Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 429 หัวเรื่อง
นิติ-นิเวศวิทยา-สิ่งแวดล้อม
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ญานวิทยาทางกฎหมาย
นิติ-นิเวศวิทยา
กับ กฎหมายสิ่งแวดล้อม
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ
: ชื่อเดิมของต้นฉบับเรื่องนี้
นิติ -
นิเวศวิทยา กับ สิ่งแวดล้อมไทย
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
18 หน้ากระดาษ A4)
ความนำ : สิ่งแวดล้อมของความรู้ในสังคมไทย
ประเด็นเบื้องต้นที่จะต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นเสียก่อนคือ นิติ - นิเวศวิทยา
ดูเหมือนอาจจะเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ และจริงๆแล้วดูเหมือนว่าในบทความนี้จะเป็นพื้นที่แรกในทางวิชาการและในทางเอกสารที่กล่าวถึงคำๆนี้(
เพื่อทำให้เกิดการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการของสิ่งที่เป็นนามธรรมให้มีความเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่งที่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจในระดับต่อๆไป)
คำว่านิติ-นิเวศวิทยา ( Legal Ecology ) ถ้าหากแยกคำว่า "นิติ( - ศาสตร์ )" และคำว่า "นิเวศวิทยา" ออกจากกัน การทำความเข้าใจในสองคำดังกล่าวดูเหมือนว่าจะไม่ยุ่งยากมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองคำดังกล่าว มีตัวอย่างรูปธรรมให้เห็นโดยเฉพาะในทางด้านการจัดการเรียนการสอน กิจกรรม และผลิตผลต่างๆในทางวิชาการที่เกิดขึ้น
หากแต่เมื่อนำสองคำดังกล่าวมาสมาสกัน ก็ทำให้เกิดช่องว่างของความหมาย/เนื้อหาที่อยู่ในระหว่างคำสองคำ ดังนั้น การให้ความหมายของคำนิยามจึงส่งผลอย่างมากมายว่าอะไรบ้างที่อยู่ในขอบเขตของคำนิยาม และอะไรบ้างที่อยู่นอกคำนิยาม ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องนักเมื่อเราต้องการที่จะทำความเข้าใจถึงความรู้ที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ ซึ่งจะต้องมองหรือเข้าใจในเชิงที่เป็นองค์รวมของระบบ
แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าการให้ความหมายต่อคำนิยามจะไม่เป็นประโยชน์เอาเสียเลย หากแต่ถ้าเรารู้เท่าทันถึงข้อจำกัดและไม่ไปติดยึดในเชิง "ภาษา"มากเกินไปก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง เหตุที่ต้องมีข้อสังเกตเช่นนี้ก็เพราะ บังเอิญว่าเรากำลังถกเถียงหรือทำความชัดเจนในพื้นที่ทางความคิดของกฎหมาย ที่นักกฎหมายมักจะวางกรอบโดยการใช้คำนิยามเป็นเส้นแบ่ง
ดังนั้น " นิติ - นิเวศวิทยา " ( Legal Ecology ) ที่จะนำเสนอในบทความนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจในมิติเชิงกระบวนการทางสังคมซึ่งในที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การสร้างเป็นบรรทัดฐานของสังคมในยุคปัจจุบันและจะมีผลสืบต่อไปในอนาคต ดังนั้น การทำความเข้าใจกระบวนการทางสังคมในแง่ของการนิติ-นิเวศวิทยาในบทความนี้ จึงมุ่งที่จะพิจารณาเพื่อให้เข้าใจถึงองค์ความรู้ในเชิงกฎเกณฑ์ทางสังคม ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ของสังคมไทย
และเมื่อกล่าวถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นหรือสิ่งที่เราเรียกว่า " องค์ความรู้ " ( Knowledge ) ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่นเดียวกันที่จะต้องเข้าใจและรู้เท่าทันสิ่งที่เราเรียกว่า "องค์ความรู้" ทั้งนี้สืบเนื่องจากสาเหตุที่มีความสำคัญยิ่ง ดังต่อไปนี้
ในประการแรก
ปัญหาว่าอะไรคือ องค์ความรู้ หรือไม่นั้น มันไปเกี่ยวพันอยู่กับระบบของการรับรู้ ทัศนะคติ ต่อสิ่งที่เราเรียกว่า " ความจริง " ( Reality) และอะไรคือ " ความจริง " นั้น กฎหมายมีส่วนอย่างมากที่จะยืนยันหรือปฎิเสธ และอันที่จริงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของกฎหมายเสียด้วยซ้ำไปที่จะต้องตอบคำถามว่าอะไรคือ " ความจริง "ดังนั้นในทางกฎหมายแล้ว " ความจริง " จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดเสียไม่ได้เลยที่เดียว เพราะโดยหัวใจและเป้าหมายของระบบกฎหมายเองแล้วมีหน้าที่ที่จะต้องแสวงหาความจริงโดยใช้วิธีการของศาสตร์ที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์ (รวมทั้งวิทยาศาสตร์) ในการค้นหา แต่อาจจะมีจุดเน้นที่ให้ความสำคัญที่ต่างกัน ภายใต้สิ่งที่เรียกในทางกฎหมายว่า กฎหมายพยานหลักฐาน และ กฎหมายวิธีพิจารณาคดี มีมาตรการต่างๆที่สนับสนุนการทำให้ความจริงปรากฏหรือได้รับการคุ้มครอง เช่น กฎหมายอาญาที่ลงโทษการแจ้งความเท็จ การเบิกความเท็จ หรือ แม้กระทั้งการนำเอาวิธีการที่ใช้กันมาแต่โบราณมาส่งเสริมให้นำมาซึ่งความจริงอาทิเช่น การสาบานตนว่าจะพูดแต่ความจริง เหล่านี้เป็นต้น
