2
0
0
4
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 389 หัวเรื่อง
อันตรายของลัทธิชาตินิยม
ธงชัย วินิจจะกุล
มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
สหรัฐอเมริกา
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
ประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย
อันตรายของลัทธิชาตินิยมไทย
(กรณีเหตุการณ์รุนแรงที่ปัตตานี)
ดร. ธงชัย
วินิจจะกุล
มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา
บทความ 3 ตอนชิ้นนี้เคยตีพิมพ์แล้วใน
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2547
โดย อ.ธงชัย วินิจจกุล ส่งมาเผยแพร่บนเว็ปไซค์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4)
รัฐบาลกล่าวถูกต้อง ว่าโศกนาฏกรรมที่ปัตตานี มีหลายสาเหตุ ผลประโยชน์ตามชายแดน ยาเสพติด ขบวนการแยกดินแดน เป็นต้น
แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำให้คลุมเครือตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ความตึงเครียด ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในดินแดนแถบนั้นมาตลอด ร้อยปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ และการกดขี่ข่มเหงของรัฐไทย ในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างน้อย
กล่าวอย่างรวบยอด ก็คือ ปัญหาที่แท้จริงมาจากลัทธิชาตินิยมไทยที่มีลักษณะกดขี่ข่มเหง แถมยังรักษาอำนาจของตนไว้ด้วยการใช้ความรุนแรง และมาตรการสำคัญของชาตินิยมชนิดนี้ คือ การปกปิดอำพรางประวัติศาสตร์อัปลักษณ์ของชาติไทยอีกบทหนึ่ง
สาธารณชนไทยไม่มีทางเข้าใจวิกฤติ ณ ชายแดนใต้สุดของประเทศไทย และปัญหาจะไม่มีทางได้รับการแก้ไขอย่างถึงรากยั่งยืน หากไม่เริ่มจากการเข้าใจประวัติศาสตร์อัปลักษณ์บทนี้ และหากไม่ขจัดชาตินิยมที่กดขี่ข่มเหง
ลัทธิชาตินิยม
ลัทธิชาตินิยม กล่าวอย่างกว้างที่สุด คือ การถือมั่นพึงพอใจในอัตลักษณ์หรือตัวตนรวมหมู่
(collective identity) ชนิดหนึ่ง หากถือมั่นพอใจมากก็อาจกลายเป็นการยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูชนิดหนึ่ง
เรียกว่าหลง (ชาติพวก) ตัวเอง หากหลงหนักกว่านั้นก็อาจกลายเป็นความคลั่งชาติ
ความหลงพวกตัวเองที่เรารู้จักกันทั่วไป ได้แก่ สถาบันนิยม ซึ่งหากอาการหนักก็อาจนำไปสู่การยกพวกตีกัน หรือตามล้างแค้นเพื่อพวกพ้องร่วมสถาบัน
เรามักไม่ค่อยคิดว่าลัทธิชาตินิยม คือ ความหลงประเภทเดียวกันกับสถาบันนิยม เพราะในสังคมไทยมักถือว่าชาตินิยมเป็นสิ่งดี แม้แต่นักวิชาการโดยทั่วไปยังมักอธิบายว่า "ชาตินิยมมิใช่ความคลั่งชาติ", "รักชาติไม่เป็นไร อย่าคลั่งชาติแล้วกัน"
เอาเข้าจริงความต่างระหว่างความยึดมั่นทั้งหลายนี้เป็นปริมาณนิดเดียวเท่านั้น
รักชาติ หลงชาติ คลั่งชาติจึงอาจเปลี่ยนไปมาฉับพลันแทบไม่ทันรู้ตัว แถมบ่อยครั้งเราอาจไม่รู้ตัวเลยว่า แค่รัก หรือหลง หรือคลั่งเข้าแล้ว
ลัทธิชาตินิยมไทย คือ ความยึดมั่นถือมั่นหรือหลงความเป็นไทยว่าดีกว่าสูงส่งกว่า ประเสริฐกว่าอัตลักษณ์รวมหมู่อย่างอื่น ลัทธิชาตินิยมไทยหรือชาติใดก็ตาม จึงเป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาที่สังคมหนึ่งบ่มเพาะปลูกฝังแก่สมาชิกรุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อสร้างพลังทางสังคมของชุมชนนั้น
