บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 473 หัวเรื่อง
งานวิจัยกฎหมายแก้ความยากจน
ไพสิฐ พาณิชย์กุล และคณะ
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กฎหมายแก้ปัญหาความยากจน
บทสังเคราะห์
กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความยากจน
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
และ คณะผู้วิจัย
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 473
หมายเหตุ : ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ประสานงานชุดโครงการการวิจัยเกี่ยวกับ
"กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความยากจน" (ระยะที่ 1) สกว.
การสังเคราะห์เบื้องต้นนี้เป็นการกระทำโดยผู้สังเคราะห์ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานวิจัย
ดังนั้นบรรดาความไม่ครอบคลุมทั้งหลายที่เกิดขึ้น หรือ ทัศนะมุมมองว่าอะไรเป็นหรือไม่ป็นปัญหาจึงเป็นทัศนะส่วนตัวของผู้สังเคราะห์
และการสังเคราะห์ในเบื้องต้นครั้งนี้ เป็นการสังเคราะห์ในเชิงที่เป็นการประมาณคาดการณ์
เพื่อรายงานถึงภาพกว้างๆที่จะเป็นฐานในการที่จะนำไปสู่การศึกษาตั้งคำถามในเชิงเจาะลึกในโอกาสต่อไป
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
12 หน้ากระดาษ A4)
บทนำ
สกว. ได้สนับสนุนการดำเนินการเพื่อพัฒนาชุดโครงการวิจัยเกี่ยวกับ " กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความยากจน"
(ระยะที่ 1) ในระยะแรกนี้มีวัถตุประสงค์เพื่อต้องการที่จะพัฒนาโจทย์วิจัยที่จะสนับสนุนการวิจัยในลำดับต่อๆไป
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาชุดโครงการวิจัยนี้ให้ความสำคัญหรือมีจุดเน้นที่ ต้องการที่จะพัฒนาระบบกฎหมายทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับ "ชุมชน" ในความหมายอย่างกว้างทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนเอง และทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ที่มิได้มุ่งหมายความเฉพาะกฎหมายที่เป็นตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่รวมถึงกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่มีผลใช้บังคับในสังคม ทั้งระบบซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบกฎหมายที่สังคมในระดับชุมชนใช้กันจริงๆด้วย นอกจากระบบกฎหมายของรัฐหรือกล่าวเฉพาะเจาะจงก็คือของราชการ
ดังนั้น ในการเริ่มต้นวางตัวแบบของชุดโครงการ เนื้องานส่วนหนึ่งจะเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยที่ สกว.ฝ่าย4 (ฝ่ายชุมชน) ได้สนับสนุน โดยระยะแรกของการพัฒนาโจทย์การวิจัย ได้เลือกงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วบางส่วนของฝ่ายสี่ ที่เห็นว่าจะเป็นความจำเป็นที่จะต้องได้คำตอบจากการวิจัย เพื่อนำไปสู่การเสนอเป็นแนวทางในการป้องกันหรือแก้ปัญหาอันจะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถที่จะคาดการณ์ได้จากข้อมูลต่างๆที่ได้จากงานวิจัยและพอที่จะบอกถึงนัยในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สำหรับในส่วนนี้ตั้งใจจะสะท้อนปัญหาที่จะเป็นโจทย์ในด้านต่างๆสี่ด้านด้วยกัน โดยจะดึงจากกลุ่ม/ชุดงานวิจัยที่จะหยิบขึ้นมาสังเคราะห์ในเบื้องต้น ดังต่อไปนี้ คือ
กลุ่มงานวิจัยเกี่ยวกับ "ชุมชนกับการบริหารจัดการท้องถิ่น"
กลุ่มงานวิจัยเกี่ยวกับ "ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม"
กลุ่มงานวิจัยเกี่ยวกับ "ปัญหาในการใช้สิทธิต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ของชุมชนหรือของกลุ่มต่างๆ"
กลุ่มงานวิจัยเกี่ยวกับ " ระบบการจัดสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย"
