ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
190947
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 451 หัวเรื่อง
บทบาทของกฎหมายกับสามัญชน
ศาสตราจารย์ เดวิด เองเจล
State Univeristy of
New York at Buffalo
The Midnight University

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

กฎหมายละเมิดและนโยบายสังคม
บทบาทของกฎหมายที่มีต่อชีวิตสามัญชน

Professor David Engel
State University of New York at Buffalo

ขอขอบพระคุณ ผศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่มอบต้นฉบับนี้ให้เผยแพร่
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซท์ ม.เที่ยงคืน วันที่ 13 พฤษภาคม 2547
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)

 

บทนำ
ที่อเมริกากฎหมายละเมิดสำคัญมากและศาลใช้กฎหมายละเมิดเป็นอุปกรณ์การวางนโยบายสังคมเพื่อบรรลุจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ใช้กฎหมายในการควบคุมให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ช่วยให้แพทย์ให้คำแนะนำและรักษาคนไข้ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น กฎหมายละเมิดมีบทบาทในการลดสารพิษในสภาพแวดล้อม และขจัดการรุกรานทางสีผิว หรือการลวนลามทางเพศในที่ประกอบกิจการงาน

กฎหมายละเมิดถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในสถานการณ์ดังกล่าว ในขณะเดียวกันที่อเมริกามีผู้วิจารณ์กฎหมายละเมิดอย่างรุนแรง สื่อมวลชนมีแนวโน้มที่จะสร้างภาพพจน์ว่าโจทก์และทนายโจทก์เป็นตัวตลกและคนโลภ ที่นึกถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าสังคมส่วนรวม

นอกจากนี้สื่อมวลชนในขณะนี้ยังพยายามทำให้เห็นว่า คดีฟ้องร้องทางละเมิดเพิ่มขึ้นถึงจุด "ระเบิด" และมีผู้นำคดีที่ไม่สำคัญมาฟ้องศาล ซึ่งทำให้สังคมสูญเสียงบประมาณนับเป็นล้านๆ เหรียญอเมริกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราอาจถามว่า กฎหมายละเมิดมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนธรรมดาทั่วไปอย่างไร กฎหมายละเมิดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวางนโยบายสังคมหรือไม่ คนอเมริกันกับคนไทย มีทัศนคติต่างกันหรือไม่ในเรื่องบาดเจ็บ และเรื่องบทบาทของกฎหมายต่อสังคม

ต่อไปนี้เป็นคำพูดของ 2 ปัจเจกชนที่ได้รับผลเสียหายจากการละเมิด ท่านจะบอกได้หรือไม่ว่าคนไหนเป็นคนอเมริกันหรือคนไทย

คนที่ 1
ลูกสาวของผู้หญิงคนแรกเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน คนขับอีกฝ่ายหนึ่งประมาท แม่ของผู้เสียชีวิตได้รับค่าเสียหายจำนวนหนึ่งจากคนขับ แต่คิดว่าควรจะได้มากกว่านั้น แม่ของผู้เสียหายตัดสินใจไม่ฟ้องคดี เพราะคิดว่าถ้าฟ้องคงต้องย้ายออกจากชุมชน เล็ก ๆ ที่ตนมีถิ่นฐานอยู่ หญิงผู้นั้นกล่าวว่า "ฉันลังเลอยู่นานและตัดสินใจไม่นำคดีฟ้องศาล เพราะได้รับความกดดันจากชุมชนนั้น คนท้องถิ่นนี้ไม่ค่อยพอใจที่ได้ยินเรื่องมีคดีฟ้องศาล เขาไม่อยากได้ยินเรื่องแบบนี้ เขาคิดว่าเป็นวิธีการหาเงินที่ฉันไม่สมควรจะได้"

คนที่ 2
ผู้หญิงคนที่ 2 ถูกรถชน คนขับเป็นชายแก่ ชายชรายอมชดใช้ค่าเสียหายแต่จำนวนน้อย ไม่พอกับค่ารักษาพยาบาลและการขาดรายได้ ตำรวจเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันเรื่องค่าเสียหายแต่ผู้เสียหายคิดว่าตำรวจเข้าข้างชายแก่ ผู้เสียหายเกรงว่าถ้าเรียกค่าเสียหายตามที่ตนคิดว่ายุติธรรมจะถูกตำรวจเอาเรื่อง เธอกล่าวว่า "เคยพึ่งกฎหมายแล้วไม่เคยได้คือ มันหย่อนยานมันรั่วไหล และยิ่งเราคนจนนี่ พึ่งกฎหมายไม่ค่อยได้เลย เงินนี้มีเหนือกว่า ถึงทุกวันนี้ไม่พึ่ง พึ่งตัวเอง เราไม่รู้จักใคร ใครจะมาช่วยเราล่ะ ถึงจะศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน กฎหมายหนูไม่หวังพึ่ง ทุกวันนี้พึ่งขาตัวเองจริง ๆ ขนาดขาหนูหักใช่ไหม"

ผู้หญิง 2 คนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายที่เกิดจากผลของการละเมิด แต่เขาเชื่อว่าสังคมและวัฒนธรรมมีส่วนกีดกันมิให้เขาใช้กฎหมายเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่มีเขาเพียง 2 คนเท่านั้น คนอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเดียวกัน เราจะเห็นว่าจริงๆแล้วทั้งในอเมริกาและประเทศไทย มีคนจำนวนน้อยที่ใช้กฎหมายละเมิดเป็นที่พึ่งเวลาที่ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเราตั้งใจฟังเสียงจากคนธรรมดา เช่น ผู้หญิง 2 คนที่กล่าวถึงแล้ว คนแรกเป็นคนอเมริกัน คนที่ 2 เป็นคนไทย เราอาจเปลี่ยนความเชื่อในเรื่องบทบาทของกฎหมายละเมิดที่มีต่อสังคม

ผมจะเริ่มการบรรยายโดยพูดถึงการแผ่ขยายของกฎหมายละเมิด ในฐานะอุปกรณ์ การวางนโยบายสังคมในอเมริกา ต่อจากนั้นจะพูดถึงเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดว่า ทำหน้าที่ในสังคมอย่างไร แล้วจะพูดถึงว่าความคิดเห็นของเราในเรื่องการใช้กฎหมายละเมิดจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าเราคำนึงถึงผลกระทบของกฎหมายละเมิดที่มีต่อชีวิตประจำวันของสามัญชน ประการสุดท้ายจะเปรียบเทียบระหว่างอเมริกากับไทยในเรื่องบทบาทของกฎหมายละเมิด

