บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 490 หัวเรื่อง
การเมืองร่วมสมัยอินโดนีเซีย
ทวีศักดิ์ เผือกสม
ภาควิชาภูมิภาคศึกษา
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การเมืองอินโดนีเซียร่วมสมัย
ศาสนา
สิ่งจำเป็นสำหรับการเมืองอินโดนีเซีย
Merle
C. Ricklefs
ทวีศักดิ์ เผือกสม
: เรียบเรียง
ภาควิชาภูมิภาคศึกษา
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทความเรื่อง
"Religion a necessity in Indonesian politics"
ในหนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2004
ซึ่งดัดแปลงมาจากคำบรรยายของศาสตราจารย์ริคเล็ฟส์
ณ พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (Asian Civilization Museum)
เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา
บทความนี้มาจากกระดานข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หัวข้อลำดับที่ 4018
http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=4018&page=2
จากข้อความที่ 17 - 33
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
7 หน้ากระดาษ A4)
บทนำ
ปีนี้นับเป็นปีที่ครบรอบสองร้อยปีของเรื่องที่เราอาจจะไม่ทันได้สังเกต หรือมีการเฉลิมฉลองกันในที่อื่นๆ
และแน่นอนว่าไม่ใช่ในอินโดนีเซียเอง นั่นก็คือ การครบรอบสองร้อยปีของความพยายามที่จะปฏิรูปสังคมอินโดนีเซีย
ให้เป็นสังคมที่มีความเป็นอิสลามมากยิ่งขึ้น โดยใช้ความรุนแรงและการนองเลือด
ใน ค.ศ.1804 นักแสวงบุญมุสลิมชาวอินโดนีเซียสามคน ได้เดินทางกลับมาจากเมกกะมาถึงมินังกาเบาในทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา โดยในต้นปี ค.ศ.1803 พวกเขาได้มีโอกาสประสบกับชัยชนะเหนือเมกกะของกลุ่มวาห์ฮะบี (Wahhabi) อันเป็นนิกายอิสลาม ซึ่งต้องการสังคายนาศาสนาอิสลามให้บริสุทธิ์ ซึ่งในอีกร้อยปีต่อมาก็ได้กลับมาพิชิตเมกกะได้อีกครั้งหนึ่ง และได้สถาปนาซาอุดิอาระเบียขึ้นมา เมื่อเดินทางกลับมายังมินังกาเบา พวกเขาก็ได้รับแรงบันดาลใจให้ใช้ความรุนแรง เพื่อปฏิรูปสังคมที่บ้านเกิดของตนเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงพากันเข้าร่วมกับขบวนการปฏิรูปศาสนา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1780
นักปฏิรูปเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่าพวก "ปาดรี" (padri) นั้น ในที่สุดก็เป็นฝ่ายที่เป็นต่อ และตามความเป็นจริงแล้วนั้น ใน ค.ศ.1815 พวกเขาได้สังหารสมาชิกส่วนใหญ่ในราชวงศ์ของมินังกาเบาไปเกือบหมดแล้ว แต่ในขณะที่พวกเขาอยู่ตรงชายฝั่งของชัยชนะนั้นเอง กองกำลังอาณานิคมของดัชต์ก็ได้เข้ามาแทรกแซง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามปาดรี (Padir War) ในช่วง ค.ศ.1821-38
ท้ายที่สุด ดัชต์มีชัยชนะในสงคราม แต่สังคมมินังกาเบาก็ได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นสังคมที่มีอัตลักษณ์ของมุสลิมที่แข็งแกร่ง พร้อมกับมีพันธสัญญาที่มั่นคงต่อการเป็นอิสลามแบบเคร่งคัมภีร์ และยังคงเป็นดั่งว่านี้เรื่อยมา นอกเหนือจากเรื่องระบบการสืบมรดกทางฝ่ายมารดาที่ยังคงหลงเหลืออยู่
ผ่านไปอย่างรวดเร็วยังทศวรรษ 1880 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลัทธิมาห์ดี (Mahdi - the Islam messiah) ทำนองเดียวกับลัทธิพระศรีอาริย์ได้มีอิทธิพลอย่างกว้างขว้างในโลกของอิสลาม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเปลี่ยนผ่านศตวรรษ ตามการนับปีแบบอิสลามที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากปฏิทินปีที่ 1300 ของมุสลิมจะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1882
พัฒนาการสำคัญ
