บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 505 หัวเรื่อง
การศึกษาธรรมชาติของเวลา
สมเกียรติ
ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การทำความเข้าใจมิติของเวลา
ธรรมชาติของเวลา : The
Nature of Time
(ตอนที่ ๒)
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง
จากหนังสือต้นฉบับเรื่อง The Culture
of Time and Space, 1880-1918
เขียนโดย Stephen Kern
ธรรมชาติของเวลา
ตอนที่ ๒
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้แบ่งออกเป็น
2 ตอน เนื่องจากความยาวของต้นฉบับ
เผยแพร่บนเว็ปไซต์แห่งนี้ครั้งแรก วันที่ ๑๔ มกราคม
๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 40 หน้ากระดาษ A4)
(เฉพาะตอนที่ ๒ ยาวประมาณ ๒๓ หน้า)
คลิกกลับไปตอนที่
๑
2.
เวลาเป็นอะตอม หรือเลื่อนไหลได้
การถกเถียงกันในเรื่องของธรรมชาติอะตอมของเวลา(the atomistic nature of time)มีความหลากหลายเกี่ยวกับต้นตอแหล่งกำเนิด
บางที สิ่งซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดก็คือ แคลคูลัสของ Newton ซึ่งได้นึกถึงเกี่ยวกับเวลาในฐานะที่เป็นจำนวนหนึ่งของสิ่งที่เล็กมาก
จนไม่อาจวัดได้(infinitesimally small) และเป็นหน่วยต่างๆซึ่งแยกออกจากกัน
นาฬิกาได้สร้างสิ่งเตือนความทรงจำที่มีเสียงขึ้นมา เกี่ยวกับธรรมชาติในลักษณะอะตอมของเวลา ด้วยเสียงแต่ละติ๊ก และตัวแทนซึ่งมองเห็นได้ของมันโดยการขีดแบ่งมันออกเป็นส่วนๆบนหน้าปัดนาฬิกา. สำหรับนาฬิกาไฟฟ้าสมัยใหม่ ด้วยการเคลื่อนไหวแบบเลื่อนไหลกวาดไปของเข็มวินาที ได้รับการประดิษฐขึ้นมาในปี 1916 ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา นาฬิกาทั้งหลายจึงเสนอแบบจำลองของเวลาในฐานะที่เป็นการไหลเลื่อนอันหนึ่ง
บรรดานักจิตวิทยาการทดลอง พยายามที่จะกำหนดช่วงห่างที่แม่นยำเกี่ยวกับการขานรับของมนุษย์ และช่วงเวลาซึ่งสั้นที่สุดซึ่งคนๆหนึ่งสามารถที่จะตรวจพบได้ ในห้องทดลองเชิงปฏิบัติการต่างๆของ Gustav Fechner และ Wilhelm Wundt เครื่องมือบอกจังหวะดนตรีและนาฬิกาข้อมือ(metronomes and watches)ได้ถูกนำมาใช้ศึกษาชีวิตมนุษย์ ในฐานะที่เป็นโครงสร้างของหน่วยต่างๆของเวลาที่วัดได้อันหนึ่ง
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1870s นักบุกเบิกสองคนทางด้านภาพยนตร์ ได้ทำการศึกษาการเคลื่อนไหวในระดับอนุภาคหรืออะตอมโดยวิธีการชุดหนึ่งของภาพนิ่ง Eadweard Muybridge ได้บันทึกการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับม้าที่วิ่งควบ โดยการตระเตรียมกล้องถ่ายรูปเอาไว้บนเส้นทางที่ม้าควบผ่าน ด้วยการใช้สายลวดเส้นเล็กๆขึงขวางทางที่ม้าผ่าน เมื่อม้าไปถูกลวดเส้นเล็กดังกล่าว ชัตเตอร์ของกล้องถ่ายรูปก็จะทำงานเก็บบันทึกภาพนั้นเอาไว้ เขาดำเนินการต่อไปเพื่อทำบันทึกภาพในลักษณะดังกล่าวโดยการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์และสัตว์ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)
ในปี ค.ศ. 1882 นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส E.J.Marey เริ่มทำการศึกษาเรื่องของความเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคอันหนึ่งซึ่งเขาเรียกว่า "ลำดับภาพ" หรือ choronophotography หมายถึงภาพถ่ายเกี่ยวกับเวลา(the photography of time): "วิธีการหนึ่งซึ่งวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวโดยอาศัยภาพถ่ายแบบฉับพลันชุดหนึ่ง ถ่ายภาพที่สั้นที่สุดและช่องว่างซึ่งเท่าๆกันของเวลา"
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
Marey มีความสนใจในหลักการของแอโรไดนามิคของการบิน และได้พัฒนาเครื่องมืออันหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพนกต่างๆอย่างฉับพลัน
จากมุมมองซึ่งแตกต่างกันไป 3 มุม เขาเชื่อว่าหนทางซึ่งดีที่สุดที่จะทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวก็คือ
ทำให้มันแยกออกจากกันเป็นชิ้นๆ และจากนั้น ก็ประกอบมันขึ้นมาใหม่ให้เป็นภาพประกอบส่วนต่างๆหรือ
plastic model หมายความว่าเป็นหุ่นจำลองสามมิติขึ้นมา
เมื่อภาพยนตร์ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นและได้ถูกนำออกแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี
ค.ศ.1896 มันยังแยกความเคลื่อนไหวออกเป็นส่วนๆในลักษณะที่ไม่ปะติดปะต่อ นักถ่ายภาพแนว
futurist นามว่า Anton Bragaglia ได้นำเสนอเทคนิคอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเขาเรียกมันว่า
photo-dynamic (ภาพถ่ายพลวัตร) ซึ่งลักษณะของการถ่ายภาพดังกล่าว เกี่ยวพันกับการปล่อยชัตเตอร์ให้เปิดเอาไว้เป็นเวลานานพอสมควร
เพื่อบันทึกภาพเบลอๆของวัตถุชิ้นหนึ่งในความเคลื่อนไหว อันนี้เขาเชื่อว่า
มันจะให้ภาพที่เป็นศิลปะอันแท้จริงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว ซึ่งตรงข้ามกันกับวิธีการถ่ายภาพแบบ
choronophotography และ cinematography ซึ่งได้แบ่งแยกแอคชั่น(ความเคลื่อนไหว)
และทำให้ชิ้นส่วน"ในระหว่างความเคลื่อนไหวของมันผิดพลาด"
ภาพถ่ายของ Bragaglia
ดูแล้วคล้ายๆกับความผิดพลาดของผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ มากกว่าการแก้ปัญหาในเชิงศิลปะอันหนึ่งในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว
แต่อย่างไรก็ตาม พวกมันได้นำเสนอความมีชีวิตชีวาอันหนึ่งขึ้นมา แม้ว่ามันจะค่อนข้างน่าเย้ยหยัน
ในภาพประกอบเกี่ยวกับความยุ่งยากซึ่งทัศนศิลปทั้งมวลมี ในการจับภาพธรรมชาติอันเลื่อนไหลของความเคลื่อนไหวหรือเวลาอันนั้น
เวลากับผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ
ความยากลำบากของบรรดาจิตรกรทั้งหลาย ในการทำงานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของวัตถุชิ้นหนึ่งในห้วงเวลา
มักจะเป็นข้อจำกัดอันไม่สมหวังอันหนึ่งของงานศิลปะประเภทนี้ ข้อจำกัดอันนั้น
ทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในศตวรรษที่ 18 การแบ่งงานศิลปะต่างๆของ Gotthold
Lessing เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเวลาและที่ว่าง(temporal and spatial), ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับบรรดาจิตรกรทั้งหลายในช่วงปลายศตวรรษที่
19 เสมอ
บ่อยครั้งศิลปินพยายามที่จะแสดงนัยะแห่งอดีตและอนาคตอันหนึ่งออกมา โดยการเขียนภาพชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกเรื่องราวอันพ้นไปจากปัจจุบัน บรรดาศิลปิน Impressionists หลายคนพยายามที่จะปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องของเวลาอย่างตรงไปตรงมามากๆ ด้วยภาพงานจิตรกรรมแบบต่อเนื่องของ motif ("ความคิด"หรือ"ภาพ"ที่เป็นจุดสำคัญของศิลปะ) เดียวกันในเวลาที่ต่างกันไปของวัน, ฤดูกาล, และสภาพของบรรยากาศ, เช่นดังในภาพกองฟางของ Claude Monet และภาพเขียนชุดหนึ่งของเขา the Rouen Cathedral (ภาพโบสถ์) (ดูภาพประกอบ)
Monet เองอธิบายว่า "ใครคนหนึ่งไม่อาจที่จะเขียนภาพทิวทัศน์ท้องทุ่งได้ หรือทิวทัศน์ทะเล หรือภาพคน สิ่งที่ใครคนนั้นทำได้ก็คือการเขียนความประทับใจอันหนึ่งเกี่ยวกับชั่วโมงหนึ่งของวันนั้นๆ เท่านั้น"