กฎหมายละเมิดของอเมริกาในฐานะอุปกรณ์การวางนโยบายสังคม
เมื่อ 85 ปี มาแล้ว มีกัปตันเรือลากในอ่าวเมืองนิวยอร์คตกลงไปในน้ำและร้องให้คนช่วย กัปตันชื่อ Grimstad ซึ่งเลือกอาชีพไม่ค่อยเก่งเพราะเขาว่ายน้ำไม่เป็น ภรรยาของเขาทำงานอยู่กับสามีบนเรือ พอได้ยินเสียงร้องให้ช่วยก็วิ่งไปที่ขอบเรือ และเห็นว่าสามียกสองมือขึ้น ขอความช่วยเหลืออยู่ห่างจากเรือประมาณ 10 ฟุต ปรากฏว่าไม่มีอุปกรณ์นิรภัยอยู่ใกล้ๆ Mrs.Grimstad จึงวิ่งไปที่ห้อง Cabin หาเชือกเพื่อจะโยนลงไปให้สามีเกาะ พอได้เชือกวิ่งกลับมาสามีก็จมหายไปแล้ว

ภรรยาของกัปตันเรือฟ้องคดีเจ้าของเรือในฐานะไม่จัดหาอุปกรณ์นิรภัยไว้บนเรือ ปรากฏว่าชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่แพ้คดีในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าเจ้าของเรือประมาทเพราะไม่มีอุปกรณ์นิรภัยให้บนเรือ แต่ศาลตัดสินว่าความประมาทของเจ้าของเรือไม่ได้เป็นสาเหตุให้กัปตันตาย เพราะว่าถึงจะมีอุปกรณ์นิรภัยบนเรือ ภรรยากัปตันอาจจะวิ่งไปเอาไม่ทันที่จะช่วยกัปตันได้ หรือถ้าไปเอาทันแต่อาจโยนอุปกรณ์ไม่ถึงสามีให้สามีจับได้ หรือถ้าโยนถึงสามีและสามีจับอุปกรณ์นิรภัยได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุปกรณ์นิรภัยจะป้องกันไม่ให้กัปตันจมน้ำตาย

การที่ศาลตั้งมาตรฐานการพิสูจน์หลักฐานสาเหตุของการตายไว้อย่างเคร่งครัดเช่นนี้ ทำให้เป็นการยากที่ศาลจะตัดสินว่า เจ้าของเรือต้องรับผิดชอบในเรื่องการจมน้ำตาย เมื่อภรรยาของกัปตันแพ้คดี ทุกคนคงจะเดาได้ว่าไม่มีเจ้าของเรือคนไหนจะรีบออกไปซื้ออุปกรณ์นิรภัยมาเก็บไว้บนเรือ

ศาลที่พิจารณาคดี Grimstad ไม่ได้ให้ความสนใจว่าคำพิพากษาจะมีผลดีผลเสียต่อสังคมอย่างไร เพราะศาลสมัยนั้นไม่ได้คิดถึงกฎหมายละเมิด ในฐานะอุปกรณ์วางนโยบายสังคม ถ้าเราเปรียบเทียบคดี Grimstad กับอีกคดีหนึ่งในรัฐนิวยอร์คที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จะเห็นว่าความคิดเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดในสังคมอเมริกันสมัยนี้ แตกต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง

คดี Hymowitz ฟ้อง Eli Lilly and Co (1989) โจทก์ป่วยเป็นมะเร็งที่มีสาเหตุจากแม่ของโจทก์ใช้ยา DES ขณะที่โจทก์อยู่ในครรภ์ (โรคมะเร็งชนิดนี้ผู้เชี่ยวชาญเห็นแล้วสามารถบอกได้ว่าเกิดจาก DES แน่) คดี Grimstad และคดี Hymowitz เหมือนกันตรงที่โจทก์สามารถพิสูจน์ได้โดยง่ายว่าจำเลยประมาท จำเลยในคดี Hymowitz คือ บริษัทผลิตยาที่ทดลองยาและค้ายาอันตรายโดยประมาท ปัญหาในคดีนี้คือเรื่องการพิสูจน์สาเหตุ (Causation) อีกเหมือนกัน ผู้หญิงที่แม่ใช้ยา DES เรียกว่า "DES daughters" จำนวนพัน ๆ คนทราบว่า DES ทำให้เป็นมะเร็ง แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบเพราะว่าบริษัทที่ผลิต DES มีถึง 300 บริษัท และเกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ว่าแม่โจทก์ใช้ยาของบริษัทไหนเมื่อ 20 ถึง 30 ปี ก่อนในขณะที่โจทก์ก็ยังไม่ได้เกิด

ในคดี DES ศาลอเมริกันไม่ได้ใช้มาตรฐานพิสูจน์หลักฐานของสาเหตุทางกฎหมายอย่างมีระเบียบและเคร่งครัดเหมือนคดี Grimstad ในคดี Hymowitz ศาลอนุญาตให้โจทก์แต่ละรายฟ้องบริษัทที่ผลิตยา DES ทั้ง 300 บริษัทได้ทั้งหมด และบริษัทเหล่านี้ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย เป็นจำนวนมากน้อยตามเปอร์เซ็นต์ของจำนวนยา ที่แต่ละบริษัทผลิตออกขายทั้งหมดในตลาด

คดี Hymowitz ต่างกับคดี Grimstad ตรงที่ภรรยาของกัปตันต้องพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นสาเหตุของความเสียหาย ในขณะที่ DES daughters ไม่ต้องพิสูจน์สาเหตุเลยเพียงแต่ต้องพิสูจน์ว่า DES ทำให้เป็นมะเร็ง ศาลยังระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทผลิตยา DES ทุกบริษัทต้องช่วยกันชดใช้ค่าเสียหาย ถึงแม้ว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งจะพิสูจน์อย่างแน่นอนได้ว่า บริษัทของตนไม่ได้ผลิตยาที่แม่ของโจทก์คนนี้ใช้ก็ตาม

สรุปว่าถึงแม้จำเลยจะไม่ได้เป็นสาเหตุทางกฎหมาย จำเลยก็ยังต้องรับผิดรับเรื่องค่าเสียหาย

ถ้าเราเปรียบเทียบ 2 คดีนี้ในเรื่องสาเหตุของกฎหมายละเมิด เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเรื่องกฎหมายละเมิด ในฐานะอุปกรณ์การวางนโยบายสังคม คดีเก่าศาลตัดสินให้ภรรยาของกัปตันแพ้ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าคำพิพากษาจะมีผลต่อละเมิดตามกฎตรรกวิทยา และไม่ควรนึกถึงผลที่จะมีต่อสังคม แต่ว่าในคดีใหม่ศาลมีความยืดหยุ่นในการวินิจฉัย เรื่องสาเหตุทางกฎหมาย เพราะว่าศาลในปัจจุบันคงเชื่อว่า กฎหมายละเมิดนี้เป็นอุปกรณ์การวางนโยบายสังคมที่สำคัญ