และจากโจทย์ที่จะได้จากการสังเคราะห์ต่อยอดจากงานวิจัยดังกล่าว ได้วางกรอบแนวทางที่จะสามารถนำไปสู่ การแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือมีนวัตกรรมใหม่ๆในระบบกฎหมาย ที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบกฎหมาย ในส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายๆส่วนในโครงสร้างของระบบกฎหมายดังต่อไปนี้
1. ระบบความคิด/ความเชื่อ/อุดมการณ์ในทางกฎหมาย
2. ระบบองค์กร สถาบัน ในทางกฎหมาย
3. กลไก /ขบวนการ /ขั้นตอน ในทางกฎหมาย
4. ระบบการพัฒนาวิจัยระบบและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
5. กระบวนการในการกล่อมเกลาทางกฎหมาย ( social learning )
สำหรับในการสังเคราะห์เบื้องต้นนี้
จะสังเคราะห์สรุปจากงานสามชิ้นหลักคือ งานวิจัย ชุมชนกับการบริหารจัดการท้องถิ่น
สังเคราะห์โดย ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ งานวิจัยเรื่อง
วิถีชีวิต วิธีสู้ ขบวนการประชาชนร่วมสมัย สังเคราะห์โดย ผศ.
มาลี พฤกษ์พงศาวลี และงานวิจัยเรื่อง ชุมชนหมู่บ้านลุ่มน้ำขาน สังเคราะห์โดย
อ. สันติพงษ์ ช้างเผือก
อนึ่ง สำหรับการสังเคราะห์ในมิติทางกฎหมายในเรื่อง ระบบการจัดสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย
ยังไม่สามารถที่จะทำการสังเคราะห์ได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่สามารถหานักวิจัยที่จะทำการสังเคราะห์ในมิติทางกฎหมาย
และควรที่จะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า สำหรับในประเด็นที่ต้องการที่จะศึกษาอีกส่วนหนึ่งคือ ปัญหาในการใช้สิทธิต่างๆตามรัฐธรรมนูญของชุมชนหรือของกลุ่มต่างๆ โดยตั้งใจจะศึกษาจากการใช้สิทธิและการร้องเรียนความเดือดร้อน หรือปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับประชาชน และมีการร้องเรียนเข้าสู่ระบบต่างๆที่ทางราชการเปิดช่องทางไว้ โดยหวังว่าจะเป็นข้อมูลที่จะช่วยสะท้อนปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมและปัญหาความยากจนได้ แต่เนื่องจากข้อจำกัดในข้อกฎหมายที่ห้ามมิให้นำเรื่องที่ร้องเรียนหรือเรื่องร้องเรียนที่ยังดำเนินการแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จออกไปเผยแพร่ จึงทำให้ไม่สามารถที่ใช้ประโยชน์จากเรื่องร้องเรียนต่างๆในฐานะข้อมูลที่ส่งเข้ามาในระบบการร้องเรียนเพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเรื่องการเข้าถึงสิทธิในการที่จะได้รับการคุ้มครองเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรมได้
ผลเบื้องต้นที่ได้จากการสังเคราะห์
งานชุดโครงการวิจัยกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการในท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยคณะวิจัยที่ทำการสำรวจสภาพปัญหาจริงๆในทุกๆด้าน
ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นในช่วงระยะเวลา 6 เดือน เราได้พบปัญหาเป็นจำนวนมากมายมหาศาล
และเป็นฐานข้อมูลที่เป็นระบบซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก(ดังปรากฏตัวอย่างปัญหาในภาคผนวก)
ซึ่งสามารถที่จะประมวลภาพเพื่อทำการศึกษาวิจัยในทางกฎหมาย (หรือการวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชาร่วมกับกฎหมาย)
ภายใต้เทคนิควิธีที่หลากหลายได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยในมิติทางกฎหมายและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากระบบกฎหมาย ที่ไปเกิดเป็นปัญหาของคนในระดับรากหญ้าที่มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิรู้ วัฒนธรรมประเพณีทั้งหลายที่ไม่สามารถที่จะเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้กับ วิถีชีวิตของความเป็นเมืองและระบบของกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ของการวิจัยจึงมีข้อเสนอที่จะต้องใช้กระบวนการวิจัยในลักษณะที่เป็น Action Research โดยต้องให้ความสำคัญแก่ผู้ที่มีส่วนได้เสียซึ่งก็คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบกฎหมายได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการวิจัยที่นำไปสู่การแก้ไข บรรดาบทบัญญัติกฎหมาย กฎระเบียบ และ แนวปฎิบัติต่างๆ ที่เป็นปัญหา
