ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
261147
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 480 หัวเรื่อง
ข้อเสนอกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
สาลิณี สายเชื้อ
สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The Midnightuniv's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ทบทวนกฎหมายกับสิ่งแวดล้อม
นิติบุคคลก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม จะลงโทษอย่างไร?
สาลิณี สายเชื้อ
สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


หมายเหตุ : บทความเดิมชื่อ "มาตรการลงโทษนิติบุคคลที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม" (เคยตีพิมพ์แล้ว)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับต้นฉบับมาจาก ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์สังคมไทย
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4)

 

บทนำ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายในปัจจุบัน ซึ่งหากยังไม่ได้รับการแก้ไข แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อไปในอนาคต ภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่เกิดขึ้นนั้นคงไม่พ้นการกระทำของมนุษย์เรานั่นเอง และยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นมาจากองค์กร หรือนิติบุคคล อันเป็นการกระทำของกลุ่มคนที่มากกว่าสองคนขึ้นไป

มีความพยายามของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนในการที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม :ซึ่งอาจใช้วิธีการกำหนดคุณภาพในการปฏิบัติงานตามหน่วยงานต่างๆ เช่น การนำมาตรฐาน ISO มาวัดระดับคุณภาพของหน่วยงานนั้นๆ หรือการกำหนดนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการวิจัยในเชิงวิชาการของนักวิชาการเพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นต่อไป

อีกวิธีการหนึ่งที่มักนำมาใช้เสมอในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งในทางแก้ไขและป้องกัน คือ การบัญญัติกฎหมายที่นำมาใช้ในการป้องกันและปราบปราม เพื่อไม่ให้บุคคลใดก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้น ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงเฉพาะประเด็นทางกฎหมายอาญา ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดผลเสียหายขึ้นต่อสังคมส่วนรวม

โทษตามกฎหมายอาญานั้นมีอยู่ 5 ประการ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ว่า … โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำผิด มีดังนี้
(1) ประหารชีวิต
(2) จำคุก
(3) กักขัง
(4) ปรับ
(5) ริบทรัพย์สิน"

จะเห็นว่าประเภทของโทษตามกฎหมายอาญานั้น หากนำมาใช้ลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นนิติบุคคล โดยสภาพแล้วนำมาใช้ได้เพียงบางประเภทของโทษเท่านั้น คือโทษปรับ และ ริบทรัพย์ ส่วนโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง นั้นไม่อาจนำมาใช้ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากนิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นให้มีสภาพเสมือนบุคคลธรรมดา เพื่อให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือรับรองไว้

ทั้งนี้โดยสภาพความเป็นจริงการกระทำหรือการแสดงออกของนิติบุคคลจะต้องมีผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น ฉะนั้นบางครั้งนิติบุคคลจึงอาจเป็นผู้กระทำผิดได้ อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งรวมถึงการกระทำผิดอันก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นด้วย

ประเด็นปัญหาคือ จะมีทางลงโทษแก่นิติบุคคลได้อย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพนิติบุคคล อันจะนำมาซึ่งการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำผิดของนิติบุคคลได้อย่างสัมฤทธิ์ผลที่สุด

หากจะใช้มาตรการการลงโทษตามกฎหมายอาญาที่มีอยู่คือโทษปรับและริบทรัพย์นั้น คงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกระทำของนิติบุคคลได้เท่าที่ควร เพราะนิติบุคคลส่วนใหญ่มีกำลังทรัพย์หรือทุนทรัพย์ค่อนข้างมาก จำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นโทษปรับหรือริบทรัพย์ เมื่อเทียบกับกรณีของนิติบุคคลแล้วกลายเป็นเงินจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลงโทษ

เช่น คดีรถแก๊สระเบิดพลิกคว่ำที่มีผลให้คนตายหลายสิบคนยังไม่รวมผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งศาลได้มีคำตัดสินไว้ใน คำพิพากษาฎีกาที่ 3446/2537 ในคดีนี้ศาลได้ใช้ดุลพินิจลงโทษปรับนิติบุคคลผู้กระทำความผิดฐานประมาททำให้คนตาย โดยลงโทษปรับเพียง 20,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ฯลฯ คดีนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหาว่าการนำกฎหมายอาญามาปรับใช้ลงโทษแก่นิติบุคคลนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ และการลงโทษนั้นจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลงโทษได้มากน้อยเพียงใด

