บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 450 หัวเรื่อง
วาทกรรมการเมืองยุคทักษิณ
วัชรพล พุทธรักษา
นิสิต ป.โท ภาควิชาการปกครอง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รัฐศาสตร์ - การปกครอง
"หวานเป็นลม-ขมเป็นยา"
กับนโยบายทักษิณ
วัชรพล พุทธรักษา
นิสิตปริญญาโท
ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และนักเรียนทุนรัฐบาลตามโครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ สังกัดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
จากบทความเดิมชื่อว่า
วาทกรรมการเมืองภายใต้รัฐบาลทักษิณ
: ว่าด้วยเรื่องโครงการเอื้ออาทร
และนโยบายประชานิยมอื่นๆ
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซท์ ม.เที่ยงคืน วันที่ 13 พฤษภาคม 2547
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
9 หน้ากระดาษ A4)
รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ ฯพณฯดร.ทักษิณ ชินวัตร นั้นเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารงานมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง (ในระบอบประชาธิปไตย) ของไทย ทั้งนี้นอกจากจะเป็นผลของความสามารถในการบริหารของนายกรัฐมนตรี และทีมงานพรรคไทยรักไทยแล้ว ความเข้มแข็งและความสำเร็จในการบริหารงานของรัฐบาลยังเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ต้องการให้มีฝ่ายบริหารและรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง , กระแสไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์อันเนื่องมาจากปัญหาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 และการนำเสนอนโยบายหลักที่ทำให้สามารถซื้อใจประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ นั่นก็คือนโยบาย "ประชานิยม " นั่นเอง
นโยบายประชานิยมภายใต้รัฐบาลนายกฯทักษิณ โดยเฉพาะโครงการเอื้ออาทรประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็นโครงการคอมพิวเตอร์, บ้าน, แท็กซี่, แอร์, โทรทัศน์, น้ำดื่ม ฯลฯ และนโยบายประชานิยมอื่นๆเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้านละล้าน, พักชำระหนี้เกษตรกร, สินเชื่อ SMEs หรือล่าสุดคือ "นโยบายเหนือเมฆ SML แจกเงิน 20,000 ล้านบาท " นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ แต่ในอีกฐานะหนึ่ง โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมอื่นๆนั้นยังมีฐานะเป็น "วาทกรรม/วาทกรรมการเมือง" รูปแบบหนึ่งด้วย
จุดมุ่งหมายของงานเขียนชิ้นนี้คือ เพื่อชี้ให้เห็นว่า โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมอื่นๆ นั้น มีฐานะเป็นวาทกรรมการเมืองเพราะอะไร? อย่างไร? ซึ่งจะเกิดผลอย่างไรแก่ผู้คนในสังคมจากความเป็นวาทกรรมของของโครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมชุดนี้? และเราจะสามารถกระทำการใดเพื่อรับมือกับวาทกรรมชุดนี้ได้บ้าง?
โดยก่อนอื่นเราควรที่จะทำความเข้าใจในเบื้องต้นถึงความหมายของคำว่า "วาทกรรม/วาทกรรมการเมือง" และทำการประมวล ข้อคิด/ความคิดเห็นเกี่ยวกับ "โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยม" ในมุมมองของนักวิชาการหลายๆท่านเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นโดยจะได้อธิบายดังต่อไปนี้
เริ่มต้นที่การทำความเข้าใจคำว่า "วาทกรรม"(Discourse) และ "วาทกรรมการเมือง"(Political Discourse) ซึ่งคำดังกล่าวนี้ได้เป็นที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง ในการศึกษาทางรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมิเชล ฟูโก(Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้ให้ความหมายของคำว่า "วาทกรรม" ไว้โดยสรุปว่า "วาทกรรมนั้นเป็นเรื่องที่มากกว่า การเขียน และการพูด โดยหมายความรวมถึงระบบ และกระบวนการในการสร้าง/ผลิต(Constitute) เอกลักษณ์(Identity) และความหมาย(Significant) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆในสังคมที่อยู่รายรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความรู้ ความจริง หรือแม้กระทั่งตัวตนของเรา"