ดังนั้น การตั้งคำถามต่อกฎหมายว่าอะไรคือ "ความจริง"ในสายตาหรือในความคิดเห็นของกฎหมาย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในวงวิชาการซึ่งอับจนลงทุกขณะ และในแทบทุกๆด้านที่ไม่ทราบว่าอะไรจริงหรือไม่จริง จะมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบความเชื่อ /ความรับรู้ของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายซึ่งมักจะเชื่อเสียตั้งแต่ต้นแล้วว่ากฎหมายตั้งอยู่บนความจริง( หรือถ้าหากไม่เชื่อก็ต้องทนปิดปากเงียบ ไม่สามารถที่จะเถียงได้ว่ามีความจริงที่จริงยิ่งกว่าสิ่งที่กฎหมายบอกว่าจริง ) และมีผลอย่างยิ่งต่อตัวนักกฎหมาย ทั้งที่เคารพและซื่อสัตย์ต่อความจริงกับพวกที่สยบยอมต่ออำนาจ
อันที่จริงแล้ว การตั้งคำถามเกี่ยวกับ "ความจริง" ต่อระบบกฎหมายเช่นนี้ มีปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายที่ แต่ผลที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน อาทิเช่น ในตะวันตกที่เรามักจะไปอ้างอิงถึงเวลาพูดถึงศาสตร์ต่างๆ ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงมากมายหลายต่อหลายครั้ง ผลก็คือว่าส่วนใหญ่ผู้ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามมาก จะถูกจัดการเพราะในยุคที่อำนาจเด็ดขาดปกครองประเทศ อำนาจเด็ดขาดเหล่านั้นจะถูกท้าทายโดย "ความจริง" จะถูกท้าทายโดย " ระบบเหตุผล " ดังจะเห็นได้จากการเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการทางกฎหมายในภาคพื้นยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมัน และวงวิชาการกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา(1) ซึ่งเราพยายามจะเลียนแบบและมักจะนำมาอ้างอิงทับถมกันเป็นขยะทางความคิดกองอยู่เต็มหอคอย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ระบบกฎหมาย( ไทย )กับความเป็นจริงในสังคมใกล้กันได้
ประเด็นข้อถกเถียงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้เกิดการยอมรับความจริงในสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสังคม เช่นนี้ ได้ทำให้กำแพงที่เคยขวางกั้นการแสวงหาความรู้ในทางกฎหมายในประเทศตะวันตก ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา หลุดพ้นจากการถูกครอบงำทางความคิดและอำนาจ(2) ทำให้เกิดการพัฒนาในทางวิชาการกฎหมายกันอย่างแพร่หลายในแทบจะทุกมิติ
ทั้งนี้เนื่องจากการทำให้การครอบงำทางความคิดดังกล่าว ทั้งโดยความเชื่อเดิมๆในทางกฎหมาย โดยระบบและจารีต/วัฒนธรรมของนักกฎหมาย และโดยอำนาจ ถูกท้าท้ายโดยการถามหาความจริง ส่งผลให้ทั้งนักกฎหมายบางส่วนและสังคม เปลี่ยนกรอบคิด/มโนทัศน์( paradigms shift )ในการมองหรือเข้าใจกฎหมาย และสิ่งต่างๆที่กฎหมายไปสัมพันธ์อยู่ด้วยแตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง อาทิเช่น
การเกิดกลุ่มนักกฎหมาย( นักนิติศาสตร์ )ที่ศึกษากฎหมายกับสังคม เกิดกลุ่มและต่อมาพัฒนาเป็นวิชา สังคมวิทยาทางกฎหมาย ตามมาด้วยวิชา มานุษยวิทยาทางกฎหมาย ทั้งในยุโรปและอเมริกา มีการศึกษากฎหมายในเชิงพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยา มีการศึกษาความสัมพันธ์
ระหว่างกฎหมายกับเศรษฐศาสตร์ และที่น่าสนใจอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนมีการศึกษาในทางนิติ- แมททริกซ์ ( Juris- metrics) เป็นต้น(3)คำถามเช่นนี้ไม่เคยถูกนำมาถามและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยแวดวงเวทีวิชาการที่นับวันจะมีน้อยลงไปทุกขณะ และปัญหานี้เป็นคำตอบประการหนึ่งของสาเหตุแห่งความรุนแรงทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทย ดังที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ทั้งนี้เพราะมายาภาพที่ถูกสร้างให้รับรู้ว่าเป็นความจริง ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป บุคคลต่างๆที่ถูกกระทำเติบโตทางความคิดและมีพลังทางสังคมมากขึ้น
ในประการที่สอง
สำหรับในกรณีของประเทศไทยสิ่งที่เราเรียกว่า "ความรู้" กลายเป็นเครื่องมือของอำนาจของรัฐในการครอบงำ เป็นความรู้และศาสตร์ที่ถูกอำนาจทางเศรษฐกิจกระแสโลกครอบงำ ดังนั้น กระบวนการในการพัฒนาศักยภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสวงหาเรียนรู้ และพัฒนา( ความรู้)ที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของตนเอง จึงยังไม่เกิดขึ้น ยังคงเป็นการลอกเลียนและพึ่งพา (4)สภาวะของกระบวนการทางการศึกษาเช่นนี้ ทำให้เกิดการละเลยรากฐานความคิดภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่อย่างล้นเหลือดั่งที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่าเป็นทุนทางสังคมบ้าง ทุนทางวัฒนธรรมบ้าง หรือในบ้างกรณีก็เป็นความจงใจที่จะทำลายลงเพราะผลประโยชน์ทางการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ เช่น ระบบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวอย่างสภาพเช่นนี้มีให้เห็นอยู่ในหลายๆศาสตร์ และศาสตร์หนึ่งในนั้นที่ยังไม่ค่อยเห็นถึง "ภาระ"ที่ศาสตร์ไปผลักสร้างบดกดทับลงบนสังคมคือ นิติศาสตร์ (5)
