บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 448 หัวเรื่อง
บทเรียนจากเกษตรกรคิวบา
ปีเตอร์ รอสเส็ต (พูด)
คณะทำงานวาระทางสังคม : แปล
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทเรียนจากคิวบา
เกษตรกรรมคิวบา..ประเทศที่ถูกบังคับให้พึ่งตนเอง
ปีเตอร์
รอสเส็ต
คณะทำงานวาระทางสังคม : แปล
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำเสนอ
เรียบเรียงจากการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างปีเตอร์
รอสเส็ต ร่วมกับเกษตรกรและนักพัฒนาภาคอีสาน
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 ที่จังหวัดขอนแก่น
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
9 หน้ากระดาษ A4)
แนะนำวิทยากร
ผมเรียนด้านนิเวศเกษตร ใช้เวลาหลายปีทำงานวิจัยเรื่องเกษตรทางเลือก การจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ
โดยเฉพาะการควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ เคยทำงานกับกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ
ในการควบคุมวัชพืชโดยวิธีทางชีวภาพ นอกจากนี้ผมยังทำงานในอเมริกากลางเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ
และเกษตรทางเลือก เคยทำงานด้านการเกษตรของนิคารากัว ในช่วงปฎิวัติซานดินิสต้า
ในทศวรรษ 1980 หรือประมาณ พ.ศ. 2523-2532
จากการทำงานเป็นนักวิชาการ นักเทคนิคด้านเกษตรกรรมทางเลือกมาหลายปีพบว่า ขณะที่เกษตรกรมีเทคนิคมากขึ้น มีเทคโนโลยีสีเขียวเยอะขึ้นแต่ก็ยังยากจน ผมคิดว่าปัญหาสำคัญของเกษตรกรรายย่อยเป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จึงเปลี่ยนจากงานที่ทำในเชิงเทคนิค มาทำงานในองค์กรฟู๊ดเฟิสท์ (Food First) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า"อาหารมาก่อน" เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจและการพัฒนาเกษตรและภาคชนบท เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ รวมทั้งทำงานกับกลุ่มขบวนการเพื่อสังคม กลุ่มซาปาติสต้า ที่เชียปาส ประเทศเม็กซิโก
ในเรื่องนิเวศเกษตร ทำงานในบราซิลกับขบวนการไร้ที่ดินที่เรียกว่า เอ็มเอสที (MST) ซึ่งพยายามจะเปลี่ยนระบบการผลิตของตนเองให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ นอกจากนี้ ผมยังเป็นที่ปรึกษาขององค์กรชาวนาโลก "เวียกัมเปสินา" ที่เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก
ขณะนี้ผมทำงานกับองค์กรชื่อ ศูนย์ที่ปรึกษาทวีปอเมริกา (Global Alternatives, Center for the Study of the Americas) ทำงานอย่างอิสระทั้งงานการเมืองและงานวิจัย
ประวัติศาสตร์ของคิวบา
ก่อนปี พ.ศ. 2443 จนถึงปัจจุบัน
คิวบาเป็นเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่ง อยู่ใกล้กับประเทศสหรัฐอเมริกา ห่างกันประมาณ
200 กิโลเมตร ทุกคนรู้ว่าคิวบากับสหรัฐมีความสัมพันธ์แบบไม่เป็นมิตรต่อกัน เพราะมีการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในคิวบา
รัฐบาลสหรัฐฯ มีกฎหมายออกมาว่า การเดินทางไปคิวบาถือว่าผิดกฎหมาย จะต้องถูกปรับพันดอลลาร์
ถูกจับเข้าคุก 10 ปี แม้จะบอกกันว่าสหรัฐอเมริกาเป็นโลกเสรี แต่ก็ไม่เสรีพอที่จะเดินทางไปคิวบา
แต่เราก็ยังไปกันอยู่ดี
