บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 447 หัวเรื่อง
การเมืองเรื่องของไก่"ไข้หวัดนก"
ชนิดา จรรยาเพศ และ
อิซาเบล เดลฟอร์ช : เขียน
วิภาพันธ์ ก่อเกียรติขจร : แปล
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การเมืองเรื่องไก่ที่ต้องจดจำ
การเมืองเรื่องไข้หวัดนกในประเทศไทย
ชนิดา
จรรยาเพศ และ อิซาเบล เดลฟอร์ช
โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
วิภาพันธ์
ก่อเกียรติขจร : แปล
แปลจากบทความเรื่อง "The politics of bird flu in Thailand" เดือนเมษายน
2547
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4)
ความทะเยอทะยานของประเทศไทยที่จะเป็น "ครัวของโลก" ต้องชะงักงันเนื่องจากประสบปัญหาหนักในด้านการประชาสัมพันธ์ เพราะทันทีที่รัฐบาลเปิดตัวปีอาหารปลอดภัย 2547 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพและชื่อเสียงของผลิตผลของไทย เนื้อไก่มากกว่า 20,000 ตันที่ส่งออกไป ถูกตีกลับจากญี่ปุ่น ยุโรปและเกาหลีใต้
ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ ที่ต้องหัวหมุนกับสิ่งที่องค์การอนามัยโลกเรียกว่าการระบาดของไข้หวัดนกซึ่งลุกลามดังไฟป่าไปทั่วเอเชียอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การแพร่ระบาดของโรคซึ่งน่าจะมีต้นตอมาจากจีนเมื่อปลายปี 2546 (ดับเบิลยูทีโอระบุโรคไข้หวัดนกเริ่มขึ้นในเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม "New Scientist" กล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญได้บอกว่าการแพร่ระบาดน่าจะเกิดขึ้นในจีน 2-3 เดือนหลังจากนั้น ) มีผลทำให้สัตว์ปีกในเกาหลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา และปากีสถาน ตายไปมากกว่า 100 ล้านตัว
ทว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกกังวลยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เชื้อไวรัสนี้ได้แพร่ระบาดไปติดคนเข้าด้วย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า จนถึงกลางเดือนมีนาคม พบคนที่ติดเชื้อในประเทศไทยและเวียตนาม 34 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 23 คน เป็นคนไทย 12 คน คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่สัมผัสกับสัตว์ที่เจ็บป่วยโดยตรง
และแม้ความกลัวว่าไวรัสจะแปลงพันธุ์ แล้วทำให้ติดต่อจากคนสู่คนจะยังไม่เกิดขึ้น แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังกังวลอย่างมาก และเตือนว่าการแพร่ระบาดที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลกนี้ อาจจะร้ายแรงถึงกับคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนล้าน ๆ คนได้
ไข้หวัดนก วิกฤตระดับชาติ
ในประเทศไทย ไข้หวัดนกกลายเป็นวิกฤตระดับชาติอย่างรวดเร็ว เหตุผลประการแรกก็คือ
ธุรกิจไก่เป็นธุรกิจใหญ่ยิ่ง ในปี 2546 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกมากที่สุดเป็นอันดับ
4 ของโลก โดยขายในต่างประเทศได้ 540,000 ตันและมีรายได้ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ร้อยละ 90 ของไก่ที่ผลิตได้ในประเทศนำส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น (ทัศนะของสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย)
การเลี้ยงไก่ การผลิตอาหารสัตว์ และการแปรรูปไก่ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญถึงขนาดว่าความเสียหายจากไข้หวัดนกในอุตสาหกรรมนี้ ประมาณว่ากว่า 100,000 ล้านบาท (2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตรีพล จอจิต นักการเมืองฝ่ายค้านกล่าวว่า มีครอบครัวเกษตรกร 670,000 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากไข้ หวัดนก (บางกอกโพสต์ 6 กุมภาพันธ์ 2547)
