฐานะมนุษย์ -ไม่ใช่ก้อนหิน ดวงดาว ก๊าซอ๊อกซิเจน - เรามีคุณสมบัติเฉพาะอันช่วยไถ่บาปแก่เราประการหนึ่ง กล่าวคือมีจิตสำนึก-เรียนรู้ได้, ฉะนั้น เราจึงไม่ได้เป็นแค่พวกที่ยึดมั่นถือมั่นชาติพันธ์-วัฒนธรรม-ชุมชนตนเองเป็นเกณฑ์ (ethnocentric), เราไม่จำต้องเป็นแค่ ethnocentric, และถูกจำขังจำกัดกักกันอยู่แต่ในกรอบโลกทัศน์อันหนึ่งอันใดเพียงอันเดียวของชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนแห่งหนึ่งแห่งใดเพียงแห่งเดียว อย่างดิ้นไม่หลุดโงหัวไม่ขึ้นไปตลอดกาล

แม้เราควรจะสำนึกสำเหนียกตน อ่อนน้อมถ่อมตนและยอมรับว่าเราเริ่มตรงชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนของกูตรงนั้น (ethnocentrism) แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ เปรียบเทียบได้ จากสิ่งที่เราคุ้นชินในชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนของเราเอง (the familiar) ไปสู่ -> สิ่งแปลกใหม่อื่น ๆ (the unfamiliar) ของมนุษย์ชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนอื่น ๆ ของคนอื่น ๆ , แน่นอน, มันอาจจะลำบากหน่อย คับแคบหน่อย ขัดเขินหน่อย เพราะเป็นลู่ทางเดียวที่เราเรียนได้ ไม่ได้เปิดกว้าง ๓๖๐ องศา หากต้องเริ่มเรียนรู้จากมุมมองแคบ ๆ ของตัว, แต่กระนั้นมันก็ค่อย ๆ เริ่มต้นขยับขยายสิ่งที่เราคุ้นชินให้แผ่กว้างกินพื้นที่ออกไปสู่สิ่งแปลกใหม่อื่น ๆ มากขึ้น ๆ ได้

การปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง สิ่งที่เราคุ้นชิน กับ สิ่งแปลกใหม่อื่น ๆ นี้ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้พอ ๆ กับนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ, ในโลกที่ผู้คนพากันออกห่างหรือหันหลังให้ศาสนา จนการบรรลุโลกุตรธรรมแทบไม่มีแล้วนี้, สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับการได้รับการไถ่บาป (redemption) คือความรู้สึกที่คนที่แตกต่างจากเรา ทางศาสนา ทางชาติพันธุ์ เขายอมรับเราอย่างที่เราเป็น เขาเคารพเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นคนของเราอย่างที่เราเป็น (แน่นอน ด้วยเหตุนั้น ทรรศนะ "ความเป็นคน" ในมโนคติของเขาย่อมจะถ่างกว้างขึ้น หลากหลายขึ้น งอกงามขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง เพื่อนับรวมรับเราผู้แตกต่างจากเขาเป็น "คน" คนหนึ่งด้วย) - ต้อนรับขับสู้เรา เอื้อเฟื้ออาทรเรา ณ วินาทีนั้น ความแตกต่างทางชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนก็อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติและเป็นมิตร และมนุษย์เราก็ขยับใกล้ "ความเป็นสากล" (universalism) เข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง

ในโลกสารสนเทศ-โลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ไม่มีก้อนผนึกเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวกลมเกลียวเนื้อเดียว (monolith) แห่งชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนฉันใด (the myth of cultural wholes ซึ่งก็คือความหลงผิดว่าวัฒนธรรมเป็นดุจ "กล่องทึบไร้รูไร้รอยซึมรั่ว" หรือ windowless boxes อาทิ ขึ้นชื่อว่าวัฒนธรรมไทยย่อมเป็นพุทธ, วัฒนธรรมฝรั่งย่อมเป็นคริสต์, วัฒนธรรมแขกย่อมเป็นมุสลิม ฯลฯ),

ในทำนองเดียวกัน ก็ย่อมไม่มีเอกลักษณ์อัตลักษณ์แท่งเดียวก้อนเดียวของบุคคลฉันนั้น, มีแต่อัตลักษณ์หลายอัตลักษณ์ (identities) มีโลกทัศน์หลายโลกทัศน์ซ้อนทับอยู่ข้างในตัวเรา และมันเหล่านั้นก็ทะเลาะกัน แยกแย้งกัน, ethnocentrisms หรือนัยหนึ่งการยึดติดชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนต่าง ๆ ทั้งหลายแหล่ก็ล้วนอยู่ในตัวเรา