วัตถุประสงค์ของการลงโทษนิติบุคคล จะต้องพิจารณาถึงสิ่งหวงแหนของนิติบุคคลก่อน หากการลงโทษมีผลกระทบต่อสิ่งที่นิติบุคคลหวงแหน ก็น่าจะมีผลในการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำผิดของนิติบุคคลนั้นๆ ได้ สิ่งหวงแหนของนิติบุคคล ได้แก่ (1)

1. เสรีภาพในการประกอบกิจการของนิติบุคคล
2. เสรีภาพในการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
3. เสรีภาพในการมีชื่อเสียงอันมาจากความน่าเชื่อถือของนิติบุคคล

ฉะนั้น หากการลงโทษนิติบุคคลไปมีผลกระทบต่อสิ่งดังกล่าวมานี้ ย่อมจะเกิดประสิทธิภาพในการลงโทษมากขึ้น ดังนั้น การจัดประเภทของโทษไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง

ในต่างประเทศรูปแบบของการลงโทษในกรณีที่นิติบุคคลกระทำผิดนั้นมีหลายประการ เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมาตรการที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยก็อาจจะทำให้เกิดแนวทางใหม่ที่สอดคล้องเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

การลงโทษนิติบุคคลในประเทศระบบ common law : ศึกษาเฉพาะกรณีประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีการลงโทษนิติบุคคลที่กระทำผิดไว้หลายรูปแบบ ดังนี้

1. โทษปรับ จำนวนค่าปรับจะคำนึงถึงฐานะการเงินและขนาดของผู้กระทำผิด เพื่อเป็นการตัดมิให้ผู้กระทำผิดได้ประโยชน์จากการกระทำผิด

2. การคุมประพฤติ (Probation) เช่น การให้นิติบุคคลทำงานด้านบริการสังคมหรือช่วยเหลือสังคม (Community Service) ตัวอย่างเช่นในคดี UNITED STATES V. MITSUBISHI INTERNATIONNAL CARP.,677 FED 785 (9TH CIR.1982) ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับอย่างสูงไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์ของทุกจำนวนแห่งค่าเสียหาย ศาลรอการลงโทษแต่จำนวนค่าปรับ 1,000 ดอลลาร์แห่งค่าเสียหายกำหนดให้คุมประพฤติ โดยกำหนดเงื่อนไขพิเศษให้ผู้บริหารของบริษัทจำเลยมาช่วยพัฒนางานในโครงการ Community Alliance Program เป็นเวลา 1 ปี และนำเงินมาช่วยโครงการดังกล่าว 10,000 ดอลลาร์ สำหรับแต่ละความผิด (2)

3. โทษริบทรัพย์ เป็นการริบทรัพย์ที่ได้มาจากการะทำผิดทั้งหมด ซึ่งรวมถึงประโยชน์ต่างๆ ที่งอกเงยเข้ามาภายหลังด้วย การริบทรัพย์ยังรวมไปถึงทรัพย์ของบุคคลภายนอก ที่นำมาใช้ในการกระทำผิดด้วย ทั้งนี้จะไม่ใช้เพียงหลักความไม่มีส่วนรู้เห็นของบุคคลภายนอกในการกระทำผิดมาเป็นเกณฑ์ที่จะริบทรัพย์นั้นหรือไม่ แต่จะพิจารณาจากหลักที่ว่าถ้าบุคคลภายนอกนั้น ประมาทไม่จัดหาทางป้องกันตามควรจนทำให้มีผู้เอาทรัพย์ของตนไปใช้ในการกระทำความผิด บุคคลภายนอกก็ต้องถูกริบทรัพย์นั้นไปด้วย

4. การแจ้งผู้เสียหาย (Notice to Victim) เป็นมาตรการในการลดความน่าเชื่อถือของนิติบุคคลอย่างหนึ่ง อาจทำโดยการแจ้งทางไปรษณีย์ หรือประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ หรือสื่อต่างๆ