และนอกจากวาทกรรมจะได้ทำหน้าที่ดังที่กล่าวมา วาทกรรมยังทำหน้าที่สำคัญในการยึดตรึง สิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมต่อไป และในขณะเดียวกันนั้น วาทกรรมยังทำหน้าที่ในการเก็บกด/ปิดกั้น มิให้เอกลักษณ์ หรือความหมายบางอย่าง/ความหมายอื่นเกิดขึ้น หรือไม่ก็ทำให้เอกลักษณ์และความหมายของบางสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมเลือนหายไปได้พร้อมๆกันอีกด้วย
วาทกรรมนั้นสามารถแสดงบทบาท หน้าที่ดังกล่าวได้โดยผ่านทางภาคปฏิบัติการของวาทกรรม(Discursive Practices) อันได้แก่ จารีตปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ คุณค่า ค่านิยม ผ่านทางสถาบัน และช่องทางในการเข้าถึงผู้คนในสังคม
ส่วนคำว่า "วาทกรรมการเมือง" (Political Discourse) นั้น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้ให้แนวคิดโดยสรุปไว้ว่า แนวคิดเรื่องวาทกรรมการเมืองนั้น เป็นแนวคิดที่ให้ความสนใจและความสำคัญในกิจกรรมของการสื่อความหมายทางภาษา การแสดงความคิดทางการเมือง และกลไกในการควบคุมระบบการสื่อความหมาย ของการแสดงความคิดทางการเมืองนั้น โดยมีการถ่ายทอดและอบรมสั่งสอนเพื่อการบังคับ ดำรงรักษา หรือนำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ดังนั้น วาทกรรมการเมืองไม่อาจแยกออกจาก "อำนาจ" ในสังคมการเมืองได้เลย ทั้งนี้โดยเชื่อว่า อำนาจนั้นมีกระจายอยู่โดยทั่วไปในทุกระดับของสังคมการเมือง โดยมีพลังแสดงผ่านปฏิบัติการของวาทกรรมการเมือง ซึ่งวาทกรรมการเมืองแต่ละชุดหรือแต่ละแบบแผนนั้น จะมีระบบการคิดและการให้เหตุผลเป็นการเฉพาะของวาทกรรมนั้นๆ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการจัดกรอบและรูปแบบของความจริง ความเชื่อ ความอยากรู้ การคิด ทัศนคติ ค่านิยม และการจัดตำแหน่งแห่งที่ให้มนุษย์ ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้ วาทกรรมการเมือง จึงเป็นกิจกรรมทางการเมืองทั้งในทางความคิดจิตใจและในทางปฏิบัติอีกด้วย
ส่วน "โครงการเอื้ออาทร และนโยบายประชานิยมอื่นๆ" นั้นเป็นนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของ ฯพณฯทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดออกมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงบริการต่างๆจากรัฐได้ในราคาถูก อันเป็นการช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก
นโยบายดังกล่าวนี้ได้ถูกกล่าวถึงอย่างมากในสังคมไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ที่กล่าวในเชิงชื่นชมผลการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และในเชิง วิพากษ์/วิจารณ์ "โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยม" ว่าเป็นนโยบายที่มีลักษณะของการจ่าย แจก ช่วยฐานเสียง ช่วยคนจนที่เป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญ โดยได้ละเลยวินัยทางการคลังและมิได้คำนึงว่า จะเกิดผลเสียกับเศรษฐกิจโดยรวมของชาติอย่างไรหรือไม่
โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมได้ตกเป็นที่วิพากษ์
วิจารณ์อย่างกว้างขวางใน แวดวงวิชาการด้วย ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอ ตัวอย่าง นักวิชาการบางท่านที่ได้กล่าวถึงโครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมต่างๆไว้
ทั้งนี้เพื่อเป็นการประมวลให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจ และรู้จัก โครงการเอื้ออาทร
