บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 483 หัวเรื่อง
โลกาภิวัตน์กับเกษตรกรรมใหม่
ปีเตอร์ รอสเส็ต และคณะ
แปลโดย คณะทำงานวาระทางสังคม
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 28-11-47
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เกษตรกรรมใหม่ของไทยในยุคโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ ประเทศเกษตรกรรมใหม่
และ ปัญหาการเกษตร
คณะทำงานวาระทางสังคม
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้ตัดทอนมาบางส่วน
จากบทความเดิมฉบับเต็มชื่อ
" ประเทศไทยกับวงการมะเขือเทศของโลก: โลกาภิวัตน์ ประเทศเกษตรกรรมใหม่และปัญหาการเกษตร"
THAILAND
AND THE WORLD TOMATO: GLOBALIZATION, NEW AGRICULTURAL COUNTRIES [NACS]
AND THE AGRARIAN QUESTION
เขียนโดย ปีเตอร์ รอสเส็ต
องค์การฟู้ดเฟิร์สต์/สถาบันเพื่อนโยบายด้านอาหารและการพัฒนา
(Food First/The Institute for Food and Development Policy)
โรเบิร์ต ไรซ์ The Smithsonian Institution
ไมเคิล วัตตส์ University of California at Berkeley
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
17 หน้ากระดาษ A4)
ความจริงมีอยู่ว่าธุรกิจอาหารกำลังก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งความโกลาหลอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ดิอีคอนอมิสต์ (2536)
เกริ่นนำ
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของวินาศภัยทางเศรษฐกิจมาหลายครั้งแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การออกมายอมรับกันอย่างกว้างขวางในปี 2539 และ 2540 ถึงปัญหาในภาคการธนาคารของไทย
ส่งผลให้เกิดการลดค่าเงินบาทลงในเดือนกรกฎาคม 2540 ก่อให้เกิดวิกฤตการเงินในประเทศอินโดนีเซีย
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลี เอสโตเนีย รัสเซียและบราซิลตามมา
สิ่งที่เริ่มต้นเป็นแค่วิฤตแห่งเอเชีย (Asian crisis) ได้ลุกลามจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่แห่งเอเชีย (Great Asian Depression) หรือที่ให้สมญากันว่า "หวัดใหญ่เศรษฐกิจแห่งเอเชีย (Asian economic flu)" แต่แม้จะมีการลดค่าเงินบาทและปัญหาการเงินเกิดขึ้น ประเทศไทยก็ยังคงรักษาส่วนเกินของบัญชีเดินสะพัด (Current account surplus) เอาไว้ได้ ในขณะที่ตัวเลขส่วนเกินนี้แสดงให้เห็นถึงการหดตัวของสินค้าเข้า (Import contraction) มากกว่าการขยายตัวของสินค้าออก (Export expansion) แต่จริงๆแล้วการส่งออกก็ไม่ถึงกับล้มครืนไปเสียทั้งหมด แม้ว่าราคาสินค้าจะตกต่ำลงไปก็ตาม
ภาคอาหารการเกษตร (Agro-food
sector)
ภาคอาหารการเกษตร
ทำหน้าที่เป็นเฟืองตัวหนึ่งของเครื่องจักรสร้างความจำเริญเติบโต (Growth machine)
ของไทยและเป็นแหล่งผลิตการส่งออกมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตในช่วงปี
2539-2540 ประเทศไทยนอกจากจะเคยมีชื่อเป็นที่รู้จักกันในฐานะสมาชิกผู้เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจในกลุ่ม
"นิคใหม่ (New industrial country-NIC หรือเรียกสั้นๆว่านิค)" มาแล้ว
ยังเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้มีบทบาทเชิงรุกในระบบเศรษฐกิจอาหารการเกษตร หรือที่นิตยสารดิอีคอนอนมิสต์เรียกว่า
"ธุรกิจอาหาร" อีกด้วย
ในบทความชิ้นนี้ เราจะเจาะลึกลงไปถึงต้นตอและลักษณะของประเทศที่เรียกกันว่า "ประเทศเกษตรกรรมใหม่ (New agricultural countries-NACs หรือเรียกสั้นๆว่าแน็คส์)" โดยเน้นที่ประเทศไทยเป็นพิเศษ รวมทั้งจะเจาะลึกถึงบางมิติของความโกลาหลและความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจอาหารการเกษตร
เราจะเริ่มด้วยการให้ภาพรวมโดยสรุปว่า แน็คส์เกิดขึ้นมาและมีลักษณะอย่างไร? จากนั้นก็จะมาดูกรณีของประเทศไทยว่ามีความพิสดารและรูปแบบอย่างไรบ้าง ตอนที่สองจะพิจารณากันถึงคำถามทั่วไปที่ว่า แน็คส์นั้นมีลักษณะสากลอยู่ในภาคการอาหารการเกษตรที่แท้จริงในแง่ไหนและอย่างไร? และการผลิตกับความสัมพันธ์เชิงสถาบัน (Institutional relationships) ประเภทไหนที่เป็นตัวกำหนดลักษณะของกลุ่มบริษัทอาหารการเกษตร (Agro-food fili?res) หรือกลุ่มบริษัทสินค้า (Commodity chains)
เกษตรกรรมมูลค่าสูง (High
value agricultures) กับประเทศเกษตรกรรมใหม่:
ประเทศไทยเป็นแน็คแบบไหน
สมมุติฐานว่าด้วยกระบวนการข้ามชาติ
(Transnational processes) และระเบียบของอาหารการเกษตร (Agrarian-food orders)
มีอยู่ว่า การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศแบบ เก่า" หรือแบบที่จัดกันว่าชั้นยอด
(Classic) ในระบบอาหารการเกษตรนั้นถูกดัดแปลงไปในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา จนไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้อีกแล้ว
สินค้าส่งออกชั้นยอดอย่าง กาแฟ ชา น้ำตาล ยาสูบและโกโก้ ก็ล้วนถูกสินค้าที่เรียกกันว่า
"อาหารมูลค่าสูง (High value foods-HVF หรือเรียกสั้นๆว่า เอชวีเอฟ)"
อย่างผลไม้และพืชผัก สัตว์ปีก เมล็ดพันธุ์พืช ผลิตภัณฑ์นม และกุ้งหอยปูปลา (Shellfish)
เข้ามาแทนที่มากขึ้นทุกที
ในช่วงทศวรรษที่ 2523 มูลค่ารวมของการค้าโลกด้านธัญพืช น้ำตาลและเครื่องดื่มจากเขตร้อน (Tropical beverages) ลดลง ในบางกรณีลดลงฮวบฮาบทีเดียว ตรงกันข้ามกับสินค้าเอชวีเอฟที่โตขึ้นร้อยละแปดต่อปี ในปี 2532 สินค้าเอชวีเอฟคิดเป็นร้อยละห้าของการค้าสินค้าของโลก คิดหยาบๆแล้วก็เท่ากับการค้าน้ำมันดิบทีเดียว (แจฟฟี 2537)
ทุกวันนี้ กว่าหนึ่งในสามของมูลค่าจากระบบเศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนาได้มาจากการผลิตสินค้าเอชวีเอฟ หรืออย่างคร่าวๆก็เท่ากับสองเท่าของมูลค่าการส่งออก กาแฟ ชา น้ำตาล ฝ้าย โกโก้และยาสูบของประเทศโลกที่สาม
