ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
201147
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 475 หัวเรื่อง
กรณีความรุนแรงที่ตากใบ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระ (นศ. ป.เอก)
มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา
The Midnight University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความแสดงทัศนะ
ความเกลียดชังทางโครงสร้างที่อันตราย
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระ : กำลังศึกษาในระดับ ป.เอก ที่ มหาวิทยาลัยฮาวาย

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 475
หมายเหตุ : เว็ปเพจหน้านี้ เป็นการรวบรวมบทความของศิโรตม์ ๒ ชิ้นคือ
๑. ความเกลียดชังทางโครงสร้างที่อันตราย และ
๒. ความเงียบเอ่ยเอื้นความตาย

ซึ่งเป็นงานเขียนแสดงทัศนะเกี่ยวกับกรณีความรุนแรงที่ตากใบทั้ง ๒ เรื่อง

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)


เรื่องที่ ๑ ความเกลียดชังทางโครงสร้างที่อันตราย
ใครที่มีโอกาสสำรวจความเห็นของบุคคลนิรนามตามเว็บไซด์ต่างๆ คงจะสังเกตเห็นว่าความเกลียดชังที่คนไทยมีต่อคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนา ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังปรากฎว่าได้เกิดการโจมตีเหยียดหยามหลักคำสอน, ศาสดา, ศาสนา และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนบางกลุ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

น่าสนใจว่าการโจมตีเหล่านี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว หากแม้แต่คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการของความเป็นคนไทย ก็ยังมีโอกาสจะตกเป็นเหยื่อของการโจมตีเหล่านี้ได้ด้วย ถ้าได้แสดงความเห็นท้วงติงความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติและศาสนาเอาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน

อ.จอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในวุฒิสมาชิกอิสระที่มีบทบาทน่ายกย่องที่สุดในรัฐสภาชุดปัจจุบัน ให้ความเห็นเอาไว้สั้นๆ ทว่ากินใจความว่า "ไม่มีรัฐบาลไหนสร้างการแบ่งแยกในหมู่คนไทยได้เท่ารัฐบาลนี้" แต่ก็ไม่มีที่ไหนในโลกอีกเช่นกันที่ลำพังรัฐบาลจะมีสมรรถภาพมากพอจะทำให้เกิดสถานการณ์อันอาจนำไปสู่ "สงครามระหว่างชาติพันธุ์"

ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมในวุฒิสภาเห็นว่า รัฐบาลคือสาเหตุของความเกลียดชังเหล่านี้ ฝ่ายทหารและหน่วยข่าวกรองกลับเห็นว่าการแบ่งแยกในชาตินั้น เกิดจาก "จอมบงการ" ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ไม่สงบรายวัน จึงนำไปสู่ปฏิบัติการไล่ล่าจอมบงการโดยวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดโปง "จอมบงการ" แม้แต่ครั้งเดียว

น่าสังเกตว่าผู้ถูกสงสัยว่าคือ "จอมบงการ " ล้วนเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่นับถือของคนเชื้อสายมลายูมุสลิม จนกล่าวได้ว่าผู้นำทางการเมืองและศีลธรรมของคนมลายูมุสลิมล้วนเผชิญประสบการณ์กล่าวหา, จับกุม, อุ้มฆ่า, ประทุษร้าย ฯลฯ มาแล้วทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ส.ส., ส.ว., โต๊ะครู, ปอเนาะ, ด๊อกเตอร์วัน, พ่อเฒ่าอายุ 65 หรือแม้แต่เด็กนักเรียนอายุ 18 ปี

ถ้าครึ่งหนึ่งของคนที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นจอมบงการจริง ความไม่สงบในภาคใต้ก็คงเบาบางกว่านี้ไปมาก แต่มองในทางกลับกัน ถ้าเพียงแค่ร้อยละสิบของผู้ที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็น่าคิดเหมือนกันว่าทฤษฎีจอมบงการจะทำให้สถานการณ์ภาคใต้เลวร้ายลงไปเพียงใด

นักวิชาการ 144 คน ไม่ได้ตอบคำถามว่าการแบ่งแยกและเกลียดชังระหว่างคนไทยเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ให้ความเห็นว่า รัฐบาลทำให้ความเกลียดชังในชาติรุนแรงขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้การแบ่งแยกดินแดนขยายตัวขึ้นด้วย ทำให้ต้องเจรจาให้รัฐบาลอ่อนน้อมถ่อมตน และมีท่าทีนุ่มนวลขึ้น จึงจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องออกมาขอโทษประชาชน