การเดินงานวิจัยในลักษณะคู่ขนานเช่นนี้ จะทำให้หลุดพ้นไปจากงานวิจัยที่ผ่านๆมาในทางกฎหมาย ที่ส่วนใหญ่จะนำไปสู่การแก้ไขเฉพาะในส่วนที่เป็นตัวบทกฎหมาย ในฐานะที่เป็นตัวอักษร ซึ่งเป็นการปรับระบบกฎหมายในลักษณะที่เป็น Law in Book เท่านั้น รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้ยุทธศาสตร์งานวิจัยจะต้องประเมินและสรุปบทเรียนคือ กรณีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น ในส่วนของ Action Research จะเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสังคมในการที่จะส่งผลไปเปลี่ยนแปลงกฎหมายจาก Law in Book ไปเป็น Law in Action ได้
จากการวางตัวแบบของชุดโครงการเพื่อสังเคราะห์ และสะท้อนภาพของปัญหาต่างๆที่เกิดจากระบบของกฎหมาย เพื่อสะท้อนภาพกระบวนการของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมว่ามีส่วนในการผลักในคนในระดับรากหญ้า คนจน คนด้อยโอกาส ไปตกอยู่ในสภาพของคนจนได้อย่างไร สามารถที่จะสรุปได้ดังต่อไปนี้
1.
ในส่วนที่ว่าด้วยกลุ่มงานวิจัยเกี่ยวกับ " ปัญหาในการใช้สิทธิต่างๆตามรัฐธรรมนูญของชุมชนหรือของกลุ่มต่างๆ
"
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะสะท้อนภาพให้เห็นว่า ณ สถานการณ์หนึ่งๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ
มีระบบของกฎหมายที่สามารถชี้ให้เห็นถึงผลกระทบก็ดี สภาพที่ระบบกฎหมายไปสร้างภาระ
สร้างความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง ฯลฯ การมีระบบที่สามารถบ่งชี้ถึงผลกระทบที่เป็นสภาพความเดือนร้อนความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจริง
ณ เวลาหนึ่งๆ และสามารถสะท้อนภาพที่เป็นองค์รวมของปัญหาได้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ระบบกฎหมายสามารถที่จะ
monitor ระบบกลไกของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้
จากการเข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูล
การสัมภาษณ์ เพื่อวางระบบในการดึงเอาข้อมูลที่มีการร้องเรียนในด้านต่างๆที่เป็นความเดือนร้อนของประชาชน
ซึ่งมีหน่วยงานจำนวนไม่มากที่ทำหน้าที่ในการรับเรื่อง สิ่งที่พบในเบื้องต้นก็คือ
ระบบดังกล่าวที่มีอยู่ยังไม่สามารถที่จะเป็นระบบการชี้เตือนที่ดีพอ ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาในทางกฎหมายเป็นไปอย่างทันท่วงทีได้
อีกทั้งระบบที่มีอยู่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงหลายๆเรื่องของปัญหา และที่สำคัญก็คือ
ยังเป็นระบบปิด จึงไม่สามารถที่จะนำข้อมูลที่เป็นการร้องเรียนดังกล่าวมาเป็นประโยชน์ในฐานะที่เป็นฐานข้อมูลปัญหาจริงๆที่เกิดขึ้นเพื่อการวิจัย
วางและสร้างระบบในการป้องกันไม่ให้คนจนตกเป็นเหยื่อของระบบได้
อีกทั้งยังเป็นปัญหาของระบบราชการเองด้วย ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการแก้ปัญหา
แต่ยังขาดระบบการประมวลผลที่ต้องอาศัยเครื่องในการวิจัยที่หลากหลายเพื่อหาทางออกกับปัญหาดังกล่าว
ดังนั้นผลที่ตามมาก็คือ เมื่อมีการร้องเรียนปัญหาความไม่เป็นธรรมจึงมักจะใช้ระบบการทำงานตามสายงานของราชการ
มักจะให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้แก่ประชาชน และมักจะจบลงที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา
และสรุปว่า เป็นความผิดความไม่รู้หรือการไม่รักษาสิทธิหรือแม้กระทั้งการไม่มีสิทธิของประชาชน