ประการที่สาม
กระบวนการในการสร้างความรู้และการประยุกต์ใช้ความรู้ในทางกฎหมายและทางด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยทั้งในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาขั้นต่างๆ ทั้งในกิจกรรมทางด้านการวิจัย และการบริการวิชาการแก่ชุมชน จะมีทั้งหลักสูตรและวิชาต่างๆที่ว่าด้วยกฎหมาย และทางด้านสิ่งแวดล้อม มีการทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับทางด้านกฎหมายและสิ่งแวดล้อมมากมาย มีบัณฑิตและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาก แต่ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นที่มาของข้อสงสัยอันเป็นหัวใจสำคัญของบทความนี้ก็คือ สิ่งที่เราเรียกๆกันว่าเป็นความรู้และที่มีการเรียนการสอนจนได้รับใบแสดงสำคัญว่ามีความรู้ในระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก ไม่ว่าในสาขาใด ทำไมไม่สามารถที่จะตอบคำถามหรือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
แต่ในอีกฝากหนึ่งของวิถีชีวิตจริงๆของหลายๆพื้นที่ที่ชุมชนผนึกกำลังกันในการฟื้นฟู อนุรักษ์ จัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งก็ตรงตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้(6) และเป็นจริงเช่นนั้นมาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติ สิ่งเหล่านี้เกิดมาแต่สำนึก ซึ่งมิได้มาจากอำนาจตามกฎหมายบังคับอีกทั้งยังน่าสนใจและตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวสามารถเป็นฐานทั้งในแง่ข้อมูลและความคิดให้แก่นักศึกษาโดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมสำเร็จการศึกษาบนรากฐานความรู้ภูมิปัญญาของชุมชน ซึ่งในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นเพียงคำขอบคุณในกิตติกรรมประกาศ แต่ตัวองค์ความรู้และกระบวนการในการสร้างและประยุกต์ใช้ความรู้ กลับไม่เคยไปมีความสำคัญหรือมีสถานะเป็นองค์ความรู้ที่เป็นหลักของสังคมไทย ทั้งๆที่องค์ความรู้เหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ ทดสอบ และประเมินผล ว่าสามารถใช้ได้เหมาะสมกับพื้นที่ของสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาทั้งสามประการดังกล่าว ของระบบความรู้จะนำมาเป็นฐานความคิดในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม ที่เชื่อมโยงกันระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบกฎหมายไทยในลำดับต่อไป
กฎหมายสิ่งแวดล้อม( Environmental
Law ) กับ นิติ-นิเวศวิทยา ( Legal Ecology)
คำถามหลักในส่วนนี้ก็คือว่า ในเมื่อระบบกฎหมายบอกกับเราว่าสังคมไทยเรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อม
แต่ทำไมปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมกลับชี้ออกมาให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ในวิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างที่มิอาจจะหลีกเลี่ยงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองหรือในสังคมชนบทที่ชุมชนไม่เข้มแข็ง
ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างปัญหาต่างๆทางด้านสิ่งแวดล้อมในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นของปัญหา
กับกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มากมายหลายฉบับเช่นเดียวกัน มันเป็นช่องว่างของ
"องค์ความรู้" ที่ว่าด้วย "นิติ-นิเวศวิทยา" หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
ระบบการสร้างความรู้และการประยุกต์ใช้ความรู้ของสังคมไทยที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและกฎหมายสิ่งแวดล้อมมันบกพร่องใช่หรือไม่
ถ้าใช่ มันบกพร่องตรงไหน และถ้าต้องการที่จะแก้ไขจะต้องดำเนินการอย่างไร
หากมีคำถามถามนักกฎหมายในปัจจุบันว่า ประเทศไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เราก็จะได้คำตอบอย่างทันทีว่ามีก็คือ
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นความเข้าใจของนักกฎหมายโดยทั่วไปว่าเป็นกฎหมายที่มีความครอบคลุมเกี่ยวกับการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