บรรดาศิลปิน Impressionists ยังพยายามที่จะเขียนภาพความประทับใจของพวกเขาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พวกเขานำเสนอการเปลี่ยนแปลงของแสงที่ถูกกระทำขึ้นมาโดยเมฆที่ลอยผ่านไปมา หรือการกระเพื่อมเลื่อนไหลของสายลมบนผิวน้ำ ทุกสิ่งได้ถูกกำหนดอยู่ในชั่วขณะหนึ่งๆเท่านั้น
ศิลปิน Cubists พยายามที่จะไปให้พ้นจากภาวะทันทีทันควัน ด้วยทัศนียวิทยาอย่างหลากหลาย อย่างน้อยที่สุด กลุ่มหนึ่งของนักวิจารณ์ต้นๆที่ถกเถียงกัน ในปี 1910 Leon Werth เขียนเอาไว้ว่า ลักษณะของรูปทรงต่างๆแบบ Cubist ของ Picasso ได้แสดงให้เห็นถึง"ความรู้สึกต่างๆและการสะท้อนถ่ายซึ่งเราได้ประสบกับการล่วงไปของเวลา"
ในปีเดียวกันนั้น จิตรกร Cubist คนหนึ่ง Jean Metzinger เสนอว่า ในงานจิตรกรรมของ Braque "ภาพทั้งหมดได้แพร่กระจายออกมาในห้วงของเวลา". ปี 1911 Metzinger ได้อธิบายว่า เขาคิดเรื่องทัศนียวิทยาอันหลากหลายเกี่ยวกับ Cubists ทั้งหลายที่ได้เพิ่มเติมมิติของเวลาอย่างไร "พวกมันยินยอมให้ตัวของพวกมันเองเคลื่อนที่ไปรอบๆวัตถุ เพื่อที่จะทำให้การเป็นตัวแทนดังกล่าวเป็นรูปธรรมอันหนึ่งขึ้นมา อันนี้ได้สร้างแง่มุมที่ต่อเนื่องกันในลักษณะที่หลากหลาย เก่าก่อนนั้น ภาพๆหนึ่งได้ครอบครองเกี่ยวกับระวางเนื้อที่ว่าง แต่ปัจจุบันมันมีอิทธิพลครอบงำในเรื่องของเวลาด้วย" (ดูภาพประกอบ)
ในปี 1910 Roger Allard ได้บันทึกไว้ว่า งานจิตรกรรมของ Metzinger เป็น"การสังเคราะห์อันหนึ่งซึ่งวางอยู่ในการผ่านไปของกาลเวลา" ข้ออ้างเหตุผลเหล่านี้ ทั้งหมดได้ถูกพูดเกินความเป็นจริงไป ทัศนียภาพอันหลากหลายและต่อเนื่องนั้น บรรดาศิลปิน Cubists ทั้งหลายได้บูรณาการหรือรวบรวมมันขึ้นมาเป็นงานจิตรกรรมโดดๆเพียงชิ้นเดียว ซึ่งมิได้พิสูจน์ข้อสรุปที่ว่า พวกมันได้แพร่กระจายอยู่ในห้วงเวลา(radiate in time)
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มุมมองต่างๆที่ต่อเนื่องกันมากมายของวัตถุชิ้นหนึ่งได้ถูกรวมกันขึ้นมา ผืนผ้าใบที่ถูกประสบพบเห็นในชั่วฉับพลัน (นอกเหนือจากเวลา มันมีความจำเป็นสำหรับสายตาที่จะตรวจตราไปบนผิวหน้า) บรรดาศิลปิน Cubists ทั้งหลายได้หยอกเย้ากับข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับศิลปะของพวกเขา บางที กับบางคนตั้งใจที่จะเยาะเย้ยเอาเลยทีเดียว การประดิษฐ์คิดค้นของพวกเขานำเสนอ"เวลา"ในงานศิลปะในวิธีการใหม่ๆ แต่อันนั้นไม่ได้สร้างประสบการณ์เกี่ยวกับเวลาดังที่มันผ่านไป
ในปี 1899 นักวิจารณ์ชาวดัทช์ Ernst Te Peerdt ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ใน The Problem of the Representation of Instants of Time in Painting and Drawing ว่า สนามการเห็นของเรามิได้ถูกประกอบตัวขึ้นมาจากเอกภาพที่ไร้กาลเวลา การรับรู้อย่างฉับพลันแต่ละครั้ง ได้สัง เคราะห์ลำดับการณ์อันหนึ่งเกี่ยวกับการรับรู้ต่างๆมากมายขึ้นมา
"อย่างชัดเจน ชั่วขณะเหล่านั้นมันประกอบตัวขึ้นมาในลักษณะของความพร้อมเพรียง, a Nebeneinander (next to each other, side by side), ซึ่งได้สร้างลำดับการณ์อันหนึ่งขึ้น, a Nacheinander (one after the other), ในการมองดูวัตถุ"
ไม่เหมือนกันกับการมองดูภาพถ่ายที่นิ่งๆ สายตาสามารถที่จะรวบรวมลำดับการณ์ที่ต่อเนื่องกันของการสังเกตต่างๆ ภารกิจของจิตรกรก็คือ รวบรวมลำดับการณ์ของเวลาด้วยรูปทรงต่างๆลงบนพื้นที่ว่าง แม้ว่าข้ออ้างเหตุผลของ Te Peerdt ที่ว่า ทัศนศิลป์ที่ดีสามารถนำเสนอลำดับการณ์อันหนึ่งขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะวาดภาพความเคลื่อนไหวของวัตถุหรือการล่วงไปของเวลาได้
ไม่มี motif (ความคิด หรือ ภาพ ที่เป็นจุดสำคัญของศิลปะ)ใดๆ ในฐานะงานกราฟิคได้เตือนความทรงจำเกี่ยวกับธรรมชาติในลักษณะอะตอมของเวลาเช่นเดียวกับนาฬิกา และมันมีนาฬิกาอยู่เพียงไม่กี่เรือนเท่านั้นในศิลปะของยุคสมัยนี้. ประมาณปี 1870 Paul Cezanne ได้เขียนรูปหุ่นนิ่งภาพหนึ่งขึ้นมา ซึ่งได้รับอิทธิพลโดยนาฬิกาสีดำเรือนใหญ่ที่ไม่มีเข็ม - สัญลักษณ์ของการไร้กาลเวลาซึ่งเขาค้นหาเพื่อสร้างสรรค์ในงานจิตรกรรมของตนเอง
ข้าพเจ้าไม่อาจที่จะค้นพบนาฬิกาอื่นๆอีกได้ในงานศิลปะตะวันตกที่สำคัญๆใดๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1912 กับภาพงาน The Watch by Juan Gris. ในที่นี้เวลาได้หลุดออกไปจากข้อต่อในแง่มุมต่างๆ นาฬิกาได้ถูกหมุนกลับไปในมุม 90 องศา ทำให้การอ่านอย่างรวดเร็วครั้งแรกเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มันถูกแบ่งออกเป็นสี่เสี้ยวของวงกลม เพียงสองเสี้ยวของวงกลมถูกมองเห็น ส่วนอีกสองเสี้ยวถูกทำให้คลุมเครือ และเข็มนาทีก็หายไปด้วย ทำให้การอ่านเวลาที่แน่นอนเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าหลังจากที่ได้มีการพิจารณาใคร่ครวญอย่างละเอียดแล้วก็ตาม
ในนาฬิกาแบบ Cubist นี้ เวลาได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นชิ้นๆ ไม่ต่อเนื่อง และกำกวม แต่ก็ถูกกำหนดตายตัวโดยตลอดด้วยเข็มนาฬิกาที่ชี้ไปยังเลข XI บนหน้าปัดเสี้ยวหนึ่งที่มองเห็นได้
ในปี 1913 Albert Gleizes ได้ใส่นาฬิกาเรือนหนึ่งลงไปในภาพ portrait แบบ Cubist และได้ลบตัวเลขครึ่งหนึ่งออกไป เวลาที่บอกเอาไว้อย่างแม่นยำคือ 2:35 แต่นาฬิกาเรือนดังกล่าวใช้การไม่ได้ สำหรับการอ่านในส่วนที่ได้ถูกลบเลือน. Gleizes ได้แบ่งแยกเวลาอย่างง่ายๆ เช่นเดียวกับที่เขาได้แยกวัตถุต่างๆและเนื้อที่ว่างออกเป็นชิ้นๆ
ในภาพ Enigma of the Hour ในปี ค.ศ. 1912, Giorgio de Chirico ได้เขียนภาพนาฬิกาเรือนหนึ่ง โดยสามารถมองเห็นได้อย่างชัดแจ้งตระหง่านอยู่เหนือภาพคนตัวเล็กๆ ที่มองไปยังมันซึ่งมีความใหญ่โตน่าประทับใจ. De Chirico ได้รวมเอานาฬิกาที่เด่นตระหง่านต่างๆซึ่งค่อยๆปรากฎขึ้นมาคล้ายๆกันกับดวงอาทิตย์ต่างๆของ Van Gogh ในงานจิตรกรรมจำนวนหนึ่ง: The Delight of the Poet (1913), The Soothsayer's Recompense (1913), The Philosopher's Conquest (1914), และ Gare Montparnasse (The Melancholy of Departure)(1914) (ดูภาพประกอบ)
ทั้งหมดนั้น นอกจากภาพแรกของภาพเหล่านี้ รถไฟบนรางที่ได้รับการเดินเครื่อง ซึ่งนำเสนอถึงว่า เขาอาจจะเชื่อมโยงอย่างรอบคอบระหว่างระบบรถไฟและเวลามาตรฐาน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่จะกำหนดมาตรฐานเวลาทั้งโลกอย่างถูกต้องแม่นยำในปี ค.ศ. 1912. แม้ว่าชื่องานของจิตรกรรมเหล่านี้ จะนำเสนอถึงการอยู่เหนือหรือพ้นไปจากระวางเนื้อที่ว่างและเวลาก็ตาม แต่นาฬิกาได้กำหนดการกระทำในชั่วขณะและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
ไม่เหมือนกันกับ Cezanne,
Gris, และ Gleizes, de Chirico เลือกที่จะยอมรับว่า ศิลปะที่เป็นรูปธรรมต่างๆนั้นได้ถูกประณามต่อเรื่องชั่วขณะที่โดดๆ
และเขาได้ยกย่องสรรเสริญพลังอำนาจที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับเวลาของนาฬิกา โดยการทำให้มันเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นสากลที่ค่อนข้างโดดเด่นขึ้นมา
ราวกับว่าเรื่องที่ยินยอมนั้นเป็นไปโดยรอบ และนาฬิกาที่เห็นทั้งหมดต่างยืนยงคงทนต่อมาหลายปีจากนั้น
Salvador Dali ได้เขียนภาพนาฬิกา 3 เรือนที่ดูอ่อนปวกเปียกคล้ายดั่งกับว่ามันกำลังละลายในงานที่ชื่อว่า