ในแง่นี้ลัทธิชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ชนิดหนึ่งคล้ายศาสนา ชาตินิยมจึงมีพลังด้านบวกสูงมากแบบเดียวกับศาสนา แต่ความหลงหรือคลั่งชาติจึงมีอันตรายมหันต์แบบเดียวกับศาสนา
นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเรียกลัทธิชาตินิยมว่าเป็น political religion หรือ socralized politics ปัญหามีอยู่ว่าเราอาจไม่รู้ตัวเลยว่า แค่รัก หรือหลง หรือคลั่ง เข้าแล้ว
ความเป็นไทย
ปัญหาสำคัญกว่า ยากกว่า และก่อให้เกิดความหลงที่อันตรายกว่า ก็คือ ความเป็นไทย
(หรือชาติใดๆ ก็ตาม) เป็นจินตภาพที่นิยามไม่ได้ กลับคลุมเครือลื่นไหลไปมาตลอดเวลา
ชาตินิยมไทย (และชาติอื่นส่วนข้างมากในโลก) คือ เอาดินแดนเป็นมูลฐานที่สมาชิกยึดมั่นร่วมกัน
จากนั้นชาตินิยมไทยยังสร้างองค์ประกอบชนิดอื่นๆ มาช่วยนิยามความเป็นไทยอีก ที่สำคัญ
ได้แก่ ภาษา ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ศาสนา (พุทธ) และชาติพันธุ์ (ไทย)
เป็นต้น
องค์ประกอบทุกประการที่กล่าวมาดูเหมือนว่าง่ายๆ ชัดเจนดี แต่แท้ที่จริงกลับคลุมเครือลื่นไหลมาตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดลัทธิชาตินิยมไทยขึ้นมา ดินแดนของประเทศไทยปัจจุบัน หลายแห่งไม่ใช่ของสยามมาก่อน แต่ยึดเอาของคนอื่นเขามา หรือเป็นดินแดนที่หลายฝ่ายอ้างซ้อนทับกัน
ภาษาไทยกลางเพิ่งจะกลายเป็นมาตรฐานและกลายเป็นของ "กลาง" สำหรับทั้งชาติมาไม่เกิน 100 ปี ผู้คนจำนวนมากในดินแดนของไทยไม่ใช้ภาษาไทยกลาง
ศาสนาพุทธไม่ใช่เกณฑ์วัดความเป็นไทยที่ดีนัก เพราะชาวไทยไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ
ชาติพันธุ์เป็นองค์ประกอบที่ลื่นไหลที่สุด เพราะไม่มีชาติพันธุ์ใดในโลกที่บริสุทธิ์นับแต่มนุษย์อพยพไปมา คน "ไทย" เป็นตัวอย่างหนึ่งของพันธุ์ผสมหรือพันธุ์ทาง ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษหลายสายมากมาย
ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เป็นความเชื่อ ซึ่งถึงที่สุดแล้วย่อมบังคับกันไม่ได้ ทว่าความแตกต่างคลุมเครือปรากฏตัวไม่ได้ด้วยข้อบังคับทางกฎหมาย
แม้ปัจจัยนิยามเหล่านี้จะคลุมเครือลื่นไหล แต่กลับทรงอิทธิพลมาก เพราะความเชื่อว่าชาติเป็นภววิสัย ดำรงอยู่แน่นอนไม่พึงต้องสงสัย ดังนั้น ยังไงๆ ก็ต้องมีปัจจัยมานิยามการดำรงอยู่ของชาติจนได้ กลายเป็นว่ายิ่งคลุมเครือยิ่งดี เพราะช่วยให้ผู้คนต่างความคิดต่างยุคสมัย สามารถสร้างนิยามใหม่ให้แก่ความเป็นชาติได้ ก่อให้เกิดพลวัต (Dynamirm) ของลัทธิชาตินิยมไทย
จินตภาพที่คลุมเครือและลื่นไหลไม่ใช่ความบกพร่อง แต่กลับเป็นภาวะปกติ ที่ทำให้ชาตินิยมไทย (และอื่นๆ) มีพลังต่อสมาชิกของชุมชนชาติที่แตกต่างหลากหลาย รวมถึงเกิดความหลงและคลั่งได้โดยไม่จำเป็นต้องคิดตรงกันแต่อย่างใด
ในเมื่อปัจจัยทุกอย่างที่ช่วยสร้างจินตภาพความเป็นไทยล้วนแต่คลุมเครือ กระบวนการทางสังคมที่ช่วยตอกย้ำว่า อะไรคือชาติ อะไรคือไทย จึงไม่ใช่การให้ความหมายตรงไปตรงมาว่า ความเป็นไทยคืออะไร แต่กลับเป็นการนิยามด้านกลับว่าอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง ไม่ใช่ความเป็นไทย