แต่ก็จะมีนักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจติดตามประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและไม่ได้ดูกฎหมายติดยึดอยู่แต่เฉพาะชื่อของกฎหมายเท่านั้น ยังลงไปศึกษาดูรายละเอียดของเนื้อหากฎหมายรายฉบับที่จะนำมาใช้ในการจัดการและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็สามารถที่จะจัดระบบออกได้มากมายหลากหลาย แล้วแต่ว่านักกฎหมายนั้นๆจะจัดอย่างไร
ดังนั้น โดยนัยนี้คำว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีแต่เฉพาะพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพราะยังมีกฎหมายอื่นๆอีกมากมายหลายฉบับ(7) ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากรายชื่อกฎหมายต่างๆที่ปรากฏอยู่ในภาคผนวก ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าในมิติด้านต่างๆนั้น มีบทบัญญัติอะไรบ้างเข้ามาเกี่ยวข้องและเกี่ยวข้องอย่างไร
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างนักกฎหมายสองท่านที่รู้เกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน แสดงว่า " ความรู้ " เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมของนักกฎหมายสองท่านดังกล่าวแตกต่างกัน ท่านที่รู้บทบัญญัติกฎหมายมากมายหลายฉบับกว่ามีความรู้ทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าหรือดีกว่านักกฎหมายอีกท่านหนึ่ง ใช่หรือไม่
ถ้าตอบว่า "ใช่" คือ การรู้บทบัญญัติของกฎหมายมากมายหลายฉบับเท่ากับการมี "ความรู้" แล้ว ทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะแก้กันก็จะง่ายขึ้นโดยการทำให้มีการเผยแพร่บทบัญญัติของกฎหมายเหล่านั้นออกไปให้แพร่หลายมากที่สุด ก็น่าที่จะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมคลี่คลายไปในที่สุด
แต่ถ้าตอบว่า " ไม่ใช่ " ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาโดยทันทีทันใดก็คือ แล้วอะไรคือ " ความรู้ "ที่เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า " องค์ความรู้ทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม " ของสังคมไทยเป็นอย่างไร ขอบเขตอยู่ตรงไหน ครอบคลุมในเรื่องอะไรบ้าง และถ้าหากคิดบนฐานคิดทางด้านนิเวศวิทยาที่ว่า สิ่งแวดล้อมไม่ได้ตกอยู่ภายใต้พรมแดนอธิปไตยของรัฐ องค์ความรู้ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะนำมาใช้ในภูมิภาคนี้ หรือบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในเขตป่าฝนร้อนชื้น ควรจะเป็นอย่างไร
จากการท้าทายในทางความคิดข้างต้น ไม่ว่าจะตอบทางใดก็ตามก็มีปัญหาที่ถึงทางตันทั้งสองทาง ทั้งที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วในสังคมไทยว่า กฎหมายเฟ้อ การทำการเผยแพร่บทบัญญัติกฎหมายก็ยิ่งทำให้มีปัญหาหนักเข้าไปใหญ่ เพราะมัวแต่มุ่งใช้บทบัญญัติเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และบางเรื่องบทบัญญัติก็คลุมไม่ถึงทำนองเดียวกับที่เราเห็นสภาพใบบัวที่ปิดช้างไม่มิด กฎหมายกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่สามารถใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ การใช้กฎหมายเพื่อการจัดการก็จะเป็นลักษณะ "การตัดตีนให้เข้ากับเกือก" และตีนที่จะถูกตัดก็คือ คนจน คนด้อยโอกาส คนที่อยู่ในเขตป่า ชาวชุมชนแออัด
และในทางกับกันก็ตอบไม่ได้เช่นเดียวกันว่า แล้วอะไรคือองค์ความรู้ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งมีอยู่หลายฉบับดังที่ชี้ให้เห็น ก็เป็นกฎหมายที่ออกมาต่างกรรมต่างวาระ เป็นระลอกๆ หลากฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ลอกเลียนมาจากต่างประเทศแทบจะคำต่อคำ ตัวอย่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่งของการลอกมา และคิดว่าจะนำมาใช้ได้ผลเพราะลอกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดมา แต่หลังจากการประกาศใช้แล้ว ตัวอย่างกรณี การสร้างเขื่อน ปัญหาน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ปัญหาโรงบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน ล้วนแล้วแต่ประจานความล้มเหลวของความรู้เรื่องนิเวศวิทยากับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ของสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น การรู้บทบัญญัติกฎหมายไม่ว่าจะมากหรือน้อยฉบับ ว่ามีกฎหมายเขียนไว้ ใจความอย่างไร จึงไม่ถือว่าเป็นความรู้ทางกฎหมาย แต่รู้เพียงแค่ ข้อมูล ( data ) เท่านั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และเมื่อบทบัญญัติของกฎหมาย( ในฐานะ ข้อมูล ) เปลี่ยน ข้อมูลหรือกฎหมายนั้นก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป แต่ถ้าบทบัญญัติกฎหมายไม่เปลี่ยนในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลดังกล่าวหรือบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป เมื่อการรู้บทบัญญัติถือว่าเป็นเพียงการรู้ข้อมูลเท่านั้น แสดงว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่จะเรียกได้ว่า "องค์ความรู้ที่แท้จริงของกฎหมายสิ่งแวดล้อม" ซึ่งอันนี้น่าจะต้องเป็นมากกว่าการรู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร
จากข้อโต้แย้งและการถกเถียงทั้งหมดดังที่ลำดับมาให้เห็น ต้องการที่จะทำให้เกิดข้อสรุปร่วมกัน ณ เวลานี้ว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อม กับ องค์ความรู้ที่แท้จริงของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นคนละเรื่องกัน ความเข้าใจที่ต้องสร้างความชัดเจนเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะจะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ว่าทันสมัยนี้พึ่งได้หรือไม่ และควรจะทำอย่างไร ปัญหาของกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย อยู่ตรงไหน
องค์ความรู้ของนิติ-นิเวศวิทยา
( Knowledge of Legal Ecology )
ในบทความนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างคำใหม่ดังที่เรียกว่า "นิติ-นิเวศวิทยา
" เพื่อต้องการแยกให้เห็นความแตกต่างกับคำว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าการที่เรารู้ว่ามีกฎหมายเขียนไว้ว่าอย่างไรบ้างที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ไม่ได้แสดงว่าเรามีความรู้ทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วอะไรคือความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
ในทัศนะของบทความนี้ต้องการที่จะใช้คำว่า นิติ-นิเวศวิทยา ( Legal Ecology) เพื่อเป็นคำที่ใช้สื่อให้เข้าใจความหมายและความครอบคลุมเนื้อหาองค์ประกอบของพรมแดนความรู้ทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมเสียใหม่
ถ้าจะให้อธิบายคำว่า นิติ-นิเวศวิทยา ( Legal Ecology) ให้เข้าใจง่ายกว่าคำที่เป็นศัพท์แสงที่ไม่ได้เป็นภาษาชาวบ้านจะอธิบายอย่างไร
ถ้าจะให้อธิบายหรือทำความเข้าใจคำว่า นิติ- นิเวศวิทยา ในบทความนี้ต้องการที่จะมองในลักษณะของ กระบวนการทางสังคมที่จะนำไปสู่กระบวนการสร้างและการทำให้เข้าใจ ถึงความรู้ในเชิงกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือที่ใช้อยู่ในสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ในสังคมไทย
ดังนั้น ถ้ามองความหมายของคำว่า
นิติ- นิเวศวิทยา ในความหมายนี้ จะทำให้เห็นนัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ ตัวองค์ความรู้ดังกล่าวไม่ได้มีอยู่แล้วอย่างสมบรูณ์ครบถ้วนและต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป(
เหมือนดังเช่นสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ ) ไม่ได้หมายความว่าตัวความรู้ดังกล่าวจะหยุดนิ่งตายตัว
แต่องค์ความรู้ที่มองผ่านกระบวนการทางสังคมจะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญแสดงว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่กฎหมายบัญญัติ
แต่อยู่นอกเหนือที่กฎหมายของรัฐบัญญัติ ซึ่งเป็นสิ่งสังคมใช้อยู่จริงๆด้วย อาทิเช่น
ข้อห้ามหรือแนวทางปฎิบัติที่มาจากความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิมหรือที่สร้างขึ้นมาใหม่
เป็นต้น
และถ้ากำหนดให้ นิติ-นิเวศวิทยา เป็นมิติหนึ่งที่จะมีการสร้างองค์ความรู้ผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในการสร้างความรู้
และการประยุกต์ใช้ความรู้หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้านิติ-นิเวศวิทยา ไม่ติดอยู่แค่ข้อมูล(
data) ว่ากฎหมายเขียนว่าอย่างไร เพราะสิ่งที่กฎหมายเขียนไว้นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
แต่จะต้องไปบังคับไปกระทำให้มันเกิดขึ้นมา แต่บนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม นิติ-นิเวศวิทยาควรจะทำหน้าที่ถามคำถามที่เป็นปัญหาอยู่จริงๆ
ในสังคม
คำถามเช่นนี้เราจะต้องไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้วในทางกฎหมาย เพราะสิ่งที่เป็นคำตอบที่มีอยู่ในบทบัญญัติกฎหมายเป็นสิ่งที่เราไปนำเอาผลผลิตสุดท้ายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางสังคมของสังคมอื่น ที่ได้ลงทุนสร้างความรู้หรือเรียนรู้ถึงการจะสร้างกฎเกณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงๆในสังคมนั้นๆ และเมื่อเราไปนำผลสุดท้ายมาเขียนเป็นกฎหมาย จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมกฎหมายสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเสมือนส้วมซึมที่สร้างไว้โชว์มากกว่านำมาใช้
แต่จะทำอย่างไรที่การเริ่มต้นจากคำถามที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงจะสามารถมีแรงผลักไปทำให้เกิดการพัฒนาในทางวิชาการกฎหมายกันอย่างแพร่หลายในแทบจะทุกมิติ ไม่เฉพาะแต่ในทางด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