ศาลที่พิจารณาคดี DES ไม่ได้ใช้กฎหมายละเมิดเพื่อควบคุมการชดใช้ค่าเสียหายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้บริษัทผลิตยา ทดลองยา และผลิตจำหน่ายยาด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นกฎหมายละเมิดสมัยใหม่มีจุดมุ่งหมายอีกอันหนึ่ง

นั่นคือการป้องกันไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง (deterrent) ถึงแม้ว่าอเมริกามีองค์กรต่างๆ (regulatory agencies) ที่มีหน้าที่ควบคุม และวางกฎเกณฑ์พร้อมทั้งรับผิดชอบในด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยาที่ผลิตขายโดยต้องใช้ใบสั่งยา แต่คดี DES แสดงให้เห็นว่า กฎหมายอเมริกาไม่ปล่อยให้องค์กรเหล่านี้เป็นผู้ปกป้องสาธารณชนจากอันตรายเพียงฝ่ายเดียว กฎหมายละเมิดให้ความคุ้มครองในฐานะกฎหมายเอกชน (private law) ในเรื่องที่เกี่ยวกับความประพฤติในทางเสี่ยงของบริษัทต่างๆ ในอเมริกา

เราจะเห็นว่ากฎหมายละเมิดมีบทบาทต่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตคนอเมริกันเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง เรื่องผู้บริโภคที่ได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น เลื่อยไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ของเล่นเด็ก สามารถฟ้องคดีละเมิดค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ได้ นอกจากคนไข้สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหมอ หรือบริษัทผลิตยาอันตราย เช่น ในกรณีการฝังซิลิโคนในเต้านม pacemaker ที่ไม่ทำงาน หรือว่าหัวเข่าปลอม เป็นต้น

มีคดีดังคดีหนึ่งคือผู้หญิงสูงวัยคนหนึ่งทำกาแฟที่ร้อนจัดผิดปกติหกรดตนเอง เธอฟ้องร้าน McDonald ที่ขายกาแฟเรียกค่าเสียหายและชนะคดี

ในแต่ละคดีที่กล่าวข้างต้น ศาลใช้กฎหมายละเมิดเป็นแนวในการพิจารณาการชดใช้ค่าเสียหายและป้องกันมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง นอกจากนี้ ผู้พิพากษาในปัจจุบันอาจอ้างถึงจุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งของกฎหมายละเมิด คือ การกระจายค่าเสียหาย (loss distribution)โดยแบ่งให้กลุ่มหนึ่งรับผิดชอบ แทนที่จะให้ผู้เสียหายรับผิดชอบแต่ผู้เดียว ผู้พิพากษาในคดีใดคดีหนึ่งอาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลย จะสามารถกระจายค่าเสียหายได้ดีกว่าโจทก์หรือไม่ จำเลยอาจขึ้นราคาผลิตภัณฑ์หรืองานบริการเพื่อนำผลกำไรมาตั้งเป็นงบประมาณสำหรับชดใช้ค่าเสียหายหรือซื้อประกัน เพื่อช่วยชดใช้ค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหน้า

ถ้าเป็นเช่นนี้จริงราคาสินค้าจะสูงขึ้นเล็กน้อย ตามทฤษฎีของกฎหมายละเมิดทฤษฎีนี้นับเป็นสิ่งที่ดีที่ราคาของผลิตภัณฑ์และงานบริการ แสดงให้เห็นราคาที่แท้จริงซึ่งรวมถึงค่าเสียหายที่ผลิตภัณฑ์หรืองานบริการนั้นๆ อาจก่อให้เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทต้องการผลิตสินค้าและงานบริการให้มีราคาต่ำที่สุดเพื่อขายได้ปริมาณสูง ดังนั้น ทฤษฎีกฎหมายละเมิดทฤษฎีนี้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสร้างผลิตภัณฑ์และงานบริการให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะไม่ต้องมีงบประมาณสำหรับชดใช้ค่าเสียหายมากเท่ากับบริษัทคู่แข่ง ทฤษฎีกฎหมายละเมิดทฤษฎีนี้เรียกว่า "loss distribution" ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กฎหมายละเมิดในฐานอุปกรณ์การวางนโยบายสังคม

การถกเถียงและความขัดแย้งเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดในอเมริกา
การที่กฎหมายละเมิดถูกนำมาใช้กว้างขึ้นดังกล่าวมาแล้ว ทำให้กฎหมายละเมิดถูกเพ่งเล็งมากกว่ากฎหมายอื่นๆในอเมริกา บ่อยครั้ง หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์อ้างถึงผู้เสียหายที่โลภและด้อยเหตุผล รวมทั้งทนายที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

โรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทขายประกันใหญ่ๆ โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนอเมริกันคิดว่ากฎหมายละเมิดไม่มีประสิทธิภาพ บริษัทเหล่านี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า "การนำคดีขึ้นศาลถึงจุดระเบิด" หรือคนอเมริกันต้องการขึ้นศาลทุกครั้งที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น และ "กฎหมายละเมิดทำให้คนเห็นแก่ตัวไม่นึกถึงผลประโยชน์ของชุมชน"

นอกจากนี้ผู้พิพากษากับลูกขุนมีแนวโน้มที่จะตัดสินให้จำเลยจ่ายค่าชดใช้ค่าเสียหายที่มากมายมหาศาลเกินควร ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อว่ากฎหมายละเมิดไม่ดีตามที่ได้ยิน ทั้งๆ ที่สมาคมทนาย (Trial lawyer Association) ต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลในการโฆษณาแย้งว่า คำกล่าวอ้างนั้นไม่เป็นจริง หลายรัฐในอเมริกาออกกฎหมายใหม่ที่ช่วยจำกัดสิทธิของโจทก์ในคดีละเมิดและจำกัดวงเงินชดใช้ค่าเสียหาย

ตามความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อของประชาชนเรื่องกฎหมายละเมิดนี้ นับว่าเป็นความเชื่อที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะมันเป็นความเชื่อที่ไม่ตรงกับหลักฐานข้อมูลที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสาเหตุเหมาะสมที่จะออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมกฎหมายละเมิด อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ากฎหมายละเมิดสมควรถูกเพ็งเล็งในบางกรณี ถ้าเราพิจารณางานวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดในสังคม เราต้องฟังเสียงและประสบการณ์จากสามัญชนด้วย เราไม่ควรฟังเสียงผู้พิพากษา นักการเมือง หรือผู้วางนโยบายแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้เราอาจจะลงความเห็นว่ากฎหมายละเมิดไม่ได้เป็นอุปกรณ์การวางนโยบายสังคมที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เราอาจจะคิดว่ากฎหมายละเมิดที่มีอยู่ไม่สามารถนำเราไปสู่ความยุติธรรมอันแท้จริงได้