ก่อนปี พ.ศ. 2443 คิวบาเป็นอาณานิคมของสเปน พื้นที่ส่วนใหญ่ของคิวบาเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย ปี พ.ศ. 2442 สหรัฐฯ รบกับสเปน แล้วเข้าไปยึดครองคิวบา คิวบาจึงตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐฯ ไปอย่างกลาย ๆ เหมือนอิรัก สหรัฐฯ เข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญให้คิวบา เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด ๆ ที่ออกมาก็ตาม สหรัฐฯ สามารถคัดค้านได้ สหรัฐฯ ได้เข้าไปช่วยเผด็จการบาติสต้า ซึ่งปกครองอย่างโหดเหี้ยมมาก และได้เป็นรัฐบาลอยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน
ในช่วงปี พ.ศ. 2502 คิวบาทำการปฏิวัติขับไล่บาติสต้า อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ถูกขับออกไป ฟีเดล คาสโตร ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ปี พ.ศ 2502-2533 คิวบาอยู่ในกลุ่มประเทศสังคมนิยม ส่งผลกระทบต่อคิวบาทั้งในแง่บวกและลบ ในแง่บวกคือมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป ซึ่งดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในประเทศละตินอเมริกาที่มีสัมพันธ์ทางการค้ากับกลุ่มประเทศทุนนิยม ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าคุณตั้งคำถามว่า คิวบาจะต้องส่งอ้อยกี่ตันถึงจะได้รถแทรกเตอร์หนึ่งคัน คิวบาซึ่งมีสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มสังคมนิยม ก็จะสามารถซื้อแทรกเตอร์ได้ถูกกว่าเม็กซิโกที่ค้ากับสหรัฐอเมริกา คือเมื่อเปรียบเทียบราคาแล้วซื้อได้ถูกกว่า หมายความว่าคิวบามีดุลการค้าดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในละติน อเมริกาด้วยกัน ทำให้คิวบาสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้มากกว่า
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรคิวบามาตั้งแต่ปี 2502 รถส่วนใหญ่ก็เป็นรถก่อนปี 2502 ส่วนที่เหลือเป็นรถอเมริกันก่อนการปฏิวัติที่ยังตกค้างอยู่ แต่ว่าดูแลอย่างดีแม้จะไม่มีอะไหล่ ซึ่งต่อมาคิวบาก็สามารถผลิตอะไหล่ขึ้นได้เอง
นอกจากนี้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบาก็ทุ่มเทยึดมั่นในเรื่องความยุติธรรมทางสังคม ก่อนปี 2502 คิวบามีความเหลื่อมล้ำสูง และมีปัญหาความยากจนมาก แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2513 เขาสามารถขจัดความยากจนให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง แม้คิวบาจะเป็นประเทศสังคมนิยม แต่ก็มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ไม่เลวร้ายกับประเทศทุนนิยม เป็นประเทศส่งสินค้าการเกษตรเป็นวัตถุดิบออกไปในประเทศอื่น ๆ แล้วก็นำเข้าสินค้าจากภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งอาหารของประเทศอื่นเข้ามา ส่วนใหญ่แล้ว คิวบาส่งออกสินค้าภาคเกษตร เช่น อ้อย ส้ม กุ้ง กาแฟ กล้วย ไปขายที่รัสเซีย
เพราะฉะนั้น พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก จึงจัดได้ว่าคิวบาอยู่ในประเทศโลกที่สาม หรือประเทศยากจน วิถีการเกษตรใช้แนวการปฏิวัติเขียว ซึ่งมีแนวทางหลักคือการใช้เครื่องจักรกล ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืชแบบเคมี เครื่องจักรในการทำชลประทานปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสองอย่าง