ไม่เพียงเท่านั้น หากโรคระบาดจะขยายผลออกไปเกินกว่าไก่และเป็ด ส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นเพราะผู้นำตลาดของอุตสาหกรรมนี้ เป็นจักรวรรดิธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยอยู่ด้วย นั่นคือ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่จ้างคนงาน 100,000 คนใน 20 ประเทศทั่วโลก มีธุรกิจหลักคือการผลิตอาหาร แต่มีกิจการที่ครอบคลุมตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงการโทรคมนาคม ตั้งแต่อาหารสัตว์จนถึงธุรกิจแฟรนไชต์ร้านค้าปลีก เซเว่น อีเลเว่น
ซีพีเป็นผู้ส่งออกสัตว์ปีกหมายเลขหนึ่งในเอเชีย และในหลายกรณีเป็นผู้ควบคุมห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ตั้งแต่อาหารสัตว์จนถึงการขายปลีกเนื้อไก่แปรรูป อาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง เป็นส่วนที่ทำรายได้มากที่สุดของธุรกิจครบวงจรตามแนวดิ่งนี้ (สัมภาษณ์เอนก ศิลปพันธ์ รองประธานกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรของซีพี 20 มิถุนายน 2546)
วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย มีทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า "ธุรกิจไก่ทำให้เจริญโภคภัณฑ์เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในเมืองไทย ในช่วงทศวรรษ 1970 บริษัทได้เข้าสู่ตลาดด้วยการเสนอสายพันธุ์ใหม่ และระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาที่ได้แรงบันดาลใจจากหุ้นส่วนในสหรัฐ ฯ คือ อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) มีผลทำให้ไก่กลายเป็นเนื้อที่ถูกที่สุดในตลาด ทำให้นิสัยการบริโภคของประชาชนเปลี่ยนไป และการเลี้ยงไก่ตามบ้านก็หายไปหมด" (สัมภาษณ์ที่กรุงเทพ ฯ 19 มิถุนายน 2546)
แม้ว่ากิจการไก่จะทำรายได้ให้กลุ่มซีพีเพียงร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งหมด แต่ไข้หวัดนกกระทบเศรษฐกิจโดยรวมของจักรวรรดิซีพี หลังจากวันที่รัฐบาลไทยยอมรับอย่างเป็นทางการว่า มีการระบาดของไข้หวัดนก ราคาหุ้นของซีพีดิ่งลงร้อยละ 12.5 และดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ดิ่งลงด้วย ในประเทศไทย เมื่อใดซีพีจาม ชุมชนธุรกิจทั้งหมดก็ติดหวัดไปตามกัน ในกรณีนี้คือติดไข้หวัดนก
ไข้หวัดกลายเป็นวิกฤตการเมือง
ที่กว้างไกลกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจก็คือ ไข้หวัดนกได้สั่นคลอนประเทศทั้งประเทศ
เพราะได้พัฒนาไปเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองเป็นเวลา 1 เดือน นายกรัฐมนตรีทักษิณ
ชินวัตร ซึ่งเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศด้วยนั้น จัดการเรื่องนี้แบบไม่โปร่งใสมาตั้งแต่ต้น
และออกหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมไก่ระดับชาติอย่างโจ๋งครึ่ม จนผู้บริโภคไทยเริ่มรู้สึกว่าตัวเองถูกหลอก
พวกเขาไม่เพียงแต่จะลังเลไม่อยากจะกินไก่ไทยเท่านั้น แต่ยังเริ่มเคลือบแคลงในสิ่งที่นายกทักษิณพูดด้วย
แม้แต่หุ้นส่วนทางการค้าของไทยที่สำคัญบางประเทศ ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น
ก็สูญเสียความมั่นใจไปด้วยเช่นกัน
เรื่องราวการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทยเผยให้เห็นว่า ธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะซีพี สามารถมีอิทธิพลต่อผู้นำทางการเมือง ขนาดที่รัฐบาลต้องออกโรงปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมส่งออก ก่อนการปกป้องสิทธิผู้บริโภค และสิทธิของผู้ผลิต