5. การชดใช้ความเสียหาย (Restitution) เป็นมาตรการทางแพ่งอย่างหนึ่ง เช่น ในคดีละเมิดศาลอาจให้ผู้กระทำผิดทำงานแทนผู้เสียหาย ในกรณีที่ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บต้องขาดงานในระหว่างรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หรือหากผู้กระทำผิดถูกคุมประพฤติอยู่ และไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งให้แก่ผู้เสียหาย ศาลอาจเพิกถอนการคุมประพฤตินั้น

จะเห็นว่าการลงโทษนิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น จะนำทั้งมาตรการต่างๆ และโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งมากำหนดรูปแบบของการลงโทษนิติบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้การลงโทษเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลงโทษนิติบุคคลให้ได้มากที่สุด

การลงโทษนิติบุคคลในระบบ civil law : ศึกษาเฉพาะกรณีประเทศฝรั่งเศส
รูปแบบการลงโทษนิติบุคคลนั้นเป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส มี 2 ลักษณะดังนี้ (3)

1. โทษขั้นอุกฤษโทษและมัธยโทษ แบ่งออกเป็น ดังนี้

1.1 โทษปรับ แยกเป็นกรณีของบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล โทษปรับนิติบุคคลนั้นจะสูงเป็น 5 เท่าของโทษปรับสูงสุดที่กำหนดไว้สำหรับบุคคลธรรมดา

1.2 โทษที่กำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับนิติบุคคล ซึ่งการกำหนดโทษลักษณะนี้จะเทียบกับโทษที่ลงกับบุคคลธรรมดาเป็นเกณฑ์ แบ่งออกดังนี้

ก) ลงโทษโดยการยกเลิกกิจการของนิติบุคคล (Dissolution) ใช้ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำผิดอย่างร้ายแรง การลงโทษในรูปแบบนี้เทียบได้กับการลงโทษจำคุกบุคคลธรรมดากว่า 5 ปีขึ้นไปจนถึงโทษประหารชีวิต การลงโทษในรูปแบบนี้เหมาะกับกิจการที่ประกอบการมานาน และได้กระทำผิดร้ายแรงกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

ข) ลงโทษโดยการห้ามประกอบกิจการนั้นๆ หรือยกเลิกใบอนุญาตต่างๆ (interdiction d'excrcer une activatee) ซึ่งการห้ามประกอบกิจการบางอย่างนี้ จะกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 5 ปี การลงโทษรูปแบบนี้เป็นไปเพื่อจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการของนิติบุคคล ซึ่งเทียบได้กับการลงโทษจำคุกบุคคลธรรมดา

ค) ลงโทษโดยการให้นิติบุคคลถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ของศาล (pleacement sous surveillance judiciaier) โดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี การดำเนินงานของนิติบุคคลจะต้องขอความเห็นชอบจากศาลและอาจถูกตรวจสอบได้เสมอ เป็นการลงโทษที่จำกัดเสรีภาพของนิติบุคคลอย่างหนึ่ง

ง) ลงโทษโดยการปิดกิจการ (fermeture) โดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งอาจปิดกิจการเฉพาะสาขาของนิติบุคคลที่ก่อปัญหาขึ้นก็ได้ เช่น การที่โรงงานย่อยหรือสาขาย่อยของนิติบุคคลนั้น ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยการปล่อยน้ำเสีย กรณีนี้โรงงานย่อยก็จะถูกปิดกิจการลง แต่นิติบุคคลสำนักงานใหญ่ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้

จ) ลงโทษโดยการสั่งห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นมีสิทธิเข้าประมูลงานของรัฐ (Exclusion des marches publics) ซึ่งเป็นการกำหนดห้ามโดยไม่มีกำหนดเวลาหรือกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 5 ปี กรณีนี้เป็นการลงโทษที่มีผลเป็นการตัดรายได้ของนิติบุคคลนั้น

ฉ) ลงโทษโดยการสั่งห้ามระดมทุนจากมหาชน (interdiction de faire appel public a l' epargne) อาจห้ามโดยกำหนดเวลาหรือมีการกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 5 ปี ห้ามไปถึงการระดมทุนโดยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหรือจากประชาชนทั่วไป ผลของการลงโทษประเภทนี้ คือ ทำให้นิติบุคคลประกอบกิจการและขยายกิจการได้ยากขึ้น เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินที่จะเป็นทุนหมุนเวียนได้