ชาวมุสลิมจำนวนมากคาดหวังถึงการกลับคืนมาใหม่ของความศรัทธา หรืออันที่จริงแล้วก็คือการกลับมาของผู้ช่วยให้รอดหรือผู้ไถ่บาปที่จะมาพร้อมกับศตวรรษใหม่
ในบรรยากาศของการสิ้นศตวรรษนี้เอง พัฒนาการที่สำคัญสองประการได้กลายเป็นที่สนใจของผู้ปกครองอาณานิคมดัชต์ในอินโดนีเซีย
ประการแรก คือ แผนการณ์ต่อต้านชาวคริสต์ในกรุงเมกกะ ใน ค.ศ.1881 ซึ่งนำโดย ชารีฟแห่งเมกกะ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการต่อต้านศาสนาคริสต์ ที่ชื่อว่า อับดุล มุททาลิบ (Abd al-Muttalib, มรณะใน ค.ศ.1886) อันเป็นแผนการณ์ที่เชื่อกันว่ามีชาวชวาเข้าร่วมอยู่ด้วย
ประการที่สอง คือ ขบวนการมาห์ดีในซูดาน โดยใน ค.ศ.1881 มูฮัมหมัด อาห์หมัด บิน อับดุลลาห์ (Muhammad Ahmad bin Abd Al-lah) ประกาศว่าตนเองเป็น "มาห์ดี" หรือประกาศกของอิสลามในซูดาน และใน ค.ศ.1883 เขาได้มีชัยเหนือกองทัพอียิปต์ ก่อนจะสิ้นชีพลงใน ค.ศ.1885 แต่ขบวนการเคลื่อนไหวของเขายังดำเนินต่อไปจนกระทั่ง "Kitchener" สามารถพิชิตกองทัพของเขาลงได้ ณ ออมดุรมาน (Omdurman) ใน ค.ศ.1898 ซึ่งทำให้ขบวนการมาห์ดีถูกปราบลงได้ในที่สุด
เราลองไปดูบันทึกเรื่องเกี่ยวกับการทำจิฮาดจากโรงเรียนปอเนาะห์ (pesantren) แห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย: "ขณะที่กลุ่มมุสลิมสายเคร่งคัมภีร์ (santri) ผู้อาวุโสได้กล่าวถึงเกี่ยวกับเรื่องจิฮาด นักเรียนรุ่นเยาว์ผู้หนึ่งได้ตั้งคำถามเพื่อความกระจ่างแจ้งว่า จิฮาดนั้นต้องทำอย่างไร เขาได้รับคำตอบว่า
เขาจะต้องแต่งกายชุดขาว และจากนั้น ซึ่งถ้าให้ดีควรเป็นวันศุกร์ภายหลังจากการทำละหมาด "subuh" ตอนหัวรุ่งแล้ว เขาก็จะต้องหาอาวุธที่ดีๆ แล้วเข้าไปในเมือง เมื่อไปถึงที่นั่นแล้วก็ให้สังหารชาวยุโรปคนแรกที่เขาเห็น แล้วตะโกนว่า "Sabil Allah" จากนั้นเขาก็ต้องคุกเข่าลงในท่าของการทำละหมาด พร่ำบ่นคำว่า "Sabil Allah" จนกระทั่งเขาถูกยิงตายไป แล้วเมื่อนั้นเขาก็จะได้ไปยังสถานที่ซึ่งงดงามมากที่สุดบนสรวงสวรรค์"
ช่วงเวลาของเหตุการณ์ดังกล่าวนะหรือ? มันเกิดขึ้นในทศวรรษ 1880 และคนที่บันทึกเรื่องดังกล่าวนี้ก็คือชาวอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง คือ อาห์หมัด จอยอดินนิงรัต (Ahmad Djajadiningrat) ซึ่งได้บันทึกไว้ใน ค.ศ.1908
จากเรื่องดังกล่าวข้างต้นนั้น
เราคงจะมองเห็นได้ถึงความสืบเนื่องต่างๆ
ในยี่สิบปีที่ผ่านมา ได้เกิดการวางระเบิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกือบจะทั้งหมดเกี่ยวข้องกับพวกอิสลามหัวรุนแรง
ครั้งหนึ่งได้มีแผนการณ์วางระเบิดในวันคริสตมาสอีฟ ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ.2000
ซึ่งระเบิดจำนวน 38 ลูกได้ถูกนำไปวางไว้ตามโบสถ์ต่างๆ และตามบ้านของพระบาทหลวงในเมืองต่างๆ
11 เมืองทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยเวลาที่กำหนดให้ระเบิดคือช่วงหนึ่งชั่วโมงครึ่งต่อจากการระเบิดครั้งหนึ่งๆ
แม้แผนการณ์ดังกล่าวค่อนข้างจะเป็นความล้มเหลว แต่แรงระเบิดก็มากพอที่จะคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวน
19 คน และทำให้บาดเจ็บอีกมากกว่าร้อย
แผนการณ์วางระเบิดในวันคริสต์มาส ค.ศ.2000 ตามมาด้วยการวางระเบิดอีกหลายๆ ครั้งด้วยกัน และเรื่องก็มาลงเอยที่หนึ่งในปฏิบัติการการก่อการร้ายที่รุนแรงมากที่สุด ในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียสมัยใหม่ คือการระเบิดในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2002 ที่บาหลี