ข้อเรียกร้องเชิงการเมืองแบบนี้น่าสนใจ เพระทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีโอกาสแสดงบทบาททางการเมืองต่อมาได้อีกมาก แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจสาเหตุของความเกลียดชังในชาติได้มากนัก ซ้ำยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การเสียชีวิตของพลเรือนหลายร้อยคนโดยปราศจากหลักฐาน กลายเป็นเรื่องที่มีสถานะเท่ากับการขยับริมฝีปากของนายกรัฐมนตรีเพียง 1 นาที

จริงอยู่ว่าความเกลียดชังระหว่างผู้คนนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ไม่ง่าย แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงว่ามีคนมุสลิมเสียชีวิตในกรณีตากใบ 84 ราย ซ้ำยังตายจากการอุ้มฆ่าและไล่ล่าโดยปราศจากหลักฐานอีกมาก ขณะที่มีเจ้าหน้าที่และพลเรือนเสียชีวิตจากการลอบฆ่ารายวันอยู่มากด้วยเช่นกัน ก็ถือว่าความเคลื่อนไหวของความตายเหล่านี้ เป็นดัชนีชี้วัดระดับความเกลียดชังระหว่างผู้คนในชาติได้พอสมควร

เราจะทำความเข้าใจความเกลียดชังอย่างรุนแรงที่ขยายตัวขึ้นในเวลาอันรวดเร็วนี้ว่าอย่างไรดี?

อันดับแรกสุด ความเกลียดชังไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากสาเหตุ แต่ความเกลียดชังเป็นผลผลิตของความรับรู้ที่เรามีต่อโลกของความเป็นจริงในบางลักษณะ ซึ่งหากพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ความรับรู้ก็สัมพันธ์กับโครงสร้างความรู้สึก และ ระบบการให้ความหมายต่อข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม

บทความของ คุณกวี จงกิจถาวร ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 เปิดเผยรัฐบาลแทรกแซงและควบคุม "ข่าวสาร" ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีตากใบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บภาพเหตุการณ์ที่สถานีโทรทัศน์ต่างๆ บันทึกไว้ รวมทั้งสั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่ภาพถ่ายที่แสดง "ความจริง" ว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจงใจใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุม

อันที่จริงควรระบุด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ควบคุมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สื่อนำเสนอภาพข่าวและคำอธิบายตามที่รัฐป้อนให้ นั่นก็คือคนมุสลิมภาคใต้เป็นพวกหัวรุนแรง ฆ่าพระ ฆ่าคนแก่ ติดยาเสพติด คลั่งศาสนา ฝักใฝ่การก่อการร้าย มีแผนก่อการจลาจล รวมทั้งมุ่งหวังแบ่งแยกดินแดน

ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและสื่อดังนี้ สังคมไทยทั้งหมดจึงมองปัญหาภาคใต้ภายใต้ข้อมูลและคำอธิบายที่รัฐผูกขาดอย่างเต็มที่ จนสูญเสียสติปัญญาและวิจารญาณในการตั้งคำถามง่ายๆ เช่น ถ้าผู้ชุมนุมที่ตากใบมีอาวุธสงคราม ทำไมไม่มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บแม้แต่รายเดียว

วุฒิสมาชิก ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ตั้งถามคำถามได้สนุกกว่านี้ เพราะเมื่อแม่ทัพภาค 4 ชี้แจงต่อวุฒิสภาว่าผู้ชุมนุมที่ตากใบซุกซ่อนอาวุธสงครามเอาไว้ ไกรศักดิ์ได้ถามกลับไปว่า คนเหล่านั้นซุกปืนเอ็ม 16 , เอชเค และปืนไร้แรงสะท้อน ไว้ในโสร่งหรืออย่างไร

อันดับที่สอง ความเกลียดชังแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาอย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นรัฐบาลที่เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวทางการเมืองในหมู่ประชาชนในระดับที่รุนแรงอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงหลังปี 2531 เป็นต้นมา

แน่นอนว่าความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวอย่างรุนแรงนั้น เป็นผลผลิตของเงื่อนไขหลายข้อ เช่นการโฆษณาชวนเชื่ออยู่เป็นนิจ นโยบายประชานิยม การจูงใจและปลุกปั่นความเห็นสาธารณะ ฯลฯ แต่หนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด ก็คือ สภาวะที่อัตลักษณ์รวมหมู่แบบชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ (ethno-nationalism) เติบโตทางการเมืองอย่างสูงสุดในปัจจุบัน

นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมหลายอย่าง ที่แสดงให้เห็นการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ความเป็นชาติในกำกับของสมมติทัศน์ทางสังคม (social imaginary) แบบโลกาภิวัตน์ ตัวอย่างเช่น "สุริโยทัย" ที่ประดิษฐ์สร้างอดีตเพื่อตอกย้ำความสำคัญของชาติ หรือ "บางระจัน" ที่อธิบายความเป็นไทยในแง่มุมของ "ชีวะอำนาจ" (bio-power) ว่าด้วยการสละชีวิตของประชาชน

ปฏิพากย์ (interplay) ระหว่างความเป็นชาติและความเป็นไทยเป็นเรื่องเยิ่นเย้อเกินกว่าจะกล่าวในที่นี้ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคืออัตลักษณ์แบบที่ผูกชาติกับเชื้อชาติแน่นแฟ้นกว่าที่ผ่านมา

ในทางการเมืองนั้น บรรยากาศแบบนี้กระตุ้นให้เกิดการต่อสู้เคลื่อนไหวที่อิงแอบกับความเป็นชาติ จึงปรากฎการโจมตีรัฐบาลในอดีตว่าขายชาติ ขณะที่อีกฝ่ายก็นำเสนอตัวเองว่าเป็น "ไทย" รัก "ไทย" ซึ่งแสดงให้เห็นโลกทัศน์ว่าความเป็นไทยคือคำตอบของความเป็นชาติ ส่วนการเกิดรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็เป็นหลักฐานว่าสมการทางอัตลักษณ์ข้อนี้ได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดทางการเมือง

"คนไทยหรือเปล่า" เป็นคำถามยอดนิยมของสภาวะลุ่มหลงความเป็นไทยเช่นนี้ และโดยตัวคำถามนี้ ก็เผยให้เห็นความมืดบอดต่อการมีอยู่ของความ "ไม่ไทย" ซึ่งนำไปสู่ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มักเข้าใจว่าอิสลามคือปฐมเหตุแห่งความเกลียดชังที่ "คนไทย" มีต่อผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แท้จริงแล้ว ความเป็นอิสลาม ไม่ได้เป็นปัญหาต่อสังคมไทยในแง่ไหนทั้งนั้น ยกเว้นแต่จะคิดถึงอิสลามในฐานะอัตลักษณ์ทางศาสนาของคนชาติพันธุ์มลายู จึงกล่าวได้ว่าความเป็นมลายูต่างหากที่เป็นปฐมเหตุของความเกลียดชังข้อนี้ เพราะเมื่อเป็นมลายู ก็เท่ากับ "เป็นอื่น" ถึงขั้นที่ไม่มีทางทำให้เป็นไทย

ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์และข้อมูลข่าวสารเป็นตัวอย่างของมูลเหตุที่ทำให้ "คนไทย" เกลียดชังผู้คนร่วมประเทศในระดับไร้สติอย่างในปัจจุบัน และหากคิดใคร่ครวญต่อไป ก็คงค้นพบมูลเหตุของสภาวะเช่นนี้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลก ผลพวงจากการครอบงำทางอุดมการของอเมริกา ฯลฯ

แน่นอนว่าทุรวาจาของนายกรัฐมนตรีมีส่วนให้คนในชาติแบ่งแยกกันรุนแรงขึ้น แต่ลำพังปากและหัวคิดของนายกนั้นเล็กเกินกว่าจะสร้างผลเลวร้ายได้ถึงขั้นนี้ การเรียกร้องให้ขอโทษจึงเป็นมาตรการที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น นอกจากทำให้ทุกฝ่ายเป็นข่าวมากขึ้น เพราะความเกลียดชังในชาติในขณะนี้ได้หยั่งลึกเกินกว่าจะแก้ด้วยมธุรสวาจาเพียงประโยคเดียว

ถึงที่สุดแล้ว ประเด็นที่ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ การตระหนักถึงสถานการณ์ที่คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาได้เสียชีวิตไปในระดับหลายร้อยคน โดยเฉพาะในกรณีตากใบกรณีเดียว ก็มีผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวน "คนไทย" ที่ตายไปในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญๆ

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ความตายของผู้คน 70 คน ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงทางการเมืองที่มีอิทธิพลไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่วนความตายของคน 41 ราย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็นำไปสู่การขยายตัวของสงครามจรยุทธในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ก็เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ณ บัดนี้ ความตายของ 84 ศพ ที่ตากใบ รวมทั้งอีกหลายร้อยศพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้พัดพาความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการทุกอย่างเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาสู่จุดที่ยากจะเยียวยาได้ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเผชิญความจริงว่าเรากำลังอยู่ในสภาวการณ์ที่ต้องคิดถึงรัฐประชาชาติไทยในบริบทของการมีอยู่ของชาติพันธุ์มลายูให้มากขึ้น ไม่ใช่รัฐประชาชาติของคนเชื้อชาติไทยล้วนๆ อีกต่อไป

เรื่องที่ ๒ ความเงียบเอ่ยเอื้อนความตาย
ความตายของผู้คน 84 ราย ที่ตากใบ ได้พัดพาให้กระแสความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พุ่งสู่จุดที่คุระอุที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดและการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนยิ่งคิดไป ก็ยิ่งมองเห็นโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในบ้านเมืองมากขึ้นทุกที

แน่นอนว่ามนุษย์เกิดมาก็ต้องตาย แต่ไม่มีสังคมที่มีอารยธรรมสังคมไหน ที่จะยอมรับว่าความตายจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันนั้นเป็นเรื่องปกติ ทำให้แม้ในความเป็นจริงแล้ว ทุกสังคมจะกำเนิดขึ้นจากสงคราม, ความรุนแรง และความตาย หากทุกสังคมก็ล้วนมีกระบวนการจัดการกับความตายด้วยวิธีต่างๆ นานา

อนุสาวรีย์เป็นตัวอย่างของการจัดการความตาย เพราะอนุสาวรีย์คือถาวรวัตถุที่จารึกชื่อเสียงเรียงนามและใบหน้าของผู้คน ซึ่งได้ทำในเรื่องยากที่คนทั่วไปจะทำได้ นั่นก็คือการตายในนามของเป้าหมายที่สูงส่งบางอย่าง คนตายในอนุสาวรีย์จึงเป็นคนตายที่สมควรตาย เพราะความตายของเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งการสละชีวิตเพื่อความใฝ่ฝันของสังคม

ข้อความในย่อหน้าที่แล้วแสดงให้เห็นความจริงที่น่าเศร้า เพราะคนตายที่ได้รับการจารึกในอนุสาวรีย์คือคนตายที่ปัจเจกภาพของเขาไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ไม่มีใครสนใจว่าคนตายเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน มีความใฝ่ฝันอย่างไรในชีวิต และ ณ วินาทีที่ลมหายใจใกล้แตกดับนั้น เขามีความคิดและความรู้สึกอย่างไร

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว เหตุผลเดียวที่ทำให้สังคมให้ค่ากับความตายของคนเหล่านี้ก็คือ พวกเขาตายเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่สังคมต้องการ

แน่นอนว่าไม่มีมนุษย์คนไหนปรารถนาความตาย และความจริงข้อนี้เองที่ทำให้ผู้คนอยู่ในอนุสาวรีย์มีสถานะที่พิเศษกว่าคนปกติ เพราะการสละชีวิตเพื่อเป้าหมายบางอย่างนั้น เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่กลัวความตาย จึงแฝงไว้ด้วยพลังอำนาจที่สูงส่งกว่าคนทั่วไป กลายเป็นตัวแบบให้ผู้พบเห็นต้องแสดงความเคารพและปฏิบัติตาม

ในขณะที่สังคมโบราณรำลึกความตายโดยเชื่อว่า ผู้ตายกลายเป็นวิญญาณที่สิงสถิตในมิติซึ่งมองเห็นไม่ได้ อนุสาวรีย์ก็เป็นวิธีการที่สังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้ตายมี "จิตวิญญาณ" อันสิงสถิตในสิ่งก่อสร้างที่จับต้องและสัมผัสได้ทุกขณะ

ด้วยเหตุดังนี้ สายสัมพันธ์ระหว่างคนตายกับโลกจึงไม่ได้สิ้นสุดพร้อมกับอวสานของชีวิต แต่อวสานของชีวิตคือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เป็นนิรันดร์