ในปี 2533 ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 24 แห่งส่งออกสินค้าเอชวีเอฟมีมูลค่าสูงกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปละตินอเมริกาและเอเชีย และสี่ในจำนวนประเทศทั้งหมดนี้ส่งออกสินค้าเอชวีเอฟคิดเป็นร้อยละ 40 ของสินค้าเอชวีเอฟส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด
ประเทศเหล่านี้มีลักษณะตรงกับสิ่งที่ฟรีดมันน์ (Friedmann 2536, 2537) เรียกว่า "ประเทศเกษตรกรรมใหม่ (New agricultural countries--NACs)" ซึ่งเป็นประเทศคู่เสริมด้านเกษตรอุตสาหกรรม (Agro-industrial counterparts) ของประเทศนิคส์ทั้งหลาย ที่ครองพื้นที่ศูนย์กลางของสิ่งที่ฟรีดมันน์เรียกว่า อาหารที่อยู่ได้นาน (Durable foods) ผลไม้และผักสด ตลอดจนวงการปศุสัตว์และอาหารสัตว์ (Livestock/feed complexes) ตัวอย่างของระบบอาหารการเกษตรชนิดใหม่เหล่านี้ ได้แก่ มะนาวบราซิล (Brazilian citrus) สินค้าที่ "ไม่ใช่ของประจำชาติ (Non-traditionals)" และ "ของแปลก (Exotics)" จากเม็กซิโก ถั่วเหลืองอาร์เจนตินา ผลไม้นอกฤดูกาลของเคนยา และกุ้งเมืองจีน (ดูวัตตส์ 2537เอ, คิเมนเย [Kimenye] 2536, แจฟฟี 2537, ฟรีดแลนด์ [Friedland] 2537)
ข้อโต้แย้งเรื่องการถือกำเนิดของแน็คส์ ถึงจะมีบางด้านไปพ้องจองกับงานในช่วงทศวรรษที่ 2523 ที่ว่าด้วยเสือแห่งเอเชียอย่างไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง แต่ก็จะอิงกับประเด็นที่พูดถึงความสำเร็จซึ่งอ้างว่ามาจากสินค้าต่างๆอย่าง มะเขือเทศเม็กซิกัน ของแปลกจากละตินอเมริกา ถั่วเหลืองบราซิล สัตว์ปีกและเมล็ดพันธุ์พืชหลากหลายชนิดจากเมืองไทย (ดูแม็คไมเคิล [McMichael] 2538) สิ่งที่น่าสนใจในบรรดากรณีทั้งหลายเหล่านี้ก็คือ
(ก) ขอบเขตของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในบางกรณีนับเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดกลยุทธซึ่งเน้นหนักที่การส่งออก (Exportled strategy)
(ข) ความสำคัญของทุนภาคเอกชนในท้องถิ่นซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าทุนจากต่างประเทศ
(ค) ความเข้มข้นระดับสูงด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาดที่เน้นการส่งออก (เฮฟเฟอร์นันและคอนสตันซ์ 2537) และ
(ง) ความโดดเด่นของการผลิตแบบครบวงจร (Contract production) และ/หรือระบบการผนวกเอาการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกัน (Vertical integration) ตั้งแต่ระดับการผลิตในไร่นา ไปจนการแปรรูปในลำดับถัดลงไป (Downstream processing) ตลอดไปจนถึงการค้า (วัตตส์ 2537เอ)
แน่นอนว่าการถือกำเนิดของภาคเกษตรกรรมมูลค่าสูงนี้ ก็เช่นเดียวกับภาคการผลิตของ "โลกที่สาม" ซึ่งมีลักษณะลุ่มๆดอนๆสูงมาก และจุดที่ล่อแหลม (Underbelly) ของประเทศเกษตรกรรมใหม่ทั้งหลายก็คือ ความร่อแร่ทางการเกษตร (Agricultural marginality) นั่นเอง
ประเทศไทยนับเป็นกรณีที่น่าพิศวงมาก ทั้งในแง่ของการเป็นตัวอย่างของประเทศที่เป็นนิคในรุ่นที่สองหรือสาม (มุสแกต [Muscat] 2537, พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ [Phongpaichit and Baker] 2538: 143) และในฐานะแน็คที่แท้จริง (เบิร์ช [Burch] 2539) หรือเนค (New agro-industrializing country-NAIC ดูเบลโลและคณะ [Bello] 2541)
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (Manufactured exports) ของไทยขยายตัวขึ้นจนแทบไม่น่าเชื่อถึง 12 เท่าในระหว่างปี 2528 ถึง 2539 ก่อนหน้านี้ไทยก็ครองตำแหน่งผู้นำในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมาแล้ว ก่อนที่จะผันมาสู่ระบบเศรษฐกิจส่งออกสินค้าเกษตร (Agro-export economy) ในระยะถัดมา (พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ 2541: 5-6) ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน ความเฟื่อฟูของภาคการส่งออกของไทยรวมไปถึงภาวะฟองสบู่แตกที่ตามมา นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง
และเมื่อพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนถึงวิวัฒนาการของการวางนโยบายการพัฒนาในช่วงหลังสงครามของรัฐไทย จะเห็นได้ว่าเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับประเทศนิคส์ทั่วไป กล่าวคือไปเน้นหนักที่การส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร พร้อมกับการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ในฐานะเงื่อนไขอันขาดเสียมิได้ของการสร้างความทันสมัย (พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ 2538 และ 2541) นี่เป็นการทำให้เกิดรากฐานของความเฟื่องฟูในภาคการผลิต ซึ่งตั้งต้นด้วยจุดเชื่อมทั้งแบบก้าวหน้าและล้าหลังของภาคเกษตรกรรม โดยผ่านปัจจัยนำเข้าและการแปรรูป กลุ่มบริษัทสำคัญในประเทศหลายแห่งที่มีส่วนร่วมในความเฟื่องฟูด้านการผลิต ก็เริ่มต้นกิจการมาจากอุตสาหกรรมการเกษตรนี่เอง
ในขณะที่ความหนาแน่นอย่างสูงของจำนวนประชากร บวกกับความขาดแคลนที่ดินเป็นตัวช่วยผลักให้ประเทศเสือสี่ตัวแห่งเอเชียรับบทบาทหลักในการผลิตเพื่อการส่งออก การที่ยังมีดินแดนกว้างขวางซึ่งยังไม่ได้รับการบุกเบิกเพื่อการเพาะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย่อมทำให้การพัฒนาการเกษตรเป็นนโยบายที่สมเหตุผลสำหรับเมืองไทย
ในช่วงสงครามเวียดนาม ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯก็ช่วยเสริมให้เกิดความเอนเอียงไปในด้านนี้ ด้วยการไปตั้งฐานทัพยุทธศาสตร์ทางอากาศอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยแทรกซึมแบบกองโจรภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ต่อมาไม่นานก็ถูกตีแตกพ่ายไป (พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ 2538 และ 2541)
ยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา อาจจะต้องยกให้เป็นเพราะการย้ายฐานการลงทุนของญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากเงินเยนเสื่อมค่ามากกว่า ที่จะเกิดจากการใช้นโยบายการพัฒนาแบบประเทศนิค ที่ตรงกันข้ามกับบทบาทอันแข็งขันของรัฐบาลไทย ในช่วงแรกของการกำหนดขั้นตอนต่างๆของการกระจายรูปแบบเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก (Agricultural export diversification) ออกไป (พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ 2538 และ 2541, เบิร์ช 2539)
การตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่ การอพยพโยกย้ายประชากร รวมไปถึงโครงการชลประทานขนาดใหญ่ กลางและเล็กจำนวนมากในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 2503 และ 2513 ล้วนช่วยเปิดพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่รู้จักกันในนามอีสานรับการปลูกข้าว ช่วยรักษาสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ตำแหน่งผู้นำในวงการค้าข้าวของโลกเอาไว้ได้
ระลอกคลื่นแห่งการกระจายรูปแบบการผลิตภายใต้การสนับสนุนของรัฐ (State supported diversification) ซึ่งเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 2513 ทรงตัวอยู่บนฐานเศรษฐกิจข้าวซึ่งเกิดจากระบบชลประทานในหน้าแล้ง (ข้าวนาปรัง) และผูกติดอยู่กับการส่งเสริมสินค้าเอชวีเอฟ เช่น ผลไม้และผักแช่แข็งบรรจุกระป๋อง เมล็ดพันธุ์ผักและสัตว์ปีก ที่ส่วนใหญ่ผลิตแบบครบวงจร (Contract farmed) ระหว่างปี 2524 ถึง 2533 การส่งออกสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกขยายตัวถึงร้อยละ 55 ต่อปี ส่วนสับปะรดกระป๋องขยายตัวร้อยละ 27 และข้าวโพดอ่อนกระป๋องขยายตัวร้อยละ 17 ต่อปีเหมือนกัน (เบิร์ช 2539: 323)
แต่เบิร์ช (2539) ชี้ว่า ในขณะที่ความจำเริญเติบโตที่น่าทึ่งนี้ เข้ากันได้พอดีกับต้นแบบของความเป็นแน็คในหลายๆด้านก็จริง แต่หากนำต้นแบบไปตีความอย่างง่ายๆกว่านี้แล้วลงมือปฏิบัติ ก็จะเห็นว่ามีด้านอื่นๆอีกหลายด้านเบี่ยงเบนไปจากต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่น เมืองไทยยังมีบทบาทนำในฐานะผู้ส่งออกธัญพืช (Food grains) ซึ่งตรงกันข้ามกับต้นแบบของความเป็นแน็คซึ่ง เราน่าคาดหวังได้ว่าไทยจะต้องพึ่งพิงการนำเข้าอาหารที่จำเป็นจากประเทศในซีกโลกเหนือ ที่อาจจะชวนประหลาดใจมากที่สุดก็คือความมีอิทธิพลเหนือกว่าของทุนไทยในวงการสินค้าเอชวีเอฟส่วนใหญ่ แทนที่จะเป็นทุนข้ามชาติ ซึ่งขัดแย้งกับความคาดหวังว่าจะเกิดการตกเป็นลูกไล่ (Subordination) ของวิสาหกิจข้ามชาติ (Transnational enterprises)
อันที่จริง แบบแผนทั้งหมดของความจำเริญเติบโตของการส่งออก ทั้งในภาคการผลิตและการเกษตรของเมืองไทยนั้น แตกต่างไปจากประสบการณ์ที่อยู่ภายใต้การนำของรัฐ หรือ ตลาดในปกครองของประเทศในคลื่นลูกแรกของความเป็นนิคส์ (เช่น เกาหลี) เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังต่างจากแบบแผนของประเทศที่เป็นนิคส์รุ่นสอง (อย่างมาเลเซีย) ซึ่งตกอยู่ใต้การนำของรัฐและทุนต่างประเทศ และยังต่างจากต้นแบบของประเทศในละตินอเมริกาที่อยู่ใต้การนำของทุนต่างชาติอีกด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกของไทย พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ (2538 และ 2541) บรรยายว่า เป็นแบบแผนที่รัฐเข้าไปแทรกแซงน้อยกว่าประเทศในเอเชียด้วยกันบางประเทศมากนัก แม้จะมีบทบาทแข็งขันกว่าของที่ละตินอเมริกาก็ตาม บทบาทนำในคลื่นแต่ละลูกของการกระจายรูปแบบการผลิตเพื่อการส่งออกตกเป็นของทุนไทยในประเทศ ซึ่งโดยปกติจะเกี่ยวพันกับกลุ่มทุนคนจีนอพยพ (Chinese-immigrant capital groups) ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ โดยปกตินักลงทุนในประเทศ มักจะกดดันให้รัฐส่งเสริมกิจกรรมที่พวกเขาลงมือทำไปแล้วมาโดยตลอด
โดยส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้จะมีการขยับขยายกิจกรรมของวิสาหกิจที่มีอยู่แบบยืดๆหดๆ โดยทำการผลิตชิ้นส่วนด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นบ้าง (Upstream production) หรือไม่ก็เพิ่มมูลค่าการผลิตในระดับที่ต่ำให้สูงขึ้นบ้าง (Downstream value-added) โดยปกติพวกนี้จะซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรือไม่ก็ขวนขวายหาผู้ร่วมทุนเข้ามาเป็นฝ่ายจัดหาเทคโนโลยีให้
มาในช่วงหลังๆเท่านั้น ที่บรรษัทข้ามชาติ (Transnational corporations-TNCs หรือเรียกสั้นๆว่า ทีเอ็นซีส์) ของต่างชาติสามารถทะลวงเข้าไปยึดกุมภาคการผลิตบางภาคได้แบบเบ็ดเสร็จ จนสามารถผลักให้พ้นไปหรือไม่ก็ซื้อหุ้นของผู้บุกเบิกกิจการฝ่ายไทยได้ทั้งหมด ในกรณีอย่างนี้ เมืองไทยก็จะคล้ายเกาหลีใต้ แต่จะต่างกันตรงที่ของไทยไม่มีกลไกรัฐ/ทหารเข้ามาแทรกแซงการทำธุรกิจ รวมทั้งไม่มีการที่รัฐเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมและคุมเข้มการให้เครดิตตามแบบของเกาหลี
ตามที่ปรากฏ ความเป็นมาในช่วงหลังๆของระบบเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าเกษตรนั้น ได้ทำรายได้ให้ถึงร้อยละ 70 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด นับย้อนขึ้นไปถึงช่วงปี 2513 เป็นต้นมา จากการที่ภาคการผลิตเฟื่องฟูขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 2523 และ 2533 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกทั้งหมดแล้ว ลดลงเหลือร้อยละ 16 ในปี 2538 อันเนื่องมาจากภาวะชะงักงันของระบบเศรษฐกิจการเกษตร เพราะอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงอย่างแรงและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะถูกการส่งออกที่มีมากกว่าของภาคการผลิต ซึ่งรวมทั้งสินค้าส่งออกจากอุตสาหกรรมการเกษตรบางตัวเบียดจนตัวลีบไป