ช) ลงโทษโดยการห้ามมิให้ออกเช็คหรือการใช้บัตรเครดิตต่างๆ (interdictiond' emettre des cheques) เป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

ซ) ลงโทษโดยการริบทรัพย์ (Confiscation) เป็นการริบทรัพย์ที่ใช้หรือจะใช้กระทำความผิดหรือที่ได้มาจากการกระทำความผิด

ฌ) ลงโทษโดยการประกาศคำพิพากษาว่านิติบุคคลนั้นๆ เป็นผู้กระทำความผิด อันมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของนิติบุคคลนั้นๆ อาจเป็นการประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ หรือตามสื่อต่างๆ

2) โทษขั้นลหุโทษ มีดังนี้

2.1) โทษปรับ ในอัตราสูงสุดคือ 5 เท่าของโทษปรับที่กำหนดไว้สำหรับบุคคลธรรมดา

2.2) โทษจำกัดสิทธิในการห้ามออกเช็คมีกำหนดไม่เกิน 1 ปี เว้นแต่เป็นการออกเช็คเพื่อเบิกเงินสด หรือการห้ามใช้บัตรเครดิต

การบัญญัติโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลตามกฎหมายอาญาฝรั่งเศสนั้น เป็นการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเป็นการเฉพาะให้นิติบุคคลมีความรับผิดทางอาญาและกำหนดโทษเอาไว้ ผลของรูปแบบการลงโทษนิติบุคคลของประเทศฝรั่งเศสนี้ ทำให้นิติบุคคลเกิดความระมัดระวังในการประกอบกิจการ มิให้เกิดผลกระทบหรือเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน เพราะโทษที่นิติบุคคลได้รับนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อตัวนิติบุคคล มิใช่ตัวแทนของนิติบุคคล อันเป็นการลดการกระทำผิดของนิติบุคคลลงได้มาก ทำให้การดำเนินการบังคับโทษกับนิติบุคคล เป็นไปโดยชอบธรรมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการลงโทษ (4)

การลงโทษนิติบุคคลในประเทศไทย
มุมมองของนักกฎหมายมีความเห็นหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโดยสภาพของนิติบุคคลนั้นไม่อาจมีความรับผิดทางอาญาได้ เพราะนิติบุคคลไม่อาจกระทำการหรือมีเจตนาในการกระทำที่เป็นหลักในการพิจารณาความรับผิดทางอาญาอย่างบุคคลธรรมดาได้ (5) อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า นิติบุคคลควรจะมีความรับผิดทางอาญาได้ (6) นิติบุคคลอาจแสดงเจตนาได้โดยทางผู้แทนนิติบุคคล หากการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้นเป็นไปตามขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ก็ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำของนิติบุคคลได้

กฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษนิติบุคคลในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ
1. กฎหมายที่บัญญัติลงโทษนิติบุคคลโดยตรง ในที่นี้ศึกษาเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้แก่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 63 บัญญัติไว้โดยตรงให้นิติบุคคลต้องมีความรับผิดโดยกำหนดว่า

"ในกรณีห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือนิติบุคคลอื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นความผิดนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย"

หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 111 กำหนดให้ "กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลหรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำผิดนั้น" ซึ่งเป็นการบัญญัติเอาผิดแก่ผู้แทนนิติบุคคลโดยตรง

มีผู้ให้ความเห็นว่า กรณีนี้เป็นบทสันนิษฐานให้ผู้แทนนิติบุคคลรับผิดในเบื้องต้น แต่เป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาด หากผู้แทนนิติบุคคลนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำผิดนั้นก็พ้นจากความรับผิดไป และมองว่าการบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้ คล้ายกับหลักเกณฑ์เรื่องความรับผิดในการกระทำของผู้อื่น (Vicarious Liability) (7)

การบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้ ทำให้ศาลมีอำนาจในการที่จะพิจารณาลงโทษนิติบุคคลที่กระทำผิด โดยอาศัยบทบัญญัติที่มีอยู่ของกฎหมายเหล่านี้ เป็นการที่ศาลพิจารณาพิพากษาคดีไปตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ เป็นการปรับใช้กฎหมายของศาล ซึ่งเป็นไปตามนิติวิธีของระบบ civil law ที่ประเทศไทยยังคงใช้ระบบนี้อยู่