จะทำอย่างไรที่จะทำให้กระบวนการสร้างองค์ความรู้ดังกล่าวทำให้กำแพงขวางกั้นและครอบความคิดที่ทำให้ความจริงไม่ปรากฏออกมาในทางกฎหมาย มีผลในการเปลี่ยนกรอบคิด/มโนทัศน์( paradigm shift )ในการมองหรือเข้าใจกฎหมาย และสิ่งต่างๆที่กฎหมายไปสัมพันธ์อยู่ด้วยเสียใหม่ และนั้นหมายความว่าสิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์ที่ปฎิบัติอยู่แล้วจริงและได้ผล เป็นการฟื้นฟูอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จริงที่มีมาแต่อดีตและมีใช้อยู่กระจัดกระจายในสังคมไทยหรือในแถบภูมิภาคนี้ แต่ไม่เคยได้รับการยอมรับโดยกฎหมายสิ่งแวดล้อม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ของนิติ-นิเวศวิทยา
คำถามในเชิงญาณวิทยา(
Epistemology )ของนิติ-นิเวศวิทยา
ออกจะเป็นการยากและรู้สึกแปลกแยก เมื่อตั้งคำถามในเชิงญาณวิทยาต่อวิชาการนิติศาสตร์ไทย
เพราะหัวใจของคำถามในเชิงญาณวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของคำถามหลักในกระบวนการหาความรู้
เป็นคำถามที่ต้องการจะแสดงหรือให้คำตอบว่าเรารู้( เรื่องนั้นๆ )ได้อย่างไร
คำถามเช่นนี้หวังว่า อาจจะเป็นคำถามอีกหนึ่งคำถามที่มีส่วนช่วยในการกะเทาะกำแพงความคิด และมายาคติเกี่ยวกับความจริงของกฎหมายและความเข้าใจของนักกฎหมาย และสามารถมีพลังพอที่จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจในประเด็นนิติ-นิเวศวิทยา และหวังว่าจะทำให้ความหมายของนิติ-นิเวศวิทยา เกิดพลังต่อการเข้าใจปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากระบบกฎหมายที่ส่งผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
คำถามในเชิงญาณวิทยา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการตรวจสอบสิ่งที่เรียกว่า " ความรู้ " ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงยุคแสงสว่างแห่งปัญญา ( the Enlightenment ) ซึ่งมีฐานความคิดมาจากการเชื่อใน ระบบเหตุผล ปรากฎการณ์ในเชิงประจักษ์ ความจริงแบบวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการที่จะแสวงหาหรือแยกแยะว่าอะไรคือ " ความจริง " ดังนั้น เมื่อเราต้องการที่จะถามถึงว่าอะไรคือความรู้ที่ว่าด้วยนิติ-นิเวศวิทยา สิ่งที่เราเรียกว่า "ความรู้" ( Knowledge )นั้นมันจึงจะต้องสามารถที่จะถูกทดสอบเพื่อหาความจริงในเรื่องนั้นๆได้
นั่นเท่ากับว่า บทความนี้เป็นเพียงข้อเสนอในเชิงความคิดแนวหนึ่ง
ที่เสนอออกมาเพื่อต้องการที่จะท้าทายความคิดเดิมๆในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าความคิดในทางกฎหมายแบบเดิมๆก็ดี คำอธิบายกฎหมายสิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆก็ดี
หรือแม้กระทั้งระบบกลไก สถาบันในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆก็ดี
เหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถที่จะมีพลังอย่างมีประสิทธิภาพพอในการแก้ปัญหา
หรือให้คำตอบในข้อสงสัยที่เป็นปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
และเมื่อความคิดเดิมไม่สามารถที่จะช่วยให้เราเข้าใจสภาพบริบททางสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงไปได้
ไม่สามารถที่จะใช้ความคิด ใช้สิ่งที่เราเรียกว่า "ความรู้" ที่มีอยู่ปัจจุบันในการเผชิญปัญหาและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
ก็สมควรที่จะพัฒนาความคิดไปในทางอื่นๆเพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ไม่เป็นความรู้ที่ตายด้านหรือกลายเป็นหลักความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์(
Dogma )ที่ไม่มีใครในสายวิชาชีพนั้นๆ กล้าที่จะลุกขึ้นมาท้าทายเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น เพื่อไม่ให้สิ่งที่เราเรียกกันว่าบทบัญญัติกฎหมาย กลายเป็นสิ่งที่ตั้งทิ้งไว้เฉยๆไม่มีการเคลื่อนไหวทางความคิด
การตอบคำถามว่าเราจะแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม
หรือระบบนิเวศน์ที่เป็นความรู้ที่เหมาะสมและใช้ได้จริงๆอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งแรกที่กระบวนการเคลื่อนไหวทาง
นิติ-นิเวศวิทยาจะต้องทำ และต้องพร้อมที่จะถูกพิสูจน์ทดสอบ
ภายใต้กระแสโลกและสิ่งที่รัฐบาลไทยบอกผ่านทางนโยบายและสื่อต่างๆว่า จะต้องเตรียมการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา รัฐไทยพร้อมที่จะทำตัวเองให้เป็น นิติรัฐ ที่เคารพและตั้งมั่นอยู่บนหลักนิติธรรมในระดับจิตวิญญาณ ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ และระดับองค์กร/สถาบัน แล้วหรือยัง