ในช่วงนี้ ข้าวยังรักษาตำแหน่งเดิมเอาไว้ได้ โดยรักษาส่วนแบ่งการส่งออกขึ้นๆลงๆอยู่ในระหว่าง หนึ่งในสี่และหนึ่งในห้าของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ในขณะที่การส่งออกสินค้าเอชวีเอฟ ซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2513 ด้วยผลิตภัณฑ์ผลไม้และพืชผักนั้น ปรากฏว่าเอาเข้าจริงกลับมีส่วนแบ่งการส่งออกสูงกว่าข้าวในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 2523 ต่อช่วงต้นทศวรรษที่ 2533 นอกจากนั้นก็มีผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
ข้าวเคยเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญตัวแรก และก่อนหน้านี้ กลุ่มบริษัทค้าข้าวก็ได้ขยับขยายไปค้าสินค้าเกษตรตัวอื่นๆด้วย (พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ 2538 และ 2541) เมื่อรัฐให้การส่งเสริมระบบชลประทาน บริษัทพวกนี้ก็กระจายการผลิตออกไปหาพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในหน้าแล้งได้ ตามระยะที่มีคลื่นการลงทุนหนุนเข้ามาเป็นชุดๆไป จะเห็นว่าเมือง ไทยเริ่มต้นครองความเป็นเจ้าโลกด้านสับปะรดกระป๋องได้อย่างไร ตามด้วยการกระจายการผลิตไปหาเนื้อสัตว์ปีกและพืชผักแช่แข็ง
มะเขือเทศสดเป็นสินค้าพื้นฐานสำหรับการขยายย้อนหลังไปหาเมล็ดพันธุ์พืช และขยายเดินหน้าไปหาน้ำมะเขือเทศและมะเขือเทศเปียก (Tomato paste) แล้วตามมาด้วยข้าวโพดอ่อนกระป๋อง ข้าวโพดอ่อนนั้นตั้งต้นขึ้นมาจากการหาทางใช้ประโยชน์เครื่องจักรที่ทิ้งไว้เฉยๆ ที่โรงงานบรรจุมะเขือเทศเนื่องจากฤดูการเก็บเกี่ยวไม่เหลื่อมกัน แต่ไปๆมาๆแล้วข้าวโพดอ่อนก็มีค่ามากกว่า เพราะทำเงินให้ได้มากกว่าผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเสียอีก
บริษัทภาคตะวันออกเฉียงเหนือการเกษตร (Northeast Agriculture Co. Ltd.--NACO) สร้างโรงงานแปรรูปมะเขือเทศแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเปิดทำการในปี 2530 โดยใช้เทคโนโลยีแบบสำเร็จรูปใช้ได้ทันที (Turnkey basis) จากบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของอิตาลี (เบคเคอร์ [Becker] 2532) เงินลงทุนมาจากผู้ผลิตอาหารแปรรูปชั้นนำของไทย ได้แก่ บริษัทสับปะรดกระป๋อง (ถือหุ้นร้อยละ 31.5) บริษัทปลาทูนาแปรรูป (ถือหุ้นร้อยละ 10) รวมทั้งเจ้าของที่ดินในท้องถิ่นรายหนึ่ง (ถือหุ้นร้อยละ 20) และอาศัยเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank-ADB ร้อยละ 15) จากบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ของธนาคารโลก ((ร้อยละ 13.5) และจากธนาคารทหารไทย (อีกร้อยละ 10 ) (วารสารเอเชียน แอกริบิสิเนส 2530) นี่เป็นกรณีทั่วไปของไทยที่ทุนในประเทศมีบทบาทนำ โดยอาศัยประสบการณ์การประกอบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกันมาก่อน แล้วมาหาแหล่งเทคโนโลยีและทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติมภายหลัง
มาช่วงหลังๆนี้ อำนาจของตลาด (Market forces) ชักจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตมะเขือเทศเปียกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานในเมืองไทยที่สูงขึ้น บวกกับการแข่งขันในตลาดมะเขือเทศเปียกระดับล่างจากประเทศจีน ทำให้สี่ในจำนวน 14 โรงงานแปรรูปมะเขือเทศของไทยต้องเลิกกิจการไปในระหว่างปี 2538 ถึง 2541 (การสัมภาษณ์เหยาและเฉียว 2541 และการสัมภาษณ์โกวิทยากร 2541)
ในจำนวนโรงงานที่เหลืออยู่นี้ ที่เป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งที่สุดน่าจะได้แก่ บริษัทไทยสุน จำกัดซึ่งตั้งขึ้นมาทีหลังบริษัทอื่นค่อนข้างมาก เจ้าของเป็นนายทุนไต้หวันซึ่งได้เงินทุนส่วนหนึ่งจากญี่ปุ่น ไทยสุนเป็น บริษัทผลิตมะเขือเทศเปียกป้อนลูกค้าเกรดดีที่ญี่ปุ่นและที่อื่นๆ สินค้าที่ส่งแต่ละงวดจะได้รับใบสั่งซื้อจากลูกค้าในราคาสูง โดยลูกค้าจะเป็นฝ่ายกำหนดรายละเอียดของกระบวนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน การใช้สารเคมี
การเกษตร ตลอดจนรายละเอียดจำเพาะนานาประการของการแปรรูป ลูกค้าญี่ปุ่นมักจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงงานบ่อยๆและทีละนานๆด้วย (การสัมภาษณ์เหยาและเฉียว 2541) มาในตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในภาคการผลิตก็คือ การที่บริษัทของต่างชาติเริ่มเข้ามาแทนที่บริษัทของคนไทยที่เคยบุกเบิกกิจการมาก่อน แม้ว่าความได้เปรียบในการแข่งขันของไทย จะมีวิวัฒนาการมาจากรากฐานของการมีแรงงานถูกมากกว่าแรงงานมีคุณภาพก็ตาม
ต้นแบบสินค้าเอชวีเอฟของไทยนั้นแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากต้นแบบความเป็นแน็คชั้นยอดแบบบราซิล (Classic Brazil-style NAC model) ในหลายๆด้าน ลักษณะที่ถือว่าเป็น "ความเบี่ยงเบน" ที่สำคัญได้แก่ การที่การผลิตธัญพืชพื้นฐานยังคงมีอยู่ต่อไปได้ ภาคการผลิตมีบทบาทเหนือภาคการเกษตร ทุนในประเทศก็ยังคงอยู่ แม้ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ และวิวัฒนาการแบบทีละขั้นจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างหนึ่งไปสู่อีกอย่างหนึ่ง แต่เมืองไทยก็ไม่ได้เป็นนิคตามแบบที่เขาเป็นกันเพราะการเกษตรยังเป็นฐานที่แข็งแกร่งอยู่ในขณะที่บทบาทของรัฐก็อ่อนกว่าที่อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ภาวะของตลาดโลก ก็เริ่มจะมีผลกระทบอย่างแรงต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในช่วงไม่ช้าไม่นานมานี้ ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่สูงขึ้นกับผลกระทบจากคู่แข่งอย่างจีน เป็นตัวสร้างความเสียหายให้แก่ความได้เปรียบด้านการแข่งขัน (Competitiveness) ของบริษัทไทยหลายแห่ง ไม่ต่างอะไรจากการที่อำนาจของตลาดและบทบาทเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกองทุนรวม (Hedge funds) เคยมีบทบาทในการพังทลายของระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมมาแล้วในช่วงปลายปี 2540 นั่นเอง (พงษ์ไพจิตรและเบเคอร์ 2541 และเบลโลและคณะ 2541)
การพังครืนของระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2540 นั้น อาจจะเปรียบเปรยได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกสินค้าเอชวีเอฟก็ว่าได้ จากการสัมภาษณ์ผู้แปรรูปมะเขือเทศ (การสัมภาษณ์เหยาและเฉียว 2541) และตัวแทนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช (การสัมภาษณ์ชมประดิษฐ์ และโกวิทยากร 2541) เมื่อกลางปี 2541 พบว่ารายได้จากการส่งออกเป็นเงินบาทมีมากขึ้น เนื่องจากการลดค่าเงินบาท รายจ่ายต่างๆอาจจะสูงขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่เท่ากับรายได้จากการส่งออกไปขาย
เนื่องจากส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการผลิต เช่น สารเคมีการเกษตรที่โรงงานผู้ซื้อต้องจัดหาให้แก่ผู้ปลูกมีองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Foreign exchange components) อยู่ นอกจากนี้ การจ้างงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเมืองอื่นๆที่พลอยพังไปด้วย ก็ทำให้เกิดกระแสการไหลกลับของประชากรจากเมืองสู่ชนบทขึ้น อาจจะมากถึงขนาดว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานในหมู่บ้านและพร้อมจะเป็นแรงงานในภาคการเกษตรขณะนี้มีมากขึ้นถึงร้อยละ 20 ก็ได้
สถานการณ์นี้ช่วยพลิกภาวะซึ่งเมื่อสามปีก่อน บริษัทเมล็ดพันธุ์พืชและโรงงานแปรรูปเคยบ่นว่าหาชาวไร่ชาวนามาทำการเกษตรครบวงจรได้ยากเต็มที ในปี 2541 ปรากฏว่าชาวไร่ชาวนาพากันมาเข้าคิวเป็นทิวแถวจนฝ่ายผู้ซื้อชี้นิ้วเลือกคนเอาได้ตามใจชอบ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้
กลุ่มบริษัทระดับโลก (Global
FilieresI) กับสินค้าระดับโลก (Global commodities):
แน็คส์อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์กับเขาด้วยหรือเปล่า
ประสบการณ์ของเมืองไทย และข้อโต้แย้งเรื่องเอชวีเอฟและสิ่งที่เรียกกันว่า "เกษตรกรรมใหม่
(New agricultures)" ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแน็คส์
เอชวีเอฟส์และระบบอาหารการเกษตรซึ่งถูกดึงเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ และการยกเลิกระเบียบข้อบังคับลงไปในช่วงทศวรรษที่
2533
ประเด็นที่ห่วงใยกันเรื่องแรกได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างการปรับโครงสร้างการเกษตร (Agricultural restructuring) กับระเบียบข้อบังคับ (Regulation) เอกสารและหนังสือที่พูดถึงระบบอาหาร (Food regimes) (ฟรีดมันน์ 2536 และ 2537) ซึ่งตั้งต้นด้วยสมมุติฐานว่าเป็นระบบที่มีระเบียบควบคุมและอยู่ตัวดีแล้วนั้น ก็ว่ากันมาเรื่อยๆจนถึงช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตน้ำมัน/ข้าวสาลีในปี 2515/2516 และการพังทลายของสถาบันเบรตตันวูดส์ อันนับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่การครอบงำของทุนการเกษตรข้ามชาติ (Transnational agri-capital) กับการยกเลิกกฎข้อบังคับของทางการกลายเป็นตัวนำให้เกิดระบบอาหารแบบใหม่แต่อาจจะไม่อยู่ตัวเสียแล้ว
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้บีบให้จำเป็นต้องมี "การปรับโครงสร้างการเกษตรแห่งชาติ และสับเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการผลิตและบริโภคอาหาร" (เรย์โนลด์ [Reynold]และคณะ 2536: 1106) ผลที่ตามมาจากการวิเคราะห์แบบนี้ก็คือบทบาทการเป็นจ้าวโลกของวงจรทุนโลก (Global capital circuits ซึ่งก็คือทุนการเกษตรข้ามชาตินั่นเอง) การกำหนดมาตรฐานการบริโภคอาหารแบบต่างๆ (Diets) การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศแบบใหม่ ระบบเศรษฐกิจสังคมที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ความเชี่ยวชาญเฉพาะภูมิภาค (Regional specialization) การจัดหาปัจจัยต่างๆจากทั่วโลก (Global sourcing) การทำให้ภาวะการผลิตเป็นไปในทางเดียวกัน (Homogenization of production conditions) และการทำลายความเป็นอิสระของรัฐ (เรย์โนลด์และคณะ 2536: 1103) บทบาทของแก็ตต์ (GATT) นาฟตา (NAFTA) และบทบาทการชี้นำของหน่วยงานการให้กู้ยืมในระบบพหุภาคีทั้งหลาย ย่อมส่งสัญญาณให้เห็นการขึ้นมาครองอำนาจของ "ระเบียบบังคับโลกของภาคเอกชน (Private global regulation)" (ฟรีดมันน์ 2536: 52)
อาจจะเป็นความคิดที่ผิดก็ได้ หากจะปฏิเสธความเข้มข้นของการยกเลิกระเบียบข้อบังคับของภาคการเกษตรในช่วงทศวรรษที่แล้วมา แต่จังหวะก้าวและทิศทางของการเปิดเสรีก็ยังคงไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนอยู่ดี การปฏิรูปที่เกิดจากข้อตกลงนาฟตา ก็ยังไม่สามารถจัดให้เป็นสุดยอดของการลดภาษีศุลกากรและการค้าเสรีได้เลย (กู๊ดแมน [Goodman] และวัตตส์ 2537)