หนึ่ง คือการพึ่งพิง การนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร มาใช้ในการผลิตการเกษตร
สอง คือปัญหาเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2502 ถึง 2523 ผลผลิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนถึงปี 2523 (ภายหลังปฏิวัติเขียว 20 ปี) ผลผลิตก็ตกต่ำลง เนื่องจากดินเกาะตัวติดกันแน่นมาก เป็นผลจากการใช้เครื่องจักรกลที่มีน้ำหนักมาก ดินเค็มมากขึ้นจากการใช้ระบบชลประทานมาก มีปัญหาพืชเพราะแมลงสร้างภูมิขึ้นมาต่อต้านยาได้
ปี 2523 เกษตรกรและนักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักถึงปัญหาจากการปฏิวัติเขียว ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาวจึงเข้าร่วมขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเกษตรทางเลือก และการใช้การควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี ในช่วงนั้นการวิจัยส่วนใหญ่ทำในห้องแลปและได้มีการพัฒนามากขึ้น
ก่อนปี 2523 ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเอกชน เกษตรกรส่วนใหญ่จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินเป็นแรงงานภาคเกษตรมากกว่า มี 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นเกษตรกร นอกนั้นเป็นแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ
ช่วงปฏิวัติ รัฐเข้าไปยึดที่ดินขนาดใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1980 (ระหว่างปี 2523-2532) ที่ดิน ที่ใช้เพื่อการเกษตร 80 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นที่ดินของรัฐ รัฐจัดการเป็นวิสาหกิจของรัฐแปลงใหญ่ ใช้วิธีการแบบมีลูกจ้างเหมือนการใช้แรงงานเกษตรในแปลงขนาดใหญ่ของทุนนิยม ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็เป็นของเกษตรกรรายย่อย งยังคงทำเกษตรแบบดั้งเดิม และให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย ชีวิตคนงานในวิสาหกิจดีขึ้น แต่เป็นคนงาน ไม่ใช่เกษตรกร เน้นการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตสูงและเลี้ยงสัตว์พันธุ์ผสม เช่น วัวจากเยอรมันตะวันออก ไม่กินหญ้าพื้นเมือง อยู่ได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ
พ.ศ.2532 กลุ่มสังคมนิยมโซเวียตพัง คิวบาสูญเสียความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ไป ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับคิวบาอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยสหรัฐฯ ไปกดดันประเทศทุนนิยมต่าง ๆ ไม่ให้ทำการค้ากับคิวบา สถานการณ์คล้ายคลึงกับอิรักก่อนที่จะมีสงครามเกิดขึ้น
ในช่วงนั้นคิวบาต้องนำเข้าอาหารประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีปัญหากับกลุ่มสังคมนิยมคิวบาต้องสูญเสียสิ่งที่นำเข้าไป 50 เปอร์เซ็นต์ของภาคเกษตร อีก 80 เปอร์เซ็นต์พึ่งพาการนำเข้า เช่น แทรกเตอร์ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ยาง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาไม่มีการนำเข้าอะไหล่ต่าง ๆ ไม่มีน้ำมัน แทรกเตอร์ทำงานไม่ได้จึงต้องหยุด ไม่มียาปราบศัตรูพืช ไม่มีปุ๋ยเคมี ไม่มีอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าจากเยอรมันตะวันออกมาเลี้ยงวัว ไม่มียาปฏิชีวนะ ไม่มีฮอร์โมนเลี้ยงวัว มีวัว 60 เปอร์เซ็นต์ตายเพราะว่ากินหญ้าที่คิวบาไม่ได้ ทั้งประเทศเผชิญวิกฤตเรื่องอาหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538 ประชากรของคิวบากินอาหารน้อยลงกว่าที่เคยกินมาก่อน หลายคนผอมลงจนตัวเล็ก
ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่เกิดวิกฤตขึ้นมา เพราะสังคมแตกแยกกับรัฐบาล เมื่อมีอาหารน้อยพวกข้าราชการทั้งหลายที่ยังรวยก็ยังมีอาหารกิน ขณะที่คนยากจนต้องอดอยากจึงทำให้เกิดการลุกฮือขึ้น ความรุนแรงต่าง ๆ ในสังคมมักเกิดเมื่อตอนวิกฤตอาหาร เช่น ในโซมาเรีย และในอัฟริกา แต่สภาพนี้ไม่เกิดขึ้นในคิวบาเพราะว่ารัฐบาลได้รักษานโยบายให้ทุกคนได้เข้าถึงสิ่งที่ยังพอเหลืออยู่ได้อย่างเสมอภาค
ในช่วงวิกฤติตอนนั้นผมไปคิวบาหลายหน รถไม่มีน้ำมันใช้ ต้องขี่จักรยาน ผมเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรซึ่งผอมมากต้องขี่จักรยานไปทำงาน หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ผอมมากเช่นกัน ทุกประเทศมีคอรัปชั่น คิวบาก็มีบ้างแต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้วยังน้อยมาก ซึ่งทำให้ประชาชนของเขาไม่โมโหในช่วงเกิดวิกฤติ เพราะทุกคนต่างเผชิญวิกฤตเหมือนกัน แม้กระทั่งพวกข้าราชการคนใหญ่คนโตก็เจอปัญหาเหมือนกัน ประธานาธิบดีคิวบาก็ผอมเช่นกัน
ในช่วงปี 2532 ภาคอาหารทั้งหมดพังลง มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในเมือง เพราะไม่มีอาหารกิน แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรทั้งหลาย ตอนนั้นเริ่มมีตลาดมืดซึ่งขายอาหารราคาสูงมาก ในช่วงวิกฤตอาหาร เกษตรกรทำเงินได้มาก โดยทั่วไปรัฐบาลคิวบามีนโยบายที่จะแจกตั๋วให้สำหรับถือเป็นการปันอาหารกันในแต่ละชุมชน
ซอกมุมจะมีร้านอาหารของรัฐที่คุณไปเอาอาหารพื้นฐาน เช่น ข้าว น้ำมัน นม ถั่ว ในราคาที่ถูกได้ ราคาที่คิดจากผู้ซื้อน้อยมาก แทบจะแจกฟรี ก่อนที่จะเกิดวิกฤตอาหาร ประชาชนจะได้รับคูปองไปปันอาหารอยู่แล้วในระดับที่อยู่ได้ใน 1 เดือน แต่ช่วงที่เกิดวิกฤต ร้านที่ให้คนปันอาหารมากินมีอาหารไม่พอ เพราะฉะนั้นประชาชนจะได้อาหารที่ปันประมาณ 2 อาทิตย์ จึงทำให้เกิดตลาดมืดขึ้น
ก่อนปี 2533 ระบบเศรษฐกิจการค้าจะต้องผ่านรัฐ ไม่มีตลาดเกษตรกร ไม่มีตลาดเอกชน แต่เมื่อเกิดวิกฤตอาหารขึ้น รัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบายปล่อยให้มีตลาดของเกษตรกร เพื่อจัดการไม่ให้มีตลาดมืด ด้วยการทำให้มันถูกกฎหมาย เมื่อเกษตรกรขายพืชผลของตัวเองได้ราคาดี รัฐก็ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตมากขึ้นอีก ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เกษตรกร 20 เปอร์เซ็นต์ที่ทำเกษตรพื้นบ้าน ทำการผลิตเพิ่มเพราะได้ราคาดี และที่เขาผลิตได้ก็เพราะไม่ได้พึ่งพาปัจจัยภายนอก ยาฆ่าแมลง รถแทรกเตอร์ แต่ใช้เทคนิคพื้นบ้าน วิกฤติการนำเข้าอาหารจึงไม่ได้กระทบกับเกษตรกรเหล่านี้มากมายนัก
ขณะที่รัฐวิสาหกิจของรัฐที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมาก นักการเกษตรที่จบจากมหาวิทยาลัยไม่ใช่ตัวเกษตรกรเอง เขามาจากในเมืองแล้วเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยจนจบมาทำงานดูแลเกษตรแปลงใหญ่ ตัวเกษตรกรเองถึงแม้จะมาทำแบบปฏิวัติเขียวบ้าง แต่ก็ได้เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยเด็กจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ของตัวเอง เมื่อเกิดวิกฤตจึงปรับตัวได้ นำเอาระบบพื้นบ้านมาใช้ แต่ว่าผู้จัดการรัฐวิสาหกิจของรัฐมีภูมิหลังมาจากมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ภูมิหลังจากเกษตรกรจึงปรับตัวไม่ได้ พอไม่มีรถ สารเคมี น้ำมัน ไม่มีอะไหล่ วิสาหกิจของรัฐในภาคเกษตรจึงพังทลาย