ลัทธิชาตินิยมดำรงอยู่ได้ด้วยนิยามด้านกลับ กล่าวคือ ในกระบวนการขัดแย้งกับความเป็นอื่นหรือศัตรูนี่เอง จะเกิดวาทกรรมที่ทำหน้าที่เสมือนขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติเรา-ชาติอื่น จินตภาพของความเป็นชาติจึงปรากฏชัดขึ้นมา ในระยะยาวเส้นแบ่งนี้เคลื่อนไปมาเสมอ จึงเกิดพลวัตและสร้างความหลากหลายแก่ลัทธิชาตินิยม
ดังนั้น ยิ่งมีการขัดแย้งตอบโต้กับความเป็นอื่น ลัทธิชาตินิยมจะยิ่งเข้มแข็ง
อันตรายของลัทธิชาตินิยมไทย
- ความเป็นอื่น
ความเป็นอื่นของลัทธิชาตินิยมไทยมีหลายประเภทและเปลี่ยนแปลงได้ ลัทธิชาตินิยมไทยถือว่ามี
"ศัตรู" คู่ปรับเก่าอยู่ทางตะวันตก มี "น้อง" จอมยุ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ
มีชาติที่ชอบก่อกวนไว้ใจไม่ได้อยู่ทางตะวันออก
ไทยมักคิดว่าตนเป็นประเทศเล็ก จึงต้องคบหาอย่างระแวงระวังกับมหาอำนาจ ซึ่งเราทั้งรักทั้งกลัว ทั้งชื่นชมและรังเกียจ ท่าทีของไทยต่อจีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จากยุคโบราณถึงปัจจุบันเป็นเช่นนี้ ความเป็นอื่นนำไปสู่นโยบายและท่าทีต่างๆ กันไปต่อชาติอื่นเหล่านั้น
ภายในดินแดนของชาติไทย ก็มีคนอื่นหรือพวกชนกลุ่มน้อยนานาชาติที่มักถือว่าไม่เป็นไทยเต็มตัว เช่น ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และภาษา ("ชาวเขา", ชาวมลายู ฯลฯ) ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา (มุสลิม ฯลฯ) และชนกลุ่มน้อยทางความคิด (พวกหัวรุนแรง พวกไม่รักชาติ ศาสน์กษัตริย์ เป็นต้น)
ลัทธิชาตินิยมไทยรับมรดกจากรัฐสยามแต่โบราณที่ถือตนเป็นใหญ่เหนือคนอื่นในภูมิภาค (ยกเว้นพม่า) กล่าวคือ ภายใต้รัฐราชาธิราช สยามเป็นเจ้าพ่อรายใหญ่ที่บังคับรัฐเล็กๆ เข้ามาสวามิภักดิ์ ในยุคที่สยามสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ จึงปราบปรามและผนวกรัฐเล็กๆ รอบข้างมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม จากนั้นมารัฐไทยยึดถือว่าเอกภาพคือความมั่นคงของชาติ
ดังนั้น ท่าทีของรัฐไทยต่อความเป็นอื่นภายในประเทศ จึงเน้นการกดขี่ข่มเหง และพยายามกลืนให้เป็น "ไทย" (ดังที่ทำกับคนลาวทางอีสาน คนเมืองทางเหนือ และคนจีนในเมืองต่างๆ ที่ไม่สำเร็จก็จะถูกจำกัดอยู่ในปริมณฑลของความเป็นอื่นอย่างหมดพิษสง รักษาความเป็นอื่นต่อไปได้ตราบเท่าที่ไม่ท้าทายความเป็นไทยของลัทธิชาตินิยม)
ลัทธิชาตินิยมของไทยมีลักษณะกดขี่ข่มเหงเป็นด้านหลักตลอดร้อยปีที่ผ่านมา เพราะมรดกของการถือตัวเป็นเจ้าใหญ่เหนือคนอื่นนี่เอง การเคารพต่อความแตกต่างเป็นด้านรองและมักมีอยู่ เพื่อรอเวลาให้ความเป็นอื่นจางลงหรือถูกขจัดหมดไป
จริงอยู่ ลัทธิชาตินิยมไทยเกิดขึ้นในภาวะลัทธิล่าอาณานิคมขยายตัว ชาตินิยมไทย จึงเน้นที่การตอบโต้การคุกคามข่มขี่ผู้มารุกราน แต่ในเมื่ออำนาจรัฐของสยามไม่เคยถูกล้มล้างโดยจักรวรรดินิยม ลัทธิครองความเป็นเจ้าถือตนเองเป็นใหญ่เหนือผู้อื่นรอบๆ บ้าน และผู้อื่นภายในบ้านของตนเอง จึงไม่เคยถูกท้าทายหรือลดทอนลงไป
สำนึกประวัติศาสตร์ของลัทธิชาตินิยมไทย เน้นแต่การต่อสู้เพื่อรอดพ้นจากลัทธิล่าเมืองขึ้นของชาวตะวันตก แต่กลับปิดบังมองข้ามการกดขี่ข่มเหงต่อคนกลุ่มน้อยต่างชาติ ศาสนา ต่างอารยธรรมภายในดินแดนของสยาม
ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมไทย ที่เชิดชูปรีชาสามารถของผู้นำที่พาชาติไทยรอดพ้นลัทธิอาณานิคม จึงเป็นประวัติศาสตร์ด้านเดียว ปิดบังราชาชาตินิยมที่สร้างชาติจากลัทธิครองความเป็นเจ้าเหนือรัฐอ่อนแอกว่า อาทิ เช่น ปัตตานี