และนโยบายประชานิยมในแง่มุมอื่นๆที่แตกต่างกันมากขึ้น ดังต่อไปนี้
ธีรยุทธ บุญมี ให้ความเห็นว่า โครงการเอื้ออาทรของรัฐบาลนั้นเป็นนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะขายตรง
ไม่ผ่านคนกลาง เป็นการต่อสายตรงสู่ชาวบ้าน เป็นการกีดกันนักการเมือง, นักวิชาการ,
เครือข่ายประชาสังคม และNGOs ต่างๆ ให้ออกไปจากการรับรู้ของชาวบ้าน
ธีรยุทธ มองว่า โครงการเอื้ออาทรนั้นเป็นการอุปถัมภ์ทางนโยบาย(Policy Patronage) เป็นการผูกจิตใจชาวบ้านทั้งหมดเข้ากับภาคการเมือง และขณะเดียวกันก็ได้ทำการกีดกันผู้อื่นที่มิใช่รัฐออกไปจากพื้นที่สาธารณะ อันเป็นการสวนทางกับแนวทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง และแท้จริงแล้ว ธีรยุทธนั้นเห็นว่า นโยบายประชานิยมนั้น แก่นแท้ของมันก็คือ ประชามาร์เก็ตติ้ง ที่ส่งผลเสียด้านศีลธรรม บริโภคนิยม การขาดประสิทธิภาพและคุณภาพของประชาชน กล่าวคือเป็นการเมืองที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้าช่วย ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในสายตาของประชาชนนั่นเอง
ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม มีความเห็นว่าแท้จริงแล้ว คนที่เอื้ออาทรควรเป็นชาวบ้านมิใช่รัฐ ชาวบ้านควรเป็นผู้เอื้ออาทรให้กับผู้ที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อบ้านเมือง ชาวบ้านควรเป็นผู้ให้ มิใช่นักการเมืองเป็นผู้เอื้ออาทรชาวบ้าน และนอกจากนั้นแล้วเรื่องการเอื้ออาทร เป็นการแสดงเหมือนกับว่ารัฐ หรือนักการเมืองเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทั้งที่จริงแล้วประชาชนต่างหากที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่กลับต้องได้รับการเอื้ออาทรจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่อย่างใด
และท่านสุดท้าย ปกป้อง จันวิทย์ มีความเห็นคล้ายกับผู้ใหญ่วิบูลย์ โดยปกป้องเห็นว่า โครงการเอื้ออาทรนั้น มีลักษณะของการ "เหนือกว่า - ด้อยกว่า" แฝงอยู่ เป็นลักษณะของคนข้างบนใจดีให้คนข้างล่าง คนข้างล่างแบมือขอคนข้างบน เป็นการสร้างความหวังให้กับชาวบ้านซึ่งแท้จริงแล้วก็คือระบบอุปถัมภ์นั่นเอง
จากความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการเอื้ออาทร และนโยบายประชานิยมดังที่ประมวลไว้ข้างต้น เมื่อผนวกเข้ากับการทำความเข้าใจ ลักษณะ/ความหมาย/หน้าที่ ของคำว่า วาทกรรม/วาทกรรมการเมือง ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ผู้เขียนสามารถตั้งข้อสังเกตบางประการ ที่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่า โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมทั้งหลายนั้น นอกจากจะมีฐานะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลแล้ว ในอีกฐานะหนึ่งนั้น "โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมทั้งหลายนี้ ยังมีฐานะเป็นวาทกรรม/วาทกรรมการเมือง" อีกด้วย โดยที่ผู้เขียนมีเหตุผลรองรับดังต่อไปนี้
ประการแรก โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมต่างๆ นั้นได้ทำหน้าที่ในการ สร้าง/ผลิต และยึดตรึงความหมาย/ความสำคัญ ของโครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยม ให้ประชาชนเกิดความเชื่อ และเข้าใจว่าเป็นความจริง และเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐกระทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปอย่างจริงใจ และมิได้หวังผลตอบแทน โดยเป็นการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกันในฐานะที่เป็นพี่น้องชาวไทยด้วยกัน
