บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 497 หัวเรื่อง
บทความว่าด้วยความรุนแรงหลากมิติ
สาระจากกระดานข่าว
ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's article
(from midnight's webboard)
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สาระจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ว่าด้วยความรุนแรงหลากมิติ
วิลลี
บรันด์-หมอป่วย-ตากใบและ บก.ฟ้าเดียวกัน
ชลนภา
อนุกูล, ฉัตรชัย โรจนมณเฑียร- ปรีชา ประเสริฐศักดิ์, ประชาไท
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นการรวบรวมข้อเขียนต่างๆจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๓ เรื่อง
๑. คำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ๒. ความงดงามไม่ใช่สิ่งที่เหลือเชื่อ
๓. หวั่น บก.
ฟ้าเดียวกันถูกคุคามจากกรณี วีซีดี ตากใบ
(การทดลองนำเสนอ เพื่อเป็นการเชิญชวนนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านให้ใช้กระดานข่าว)
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
6 หน้ากระดาษ A4)
สาระจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วิลลี บรันดท์ - หมอป่วย - ตากใบ และ บก.ฟ้าเดียวกัน
1. คำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์
จาก http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=4234
ชลนภา อนุกูล
การคุกเข่าของวิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่หน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ในการต่อสู้ ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ถือได้ว่าเป็นการขอโทษที่มีความหมายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและถูกจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
วิลลี บรันดท์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ ของเยอรมันช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันคนแรกที่เดินทางไปเยือนโปแลนด์ ประเทศที่เคยถูกเยอรมันและรัสเซียเข้ายึดครอง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชาวโปแลนด์ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือนาซีจำนวน ๖ ล้านคน
ขณะที่ไปเยือนอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี โดยไม่มีใครคาดคิด วิลลี บรันดท์ ได้คุกเข่าลงทั้งสองข้าง ภาพนี้เป็นข่าวไปทั่วโลก มีผู้ถามบรันดท์ในภายหลังว่า เขาได้วางแผนหรือทำไปด้วยความรู้สึกโดยอัตโนมัติ เขาตอบแต่เพียงว่า ขณะนั้น เวลานั้น ต้องมีผู้ทำอะไรสักอย่าง
ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการขอโทษครั้งนี้ ก็คือการขอโทษในฐานะตัวแทนของชาวเยอรมันทั้งหมด วิลลี บรันดท์ มิใช่ผู้นำเยอรมันในการทำสงคราม ชาวเยอรมันรุ่นเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเลยก็ว่าได้ เขาเป็นเพียงลูกหลานของบรรพบุรุษผู้เคยกระทำผิด ในฐานะผู้นำของประเทศที่เคยกระทำผิดทางประวัติศาสตร์กับประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง และในภาวะที่คำพูดไร้ซึ่งความหมาย - เขาได้คุกเข่าลง
เยอรมันเป็นประเทศที่ก่อสงครามโลกทั้งสองครั้ง และตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามทั้งสองครั้ง ภารกิจของผู้นำเยอรมันภายหลังสงครามนอกจากการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายแล้ว ยังต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเกียรติยศของประเทศ เพื่อจะกลับเข้าร่วมวงษ์ไพบูลย์กับนานาประเทศดังเดิม
วิลลี บรันดท์เดินทางไปโปแลนด์เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงวอร์ซอ ผลของสนธิสัญญา เยอรมันสูญเสียดินแดน ๑ ใน ๔ ของอาณาจักรไรซ์เดิมให้กับโปแลนด์ ชาวเยอรมันที่ตกค้างในโปแลนด์จำต้องอพยพกลับสู่เยอรมัน ชาวเยอรมันบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้ แต่บรันดท์ชี้แจงว่า เยอรมันจำต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้คืนให้กับความสูญเสียจากสงคราม เพื่อที่จะตัดห่วงโซ่แห่งความอยุติธรรมที่เป็นผู้ก่อขึ้น