ในฐานะนักกฎหมายในทุกสายอาชีพ สถาบันวิชาการทางกฎหมาย นักเรียนนักศึกษาที่ประกาศตัวทั้งที่ชัดเจนและคลุมเครือว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือนักนิติศาสตร์ ท่านพร้อมที่จะเผชิญกับความจริงของความรู้ เผชิญกับคำถามในเชิงญาณวิทยาทางกฎหมาย และที่สำคัญท่านพร้อมที่จะช่วยทำให้บรรยากาศทางสังคมเป็นสังคมที่พร้อมจะเรียนรู้ โดยการละเลิกการใช้กฎหมาย หมายที่จะให้กลัว หมายที่จะกดหัว เป็นเครื่องมือและร่างทรงให้กับอคติและอวิชาทั้งหลาย ท่านพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิติ-นิเวศวิทยาในสังคมแห่งการเรียนรู้แล้วหรือยัง
ภาคผนวก
กฎหมายสิ่งแวดล้อม
อะไรคือกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา ทั้งนี้เนื่องจากว่าการเข้าใจว่ากฎหมายใดเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมนั้น แล้วแต่ว่าเราจะมองกฎหมายสิ่งแวดล้อมในความหมายอย่างกว้าง หรือมองในความหมายอย่างแคบ ท่าทีและทัศนะดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำความเข้าใจและการแสวงทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
ถ้าหากมองกฎหมายสิ่งแวดล้อมในความหมายอย่างแคบแล้วก็มักจะเห็นแต่เฉพาะ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เท่านั้น ซึ่งเป็นการมองโดยอาศัยชื่อกฎหมายเป็นหลัก แต่เนื่องจากระบบกฎหมายของไทยยังไม่เป็นระบบที่ดี มีความสับสนในหลายๆกรณีจึงทำให้ไม่สามารถเห็นภาพทั้งระบบของกฎหมายได้ ดังนั้นจึงทำให้มีความจำเป็นในการที่จะต้องมองใหม่โดยการเอาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งหรือเป็นประธานของเรื่อง และเมื่อเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้จึงทำให้ได้คำตอบใหม่คือว่า
นอกจาก พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วยังมีกฎหมายที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย ดังที่จะแสดงให้เห็นเป็นกลุ่มๆดังต่อไปนี้
๑. กฎหมายที่กำหนดให้รัฐต้องมีแนวนโยบายในทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย
๑.๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐
ดังจะเห็นได้จากหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา ๗๙ ซึ่งบัญญัติว่า
" รัฐต้องส่งเสริมและสนันสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล ร่วมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน "และนอกจากนั้นในหมวด ๙ การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา ๒๙๐ ซึ่งบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ดังที่บัญญัติว่า
" เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
( ๑ ) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่
( ๒ ) การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน
( ๓) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการ หรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ "
๑.๒. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
อาจจะกล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นแม่บทหลักในทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายที่มีชื่อเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับแรกได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่สามารถที่จะบังคับใช้ได้ในทางปฎิบัติ จึงทำการปฎิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อมเสียใหม่โดยการเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเสียให้ พร้อมๆกับการตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้ทำหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งค่อนข้างที่จะมีเนื้อหาที่เป็นระบบมากขึ้น และนำหลักการใหม่ๆเข้ามาใช้ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังกล่าวนี้เอง มีการตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดดังกล่าวก็เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ในการจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงการมีอำนาจในการจัดการในด้านอื่นๆอีกมากมาย๑.๓. กฎหมายระหว่างประเทศในทางด้านสิ่งแวดล้อม
ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ถูกจำกัดโดยพรหมแดน ดังนั้น กฎหมายระหว่างประเทศจึงเป็นเครื่องมือที่อาจจะหยิบขึ้นมาแก้ปัญหาร่วมกันได้ แต่ก็ไม่เสมอไป ตัวอย่างของกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีผลต่อการกำหนดนโบายของรัฐ ได้แก่
- อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
- อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองโลกร้อน
- อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น
๒.