จากการศึกษาวิจัยของโออีซีดี [OECD-Organization of Economic Cooperation and Development] (ดิอีคอนอมิสต์ 2538) เงินอุดหนุนทั้งหมดของรัฐต่อภาคการเกษตรในปี 2537 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของเงินอุดหนุนในช่วงปี 2522-2524 โดยมีข้อยกเว้นอยู่ข้อหนึ่ง ในทำนองเดียวกัน การยกเลิกระเบียบข้อบังคับของภาคการเกษตรในที่หนึ่ง ก็มักจะมีการพ่วงการออกระเบียบบังคับใหม่ (Re-regulation) เข้ามาในอีกที่หนึ่งในภาคเดียวกันขึ้นมา โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภคอาหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (มาร์สเดน [Marsden] และริกลีย์ [Wrigley] 2537) (มีกรณีน่าสนใจซึ่งกลุ่มที่ชื่อ อินรา (INRA) ที่ตูลูสนำเอาทฤษฎีการออกระเบียบข้อบังคับของฝรั่งเศสไปใช้ กับการการออกระเบียบข้อบังคับใหม่กับภาคการเกษตรแห่งชาติ (อัลแลร์ [Allaire] และโบเยอร์ [Boyer] 2537)
ในแง่นี้ เรย์โนลด์และคณะก็พูดถูกที่ชี้ไปที่เส้นทางโคจรหลากหลายเส้นซึ่งมาพร้อมกับการสร้างความเป็นสากลทางการเกษตร (Agrarian internationalization) ที่รัฐยังคงรักษาบทบาทหลักในการปรับโครงสร้างในประเทศ (Domestic restructuring) และการต่อรองให้เกิดบรรยากาศสากลที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน (Competitive global environment) เอาไว้ได้
ประเด็นห่วงใยข้อที่สองพูดถึงเรื่องธรรมชาติของกระแสโลกาภิวัตน์ และกลุ่มบริษัทสินค้าระดับโลก (Global commodity chains) ในภาคอาหารการเกษตร เห็นได้ชัดว่ามีการเร่งรัดให้เกิดการดึงบรรษัทอุตสาหกรรมการเกษตรเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ จำนวนบริษัทลูกของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก 100 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 2,070 แห่งในปี 2517 เป็น 5,173 แห่งในปี 2533 และมูลค่าก็เพิ่มจาก 121,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 517,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนของแหล่งที่มาและประเทศเจ้าบ้านก็เพิ่มขึ้นด้วย
แต่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในภาคนี้ทำให้เกิดการลงทุนข้ามภาคในกลุ่มประเทศโออีซีดีเพิ่มขึ้น มากกว่าการไปเสาะหาแหล่งที่มาในโลกและตลาดใหม่ในซีกโลกใต้เสียอีก (รามา [Rama] 2538) อันที่จริงแล้ว มีการลดลงของการลงทุนโดยตรงในภาคอาหารการเกษตร (Direct agro-food investment) ในทวีปละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียใต้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทศวรรษที่ 2523 ในขณะที่การเคลื่อนย้ายของทุนนี้ส่งผลให้มีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้ค้าปลีก โดยส่วนแบ่งของผู้ค้าปลีกอาหารรายใหญ่ที่สุด 10 แห่งในเบลเยี่ยม อังกฤษ สเปน และสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 79, 78, 66 และ 65 ของการขายทั้งหมดตามลำดับ แต่กลับไม่ส่อแววว่าจะเกิดกลุ่มบริษัทสินค้าระดับโลก ที่เป็นเอกภาพขึ้นมาในภาคการเกษตรตามแนวที่เจอเรฟฟี (Gereffi 2537) อ้างเอาไว้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการรถยนต์ (ที่ขับเคลื่อนโดยผู้ผลิต) และวงการสิ่งทอ (ที่ขับเคลื่อนโดยฝ่ายค้าปลีก)
ว่าที่จริงแล้ว ธรรมชาติจริงๆของกระแสโลกาภิวัตน์ของระบบอาหารการเกษตรนั้น ก่อให้เกิดปัญหาและมักสร้างความสับสนอยู่เป็นประจำ หากกระแสโลกาภิวัตน์จะหมายถึงการกำหนดสัณฐานและตำแหน่งแห่งที่ของตลาด (Spatial configuration of markets) การลบเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างบรรษัททั้งหลาย (Deterritorialized corporations) รูปแบบใหม่ของการจัดองค์กรบริษัทและองค์กรระหว่างบริษัท (Corporate and inter-firm organization) ซึ่งเห็นได้จากยุทธศาตร์ของการร่วมมือเป็นพันธมิตรและเครือข่าย (Strategic alliances and networks) ที่มีกรณีของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์เป็นกรณีตัวอย่างที่ยอมรับกันอยู่แล้วละก็ เห็นได้ชัดเจนว่า ภาคอาหารการเกษตรไม่มีความเป็นสากลโลกไม่ว่าในแง่ใดเลย
แม้ว่าโบนันโน (Bonanno) กับคณะ (2537) และฟรีดแลนด์ (2537) จะอ้างว่า วงการพืชผักและผลไม้สด "มีลักษณะข้ามชาติอย่างแท้จริง (Truly transnationalized)" และมี "ระบบการผลิตระดับสากล (Global production systems)" ก็ตาม ก็ยังเห็นได้ชัดอยู่ดีว่า อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้มีระบบการผลิตแบบข้ามชาติ (Transnational production systems) ซึ่งมีบูรณาการของการผลิตในแนวตั้ง (Vertically-integrated) ของหน่วยการผลิตภายใต้เจ้าของเดียวกัน(Intra-firm)
อีกทั้งบริษัทหลักๆก็ไม่มีการรวมศูนย์ทำหน้าที่ประสานงานการแบ่งงานกันทำในระดับโลก ของหน่วยการผลิตของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาดำเนินการธุรกิจบางส่วนในระดับสากล (Global outsourcing) [กู๊ดแมน อยู่ในระหว่างจัดพิมพ์]
ในหลายๆกรณี บริษัทอย่างคอนอากรา (ConAgra) และคาร์กิลล์ (Cargill) ก็ถือเป็นตัวอย่างของการดำเนินยุทธศาสตร์บรรษัทข้ามชาติแบบใช้ "บริษัทภายในหลายแห่ง (Multi-domestic)" แทนที่จะหาแหล่งปัจจัย (Sourcing) ผ่านระบบรวมศูนย์การผลิตของหน่วยการผลิตระดับโลกภายใต้เจ้าของเดียวกัน (Centralized, global intra-firm production systems)
งานของกูเวีย (Gouveia 2537) เสนอว่า ที่มีการคุยโอ่เปรียบเทียบความเหมือนระหว่างรถยนต์โลก (World car) กับโคขุนโลก (World steer) เอาไว้มากมายนั้นไม่เข้าเรื่องเลย เพราะคนที่มีบทบาทหลักขององค์กรพวกนี้ (Key corporate actors) มีลักษณะละม้ายไปทางบริษัทการค้าแบบเมอร์แคนไทล์ (Mercantilist trading companies) และ "การลงทุนแบบสวิฟต์แต่ไม่มีเงินลงทุนโดยตรงจากโพ้นทะเล" (กูเวีย 2537: 136) มากกว่า บริษัทแปรรูปและค้าปลีกอาหารบางแห่งนั้น ทำการค้าเชิงรุกระดับโลกมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้ก็จริง เช่น ไก่ทอดเค็นตั๊กกี้ แม็คโดนัลด์ เป็นต้น แต่บริษัทพวกนี้ก็ต้องวางตำแหน่งของตัวเองเอาไว้ในแผนที่ ซึ่งมีพื้นที่ของความแตกต่างและองค์ประกอบนานาประการของกลุ่มบริษัทสินค้า (Commodity fili?res) หรือกลุ่มบริษัทในระบบอาหารการเกษตรด้วยเช่นกัน (สตอร์เปอร์ [Storper] และ ซาเลส์ [Salais] 2540)