สภาพเช่นนี้สั่งสมกันมาเป็นเวลานาน และจะต้องสะสางและวางระบบกันใหม่
ระบบดังกล่าวนี้เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้คนที่ตกอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมที่เสี่ยง (เช่น ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากทางราชการ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ต้องพึ่งพิงระบบราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ การอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือการประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการขาดทุนหรือไม่มีอำนาจในการต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบทุน ฯลฯ) ไม่ตกไปอยู่ในฐานะที่เป็นคนจน และยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรความไม่เป็นธรรมดังกล่าว
2.
ในส่วนที่ว่าด้วย ระบบการจัดสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสใน สังคมไทย
งานในส่วนนี้ต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและกฎหมาย
กำลังขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผูกติดกับกระแสโลกกาภิวัตน์ และอยู่ภายใต้กติกาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีที่ไร้พรมแดน
และอำนาจรัฐในการที่จะปกป้องคุ้มครองให้ความเป็นธรรม
ดังนั้น ระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสที่จำเป็น จะต้องจัดทำขึ้น จึงเป็นเสมือนกับการสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้คนจนคนด้อยโอกาสมีที่พึ่งพิง ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคนจน คนด้อยโอกาส คนในระดับรากหญ้าที่จะเข้าใจระบบเศรษฐกิจแบบทุนหรือระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราเสียก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเข้าไปในระบบเศรษฐกิจแบบทุนหรือจะถอยออกมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ภายใต้ชุดงานวิจัยที่ว่าด้วย ระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาส มีประเด็นปัญหาหลายประการที่ระบบกฎหมายปัจุบันยังไม่ได้เตรียมการ หรือปรับระบบเพื่อสร้างกลไกในทางกฎหมายที่รับรองหรือสร้างหลักประกันเกี่ยวกับระบบสวัสดิการสำหรับคนจน และคนด้อยโอกาส ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึง ปัญหาอุปสรรคในเชิงท่าทีและทัศนะของข้าราชการและประชาชนด้วยกันเองที่ตั้งคำถามต่อระบบสวัสดิการคนจนและคนด้อยโอกาส ว่าเป็นภาระของสังคม
กล่าวโดยเฉพาะสำหรับประเด็นทางกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในสังคม จะต้องสร้างกฎหมายที่สนับสนุน รับรอง และให้หลักประกันแก่ระบบสวัสดิการที่เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือคนจนในภาคชนบท(และมีผลต่อคนจนในเมืองด้วย) ซึ่งยังไม่มีการรับรอง 3 รูปแบบหลักคือ การรับรองการจัดสวัสดิการฐานทรัพยากร การจัดสวัสดิการฐานวัฒนธรรม และการจัดสวัสดิการฐานงานพัฒนา
ระบบสวัสดิการทั้งสามรูปแบบนี้เรียกว่าระบบสวัสดิการภาคชุมชน ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับ ระบบสวัสดิการภาครัฐ และระบบสวัสดิการภาคเอกชน ซึ่งในปัจจุบันมีข้อจำกัดต่างๆมากมายที่ทำให้คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงโดยเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และกฎหมาย ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการดังกล่าวได้ ระบบสวัสดิการภาคชุมชนจะเข้ามาอุดช่องว่างดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากในหลายๆพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่ และที่เป็นรู้จักในระยะหลังก็คือ กรณีของคุณครูประยงค์ ที่ได้รับรางวัล แมกไซไซ ในปีนี้
3.