เมื่อวันที่ 9 กันยายนของปีนี้ ก็มีการระเบิดพลีชีพอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป้าหมายอยู่ที่สถานทูตออสเตเลียในกรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นการระเบิดครั้งใหญ่กว่าคราวของโรงแรมมาริออต และคร่าชีวิตคนไป 9 ชีวิตด้วยกัน (รวมทั้งตัวผู้วางระเบิดเองด้วย) และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกราว 180 คน
สัญญาเพื่อยุคที่ดีกว่า
แต่นอกจากสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้ว อินโดนีเซียยังคงเป็นดังเครื่องหมายสัญญาณของยุคที่ดีกว่าเดิม
คือ ยุคที่ดีกว่าสำหรับพลเมืองอินโดนีเซีย ยุคที่ดีกว่าสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน
บางทีก็อาจจะเป็นแม้กระทั่งยุคที่ดีกว่าสำหรับโลกอิสลามโดยทั่วไป เพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น
เราลองมาเข้าไปใกล้ชิดกับสิ่งที่เป็นรากหญ้าของชีวิตในสังคมอินโดนีเซียดู
เพื่อจะได้เข้าใจถึงความมีพลวัตในสังคม
ในเมืองสุรการ์ตาหรือโซโลในชวากลางนั้น มีหมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีประชากรของกรรมกรรับจ้างรายวันยากจนในราวหกร้อยครอบครัว ซึ่งเป็นพวกมุสลิมแบบ "เกอจาเวน อาบังงัน" (kejawen abangan คือกลุ่มชาวมุสลิมแต่เพียงในนาม ที่ไม่ค่อยเคร่งในศาสนานัก)
ในต้น ค.ศ.2000 มีครอบครัวมุสลิมในสายหัวรุนแรงจำนวนห้าถึงหกครัวเรือน ย้ายเข้าไปในหมู่บ้านแห่งนี้ พวกเขาเป็นสาวกของแนวร่วมพิทักษ์อิสลามแห่งโซโล (Islamic Defenders' Front of Solo) และเข้ายึดครองมัสยิดและปฏิเสธไม่ให้คนอื่นที่ไม่เคร่งเข้าไปใช้มัสยิด พวกเขาปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนร่วมกับคนอื่น และปฏิเสธที่จะให้เพื่อนบ้านที่ไม่เคร่งศาสนาคนอื่นๆ เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของพวกตน
ในปลายค.ศ.2000 มีการใช้ความรุนแรงตามท้องถนนในเมืองสุรการตา โดยแนวร่วมพิทักษ์อิสลามแห่งโซโลและกองกำลังอาสาสมัครหัวรุนแรง (laskar) ได้เข้าโจมตีสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "tempat maksiat" หรือสถานที่แห่งความเสื่อมทางศีลธรรม คือ บาร์ ดิสโกเธค และซ่องโสเภณี การปฏิบัติการดังกล่าวนั้นได้รับการต่อต้านจากมุสลิมแบบ "เกอจาเวน อาบังงัน" ซึ่งได้เคลื่อนไหวตามหมู่บ้านต่างๆ และค่อยเล่นงานพวกกองกำลังอาสาสมัครตามท้องถนน พวกมุสลิมสายไม่เคร่งเหล่านี้ เคยแม้แต่กระทั่งบุกเข้าโจมตีโรงเรียนปอเนาะห์ของอบู บาการ บาชิร (Abu Bakar Bashir) ในแขวง "งรูกี" (Ngruki)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจภายหลังจากการเกิดความรุนแรงดังกล่าวก็คือ เมื่อตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองได้เข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อขอให้ชี้ตัวบุคคลเหล่านี้ เพื่อนบ้านมุสลิมแบบ "เกอจาเวน อาบังงัน" ของพวกเขาปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ และไม่ให้ข้อมูลใดๆ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องของการรักษาไว้ซึ่งความมีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน ถึงแม้ว่าความเป็นเอกภาพนั้นมักจะถูกทำลายโดยกลุ่มพวกหัวรุนแรง
ดังนั้น เราจึงเห็นได้ถึงความขัดแย้ง ความรุนแรง และการเป็นปรปักษ์ทางสังคมในระดับรากหญ้า แต่เราก็เห็นได้ถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการรักษาเอกภาพและความอีหลักอีเหลื่อใจต่อการเข้ามาแทรกแซงของภายนอก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในระดับล่างนั้นสิ่งต่างๆ มีความซับซ้อนมากกว่าที่มันดูเหมือนว่าจะเป็นในตอนแรก