ปัตตานีนอกประวัติศาสตร์ไทย
ประเด็นสำคัญพื้นฐานที่เราควรเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ปัตตานี มีดังนี้
1. ปัตตานีเป็นรัฐโบราณ มีอารยธรรมเก่าแก่กว่าสยามประมาณ 600-700 ปี
2. ปัตตานีเป็นเมืองท่าชายฝั่งขนาดกลาง เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางทะเลจากจีนสู่อาหรับตั้งแต่โบราณ แต่ไม่เคยเป็นเมืองท่าหรือรัฐที่มีอำนาจสูงครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางไปกว่าคาบสมุทรมลายูตอนกลาง ด้านตะวันออก (ชายแดนใต้สุดของไทยปัจจุบันกับรัฐเหนือสุดของมาเลเซียปัจจุบัน) ประวัติศาสตร์ของปัตตานี จึงผูกพันขึ้นลงกับความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมในคาบสมุทรมลายูมากกว่าผูกพันกับรัฐสยาม ปัตตานีกลายเป็นมุสลิมในช่วงเดียวกับที่รัฐในคาบสมุทรรับอิทธิพลของอิสลาม
3. แม้ปัตตานีจะถูกกำราบตกเป็นประเทศราชของสยามบางครั้งนับจากปลายศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา แต่ประเทศราชต่างจากอาณานิคมสมัยใหม่ตรงที่ ประเทศราชคือรัฐที่ยังคงมีอิสระ แต่ยอมรับอำนาจเหนือกว่าของรัฐอธิราช ประเทศราชมิใช่กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอธิราชอย่างที่เราเข้าใจกันผิดๆ โดยมาก ปัตตานีเพิ่งถูกปราบแล้วแบ่งแยกเป็นเสี่ยงๆ โดยกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 2 (ต้นศตวรรษที่ 19) นี้เอง และเพิ่งถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามในปี 1902 นี่เอง
กล่าวอย่างสั้น ปัตตานีเป็นรัฐอิสระแต่อำนาจปานกลางมาตลอดพันกว่าปี เพิ่งจะกลายเป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดของไทยเมื่อ 100 ปีหลังเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นเวลาสั้นมากๆ สำหรับการผนวกหรือผสมกลมกลืน และไม่น่าแปลกใจเลยที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ลัทธิชาตินิยมปัตตานีและความต้องการเป็นอิสระจากสยามจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ
ยิ่งกว่านั้น นับแต่สยามผนวกปัตตานีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่ ชาตินิยมไทยใช้อำนาจส่วนกลางและกองกำลังที่เหนือกว่ามาก ในการรักษาปัตตานีไว้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนไทย และใช้การบังคับข่มเหงจัดการกับวัฒนธรรมที่แตกต่างทั้งในเรื่องศาสนาและการศึกษา
ลัทธิชาตินิยมปัตตานีจึงต่างกับลัทธิชาตินิยมไทยตรงที่เป็นการต่อต้านการครอบงำ ทำนองเดียวกับลัทธิชาตินิยมของประเทศอาณานิคม ทำนองเดียวกับลัทธิชาตินิยมไทยเฉพาะด้านที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก
การต่อสู้ของผู้นำปัตตานี (หลายคนเป็นเชื้อสายราชาปัตตานีเก่า) จึงเทียบได้กับกษัตริย์และผู้นำสยามที่พาประเทศรอดพ้นเงื้อมมือตะวันตก เพียงแต่ผู้นำปัตตานีแพ้ไม่เคยหลุดพ้นจากเงื้อมมือสยาม
การเรียกผู้ที่ต่อสู้ต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของสยาม ว่า "โจร" หรืออาชญากร จึงเป็นการดูหมิ่นอย่างรุนแรง แม้กระทั่งคำว่า "แบ่งแยกดินแดน" ก็สะท้อนทัศนะของสยามในร้อยปีหลังนี่เองที่ถือว่าดินแดนปัตตานี (เก่า) เป็นของสยาม ในขณะที่นักชาตินิยมปัตตานีไม่เคยคิดว่าตนแบ่งแยกดินแดนใคร แต่เป็นการต่อสู้เพื่ออิสรภาพต่างหาก