ทว่าในจำนวนพหูพจน์แห่งอัตลักษณ์-โลกทัศน์-และการยึดติดชาติพันธุ์วัฒนธรรมชุมชนต่าง ๆ นั้น, จริตหรือความทะเยอทะยานที่จะข้ามให้พ้นการยึดติดชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนของตนเอง, ที่จะบรรลุความเป็นสากล, ความเป็นกลาง, ความเป็นภาววิสัย, ความเป็นอิสระทางความรู้ ศีลธรรมหรือการเมืองก็บรรจุอยู่ในตัวเราด้วยดุจเดียวกัน มันก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งวิสัยสันดานของมนุษย์ - ที่ทะยานอยากจะข้ามพ้นขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ - เท่า ๆ กันกับการยึดติดชาติพันธุ์-วัฒนธรรม-ชุมชนตนเองนั่นแหละ

อย่าได้รังเกียจอคติอัตวิสัยเลย เพราะเราล้วนเป็นมนุษย์ขี้เหม็นด้วยกันทั้งนั้น และก็อย่าได้รังเกียจความอยากเป็นกลางทางความรู้ ศีลธรรมหรือการเมืองเฉกเช่นกัน เพราะเราก็ล้วนอยากเป็นมากกว่ามนุษย์ อยากขยับเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าเข้าไปอีกนิดด้วยเหมือนกัน จงเปิดพื้นที่ในช่วงชั้นแห่งจิตสำนึกของเราให้แก่การสำแดงออก ปะทะ ขัดแย้ง ต่อสู้และเรียนรู้ของทั้งอคติอัตวิสัยและความอยากเป็นกลางทางความรู้ ศีลธรรมหรือการเมืองในใจเราเถิด

การปัดปฏิเสธ กดทับ กดขี่อันใดอันหนึ่ง ด้านใดด้านหนึ่งเอาไว้ต่างหาก เป็นการนำไปสู่การหลงตัวเอง ไม่เข้าใจตัวเอง เข้าใจตัวเองผิด ปิดกั้นตัวเอง รังเกียจตัวเอง กระทั่งทำร้ายตัวเอง ซึ่งย่อมจะนำไปสู่การรังเกียจและทำร้ายคนอื่นในที่สุด

๔) ข้อสังเกตส่งท้าย

๑) คุณประโยชน์สำคัญที่สุดของความเป็นกลางทางความรู้ คือมันเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เรารู้เท่าทันอย่างวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งฐานคติของระเบียบทางศีลธรรมและการเมืองที่เราดำรงชีวิตอยู่, อันเป็นสิ่งซึ่งเราอยู่กับมัน เดินตามมัน ทำตามมัน คิดตามมันทุกวี่ทุกวันจนคุ้นชิน จนมันซึมลึกลงไปอยู่ใต้จิตสำนึกและเราลืมนึกถึงมันไป, และเมื่อเรารู้เท่าทันฐานคติเหล่านี้ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ฐานคติเหล่านี้ ก็จะทำให้เห็นหนทางหรือความเป็นไปได้ที่ถูกมันปิดบังงำไว้, เห็นทางเลือกและทางที่อาจเปิดออกไปได้ใหม่นอกเหนือจากระเบียบศีลธรรมและการเมืองที่แวดล้อมเกาะกุมชีวิตเราอยู่

๒) ทว่าในทางกลับกัน อันตรายที่สุดของระเบียบความรู้หรือวิชาการ คือมันเป็นระบอบอำนาจชนิดหนึ่งในความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ รู้ตัวหรือไม่ ยอมรับหรือไม่ก็ตาม, ภาษาของสังคมศาสตร์เป็น วาทกรรมแห่งอำนาจ, และฐานะนักวิชาการก็เป็นอัตลักษณ์ที่ทรงอำนาจในสังคม - มีอิทธิพลอำนาจที่จะโน้มนำ สะกดผู้คนให้เชื่อตามคล้อยตามในอันที่จะผดุงรักษาหรือรื้อถอนระเบียบศีลธรรมหรือการเมืองหนึ่ง ๆ - ในความ หมายนั้นความรู้ย่อมไม่เป็นกลางอีกต่อไป และผู้รู้หรือนักวิชาการพึงรู้เท่าทันโลกทัศน์อันเป็นฐานแห่งความรู้ของตน, รวมทั้งอำนาจที่อันตรายและความรับผิดชอบที่หนักหนาสาหัสของตนในทางศีลธรรมและการเมืองอันเนื่องมาแต่ความรู้นั้น

๓) กล่าวเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องตลกดีที่ทางเลือกซึ่งถูกระเบียบครอบงำทางศีลธรรมและการเมืองปิดงำบดบังไว้ ไม่อนุญาตให้ผู้คนทั่วไปเลือก ก็คือความเป็นกลางทางศีลธรรมและการเมืองนั่นเอง

ผมใคร่ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ในแง่ศีลธรรมและการเมืองนั้น ความเป็นกลาง (neutrality) เป็นคนละอย่างคนละเรื่องกับ ความเพิกเฉย (indifference)