กลุ่มอิสลามแบบเคร่งคัมภีร์ (fundamentalist) ได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอินโดนีเซียในช่วงหลังการเกิดวิกฤตการณ์ ค.ศ.1997 แต่ขณะที่ประชาชนค้นหาสิ่งที่จะมาเยียวยาความทุกข์ระทมของตน องค์กรทางอิสลามระดับชาติ 2 องค์กรหลัก คือขบวนการฟื้นฟูนักปราชญ์อิสลาม (Nahdlatul Ulama หรือ NU) และขบวนการมูฮัมหมัดดิยะห์ (Muhammadiyah) ในขณะนั้น ต่างก็แตกเป็นฝักเป็นฝ่ายด้วยการมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในระดับบุคคล องค์กร หรือความคิดหลักการ และไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดีนักในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น หรือกับลัทธิเคร่งคัมภีร์ (fandamentalism)
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001ก็เดินทางมาถึง กลุ่มอัลเคดาได้โจมตีกรุงวอชิงตันและนิวยอร์ค ผลที่ตามมาคือพวกอิสลามหัวรุนแรงได้ออกมาตามท้องถนนในอินโดนีเซีย กล่าวประนามสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร พวกเขาได้ประนามการโจมตีอัฟกานิสถานที่เกิดขึ้นต่อมา และได้รวบรวมอาสาสมัครนักรบศักดิ์สิทธิ์ (mujahideen) เพื่อเดินทางไปรบในอัฟกานิสถาน
คนเหล่านี้บางคนมีความเกี่ยวข้องกับพวกทาเลบัน, อัลเคดา, เครือข่ายพวกหัวรุนแรงในปากีสถาน, พวกมุสลิมแบ่งแยกดินแดนในทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในมาเลเซีย
พัฒนาการเหล่านี้ได้ปลุกกระตุ้นให้ขบวนการฟื้นฟูนักปราชญ์อิสลาม (NU) และขบวนการมูฮัมหมัดดิยะห์ ตระหนักได้ว่าพวกเขาจะต้องเคลื่อนไหว เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของพวกเขา และความเข้าใจต่อความเชื่อศรัทธาของพวกเขา ซึ่งก็ถูกคุกคามโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงด้วยเช่นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงกลบฝังความเป็นอริระหว่างกันไว้ แล้วหันมายืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันในการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง และเพิ่มความพยายามมากยิ่งขึ้นในการชักจูงให้ผู้คนเห็นว่าอิสลามแบบสุดโต่งนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
การระเบิดที่บาหลีส่งผลไปไกลกว่านั้น คือทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของฝ่ายอยู่ในระดับกลางๆ เนื่องจากเริ่มตระหนักและขวัญเสียอย่างหนักว่า กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงนั้นไม่ไว้หน้าผู้ใด และอันที่จริงแล้วยังคุกคามผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง กลุ่มมุสลิมชนชั้นกลางที่เคยเห็นอกเห็นใจกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเหล่านี้ บัดนี้ก็เริ่มที่จะทอดทิ้งพวกเขาไป
กองทัพก็เริ่มถอนการสนับสนุนออกมา กล่าวคือ ขณะที่เคยใช้กลุ่ม "ลาสการ จิฮาด" (Laskar Jihad) ในอัมบนและปาปัว เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวคริสต์ ถึงตอนนี้กองทัพก็ตัดเงินสนับสนุน และแม้กระทั่งการสลายกลุ่มพวกลาสการ จิฮาดไป ในปีที่แล้วนั้น อันนี้เห็นได้ชัดเจนว่าขบวนการกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงนั้นไม่มีช่องทางที่จะได้ชัยชนะทางการเมืองในอินโดนีเซียเลย สถาบันต่างๆ ของรัฐ คือ ตำรวจ ทหาร และหน่วยข่าวกรอง ต่างก็ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านพวกเขา ผลประโยชน์จากชนชั้นกลางถูกตัดเนื่องจากการใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจ ส่วนคนอินโดนีเซียธรรมดาทั่วไปก็พากันต่อต้านพวกเขา
ผู้สังเกตการณ์บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2004 เล่าเป็นอย่างไร? ไม่มีสัญญาณของการขึ้นมาของกลุ่มศาสนา ซึ่งรวมถึงกลุ่มอิสลามแบบหัวรุนแรงในการเมืองอินโดนีเซียบ้างหรือ?