2. กฎหมายที่บัญญัติเอาผิดต่อผู้กระทำผิดที่มีฐานะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ในที่นี้ศึกษาเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 กำหนดความผิดของ "ผู้ถือประทานบัตร", พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กำหนดความผิดของ "ผู้รับสัมปทาน" ในกรณีนี้ หากนิติบุคคลเป็นผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับสัมปทานไปกระทำการฝ่าฝืน ก็อาจมีความรับผิดได้ตามกฎหมายนี้

นอกจากนี้ถึงแม้ว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติเอาผิดชัดเจนกับนิติบุคคลก็ตาม แต่แนวทางของศาลไทยยังคงพิจารณาความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล โดยอาศัยโครงสร้างความรับผิดทางอาญาเป็นเกณฑ์ ดังนี้

ก. องค์ประกอบภายนอก
- ผู้กระทำ มองว่านิติบุคคลอาจเป็นผู้กระทำสำหรับความผิดที่ต้องกระทำโดยเจตนา โดยพิจารณาว่า หากเป็นการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลได้แสดงเจตนาอันใด ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้แทนในทางการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล เจตนานั้นก็ผูกพันนิติบุคคลและต้องถือว่าเป็นเจตนาของนิติบุคคลนั้นเอง นิติบุคคลจึงเป็นผู้กระทำสำหรับความผิดที่ต้องการเจตนาได้

นิติบุคคลอาจเป็นผู้กระทำสำหรับความผิดที่ไม่ต้องการเจตนา หากการกระทำนั้นเป็นของนิติบุคคลซึ่งได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล และนิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น (8)

- การกระทำ โดยสภาพนิติบุคคลไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือรู้สำนึกได้ แต่ศาลก็ได้วางแนวทางให้นิติบุคคลสามารถมีการกระทำได้ โดยผ่านทางการกระทำของผู้แทนนิติบุคคล เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1669/2506 ได้วางแนวไว้ว่านิติบุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อ ความผิดทางอาญานั้น ผู้แทนของนิติบุคคลได้กระทำไปในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นๆ และนิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นๆ

ข. องค์ประกอบภายในคือเจตนาหรือเจตนาพิเศษ
มีการวางแนวไว้ว่า เจตนาของนิติบุคคลนั้นย่อมแสดงออกทางผู้แทนนิติบุคคล ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 เมื่อผู้แทนของนิติบุคคลแสดงเจตนาอันใด ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้แทนในทางการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล เจตนานั้นก็ผูกพันและต้องถือว่าเป็นเจตนาของนิติบุคคลนั้นเอง

ในประการหลังนี้ มีนักกฎหมายบางท่านไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัย ให้นิติบุคคลมีความรับผิดในทางอาญาโดยที่ไม่มีกฎหมายสนับสนุนอย่างชัดเจน และการนำโครงสร้างความรับผิดทางอาญามาปรับใช้กรณีความรับผิดของนิติบุคคล ก็ดูขัดต่อสภาพของนิติบุคคลเอง ไม่ว่าในส่วนของการกระทำ ซึ่งโดยสภาพของนิติบุคคลไม่มีตัวตนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้โดยรู้สำนึก จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีการกระทำในทางอาญาเกิดขึ้นโดยนิติบุคคลเป็นผู้กระทำ

ในส่วนของเจตนาก็เช่นกัน นิติบุคคลไม่มีชีวิต จิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดอย่างบุคคลธรรมดาทั่วไป การที่นำเจตนาของนิติบุคคลในทางแพ่งตาม มาตรา 70 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาปรับใช้กับเจตนาทางกฎหมายอาญา ทำให้ผิดจากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายอาญาที่ว่า เจตนาตามกฎหมายอาญาหมายถึงเจตนาของบุคคลธรรมดาเท่านั้น (9)