ปิระมิดของกฎหมายละเมิด
การวิจัยทางกฎหมายและสังคม รวมความสัมพันธ์ระหว่างการวิเคราะห์ทางกฎหมายและวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน นักวิจัยทางกฎหมายและสังคมใช้วิธีการต่างๆ เพื่อศึกษาว่าจริงๆ แล้วกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายดำเนินการอย่างไร วิทยาการทางกฎหมายและสังคมคลุมไปถึงการวิเคราะห์เชิงปริมาณ การสำรวจ ข่าวสาร และสถิติ สำมะโนประชากร รวมทั้งการศึกษาประชาชาติพันธุ์วรรณาในละแวกบ้าน และชุมชนพร้อมกับการสัมภาษณ์สามัญชนอย่างละเอียดลึกซึ้ง การวิจัยทางกฎหมายและสังคมเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดตามปกติขึ้นอยู่กับตัวแบบปิระมิด ปิระมิดของกฎหมายละเมิด (The Pyramid of Tort Law ) คืออะไร

- ฐานของปิระมิดประกอบด้วยปิรามิดขั้นที่ 1 (Level 1 Injuries) อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสังคม
- ปิระมิดขั้นที่ 2 (Level 2 Perception of Wrongdoing) ประกอบด้วยการบาดเจ็บเสียหายที่ผู้เสียหายที่คิดว่าเกิดขึ้นโดยการกระทำความของผู้อื่น
- ปิระมิดขั้นที่ 3 (Level 3 Claims) ประกอบด้วยคดีที่ผู้เสียหายตกลงใจว่าผู้อื่นควรรับผิดชอบ ในเรื่องความเสียหายและเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้นั้น การเรียกร้องค่าเสียหายส่วนใหญ่อาจจะยุติลงด้วยการยอมความกันนอกศาล
- ปิระมิดขั้นที่ 4 (Level 4 Consulting an Attorney) ประกอบด้วยคดีที่ผู้เสียหายปรึกษาทนายความ
- ปิระมิดขั้นที่ 5(Level 5 Level 5) ประกอบด้วยคดีที่ทนายยื่นคำร้องฟ้องคดี
- ปิระมิดขั้นที่ 6 (Level 6 Trails) ประกอบด้วยการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม
- ปิระมิดขั้นที่ 7 (Level 7 Appeals) ประกอบด้วยคดีที่ขึ้นศาลอุทธรณ์

เราเรียกตัวแบบนี้ว่าปิระมิด เพราะมีคดีเป็นจำนวนมากที่ฐานของปิระมิด แต่ขั้นต่อๆ ไปมีคดีจำนวนน้อยลงเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงยอดปิระมิด ซึ่งประกอบด้วยคดีพิเศษที่ขึ้นไปถึงศาลสูงสุด คดีที่มีการพิพากษาจริงๆ หรือคดีที่ขึ้นไปถึงศาลอุทธรณ์มีเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก ถ้าเราเปรียบเทียบกับจำนวนคดีทั้งหมดที่ฐานปิระมิด แต่นักกฎหมายที่อเมริกามักศึกษาคดีที่ยอดปิระมิดเท่านั้น

ปิระมิดของกฎหมายละเมิดชี้ให้เห็นข้อสงสัยหลายๆ ข้อเช่น เพราะเหตุใดชั้นบนสุดถึงเล็กกว่าชั้นล่างสุดมากนัก เพราะเหตุใดคดีเป็นจำนวนมากไปไม่ถึงศาล คดีที่ไม่มีการตกลงกันทางกฎหมายหายไปไหน เมื่อเรานึกถึงผลประโยชน์ของการนำคดีขึ้นศาลที่มีต่อสังคม เราควรนำคดีขึ้นศาลมากขึ้นหรือน้อยลง

ปิระมิดของกฎหมายละเมิดในแต่ละสังคมมีรูปทรงต่างกันหรือไม่ และความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคมมีอิทธิพลต่อจำนวนคดีที่เริ่มจากฐานปิระมิด กระทั่งขึ้นไปถึงยอดปิระมิดอย่างไร

ตอนนี้ที่อเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ มีการวิจัยเกี่ยวกับขั้นต่างๆ ของปิระมิดกฎหมายละเมิดเป็นจำนวนมากทีเดียว ผมได้ทำการวิจัยทำนองนี้ที่อเมริกาและประเทศไทยเหมือนกัน เราพบว่ารูปทรงปิระมิดของแต่ละประเทศต่างกันจริง ต่อไปนี้ผมจะพูดถึงผลงานวิจัยบางชิ้นเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดในสังคมอเมริกัน

การที่จะประมาณจำนวนกรณีบาดเจ็บ เสียหาย ทั้งหมดในสังคมใดสังคมหนึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ไม่ได้มีการแจ้งความ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ผมศึกษาวิจัยชุมชนเกษตรกรอเมริกัน ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า เวลาคนใช้เครื่องมือเกษตรกรรมแล้วได้รับบาดเจ็บเป็นเรื่องธรรมดามาก พอได้รับบาดเจ็บแล้วก็รักษากันเอง ถ้าเราพูดถึงปิระมิดขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ในชุมชนนี้คดีที่ขึ้นจากขั้นที่ 1 ไปถึงขั้นที่ 2 มีน้อยมาก เพราะว่าเกษตรกรเน้นเรื่องการช่วยเหลือตนเอง และไม่ชอบที่จะท้าทายเพื่อนบ้านหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เมื่อตนได้รับบาดเจ็บ เขาเชื่อว่ามิตรภาพและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตอนฤดูเก็บเกี่ยว หรือเวลามีปัญหาเรื่องครอบครัวนั้นสำคัญมากกว่านัก

คงจะเห็นแล้วว่าความเคลื่อนไหวจากขั้นที่หนึ่งไปขั้นที่สอง เป็นผลกระทบของบรรทัดฐานทางสังคม และการปฏิบัติทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมของแต่ละชุมชนสามารถส่งผลต่อความคิดของผู้เสียหายว่า คนอื่นเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บหรือไม่ ถึงแม้ว่าคนจะคิดว่าการบาดเจ็บเป็นการทำผิดของคนอื่น เรื่องอาจจะไม่ขึ้นจากปิระมิดขั้น 2 ไปถึงขั้น 3 ก็ได้

ซึ่งขั้น 3 เป็นรูปแบบการเรียกร้องค่าเสียหาย มีการสำรวจทั่วประเทศอเมริกาพบว่า 19% ของผู้เสียหายมีความประสงค์ที่จะเรียกค่าเสียหาย แต่มีผู้เรียกค่าเสียหายจริงๆ เพียง 10% นั่นหมายความว่าปิระมิดขั้นที่ 3 ประกอบด้วยคดีที่มีเพียงไม่เกิน 10% ของคดีที่มาจากฐานของปิระมิด