สืบเนื่องจากข้อ 1. และ 2.
มีความพยายามของ คนจน คนด้อยโอกาส รวมกับองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาครัฐบางหน่วยงานที่เข้าใจสภาพปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เบียดขับ
และกดทับลงบนวิถีชีวิตของผู้จนจำนวนมาก ภายใต้แผนพัฒนา กลุ่มคนต่างๆเหล่านั้นได้ร่วมกลุ่มกันและออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครอง
แต่ปรากฏว่า มีน้อยรายมากที่ได้รับการแก้ไขเยียวยา หรือได้รับการช่วยเหลือ ในทางกลับกัน
กลุ่มที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวกลับตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจรัฐ
หรือกลับตกเป็นเบี้ยล่างของผู้มีอิทธิพล ของระบบทุนในกลไกตลาด ที่ระบบกฎหมายให้การคุ้มครองอย่างเป็นเนื้อเดียวกันกับการใช้อำนาจรัฐ
ดังนั้น แม้ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา จากกระแสทุนโลกาภิวัตน์ และจากโครงการของรัฐ จะลุกขึ้นมารวมกลุ่มผนึกกำลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรที่จะทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้รับการแก้ไข ประเด็นที่น่าสนใจในทางกฎหมายในส่วนนี้ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ปัญหาที่แสดงออกมาชัดเจน มีประชาชนจำนวนที่เดือดร้อนจากผลการกระทำของนโยบายของรัฐและ/จากผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่าแต่เข้ามาเอาเปรียบ อย่างไม่เป็นธรรม และชอบธรรม แม้จะถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมาย มีระบบในกระบวนการยุติธรรมทุกๆด้านให้หลักประกันและอำนวยความเป็นธรรมที่รวดเร็วให้กับประชาชนในส่วนนี้
4.
สำหรับเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วย "ชุมชนกับการบริหารจัดการท้องถิ่น "และ
" ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม"
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าได้มีการรวบรวมปัญหาทั้งในเชิงที่เป็นปรากฏการณ์ข้อเท็จจริง
ทั้งในเชิงที่เป็นการสะท้อนรูปแบบกลไกการเกิดขึ้นของปัญหาและข้อเสนอแนะที่เป็นทางออกที่เกิดจากกฎหมายรายฉบับ
ทั้งในเชิงที่เป็นการสังเคราะห์จากปรากฎการณ์ขึ้นมาเป็นหลักการ ในส่วนดังกล่าวนี้สำหรับในประเด็นปัญหาของระบบกฎหมาย
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ในฐานะผู้ทำการวิจัยและในฐานะของผู้ที่ทำการสังเคราะห์ได้สรุปไว้อย่างสมบรูณ์แล้วจึงใคร่ที่จะยกมากล่าวไว้
ณ ที่นี้ ว่ามีประเด็นปัญหาอย่างไรบ้าง
1. ปัญหาเรื่องสิทธิชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากร ยังเป็นไปในลักษณะรวมศูนย์อำนาจ
2. กฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันล้าสมัย ไม่ยืดหยุ่น แม้กฎหมายที่ตราขึ้นในระยะหลัง ก็ยังคงมีปัญหาของแนวคิดการจัดการแบบแยกส่วน
3. กฎหมายของไทยไม่สนับสนุนการจัดการเชิงซ้อน แต่เป็นลักษณะการจัดการเชิงเดี่ยว
4. ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ เช่น การประกาศเขตป่าทับที่ดินที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ก่อให้เกิดความขัดแย้งตลอดมาทั้ง ๆ ที่นโยบายของรัฐในอดีตสนับสนุนหรือเปิดช่องให้คนบุกรุกป่า
5. ปัญหาประชาชนไม่มีสิทธิจัดการพื้นที่ป่า
6. ปัญหาเรื่องที่ดินพบว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการจัดการเรื่องที่ดิน ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนเคยมีสิทธิของชุมชน สิทธิของเอกชน และสิทธิของรัฐในการจัดการ ในระยะหลังเหลือเพียงแต่สิทธิของเอกชนและสิทธิของรัฐเท่านั้น ส่วนสิทธิชุมชนถูกละเลย โดยรัฐเข้าไปกำกับดูแลแทน
7. ปัญหาการเก็งกำไรในที่ดิน
