บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 463 หัวเรื่อง
มุสลิมภาคใต้กับการพัฒนา
สำนักข่าวประชาธรรม
รายงานพิเศษ ส่งมาเผยแพร่
บนเว็ปไซท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การมีส่วนร่วมของประชาชน
เสียงจากมุสลิมภาคใต้
กรณีเกี่ยวกับการพัฒนา
รายงานพิเศษ
สำนักข่าวประชาธรรม
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 463
จากบทความเดิมชื่อ : คนใต้คิดอย่างไร
ต่อการพัฒนา "แผ่นดินด้ามขวาน"
ได้รับจากสำนักข่าวประชาธรรมวันที่ ๒ พฤศจิกายน
๒๕๔๗
หมายเหตุ : บทความเดิมชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่
บนเว็ปไซท์ของ ม.เที่ยงคืน เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
7 หน้ากระดาษ A4)
(รายงานพิเศษ)
คนใต้คิดอย่างไร ต่อการพัฒนา
"แผ่นดินด้ามขวาน"
สำนักข่าวประชาธรรม
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เรื่อยมาจนถึงกรณีตากใบ จ.นราธิวาส รัฐบาลโดย
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ภายใต้ความเชื่อที่ว่าชายแดนใต้
3 จังหวัดเป็นพื้นที่ที่ถูกปล่อยปละละเลยมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะในเรื่องระบบการศึกษาในโรงเรียนปอเนาะ
ที่สอนแต่ด้านศาสนา แต่ไม่มีการสอนหลักสูตรสามัญ โดยอ้างว่าเป็นเหตุให้เด็ก ๆ
เยาวชนถูกชักจูงไปตามความเชื่อศาสนา และบางส่วนไม่มีการศึกษาจึงถูกชักจูงให้ก่อความไม่สงบได้ง่าย
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความคิดว่าจะต้องทุ่มเทงบประมาณเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ การจ้างงาน และระบบการศึกษาที่ดี
จากการสำรวจของ น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2547 ระบุว่ารัฐบาลปี 2547 รัฐบาลทุ่มงบพิเศษสำหรับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดใต้ถึง 9,253.6 ล้านบาท ในจำนวน 6 พันล้านบาทสำหรับเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม โดยมียุทธศาสตร์ เช่น แก้ปัญหาความยากจน สร้างเศรษฐกิจใหม่ เน้นการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคม โครงการพัฒนาการศึกษา การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนอีก 3 พันล้านบาทเน้นไปด้านความมั่นคง เสริมกำลังตำรวจ ทหาร และหน่วยข่าวกรองของทางราชการ
แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่ารัฐบาลจะมุ่มเทงบประมาณลงไปมากเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ภาคใต้ดีขึ้นแต่อย่างใด และดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้มีการตั้งคำถามจากหลาย ๆ ฝ่ายว่าการแก้ไขปัญหาของภาครัฐมาถูกทางหรือยัง หรือว่าสอดคล้องกับความต้องการของคนใต้ 3 จังหวัดจริงหรือไม่
"สำนักข่าวประชาธรรม" ได้ติดตามความเห็นของคนใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งพบว่ามีรายละเอียดการมองปัญหา ข้อเสนอแนะที่ภาครัฐ สังคม สื่อมวลชนไม่ควรมองข้าม การรับฟังเสียงของคนใต้ จะเป็นบันได้ขั้นแรกที่จะแก้ปัญหาภาคใต้อย่างแท้จริง
ตัวแทนเครือข่ายฟื้นฟูองค์กรชุมชน
3 จังหวัดชายแดนใต้ (ไม่ต้องการระบุชื่อ)
การพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมาแม้จะมีแผนดี ยุทธศาสตร์ดี แต่ในทางปฎิบัติชาวบ้านยังรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วม
ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ก็แค่เอาชื่อไปใส่ไว้เท่านั้น
ไม่ได้ฟังความเห็นของชาวบ้านจริง ๆ เมื่อแผนออกมาจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