การจัดการกับไข้หวัดนกของรัฐบาลเป็นนิทานเรื่องยาวเกี่ยวกับการปกปิด ความไร้สามารถ การโป้ปด และการตัดสินใจที่น่าตั้งคำถามอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้ากว่าจะยอมรับว่าเกิดไข้หวัดนกระบาด ทั้งในสัตว์และมนุษย์ มาตรการที่เลือกใช้เพื่อยุติการแพร่ระบาด และที่สะดุดตาที่สุดก็คือ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างมโหฬารเพื่อโน้มน้าวให้คนไทยเชื่อว่า การกินไก่เป็นการแสดงออกซึ่งความรักชาติ
ข้อกล่าวหาว่าปกปิดข่าว
หลังจากการปฏิเสธต่างๆนาๆ จนถูกกล่าวหาว่าปกปิดข่าวเรื่องไข้หวัดนกอยู่เป็นเวลา
2 เดือน ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 รัฐบาลก็ยอมรับว่าเกิดโรคนี้ขึ้นจริงในประเทศ
เมื่อองค์กรประชาสังคม และวุฒิสมาชิกฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยความจริง
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากหลายแหล่งยืนยันว่า ทั้งอุตสาหกรรมไก่และรัฐบาลรู้ว่าโรคระบาดนี้กำลังลุกลามอยู่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
2546 แล้ว
สัตวแพทย์คนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เขาได้พบไวรัสเอชห้าเอ็นหนึ่ง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นตัวบ่งชี้โรคไข้หวัดนก ในซากไก่ที่นครสวรรค์เมื่อเดือนพฤศจิกายน และได้แจ้งให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยุคล ลิ้มแหลมทอง ทราบเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนก แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ (บางกอกโพสต์ 30 มกราคม 2547)
ดิษทัต โรจนลักษณ์ เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ที่เขตหนองจอก ใกล้กรุงเทพอธิบายว่า ไก่ของเขาเริ่มตายในเดือนธันวาคม เมื่อนำซากไก่ไปตรวจที่กรมปศุสัตว์ก็ได้รับคำตอบว่าไก่ตาย "โดยไม่รู้สาเหตุทางการแพทย์" แต่เนื่องจากไก่ตายไปถึง 350 ตัวในช่วง 2-3 วันทำให้เขารู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ห้องทดลองไม่ได้บอกความจริง (สัมภาษณ์ 19 มีนาคม 2547)
คนงานหญิงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของโรงงานเซนทาโก้ (ใกล้รังสิต) ในกรุงเทพฯ อธิบายว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงวันที่ 23 มกราคม โรงงานขอให้พวกเธอทำงานล่วงเวลามากขึ้นกว่าปกติ "ก่อนเดือนพฤศจิกายนพวกเราเชือดไก่วันละ 90,000 ตัว แต่ตั้งแต่พฤศจิกายน ถึง 23 มกราคม พวกเราต้องทำประมาณ 130,000 ตัวทุกวัน" พวกเธอเห็นไก่ที่ป่วยจำนวนมากถูกส่งมาที่โรงงาน และได้รับคำสั่งให้แปรรูปไก่เหล่านั้นแม้ว่าไก่จะเป็นโรคตายก็ตาม
"พวกเราไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร แต่เราเข้าใจได้ว่าฝ่ายบริหารเร่งรัดให้แปรรูปไก่ก่อนที่จะมีสัตวแพทย์มาตรวจ พวกเราต้องแปรรูปไก่ประมาณ 60,000 หรือ 70,000 ตัวต่อวัน แต่ตอนนี้ไม่มีไก่ให้ทำมากขนาดนั้นอีกแล้ว" (สัมภาษณ์ผู้นำสหภาพของโรงงาน 20 มีนาคม 2547)
เจ้าหน้าที่รัฐบางคนและเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของซีพียอมรับว่า โรงงานต่าง ๆ เริ่มใช้มาตรการพิเศษมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่บอกว่าพวกเขาเชื่อว่า มันเป็นการระบาดของอหิวาตกโรค ทว่าผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไก่ที่ติดเชื้ออหิวาตกโรค จะมีอาการแตกต่างจากไก่ที่เป็นไข้หวัดนก
ปฏิกิริยาหนึ่งที่แรงที่สุดต่อการปกปิดเรื่องไข้หวัดนกของรัฐบาลมาจากเดวิด ไบรน์ (David Bryne) กรรมาธิการด้านสุขภาพของสหภาพยุโรป ซึ่งมาเยือนประเทศไทยในเดือนมกราคม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ให้ความมั่นใจกับเขาว่า ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้หวัดนกแน่นอน เพียงก่อนหน้าที่จะประกาศว่าพบกรณีไข้หวัดนกเพียงไม่กี่วัน เดวิด ไบรน์ รู้สึกว่าไทย "ไม่ให้เกียรติ" เขา และยิ่งอารมณ์เสียมากขึ้นเมื่อรู้ว่ารัฐบาลปกปิดเรื่องการระบาดของไข้หวัดนกเพราะกลัวประชาชนจะตื่นตระหนก (บางกอกโพสต์ 5 กุมภาพันธ์ 2547)