8. ทรัพยากรประมง มีปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่รัฐมีอำนาจในการกำหนดช่วงฤดูกาลจับปลา และกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ให้กับชุมชน โดยชุมชนไม่มีสิทธิ์ในการดูแลด้วยตนเอง
9. ปัญหาด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พบปัญหาการกำกับดูแล เช่น การตรวจสอบคุณภาพน้ำ อากาศ และของเสียที่ปล่อยจากโรงงานอันเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าจะให้ประชาชนมีสิทธิในการจัดการอย่างไร
10. การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พบประเด็นปัญหาสิทธิชุมชนยังไม่ปรากฏชัดเจนแม้จะระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ
11. ประเด็นทัศนคติของภาครัฐในการจัดตั้งองค์กรชุมชน โดยรัฐไม่แน่ใจว่าหากประชาชนสามารถจัดตั้งองค์กรชุมชนได้ จะส่งผลกระทบต่อภาครัฐหรือไม่อย่างไร
12. ชุมชนยังติดยึดอยู่กับระบบการพึ่งพิงภาครัฐว่ารัฐต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือ
13. ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นไปในลักษณะการช่วยเหลือด้านแรงงาน การช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ แต่มิได้เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการคิดริเริ่ม ค้นหา และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
14. ประเด็นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนบทกับส่วนราชการท้องถิ่นและธุรกิจ มีลักษณะของการพึ่งพาสูง เช่น การพึ่งพาระหว่าง อบต. กับผู้รับเหมา ซึ่งยากต่อการแก้ไข
15. การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีลักษณะของการแก่งแย่งผลประโยชน์ เช่น กรณีเลือกตั้งคณะกรรมการ อบต. และยังส่งผลกระทบถึงความสามัคคีในชุมชนด้วย
16. การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกแทรกแซงโดยอิทธิพลทางการเมือง
17. ประเด็นการศึกษา แม้จะมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2540 ที่ให้มีการปฏิรูปการศึกษา แต่การจัดการศึกษายังมีลักษณะแยกส่วน ขาดการรวมศูนย์
18. การบริหารจัดการในส่วนราชการมีขั้นตอนปฏิบัติที่ยุ่งยาก ล่าช้า และไม่ยืดหยุ่น เป็นช่องทางนำไปสู่การคอรัปชั่นและเรียกร้องผลประโยชน์
19. ประเด็นการประสานแผนงาน ส่วนราชการต่าง ๆ ไม่มีการประสานแผนงาน ต่างคนต่างทำและไม่มีการติดตามประเมินผล
20. ประเด็นการบริหารจัดการ ภาครัฐมีบทเรียนที่สำคัญ คือ ขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
21. ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจ ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน มีลักษณะแยกส่วนทั้ง ๆ ที่ชุมชนมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
22. โครงสร้างอำนาจเดิมมิได้ปรับปรุงแก้ไข เช่น ประเด็นการเลือกตั้ง อบต.ที่มีบทเฉพาะกาลไว้ว่า กำนัน และผู้ใหญ่บ้านเป็นสมาชิก อบต. โดยตำแหน่ง
ภาคผนวก
ภาพรวมของปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาในกลุ่มการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยปัญหาหลักคือ
- ปัญหาสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่ยังไม่กระจายอำนาจในการจัดการให้กับชุมชน
- ระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบล้าสมัย และไม่ยืดหยุ่นไปตามสภาพของท้องถิ่น ต่างฝ่ายต่างแบ่งแยกในการจัดการ แต่ในปัจจุบันกลับมีลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างแย่งกันดำเนินการ แย่งกันใช้อำนาจเนื่องจากจะต้องบ่งบอกถึงความสำคัญความจำเป็นของหน่วยงานและความมีประสิทธิภาพ