เช่น การอนุมัติงบประมาณของ ค.ร.ม.ภายหลังเหตุการณ์กรือเซะ ที่ลงมาในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นพัน ๆ ล้านบาท ก็พบว่ามีงบประมาณเพียง 10 % เท่านั้นที่ลงมาสู่ภาคประชาชน งบประมาณนอกนั้นไปลงที่หน่วยงานภาครัฐ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภาคใต้เองก็ไม่ตอบสนองภาคประชาชน ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จึงมีข้อเสนอว่าหากจะสนับสนุนภาคใต้จริงต้องสนับสนุนมาที่ภาคประชาชน ไม่ใช่สนับสนุนไปที่หน่วยงานภาครัฐ ต้องเปลี่ยนจาก "รัฐทำ ประชาชนเป็นฝ่ายขอ" เป็น "ให้ประชาชนทำ และรัฐหนุนเสริม"
ภาครัฐต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น คนใต้ไม่อยากเห็นกองกำลัง และอาวุธ ถ้ารัฐจะใช้กองกำลังและอาวุธ เมื่อไหร่ ประชาชนจะเข้มแข็งและดูแลตัวเองได้ การประกาศกฎอัยการศึกและเคอร์ฟิวไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ความจริงแล้วอยากให้ภาครัฐและทหารทำตามแนวทางของในหลวง ในหลวงจะให้ความสำคัญกับทุกศาสนาเท่าเทียมกัน
ที่ผ่านมา ชาวบ้านถูกเอาเปรียบจากหน่วยงานภาครัฐมาตลอด เช่นเรื่องการกระจายงบประมาณ หรือเรื่องสื่อก็เช่นกัน คนใต้เขารู้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะรัฐครอบงำสื่อ จนทำให้ไม่มีการเสนอข้อเท็จจริง เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ารัฐไม่ควบคุมสื่อไว้ในมือ นอกจากนี้สื่อเองก็ต้องทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณด้วย ไม่ใช่ขายข่าวอย่างเดียว แต่ไม่ร่วมกันหาทางออก
ส่วนเรื่องการศึกษาที่ภาครัฐพยายามจะเข้ามาสนับสนุนนั้น ตนเองก็เห็นว่ารัฐยังมองการศึกษาคนละแบบกับภาคประชาชน เพราะระบบการศึกษาของชาวใต้ 3 จังหวัดนั้น เดิมโรงเรียนปอเนาะถือว่ามีความสำคัญสำหรับชาวใต้มาก เพราะเป็นระบบการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามคือ "คนที่รู้ต้องสอนคนที่ไม่รู้ คนที่ไม่รู้ต้องเรียน" แต่รัฐไม่เข้าใจโรงเรียนปอเนาะ ก็พยายามไปทำลายระบบดั้งเดิม หากจะสนับสนุนจริงต้องส่งเสริม สามารถเพิ่มหลักสูตรสามัญ และงบประมาณได้
โดยภาพรวมอยากให้ภาครัฐทุกหน่วยงานเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่หน่วยงานรัฐเป็นศูนย์กลาง ความจริงไม่ใช่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น แต่ทั้ง 76 จังหวัด ก็ต้องเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา
กูสดี กูบาฮา กรรมการสมาคมมุสลิม
ปัตตานี
ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้
3 จังหวัด สิ่งที่อยากให้มีการแก้ไขคือด้านการศึกษา และอาชีพ ด้านการศึกษาควรจะมีการสนับสนุนทั้งทางศาสนา
และการศึกษาสามัญ แต่ที่ผ่านมาประชาชนยังถือว่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้อยอยู่
และบางอย่างการส่งเสริมของภาครัฐก็ไม่สอดคล้อง เช่นการให้ทุนการศึกษา โดยนำเงินมาจากกองสลาก
ชาวบ้านจะไม่กล้ารับเพราะผิดกับหลักศาสนาอิสลาม ชาวบ้านถือว่าเป็นเงินที่ได้จากการพนัน
ดังนั้นหากภาครัฐจะส่งเสริมด้านการศึกษาก็ควรนำงบประมาณที่มาจากกระเป๋าอื่น ไม่ใช่มาจากเงินที่ได้จากการพนัน
นอกจากนี้ในด้านการส่งเสริมอาชีพ ขณะที่ภาครัฐพูดถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของกิจการ คนใต้ 3 จังหวัดก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะเงินกู้ที่ให้มานั้นมีดอกเบี้ย ก็ขัดต่อหลักศาสนา เขาจะไม่ยอมรับ ดังนั้นจึงพบว่าเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้คนที่เป็นเจ้าของกิจการไม่ใช่คนใต้ แต่กลับเป็นคนจากต่างถิ่น คนใต้ 3 จังหวัดกลายเป็นลูกจ้าง ถ้าหากภาครัฐจะส่งเสริม สามารถทำได้โดยการส่งเสริมเงินทุนผ่านธนาคารซารีอะ หรือธนาคารอิสลาม ซึ่งธนาคารนี้จะปล่อยกู้แก่ชาวบ้านโดยไม่มีดอกเบี้ย ชาวบ้านสามารถรับได้
ชาวบ้านจ.ยะลา (ไม่ต้องการระบุชื่อ)
ตอนนี้คนทั่วประเทศมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงในพื้นที่
แม้แต่ตอนนี้คนในพื้นที่เองก็ยังไม่เข้าใจต่อสถานการณ์กรณีตากใบ หรือการฆ่ารายวันอย่างแท้จริง
แต่ข่าวที่ออกไปว่าเกิดเหตุการณ์ฆ่ารายวัน ทางราชการเป็นผู้ให้ข่าวเพียงฝ่ายเดียว
ทำให้คนในภาคเหนือ ภาคอีสานเข้าใจว่า ชาวบ้านในพื้นที่กลายเป็นคนหัวรุนแรง แต่เวลานี้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่ในความกลัว
ความหวาดระแวง เป็นความเครียดที่เกิดขึ้น ดีที่ว่าตอนนี้เป็นช่วงเดือนรอมฎอน
ที่ต้องปฏิบัติธรรมอยู่กับพระเจ้า
ความจริงในพื้นที่คนไทยพุทธ และไทยมุสลิม ต่างเป็นพี่น้องกันมานาน อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา คนมุสลิมก็มีวิถีชีวิตประจำวันที่จะต้องไปมัสยิดทุกวัน วันละ 5 เวลา หลังจากละหมาดก็ไปทำงานของแต่ละคน กลางคืนก็ฟังบรรยายธรรม การดำเนินชีวิตยึดตามหลักธรรมในพระคัมภีร์ แต่พอมีสิ่งปลอมแปลงจากนอกพื้นที่เข้ามาทำให้สังคมแกว่ง ไม่กล้าออกจากบ้านไปทำธุระ ท้ายที่สุดทำให้เศรษฐกิจแย่
การแก้ปัญหาของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจที่มีงบประมาณ และโครงการขนาดใหญ่ลงมา เช่นการสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมฮาราล นั้นก็ขัดกับวัฒนธรรมอิสลาม เพราะเป็นที่ทราบกันว่า โรงงานอุตสาหกรรม จะนำพาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบสายเดี่ยว ร้านคาราโอเกะ รวมถึงสิ่งไม่ดีอื่นๆ มากมาย
ตนมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาคือ เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดของคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ จึงควรจัดเวทีสาธารณะเชิญตัวแทนประชาชนทั่วประเทศ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนในพื้นที่ โดยให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมรับฟังด้วย
การศึกษา รัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายหลักสูตรตามอัธยาศัย เพื่อรองรับการศึกษาของปอเนาะ มีงบประมาณมาสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือ องค์ความรู้ของครูตามโรงเรียนปอเนาะ และออกใบรับรองการศึกษา และในฐานะที่ จ.ปัตตานีเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับสากลของชาวมุสลิม ควรสนับสนุนให้มีโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติ สอนภาษามาลายู อาหรับ อังกฤษ จีน และไทย ทั้งนี้ต้องให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมประชุมตัดสินใจด้วย
ด้านเศรษฐกิจเมื่อชาวบ้านรับไม่ได้กับการลงทุนแบบโรงงานรัฐบาล จึงควรยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการรวมกลุ่มในหมู่บ้านผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และมีตลาดรับซื้อผลผลิต
วิศิษฐ์ ตาเดอินทร์ หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชน
สมาคม ยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ปัญหาสำคัญคือการที่คนในพื้นที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม
เช่น กรณีอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพ่อแม่หรือญาติของผู้ที่เสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ
เพื่อให้ศาลตัดสินว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ถูกต้อง ญาติไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้
และผู้เสียชีวิตก็ถูกตราว่าเป็นโจรตลอดไป
กรณีที่คนในพื้นที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการทำงานในราชการถูกกดให้รับราชการในตำแหน่งต่ำ มีแต่คนนอกพื้นที่เข้ามาเป็นเจ้านายใหญ่โต ทำให้ไม่สามารถเป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้
ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แต่รัฐบาลมีงบประมาณลงมาพร้อมโครงการขนาดใหญ่ ทั้งที่เรื่องเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน สำหรับด้านการศาสนาและการศึกษารัฐก็ไม่ได้ส่งเสริมแต่กลับมาคอยจับผิด
คนมุสลิมไม่ใช่คนหัวรุนแรง แต่เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกดขี่ ก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนทุกคน ในประเทศอังกฤษก็ยังมีคนลุกขึ้นสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าความรุนแรงเกิดจากการปลุกปั่นจากผู้นำ ผู้สอนศาสนา
วิถีชีวิตของคนที่นี่ยึดอาชีพทำสวนเป็นหลัก ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอนอยู่ในหลักศาสนาตลอดเวลา เช่น ผู้หญิงแต่งกายมิดชิด ใช้ชีวิตอย่างสมถะ รักสันติอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวพุทธโดยไม่มีปัญหาทะเลาะกันมานานหลายร้อยปี แต่ตอนนี้ทั้งทหารตำรวจถืออาวุธครบมือ เฝ้ามองแต่คนมุสลิม
เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ก็มีฝ่ายราชการเพียงฝ่ายเดียวที่เสนอผ่านสื่อทำให้คนในภาคอื่นของประเทศเข้าใจคนในพื้นที่ผิดไป ทั้งที่สาเหตุจริงๆ ทางราชการก็ยังไม่สามารถระบุได้ เรื่องนี้คนในพื้นที่สันนิษฐานว่า อาจเป็นการกระทำของทางราชการเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติงาน และขวางไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเข้ามาเคลื่อนไหวหาเสียง
ตนมีข้อเสนอต่อรัฐบาลคือ ต้องประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ถอนกำลังทหารนับหมื่นนายออกจากพื้นที่ เพราะไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา รับฟังและนำความเห็นของประชาชนในพื้นที่ไปปฏิบัติ ยกเลิกแนวทางการพัฒนาที่เน้นวัตถุนิยม สร้างโรงงานอุตสาหกรรม
คอยรูชามัน มะ ชาวบ้าน ต. เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
อันดับแรกรัฐต้องเข้าใจวิถีชีวิตของคนมุสลิม
รวมทั้งต้องให้คนมุสลิมในพื้นที่มีส่วนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาด้วย กรณีนี้มีความสำคัญที่สุดหากรัฐยังมีความเข้าใจต่อคนมุสลิมที่ผิดอยู่
จะนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบผิดๆ ด้วย นอกจากนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาต้องแก้ไขแบบสันติสุข
จะใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เด็ดขาด
ปัจจุบันสังคมส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะชาวบ้านเป็นฝ่ายเริ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน กรณีนี้ตนมีความเห็นคือ ต้องมองว่าเหตุแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอะไร และต้องมองถึงการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด จะมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะชาวบ้านหรือเยาวชนฝ่ายเดียวไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ผลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะกรณีที่มัสยิดกรือเซะหรือล่าสุดที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ตนมองว่าปัจจุบันภาครัฐเริ่มมีท่าทีต่อคนมุสลิมที่อ่อนลง