The Persistence of Memory (1931)
นาฬิกาเรือนหนึ่งแขวนอยู่บนต้นไม้ ในลักษณะที่เป็นการเตือนความทรงจำว่า ช่วงระยะเวลาของเหตุการณ์อันหนึ่งอาจได้รับการยืดขยายออกไปในความทรงจำ อีกเรือนหนึ่งกับแมลงวันบนนาฬิกา มันเสนอว่า วัตถุอันนั้นของความทรงจำเป็นบางสิ่งบางอย่างของเนื้อเน่าหรือสัตว์ที่ตายซาก ซึ่งเน่าเปื่อยผุพังเช่นเดียวกันกับการหลอมละลาย นาฬิกาเรือนที่สามมีลักษณะที่ผิดรูปผิดร่างงอโค้งอยู่เหนือรูปทรงที่เพิ่งจะก่อตัวขึ้นมา - สัญลักษณ์ของหนทางชีวิตซึ่งบิดเบือนรูปร่างเรขาคณิต และความแน่นอนทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับยุคของเครื่องจักร นาฬิกาเรือนหนึ่งซึ่งไม่ได้หลอมละลายไปด้วย ได้ถูกคลุมด้วยมดหลายตัวซึ่งดูเหมือนว่ากำลังกลืนกินมันอย่างตะกละตะกลาม เช่นดังที่มันกลืนกินเวลาเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเราไปนั่นเอง
นอกจาก de Chirico, ผู้ซึ่งได้วางนาฬิกาที่สามารถอ่านเวลาได้อย่างชัดเจนลงไปในมุมมองแล้ว บรรดาจิตรกรคนอื่นๆทั้งหมดกลับทำให้มันผิดรูปผิดร่างไป ทำให้นาฬิกาดูคลุมเครือ หรือไม่ก็ทำให้เสียรูป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนว่า งานศิลปะของพวกเขาไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนเกี่ยวกับเวลาได้ กฎเหล็กของ Lessing ได้รับการท้าทาย แต่ก็ไม่เคยถูกเอาชนะได้
เวลากับนักปรัชญา
ข้อถกเถียงในเรื่องตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่มั่นคงของเวลา อาจได้รับการนำพาไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยบรรดานักปรัชญาทั้งหลายและนักเขียนนวนิยาย ผู้ซึ่งสามารถที่จะทำให้เวลาเป็นหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่ขยายตัวออกไป
ทฤษฎีที่ว่า เวลาเป็นความเปลี่ยนแปลงไม่มั่นคง และไม่ใช่หน่วยที่แยกออกจากกันจำนวนหนึ่ง
ได้รับการเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่ว่า จิตสำนึกของมนุษย์คือกระแสธาร และไม่ใช่การรวมตัวกันของความสามารถต่างๆ
หรือไอเดียทั้งหลายที่แยกออกจากกัน การอ้างอิงอันดับแรกต่อเรื่องจิตใจในฐานะที่เป็น
"กระแสธารอันหนึ่งของความคิด" ปรากฏตัวขึ้นมาในความเรียงของ William
James ในปี ค.ศ. 1884
เขาได้วิพากษ์วิจารณ์ทัศนะของ David Hume เกี่ยวกับเรื่องจิตใจในฐานะที่เป็น "การเกาะติดกันหรือการจับตัวขึ้นเป็นก้อนอันหนึ่ง ในรูปร่างต่างๆอันหลากหลาย ของชื่อต่างๆที่แยกๆกันอยู่ ซึ่งถูกเรียกว่าไอเดียต่างๆ" และการเป็นตัวแทนเกี่ยวกับมันของ Johann Herbart เป็นผลอันเนื่องมาจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันของชื่อที่เรียกว่า Vorstellungen (a imaginable, conceivable)"
คำอธิบายต่างๆของเขาเกี่ยวกับ "แบบอันชั่วร้ายของกระแสความคิดที่บู้บี้และแหลกเหลว" ปฏิบัติการที่ผิดทำนองคลองธรรม และเป็นภัยอันตรายอันนี้ของอะตอมต่างๆของความรู้สึก คาดการณ์ถึงการทำให้เป็นอัตลักษณ์ของ Bergson เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนในระวางเนื้อที่ของเวลาในฐานะที่เป็นความชั่วร้ายอย่างหนึ่ง"
James ได้จำแนกระหว่างส่วนต่างๆที่เป็นแก่นแท้ที่แยกกันอยู่ และ ส่วนต่างๆที่เลื่อนไหลเปลี่ยนผ่าน ซึ่งได้ถูกปฏิเสธโดยบรรดานักจิตวิทยาที่ให้ความสนใจต่อเรื่องของผัสสะ การใช้ประโยชน์ในการอุปมาอุปมัยที่โปรดปรานของเขา สำหรับกิจกรรมเกี่ยวกับจิตใจ James แสดงความเย้ยหยันจิตวิทยาความสัมพันธ์ ดังที่กล่าวเอาไว้ว่า แม่น้ำนั้นประกอบด้วยความเจ็บปวดของน้ำ แน่ทีเดียว "ภาพทุกภาพภายในจิตใจ ได้รับการทำให้ชุ่มโชกและย้อมสีน้ำที่อิสระที่รายรอบมัน"
เหตุการณ์ทางด้านจิตใจแต่ละเหตุการณ์ ได้ถูกเชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านั้นที่มีมาก่อนและหลังจากนั้น ทั้งใกล้และไกล ซึ่งกระทำการคล้ายกับ"รัศมี"ที่อยู่รายรอบ หรือ"ขอบรอบนอก" มันไม่มีก้าวย่างโดดๆสำหรับชีวิตทางด้านจิตใจของเรา ซึ่ง"เหมือนกันกับชีวิตของนกตัวหนึ่ง ที่ดูเหมือนว่าได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยการสลับกันระหว่าง"การบิน"และ"การเกาะคอน" ทั้งหมดของมันกระเพื่อมขึ้นๆลงๆและช้าๆ ส่วนต่างๆที่ผิดแผกจากกันเคลื่อนตัวไปตามอัตราความเร็วที่แตกต่างกัน จับหรือสัมผัสกับอีกอันหนึ่งคล้ายๆการไหลวนของกระแสอันวุ่นวายสับสน
ในปี ค.ศ. 1890 James ได้ย้ำถึงข้อถกเถียงต่างๆเหล่านี้อีก ในตำราทางจิตวิทยาอันเป็นที่นิยมเล่มหนึ่ง และได้เพิ่มเติมหลักการหรือกฎเกณฑ์บางอย่างเข้าไป ซึ่งได้กลายมาเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงต่อมาภายหลัง...
"ความสำนึก ไม่ปรากฏว่าตัวของมันเองนั้นถูกตัดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย คำต่างๆอย่างเช่น"สายโซ่"หรือ"ขบวนแถว" ไม่ได้อธิบายมันได้อย่างเหมาะสม มันไม่ได้ถูกเชื่อมต่อแต่อย่างใด มันเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล "สายน้ำ"หรือ"กระแสธาร"เป็นคำต่างๆที่ใช้ในการอุปมาอุปมัยมัน ซึ่งเวลาได้รับการอธิบายที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ในการพูดถึงมันต่อจากนี้ไป ขอให้เราเรียกมันว่ากระแสของความคิด(stream of thought) กระแสของความสำนึก(stream of consciousness)"
ถึงแม้ว่า James และ Bergson มีแนวโน้มที่จะใช้คำอุปมาอุปมัยบางอย่างที่ต่างกันไป เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของความคิดก็ตาม แต่เขาทั้งสองต่างก็เห็นด้วยกันว่า มันไม่ได้ประกอบตัวขึ้นมาจากส่วนต่างๆที่แยกออกจากกัน หรือเป็นส่วนๆซึ่งไม่ปะติดปะต่อกัน ชั่วขณะใดก็ตามของความสำนึก เป็นการสังเคราะห์กันอันหนึ่งของอดีตและอนาคตที่แปรเปลี่ยนไปตลอด และนั่นมันเป็นความเลื่อนไหล
ใน An Introduction to Metaphysics (1903) Henri Bergson เริ่มเรื่องหัวข้อเกี่ยวกับธรรมชาติของเวลาที่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ โดยการจำแนกวิธีการสองประการเกี่ยวกับการรู้: นั่นคือ หนึ่ง, การรู้แบบสัมพัทธภาพและ สอง, การรู้แบบสัมบูรณ์(relative and absolute)
แต่ก่อนนั้น ลักษณะไม่ค่อยดีนักได้รับการทำให้ประสบผลสำเร็จ โดยการเคลื่อนไปรอบๆวัตถุชิ้นหนึ่ง หรือโดยการรับรู้มันโดยผ่านสัญลักษณ์หรือคำต่างๆ ซึ่งล้มเหลวที่จะแสดงธรรมชาติที่แท้จริงของมันได้ ความรู้แบบสัมบูรณ์ได้ถูกทำให้บรรลุผลโดยการมีประสบการณ์บางอย่าง ดังที่มันเป็นจากภายใน ความรู้สัมบูรณ์อันนี้ สามารถถูกทำให้มีขึ้นมาได้โดยสหัชญานหรือการหยั่งรู้(intuition)เท่านั้น ซึ่งเขาให้คำจำกัดความหรืออธิบายว่าเป็น "ชนิดหรือลักษณะของความเข้าอกเข้าใจทางสติปัญญา ซึ่งคนๆหนึ่งได้วางตัวของเขาเองเข้าไปภายในวัตถุชิ้นหนึ่ง เพื่อที่จะเห็นพ้องต้องกันกับสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะพิเศษในมัน และเนื่องจากเหตุนั้นจึงไม่อาจที่จะแสดงออกมาได้"
ในที่นี้เราได้เผชิญหน้ากับความยุ่งยากที่สำคัญ ในเป้าหมายเกี่ยวกับปรัชญาของเขา ถ้าหากว่าความรู้แบบสัมบูรณ์เป็นสิ่งซึ่งไม่อาจแสดงออกมาได้ ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถเขียนเกี่ยวกับมันออกมาได้ และได้รับประโยชน์จากมัน ?