ความตายของผู้คนทั้ง 84 คน ที่ตากใบ แตกต่างจากความตายในลักษณะนี้ เพราะไม่เพียงแต่คนเป็นอันมากในสังคมจะลงความเห็นว่าคนเหล่านี้สมควรตาย หากแม้แต่คนผู้ซึ่งขุดคุ้ยและเรียกร้องให้ไต่สวน "ความจริง" ในกรณีนี้ ก็ยังกลายเป็นเป้าของความเกลียดชังในระดับที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง

ถึงบัดนี้ ความตายก็ถูกกดดันให้แปรเป็นความเงียบ และความหมายของความเงียบก็คือการทำให้ความตายของคนเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา

แน่นอนว่ามนุษย์ที่มีมโนธรรมสำนึกทุกคนย่อมรู้ว่า ปริมาณความตายขนาดนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ ความตายในกรณีนี้จึงยังผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมขึ้นอย่างมหาศาล บ้างก็สาสมใจ บ้างก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น บ้างแปรความเสียใจเป็นความคับแค้น และคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นความตายของผู้คนในปริมาณนี้ยังน้อยเกินไป

ภายในเงื่อนไขทางสังคมแบบนี้ การแทนที่ความตายด้วยความเงียบไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะความเงียบหมายความถึง การปิดปากและปิดกั้นความรู้สึกนึกคิดหลากรูปหลายแบบที่ผู้คนมีต่อความตาย โดยเหตุนี้ ตัวความเงียบจึงเป็นเครื่องหมายของอำนาจอย่างหนึ่งในสังคม

ความเงียบทำงานอย่างไร?
ในระดับผิวเผินที่สุด ความเงียบเปรียบเทียบความตายของผู้คนที่ตากใบกับความตายในกรณีอื่นๆ เพื่อชี้ชวนให้เห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียมกัน (reciprocity) ระหว่างความตายเหล่านี้

วิธีการเปรียบเทียบแบบนี้มีปัญหาอย่างน้อย 4 ข้อ

ข้อแรก สมควรหรือที่จะลดทอนชีวิตของมนุษย์ให้มีฐานะเป็นแค่ "จำนวนนับ" และ "ข้อมูล" ที่ปราศจากความหมายทางสังคมและจิตวิญญาณ

ข้อสอง ต่อให้เชื่อว่าการลดทอนชีวิตมนุษย์ให้เป็นแค่ "จำนวนนับ" และ "ข้อมูล" เป็นวิธีการคิดที่ถูกต้อง แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า "จำนวนนับ" และ "ข้อมูล" ที่อาศัยเป็นฐานในการเปรียบเทียบความตายในกรณีตากใบ และในกรณีอื่นๆ วางอยู่บนการจัดระเบียบข้อมูลที่เที่ยงธรรม

ปัญญาชนหลายรายบอกว่า ตากใบตายไป 84 ราย ขณะที่ "ฝ่ายเรา" ตายไปแล้วหลายร้อย แต่วิธีการอธิบายแบบนี้วางอยู่บนกรอบเวลาที่แตกต่างกัน จนน่าตั้งข้อสงสัยถึงสติสัมปชัญญะของผู้ที่ทำการเปรียบเทียบ โดยไม่คำนึงถึงฐานคิดเรื่องเวลา

ข้อสาม ความตายในกรณีตากใบนั้นเป็นความตายที่มีรัฐเป็นผู้กระทำให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ขณะที่ความตายในกรณีอื่นนั้น ยังไม่ปรากฎว่าใครคือบุคคลผู้กระทำเลยแม้แต่น้อย ผู้กระทำในกรณีอื่นจึงเป็นไปได้ที่จะมาจากคนหลายฝ่าย ซึ่งหมายความต่อไปว่า คนตายที่ตากใบอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความตายในกรณีอื่นแต่อย่างใด

ข้อสี่ ถ้าถือว่าความตายในกรณีอื่น เกิดจาก "พวกมัน" ซึ่งได้แก่ผู้ก่อการร้าย การเปรียบเทียบวิธีนี้ย่อมเท่ากับเห็นว่า รัฐและผู้ก่อการร้ายมีระดับขันติธรรม ศีลธรรม สติปัญญา และความรู้สึกนึกคิดในระดับที่เท่าเทียมกัน

ในระดับที่ลึกซึ้งขึ้นไป ความเงียบทำงานบนความรู้สึกนึกคิดสาธารณะว่า ตากใบเป็นความตายที่สัมพันธ์กับความผิดปกติในหลากมุมหลายแง่ เช่น เสพยาเสพติด รับเงินต่างชาติ มีชื่อตนเป็นมลายู ชุมนุมไม่สิ้นสุด ฯลฯ จึงเป็นคนกลุ่มที่เต็มไปด้วยคุณลักษณะของความผิดแปลก และเบี่ยงเบนในหลายลักษณะ ทำให้สมควรตาย