ส่วนกรณีที่เขาคุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์นั้น จากผลของแบบสอบถาม ชาวเยอรมันกว่าครึ่งนั้นไม่เห็นด้วย แต่ผู้ที่เห็นด้วยกับเขาล้วนเป็นหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ ตัววิลลี บรันดท์เองก็ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูง เขาได้คลี่คลายปัญหาเขตแดนเยอรมันและโปแลนด์ สลายภาวะตึงเครียดช่วงสงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ และสมานบาดแผลที่นาซีเยอรมันเคยกระทำไว้กับเพื่อนบ้าน
ปีถัดมาเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล เขาได้นำเยอรมันก้าวออกมาจากความมืดมิดเข้ามาสู่แสงสว่างแห่งการยอมรับของประชาคมโลกอย่างสง่าผ่าเผย และแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน วิลลี บรันดท์ก็ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รักของชาวเยอรมันมากที่สุด
การขอโทษย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้จากการบิณฑบาตร้องขอ และคำขอโทษอันยิ่งใหญ่นี้จักเกิดขึ้นมิได้เลยหากปราศจากหัวใจและปัญญา หัวใจนั้นทำให้มองเห็นความทุกข์ร้อนของผู้อื่นเป็นเช่นเดียวกับของตน ส่วนปัญญานั้นทำให้พิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งที่พึงกระทำบนพื้นฐานของจริยธรรม
การก้าวข้ามผ่านด่านแห่งศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นอัตตาความหลงทะนงตน ความภาคภูมิใจในพวกพ้อง บรรพบุรุษ ชาติ ไปสู่ประตูแห่งเกียรติยศ คือการกระทำในสิ่งที่พึงกระทำ หยามทำลายศักดิ์ศรีตนด้วยวีระกล้าหาญที่นำพาไปสู่ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ประวัติศาสตร์ย่อมไม่บันทึกการกระทำที่ง่ายดาย
ในกรณีของปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดภาคใต้นั้น หากชนชั้นนำของสังคมไทยได้ตระหนักรู้พลังอันยิ่งใหญ่ของการขอโทษ กระบวนการขอโทษที่แม้จะปราศจากคำพูด ดังเช่น การสอบสวนและลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กระทำผิดในการประกอบอาชญากรรมต่อประชาชนมุสลิม การให้อิสระต่อสังคมไทยในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางภาคใต้ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เหล่านี้ ย่อมเป็นคำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ ล้ำค่ำ และมีความหนักแน่นจริงใจเสียยิ่งกว่าวาทกรรมแห่งความเสียใจ ชนชั้นทางปัญญาของไทยควรจะผลักดันให้เกิดกระบวนการขอโทษนี้ให้มาก เพราะเราพึงเห็นใจว่าปุถุชนย่อมมีความอาลัยอาวรณ์ศักดิ์ศรีตน หากติดกับดักชนิดนี้เข้าเสียแล้ว ย่อมก้าวล่วงเข้าสู่แดนเกียรติยศได้ยาก
ประเทศไทยไม่เคยก่อสงครามโลกก็จริง แต่รัฐไทยเคยก่ออาชญากรรมต่อพลเมืองของตนมาแล้ว กลางหัวใจเมือง ข้างกำแพงพระบรมมหาราชวัง อย่างน้อยก็สองหนภายในเวลาสามปี ในถิ่นไกลปืนเที่ยงนับอีกไม่ถ้วน เฉพาะภาคใต้เอง นับจากกรณีอุ้มฮะหยีสุหรงไปถ่วงทะเลสาบสงขลา มาจนถึงอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีกรือเซะ กรณีตากใบ หากแผลเป็นทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ถูกเยียวยา ก็จักกำเริบเกิดเป็นแผลใหม่ให้ได้รับความทุกข์ร้อนอยู่ไม่สิ้นสุด
คำขอโทษที่มีความหมายยิ่งใหญ่ กำลังรอให้หัวใจและสติปัญญาในสังคมไทย มาร่วมกันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวันพรุ่ง
2. ความงดงาม ไม่ใช่สิ่งเหลือเชื่อ
จาก http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=4268
นายแพทย์ ฉัตรชัย
โรจนมณเฑียร MD. ,FRCST
นายปรีชา ประเสริฐศักดิ์ นบ.(เกียรตินิยม)
ในหนังที่เข้ารอบชิงรางวัลออสการ์ มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเอาเรื่องจริงในชีวิตของ จอหน์ ฟอร์บแนช มาเป็นบทละครย้อนดูตัว แนช เป็นผู้มีอาการทางจิตชนิดที่สังคมเห็นว่าเป็นคนบ้า เป็นเรื่องน่ากลัว และน่ารังเกียจ และคือ จิตเภท -พารานอยด์ แต่เมื่อได้รับการรักษาและสนับสนุนจากคนรัก ก็สามารถที่จะดำเนินชีวิต และสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์กับมนุษยชาติได้ จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
