ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
140148
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 504 หัวเรื่อง
การศึกษาธรรมชาติของเวลา
สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การทำความเข้าใจมิติของเวลา
ธรรมชาติของเวลา : The Nature of Time
(ตอนที่ ๑)
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง
จากหนังสือต้นฉบับเรื่อง The Culture of Time and Space, 1880-1918
เขียนโดย Stephen Kern


ธรรมชาติของเวลา ตอนที่ ๑
หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน เนื่องจากความยาวของต้นฉบับ

เผยแพร่บนเว็ปไซต์แห่งนี้ครั้งแรก วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 40 หน้ากระดาษ A4)

(เฉพาะตอนที่ ๑ ยาวประมาณ ๑๗ หน้า)
คลิกไปอ่านตอนที่ ๒

 

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเวลา เมื่อเรายังไม่ได้ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าเวลาจะเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย แต่เมื่อไรก็ตามที่เราตั้งคำถามและต้องการแสวงหาคำตอบอย่างจริงจัง เวลากลับเป็นเรื่องซึ่งอธิบายได้ยากยิ่ง

ก่อนหน้าที่จะมีการแบ่งโซนเวลา และยอมรับเป็นมาตรฐาน โลกต้องเผชิญกับเวลาที่สับสนมากในแต่ละท้องถิ่น และแม้ว่าจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องโซนเวลาเป็นที่แน่นอนแล้ว โลกก็ยังสับสนต่อมาอีกหลายปี

เรื่องของวัน เดือน ปี และฤดูกาล ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของปฏิทิน ซึ่งมีการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เป็นเพราะเหตุใด? ด้วยเหตุผลหลายประการ เวลาเป็นตัวกำหนดในการจ่ายเงินเดือน เวลาเป็นที่มาของอาการประสาท เวลาในความเข้าใจของจิตรกร นักเขียนนวนิยาย นักจิตวิทยา แตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจเรื่องเวลาแตกต่างกันหรือไม่?

บทความที่กำลังจะอ่านต่อไปนี้ จะให้คำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยข้างต้น โดยมีโครงเรื่องดังนี้

ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเวลา ๓ คู่
1. เวลาเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน
2. เวลาเป็นอะตอม หรือเลื่อนไหลได้
3. เวลาสมารถพลิกกลับได้ หรือไม่อาจพลิกกลับได้
ข้อขัดแย้งบางประการเกี่ยวกับเรื่อง"เวลา"
ความสำคัญเกี่ยวกับเวลามาตรฐาน
การกำหนดเวลาสากล และความสับสนที่ยังคงมีอยู่
การปฏิรูปปฏิทิน
มาตรฐานสำหรับเงินก็คือ"เวลา"
เวลากับปัญหาทางพยาธิวิทยา

1. เวลาเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน

ธรรมชาติของเวลาในงานวรรณกรรม
เวลาในโลกวิทยาศาสตร์
เวลากับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
เวลากับนักจิตวิทยา
2. เวลาเป็นอะตอม หรือเลื่อนไหลได้
เวลากับผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ
เวลากับนักปรัชญา
เวลากับนักเขียนนวนิยาย

3. เวลาสมารถพลิกกลับได้ หรือไม่อาจพลิกกลับได้
เวลากับแสงไฟฟ้า
เวลากับภาพยนตร์
เวลากับละครและนวนิยาย
เวลากับนักจิตวิทยา
เวลากับศาสนาและเวทมนต์คาถา

สรุป


เกริ่นนำ
ในบทนำ จนกระทั่งมาถึงการรวบรวมบทความต่างๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางด้านความคิด นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรม Arthur O. Lovejoy ได้แสดงความข้องใจว่า จากการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับทัศนะต่างๆของนักเขียนคนใดคนหนึ่ง ปรากฏว่านักเขียนแต่ละคนนั้น ได้พยายามทำให้ความคิดทั้งหลายของเขาออกมาในลักษณะที่เป็นหน่วยเดียวกันมากจนเกินไป เพื่อที่จะนำเสนอสิ่งทั้งหมด"เป็นงานชิ้นหนึ่งที่มีเอกภาพ"

ในบทความต่างๆของ Lovejoy นั้น เขาค้นหาเพื่อทำการแก้ไขความอ่อนแออันนั้นและนำเสนอ "แรงดึงภายในต่างๆ อย่างเช่น ความผันแปรต่างๆหรือความลังเลใจ ระหว่างความคิดที่เป็นปรปักษ์กันหรืออารมณ์ที่ต่างกัน รวมไปถึงความคลุมเครือง่ายๆกับทั้งสองด้านของความขัดแย้งโดยตรง อย่างไม่ตั้งใจ"

Lovejoy กำลังอ้างอิงถึงความคิดของปัจเจกชนคนหนึ่ง แต่คำเตือนอันนั้นได้ประยุกต์ใช้กับความคิดของยุคหนึ่งได้มากทีเดียว

ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเวลา ๓ คู่
ความหลากหลายมากมายเกี่ยวกับทัศนะต่างๆในยุคใดยุคหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งหมดไม่ได้เรียงแถวอยู่บนด้านใดด้านหนึ่งของประเด็นปัญหาอย่างเรียบง่าย ข้าพเจ้านำเสนอแนวคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อันน่าตื่นเต้น ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีที่ว่า "ความรู้"โดยสาระแล้ว เป็นเรื่องของวิภาษวิธี(dialectical) กล่าวคือ ความคิดต่างๆได้ถูกทำให้เกิดขึ้นมาในความขัดแย้งหรือตรงข้ามกับความคิดอื่น และมีพื้นฐานธรรมชาติที่แย้งกัน(basic polemical nature)

พัฒนาการของเรือนร่างทางความคิดอันใดอันหนึ่ง มันเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกจากการตัดสินใจเกี่ยวกับทัศนะต่างๆที่ขัดแย้งกัน ไอเดียหรือความคิดต่างๆของยุคสมัยนี้ในเรื่อง"ธรรมชาติของเวลา" ในบทความที่กำลังท่านจะอ่านต่อไป ได้ถูกรวบรวมขึ้นมารายรอบทัศนะที่ตรงข้ามกัน 3 คู่ด้วยกัน นั่นคือ

1. เวลา มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous or heterogeneous)
2. เวลา เป็นอะตอม หรือเลื่อนไหลได้
3. เวลาสมารถพลิกกลับได้ หรือไม่อาจพลิกกลับได้

ข้อขัดแย้งบางประการเกี่ยวกับเรื่อง"เวลา"
ดังที่เด็กๆทุกคนได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วในเรื่องของ"เวลา" มันเป็นสิ่งที่ไหลเลื่อนไปอย่างสอดคล้อง และอาจถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆเท่าๆกันทุกหนแห่งตามเส้นทางนี้ อันนี้คือ เวลา ที่ Issac Newton นิยามเอาไว้ในปี ค.ศ.1687 ว่า: "เวลาเป็นสิ่งสัมบูรณ์ เป็นจริง และเวลาทางคณิตศาสตร์และจากธรรมชาติของตัวมันเอง ไหลเลื่อนอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกใดๆ"