ประการสุดท้าย นักกฎหมายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า การที่ศาลไทยพิพากษาลงโทษนิติบุคคลให้รับผิดทางอาญาได้โดยอาศัยโครงสร้างความรับผิดทางอาญานั้น ขัดต่อนิติวิธีของระบบ civil law เนื่องจากในระบบ civil law นั้นการกำหนดนโยบายว่า กรณีอย่างใดบ้างที่นิติบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญานั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะออกกฎหมายเพื่อกำหนดโทษของนิติบุคคล เพื่อป้องกันการที่นิติบุคคลจะแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนศาลนั้นเป็นฝ่ายที่ปรับใช้กฎหมายสำหรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น คำพิพากษาจึงไม่ใช่ตัวบทกฎหมายแต่อย่างใด ต่างจากระบบ common law ที่คำพิพากษาเป็นแนวทางให้เดินตาม หรือเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของกฎหมาย (10)

ในส่วนของผู้เขียนเห็นว่า ควรที่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเป็นกรณีเฉพาะให้นิติบุคคลต้องรับผิด หากมีการกระทำอันส่งผลเสียหายแก่สาธารณชนส่วนรวม โดยเฉพาะการก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้น และหากศาลจะมีการพิจารณาลงโทษนิติบุคคลก็สามารถทำได้อย่างถูกต้อง เพราะมีกฎหมายสนับสนุนให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีโดยเป็นไปตามนิติวิธีของ civil law

เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเน้นเฉพาะกรณีของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่ (11)

- พระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร์ศก 121 เช่น มาตรา 6 บัญญัติว่า "ถ้าหากว่าสามารถจะทำได้อย่างอื่นแล้ว ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเอาหยากเยื่อ ฝุ่น ฝอย หรือสิ่งโสโครกเททิ้งในคลอง และห้ามมิให้ทิ้งสิ่งของดังกล่าวมาแล้ว ลงในทางน้ำลำคู ซึ่งเลื่อนไหลมาลงคลองได้ ถ้าผู้ใดกระทำผิดต่อมาตรานี้ ให้ปรับผู้นั้น 20 บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับและจำทั้งสองสถาน"

- พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 เช่น มาตรา 6 กำหนดโทษปรับครั้งหนึ่งไม่เกิน 10 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 วัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 7 กำหนดโทษปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน 100 บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับแลจำทั้งสองสถาน

- พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เช่น มาตรา 119 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย และมาตรา 119 ทวิ กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษ หรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย และมาตรา 204 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เช่น มาตรา 108 กำหนดโทษปรับผู้รับสัมปทานไม่เกินหนึ่งแสนบาท หากไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 75

- พระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. 2526 เช่น มาตรา 19 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 22 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งพันบาท

- พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เช่น มาตรา 74 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เช่น มาตรา 57 กำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

- พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เช่น มาตรา 54 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 เช่น มาตรา 45 กำหนดโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท โดยไม่มีโทษจำคุก อย่างไรก็ดีหากผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่เกรงกลัวต่อโทษปรับ กฎหมายฉบับนี้มาตรา 39 ให้อำนาจแก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผู้ที่ปลัดกระทรวงมอบหมายสั่งหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวหรือสั่งปิดโรงงานได้

- พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ในหลายมาตรากำหนดโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับไว้เช่นเดียวกัน แต่ที่น่าสังเกตคือในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 32 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่จะต้องไม่เกินหนึ่งปี และถ้าเป็นกรณีสำคัญก็อาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเสียก็ได้ (หมายถึงใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออกและครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย)

จากตัวอย่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ยกมาข้างต้น จะเห็นว่าโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ส่วนใหญ่ คือ โทษจำคุก กับโทษปรับและกฎหมายบางฉบับอัตราโทษปรับก็ล้าสมัยไปแล้ว เช่น พระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทร์ศก 121 และพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 คือ กำหนดอัตราค่าปรับไว้เป็นจำนวนน้อยมาก

ส่วนโทษประการอื่นเท่าที่พบก็ได้แก่ การสั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราวหรือสั่งปิดโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือพักใช้ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ในส่วนนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าการที่มีกฎหมายเฉพาะในลักษณะนี้เป็นการสมควรอยู่ แต่ประเภทของโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลนั้น ควรบัญญัติแยกไว้กับกรณีของการลงโทษบุคคลธรรมดา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการลงโทษให้ได้มากที่สุด อันเนื่องมาจากสภาพของนิติบุคคลเองที่ต่างจากบุคคลธรรมดาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้โดยการกำหนดประเภทของโทษที่จะใช้บังคับแก่นิติบุคคลไว้เช่นเดียวกับกฎหมายฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจ เช่น