Bergson พยายามอย่างหนักที่จะสื่อสารความรู้ชนิดนี้ออกมา และการมีอยู่อันนี้ที่ออกมาจากมัน โดยการเปรียบเปรยและการอุปมาอุปมัย เขายอมรับอย่างรวดเร็วว่า แม้จะทำเช่นนั้นแล้วก็ตาม ก็ไม่เคยเลยที่จะสามารถแสดงมันออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่การอุปมาอุปมัยต่างๆประสบความสำเร็จในบางส่วนเพราะว่า พวกเราทุกคนต่างมีส่วนร่วมปันกับประสบการณ์อันหนึ่งเกี่ยวกับสหัชญานหรือการหยั่งรู้นั่นเอง: "บุคลิกภาพของตัวเราเองกับการไหลเลื่อนเคลื่อนไปผ่านกาลเวลา - ตัวของเราเองซึ่งยืนยง"
เมื่อเขาพิจารณาใคร่ครวญตัวตนภายในของเขาเอง เขาได้ค้นพบ "การเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลที่ต่อเนื่อง ความต่อเนื่องกันอันหนึ่งของสภาวะต่างๆ แต่ละสภาวะได้แสดงหรือประกาศว่ามันดำเนินรอยตามและได้บรรจุสิ่งซึ่งมีมาก่อนหน้ามันเอาไว้". ชีวิตภายในอันนี้คล้ายดั่งกับสิ่งที่คลี่คลายหรือค่อยๆปรากฏตัวออกมาของเหรียญๆหนึ่ง หรือการหมุนตัวอย่างต่อเนื่องของสายใย
แต่ในขณะที่เขานำเสนอการเปรียบเทียบเหล่านี้ เขาก็ยอมรับว่ามันกำลังนำไปผิดทางหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเวลาเดียวกัน เพราะว่ามันอ้างอิงถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเรื่องของระวางเนื้อที่ ด้วยเหตุที่ว่า ชีวิตทางจิตตามความเข้าใจที่ถูกต้องนั้น มิได้ถูกยืดขยายอยู่ในระวางเนื้อที่ แต่ถูกยืดขยายอยู่ในกาลเวลา
ในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะนำเสนอหรือหาวิธีเปรียบเปรยให้ใกล้เคียง Bergson ได้น้อมนำให้ผู้อ่านจินตนาการถึง "เรือนร่างที่ยืดหยุ่นอันไม่สิ้นสุด [ที่ไม่อาจจะจินตนาการได้], ซึ่งหดย่น ถ้าหากว่ามันเป็นไปได้ [แต่อันนี้ก็เป็นไปไม่ได้] สู่ประเด็นหนึ่งทางด้านคณิตศาสตร์". จินตนาการถึงเส้นๆหนึ่งลากออกมาจากจุดนั้น และถัดมาก็โฟกัสลงไปที่ ไม่ใช่ที่เส้นๆนั้น แต่เป็นการกระทำดังกล่าว ซึ่งมันได้ถูกตามรอยไป
ดังนั้น "ขอให้ตัวของเราเองเป็นอิสระจากระวางเนื้อที่ ซึ่งอยู่ข้างใต้ความเคลื่อนไหว เพื่อที่จะพิจารณาแต่เพียงความเคลื่อนไหวในตัวของมันเอง การกระทำของแรงตึงหรือการยืด กล่าวอย่างสั้นๆโดยสรุปก็คือ การเคลื่อนไหวอันบริสุทธิ์. จะมีก็ช่วงเวลานี้ที่เราจะได้ภาพที่ซื่อสัตย์เชื่อถือได้มากที่สุด เกี่ยวกับพัฒนาการของตัวของเราเองในเรื่องของช่วงเวลา(duration)"
ดังที่ Bergson ขอร้องเราให้จินตนาการถึงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจจินตนาการได้ นึกคิดถึงการกระทำอันหนึ่งเกี่ยวกับภาพของสิ่งที่ไม่อาจจินตนาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจนึกคิดได้ และจากนั้น ทำให้เกิดข้อจำกัดอันหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับความสนใจของเราที่มีต่อแง่มุมของการกระทำอันนั้นที่เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้. ผลของความพยายามเปรียบเปรยอันนี้ วางอยู่ข้างใต้ความยุ่งยากของการแสดงออกในคำต่างๆ ธรรมชาติที่แท้จริงของการมีอยู่ของเราในห้วงเวลา ซึ่งเขาเรียกมันว่า"ช่วงเวลา"(duration)(duree)
Bergson ได้กลายเป็นธูปหอมหรือกำยานทางด้านความคิดร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะบิดผันประสบการณ์จริงของ duree (ช่วงเวลา - duration) และนำเสนอมันในเชิงระวางเนื้อที่(spactially) เช่นดังบนหน้าปัดนาฬิกาเรือนหนึ่ง. เศษหนึ่งส่วนสี่(a quarter)ชั่วโมง กลายเป็น 90 องศาของส่วนเสี้ยวของวงกลมที่ได้รับการตัดผ่านโดยเข็มนาที
ในข้อถกเถียงเชิงเหตุผลอีกอันหนึ่ง ที่มีต่อการแปลเวลาไปสู่ระวางเนื้อที่ เขาโต้แย้งหักล้างข้อพิสูจน์ของ Zeno ที่ว่า การเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปไม่ได้. Zeno สรุปว่า ถ้าหากว่าลูกศรคันหนึ่งที่ลอยอยู่ในอากาศผ่านจุดหลายๆจุดตามแนววิถีของมัน มันจะต้องนิ่งเมื่ออยู่ ณ ที่นั้น และด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจเคลื่อนไปไหนได้เลย
Bergson ตอบโต้ว่า จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวนั้นมันผิดพลาด เพราะว่า ลูกศรสามารถอยู่ ณ จุดๆหนึ่งได้. "ลูกศรไม่เคยอยู่ ณ จุดใดเลยเกี่ยวกับแนววิถีของมัน อย่างมากที่สุดซึ่งเราสามารถจะกล่าวได้ก็คือว่า มันอาจอยู่ที่นั่น ซึ่งมันได้ผ่านที่นั่นและอาจหยุด ณ ที่นั้น" ความเคลื่อนไหว อย่างเช่น "เวลา" เป็นความเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลที่ไม่อาจแบ่งแยกได้
Zeno ได้ล้มล้างต่อข้อสันนิษฐานที่ว่า การแบ่งแยกนั้นเป็นไปได้ และที่ว่า "สิ่งที่เป็นจริงของเส้นทางซึ่งตามรอยเส้นทางดังกล่าว มันเป็นจริงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว". เส้นทางอาจถูกแบ่งแยก แต่การเคลื่อนไหวจะไม่ และโดยเหตุนี้ เวลา : เราไม่สามารถพิจารณาความเคลื่อนไหวในฐานะที่เป็นผลรวมของการหยุดต่างๆ หรือใคร่ครวญเวลาว่าเป็นผลรวมของอะตอมเวลา (temporal atoms) โดยที่ไม่บิดเบือนธรรมชาติอันเลื่อนไหลซึ่งเป็นแก่นแท้ของมัน
ทฤษฎีเกี่ยวกับช่วงเวลาของ Bergson ได้ก่อให้เกิดการขานรับทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางและแปรผันวัฒนธรรมไป เรียงลำดับจากการให้ความสนับสนุนอย่างเร่าร้อน จนกระทั่งถึงการประณามและตำหนิอย่างรุนแรง
ในช่วงทศวรรษที่ 1890s, Georges Sorel ได้พัฒนาพิมพ์เขียวอันหนึ่งขึ้นมาสำหรับการปฏิวัติสังคมนิยม ซึ่งมีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์"การหยั่งรู้-สหัชญาน" ของลัทธิสังคมนิยมขึ้นสำหรับคนงานทั้งหลาย โดยการมีส่วนร่วมอยู่ในการสไตร์คทั่วๆไป
ในภาษาแบบ Bergsonian นั้น Sorel อ้างว่า การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติสังคมนิยมในฐานะที่เป็นสิ่งที่คงที่ อันนี้ทำให้พลาดแก่นสารทางธรรมชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ไป ซึ่งจะต้องได้รับการหยั่งรู้ในการเลื่อนไหลของช่วงเวลาของตัวมัน เขาพบว่า ชนชั้นแรงงานชาวยุโรปได้ยุติแนวทางการปฏิวัติของตัวเองลง คล้ายดังลูกศรของ Zeno ที่ถูกหยุดลงในขณะที่บินอยู่ - อันนี้ได้รับการแช่แข็งอย่างเทียมๆ
Charles Peguy ได้ใช้ปรัชญาของ Bergson เพื่อโจมตีขนบประเพณีแบบ Cartesian (ผู้นิยมปรัชญาของ Decartes) ซึ่งเขาเชื่อว่า ได้มาล็อคหรือกักความคิดฝรั่งเศสให้อยู่กับอาการแข็งเกร็ง ซึ่งไม่ยังผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น Peguy ได้อธิบายถึงความตายทางจิตวิญญานของศาสนาคริสต์สมัยใหม่ โดยการทำซ้ำอันไร้เหตุผลของมันเกี่ยวกับไอเดียต่างๆที่ได้รับการกำหนดตายตัว: มันเป็นชั้นต่างๆของอุปนิสัย ที่ทำให้พลังงานทั้งหลายซึ่งเป็นพลวัตร หายใจไม่ออกเกี่ยวกับศรัทธาที่แท้จริง
ในย่อหน้าสรุปของเรื่อง Creative Evolution นั้น Bergson ได้ให้เค้าโครงหรือกรอบของจุดมุ่งหมายที่เหมาะสมเกี่ยวกับนักปรัชญา ผู้ซึ่งได้แจกแจงสัญลักษณ์ต่างๆที่กำหนดตายตัวขึ้นมาทั้งหมด. "เขาจะมองเห็นโลกทางวัตถุได้หลอมละลายกลับไปสู่การเลื่อนไหล นั่นคือ การไหลเลือนที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง" ทัศนะความคิดอันนี้ทำให้นักวิจารณ์ของ Bergson บางคนมีความน่ากลัวขึ้นมา