ใน The Critique of Pure Reason (1781) Immanuel Kant ปฏิเสธทฤษฎี Newtonian เกี่ยวกับสัมบูรณภาพ หรือเวลาเป็นเรื่องของวัตถุวิสัย (ทั้งนี้เพราะมันไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้นั่นเอง) และเขายืนยันว่า เวลาเป็นเรื่องของอัตวิสัยหรือรากฐานของประสบการณ์ทั้งหมด แต่แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องอัตวิสัย มันก็เป็นสากลด้วย - ซึ่งอันนี้มันเป็นอย่างเดียวกันสำหรับทุกๆคน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Newton และ Kant มีประสบการณ์เกี่ยวกับก้าวย่างที่แตกต่างกันของเวลาส่วนตัว(private time) แต่ก่อนมาถึงช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ไม่มีใคร (เป็นไปได้ที่จะยกเว้น Laurence Sterne, ผู้ซึ่งสำรวจเวลาส่วนตัวใน Tristram Shandy) ได้ตั้งคำถามขึ้นมาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับความเป็นเนื้อเดียวกันของเวลา(homogeneity of time) พยานหลักฐานสำหรับเรื่องราวอันนี้ได้รับการเขียนขึ้นมา ในท่ามกลางการเผชิญหน้ากับนาฬิกาแขวน และนาฬิกาข้อมือจำนวนล้านๆเรือนที่ได้รับการผลิตขึ้นทุกๆปี

พัฒนาการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบเดียวกัน นั่นคือ เวลาที่เป็นสาธารณะ นับตั้งแต่การประดิษฐ์นาฬิกาจักรกลขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ ๑๔ ได้เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับเวลามาตรฐานในช่วงปลายของคริสตศตวรรษที่ ๑๙. ผู้บุกเบิกซึ่งให้การสนับสนุนในเรื่องเวลาให้เป็นแบบเดียวกันก็คือ Sanford Fleming วิศวกรชาวคานาเดี่ยน ผู้ซึ่งในปี ค.ศ. ๑๘๘๖ ได้วางกรอบเหตุผลบางอย่างสำหรับการรับเอาเรื่องราวของสิ่งนี้มา

การใช้โทรเลข "ได้ควบคุมผิวหน้าทั้งหมดของโลกใบนี้ของเรา ต่อการสังเกตการณ์เกี่ยวกับชุมชนที่มีอารยธรรมความเจริญทั้งหลาย และไม่ได้ทิ้งให้มีช่องว่างของเวลาระหว่างสถานที่ซึ่งแยกห่างออกจากกัน ซึ่งอยู่ไกลออกไปคนละส่วน" ระบบนี้ได้ก่อให้เกิดความสับสนในเวลากลางวันและกลางคืน ดังที่ "เที่ยงวัน, เที่ยงคืน, พระอาทิตย์ขึ้น, พระอาทิตย์ตก, ทั้งหมดนี้ได้รับการมองดู ณ ชั่วขณะเดียวกัน" และ "วันอาทิตย์ ที่จริง เริ่มต้นในช่วงกลางดึกของวันเสาร์และสิ้นสุดลงจนกว่าจะถึงเที่ยงวันของวันจันทร์" (เนื่องจากเวลาท้องถิ่นต่างกัน)

เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง อาจเกิดขึ้นในเดือนที่แตกต่างกันสองเดือน หรือแม้กระทั่งในปีที่ต่างกันสองปี มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสามารถกำหนดเวลาท้องถิ่นต่างๆ และรู้อย่างถูกต้อง เมื่อกฎเกณฑ์ต่างๆได้ส่งผลหรือมีอิทธิพลแก่กัน เขาสรุปว่า ระบบปัจจุบันจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆอย่างนับไม่ถ้วน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และทางกฎหมาย ซึ่งการจะป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้นั้น จะมีก็แต่เพียงการรับเอามาซึ่งเครือข่ายโลกที่ประสานกัน และที่ไปพร้อมกันเท่านั้น

ความสำคัญเกี่ยวกับเวลามาตรฐาน
ผู้ให้การสนับสนุนซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดเกี่ยวกับเวลามาตรฐานก็คือ Count Helmuth von Moltke, ซึ่งในปี ค.ศ. ๑๘๙๑ เขาได้นำเสนอสุนทรพจน์ซึ่งดึงดูดใจต่อรัฐสภาเยอรมัน สำหรับการรับเอาเวลามาตรฐานมาใช้ เขาได้ชี้ว่า "เยอรมันนีนั้นมีโซนเวลาที่แตกต่างกันถึง ๕ โซนด้วยกัน ซึ่งมันมีส่วนในการต้านหรือหน่วงเหนี่ยวการประสานงานเกี่ยวกับแผนการณ์ของกองทัพ" นอกจากนี้ ยังมีโซนเวลาอื่นๆอีก เขายืนยันว่า "เราหวาดกลัวต่อการพบปะกันที่พรมแดนของฝรั่งเศสและรัสเซีย"

เมื่อ Fleming ได้ส่งสุนทรพจน์ของ Moltke ไปยังบรรณาธิการนิตยสาร The Empire เพื่อพิมพ์เผยแพร่ เขาไม่ได้ฝันไปว่าในปี ค.ศ.๑๙๑๔ โลกจะดำเนินไปสู่สงคราม ซึ่งเป็นไปตามการกะเกณฑ์ของตารางเวลา ซึ่งได้รับความสะดวกโดยเวลามาตรฐาน และเขาคิดว่าจะก่อให้เกิดการประสานกันและสันติภาพมากกว่า

โดยไม่คำนึงถึง ข้อถกเถียงในเชิงเหตุผลเกี่ยวกับความดีในทางวิทยาศาสตร์ และการทหารสำหรับการมี"เวลาโลก" ได้มีบริษัทต่างๆทางการถไฟที่ไม่ใช่รัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกที่จัดตั้งหรือริเริ่มเรื่องเวลาโลกนี้ขึ้นมา ราวๆปี ๑๘๗๐ ถ้าหากว่านักท่องเที่ยวคนหนึ่งจากวอชิงตันไปยังซานฟรานซิสโก ได้ตั้งเวลานาฬิกาข้อมือของเขาในทุกๆเมืองที่เขาผ่าน เขาจะต้องตั้งเวลามากกว่าสองร้อยครั้งในระหว่างการเดินทางอันนี้

ทางการรถไฟพยายามที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยการใช้เวลาที่แยกกันอันหนึ่งสำหรับแต่ละพื้นที่ ดังนั้น เมืองต่างๆตามเส้นทางรถไฟสายเพนซิลวาเนีย จึงวางอยู่บนเวลาของฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเดินอยู่หลังเวลาของนิวยอร์คอยู่ ๕ นาที แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. ๑๘๗๐ ยังคงมีเวลาที่แตกต่างกันอยู่ ๘๐ เวลา ของเวลาการรถไฟ อันนี้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

การกำหนดเวลาสากล และความสับสนที่ยังคงมีอยู่
ในปี ๑๘๘๔ บรรดาตัวแทนของ ๒๕ ประเทศได้มาประชุมกัน ซึ่งเรียกชื่อว่า the Prime Meridian Conference ในวอชิงตัน บรรดาตัวแทนเหล่านั้นได้เสนอให้มีการสถาปนา Greenwich เป็นเส้น zero meridian (หมายถึงเส้นตั้งสมมุติที่ตัดแบ่งจากขั้วโลกเหนือมายังขั้วโลกใต้) ทั้งนี้เพื่อกำหนดความยาวของช่วงวันลงไปให้แน่นอน แบ่งแยกโลกออกไปเป็น ๒๔ โซนเวลา และแต่ละโซนแยกออกจากกัน ๑ ชั่วโมง และกำหนดแน่นอนการเริ่มต้นของวันที่เป็นสากลที่ถูกต้องขึ้น แต่โลกก็ชะลอที่จะรับเอาระบบนี้มาใช้ สำหรับประโยชน์ในเชิงปฏิบัติอันเด่นชัดของมันทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นนี้

ญี่ปุ่นได้ประสานการให้บริการทางการรถไฟและโทรเลข ๙ ชั่วโมงล่วงหน้า Greenwich ในปี ค.ศ. ๑๘๘๘. ส่วนเบลเยี่ยมและฮอล์แลนด์ดำเนินตามในปี ค.ศ. ๑๘๙๒. เยอรมันนี, ออสเตรีย-ฮังการี, และอิตาลีดำเนินต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๙๓. แต่ในปี ๑๘๙๙, John Milne ได้สำรวจพบว่า บรรดาประเทศต่างๆทั่วทั้งโลกกำหนดเวลาของประเทศของตัวเองกันอย่างไร และพบว่า มันยังคงมีความสับสนวุ่นวายอย่างยิ่งกับความสัมพันธ์ของมันกับ Greenwich