นี่เป็นปัญหาโลกแตกที่ตกทอดมาจากระยะก่อตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ของหลายประเทศในโลกปัจจุบัน แต่คนไทยมักไม่เข้าใจในแง่นี้ กลับทึกทักเอาง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของผู้ร้ายที่นิยมความรุนแรง
ปัตตานีนอกประวัติศาสตร์ไทย
- ประวัติศาสตร์ไทยไม่มีปัตตานี
เครื่องมือสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์แบบกดขี่ข่มเหงคือ ความรู้ประวัติศาสตร์ไทย
ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของไทย นำเสนอแต่บุญบารมีปรีชาสามารถของกษัตริย์สยามตามทัศนะของเจ้ากรุงเทพฯ ชัยชนะและความสำเร็จตามทัศนะประวัติศาสตร์แบบนี้ รวมถึงความพ่ายแพ้และหายนะของรัฐอ่อนแอกว่ารอบชายแดนสยาม
การปราบปรามรัฐปัตตานี (เก่า) เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 เรียกว่าเป็นการเข้าไปช่วยรักษาความสงบอันเกิดจากความขัดแย้งภายในปัตตานี (เก่า) แต่การฉวยโอกาสเข้าไปแทรกแซงแล้วแบ่งแยกปัตตานี (เก่า) เป็นเสี่ยงๆ คือการทำลายอำนาจของรัฐปัตตานีอิสระอย่างถาวร
มีแต่เจ้ากรุงเทพฯ เท่านั้นที่เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการ "รักษาความสงบ"
การผนวกครึ่งหนึ่งของปัตตานี (เก่า) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และยกอีกครึ่งของปัตตานี (เก่า) ให้แก่อังกฤษไป ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไทยว่าเป็นความสำเร็จที่ช่วยรักษาเอกราชของสยามไว้ได้ แต่ประวัติศาสตร์ไทยกลับไม่เคยช่วยให้คนไทยฉุกคิดว่าหมายถึงการสิ้นสุดของรัฐปัตตานี เก่า
ประวัติศาสตร์ปัตตานีไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ความสัมพันธ์ในเหตุการณ์เดียวกันสื่อความหมายตรงข้ามสวนทางกันเสมอ
ดังนั้น แม้ในระยะที่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเฟื่องฟู (นับจากต้นพุทธทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา) เรากลับแทบไม่พบการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ปัตตานี นักประวัติศาสตร์เองเน้นย้ำว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องเน้นความสัมพันธ์กับส่วนกลาง มิใช่ท้องถิ่นโดดๆ ทั้งๆ ที่การศึกษาเช่นนั้นอาจบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเอง (autonomous history) ของบริเวณที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ และบริเวณที่มีประวัติศาสตร์สวนทางกับประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย
ปัตตานีมีอดีตยาวนานกว่าสยามเสียอีก แต่กลับหาที่ทางไม่เจอในความรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทย เพราะประวัติศาสตร์ปัตตานีจะเปิดเผยด้านอัปลักษณ์ของราชาชาตินิยมไทย
ลองคิดดูว่าถ้าชาติไทยไม่มีอดีต คนไทยไม่มีอดีต ไม่มีประวัติศาสตร์ แต่กลับรู้จักอดีตของคนที่มาเป็นเจ้าเข้าครอง เรียนแต่ประวัติศาสตร์ของคนที่มาเป็นเจ้าเข้าครอง จะรู้สึกอย่างไร? สมมติว่า สยามตกเป็นอาณานิคม คนไทยจึงเรียนแต่ประวัติศาสตร์ว่าอังกฤษหรือฝรั่งเศสมีบุญคุณต่อชาติไทยมหันต์ ปัจจุบันของชาติไทยผูกพันผันแปรไปตามประวัติศาสตร์ของลอนดอนและปารีส จะรู้สึกอย่างไร?