หนังสือพิมพ์"ผู้จัดการ"กล่าวหารัฐบาลว่า ปกปิดวิกฤตครั้งนี้เป็นความลับเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทค้าสัตว์ปีกรายใหญ่ ผู้จัดการรายงานว่า แทนที่จะกักกันบริเวณพื้นที่ที่มีการตรวจพบไข้หวัดนกเป็นครั้งแรก เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับเก็บเงินจากบริษัทค้าสัตว์ปีกของเอกชน และนำมาจ่ายให้แก่เกษตรกรที่มีไก่ติดเชื้อ (ตัวละ 40 บาท หรือประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เกษตรกรบอกว่าพวกเขาได้รับเงินค่าชดเชยเล็กน้อยนี้เพื่อแลกกับการปิดปากเงียบเสีย ภายหลังจากนี้ ในแผนส่งเสริมการเลี้ยงไก่รอบใหม่ ผู้นำของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกพยายามขายไก่ไข่ในราคาตัวละ 120 บาท (บางกอกโพสต์ 25 มีนาคม 2547)
การระบาดของโรคไข้หวัดนกในเอเชีย ทำให้ราคาของเนื้อไก่แช่แข็งในตลาดโลกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมสูงขึ้นจาก 1,600 ดอลลาร์เป็น 2,500 ดอลลาร์ต่อตัน ในทัศนะของผู้จัดการ นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมสำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทย ซึ่งในขณะนั้นยังถือว่าเป็นไก่ปลอดเชื้ออยู่ (ผู้จัดการ 2 กุมภาพันธ์ 2547)
เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเริ่มใช้มาตรการฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด ก็มีข่าวที่น่ากังวลใจอื่นๆ ปรากฏในหนังสือพิมพ์ตามมา ที่ใดที่มีการตรวจพบไข้หวัดนกก็จะมีการประกาศให้พื้นที่รอบฟาร์มเลี้ยงไก่เป็น "เขตสีแดง" และจัดการฆ่าทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในพื้นที่นั้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ปรากฏว่ามีเกษตรกรบางรายได้รายงานการตายของไก่ในฟาร์มของตน แต่กลับก็ไม่มีการประกาศให้พื้นที่ของเกษตรกรเหล่านั้นเป็นเขตสีแดง ทำให้เกษตรกรเหล่านั้นสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะต้องการปกป้องฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ที่เลี้ยงไก่แบบอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียง หรือไม่ก็ปกป้องเจ้าของไก่ชนราคาแพง (บางกอกโพสต์ 11 มีนาคม 2547)
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลกันว่า "เขตสีแดง" ถูกยกเลิกเร็วเกินไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีความมั่นใจว่าเชื้อโรคนี้ถูกกำจัดหมดไปแล้วหรือยัง องค์การอนามัยโลกกล่าวถึงการยกเลิกเขตกักกันของไทยว่าเป็นการกระทำ "ก่อนกำหนด" (บางกอกโพสต์ 11 กุมภาพันธ์ 2547)
ผู้สังเกตการณ์หลายคนสรุปว่าการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศจะมีผลเสียหายน้อยกว่านี้มาก หากมีการใช้มาตรการที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น
การกินไก่ : ปฏิบัติการรักชาติ
ในเดือนกุมภาพันธ์ การสนับสนุนอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของรัฐบาล กลายมาเป็นเรื่องของสาธารณประโยชน์
เมื่อนายกทักษิณเข้าร่วมเคลื่อนไหวรณรงค์ด้วยตนเอง เพื่อโน้มน้าวให้คนไทยกลับมากินอาหารไก่จานโปรดอีกครั้ง
ภาพของนายกทักษิณที่ปรากฏในสื่อมวลชนแทบจะไม่มีท่าอื่น นอกจากท่าที่กำลังแทะขาไก่ในปาก
หรือกำลังจะลงมือกินไก่ที่จัดไว้พูนจาน
เจ้าหน้าที่รัฐดูตั้งใจที่จะฟื้นความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อไก่ไทยและฟื้นการส่งออกไก่เป็นหลัก มีการติดบอร์ดโฆษณาขนาดยักษ์ที่มีข้อความที่เขียนด้วยลายมือพร้อมลายเซ็นของผู้ว่าฯ กทม. ว่า "ถ้าคนไทยไม่กินไก่ไทย แล้วใครจะซื้อไก่เรา"