บริษัทโทรเลขต่างๆในประเทศจีน ใช้เวลาที่ประมาณใกล้เคียงเหมือนๆกับในเซี่ยงไฮ้; บรรดาชาวต่างประเทศในเมืองท่าฝั่งทะเลใช้เวลาท้องถิ่นของตน ซึ่งนำมาจากการอ่านดวงอาทิตย์(solar readings); และชาวจีนอื่นๆทั้งหมดใช้นาฬิกาแดด(sundials). ในประเทศรัสเซีย มีเวลาท้องถิ่นของตนที่แปลกๆ อย่างเช่นที่ เซนต์.ปีเตอร์เบิร์ค - ๒ ชั่วโมง, ๑ นาที, และ ๑๘.๗ วินาที ล้ำหน้า Greenwich. ส่วนในประเทศอินเดีย มีเวลาท้องถิ่นนับเป็นร้อยที่ได้รับการประกาศในเมืองด้วยวิธีการตีฆ้อง ยิ่งปืน และตีระฆัง

ในท่ามกลางประเทศต่างๆของยุโรปตะวันตก ฝรั่งเศสมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างสับสนอลหม่านมากที่สุด โดยการที่บ้างท้องถิ่นนั้นมีเวลาที่แตกต่างกันถึง ๔ เวลาด้วยกัน ไม่มีเมืองใดเลยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาของ Greenwich อย่างชัดเจน แต่ละเมืองจะมีเวลาท้องถิ่นของตนซึ่งได้มาจากการอ่านดวงอาทิตย์

ประมาณ ๔ นาทีหลังเวลาท้องถิ่นของแต่ละท้องที่เป็นเวลาดาราศาสตร์ ซึ่งนำมาจากดวงดาวต่างๆที่สถิตนิ่งอยู่บนท้องฟ้า การรถไฟต่างๆใช้เวลาปารีส ซึ่งเวลาปารีสนั้นนำหน้าเวลา Greenwich อยู่ ๙ นาที ๒๑ วินาที

กฎอันหนึ่งของปี ๑๘๙๑ ทำให้มันเป็นเวลาที่ถูกต้องตามกฎหมายของฝรั่งเศสขึ้นมา แต่จริงๆแล้ว การรถไฟเดินช้ากว่านั้นไป ๕ นาที เพื่อที่จะทำให้ผู้โดยสารมีเวลาพิเศษสำหรับขึ้นรถไฟ; ด้วยเหตุนี้ นาฬิกาภายในสถานีรถไฟจึงล่วงหน้าไป ๕ นาทีจากนาฬิกาที่อยู่บนชานชลารถไฟ

ในปี ค.ศ. ๑๙๑๓ นักเขียนในหน้าวารสารชาวฝรั่งเศส L. Houllevigue ได้อธิบายถึงวิธีการถอยหลังนี้(retrograde practice) ในฐานะที่เป็นความภาคภูมิใจอันหนึ่งของชาติ ซึ่งได้แสดงออกมาในคำต่างๆทางกฎหมายในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ และบรรดาประเทศต่างๆของยุโรปได้ให้การสนับสนุนต่อระบบดังกล่าว โดยการนำเอาไปใช้ยี่สิบปีมาแล้ว กฎหมายฝรั่งเศสประกาศว่า "เวลาตามกฎหมายในฝรั่งเศสและแอลจีเรีย คือค่าเฉลี่ยเวลาของปารีสซึ่งช้าไป ๙ นาที ๒๑ วินาที"

Houllevigue ชี้แจงถึงเจตนาหรือความมุ่งหมายแบบ anglophobia (เกี่ยวกับความกลัวหรือการไม่ชอบความเป็นอังกฤษ) ว่า: "โดยการไม่พูดที่ให้อภัยได้, กฎหมายได้ละเว้นจากการกล่าวว่า เวลาที่นิยามก็คือเวลาของ Greenwich, และการนับถือตัวเองของเราสามารถที่จะหลอกลวงตัวของเราเองว่า เราได้รับเอาเวลาดังกล่าวมาจาก Argentan (ประชาคมที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสในนอร์มังดี) ซึ่งเกิดขึ้นบนเส้นที่เกือบจะเป็นเส้นเดียวกันกับเส้น meridian ดังที่ชาวอังกฤษสังเกต"

โดยไม่คำนึงถึงการแยกตัวออกไปก่อนหน้านั้น ในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสก็หยิบเอาการเป็นผู้นำในขบวนการเคลื่อนไหวสำหรับเวลาโลกที่เป็นหนึ่งเดียวขึ้นมา ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานแนวทางของปี ค.ศ. ๑๘๘๔ กล่าวคือ "ถ้าหากว่าเส้น 0 เมอริเดียนอยู่ในพื้นแผ่นดินอังกฤษ อย่างน้อยที่สุด สถาบันเกี่ยวกับเวลาโลกน่าจะเกิดขึ้นในฝรั่งเศส"

ดังนั้น ประธาน Raymond Poincare จึงให้ปารีสเป็นเจ้าภาพในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องเวลามาตรฐานสากลขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๑๒, ซึ่งได้นำเสนอวิธีการที่เป็นแบบเดียวกันขึ้นมา ในการกำหนดและธำรงรักษาสัญญานเวลาที่ถูกต้องแน่นอน และส่งผ่านถ่ายทอดมันไปยังทั่วโลก

โทรเลขทำให้มันมีความเป็นไปได้ทั้งหมด ดังเช่นในปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ราชนาวีสหรัฐอเมริกาได้ส่งสัญญานเวลาโดยโทรเลขจากวอชิงตัน. หอไอเฟลได้ถ่ายทอดเวลาปารีสในปี ๑๙๑๐ แม้ว่าจะก่อนมีการประกาศเวลาของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ. โดยในปี ค.ศ. ๑๙๑๒ ระบบดังกล่าวได้ขยายตัวออกไปติดตั้งใน Nancy (เป็นเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส), Charleville, และ Langres ด้วยเหตุนี้ ทั่วทั้งประเทศจึงสามารถได้รับสัญญานต่างๆในอย่างเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงกัน

Houllevigue ได้อ้างว่า ปารีส "ได้ถูกเข้ามาแทนที่โดย Greenwich ในฐานะที่เป็นต้นตอกำเนิดของเส้นเมอริเดียน ซึ่งได้รับการประกาศว่าเป็นศูนย์กลางเวลาเริ่มต้น(initial time center) หรือนาฬิกาของสากล(the watch of universe)"

หอสังเกตการณ์ที่ปารีสจะนำเอาการอ่านดวงดาวด้วยวิธีการทางดาราศาสตร์ และส่งมันไปยังหอไอเฟล ซึ่งจะรีเลย์หรือถ่ายทอดมันสู่ ๘ สถานีซึ่งแผ่คลุมพื้นที่ทั้งโลก. ณ เวลา ๑๐ นาฬิกาตอนเช้าของเดือนกรกฎาคมของวันที่ ๑ ในปี ค.ศ. ๑๙๑๓ หอไอเฟลได้ทำการส่งสัญญานเวลาเป็นครั้งแรกซึ่งถ่ายทอดไปทั่วโลก