บางที ที่มีสีสรรมากที่สุดของผู้กล่าวร้ายเขา และแน่นอน ผู้ที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่อยู่(hysterical)มากที่สุด ก็คือศิลปินชาวอังกฤษ Wyndham Lewis ซึ่งในปี ค.ศ. 1927 ได้สรุปว่า เรื่องโรมานซ์ของ Bergson เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหล(flux) เป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการอันอับโชคในโลกสมัยใหม่ ซึ่งได้กุหรือปรุงเอาความแตกต่างที่ชัดถ้อยชัดคำขึ้นมาเกี่ยวกับการวิเคราะห์อันกระจ่างแจ้งลงไปในหม้อตุ๋นของช่วงเวลาอันมืดมน(murky durational stew). Lewis ได้กล่าวหา Bergson เกี่ยวกับการวางเครื่องหมายยติภังค์(hyphen)ระหว่าง ระวางเนื้อที่ และเวลา(space and time) และเขาได้บันทึกการไม่เห็นด้วยอย่างเร่าร้อนดังนี้:
มากเท่าที่เขารู้สึกสนุกกับการมองดูสิ่งต่างๆ "ในลักษณะทะลุทะลวง"และ"ผสมรวมกัน" พวกเรารู้สึกสนุกกับภาพที่ตรงกันข้ามของมันที่ยืนหยัดอยู่อีกด้านซึ่งต่างออกไป - สายลมพัดพาระหว่างพวกมัน และอากาศก็หมุนเวียนอย่างอิสระเข้าไปข้างในและข้างนอกสิ่งเหล่านั้น: มากเท่ากับที่เขารู้สึกสนุกกับ"ความไม่ชัดเจน", "เกี่ยวกับคุณสมบัติ", ความพร่ามัวคลุมเครือ, เกี่ยวกับความรู้สึกสัมผัสและความปลาบปลื้ม, มากยิ่งกว่าที่เราได้ให้คุณค่าความชัดเจน, เรขาคณิต, ความเป็นสากล, แสงที่กระจ่างแจ้ง, สิ่งที่ไม่มีความรู้สึกสัมผัส. สู่ร่องรอยของดนตรี, กับภาวะครอบงำของมันเกี่ยวกับเวลา, ด้วยความเร่งเร้าทางอามณ์ความรู้สึกของมันและการปลุกเร้าอวัยวะภายใน, เราชื่นชอบสิ่งที่ Bergson เรียกว่า "ภาวะครอบงำของระวางเนื้อที่"(obsession of space)
Lewis มองถึงปรัชญาของ
Bergson และฟิสิกส์ของ Einstein เช่นเดียวกับวรรณกรรมจำนวนมากของยุคสมัยนั้นในฐานะที่เป็น
"ความคิดความเชื่อที่เก่าคร่ำครึที่ยิ่งใหญ่" ซึ่งสมคบคิดที่จะยักย้ายเส้นทางหรือแนวทางอันชัดเจนไปจากศิลปะ
และแบ่งแยกความสามารถต่างๆออกจากการรับรู้ของมนุษย์. เขาพบตัวอย่างอีกอันหนึ่งเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลแบบ
Bergsonian ใน "ความอ่อนนุ่ม, ความปวกเปียก, และความคลุมเครือ"
เกี่ยวกับเรื่อง Ulysses ของ James Joyce
เวลากับนักเขียนนวนิยาย
การปฏิบัติของ Joyce เกี่ยวกับกระแสธารแห่งความสำนึก เป็นการบรรลุถึงจุดสุดยอดของพัฒนาการทางวรรณกรรม
ซึ่งได้รับการสำรวจครั้งแรกโดย Sterne และได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาในปี ค.ศ.
1888 โดย Edouard Dujardin ในนวนิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งความคิดต่างๆของตัวเอกหรือตัวสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับอดีตและอนาคต
ได้ถูกนำเสนอไปตามการรับรู้ต่างๆที่แพร่หลายทั่วไปของเขา
เทคนิคอันนี้ได้รับการจำแนกในฐานะที่เป็นการพูดคนเดียวภายใน เพราะว่าการทำงานภายในของจิตใจที่ถูกให้มาโดยตรงนั้น ปราศจากความชัดเจนแจ้มแจ้งเกี่ยวกับตัวผู้ประพันธ์ อย่างเช่น "เขาคิด" หรือการอธิบายต่างๆเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
บรรดานักประพันธ์เป็นจำนวนมากก่อนหน้า Dujardin ได้พยายามที่จะวิเคราะห์ความคิดต่างๆของตัวละครตัวหนึ่ง และบางครั้งบางคราว พวกเขาถึงกับบรรยายหรือเล่าถึงมันราวกับว่าผ่านความสำนึกของตัวละครตัวหนึ่ง แต่ไม่มีใครเลยที่ทำได้ถึงระดับ"ก่อนคำพูด"(prespeech)ของความสำนึก ในประเด็นหรือมูลเหตุของนวนิยายทั้งหมด
ถึงแม้ว่าเทคนิคดังกล่าวได้รับการตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ความสมบูรณ์ทั้งหมดเกี่ยวกับความสำนึกขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันถูกทำให้เหมาะสมอย่างดีในการเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลของกาลเวลา เช่นดังที่ย่อหน้าต่อไปนี้ได้แสดงให้เห็น:
นาฬิกาตีบอกเวลา 6 โมง ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้ารอคอยอยู่ ที่นี่คือบ้านซึ่งข้าพเจ้าได้เดินเข้าไป ที่ซึ่งข้าพเจ้าได้พบกับบางสิ่งบางอย่าง; บ้าน; ห้องโถง; เข้าไปข้างใน. เย็นย่ำเข้ามาครอบงำ ดีที่อากาศกำลังสดชื่น บางสิ่งอันร่าเริงอยู่ในอากาศ. บันไดทางขึ้นชั้นบน บันไดขั้นแรก ตามที่อนุมาน เขาออกไปตั้งแต่เช้า บางครั้งเขาทำเช่นนั้น แต่ข้าพเจ้าได้บอกกับเขาถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวันของข้าพเจ้า. หัวบันไดขั้นแรก กว้างขวาง เป็นขั้นบันไดที่สว่าง; บานหน้าต่างๆหลายๆบาน. เขาเป็นเพื่อนที่เยี่ยมยอดของข้าพเจ้าคนหนึ่ง เพื่อนรักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าบอกเขาทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องความรักของตัวเอง. ยามเย็นที่สบายอีกวันหนึ่งมาถึง อย่างไรก็ตาม เขาไม่สามารถที่จะทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสนุกสนานได้อีกแล้วหลังจากนี้ ข้าพเจ้ากำลังจะมีช่วงเวลาที่วิเศษสุด
ถึงแม้ว่า เวลาในลักษณะบอกเล่าเกี่ยวกับส่วนเสี้ยวจะต่อเนื่องเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่เวลาส่วนตัวกลับยืดขยายออกไปเป็นช่วงเวลาขนาดใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เอาแน่ไม่ได้ การพูดคนเดียวภายในโดยตรงของ Dujardin ได้แสดงออกถึงการทำงานภายในของจิตใจด้วยช่วงห่างหรือช่องว่างสั้นๆ เกี่ยวกับความสนใจ การผสมผสานของมันทางด้านความคิดและการรับรู้ และการก้าวกระโดดซึ่งไม่อาจทำนายได้ในระวางเนื้อที่และเวลา
ศัพท์คำว่า"กระแสของความสำนึก" ซึ่งมาในรูปตัวหนังสือ ได้ใช้กันหลังจากปี ค.ศ. 1890 ตามมาด้วยนิยามความหมายอันมีชื่อเสียงของ William James. แม้ว่า Ulysses จะไม่เกี่ยวข้อง หรือเป็นประโยชน์ต่อเรื่องของการพูดคนเดียวภายในโดยตรง(direct interior monologue) ของ Dujardin หรือเรื่องของกระแสแห่งความสำนึก(stream of consciousness) ของ James, แต่มันก็ได้นำเสนอการรวมตัวกันที่ดีเยี่ยมขึ้นมา เกี่ยวกับพัฒนาการในรุ่นหนึ่งทางด้านวรรณกรรมและปรัชญา บนธรรมชาติเกี่ยวกับความสำนึกของมนุษย์และชีวิตของมันในเรื่องเวลา
ส่วนต่างๆของการพูดคนเดียวภายในโดยตรง ได้ถูกทำให้กระจัดกระจายไปทั่วนวนิยาย ด้วยการเลื่อนไหลโดยไม่มีการขัดจังหวะในตอนท้าย ดังที่ Molly Bloom ได้ค่อยๆจางหายไปในการหลับไหลในช่วงตอนจบ คำกริยาที่ผันตามกาลที่แตกต่างกันในย่อหน้าหนึ่ง เผยให้เห็นถึงลำดับการณ์ของการกระโดดไปกระโดดมาอย่างกว้างขวางของเธอเกี่ยวกับสเปคตรัมของเวลา
ท้องของฉันใหญ่เกินไปเล็กน้อย ซึ่งจะต้องตักเอาอาหารเย็นออกไปด้วยการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยว หรือว่าฉันชอบมันมากไป ครั้งหลังสุดที่พวกเขาส่งมาจาก O Rourkes นั้น มันชิ้นใหญ่และหนาเท่าๆกันกับแพนเค็ก ซึ่งเขาทำเงินของเขาได้ง่าย. Larry พวกนั้นเรียกเขาว่า ห่อขี้เรื้อนเก่าๆ ที่เขาส่งมาให้เมื่อตอน Xmas เค็กจากกระท่อม และอะไรไม่รู้ขวดหนึ่งซึ่งไม่มีค่า เขาพยายามที่จะหลอกขายในฐานะที่เป็นเหล้าองุ่นแดง ซึ่งเขาไม่สามารถทำให้ใครดื่มได้ พระเจ้า ยกโทษให้กับการแสดงความกลัวของเขาออกมา สำหรับความตายด้วยความกระหาย หรือฉันจะต้องฝึกการหายใจเล็กน้อย ฉันสงสัยว่า การต่อต้านความอ้วนที่ดีๆนั้นอาจมากเกินไป ซึ่งมันทำให้ใครๆผอม และจะไม่เป็นแฟชั่นสายรัดถุงเท้าอีกต่อไปแล้วตอนนี้ ซึ่งฉันมีอยู่คู่หนึ่งสีม่วงและฉันใส่มันวันนี้
การอุปมาอุปมัยเกี่ยวกับคำว่า"กระแส" ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงกับการอธิบายถึงกิจกรรมทางจิตอันนี้ ทั้งนี้เพราะ มันเสนอถึงการเลื่อนไหลที่มั่นคงในแนวทางที่ค่อนข้างตายตัวนั่นเอง ในขณะที่จิตใจของ Molly นั้นเกี่ยวพันกันกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงของเธอ ในการท้าทายต่อการคำนวณตามขนบประเพณีเกี่ยวกับจังหวะก้าวย่างหรือทิศทางดังกล่าว ในกรณีหลังสุดนี้ Joyce บรรลุผลสำเร็จในการอธิบายได้อย่างบริบูรณ์เกี่ยวกับเรื่องเวลาในโลกของ Molly ดังที่ได้ประสบในความสำนึกของเธอ