การรณรงค์ขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วง "เทศกาลกินไก่" ซึ่งจัดโดยรัฐบาลในกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยมีซีพีและยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ ร่วมแจกจ่ายอาหารจานไก่นับพัน ๆ ฟรี รวมทั้งมีการแข่งขันกินไก่ มีดาราและนักการเมืองมาร่วมแสดงความกระตือรือร้นที่จะกินไก่ไทย
ทว่าการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อนี้กลับได้ผลเพียงน้อยนิด หลังจากฟังแต่ข่าวลือและขาดข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและการแพร่กระจายของโรคมาเป็นเวลาหลายเดือน ผู้บริโภคไทยยังคงหวาดระแวงต่อไป ร้านอาหารจำนวนมากต้องหยุดขายอาหารที่ทำด้วยไก่ และร้านอาหารจานด่วนที่เชี่ยวชาญเรื่องไก่ก็ร้างลูกค้า ลักขณา นาวิโรจน์ ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มเดอะมอลล์กล่าวว่าในช่วงหลายอาทิตย์หลังจากการระบาดของวิกฤตไข้หวัดนก ยอดขายไก่ตกลงถึงร้อยละ 50 ในขณะที่ยอดขายไข่ตกลงร้อยละ 70 (บางกอกโพสต์ 9 กุมภาพันธ์ 2547)
ครัวของโลกไม่ได้เลี้ยงดูทุกคน
ความรักชาติด้วยการกินไก่ที่รัฐบาลสนับสนุนมีความขัดแย้งในหลายประเด็น ตัวอย่างเช่น
รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนกินไก่ที่ร้านเคเอฟซี ซึ่งแสดงว่าไก่ที่นั่นคงจะปลอดภัย
เพราะผลิตโดยซีพี และผ่านการปรุงมาอย่างถูกต้อง ที่น่าแปลกก็คือ ในยุคทุนนิยมครอบโลก
ร้านอาหารจานด่วนเคเอฟซีของสหรัฐ ฯ กลายเป็นสัญลักษณ์ของไทยไปแล้ว
แต่ความขัดแย้งเหล่านี้มีประเด็นที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น การจัดการกับวิกฤตไข้หวัดนกของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐมองผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมส่งออกว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของประเทศ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับไม่ได้รับประโยชน์จากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมากนี้แต่อย่างใด
ประการแรก เป็นที่ชัดเจนว่าสุขภาพของคนงานและผู้บริโภคมาทีหลังความมั่งคั่งของผู้ส่งออก ระดับของความพยายามอย่างกระตือรือร้นของรัฐบาล ที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อไก่ไทยเทียบกันไม่ได้เลย กับความพยายามที่จะเตือนผู้บริโภคและประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงถึงภัยของการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก แม้แต่องค์การอนามัยโลกยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงว่าไม่ได้ป้องกันสุขภาพของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ สัตวแพทย์ และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าทำลายสัตว์ปีกในพื้นที่ที่มีไข้หวัดนกอย่างเพียงพอ (บางกอกโพสต์ 4 กุมภาพันธ์ 2547)
กุลนิภา พันธน ประธานสหภาพแรงงาน ของโรงงานแปรรูปเซนทาโก้ที่รังสิตกล่าวว่า "เมื่อรัฐบาลประกาศเรื่องไข้หวัดนกในโทรทัศน์ พวกเราขอให้ฝ่ายบริหารเพิ่มความปลอดภัยให้ ขอให้มีการหาเครื่องมือป้องกัน ซึ่งเขาก็จัดให้แต่ไม่เพียงพอ พวกเราเสี่ยงกว่าเกษตรกรเพราะเราไม่มีทางเลือก พวกเราต้องสัมผัสไก่ทุกวัน ต้องแตะต้องเลือดและขนของมัน" คนงานต้องเชือดและแปรรูปไก่ที่เป็นโรคนานมากกว่า 2 เดือนโดยไม่มีการป้องกันพิเศษใด ๆ