ความเป็นอิสระของเวลาท้องถิ่นต่างๆเริ่มพังทลายลงไปอีกครั้ง เมื่อโครงร่างเครือข่ายอีเล็คทรอนิคทั่วโลกได้รับการสถาปนาขึ้นมา อะไรก็ตามที่ดึงดูดใจเวลาท้องถิ่น ซึ่งครั้งหนึ่งอาจเคยเป็นเช่นนั้น แต่มาถึงวันนี้โลกได้ถูกกำหนดชะตาให้ตื่นขึ้น ด้วยเครื่องไฟฟ้าที่ส่งสัญญานเรียก และระฆังซึ่งได้รับการกระตุ้นโดยแรงผลักดันที่เดินทางรอบโลกด้วยความเร็วแสง

การปฏิรูปปฏิทิน
รายรอบเวลาดังกล่าว เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติในเรื่องเวลา หรือ the international Conference on Time ข้อเสนอต่างๆอันหลากหลายสำหรับการปฏิรูปปฏิทินได้รับการทำขึ้นมา ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่มาจากมัน แต่อันนี้ก็ได้เผยให้เห็นความพยายามที่ขนานกันคู่หนึ่ง ซึ่งมีต่อเวลาสาธารณะที่ทำให้เป็นเหตุเป็นผลขึ้น

ในปี ค.ศ.๑๙๑๒ นักปฏิรูปชาวอเมริกันคนหนึ่งได้บันทึกเอาไว้ว่า ขณะที่ วัน เดือน ปี มีพื้นฐานอันหนึ่งอยู่ในธรรมชาติ สัปดาห์และชั่วโมงกลับเป็นเรื่องที่ทำเทียมขึ้นมาอย่างแท้จริง (entirely artificial) "การจัดการเกี่ยวกับปฏิทินอย่างโง่ๆ", เขาอ้าง, "ควรที่จะถูกทำให้ง่ายลงมา โดยการแบ่งปีออกเป็นฤดูกาลที่เท่าๆกัน นั่นคือแต่ละฤดูมี ๙๑ วัน และทิ้งวันปีใหม่ไปเสีย รวมทั้งวันหนึ่งที่จะต้องถูกลบทิ้งไปในทุกๆ ๔ ปี"

ต่อข้อเสนอของ Paul Delaporte ในปี ค.ศ. ๑๙๑๓ เขาได้นำเสนอการปฏิรูประบบปฏิทิน, นักเขียนเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Camille Flammarion ได้ปรบมือให้แก่ความสำเร็จต่างๆของการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องของเวลา ซึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแบ่งแยกซึ่งไม่เท่ากันของปี ควรที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไข

Camille Flammarion ได้ให้การรับรองข้อเสนอของ Delaporte เพื่อย่นหรือตัดวันในแต่ละเดือนให้สั้นลงเหลือเพียง ๒๘ วัน โดยการสอดแทรกเข้าไปในปฏิทินเพื่อเพิ่มเติมเข้าไปในช่วงกลางปี ทั้งนี้บรรดาคนทำงานทั้งหลายจะสามารถได้รับการจ่ายค่าแรงในทุกๆสี่สัปดาห์ และการเสียค่าเช่าก็จะเป็นสิ่งที่พึงชำระ และผลประโยชน์ก็จะได้รับการคำนวณด้วยความยาวของช่วงเวลาเดียวกันในทุกๆเดือน แต่ละปีมักจะเริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกันเสมอ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องพิมพ์ปฏิทินซ้ำๆ

มาตรฐานสำหรับเงินก็คือ"เวลา"
ในปี ๑๙๑๔ ชาวอังกฤษคนหนึ่ง ได้เน้นถึงความยุ่งยากในเรื่องตารางเวลาสำหรับธุรกิจและรัฐบาล และได้เสนอแนะรูปแบบปฏิทินอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งในแต่ละควอเตอร์(หนึ่งในสี่ของปี) จะได้รับการประกอบขึ้น โดยมีเดือนที่มี ๓๐ วันสองเดือน และเดือนที่มี ๓๑ วันเดือนหนึ่ง โดยที่การข้ามปีจะไม่ถูกนับแต่อย่างใด

นักปฏิรูปชาวเยอรมันได้นำเสนอวันหนึ่งซึ่งมีร้อยชั่วโมงขึ้นมา ประกอบขึ้นด้วยหน่วยที่ใกล้เคียงเท่าๆกันกับเศษหนึ่งส่วนสี่ของชั่วโมง เทียบเคียงกันกับการนำเสนอของระบบทศนิยมในมาตรวัดต่างๆเกี่ยวกับพื้นที่ว่าง ซึ่งทำให้ผู้คนชาวเยอรมันสามารถที่จะทำการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว เขารู้สึกพึงพอใจมาก เพราะอาจเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับระบบทศนิยมเวลา ซึ่งจะทำให้สามารถปลดปล่อยต้นตอต่างๆ สำหรับการดำเนินรอยตามคนอื่นๆออกไปได้

นวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องหนึ่งของปี ค.ศ. ๑๘๙๓ เกี่ยวกับชีวิตบนดาวอังคาร ได้รวมเอาพัฒนาการบางอย่างในเรื่องของเวลามาตรฐาน ซึ่งสร้างขึ้นในทศวรรษก่อนหน้านั้นเข้าไปในเรื่องด้วย. ในเรื่อง A Cityless and Countryless World (โลกที่ไม่มีเมืองและประเทศ) ของ Henry Olerich, สถานที่อยู่อาศัยและที่ทำงานทุกๆแห่ง ได้รับการติดตั้งด้วยนาฬิกาต่างๆ ซึ่งได้ถูกควบคุมโดยระบบดาราศาสตร์และอีเล็คทรอนิคไปพร้อมๆกัน

มาตรฐานสำหรับเงินก็คือเวลา: "ในด้านธุรกิจ เมื่อคุณกล่าวว่า ฉันต้องการเงินดอลล่าร์ เหรียญเซนท์ และมิวลล์ (หน่วยทางการเงินที่เล็กลงไป)มากขึ้น อันนี้หมายความว่า ฉันต้องการวันที่มากขึ้น รวมทั้งชั่วโมง นาที และวินาทีสำหรับมันมากขึ้นด้วย". เงินตราของมนุษย์ดาวอังคารประกอบด้วยธนบัตร ซึ่งประทับตราด้วยหน่วยของเวลา. เรื่องเงินที่โยงกับเวลา(time money)อันนี้ บางทีจะได้รับแรงดลใจจาก การนำเสนอเกี่ยวกับเครื่องจักรการบันทึกเวลาสำหรับคนงานต่างๆนั่นเอง

ในปีเดียวกันกับที่หนังสือของ Olerich ได้รับการตีพิมพ์ บทความชิ้นหนึ่งในนิตยสาร Scientific American ได้อธิบายถึงเครื่องจักรอันหนึ่งในการให้บริการในปี ค.ศ. ๑๘๙๐ ที่ประทับตราลงไปบนการ์ดลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน ด้วยเวลาเข้าและเวลาออกจากงาน. แม้ว่า เขาจะได้รับการจ่ายด้วยดอลล่าร์ เทปที่ประทับตราเป็นเวลาจะเป็นตัวกำหนดจำนวนเงิน. Olerich ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการสร้างสรรค์โลกยูโธเปียใบหนึ่ง ที่ที่เวลาคือเงินตราขึ้น

เวลากับปัญหาทางพยาธิวิทยา
การตรงต่อเวลา และการบันทึกเวลางานมิได้กำเนิดขึ้นในในยุคนี้ และไม่เคยเกิดขึ้นเลยในก่อนหน้านั้น ความเที่ยงตรงเรื่องเวลาจะปรากฎชัดหรือแพร่หลายขึ้นมาในเวลาเดียวกับยุคของกระแสไฟฟ้า นับจากเริ่มต้น มีบรรดานักวิจารณ์หลายคนได้พูดถึงผล หรืออิทธิพลต่างๆของพยาธิวิทยาบางอย่าง ซึ่งได้ถูกบันทึกในแคททะลอกเกี่ยวกับการเตือนทางการแพทย์