การยกเลิกกิจการของนิติบุคคล, การปิดกิจการ, การห้ามประกอบกิจการ, การให้นิติบุคคลถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ของศาล, การสั่งห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นมีสิทธิเข้าประมูลงานของรัฐ, การห้ามมิให้ออกเช็คหรือการห้ามใช้บัตรเครดิตต่างๆ, การสั่งห้ามระดมทุนจากมหาชน, การประกาศคำพิพากษาว่านิติบุคคลนั้นๆ เป็นผู้กระทำผิด, การบริการสาธารณะ, การแจ้งให้ผู้เสียหายทราบถึงการกระทำผิดของนิติบุคคลนั้น ฯลฯ

ผู้เขียนเห็นว่าควรต้องกำหนดไว้ชัดเจนทั้งตัวบทกฎหมายและโทษ เพราะจะได้เป็นไปตามระบบ civil law ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ หากผู้บังคับใช้กฎหมายดำเนินการอย่างใดไปโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ก็อาจจะเกิดปัญหาโต้แย้งได้ว่าไม่ถูกนิติวิธีในระบบcivil law อย่างเช่นกรณีที่ศาลไทยพิจารณาให้นิติบุคคลมีความรับผิดทางอาญา โดยอาศัยโครงสร้างความรับผิดทางอาญาดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเห็นว่า กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเอาผิดแก่กรณีของนิติบุคคลไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันสภาพนิติบุคคลก็ไม่อาจปรับได้กับโครงสร้างความรับผิดทางอาญาได้

และการบัญญัติกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ยังก่อให้เกิดประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ ฝ่ายที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งองค์กรภาครัฐทั้งที่เป็นวิถีปกติ หรืออีกนัยหนึ่งองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางศาลอันได้แก่ ตำรวจ อัยการและศาล และองค์กรนอกวิถีปกติ อันได้แก่กรมควบคุมมลพิษ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมเจ้าท่า ฯลฯ (12) สามารถนำกฎหมายที่มีโทษหรือสภาพบังคับ (Sanction) มาใช้เป็นกลไกที่สำคัญในอันที่จะใช้เป็นเครื่องมือทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมาย เกิดความเกรงกลัวต่อภัยที่จะได้รับจากการละเมิดหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย (13)

ดังนั้น หากเป็นการบัญญัติกฎหมายเพื่อลงโทษนิติบุคคลตามกฎหมายไทยแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับระบบกฎหมาย civil law อันเป็นระบบกฎหมายที่ประเทศไทยใช้อยู่ และเพื่อไม่เป็นการขัดต่อแนวความคิดทางกฎหมายอาญา ในส่วนของโครงสร้างความรับผิดทางอาญาบางประการ ผู้เขียนจึงเห็นว่า การบัญญัติกฎหมายกรณีนี้ควรบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติต่างๆ แต่ไม่จำเป็นต้องไปจัดอยู่ในกฎหมายอาญาอย่างในประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ในส่วนของโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลนั้น ผู้เขียนเห็นควรพิจารณาแยกออกเป็น 2 กรณี คือ

1. กรณีโทษปรับ ควรใช้เกณฑ์ในการกำหนดค่าปรับให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำผิด ดังเช่นในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล ไม่ควรคิดค่าปรับในจำนวนเดียวกับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลธรรมดา หรืออย่างในประเทศฝรั่งเศสที่โทษปรับนิติบุคคลจะสูงเป็น 5 เท่าของโทษปรับบุคคลธรรมดา

2. ผู้เขียนเห็นว่า ควรนำโทษที่บังคับใช้อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาของประเทศฝรั่งเศส สำหรับกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดมาบัญญัติไว้ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรูปของพระราชบัญญัติต่างๆ โดยบัญญัติแยกประเภทของโทษที่จะลงในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดต่างหากจากกรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำผิด เนื่องจากว่าโทษที่กฎหมายฝรั่งเศสบัญญัติไว้นั้น ค่อนข้างกระทบต่อสิ่งที่นิติบุคคลหวงแหนโดยตรง ฉะนั้นก็น่าที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการลงโทษได้ตามวัตถุประสงค์ของการลงโทษ อันจะนำมาซึ่งการลดการกระทำผิดของนิติบุคคลได้มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดต่อกฎหมาย