ไม่เพียงแต่ปิดบังมองข้ามประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติเท่านั้น ประวัติศาสตร์ยังอำพรางด้านลบหรืออัปลักษณ์ในอดีตด้วยการแปรการรุกรานข่มเหงผู้อื่นให้กลายเป็นความจำเป็นเพื่อรักษาเอกราช หรือกลายเป็นชัยชนะและความสำเร็จ
จิตสำนึกประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงเป็นเชื้อแก่การจัดการความแตกต่างด้วยการกดขี่ข่มเหงชนกลุ่มน้อย เพราะคนไทยภายใต้ลัทธิชาตินิยมไทย ย่อมถือว่าเป็นความจำเป็นเพื่อรักษาเอกราชความมั่นคงของรัฐชาติไทย การใช้ความรุนแรงปราบปรามความขัดแย้ง จึงถือเป็นชัยชนะที่ควรเฉลิมฉลอง
วัฒนธรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยเป็นวัฒนธรรมล้างสมอง (ในหลายแง่ไม่ต่างนักกับการล้างสมองในนิยายของจอร์จ ออร์เวล เรื่อง 1984) กล่าวคือ เลือกคัดตัดตอนบิดเบือนอำพรางอดีต สร้างความรู้ประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้ลัทธิชาตินิยมไทย แม้นักประวัติศาสตร์มากมายจะยังทำงานทุกวี่วัน ส่วนมากเป็นการเสริมแต่งรายละเอียดอันวิจิตรพิสดาร ทว่าไม่แตะต้องโครงเรื่อง คุณค่าหรืออุดมการณ์หลักของลัทธิชาตินิยมไทย
ยิ่งรู้ประวัติศาสตร์ชนิดนี้มาก ยิ่งเรียนมากแต่ไร้วิจารณญาณ ก็จะยิ่งถอนตัวไม่ขึ้น
วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของไทยไม่ส่งเสริมวิจารณญาณ แทนที่จะยิ่งเรียนยิ่งฉลาด กลับยิ่งเรียนยิ่งถูกจองจำด้วยพันธนาการของลัทธิชาตินิยมไทย แทนที่จะยิ่งเรียนยิ่งมีวิญญาณอิสระ
คนไทยไม่เคยถูกบ่มเพาะให้เผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยทัศนะหรือคุณค่าที่เหลื่อมซ้อน จนถึงตรงข้ามกัน คนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยการเสพจนติด ไม่ใช่ด้วยวิจารณญาณ
จะแก้ปัญหาต้องข้ามให้พ้นลัทธิชาตินิยมไทย
เราไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยกับลัทธิชาตินิยมปัตตานี และไม่ควรเห็นด้วยหรือเห็นใจปฏิบัติการรุนแรงใดๆ
ที่กระทำต่อชาวพุทธ ชาวบ้านอื่นๆ อันเกิดจากทัศนะที่เห็นชาวพุทธเป็นคนอื่น เป็นศัตรูของมุสลิมปัตตานีจนต้องข่มเหงรังแก
ทัศนะเช่นนั้นคับแคบไร้สติไร้วิจารณญาณพอๆ กับลัทธิชาตินิยมไทย และไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอย่างแน่นอน
แต่การแก้ปัญหาในระดับมหภาค จำเป็นต้องเริ่มที่ฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า ฝ่ายครอบงำกดขี่ข่มเหง ได้แก่รัฐไทย และชาตินิยมไทยทั้งหลาย นักชาตินิยมไทยไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมจึงเกิดความขัดแย้งเรื้อรังในชายแดนใต้สุด คนไทยทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ใจกว้างพอจะยอมรับประวัติศาสตร์อัปลักษณ์อีกบทของสยาม ไม่กล้ายอมรับว่าสยามกดขี่ข่มเหงคนอื่นตลอดร้อยปีที่ผ่านมา
คนไทยส่วนข้างมากไม่เคยคิดว่า ชาวมุสลิมในปัตตานี (เก่า) ต่อสู้ไปทำไม
ประเทศไทยเปลี่ยนไปมากในระยะ 100 กว่าปี กระแสการต่อสู้เพื่ออิสระของปัตตานี (ลัทธิแบ่งแยกดินแดน) ถดถอยพลังลงมากใน 20 ปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมปัตตานีก็เหมือนกับชาวไทยอื่นๆ ทุกแห่งซึ่งต้องการชีวิตสันติสงบสุข แต่เขาไม่ต้องการถูกข่มเหงรังแก และต้องการความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนและเคารพในศาสนาของเขา เคารพในอารยธรรมเก่าแก่ของ "บ้าน" ของเขา