American Nervousness ของ George Beard เขาได้ประณามความสมบูรณ์ของนาฬิกา และการประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาข้อมือขึ้นมา เพราะมันทำให้เกิดอาการประสาทเกี่ยวกับเรื่อง"ความล่าช้าหรือเสียเวลาไปเพียงชั่วขณะสั้นๆ ซึ่งอาจทำลายความหวังต่างของช่วงเวลาในการดำรงชีวิต"

ทุกๆครั้งที่มีการเหลือบมองไปที่นาฬิกาข้อมือ สำหรับคนที่เป็นโรคประสาท จะมีผลกระทบต่อชีพจร และทำให้เกิดอาการเครียดต่อสมอง ยังมีพวกที่ขี้ตกใจจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งมีปฏิกริยาในทางร้ายต่อการนำเสนอเรื่องของมาตรฐานเวลาขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยใหม่ได้โอบกอดเวลาสากลและการตรงต่อเวลาเข้ามาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้ได้มารับใช้ความต้องการขนาดใหญ่กว่าของมันนั่นเอง

การปฏิวัติก่อนหน้านั้น ภาพของท้องทุ่งในเรื่อง Darkness at Noon (ความมืดในยามเที่ยงวัน) ของ Arthur Koestler เกี่ยวกับบรรดาชาวนาทั้งหลายในรัสเซีย ที่ได้มาถึงสถานีรถไฟตั้งแต่รุ่งอรุณเพื่อรอรถไฟ ซึ่งมันอาจจะยังไม่มาถึงจนกว่าช่วงสายๆตอนบ่าย ได้นำเสนอถึงวิถีชีวิต ซึ่งค่อนข้างไม่สมหวังและสิ้นเปลือง เกินกว่าที่มันจะเป็นภาพของความงดงามเจริญตาได้

1. เวลาเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน
ผู้นำเสนอในเรื่องของเวลาโลกมีอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และไม่มีใครในจำนวนนั้น(นอกจาก Moltke) ซึ่งเป็นที่รู้จัก เหนือไปกว่าวงการแคบๆของบรรดาสมาชิกนักปฏิรูป แต่อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเกี่ยวกับเวลาสาธารณะ ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายบ่งชี้ที่เหมาะสมอันหนึ่ง เกี่ยวกับช่วงระยะเวลาและความต่อเนื่อง

ไม่มีข้อถกเถียงในเชิงเหตุผลที่ประณีตซับซ้อนในนามของมัน เพราะดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่ต้องการ กิเลสตัณหาดังกล่าวในการโต้แย้งเกี่ยวกับความเป็นเนื้อเดียวกัน กับการไม่เป็นเนื้อเดียวกันของเวลาได้รับการก่อขึ้นมาโดยนักแต่งนวนิยาย, นักจิตวิทยา, นักฟิสิกส์, และบรรดานักสังคมวิทยาทั้งหลาย ผู้ซึ่งได้ตรวจสอบหนทางที่ปัจเจกชนแต่ละคนได้สร้างเวลาที่แตกต่างกันจำนวนมากขึ้นมา เท่าๆกันกับที่มันมีวิถีชีวิต ระบบการอ้างอิง และรูปแบบต่างๆทางสังคมซึ่งแตกต่างกันมากมาย

เกี่ยวกับการโจมตีอย่างรุนแรงในเรื่องอำนาจหน้าที่ของเวลาสาธารณะ ซึ่งเป็นแบบเดียวกัน ได้ปรากฎขึ้นมาในวรรณกรรมจินตนาการเกี่ยวกับยุคนี้ ทิศทางส่วนใหญ่ก็คือ การระบุถึงนักอนาธิปไตยชาวรัสเซี่ยนในเรื่อง The Secret Agent (๑๙๐๗) ของ Joseph Conrad ภารกิจของเขาคือ การเป็นตัวแทนซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นเตือนในอังกฤษ นั่นคือ การขยายเรื่องหอสังเกตการณ์ Greenwich. Conrad ไม่อาจหยิบเอาสัญลักษณ์ในเชิงวัตถุวิสัยอันเหมาะสม หรือสัญลักษณ์ที่เป็นกราฟิคขึ้นมาได้ มากไปกว่าเรื่องราวเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของมัน

ธรรมชาติของเวลาในงานวรรณกรรม
เวลามีความต่างระหว่าง"เวลาสาธารณะ"กับ"เวลาส่วนตัว" มันไม่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน และความขัดแย้งของเวลาส่วนตัวกับเวลาสาธารณะ ได้รับการสำรวจในงานวรรณกรรมต่างๆเป็นจำนวนมาก ในปี ๑๘๙๐ Oscar Wilde ได้จินตนาการถึงความไม่ลงรอยกันอันชั่วร้ายระหว่างเวลาตัวตน(body time) กับ เวลาสาธารณะ(public time)

สำหรับตัวละครที่ชื่อ Dorain Gray ของเขา ภาพวาด portrait ของ Dorain มีอายุอยู่ในสภาพของเขาขณะที่ยังเยาว์วัยอยู่. เมื่อ Dorain ได้ฆ่าคนเขียนภาพ portrait มนต์คาถาก็สิ้นสุดลง และเวลาทั้งสองแข่งกันย้อนกลับไปสู่สถานะต่างๆอันเหมาะสมของพวกมัน: ภาพ portrait ได้แปรเปลี่ยนไปจากภาพวัยเยาว์อันไร้เดียงสา และใบหน้าของ Dorain ได้บรรจุเอาความเน่าเปื่อยที่ภาพ portrait ดังกล่าวได้ซ่อนเร้นมันมาโดยตลอด ให้ปรากฏตัวขึ้นมา

เรื่อง Remembrance of Things Past (ความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งต่างๆในอดีต) ของ Marcel Proust เกิดขึ้นมาในเวลาสาธารณะซึ่งแยกแยะได้จากช่วง the Dreyfus affair (เหตุการณ์เกี่ยวกับ Alfred Dreyfus) (1859-1935) เจ้าหน้าที่ทางการทหารถูกจับกุมในข้อหากบฎและถูกจำคุก แต่ต่อมาภายหลังได้รับการปล่อยตัว เมื่อได้รับการพิสูจน์ออกมาว่าได้ตกเป็นเหยื่อของการต่อต้านพวกเซไมท์(antisemitism) และการสมรู้ร่วมคิด จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑

เวลาส่วนตัวของผู้บรรยายหรือเล่าเรื่องดังกล่าว, Marcel, เคลื่อนที่ด้วยจังหวะก้าวซึ่งไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือ ในลักษณะที่ซ้ำๆ หลุดออกจากขั้นตอนหรือลำดับการก่อนหลัง กับตัวละครตัวอื่นๆและท้าทายการคิดคำนวณด้วยระบมาตรฐานทั่วไป. Marcel สะท้อนถ่ายถึงเรือนร่างของเขา ซึ่งได้เก็บรักษาเวลาของตัวมันเองเอาไว้ในขณะที่หลับ :

"ไม่ใช่บนจานหมุนนาฬิกาที่ได้รับการทำเครื่องหมายบนผิวหน้า แต่โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เกี่ยวกับพลังบีบบังคับที่เสริมเข้าไปทั้งหมดซึ่ง คล้ายๆกันกับเครื่องกลไกนาฬิกาอันทรงพลัง มันยินยอมให้มีการบากล่องลงไปล่องแล้วล่องเล่า เพื่อสืบทอดเรื่องราวจากสมองของข้าพเจ้าสู่ส่วนที่เหลือของเรือนร่างของข้าพเจ้า"