ในช่วงวิกฤติ ผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผลผลิตของวิสาหกิจของรัฐล้มเหลว ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงตัดสินใจแบ่งแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงเล็กให้แก่เกษตรกรรายย่อย ทำเป็นสหกรณ์การเกษตร ปัจจุบัน 75 เปอร์เซ็นต์ของแปลงใหญ่ไม่มีแล้ว ถูกแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ ให้เกษตรกรรายย่อย ดูเหมือนประเทศไทยก็เช่นกัน ก่อนหันมาทำเกษตรแปลงใหญ่หรือเกษตรเชิงเดี่ยว ในช่วงวิกฤติที่จำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นก็พบว่า เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้พื้นที่ที่จำกัดได้ดีกว่า ในขณะที่วิสาหกิจของรัฐที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ใช้พื้นที่สิ้นเปลืองมาก
เกษตรกรรายย่อยใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วทำให้เกิดผลผลิตมากขึ้น ใช้วิธีการแบบพื้นบ้านไม่ใช้แทรกเตอร์ ไม่ใช้สิ่งที่นำเข้า สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีพื้นบ้านกับเกษตรทางเลือก มีการเปลี่ยนจากแทรกเตอร์มาใช้วัวแทน มีการสร้างเครือข่ายนักศึกษาขึ้น เพื่อฝึกอบรมให้นักศึกษาเรียนรู้วิธีการที่จะทำงานกับวัว มีการจ้างเกษตรกรที่ปลดเกษียณแล้วมาฝึกอบรมวิธีการใช้วัว
ตอนแรกนักการเกษตรมองว่าวิธีการแบบนี้ค่อนข้างล้าหลังมาก แต่ตอนนี้เขาเห็นแล้วว่า การใช้วัวดีกว่าการใช้แทรกเตอร์ ตัวอย่างเช่น การใช้แทรกเตอร์สามารถปลูกได้แค่สองครั้งต่อปีเท่านั้น แม้จะมีฝนมากพอที่จะปลูกได้สามครั้งต่อปี แต่ว่าบางช่วงมีโคลนเยอะรถแทรกเตอร์เข้าไปไม่ได้ จึงปลูกได้แค่สองครั้งต่อปี แต่ถ้าใช้วัวควายทำการเพาะปลูกได้สามครั้งต่อปี หมายความว่าในแปลงเดียวกัน ในปีหนึ่งถ้าใช้วัวจะสามารถได้ผลผลิตเพิ่มสูงกว่ารถแทรกเตอร์
และเขาก็พบว่าแทรกเตอร์ทำให้ดินจับตัวกันแน่น เขาจึงออกแบบไถและคราดที่ทำให้ดินแตกออกไม่เกาะกันแน่น ตัวคราดนี้จะลงไปใต้ดินเพื่อเขย่าดินให้แตกออกได้ เขาพบว่าการใช้คราดหรือไถแบบเทคนิคใหม่ รวมทั้งการใช้วัวช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้น
รัฐบาลเองก็มีสถาบันวิจัยเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยออกแบบเครื่องจักรกลสำหรับเก็บเกี่ยวรวมทั้งไถที่ใช้กับตัวแทรกเตอร์ แต่ตอนนี้วิศวกรสมัยใหม่ออกแบบไถสำหรับใช้กับวัวแทน ซึ่งน่าสนใจมาก มีการผลิตไถแบบอเนกประสงค์ เป็นการผสมผสานระหว่าง เทคโนโลยีสมัยใหม่กับความรู้พื้นบ้านในการใช้วัว
สำหรับเรื่องยาฆ่าแมลง คิวบาเคยใช้ยาปราบศัตรูพืชมาก ปี 2523 ลดการนำเข้าลงเพราะตระหนักถึงปัญหาของปฏิวัติเขียวต่อระบบนิเวศวิทยา ในช่วงที่เกิดวิกฤตอาหารก็ลดการนำเข้าลงไปอีก หันมาใช้แบบชีวภาพแทน เป็นช่วงที่ใช้การจัดการแบบชีววิธี
ผลจากการวิจัยของนักวิจัยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2523 มีการสร้างศูนย์การควบคุมศัตรูพืช ทำการคุมผลิตภัณฑ์แบบชีวภาพ ผลิตแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ไปต่อต้านศัตรูพืช ผลิตแมลงที่ไปกินศัตรูพืช ศูนย์นี้ตั้งอยู่ในสหกรณ์การเกษตร เป็นวิสาหกิจของสหกรณ์ กระทรวงเกษตรให้กู้เงินสร้างอาคาร และซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการฝึกอบรม
สมาชิกของสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นลูกของเกษตรกร โดยทั่วไปเจ้าของศูนย์จะอบรมให้เกษตรกรฟรี สำหรับรายได้ที่ได้มาก็จ่ายคืนเงินกู้ให้แก่รัฐบาล และจ่ายเป็นเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่สามารถทำกำไรได้อย่างดี ปัจจุบันมีศูนย์ทั้งสิ้น 227 ศูนย์ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ลักษณะดินในประเทศเขตร้อนจะมีฟอสฟอรัสมากแต่พืชไม่สามารถดูดเอาไปใช้ได้ การปฏิวัติเขียวจึงทำฟอสฟอรัสเขียวขึ้นโดยใช้ปุ๋ยเคมี แต่ส่วนใหญ่เป็นการสูญเปล่า พืชดูดได้นิดเดียว คิวบาสามารถค้นพบแบคทีเรียที่ดึงเอาฟอสฟอรัสออกมาจากดิน และทำให้พืชดึงเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เรียกว่า ฟอฟฟอรีน ศูนย์จึงผลิตแบคทีเรียชนิดนี้ขึ้นมาขายให้เกษตรกร แทนที่จะไปนำเข้าปุ๋ยฟอสฟอรัสมาจากต่างประเทศ มีการผลิตไส้เดือน ปุ๋ยคอก จำนวนมาก ช่วงหลังเกิดวิกฤตมีการผลิตเป็นพัน ๆ ตัน ขณะนี้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยแบบน้ำ
ส่วนเรื่องวัวมี 60 เปอร์เซ็นต์ที่ตายไป แต่วัวที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพดี อีก 15 ปีข้างหน้าจะมีการผลิตวัวมากขึ้น โดยทำให้มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม มีการค้นพบว่าวัวที่อยู่กับเกษตรกรรายย่อยเป็นวัวที่มีความสุขมากกว่าวัวที่อยู่กับรัฐวิสาหกิจแปลงใหญ่ เพราะว่าดูจากการผลิตนม วัวที่อยู่เรือนโรงงานจะผลิตได้น้อยกว่าวัวที่อยู่กับเกษตรกรรายย่อย วัวที่อยู่ในโรงงานออกลูกมาตาย 20 เปอร์เซ็นต์ แต่วัวที่อยู่กับเกษตรกรรายย่อยมีตายแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ดังนั้น คิวบาจึงพยายามเปลี่ยนภาคการผลิตให้อยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อยมากขึ้น เขาบอกว่าในโรงงาน วัวหลายตัวตายตอนกลางคืนเพราะไม่มีใครอยู่ดูแล เกษตรกรรายย่อยดูแลวัวที่ป่วยทั้งเช้าตรู่จนข้ามคืน ดูแลจนหาย วัวก็ต้องการความรักเช่นกัน
รัฐบาลคิวบาเองก็ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ การผลิตของตัวเองให้เป็นแบบธรรมชาติมากขึ้น เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา เริ่มด้วยการเปลี่ยนหลักสูตรของโรงเรียนมัธยมชนบทให้สอนเรื่องเกษตรอินทรีย์ คิวบามีโรงเรียน 150 โรงในชนบท โรงเรียนเหล่านี้สอนเรื่องการเกษตรด้วย ซึ่งโดยทั่วไป นักเรียนก็เป็นลูกหลานเกษตรกร
แต่ก่อนโรงเรียนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมือง เป็นแหล่งแนะนำแนวคิดเรื่องการปฏิวัติเขียว ตอนนี้เปลี่ยนมาสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และนิเวศวิทยา โรงเรียนมัธยมประมาณพันกว่าแห่ง สอนหลักสูตรพิเศษให้กับเด็ก มีสมาคมของเกษตรกรรายย่อยระดับชาติที่เรียกว่าอะแนป มีโรงเรียนระดับชาติทำการฝึกอบรมให้กับสมาชิกสมาคม