แต่ลัทธิชาตินิยมไทยไม่มีวันเข้าใจ เพราะเป็นชาตินิยมที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมและเป็นชาตินิยมของรัฐเจ้าพ่อโบราณที่วางตัวเป็นใหญ่ จึงมองปัญหาด้วยสายตาของผู้เป็นเจ้าเข้าครองตลอดเวลา
สถานการณ์ชายแดนใต้สุด จึงอยู่ในภาวะที่ปัตตานีคงไม่แยกเป็นอิสระ แต่กลับยังคงแปลกแยก ถูกจับตาควบคุม ถูกรังเกียจโดยสื่อมวลชนและรัฐด้วยถ้อยคำที่ชี้ชัดว่าไม่เคยเข้าใจชนกลุ่มน้อย ดังนั้นทั้งตัวตนและบ้านของเขาจึงไม่เคยได้รับความเคารพจากคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย
ลัทธิชาตินิยมไทยเมื่อมีรัฐเผด็จการหนุนอยู่ ก็อาศัยกลไกรัฐในการกดขี่ข่มเหงความเป็นอื่น ครั้นเป็นประชาธิปไตย จึงเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เคารพไม่ให้พื้นที่แก่เสียงข้างน้อย แต่กลับอิงแอบกับเสียงข้างมากเพื่อกดขี่บังคับเสียงข้างน้อยและความเป็นอื่น ฉวยโอกาสและใช้หลักประชาธิปไตยในทางที่ผิด (abuse) เพื่อก่อความอยุติธรรมของเสียงข้างมาก ฉวยใช้ข้ออ่อนของประชาธิปไตยเป็นใบอนุญาตให้เสียงข้างมากข่มเหงเสียงข้างน้อยและชนกลุ่มน้อย ไม่ต่างกับรัฐเผด็จการในอดีต
ลัทธิชาตินิยมไทยภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยจึงน่ากลัวและอันตราย แต่กลับมีลักษณะหลอกลวงยิ่งกว่าเดิม
เราคงได้ยินบ่อยๆ ว่าอดีตที่เจ็บปวดเป็นปัญหาผ่านไปแล้ว ควรปล่อยให้เป็นอดีตไป อย่าไปอ้างเอามาก่อปัญหาในปัจจุบันอีก นี่เป็นสามัญสำนึกที่ฟังดูเข้าท่า แต่นักชาตินิยมไทยไม่เคยปล่อยให้การเสียกรุง 2 ครั้งออกไปให้พ้นสำนึกปัจจุบัน
เมื่อปี 2483 นักชาตินิยมไทยสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืน (แบ่งแยกดินแดน?) จากอินโดจีนของฝรั่งเศส หรือส่งกองทัพเข้ายึดครองเชียงตุง ทั้งๆ ที่การได้-เสียดินแดนเหล่านั้นเป็นอดีตไปแล้วทั้งนั้น ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมไทยปลูกฝังความเข้าใจผิด เลือกจดจำและอำพรางอดีต
ลัทธิชาตินิยมไทยเป็นอุดมการณ์ขี้ขลาดและใจแคบ ไม่กล้าเผชิญหน้าอดีตที่ชาติไทยก่อกรรมทำเข็ญไว้ เอาแต่หลงระเริงกับความสำเร็จรวมทั้งความสำเร็จที่เป็นหายนะของผู้อื่น เราควรปล่อยให้อดีตเป็นอดีตต่อเมื่อเรากล้าเผชิญหน้าอดีต สร้างความกระจ่างแก่คนปัจจุบันและรุ่นหลังให้เห็นทุกๆ ด้านของอดีต รวมทั้งอดีตอัปลักษณ์ของชาติไทยเอง
หากไม่ทำเช่นนี้ อดีตด้านเดียว อดีตที่เจ็บปวดคาราคาซังจะเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงตัวเอง คนไทยและความเป็นไทยจะจมปลักอยู่ในอวิชชากึ่งหลับกึ่งตื่นคล้ายเสพยากล่อมประสาท หากพอใจจะรู้เฉพาะประวัติศาสตร์แบบหลอกลวงตัวเอง ลัทธิชาตินิยมไทยจะคงโหดร้ายไม่ยกระดับพัฒนาพอที่จะโอบอุ้มความแตกต่างหรือสร้างสมานฉันท์ภายในชาติสมัยใหม่ คนไทยที่เติบโตมากับยากล่อมประสาทที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ไทยจะคงตื้นเขินเบาปัญญา ใจแคบ ขี้ขลาด หลงตัวเอง และโหดร้าย
ประเทศไทยจะยังคงเป็นรัฐประชาชาติที่ขาดวุฒิภาวะ เพราะอาศัยคนส่วนใหญ่กดขี่ข่มเหงปิดปากคนส่วนน้อย แทนที่จะรู้จักความปรองดองสมานฉันท์