ในการค้นหาสำหรับเวลาที่สูญไป เครื่องคำนวณเวลาจะเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง ดังที่ Proust เรียนรู้ที่จะฟัง สำหรับการกระตุ้นปลุกเร้าอันเลือนลางของความทรงจำทั้งหลาย ซึ่งใส่เข้าไปในเรือนร่างของเขานานมาแล้ว และได้รับการกำหนดให้เกิดขึ้นกับเขาอีกครั้ง ในหนทางซึ่งไม่อาจคาดเดาได้และทำให้หลงงมอยู่

จานหมุนซึ่งมีเครื่องหมายบ่งถึงเวลาที่ผิวหน้าสำหรับ Proust คือศัตรูต่างๆที่แท้จริงในการดำรงอยู่ที่มีปัญหายุ่งยากของพระเอกทั้งหลายในงานของ Franz Kafka. เมื่อ Gregor Samsa ตื่นขึ้นมาในเรื่อง The Metamorphosis และพบว่าตัวเขาเองนั้นกลายเป็นแมลงขนาดใหญ่ ความเศร้าโศกเสียใจได้ถูกทำให้มากขึ้นไปอีกโดยการค้นพบว่า เขาจะต้องพลาดขบวนรถไฟที่เขาตั้งใจจะโดยสาร การสะดุดหยุดลงครั้งแรกอันนี้ กับเรื่องที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวันตามเงื่อนเวลาสาธารณะ เป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขากับโลกแวดล้อม

ในเรื่อง The Trial (1914-15) Josef K. ได้บอกกับนายจ้างของเขาเกี่ยวกับการเรียกตัวเมื่อเขาได้ยินเป็นครั้งแรก: "ข้าพเจ้าได้รับการบันทึกและขอร้องให้ไปในที่บางแห่ง แต่พวกเขาลืมบอกไปว่าเมื่อไร". เขาต้องมาถึงตอนเก้าโมง แต่เป็นเพราะเขานอนตื่นสาย จึงทำให้เขาต้องมาสายไปกว่าหนึ่งชั่วโมง. หลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาที พนักงานฝ่ายตรวจสอบได้ตำหนิเขา: "คุณควรจะอยู่ที่นี่เมื่อหนึ่งชั่วโมงห้านาที ก่อนหน้านี้แล้ว"

ในสัปดาห์ต่อมา เมื่อเขากลับมาใหม่อีกครั้ง เขาได้มาตรงเวลา แต่ไม่มีใครมาเลยหรือไม่เห็นใครอยู่ที่นั่น. ความสับสนของเขาได้สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าของเขาเกี่ยวกับโลก. ในท้ายที่สุด เขาได้สูญเสียความสามารถที่จะจำแนกความแตกต่าง เกี่ยวกับต้นตอภายในและภายนอกของความรู้สึกผิด เทียบกันกับการที่เขาไม่สามารถที่จะตัดสินได้ว่า ใครเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบสำหรับการนัดหมายที่ผิดพลาดนี้

ในบันทึกประจำวันซึ่งบันทึกไว้ในปี ค.ศ. ๑๙๒๒, Kafka ได้วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในเรื่องความไม่ลงรอยกันอย่างบ้าบอ ระหว่างเวลาสาธารณะและเวลาส่วนตัว. "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะนอน เป็นไปได้ที่จะตื่น เป็นไปไม่ได้ที่แบกรับชีวิต หรือแม่นยำถูกต้องยิ่งไปกว่านั้น ลำดับการต่อเนื่องของชีวิต... นาฬิกาไม่เป็นที่ยอมรับ ภายในของคนๆหนึ่งพรุ่งพร่านไปตามความระยำอัปรีย์หรือผีร้าย - ในบางกรณี, มันทารุณไร้ความเป็นมนุษย์(inhuman) - วิถีทาง ขณะที่ภายนอกอันหนึ่งดำเนินไป, อย่างรีรอตะกุกตะกัก, มันเป็นจังหวะก้าวที่ชินชาหรือคุ้นเคยตลอด" พระเอกต่างๆของเขารู้สึกเหลวไหลไร้สาระ เมื่อพวกเขาได้มาถึงเช้าเกินไป และรู้สึกผิดเมื่อมาสายเกินไป

เวลาสาธารณะที่ Proust ค้นพบในลักษณะผิวเผิน และ Kafka รู้สึกหวาดหวั่น, Joyce พบว่า มันเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลหรือเป็นไปตามอำเภอใจ และไม่เหมาะสมที่จะออกคำสั่งหรือจัดระเบียบประสบการณ์ทางด้านเวลาอันหลากหลายของชีวิต

ในเรื่อง Ulysses เขาได้ดัดแปรงแก้ไขขนบประเพณีในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องของเวลา โดยการบีบอัดเวลายี่สิบปีของ Odysseus เกี่ยวกับการเดินทางลงมาเหลือเพียงสิบหกชั่วโมงในชีวิตของ Leopold Bloom ดั่งที่เขาได้วกวนอยู่กับร้านค้าต่างๆ และร้านเหล้าแถวๆดาวน์ทาวน์ หรือย่านศูนย์การค้าในเมือง Dublin

ในช่วงระหว่างวันนั้น เราได้ถูกให้เรื่องราวหรือคำอธิบายซึ่งเล็กน้อยมากๆเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ Bloom ทำ, คิด, และรู้สึก, แต่ภายในช่วงเวลาที่จำกัดนี้ของเรื่องราว Joyce ได้ขยายลำดับการเกี่ยวกับเวลาให้กว้างออกไป ด้วยการพูดกับตัวเองคนเดียวภายใน (interior monologues) และการวิจารณ์แสดงข้อคิดเห็นของผู้เขียน เกี่ยวกับประสบการณ์เฉพาะตัวของ Bloom ในเรื่องของเวลาและความสัมพันธ์ของมันที่มีต่อการยืดขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ของเวลาสากลอันกว้างใหญ่ไพศาล

ความไม่เป็นลักษณะเดียวกันของเวลา ได้ถูกนำเสนออย่างเป็นทางการโดยวิธีการของจังหวะ ที่มีลักษณะเฉพาะของงานร้อยแก้วเกี่ยวกับแต่ละบท. ในฉาก"Aeolus"(ชื่อเทพเจ้าแห่งลมของกรีก) ห้วงจังหวะได้ผันแปรไปคล้ายดั่งกับลมซึ่งไม่อาจจะคาดเดาได้ ได้พัด Odysseus ออกจากเส้นทาง…

ใน "Lestrygo- nians" Bloom ได้ไปทานอาหารเที่ยง และห้วงจังหวะเป็นการเคลื่อนไหวที่อยู่ในลักษณะของการบีบตัวของระบบการย่อยอาหาร. Bloom มองลงไปในแม่น้ำและสะท้อนให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างกำลังไหลเลื่อนอยู่: อาหารผ่านช่องทางเดินของมัน ตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก มันคล้ายดั่งทารกที่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ผ่านช่องทางการถือกำเนิด การจราจรในเมือง Dublin, ส่วนของลำไส้ของเขา, ความคิด, ภาษา, ประวัติศาสตร์, และเวลาในตัวของมันเอง

ร้อยแก้วใน"Oxen of the Sun" คล้ายคลึงกันกับท่วงทำนองอันยืดยาวของหญิงคนหนึ่งในการใช้แรงงาน. ใน "Ithaca" Joyce ได้อธิบายถึงการเดินทางกลับบ้านของ Stephen และ Bloom ในฐานะปุจฉาวิสัชนาอันหนึ่ง ซึ่งความคิดต่างๆของพวกเขา เหมือนกับฝีเท้าต่างๆของพวกเขา สลับผลัดเปลี่ยนกันในชุดหนึ่งของคำถามและคำตอบ