แล้วคดีที่คนเรียกร้องอะไรสักอย่างล่ะเกิดอะไรขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องโดยตรงจากผู้ทำให้เกิดการเสียหายหรือบริษัทประกันภัย คดีที่ขึ้นไปถึงปิระมิดขั้นที่ 4 คือ ขั้นปรึกษาทนายมีเพียง 7% หมายความว่าจากจำนวนคนอเมริกัน 100 คนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมีเพียง 7 คนเท่านั้นที่ไปหาทนาย คนอเมริกันส่วนใหญ่คงจะประหลาดใจและไม่เชื่อตัวเลขที่ต่ำมากขนาดนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนรายงานว่า เป็นเรื่องธรรมดามากที่คนอเมริกันจะรีบไปหาทนายเวลาได้รับบาดเจ็บ ในกรณีนี้ สื่อมวลชนรายงานผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด

ในการศึกษาวิจัยอีกรายหนึ่ง คณะกรรมการแพทย์ศึกษาและประเมินหลายพันคดี ที่ความผิดพลาดของแพทย์อาจเป็นสาเหตุให้เกิดบาดเจ็บ นักวิจัยต้องการทราบว่าในคดีที่ผู้เชี่ยวชาญคิดว่า แพทย์ประมาทแล้วผู้เสียหายจะทำอย่างไร คดีกลุ่มนี้เรามั่นใจได้ว่าแพทย์ทำละเมิดจริง แต่คนไข้ที่ไปหาทนายมีเพียง 4% อีก 96% ไม่ได้เอาเรื่อง คงจะเป็นเพราะเหตุผลทางวัฒนธรรม เช่น คนไข้ยกย่องให้เกียรติหมอ

แล้วคดีที่อยู่ระหว่างขั้น 4 และ 5 ของปิระมิดละเกิดอะไรขึ้น แม้ว่า 7% ของผู้ได้รับบาดเจ็บไปปรึกษาทนาย เพียง 2% ทนายยื่นคำร้องฟ้องศาล นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่ออีกเหมือนกัน เพราะสื่อมวลชนประโคมข่าวว่าในอเมริกา "การฟ้องศาลคดีละเมิดถึงจุดระเบิด" จาก 100 คดี เรื่องถึงศาลเพียง 2 คดี จะเรียกว่าถึงจุดระเบิดได้อย่างไร และไม่ปรากฏหลักฐานว่าคดีละเมิดมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 20-30 ปีที่ผ่านมา นอกจากคดีในบางกรณี เช่น คนจำนวนหลายพันที่ป่วยเป็นมะเร็งที่มีสาเหตุมาจาก asbestos นอกจากกรณีพิเศษดังกล่าว เปอร์เซ็นต์จำนวนคดีละเมิดต่อจำนวนประชากรยังอยู่คงที่

แต่ถ้าจำนวนคดีละเมิดในปี 2004 หรือ 2005 เพิ่มขึ้นจริงๆ จะหมายความว่าผู้เสียหายและทนายโลภ และก้าวร้าวยิ่งขึ้นหรือไม่ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ต้องดูที่ปิระมิดขั้นต่ำว่ามีการบาดเจ็บมากขึ้นในปี 2004 หรือ 2005 หรือไม่ ฐานของปิระมิดใหญ่ขึ้นหรือไม่ ถ้าตอบว่าฐานใหญ่ขึ้นก็อาจเดาได้ว่าปิระมิดทุกขั้นก็จะใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีจำนวนคดีละเมิดในศาลมากขึ้นอาจไม่ได้หมายหมายความว่า ผู้เสียหายหรือทนายโลภยิ่งขึ้น อาจจะหมายความว่ามีการบาดเจ็บมากขึ้นหรือมีคนประมาทมากขึ้นในสังคม

น่าเสียดายที่สื่อมวลชน นักการเมือง หรือผู้วางนโยบายสังคมไม่เคยที่จะนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างฐานและขั้นต่างๆ ของปิระมิด การที่คนอเมริกันไม่ได้มองปิระมิดในภาพรวมเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มีความเชื่อเรื่อกฎหมายละเมิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ขั้นที่ 6 เป็นคดีที่ขึ้นศาลแล้ว คนอเมริกันมักจะลืมว่าเมื่อคดีละเมิดขึ้นศาลแล้วมีเพียง 10-15% ที่จะได้รับพิจารณาจริงๆ ส่วนคดีที่เหลือ คู่ความจะยอมความหรือถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง สำหรับคดีที่พิจารณาจริงๆ แล้วสื่อมวลชนอยากให้เราเชื่อว่าโจทก์เป็นฝ่ายชนะเกือบทุกคดี เพราะว่าลูกขุนมักจะสงสารและเข้าข้างผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ แต่ตามความเป็นจริงงานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าลูกขุนตัดสินให้โจทก์ชนะประมาณ 50% ของคดีทั้งหมด

ยิ่งกว่านั้นงานวิจัยพบว่า พวกลูกขุนมีแนวโน้มที่จะเห็นใจจำเลยมากกว่าโจทก์ในคดีละเมิด ซึ่งตรงกันข้ามกับที่คนเชื่อกัน มีหลายคดีที่ลูกขุนตรวจหลักฐานฟังข้อเท็จจริงแล้วเปลี่ยนใจ และตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ ส่วนใหญ่ผู้พิพากษากับลูกขุนทำผิดหน้าที่โดยการเข้าข้างโจทก์ แต่งานวิจัยไม่ได้สนับสนุนคำอ้างนี้

สื่อมวลชนประโคมข่าวว่าโจทก์ ในคดีละเมิดหลายคดีชนะคดีได้เงินเป็นจำนวนหลายล้านเหรียญอเมริกัน ซึ่งมากเกินควร อันนี้ไม่จริง จาการศึกษาปิระมิดขั้น 6 พบว่า จำนวนเงินที่ศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นช้ากว่าอัตราค่าครองชีพเสียอีก นอกจากนี้โจทก์ที่ได้รับบาดเจ็บขั้นหนักส่วนใหญ่ได้รับค่าเสียหายไม่พอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นทุกปี ตรงกันข้ามกับคดีที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยกลุ่มนี้ ส่วนมากได้รับค่าเสียหายมากเกินควร คงจะเป็นเพราะบริษัทประกันภัยยอมจ่ายค่าเสียหายสูง เพื่อจะได้ตกลงความกันอย่างเร็วที่สุด