การรักษาความเป็นกลางทางศีลธรรมและการเมืองในโลกทุกวันนี้เอาเข้าจริงกลับเป็นเรื่องยากในสภาพที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุชแห่งอเมริกายื่นคำขาดต่อนานาประเทศว่า "มึงต้องเป็นพวกกูแล้วต่อต้านพวกก่อการร้าย หรือมิฉะนั้นมึงก็เข้าข้างพวกก่อการร้าย" ขณะที่ฝ่ายโอซามา บิน ลาเด็นก็ประกาศว่า "บัดนี้โลกแบ่งเป็นสองข้างอย่างชัดเจน - ได้แก่โลกของอิสลามิกชนที่เป็นปรปักษ์กับโลกของพวกนอกศาสนาและพวกขาดศรัทธา"

สองฝ่ายต่างไม่ต้องการ "ความเป็นกลาง" ทางการเมืองและศีลธรรม, ต่างเรียกร้องให้เลือกข้างด้วยกันทั้งคู่ แต่ในหลายกรณี ชาวโลกรับไม่ได้และเลือกไม่ลงทั้งสองข้าง, ทั้งการต่อต้านรัฐด้วยวิธีก่อการร้าย (terrorism against the state) และการที่รัฐเองใช้วิธีก่อการร้ายและสงครามรุกรานมาปราบปราม (state terrorism & war) รับไม่ได้ทั้งผู้ก่อการร้ายที่ทำร้ายฆ่าฟันเจ้าหน้าที่พระสงฆ์องค์เจ้าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ แต่ขณะเดียวกันก็เลือกรัฐที่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดรัฐธรรมนูญ อุ้ม ทรมาน ใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทำร้ายทำลายชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินผู้ต้องสงสัยและผู้บริสุทธิ์ดังผักปลาอย่างไม่คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ลงเหมือนกัน

แต่ไม่เลือกข้าง หรือเป็นกลาง (neutrality) ไม่ได้แปลว่า ไม่แยแส หรือ ไม่แคร์ (indifference) เพราะการเข้าร่วม (engagement) ในกิจกรรมทางศีลธรรมและการเมืองทำได้หลายวิถีทาง โดยที่ความเป็นกลางก็เป็นวิถีทางเลือกหนึ่ง

และในบางสถานการณ์ การปัดปฏิเสธไม่เลือกข้างและยืนหยัดแสวงหาทางเลือกที่สามโดยสันติวิธี อาจเป็นหนทางเดียวที่จะรักษาทั้งความเป็นมนุษย์ อารยธรรมและสิ่งทรงคุณค่าสำคัญที่สุดสำหรับเราทางศีลธรรมและการเมืองอันคู่ควรแก่การหวงแหนปกป้องเอาไว้สืบไป

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


 

 

 

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
H
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

Voltaire (นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๖๙๔-๑๗๗๘) แถลงไว้ในงานเขียนเรื่อง Treatise on Metaphysics ว่า: -"ฉันเสนอที่จะศึกษาคนเหมือนดังเราศึกษาการโคจรของดาวเคราะห์ทุกอย่างทุกประการ คือราวกับมองจากจุดยืนที่อยู่พ้นลูกโลกนี้ออกไป มีแต่จากจุดยืนดังกล่าวเท่านั้นที่เราจะสามารถเปรียบเทียบการโคจรที่ปรากฎแก่ตาซึ่งเราเห็นจากโลกนี้ กับการโคจรที่แท้จริงซึ่งเราอาจเห็นได้หากเราอยู่บนดวงอาทิตย์...

 

นักศึกษาและผู้สนใจท่านใด ประสงค์ที่จะนำเสนอบทความบนเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถส่งมาได้ทุกวันที่ midnight2545(at)yahoo.com
มันเป็นความทะเยอทะยานที่จะแสวงหาทรรศนะในการมองโลกที่หลีกหนีจากโลกทรรศน์ของชุมชนตัวเอง และปลอดจากอคติอัตวิสัยจำกัดคับแคบและเฉพาะส่วนทั้งปวง - อยากมองโลกจากมุมที่ไม่อยู่ในโลกนั้นเลย หรือนัยหนึ่งเป็นทรรศนะที่ไม่ได้มองจากมุมไหนของโลกเลย และ ฉะนั้นจึงอ้างได้ว่ามีลักษณะสากลและสอดคล้องกับภาววิสัย (universal & objective) ฯลฯ เหล่านี้เป็นจริตแบบฉบับของนักคิดยุครู้แจ้งที่ลอกมาจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพราะอยากทำให้สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์เป็นเหมือนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, ทำให้การศึกษาสังคมและมนุษย์เหมือนการศึกษาก้อนหิน ดวงดาว อ๊อกซิเจน ฯลฯ ความเข้าใจ... แบบยุครู้แจ้งดังกล่าวมานี้จึงง่ายไปหน่อยและตื้นไปหน่อย