เมื่อพิจารณากลไกบูรณาการข้ามพรมแดน (Cross-border integration) และการจัดองค์กรการผลิตระหว่างประเทศให้ละเอียดแล้ว รายงาน อังค์ถัด-พีทีซี (UNCTAD-PTC 2536) จะพูดถึงขอบเขตทั้งหมดนับตั้งแต่ บริษัทในเครือแบบเดี่ยวๆ (Stand-alone) หรือ "บริษัทภายในหลายแห่ง" ไปจนถึง "บูรณาการแบบธรรมดา (Simple integration)" และที่เพิ่งมีมาเมื่อไม่นานนี้คือ "บูรณาการแบบซับซ้อน (Complex integration)"
บรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย เป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดองค์ประกอบซึ่งมีพลวัตในการกำหนดรูปแบบ (Formative dynamic element) ในขบวนการนี้ขึ้น ทั้งนี้เพราะบรรษัทเหล่านี้จะตอบสนองต่อการแข่งขัน การพัฒนาด้านนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน ดังนั้น จึงมีส่วนในการช่วยวางรูปและทำให้บูรณาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International economic integration) เข้มข้นยิ่งขึ้นอีก พูดสั้นๆก็คือ การผลิตระหว่างประเทศของบริษัท (Corporate international production) นั้น มีรูปแบบที่หลากหลายอยู่จำนวนหนึ่ง ภายใต้ฉลากรวมของโลกาภิวัตน์ ได้แก่ บริษัทสาขาแบบ "บริษัทภายในหลายแห่ง" บูรณาการแบบธรรมดาที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาช่วย และระบบบูรณาการแบบซับซ้อนในแนวตั้งและแนวระนาบ เห็นตัวอย่างได้จากบรรษัทข้ามชาติชั้นนำในวงการอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ความแตกต่างซึ่งมีให้เห็นได้ทั่วทั้งภาคส่วนต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญทั้งในแง่แนวคิดและประสบการณ์เชิงประจักษ์ (Empirical terms)
อย่างไรก็ตาม ฉลากบอกความเป็น "โลกาภิวัตน์" ซึ่งมีการอ้างอิงถึงการผลิตระหว่างประเทศที่ส่งต่องานให้กลุ่มคนนอกทำเพื่อลดต้นทุน (Outsourced international production) และบูรณาการระหว่างหน่วยการผลิตของบริษัทเดียวกัน (Intra-firm integration) ได้กลายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการศึกษาธุรกิจอาหารการเกษตรไปแล้ว ที่ต้องยอมรับกันก็คือ กลุ่มของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอาหารจำนวนหนึ่ง เช่น โคคาโคล่า แม็คโดนัลด์ เคลล็อกส์ เนสต์เล่ และยูนิลิเวอร์ ซึ่งผลิตสินค้ามีชื่อติดปากคนไปทั่วโลก ต่างก็พัฒนายุทธศาสตร์การตลาดสากล (Global marketing strategies) ของตนขึ้นมาทั้งนั้น แม้จะเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการปรับให้เข้ากับรสนิยมในท้องถิ่นก็ตาม แต่การผลิตก็มักจะทำกันในท้องถิ่นเป็นปกติ มีบริษัทผลิตหรือบริษัทขายปลีกอาหารไม่กี่รายยอมทำตามต้นแบบอุตสาหกรรมของการข้ามชาติ (Transnationalization) นั่นก็คือมีการรวมศูนย์การแบ่งงานกันทำระหว่างหน่วยการผลิตของบริษัทเดียวกันในระดับโลก โดยใช้การผลิตเป็นตัวกำหนด (Production-based) การหาแหล่งส่วนประกอบที่ใช้ในขั้นกลาง (Intermediate components) จากพื้นที่ซึ่งกำหนดเป็นการเฉพาะ (Specialized sites) เพื่อการประกอบสินค้าขั้นสุดท้าย (Final assembly)
นี่ทำให้มีคำถามขึ้นมาว่า เนื้อหาของยุทธศาสตร์ของแน็คแบบไทยๆ ซึ่งก็เหมือนๆกับต้นแบบเมื่อเทียบกับแน็คชั้นยอดแบบอื่นๆนั้น อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์หรือไม่ หรือพูดอีกอย่างก็คือ สามารถเข้าใจได้หรือไม่ว่า แน็คแบบไทยๆนี้ก็เป็นกรณีตัวอย่างแบบหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ได้ เมื่อเทียบกับกรณีของรถยนต์โลกหรือโคขุนโลก
เอกสารอ้างอิง
Allaire, G. and Boyer, R. 1994. "R?gulation et conventions dans l'agriculture et les IAA." pp. 9-29 in La grande transformation de l'agriculture. Lectures conventionnalistes et r?gulationnistes, edited by G. Allaire and R. Boyer. INRA Editions/ECONOMICA Collection Economie Agricole et Agro-alimentaire.Asian Agribusiness. 1987. "Tomato paste factory for Thailand." 4(4), July/August:5.
Becker, Truman 1989. "Asia's Most Modern Tomato Paste Factory." ADB Quarterly Review (Asian Development Bank), January:11-13.
Bello, Walden, Shea Cunningham and Li Kheng Poh. 1998. A Siamese Tragedy: Development and Disintegration in Modern Thailand. London and Oakland: Zed and Food First Books.
Bonanno, Alessandro, Lawrence Busch, William Friedland, Lourdes Gouveia and Enzo Mingione, eds. 1994. From Columbus to ConAgra: The Globalization of Agriculture and Food. Lawrence: University Press of Kansas.
Boontawee, Kampoon. 1994. A Child of the Northeast. Translated by Susan Fulop Kepner. Rosset, Rice and Watts 93 Editions Duangkamol: Bangkok.
Burch, David 1996. "Globalized Agriculture and Agri-food Restructuring in Southeast Asia: The Thai Experience." Pp. 323-344 in Globalization and Agri-Food Restructuring: Perspectives from the Australian Region, edited by David Burch, Roy E. Rickson and Geoffrey Lawrence. Aldershot, England: Ashgate Publishing.
Buckley, Katharine C. 1990. The World Market in Fresh Fruit and Vegetables, Wine, and Tropical Beverages - Government Intervention and Multilateral Policy Reform Washington, DC: Commodity Economics Division, Economic Research Service, USDA.