นอกจากนี้ ยังมีโครงการนิเวศเกษตร ที่ให้เกษตรกรเรียนเกษตรและนิเวศวิทยาหนึ่งเดือน โดยเกษตรกรต้องทำแผนว่าเวลากลับไปที่หมู่บ้านแล้วจะนำข้อมูลที่เรียนรู้มาส่งต่อให้เกษตรกรคนอื่น ๆ เรียนรู้ได้อย่างไร เป็นวิธีการถ่ายทอดจากตัวเกษตรกรไปสู่เกษตรกรด้วยกันเอง
ในมหาวิทยาลัยด้านการเกษตร
ก็มีการเปลี่ยนหลักสูตรให้เน้นด้านนิเวศวิทยาที่มีความสอดคล้องมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะวิกฤตที่ผ่านมา
ซึ่งแม้วิกฤตรุนแรงมากแต่เกษตรกร นักเกษตรพืชไร่ และนักวิชาการต่างมองวิกฤตนี้เป็นแง่บวก
เขาบอกว่าต้องขอบคุณวิกฤตที่เกิดขึ้นเพราะมันทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ซึ่งน่าจะทำได้มาตั้งนานแล้ว
การเปลี่ยนแปลงอีกอย่าง ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งใหม่สำหรับคนเอเชีย แต่สำหรับคน
ละตินอเมริกาเป็นเรื่องใหม่ คือเรื่องการเกษตรในเมือง คิวบาไม่เคยทำเกษตรในเมือง
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่มีน้ำมันที่จะไปเอาผลิตผลเข้ามาในเมือง คนจำนวนมากจึงเริ่มทำธุรกิจของตนเอง
ทำการปลูกพืชในเมือง
ตอนแรกรัฐบาลปราบปรามบอกว่าอย่าไปทำเกษตรในเมือง แต่หลังจากนั้นรัฐบาลก็ตระหนักว่าเป็นเรื่องดี จึงปรับนโยบายมาสนับสนุนการเกษตรในเมือง พื้นที่ว่างเปล่าไม่ว่าแปลงไหนมีการทำเกษตรกันหมดทั่วเมือง เนื่องจากผลผลิตการเกษตรราคาดี สร้างรายได้สูงกว่ารายได้โดยเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 3 เท่า เคยมีการสัมภาษณ์คนพวกนี้พบว่าเขามีรายได้มากกว่ารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเสียอีก
ที่น่าสนใจอีกประการคือ การผลักดันจูงใจให้เกษตรกรในเมืองมีบทบาทเชิงบวกกับสังคมและชุมชนของตนเอง สังคมเมือง แปลงเกษตรในเมืองเป็นเหมือนธุรกิจเอกชน แต่รัฐบาลส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก มีโรงเรียน และมีบ้านสำหรับคนแก่ มีอนามัย มีโรงพยาบาล โดยให้ธุรกิจเอกชนจัดหาผลผลิตต่าง ๆ 20 เปอร์เซ็นต์ให้สถานที่เหล่านี้ เรียกว่า เศรษฐกิจแบบสมานฉันท์
เขามองกันว่าเป็นพันธะของรัฐที่ต้องจัดศูนย์เลี้ยงเด็ก เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ศูนย์จะช่วยดูแลเด็กเวลาที่พ่อแม่เขาไปทำงาน มีอาหารกลางวันปลอดสารเคมีซึ่งผลิตโดยเกษตรกรในเมือง ตอนนี้ระบบเกษตรทั้งหมดของคิวบาเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้ปุ๋ย ไม่มีการใช้สารเคมี
ตอนที่ผมไปสัมภาษณ์เกษตรกรในเมือง ผมคิดว่าเกษตรกรเขาต้องบ่น ผมเองก็มาจากในเมืองในประเทศทุนนิยม มีความคิดแบบทุนนิยม จึงคิดว่าเขาคงไม่พอใจที่ต้องเอาผลผลิต 20 เปอร์เซ็นต์มาแบ่งปัน แต่น่าแปลกใจมากเพราะว่าทุกคนพูดว่า สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเกษตรกรในเมืองคือการได้ช่วยชุมชนตนเองด้วย
จะเห็นว่าผลผลิตผักในเมืองสูงขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น เมืองฮาวาน่า เมืองหลวงของคิวบา ผลผลิตผัก 90 เปอร์เซ็นต์มาจากฟาร์มเกษตรในเมือง รัฐบาลของฮาวาน่าตั้งสำนักงานเกษตรขึ้นและจ้างนักการเกษตรเข้ามาทำงานส่งเสริมการเกษตร ทำศูนย์ปุ๋ยชีวภาพ ศูนย์ปราบศัตรูพืชแบบชีวภาพ มีคลินิกดูแลปศุสัตว์ทั้งวัว ไก่ หมู 23 แห่ง ร้านขายผลิตผลการเกษตร 53 แห่ง ในแต่ละชุมชนมีร้านขายของเกษตร มีการทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยจากไส้เดือน แบคทีเรียที่ดึงฟอสฟอรัสให้ง่ายต่อการดูดของพืช ยาปราบศัตรูพืชแบบชีวภาพ มีห้องสมุดให้ยืมหนังสือเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และมีนักการเกษตรที่ให้คำปรึกษา ไปดูแปลงให้ได้โดยจ่ายค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย
สิ่งที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ ทุกคนมีโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เกษตรกรรายย่อยมีศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือความคิดใหม่ ๆ รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมขบวนการเหล่านี้ในระดับชาติ แนวความคิดคือ สุมหัวกันเข้ามาเพื่อที่จะหาทางแก้ไขปัญหา สร้างและพัฒนาโครงการในระดับชาติ เช่น ถ้าคุณคิดค้นอะไรขึ้นมาใหม่ อาจจะเป็นสัดส่วนใหม่ของการปลูก เช่น พืชตัวนี้ต้องปลูกกับตัวนี้ หรือสูตรใหม่ของปุ๋ยชีวภาพ ไม่ว่าจะผลิตอะไรขึ้นมาก็จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญช่วยมาตัดสินว่าอันนี้เป็นนวัตกรรมใหม่หรือไม่
มีการให้รางวัลเกษตรกรในฐานะเป็นผู้คิดค้นสิ่งใหม่ มีข่าวลงหนังสือพิมพ์ เผยแพร่ให้เกษตรกรได้รับรู้ เรียนรู้ รัฐบาลช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรได้ไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน อย่างเช่น เกษตรกรคิดค้นเกษตรน้ำหยด ใช้เครื่องตั้งเวลาให้น้ำไหล ด้านหนึ่งเต็มก็ตีกลับมาอีกด้าน สามารถตั้งเวลารดน้ำได้โดยไม่ใช้ไฟฟ้า เสียค่าใช้จ่ายแค่ประมาณ 120 บาทเพราะวัสดุต่าง ๆ มาจากของใช้แล้ว ซึ่งเกษตรกรแต่ละที่ได้มาเรียนรู้นำกลับไปปรับใช้ เขาเชื่อกันว่า การส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาจะทำให้ทุกคนเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นได้
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา
2 I สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
มีการค้นพบว่าวัวที่อยู่กับเกษตรกรรายย่อยเป็นวัวที่มีความสุขมากกว่าวัวที่อยู่กับรัฐวิสาหกิจแปลงใหญ่ เพราะว่าดูจากการผลิตนม วัวที่อยู่เรือนโรงงานจะผลิตได้น้อยกว่าวัวที่อยู่กับเกษตรกรรายย่อย วัวที่อยู่ในโรงงานออกลูกมาตาย 20 เปอร์เซ็นต์ แต่วัวที่อยู่กับเกษตรกรรายย่อยมีตายแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น คิวบาจึงพยายามเปลี่ยนภาคการผลิตให้อยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อยมากขึ้น
ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่เกิดวิกฤตขึ้นมา เพราะสังคมแตกแยกกับรัฐบาล เมื่อมีอาหารน้อยพวกข้าราชการทั้งหลายที่ยังรวยก็ยังมีอาหารกิน ขณะที่คนยากจนต้องอดอยากจึงทำให้เกิดการลุกฮือขึ้น ความรุนแรงต่าง ๆ ในสังคมมักเกิดเมื่อตอนวิกฤตอาหาร เช่น ในโซมาเรีย และในอัฟริกา แต่สภาพนี้ไม่เกิดขึ้นในคิวบาเพราะว่ารัฐบาลได้รักษานโยบายให้ทุกคนได้เข้าถึงสิ่งที่ยังพอเหลืออยู่ได้อย่างเสมอภาค ในช่วงวิกฤติตอนนั้นผมไปคิวบาหลายหน รถไม่มีน้ำมันใช้ ต้องขี่จักรยาน ผมเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรซึ่งผอมมากต้องขี่จักรยานไปทำงาน หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ผอมมากเช่นกัน ซึ่งทำให้ประชาชนของเขาไม่โมโหในช่วงเกิดวิกฤติ เพราะทุกคนต่างเผชิญวิกฤตเหมือนกัน ประธานาธิบดีคิวบาก็ผอมเช่นกัน