ในกรณีแบบนี้ ความเงียบสัมพันธ์กับสภาวะของการครอบงำและบิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยรัฐ เพราะประมุขของรัฐบาล คือผู้ที่ประกาศตลอดเวลาถึงความผิดแปลกเบี่ยงเบนของผู้คนที่ตากใบในลักษณะต่างๆ ส่งผลให้เกิดการตีตราประทับภาพลักษณ์ทางสังคมเหนือคนเหล่านั้นว่า เป็นอาชญากรวิกลจริต จึงชอบด้วยเหตุผลที่จะถูกปราบด้วยวิธีการรุนแรง

อย่างไรก็ดี ถึงบัดนี้ ก็ปรากฎหลักฐานว่าคำประกาศเกือบทั้งหมดนั้นเป็นเท็จ เพราะพบสารเสพติดเพียง 14 ราย จากผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมราว 1,300 ราย ขณะที่ในกรณีพบเงินต่างชาตินั้น ก็เพียงพราะคนเหล่านั้นเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไปทำงานรับจ้างในประเทศใกล้เคียง

โดยปกติของการกล่าวหานั้นต้องแสดงหลักฐานให้ปรากฎ แต่ในกรณีตากใบนั้น ผู้นำของประเทศได้กล่าวหาคนทั้งหมดโดยไม่ได้แสดงหลักฐานผ่านสื่อสาธารณะเลยแม้แต่น้อย คำกล่าวหาจึงมุ่งปลุกปั่นความคิดเห็นเพื่อจูงใจให้สาธารณะละทิ้งมโนธรรมสำนึก รับรองวิธีอนารยะว่าถูกต้อง รวมทั้งเห็นความตายของคนบางกลุ่มเป็นสภาวะปกติธรรมดา

แต่ในกรณีตากใบนั้น ความเงียบไม่ได้ทำงานด้วยวิธีปลุกระดมความเห็นแบบนัก
การเมืองการตลาดเพียงอย่างเดียว หากยังทำงานบนปฏิบัติการที่ลึกซึ้ง เยือกเย็น และแนบเนียนกว่านั้นอีกมาก

หนึ่งในวิธีสำคัญซึ่งทำให้คนตายกลายเป็นตัวแทนของความผิดแปลกเบี่ยงเบนมากที่สุด จึงสมควรตาย ก็คือการทำให้คนเหล่านั้น "ไม่ไทย" เมื่อมองจากกรอบคิดเรื่องความ "เป็นไทย"

ในเงื่อนไขของสังคมและวัฒนธรรมแบบไทยๆ นั้น ความ "ไม่ไทย" เป็นคำคุณศัพท์ที่ห่อหุ้มความหมายซ่อนเร้นเอาไว้หลายแง่ เพราะ "ไม่ไทย" แสดงตำแหน่งแห่งที่ของผู้พูดซึ่งถือว่าตัวเอง "เป็นไทย" และทึกทักอย่างแน่นแฟ้นว่าผู้ฟังต้องคิดถึงความ "เป็นไทย" ในความหมายเดียวกับที่ผู้พูดเข้าใจด้วย

มองในแง่นี้ "เป็นไทย" จึงเป็นคำคุณศัพท์ที่มาพร้อมกับอำนาจเชิงกดบังคับระหว่างผู้พูดที่ "เป็นไทย" กับผู้ฟังที่ "ไม่ไทย" อยู่ตลอดเวลา

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ความ "เป็นไทย" ในที่นี้มีความหมายซ่อนเร้นที่สำคัญอย่างน้อย 2 ลักษณะ นั่นคือ

หนึ่ง "เป็นไทย" ในความหมายของเชื้อชาติ
สอง "เป็นไทย" ในความหมายของศาสนา / วัฒนธรรม

พูดง่ายๆ ปฏิบัติการที่จะ "เป็นไทย" หมายถึงการมีเชื้อชาติไทยแต่กำเนิด รวมทั้ง ยอมรับวัฒนธรรมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่จารีตทางศาสนาแบบพุทธเถรวาท ขณะที่ความ "ไม่ไทย" ก็หมายความถึงการประกาศว่าตนเองไม่ได้มีเชื้อชาติไทยมาตั้งแต่ต้น แต่มีเชื้อชาติอื่น เช่นมลายู และไม่ต้องการปฏิบัติตามระบบวัฒนธรรมแบบพุทธเถรวาทของสังคมไทย