- ยังไม่ยอมรับระบบการบริหารการจัดการแบบจารีตที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า ประหยัดกว่า ยั่งยืนกว่า สร้างและยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็นรากฐานที่สำคัญของความเข้มแข็งของชุมชน
ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่าเป็นปัญหาดังต่อไปนี้
- ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ลดลง
- ปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในแนวเขตป่า ทั้งในทางกายภาพและในแง่ของเขตอำนาจ-สิทธิประเภทต่างๆในทางกฎหมาย ที่อนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าได้
- การขยายตัวของการเข้าทำกินของทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือประชาชนที่พอจะพึงตนเองได้ที่เข้าไปเบียดขับให้คนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน จะต้องเข้าไปบุกรุกที่ดินเพิ่ม ทำให้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเรื่องแนวเขตพื้นที่ ขัดแย้งกับทุน และประชาชนด้วยกันเอง
- ปัญหาสิทธิในที่ดิน ในขณะที่ประชาชนเองเห็นว่าตนควรจะมีสิทธิในการดูแล จัดการ และได้ประโยชน์ จากพื้นที่ป่าที่ตนเองปกป้องรักษามาเป็นเวลานาน
ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรดิน
ปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่ดิน มีปัญหาสรุปได้ดังนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของที่ดิน ไม่มีกฎหมายผังเมืองและผังการใช้ที่ดิน
- ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของดินที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตร อันเนื่องมาจากสภาพทางกายภาพ หรือการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้อง
- ปัญหาการรุกเข้ามาของอุตสาหกรรมในพื้นที่อุตสาหกรรม
- ปัญหาการกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไรที่ดิน
- การทอดทิ้งที่ดินไม่ทำประโยชน์
- ปัญหาสิทธิและการถือครองที่ดิน
- และปัญหาที่ระบบกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ยอมรับสิทธิของชุมชนในการเข้าไปมีส่วนในการจัดการที่ดิน
ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ
และทรัพยากรทางทะเล
ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรทางทะเล มีปัญหาพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรอันเนื่องมาจากสภาพตามธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์ที่เกินกว่าขีดจำกัดที่มีอยู่
- ปัญหาการขาดระบบในการจัดการน้ำทิ้งน้ำเสียที่ถ่ายเทจากกระบวนการผลิต ทั้งในภาคการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ในภาคอุตสาหกรรม และจากครัวเรือนลงสู่แหล่งน้ำดี
- ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้ทั่วถึงและเป็นธรรม
- ปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่เน้นการใช้อย่างเข้มข้น
- ปัญหาการทำลายฐานของชุมชนที่ทำหน้าที่ในการปกป้อง บำรุงรักษา ดูแลและใช้ประโยชน์ โดยรูปแบบและวิธีการต่างๆทำให้ชุมชนที่มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง กลายไปเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย
- ปัญหาการจัดการที่ไม่ยอมรับการจัดการแบบมีส่วนร่วมของประชาชน
ปัญหาการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ปัญหาเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีประเด็นปัญหาที่สำคัญดังต่อไปนี้
- ประเด็นเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของ สิทธิของชุมชน ตามมาตรา 46 และมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
- ปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่มีต่อการรวมตัวจัดตั้งองค์กรชุมชน
- ปัญหาในภาคประชาชนเองที่ยังไม่มั่นใจ และยังเคยชินกับการพึ่งพาภาครัฐ
- ปัญหารูปแบบวิธีการของการมีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่น ที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมและเป็นความต้องการของประชาชนที่ประสบปัญหา และอยากที่จะเข้ามาแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมจริงๆ
- ปัญหาที่เกิดจากระบบความสัมพันธ์ในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงจากพึ่งพาเอื้ออาทรไปเป็นความสัมพันธ์แบบแข่งขัน แก่งแย่ง ช่วงชิง แบ่งแยก เพื่ออำนาจและความมั่งคั่ง
- ปัญหาที่เกิดจากการจัดตั้งกลุ่มต่างๆที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ได้เป้นกลุ่มที่รวมกันตามธรรมชาติ แต่เป็นกลุ่มที่อิงอยู่กับผลทางการเมืองหรือประโยชน์ทางราชการ ที่ไม่ได้ให้อิสระที่แท้จริงแก่กลุ่มต่างๆเหล่านั้น
- ปัญหาที่เกิดจากระบบการศึกษาที่ยังรวมศูนย์ และดูแคลน ไม่ยอมรับ ศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นว่ามีภูมิปัญญาที่มีคุณค่า และสามารถที่จะพึ่งตนเองได้
ปัญหาเกี่ยวกับองค์กรและการบริหารจัดการ
ปัญหาเกี่ยวกับองค์กรและระบบการบริหารจัดการที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ มีปัญหาที่พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
- องค์กรและระบบการจัดการ ยังเน้นที่ระบบราชการมีอำนาจ และยังเน้นการรวมศูนย์กลางทางอำนาจ ทำให้มีขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก ล่าช้า
- ปัญหาการมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาแบบแยกส่วน ทำให้ขาดข้อมูลพื้นฐานพื้นฐานที่จำเป็นและได้ภาพรวมทั้งหมด
- ระบบการบริหารจัดการไม่มีการประเมินประสิทธิภาพ และขาดการประสานงานทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ
- ปัญหาการจัดความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง-อำนาจ ยังไม่มีความชัดเจน และไม่กระจายไปสู่องค์กรท้องถิ่นและชุมชน
- มี กฎ ระเบียบมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมธุรกิจชุมชนและองค์กรชุมชน ในการทำให้ประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถที่จะพึ่งตนเองได้จริง
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เมื่อมีการร้องเรียนปัญหาความไม่เป็นธรรมของประชาชน
หน่วยราชการมักจะใช้ระบบการทำงานตามสายงานของราชการ และจะให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้แก่ประชาชน
ส่วนมากมักจะจบลงที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และสรุปว่า เป็นความผิด
ความไม่รู้ หรือการไม่รักษาสิทธิ หรือแม้กระทั้งการไม่มีสิทธิของประชาชน สภาพเช่นนี้สั่งสมกันมาเป็นเวลานาน
และจะต้องสะสางและวางระบบกันใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยในมิติทางกฎหมายและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากระบบกฎหมาย ที่ไปเกิดเป็นปัญหาของคนในระดับรากหญ้าที่มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิรู้ วัฒนธรรมประเพณีทั้งหลายที่ไม่สามารถที่จะเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้กับ วิถีชีวิตของความเป็นเมืองและระบบของกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ของการวิจัยจึงมีข้อเสนอที่จะต้องใช้กระบวนการวิจัยในลักษณะที่เป็น Action Research โดยต้องให้ความสำคัญแก่ผู้ที่มีส่วนได้เสียซึ่งก็คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบกฎหมายได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการวิจัยที่นำไปสู่การแก้ไข บรรดาบทบัญญัติกฎหมาย กฎระเบียบ และ แนวปฎิบัติต่างๆ ที่เป็นปัญหา
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์