อันนี้เป็นเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่ Joyce กำหนดหรือระบุลงไปว่า ไม่มีชั่วโมงที่ชี้เฉพาะของวัน และสัญลักษณ์ของมันนั้น ไปเกี่ยวพันกับความเป็นนิรันดร์และการไม่มีที่สิ้นสุด. มิติต่างๆที่ตายตัวของเวลาตามขนบประเพณี(conventional time) กับตัวแบ่งที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ที่จะแบ่งแยกหรือกำหนดการกระทำในจิตใจของเธอ อันนี้ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องหรือตรงประเด็นนักที่จะถามว่า "เมื่อไร"ที่ Molly มีความคิดทั้งหลายเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับ มันจะเป็นเรื่องที่เหลวไหลมากที่จะถามเธอว่า "ที่ไหน"
อันนี้เป็นการเขียนขึ้นมาใหม่อันไม่มีที่สุดเกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิตเธอ ซึ่งเปลี่ยนแปลงโดยภาพสะท้อนที่ผ่านไปทุกๆอย่าง และความวูบวาบทุกๆครั้งเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความทรงจำของเธอนั้นไม่ใช่ความสามารถ สำหรับการนำมาซึ่งความคิดต่างๆที่กำหนดตายตัว ซึ่งหลุดรอดมาจากอดีต; มันเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถทำให้เธอเปลี่ยนรูปมันไปครั้งแล้วครั้งเล่า ในการสร้างสรรค์อันไม่สิ้นสุด เกี่ยวกับความสำนึกที่มีอยู่ของเธอ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลโดยไม่มีการแบ่งแยกความคิด หรือโดดเดี่ยวชั่วขณะต่างๆของเวลาออกไปได้
3. เวลาสมารถพลิกกลับได้
หรือไม่อาจพลิกกลับได้
โครงสร้างทางประวัติศาสตร์ ความเคลื่อนไหวที่รุดหน้าไปอย่างไม่มีการขัดจังหวะของนาฬิกา
กระบวนการของวันเวลา ฤดูกาลต่างๆ และเดือนปี รวมถึงสามัญสำนึกบอกกับเราว่า
เวลาเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจย้อนคืนกลับไปได้ และรุดไปข้างหน้าด้วยอัตราความเร็วที่มั่นคงสม่ำเสมอ
กระนั้นก็ตาม รูปลักษณ์ต่างๆเหล่านี้เกี่ยวกับเวลาแบบขนบประเพณีก็ได้รับการท้าทาย ดังที่บรรดาศิลปินทั้งหลายและปัญญาชนต่างๆนึกคิดในเรื่องของเวลา ว่า มันพลิกกลับตัวของพวกมันเอง เคลื่อนไหวด้วยจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ, และแม้กระทั่งถึงกลับหยุดนิ่งตายตัวเลยทีเดียว
ในเรื่อง fin de siede (end of century) ลูกศรของเวลามิได้แล่นตรงเสมอไป และเป็นจริงอย่างนั้น การท้าทายอันนี้มีพื้นฐานอยู่บนพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีสองประการ: นั่นคือ "แสงไฟฟ้า" และ "ภาพยนตร์"
เวลากับแสงไฟฟ้า
หลอดไฟที่สว่างจ้าที่เป็นประโยชน์ในทางการค้าได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดย Thomas
Alva Edison ในปี ค.ศ. 1879 และในสามปีต่อมา เขาได้เปิดการให้บริการอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับไฟฟ้าสาธารณะขึ้นที่เขตท้องที่
Pearl Street ในเมืองนิวยอร์ค ที่ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการใช้แสงสว่างจากไฟฟ้าอย่างกว้างขวางแพร่หลายทั่วไป
นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่น Rayner Banham เรียกการจัดหาพลังงานไฟฟ้านี้ว่า "การปฏิวัติสภาพแวดล้อม ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นับตั้งแต่การนำไฟมาใช้ในบ้าน(ทำให้ไฟเชื่องลง)" หนึ่งในผลที่ตามมามากมายเกี่ยวกับความมีประโยชน์เหล่านี้ก็คือ มันมีราคาถูก และรูปแบบที่วางใจได้เกี่ยวกับการส่องสว่าง ซึ่งทำให้เกิดความพร่ามัวอันหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับการแบ่งแยกระหว่าง"กลางวัน"และ"กลางคืน"
แน่นอน ตะเกียงแก๊สและเทียนไขสามารถให้ความสว่างในความมืดได้ แต่มันไม่อาจที่จะบรรลุถึงพลังอำนาจอันมหาศาลเกี่ยวกับหลอดไฟที่สว่างโชติช่วง และเสนอว่า การสลับกันตามปกติของกลางวันและกลางคืน คือประเด็นของการปรับตัว
หนึ่งในข้อสังเกตอันมากมายเหล่านั้น เกิดขึ้นในนวนิยายเรื่องหนึ่งของปี ค.ศ.1898 ที่ซึ่งฉากของถนนบรอดเวย์ในยามค่ำคืน ได้รับการส่องสว่างโดยการแสงไฟที่เจิดจ้าของไฟฟ้าที่ปล่อยออกมา ซึ่งได้ให้ผลเกี่ยวกับ"การเปลี่ยนรูปไปตลอดกาล"ของกลางคืนเป็นกลางวัน
เวลากับภาพยนตร์
จากทัศนียภาพอีกภาพหนึ่ง ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของปรากฎการณ์เกี่ยวกับเรื่องของเวลา
ที่แสดงถึงความเป็นเอกภาพและการไม่สามารถย้อนคืนกลับไปได้ของเวลา นักบุกเบิกคนหนึ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์ในฝรั่งเศส
Georges Melies ได้ระลึกถึงเหตุการณ์เรื่องราว ซึ่งได้ให้แรงดลใจเกี่ยวกับกลเม็ดชุดหนึ่งของภาพถ่ายความเคลื่อนไหว
วันหนึ่งในปี ค.ศ. 1896, Melies กำลังถ่ายฉากถนนฉากหนึ่งที่ the Place de I'Opera และกล้องของเขาเกิดอาการติดขัดขึ้นมา หลังจากนั้นอีกสักครู่ เขาก็ทำให้มันทำงานต่อไปได้และถ่ายภาพต่อไป และเมื่อเขาได้ฉายภาพที่ต่อเนื่องทั้งหมด มันได้ทำให้เกิดมายาภาพขึ้นมาซึ่ง รถโดยสารคันหนึ่ง ทันใดนั้น ได้เปลี่ยนไปเป็นรถบรรทุกศพคันหนึ่ง
อันนี้ทำให้ Melies ได้รับประโยชน์หรือผลของปรากฎการณ์ต่างๆอย่างหลายหลาก ที่เขาสามารถบรรลุถึงได้ต่อมา โดยการหยุดกล้องเอาไว้ และการเปลี่ยนฉาก เขาใช้เทคนิคอันนี้ในเรื่อง The Vanishing Lady (1896) ที่ซึ่งโครงกระดูกได้กลายเป็นผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นมาโดยฉับพลันทันที ซึ่งบ่งนัยถึง ทั้งการการก้าวกระโดดของเวลา และการพลิกกลับของมัน
Melies หยุดกล้องเพื่อจะทำให้เกิดผลในกลเม็ดหรือเล่ห์เหลี่ยมอันนี้ ส่วนนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน Edwin S. Porter ค้นพบว่า เวลาสามารถที่จะถูกบีบอัดเข้ามาได้ และมันยังสามารถยืดขยายออกไปได้ หรือย้อนกลับได้ในวิธีการปรับเปลี่ยนหลายหลากโดยการเรียบเรียงหรือการตัดต่อภาพยนตร์
ช่วงระยะเวลา อันที่จริงสามารถที่จะถูกนำมาตัดออกจากลำดับการณ์ตามปกติ และระเบียบแบบแผนของเวลา อีกทั้งสามารถที่จะถูกนำมาแก้ไขดัดแปลงได้ตามต้องการ เขาได้ประยุกต์ใช้เทคนิคทั้งหลายเหล่านี้ในภาพยนตร์เรื่อง The Life of an American Fireman (1902) ซึ่งฉากแรก เราได้เห็นคนๆหนึ่งกดสัญญานเตือนภัยไฟไหม้ขึ้น และต่อจากนั้น ได้เห็นภาพของบรรดานักดับเพลิงทั้งหลาย ที่กำลังนอนหลับอยู่ก่อนเสียงสัญญานไฟไหม้ดัง
David Griffith ได้พัฒนาเทคนิคการตัดต่อคู่ขนาน(parallel editing)ขึ้นมา เพื่อยืดขยายเวลาออกไป โดยการแสดงให้เห็นถึงการกระทำโดยทันทีในเวลาเดียวกัน ที่ตอบโต้หรือขานรับต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ. ใน A Corner on Wheat (1909) ครั้งแรก Griffith ได้ใช้เทคนิคภาพแช่แข็ง(freeze-frame) โดยการให้ตัวแสดงต่างๆของเขานิ่งงันอยู่ เพื่อสร้างมายาภาพของเวลาที่หยุดนิ่ง
ในปี ค.ศ. 1916, Hugo
Munsterberg บันทึกไว้ว่า นักเขียนบทละครร่วมสมัยหลายคน พยายามที่จะเลียนแบบกล้องถ่ายภาพยนตร์
และใช้เวลาย้อนกลับบนเวที เช่นดังในเรื่อง Between the Lines ของ Charlotte
Chorpenning, ที่ซึ่งฉากที่สอง สาม และสี่ ได้น้อมนำไปสู่บ้านซึ่งแตกต่างกันสามหลัง
และจดหมายต่างๆส่งมาถึง การแสดงในที่ต่างๆสามแห่งไม่เพียงนำมาก่อนการเขียนจดหมายเหล่านั้นเท่านั้น