ประการที่สอง โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมต่างๆนั้น มีฐานะเป็นวาทกรรมการเมือง เพราะว่าได้มีภาคปฏิบัติการของวาทกรรม(Discursive Practices) เกิดขึ้นและทำงาน/ทำหน้าที่อยู่จริง ยกตัวอย่างเช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น รายการนายกทักษิณคุยกับประชาชนทุกเช้าวันเสาร์ , การประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อของรัฐบาล, การกล่าวขวัญถึง พูดถึง วิพากษ์ วิจารณ์ จากสื่อทุกประเภท ทั้งที่ตั้งใจกล่าวถึงและกล่าวถึงโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น
ซึ่งภาคปฏิบัติการของวาทกรรมหลายๆประการนี้ จะทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางในการครอบครอง/ครอบงำ ความคิด จิตใจ (Hegemony ) ของผู้คนทุกคนในสังคม ให้เชื่อ รับรู้ เกี่ยวกับโครงการเอื้ออาทร และนโยบายประชานิยมเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เป็นทิศทางอันเกิดประโยชน์แก่รัฐ โดยเล็งผลถึงความนิยมอย่างสูงที่ประชาชนมีต่อนโยบายของรัฐบาล อันจะนำทำให้เกิดการซื้อใจประชาชน และนำไปสู่ผลสำเร็จในการเลือกตั้ง เพื่อดำรง/สืบทอด อำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จได้ต่อไปในอนาคต
และประการสุดท้าย ในขณะที่ภาคปฏิบัติการของวาทกรรมได้ทำหน้าที่ในการสร้าง/ผลิต ซึ่งความหมาย เอกลักษณ์ ฯลฯแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังได้ทำหน้าที่ในการ เก็บกด/ปิดกั้น กีดกัน ความหมายอื่นและผู้อื่นที่มิใช่รัฐ เช่น นักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล องค์กรเอกชน (NGOs) และภาคประชาชนต่างๆ เป็นต้น ออกจากพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการพยายามที่จะ ลดทอนความสำคัญของ "ผู้อื่น" และ "ความหมายอื่น" ที่เกี่ยวกับโครงการเอื้ออาทรในเชิงลบ หรือเชิงการให้ความหมายที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของรัฐบาล ให้สลายตัวไปในที่สุด
เมื่อเราได้ รับรู้/ทำความเข้าใจ ถึงการดำรงอยู่ในฐานะที่เป็น วาทกรรม/วาทกรรมการเมือง ของโครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยม ภายใต้การทำงานของวาทกรรมการเมืองชุดนี้ผ่านทางภาคปฏิบัติการของวาทกรรม เช่น รายการนายกทักษิณคุยกับประชาชน, ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของรัฐบาล, การกล่าวขวัญถึง พูดถึง วิพากษ์ วิจารณ์ จากสื่อทุกประเภท อันนำไปสู่การสร้างความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ของผู้คนในสังคม โดยผ่านกระบวนการทางภาษาที่แยบคายที่ว่า "เอื้ออาทร" อันจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกที่ดี อ่อนโยน เป็นมิตร และจริงใจ ในความสัมพันธ์ที่รัฐบาลมีต่อประชาชน ทำให้สามารถ จำแนก/แยกแยะ ผลลัพธ์บางประการ ที่ประชาชนในสังคมจะได้รับจากวาทกรรมการเมืองว่าด้วยเรื่องโครงการเอื้ออาทร และนโยบายประชานิยมชุดนี้ ได้ดังต่อไปนี้
ประการแรก ประชาชนจะถูกทำให้เชื่อ รับรู้ เข้าใจ ถึง "ความเท่าเทียมกัน" ในแง่ของการเข้าถึงนโยบายประชานิยม โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ตัวอย่างเช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ประชาชนได้ถูกทำให้เชื่อว่า เงิน 30 บาทนั้นสามารถรักษาได้ทุกโรค และรักษาได้ทุกคน มีความเท่าเทียมกันเกิดขึ้น อันต่างจากนโยบายประกันสังคมเดิม ที่เข้าถึงได้เฉพาะแรงงานในระบบเท่านั้น
ประการที่สอง ความเท่าเทียมกันที่ถูกทำให้เชื่อนี้ เป็นการสร้างให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกันในลักษณะของ "ผู้รอรับนโยบาย" และ "ผู้บริโภคนโยบาย" อันเป็นสร้างความหวัง สร้างเป้าหมาย ให้ประชาชนเฝ้ารอคอยการเอื้ออาทร การลงมาโปรดนโยบายของรัฐบาล โดยมิได้ทำให้ประชาชนคิดที่จะเป็นฝ่าย "รุก" เดินหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตนเอง และพึ่งพารัฐบาลให้น้อยที่สุด ดังเช่นสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งแต่อย่างใด