Chompradit, Visut. Interviews with Mr. Chompradit, Seed Production Manager of Asgrow Thailand (now called Seminis Vegetable Seeds), September 1995 and June 1998.
Collins, J. 1993. Gender, Contracts and Wage Work: Agricultural Restructuring in Brazil Development and Change, 24(1):53-82.
Conroy, Michael, Douglas Murray and Peter Rosset. 1996. A Cautionary Tale: Failed U.S. Development Policy in Central America. Boulder: Lynne Rienner/Food First Development Studies.
Heffernan, William and Douglas Constance. 1994. "Transnational Corporations and the Globalization of Food." In From Columbus to Conagra: The Globalization of Food an Agriculture, edited by Alessandro Bonanno, Lawrence Busch, William Friedland, Lourdes Gouveia and Enzo Mingione. Lawrence: University Press of Kansas.
Dolinsky, Diane J. 1992. "Contract Farming at Lam Man Oon: An Operational Model for Rural Development." Institute Report, East Asian Institute, Columbia University.
The Economist. 1993. Special Supplement on the Food Industry. November 16: 18.
Economist. 1995. June 3:97.
Friedland, William. 1994. "The New Globalization: The Case of Fresh Produce." Pp. 210- 231 in From Columbus to Conagra: The Globalization of Food an Agriculture,edited by Alessandro Bonanno, Lawrence Busch, William Friedland, Lourdes Gouveia and Enzo Mingione. Lawrence: University Press of Kansas.
Friedmann, Harriet. 1993. "The Political Economy of Food." New Left Review No.197:29-57.
Friedmann, Harriet. 1994. "Premature Rigor." Review of International Political Economy, 1(3): 552-561.
Goodman, David and Michael Watts. 1994. "Reconfiguring the Rural or Fording the Divide?: Capitalist Restructuring and the Global Agrofood System." Journal of Peasant Studies, 22(1):1-49.
Gouveia, Lourdes. 1994 "Global Strategies and Local Linkages." Pp. 125-148 in From Columbus to Conagra: The Globalization of Food an Agriculture,edited by Alessandro
Bonanno, Lawrence Busch, William Friedland, Lourdes Gouveia and Enzo Mingione. Lawrence: University Press of Kansas.
Groot, Simon. 1999. Written correspondence with Mr. Groot, President of East-West Seed Company in Thailand, March.
Hussain, A. and K. Tribe. 1981. Marxism and the Agrarian Question, Vol. 1. Atlantic Highlands, Humanities Press.
Jaffee, S. 1994. Exporting High Value Food Commodities. Washington, DC: World Bank.
Kautsky, Karl. 1906. La Question Agraire. Paris: Maspero.
Kimenye, L. 1993. "The Economics of Smallholder Flower and French Bean Production and Marketing in Kenya." Ph.D. dissertation, Michigan State University.
Konig, N. 1994. The Failure of Agricultural Capitalism. London: Routledge.
Kowithayakorn, Thaworn. Interviews with Mr. Kowithayakorn, Professor of Horticulture at Khon Kaen University in Khon Kaen, Thailand, February, 1996; and June, 1998.
Marsden, T, and N. Wrigley. 1994. "Regulation, Retailing and Consumption." Paper delivered to the Association of American Geographers Meeting, San Francisco.
McMichael, Philip, ed. 1995. Food and Agrarian Orders in the World Economy. New York: Praeger.
Muscat, Robert J. 1994. The Fifth Tiger: A Study of Thai Development Policy. New York 94 International Journal of Sociology of Agriculture and Food and Tokyo: M. E. Sharpe and United Nations University Press.
Phongpaichit, Pasuk, and Chris Baker. 1995. Thailand: Economy and Politics. Oxford and Bangkok: Oxford University Press and Asia Books.
Phongpaichit, Pasuk, and Chris Baker. 1998. Thailand's Boom and Bust. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books.
Rama, Ruth 1995. "Latin America and Geographical Priorities of Multinational Agroindustries." Unpublished manuscript. Paris: OECD.
Raynolds, Laura T., David Myhre, Philip McMichael, Vivian Carro Figueroa and Frederick Buttel. 1993. "The 'New' Internationalization of Agriculture: A Reformulation." World Development 21(7): 1101- 21.
Sawamis, Watcharawut. 1995. Discussion and interview with Watcharawut Sawamis, Managing Director of Hsin Seeds in Khon Kaen, August/September.
Storper, M., and R. Salais. 1997. Worlds of Production. Cambridge: Harvard University Press.
Watts, Michael. 1994a. "Life Under Contract: Contract Farming, Agrarian Restructuring, and Flexible Accumulation." In Living Under Contract: Contract Farming and Agrarian Transformation in Sub-Saharan Africa, edited by Peter D. Little and Michael J. Watts. Madison: University of Wisconsin Press.
Watts, Michael. 1994b. "Contracting, Social Labor, and Agrarian Transitions." In Living Under Contract: Contract Farming and Agrarian Transformation in Sub-Saharan Africa, edited by Peter D. Little and Michael J. Watts. Madison: University of Wisconsin Press.
Wells, Miriam J. 1996. Strawberry Fields: Politics and Work in American Agriculture. Ithaca: Cornell University Press.
Yao, Chin-Tsai, and Milton Chiou. Discussion and interview with Chin-Tsai Yao and Milton Chiou, General Manager and Marketing Manager, of Thai Soon Food Products Co., Ltd., Nong-Khai, June, 1998.
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในบทความชิ้นนี้ เราจะเจาะลึกลงไปถึงต้นตอและลักษณะของประเทศที่เรียกกันว่า "ประเทศเกษตรกรรมใหม่ (New agricultural countries-NACs หรือเรียกสั้นๆว่าแน็คส์)" โดยเน้นที่ประเทศไทยเป็นพิเศษ รวมทั้งจะเจาะลึกถึงบางมิติของความโกลาหลและความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจอาหารการเกษตร เราจะเริ่มด้วยการให้ภาพรวมโดยสรุปว่า แน็คส์เกิดขึ้นมาและมีลักษณะอย่างไร?
อย่างไรก็ตาม
ภาวะของตลาดโลก ก็เริ่มจะมีผลกระทบอย่างแรงต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในช่วงไม่ช้าไม่นานมานี้
ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่สูงขึ้นกับผลกระทบจากคู่แข่งอย่างจีน เป็นตัวสร้างความเสียหายให้แก่ความได้เปรียบด้านการแข่งขัน
(Competitiveness) ของบริษัทไทยหลายแห่ง
การพังครืนของระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2540 นั้น อาจจะเปรียบเปรยได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกสินค้าเอชวีเอฟก็ว่าได้
จากการสัมภาษณ์ผู้แปรรูปมะเขือเทศ และตัวแทนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช(การสัมภาษณ์ชมประดิษฐ์
และโกวิทยากร 2541) เมื่อกลางปี 2541 พบว่ารายได้จากการส่งออกเป็นเงินบาทมีมากขึ้น
เนื่องจากการลดค่าเงินบาท รายจ่ายต่างๆอาจจะสูงขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่เท่ากับรายได้จากการส่งออกไปขาย
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์