แล้วคดีที่โจทก์ได้ค่าเสียหายจำนวนมหาศาลกรณีแบบนี้มีน้อยมาก เมื่อมีแล้วสื่อมวลชนรีบลงเป็นข่าวใหญ่ทันที แต่ส่วนมากผู้พิพากษาชั้นต้น หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์จะลดค่าเสียหายลงมากในตอนหลัง ซึ่งสื่อมวลชนไม่สาใจที่จะลงข่าว ยกตัวอย่าง คดีที่ทุกคนรู้จักหญิงชราผู้บาดเจ็บเพราะกาแฟร้อนจาก McDonald ลูกขุนตัดสินให้ได้รับค่าเสียหาย 2.9 ล้านเหรียญ หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศลงข่าวเรื่องค่าเสียหายจำนวนนี้ แต่ผู้พิพากษาลดค่าเสียหายลงเหลือ 640,000 เหรียญ หลังจากนั้นหญิงชราตกลงยอมความกับ McDonald อย่างเงียบๆ ไม่มีใครทราบว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไร ที่แน่ๆ คือน้อยกว่า 640,000 เหรียญ แต่ทุกวันนี้สื่อมวลชนยังอ้างถึงหญิงชราที่ได้ค่าเสียหาย 2.9 ล้านเหรียญ จาก McDonald

ปิระมิดขั้นที่ 7 ประกอบด้วยคดีที่ขึ้นศาลอุทธรณ์ คดีเช่นนี้มีน้อยมากเพราะคดีที่ขึ้นศาลส่วนใหญ่จะยุติก่อนที่จะถึงศาลอุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม วิทยาการเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดส่วนมากจะอ้างถึงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และนักศึกษาอเมริกันจะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่รวบรวมเป็นหลักวิชาการ ผมคิดว่าสถาบันสอนกฎหมายในอเมริกา ควรสอนเกี่ยวกับปิระมิดกฎหมายละเมิดทั้งหมด แทนที่จะสอนเกี่ยวกับยอดปิระมิดเพียงอย่างเดียว

บทเรียนจากปิระมิดของกฎหมายละเมิด
เราได้บทเรียน 2 ประการจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปิระมิดของกฎหมายละเมิด บทเรียนแรกคือ เรารู้ว่ามีคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง เกี่ยวกับจำนวนคนที่ฟ้องคดีกฎหมายละเมิด และค่าเสียหายสูงที่ได้จากการใช้กฎหมายละเมิด จะเห็นดังที่กล่าวมาแล้วว่ามีคนอเมริกันจำนวนน้อยมากที่นำคดีละเมิดไปปรึกษาทนาย และคดีที่ไปถึงทนายนั้นก็มีเปอร์เซ็นต์ต่ำมากที่ทนายยื่นคำร้องต่อศาล

เมื่อคดีไปถึงศาลแล้ว ระบบกฎหมายละเมิดมีแนวโน้มที่จะให้ค่าเสียหายมากเกินไปในคดีย่อย ในขณะที่ให้ค่าเสียหายเกินจำนวนที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ การแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่ช่วยแก้ปัญหาของคดีย่อยที่ได้ค่าเสียหายมากเกินไป และทำให้คดีใหญ่ที่ได้ค่าเสียหายน้อยเกินไปยิ่งแย่ลง พระราชบัญญัติแบบนี้มีข้อบกพร่องที่เห็นชัดเพราะ เป็นการนำแนวความคิดที่ไม่จริงมาใช้ แทนที่จะใช้ผลงานวิจัยที่แสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปิระมิดของกฎหมายละเมิด

บทเรียนที่ 2 การใช้กฎหมายละเมิดเป็นอุปกรณ์วางแผนนโยบายสังคม อาจเป็นการนำแนวความคิดที่เชื่อถือไม่ได้มาใช้เช่นกัน กฎหมายละเมิดอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายให้เจ้าทุกข์ทุกคนที่ควรได้ เจ้าทุกข์น้อยคนฟ้องเรียกค่าเสียหาย ในทำนองเดียวกันกฎหมายละเมิดอาจไม่มีประสิทธิภาพในเรื่องการป้องกัน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการกระทำที่ประมาท เพราะคนที่จำเลยประมาทส่วนมากไม่ต้องใช้ค่าเสียหายเลย และไปถึงศาลน้อยกว่า 2% จุดมุ่งหมายกฎหมายละเมิดอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า "การกระจายค่าเสียหาย" (loss distribution) ก็คงไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนกัน ถ้าหากคดีส่วนใหญ่ติดอยู่ที่ฐานปิระมิด และไม่ได้ขึ้นไปที่ขั้นสูงๆ

ถ้าเช่นนั้นเราควรทำอย่างไรดี จะเลิกใช้กฎหมายละเมิดเป็นอุปกรณ์การวางนโยบายสังคมดีไหม เช่น อาจจะชดใช้ให้ผู้เสียหายโดยการที่รัฐบาลจัดตั้งระบบรักษาสุขภาพขึ้น เพื่อผู้เสียหายจะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เสียหายไม่ต้องนำแต่ละคดีขึ้นศาล ทำแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่เราจะป้องกันไม่ให้คนกระทำประมาทในอนาคตได้อย่างไร

เราอาจจะนึกถึงองค์กรที่มีหน้าที่ควบคุมการกระทำประมาท ปัญหาคือว่าองค์กรนี้อาจจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพในการขจัดอันตรายต่อสังคม บ่อยครั้งองค์กรนั้นๆ ทราบว่ามีปัญหาสำคัญ เพราะคดีละเมิดแสดงให้เห็นปัญหานั้นอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้องค์กรได้รับอิทธิพลการเมืองและมีการคอรัปชั่นกับบริษัทที่องค์กรควบคุมอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายละเมิดสามัญชนอเมริกันจะต้องเผชิญภัยอันตรายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีกมาก และจำนวนการบาดเจ็บคงจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน


ฟังสามัญชนพูดเรื่องความยุติธรรม
ผมคิดว่าคงไม่มีใครเลิกล้มกฎหมายละเมิดในฐานะอุปกรณ์วางนโยบายสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับปิระมิดของกฎหมายละเมิดทั้งปิระมิดกันต่อไป โดยเฉพาะตรงฐานปิระมิด ถ้าเราศึกษาว่าคนธรรมดามีความคิดอย่างไรในเรื่องกฎหมายและการบาดเจ็บ เราจะเข้าใจว่าทำไมเขาจึงไม่ใช้กฎหมายเป็นที่พึ่ง การที่ไปฟังคนธรรมดาพูดเรื่องการบาดเจ็บและความยุติธรรม จะช่วยให้เราเห็นว่า สังคมขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมาย (rule of law) จริงๆ หรือไม่

เราได้ยินเสียงจากยอดปิระมิดมากไปแล้ว และเสียงนั้นทำให้เราเข้าใจผิดเรื่องกฎหมายละเมิด ถึงเวลาที่เราจะต้องฟังเสียงจากเบื้องล่าง จากคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนธรรมดา ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับผลของการกระทำประมาทที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ เราได้ความรู้หลายอย่างที่เราไม่ได้คาดคิดจากเสียงของคนเหล่านี้ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว

เรื่องผู้หญิงที่อยู่ในชุมชนอเมริกัน ซึ่งกำลังเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม เขาอยู่ในหมู่บ้านเกษตรกรรมที่ทุกคนสนิทสนม ช่วยเหลือ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมืองที่เขาอยู่กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้นและเต็มไปด้วยคนแปลกหน้า สมาชิกของสังคมที่เข้ามาใหม่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิม ดังนั้น คนใหม่ที่เข้ามาจึงไม่ได้ผลประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนสินค้าและแรงงาน คนกลุ่มใหม่นี้มีเชื้อสายต่างกัน และมาจากถิ่นต่างๆ ของอเมริกา พูดภาษาต่างกัน คนพวกนี้ถูกเรียกว่าเป็นคนภายนอกและไม่มีคนไว้ใจเขา ผู้อาศัยดั่งเดิมต่อต้านการใช้กฎหมายละเมิด แต่คนที่เข้ามาใหม่ไม่ได้มองกฎหมายละเมิดในทางลบเหมือนกับคนที่อยู่มาก่อน เพราะบางครั้งเขาใช้กฎหมายละเมิด ช่วยให้เขามีความอยู่รอดทางด้านเศรษฐกิจในกรณีที่เขาได้รับบาดเจ็บ

จากการฟังเสียงคนในชุมชนนี้ เราสามารถเรียนรู้ถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและปัจจัยสังคมที่ฐานของปิระมิด การวิจารณ์กฎหมายละเมิดมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เราอาจทำนายได้ว่า จำนวนคดีละเมิดจะมีมากขึ้นในกรณีที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายในสังคมจะมองที่กฎหมายละเมิดมากกว่าประเพณีของท้องถิ่น

ในขณะที่การเกษตรกรรมมีความสำคัญน้อยลง และมีความเคลื่อนย้ายในสังคมมากขึ้น เราอาจจะคาดหมายว่าคดีจากฐานปิระมิดที่จะขยับขึ้นไปขั้นสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการศึกษาวิจัยเรื่องกฎหมายละเมิดในประเทศไทยคงจะน่าสนใจมากเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การขายที่นาและมีคนย้ายถิ่นฐานจำนวนมากที่จะขยับขึ้นไปสู่ระบบศาล

ผมได้ทำการวิจัยที่เชียงใหม่ที่มีผลพิสูจน์ว่าสมมุติฐานนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าเราดูจำนวนคดีบาดเจ็บในศาลจังหวัดต่ออัตราประชากรเชียงใหม่ เราพบว่าจำนวนคดีในปี 2535-2540 มีพอๆ กับจำนวนคดีในศาลเดียวกันเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นซึ่งนับว่าผิดคาด เพราะเราคิดว่าจะมีการบาดเจ็บในสมัยนี้มากกว่าในสมัยก่อนอย่างแน่นอน เนื่องจากสมัยนี้มียวดยานจราจรมากกว่าแต่ก่อน มีอุบัติเหตุทางจราจรและทางอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ฐานปิระมิดสมัยนี้ควรจะใหญ่กว่าฐานปิระมิดสมัยก่อน ที่เมืองไทยฐานปิระมิดใหญ่ขึ้นแต่ยอดปิระมิดไม่ได้เปลี่ยนเป็นเพราะอะไร

ผมไม่แน่ว่าจะตอบอย่างไรดี บางที่ผู้ฟังอาจเสนอคำตอบได้ จำได้ไหมครับผู้หญิงที่ถูกชายแก่ขับรถชนขาหัก เขามีความเชื่อและความคิดคล้ายๆ กับคนอื่นๆ อีก 35 คนที่ผมสัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ 35 คนนี้ เกือบทุกคนมีหลักฐานที่จะนำขึ้นฟ้องศาลได้ แต่ไม่มีใครไปปรึกษาทนายหรือขึ้นศาลเลย ทุกคนติดอยู่ที่ฐานและขั้นที่ 2 ของปิระมิด

การวิจัยสมัยก่อนเมื่อ 20 ปีกว่ามาแล้ว ผมพบว่าชาวบ้านที่ประสบอุบัติเหตุ ใช้ระบบประเพณีซึ่งมีอยู่ในหมู่บ้านของตน ให้ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้อาวุโสไกล่เกลี่ยจ่ายค่าเสียหายตามความเชื่อของหมู่บ้าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับกฎหมายของรัฐบาล ในกรณีที่ใช้ระบบของหมู่บ้านไม่ได้ผล มีบางครั้งที่ชาวบ้านจะพึ่งกฎหมายเพื่อจะบังคับอีกฝ่ายหนึ่งให้รับผิดชอบ ในกรณีแบบนั้นหลังจากนำคดีไปขึ้นศาล ตามปกติคู่ความจะตกลงกันนอกศาล แล้วชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนที่จะได้จากการใช้กฎหมาย ประเพณีกำหนด เมื่อโจทก์ได้ค่าทำขวัญหรือค่าทำศพ เขาจะรีบถอนฟ้อง

ในทางตรงข้าม จากการวิจัยสมัยใหม่ผู้เสียหายไม่ค่อยอ้างถึงกฎหมายประเพณี ส่วนมากคนย้ายถิ่นกันบ่อยออกไปอยู่ไกลจากถิ่นเกิด คนเหล่านี้ไม่คุ้นเคยกับความเชื่อถือหรือประเพณีท้องถิ่น ไม่รู้จักกับผู้ไกล่เกลี่ยประจำถิ่น ที่น่าสนใจคือ คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ใช้กฎหมายรัฐบาลแทนกฎหมายประเพณี คนกลุ่มนี้มีลักษณะเหมือนผู้หญิงที่ขาหักคือ เขากลัวความเสี่ยงและอำนาจของเจ้าหน้าที่ในระบบยุติธรรม ตัวอย่างเช่น เขาไม่อยากไปหาตำรวจให้ช่วยไกล่เกลี่ยเวลาได้รับบาดเจ็บเพราะกลัวว่าตำรวจจะเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วตัวเองกลายเป็นคนประพฤติผิดกฎหมาย

มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อดาว กล่าวว่าข้าราชการทุกคนเป็นคนมีสี ดังนั้นคนธรรมดาไม่ไว้ใจเขา ดาวพูดว่า "คนมีสี" ได้เปรียบเยอะกว่าเรา ถือว่าทำงานที่เดียวกัน รู้จักกันอะไรอย่างงี้ เราไปหาเขาก็ต้องการความช่วยเหลือ แต่เขาไม่ให้ความช่วยเหลือเรา ไม่ได้อะไรจากเขา เขายังกลับถามเรา ตะคอก ตะคอก ไม่ถามเราดีๆ ตอนนั้นดาวไม่มีใครเลยมีแต่ดาวคนเดียวที่อยู่ จะให้เขาให้ความเป็นธรรมกับเราบ้าง เขาไม่ให้ความเป็นธรรมกับเราเลย"