และประการสุดท้าย วาทกรรมการเมืองชุดนี้ ทำให้ประชาชนต้องตกเป็นเครื่องมือในการพยายาม ครอบครอง/รักษา อำนาจในการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยที่โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมนั้นจะสร้างความเชื่อ ความรับรู้ให้เกิดขึ้นกับประชาชน ว่านโยบายประชานิยมต่างๆของรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่ดี ที่รัฐบาลมีความจริงใจมอบให้ประชาชนทุกคน ดุจญาติมิตรของตนเอง เปรียบเสมือนการซื้อใจประชาชน ทั้งนี้โดยหวังถึงการสนับสนุนรัฐบาล และความสำเร็จในการเลือกตั้งสมัยหน้าในปี 2548 อย่างถล่มทลายนั่นเอง
เมื่อเราได้รับรู้และเข้าใจ ถึงผลลัพธ์ที่ประชาชนได้รับจากการทำงานของ "วาทกรรม/วาทกรรมการเมือง" ดังกล่าวนี้เป็นอย่างดีแล้ว นั่นย่อมทำให้เราได้เห็นถึง ความสำคัญ/คุณูปการ ในการพยายามทำความเข้าใจถึง ความคิด/จุดมุ่งหมาย ของบทความชิ้นนี้
ซึ่งคุณูปการอย่างสำคัญที่สุด ที่ได้รับจากการพยายามทำความเข้าใจ โครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมอื่นๆในฐานะที่เป็น วาทกรรม/วาทกรรมการเมือง ก็คือ "การได้ตระหนักรู้/การได้รู้เท่าทัน" ว่าวาทกรรม/วาทกรรมการเมืองชุดนี้ แท้จริงแล้วมีเป้าประสงค์อื่นใดแอบแฝงอยู่กับภาพภายนอกที่มองเห็นเป็นนโยบายที่ดี ที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนทุกระดับชั้น (เน้นที่ชนชั้นล่าง) อย่างทั่วถึง ซึ่งเป้าประสงค์ที่แฝงเร้นอยู่นี้เมื่อเรารู้เท่าทันแล้ว เราจะได้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การตระหนักรู้/การได้รู้เท่าทัน ดังกล่าว จะทำให้ประชาชนสามารถ จำแนก/แยกแยะ ได้เองว่าแท้จริงแล้วโครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมนั้นเป็นนโยบายที่ดี ที่มุ่งเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนหรือเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลกันแน่ ? แท้จริงแล้ว คำว่า "เอื้ออาทร" นั้น เป็นคำที่แสดงถึงความรู้สึกที่ดี อ่อนโยน เป็นมิตร หรือเป็นการหยามหยันในเชิงของความ เหลื่อมล้ำ/ไม่เท่าเทียมกันทางทรัพยากร? และ/หรือ เป็นการอุปถัมภ์เชิงนโยบายที่รัฐบาลมีต่อประชาชนกันแน่? และแท้ที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์เชิงการเอื้ออาทรนี้ควรเป็นการเอื้ออาทรที่รัฐบาลมีต่อประชาชน หรือเป็นการเอื้ออาทรที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลกันแน่?
ในการตอบคำถามดังกล่าวเราทุกคนในสังคมต้องตั้งสติ ใช้ปัญญาไตร่ตรองในการ จำแนก/แยกแยะ วาทกรรม/วาทกรรมการเมือง ว่าด้วยเรื่องโครงการเอื้ออาทรและนโยบายประชานิยมนี้อย่างระมัดระวัง และพยายามทำความเข้าใจว่า เป้าหมาย/เป้าประสงค์ ที่แท้จริงของวาทกรรมชุดนี้นั้นคืออะไร? และผู้ที่สร้างวาทกรรมชุดนี้แท้จริงแล้วเขาต้องการอะไรจากเรา?
ท้ายที่สุด เมื่อเรา(อันหมายถึงประชาชนคนไทยทุกคน)
สามารถตระหนักรู้ สามารถทำการ จำแนก/แยกแยะ และรู้เท่าทันเป้าหมายของวาทกรรม/วาทกรรมการเมืองชุดนี้ได้แล้ว
ก็จะทำให้เรานั้นไม่ต้องถูกครอบงำ ความคิด/จิตใจ, ความเชื่อ, ทัศนคติ, ทำให้เราไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือในการ
เสพอำนาจอย่างชื่นบานของรัฐบาลโดยที่เราไม่รู้ตัว และทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมี
มีศักดิ์ศรี และมีความสุขได้สืบไป
บรรณานุกรม
เกษียร เตชะพีระ. 2547. "ระบอบทักษิณ", ทัศนะวิพากษ์, ใน ฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม), หน้า 38. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2542. วาทกรรมการพัฒนา อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : วิภาษา.