การต่อสู้คอรัปชั่น
พัฒนาการหลักๆ ของการเลือกตั้ง ค.ศ.2004 ก็คือการเกิดขึ้นของพรรคยุติธรรมสมบูรณ์
หรือพรรค Partai Keadilan Sejahtera (PKS) ในฐานะที่เป็นพรรคที่กำลังมีบทบาทที่สำคัญ
พรรค PKS ถือเป็นพรรคอิสลามแบบเคร่งคัมภีร์ขนานแท้ นำโดยนายฮิดายัต นูร วาฮิด
(Hidayat Nur Wahid) ซึ่งได้รับปริญญาตรี โท เอก จากมหาวิทยาลัยอิสลามในเมืองเมดินา
ประเทศซาอุดิอาระเบีย
พรรค PKS ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 7.3 ในระดับชาติ และเป็นพรรคที่ได้รับชัยชนะมากที่สุดในจาการ์ตาซึ่งเป็นจำนวนประมาณหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง พรรค PKS ต้องการให้มีการใช้กฎหมายอิสลาม (Shariah) ขึ้นในอินโดนีเซีย เมื่อถูกถามครั้งหนึ่งว่า จะหมายความถึงการตัดมือพวกหัวขโมยเพื่อเป็นการลงโทษด้วยหรือไม่ นายฮิดายัต นูรตอบว่า "ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวในการใช้กฎหมายอิสลาม ความกลัวว่าจะถูกตัดมือ คือการโจมตีอย่างตั้งใจโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่กลัวว่าจะมีการการใช้กฎหมายเช่นนั้น"
คำแปลอย่างหยาบๆ ของคำตอบข้างบนนี้ก็คือว่า ใช่ เราจะตัดมือ แต่ก็เพียงแค่หัวขโมยเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องวิตกเกี่ยวกับมัน ซึ่งแน่นอนว่า รวมถึงพวกข้าราชการจำนวนมากด้วยเช่นกัน
แต่ในการรณรงค์หาเสียง ค.ศ. 2004 พรรค PKS ได้ผลักกฎหมายอิสลามไว้เบื้องหลัง ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นประเด็นที่มองไม่เห็นเลยด้วยซ้ำ กลับเป็นว่า พรรค PKS ได้รณรงค์ใช้เวทีหาเสียงในเรื่องของการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง การส่งเสริมความยุติธรรม และสร้างรัฐบาลที่ดีและมือสะอาด ชาวอินโดนีเซียหลายคนที่เคารพและชื่นชมภาพลักษณ์ของพรรค PKS ในเรื่องของความมีเอกภาพและคำมั่นสัญญาของพรรคอย่างแท้จริง จึงพากันลงคะแนนเสียงให้กับพรรค PKS อย่างล้นหลาม
ผลคะแนนของ PKS หมายความว่า มีแรงผลักดันให้ไปสู่การเมืองแบบอิสลามแบบเคร่งคัมภีร์สุดโต่งเลย กระนั้นหรือ? ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่ แต่กลับตีความปรากฏการณ์นี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความหวังของชาวอินโดนีเซียในเรื่องการกำจัดการคอรัปชั่น และความหวังให้มีประสิทธิภาพ และคุณธรรมจรรยามากยิ่งขึ้นในรัฐบาลและการเมืองการปกครอง
ในหลายๆ แห่ง ซึ่งที่เห็นได้ชัดกว่าที่อื่นๆ คือในจาการ์ตา การลงคะแนนเสียงให้พรรค PKS เป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อต่อต้านพรรคและผู้นำหน้าเก่าๆ และเป็นการลงคะแนนเสียงเพื่อต่อต้านและการค้นหาคนหน้าใหม่ ซึ่งก็เป็นเหตุผลอย่างเดียวกันกับที่ทำให้นายสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย
ในการแสวงหาคำตัดสินที่เป็นธรรม เราควรต้องตระหนักถึงพื้นฐานทั่วไปด้วยว่า การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในอินโดนีเซียนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เป็นการต่อสู้ในหลายๆ ระดับทั่วทั้งประเทศซึ่งเป็นหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งอยู่ในบริบทของกระบวนการประชาธิปไตยที่ยังดำเนินอยู่ต่อไป และรวมถึงขบวนการทำให้เป็นอิสลามของสังคมซึ่งยังไม่จบสิ้นลง