แต่มันเกิดขึ้นมาในเวลาเดียวกันด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ภาพตัวแทนที่น่าประทับใจอันหนึ่งเกี่ยวกับการย้อนกลับของเวลา
ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยการหมุนฟิล์มย้อนกลับ(ฉายถอยหลัง)ผ่านเครื่องฉายภาพยนตร์
ได้มีการพยายามทำเช่นนั้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดย Louis Lumiere ในเรื่อง Charcuterie
mecanique (pork-butcher machanics(1895)
นักวิจารณ์ภาพยนตร์คนหนึ่ง ได้อธิบายถึงผลที่เกิดขึ้นอันน่าประหลาดใจนี้ว่า: เด็กๆลอยขึ้นมาจากน้ำและตกลงบนกระดานสปริง(สำหรับกระโดดน้ำ) นักดับเพลิงอุ้มเหยื่อของพวกเขากลับเข้าไปยังอาคารที่กำลังลุกเป็นไฟ ไข่ที่ค่อยๆฉีกออก(เพราะลูกไก่พยายามดิ้นรนออกมา)กลับค่อยๆปิดเปลือกไข่ให้กลับไปเหมือนเดิม คำอธิบายของเขาเกี่ยวกับแก้วจำนวนมากที่แตกกระจายไปทั่วพื้น กลับคืนกลับไปอยู่บนโต๊ะ สู่การนำเสนอที่สมบูรณ์แบบแต่แรก อันนี้ได้ให้ภาพการแยกออกจากกันเป็นส่วนๆของ Cubist ในลักษณะที่ย้อนกลับไปสู่ภาวะของความสมบูรณ์
เวลากับละครและนวนิยาย
บรรดานักเขียนนวนิยายที่เด่นดังหลายต่อหลายคน ได้วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ
ซึ่งพวกเขาเผชิญในการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเวลาอย่างหลากหลาย บางคนก็พบทางออกของปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคู่ขนานอย่างไม่ผิดพลาดพลั้งเผลอ
แม้ว่าจะไม่ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรง จากการยักย้ายเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเรื่องของเวลาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของภาพยนตร์ก็ตาม
วิธีการของ Conrad
ก็คือแยกเอาชั่วขณะที่เฉพาะอันหนึ่งออกมา และยึดมันเอาไว้เพื่อทำการตรวจสอบอย่างละเอียด
โดยการยืดขยายออกไปราวกับว่าเวลานั้นหยุดนิ่งอยู่. Ford Madox Ford ได้สรุปทัศนะอันหนึ่งที่เขาและ
Conrad มีส่วนกันอันนี้ว่า
มันกลายเป็นสิ่งที่ชัดเจนขึ้นมามากสำหรับเราว่า อะไรคือสาระเกี่ยวกับนวนิยาย
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวนิยายของอังกฤษ อันนั้นมันเดินตรงไปข้างหน้า, ขณะที่ในทางตรงข้าม
ในการสร้างความสัมพันธ์คุ้นเคยกับเพื่อนๆอย่างค่อยเป็นค่อยไปของคุณนั้น ไม่เคยเลยที่จะเดินไปข้างหน้าตรงๆ
ในการได้มา
คนๆหนึ่งในทางปฏิบัติที่เป็นจริง คุณไม่อาจที่จะเริ่มต้นที่การเริ่มต้นและอาชีพการงานของเขา
แล้วไล่เลียงไปตามลำดับจนจบ อันดับแรก คุณจะต้องทำความประทับใจมากๆให้กับเขา
และต่อจากนั้นก็ย้อนกลับหรือเดินหน้าไปถึงเรื่องราวในอดีตของเขา
ชีวิตไม่ได้บอกอะไรกับคุณ: ในปี ค.ศ. 1914 เพื่อนบ้านของข้าพเจ้า Mr. Slack ได้สร้างเรือนกระจกสำหรับปลูกต้นไม้ขึ้นมา และก็มีการวาดภาพมันด้วยสีเขียวอะลูมินัม ถ้าหากว่าคุณคิดถึงเกี่ยวกับสาระเรื่องราวอันนั้น คุณก็จะจดจำได้ถึงภาพต่างๆที่ไม่เป็นไปตามระเบียบอย่างหลากหลาย ทำไมวันหนึ่ง Mr. Slack ปรากฏตัวอยู่ในสวนของเขา และพิจารณาใคร่ครวญถึงกำแพงผนังบ้านของเขา
ในเรื่อง Ulysses, Joyce ได้สร้างการขัดจังหวะในลักษณะของละครขึ้นมา เกี่ยวกับการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของเวลาที่เป็นการเล่าเรื่อง. ดังที่ Bloom เริ่มเรื่องซ่องโสเภณีแห่งหนึ่ง เขาได้ถอยกลับไปเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง ถึงถนนสายหนึ่งที่สะอาดกว่า และกล่าวย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ค่อยๆพัฒนาไปของเขาอีกสี่สิบหน้า และไม่กี่วินาทีต่อมาภายหลัง ในไม่กี่วินาทีเกี่ยวกับเวลาของเขานั้น ผู้อ่านจะได้รับการนำพาไปสู่ข้อปลีกย่อยอันยืดยาว ที่เกี่ยวพันกันกับตัวละครเป็นโหลๆ และครอบคลุมถึงเวลาช่วงหนึ่ง ซึ่งเกินกว่าเวลาเพียงไม่กี่วินาทีไปมาก
Virginia Woolf เชื่อว่า มันเป็นพันธะหรือความจำเป็นของนักประพันธ์ที่จะต้องไปให้พ้น "เส้นทางแบบรางรถไฟที่เป็นทางการเกี่ยวกับประโยค". "ธุระในการเล่าขานอันน่ากลัวเกี่ยวกับความเป็นจริง: ดำเนินไปจากอาหารมื้อเที่ยงสู่เวลาอาหารมื้อเย็น มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่จริง เป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ" เธอยังบันทึกข้อสังเกตของ Thomas Hardy เกี่ยวกับหนทางใหม่ๆของเวลาที่แสดงตัวในวรรณกรรม: "พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้วตอนนี้ พวกเราเคยคิดว่ามันจำต้องดำเนินไปนับตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด พวกเราเชื่อในทฤษฎีแบบ Aristotelian"
เวลากับนักจิตวิทยา
บรรดานักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยา ได้สังเกตถึงการดัดแปลงแก้ไขเกี่ยวกับความต่อเนื่อง
และการไม่อาจหวนคืนกลับไปได้ของเวลาในความฝันต่างๆ และพวกที่มีอาการป่วยทางจิตรุนแรง
รวมทั้งในเรื่องทางศาสนาและเวทมนต์คาถา
ในจดหมายฉบับหนึ่งปี ค.ศ. 1897, Freud ได้แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบิดผันไปในเรื่องของเวลา เขาได้สังเกตเรื่องนี้ในความฝันและจินตนาการเพ้อฝัน มันเกิดการบิดเบือนไปอันหนึ่งเกี่ยวกับความทรงจำที่มาจาก "กระบวนการของการแบ่งซอยออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามลำดับก่อนหลังในลักษณะเฉพาะ ไม่ได้รับการเอาใจใส่"
ในหนังสือเรื่อง The Interpretation of Dream, Freud ได้ทำการสำรวจว่า ลำดับการต่อเนื่องของประสบการณ์ในแนวทางเกี่ยวกับชีวิตที่มีสำนึกของเรา ได้รับการจัดการใหม่อีกครั้งเพื่อปรับให้เหมาะกับความต้องการต่างๆเกี่ยวกับความฝันในใจอย่างไร ในการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางจิต เกี่ยวกับสัญชาตญานของชีวิตของเรา กระบวนการเริ่มต้นไม่ให้สนใจโดยสิ้นเชิงกับการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องของตรรกะ และพื้นที่ว่าง เช่นเดียวกันกับเรื่องของเวลา
ในปี ค.ศ. 1920 เขาได้สรุปถึงทฤษีนี้ว่า
กระบวนการทางจิตไร้สำนึกเป็นเรื่องที่"ไร้กาลเวลา" สำหรับการล่วงไปของเวลามิได้เปลี่ยนแปลงมันไปเลยแต่อย่างใด
และ "ไอเดียหรือความคิดเกี่ยวกับเวลา ไม่สามารถที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับพวกมันได้"
เวลากับศาสนาและเวทมนต์คาถา
"การศึกษาโดยสังเขปเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนของเวลา ในศาสนาและเวทมนต์คาถา"(1909)
โดย Henri Hubert และ Marcel Mauss อ้างว่า เวลาในศาสนาและเวทมนต์คาถา(magic)ได้มารับใช้บทบาทหน้าที่ทางสังคมบางอย่าง
และจัดหาเค้าโครงอันหนึ่งขึ้นมาสำหรับเรื่องคุณภาพ มากกว่าคุณสมบัติของประสบการณ์เกี่ยวกับลำดับการที่ต่อเนื่อง
พวกเขามองว่า เวลาไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน(heterogeneous), ไม่ต่อเนื่องกัน(discontinuous),
สามารถยืดขยายออกไปได้, และย้อนกลับไปได้บางส่วน
ในความขัดแย้งกับทัศนะต่างๆส่วนใหญ่ของปฏิทิน ดังเช่นความขัดแย้งในเชิงปริมาณ พวกเขาเสนอว่ามันเป็นเรื่องคุณภาพ ประกอบด้วยวันและฤดูกาลต่างๆที่พิเศษ เวลาอันศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่ต่อเนื่อง สำหรับเหตุการณ์นั้น คือการปรากฏตัวของเทพองค์หนึ่งซึ่งได้มาขัดจังหวะความต่อเนื่องที่เป็นไปตามปกติ