ลัทธิชาตินิยมไทยก่อให้เกิดความสูญเสียมาเท่าไรแล้ว? ความตึงเครียดขัดแย้งในแถบชายแดนใต้สุดของประเทศไทย อาจไม่มีทางแก้ไขอย่างถึงที่สุด หากสังคมไทยไม่ก้าวข้ามพ้นชาตินิยมไทยที่เป็นอยู่ ภายใต้ลัทธิชาตินิยมไทยแบบนี้ คนไทยทุกคนมีโอกาสพอๆ กับที่จะเผลอนิดเดียวกลายเป็นอาชญากรหน้ามืดขึ้นมาใช้ความรุนแรงกับความเป็นอื่น
ธงชัย วินิจจะกุล : ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา อดีตเป็นผู้นำนักศึกษาและถูกจับกุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 จบปริญญาโทและเอกทางประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช แห่งออสเตรเลีย โดยทำวิทยานิพนธ์ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงวิชาการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
ภายในดินแดนของชาติไทย ก็มีคนอื่นหรือพวกชนกลุ่มน้อยนานาชาติที่มักถือว่าไม่เป็นไทยเต็มตัว เช่น ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และภาษา ("ชาวเขา", ชาวมลายู ฯลฯ) ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา (มุสลิม ฯลฯ) และชนกลุ่มน้อยทางความคิด (พวกหัวรุนแรง พวกไม่รักชาติ ศาสน์กษัตริย์ เป็นต้น) ลัทธิชาตินิยมไทยรับมรดกจากรัฐสยามแต่โบราณที่ถือตนเป็นใหญ่เหนือคนอื่นในภูมิภาค (ยกเว้นพม่า)
ปัตตานีมีอดีตยาวนานกว่าสยามเสียอีก แต่กลับหาที่ทางไม่เจอในความรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทย เพราะประวัติศาสตร์ปัตตานีจะเปิดเผยด้านอัปลักษณ์ของราชาชาตินิยมไทย ลองคิดดูว่าถ้าชาติไทยไม่มีอดีต คนไทยไม่มีอดีต ไม่มีประวัติศาสตร์ แต่กลับรู้จักอดีตของคนที่มาเป็นเจ้าเข้าครอง เรียนแต่ประวัติศาสตร์ของคนที่มาเป็นเจ้าเข้าครอง จะรู้สึกอย่างไร? สมมติว่า สยามตกเป็นอาณานิคม คนไทยจึงเรียนแต่ประวัติศาสตร์ว่าอังกฤษหรือฝรั่งเศสมีบุญคุณต่อชาติไทยมหันต์
ความเป็นไทย (หรือชาติใดๆ
ก็ตาม) เป็นจินตภาพที่นิยามไม่ได้ กลับคลุมเครือลื่นไหลไปมาตลอดเวลา ชาตินิยมไทย
(และชาติอื่นส่วนข้างมากในโลก) คือ เอาดินแดนเป็นมูลฐานที่สมาชิกยึดมั่นร่วมกัน
จากนั้นชาตินิยมไทยยังสร้างองค์ประกอบชนิดอื่นๆ มาช่วยนิยามความเป็นไทยอีก ที่สำคัญ
ได้แก่ ภาษา ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ศาสนา (พุทธ) และชาติพันธุ์ (ไทย)
เป็นต้น
องค์ประกอบทุกประการที่กล่าวมาดูเหมือนว่าง่ายๆ ชัดเจนดี แต่แท้ที่จริงกลับคลุมเครือลื่นไหลมาตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดลัทธิชาตินิยมไทยขึ้นมา
ดินแดนของประเทศไทยปัจจุบัน หลายแห่งไม่ใช่ของสยามมาก่อน แต่ยึดเอาของคนอื่นเขามา
หรือเป็นดินแดนที่หลายฝ่ายอ้างซ้อนทับกัน
ภาษาไทยกลางเพิ่งจะกลายเป็นมาตรฐานและกลายเป็นของ
"กลาง" สำหรับทั้งชาติมาไม่เกิน 100 ปี ผู้คนจำนวนมากในดินแดนของไทยไม่ใช้ภาษาไทย
กลาง
ศาสนาพุทธไม่ใช่เกณฑ์วัดความเป็นไทยที่ดีนัก เพราะชาวไทยไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ
ชาติพันธุ์เป็นองค์ประกอบที่ลื่นไหลที่สุด เพราะไม่มีชาติพันธุ์ใดในโลกที่บริสุทธิ์นับแต่มนุษย์อพยพไปมา
คน "ไทย" เป็นตัวอย่างหนึ่งของพันธุ์ผสมหรือพันธุ์ทาง ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษหลายสายมากมาย