ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
210947
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 452 หัวเรื่อง
ผู้หญิงในสื่อ ศิลปะ และกฎหมาย
สมเกียรติ ตั้งนโม และคณะ
ข้อเสนอโครงการวิจัยบูรณาการ
สายสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ข้อเสนอโครงการวิจัย
สถานภาพของผู้หญิงในสื่อ ศิลปะ และกฎหมาย
(ศึกษาเฉพาะกรณีร่างกายของผู้หญิง)

สมเกียรติ ตั้งนโม, จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล
โครงการวิจัยบูรณาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำรวจวรรณกรรม (Literature review)
สถานภาพของผู้หญิงในสื่อ ศิลปะ และกฎหมาย
(ศึกษาเฉพาะกรณีร่างกายของผู้หญิง)

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4)

 

1. สถานภาพของผู้หญิงในสื่อ
Stuart Hall นักทฤษฎีของศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัย Birmingham ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญของกลุ่มนักทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) เห็นว่า การสื่อสารเป็นเรื่องของการสร้าง การถ่ายทอด และการรับวัฒนธรรม ผลงานของสื่อมวลชนจึงเป็นรูปแบบวัฒนธรรมในสังคมใหม่และเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการถ่ายทอดอุดมการณ์ของสังคม

Stuart Hall ได้นำเอาทฤษฎีของ Ferdinand de Saussure นักภาษาศาสตร์ผู้บุกเบิกทฤษฎีสัญญวิทยา (Semiology) มาขยายความ จากเดิมที่ de Saussure อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง "ภาษา" กับ "ความเป็นจริง" เอาไว้ว่า ภาษามีประโยชน์มากกว่าการตั้งชื่อสิ่งต่างๆเพื่อเอาไว้อ้างอิง เมื่อกล่าวถึงในครั้งต่อๆไป แต่ภาษาช่วยให้มนุษย์สามารถจัดระบบ (Organize) สร้าง (Construct) และเป็นเครื่องมือ (Instrument) ให้มนุษย์เข้าสู่ "ความเป็นจริง"

Hall ได้ขยายความต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีสิ่งที่เรียกว่า"ความเป็นจริง" ที่ลอยอยู่ในสุญญากาศ แต่ "ความเป็นจริง" ทุกอย่างรอบตัวเราล้วนแล้วแต่มีผู้"สร้าง"ขึ้นมา โดยกระบวนการของการใช้ภาษา ดังนั้นบทบาทสำคัญประการหนึ่งของสื่อมวลชน คือ การสร้าง "ความเป็นจริง" ในสังคม ซึ่งอาจจะมีอยู่หลายชุดตามลักษณะของสื่อ แล้วเผยแพร่ถ่ายทอด "ความเป็นจริง" ด้วยวิธีการที่ Hall เรียกว่า "การเข้ารหัส" และ "การถอดรหัส"

สื่อมวลชนได้ใช้ภาษาของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาษาเขียน ภาษาภาพ ภาษาดนตรี และองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยกระบวนการเลือกเฟ้น ตัดต่อ จัดวางตามเกณฑ์ทางศิลปะ ซึ่งกระบวนการนี้ Hall เรียกว่า การเข้ารหัส (Encoding) เพื่อให้ผู้รับสาร ถอดรหัส (Decoding) กลั่นความหมาย กลายเป็นความรับรู้ แม้ผู้ส่งสารและผู้รับสารไม่จำเป็นต้องใช้รหัสชุดเดียวกัน และผู้รับก็มีสิทธิ์เลือกตีความตามภูมิหลังและปัจจัยด้านจิตวิทยาของผู้รับสารแต่ละราย แต่ก็ไม่ใช่ตีความอย่าง สะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง แต่เป็นความหลากหลายภายใต้กรอบความคิดชุดหนึ่ง(polysemic) ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากระบวนการสื่อความ การเข้ารหัสและการถอดรหัส เป็นกระบวนการที่ถูกสร้าง(being constructed)อย่างเป็นระบบและมีเป้าหมาย

เมื่อนำทฤษฎีของ Hall มาวิเคราะห์สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโฆษณา (Advertising) จะเห็นว่าธุรกิจโฆษณาทุ่มเงินมหาศาล เพื่อจัดเตรียมกระบวนการเข้ารหัสที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่วิเคราะห์ผู้รับสาร วางแผนการโฆษณา เพื่อสร้าง"ความเป็นจริง"ชุดหนึ่งขึ้นมา ให้ผู้รับสารมีความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมบริโภคนิยม นักโฆษณามีความพิถีพิถันในการคัดสรร ภาษาเขียน ภาษาภาพ และภาษาดนตรีที่ผ่านการทดสอบว่า มีพลังโน้มน้าวใจให้ผู้รับสารเกิดความเชื่อว่าสินค้านั้นจำเป็นสำหรับตน และตัดสินใจซื้อสินค้านั้นมาบริโภค ทั้งๆที่ผู้รับสารอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆเลย

การโฆษณาเป็นกลไลสำคัญในการหล่อหลอม และขับเคลื่อนวัฒธรรมบริโภคนิยมด้วยกลยุทธ์การวางแผน และการใช้สื่ออย่างทรงพลังเพื่อโน้มน้าวใจผู้รับสารให้ยอมรับ "ความเป็นจริง" ในโฆษณา ผู้รับสารจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นในปริมาณที่มากเกินความต้องการ เพียงเพื่อได้ครอบครองและนำไปเก็บไว้ที่บ้าน นอกจากนี้"ภาพลักษณ์"อันเป็นผลพวงของการสร้าง"ความเป็นจริง" ยังทำให้ผู้รับสารจ่ายเงินซื้อสินค้าเพื่อบรรจงสร้างภาพลักษณ์ที่ตนปรารถนา โฆษณาจึงไม่เพียงแต่กระตุ้นความอยากได้สินค้าเท่านั้น แต่ยังกำหนดแบบแผนชีวิต รวมไปถึงบทบาทและสถานภาพของผู้รับสารที่ใช้ สินค้านั้นๆไปด้วย

กลุ่มผู้รับสารที่ได้รับผลกระทบจากการโฆษณามากที่สุด คือกลุ่มผู้หญิงซึ่งถูกใช้เป็นวัตถุในโฆษณาเพื่อเสนอขายสินค้าและเป็นกลุ่มเป้าหมายที่โฆษณาต้องการกระตุ้นความอยาก เพื่อตัดสินใจจ่ายเงินซื้อสินค้า

ในสหรัฐอเมริกามีการสำรวจพบว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะดูโฆษณาประมาณ 400 ถึง 600 ชิ้นต่อวัน (Dittrich, L. "About-Face facts on the Media" About-Face web site. [Online: http://about-face.org/resources/facts/media.html.] อ้างใน Body Image & Advertising) เมื่อผู้หญิงอายุ 17 ปี ผู้หญิงจะได้รับชมโฆษณาสินค้าผ่านสื่อต่างๆถึง 250,000 ชิ้น (Media Influence on Teens. Facts compiled by Allison LaVoie. The Green Ladies Web Site.
[http://kidsnrg.simplenet.com/grit.dev//london/g2_jan12/green_ladies/media/]

เมื่อผู้หญิงใช้เวลาในการดูโฆษณามาก โอกาสที่จะดูดซับยอมรับ "ความเป็นจริง" ในโฆษณาก็ย่อมมีมาก ผลที่ตามมาคือ ผู้หญิงถูกทำให้ยอมรับบทบาทและสถานภาพความเป็นผู้หญิงตาม "ความเป็นจริง" ที่เสนอในโฆษณา

ร่างกายของผู้หญิงในสื่อ
ภาพผู้หญิงในสังคมอเมริกันจะถูกนำเสนออกมาเป็น 2 แบบ คือสาวพรหมจารีย์และโสเภณีตามแนวคิดแยกขั้วแบบตะวันตก(Euro-American thought) แบบแรกเป็นสาวใส ซื่อ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา สอดคล้องกับบุคลิกของพระแม่มารี ตามแนวของคริสตศาสนา อีกแบบหนึ่งเป็นสาวยั่วเสน่ห์เต็มไปด้วยมารยาสาไถย สอดคล้องกับบุคลิกของอีฟ ตามความเชื่อแบบจูดาห์

อย่างไรก็ตาม ภาพผู้หญิงในโฆษณาจะถูกเน้นเรื่องทางเพศโดยตอกย้ำความดึงดูดทางเพศเพื่อมุ่งขายสินค้า (Fox, R.F.(1996) Harvesting Minds : How TV Commercials Control Kids. Praeger Publishing : Westport, Connecticut) "ความเป็นจริง" ที่สื่อโฆษณาสร้างให้ผู้หญิงยอมรับ คือ ผู้หญิงต้องสวยและหุ่นดี การสำรวจโดยนิตยสาร Teen People ระบุว่าผู้หญิง 27% รู้สึกว่าถูกกดดันโดยสื่อให้ต้องมีรูปร่างผอมบาง ("How to love the way you look" Teen People October, 1999)

จากการวิจัยโดยบริษัทตัวแทนโฆษณา Saatchi and Saatchi เมื่อปี 2539 พบว่าโฆษณาทำให้ผู้หญิงเกิดความหวาดกลัวว่าจะแก่ และไม่มีเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้าม (Peacock, M. (1998). " Sex, Housework & Ads." Women's Wire web site.
[On line: http//Womenswire.com/forums /image/D1022/]

โฆษณาส่วนใหญ่สร้างให้รูปร่างเพรียวผอมเป็นมาตรฐานของความงามแห่งอิสตรี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่จะพบเห็นในผู้หญิงสุขภาพดีโดยปกติทั่วไป ในความเป็นจริง นางแบบแฟชั่นมีน้ำหนักน้อยกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยถึง 23% ("Facts on Body and Image," compiled by Jean Holzgang, Just Think Foundation website. [Online : http://www.justthink.org/bipfact.html]

ผู้หญิงอายุระหว่าง 18-34 ปี จะมีโอกาสเพียง 7% ที่จะมีรูปร่างเหมือนนางแบบตามเวทีแฟชั่น และเพียง 1% เท่านั้น ที่จะมีโอกาสผอมบางเท่ากับสุดยอดนางแบบซุปเปอร์โมเดล (Olds, T. (1999) Barbie figure "life-threatening." The Body Culture Conference. VicHealth and Body Image and Health Inc.)

เด็กสาว 69% ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่า นางแบบตามนิตยสาร มีอิทธิพลต่อความคิดของคนเกี่ยวกับรูปร่างที่สมบูรณ์แบบ ("Magazine Models Impact Girls' Desire to Lose Weight, Press Release." (1999). American Academy of Pediatrics)

การยอมรับรูปร่างผู้หญิงที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทำให้เกิดมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ นักวิจัยบางคนเชื่อว่า นักโฆษณาจงใจสร้างให้รูปร่างผอมบางกลายเป็นเรื่องปกติ เพื่อที่จะสร้างความอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพื่อกระตุ้นการบริโภคสินค้า อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า

"สื่อทำการตลาดกับความอยาก โดยผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สื่อสืบทอดตลาดของความผิดหวังและความคับข้องใจ ผลคือลูกค้าผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนไม่เคยหมดไป" (Hamburg. P. (1988). "The media and eating disorders: who is most vulnerable?" Public Forum: Culture, Media and Eating Disorders, Harvard Medical School).

จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักอย่างเดียวมีรายได้หมุนเวียนเป็นมูลค่าถึง 33 พันล้านเหรียญสหรัฐ (Schneider, K. "Mission Impossible." People Magazine, June 1966.) นับได้ว่านักโฆษณาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด

การที่ธุรกิจโฆษณาในสื่อต่าง ๆ สร้างมาตรฐาน "ความเป็นจริง" ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง นอกจากจะส่งผลให้ผู้หญิงจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เพื่อหวังว่าวันหนึ่งตนจะได้ผอมลงตามมาตรฐานในอุดมคติแล้ว ยังมีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมากมาย ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่รูปร่างปกติจะรู้สึกว่าตนเองอ้วนเกินไป และไม่พอใจกับน้ำหนักตัวจนทำให้ขาดความมั่นใจ และความภาคภูมิใจในตัวเองลดลง ความปรารถนาอันดับแรกของเด็กสาวอายุระหว่าง 11-17 ปีคือ อยากผอมลง (Facts on Body and Image," อ้างแล้ว)

แม้แต่เด็กหญิงอายุเพียง 5 ขวบก็แสดงความหวาดวิตกว่า กลัวความอ้วน (Media Influence on Teens, อ้างแล้ว) 80 % ของเด็กหญิงอายุ 10 ขวบเริ่มรับประทานอาหารลดความอ้วน (Kilbourne, J. "Slim Hopes," Video, Media Education Foundation, 1995) ไม่ว่าในช่วงเวลาใดก็ตาม 50% ของผู้หญิงอเมริกันต่างกำลังลดน้ำหนัก (Schneider, K. อ้างแล้ว)

ธุรกิจโฆษณาไม่เพียงแต่กระตุ้นความอยากให้ผู้หญิงเป็นทาสการบริโภคสินค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุของการนำเสนอสินค้า ที่จะส่งผลให้สังคมชินชาต่อการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง Jean Kilbourne นักวิชาการที่รณรงค์ให้สังคมตื่นตัวและเท่าทันสื่อ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการนำเสนอภาพผู้หญิงในสื่อต่อเนื่องมา 30 ปี พบว่า

ผู้หญิงในสังคมอเมริกันถูกสื่อหล่อหลอมให้เชื่อว่า ความเป็นหญิงคือต้องงดงามไม่มีที่ติ โดยบริโภคสินค้าเสริมความงามต่าง ๆ ต้องใช้ภาษากายที่ดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม ต้องดูเซ็กซี่ภายใต้รัศมีแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง Kilbourne ได้เสนอภาพจากสื่อที่เธอเก็บสะสมไว้ในรูปของสไลด์ ภาพยนตร์สารคดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงถูกฉีก และตัดต่อออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำเสนอเป็นส่วนเสี้ยว แล้วทำให้ดูงดงามแม้ในสภาพผอมแห้งหรือถูกฆาตกรรม

Kilbourne อธิบายว่า โฆษณาทำให้การข่มขืนดูเป็นเรื่องยั่วยวน และทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ สิ่งเหล่านี้ เป็นกระบวนการทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนสภาพจากความมีตัวตนเป็นวัตถุสิ่งของ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ โฆษณาการทำศัลยกรรมหน้าอก ที่ผู้หญิงต้องผ่านขั้นตอนที่เจ็บปวด และบ่อยครั้งที่ผู้หญิงจะสูญเสียความรู้สึกบริเวณทรวงอก หลังผ่าตัดเพียงเพื่อจะเป็นวัตถุสนองความสุขให้ผู้อื่นที่มิใช่ตนเอง

เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมไทย แม้จะยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง แต่ปรากฏการณ์ในธุรกิจโฆษณาไทยแทบไม่ต่างอะไรจากสังคมอเมริกัน เพราะบริษัทโฆษณาในเมืองไทยส่วนใหญ่คือบริษัทลูกของอเมริกา ย่อมมีนโยบายและการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดในกรอบเดียวกัน บริษัทที่ไม่ใช่สาขา ซึ่งอาจหมายถึงบริษัทจากประเทศอื่นหรือบริษัทของคนไทยเอง ก็มีกรอบของกลยุทธ์การตลาดไม่ต่างกัน หากจะต้องแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในวงการโฆษณา ผู้หญิงจึงถูกมองเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในฐานะผู้ซื้อสินค้า และเป็นวัตถุในการดึงดูดให้ผู้อื่นมาซื้อสินค้า

ผู้หญิงไทยเรียนรู้ "ความเป็นจริง" จากสื่อว่าผู้หญิงต้องสวยจึงจะมีคุณค่า ผู้หญิงสวยต้องมีรูปร่างผอมบาง ผิวขาวนวลเนียน ใบหน้าไร้สิวฝ้า ผมยาวสลวยดกดำ ผู้หญิงถูกกระตุ้นให้ซื้อสินค้าโดยภาพผู้หญิงที่เซ็กซี่ มีเสน่ห์ทซึ่งถูกคัดเลือกมานำเสนอในสื่อโฆษณา

ผู้หญิงถูกทำให้เป็นเหยื่อโดยกระบวนการอันซับซ้อน แยบยล ซึ่งหากไม่มีการสร้างภูมิต้านทานให้ผู้หญิงเป็นผู้รับสารที่เท่าทันสื่อ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีสุขภาพดี เพราะการที่สมาชิกของสังคมดำเนินชีวิตอยู่บนความเป็นจริงลวง ย่อมเป็นความป่วยไข้ทางใจที่ส่งผลทำให้สังคมพิกลพิการ ขาดสมดุล และเสื่อม

2. สถานภาพของผู้หญิงในศิลปะ
หากสำรวจดูถึงสถานภาพของผู้หญิงในวงการศิลปะ ท่ามกลางวันเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ศิลปแบบศูนย์กลางยุโรป(Eurocentric) จะพบว่า ผู้หญิงเป็นชนชั้นสองในวงการศิลปะ ทั้งนี้เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของผู้หญิง นับว่ามีน้อยกว่าผู้ชายเป็นอันมาก จำเพาะเทพเจ้าส่วนใหญ่ของกรีก ซึ่งเป็นเนื้อหาทางศาสนาที่มีกล่าวถึงในเทพปกรณัมโบราณของกรีก และผลงานทางด้านประติมากรรม รวมทั้งภาพจิตรกรรมต่างๆบนภาชนะโบราณสมัยดังกล่าว ก็จะพบว่า เทพเจ้าที่เป็นชายมีบทบาทและความสำคัญมากกว่าหญิงเป็นส่วนใหญ่

กล่าวในด้านตัวของศิลปินเองก็ตาม ศิลปินหญิงในประวัติศาสตร์ศิลปก็เช่นกัน จำนวนของศิลปินหญิงในท่ามกลางโลกยุคโบราณทั่วโลก ปริมาณของศิลปินหญิงก็มีน้อยกว่าชายอย่างเทียบกันไม่ได้ หรือแทบไม่ปรากฏนามกันเลย เฉพาะในยุโรปนับตั้งแต่กรีกเป็นต้นมา สมัยกลาง สมัยเรอเนสซองค์ จนกระทั่งถึงคริสตศตวรรษที่ 17 แทบจะไม่มีนักประวัติศาสตร์ศิลปคนใดจำชื่อศิลปินหญิงได้เกิน 10 คน ในขณะที่ศิลปินชายมีมากนับเป็นร้อยคน

แม้แต่ในปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ที่ผ่านมานี้เอง ช่วงที่ศิลปะ Impressionism และ Post impressionism รุ่งเรือง โลกศิลปะส่วนใหญ่ก็รู้จักแต่ชื่อเสียงของศิลปินชายที่โด่งดังเท่านั้น อย่างเช่น Manet, Pissarro, Degas, Cezanne, Sisley, Monet, Renoir, Seurat, Toulouse-Lautrec, Bonnard, Martisse, Dufy เป็นต้น ส่วน Morisot, Cassatt ซึ่งเป็นชื่อของศิลปินหญิงในยุคสมัยเดียวกัน ผู้สนใจศิลปะทั้งหลายที่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ศิลป์แทบไม่ได้ยินชื่อหรือรู้จักกันเลย (The Cowles Comprehensive Encyclopedia : The Volume Library, p.1792)

มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ในชั้นเรียนของบรรดานักศึกษาศิลปะตามสถาบันสอนศิลปะโดยทั่วไป พวกเขามีคู่แข่งที่จะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในอนาคต เพียงแค่ครึ่งห้องที่เป็นชายด้วยกันเองเท่านั้น และคนเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้แสดงผลงานศิลปะระดับชาติ ด้วยเหตุดังนั้น พื้นที่ในหอศิลป์ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายจึงแตกต่างกันตามไปด้วย

ข้อเท็จจริงสำหรับเรื่องนี้เป็นเพราะ ผู้หญิงได้ถูกกีดกันในการเข้าเรียนศิลปะมานับตั้งแต่ต้น ซึ่งเพิ่งมาเปิดโอกาสให้สามารถเลือกเรียนศิลปะได้เมื่อไม่นานมานี้ คำถามคือว่า มีเหตุผลอะไรที่อยู่เบื้องหลังการกีดกันดังกล่าว และอุปสรรคของความเป็นหญิงยังไม่หมดแค่นั้น หลังจากที่พวกเธอได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าเรียนศิลปะได้แล้ว แต่พวกเธอกลับถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าชั้นเรียนในการเขียนภาพเปลือย คำถามข้อสองที่ตามมาก็คือ อะไรคือสาเหตุของข้อห้ามเหล่านั้น

ในแวดวงศิลปะที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป มิใช่จะมีแต่เรื่องของศิลปิน ศิลปะ และหอศิลป์เท่านั้น ยังมีเรื่องของภัณฑารักษ์ศิลปะ นักวิชาการศิลปะ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ นักวิจารณ์ศิลปะ นักปรัชญาศิลปะ นักสะสมผลงานศิลปะ ฯลฯ เกือบจะกล่าวได้ว่า บุคคลในวิชาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ชายเป็นผู้ถือครองสิทธิข้างต้นนี้ทั้งสิ้น โดยมีผู้หญิงเป็นองค์ประกอบประปรายอยู่ที่ชายขอบของวงการศิลปะ ด้วยเหตุนี้ สถานภาพของผู้หญิงในแวดวงของประวัติศาสตร์ศิลปะจึงมีบทบาท ความสำคัญ รวมไปถึงพื้นที่และเวลาน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงในทางกลับกันที่น่าสนใจคือว่า แม้สถานภาพของผู้หญิงในวงการศิลปะจะมีบทบาท ความสำคัญ พื้นที่และเวลาในการแสดงออกทางศิลปะน้อยกว่าผู้ชาย แต่ภาพร่างกายที่เปลือยเปล่าของผู้หญิง(nude)ที่ถูกเขียนขึ้นมาเป็นภาพ กลับมีมากกว่าผู้ชายอย่างน่าพิศวง

ร่างกายของผู้หญิงในงานศิลปะ
หากจะสำรวจกันถึงภาพร่างกายเปลือยเปล่าของผู้หญิง ที่ปรากฎในประวัติศาสตร์ศิลป์ภาพแรกๆ ที่ยังคงเหลือรอดอยู่บนโลกของเราใบนี้ เราจะพบผลงานประติมากรรมร่างกายเปลือยเปล่าของผู้หญิงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพของ Venus of Willendrof ซึ่งถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่รู้จักกันดีในหมู่ของนักประวัติศาสตร์ศิลป์และนักโบราณคดี

ผลงานดังกล่าว มีลักษณะเป็นภาพของหญิงเปลือยที่กำลังตั้งครรภ์ ขนาดของเต้านมมีขนาดใหญ่ ส่วนหน้าตามีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ บรรดานักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ สันนิษฐานว่า หน้าตาไม่ใช่สิ่งสำคัญของผลงานศิลปกรรมชิ้นนี้ ทั้งนี้เพราะงานประติมากรรมชิ้นดังกล่าว ต้องการเน้นให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นความเชื่อของคนในยุคโบราณ

ร่างกายอันเปลือยเปล่าของผู้หญิงในยุคต่อมาที่มีชื่อเสียง ก็คือภาพ Venus เช่นกัน ซึ่งทำขึ้นมาในสมัยโรมัน เป็นภาพที่เปิดเผยให้เห็นร่างกายส่วนบนที่เปลือยเปล่า ท่อนล่างมีผ้าคลุมอยู่ ซึ่งกำลังจะหลุดล่วง ภาพนี้นำมาจากปกรณัมโบราณที่พูดถึงเทพธิดาแห่งความรัก ที่สอดคล้องกับเทพธิดา Aphrodite ของกรีก (Oxford Advanced Learner's Encyclopedic, Dictionary)

มาถึงยุคกลาง(The Middle Age)ในยุโรป ซึ่งคริสตศาสนาเรืองอำนาจ ภาพเปลือยได้หายไปจากความเชื่อทางศาสนาดังกล่าว ผู้หญิงที่ปรากฎในงานภาพเขียนต่างๆของยุคนี้ สวมใส่เสื้อผ้าอย่างค่อนข้างมิดชิด จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยเรอเนสซองค์ ราวคริสตศตวรรษที่ 15 ที่บรรดาศิลปินทั้งหลายได้กลับไปศึกษางานศิลปกรรมของกรีกโบราณ

ผลงานจิตรกรรมชื่อ "กำเนิดวีนัส"(The birth of Venus) ของ Sandro Botticelli (1445-1510) (The Random House Dictionary of Art and Artists) เป็นผลงานเทคนิคจิตรกรรม ซึ่งได้กลับมาเขียนภาพเปลือยของวีนัสอีกครั้งหนึ่ง ภาพดังกล่าวเป็นภาพเปลือยของผู้หญิงทั้งเรือนร่าง แต่ด้วยข้อจำกัดทางศาสนาคริสต์ ที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในเวลานั้น ศิลปินจึงใช้เล่ห์เหลี่ยมทางศิลปะด้วยการเขียนภาพวายุเทพ กำลังเป่าลมไปที่เรือนร่างของวีนัสจนผ้าผ่อนหลุดลุ่ย

เมื่อหันกลับมามองในวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะในงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมและศาสนาของอินเดียโบราณ เราจะพบภาพ"กามสูตร"ของศาสนาฮินดูอันมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นภาพของหญิงชายในภาพของการร่วมเพศในท่าทีและรูปแบบต่างๆ อันเป็นการสะท้อนถึงวิถีชีวิตและหลักธรรมทางศาสนา ในส่วนของพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ภาพเปลือยของเทพธิดาพญามารที่กำลังร่ายรำต่อหน้าพระพักตร์ของสิทธัตถะ ถือเป็นภาพที่มีชื่อเสียงก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้ และพ้นจากโลกียภูมิไปสู่โลกุตรภูมิเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ในทางพระพุทธศาสนาของธิเบต จะมีภาพเขียนประเภทหนึ่งที่เรียกว่าภาพ Yab Yum อันเป็นภาพของพระโพธิสัตว์กำลังสวมสอดกับศักติของพระองค์ที่เป็นหญิง ในท่าของการสวมกอด โดยศักตินั่งอยู่บนพระเพราของพระองค์ในท่วงท่าของการสังวาส คำอธิบายเกี่ยวกับปริศนาในเนื้อหาของภาพดังกล่าว หมายถึง การรวมตัวพระปัญญาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ อันเป็นที่มาของพระบริสุทธิคุณ ซึ่งปัจจุบันภาพเหล่านี้ ยังมีการเขียนขึ้นมาอยู่และแพร่หลายพอสมควร

ในผลงานจิตรกรรมฝาผนังของท้องถิ่นล้านนา และของภาคกลางของประเทศไทย ภาพเปลือยท่อนบนระหว่างหญิงชายดูมิใช่ของแปลก และมีมากพอๆกัน ส่วนภาพของผ้าโจงกระเบนหลุดลุ่ยมองเห็นอัวยวะเพศ หรือภาพประเจิดประเจ้อทั้งหญิงชาย ดูเหมือนว่าจะพบเห็นกันอยู่เสมอตามจิตรกรรมฝาผนังของวัดต่างๆโดยทั่วไป ภาพที่ปรากฏให้เห็นเหล่านี้ถือเป็นภาพตลกของพวกตัวกากตัวตีนกำแพง อันหมายถึงภาพตัวชาวบ้าน ที่ช่างไทยสมัยโบราณแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตตามปกติของผู้คนธรรมดาที่ยังไม่มีความสำรวมพอ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของผู้ที่ยังห่างไกลจากพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ภาพตัวพระตัวนาง ซึ่งปกติแล้วเป็นภาพของชนชั้นสูงในจิตรกรรมฝาผนังไทยจะสวมใส่เครื่องทรงครบชุดมิดชิด ก็ปรากฏว่าบางภาพ ถูกเขียนให้ตัวนางจำนวนหนึ่งที่สวมมงกุฎ เปลือยกายท่อนบนลงเล่นน้ำ เช่นดังที่เคยปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดทองนพคุณ ภาพดังกล่าว หากวิเคราะห์คู่กันไปกับงานวิชาการด้านสังคม-วัฒนธรรมต่างๆแล้ว ก็เป็นการสะท้อนถ่ายถึงวิถีชีวิตไทยที่มีความเป็นอยู่คล้ายๆกันระหว่างเจ้านายกับไพร่สามัญชน ซึ่งมิได้มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากกันมากมายนัก

หันกลับมามองภาพเปลือยในปัจจุบันของสังคมไทย เราจะพบว่าภาพร่างกายเปลือยที่พบเห็นกันอยู่ ถูกเขียนขึ้นมาในลักษณะที่เป็นทั้งรูปธรรมแบบเหมือนจริงและนามธรรมที่คลี่คลายและบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นภาพของผู้หญิงเปลือย หากเป็นภาพของผู้ชายเปลือย(โดยเฉพาะท่อนบน) ส่วนมากมักจะเป็นผลงานของศิลปะของกลุ่มศิลปะเพื่อชีวิต ที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่อันทุกข์ลำเค็ญของชนชั้นล่าง ทั้งชาวนาและชนกรรมาชีพ หากจะมีภาพของผู้หญิงเปลือยก็เป็นภาพของหญิงโสเภณี และหญิงชาวบ้านที่ถูกทำร้ายด้วยการใช้กำลังและอำนาจที่รุนแรงต่างๆ อันเป็นการสะท้อนเนื้อหาของภาพเปลือยในอีกลักษณะหนึ่ง

ภาพเปลือยส่วนใหญ่ในสังคมไทย นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีภาพเปลือยที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับร่างกายของผู้หญิง ซึ่งปรากฏให้เห็นทั้งบนภาพปฏิทิน โปสเตอร์ และแผ่นปิดโฆษณาภาพยนตร์ ทั้งเปลือยเฉพาะร่างกายท่อนบนและทั้งท่อนบนและท่อนร่าง เพื่อใช้เป็นวัตถุของการบริโภคด้วยการจ้องมองของผู้ชายที่ส่อไปในเรื่องทางเพศ

ภาพเหล่านี้ปกติแล้ว ได้แพร่กระจายไปสู่ผู้ที่มีค่านิยมไม่แตกต่างกันนักระหว่างชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และกระทั่งถึงชนชั้นสูง เพียงแต่ว่า ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมักนิยมบริโภคสิ่งที่ได้การประทับตราว่าเป็นผลงานทางด้านศิลปะมากกว่าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภาพของผู้ชายเปลือยในสังคมไทยก็มีให้พบเห็นเช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้และพบเห็นกันบ่อยๆก็คือ ภาพของนักกล้าม นักมวย ตลอดรวมไปถึงภาพโฆษณาน้ำมันมวย และน้ำมันนวดแก้เคล็ดขัดยอกต่างๆ ที่ใช้ภาพของผู้ชายเปลือยเป็นตัวแทนการโฆษณา แต่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเริ่มมีการบริโภคร่างกายของผู้ชายเปลือยเช่นเดียวกัน ในฐานะที่เป็นวัตถุของการจ้องมองและส่อเค้าเรื่องราวทางเพศ ตามหน้านิตยสารต่างๆของผู้หญิงในสังคมไทย

หากเราจะย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งถือเป็นโลกแห่งอารยธรรมที่ก้าวหน้ามากที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก ภาพผู้ชายเปลือยกลับมีอยู่น้อยชิ้นมากในท่ามกลางภาพของผู้หญิงเปลือยนับพันนับหมื่นชิ้นอย่างเทียบกันไม่ได้ และหนึ่งในนั้นของภาพผู้ชายเปลือยที่ร่างกายเปลือยเปล่าทั้งท่อนบนและท่อนล่าง ซึ่งรู้จักกันมากที่สุดก็คือภาพของ Jesus นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกภาพหนึ่งซึ่ง ผู้ที่สนใจทางด้านศิลปะโดยมากมักรู้จักกันทุกคนก็คือ ผลงานประติมากรรมที่สลักเสลาขึ้นมาจากหินอ่อนของ Michelangelo ได้แก่ภาพ David (***)

เปรียบเทียบกับแหล่งที่ถูกประณามว่า ดินแดนแห่งอนารยะธรรมอย่างแอฟริกา ซึ่งศูนย์กลางยุโรปเรียกขานว่าเช่นนั้นในสมัยล่าอาณานิคม ภาพหญิงและชายเปลือย มีให้พบเห็นเกือบเท่าๆกันในรูปของประติมากรรมแกะสลักที่ทำขึ้นมาจากไม้ ซึ่งกล่าวในเชิงปริมาณแล้ว ถือว่ามีความเสมอภาค และมีความสมดุลย์ในเรื่องของสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้เป็นสะท้อนถึงอะไรได้บ้าง และได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาระหว่างความสัมพันธ์หญิงชายอย่างไร ในเชิงเปรียบเทียบกับอารยธรรมของยุโรปที่ตระหนักว่าตนเองเหนือกว่าดินแดนอันป่าเถื่อนเหล่านั้น

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะและแวดวงประวัติศาสตร์ศิลป์เกี่ยวกับสถานภาพของหญิงชาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรือนร่างของผู้หญิงในฐานะกรณีศึกษา อะไรคือความจริงที่อยู่เบื้องหลังสถานภาพดังกล่าวของผู้หญิง ที่ปรากฏขึ้นมาเป็นวัตถุพยานเหล่านั้น และอะไรคือต้นตอที่ลึกลงไปกว่าความจริงดังกล่าว สิ่งเหล่านี้เป็นดัชนีที่ชี้ถึงสุขภาวะทางสังคม-การเมืองเรื่องเพศได้หรือไม่ และในประวัติศาสตร์ศิลปะจนถึงเหตุการณ์ศิลปะ(Art event)ในปัจจุบัน สุขภาวะดังกล่าวมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ทั้งในระดับของเวลาและสภาพภูมิศาสตร์อันเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปะ

*** (หมายเหตุ: โดยเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมทางศิลปะของยุโรป เราแทบไม่พบภาพของร่างกายหญิงหรือชายเปลือยโดดๆ ในวัฒนธรรมศิลปะของจีนและอินเดียโบราณเลย ยกเว้นภาพของการร่วมเพศของหญิงชาย เช่น สมุดข้างหมอน และภาพกามสูตร อันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและเรื่องราวทางศาสนา)

3. สถานะของผู้หญิงในระบบกฎหมาย
การพิจารณาสถานะของเพศหญิงในระบบกฎหมาย สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ใน 2 แง่มุมที่สำคัญ คือ

3.1 การให้ความคุ้มครองและรับรองสิทธิของเพศหญิงในฐานะของการเป็นมนุษย์ การพิจารณาสถานะของเพศหญิงในแง่นี้เพศหญิง จะได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับที่บุคคลทั่วไปได้รับในฐานะที่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน เป็นต้น ในปัจจุบันการถือกำเนิดขึ้นเป็นเพศหญิงและชาย ได้รับการยอมรับว่ามีสถานะเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน

3.2 การพิจารณาสถานะของเพศหญิงด้วยการเปรียบเทียบกับเพศชาย แม้ว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเพศชาย แต่ก็ปรากฏว่าในระบบกฎหมายมีความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศดำรงอยู่ ความไม่เท่าเทียมกันนี้อาจปรากฏอยู่ทั้งในบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้สิทธิหน้าที่ของเพศหญิงและชายมีความแตกต่างกัน

ความไม่เท่าเทียมกันนี้มีอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายครอบครัว (ดูตัวอย่างการวิเคราะห์ถึงความไม่เท่าเทียมนี้ได้ใน วิระดา สมสวัสดิ์, กฎหมายครอบครัว, กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. 2540) ด้วยการกำหนดให้เหตุของการหย่าระหว่างหญิงและชายมีความแตกต่างกัน หรือเป็นการกำหนดให้สิทธิบางอย่างของหญิงไม่อาจใช้ได้ในบางกรณี เช่น การกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามกฎหมายอาญา จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อกระทำกับหญิงที่มิใช่ภรรยาของตน หากกระทำต่อภรรยาของตนเอง ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดแต่อย่างใด

นอกจากการกำหนดให้สิทธิของเพศหญิงและชายมีความแตกต่างกันแล้ว ในการบังคับใช้หรือตีความกฎหมาย ก็จะปรากฏให้เห็นอิทธิพลทางความคิดที่ไม่ได้มีการคำนึงถึงประสบการณ์ อารมณ์ สถานะของเพศหญิง เข้ามาประกอบอย่างเพียงพอ ดังกรณีการตีความให้การข่มขืนเป็นเรื่องการกระทำระหว่างอวัยวะเพศของชายกับหญิง หรือการพิจารณาถึงบาดแผลในร่างกาย ว่าเป็นหลักฐานสำคัญต่อการพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่ยินยอมพร้อมใจของหญิง
(ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, ข่มขืน : ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย, ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 19 ฉบับที่ 3, 2539 บทความจากงานสัมมนาทางวิชาการความรุนแรงในสังคมไทย "รำลึก 20 ปี 6 ตุลา" และดูรายละเอียดเกี่ยวกับการตีความของกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมได้เพิ่มเติมใน นัทมน คงเจริญและสมชาย ปรีชาศิลปกุล, การข่มขืนโดยกระบวนการยุติธรรม ในนิติสังคมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1/2546)

สถานะของเพศหญิงผ่านมุมมองด้วยการเปรียบเทียบกับชายจึงนำไปสู่การเรียกร้องความเสมอภาค / ความเท่าเทียมกัน หากว่าไม่มีเหตุผลหรือความชอบแล้วระหว่างเพศชายกับหญิง ก็ไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติให้มีความแตกต่างเกิดขึ้น ถ้าผู้ชายได้รับสิทธิเช่นใดหญิงก็ต้องมีสิทธิด้วยเช่นกัน การเลือกปฏิบัติจะเป็นไปได้ต่อเมื่อมีเหตุผลรองรับอย่างหนักแน่นเพียงพอ เช่น การทำหน้าที่ทางทหารบางประเภทที่อาจจำเป็นต้องอาศัยความเหมาะสมทางกายภาพ

การเลือกปฏิบัติเช่นนี้ในด้านหนึ่งอาจเป็นการจำกัดสิทธิของหญิงให้มีความไม่เท่าเทียมกับชาย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการสร้างให้เกิดสิทธิที่แตกต่างของเพศหญิงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังกรณีการให้ความคุ้มครองกับเพศหญิงในกฎหมายแรงงาน ทั้งในด้านของการปกป้องไม่ให้ทำงานในลักษณะที่เสี่ยงอันตรายมาก หรือการลาคลอดซึ่งเป็นลักษณะทางกายภายของหญิงที่แตกต่างจากเพศชาย

การพิจารณาถึงสถานะของเพศหญิงดังที่กล่าวมา เป็นมุมมองของสตรีนิยมแนวเสรีนิยม (Liberal Feminism) ที่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์และศักยภาพของเพศหญิง ว่าไม่มีความแตกต่างจากชาย กรอบการมองเช่นนี้มีผลอย่างสำคัญต่อการปรับเปลี่ยน แก้ไขกฎหมายที่มีผลเชื่อมโยงกับสถานะของเพศหญิง

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาถึงสถานะของเพศหญิงในกฎหมายภายใต้สังคมปัจจุบันประสบปัญหายุ่งยากไม่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งในสังคมทุนนิยมที่เร่งเร้าการส่งเสริมการบริโภคอันมีผลต่อการใช้สถานะของเพศหญิงเป็นเครื่องมือ

ทั้งนี้ในแง่มุมการพิจารณาถึงบทบาทของกฎหมายต่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมี 2 แนวความที่สำคัญคือ

ประการแรก แนวความคิดเรื่องหลักอันตราย (Harm Principle) ของ John Stuart Mill ที่ให้ความเห็นว่า การที่จะมีการออกกฎหมายมาจำกัดการกระทำใดๆ ของบุคคลได้นั้น จะต้องปรากฏอย่างชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าว ก่อให้เกิดอันตรายขึ้นทั้งกับปัจเจกบุคคลและสังคม เช่น การฆ่า การทำร้ายร่างกาย หากการกระทำใดที่ไม่ปรากฏชัดเจนว่าจะส่งผลอันตรายก็ควรปล่อยให้เป็นแดนเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่สามารถจะกระทำได้ แม้ว่าการกระทำนั้นๆ อาจหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมของสังคมโดยรวมก็ตาม

ประการที่สอง แนวความคิดเรื่องหลักศีลธรรมในกฎหมาย (Legal Morality) แนวความคิดนี้อธิบายว่า สังคมสามารถออกกฎหมายมาเพื่อห้ามการกระทำใดๆ ก็ได้ ถ้าเห็นว่าการกระทำนั้นมีผลกระทบต่อศีลธรรมของส่วนรวม แม้การกระทำนั้นไม่ได้ก่ออันตรายทางกายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนก็ตาม ภายใต้คำอธิบายเรื่องหลักศีลธรรมในกฎหมายเชื่อว่า แต่ละสังคมจะมีศีลธรรมของส่วนรวมอยู่ การกระทำสิ่งเหล่านี้จึงไม่อาจยินยอมให้เกิดขึ้นได้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน การดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว การยึดหลัก Harm Principle จะสามารถปกป้องเฉพาะการกระทำที่เห็นได้ชัดว่า เป็นอันตรายต่อตัวของหญิงโดยตรง เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา แต่ในสังคมสมัยใหม่ มีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสถานะของหญิงในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ดังการทำให้หญิงกลายเป็นวัตถุของสื่อหรือการโฆษณา การกระทำในลักษณะนี้หากใช้กรอบความคิดแบบเดิมก็อาจมิใช่เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย

เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงยากที่จะเข้าไปมีบทบาทในการปกป้องสถานะของหญิงได้ แม้กระทั่งในการพิจารณาตามกรอบความคิดแบบศีลธรรมในกฎหมาย การได้รับผลกระทบของหญิงในลักษณะที่กล่าวมา ก็ยังอยู่ห่างไกลจากการได้รับการตระหนักของสังคมว่า เป็นหลักศีลธรรมของส่วนรวมที่ต้องได้รับการควบคุมจากส่วนรวม

ความเป็นไปได้ของการสร้างระบบกฎหมาย ในการปกป้องสถานะของหญิงจากการถูกละเมิด และลดทอนความเป็นมนุษย์ลงโดยสังคมบริโภคนิยม คือการเปิดแนวทางในการพิจารณาสิทธิของหญิงในสังคม ที่แตกต่างไปจากการพิจารณาเฉพาะด้านชีวิตและเนื้อตัวร่างกาย หรือด้วยวิธีการมองผ่านความสัมพันธ์ทางด้านเพศที่เน้นความเท่าเทียมเสมอภาค ให้หันมาสนใจถึงอัตลักษณ์ของหญิง ที่จะถูกกระทบจากกระบวนการสร้างความเป็นหญิงโดยสื่อและโฆษณา การให้ความสนใจถึงตัวตนและการดำรงอยู่ของหญิงในสังคมบริโภคนิยม

ด้วยการมองในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาสิทธิของเพศหญิงในแง่มุมใหม่ ที่ทำให้สังคมต้องหันมาให้ความสำคัญและความสนใจมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทำให้การกระทำต่างๆ ต่อหญิงโดยสื่อและโฆษณา กลายเป็นศีลธรรมของสังคมส่วนรวมที่ต้องได้รับการตระหนักถึงมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง (ภาษาอังกฤษ)
Allison LaVoie. Media Influence on Teens. Facts compiled. The Green Ladies Web Site. [http://kidsnrg.simplenet.com/grit.dev//london/g2_jan12/green _ladies/media/]

American Academy of Pediatrics. Magazine Models Impact Girls' Desire to Lose Weight, Press Release." (1999).

Dittrich, L. "About-Face facts on the Media" About-Face web site. [Online: http://about-face.org/resources/facts/media.html.] อ้างใน Body Image & Advertising

Hamburg. P. (1988). "The media and eating disorders: who is most vulnerable?" Public Forum: Culture, Media and Eating Disorders, Harvard Medical School.

Jean Holzgang, acts on Body and Image," compiled. Just Think Foundation website. [Online : http://www.justthink.org/bipfact.html]

Kilbourne, J. "Slim Hopes," Video, Media Education Foundation, 1995

Olds, T. (1999) Barbie figure "life-threatening." The Body Culture Conference. VicHealth and Body Image and Health Inc.

Oxford Advanced Learner's Encyclopedic, Dictionary

Peacock, M. (1998). " Sex, Housework & Ads." Women's Wire web site.
[http//Womenswire.com/forums /image/D1022/]

Schneider, K. "Mission Impossible." People Magazine, June 1966.

The Cowles Comprehensive Encyclopedia : The Volume Library, p.1792

The Random House Dictionary of Art and Artists, 1981

เอกสารอ้างอิง (ภาษาไทย)
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, ข่มขืน : ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย, ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 19 ฉบับที่ 3, 2539 บทความจากงานสัมมนาทางวิชาการความรุนแรงในสังคมไทย "รำลึก 20 ปี 6 ตุลา"

นัทมน คงเจริญ และ สมชาย ปรีชาศิลปกุล, การข่มขืนโดยกระบวนการยุติธรรม ในนิติสังคมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1/2546)

วิระดา สมสวัสดิ์, กฎหมายครอบครัว, กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. 2540

 

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่อง "สถานภาพของผู้หญิงในสื่อ ศิลปะ และกฎหมาย" งานวิจัยบูรณาการ เพื่อสุขภาวะทางสังคมของการอยู่ร่วมกัน

ผู้หญิงในสังคมอเมริกันถูกสื่อหล่อหลอมให้เชื่อว่า ความเป็นหญิงคือต้องงดงามไม่มี ที่ติ โดยบริโภคสินค้าเสริมความงามต่าง ๆ ต้องใช้ภาษากายที่ดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม Kilbourne ได้เสนอภาพจากสื่อที่เธอเก็บสะสมไว้ในรูปของสไลด์ ภาพยนตร์สารคดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงถูกฉีก และตัดต่อออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำเสนอเป็นส่วนเสี้ยว แล้วทำให้ดูงดงามแม้ในสภาพผอมแห้งหรือถูกฆาตกรรม

ร่างกายของผู้หญิงในสื่อ ภาพผู้หญิงในสังคมอเมริกันจะถูกนำเสนอออกมา เป็น 2 แบบ คือสาวพรหมจารีย์และโสเภณีตามแนวคิดแยกขั้วแบบตะวันตก(Euro-American thought) แบบแรกเป็นสาวใส ซื่อ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา สอดคล้องกับบุคลิกของพระแม่มารี ตามแนวของคริสตศาสนา อีกแบบหนึ่งเป็นสาวยั่วเสน่ห์เต็มไปด้วยมารยาสาไถย สอดคล้องกับบุคลิกของอีฟ ตามความเชื่อแบบจูดาห์ อย่างไรก็ตาม ภาพผู้หญิงในโฆษณาจะถูกเน้นเรื่องทางเพศโดยตอกย้ำความดึงดูดทางเพศเพื่อมุ่งขายสินค้า "ความเป็นจริง" ที่สื่อโฆษณาสร้างให้ผู้หญิงยอมรับ คือ ผู้หญิงต้องสวยและหุ่นดี การสำรวจโดยนิตยสาร Teen People ระบุว่าผู้หญิง 27% รู้สึกว่าถูกกดดันโดยสื่อให้ต้องมีรูปร่างผอมบาง ("How to love the way you look")