ช่วงเวลาต่างๆที่ได้แบ่งลำดับการณ์ซึ่งเป็นไปในลักษณะก่อนหลัง สามารถที่จะได้รับการนำมาเชื่อมต่อในบทบาทหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของมันได้ เพื่อทำให้เวลาเป็น"อัตลักษณ์ที่หดเกร็ง หรือเป็นไปอย่างรวดเร็ว"(spasmodic character) ช่วงเวลาอันพิเศษในบางช่วงเวลาอาจ"ไม่บริสุทธิ์"(contaminate) ช่วงเวลาทั้งหมดที่ตามมา และช่วงเวลาประเดี๋ยวเดียวอาจได้รับการรวมกันเป็นหนึ่ง ถ้าหากว่ามันมีนัยสำคัญทางศาสนาในลักษณะเดียวกัน
เวลาสามารถที่จะยืดขยายออกไปได้ เช่นดังที่ "วีรบุรุษหรือบุคคลสำคัญต่างๆสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี ในชีวิตอันวิเศษ(magical life) ซึ่งเทียบได้กับชั่วโมงหนึ่งของการมีชีวิตของบุคคลธรรมดา". การสังเกตของพวกเขา เกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆของการเข้าเป็นสมาชิกและการออกจากความเป็นสมาชิก อาจได้รับการรวมเป็นหนึ่งหน่วยของเวลา ซึ่งมันมีนัยะถึงการย้อนกลับไปได้บางส่วน เช่นดังที่จุดจบได้ถูกเชื่อมต่อกับจุดเริ่มต้น
ผลสืบเนื่องมาจาก Bergson, Hubert และ Mauss เชื่อว่า เวลาเป็นเรื่องของพลวัตร และพวกเขาให้การรับรองและเห็นด้วยกับตัวแทนภาพลักษณ์เกี่ยวกับเวลาต่างๆ(time-images) ในเรื่องของตำแหน่งและความต่อเนื่อง แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องของเวลา ในฐานะที่เป็น "ความตึงเครียดที่เป็นตัวกระทำ(active tension) ซึ่งความสำนึกได้ตระหนักถึงความกลมกลืนของช่วงระยะเวลาต่างๆที่เป็นอิสระ และจังหวะทั้งหลายที่แตกต่าง"
แต่พวกเขาต่างจาก Bergson ในขอบเขตที่มีเจตนาจะยอมรับในเรื่องเวลาสาธารณะว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของความสำนึกภายในเกี่ยวกับเวลา พวกเขายืนยันว่า เวลาสาธารณะเป็นขั้วหนึ่งของ"อัตราความเครียดต่างๆของความสำนึก"
บทบาทของความคิดเห็น ซึ่งจำแนกความจริงทางจิตวิทยาเกี่ยวกับภาพที่ต่อเนื่องกัน เกิดจากการปรองดองหรือการปรับตัวของการเป็นตัวแทนทั้งสองชุด. อันหนึ่งนั้น มั่นคงและเป็นระยะๆ: มันคือปฏิทิน ส่วนอีกอันหนึ่งได้สร้างตัวของมันเองขึ้นมาอย่างถาวร โดยการกระทำเกี่ยวกับการให้กำเนิดการเป็นตัวแทนใหม่ๆ
จิตใจนั้น มันทำงานเพื่อเชื่อมความตึงเครียดที่เป็นปัจจัยบางอย่างของทั้งสองชุดนี้อย่างสม่ำเสมอ. เวลาของเวทมนต์คาถาและศาสนาเป็นการประนีประนอมกัน ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจิต ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยประสบการณ์ส่วนตัวของเรา เกี่ยวกับเวลาที่เป็นรูปแบบเดียวกันอันหนึ่งและเวลาที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน
การเฉลิมฉลองเกี่ยวกับวาระที่ครบรอบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นอันศักดิ์สิทธิ์และเวทมนต์ เป็นการผสมกันของ "จังหวะชีวิตที่เฉพาะของเราเองเกี่ยวกับความเป็นอยู่" กับ "จังหวะที่มีรูปแบบเดียวกัน ซึ่งได้รับการสังเกตโดยชุมชนทางสังคมชุมชนหนึ่ง"
ข้ออ้างของพวกเขาที่ว่า การแบ่งแยกเกี่ยวกับเวลา "อย่างหยาบๆที่มาขัดจังหวะสาระที่พวกเขาวางกรอบเอาไว้" ขนานไปกับการปฏิวัติทางทฤษฎีของ Einstein เกี่ยวกับเรื่องของปฏิกริยาของเวลา และสาระที่ท้าทายเพิ่มขึ้นต่อทฤษฎีคลาสสิคเกี่ยวกับการไม่อาจย้อนกลับได้ของเวลา
Newton เชื่อว่า ไม่มีเหตุการณ์หรือกรณีใดๆในโลกของวัตถุ ที่สามารถจะส่งผลกระทบต่อการไหลเลื่อนของเวลาได้ แต่ Einstein เถียงว่า ความเคลื่อนไหวเชิงสัมพัทธ์ระหว่างผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งกับวัตถุชิ้นหนึ่ง ทำให้การล่วงไปของเวลาเกี่ยวกับวัตถุอันนั้น ปรากฏว่ามันดำเนินไปช้าลงกว่าการที่มันได้รับการสังเกตจากจุดๆหนึ่งที่หยุดนิ่งโดยสัมพันธ์กับมัน
ด้วยเหตุนี้ มันจึงมีความเป็นไปได้สำหรับเหตุการณ์ A ที่จะได้รับการสังเกตจากจุดๆหนึ่ง และถูกมองดูดังกับว่าเกิดขึ้นมาก่อนเหตุการณ์ B และหลังจากนั้น เมื่อสังเกตจากอีกจุดหนึ่ง ถ้าเผื่อว่าความเคลื่อนไหวเชิงสัมพัทธ์ได้ถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะพบว่า ความต่อเนื่องของเหตุการณ์ต่างๆที่ซึ่งเกิดขึ้นมานั้น เกิดขึ้นในที่เดียวกัน และมีความต่อเนื่องของเหตุการณ์ต่างๆที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผล อันนี้เป็นสิ่งซึ่งไม่อาจพลิกกลับได้จากเงื่อนไขต่างๆที่เป็นไปได้ของการสังเกต และด้วยเหตุนี้ มันจึงยังคงสมบูรณ์เบ็ดเสร็จในทฤษฎีสัมพัทธภาพ
สรุป
เราทั้งหมดต่างเรียนรู้ที่จะบอกเวลาด้วยความแคล่วคล่องง่ายๆ แต่การเรียนรู้ที่จะบอกว่ามันคืออะไร
ยังคงยุ่งยากเท่าๆกันกับที่มันเป็นเช่นนั้นกับ Saint Augustine เมื่อ 1500
ปีมาแล้ว. อะไรคือเวลา หรือเวลาคืออะไรในสมัยนั้น ? เขาถาม. "ถ้าหากว่าไม่มีใครมาถามข้าพเจ้า,
ข้าพเจ้ารู้ว่ามันคืออะไร. แต่ถ้าเผื่อข้าพเจ้าต้องการที่จะอธิบายมันให้กับคนที่ถามข้าพเจ้า,
ข้าพเจ้ากลับไม่รู้" (if no one ask me, I know what it is. If I wish
to explain it to him who asks me, I do not know)
ในยุคดังกล่าว ซึ่งเรากำลังจ้องดูอยู่ คำถามอันนี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า และด้วยการกำหนดแน่นอนตายตัวลงไปเพื่อฝ่าฟันทะลุทะลวงทางตันอันนี้ มันได้หยุดยั้ง Augustine เอาไว้. มันเป็นการผุดขึ้นมาที่แหลมคมอันหนึ่งในเชิงปริมาณเกี่ยวกับวรรณคดีในเรื่องที่เกี่ยวกับเวลา และนักสังเกตการณ์ร่วมสมัยหลายคนคิดว่า อันนี้คือนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์
และแล้วในปี ค.ศ. 1890 นักปรัชญาสหราชอาณาจักร Samuel Alexander ก็โห่ร้องต้อนรับ Bergson ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาคนแรกที่เอาใจใส่เกี่ยวกับเรื่อง"เวลา"อย่างจริงจัง". นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง มองว่า Proust เป็นคนแรกที่ค้นพบว่า "ร่างกายของคนเรานั้นรู้ว่า จะวัดหรือประมาณเวลาอย่างไร", และ Wyndham Lewis ได้คร่ำครวญถึงการคิดและให้ความเอาใจใส่เกี่ยวกับเวลาอย่างมากของคนรุ่นนั้น
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ดังที่เด็กๆทุกคนได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วในเรื่องของ"เวลา" มันเป็นสิ่งที่ไหลเลื่อนไปอย่างสอดคล้อง และอาจถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆเท่าๆกันทุกหนแห่งตามเส้นทางนี้ อันนี้คือ เวลา ที่ Issac Newton นิยามเอาไว้ในปี ค.ศ.1687 ว่า: "เวลาเป็นสิ่งสัมบูรณ์ เป็นจริง และเวลาทางคณิตศาสตร์และจากธรรมชาติของตัวมันเอง ไหลเลื่อนอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกใดๆ"
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
ความเที่ยงตรงเรื่องเวลาจะปรากฎชัดหรือแพร่หลายขึ้นมาในเวลาเดียวกับยุคของกระแสไฟฟ้า นับจากเริ่มต้น มีบรรดานักวิจารณ์หลายคนได้พูดถึงผล หรืออิทธิพลต่างๆของพยาธิวิทยาบางอย่าง ซึ่งได้ถูกบันทึกในแคททะลอกเกี่ยวกับการเตือนทางการแพทย์. American Nervousness ของ George Beard เขาได้ประณามความสมบูรณ์ของนาฬิกา และการประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาข้อมือขึ้นมา เพราะมันทำให้เกิดอาการประสาทเกี่ยวกับเรื่อง"ความล่าช้าหรือเสียเวลาไปเพียงชั่วขณะสั้นๆ ซึ่งอาจทำลายความหวังต่างของช่วงเวลาในการดำรงชีวิต" ทุกๆครั้งที่มีการเหลือบมองไปที่นาฬิกาข้อมือ สำหรับคนที่เป็นโรคประสาท จะมีผลกระทบต่อชีพจร และทำให้เกิดอาการเครียดต่อสมอง ยังมีพวกที่ขี้ตกใจจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งมีปฏิกริยาในทางร้ายต่อการนำเสนอเรื่องของมาตรฐานเวลาขึ้นมา