นอกจากนี้การที่นิติบุคคลก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นนั้น ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดผลกระทบหรือผลเสียหายมากแก่สังคม เช่น คดีรถแก๊สระเบิด, คดีที่ผู้เสียหายได้รับสารพิษโคบอลจากเครื่องฉายกัมมันตภาพรังสีในจังหวัดสมุทรปราการ ฯลฯ ดังนั้น จึงควรกำหนดมาตรการเสริมเข้ามาเพื่อเป็นการชดใช้ให้แก่สังคมอย่างหนึ่งคือการให้บริการสาธารณะ ทั้งนี้ไม่รวมถึงการชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่กรณีหรือผู้เสียหายต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากอีกชั้นหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง
(1) อภิวรรณ โพธิ์บุญ อักษรสุวรรณ, "ความผิดที่กระทำโดยนิติบุคคล: ศึกษาเฉพาะโทษที่จะลงแก่นิติบุคคล", วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2543, หน้า 22
(2) เสมอแข เสนเนียม, "มาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยอาศัยการบริการสังคม", วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536 หน้า 87
(3) สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, "ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล : และศึกษาเปรียบเทียบทางนิติวิธีในประเทศคอมมอนลอว์และซีวิลลอว์", วารสารนิติศาสตร์.ปีที่ 25 ฉบับที่ 4(2538), หน้า 684-707
(4) อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 1 , หน้า 44.
(5) Francis F. Joseph, Criminal Responsibility of the Corporation, Illinois Law Review, p. 309. อ้างถึงในสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, "ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล". วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 (2536) หน้า 528

(6) ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, "ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล" วารสารกฎหมาย ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (2520) หน้า 130
(7) วงศ์ศิริ ศรีรัตน์ เทียนฤทธิเดช, "ความรับผิดทางอาญาของผู้บริหารนิติบุคคล", วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 23 (2531) หน้า 552.
(8) สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, "ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล", วารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 3, 2536,หน้า 541.
(9) หยุด แสงอุทัย, บันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 1144/2493 , หน้า 1194
(10) อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 8, หน้า 545-550

(11) อำนาจ วงศ์บัณฑิต, กฎหมายสิ่งแวดล้อม (กรุงเทพมหานคร: บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2545) หน้า 231-267 และ หน้า 393
(12) สุนีย์ มัลลิกะมาลย์, การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม) หน้า 49-50.
(13) ศูนย์กฎหมายและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมฯ, "การบังคับใช้กฎหมายในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน", เอกสารสรุปผลการสัมมนา จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ศูนย์กฎหมายและพัฒนาสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานอัยการสูงสุด,กรุงเทพมหานคร, 9-10 กุมภาพันธ์ 2538

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบดัดแปลง บทความเรื่อง "นิติบุคคลก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม จะลงโทษอย่างไร" เขียนโดย สาลิณี สายเชื้อ สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช.

กรณีโทษปรับ ควรใช้เกณฑ์ในการกำหนดค่าปรับให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำผิด ดังเช่นในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล ไม่ควรคิดค่าปรับในจำนวนเดียวกับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลธรรมดา หรืออย่างในประเทศฝรั่งเศสที่โทษปรับนิติบุคคลจะสูงเป็น 5 เท่าของโทษปรับบุคคลธรรมดา

ส่วนโทษประการอื่นเท่าที่พบก็ได้แก่ การสั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราวหรือสั่งปิดโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือพักใช้ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ในส่วนนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าการที่มีกฎหมายเฉพาะในลักษณะนี้เป็นการสมควรอยู่ แต่ประเภทของโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลนั้น ควรบัญญัติแยกไว้กับกรณีของการลงโทษบุคคลธรรมดา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการลงโทษให้ได้มากที่สุด อันเนื่องมาจากสภาพของนิติบุคคลเองที่ต่างจากบุคคลธรรมดาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้โดยการกำหนดประเภทของโทษที่จะใช้บังคับแก่นิติบุคคลไว้เช่นเดียวกับกฎหมายฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจ เช่น การยกเลิกกิจการของนิติบุคคล, การปิดกิจการ, การห้ามประกอบกิจการ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์