เกษตรกรรายย่อยเป็นคนชุดแรกที่ได้รับผลกระทบจากไข้หวัดนก เหยื่อของไข้หวัดนกส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นผู้เลี้ยงไก่ในชนบท เกษตรกรเลี้ยงไก่รายย่อยบ่นว่า พวกเขาไม่ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับโรคและวิธีการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากโรคนี้ ข้อถกเถียงเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแม่ของเด็กชายอายุ 6 ขวบซึ่งตายเพราะโรคนี้ออกปากเชื้อเชิญด้วยความขมขื่น ให้นายกทักษิณและคณะรัฐมนตรีมากินไก่ในหมู่บ้านของเธอ
เธอกล่าวว่าเธอจะจ่ายเงิน 10 ล้านบาทให้ใครก็ตามที่กินไก่แล้วตาย ซึ่งเป็นการเลียนแบบคำสัญญาของรัฐบาลที่ให้ไว้ในระหว่างการรณรงค์ ในทำนองเดียวกัน องค์กรผู้บริโภคก็ตำหนิรัฐบาลว่า เผยแพร่ข้อมูลสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ยังคงอยู่ในระดับอันตรายอย่างยิ่ง (บางกอกโพสต์ 3 กุมภาพันธ์ 2547)
เกษตรส่งออก : ผลิตมากขึ้นแต่ผลตอบแทนลดลง
มีความเชื่อกันอย่างมั่นคงว่า การส่งออกมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม
ความเชื่อนี้ไม่ได้เป็นความเชื่อของไทยโดยเฉพาะ แต่เป็นเสาหลักของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่ครอบงำเศรษฐกิจมาเป็นเวลา
2 ทศวรรษแล้ว
ประสบการณ์ของไทยแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการส่งออก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกลายเป็นประเทศส่งออกอาหารที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และจากข้อมูลขององค์การการค้าโลก ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลกในปี 2544 แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตอาหารกลับมีรายได้ลดลง หนี้สินพอกพูนขึ้น และสิ่งแวดล้อมถูกทำลายเนื่องจากสารเคมีและจากการถูกใช้งานเกินขนาด
ในขณะที่มูลค่าการส่งออกอาหารระหว่างปี 2538 - 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 หนี้สินต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ย ก็เพิ่มขึ้นด้วยถึงร้อยละ 51 (จาก 24,672 บาท หรือ 623 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ เป็น 37,231 บาท หรือ 941 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ) และจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3,379,163 ครัวเรือน (เครือข่ายเกษตรทางเลือก, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, ราฟ่า กรุงเทพ ฯ สิงหาคม 2546)
เกษตรกรของไทยกำลังผลิตมากขึ้น ในขณะที่ได้รับผลตอบแทนน้อยลง แทนที่เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานจะได้ประโยชน์ การค้าเสรีภาคเกษตรกลับเป็นประโยชน์ต่อพ่อค้าส่งออก นายหน้า และยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเกษตร
กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์มีความทะเยอทะยานที่จะเป็น
"ครัวของโลก" ซึ่งรัฐบาลก็ได้รวบเอามาเป็นพันธกิจของคนทั้งประเทศไปแล้ว
ทว่าวิกฤตไข้หวัดนก ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เป้าหมายเชิงพาณิชย์นี้จะนำไปสู่ความพร่ามัวระหว่างผลประโยชน์ของชาติ
กับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งเป็นอันตรายยิ่ง
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา
2 I สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เกษตรกรของไทยกำลังผลิตมากขึ้น ในขณะที่ได้รับผลตอบแทนน้อยลง กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์มีความทะเยอทะยานที่จะเป็น "ครัวของโลก" ซึ่งรัฐบาลก็ได้รวบเอามาเป็นพันธกิจของคนทั้งประเทศไปแล้ว ทว่าวิกฤตไข้หวัดนก ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เป้าหมายเชิงพาณิชย์นี้จะนำไปสู่ความพร่ามัวระหว่างผลประโยชน์ของชาติ กับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งเป็นอันตรายยิ่ง