ในตอนกลางของคำบอกเล่า Bloom ได้ล้มลงอย่างกระทันหันที่รั้วหลังบ้านซึ่งนำไปสู่บ้านของเขา ทันใดนั้น Joyce ขัดจังหวะด้วยการบรรยายเกี่ยวกับรายละเอียดของวิธีการซึ่งเป็นไปได้ต่างๆในการอธิบาย เมื่อ Bloom ได้ชั่งน้ำหนักตัวเขาเองครั้งสุดท้าย

มันเป็นเวลา"วันที่สิบสองของเดือนพฤษภาคมของปี bissextile (ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) หนึ่งพันเก้าร้อยสี่(1904)ของปฏิทินคริสเตียน ปฏิทินยิวคือปี ห้าพันหกร้อยหกสิบสี่(5614), ส่วนปฏิทินสำหรับผู้นับถือศาสนามะหะหมัด หนึ่งพันสามร้อยยี่สิบสอง(1322) หมายเลขทองคำ 5, epact 13 (epact คือปีที่มีจำนวนวันทางสุริยคติมากกว่าจันทรคติ), วงโคจรของดวงอาทิตย์ 9, อักษรวันขององค์พระเยซู C B, เครื่องหมายบ่งชี้ของโรมัน 2, ตามปฏิทินของจูเลียน 6671, MXMIV." พวกเราได้รับการบอกเล่าว่า Bloom เดินไปรอบ Dublin อย่างถูกต้องในวันที่ 16 มิถุนายน, 1904, เพียง Joyce เท่านั้นที่ทิ้งให้เราเกิดความพิศวงเอาเลยจริงๆเมื่อมันเป็นเช่นนั้น

Joyce ได้เตือนความจำว่า เวลาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับระบบ ซึ่งมันได้ถูกนำไปวัดเพื่อชี้ถึงทฤษฎีของ Einstein ว่า การประสานกันเกี่ยวกับเวลาทั้งหมด เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับระบบการอ้างอิงอันหนึ่งโดยเฉพาะ

เวลาในโลกวิทยาศาสตร์
ในตำราเล่มหนึ่งปี ค.ศ. 1883, Ernst Mach ได้ยกคำถามบางคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์คลาสสิค ซึ่งได้คาดการณ์ถึงการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่สุดในด้านวิทยาศาสตร์เท่าที่เคยเป็นมา. Mach ปฏิเสธทัศนะของ Newton เกี่ยวกับระวางเนื้อที่ว่างสัมบูรณ์(absolute space) และการเคลื่อนที่ที่สัมบูรณ์(absolute motion) และไม่พิจารณาเรื่องเวลาที่สัมบูรณ์(absolute time)ของเขา ในฐานะที่เป็น"แนวความคิดอภิปรัชญาอันไร้สาระ"(idle metaphysical conception)"

อันนี้ได้ยิงผ่านไปที่กลศาสตร์คลาสสิคซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดการดัดแปรงแก้ไขชุดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งในท้ายที่สุดได้บรรลุถึงการปลดเปลื้องอย่างชัดเจนเกี่ยวกับมันโดย Einstein

Lorentz เชื่อว่า การขยายกว้างออกของเวลาเป็นเรื่องจริง และด้วยเหตุนี้ เขาจึงรักษาแนวความคิดเกี่ยวกับเวลาสัมบูรณ์เอาไว้. Einstein ได้ถกว่า การยืดขยายออกไปของเวลาเป็นผลหรืออิทธิพลในเชิงทัศนียวิทยา ซึ่งสร้างขึ้นมาโดยความเคลื่อนที่สัมพัทธระหว่างผู้สังเกตการณ์คนหนึ่ง กับสิ่งที่ได้รับการสังเกต มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมซึ่งมีอยู่แต่กำเนิดในวัตถุชิ้นหนึ่ง แต่มันเป็นเพียงผลที่ตามมาของกิจกรรมของการตรวจวัด

การตีความอันนั้นได้ปฏิเสธเวลาสัมบูรณ์ภาพ เพราะเวลามันจะดำรงอยู่ก็แต่เพียงเมื่อการตรวจวัดอันหนึ่งได้รับการทำขึ้นมาเท่านั้น และการตรวจวัดอันนั้น ก็แปรผันไปตามการเคลื่อนที่สัมพัทธ(relative motion)ของวัตถุสองชิ้นที่เกี่ยวข้องกัน

กับทฤษฎีพิเศษเกี่ยวกับสัมพัทธภาพของปี ค.ศ. 1905, Einstein ได้คำนวณว่า เวลาในการอ้างอิงระบบหนึ่งได้ยักย้าย ณ ที่ความเร็วซึ่งคงที่อันหนึ่งอย่างไร และมันได้ปรากฎอย่างเปิดเผย เมื่อมองมาจากระบบอีกระบบหนึ่งที่สงบนิ่งในเชิงสัมพัทธกับมัน และในทฤษฎีทั่วไปของเขาเกี่ยวกับสัมพัทธภาพในปี ค.ศ. 1916 เขาได้ยืดขยายทฤษฎีดังกล่าวออกไปว่า

การเปลี่ยนแปลงของเวลาของเรือนร่างต่างๆที่ถูกเร่ง เมื่อสสารขนาดเล็กทุกๆชิ้นในจักรวาลได้ให้กำเนิดพลังแรงดึงดูดขึ้นมา และเมื่อแรงดึงดูดเป็นสิ่งซึ่งเท่าเทียมกันกับอัตราเร่ง เขาจึงสรุปว่า "เรือนร่างการอ้างอิงทุกอย่างจะมีเวลาที่เฉพาะของตัวมันเอง"

ในความนิยมที่ตามมาเกี่ยวกับทฤษฎีของเขา เขาทำให้เกิดความแตกต่างกับกลศาสตร์ที่เก่ากว่า ซึ่งใช้นาฬิกาเพียงแค่เรือนเดียว กับทฤษฎีของเขาซึ่งต้องการให้เราสร้างจินตนาการ "นาฬิกาจำนวนมากมายเท่าที่เราชอบหรือต้องการ". ทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับสัมพัทธภาพได้มีอิทธิพล ในลักษณะที่ปรากฏเป็นรูปร่าง เกี่ยวกับการวางนาฬิกาเรือนหนึ่งในสนามทุกๆแรงดึงดูดในจักรวาล แต่ละอันเคลื่อนที่ในอัตราหนึ่งซึ่งถูกกำหนดโดย ทั้งความเข้มข้นของสนามแรงดึงดูด ณ จุดนั้น และ ความเคลื่อนไหวในลักษณะสัมพัทธของวัตถุที่ได้รับการสังเกต

Einstein ผู้ซึ่งไม่สามารถที่จะจัดให้มีนาฬิกาเรือนหนึ่งบนผนังห้องทำงานของเขาได้ เมื่อเขากำลังทำงานในที่ทำงานสิทธิบัตรใน Berne, แต่เขาได้บรรจุนาฬิกาทั้งหลายลงไปในจักรวาล ซึ่งแต่ละเรือนบอกเวลาที่ถูกต้องแตกต่างกันไป

เวลากับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ถึงแม้ว่าการสืบค้นต่างๆอย่างหลากหลาย เกี่ยวกับการถือกำเนิดในเชิงสังคมเกี่ยวกับเรื่องเวลา ต่างได้รับการทำกันขึ้นมาเมื่อตอนช่วงปลายๆของศตวรรษที่ 19 แต่ผลงานอันมหัศจรรย์ของ Emile Durkheim ได้แสดงนัยสำคัญหลักขึ้นมาเป็นครั้งแรก

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของยุคนั้น เต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสังคมดึกดำบรรพ์ต่างๆ กับการเฉลิมฉลองของสังคมเหล่านั้นเกี่ยวกับกระบวนการของชีวิตเป็นครั้งคราว และการเคลื่อนไหวของเรือนร่างต่างๆแห่งสวรรค์ พลังชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และกิจกรรมที่เป็นจังหวะของพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ

อนุสรณ์ที่ระลึกซึ่งแปลกประหลาด(exotic)ของพวกเขา เกี่ยวกับประสบการณ์ซึ่งพัวพันกับเรื่องของบรรพบุรุษ และวงจรหรือวัฏฏะของพวกเขา และภาพที่นำเสนอ ได้เผยแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและการทำลายล้างของประวัติศาสตร์(apocalyptic visions of history) อันนี้ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า Durkheim ได้เชื่อมั่นในความสัมพันธ์ทางสังคมเกี่ยวกับเวลา

ในเรื่อง Primitive Classification (1903) Durkheim กล่าวเอาไว้ว่า เวลาได้ถูกเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับองค์ระบบทางสังคม และในเรื่อง The Elementary Forms of Religious Life (1912) เขาได้ทำการสำรวจถึงเรื่องราวอันนั้นลึกลงไปในรายละเอียด ที่นั่น เขาได้จำแนกความแตกต่างระหว่างเวลาส่วนตัว(private time)กับ"เวลาในลักษณะทั่วๆไป(time in general)" ซึ่งมีการกำเนิดขึ้นในทางสังคม: "รากฐานของปริมณฑลเกี่ยวกับเวลา คือจังหวะของชีวิต"

ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเกี่ยวกับ "การแบ่งเวลาออกเป็นวัน, สัปดาห์, เดือน, และปีต่างๆ ฯลฯ., ลงรอยสอดคล้องกับการเกิดขึ้นมาใหม่เป็นช่วงๆเกี่ยวกับพิธีกรรมทั้งหลาย เช่น การเลี้ยงฉลอง และพิธีรีตองสาธารณะต่างๆ" สังคมหลายหลากได้จัดระบบรวบรวมความเป็นอยู่ของพวกเขาในเรื่องเวลา และสร้างสรรค์จังหวะต่างๆของชีวิตขึ้น ซึ่งได้กลายมาเป็นลักษณะเดียวกัน และได้ถูกกำหนดให้เป็นโครงร่างอันหนึ่งสำหรับกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับเวลาทั้งหมด ดังนั้น "ปฏิทินจึงแสดงออกถึงจังหวะของกิจกรรมที่มีการรวบรวมเอาไว้ ขณะที่ในเวลาเดียวกัน บทบาทหน้าที่ของมันก็คือ ทำให้เกิดความมั่นใจถึงระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆของพวกเขา"

เวลากับนักจิตวิทยา
การถกเถียงในเรื่องของสัมพัทธภาพเกี่ยวกับเรื่องเวลา ได้รับการกระทำโดยบรรดานักจิตเวช และนักปรัชญาทั้งหลายเช่นเดียวกัน ผลงานของ Katl Jasper ในเรื่องจิตเวชศาสตร์ปรากฎการณ์วิทยา ได้ให้เค้าโครงแบบจำลองที่แตกต่างกันของการรับรู้เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการป่วยไข้ทางจิต ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องไอเดียของความทรงจำและเวลา. Janet ได้สาธยายถึงการสนับสนุนเกี่ยวกับบรรดานักจิตวิทยาการทดลองทั้งหมด และนักคลีนิคในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ผู้ซึ่งได้ทำการสืบค้นเรื่องของ"เวลาอัตวิสัย"(subjective time)

การอ้างอิงคำอธิบายของเขาเกี่ยวกับความรู้สึกในเรื่องของเวลาที่บิดผันไป ท่ามกลางการป่วยทางจิตใน Nevroses et idees fixes (1898) ได้อธิบายถึงคุณสมบัติเกี่ยวกับบทความของ Jean Guyau ในปี 1890 ว่า เป็นการเปิดตัวของยุคใหม่อันหนึ่งในเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องของเวลา (a new era in the psychology of time)

Janet ยังได้สนทนาถึงเรื่อง La Conscience Morbide ในปี ค.ศ. 1914 ของ Charles Blondel ด้วย ซึ่งได้ตรวจสอบถึงโลกของเวลาที่หลากหลาย เกี่ยวกับคนที่มีอาการป่วยทางจิต คนไข้คนหนึ่งดำรงอยู่"จากวันหนึ่งถึงอีกวันหนึ่ง หรือ อยู่แบบวันต่อวัน คล้ายคลึงกับสัตว์ ในลักษณะของการถอยหนีหรือหลบเลี่ยงจากอดีตและอนาคต" กับเวลาที่ไม่ปรากฎว่ามีขอบเขตสิ้นสุด สองสามวันในอดีต ดูเหมือนว่า จะคล้ายกับเวลาที่ผันผ่านมาแล้วหลายๆปี และทุกๆเหตุการณ์ในห้วงเวลา ได้ถูกผสมผสานอยู่ในความสับสนของฝันร้าย

สำหรับคนไข้อีกคนหนึ่ง "Gabrielle" เวลาได้หดตัวหรือขมวดตัวเข้ามา และเหตุการณ์ต่างๆของอนาคตอันน่าหวาดหวั่น ได้รับการสับเปลี่ยนโยกย้ายไปสู่อดีต และให้กำเนิดความกังวลใจ ราวกับว่าพวกมันได้เกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้วและจะยังคงปรากฎอยู่ตลอดไป มันดูราวกับว่า จิตใจของเธอได้ทำการสำรวจอยู่อย่างสม่ำเสมอ ถึงลำดับการณ์ของเวลาทั้งหมด เพื่อรวบรวมและหดย่อความคิดที่ผิดปกติทั้งหลายเหล่านั้นลงสู่ปัจจุบัน มันคือประสบการณ์ซึ่งไม่สามารถจะหนีพ้นไปได้ของความกังวลใจ

คลิกไปอ่านตอนที่ ๒

 

 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการ เรื่อง ธรรมชาติของเวลา โดย สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียงจาก The Nature of Time จากต้นฉบับ The Culture of Space and Time

ดังที่เด็กๆทุกคนได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วในเรื่องของ"เวลา" มันเป็นสิ่งที่ไหลเลื่อนไปอย่างสอดคล้อง และอาจถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆเท่าๆกันทุกหนแห่งตามเส้นทางนี้ อันนี้คือ เวลา ที่ Issac Newton นิยามเอาไว้ในปี ค.ศ.1687 ว่า: "เวลาเป็นสิ่งสัมบูรณ์ เป็นจริง และเวลาทางคณิตศาสตร์และจากธรรมชาติของตัวมันเอง ไหลเลื่อนอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกใดๆ"

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

ความเที่ยงตรงเรื่องเวลาจะปรากฎชัดหรือแพร่หลายขึ้นมาในเวลาเดียวกับยุคของกระแสไฟฟ้า นับจากเริ่มต้น มีบรรดานักวิจารณ์หลายคนได้พูดถึงผล หรืออิทธิพลต่างๆของพยาธิวิทยาบางอย่าง ซึ่งได้ถูกบันทึกในแคททะลอกเกี่ยวกับการเตือนทางการแพทย์. American Nervousness ของ George Beard เขาได้ประณามความสมบูรณ์ของนาฬิกา และการประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาข้อมือขึ้นมา เพราะมันทำให้เกิดอาการประสาทเกี่ยวกับเรื่อง"ความล่าช้าหรือเสียเวลาไปเพียงชั่วขณะสั้นๆ ซึ่งอาจทำลายความหวังต่างของช่วงเวลาในการดำรงชีวิต" ทุกๆครั้งที่มีการเหลือบมองไปที่นาฬิกาข้อมือ สำหรับคนที่เป็นโรคประสาท จะมีผลกระทบต่อชีพจร และทำให้เกิดอาการเครียดต่อสมอง ยังมีพวกที่ขี้ตกใจจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งมีปฏิกริยาในทางร้ายต่อการนำเสนอเรื่องของมาตรฐานเวลาขึ้นมา