ธีรยุทธ บุญมี. 2547. "การเมืองระบบทักษิณ(Thaksinocracy)", ใน รู้ทันทักษิณ, หน้า 45-46. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : ขอคิดด้วยคน.
___________. 2547. "Road Map ประเทศไทย", ใน Road Map ประเทศไทย บทบาทคุณูปการของการเมืองภาคประชาชน, หน้า 52. กรุงเทพฯ : สายธาร.
. 2547. "บทวิเคราะห์การเมืองระบอบทักษิณ (ไทยรักไทย)", ใน http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2545/document9789.html
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. 2533. ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. กรุงเทพฯ : สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ปกป้อง จันวิทย์. 2547. "Thaksinomics : The Overrated regime" , ใน พิษทักษิณ, หน้า 161-166. ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : Openbooks.
ประภาส ปิ่นตบแต่ง. 2547. "SML ของท่านประธานบริษัทประเทศไทย", จากชายขอบ.
a day weekly. 11(30 กรกฎาคม-5สิงหาคม), 22-23.ประเวศ วะสี. 2547. "รัฐบาลทักษิณกับความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์" ใน รู้ทันทักษิณ, หน้า 187. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : ฃอคิดด้วยฅน.
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. 2547. "ทักษิณนิยม(อีกที) Thaksinism as Hegemonic Project(again)", ใน
พิษทักษิณ, หน้า 182,196. ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : Openbooks.ลิขิต ธีรเวคิน. 2546. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิบูลย์ เข็มเฉลิม. 2547. "ภาคเกษตรกรรมไทยภายใต้รัฐบาลทักษิณ", ใน พิษทักษิณ, หน้า 53. ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : Openbooks.
สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์. 2547. "การเมืองเงินสดเอสเอ็มแอล", คลื่นสังคม. เนชั่นสุดสัปดาห์. 634(26 กรกฎาคม 2547), 20.
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2546. ประชาสังคม ประสบการณ์จากการอ่านและสอนที่จอห์นส์ ฮอปกิ้นส์. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : ทิปปิ้ง พอยท์.
Macey, David. 2001. The Penguin Dictionary of Critical Theory. London : Penguin Books.
http://www.marxists.org/thai/ เว็บไซต์มาร์กซิสต์ไทย.
http://midnightuniv.tumrai.com/ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน.
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา
2 I สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คนที่เอื้ออาทรควรเป็นชาวบ้านมิใช่รัฐ ชาวบ้านควรเป็นผู้เอื้ออาทรให้กับผู้ที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อบ้านเมือง ชาวบ้านควรเป็นผู้ให้ มิใช่นักการเมืองเป็นผู้เอื้ออาทรชาวบ้าน และนอกจากนั้นแล้วเรื่องการเอื้ออาทร เป็นการแสดงเหมือนกับว่ารัฐ หรือนักการเมืองเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทั้งที่จริงแล้วประชาชนต่างหากที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่กลับต้องได้รับการเอื้ออาทรจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่อย่างใด
ธีรยุทธ บุญมี ให้ความเห็นว่า โครงการเอื้ออาทรนั้นเป็นการอุปถัมภ์ทางนโยบาย(Policy Patronage) เป็นการผูกจิตใจชาวบ้านทั้งหมดเข้ากับภาคการเมือง และขณะเดียวกันก็ได้ทำการกีดกันผู้อื่นที่มิใช่รัฐออกไปจากพื้นที่สาธารณะ อันเป็นการสวนทางกับแนวทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง และแท้จริงแล้ว ธีรยุทธนั้นเห็นว่า นโยบายประชานิยมนั้น แก่นแท้ของมันก็คือ ประชามาร์เก็ตติ้ง ที่ส่งผลเสียด้านศีลธรรม บริโภคนิยม การขาดประสิทธิภาพและคุณภาพของประชาชน กล่าวคือเป็นการเมืองที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้าช่วย ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในสายตาของประชาชนนั่นเอง โครงการเอื้ออาทรของรัฐบาลนั้นเป็นนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะขายตรง ไม่ผ่านคนกลาง เป็นการต่อสายตรงสู่ชาวบ้าน