กฎหมายที่เกี่ยวกับการวางแผนการใช้ที่ดิน ป่าไม้แร่ธาตุ พลังงาน และการวางผังเมือง
พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในส่วนนี้ประกอบด้วย
๒.๑ พระราชบัญญัติบำรุงพืช พ.ศ. ๒๔๘๓
๒.๒ พระราชกำหนดควบคุมและดำเนินงานธุรการทำเหมืองแร่ทองคำ พ.ศ. ๒๔๘๓
๒.๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔
๒.๔ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗
๒.๕ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔
๒.๖ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔
๒.๗ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
๒.๘ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
๒.๙ พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑
๒.๑๐ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔
๒.๑๑ ประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ ๒๘ ( การบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว)
๒.๑๒ พระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวา พ.ศ. ๒๕๑๖
๒.๑๓ พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๗
๒.๑๔ พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘
๒.๑๕ พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘
๒.๑๖ พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘
๒.๑๗ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘
๒.๑๘ พระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘
๒.๑๙ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘
๒.๒๐ พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๖
๒.๒๑ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถานที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมในทะเล พ.ศ.๒๕๓๐
๒.๒๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐
๒.๒๓ พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. ๒๕๓๕
๒.๒๔ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕
๒.๒๕ พระราชบัญญัติการถมที่ พ.ศ. ๒๕๔๐
๒.๒๖ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.๒๕๔๐
๒.๒๗ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.๒๕๔๐
๓. กฎหมายที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข
๓.๑ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒
๓.๒ พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
๓.๓ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.๒๕๓๕
๓.๔ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ.๒๕๓๕
ฯลฯ
๔. กฎหมายทรัพยากรน้ำและการประมง
๔.๑ พระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ. ๑๒๑
๔.๒ พระราชบัญญัติชลประทานราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๘๒
๔.๓ พระราชบัญญัติชลประทานหลวง พ.ศ. ๒๔๘๕
๔.๔ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
๔.๕ พระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. ๒๕๒๖
ฯลฯ
๕. กฎหมายมลพิษทางอากาศ ทางเสียง ทางแสง และ การสั่นสะเทือน
๕.๑ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘
๕.๒ พระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๕.๓ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕
๕.๔ พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.๒๔๙๓
๕.๕ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ?
ฯลฯ
๖. กฎหมายเกี่ยวกับวัตถุมีพิษและการควบคุมมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
๖.๑ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕
๗. กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 555555555
๗.๑ พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๒
๗.๒ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
๗.๓ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕
ฯลฯ
( คัดมาจากบางส่วนของเอกสารเรื่อง นโยบาย กฎหมาย และ แผนสิ่งแวดล้อม โดย ไพสิฐ พาณิชย์กุล เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง บทบาทครูกับสิ่งแวดล้อม จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ )
เอกสารอ้างอิง
(1). นักนิติศาสตร์หรือนักกฎหมายในกลุ่มที่สนใจ และลุกขึ้นมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของระบบกฎหมาย
กับปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมโดยส่วนใหญ่จะมีแก่นคำถามหลักๆที่มักจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ
"ความจริง" กับการกระทำในทางกฎหมายของนักกฎหมาย นักนิติศาสตร์ในกลุ่มนี้มีอยู่หลายกลุ่มภายใต้ชื่อต่างๆกันเช่น
- กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม " free law movement " กลุ่มนี้เริ่มต้นในประเทศเยอรมันเรียกร้องให้การศึกษากฎหมาย หรือโรงเรียนกฎหมายต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบประมวลกฎหมาย (ที่จะเป็นคำตอบในทางกฎหมายให้กับปัญหาทุกปัญหาโดยนักกฎหมายประมวลกฎหมายจะทำหน้าที่ตีความเทียบเคียง)
- กลุ่มที่ถูกเรียกในทางวิชาการว่า กลุ่ม สังคมวิทยาทางกฎหมาย ( Sociology of law ) หรือ อีกชื่อหนึ่งที่เรียกตามงานที่ศึกษาคือ Sociolegal Studies
- กลุ่มที่เรียกว่า Critical
Legal Studies
- กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Legal Realists
และนอกจากนั้นยังกลุ่มอื่นๆอีกมากมายที่เกิดขึ้นในยุคหลังศตวรรษที่ 20 กลุ่มต่างๆเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการทำให้การกระทำในทางกฎหมายจะต้องถูกทดสอบกับความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา
(2) โปรดดูรายละเอียดใน Eduard A. Ziegenhagen " The Reconceptualization of Legal Systems and Processes " ในหนังสือ " The Politics of Local Justice " James R. Klonoski และ Robert I. Mendelsohn , Little , Brown and Company , Boston ,1970 หน้า 27 - 31
(3) เพิ่งอ้าง หน้า 31
(4) เสน่ห์ จามริก " โครงการหนังสือชุด " ตลาดวิชา" บทวิเคราะห์ว่าด้วย การศึกษากับปัญหาสภาวะความรู้มนุษย์ " จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ( 2546 ) โปรดดูรายละเอียดในปกหลัง
(5) เพิ่งอ้าง หน้า 16
(6) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 46 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถินดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(7) โปรดดู รายละเอียดตัวอย่างการจัดกลุ่ม ประเภทและชื่อของกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ในภาคผนวก ท้ายบทความ
(8) ท่านที่สนใจเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยความรู้ โปรดศึกษาเพิ่มเติมใน กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์ " การวิจัยเชิงคุณภาพในสวัสดิการสังคม : แนวคิดและวิธีวิจัย " สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย
สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
กฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งมีอยู่หลายฉบับ เป็นกฎหมายที่ออกมาต่างกรรมต่างวาระ เป็นระลอกๆ หลากฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ลอกเลียนมาจากต่างประเทศแทบจะคำต่อคำ ตัวอย่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่งของการลอกมา และคิดว่าจะนำมาใช้ได้ผลเพราะลอกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดมา แต่หลังจากการประกาศใช้แล้ว ตัวอย่างกรณี การสร้างเขื่อน ปัญหาโรงบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน ล้วนแล้วแต่ประจานความล้มเหลวของความรู้