และเริ่มให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามากขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่จะดีกว่านี้หากการดำเนินการต่างๆ ดำเนินไปแบบไม่ต้องรอให้มีการเสียเลือดเสียเนื้ออย่างที่เป็นอยู่ และที่สำคัญในอนาคตมาตรการแก้ไขปัญหารัฐต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ ไม่ว่าการให้ชุมชนมีส่วนกำหนดแนวทาง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด
รอเชด เจะเลาะ ประธานชมรมวิทยาการอิสลามศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายของรัฐบาลบางนโยบายมีส่วนสร้างปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ขึ้นในขณะที่ชาวบ้านเป็นผู้รับปัญหา มีการระแวงกันไปหมด เช่น นโยบายการปฏิรูปการศึกษา กล่าวคือระบบการศึกษาแบบเดิมที่รัฐร่วมกันกำหนดกับชุมชนก็ดีอยู่แล้ว ชุมชนสามารถจัดการควบคุมกันเองได้ บางเรื่องก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชม
จริงอยู่นโยบายการปฏิรูปการศึกษาสามารถใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง คิดหลักสูตรมาภายใต้วิถีชุมชนที่เป็นอยู่ แต่กรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายนี้มีความล่อแหลมมากและรัฐต้องพิจารณา ทั้งนี้เพราะจากปัญหาที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นใคร ดังนั้นการคิดหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมา หากชุมชนใดเข้มแข็งก็จะประสบความสำเร็จ แต่หากชุมชนใดอ่อนแออาจถูกแทรกแซงจากภายนอกได้ กรณีนี้ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นกรณีนี้ตนคิดว่าหากให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ว่ารัฐหรือชุมชนดำเนินการโดยลำพังอาจมีปัญหาได้ ทางออกคือทั้งภาครัฐและชุมชนต้องดำเนินการร่วมกัน
...........................................................
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : [email protected]
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมาแม้จะมีแผนดี ยุทธศาสตร์ดี แต่ในทางปฎิบัติชาวบ้านยังรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วม ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ก็แค่เอาชื่อไปใส่ไว้เท่านั้น ไม่ได้ฟังความเห็นของชาวบ้านจริง ๆ เมื่อแผนออกมาจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น การอนุมัติงบประมาณของ ค.ร.ม.ภายหลังเหตุการณ์กรือเซะ ที่ลงมาในการแก้ไขปัญหาภาคใต้
ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ 3 จังหวัด สิ่งที่อยากให้มีการแก้ไขคือด้านการศึกษา และอาชีพ ด้านการศึกษาควรจะมีการสนับสนุนทั้งทางศาสนา และการศึกษาสามัญ แต่ที่ผ่านมาประชาชนยังมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้อยอยู่ และบางอย่างการส่งเสริมก็ไม่สอดคล้อง เช่น การให้ทุนการศึกษา โดยนำเงินมาจากกองสลาก ชาวบ้านจะไม่กล้ารับเพราะผิดกับหลักศาสนาอิสลาม ชาวบ้านถือว่าเป็นเงินที่ได้จากการพนัน ดังนั้นหากภาครัฐจะส่งเสริมด้านการศึกษาก็ควรนำงบประมาณที่มาจากกระเป๋าอื่น ไม่ใช่มาจากเงินที่ได้จากการพนัน นอกจากนี้ในด้านการส่งเสริมอาชีพ ขณะที่ภาครัฐพูดถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของกิจการ คนใต้ 3 จังหวัดก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ได้อีกเช่นกัน เพราะเงินกู้ที่ให้มานั้นมีดอกเบี้ย ก็ขัดต่อหลักศาสนา เขาจะไม่ยอมรับ