ความ "เป็นไทย" นำไปสู่ความเงียบ เพราะหากถูกจัดระเบียบว่า "ไม่ไทย" ย่อมหมายความถึงการถูกผลักไสให้เป็นอื่นจากผู้คนในชาติอย่างอุกฉกรรจ์ ถึงขั้นที่พูดได้ว่าความ "ไม่ไทย" เป็นปทัสถานเบื้องต้นอันอาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิต ดังเคยเกิดในกรณี 6 ตุลา และเคยปรากฎมาแล้วในกรณี กรือเซ๊ะ , ตากใบ, ทนายสมชาย และการอุ้มฆ่ารายวัน

ที่รุนแรงโหดร้ายก็คือผู้คนมากหลายซึ่ง "เป็นไทย" กระทำนาฏกริยาว่าด้วยความ "เป็นไทย" โดยไม่อ่อนไหวถึงนัยเหล่านี้ เพราะเขาเหล่านั้น "เป็นไทย" มีเชื้อสายไทย และนับถือพุทธมาแต่กำเนิด จึงไม่ตระหนักว่าชาติไทยประกอบไปด้วยคนที่ "ไม่ไทย" และไม่ได้นับถือพุทธเถรวาทแบบนี้อีกมาก

กิจกรรมพับนกทำงานบนความคิดว่าความ "เป็นไทย" นั้นมีแบบเดียว คือแบบคนเชื้อชาติไทยที่นับถือพุทธเถรวาท จึงไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย แต่ "ไม่ไทย" ในความหมายแบบนี้ ทำให้มองไม่เห็นว่าความรุนแรงและความตายในสามจังหวัดภาคใต้นั้น เป็นความรุนแรงที่มี "โจทก์" ชัดเจนอย่างน้อยสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือฝ่ายรัฐบาล-ทหาร-ตำรวจ กับฝ่ายหลัง "ผู้ก่อการร้าย" ที่เรายังไม่เคยรับรู้ว่าคือใคร

ความหมายของการพับนกคือการให้อภัย และโดยปกติของการให้อภัยนั้น ผู้ให้อภัยคือฝ่ายเหยื่อซึ่งมีขันติธรรมและความอดกลั้นเหนือกว่าอีกฝ่าย จึงเห็นว่าการให้อภัยคือสัญญาณให้ฝ่ายตรงข้ามตระหนักในความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้ หรืออย่างน้อย ก็เตือนให้เห็นความโหดร้ายของการฆ่าฟัน

ในกรณีของสังคมไทย คำประกาศให้อภัยถูกเอ่ยเอื้อนจากฝ่ายซึ่งเป็นเหตุแห่งความตายของคนที่ "ไม่ไทย" จำนวนมาก ทำให้ความหมายของอภัยกลับตาลปัตรจากเดิมอย่างสมบูรณ์ กลายเป็นการลืมเลือนและยอมรับความตายซึ่งรัฐเกี่ยวข้อง เพราะถ้าไม่ยอมรับ ก็เท่ากับ "ไม่ไทย" และกลายเป็นคนกลุ่มที่ "มันเป็นใครมาจากไหนไม่ทราบ" ซึ่งเป็นเหตุให้ตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังและประทุษร้ายทางการเมือง

ในนามของความเงียบและสันติภาพ เรากำลังรับรองการทำลายชีวิตและความตายของคนอีกกลุ่มในทางการเมือง

 

ข้อความข้างล่างนี้ คัดลอกมาจากกระดานข่าว ม.เที่ยงคืน
นกกระดาษ..สันติภาพจากฟากฟ้า..หรือหมดสิ้นท่าแล้วรัฐไทย

อะไรหว่าตกมาจากฟากฟ้า
ตากูฝ้าหรือเปล่าให้สงสัย
ลูกเห็บตกหมอกลงหรืออะไร
ก็ไม่ใช่ทั้งนั้นไปไปดู

ที่ใหนได้นี่มันนกกระดาษ
ช่างประหลาดใครบ้าส่งมานี่
ท่วมท้องนาสวนยางที่เคยดี
ไม่มีปีมีขลุ่ยท่วมบ้านเรา