ในสังคมเช่นอินโดนีเซีย ซึ่งมีการปกครองโดยกฎหมายที่อ่อนแอ มีการก่ออาชญากรรมอย่างกว้างขวาง มีประสิทธิภาพของการบริหารปกครองค่อนข้างต่ำ การคอรัปชั่นแพร่ระบาดโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง และมีการปรากฏอยู่อย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงนั้น อิสลาม(และการเพิ่มคุณธรรมทางศาสนาให้เข้มข้นยิ่งขึ้น) จึงอาจจะเป็น "กาวทางสังคม" ที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ มีความสงบสันติพอที่จะควบคุมปกครองกันได้ และบางทีอาจจะทำให้มีศีลธรรมมากขึ้น มีความซื่อสัตย์มากขึ้น และมีความยุติธรรมมากขึ้นด้วย
แม้จะยังมีปากเสียงที่สำคัญของกลุ่มไร้เหตุผลและไร้ขันติธรรมในอินโดนีเซีย แต่พลังของอิสลามที่มีขันติธรรม มีทัศนะแบบเสรีนิยม และมีลักษณะพหุนิยม ก็ยังดำรงความเป็นสถาบันได้อย่างเข้มแข็ง มีการนำที่ดี เป็นแหล่งความคิดที่ก้าวหน้ามากที่สุดในโลกอิสลาม สามารถที่จะปฏิบัติการได้โดยเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางมากที่สุดในกลุ่มมวลชน และยังได้รับความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเนื่องจากการใช้ความรุนแรงของกลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งได้ผลักไสให้มวลชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชนชั้นกลางถอยห่างออกมาจากทัศนะของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
ดังนั้นบางที อินโดนีเซียจึงอาจจะเป็นความหวังของโลกอิสลาม บางทีเราควรจะรู้สึกสำนึกต่อบุญคุณของลักษณะเฉพาะตัวของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและการเมืองในอินโดนีเซีย
บทสรุป
สุดท้าย แม้ว่าจะมีการนำสัญญะทางศาสนาอิสลามมาใช้อย่างชัดเจนในอินโดนีเซียแล้ว
แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า ศาสนากลับมีบทบาทในการชี้ขาดผลลัพธ์ทางการเมืองของอินโดนีเซียน้อยเสียยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ถ้าท่านเห็นด้วยกับความเห็นเช่นนี้แล้วละก็ บางทีท่านจะรู้สึกมีความเชื่อมั่นไว้ใจประเทศอินโดนีเซีย
แต่จะกลับเป็นห่วงกังวลกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายถึงการเป็นห่วงกังวลใจกับโลกของเรานั่นเอง
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เขาจะต้องแต่งกายชุดขาว และจากนั้น ซึ่งถ้าให้ดีควรเป็นวันศุกร์ภายหลังจากการทำละหมาด "subuh" ตอนหัวรุ่งแล้ว เขาก็จะต้องหาอาวุธที่ดีๆ แล้วเข้าไปในเมือง เมื่อไปถึงที่นั่นแล้วก็ให้สังหารชาวยุโรปคนแรกที่เขาเห็น แล้วตะโกนว่า "Sabil Allah" จากนั้นเขาก็ต้องคุกเข่าลงในท่าของการทำละหมาด พร่ำบ่นคำว่า "Sabil Allah" จนกระทั่งเขาถูกยิงตายไป แล้วเมื่อนั้นเขาก็จะได้ไปยังสถานที่ซึ่งงดงามมากที่สุด
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 480 เรื่อง หนากว่า 5500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์