ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
211247
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 495 หัวเรื่อง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุธรรม
ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
สหรัฐอเมริกา
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับ
สุธรรมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มาได้อย่างไร?
ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้นำมาจากกระดานข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
และความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสุธรรมที่ต่อเนื่องอยู่บนกระดานข่าวหัวข้อเดียวกัน
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)

 


สุธรรมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มาได้อย่างไร?

ตอบ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเสี่ยงคุกตะราง เอาความปลอดภัยของตนเองเข้าแลก เพื่อเผยแพร่ความจริงที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ให้สาธารณชนทั้งในและนอกประเทศไทยได้รับรู้ และเสนอทัศนะต่อปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่ต่างไปจากรัฐบาล จนกระทั่งการสังหารโหดเมื่อ 6 ตุลาเป็นเรื่องน่าอับอายที่ปิดบังไม่ได้อีกต่อไป กลายเป็นแรงกดดันที่รัฐบาลต้องปล่อยตัวสุธรรมและเพื่อนในที่สุด

หนึ่งในผู้เอาชีวิตตนเข้าแลกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและความคิดที่ต่างจากรัฐบาลในกรณี 6 ตุลาคือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ้าอาจารย์ไม่ต้องตรากตรำอย่างหนัก อันมีส่วนช่วยให้สุธรรม "ผ่าน" 6 ตุลามาได้ ท่านอาจมีชีวิต 20 ปีสุดท้ายต่างออกไปก็เป็นได้

รัฐบาลในขณะนั้นถือว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่รัฐไม่ปรารถนา และทัศนะที่ต่างออกไปเป็นภัยต่อสังคม บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ จึงมีผู้ถูกจับกุมลงโทษจำนวนมากเพียงเพราะเผยแพร่ข้อมูล 6 ตุลาที่ต่างออกไปและคิดต่างจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันประชาชนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อรัฐบาลอย่างหน้ามืดตามัว เพราะความหลงคลั่งชาติ เห็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในสังคมเป็นการคุกคามของต่างชาติ เห็นผู้คิดต่างเป็นศัตรูของชาติ

รัฐบาลทำทุกวิถีทางเพื่อควบคุมข่าวสารและบงการความคิดคนในประเทศ แถมต้องต่อสู้กับข้อมูลทัศนะที่เผยแพร่ในต่างประเทศ ถึงขนาดส่ง รมต.มหาดไทย เดินสายชี้แจงความจริงแบบรัฐบาลไทยไปทั่วโลก

สิ่งที่คนในประเทศรู้คือความไม่รู้ เพราะถูกปิดหูปิดตาโดยรัฐ ซึ่งเข้าควบคุมข่าวสารทันทีหลังการปราบปราม สิ่งที่คนทั้งโลกรับรู้กลับเป็นความจริงทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างไกลลิบลับ ความคิดที่ว่าอยู่ใกล้ย่อมรู้ดีกว่า เป็นแค่การหลงตัวเองแบบหนึ่ง และมักผิดอย่างจังในกรณีคอขาดบาดตาย

คนที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาและพฤษภามหาโหดมาแล้ว ไม่ควรยอมรับการปิดบังข้อมูลข่าวสารและทัศนะที่แตกต่าง ไม่ควรใช้ข้ออ้างความมั่นคงของชาติมาปิดหูปิดตาประชาชน เพราะนั่นคือเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การทำลายชีวิตในนามของความรักชาติ

วิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขต 3 จังหวัดใต้สุด รวมทั้งกรณีกรือแซะและตากใบ อาจต่างกับ 6 ตุลาในหลาย ๆ ด้าน แต่กลับมีแง่มุมที่อาจช่วยเป็นกระจกสำหรับปัจจุบันได้หลายเรื่อง ที่สำคัญก็คือ ความไม่รู้มิได้เกิดจากการปิดบังข้อมูลข่าวสารเท่านั้น หากเกิดจาก "ความหลงอย่างใหญ่" ของรัฐและของสาธารณชนเองด้วยในทั้ง 2 กรณี ความหลงอย่างใหญ่ที่ว่าคือ "ลัทธิชาตินิยมไทย" หรือ"ความรักชาติแบบขาดสติ"

(อาจมีผู้แย้งว่า คือความคลั่งชาติต่างหาก มิใช่ชาตินิยม ผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองคือความหลงประเภทเดียวกัน คือหลงในชุมชนจินตนาการ ที่ถูกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา ชาตินิยมจึงอาจพลิกเป็นอุบาทวกรรมได้ในฉับพลัน คนที่ส่งเสริมชาตินิยมแต่ต่อต้านความคลั่งชาติจึงกำลังเล่นกับไฟ)

จริงอยู่ว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นคราวนี้มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่ต้องการรัฐปัตตานีอิสระ และอีกส่วนจากองค์กรก่อการร้ายสากล แต่คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูโดยทั่วไปเลิกคิดถึงรัฐปัตตานีอิสระไปนานแล้ว ปัญหาพื้นฐานที่ดำรงอยู่ตลอดมาหลายชั่วอายุคน คือ รัฐและสังคมไทยพยายามบังคับให้เขาเป็นไทยตามมาตรฐานที่ขีดเส้นนิยามไว้อย่างคับแคบ หรือมิฉะนั้นก็เป็นได้แค่ "แขก" ของสังคมไทย ภายใต้การปกครองอย่างเข้มงวดหวาดระแวงของอำนาจรัฐส่วนกลาง ไม่ยอมให้เขาเป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มีเกียรติศักดิ์ศรีเท่าเทียมคนไทยเชื้อสายอื่นศาสนาอื่น โดยรักษาอัตลักษณ์และแบบวิถีชีวิตของตนไว้มั่นคง

ความคับแคบแบบนี้เองที่ก่อความเดือดร้อนแก่คนไทยเชื้อสายอื่น ไทยที่ไม่ใช่พุทธ และไทยที่ไม่ยอมรับอุดมการณ์ไทยมาตรฐาน ความไม่พอใจรัฐมาจากการถูกเบียดเบียนข่มเหง แต่รัฐและสังคมไทยไม่ยอมรับว่ามีผู้เดือดร้อนถูกความเป็นไทยมาตรฐานเบียดเบียนข่มเหง กลับถือว่าการต่อสู้ของผู้เดือดร้อนคือความไม่รักชาติ เป็นการทำลายชาติ รัฐบาลและสื่อมวลชนข้างมากช่วยกันโหมกระพือทัศนะที่เห็นความขัดแย้งทางสังคมเป็นเรื่องการคุกคามของผู้ก่อการร้าย และศัตรูภายนอก

ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในประวัติศาสตร์ เป็นเชื้อมูลที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะโดยผู้ก่อการรุนแรงไม่กี่คน หรือโดยนโยบาย มาตรการ โครงการ คำพูดที่ผิดพลาดของรัฐบาลเอง ทว่าปัจจัยนี้ถูกมองข้ามไปง่าย ๆ ด้วยลัทธิชาตินิยมไทยที่อหังการถือเอาไทยเป็นใหญ่

ลัทธิชาตินิยมไทยมีทัศนะต่อดินแดนแห่งชาติแบบง่ายๆ ตื้นๆ คือยึดถือความเป็นรัฐเดี่ยวอย่างแข็งทื่อตายตัว ระบบเทศาภิบาลสมัยรัชกาลที่ 5 อาจถูกหาว่าเป็นการแยกดินแดน หากมองในทัศนะของชาตินิยมไทยสมัยนี้

ปัญหาพื้นฐานเป็นความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ไม่ใช่การคุกคามทำลายชาติ แต่การจัดการความขัดแย้งกลับเน้นการหาผู้อยู่เบื้องหลัง กำจัดผู้อยู่เบื้องหลัง ดังนั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังเป็นการสุมฟืนเข้ากองไฟ ยิ่งจัดการความขัดแย้งทางสังคมการเมือง ราวกับเป็นเรื่องศัตรูชาติที่พยายามทำลายบูรณภาพของชาติ จะยิ่งผลักไสผู้คนไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ

ผู้ชุมนุมเรียกร้องอย่างเปิดเผยหลายพันคน จึงถูกจัดการราวกับไม่ใช่คน ไม่ว่าจะด้วยเห็นเขาทั้งหมดเป็นศัตรู หรือด้วยต้องการกวาดจับตัวการจำนวนไม่กี่คนในที่นั้นก็ตาม

เหตุผลที่รัฐบาลแถลงต่อสาธารณะชนกลับเหมาะสมดีกับสาธารณชนที่หน้ามืด หลงไปกับความรักชาติแบบขาดสติ พวกเขาพอใจกับการใช้กำลังอาวุธกับผู้ชุมนุม เชื่อฟังข้ออ้างง่ายๆ ตื้นๆ ของรัฐบาล ซึ่งใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งที่ลงมือปราบปราม และยังไม่ปรากฏสักครั้งเดียวว่าเป็นความจริง ไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา หรือกรณีอื่นๆ

คนที่รักชาติจนหน้ามืดเห็นผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย และการชุมนุมเป็นแผนการก่อการร้าย จึงเห็นชีวิตศัตรูเป็นแค่ตัวเลขเพื่อความสะใจ ไม่ยอมรับฟังว่าชีวิตเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวโยงกับผู้ก่อการร้ายจริงหรือไม่ ศีลธรรมลดเหลือศูนย์จนลืมคิดว่า หากแม้เพียงหนึ่งชีวิตปราศจากความผิด การปราบปรามนั้นย่อมถือว่าเป็นฆาตกรรม

ความรักชาติแบบหน้ามืดทำให้ลืมไปว่า "ผู้ก่อการร้าย" แปลว่า รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย ส.ส. วุฒิสมาชิก และพวกใหญ่โตคับฟ้าอีกหลายคน

ความรักชาติแบบขาดสติ ทำให้เห็นคำท้วงติงทั้งหลายเป็นการเข้าข้างศัตรู ผู้ท้วงติงถูกหาว่าไม่ใช่คนไทย

ความรักชาติแบบงมงาย ปิดทางเลือกทางการเมืองที่พยายามแสวงหาวิธีการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสม เพียงเพราะตกอยู่ใต้ความกลัวขึ้นสมองว่าประเทศจะล่มสลาย

ความรักชาติแบบหน้ามืด เหมารวมความรุนแรงและฆาตกรรมทุกรายเข้าด้วยกัน แล้วเรียกว่า "การฆ่ารายวัน" เพราะเห็นว่าทุกอย่างมีเหตุมาจากผู้ก่อการร้าย แทนที่จะจัดการกับฆาตกรรมอย่างเด็ดขาดตามกฎหมาย และจัดการกับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองด้วยการเมือง กลับกระพือโหมให้จัดการทุกอย่างด้วยมาตรการทางทหาร

พฤติกรรมของผู้รักชาติจนขาดสติ กำลังผลักไสคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เข้าสู้มุมอับ เพราะเขาไม่สนับสนุนพวกที่รุนแรง แต่สังคมไทยกลับทำราวกับเขาเป็นตัวปัญหาเป็นศัตรูของชาติ สิ่งที่ตอกย้ำความแตกแยกบ่อยที่สุดคือ ปากของนายกรัฐมนตรี และความหลงตัวเองของท่าน นี่คือเหตุปัจจัยของความแตกแยกที่ไร้สาระที่สุด
ไม่ใช่ VCD ตากใบ

เคยคิดไหมว่า นกสันติภาพนับล้านๆตัวนั้น ควรนำไปปล่อยในที่อื่นใดบ้าง ให้แก่ใครบ้าง นอกเหนือจากชาวไทยเชื้อสายมลายู?

ตอบ กรุงเทพฯ และทุกๆแห่งที่มีการปลุกระดมความรักชาติแบบโง่ๆ อาทิเช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์ กองบัญชาการกองกำลังทุกประเภท และทำเนียบรัฐบาลด้วย

ถ้าหากผู้เผยแพร่ VCD ตากใบมีความผิดฐานก่อให้เกิดความแตกแยก วานสุธรรมช่วยจัดการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เวบบอร์ดสำคัญๆ จำนวนมากที่ปลุกระดมความรักชาติแบบท่วมท้นด้วยความเกลียดและความกลัว ช่วยตักเตือนคนในทำเนียบรัฐบาล และช่วยปิดปากท่านนายกรัฐมนตรีด้วย
จักเป็นพระคุณยิ่ง

สุธรรมและสังคมไทย ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา มาแล้วจริงหรือ?
14 ตุลา เกิดขึ้นเมื่อ 31 ปีก่อน 6 ตุลา 28 ปีก่อน พฤษภา 12 ปีก่อน

สุธรรมรอดมาจนเป็นรัฐมนตรีได้และสังคมไทยล่วงเลยมาหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่า สังคมไทยไม่เคย "ผ่านพ้น" 6 ตุลาจริงๆ เลย สังคมไทยยังหัวปักหัวปำกับความเป็นไทยแบบหยาบ ตื้น และโหดร้าย เบียดเบียนชนกลุ่มน้อยนานาประเภท เกลียดกลัวความแตกต่าง แบบเกลียดกลัวศัตรู จึงพร้อมจะใช้กำลังกำจัด "พวกมัน" ซะ

ลัทธิชาตินิยมยังคงเปลี่ยนคนไทยที่ปกติน่ารักให้กลายเป็นยักษ์กระหายเลือดได้ชั่วข้ามคืน แต่หลงหลอกตัวเองจนลืมส่องกระจกดูหน้ายักษ์มารของตนเอง

แม้ว่าเราต่อสู้จนเผด็จการอำนาจนิยมจบลงไป เข้าสู่ยุคใหม่ทางการเมืองที่เงินมีอำนาจมากกว่าปืนและเงินคือความรู้ แต่สังคมไทยยังคงไม่ยอมเรียนรู้วิธีการจัดการความขัดแย้งทางสังคมที่ท้าทายความเป็นไทยอย่างจัง นี่คือประเด็นสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่สังคมไทยควรที่จะเรียนรู้จาก 6 ตุลา แต่ไม่เคยเรียน

งานรำลึก 14 ตุลา 6 ตุลาจัดกันทุกปีจนเป็นเทศกาลเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือเป็นพิธีกรรมของอดีตฝ่ายซ้ายที่ชอบฝันถึงอดีตเพื่อเอาอดีตมาชุบชูใจปัจจุบัน จนมีคนหมั่นไส้อยากให้เลิกจัดและ พลอยปฏิเสธคุณค่าของการรำลึกไปเสียทั้งหมด ส่วนสังคมไทยเอาแต่หลีกเลี่ยงอดีต ต้องการฝังอดีตให้เลือนหายไปอย่างเงียบๆ ไม่ขบคิดว่าเราผิดพลาดอะไรไป จึงทำให้ความขัดแย้งทางสังคมการเมืองกลายเป็นโศกนาฏกรรมขนาดนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากับอดีตเพื่อสั่งสมวุฒิภาวะทางสังคมว่าจะจัดการกับความแตกต่างที่ท้าทายความเป็นไทยแบบคับแคบอย่างไร

ในเมื่อไม่เคยคิดจะเติบโตขึ้นจากอดีต จึงไม่เคยมีการคิดว่าจะต้องปรับปรุงรัฐ กลไกรัฐ สื่อมวลชน หรือสร้างช่องทางด้วยกฎหมายหรือสถาบันอย่างไรบ้างที่จะอำนวยให้การจัดการความขัดแย้งไม่นำไปสู่ความรุนแรงภายใต้ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบหน้ามืดไร้สติอย่างที่เคยเกิดขึ้น

สังคมไทยจึงไม่เคย "ผ่านพ้น" 6 ตุลา จริงๆเลย จึงเวียนว่ายอยู่กับการใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุมขัดแย้งกับอำนาจ ทำให้พวกเขาเป็นศัตรู ทำให้คนอื่นตกอยู่ในความกลัวและความเกลียด ตามด้วยการปิดบังข้อมูลข่าวสาร ข่มขู่จับกุมลงโทษผู้ที่เอาตัวเองเข้าเสี่ยงเพื่อเผยแพร่ข้อมูลทัศนะที่ต่างจากรัฐ

จากนั้นก็ประนีประนอมกล้อมแกล้มอยู่กันต่อไป จนกว่าการฆ่าครั้งใหม่จะเกิดขึ้น
เสียดายชีวิตที่สังเวยความผิดพลาดซ้ำซากอย่างน่าขยะแขยงที่สุด
เพราะไม่มีใครสักคนที่ผ่าน "พ้น" เหตุการณ์ 6 ตุลา ออกไปสักที - ไม่มี

ครั้งหนึ่ง สังคมไทยต้อนรับ "ผมผ่าน 6 ตุลามาได้อย่างไร?" เพราะเป็นนิมิตหมายว่า สังคมไทยผ่านวิกฤตสำคัญไปอีกครั้ง แต่ก้าวเล็กๆ ก้าวแรกของหนังสือเล่มนั้น มิได้เขียนโดยสุธรรม แสงประทุม
แต่เขียนโดยผู้คนที่เอาตัวเองเข้าเสี่ยง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ ใช้ความรุนแรงจัดการความขัดแย้งทางสังคมและความรักชาติแบบขาดสติ เขียนโดยอาจารย์ป๋วยและคนอื่น ๆ อีกร้อยพันที่ไม่เคยปรากฏชื่อ เพื่อให้สุธรรมมีโอกาสรอดมาเขียนเองเป็นเล่ม

พวกเขาเอาชีวิตเข้าเสี่ยง เพราะการเผยแพร่ข้อมูลทัศนะที่ต่างออกไป ในกรณีนี้มิใช่แค่เรื่องสิทธิในการรับรู้ข่าวสารเท่านั้น แต่เป็นการเสี่ยงเพื่อให้สังคมไทยมีชีวิตที่งดงามกว่า น่าอยู่ขึ้นในอนาคต และหวังว่าจะไม่โหดร้ายอย่างยุคที่เขาเผชิญ

หากวันหนึ่งในอนาคตมีผู้เขียน "ผมผ่านเหตุการณ์ตากใบมาได้อย่างไร?" คงเป็นวันที่เรามีความสุขได้อีกครั้ง แต่ก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกของหนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นวันนี้ ด้วยผู้คนที่ยอมเอาตัวเข้าเสี่ยงเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและทัศนะที่ต่างจากรัฐบาล ด้วยหวังว่าในอนาคตจะไม่ผิดพลาดอย่างเดิม ๆ อีก

ขอภาวนาให้หนังสือเล่มหลังนี้ตีพิมพ์เมื่อสังคมไทยและเราทุกท่าน "ผ่านพ้น" 6 ตุลา พ้น พฤษภา พ้นตากใบ ออกไปแล้วจริง ๆ มิใช่หลบเลี่ยงหรือทำเป็นลืม

ข้อมูลเพิ่มเติมจากกระดานข่าว
"สุธรรมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มาได้อย่างไร? "
ขอแบ่งปันข้อมูลเท่าที่ติดตามสืบค้นประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ที่รัฐฯล้อมปราบ ฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุม เมื่อ 5-6 ตุลาคม 2519
สุธรรมถูกจับพร้อมกับเพื่อนๆ ระหว่างเดินทางไปเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
สุธรรมและผู้นำนักศึกษาอีก 18 คน ถูกจำคุกอยู่ประมาณ 2 ปี ระหว่างนั้น มีพ่อแม่ เพื่อนพ้องน้องพี่ที่อาจหาญไปเยี่ยม ส่งจดหมายให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง
ในต่างประเทศ มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ล้อมปราบ ภาพการปราบปราม ฆ่าโหดผู้ชุมนุมมือเปล่า ภาพนักศึกษาธรรมศาสตร์ ถูกผูกคอลากกลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยฯจนสิ้นลม ภาพการลากเอาผู้ชุมนุมมาเผาทั้งเป็นกลางสนามหลวง ภาพนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถูกจับแขวนคอกับต้นมะขามกลางสนามหลวง ร่างที่ไร้วิญญาณถูกทารุณ ถูกตี ถูกเอาร้องเท้ายัดปาก
ภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และดิฉันเชื่อว่าคุณสุธรรมได้เห็นค่ะ เพราะความจริงเหล่านี้ ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากทั่วโลก เป็นแรงกดดันให้คุณสุธรรมได้รับการปลดปล่อยจากข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม
ทั้งยังทำให้คุณสุธรรมได้รับทุนไปเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในต่างแดน
เมื่อกลับมา คุณสุธรรมตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง
องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศ ก็ยังตามมารณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองจนกฏหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองผ่านสภาฯ
คุณสุธรรมได้รับผลพวงจากความเป็นจริงที่ถูกเล่าขาน ฟ้องด้วยภาพ โดยที่ไม่ต้องเปลืองแรงทำอะไรเลย
วันดีคืนดี คุณสุธรรมก็ลุกขึ้นมาเขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์ว่า "ผมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มาได้อย่างไร?" แล้ววันดีคืนดีของคุณสุธรรมในปัจจุบัน คุณสุธรรมก็ลุกขึ้นมาข่มขู่ผู้เผยแพร่ภาพ ความจริงที่เกิดขึ้นที่ตากใบ
ขอบคุณอาจารย์ธงชัยค่ะ ที่ช่วยย้ำเตือนสิ่งที่คุณสุธรรมจำไม่ได้แล้วว่า "ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มาได้อย่างไร?"
โดย : subsb

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ"สุธรรมผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลามาได้อย่างไร?"และนกกระดาษสันติภาพควรไปโปรยที่ไหน"ในมุมมองของ ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน

หนึ่งในผู้เอาชีวิตตนเข้าแลกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและความคิดที่ต่างจากรัฐบาลในกรณี 6 ตุลาคือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ้าอาจารย์ไม่ต้องตรากตรำอย่างหนัก อันมีส่วนช่วยให้สุธรรม "ผ่าน" 6 ตุลามาได้ ท่านอาจมีชีวิต 20 ปีสุดท้ายต่างออกไปก็เป็นได้ รัฐบาลในขณะนั้นถือว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่รัฐไม่ปรารถนา และทัศนะที่ต่างออกไปเป็นภัยต่อสังคม บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ จึงมีผู้ถูกจับกุมลงโทษจำนวนมาก

วิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขต 3 จังหวัดใต้สุด รวมทั้งกรณีกรือแซะและตากใบ อาจต่างกับ 6 ตุลาในหลาย ๆ ด้าน แต่กลับมีแง่มุมที่อาจช่วยเป็นกระจกสำหรับปัจจุบันได้หลายเรื่อง ที่สำคัญก็คือ ความไม่รู้มิได้เกิดจากการปิดบังข้อมูลข่าวสารเท่านั้น หากเกิดจาก "ความหลงอย่างใหญ่" ของรัฐและของสาธารณชนเองด้วยในทั้ง 2 กรณี ความหลงอย่างใหญ่ที่ว่าคือ "ลัทธิชาตินิยมไทย" หรือ"ความรักชาติแบบขาดสติ" (อาจมีผู้แย้งว่า คือความคลั่งชาติต่างหาก มิใช่ชาตินิยม ผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองคือความหลงประเภทเดียวกัน คือหลงในชุมชนจินตนาการ ที่ถูกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา ชาตินิยมจึงอาจพลิกเป็นอุบาทวกรรมได้ในฉับพลัน คนที่ส่งเสริมชาตินิยมแต่ต่อต้านความคลั่งชาติจึงกำลังเล่นกับไฟ) จริงอยู่ว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นคราวนี้มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่ต้องการรัฐปัตตานีอิสระ... ้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 480 เรื่อง หนากว่า 5500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์