เห็นเขาบอกรวมใจช่วยคนใต้
จะได้ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง
ว่าคนเมืองที่เหลือห่วงจริงๆ
เลยมอบสิ่งนี้ให้มาแทนใจ

ที่ว่าห่วงกูก็พอจะรู้อยู่
ทั้งตัวกูปู่ย่าไทยทั้งหลาย
ทุกวันนี้รอบตัวนั้นอันตราย
ไม่มีคลายแถมหนักเข้าทุกวัน

แต่พวกมึงส่งนกมาทำไม
ไม่เข้าใจว่าอะไรมาเข้าสิง
ส่งมาให้เกะกะเลอะเทอะจริง
กูต้องวิ่งกวาดเก็บจนหมดวัน

ที่พวกกูเจออยู่ทุกวันนี่
ไม่มีที่ให้ดูสนุกสนาน
พวกมึงโปรยนกมาลงกระบาล
ดูสำราญซาบซึ้งสุดหัวใจ

ขอขอบใจที่อุตส่าหพับนก
ฝนมันตกพอดีที่มาถึง
ก็เลยเละไม่เป็นนกเลยล่ะมึง
ดูแล้วทึ่งเป็นขยะเรานี่เอง

ถ้าคราวหน้าพวกมึงคิดจะช่วย
ของชำร่วยแบบนี้ไม่เข้าท่า
ส่งนายกฯ ลงมาอยู่ตรวจตรา
ตลอดเวลาดีกว่าเป็นแน่นอน

จะได้รู้หัวอกคนไทยใต้
ว่าไม่ได้เรียกร้องขอสวรรค์
ขอเพียงอยู่พร้อมหน้ากันทุกวัน
ไม่กีดกันใครทั้งนั้นตลอดมา

ทุกวันนี้เรียนผูกควรเรียนแก้
ลิงแก้แหที่เป็นอยู่วันนี้
ก็เพราะท่านอวดเก่งและถือดี
อีกสี่ปีไทยล่มจมท่านเจริญ

ลอกมาโดยผู้ใช้นามว่า "นี่หรือคือความห่วงใย" จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9470000084220

ข้อความต่อมาบนกระดานข่าว ม.เที่ยงคืน

เป็นเรื่องสัญลักษณ์ เพื่อเป็นภาพให้เห็นว่ามีความห่วงใย คุณค่าอยู่ที่ใจต่างหาก
มีคนไทยทั่วประเทศตั้งใจพับนกแสดงถึงความปรารถนาดีและกำลังใจ
ส่งให้แค่นี้ก็ซึ้งแล้ว

พับกันบ้างหรือยังล่ะ หรือมัวแต่พ่นน้ำลายเน่าๆออกจากปากให้นกเปียกจะได้บินไปถึงทางใต้ไม่ได้
(โดยผู้ใช้นามว่า "คน")


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบดัดแปลงบทความเรื่อง "ความเกลียดชังทางโครงสร้างที่อันตราย" และบทความเรื่อง "ความเงียบเอ่ยเอื้อนความตาย" โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

อนุสาวรีย์เป็นตัวอย่างของการจัดการความตาย เพราะอนุสาวรีย์คือถาวรวัตถุที่จารึกชื่อเสียงเรียงนามและใบหน้าของผู้คน ซึ่งได้ทำในเรื่องยากที่คนทั่วไปจะทำได้ นั่นก็คือการตายในนามของเป้าหมายที่สูงส่งบางอย่าง
คนตายในอนุสาวรีย์จึงเป็นคนตายที่สมควรตาย เพราะความตายของเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งการสละชีวิตเพื่อความใฝ่ฝันของสังคม

14 ตุลาคม 2516 ความตายของผู้คน 70 คน ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงทางการเมืองที่มีอิทธิพลไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่วนความตายของคน 41 ราย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็นำไปสู่การขยายตัวของสงครามจรยุทธในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ก็เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ณ บัดนี้ ความตายของ 84 ศพ ที่ตากใบ รวมทั้งอีกหลายร้อยศพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้พัดพาความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการทุกอย่างเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาสู่จุดที่ยากจะเยียวยาได้ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเผชิญความจริงว่าเรากำลังอยู่ในสภาวการณ์ที่ต้องคิดถึงรัฐประชาชาติไทยในบริบทของการมีอยู่ของชาติพันธุ์มลายูให้มากขึ้น ไม่ใช่รัฐประชาชาติของเชื้อชาติไทยล้วนๆ อีกต่อไป

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์