วันที่ 23 ธันวาคม 2547 ในเดลินิวส์ ออนไลน์ มีข่าวที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยมหิดลมีคำสั่งทางปกครองให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖ พ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษา ด้วยเหตุว่า มีอาการป่วยทางจิต ผมได้รับทราบข่าวด้วยความเห็นใจ แต่ขอแสดงความเคารพ และท้วงติงคำสั่งของมหาวิทยาลัย ฯ ดังนี้
การละเมิดสิทธิของบุคคลย่อมกระทำไม่ได้
เว้นแต่มีกฏหมายบัญญัติให้ทำเช่นนั้น
ขึ้นต้นผมขอท้วงติง คำสั่งของมหาวิทยาลัยฯ ก่อนเพราะเรื่องอาการเจ็บป่วยเป็นความลับผู้ป่วย
ไม่สามารถนำไปเปิดเผยได้เลย ไม่สามารถนำไปเป็นข้อมูลพิจารณาของผู้ใด เว้นแต่ว่าผู้ป่วยยินยอม
หรือเป็นการเก็บข้อมูลเองของคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะ เก็บข้อมูลได้จำกัดมาก
ไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้ตัดสินเพื่อริดรอนสิทธิของผู้หนึ่งผู้ใด และกลับจะเป็นการสร้างบาดแผลทางใจ
สร้างความรู้สึกว่าเป็นคนต่ำต้อย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบัญญัติ ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แม้ว่าผู้บริหารจะกระทำการไปด้วยหลักปกครอง ตัดสินประหารชีวิตหน้าที่การงานของบุคคล เพื่อคุ้มครองประโยชน์และมาตรฐานการแพทย์ ไม่ต้องการให้ประชาชนรับบริการจากแพทย์ที่มีประวัติป่วยทางจิต
ผมเข้าใจผู้บริหารดีว่า เป็นการคิดถึงส่วนรวมเป็นเบื้องต้น แต่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่สามารถจะใช้อำนาจตามอำเภอใจลิขิตชีวิตคนได้ เพราะสุดท้ายสังคมที่ไม่มีมนุษยธรรมเป็นประถม จะเกิดความรุนแรง ลุกเป็นไฟ เป็นสุขไม่ได้ ทั้งนี้คนทุกคนที่เจ็บป่วยย่อมมีโอกาสเสมอที่จะมีอาการดีขึ้นได้
หากผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันการศึกษา ยังมีทัศนคติที่จะทำลายคนป่วยทางจิต ก็หวังไม่ได้ว่า ประชาชนจะมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้มีอาการทางจิต ทั้งที่องค์ความรู้ปัจจุบันพยายามที่จะกำจัดทัศนคติเชิงลบต่อผู้มีอาการทางจิต เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูความแข็งแรงของจิตใจ (conclusion from White House Conference on Mental illness)
ปัจจุบันไม่มีหลักฐานการศึกษายืนยันว่า ผู้มีอาการทางจิต จะเป็นผู้ก่อความรุนแรง เสียหาย เว้นแต่ว่า บุคคลนั้นมีลักษณะของอาชญากรมาก่อน
ที่ผมยกเอาชีวประวัติของ แนช มาให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เห็นว่าความพิการกับความสามารถสร้างประโยชน์ได้เป็นคนละเรื่องกัน สังคมเราจะสร้างบรรทัดฐานอย่างไร สำหรับผู้มีความบกพร่องในความสามารถบางประการ ไม่ว่าทางกาย หรือทางจิตก็ตาม เราจะให้เขาอยู่แต่ในห้องแคบๆ คอยรับความช่วยเหลือ และ เวทนา จากสังคมไปจนตาย หรือ สังคมจะฟื้นฟูสนับสนุนส่งเสริมคนที่มีความบกพร่องบางประการ ให้สามารถพัฒนาตนให้เป็นประโยชน์กับสังคม
มีชีวประวัติที่น่าสนใจอยู่อีกผู้หนึ่งคือ Daniel B.Fisher , MD. ,Phd. ซึ่งป่วยหนักถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลสามครั้ง เพื่อรักษาอาการโรคจิตเภทในช่วงอายุ 25-30 ปี ปัจจุบันคุณหมอฟิชเชอร์ อายุ 61 ปี เป็นจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดำรงตำแหน่ง Executive Director, National Empowerment Center ปรากกฎเป็น องค์ปาฐกคนหนึ่งใน White House Conference on Mental illness
อีกผู้หนึ่งคือ Federick J. Frese III , ปัจจุบันอายุ 64 ปี มีประวัติเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการทางจิต 10 ครั้ง ในที่สุดเรียนจบปริญญาเอกสาขา จิตวิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกจิตวิทยาในโรงพยาบาล ในรัฐโอไฮโอ และ เป็นอาจารย์แพทย์ในสถาบันฝึกอบรมทางการแพทย์
ปัจจุบันเป็นการยากที่จะกล่าวว่า อัตราหาย หรือ กลับเป็นอาการปกติ หรือเกือบสมบูรณ์เป็นเท่าไร เพราะผู้ที่หายเป็นปกติจะปกปิดตัวเอง ให้สังคมไม่ทราบถึงบาดแผลแห่งความต่ำต้อยของเขา แต่จากข้อมูลการศึกษา ของ M. Harding ,Yale University of medicine 10-years model rehabilitation program ปรากฏผลสำคัญมาก เพราะมีจำนวน full recover สูงถึง 60 % หรือ full recover 20 % great improvement 40 %
แม้แต่ผู้ที่แสดงตนว่าตนยังมีอาการทางจิตอยู่บ้าง ได้แก่ Moe Armstrong ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่สามารถมีชีวิตที่งดงามได้ หลังจากกลับจากเวียดนาม เขามีอาการทางจิต อาศัยอยู่ข้างถนน อยู่กับกองขยะเป็นเวลาถึง 10 ปี เมื่อได้รับการรักษาเยียวยา สามารถเรียนจนจบปริญญาโท มีอาชีพการงาน มีชื่อเสียงในนามอาสาสมัครคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และสิทธิผู้ป่วยทางจิต
องค์ความรู้ด้านนิติจิตเวชในสังคมไทยเรายังต้องได้รับการฟูมฟักให้แข็งแรงอีกมาก เพื่อ ให้สังคมมีทัศนคติ และมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอาการบกพร่องทางจิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคดีปกครองนี้ จะเป็น Historic Cross Road วางแนวทางการปฏิบัติต่อคนที่มีอาการบกพร่องทางจิต ว่า สังคมไทยจะทำลาย หรือส่งเสริมผู้มีอาการทางจิตให้ได้รับการฟื้นฟูอย่างมีเกียรติ อย่างเป็นมิตร และได้รับการปฏิบัติ ได้รับโอกาส ในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และสถาบันการฝึกอบรมแพทย์จะทบทวนว่า ค่านิยมของสังคม ประกอบกับความรู้ด้าน นิติจิตเวชของเรา ควรจะวางบรรทัดฐานอย่างไรเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของสังคม ในกรณีสิทธิของผู้ป่วยทางจิต
ด้วยจิตคารวะ
นายแพทย์ ฉัตรชัย โรจนมณเฑียร MD. ,FRCST
นายปรีชา ประเสริฐศักดิ์ นบ.(เกียรตินิยม)
เพิ่มเติม
ข้อเสนอต่อ นายกสภาทนายความ และท่าน อธิการมหาวิทยาลัยมหิดล
เนื่องจาก องค์ความรู้ด้านนิติจิตเวช ของเรายังอ่อนแอ พวกกระผมเห็นสมควรให้องค์กรหลักทั้งสอง ร่วมกันจัดสัมมนา เพื่อวางแนวทาง และสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทางด้านนิติจิตเวช เนื่องจากมีประเด็นที่น่าสนใจมากเช่น คดีปกครองดังกล่าว คดีพินัยกรรมที่ผู้ป่วยทำนิติกรรมขณะมีอาการป่วยระยะสุดท้าย หรือ ขณะมีข้อสงสัย ทางด้านสติสัมปชัญญะ หรือกรณีสมเด็จพระสังฆราชมีอาการพระประชวร จนมิอาจทรงปฎิบัติหน้าที่เยี่ยงปกติได้
3. หวั่น บก ฟ้าเดียวกันถูกคุคามจากกรณี
วีซีดี ตากใบ
จาก http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=4206
ประชาไท - 17
ธ.ค. 2547
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ยื่นจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติ
(UN) เพื่อ "แสดงความห่วงใยในเบื้องต้น" บรรณาธิการวารสาร "ฟ้าเดียวกัน"
อาจได้รับการคุกคามจากการเผยแพร่ วีซีดี "ตากใบ"
AHRC ส่งจดหมายถึง นางไฮนา จีลานี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติซึ่งดูแลด้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ดูแลกรณีของ ธนพล อิ๋วสกุล บ.ก. ฟ้าเดียวกัน อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเหตุอันไม่ชอบธรรมที่อาจเกิดจากการเผยแพร่วีซีดี "ตากใบ" รวมทั้งเรียกร้องให้ดูแลสถานการณ์ของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ จดหมายของ AHRC มีเนื้อหาว่ารัฐบาลไทยพยายามที่จะห้ามไม่ให้สื่อสาธารณะเปิดเผยกรณีตากใบ โดยการห้ามเผยแพร่วีซีดีหรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
"หลังจากผ่านมาหกสัปดาห์ รัฐบาลไทยก็ได้ห้ามการเผยแพร่ วีซีดี ที่แสดงถึงวิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง โดยอ้างเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง ในขณะเดียวกันนิตยสารฟ้าเดียวกัน ฉบับที่จะออกวางแผงเร็วๆ นี้ ได้มีเนื้อหาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีแผนการที่จะแจกวีซีดี ดังกล่าวพร้อมไปกับนิตยสารด้วย" บาซิล เฟอร์นันโด ผู้อำนวยการ AHRC กล่าว