มีชายหนุ่มทำอาชีพรับจ้างชื่อสมชายพูดทำนองเดียวกับดาว เขาพูดว่ากฎหมายไม่ใช่สำหรับ "คนรอบนอก" กฎหมายมีสำหรับข้าราชการหรือคนมีเงินซึ่งเป็นคนรอบใน สมชายพูดว่าไม่มีทางที่คนธรรมดาจะได้รับความเป็นธรรม เขาเชื่อว่ากฎหมายและความเป็นธรรมมีไว้ให้คนอื่นมันไม่เกี่ยวกับชีวิตของเขาเลย

ผมสังเกตว่าคนที่ได้รับบาดเจ็บไม่คิดที่จะหาความเป็นธรรมจากตำรวจหรือศาล มีบางคนบอกว่า จะหาความเป็นธรรมได้จากสื่อสารมวลชน มีสองคนคนเล่าให้ฟังว่า เขาขอความช่วยเหลือจากหนังสือพิมพ์และทีวี เขาเชื่อว่าสื่อสารมวลชนเปิดโอกาสให้เขาได้รับความเป็นธรรมมากกว่าระบบกฎหมาย แต่วิธีนี้ใช้แทนกฎหมายละเมิดไม่ได้ เพราะกฎหมายละเมิดทำสิ่งที่สื่อสารทำไม่ได้ นั่นคือบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้

คนที่ผมสัมภาษณ์หลายคนบอกว่าผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีทางทำอะไรนอกจากจะหันเข้าหาคำสอนของพระพุทธเจ้า คนเหล่านี้บอกว่าผู้กระทำผิดจะได้กรรมนั้นตอบสนอง ในที่สุดก็จะมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นอาจเป็นในชาติหน้าก็ได้ ความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธไม่ส่งเสริมให้คนใช้กฎหมายละเมิด ในทางตรงข้ามหลักศาสนาพุทธสอนให้เขาเชื่อว่า วัฏจักรแห่งกรรมเรื่องการบาดเจ็บควรยุติลงในชาตินี้ มิฉะนั้นวัฏจักรแห่งกรรมนี้จะเกิดขึ้นอีกในชาติหน้า คนเหล่านี้พูดว่า ความเชื่อในคำสั่งสอนของพุทธศาสนา ช่วยให้เขาให้อภัยผู้ทำละเมิดและไม่คิดถึงค่าชดใช้ตอบแทนอันใดทั้งสิ้น

นี่หมายความว่าฐานของปิระมิดใหญ่กว่าเดิม แต่คนที่ได้รับค่าเสียหายมีน้อยกว่าที่เคยเสียอีกใช่ไหม เราต้องทำการวิจัยต่อไปอีกเพื่อจะหาคำคอบให้ได้ ถ้าได้คำตอบว่า "ใช่" เราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ดีที่สุด ในอเมริกาเราพยายามแก้ปัญหาโดยการขยายกฎหมาย และใช้อุปกรณ์การวางนโยบายสังคมวิธีนี้ได้ผลดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อบกพร่องดังได้กล่าวข้างต้น และอาจไม่เป็นการแก้ปัญหาอย่างลึกซึ้ง ถ้าคนไทยขยายกฎหมายละเมิดอาจหลีกเลี่ยงปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นกับกฎหมายละเมิดอเมริกันได้ แต่น่าวิตกที่สามัญชนมีความรู้สึกว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบกฎหมายและความยุติธรรมเลย นับว่าสังคมไทยกับสังคมอเมริกันมีปัญหาร่วมกันนั่นคือ สามัญชนไม่มีทางนำให้เขาเข้าไปถึงระบบกฎหมายและความยุติธรรม

เรารู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องการบาดเจ็บเสียหายในสังคม แต่ยังต้องหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดให้ได้ ขั้นแรกเราควรทำความเข้าใจระบบกฎหมายอย่างแท้จริง เราต้องหาทางศึกษาวิจัยเพิ่มเติมทั้งในอเมริกาและประเทศไทย ก่อนที่เราจะเสนอให้มีการปฏิรูปทางกฎหมายเราต้องฟังเสียงและประสบการณ์ของสามัญชน เพราะบุคคลจำนวนมากเหล่านี้ได้รับความเจ็บปวดและความยากลำบากอยู่ที่ฐานปิระมิด โดยไม่มีโอกาสจะขยับขึ้นไปหาความยุติธรรมบนยอดปิระมิดได้เลย

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบบทความเรื่อง " บทบาทของกฎหมายที่มีต่อชีวิตสามัญชน" กฎหมายละเมิดในฐานะเครื่องมือในการวางนโยบายทางสังคม

เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเรื่องกฎหมายละเมิด ในฐานะอุปกรณ์การวางนโยบายสังคม คดีเก่าศาลตัดสินให้ภรรยาของกัปตันแพ้ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าคำพิพากษาจะมีผลต่อละเมิดตามกฎตรรกวิทยา และไม่ควรนึกถึงผลที่จะมีต่อสังคม แต่ว่าในคดีใหม่ศาลมีความยืดหยุ่นในการวินิจฉัย เรื่องสาเหตุทางกฎหมาย เพราะว่าศาลในปัจจุบันคงเชื่อว่า กฎหมายละเมิดนี้เป็นอุปกรณ์การวางนโยบายสังคมที่สำคัญ

นอกจากนี้ ผู้พิพากษาในปัจจุบันอาจอ้างถึงจุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งของกฎหมายละเมิด คือ การกระจายค่าเสียหาย (loss distribution)โดยแบ่งให้กลุ่มหนึ่งรับผิดชอบ แทนที่จะให้ผู้เสียหายรับผิดชอบแต่ผู้เดียว ผู้พิพากษาในคดีใดคดีหนึ่งอาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลย จะสามารถกระจายค่าเสียหายได้ดีกว่าโจทก์หรือไม่ จำเลยอาจขึ้นราคาผลิตภัณฑ์หรืองานบริการเพื่อนำผลกำไรมาตั้งเป็นงบประมาณสำหรับชดใช้ค่าเสียหายหรือซื้อประกัน เพื่อช่วยชดใช้ค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหน้า ถ้าเป็นเช่นนี้จริงราคาสินค้าจะสูงขึ้นเล็กน้อย ตามทฤษฎีของกฎหมายละเมิดทฤษฎีนี้นับเป็นสิ่งที่ดีที่ราคาของผลิตภัณฑ์และงานบริการ แสดงให้เห็นราคาที่แท้จริงซึ่งรวมถึงค่าเสียหายที่ผลิตภัณฑ์หรืองานบริการนั้นๆอาจก่อให้เกิดขึ้น (Professor David Engel)