ผู้อำนวยการ AHRC กล่าวแสดงความเป็นห่วงว่า นายธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก. ฟ้าเดียวกัน อาจถูกจับดำเนินคดีในข้อหาสร้างความแตกแยกในสังคมหากเขาทำตามแผนที่วางไว้จริงๆ
"บรรณาธิการของหนังสือฉบับนี้ นายธนพล อิ๋วสกุล กล่าวว่าเขาต้องการที่จะทำตามความตั้งใจเดิม โดยการแจกวีซีดี พร้อมกับหนังสือ แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าใครที่ทำเช่นนี้จะถูกจับก็ตาม" บาซิล กล่าว
เนื้อหาจดหมายของ AHRC ตอนหนึ่งกล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว บ.ก. ฟ้าเดียวกัน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 และ นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังวินิจฉัยกรณี การเผยแพร่วีซีดีตากใบของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แล้วด้วยว่า การเผยแพร่วีซีดี "ตากใบ" ไม่ผิดกฎหมาย หากกระทำไปเพื่อเป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชน และรัฐบาลไทยก็ได้เคยกล่าวไว้ว่า ต้องการเปิดเผยความจริงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวไปสู่สาธารณชนให้มากที่สุด แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังกระทำกลับขัดแย้งกับคำกล่าวที่เคยให้ไว้
ผู้อำนวยการ AHRC ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ยอมให้ผู้ตรวจการพิเศษต่อเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม ของสหประชาชาติ เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เป็นการแสดงความไม่จริงใจของรัฐบาล
AHRC ยังได้ระบุในจดหมายว่า สถานการณ์ของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ทำงานด้านสื่อและด้านที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกกำลังเลวร้ายลงอย่างมาก และสื่อของชุมชนก็กำลังถูกคุกคาม วิทยุชุมชนกำลังถูกบังคับให้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ในขณะที่รัฐบาลกลับพยายามขัดขวางไม่ให้มีการออกระเบียบเพื่อสนับสนุน อิสรภาพของสื่อวิทยุและโทรทัศน์
ทั้งนี้ ทางวารสาร "ฟ้าเดียวกัน" ทำการเผยแพร่วิซีดี "ตากใบ"โดยแนบไปกับวารสาร "ฟ้าเดียวกัน ฉบับเดือนธันวาคมในวันพฤหัสบดี (16ธ.ค.) ที่ผ่านมาตามกำหนดการเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
องค์ความรู้ด้านนิติจิตเวชในสังคมไทยเรายังต้องได้รับการฟูมฟักให้แข็งแรงอีกมาก เพื่อให้สังคมมีทัศนคติ และมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอาการบกพร่องทางจิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคดีปกครองนี้ จะเป็น Historic Cross Road วางแนวทางการปฏิบัติต่อคนที่มีอาการบกพร่องทางจิต ว่า สังคมไทยจะทำลาย หรือส่งเสริมผู้มีอาการทางจิตให้ได้รับการฟื้นฟูอย่างมีเกียรติ อย่างเป็นมิตร และ ในฐานะมนุษย์
มีชีวประวัติที่น่าสนใจอยู่อีกผู้หนึ่งคือ
Daniel B.Fisher , MD. ,Phd. ซึ่งป่วยหนักถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลสามครั้ง
เพื่อรักษาอาการโรคจิตเภทในช่วงอายุ 25-30 ปี ปัจจุบันคุณหมอฟิชเชอร์ อายุ
61 ปี เป็นจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดำรงตำแหน่ง Executive Director, National
Empowerment Center ปรากกฎเป็น องค์ปาฐกคนหนึ่งใน White House Conference on
Mental illness. อีกผู้หนึ่งคือ Federick J. Frese III , ปัจจุบันอายุ 64 ปี
มีประวัติเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการทางจิต 10 ครั้ง ในที่สุดเรียนจบปริญญาเอกสาขา
จิตวิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกจิตวิทยาในโรงพยาบาล ในรัฐโอไฮโอ
และ เป็นอาจารย์แพทย์ในสถาบันฝึกอบรมทางการแพทย์
(นายแพทย์ ฉัตรชัย โรจนมณเฑียร และปรีชา ประเสริฐศักดิ์ : เขียน)
์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 480 เรื่อง หนากว่า 5500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์